มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ


บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 428 หัวเรื่อง
ความคิดทางศาสนากับเทคโนโลยี
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
นักเขียน-นักวิชาการอิสระ

 

R
relate topic
020847
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบเรื่องพิเศษบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
"ไม่มีใครสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากความเชื่อในชัยชนะเบื้องหน้า"
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 


ความคิดทางด้านศาสนธรรม
มีบางสิ่งขาดไป ในความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : แปล

แปลจาก The Lack of Technological Progress, Revision, Spring 2002. Vol. 24 no. 4, pp. 27-33
เขียนโดย David R. Loy
David R. Loy เป็นศาสตราจารย์ด้านนานาชาติศึกษาที่มหาวิทยาลัยบุงเกียว เมืองชิงาซากิ ประเทศญี่ปุ่น
เขาได้นิพนธ์เรื่อง Nonduality (1989) Lack and Transcendence (1996) และ A Buddhist History of the West (2002)
เขาเป็นนักปฏิบัติธรรมแบบพุทธนิกายเซ็นหลายปีแล้ว และเป็นพระอาจารย์ตามสายซันโบ เกียวดัน

หมายเหตุ : ชื่อเดิมของต้นฉบับเรื่องนี้
การขาดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 20 หน้ากระดาษ A4)


เพียงไม่นานเราก็สังเกตได้ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ได้ดีเหมือนอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อไว้ อย่างน้อยในแง่ของความพึงพอใจ ความสมมาดปรารถนา สุขภาพ อนามัย และสันติภาพของมนุษย์ ทั้งมันยังทำให้เกิดผลกระทบที่น่ากลัวและอาจจะเป็นหายนะต่อโลก อาณาจักรของเทคโนโลยีที่ดูเหมือนจะพังครืนลงไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันมันก็กำลังแผ่ขยายออกไปครอบคลุมปริมณฑลต่าง ๆ ด้วยความยโสโอหังและอันตรายยิ่งขึ้น (Mander 1991 หน้า 7)

เมื่อมองจากภายนอก คุณลักษณะที่สำคัญสุดของโลกตะวันตกเห็นจะได้แก่ความมีพลวัตและการมุ่งแผ่ขยายและเติบโตใหญ่ขึ้น เมื่อมองจากภายใน คุณลักษณะแบบเดียวกันก็สะท้อนออกมาจากความเชื่อในความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสี่ศตวรรษที่ผ่านมา พวกเรามีความเชื่อมั่นในประโยชน์ของความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยหากปราศจากความเชื่อเช่นนี้ เราก็แทบจะไม่สามารถอธิบายถึงผลลัพธ์ของความมีพลวัตเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายล้างระบบนิเวศอย่างกว้างขวาง การครอบงำวัฒนธรรมอื่น ๆ ความเสื่อมโทรมด้านสังคมของชุมชนเราเองและอื่น ๆ

หากมองว่าผลลัพธ์เหล่านี้เป็นเพียงผลข้างเคียงของความก้าวหน้า มันก็เหมือนกับการอ้างว่าเราสามารถเจียวไข่ได้โดยไม่ต้องตีไข่ แน่นอนว่าความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีได้ก่อปัญหาขึ้นบางครั้ง แต่ก็โชคดีที่มีวิธีแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีเช่นกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราแก้ปัญหาของความก้าวหน้าด้วยการพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก และที่เป็นแบบนี้ก็ดังที่เรารู้กันอยู่หรือถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า เราไม่สามารถหยุดยั้งความก้าวหน้าได้

เป้าหมายของความก้าวหน้า
คำภาษาอังกฤษของคำว่า "ความก้าวหน้า" คือ progress ซึ่งมีรากศัพท์ลาตินว่า pro-gressus ซึ่งหมายถึงการก้าวไปข้างหน้า แต่อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเรามุ่งไปข้างหน้ามากกว่าจะถอยหลังหรือตกข้างทางไป แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรากำลังมุ่งไปยังทิศใดกันแน่ ตามอุปมาอุปไมยนี้ มันก็จะเป็นประโยชน์ถ้าเราจะวัดความก้าวหน้าโดยเทียบกับจุดที่ซึ่งเรากำลังมุ่งหน้าไปหรือเป้าหมายนั่นเอง

ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและสังคมที่ช่วยให้เราเข้าใกล้เป้าหมายยิ่งขึ้น สะท้อนว่าเรากำลังก้าวหน้าต่อไป ความก้าวหน้าที่ไม่ได้นำเราเข้าไปใกล้กับเป้าหมายย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความก้าวหน้า และยิ่งถ้ามันทำให้การเข้าถึงเป้าหมายยากยิ่งขึ้น มันก็เป็นแค่การก้าวถอยหลังนั่นเอง

ที่พูดนี้ไม่ใช่ประเด็นทางนามธรรม เมื่อมองย้อนประวัติศาสตร์ของอารยธรรมที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมบางวัฒนธรรมได้ถูกทำลายลงโดยวัฒนธรรมอื่น และบางวัฒนธรรมก็ได้ทำลายตนเองลงไป ซึ่งมักจะเป็นผลมาจากการทำลายพื้นฐานด้านนิเวศ ถ้าพวกเราทั้งหลายกำลังก้าวหน้าต่อไปมันก็หมายความว่า อย่างน้อยเราไม่ได้กำลังก้าวเดินไปในทิศทางอย่างที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของเราหมายถึงการที่เราทำบางสิ่งที่แตกต่างและดียิ่งขึ้น และจะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้กับอารยธรรมของเราที่พึงบรรลุเป้าหมายที่แตกต่างและดียิ่งขึ้น แต่อะไรเล่าเป็นเป้าหมายพิเศษที่เรากำลังก้าวไปหา

ถ้าเราไม่รู้เลยว่าเป้าหมายที่พิเศษนั้นจะเป็นอย่างไร ก็คงเป็นเพราะเราไม่รู้ว่าเป้าหมายของความก้าวหน้าเป็นอย่างไรกันแน่ ถ้าเช่นนั้นอุปมาอุปไมยของ "ความก้าวหน้า" ก็คงมีปัญหาเสียแล้ว จากนัยยะเหล่านี้ คำถามแรกที่เราควรพิจารณาไม่ใช่ว่าเรากำลังไปยังจุดหมายที่ต้องการหรือไม่ แต่เป็นคำถามที่ลึกซึ้งยิ่งกว่า นั่นคือ เรากำลังมุ่งไปสู่เป้าหมายอะไรสักอย่างหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ แล้วความก้าวหน้าไม่ว่าจะแบบใดก็ตามมันจะมีความหมายอะไรเล่า การขาดซึ่งเป้าหมายบ่งบอกถึงความลุ่มหลงในความก้าวหน้ามากเพียงไร

เหตุที่ว่าคำถามเหล่านี้มักเป็นคำถามที่เราไม่ค่อยจะถามกัน และมักยากจะหาคำตอบ ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า แรงจูงใจของเราอาจจะเป็นอย่างอื่นมากกว่านั้น บางทีเราอาจไม่ได้กำลังไปยังที่แห่งไหน แต่เรากำลังไปจากที่บางแห่ง ซึ่งเป็นที่ที่เราไม่ต้องการไปมากกว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ประเด็นนี้ก็จะมีผลอย่างมากต่อความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความก้าวหน้า ถ้าเราต้องการจะไปจากบางสิ่ง มันก็มีอยู่หลายวิธีที่เราอาจจะทำได้ มีหลายหนทางที่เราอาจจะไปได้ แต่ในการตัดสินใจว่าเส้นทางใดจะดีที่สุด เราจะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงสิ่งที่เรากำลังพยายามหลีกห่างออกมา ไม่เช่นนั้นในที่สุด เราก็จะมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางที่เราต้องการจะหลีกเลี่ยงนั่นเอง

สถานการณ์เลวร้ายที่สุดก็คือ เราอาจจะลากพาสิ่งที่เราพยายามหนีห่างไปด้วยราวกับว่ามันได้ถูกผูกอยู่กับหางของเรา พูดแบบนี้ฟังดูเหมือนแปลก ๆ แต่อันที่จริงมันก็อาจจะไม่แปลกถ้าเราพบว่าสิ่งที่เราพยายามหนีห่างออกมาก็คือตัวเราเอง หรือแง่มุมบางอย่างของตัวเรา ในกรณีเช่นนั้นความเข้าใจในตัวเองจะเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนมากยิ่งกว่าความก้าวหน้าใด ๆ ที่กระทำลงไปโดยปราศจากความเข้าใจตนเองเพราะความก้าวหน้าเช่นนั้นอาจจะส่งผลข้างเคียงที่ไม่ก้าวหน้าเอาเลย ดังที่รู้กันในหมู่นักจิตบำบัดว่า ถ้าเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นแรงจูงใจของเรา เราก็มักจะทำสิ่งต่าง ๆ ตามอำเภอใจ สิ่งนี้บอกอะไรเราหรือเปล่าเมื่อโยงไปถึงความลุ่มหลงของเราต่อความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และผลกระทบที่เป็นอันตรายที่ไม่คาดหมายซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นอาจินต์

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจมักได้รับการส่งเสริมโดยพวกเทคโนแครต โดยพวกเขายกย่องว่ามันจะช่วยให้เรามีอนาคตที่ดีอย่างเช่น มีตึกสูงที่สะอาดและสะดวก และมีรูปแบบการขนส่งใหม่ ๆ ที่ช่วยให้เราไปได้ทุกที่ที่อยากไป คุณยังจำรายการโทรทัศน์ "The Jetsons" ที่ฉายในช่วงทศวรรษ 1970 ได้ไหม จินตนาการในเบื้องต้นเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากความคิดของผู้เขียนการ์ตูนล้วน ๆ แต่มีรากฐานมาจากวิสัยทัศน์ในพลนุภาพของเทคโนโลยีที่ได้รับการส่งเสริมกันตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1940 และ 1950 ซึ่งตอนนั้นพวกเขาบอกเราว่า พลังงานปรมาณูจะทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าถูกลงจนไม่จำเป็นต้องติดมิเตอร์

