มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 422 หัวเรื่อง
การต่อสู้กันทางวาทกรรม
กรณีเรื่องเกี่ยวกับการทำแท้ง

นิษฐา หรุ่นเกษม
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

R
relate topic
140747
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบเรื่องพิเศษบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
ทุกวันนี้ยังมีการโต้เถียงกันอยู่ระหว่าง"พวกที่สนับสนุนชีวิต" กับ"ผู้สนับสนุนทางเลือก"
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม
วาทกรรมพันตู กรณีเรื่องของการทำแท้ง
นิษฐา หรุ่นเกษม : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

กลยุทธ์ทางภาษาในการสร้างวาทกรรม
พัฒนาการของปฏิบัติการทางวาทกรรมการทำแท้งในสหรัฐอเมริกา
ระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน

เรียบเรียงจากบทความเรื่อง
The contemporary American abortion Controversy: Stages in the argument
By Celeste Condit Railsback
ใน Cathcart, Robert S. 1990. "The social movement approach, Movement: Confrontation as rhetorical form"
in Brock, Bernard L., Scoot, Robert L. and Chesebro, James W. (eds).
Methods of rhtorical criticism: A twentieth-century perspective.
Detroit: Wayne State University Press, pp. 361-387

(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)


การสร้างวาทกรรมเพื่อสนับสนุนประเด็นการเคลื่อนไหวของตนหรือกลุ่มของตนนั้น เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับมนุษย์ทุกคน ในฐานะของการเป็นผู้สร้างสัญลักษณ์และผู้ใช้สัญลักษณ์ ประการหนึ่งนั้น คือ ทำให้เราสามารถที่จะรับรู้ได้ว่า สมาชิกของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวนั้นสังกัดอยู่ฝ่ายใด ระหว่างฝ่ายสนับสนุนหรือฝ่ายคัดค้าน และอีกประการหนึ่งนั้น ปฏิบัติการทางวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาจะเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อที่แท้จริงแห่งกลุ่มตน

เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าการเคลื่อนไหวของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล

ๆนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการทางวาทศิลป์หรือเป็นการใช้กลยุทธ์ทางภาษา ในการสร้างวาทกรรมระหว่างกลุ่มผู้เคลื่อนไหวสนับสนุน และผู้คัดค้านทั้งสิ้น จะได้ยกตัวอย่างจาก บทความเรื่อง "The Contemporary American Abortion Controversy: Stages In The Argument" ดังนี้คือ

ความนำ
ชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากนั้นต่างเบื่อหน่ายต่อการได้ยินเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง เนื่องจาก ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดและเห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ไขได้ พวกเขาต่างรู้สึกว่า ได้รับฟังข้อโต้แย้งมามากมาย ได้เห็นภาพที่น่าสะพรึงกลัว แต่ทว่ากลับไม่ได้รับคำตอบที่น่าพึงพอใจ แต่อย่างใด

ปัจจุบัน การอภิปรายในที่สาธารณะในประเด็นเกี่ยวกับการทำแท้งในอเมริกา จะมีลักษณะหรือ รูปแบบของปฏิบัติการทางวาทกรรมในแบบของการคุมเชิงซึ่งกันและกัน ระหว่างฝ่ายสนับสนุนให้มีการทำแท้งเสรีและถูกกฏหมาย กับฝ่ายคัดค้านการเคลื่อนไหวดังกล่าว และหากว่าเราสืบสาวกลับไปถึงการ โต้แย้งเกี่ยวกับประเด็นการทำแท้งระหว่างช่วงทศวรรษที่สำคัญใน ยุค '60 และยุค '70 จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลักๆเกิดขึ้นในการใช้เหตุผลสนับสนุนเพื่ออภิปรายในหัวข้อดังกล่าว ซึ่งลำดับขั้นและพัฒนาการของข้อโต้แย้งดังกล่าวสามารถระบุได้ถึง 7 ขั้นตอนด้วยกัน นั่นคือ จากลำดับขั้นของการสร้างเรื่องเล่าที่สะเทือนอารมณ์ มาสู่การทะเลาะวิวาท และในท้ายที่สุดเป็นลักษณะของการคุมเชิงซึ่งกันและกัน

