มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 423 หัวเรื่อง
กรณีโต้เถียงเกี่ยวกับคุณระเบียบรัตน์
คนปลายดอย และ
ชำนาญ จันทร์เรือง

สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

R
relate topic
150747
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบเรื่องพิเศษบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นทางวัฒนธรรมและกฎหมาย กรณีคุณระเบียบรัตน์
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


ประเด็นโต้แย้งกันทางสังคมและวัฒนธรรม
กรณีเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของคุณระเบียบรัตน์
คนปลายดอย และ ชำนาญ จันทร์เรือง
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

จากบทความเรื่อง
1. วุฒิภาวะทางวัฒนธรรม โดย คนปลายดอย
2. ห้าหมื่นชื่อยังไม่เพียงพอต่อการถอดถอน โดย ชำนาญ จันทร์เรือง

(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)


1. วุฒิภาวะทางวัฒนธรรม
สืบเนื่องจากกรณีร้อนแรงที่ชาวล้านนากลุ่มหนึ่งลุกขึ้นประท้วง สว. ระเบียบรัตน์ที่บังอาจตั้งคำถามกับจารีตเก่าแก่ของภาคเหนือนั้น ใคร่ขอแสดงความเห็นบางประการดังนี้

เหตุการณ์ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นความขาดแคลนวุฒิภาวะของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ทางฝ่ายคุณระเบียบรัตน์นั้น เธอทำการบ้านมาน้อยไป นอกจากจะมิได้ศึกษาที่มาที่ไปของประเพณีดังกล่าวให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนแล้ว ความสำเร็จระดับหนึ่งในฐานะผู้หญิงในแวดวงการเมือง ทำให้เธอประเมินความหมายของ "ความเป็นผู้หญิง" ในสังคมไทยจากมุมของพวกเรียกร้องสิทธิสตรีแบบไร้เดียงสา มิได้สำเหนียกถึงพลังเงียบที่จำกัดกรอบความเป็นเพศหญิงอย่างซับซ้อน และไม่เข้าใจพลังรุนแรงของกระแสการปกป้องและติดยึดในวัฒนธรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสูงหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

สำหรับคนพุทธ อัฐิธาตุขององค์พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ถือเป็นสัญญลักษณ์แทนทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นมงคลที่สูงสุด หากมองในแง่นี้ ผู้เขียนคิดว่า อย่าว่าแต่ผู้หญิงเลย ผู้ชายเองก็ไม่บังควรที่จะได้รับอนุญาติให้เหยียบย่างเข้าไปยืนในที่สูงกว่าสิ่งแทนองค์พระรัตนตรัย หากจะอนุญาติให้ใครได้เข้าไปใกล้แล้วล่ะก็ อาจเป็นพระสงฆ์ เพราะตามคติพุทธสมัยพุทธกาล จะจำแนกคนด้วยความบริสุทธิ์ของศีล หาใช่การจำแนกด้วยชนชั้น วรรณะ หรือเพศไม่

การอ้างเรื่องเลือดประจำเดือนนั้น มิใช่คติพุทธแน่นอน มันสะท้อนความกลัวของผู้ชายที่ยึดกุมความรู้เรื่องไสย น่าสังเกตว่า "อำนาจ" เรื่องความรู้เกี่ยวกับไสยของผู้ชายนั้นเป็นอำนาจที่ได้มาจากการต้องขวนขวายร่ำเรียนเอา ส่วน "อำนาจ" ของผู้หญิงที่จะทำลายพลังความรู้ของผู้ชายนั้นเป็นอำนาจที่ธรรมชาติให้มา ไม่ต้องร่ำเรียนอาคมใดๆ ก็สามารถทำให้คุณไสยเสื่อมได้ ทว่าหากจะกีดกันผู้หญิงออกไปด้วยเหตุผลตรงๆว่ากลัว ก็จะเป็นการเสียเหลี่ยมเสียหน้าอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงจำต้องสร้างวาทกรรม "ความสกปรกต่ำต้อย" ให้แก่เลือดประจำเดือนเพื่อกีดกันกดข่มและอำพรางความหวาดกลัวไปพร้อมๆกัน

โปรดสังเกตว่าการให้ค่าลบแก่ลักษณะทางกายภาพนี้ นำไปสู่การให้ค่าลบแก่ผู้หญิงในเชิงสถานภาพทางสังคมและศีลธรรมด้วย ผ้าซิ่นที่ใช้แล้วจึงเป็น "ของต่ำ" และผู้หญิงจะเลื่อนชั้นทางศีลธรรมได้ก็ด้วยอาศัยการเกาะชายผ้าเหลืองของลูกชายไป