วิสัยทัศน์แบบพวกที่ส่งเสริมเทคโนโลยีไม่เคยเห็นว่าสังคมจะอยู่ "ในช่วงเปลี่ยนผ่าน" พวกเขามักเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและบั่นทอนเสถียรภาพ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาทำนายถึงอนาคตของโลกที่มีเสถียรภาพ สังคมที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบและประชาชนที่รู้สึกมั่นคงและมีความสุข แล้วนั่นเป็นเป้าหมายที่เรากำลังก้าวหน้าไปถึงหรือเปล่า ถ้าใช่ ดูเหมือนว่าประสบการณ์ที่เรามีกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับความจริงในข้อนั้นสักเท่าไหร่

สภาพสังคม เศรษฐกิจและธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้คนจำนวนมากประสบกับภาวะหวาดกลัวกับอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น ตรงข้ามกับจินตนาการที่ว่าเราจะมีสังคมเทคโนโลยีที่มั่นคง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะไม่มีทีท่าว่าจะช้าลงเลย

แล้วความลักลั่นนั้นผิดปรกติอย่างไรเล่า เมื่อพิจารณาถึงระดับของความสะดวกสบายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนที่คนจำนวนมากในโลกที่พัฒนาแล้วได้รับ รวมทั้งคนที่เป็นผู้กำหนดวิถีทางที่โลกที่พัฒนาแล้วต้องดำเนินต่อไป แล้วทำไมความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมในโลกตะวันตกกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่าจะลดการเปลี่ยนแปลงลงเพื่อไปสู่สังคมที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งในเมื่อเราเริ่มตระหนักกันว่าอัตราของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหามาก เหตุใดเราจึงไม่สามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นช้าลงได้เล่า

อัตราการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ ทั้งนี้เพราะพวกเราต่างกระตือรือร้นที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาในโลกตะวันตก ในขณะที่ช่องว่างทางด้านเทคนิคและเศรษฐกิจของสังคมที่พัฒนาแล้วกับสังคมด้อยพัฒนากลับกว้างออกมากขึ้น ในขณะเดียวกันเกือบทุกคนในโลกที่พัฒนาแล้วต่างพร่ำบ่นถึงความเร็วของชีวิตและการขาดแคลนเวลา

เหตุที่ดูเหมือนว่าเราไม่ได้กำลังก้าวหน้าไปสู่โลกในอนาคตอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่ามีเสถียรภาพหรือไม่ก็ตาม และดูเหมือนจะไม่มีจุดสิ้นสุดของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นอยู่ (เว้นก็แต่ถูกบีบโดยข้อจำกัดด้านนิเวศวิทยาที่เป็นปัจจัยภายนอก) ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามเกี่ยวกับแรงจูงใจที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

เราอาจจะเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้นถ้าเราพยายามทำความเข้าใจกับความลุ่มหลงในความก้าวหน้าของเราว่า เป็นปฏิกิริยาที่เป็นผลมาจากความไม่พึงพอใจกับปัจจุบันขณะ ถ้าเราไม่สามารถค้นหาเป้าหมายที่เรากำลังจะมุ่งไป ถ้าเช่นนั้นก็แสดงว่าเราก็กำลังวิ่งหนีจากบางสิ่งนั่นเอง และบางสิ่งนั้นคืออะไรเล่า มันคงไม่ใช่สิ่งที่เราพบได้ในอดีต (อย่างเช่น ความกลัวต่อความหิวโหย ซึ่งบัดนี้ได้หมดไปเกือบทั้งหมดในประเทศพัฒนาแล้ว และโดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง) เพราะถ้าบางสิ่งนั้นไม่ได้มีอยู่ในปัจจุบัน หมายถึงไม่ได้รบกวนเราอยู่ ถ้าเช่นนั้นก็ไม่มีเหตุผลใดที่เราจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีไปด้วยอัตราเร่งเช่นนี้

ถ้าเช่นนั้นแสดงว่าบางสิ่งที่เรากำลังหลีกหนียังคงดำเนินอยู่และเป็นแรงกระตุ้นที่มีพลังต่อเรามากเสียยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาอีก และอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อมันได้รับแรงกระตุ้นจากบางสิ่งซึ่งควรจะได้รับการแก้ไขอยู่ในกระบวนการนี้แล้ว ในกรณีเช่นนั้น เราก็คงคาดได้ว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยีจะเริ่มช้าลง ในขณะที่หนทางแก้ปัญหาได้เริ่มส่งผลแล้ว หรืออันที่จริงเราอยู่ในท่ามกลางหนทางที่แก้ปัญหาเหล่านั้นบางส่วนแล้ว ซึ่งข้อนี้ก็ไม่ชัดเจนยกเว้นก็แต่เฉพาะพวกที่มีความเชื่อแบบงมงาย (อย่างเช่น นักการตลาดเสรีแบบเสรีนิยมใหม่บางคน) ข้าพเจ้าอยากสรุปว่า ความต้องการที่จะก้าวหน้าพัฒนาไป และความเชื่อในความก้าวหน้า เป็นผลมาจากความรู้สึกพร่องของเราที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป

แล้วอะไรล่ะที่เรารู้สึกว่าขาดไปจากชีวิต คำตอบที่ชัดเจนซึ่งผุดขึ้นมาในใจของเราได้แก่ เรากำลังประสบกับความทุกข์ หรืออย่างน้อยก็มีความไม่สบายบางอย่าง และเรารู้สึกว่าการพัฒนาจะช่วยให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น ความก้าวหน้าหมายถึงอย่างเช่นการมีอาหารดีขึ้น มีระบบขนส่ง ระบบสุขภาพดีขึ้น และมีเวลาว่างที่จะมีความสุขกับตัวเอง พวกเราต้องการความก้าวหน้าเพราะพวกเราปรารถนาจะมีสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่มีอยู่อย่างเห็นได้ชัด ถ้าเรามองดูที่รายงานผลลัพธ์ของตัวอย่างเหล่านี้ เราก็จะพบเหตุผลสำคัญอย่างน้อยสองประการที่ช่วยให้เราเห็นว่า ความรู้สึกพร่องยังดำรงอยู่ต่อไปและเป็นแรงจูงใจให้เราลุ่มหลงกับความก้าวหน้า

เหตุผลประการแรกได้แก่ แม้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ช่วยปรับปรุงอาหารของเราและอื่น ๆ ให้ดีขึ้น แต่ก็เป็นที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า การปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่คาดหมายและมีนัยยะสำคัญ และทำให้ผลของความก้าวหน้านั้นคลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่เราคาดหวัง หรือคลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริง อันที่จริง เราอาจถกเถียงได้ว่าถ้าเรามีโอกาสรู้ถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นของการปรับปรุงเหล่านี้ล่วงหน้า เราก็อาจจะตัดสินใจไม่ทำการพัฒนาบางอย่าง หรือ (ถ้าแนวคิดเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเราคลี่คลายจากแบบเส้นตรง) เราก็อาจจะตัดสินใจปรับปรุงบางแง่มุมของชีวิตด้วยวิธีการที่ต่างออกไป ซึ่งถ้ามีการประเมินผลการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเหล่านั้นอย่างเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ตอนนั้น

ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้เรามีอาหารมากมายและมีให้เลือกนานาชนิด (แม้ว่าจะไม่เป็นจริงเสมอไป อย่างเช่น ทุกวันนี้เรามีสายพันธุ์แอปเปิลที่กินได้น้อยลงไป) และอาหารเหล่านี้มีความปลอดภัยมากขึ้นในบางอย่าง (แม้ว่าอาจจะไม่ทุกด้านโดยเฉพาะเมื่อมีการใช้วิธีตัดแต่งพันธุกรรม การใส่สารกันบูด และสารปรุงแต่งอื่น ๆ ฯลฯ) แต่อาหารเหล่านี้ก็มีรสชาติด้อยลงไปกว่าแต่ก่อน ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เราต้องใช้น้ำตาล เกลือ และเครื่องปรุงรสอื่น ๆ มากขึ้น ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นผลมาจากการที่การผลิตและกระจายอาหารได้กลายเป็นอุตสาหกรรมขึ้นมา และผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะต้องถูกปรับให้เข้ากับขบวนการด้านอุตสาหกรรมและเงื่อนไขในทางการค้า

ปัญหาด้านอาหารที่รุนแรงที่สุดของเราดูเหมือนว่าจะเป็นความผิดปกติในการกินที่เกิดเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งรวมถึงการพึ่งพิงกับร้านอาหารแดกด่วนเพิ่มมากขึ้น ปรากฏการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีด้านอาหารสมัยใหม่ไม่ได้ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอาหารเลย หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือ เราได้สูญเสียบางอย่างที่สำคัญไปในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตเพื่อพึ่งตนเอง (และเพื่อแบ่งปันคนอื่น) มาเป็นการมุ่งใช้เทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตขนานใหญ่

ในทำนองเดียวกันเราสามารถใช้ประเด็นนี้เพื่อพิจารณาถึงวัฒนธรรมของการใช้รถได้ หากเราตระหนักถึงต้นทุนที่แท้จริงที่เราต้องแลกกับความสะดวกสบายที่ได้มา ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรต่าง ๆ ที่ใช้ขับเคลื่อนรถ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการใช้รถ ถนนที่เสียหายอันเนื่องมาจากการใช้รถ ผลกระทบของการใช้รถต่อพื้นที่สาธารณะและชีวิตชุมชน ผลกระทบในระดับนานาชาติต่อการพึ่งพิงน้ำมันที่นำเข้าและอื่น ๆ ถ้าเราตระหนักถึงต้นทุนเหล่านี้ เราจะไม่หันไปมุ่งพัฒนาให้เกิดระบบขนส่งสาธารณะที่ดีมากขึ้นกว่าหรือ

