Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 444 หัวเรื่อง
ความคิดเรื่องอุดมศึกษาชาวบ้าน
ธันวา ใจเที่ยง (ชินากุล)
นักวิชาการจากเทือกเขาภูพาน
จังหวัดกาฬสินธุ์
คลิกไปหน้า
homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
แนวคิดการศึกษาชาวบ้าน
ความคิดรากหญ้า
มหาวิทยาลัยหมู่บ้านของเรา
ธันวา ใจเที่ยง (ชินากุล)
นักวิชาการจากเทือกเขาภูพาน กาฬสินธุ์
ผลงานวิชาการชิ้นนี้เดิมชื่อ
มหาวิทยาลัยหมู่บ้านของเรา
ยุทธศาสตร์และทางออกของชาวนายุคทุนนิยม
Grass roots University : Routing to Universal Truth
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
13 หน้ากระดาษ A4)
บทความวิชาการ
นี้ เป็นเอกสารทางวิชาการของมหาวิทยาลัยภูแสงดาว (กลุ่มนักวิชาการภูพานลุ่มแม่น้ำโขง)
เขียนโดย อ.ธันวา ใจเที่ยง
เพื่อเตรียมเป็นเอกสารประกอบการประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่องประวัติศาสตร์
เศรษฐกิจ ชีวิตและทางออกของชาวนายุคทุนนิยม
20-21 ตุลาคม 2546 ที่ จังหวัดสกลนคร
จัดโดย กลุ่มนักวิชาการโครงการก่อตั้งมหาวิทยาลัยภูแสงดาว
ที่มาแลความสำคัญ : มหาวิทยาลัยไทยรับใช้ชาวนาและคนจน
?
ครั้นจะกล่าวและเอื้อนเอ่ยไปว่ามหาวิทยาลัย (University) ของไทย มักเป็นเรื่องของการสร้างขึ้นเพื่อผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้เจ้านายในระบบข้าราชการ
และรับใช้นายทุนเสียอย่างเดียว ก็อาจจะคับแคบไปเสียบ้าง เพราะอย่างน้อยในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง
นิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ยังมีคำขวัญ "ศึกษาต้องรับใช้ประชาชน"
อย่างน้อยๆอาจารย์-นักวิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัยก็เคยยืนเคียงข้างนิสิตนักศึกษาออกมาต่อสู้เพื่อชาวไร่ชาวนา
แต่นั่นก็ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเพียงส่วนน้อย และนั่นก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกซ้าย ที่ทัดทานระบบทุนนิยมที่เอาเปรียบประชาชนและคนยากจน ถูกปราบ จำต้องหนีกระเซอะกระเซิงเข้าป่าหรือหลบไปยังต่างประเทศ เพราะต้านทานการพัฒนากระแสหลักและแนวคิด-กระบวนการแทรกแซงและแย่งยึดทรัพยากรธรรมชาติจากประเทศโลกที่สาม ภายใต้แนวคิดเศรษฐศาสตร์ผลกำไร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยในเมืองหลวงของสยามประเทศ เป็นไปเพื่อผลิตคนเข้าสู่ระบบข้าราชการ ที่มีนัยยะและตรรกะตรงๆ ผลิตคนเพื่อความเข้มแข็งของรัฐศักดินาไทย ผลิตชนชั้นมันสมองเพื่อเอาไปปกครอง-เป็นเจ้าเป็นนายของ ชาวนาชาวไร่ และต่อมา การก่อตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในยุคแรกของการมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ "เศรษฐกิจทุนนิยม" นอกจากจะมุ่งผลิตคนเข้าสู่ระบบราชการแล้ว อีกประการหนึ่งก็คือมุ่งผลิตคนเข้าสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม หรือรับใช้นายทุน หาได้ลงไปรับใช้ชาวไร่ชาวนา กลับไปร่วมพัฒนาท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมไม่
ไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งใดที่สั่งสอนและสร้างปรัชญาให้บัณฑิตจบไปแล้ว ลงไปร่วมพัฒนาหมู่บ้าน กลับคืนท้องถิ่น ช่วยให้คนชาวนาเข้มแข็ง ภูมิใจในความเป็นชาวนา มีแต่ลงไปเอาผลประโยชน์และทำตัวเหนือกว่า-เหินห่างชาวนา
หรือแม้ในปัจจุบันที่บางอุดมศึกษาอ้างปรัชญาว่า เป็นอุดมศึกษาเพื่อรับใช้ท้องถิ่น แต่ในทางปฏิบัติทำหรือไม่ ฤาเป็นเพียงการอ้างปรัชญาอันสวยหรูที่จดจำและลอกกันมา ? แต่ไม่ได้เข้าใจ และหลักสูตรหรือวิชาต่างๆที่ใช้ในการศึกษาเล่าเรียน แม้จะมีประโยชน์ในแง่การพัฒนาเพื่อความเจริญและศิวิไลซ์ แต่ก็น่าสังเกตว่า มีวิชาไหนบ้าง ที่คิดและประดิษฐ์ขึ้นจากคนไทย
ส่วนใหญ่ศาสตร์-วิชาการ มักเป็นผลผลิตสำเร็จรูปมาจากตะวันตกทั้งสิ้น เช่น เศรษฐศาสตร์ การบัญชี-ธนาคาร แพทย์ เภสัช วิศวะ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ หรือแม้กระทั่งศาสตร์ทางการศึกษาและสังคมศาสตร์ มีศาสตร์ใดบ้างที่ถูกปัดฝุ่นนำขึ้นมาจากสังคมไทย มีศาสตร์ไหนบ้างที่ซอกเอามาจากสังคมหมู่บ้านไทย