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำไว้ ณ ที่นี้ว่าผู้เขียนเองมิได้มีจุดยืนที่ต้องการชำระพุทธให้บริสุทธิ์ปราศจากการปนเปื้อนของไสย เพราะเหตุผลง่ายๆว่ามันเป็นไปไม่ได้ พัฒนาการของศาสนาต่างๆในโลกล้วนแสดงถึงการประสมประสานความเชื่อกับวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมทั้งสิ้น และหากพิจารณาความอยู่ยงคงกระพันของไสยที่เคียงคู่พุทธมา ก็จะพบว่าไสยมีหน้าที่หลายประการที่เอื้อต่อบูรณาการทางสังคม

ในสังคมหมู่บ้าน "ผี"เป็นเครื่องมือทางศีลธรรมชนิดหนึ่งที่ช่วยจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคม เช่นในการใช้แม่น้ำสายเดียวกันของคนหลายๆหมู่บ้าน การมีพิธีไหว้ผีเหมืองฝายร่วมกันเป็นการตอกย้ำพันธกิจที่มนุษย์มีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรร่วมกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างผีกับพุทธในสังคมไทยมีทั้งด้านที่เกื้อหนุนและขัดแย้งกันเองในตัวหลายประการ ผีสนองหน้าที่ทางสังคมและจิตวิทยาหลายๆอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความทุกข์แบบโลกย์ๆของชาวบ้าน เช่น ของถูกขโมย หรือความเจ็บป่วย การบนบานศาลกล่าวดูจะได้ผลกว่าการบอกชาวบ้านให้ปล่อยวางหรือปลงๆเสีย

ขณะเดียวกันจักรวาลวิทยาแบบพุทธก็สามารถโอบเอาวาทกรรมผีเข้ามาได้อย่างไม่ยากเย็น เราจะพบว่าพระภิกษุสมัยก่อนสักกันตัวลายพร้อย พระกลายเป็นสถาบันที่สืบทอดปลูกฝังความรู้ในวิชาอาคมต่างๆ การผสมผสานกันเช่นนี้มีส่วนดึงให้พระสงฆ์เข้าใกล้ และถูกครอบโดยอิทธิพลทางโลกย์มากขึ้น

ประเด็นของความขัดแย้งอยู่ที่ว่า ถึงที่สุดคติพุทธคาดหวังว่าพระสงฆ์แม้จะอยู่ในโลก แต่ต้องไม่ถูกแปดเปื้อนหรือครอบงำโดยโลกียวิสัย แม้ระบบศีลธรรมแบบผีจะเห็นดีเห็นงามกับการที่พระบอกใบ้หวย หรือพัฒนาทักษะเป็นช่างฝีมือและยืดหยุ่นไม่ว่ากัน หากพระจะกินข้าวเย็นหรือแม้แต่มีเมีย ทว่าสิ่งเหล่านี้ขัดกับกรอบพระวินัยแบบพุทธ ถึงจุดหนึ่งเราจึงพบกระแสพุทธปฏิรูปบังเกิดขึ้นซึ่งมุ่งจะกำจัดสิ่งปนเปื้อนเหล่านี้ออกไป ทว่าไม่นานนักรูปแบบใหม่ๆของการประสมประสานกับความเชื่อที่ไม่ใช่พุทธก็จะเกิดขึ้นอีกเสมอ

ประเด็นจึงมิได้อยู่ที่การชำระความบริสุทธิ์ เพราะ "ความบริสุทธิ์ทางวัฒนธรรม" เป็นเพียงมายาคติ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ทรงตระหนักข้อนี้ดี อันที่จริงพระองค์มีทักษะในการประสมประสานทางวัฒนธรรมที่เยี่ยมยอด เช่น ทรงใช้ภาษาศัพท์แสงต่างๆของฮินดูเพื่ออธิบายมโนทัศน์แบบพุทธ

ดังนั้นประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะเลือกอะไรมาผสมกับอะไรเพื่อเหตุผลใดหรือเพื่อคนกลุ่มใดมากกว่า หากเราคิดว่าเราจะเลือกองค์ประกอบด้านพุทธเป็นหลัก อยากเชิดชูวัฒนธรรมส่วนของพุทธให้เป็นประธาน เราก็ต้องเข้าใจการตัดสินและแบ่งชั้นคนตามคติพุทธว่าตั้งอยู่บนฐานของอะไร หากเราคิดว่า บางอย่างของไสยที่เอื้อต่อความสมานฉันท์ทางสังคมควรรักษาเอาไว้ เราก็สามารถตั้งคำถามกับวัฒนธรรมไสยในส่วนที่เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางสังคมได้เช่นกัน ว่าความคิดเช่นนั้นตั้งอยู่บนฐานอะไร