แล้วเรื่องการดูแลสุขภาพล่ะ ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างค่อนข้างชัดเจน หรือในบางกรณีก็อาจจะไม่มากเหมือนอย่างที่เราคิดกันก็ได้ ไอวาน อิลลิช (1977) และคนอื่น ๆ หลังจากเขาได้ชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดโรคต่าง ๆ ในประเทศพัฒนาแล้วในทุกวันนี้ได้แก่ระบบสาธารณสุข

ยิ่งไปกว่านั้น การเน้นที่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทำให้เกิดการมุ่งรักษาโรคด้วยต้นทุนราคาแพงมากยิ่งกว่าจะมุ่งหาวิธีป้องกันโรคซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า พวกเราต่างถูกกระหน่ำด้วยสื่อต่าง ๆ จากภาครัฐที่ประณามโรคมะเร็งและโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ว่าเป็นผลมาจากวิถีชีวิตของเราเอง (เช่น สูบบุหรี่มากเกินไป ดื่มเหล้า บริโภคไขมัน และน้ำตาล การไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ) เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเราจากสาเหตุของโรคในทางสังคมอย่างเช่น มลภาวะ เป็นต้น

ทั้งเรายังเข้าสู่ยุคของวัฒนธรรมการใช้ยาเม็ดอย่างไม่เท่าทัน ผลข้างเคียงของการใช้ยาชนิดหนึ่งจำต้องได้รับการบำบัดจากการกินยาชนิดอื่น ๆ ในขณะเดียวกันผลข้างเคียงของการใช้ยาเหล่านี้ก็อาจต้องได้รับการบำบัดเพิ่มเติมขึ้นไปอีก ผลกระทบที่สะสมขึ้นเนื่องจากการใช้ยาและการแทรกแซงบำบัดในรูปแบบอื่น อาจช่วยบรรเทาปัญหาด้านสุขภาพบางอย่างที่เรามุ่งแก้ไขได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สุขภาพอนามัยโดยรวมของเราดีขึ้น ในลักษณะนี้ก็เช่นกัน ถ้าเราเท่าทันถึงสิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน มันจะไม่ดีกว่าหรือถ้าเราจะพัฒนาวัฒนธรรมการใช้ยาที่พึ่งพาเทคโนโลยีแต่น้อย แต่เน้นที่การป้องกัน ทั้งนี้ถ้าเราสามารถเลือกได้

ท้ายที่สุดแล้ว เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยทุ่นแรงเหล่านี้ได้ให้ประโยชน์กับเราอย่างที่มันคุยเขื่องไว้หรือเปล่า กล่าวคือ มันได้ช่วยให้เรามีเวลาว่างในชีวิตมากขึ้นหรือไม่ คำอ้างดังกล่าวดูเหมือนยากจะพิสูจน์ได้เพราะมีหลักฐานหลายอย่างที่ชี้ไปในทางตรงข้าม การสำรวจโดยสมาคมเพื่อนันทนาการและสวนสาธารณะแห่งชาติในสหรัฐอเมริการะบุว่า ในปี 1992 ร้อยละ 38 ของชาวอเมริกันมักบอกว่าตัวเองต้องเร่งรีบเสมอ เมื่อเทียบกับคนจำนวนเพียงร้อยละ 22 ที่พูดแบบเดียวกันเมื่อปี 1971

ในหนังสือเรื่อง คนอเมริกันที่ทำงานหนักเกินไป (The Overworked American) (1992) ของ Juliet Schor ท้าทายว่า ในปัจจุบันคนอเมริกันทำงานนับเป็นชั่วโมงมากขึ้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ในนิตยสาร Utne Reader โจ โรบินสัน (2000) ได้อ้างว่า ปัจจุบันสหรัฐอเมริการั้งตำแหน่งประเทศที่บ้าทำงานมากที่สุดในโลกในหมู่ประเทศอุตสาหกรรม โดยแซงหน้าประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว

ผู้เขียนกล่าวว่า สามีและภรรยาในสหรัฐทำงานมากขึ้นโดยเฉลี่ย 500 ชั่วโมงต่อปีเมื่อเทียบกับเมื่อปี 1980 การสำรวจความเห็นสาธารณะของลู แฮริส ชี้ให้เห็นว่าคนอเมริกันมีเวลาว่างน้อยลงร้อยละ 37 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (อ้างไว้ในหนังสือของเลวิน 1997 หน้า 107) ความแตกต่างระหว่างชีวิตเรากับบรรพชนเราช่างมีมากมายเหลือเกิน

"ในเมื่อเวลาเป็นหนึ่งในสิทธิพิเศษหลายประการที่ชนพื้นเมืองได้รับมากยิ่งกว่าที่พวกเรามี การสื่อสารระหว่างพวกเขาจึงมักเป็นไปอย่างช้า ๆ อย่างจงใจ พวกเขาไม่ได้มีความเร่งรีบอะไร พวกเขาไม่ได้พยายามจะทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จลงด้วยเวลาที่น้อยลง (ที่เราเรียกกันว่าประสิทธิภาพ) เพราะพวกเขามีเวลามากพอจะประกอบกิจที่จำเป็นเหล่านั้นให้สำเร็จลง พวกเขามีความสุขกับการได้พบปะสัมผัสกัน ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้ในภาวะที่ต้องเร่งรีบ และเมื่อมีงานที่ต้องทำให้สำเร็จ พวกเขาก็มักจะลงแรงกันทำเป็นกลุ่มอย่างพร้อมพรั่ง" (Mander 1991 หน้า 66)

ถ้าเราจะหาความสัมพันธ์ระหว่างเวลาว่างกับอัตราการพัฒนาเทคโนโลยี เรามักจะพบว่ามันสวนทางกัน ยิ่งเทคโนโลยีของเราก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นเท่าไร ดูเหมือนเราจะมีเวลาว่างน้อยลงเท่านั้น เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะเครื่องยนต์กลไกที่ช่วยทุ่นเวลาให้กับเรา จำเป็นต้องได้รับการดูแลและซ่อมแซมโดยตัวเรา และนอกจากเวลาที่พวกเราหลายคนเสียไปกับการใช้คอมพิวเตอร์ พวกเรายังต้องเสียเวลาไปกับการอัพเกรด การซ่อมแซม และการซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ทดแทนของเก่า ไม่ต้องพูดถึงเวลาที่เราต้องสูญเสียไปเพื่อหาเงินมาซื้อเครื่องจักรกลเหล่านี้

สื่อสารมวลชนเองให้การต้อนรับและส่งเสริมเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้ แต่ถ้าเราพิจารณาถึงตัวอย่างข้างต้น เราอาจได้ข้อสรุปว่า "ความก้าวหน้า" ด้านเทคโนโลยีที่เรามีนี้ มันไม่ได้ก้าวหน้าเหมือนอย่างที่เราอยากให้มันเป็น การพัฒนาที่สำคัญเกือบทั้งหมดได้ทำให้เกิดเงาดำทมึนที่ทอดยาวออกไป และดูเหมือนว่ามันจะสายเกินไปเสียแล้ว ที่เราจะขจัดเงามืดหรือแก้ไขผลที่เกิดขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ แม้ว่าเราอยากจะทำอย่างนั้นก็ตาม

ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น่าสงสัยว่า ความต้องการความสะดวกสบายยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราลุ่มหลงอยู่กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือ ข้อเท็จจริงที่สำคัญก็คือ เราได้พัฒนามาจนผ่านจุดที่ให้อรรถประโยชน์สูงสุด (point of diminishing return) กล่าวคือความสะดวกสบายที่ได้รับเพิ่มเติมจากสินค้าใหม่ ๆ แต่ละชิ้นไม่สามารถทดแทนกับความเครียดกังวลที่เกิดเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากความเร่งรีบในชีวิต พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าสิ่งที่เราขาดไปในชีวิตคือความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น และนั่นเป็นปัญหาที่เรามุ่งใช้เทคโนโลยีและความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจเพื่อแก้ไข แสดงว่ามันก็ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ดีอีกต่อไปแล้ว ถ้าเกิดเราให้นิยามกับความก้าวหน้าและความสุขในลักษณะเช่นนี้ นั่นหมายถึงว่าความก้าวหน้าในทุกวันนี้ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเลยแม้แต่น้อย

จากรายงานพัฒนาการมนุษย์ขององค์กรสหประชาชาติในปี 1999 สัดส่วนสูงสุดของคนอเมริกันที่บอกว่าตนเองมีความสุขอยู่ในช่วงปี 1957 แม้ว่าในปัจจุบันอัตราเฉลี่ยของการบริโภคของชาวอเมริกันได้เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า ดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าสำคัญที่ใช้โดยรัฐบาลได้แก่การวัดอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ซึ่งเป็นดัชนีที่มีข้อบกพร่องอย่างเห็นได้ชัด และคนจำนวนมากเริ่มคิดในทำนองนี้ เพราะมันเป็นดัชนีที่วัดมูลค่าเป็นตัวเงินของสินค้าและบริการต่าง ๆ ซึ่งหมายความว่าดัชนีนี้จะพุ่งขึ้นถ้าเกิดผมและภรรยาต้องนำเรื่องขึ้นสู่ศาลเพื่อขอหย่าร้าง หรือพร้อม ๆ กันนั้นมีการตรวจพบว่าผมป่วยเป็นโรคร้ายแรง และต้องได้รับการรักษาที่เรื้อรังและมีราคาแพง