ศาสตร์และวิชาที่อยู่ในพื้นแผ่นดินป่าฝนเมืองร้อน (Tropical forest)) ดินแดนแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เผ่าพันธุ์และหลากหลายทางภูมิปัญญา เช่น ศาสตร์หมอยาพื้นบ้าน ศาสตร์ปรัชญาและวัฒนธรรมอีสาน ที่รวมมิติทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมือง เชื่อมโยงกัน หรือภาษาและวัฒนธรรมล้านนา เท่าที่ผ่านมา นอกจากผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษา จะไม่เห็นความสำคัญแล้ว ผู้คนซึ่งเป็นชาวนาในท้องถิ่น ยังถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพ ถูกมองด้วยสายตา หยามหมิ่น เพียงเป็น "ตาสีตาสา" ต้องพัฒนา โง่ๆ ไร้ความคิดและวัฒนธรรม
ภายใต้วัฒนธรรมศักดินาไทย
นายแพทย์ประเวศ วะสี เห็นว่าการศึกษาไทยที่ผ่านมาที่ถูกชี้นำจากต่างประเทศ ทำให้คนไทยถูกครอบงำทางความคิด
และถูกสอนให้ดูถูกตัวเอง "ใน 100ปี ที่ผ่านมา คนไทยตกอยู่ในความครอบงำทางปัญญาและถูกสะกดให้ดูถูกตัวเอง
ว่าเราไม่มีฐานแห่งความดีของตัวเอง อะไรที่เก่ง อะไรที่ดี อะไรที่เจริญ ต้องเป็นจากฝรั่งและมาจากฝรั่ง"
( อ่านเพิ่มเติมใน ประเวศ วะสี "ยุทธศาสตร์ทางปัญญาเพื่อทางรอดของประเทศไทย"
ในนิตยสารมติชน ฉบับวันที่ 2-8 พฤษภาคม 2546)
การก่อสร้างมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งของประเทศไทย ตั้งแต่ยุคแรกๆต้องมิลืมว่าได้ถูกสร้างจากฐานชีวิตของชาวนา ด้วยน้ำพักน้ำแรงของชาวนา กำลังแรงกายของประชาชนในระดับล่างของสังคม ภาษีจากชาวนาทั้งทางตรงและทางอ้อม ยังมิรวมส่วยแรงงาน ส่วยสิ่งของที่ชาวนาถูกส่งเข้ามายังส่วนกลาง ให้คนส่วนกลางเอาไปขาย เอาไปปรนเปรอ และมีทุนรอนในการพัฒนาประเทศ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการสร้างชาติ สร้างรัฐ แต่มิได้ปฏิเสธว่าการมีมหาวิทยาลัยไม่ใช่สิ่งที่มีคุณูปการต่อสังคมไทย มีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง ต้องยกย่องเชิดชู อย่างจริงใจ โดยเฉพาะคนผลักดันในทางนโยบาย
แต่การสร้างมหาวิทยาลัยภายใต้อิทธิพลกรอบวิชาจากตะวันตก วิ่งตามกรอบการพัฒนา-วิธีมองโลกแบบตะบันตก ไม่เป็นตัวของตัวเอง ผลิตบัณฑิตออกมาแล้วไม่รู้จักชุมชนไม่รู้จักท้องถิ่น รับใช้แต่เจ้านายทำการปกครองชาวบ้าน ที่เชื่อว่าเป็นการทำงานให้ชาวบ้าน-ชาวนา รับใช้ระบบอุตสาหกรรมและนายทุน แต่กลับทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันหลากหลายถูกทอดทิ้ง ถูกทำลาย จากการเข้ามาแทรกแซง กลบเกลื่อนจากองค์ความรู้ที่มาจากฐานประเทศอื่น ที่เชื่อว่าดีกว่าในยุคอิทธิพลตะวันตกเฟื่องฟู
อาจารย์ประเวศ วะสี ท่านเห็นว่า
" การศึกษาแบบนี้ใน 100 กว่าปีที่ผ่านมา ได้สร้างคนไทยที่ไม่รู้จักแผ่นดินไทย
ก่อความเสียหายอย่างใหญ่หลวง"
ในขณะเดียวกัน ทำไมถึงแม้นเราจะมีอุดมศึกษาเกิดขึ้นมากมาย แต่ผู้คนในชนบท คนยากจนในสังคม
จึงยังยากจน และถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยเฉพาะในสมัยทุนนิยม นอกจากคนในสังคม ชาวนาจะถูกหมิ่นแคลนแล้ว
ที่ผ่านมายังเสมือนหนึ่งคือเหยื่ออันโอชะของนายทุน เป็นหนี้เป็นสิน ถูกขีดเส้นทางเดินจากเจ้านาย
หรือจากนายทุนที่ผันตัวเองเข้าไปสู่ความเป็นเจ้านาย เป็นนักการเมือง บางครั้งก็ร่วมกันคอรัปชั่นซึ่งๆหน้าและคอรัปชั่นทางนโยบาย
เส้นทางชีวิตชาวนาจึงมักโรยไปด้วยหนี้และพันธนาการอันยุ่งเหยิง ชาวนาไทยไร้ศักดิ์ศรีหรือจนทางออกอยู่ตลอดเวลา
ในขณะเดียวกันผู้บริหารในระบบมหาวิทยาลัยไทย กลับรุ่มรวยทั้งยศศักดิ์และเงินตรา บางรายในบางสถาบันกลายเป็นผู้มีอิทธิพล เพราะผลประโยชน์ที่ถูกระดมจากหลายภาคส่วนในสังคม เป็นต้นว่า ภาษีของประชาชน มีมหาศาล จนกระทั่งมีข่าวว่ามีผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่ง รวยเป็นพันล้าน หรือมีปรากฎการณ์การเดินขบวนขับไล่ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งของรัฐ ในกรณีการร่วมกันทุจริตคอรัปชั่น บ่อยครั้ง
ปฏิวัติระบบการศึกษา เพื่อทางออกของชาวนา
การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษาของไทย มักถูกมองและจัดระบบให้เป็นเพียงการศึกษาหลังจบมัธยมศึกษาปีที่
6 หรือมัธยมปลาย และต้องผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถึงจะมีสิทธิในการเลือกเรียนในแต่ละสาขา
ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้สถาปนามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (Midnight University) มหาวิทยาลัยนอกระบบหรือมหาวิทยาลัยทางเลือกแห่งแรกอย่างเป็นทางการของสังคมไทย เห็นว่า
"อุดมศึกษา มิใช่เพียงถูกจำกัดว่า
หมายถึง การศึกษาที่ต่อจากมัธยมปลาย นั่นเป็นการนิยามที่คับแคบ แต่อุดมศึกษา