ช่วงโหมโรง : ว่าด้วยข้อโต้แย้งจากฝ่ายวิชาชีพ
แม้ว่าในช่วงเริ่มแรกของยุค '60 การโต้แย้งในประเด็นเรื่องการทำแท้งจะเริ่มเป็นที่สนใจของสาธารณชน แต่มันก็ไม่ใช่ครั้งแรก ในช่วงศตวรรษที่ 19 ก็ได้มีการโต้แย้งที่รุนแรงและดุเดือดเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้งเกิดขึ้นมาเช่นกัน

ประเด็นในการโต้แย้งดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อ มีการทำให้เรื่องของการทำแท้งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และอุดมการณ์หลักที่ยึดถือกันว่าการทำแท้งเป็นการคร่าชีวิตของมนุษย์ และทำลายค่านิยมหลักของสังคมเกี่ยวกับ "ครอบครัว" และ "ความเป็นแม่" ก็ค่อยๆแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นที่สำคัญของการโต้แย้งในเรื่องการทำแท้งในยุค '60 นั้น เป็นผลมาจากรากฐานที่ได้ถูกวางไว้ตั้งแต่ยุค '50 ในแวดวงของกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ อาทิ กลุ่มของแพทย์ เป็นต้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้าน วิชาชีพดังกล่าว เป็นผู้เปิดประเด็นด้านการปฎิรูปกฏหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ลำดับแรกของการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับการทำแท้งนั้น เป็นชุดวาทกรรมที่สร้างมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ

การโต้แย้งโดยผู้เชี่ยวชาญนั้นเริ่มต้นขึ้นในการประชุมอภิปรายทางวิชาการ โดยผู้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนั้นประกอบไปด้วยจิตแพทย์ แพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักประชากรศาสตร์ และทนายความ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีความตึงเครียดเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากต้องเผชิญกับการให้ความช่วยเหลือต่อผู้หญิงที่ตัดสินใจจะทำแท้ง และคนที่ทำแท้งอย่างผิดกฎหมาย

แต่ประเด็นในการอภิปรายครั้งนั้นก็ยังเป็นประเด็นที่แคบและเกี่ยวพันอยู่เฉพาะความสนใจหลักๆภายในวิชาชีพของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ทางออกในการแก้ปัญหาประการแรกของการทำแท้งจะอยู่ที่นายแพทย์ ในการตั้งคณะกรรมการของโรงพยาบาลเพื่อตัดสินว่าผู้หญิงคนไหน จะได้รับการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายได้ ทว่าทางออกที่ได้จากการประชุมดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขความรู้สึกเจ็บปวดทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มของแพทย์เพียงไม่กี่คนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแต่เพียงกลุ่มของแพทย์ที่ต้องประสบกับปัญหาที่เกี่ยวกับการทำแท้งเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มอื่นๆเช่นกัน และเมื่อมีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้คนเริ่มรู้สึกกันแล้วว่า ประเด็นปัญหาการทำแท้งที่ถูกริเริ่มขึ้นในแวดวงการแพทย์นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป

ช่วงต้นของยุคหกศูนย์
การโต้แย้งสาธารณะในช่วงเริ่มแรกของยุค '60 ของฝ่ายสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการทำแท้งนั้น มีศูนย์กลางอยู่ที่การปฏิรูปกฎหมายและการบอกเล่าเรื่องราวของการทำแท้งที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น ลำดับขั้นที่สองของการสร้างชุดวาทกรรม จึงอยู่ที่การสร้างเรื่องเล่าและรูปแบบของการเล่าเรื่อง