ดัชนีชี้วัดที่เป็นทางเลือกซึ่งพิจารณาถึงปัจจัยที่โยงไปกับสวัสดิการด้านสังคมและคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่ลดลงในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 นับแต่กลางทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ทั้งนี้ตามดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Index of Sustainable Economic Welfare: ISEW) และนับจากปี 1950 เป็นต้นมาตามการสำรวจดัชนีที่ชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริง (Genuine Progress Index: GPI) เมื่อเร็ว ๆ นี้ (อ้างใน Jackson et. Al 1997 และ Cobb et al. 1995)

เนื่องจากปัญหาเหล่านี้ได้เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อบ่งชี้ที่สำคัญน่าจะเป็นการที่เราต้องชะลอความเร่งรีบเหล่านั้นลง และพิจารณาถึงความหมายเหล่านั้น แต่ตรงกันข้าม โลกของเรากลับเร่งรีบมากขึ้น ถ้าสินค้าสมัยใหม่ไม่ทำให้เรามีความสุข แล้วการที่เราหลงใหลกับมันก็น่าจะเป็นเพราะเราไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับชีวิตเราได้อีกหรือไม่ โชคร้ายที่มันมักเป็นความสัมพันธ์ที่สวนทางกันระหว่างความหลงใหลคลั่งไคล้ในโลกตะวันตกต่อความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี กับความสนใจที่มีอยู่เพียงน้อยนิดที่จะพยายามทำความเข้าใจกับความคลั่งไคล้เหล่านั้น

กล่าวโดยสรุป ไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะบอกว่าความคลั่งไคล้ในเทคโนโลยีและความหลงใหลในความก้าวหน้าของเรา เป็นผลมาจากความต้องการขั้นพื้นฐานที่จะได้รับความสะดวกสบายเยี่ยงสิ่งมีชีวิตมากขึ้น เราอาจจะต้องมองปัญหานี้ด้วยวิธีการอื่น ถ้าเราปรารถนาจะค้นพบว่าอะไรกันแน่ที่เรารู้สึกขาด (หรือคิดว่ากำลังขาด) หรืออันที่จริงอาจจะเป็นว่าเรากำลังพยายามหนีจากบางสิ่งแต่แสดงความรู้สึกเช่นนั้นออกมาอีกทางหนึ่ง และนี่เป็นเหตุทำให้มันไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ ข้อสรุปนี้ชี้ให้เห็นเหมือนที่พูดกันในแนวจิตวิเคราะห์ว่า พวกเรากำลังเก็บกด ซึ่งในแง่นี้พุทธธรรมอาจจะให้ข้อคิดบางอย่างได้

การขาดซึ่งตัวตน
เราจะเข้าใจถึงอนัตตา หรือการไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นคำสอนทางพุทธศาสนาที่ฟังดูแปลก ๆ และปฏิเสธอัตตาที่เราเห็นว่ามีอยู่ทั่วไปในวิถีชีวิตประจำวัน พุทธศาสนาได้วิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่าอัตตาโดยใช้หลักขันฑ์ห้า ซึ่งเมื่อเกิดการปรุงแต่งได้ทำให้เกิดอวชิชชาและความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ในข้อเขียนชิ้นอื่น ๆ ข้าพเจ้าได้เสนอไว้ว่า ความเข้าใจเรื่องจิตวิเคราะห์เกี่ยวกับความเก็บกด จะช่วยให้เราเข้าใจถึงอวิชชาที่แยกตัวตนออกมา (Loy 1999)

คำสอนของพุทธศาสนาที่เน้นอนัตตาบ่งเป็นนัยว่า สิ่งที่เราเก็บกดเป็นพื้นฐานไม่ใช่ความต้องการทางเพศ (เหมือนอย่างที่ฟรอยด์เชื่อ) หรือไม่ใช่กระทั่งความกลัวตาย (เหมือนอย่างที่นักจิตบำบัดแนว existentialism เชื่อ) แต่เป็นการเก็บกดความรู้ที่ว่าตัวตนนั้นไม่มีอยู่ พูดอีกอย่างหนึ่งคือเราเก็บกดความรู้สึกไม่สบายใจที่รู้อยู่ว่า ตัวตนนั้นไม่ได้มีอยู่จริง หากเป็นผลมาจากการปรุงแต่งของสภาวะจิตเท่านั้น

ความตระหนักรู้เช่นนี้ทำให้เราเกิดความไม่สบายใจ และทำให้เราปฏิเสธความรู้เช่นนั้นด้วยการเก็บกดมันไว้ และเหมือนที่ฟรอยด์ได้เน้นก็คือ การเก็บกดส่งผลให้เกิดการรับรู้ที่เบี่ยงเบนและแสดงออกมาเป็นอาการต่าง ๆ ในกรณีเช่นนี้ ความตระหนักรู้ภายในว่าตัวตนไม่มีอยู่จริง ได้ทำให้เกิดความรู้สึกพร่องขึ้นมา เป็นความรู้สึกที่ว่า "มันมีอะไรบางอย่างที่ไม่ปรกติกับตัวฉัน"

ความรู้สึกพร่องเช่นนี้ ซึ่งพวกเรามักจะรับรู้กันในรูปแบบต่าง ๆ แล้วแต่สถานการณ์ (เช่น เรารู้สึกว่าเรายังไม่รวยพอ ยังไม่มีชื่อเสียงมากพอ ฯลฯ) ล้วนเป็นเพียงอาการ อันเป็นผลมาจากความรู้ที่บิดเบือนไปอันเนื่องมาจากเงื่อนไขที่ว่างเปล่า หรือพูดในแบบพุทธ อาการเหล่านั้นสะท้อนถึงการพยายามหลีกหนีจากความว่างของตัวเราเอง (สุญญตา)

อีกวิธีหนึ่งที่จะอธิบายถึงความรู้สึกพร่องเช่นนี้ได้แก่ การพูดว่าเราไม่รู้สึก "จริง" มากพอ ทางออกของเราคือการพยายามทำให้มันเป็นจริงมากยิ่งขึ้น หรือมากเท่าที่เรารู้สึกเช่นนั้น ถ้าความไร้สาระแห่งชีวิตทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ ถ้าเช่นนั้นทางออกก็คือการพยายามทำให้ชีวิตมีความเป็นสาระมากขึ้นใช่หรือไม่

ปัญหาของการหาวิธีทางออกเช่นนั้นได้แก่ อนัตตาสะท้อนถึงสภาพของความรู้สึกปรุงแต่งเกี่ยวกับอัตตาตัวตนที่มันไม่มีมูลต่างหาก เนื่องจากความรู้สึกมีตัวตนมักเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างไม่มั่นคง พวกเราก็เลยพยายามทำตัวตนให้เป็นจริงมากขึ้น ด้วยการทำให้ตัวเองเป็นเพียงวัตถุที่อยู่ในโลกในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะสามารถทำได้ เหมือนกับเราไม่สามารถเอามือไขว่คว้าตัวตน หรือใช้สายตามองเห็นตัวตนได้

กล่าวโดยสรุป ความรู้สึกมีอัตตาตัวตนที่ว่างเปล่าได้ถูกบดบังอยู่ภายใต้เงาทะมึนที่ไม่อาจหลีกหนีได้ นั่นคือความรู้สึกพร่อง ซึ่งเราพยายามหลบหนี สิ่งที่ฟรอยด์เรียกว่าเป็น "ผลลัพธ์ของการเก็บกดที่แสดงออกมาเป็นอาการที่เบี่ยงเบนในรูปแบบต่าง ๆ" แสดงให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงของความคาดหวังลม ๆ แล้ง ๆ ในขั้นพื้นฐานนี้ กับวิถีในเชิงสัญลักษณ์ที่เราพยายามใช้เพื่อทำให้ตัวเราเป็นจริงขึ้นมาในโลก ตามแต่โอกาสจะอำนวย

ปัญหาของความพยายามเหล่านั้นได้แก่ การทำให้เป็นวัตถุไม่มีทางจะทำให้เกิดความพึงพอใจได้เพราะอันที่จริงวัตถุไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนาต้องการ และเมื่อเราไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นแรงผลักดันที่แท้จริงอยู่เบื้องหลังเรา ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เราคิดว่าเราต้องการนั้น เป็นเพียงอาการที่มาจากสาเหตุอื่น (กล่าวคือความกระหายที่จะเป็นจริงขึ้นมา ซึ่งเป็นความปรารถนาในระดับจิตวิญญาณที่สำคัญอย่างหนึ่ง)

สุดท้ายเราก็ตกเป็นทาสแรงจูงใจนั้นตลอดไป ตามคำกล่าวของนิชเช่ ชาวคริสต์ผู้ปฏิบัติตามข้อห้ามในพระคัมภีร์และถึงกับควักลูกตาตัวเองออกมา ก็ยังไม่สามารถประหารฆ่าความรู้สึกของตนได้ ทั้งนี้เพราะ "มันดำรงอยู่ในรูปประตูกลอันลึกลับและคอยทรมานเขาภายใต้รูปแบบอันน่าสยดสยอง" (1986 หน้า 331)

แต่สิ่งที่ตรงกันข้ามก็อาจจะเป็นจริงเช่นกัน ถ้าในวันนี้เราคิดว่าเราได้ประหารหรือได้หลีกหนีจากแรงผลักดันภายในนี้ได้แล้ว ก็เท่ากับเป็นการหลอกลวงตนเอง ทั้งนี้เพราะแรงผลักดันนั้นยังคงขยายตัวมากขึ้นในรูปแบบทางโลกย์ที่น่าประหลาด และทำให้เราเกิดความลุ่มหลงต่อมัน ทั้งนี้เพราะเราไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว แล้วความลุ่มหลงในความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีก็เป็นหนึ่งในความรู้สึกเช่นนี้ด้วยหรือเปล่า ความพร่องของเราได้ส่งผลต่อสังคมและประวัติศาสตร์ในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ แล้วสิ่งที่เราเรียกว่า"ความพร่องสะสม"มีอยู่จริงหรือไม่