คือ การศึกษาที่สามารถเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆเข้าหากัน เพราะการเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆเข้าหากันจะสามารถแก้ปัญหาชีวิตเราได้
การเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าหากันชาวบ้านเขาทำกันอยู่แล้วแต่ขาดการฝึกปรือ
( จากการสัมภาษณ์ของพิธีกรสถานีโทรทัศน์ ไอทีวี (คุณกิตติ สิงหาปัต และ คุณวราพร
สมพงษ์) เนื่องในโอกาสที่ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้รับรางวัลศรีบูรพา
ประจำปี พ.ศ.2545)
ซึ่งในความหมายของอาจารย์นิธิ เห็นว่า คนที่จะร่ำเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ คือ ทุกคน แม้นจะจบเพียง ป.4 ป.6 ขอให้อ่านออกเขียนได้ ก็สามารถที่จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ และในความเป็นจริงชาวบ้านทุกคนก็ต้องการอุดมศึกษา ศึกษาเพื่อมาแก้ปัญหาชีวิต
ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับท่านอาจารย์นิธิ ที่ อุดมศึกษา มิควรจำกัดว่า หมายถึงการศึกษาหลัง ม.ปลาย เท่านั้น และถูกจำกัดให้เป็นเรื่องของรัฐ เป็นเรื่องของคนสวมสูท คนขับรถนอกเพียงบางกลุ่ม บางคน เท่านั้น ผลักไสและปิดกั้นการจัดการศึกษาของชาวบ้านของชาวนา อันเป็นวัฒนธรรมทางความคิดเก่าๆที่กล่าวหาว่าชาวนา คือ คน โง่ๆ ไร้องค์ความรู้ ไร้วัฒนธรรม พึ่งพาตัวเองมิได้ อยู่ภายใต้การปกครองและถูกชี้นำจากรัฐ โดยถ่ายเดียวเท่านั้น
การศึกษาไทยที่ถูกจัดการโดยรัฐและกลุ่มนักธุรกิจการศึกษาเอกชนบางกลุ่ม ในสภาพปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ก็หาใช่จะเป็นการศึกษาเพื่อการศึกษา เพื่อสันติ หรือเพื่อความเอื้ออาทร ที่จะนำมาผ่อนปรน ลดแรงแห่งความทุกข์ยากของชีวิตมนุษย์ที่มักจะมีความทุกข์ยากเป็นพื้น ภายใต้กฏธรรมชาติในระบบนิเวศโลก (The law of Ecosystem) ในเรื่องความเกิด ความเจ็บ ความตายไม่ แต่กลับเป็นการศึกษาเพื่ออำนาจ เพื่อปริญญาและเพื่อเงินตรา ปลูกฝังแนวคิดเชิงอำนาจ เชิงแข่งขันทางธุรกิจ และเห็นแก่ตัวของมนุษยชาติ
และในปัจจุบันการจะเข้าไปสู่ระบบการศึกษาต้องลงทุนจำนวนมหาศาล ลูกเจ้านาย นายทุน-คนร่ำรวยเท่านั้นถึงจะมีสิทธิที่จะเรียนสถาบันการศึกษาสูงๆหรือมหาวิทยาลัยที่ดีๆ ลูกชาวนาคนจนๆ โอกาสน้อยมาก ถึงจะเรียนได้ก็กู้หนี้ยืมสิน นอกจากจะไม่มีโอกาสได้ศึกษาสูงแล้ว ยังถูกกันให้ไปเป็นผู้ใช้แรงงาน เป็นคนชั้นสองชั้นสามในสังคม และยังถูกหลอกภายใต้กรอบการศึกษาหรือวาทกรรมแห่งการพัฒนาสมัยใหม่ ว่า การที่จะมีความเท่าเทียมและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและอยู่อย่างมีเกียรติในสังคม จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ จำเป็นที่จะต้องมีใบปริญญา เหมือนที่คนในชนบทเคยถูกหลอกว่าไร้วัฒนธรรม พวกบ้านนอก พวกโง่ คำถามในที่นี้คือว่า จริงหรือที่การจะรู้เท่าทันในสังคมจะต้องเป็นผู้ได้รับใบปริญญา?
แม้นใบปริญญาจะมีความสำคัญ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รับรองผู้ที่ผ่านการศึกษาในระบบ แต่ใช่ว่าผู้ที่มีใบปริญญาจะเป็นผู้มีความรู้ มีปัญญา เป็นบัณฑิตสมดังที่กล่าวอ้าง เพราะในสมัยปัจจุบัน การใช้อำนาจและใช้เงินซื้อใบปริญญามีอยู่มากมาย สถานที่แจกใบปริญญาก็มีอยู่ดาษดื่นมิแพ้หญ้าแห้วหมู ตรงข้ามผู้มีใบปริญญาอาจมิใช่ ผู้มีปัญญา สมองอาจเต็มไปด้วยขยะหรือกากเดนแห่งความรู้ แต่นั่นมิได้หมายความว่า เราจะนิ่งนอนใจโดยมิทำการศึกษาพัฒนาตน
อย่างไรก็ตาม การศึกษาพัฒนาตนใช่ว่าจะต้องถูกจำกัดในมหาวิทยาลัยรูปแบบปัจจุบัน ในกรอบกำแพงสี่เหลี่ยมเล็กๆซึ่งมีเนื้อที่ไม่กี่ไร่ ทำไมต้องจำกัดชีวิตและจิตวิญญาณที่โหยหาอิสรภาพของตัวเองภายใต้กรอบที่เขากำหนดเช่นนั้นเล่า ทั้งปรัชญาการศึกษา หรือศาสตร์-วิชา ที่มักจำกัดในเรื่องของวัย เรื่องของเงินตรา ฐานันดร กรอบความคิด อันเป็นทางเลือกแคบๆ อันหนึ่ง
ชาวนาเองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษา ต้องพัฒนา ต้องลับสมอง ต้องติดอาวุธทางปัญญาให้มาก เพราะเราเป็นคนจน ยากไร้ในเรื่องทุน (เงินตรา) และอำนาจ พูดอย่างไรใครก็ไม่ฟัง ไม่ค่อยยอมรับ ถึงแม้นจะอายุมาก อายุน้อย และอยู่ในชนบท จำเป็นจะต้องศึกษา เพื่อแก้ปัญหาชีวิต และออกมาชี้นำสังคมบ้าง
ที่ผ่านมา ชาวนาเองก็ยอมรับว่าขาดคนจริงใจกับชาวนา ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่บริษัทเอกชน แม้กระทั่งพรรคการเมือง ก็มองชาวนาเป็นเหยื่อ เหยื่อในเรื่องของทุน เหยื่อในผลงาน เหยื่อทางอำนาจ เพื่อพวกเขาจะได้ขั้นเงินเดือน ได้โบนัส ได้รับเลือกตั้ง แต่ สุดท้ายชาวนามิได้อะไร