การสร้างชุดวาทกรรมหรือเรื่องราวต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น ประกอบไปด้วยการพรรณนาถึงความเจ็บปวดชอกช้ำที่ผู้หญิงต้องเผชิญ เมื่อต้องทำแท้งอย่างผิดกฎหมาย ในความเป็นละครฉบับสั้นๆนี้ ผู้สร้างเรื่องได้เล่าเรื่องโดยใช้วิธีการพรรณนาถึงตัวละคร (ผู้หญิงที่ไปทำแท้งและผู้ที่ทำแท้งให้), เหตุผลที่ทำให้เลือกการทำแท้ง, ฉากหรือสถานที่ที่เกิดการทำแท้งขึ้น และวิธีการในการทำแท้งตามแบบฉบับของการทำแท้งเถื่อนทั่วไป

ตัวละครในเรื่องหรือผู้หญิงที่ต้องไปทำแท้งในเรื่องราวเชิงละครที่น่ากลัวนี้ จะถูกวาดภาพอย่างค่อนข้างน่าเห็นอกเห็นใจ ยกตัวอย่างเช่น Marguerite Clark ซึ่งเป็น "ผู้หญิงท่าทางอมโรคคนหนึ่งที่มองเห็นทางออกเพียงทางเดียวจากสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้" หรือเรื่องราวของผู้หญิงชื่อ Sherri Finkbine ซึ่งกินยากล่อมประสาททาลิโดไมด์ และไปที่ประเทศสวีเดนเพื่อทำแท้ง ได้ถูกวาดภาพว่าเป็น "ผู้หญิงชาวอริโซนาคนหนึ่งที่มีสุขภาพดีและมีชีวิตสมรสที่มีความสุข ผู้เป็นแม่ของบุตรสี่คน"

เหตุผลในการทำแท้งก็มีลักษณะเหมือนเรื่องราวในละครเช่นกัน เช่น ผู้หญิงเหล่านี้มีความเจ็บป่วยทางจิตใจ ถูกข่มขืน หรือตัวอ่อนที่ยังอยู่ในครรภ์นั้นมีลักษณะพิกลพิการ หรือเป็นเด็กสาวที่มีอายุเพียง 14-15 ปีที่ถูกล่อลวงจากชายแก่สูงอายุ (แม้กระทั่งจากพ่อของตัวเอง) และเด็กผู้หญิงที่ถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะการใช้เหตุผลทางเศรษฐกิจถึงความยากจนข้นแค้นของผู้หญิงที่ "ไม่สามารถจะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนได้"

ขณะเดียวกันวิธีการทำแท้งหรือภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการทำแท้งอย่างผิดกฎหมายนี้ ก็ถูกพรรณนาอย่างน่ากลัว เพื่อให้ดูแตกต่างจากการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งใช้เครื่องมือที่ปลอดภัยและเรียบง่าย ยกตัวอย่างเช่นในบทความชิ้นหนึ่งเขียนถึงเครื่องมือเหล่านั้นว่ารวมไปถึงก้านของไก่งวง ไม้ถักไหมพรม ปิ่นปักผม หวีหางหนู ขวดพลาสติก หรือแม้กระทั่งผ้าพันแผลยางยืด

และเมื่อบรรยายถึงเครื่องมือเหล่านี้ ก็จะพูดถึงเทคนิคในการทำแท้งทั้งหมดไปพร้อมๆกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวเกี่ยวกับขั้นตอนในการทำแท้งของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งให้เด็กวิศวะเป็นคนทำแท้งให้กับเธอ

"เขาหยิบกระบอกไฟฉายขึ้นมา ถอดแบตเตอรี่ออก และตัดส่วนท้ายของกระบอกออกไป เขาใช้กระบอกไฟฉายอันนี้เหมือนกับว่ามันเป็นเครื่องมือตรวจภายในของแพทย์.. เขาปั๊มอากาศเข้าไป "ภายใน" โดยอุปกรณ์หรือเจ้าสิ่งที่ตัวเขาเองก็ไม่รู้จักชื่อของมัน ฟองอากาศดังกล่าวหลุดเข้าไปในกระแสเลือดและพุ่งขึ้นสู่สมองของเด็กผู้หญิงคนนั้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน เด็กผู้หญิงคนนี้มีแต่เพียงลมหายใจเข้าออกเท่านั้นที่ทำให้เรารู้ว่าเธอยังมีชีวิตอยู่"