ศาสนาเป็นวิธีการดั้งเดิมที่สังคมใช้เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดจากความรู้สึกพร่อง (ตัวอย่างเช่นแนวคิดเรื่องบาปในคริสตศาสนา) สังคมยุโรปตะวันตกมีพื้นฐานอยู่บนกระบวนทัศน์ด้านศาสนาแบบนั้น จนกระทั่งได้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 11 กล่าวคือเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าเพื่อนำไปสู่ทางออกอันเป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่ง

แล้วความลุ่มหลงในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของเรามันมีต้นกำเนิดมาจากไหนล่ะ แล้วกระบวนทัศน์แบบโลกียะพัฒนาออกมาจากกระบวนทัศน์แบบศาสนาได้อย่างไร แล้วทำไมเราจึงมุ่งใช้ทางออกแบบโลกียะเพื่อแก้ปัญหาที่โยงกับจิตวิญญาณเล่า คำตอบที่น่าสนใจได้แก่ "ความก้าวหน้า" ที่เป็นทางออกนั้นไม่ได้มีต้นตอมาจากกระบวนการทางโลกย์

ในช่วงระหว่างปี 1050-1150 ทางออกด้านศาสนาในยุโรปเพื่อจัดการกับความพร่อง ได้เปลี่ยนจากการแสวงหาในระดับโลกุตรธรรมมาสู่ระดับโลกียธรรม กล่าวคือคนไม่ได้มองหาคำตอบที่มาจากสรวงสวรรค์ หากมุ่งแสวงหาทางออกที่อาจปรากฏในโลกในอนาคตได้ ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปอย่างช้า ๆ

ในระยะเริ่มต้น พวกเขาเน้นที่การสร้างเงื่อนไขด้านจิตวิญญาณและสังคม ที่จะช่วยให้ยุคฟื้นพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้ามาถึงเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งสหัสวรรษใหม่ที่พระองค์จะเป็นผู้เปิดฉาก ในท้ายที่สุดเราจะเกิดความมั่นใจมากขึ้นในความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงรูปโฉมของสังคมและสภาพแวดล้อมใหม่ สิ่งนี้บ่งเป็นนัยถึงปัญญาอย่างใหม่ในทางโลกย์และเทคโนโลยี ที่ได้กลายเป็นสามัญสำนึกใหม่ที่ละเลยเป้าหมายด้านจิตวิญญาณอันเป็นแรงกระตุ้นเดิมไป

เวลาสำหรับความก้าวหน้า
ความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับเวลามักโยงกับความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความพร่อง และวิธีที่จะแก้ไขความพร่องนั้น ซึ่งหมายความว่าในยุคสังคมดั้งเดิมอันรวมทั้งโลกตะวันตกก่อนยุคทันสมัย โครงสร้างพื้นฐานของเวลาสัมพันธ์กับนัยยะทางศาสนธรรมเป็นอย่างยิ่ง ในยุคใหม่ เวลาเป็นเพียงมาตรวัดที่เลื่อนลอยและปราศจากชีวิต มีประโยชน์เพียงเพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก (อย่างเช่น 24 ชั่วโมงคิดเป็นหนึ่งวัน และ 365 วันเป็นหนึ่งปี และวันแต่ละวัน ชั่วโมงแต่ละชั่วโมง เหมือนกันไปหมด ไม่มีวันเวลาใดที่มีความหมายเป็นพิเศษ)

ในทางตรงข้าม โครงสร้างของเวลาแบบเดิมเป็นกรอบที่สะท้อนความศักดิ์สิทธิ์และความหมายพิเศษของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก "อภินิหารเหนือธรรมชาติและโครงสร้างของเวลาที่สะท้อนออกมาในรูปวัฏจักรของแต่ละปี มีความสัมพันธ์แนบแน่นกันจนแยกไม่ออก" (Thompson 1996 หน้า 2)

วิธีคิดเช่นนี้ทำให้เราเชื่อว่าเหตุผิดปรกติที่เกิดขึ้นมาในโลก เป็นผลมาจากการกระทำที่ไม่บรรสานสอดคล้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติ และทางออกของปัญหาไม่ใช่ "ความก้าวหน้า" หากเป็นการฟื้นคืนความบรรสานสอดคล้อง ด้วยการหันกลับมาดำรงตนให้สอดคล้องกับโครงสร้างเวลาที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น การทำบวงสรวงด้วยวิธีที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม เป็นต้น ตรงข้ามกับการคิดตามหลักเหตุและผลที่เป็นเส้นตรง ซึ่งเป็นวิธีที่เราใช้เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าโลก การคิดแบบเชื่อมโยงเช่นนี้จะไม่มองประวัติศาสตร์แยกออกจากจักรวาลวิทยา เวลาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง (หรือสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง) ไม่สามารถแยกขาดจากกัน

พิธีกรรมอย่างการบวงสรวงบูชาเพื่อชำระมลทินดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับวัฏฏะตามธรรมชาติ เพราะมันเป็นสิ่งที่จำเป็นในช่วงเวลานั้น ๆ พูดอีกอย่างหนึ่ง พิธีกรรมเหล่านั้นไม่ได้เพียงทำกันขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆ หากพิธีกรรมเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาเหล่านั้นต่างหาก (ถ้ามนุษย์กระทำสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติ) (Aveni 1995 หน้า 65)

ในทัศนะของ Mircea Eliade สังคมบรรพกาลดำรงอยู่ใน "สวรรค์ของโครงสร้างแม่พิมพ์" เพราะมีโครงสร้างของเวลาที่มีฐานอยู่บนการฟื้นคืนของชีวิตที่สังเกตได้จากธรรมชาติ ที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วง (Aveni 1995 หน้า 65) ศาสนิกเหล่านี้เชื่อว่าการฟื้นคืนชีวิตเกิดขึ้นทุกขณะ และเป็นวงจรที่สะท้อนถึงลักษณะเบื้องต้นของยุคกำเนิด (genesis)

การปฏิบัติตามปกรณัมซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้ผู้ปฏิบัติมีประสบการณ์ร่วมอีกครั้งหนึ่งกับการสร้างสรรค์ระเบียบจากความไร้ระเบียบ การสร้างสรรค์สาระจากความไร้สาระ พวกเขาไม่ถือว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นเพียง "อดีต" ในลักษณะเดียวกับที่เราเข้าใจถึงความเป็นอดีต ดังที่เราถือว่าอดีตคือสิ่งที่ถูกทดแทนด้วยปัจจุบัน

ในขณะที่เรามุ่งสู่ความก้าวหน้าด้วยการเลือกจะแยกตัวเราออกจากเหตุการณ์ในอดีต สังคมดั้งเดิมปฏิเสธทวิลักษณ์ดังกล่าวด้วยการมีประสบการณ์ร่วมกับอดีตเสมอ (โดยผ่านพิธีกรรม) พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีภาระที่จะต้องฟื้นคืนการสร้าง (creation) ขึ้นมาใหม่เสมอ เพื่อให้โลกดำรงอยู่ต่อไปเหมือนที่เคยเป็นมา สำหรับพวกเขา อดีตไม่ใช่อุปสรรคที่ต้องฝ่าข้ามไป และปัจจุบันก็ไม่ใช่โอกาสใหม่ ๆ ที่จะต้องไปให้ถึงเสมอไป พวกเขารู้สึกพึงพอใจกับการปฏิบัติตามรูปแบบโครงสร้างเดิมเป็นนิตย์

ชนเผ่ามายาเป็นชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับเวลามากที่สุดชนเผ่าหนึ่ง และเป็นตัวอย่างที่ดีในที่นี้ พวกเขาไม่ได้วัดเวลาด้วยพระอาทิตย์ เวลาไม่ใช่การโคจรของพระอาทิตย์ สำหรับพวกเขา เวลาหนึ่งวันไม่ได้เป็นตัวแทนของพระเจ้าเหมือนอย่างที่เราคิด (หรือเคยคิด) (คำว่า Thursday มาจากคำว่า Thor's day หรือเดิมเป็น Jupiter's day - เทพเจ้าธอร์เป็นเทพเจ้าแห่งการสงคราม กสิกรรมและฟ้า จูปิเตอร์เป็นประมุขแห่งเทพยดาในสรวงสวรรค์ตามลัทธิโรมันโบราณ เป็นพระเจ้าแห่งลมฟ้าอากาศ -- ผู้แปล)

สำหรับชาวมายาวันแต่ละวันเป็นพระเจ้าโดยตัวของมันเอง พวกเขาให้ความใส่ใจอย่างมากในแต่ละวันที่จะธำรงความสัมพันธ์อันบรรสานสอดคล้องระหว่างมนุษย์กับโลกเหนือธรรมชาติ อดีตยังดำรงสืบเนื่องซ้ำแล้วซ้ำอีกในปัจจุบัน เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตดำเนินไปตามกรอบแห่งเวลาและกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด ด้วยการถักทอมนุษย์กับโลกเหนือธรรมชาติเข้าด้วยกัน ระเบียบของจักรวาลจึงจะดำเนินสืบเนื่องไปได้ ในโลกทัศน์เช่นนั้น อนาคตไม่ใช่เป็นสิ่งน่าสนใจมากนัก ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์สำคัญ ๆ ยังคงดำเนินต่อไปซ้ำแล้วซ้ำอีก ตราบเท่าที่สมดุลของพลังแห่งจักรวาลในแบบเดิมยังคงดำรงอยู่ (Aveni 1995 หน้า 190ff)