เส้นทางชีวิตของชาวนานับตั้งแต่รัฐลงไปยึดกุมหมู่บ้านไทย ยุคกระแสการพัฒนา สังคมหมู่บ้านไทยขาดอิสรภาพ ต้องเสียส่วย ถูกเกณฑ์แรงงาน เสียภูมิปัญญา เสียศักดิ์ศรี อ่อนแอลง ตั้งแต่ที่เคยมีทรัพย์ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ต้องถูกนำส่งเมืองหลวงในระบบส่วย คนเมืองหลวงร่ำรวยเอาๆ แต่ไม่เคยที่คนเมืองหลวงจะเสียส่วยให้ชาวนาบ้าง พอเข้าสู่ยุคพัฒนา ชาวนาเริ่มไร้ที่ดิน และสุดท้าย เป็นหนี้และตกอยู่ใต้อิทธิพลการชักจูงจากผู้กุมอำนาจรัฐ
แม้นรัฐจะเข้ามาพัฒนาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน-งานอนามัย แต่นั่นก็ในลักษณะสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ผู้ยากจนข้นแค้นในลักษณะการประชาสงเคราะห์ ที่รัฐคิดและนิยามเองทั้งสิ้น ทำประหนึ่งว่าชาวนาไม่มีความคิด ทำประหนึ่งว่าชาวนาไม่มีภูมิปัญญาและศักดิ์ศรี ชาวนาไทยที่รักเสรีภาพและมีน้ำใจเอื้ออาทร ซื่อและจริงใจต้องถูกชี้ถูกปั่นหัวตลอดมา
แม้กระทั่งในปัจจุบัน ทั้งโครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการเงินกู้สารพัด ความจริงนั่นก็เป็นเงินของชาวนาของประชาชนทั้งสิ้น ที่เสียภาษีไปทั้งทางตรงและทางอ้อม และอำนาจต่างๆที่ผู้นำสามารถชี้นำสั่งการได้ ล้วนเป็นอำนาจของชาวนา-ประชาชนทั้งสิ้น
ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ชาวนาจะต้องพลิกกระบวนทัศน์ ลุกออกมาหยัดยืนอย่างมีศักดิ์ศรีในสังคม เป็นตัวของตัวเอง มีความเสมอภาคในฐานะความเป็นมนุษย์ เรียกร้องเกียรติภูมิและสร้างศักดิ์ศรีของชาวนาภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย เหมือนกับยุคที่มีการก่อตั้ง ชุมชนใหม่ ที่รัฐไทยยังเป็นลมเป็นแล้ง ชาวนาสามารถปกครองกันเองจัดการกันเอง มีระบบรัฐเล็กๆของชาวนาเอง โดยที่รัฐส่วนกลางยังมิได้เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง สามารถดูแลกันเองได้โดยที่มิต้องอาศัยพึ่งพาเจ้าหน้าที่รัฐเสียอย่างเดียว ที่มิทราบว่ามาจากไหนกัน จริงใจกับชาวนาหรือไม่ หรือนักการเมืองที่คอยประจบขอคะแนนเสียงแล้วหนีจากไป กลับเข้ามาเป็นเจ้านายในรูปแบบใหม่ เว้นไว้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ที่พระองค์ทรงมีความจริงใจต่อชาวนาและคนยากไร้ในสังคมเรื่อยมา ที่ชาวนาเราควรจะเทิดทูนและสนองพระราชประสงค์ให้มาก
แต่การที่จะกล้าหยัดยืน กล้าต่อสู้ ชาวนา จะต้องมีความพร้อม จะต้องมีความรู้ มีปัญญา มีการศึกษา และการศึกษาในกรอบเก่าๆที่ไต่เต้าจากอนุบาล ประถม ก.กา มัธยม นั่นเป็นเรื่องเด็กๆ จำกัดคุณสมบัติเกินไป และมิทันกาล เราไม่มีเวลาที่จะไปเสียเวลาร่ำเรียนวิชาการที่ไม่สอดคล้องกับภาวะปัญหา เราไม่มีเวลาที่จะไปนั่งเห้อระเหยลอยชาย ใส่กางเกงขาสั้นเสื้อขาว ถูกสังคมทุนนิยมและบริโภคนิยมวางกรอบการศึกษา กรอบกำแพงสี่เหลี่ยมไม่กี่ไร่
สมัยปัจจุบันได้ดูดกลืนฐานทุนของสังคมไป และอาจมิเหมาะสมกับคนในสังคม ชาวนาไทย ที่มีองค์ความรู้ มีภูมิปัญญาเก่าแก่ที่สืบกันมาเป็นร้อยเป็นพันปี กว่าระบบการศึกษาแบบตะวันตกจะเจริญ ชาวนาจะต้องมีอุดมศึกษา มี"มหาวิทยาลัย"ของตัวเอง คู่ขนานไปกับระบบอุดมศึกษาทุนนิยมของรัฐและนายทุน ชี้นำตัวเอง ชี้ทางออกให้ตัวเอง ไม่ถูกชี้นำเพื่อผลประโยชน์แอบแฝง ไม่มีม๊อบ ไม่มีการจัดตั้งใดๆ
มหาวิทยาลัย คืออะไร มหาวิทยาลัย คือ คำที่แปลมาจาก University ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า Universal Truth ที่หมายถึงความจริงอันเป็นสัจจะของธรรมชาติ มิได้หมายถึง ตัวตึก ตัวอาคาร ตัวเจ้าหน้าที่ ตัวอาจารย์ ตัวดอกเตอร์ หรือตัวเงินตรา อะไรทั้งสิ้น
มหาวิทยาลัยในหมู่บ้านเรา อาจจะมุงหญ้ามุงแฝก มหาวิทยาลัยในหมู่บ้านของเราอาจจะตั้งอยู่ปลายนาหรือกลางหมู่บ้าน มหาวิทยาลัยในหมู่บ้านของเราอาจมีอาจารย์ที่เป็นปู่เป็นตาเรา มีอธิการบดีเป็นคนในชุมชน และอาจมีนายกสภามหาวิทยาลัยมาจากต่างชุมชน หรืออาจเป็นอาจารย์นักวิชาการที่อยู่ข้างชาวนาจากมหาวิทยาลัยในระบบ เช่น จุฬาฯ มหิดล เชียงใหม่ ขอนแก่น เกษตรฯลฯ
มหาวิทยาลัยของเราอาจจะชื่อมหาวิทยาลัยนาบัว มหาวิทยาลัยของเราอาจจะชื่อมหาวิทยาลัยบ้านหนองผือ ในทุกค่ำคืนต้องมาร่วมเรียน อย่างเอื้ออาทร มีความสุข จูงลูกจูงหลาน มาเรียน หลังจูงควายเข้าคอก กินข้าวกินปลา ดำนา หรือ เกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ทั้งในวิชาประวัติศาสตร์หมู่บ้าน เศรษฐศาสตร์พอเพียง -เศรษฐศาสตร์จิตวิญญาณ ภาษา-วัฒนธรรมชาวนา เกษตรกรรมชาวนา รวมทั้งอาจมีกระบวนการการเปรียบเทียบแนวคิดศาสตร์ตะวันตกและศาสตร์ชุมชน เช่น