นอกเหนือจากวิธีการดังกล่าว ยังมีวิธีการที่น่าขนพองสยองเกล้าอีกมากมาย เช่น การใช้วิธีการกลิ้งตกจากบันได การฉีดยาทำลายเนื้อเยื่อเข้าไปในมดลูก ขณะเดียวกัน เรื่องเล่าเหล่านั้นยังใส่ประเด็นที่ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความตื่นตระหนกอย่างมากมาย อาทิ เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งบอกกล่าวถึงคนทำแท้งที่คิดว่าตนเองเอาตัวอ่อนออกมาไม่หมด ทำให้พยายามขูดเอาตัวอ่อนออกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งอวัยวะภายในอื่นๆ ของผู้หญิงที่ไปทำแท้งนั้นถูกขูดออกมาด้วย

การบรรยายถึงวิธีการที่น่าสะพรึงกลัวที่เกิดขึ้นจากการทำแท้งผิดกฏหมาย ดังที่ได้ยกตัวอย่างให้เห็นนั้น ได้ก่อให้เกิดอิทธิพลทางอารมณ์อย่างกว้างขวางเพื่อปฏิเสธการทำแท้งแบบผิดกฎหมายตามที่กลุ่มผู้สนับสนุนให้มีการปฏิรูปกฏหมายต้องการ

ตามที่ Kenneth Berk ได้เคยกล่าวไว้ว่า ภาชนะ (container) กับสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในจะต้องไปด้วยกันได้ สำหรับกรณีนี้นั้น วาทกรรมของฝ่ายสนับสนุนได้สร้างฉากที่เหมาะสมสำหรับปฏิบัติการที่ผิดธรรมดา และคำว่า "back alley"(หลังซอย) ก็ได้กลายมาเป็นคำที่ใช้กันทั่วไปเมื่อพูดถึงฉากของการทำแท้งที่ผิดกฎหมาย รวมถึงมีการบรรยายถึงฉากในห้องครัวที่สกปรก (บางครั้งอาจใช้ภาพประกอบ) หรือเบาะนั่งหลังรถที่ใช้เป็นสถานที่ทำแท้งเต็มไปหมดในเรื่องราวนั้นด้วยเช่นกัน

นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว เรื่องที่เล่าอาจบอกกล่าวถึง ฉากที่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องการทำแท้งต้อง นัดพบกับคนแปลกหน้าที่หัวมุมถนนหรือโรงแรมจิ้งหรีด เธอถูกผูกตา และพาไปทำแท้งในสถานที่ที่เธอเองก็ไม่รู้ว่าที่ไหนเช่นกัน

การล่าเรื่องราวการทำแท้งในรูปแบบดังกล่าวนี้ได้เร้าให้เกิดอารมณ์อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในการเล่าเรื่องการทำแท้งนี้ไม่ได้พูดถึงผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจที่ได้จากการทำแท้ง มีเพียงแต่กรณีที่ไม่น่าพึงปรารถนาของการทำแท้งผิดกฎหมายเท่านั้นที่ถูกเล่าออกมา

ในขณะที่กลุ่มของผู้รับสารส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือกลุ่มของผู้สนับสนุนให้มีการปฏิรูปกฎหมายนั่นเอง ก็ยังเชื่อว่าการทำแท้งนั้นเป็นเหมือนกับการฆาตกรรม และเป็นการท้าทายต่อพระเจ้าและสังคมแบบถือชายเป็นใหญ่ ผลที่เกิดตามมา จึงทำให้นักกิจกรรมเหล่านั้นสนับสนุนให้มีการทำแท้งที่ถูกกฎหมายได้เฉพาะบางกรณีหรือในกรณีที่รุนแรงเท่านั้น