"การเข้าร่วมในพิธีกรรมเป็นการช่วยให้พระเจ้าแห่งธรรมชาติดำเนินภารกิจอันท้าทายต่อไปได้ ทั้งนี้เพราะพวกเขามีความเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นในพิธีกรรมที่จัดทำขึ้น เพื่อส่งท้ายวัฏฏะแห่งเวลาอย่างเป็นทางการ หากปราศจากซึ่งการประกอบภารกิจในชีวิตเช่นนี้ จักรวาลก็ไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างปกติ" (หน้า 252) ในสังคมเช่นนั้นพวกเขาไม่มีความต้องการจะก้าวหน้า และไม่มีที่ว่างให้กับความก้าวหน้า แล้วความลุ่มหลงต่อความก้าวหน้าของพวกเราเกิดขึ้นมาเมื่อใด

จนกระทั่งเมื่อประมาณศตวรรษที่ 11 ชาวยุโรปยังมีความเข้าใจต่อเวลาว่าเป็นเสมือนโครงสร้างของคุณค่าความหมายที่จะต้องได้รับการปฏิบัติต่อ ๆ ไป "เพื่อที่จะเข้าใจเวลา เราจะต้องพิจารณาจากโครงสร้างของกิจวัตรในศาสนาจักรของศาสนายิว-คริสต์ในตะวันตก" (Avni 1995 หน้า 12) หนึ่งสัปดาห์ประกอบด้วย 7 วันเพราะเป็นโครงสร้างเดิมที่เหมือนกับยุคกำเนิดตามที่ปรากฏในช่วงต้นของหนังสือเยเนสิส ชาวยิวจะสวดภาวนาและพักผ่อนในวันธรรมสวนะ (วันซับบัธ) เพราะวันนั้นเป็นวันที่พระเจ้าพักผ่อนเช่นกัน (ชาวคริสต์ในยุคแรกได้เปลี่ยนจากวันศุกร์มาเป็นวันของพระอาทิตย์ เพราะว่าเป็นวันที่พระเยซูเจ้าได้ฟื้นคืนพระชนม์ขึ้นมาและกลายเป็นแสงสว่างแห่งโลก) วัตรของพิธีกรรมในแต่ละปีของศาสนจักรคาทอลิกยังคงสะท้อนถึงโครงสร้างที่เชื่อมโยงตั้งแต่เบื้องต้น

กล่าวโดยสรุป โครงสร้างเวลาในช่วงต้นของยุคกลางดำเนินไปเพื่อไม่ให้เกิดทวิลักษณ์ระหว่างจักรวาลวิทยาและประวัติศาสตร์ โดยมีความแตกต่างที่สำคัญเพียงอย่างเดียว สำหรับชนพื้นเมืองอย่างชาวมายา กัลปาวสานอาจเกิดขึ้นได้ในภาวะที่ไม่มีการทำพิธีบวงสรวงบูชาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เทพแห่งพระอาทิตย์ปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม และจะเป็นหายนะภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด สำหรับชาวคริสต์การฟื้นคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้าเป็นหนทางรอดที่พวกเขาต่างพึงปรารถนา ซึ่งนั่นเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญ

ชาวคริสต์ในยุคแรกเชื่อว่าการฟื้นคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้ากำลังจะมาถึง การที่พระองค์ไม่คืนพระชนม์มาเสียที ได้รับการอธิบายด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่ตลอดช่วงยุคกลางและยุคสมัยใหม่ในช่วงต้น กระแสของความเชื่อว่าพระเยซูจะมาจุติอีกได้ประทุขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

ความเชื่อเรื่องการจุติขึ้นใหม่ตามศาสดาพยากรณ์ (ซึ่งก็เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ในศาสนาอื่น ๆ อีกมาก ไม่เพียงแต่ในคริสตศาสนา) มีพื้นฐานมาจากความเชื่อว่า ความตึงเครียดระหว่างโลกียะกับดินแดนแห่งความหลุดพ้นจะได้รับการแก้ไขในที่สุดในอนาคต (อันใกล้) เมื่อภาวะหลุดพ้นได้เผยตัวเองขึ้นมาอย่างชัดเจน และเป็นการชำระให้โลกของเราบริสุทธิ์และเปลี่ยนแปลงไป

ก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ยุคสมัยใหม่และความลุ่มหลงในความก้าวหน้า อยู่บนฐานความคิดว่ายุคทองในอนาคตไม่ได้อยู่ภายนอกอาณาจักรของมนุษย์ แต่อยู่ภายใน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการยึดถือโดย Joachim of Fiore (ค.ศ.1135-1202) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสชาว Calabrian และเป็นนักบวชที่ทรงอิทธิพลผู้ที่สามารถมองเห็นโครงสร้างอันซับซ้อน ซึ่งเป็นจุดถักทอเหตุการณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าแสดงอภินิหารให้แลเห็นในประวัติศาสตร์ในยุคต่าง ๆ

ท่านโจอาคิมมีความเชื่อมั่นแบบเดิมว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกเป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกมิติหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็มีความเชื่อมั่นว่าจะมีอาณาจักรแบบคริสต์ในอุดมคติเกิดขึ้นได้บนโลกในอนาคต ตามการวิเคราะห์ของท่าน คัมภีร์พันธสัญญาเก่ามีความสัมพันธ์ต่อเนื่องจากยุคของพระบิดา และคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ซึ่งเป็นของยุคพระบุตร ยุคสุดท้ายของพระจิตที่เขาคิดว่าจะมาถึงในช่วงประมาณปี ค.ศ.1260 จะเป็นยุคที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์ เป็นยุคที่ศาสนจักรได้รับการฟื้นคืนขึ้นมาเพื่อควบคุมปริมณฑลต่าง ๆ ของชีวิต

"อย่างไม่ตั้งใจ เขาได้ทำให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างสำคัญระหว่างการเปลี่ยนแปลงตามคำพยากรณ์และการสร้างสรรค์โครงสร้างการเมืองใหม่ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมาทั้งสองยุคไม่อาจจะแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด" (Thompson 1996 หน้า 128) วิถีที่วิวัฒน์ขึ้นจนเป็นความเชื่อมั่นศรัทธาในความก้าวหน้ามีต้นกำเนิดมาจาก

"ความเชื่อในคริสตศาสนาว่า ทุกสิ่งได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างจงใจเพื่อตอบสนองเป้าหมายนั้น… ความเชื่อในยุคพระศรีอาริย์ชี้นำให้ผู้ศรัทธาปฏิบัติตนเป็นคนดีเพื่อเฝ้ารอวันอวสานแห่งโลกที่เป็นเหตุผลอยู่เบื้องหลัง. ในยุคใหม่ แนวคิดของความก้าวหน้าไปตามเส้นแห่งเวลายังมีอิทธิพลเป็นหลัก โดยที่มีเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนบทบาทของศาสนธรรม และเทคโนโลยีได้กลายเป็นพลังที่ขับเคลื่อนเหตุการณ์ต่าง ๆ ต่อเนื่องกัน อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ก็ยังดำเนินต่อไปตามกฎที่ธรรมชาติกำหนด" (หน้า 128)

แทนที่มันจะเป็นทางเลือกที่มีเหตุผลออกจากความเชื่อเรื่องวันล้างโลก "แนวคิดหลายประการที่เราเห็นว่ามีเนื้อหาตรงข้ามกับ "ยุคกลาง" อย่างเช่น ความเชื่อมั่นศรัทธา ความก้าวหน้า และความหวังที่มีต่อดินแดนในอุดมคติ ล้วนมีรากเหง้ามาจากความเชื่อทางศาสนาในยุคกลาง และความเชื่อยุคกัลปาวสานของโลก" (หน้า 57)

รากเหง้าทางจิตวิญญาณของเทคโนโลยี
หากเทคโนโลยีได้มีบทบาททดแทนศาสนาสำหรับพวกเราจำนวนมาก นั่นก็อาจเป็นเพราะทัศนะที่มีต่อเทคโนโลยีของเรามีความคล้ายคลึงกับรากเหง้าทางศาสนา และยังคงเป็นไปในลักษณะเช่นนั้น

หนังสือเรื่อง ศาสนาแห่งเทคโนโลยี (The Religion of Technology) ของ David Noble (ค.ศ.1998) ชี้ให้เห็นว่า ความลุ่มหลงต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน มีรากเหง้ามาจากรหัสยนัยทางศาสนาและความปรารถนาจะหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ "แม้ว่าโดยทั่วไปเทคโนโลยีในปัจจุบันมุ่งที่การสร้างอรรถประโยชน์ อำนาจ และผลกำไร และเป็นสิ่งที่กำหนดมาตรฐานด้านตรรกะให้กับสังคม แต่มันก็มีแรงจูงใจมาจากความฝันอันเลื่อนลอย ความปรารถนาในทางจิตวิญญาณเพื่อที่จะหลุดพ้น… แรงบันดาลใจที่แท้จริงของมันมาจาก…. ความปรารถนาที่สืบเนื่องและอุดมคติมุ่งไปสู่การหลุดพ้นและความรอด" (หน้า 3)

ผู้ที่มีจินตนาการถึงขนาดคิดว่าจะสามารถ "ดาวน์โหลดจิตใจของเขา" ลงไปสู่ฮาร์ดไดรฟ์ขนาดหลายกิกะไบต์ อาจคิดว่าพวกเขาเป็นนักตรรกนิยมที่ต่อต้านศาสนา แต่อันที่จริงความเชื่อในยุคพระศรีอาริย์ก็อาจปรากฏขึ้นในรูปแบบที่เราสุดจะหยั่งคาดได้ เราอาจลืมเลือนแรงกระตุ้นดั้งเดิมของเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราสามารถหนีมันพ้นไปได้