เศรษฐศาสตร์ กระแสหลักของสำนักนีโอคลาสิค (neo-classical) กับเศรษฐศาสตร์วัฒนธรรมหรือจิตวิญญาณ (Spiritual Economy) เป็นอย่างไร แนวทางจะแก้ปัญหาชีวิตให้มีความสุขระหว่างแนวทางตะวันตกที่มุ่งเน้นการสร้างสุข ที่นำมาซึ่งลัทธิบริโภคนิยม (consumerism) หรือวัตถุนิยม (materialism) กับแนวทางการปลดทุกข์อยู่อย่างเรียบง่ายไม่เอาเปรียบและทำลายธรรมชาติ สิ่งไหนจะทำให้ชีวิตมีความสุข เป็นต้น
ในมหาวิทยาลัยหมู่บ้านชาวนาเรา อาจจะมีทั้งนักปราชญ์ในชุมชนเองมาร่วมทั้งสอนและเรียนในคราวเดียวกัน และมีปราชญ์จากนอกชุมชน ที่อาจหมายถึง ปราชญ์จากหมู่บ้านอื่น นักวิชาการ-อาจารย์ จากสถาบันราชภัฏ-มหาวิทยาลัย ในระบบ หรือจากต่างประเทศ และในชุมชนชาวนามิได้ปฏิเสธผู้คนในภาคส่วนอื่นที่จะเข้ามาร่วมเรียนรู้และสนับสนุนมหาวิทยาลัยชาวนาเรา ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ เอ็นจีโอ สถาบันการศึกษาในระบบ หรือองค์กรวิชาการจากต่างประเทศ
จากมหาวิทยาลัยในป่าริมฝั่งน้ำเนรัญชลาถึงมหาวิทยาลัยป่าภูพาน
ในการกล่าวถึงความเป็นมหาวิทยาลัย หรือการสร้างสถาบันอุดมศึกษาในหมู่บ้านชาวนาอาจเป็นเรื่องเพ้อฝันอาจเป็นเรื่องเกินจริง
เพราะในปัจจุบันเวลาพูดถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา สังคมมักจินตนาการและมักพูดกันถึงความใหญ่โตของตัวตึก
เงินทองจากการลงทะเบียน จำนวนนักศึกษาอันมากมาย แฟชั่น มือถือ กระเป๋า รถยนต์
การแต่งกายอันเริดหรู จำนวนอาจารย์ที่จบปริญญาโท-ปริญญาเอก จำนวน ผศ. รศ. จำนวน
ศ. ตามสมัยนิยม
ฉะนั้นหากในหมู่บ้านจะมีมหาวิทยาลัยตามจินตนาการที่ถูกสร้างให้คนในสังคมเชื่อเช่นนั้น สถาบันอุดมศึกษาที่จะสร้างให้คนในระดับล่างมีปัญญา (Grass root University) ที่เรียกตามสมัยนิยมว่า มหาวิทยาลัย ก็อาจเป็นสิ่งเลือนลอยเกินจริง
แต่หาก คำว่า มหาวิทยาลัย มาจากคำว่า University และคำว่า Universal Truth ที่ หมายถึง ความจริงแท้ของสรรพสิ่ง "สากลสัจจะ" หรือการแสวงหาสิ่งที่เป็นจริงหนึ่งเดียวอย่างที่ ศาสตราจารย์เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นิยาม ( ใน "คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม : สังคมไทยที่พึงปรารถนาในศตวรรษที่ 21" ของศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์) และยังหมายถึง สถานที่ขัดเกลาและฝึกฝนพัฒนาตนให้มนุษย์มีความรู้และนำไปสู่การสร้างปัญญาแล้ว มหาวิทยาลัยในหมู่บ้านชาวนาเราเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นวันไหนก็ได้ แล้วแต่ความพร้อมของชุมชน ความพร้อมด้านกำลังใจว่าหมู่บ้านเราอยากมีมหาวิทยาลัยหรือไม่
โลกไม่ปฏิเสธและให้การยอมรับว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ประเสริฐ มีปัญญาอันที่แสงสว่างจะเสมอด้วยไม่มี จนกระทั่งมีการประกาศให้วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของมนุษยชาติของโลก และมีนัยยะสำคัญว่าทั่วโลกให้การยอมรับการประกาศสัจธรรมหรือสัจจะอันเป็นสากล (Universal Truth) ที่ทรงค้นพบเมื่อวันเพ็ญเดือนหกที่ใต้ต้นโพธิ์ ริมฝั่งน้ำเนรัญชลา อินเดีย เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว และทรงมีความเมตตา พระมหากรุณาธิคุณ และพระวิสุทธิคุณ ไม่เบียดเบียนทำร้ายแม้สัตว์เล็กๆอย่างไส้เดือน เมตตาและให้อภัย เพื่อสอนให้ประชาชนและเวไนยสัตว์พ้นจากความทุกข์ยาก แม้นเขาจะฆ่าพระองค์ อย่างองคุลิมาล หรือ เทวทัต ก็ให้อภัยและเมตตา
พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระบรมครู ผู้ประเสริฐ ทรงอยู่ป่า ตั้งแต่เข้าสู่ระบบการศึกษาพัฒนาตน จนกระทั่งเป็นครู สร้างสำนักในป่าในเขา อยู่อย่างเรียบง่าย การอบรมสั่งสอนประชาชนทั้งคนจนทุกข์เข็ญและคนร่ำรวยมิเลือกชั้น ด้วยวิชาการอันเที่ยงแท้และถูกต้อง ที่ทรงค้นพบกลางป่า เป็นไปด้วยความเมตตา ไม่เคยเรียกร้องเงินหรืออามิสแต่อย่างใด และทรงเดินทางไกลด้วยเท้าเปล่าเพื่อสั่งสอนประชาชน
เพราะปรัชญาการศึกษาของพระพุทธเจ้าเป็นไปเพื่อสันติภาพและอิสรภาพของมนุษยชาติ และมหาวิทยาลัยของพระองค์ใช่ว่าจะหมายถึง ตัวตึกอันใหญ่โต แสงสีที่ฉูดฉาด รถเก๋งหลากยี่ห้อ ยศฐาและศักดินาอันมากล้น หรือเงินทองที่ได้จากการขูดรีดจากนิสิตนักศึกษา พระพุทธเจ้าทรงบอกให้นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในสำนัก ให้ไปร่ำเรียนและฝึกฝนอบรมตนในป่า ในเงื้อมถ้ำ ใต้โคนไม้ เรือนร้าง ป่าช้า นั่นคือ มหาวิทยาลัยของสำนักการศึกษาของพระพุทธเจ้า