ถึงตรงนี้ ผู้เขียนอยากจะบอกว่า กรณีความขัดแย้งเรื่องคุณระเบียบรัตน์นี้ จะก่อโภคผลมากกว่าถ้าจะกลายเป็นการจุดประกายให้ได้ฉุกคิด ทบทวนวิเคราะห์ถึงความหมายของวัฒนธรรมล้านนาในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ น่าจะเป็นโอกาสให้ได้พินิจพิเคราะห์องค์ประกอบของทั้งพุทธและผี และตระหนักถึงความหมายทางสังคมที่อยู่เบื้องหลัง

ผู้เขียนเองเห็นว่าในกรณีองค์พระธาตุ ชาวพุทธทั้งหญิงชายควรต้องรักษาระยะห่างเพื่อแสดงความเคารพต่อสัญญลักษณ์ดังกล่าว แต่ที่น่าวิเคราะห์ต่อไปก็คือ แล้วในกรณีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นเช่นโบสถ์เล่า ควรวางท่าทีต่อผู้หญิงอย่างไร หากใต้พื้นที่โบสถ์มิได้บรรจุฝังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางคติพุทธไว้แล้ว จะมีเหตุผลใดๆจากแง่มุมของคนพุทธบ้างไหมที่จะห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าไปกราบพระในโบสถ์

ลูกนิมิตที่ฝังไว้มิได้เป็นคติพุทธและไม่มีสถานภาพเช่นเดียวกับองค์พระธาตุ ในสมัยพุทธกาล เมื่อที่ประชุมสงฆ์สวดปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือนนั้น ฆราวาสมิได้รับอนุญาติให้เข้าไปฟัง แม้แต่ในหมู่พระภิกษุเอง หากมีรูปใดยังมิได้ปลงอาบัติอันตนได้กระทำไว้แล้วต่อหน้าที่ประชุมสงฆ์ พระพุทธเจ้าท่านไม่อนุญาติให้รูปนั้นอยู่ในที่ประชุมสวด เนื่องเพราะความบริสุทธิ์หมดจดของปาฏิโมกข์สังวรศีลจะทำให้ภิกษุที่ศีลด่างพร้อยต้องมีอันเป็นไป จะเห็นว่า นี่เป็นการแบ่งแยกคนตามความบริสุทธิ์ของศีล มิได้แบ่งเพราะเพศหรือชนชั้น มิเช่นนั้นแล้ว พระภิกษุณีจำนวนมากในสมัยพุทธกาลคงไม่สามารถบรรลุอรหัตตผลได้

ดังนั้น ตามคติพุทธ เลือดประจำเดือนจึงมิอาจขวางกั้นผู้หญิงจากการเข้าสู่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดอย่างพระนิพพานได้ ในประเด็นเรื่องเพศสภาพกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ ผู้เขียนเห็นว่าไสยกีดกันผู้หญิงมากกว่าพุทธด้วยซ้ำ และกีดกันบนพื้นฐานของสภาพร่างกายที่แตกต่าง หากความเชื่อสองระบบนี้ ขัดแย้งกันในวิธีจำแนกความบริสุทธิ์ของคน ถึงตรงนี้ชาวล้านนาต้องถามตัวเองว่า ในกรณีดังกล่าวจะให้ความเป็นพุทธหรือความเป็นผีกันแน่ที่เป็นองค์ประธาน

การตั้งคำถามกับจารีตมิได้หมายถึงการลบหลู่เสมอไป และจารีตก็มิใช่สิ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ตรงกันข้าม หากพิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่า การลุกขึ้นปฏิวัติจารีตนั่นแหละ ที่ทำให้โลกเราก้าวไปข้างหน้า นักวิทยาศาสตร์และศาสดาที่ค้นพบสิ่งที่พลิกโลกล้วนตั้งคำถามกับจารีตทางความคิดและวัฒนธรรมต่างๆในยุคของตนทั้งสิ้น หากเจ้าชายสิทธัตถะไม่กล้าตั้งคำถามกับคำสอนของอาจารย์ของพระองค์เองและพอพระทัยเพียงแค่เชื่อในสิ่งที่ถูกสอนสืบๆกันมา ศาสนาพุทธคงไม่บังเกิดขึ้นในโลกนี้