ในยุคกลาง "ด้วยเหตุผลที่ยังคงมืดมนอยู่" (Noble 1998 หน้า 12) ทัศนะของชาวคริสต์ต่อเทคโนโลยีได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ สังคมในยุคกลางเชื่อว่า เหตุหนึ่งของความล่มสลายของพวกเขาเป็นเพราะ การสูญเสียความรู้ที่มีเกี่ยวกับศิลปกรรมและวิทยาศาสตร์ในยุคโบราณ ซึ่งบรรพชนของพวกเขาได้คิดค้นขึ้นอย่างสมบูรณ์ ความเชื่ออย่างใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นได้แก่ความเชื่อที่ว่า เราควรจะและสามารถฟื้นฟูศิลปกรรมแบบกลไกเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ได้ ในเบื้องต้นไม่ใช่เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของเราให้ดีขึ้น หากแต่เพื่อสร้างให้เกิดเงื่อนไขทางศาสนาที่จะช่วยให้ยุคพระศรีอาริย์มาถึงรวดเร็วยิ่งขึ้น

"หลังจากนั้นมา พวกเขาได้ถือว่าเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด กับความเป็นเลิศที่ได้สูญเสียไปและโอกาสที่จะฟื้นฟูความเป็นเลิศนั้นขึ้นมาใหม่ และความก้าวหน้าของงานศิลปกรรมได้เกิดขึ้นใหม่อย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนองศรัทธา แต่เป็นหนทางแห่งการเตรียมพร้อมเพื่อจะรอรับความรอด (salvation) ที่กำลังจะมาถึงอย่างเห็นได้ชัด"

ท่าน Hugh แห่งเซนต์วิคเตอร์ซึ่งเป็นพระในนิกายออกุสติน (ค.ศ.1096-1141) ย้ำว่า "ภารกิจในการฟื้นฟูรวมไปถึงการซ่อมแซมสภาพทางกายภาพของชีวิตมนุษย์" ซึ่งได้ถูกทำลายไปโดยบาปกรรม และถูกยึดคืนไปพร้อมกับความล่มสลายของยุคนั้น (หน้า 12 และ 19-20)

"การฟื้นฟูและอธิบายความเชื่อในคริสตศาสนายุคดั้งเดิมขึ้นมาใหม่ในหมู่ชนชั้นสูง… ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางกระบวนการฟื้นฟูในบริบทของประวัติศาสตร์มนุษย์ และมีการนิยามใหม่ให้เป็นความพยายามอย่างกระตือรือร้นและตื่นตัวมากกว่าจะเป็นเพียงความหวังลม ๆ แล้งและมืดบอด… ในขณะเดียวกัน การฟื้นฟูความศักดิ์สิทธิ์แบบพระเจ้าของมนุษย์ หรือความสามารถในการหลุดพ้นแบบคริสตศาสนา ได้กลายเป็นความพยายามทางประวัติศาสตร์ที่แผ่ขยายไปทั่ว… ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนหลักคำสอนว่าด้วยวันสิ้นสุดแห่งโลก" (หน้า 22)

โนเบลได้อธิบายถึงอรรถกถาของโจอาคิมที่มีต่อ Book of Revelation ว่าเป็น "ระบบศาสดาพยากรณ์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดต่อยุโรปก่อนลัทธิมาร์กซ์" (1998 หน้า 24) มัน "จุดชนวนให้เกิดการปฏิวัติด้านจิตวิญญาณครั้งใหญ่ที่สุดในยุคกลาง" ด้วยการเผยให้เห็นถึงนัยยะของความเชื่อเรื่องการจุติใหม่ที่มีต่อประวัติศาสตร์ เผยให้เห็นเจตนารมณ์ตามแผนการณ์ของพระเจ้าต่อมนุษย์

Roger Bacon เขียนไว้ว่า ผู้รู้ต่าง ๆ ในยุคนั้นล้วนมีความเชื่อว่ายุคของการต่อต้านคริสตจักรกำลังจะมาถึง และเขาได้กระตุ้นให้ศรัทธาร่วมศาสนาของเขา ศึกษาคำพยากรณ์ของโจอาคิม เพื่อจะได้ตระหนักรู้ล่วงหน้าถึงจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ที่กำลังใกล้เข้ามา

ในเวลาต่อมา แม้แต่ Francis Bacon ซึ่งเป็นศาสดาของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ก็ยังมุ่งจะแสวงหา "การย้อนสู่ยุคของอาดัมก่อนการล่มสลายของคริสตจักร ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างบริสุทธิ์และปราศจากบาป และมีปัญญาที่ตระหนักถึงพลังของธรรมชาติ…. เป็นการก้าวถอยหลังกลับไปสู่ยุคของอาดัม" (Francis Yates อ้างใน Noble 1998 หน้า 50)

ทั้ง Robert Boyle และ Isaac Newton ล้วนเป็นผู้ที่ศรัทธาในยุคใหม่ของพระเจ้าอย่างเคร่งครัด และบุคคลท่านหลังยังได้ใช้เวลาอย่างมากในการจัดทำอรรถกถาเกี่ยวกับคำพยากรณ์ตามพระคัมภีร์ สำหรับท่านทั้งสอง ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ในยุคต้นอีกหลายท่าน การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เป็นปฏิบัติบูชาอย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้เข้าถึงพระผู้สร้างด้วยการค้นพบ "สัญญา (signature)" ของพระองค์ในโลกธรรมชาติ (หน้า 64)

"ด้วยความหยั่งรู้เหล่านี้พร้อมกับการเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกเหล่านี้ไม่ได้เพียงรอคอยอย่างเฉื่อยชาเพื่อให้ยุคใหม่ของพระเจ้ามาถึง พวกเขาสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันเพื่อให้ยุคนั้นมาถึงให้จงได้" (หน้า 24-25) พวกเรายังคงปฏิบัติหน้าที่เช่นนั้น แต่ในขณะเดียวกันพวกเราก็ได้ลืมเลือนไปแล้วว่า สิ่งที่พวกเรามุ่งให้เกิดขึ้นคืออะไรกันแน่ นี้อาจจะเป็นเหตุที่ทำให้ความก้าวหน้าที่เติบโตต่อไปดูเหมือนจะไร้จุดหมายได้หรือไม่

เราได้ลืมเลือนถึงหน้าที่ที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ ทั้งนี้เพราะความเข้าใจของเราต่อความพร่องได้เบี่ยงเบนไป ซึ่งก็ทำให้วิธีแก้ไขความพร่องนั้นเบี่ยงเบนไปด้วยเช่นกัน แทนที่ความพร่องนั้นจะกลายเป็นสาระสำคัญของการสร้าง (creation) และประวัติศาสตร์ดังที่ปรากฏในตำนานทางคริสตศาสนาแบบเดิม พวกเราได้เบี่ยงความสนใจต่อความพร่องนั้นไปด้วยการลุ่มหลงกับอำนาจและโอกาสของเทคโนโลยีใหม่ ๆ

พวกเราไม่มีความรู้สึกพึ่งพิงกับโครงสร้างของจักรวาลเพื่อความหลุดพ้นอีกต่อไป แต่พยายามจะหลุดพ้นด้วยตัวเราเอง แทนที่เราจะดำเนินชีวิตอย่างปราศจากทวิลักษณ์ระหว่างจักรวาลและประวัติศาสตร์แบบเดิม ซึ่งได้เคยเป็นวิถีด้านจิตวิญญาณที่เราปฏิบัติตามด้วยกฎเกณฑ์ชัดเจน พวกเราเริ่มจะดำรงชีวิตอยู่ในจักรวาลแบบปลายเปิด ที่ซึ่งเราต้องกำหนดเป้าหมายขึ้นมาเอง และตัดสินใจว่าจะไปในทางใด เราตัดสินใจที่จะวิ่งไปสู่อนาคตและเริ่มการแข่งขันใหม่ขึ้นมา

จุดจบของเกม?
แล้วการแข่งขันนั้นกำลังจะสิ้นสุดลงใช่หรือไม่ เสน่ห์ของอนาคตกำลังพร่าเลือนไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกพร่องที่สะสมกันขึ้นมา ซึ่งเริ่มเบี่ยงเบนความพยายามแสวงหาด้านเศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเดิมเราเชื่อว่าจะเป็นพลังที่ทำให้ตัวตนของเราเป็นจริงขึ้นมาได้ แต่การขาดซึ่งศรัทธาในวิถีแห่งจิตวิญญาณ เป็นเหตุให้เราลุ่มหลงงงงวยอยู่กับอนาคต คิดว่านั่นเป็นเพียงหนทางเดียวที่ให้คำตอบกับเรา เท่าที่เราจะคิดได้เพื่อแก้ไขปัญหาความรู้สึกพร่องตรงนั้น

พวกเรา "ก้าวหน้า" ต่อไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะเราไม่รู้ว่าจะทำอะไรอย่างอื่นได้อีก เพราะเราไม่มีเกมอย่างอื่นที่จะเล่นแล้ว ยิ่งเราสงสัยว่าเราจะไปไม่ถึงที่ใดสักแห่งมากเท่าไร เราก็ยิ่งวิ่งไปสู่จุดนั้นเร็วยิ่งขึ้น และเราได้พากันเพิกเฉยหรือไม่ก็เก็บกดความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของเทคโนโลยีและเศรษฐศาสตร์ ที่ทำให้เกิดวิกฤตด้านนิเวศวิทยาในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา อย่างน้อยก็ในประเทศสหรัฐอเมริกา

แต่กระบวนการเช่นนั้นไม่อาจดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด คนจำนวนน้อยลงที่ยังคงเชื่อว่าเทคโนโลยีจะสามารถแก้ปัญหาของโลกและทำให้เกิดชีวิตที่ดีขึ้น นั่นคือผู้ที่มีปัญญาจำนวนมากขึ้นเริ่มท้าทายต่อการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความรู้สึกพร่องที่สะสมมา หากสำหรับผู้บริหารสถาบันที่สำคัญอย่างเช่น รัฐบาลและบรรษัทการค้าทั้งหลาย พวกเขาเชื่อว่าขั้นตอนสุดท้ายของ "ความก้าวหน้า" เป็นเพียงเกมตัวเลขของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่วัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