ดังคำสอนเวลาเข้ามาศึกษาใหม่ในสำนักพระองค์ "รุกขมูล เสนาสนัง นิสาย ฯ.." "เมื่อเธอบรรพชา อุปสมบทแล้ว ให้เธอทั้งหลาย จงเสาะแสวงหา อยู่ตามรุกขมูล คือ ร่มไม้ ชายป่าชายเขา ตามถ้ำ เงื้อมผา อันไม่พลุกพล่าน เพื่อสะดวกแห่งการทำงานของเธอทั้งหลาย" อยู่อย่างเรียบง่ายและอาจถือธุดงควัตร 13 จบแล้วไม่มีใบปริญญาให้
เป้าหมายของการศึกษาในมหาวิทยาลัยในป่าของพระองค์
นั้นยิ่งใหญ่ เป็นไปเพื่อรับใช้ประชาชน ให้สังคมอยู่กันอย่างสงบสุข แม้นพระองค์จะเป็นเพียงครูจนๆ
ที่ไร้ฐานันดรศักดิ์ หรือศักดินาและเงินเดือนใดๆ ที่วันๆต้องออกขอบิณฑบาตข้าวจากประชาชนตามชายป่า
ก็ไม่เคยสอนให้แข่งขัน เอารัดเอาเปรียบ สอนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเองและพรรคพวก
หรือแนะนำความเชื่อผิดๆ
แต่สำหรับปรัชญาการศึกษาทุกวันนี้ กลับมีแต่เรื่องการแข่งขัน บางครั้งก็เอารัดเอาเปรียบ แม้กระทั่งผู้เป็นครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ยังขูดรีดแม้กระทั่งลูกศิษย์ อาจารย์นับวันจะรวยขึ้นๆ ยศใหญ่ขึ้นๆ มีการเปิดโครงการพิเศษมากมายสารพัด สร้างค่านิยมใบปริญญา และหาค่าจ้างรายได้ แต่นักศึกษา ชาวนาเล่า นับวันจะยากจนแสนเข็ญ นับวันการศึกษาสมัยทุนนิยมจะทำให้เป็นหนี้มากขึ้น นับวันจะทำลายระบบคิดและภูมิปัญญาท้องถิ่น นับวันการศึกษาจะพรากลูกหลานเขาออกจากชุมชนทั้งร่างกายและหัวใจ นี่หรือคือการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เอะอะ จะออกนอกระบบ เอะอะจะขึ้นค่าเทอม เอะอะจะเปิดโครงการพิเศษ เอะอะจะขยายวิทยาเขตสร้างฐานอำนาจและมอมเมาความรู้กากเดนฝรั่งให้กับประชาชนไทย
ลุงชาย พรหมวิศัย ชาวนาแห่งอำเภอส่องดาว จ.สกลนคร กล่าว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ที่ปลายนาบ้านบ่อแกใหญ่ ว่า การที่จะแก้ปัญหาของชาวนา จะทำให้ชาวนาเข้มแข็ง ที่สำคัญต้องเน้นจริงๆ คือเรื่องการศึกษา แต่ต้องเป็นการศึกษาที่ถูกต้อง เป็นสัมมาการศึกษา เปิดโอกาสให้ชาวนาได้จัดการศึกษาเอง และที่บอกว่าชาวนา คือ คนบ้านนอก โง่ ไร้วัฒนธรรม ไม่มีทางที่จะพัฒนาให้เป็นผู้มีความรู้-ฉลาดเท่าทัน และเป็นผู้นำได้ ไม่ใช่ความจริง หลอกลวง และโกหกทั้งสิ้น
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และกลุ่มพระธุดงคกรรมฐานสายอีสาน เช่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ชอบ หลวงปูสาม หลวงปู่พรหม หลวงพ่อชา หรือหลวงตาบัว ที่เป็นที่เคารพกราบไหว้ของประชาชนนานาชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นลูกชาวนา การเข้าสู่ขบวนการศึกษาอย่างจริงจัง จนกระทั่งกระดูกแปรเป็นพระธาตุ ที่ปุถุชนธรรมดามิอาจเกิดขึ้น แสดงว่าชาวนาหรือมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชั้นชนใด สามารถที่จะพัฒนาศักภาพของตัวเองขึ้นมาได้ พัฒนาให้วิเศษอย่างใดก็ได้
แม้จะทำการศึกษาตามชายป่าแถบภูพาน ภูลังกา ชายฝั่งทะเล ยอดดอย ก็ตาม ศึกษากันตามป่าช้า และเถียงนาน้อย ทำไมผู้คนเหล่านี้ที่ผ่านกระบวนการศึกษาอย่างจริงจังจึงมีความฉลาดรู้เท่าทัน เป็นคนดี มีคุณธรรม สร้างความร่มเย็นให้กับสังคม แม้นแต่เศษไม้จิ้มฟันยังแย่งกันไปบูชา เม็ดทรายบนทางเดินจงกลมยังขอนำไปกราบไหว้ที่บ้าน ที่ต่างจากคนเป็นดุษฎีบัณฑิต (ด๊อกเตอร์) ที่จบจากสถาบันการศึกษาในมหาวิทยาลัยยุคปัจจุบัน บางรายเมื่อตายแล้ว ไม่มีแม้นใครอยากจะไปร่วมเผาผี
ฉะนั้นการที่กล่าวว่าชาวนาจะสร้างมหาวิทยาลัยเพื่อสอนชาวนากันเอง
เป็นไปไม่ได้ จึงเป็นเรื่องโกหก ไม่รู้จริง กลัวชาวนาจะฉลาด จะรู้เท่าทัน และคำพูดที่บอกว่าชาวนาอย่างมาก
ก็สามารถพัฒนาสูงสุด เป็นได้แค่ลูกจ้างในโรงงาน คนรับใช้ในเมือง หรือเป็นเพียงคุณแจ๋วที่คอยพัดวีให้คุณหญิงคุณนาย
จึงเป็นเรื่องหลอกลวงและไม่จริงทั้งสิ้น
หมู่บ้านองค์รวมของศาสตร์แห่งชีวิต
ปรัชญามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าหรือท่านสมณโคดมและคณะ อาจเป็นเรื่องสูงส่งยิ่ง
เพื่อบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ แต่ในฐานะคนในชุมชนที่ยังเป็นผู้ครองเรือน ปรัชญาอุดมศึกษาในหมู่บ้านของเรา
ในเบื้องต้นจึงเป็นไปเพื่อที่จะเรียนรู้แก้ปัญหาชีวิต รู้เท่าทันโลก รู้เท่าทันสังคม