หลังตรัสรู้พระองค์ก็ยัง กล้าท้าทายจารีตการแบ่งชั้นวรรณะและแบ่งแยกเพศแบบฮินดูอีก เพราะ พระองค์ต้องการพิสูจน์ความเป็นสากลของธรรมะว่า ศาสนาของพระองค์เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกชนชั้น แม้จะต่างศาสนาและต่างเพศก็สามารถเข้าถึงได้ทั้งสิ้น

วัฒนธรรมล้านนาจะยั่งยืนเข้มแข็งอยู่ได้ ก็เพราะมีความยืดหยุ่นและทนทานต่อการถูกตรวจสอบ การออกมาปกป้องในทำนอง "ของของข้า ใครอย่าแตะ" นี้แสดงถึงความไร้วุฒิภาวะทางวัฒนธรรม เพราะเท่ากับทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นของแช่แข็ง มีเอาไว้ให้ปิดทองในพิพิธภัณฑ์ ท่าทีเช่นนี้นอกจากจะทำให้วัฒนธรรมอ่อนแอลงแล้ว ยังสร้างความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงอีกด้วย ใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับเราต้องถูกบดขยี้ นี่เป็นการสร้างกำแพงทางวัฒนธรรมปกป้อง "ความเป็นท้องถิ่น" โดยไม่เหลือพื้นที่ให้กับความเป็นอื่นเลย

ขอให้พี่น้องชาวล้านนาถามตนเองเถิดว่า การเผาพริกกระเทียมสาปแช่งจะช่วยธำรงรักษาความเป็นล้านนาได้อย่างไร มารักษาความเป็นล้านนาด้วยปัญญาแทนการใช้อารมณ์ไม่ดีกว่าหรือ

 

2. ห้าหมื่นชื่อยังไม่เพียงพอต่อการถอดถอน
จากที่ได้มีการเคลื่อนไหวให้มีการลงลายมือชื่อเพื่อถอดถอน คุณระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดขอนแก่น ในกรณีที่ออกมาเรียกร้องให้ปลดป้ายห้ามสตรีมิให้เข้าใกล้องค์พระธาตุในเขตล้านนา จนเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อถอดถอนสมาชิกวุฒิสภา หลังจากที่สมาชิกวุฒิสภาคนดังกล่าวก็ใช้สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญเรียกร้องความเท่าเทียมกันมาแล้ว จนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะปิดฉากลงอย่างไร

อย่างไรก็ตามในเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างก็ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในส่วนของสมาชิกวุฒิสภาที่อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่ระบุว่า "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน" ส่วนฝ่ายท้องถิ่นก็อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ที่ระบุว่า "บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรัษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ......" ดังกล่าวนั้น มีการให้ความเห็นกันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางหนังสือพิมพ์ สื่อมวลชน ตลอดจนในเว็บไซต์ ต่างๆ แต่ในส่วนของการล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกวุฒิสภาที่กำลังรณรงค์กันอย่างแข็งขันนั้นผมยังไม่เห็นมีการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

ในเรื่องการถอดถอนนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 303 - 307 บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 303 ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาล ปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ในการ ยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั่นออกจากตำแหน่งได้

บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ด้วย คือ

(1) กรรมการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาล รัฐธรรมนูญ และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
(2) ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ทั้งนี้ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

มาตรา 304 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีของสภาผู้แทนราษฎร หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 307 ให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา 303 ออกจากตำแหน่งได้ คำร้องขอดังกล่าวต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวกระทำความผิด เป็นข้อ ๆ ให้ชัดเจน

สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 307 ให้ถอดถอนสมาชิกวุฒิสภาออกจากตำแหน่งได้

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการที่ประชาชนจะเข้าชื่อร้องขอตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

มาตรา 305 เมื่อได้รับคำร้องขอตามมาตรา 304 แล้ว ให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการไต่สวนโดยเร็ว
เมื่อไต่สวนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา โดยในรายงานดังกล่าวต้องระบุให้ชัดเจนว่า ข้อกล่าวหาตามคำร้องขอข้อใดมีมูลหรือไม่เพียงใด พร้อมทั้งระบุเหตุแห่งการนั้น

ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันละปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเห็นว่าข้อกล่าวหาตามคำร้องขอข้อใดเป็นเรื่องสำคัญ จะแยกทำรายงานเฉพาะข้อนั้นส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณาไปก่อนก็ได้

ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล นับแต่วันดังกล่าว ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ และให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา 306 และอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป แต่ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเห็นว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป

ในกรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่ารายงาน เอกสาร และความเห็นที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งให้ตามวรรคสี่ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ ให้อัยการสูงสุดแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบเพื่อดำเนินการต่อไป โดยให้ระบุข้อที่ไม่สมบูรณ์นั้นให้ครบถ้วนในคราวเดียวกันในกรณีนี้ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและอัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีผู้แทนจากแต่ละฝ่ายจำนวนฝ่ายละเท่ากัน เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อไป ในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจดำเนินการฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทนก็ได้

มาตรา 306 เมื่อได้รับรายงานตามมาตรา 305 แล้ว ให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาจัดเพื่อพิจารณกรณีดังกล่าวโดยเร็ว

ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งรายงานให้นอกสมัยประชุม ให้ประธานวุฒิสภาแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา 307 สมาชิกวุฒิสภามีอิสระในการออกเสียงลงคะแนนซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ มติที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่ง ให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ผู้ใดถูกถอดออกจากตำแหน่งให้ผู้นั้นพ้นจากตำแน่งหรือให้ออกจากราชการนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอน และให้ตัดสิทธิผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในการรับราชการเป็นเวลาห้าปี

มติของวุฒิสภาตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด และจะมีการร้องขอให้ถอดถอนบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเหตุเดียวกันอีกมิได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

จากบทบัญญัติที่ยกมาข้างต้นพอจะสรุปได้ว่า

1. ตำแหน่งที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา
เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอน มีดังนี้

1.1 นายกรัฐมนตรี                                  1.2 รัฐมนตรี
1.3 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร                  1.4 สมาชิกวุฒิสภา
1.5 ประธานศาลฎีกา                               1.6 ประธานศาลปกครองสูงสุด
1.7 อัยการสูงสุด                                    1.8 กรรมการเลือกตั้ง
1.9 ผู้ตรวจการแผ่นดินของ                     1.10 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรัฐสภา
1.11 กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน              1.12 ผู้พิพากษาหรือตุลาการ
1.13 พนักงานอัยการ                              1.14 ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง 

2. เหตุที่ขอให้ถอดถอน คือมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และ

2.1 ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ หรือ
2.2 ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือ
2.3 ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือ
2.4 ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย

เมื่อพิจารณากรณีนี้แล้วก็ไม่น่าจะเข้าข่ายที่จะขอถอดถอนแต่อย่างใด เว้นเสียแต่ว่า ปปช. กับวุฒิสภาเห็นต้องตรงกันว่าคุณระเบียบรัตน์ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ซึ่งก็ออกจะตีความกว้างไปหน่อยนะครับ

แต่เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในการที่มีประชาชนกว่า 50,000 คน ลงชื่อถอดถอนผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยแล้วก็น่าคิดนะครับว่าควรจะอยู่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายแล้ว แต่เป็นเรื่องของ "ความเชื่อ" หรือ "ความเหมาะสม" ที่เป็นประเด็นจุดไฟในเรื่องนี้ขึ้นมาตั้งแต่ต้นนั่นแหละครับ

(หมายเหตุ : สำหรับประเด็นเกี่ยวเนื่องกับคุณระเบียบรัตน์ หากผู้ใดต้องการเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาส่งมาได้ที่ midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com)

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




คลี่ความซับซ้อนเกี่ยวกับการโต้แย้งกันทางกฎหมายและขนบจารีต กรณีเรื่องของคุณระเบียบรัตน์ กับพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรม

 

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

การตั้งคำถามกับจารีตมิได้หมายถึงการลบหลู่เสมอไป และจารีตก็มิใช่สิ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ตรงกันข้าม หากพิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่า การลุกขึ้นปฏิวัติจารีตนั่นแหละ ที่ทำให้โลกเราก้าวไปข้างหน้า นักวิทยาศาสตร์และศาสดาที่ค้นพบสิ่งที่พลิกโลกล้วนตั้งคำถามกับจารีตทางความคิดและวัฒนธรรมต่างๆในยุคของตนทั้งสิ้น หากเจ้าชายสิทธัตถะไม่กล้าตั้งคำถามกับคำสอนของอาจารย์ของพระองค์เองและพอพระทัยเพียงแค่เชื่อในสิ่งที่ถูกสอนสืบๆกันมา ศาสนาพุทธคงไม่บังเกิดขึ้นในโลกนี้