ทางออกด้านวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งคือการปฏิเสธทุกอย่างไปเลย (นัตถิกวาท Nihilism) ซึ่งแสดงออกในรูปแบบแตกต่างกันและแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเท่ากับสะท้อนถึงการทอดความหวังทั้งปวงที่มีต่อทางออกสำหรับความพร่องของเรา วิธีคิดเช่นนี้ทำให้ชีวิตปราศจากสาระความหมาย และผู้ที่เชื่อเช่นนั้นเห็นว่าสิ่งเดียวที่สามารถทำได้คือ การมีชีวิตอย่างเป็นสุขที่สุด ในขณะที่ยังสามารถจะทำได้

แล้วกระบวนทัศน์อย่างอื่นเพื่อแก้ปัญหาความพร่องที่เป็นไปได้ล่ะ ดังที่ข้าพเจ้าได้อธิบายถึงปัญหานี้จากวิธีคิดแบบพุทธ ข้าพเจ้าก็จะสรุปด้วยการพูดถึงทางออกแบบพุทธ ซึ่งประกอบด้วยความเพียรของแต่ละบุคคลที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือการปล่อยให้ตัวเราได้รับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว อย่างเช่นในตอนที่เราทำสมาธิภาวนาเป็นต้น

เป้าหมายของการปฏิบัติแบบพุทธคือการเปลี่ยนอกุศลมูลทั้งสามคือความโลภ โกรธ และหลงให้กลายเป็นความเมตตา ความกรุณา และปัญญา การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบที่สามจะเกิดขึ้นไม่ใช่ด้วยการเอาบางสิ่งเข้ามา แต่เป็นการปล่อยวางบางสิ่งออกไป และไม่ใช่เป็นเพียงความคิดและความรู้สึกที่พิเศษบางอย่าง แต่โดยพื้นฐานแล้วเป็นความเข้าใจต่อตัวตนของเรา

การปฏิเสธการดำรงอยู่ของอัตตา (หลักอนัตตา) เปิดโอกาสให้มีการหลุดพ้นของอัตตาในสังสารวัฏ ด้วยการหยั่งรู้ถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างปราศจากทวิลักษณ์ของผู้รู้ ที่อาจไม่แยกตัวโดดเดี่ยวอีกต่อไป และโลกที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงวัตถุอีกต่อไป การตื่นอย่างพุทธจะเกิดขึ้นเมื่อเราตระหนักว่าเราไม่ได้เป็นส่วนที่แปลกแยกออกไปจากโลก ซึ่งแสดงออกด้วยการที่เราเป็นในสิ่งที่โลกกำลังเป็นอยู่ในที่นี้และเดี๋ยวนี้

อิสรภาพเช่นนี้ปลดปล่อยเราออกจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ถ้า "ฉัน" ไม่ได้อยู่ในร่างกาย "ของฉัน" และไม่ได้กำลังมองออกไปสู่โลกภายนอก ถ้าเช่นนั้น "ฉัน" ก็ไม่จำเป็นต้องคุ้มครองตัวฉันเอง และเมื่อ "ฉัน" ตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ด้วยการปล่อยวางตนเองก็ไม่มีอะไรที่เราจำเป็นต้องทำให้ "เป็นจริง" ขึ้นมา และไม่มีอะไรที่เราต้องสูญเสียไป

สิ่งที่น่าขันประการสุดท้ายของความพยายามที่จะหารากเหง้าให้กับตัวตนของเรา กล่าวคือการพยายามทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตัวตนเป็นจริงขึ้นมาด้วยการเติมเต็มความรู้สึกพร่องตรงนั้น คือเราไม่มีทางทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ เพราะอันที่จริงตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของเอกภาพทั้งมวลอยู่แล้ว เราอาจรู้สึกว่าตัวตนของเราไม่มีรากเหง้าและไม่อาจหารากเหง้าได้ ตราบเท่าที่เรายังถูกครอบงำด้วยอวิชชาว่าตัวเราแยกขาดออกจากโลก แต่อันที่จริงตัวเราเองได้หยั่งรากอย่างเต็มที่เสมอมา

ตราบที่เราเห็นได้ว่าเราไม่ได้เป็นส่วนที่แยกขาดออกจากโลก มันกลายเป็นว่า ความพร่องของเราจะยังคงเป็นความพร่องอยู่ ตราบที่เรากลัวความรู้สึกเช่นนั้น และพยายามเติมให้มันเต็ม และหากเราสามารถหยุดกระทำเช่นนั้น ความพร่องของเราก็จะแปรไปเป็นแหล่งกำเนิดพลังอันสร้างสรรค์ ซึ่งโผล่พ้นขึ้นมาจากหลุมอันหาก้นบึ้งไม่ได้ ตามหลักพุทธศาสนา ปัญญาเช่นนั้นจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติพร้อมกับความกรุณาที่มีต่อสรรพสิ่ง ซึ่งเราไม่ได้คิดว่าเป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากตัวเราอีกต่อไปแล้ว

ความเชื่อที่ว่าอิสรภาพเช่นนี้จะปรากฏทั่วไปในอนาคตอันใกล้ เป็นเรื่องที่ให้ความหวัง และถ้าเราทำให้สังคมโดยรวมได้ตระหนักรู้ถึงโอกาสเช่นนี้ และกระตุ้นให้พวกเขาได้ชื่นชมกับความคิดเช่นนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมมีอย่างมหาศาล คำถามว่าปรากฏการณ์นั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ในบริบทการพัฒนาวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แม้ว่าช่วงต่อเข้าสู่สหัสวรรษใหม่เป็นแรงกระตุ้นให้ความเชื่อในยุคใหม่ของพระเจ้ามีเพิ่มมากขึ้นก็ตาม ถ้าความต้องการของเราเป็นสัญลักษณ์สะท้อนอะไรบางอย่าง มันก็คงถึงจุดที่เราต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนแล้ว

"ไม่มีใครสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากความเชื่อในชัยชนะเบื้องหน้า"
Rosenstock-Huessy


บรรณานุกรม

Aveni, A. 1995. Empires of time. New York: Kodansha.
Cobb, C., et al. 1995. The genuine progress index. San Francisco: Redefining Progress.
Illich, 1. 1977. Limits to medicine. Harmondsworth, N.Y: Penguin.
Jackson, T., et al. 1997. Index of sustainable economic welfare for the U.K. 1950-96. Guildford, U.K.: University of Surrey.

Levine, R. 1997. A geography of time. New York: Basic Books.
Loy, D. R. 1999. Lack and transcendence. Atlantic Highlands, N.J.: Humanities Press, 1996. Reprint, Amherst, N.Y.: Humanity Books.

Mander, J. 1991. In the absence of the sacred. San Francisco: Sierra Club Books.
Nietzsche, F. 1986. Human, all too human. Translated by R. J. Hollingdale. New York: Cambridge University Press.

Noble, D. F. 1998. The religion of technology. New York: Knopf.
Robinson, J. 2000. Four weeks vacation. Utne Reader, September-October.
Schor, J. 1992. The overworked American. New York: Basic Books.
Thompson, D. 1996. The end of time. London: Minerva.
United Nations. United Nations Human Development Report for 1999. Available at http://www.undp.org/hdro/overview.pdf.

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย สนใจ สั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

 

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

เรามักจะพบว่ามันสวนทางกัน ยิ่งเทคโนโลยีของเราก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นเท่าไร ดูเหมือนเราจะมีเวลาว่างน้อยลงเท่านั้น เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะเครื่องยนต์กลไกที่ช่วยทุ่นเวลาให้กับเรา จำเป็นต้องได้รับการดูแลและซ่อมแซมโดยตัวเรา และนอกจากเวลาที่พวกเราหลายคนเสียไปกับการใช้คอมพิวเตอร์ พวกเรายังต้องเสียเวลาไปกับการอัพเกรด การซ่อมแซม และการซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ทดแทนของเก่า ไม่ต้องพูดถึงเวลาที่เราต้องสูญเสียไปเพื่อหาเงินมาซื้อเครื่องจักรกลเหล่านี้


คำสอนของพุทธศาสนาที่เน้นอนัตตาบ่งเป็นนัยว่า สิ่งที่เราเก็บกดเป็นพื้นฐานไม่ใช่ความต้องการทางเพศ (เหมือนอย่างที่ฟรอยด์เชื่อ) หรือไม่ใช่กระทั่งความกลัวตาย (เหมือนอย่างที่นักจิตบำบัดแนว existentialism เชื่อ) แต่เป็นการเก็บกดความรู้ที่ว่าตัวตนนั้นไม่มีอยู่ พูดอีกอย่างหนึ่งคือเราเก็บกดความรู้สึกไม่สบายใจที่รู้อยู่ว่า ตัวตนนั้นไม่ได้มีอยู่จริง หากเป็นผลมาจากการปรุงแต่งของสภาวะจิตเท่านั้น
ความตระหนักรู้เช่นนี้ทำให้เราเกิดความไม่สบายใจ และทำให้เราปฏิเสธความรู้เช่นนั้นด้วยการเก็บกดมันไว้ และเหมือนที่ฟรอยด์ได้เน้นก็คือ การเก็บกดส่งผลให้เกิดการรับรู้ที่เบี่ยงเบนและแสดงออกมาเป็นอาการต่างๆ ในกรณีเช่นนี้ ความตระหนักรู้ภายในว่าตัวตนไม่มีอยู่จริง ได้ทำให้เกิดความรู้สึกพร่องขึ้นมา
เป็นความรู้สึกที่ว่า "มันมีอะไรบางอย่างที่ไม่ปรกติกับตัวฉัน"