รู้ทันนักพัฒนา นักเศรษฐศาสตร์ นักการเมือง นักปกครอง นักการศึกษา ที่มักชี้นำชาวนา
เอาชาวนา-ชาวชนบท เป็นเครื่องมือ ต่อจากนั้น การศึกษาของเราจะมุ่งเพื่อให้ชาวนาอยู่กันอย่างเอื้ออาทร
ช่วยเหลือแบ่งสุขคลายทุกข์ในวิถีแห่งความทุกข์ยากของการเกิดมาเป็นมนุษย์ และหลังจากนั้นการศึกษาของมหาวิทยาลัยของชาวนา
จึงอาจค่อยก้าวสู่เพื่อความเป็นอริยชน ตามอัธยาศรัย
จากงานวิจัยและงานศึกษาเกี่ยวกับหมู่บ้านอย่างยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ของนักวิชาการอย่าง ท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นเมธีวิจัยอาวุโส ของสกว. พบว่า ในชุมชนหมู่บ้านไทยเรา มีลักษณะของความรักอิสระเสรีเป็นพื้นฐานและมีแนวคิดแบบอนาธิปัตย์นิยม (anarchism) เป็นสังคมที่มีน้ำใจและเอื้ออาทรสูง ในประวัติศาสตร์มักถูกกดขี่และขูดรีดโดยรัฐ แต่มีศาสตร์และองค์ความรู้มากมาย ที่เรียกกันว่า ภูมิปัญญา (wisdom) ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับชีวิต หากเมื่อเราตั้งมหาวิทยาลัยชาวนาหรือการเริ่มก่อตั้ง เราจำเป็นที่จะต้องคลี่ออกมา เอาออกมาจัดหมวดหมู่ ทั้งระบบองค์ความรู้เก่าแก่ที่สืบทอดมาจากบรรพชน ในรูปของใบลาน ในรูปของ ผญา ปรัชญา ในรูปของเรื่องเล่า นิทาน ที่ผสมผสานกับองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นใหม่ในปัจจุบัน
ในชุมชนหมู่บ้านไทยหากมีการศึกษา และตีความองค์ความรู้ในระบบภูมิปัญญาของคนในชุมชน ผ่านกิจกรรมตั้งแต่การเกิดและการตาย คนในชุมชนล้วนมีวิธีการจัดการเป็นของตัวเองทั้งสิ้น มิได้หยิบยืมหรือลอกเลียนจากสังคมใดๆ หรือหากมี ก็มีการปรับให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนเก่าอย่างลงตัว ทั้งวิธีปฏิบัติต่อกันระหว่างมีชีวิต หรือหลังความตาย การดำรงชีวิต การดูแล ปกครอง หรือ การปฏิบัติต่อธรรมชาติหรือที่เรียกกันว่าการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management)ที่อาจอยู่ในรูปของใบลาน คำบอกเล่า หรือผญา (Philosophy)
แต่น่าเสียดายระบบภูมิปัญญาเหล่านี้ ศาสตร์ความรู้เหล่านี้เรากลับทอดทิ้ง เมื่อศาสตร์และวิชาการจากตะวันตกเข้ามา เรากลับเชื่อว่าศาสตร์เขาดีกว่า ของเราถูกทอดทิ้ง ไม่ถูกบรรจุเข้าเป็นหลักสูตรการเรียน ทอดทิ้ง ไม่ตีความและพัฒนาให้ทันสมัยไปพร้อมกับโลกปัจจุบัน แม้จะมีการศึกษาบ้างในระยะหลัง ก็เป็นการศึกษาในลักษณะ เรื่องเก่าโบราณ เป็นเรื่องของการอนุรักษ์ เรื่องคนโบราณไปเสีย
เพราะฉะนั้นเราจึงมักได้ยินได้เห็นเป็นเรื่องปกติว่าบิดาวิชาต่างๆ เช่น ฟิสิกส์สมัยใหม่ คือ เลโอนาโด ดาวินชี (1452-1519) และกาลิเลโอ (1564-1642), บิดาแห่งวิชาเคมี คือ ลาวัวซิเอร์ (1743-1794), หรือบิดาแห่งวิชาแพทย์และชีววิทยาคือ โกลด แบร์นาร์ด (1813-1876) ซึ่งเป็นเรื่องวิชาจากฝรั่งทั้งสิ้น ไม่มีวิชาใดเลยที่เป็นชื่อไทย คิดโดยคนไทยและมีบิดาแห่งศาสตร์นั้นเป็นคนไทย ทั้งที่ภูมิปัญญาและศาสตร์ในดินแดนลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำปากพนัง มีอยู่มากมาย และวิชาที่เราเรียนตามโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน มักมีเพียงวิชาชื่อแบบฝรั่งหรือแปลมาจากภาษาฝรั่ง เช่น เคมี(chemistry) ชีววิทยา (biology) ฟิสิกส์(physic) กายวิภาคศาสตร์ (anatomy) สรีรวิทยา (Physiology) นิเวศวิทยา(Ecology) สังคมวิทยา (Sociology) หรือมานุษยวิทยา (anthropology) ฯลฯ เป็นต้น
มหาวิทยาลัยของหมู่บ้าน
: สถานสร้างปัญญา เพื่อดึงเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีคืนคนชนบทไทย
การมีปัญญา มีประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย ตั้งแต่การแก้ปัญหาในเรื่องปากท้องส่วนตัว
ของส่วนรวม แม้กระทั่งการบรรลุอริยธรรม อันเป็นการแก้ปัญหาเบื้องปลาย ล้วนเป็นเรื่องของปัญญาทั้งสิ้น
ฉะนั้นการติดอาวุธทางปัญญา นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่สำคัญแล้ว การจัดกิจกรรมติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน ในลักษณะคู่ขนานกับอุดมศึกษาในระบบและเป็นทางเลือกให้กับชาวนา ผู้ไม่มีโอกาสเข้าศึกษาด้วยข้อจำกัดต่างๆในระบบ เพื่อให้มีความรู้เท่าทันกับบัณทิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยในระบบทั้งของไทยหรือของต่างประเทศ ที่มักศึกษาศาสตร์และวิชาการจากตะวันตก รู้เท่าทันพ่อค้า นายทุน-นักการเมือง จึงเป็นสิ่งเร่งด่วนและสำคัญมาก เพราะที่ผ่านมา ทั้งๆที่ทฤษฎีการพัฒนาที่ใช้แนวทางเศรษฐศาสตร์เชิงกำไร ทะแม่งๆและผิดพลาด ทำลายผู้คนและทรัพยากรธรรมชาติ แต่เราก็มิอาจทักท้วง เพราะไม่เชื่อมั่นในภูมิปัญญาเก่าของเราและกลัว
ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชนชาวนา หรือชุมชนชาวเขา ชาวประมง ควรจะมีมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะเป็นคลังสมองของชุมชนตัวเอง ฟื้นฟูและพัฒนาองค์ความรู้เก่าๆและพัฒนาใหม่ เชื่อมประสานทั้งจากภายนอกและภายใน สร้างความเข้มแข็งให้กับชาวชนบท ให้ชาวชนบท ชาวนา สามารถที่จะถกเถียงทฤษฎีการพัฒนา ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กับนายกรัฐมนตรี กับนักวิชาการตะวันตก เพราะองค์ความรู้ที่เราเชื่อว่าดี จากต่างประเทศก็แสดงให้เห็นว่า ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป ใช่ว่าเอามาใช้ได้ และใช่ว่าจะนำโลกไปสู่สันติภาพ มิหนำซ้ำกลับนำโลกไปสู่ความรุนแรง การล่าณานิคม-แย่งชิงทรัพยากร ไหลหลงกับวัตถุนิยม และลุ่มหลงไปในเรื่องของการบริโภค อ่อนแอทางจิตวิญญาน นำไปสู่ปัญหายาเสพติด เช่น ในอเมริกา หรือประเทศไทยที่กำลังเป็นอยู่
ชาวนาเองจะต้องลุกขึ้นยืนเพื่อที่จะสร้างชุมชนของตัวเอง เสมือนว่าชุมชนหมู่บ้านของตัวเองเป็นรัฐๆหนึ่ง สิ่งที่จะผลักดันให้ชุมชนชาวนาเข้มแข็ง มีศักดิ์ศรี มีความสุข ต้องเรื่องการศึกษา เร่งฟื้นฟูระบบการศึกษาของท้องถิ่นเดิม ทบทวนประวัติศาสตร์อันดีงามของหมู่บ้าน ก่อร่างสร้างมหาวิทยาลัยชาวนาขึ้นมา อาศัยการสนับสนุนจากนักวิชาการ ภาคเอกชน ภาครัฐ เอ็นจีโอ เชื่อมโยงประสานงานกับองค์กรชาวนา สังคมชาวนาต้องประกาศอิสรภาพ
และเมื่อสังคมชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีความรู้ มีปัญญา และกล้าหาญ ประเทศชาติของเราจะเข้มแข็ง ขบวนการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยจะสมบูรณ์มากขึ้น การขจัดการทุจริตคอรัปชั่นจะตามมา ปัญหายาเสพติดจะลดลง ปัญหาหนี้สิน จะคลี่คลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้คนในสังคมชาวนา เดินย่างในสังคมอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี แม้นจะอาศัยอยู่ในชายป่าและกลางทุ่งนาก็ตาม ที่แม้นจะเลี้ยงควายและทำนา ก็สามารถคุยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การเมือง กับคนทุกคนได้ สร้างความสุขด้วยความเชื่อมั่นด้วยแนวทางการพัฒนาจากทฤษฎีและศาสตร์การพัฒนาของชาวนาเอง
มหาวิทยาลัยภูแสงดาว
28 พฤษภาคม 2546
ธันวา ใจเที่ยง
นักวิชาการเทือกภูพาน กาฬสินธุ์
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา
2 I สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 440 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย
สนใจ สั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
ศาสตร์และวิชาที่อยู่ในพื้นแผ่นดินป่าฝนเมืองร้อน (Tropical forest)) ดินแดนแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เผ่าพันธุ์และหลากหลายทางภูมิปัญญา เช่น ศาสตร์หมอยาพื้นบ้าน ศาสตร์ปรัชญาและวัฒนธรรมอีสาน ที่รวมมิติทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมือง เชื่อมโยงกัน หรือภาษาและวัฒนธรรมล้านนา เท่าที่ผ่านมา นอกจากผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษา จะไม่เห็นความสำคัญแล้ว ผู้คนซึ่งเป็นชาวนาในท้องถิ่น ยังถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพ ถูกมองด้วยสายตา หยามหมิ่น
ในชุมชนหมู่บ้านไทยหากมีการศึกษา
และตีความองค์ความรู้ในระบบภูมิปัญญาของคนในชุมชน ผ่านกิจกรรมตั้งแต่การเกิดและการตาย
คนในชุมชนล้วนมีวิธีการจัดการเป็นของตัวเองทั้งสิ้น มิได้หยิบยืมหรือลอกเลียนจากสังคมใดๆ
หรือหากมี ก็มีการปรับให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนเก่าอย่างลงตัว ทั้งวิธีปฏิบัติต่อกันระหว่างมีชีวิต
หรือหลังความตาย การดำรงชีวิต การดูแล ปกครอง หรือ การปฏิบัติต่อธรรมชาติหรือที่เรียกกันว่าการจัดการสิ่งแวดล้อม
(Environmental Management)ที่อาจอยู่ในรูปของใบลาน
คำบอกเล่า หรือผญา (Philosophy)
แต่น่าเสียดายระบบภูมิปัญญาเหล่านี้ ศาสตร์ความรู้เหล่านี้เรากลับทอดทิ้ง เมื่อศาสตร์และวิชาการจากตะวันตกเข้ามา
เรากลับเชื่อว่าศาสตร์เขาดีกว่า ของเราถูกทอดทิ้ง ไม่ถูกบรรจุเข้าเป็นหลักสูตรการเรียน
ทอดทิ้ง ไม่ตีความและพัฒนาให้ทันสมัยไปพร้อมกับโลกปัจจุบัน
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90