และเมื่อ 5 มลรัฐในอเมริกาได้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง ในช่วงกลางของยุค '60 ข้อจำกัดดังกล่าวก็ได้สะท้อนให้เห็นจากการปฏิรูปครั้งนี้ นั่นคือ การทำแท้งอย่างถูกกฎหมายจะทำได้เฉพาะกับบางกรณี เช่น การถูกข่มขืน การล่วงประเวณีจากคนในสายเลือดเดียวกัน หรือทารกในครรภ์มีลักษณะพิกลพิการ หรือผู้หญิงคนนั้นมีอาการป่วยทางร่างกายและทางจิตใจเท่านั้น

ปฏิบัติการทางวาทกรรมด้วยการสร้างเรื่องเล่านั้น ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากฝ่ายสนับสนุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่เกี่ยวกับการทำแท้งเท่านั้น แต่ยังถูกสร้างขึ้นจากฝ่ายคัดค้าน เพื่อต่อต้านการปฏิรูปและไม่ปล่อยให้การทำแท้งเป็นเรื่องที่ถูกกฏหมายด้วยเช่นกัน ความแตกต่างในการสร้างเรื่องเล่านั้น มีอยู่เพียงประเด็นเดียว นั่นคือ เรื่องเล่าจากฝ่ายของผู้ที่ต่อต้านการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายได้มุ่งความสนใจไปยังสัญลักษณ์ของชีวิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น (หมายถึง การเน้นที่ตัวละครของเรื่องเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ฝ่ายผู้สนับสนุนการทำแท้งเน้นตัวละคร วิธีการ เหตุผล ฉาก ดังที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้ว)

ฝ่ายคัดค้านหรือที่เรียกตนเองว่า "ผู้สนับสนุนการมีชีวิต" ได้บรรยายถึงการทำแท้งไว้ว่าเป็นการคร่าชีวิต ดังนั้น การทำแท้งทั้งหมดจึงต้องเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และให้ทางออกอย่างจำกัดไว้เฉพาะการมี เพศสัมพันธ์ตามมาตรฐานเท่านั้น กลยุทธ์เหล่านี้ทำให้อุดมการณ์หลักสามารถรักษาค่านิยมหลักของสังคมให้คงอยู่ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลง

ด้วยเหตุนี้เอง ในระยะแรกของยุค '60 การสร้างข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการทำแท้งหรือชุดวาทกรรมของฝ่ายสนับสนุน จึงไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการท้าทายโดยตรง ต่อความเชื่อที่มีอยู่อย่างเหนือกว่าเกี่ยวกับการทำแท้ง ความเป็นครอบครัว และความเป็นแม่ แต่ได้โต้แย้งเฉพาะในกรณีที่จำเป็นและรุนแรงเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ฝ่ายคัดค้านหรือกลุ่มที่สนับสนุนอุดมการณ์หลักของสังคมก็ยังคงมองว่า เนื่องจากการทำแท้งเป็นเรื่องของการฆาตกรรม จึงไม่อาจมี ข้อยกเว้นสำหรับกรณีต่างๆได้เลย

ทั้งสองกลุ่มต่างได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม เสียงสนับสนุนต่อกลุ่มผู้สนับสนุนให้มีการปฏิรูปนั้นยังคงมีไม่มากนัก เหตุเพราะว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวเรื่องของการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายยังคงถูกมองว่า เป็นเรื่องที่มากเกินกว่าการจะรักษาชีวิตของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เอาไว้เท่านั้น

ช่วงปลายของยุคหกศูนย์
แม้ไม่อาจกล่าวได้ว่า การโต้แย้งเกี่ยวกับประเด็นการทำแท้งได้เริ่มขึ้น ณ ช่วงเวลานี้ และไม่ว่ากลุ่มผู้สนับสนุนให้มีการปฏิรูปจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ก็ได้สร้างข้อเรียกร้องที่มีพลังในการเร้าอารมณ์อย่างสูง ในทางตรงกันข้ามกับการทำแท้งแบบผิดกฎหมายที่น่าหวาดกลัวนั้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การสร้างเรื่องเล่าที่ขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายสนับสนุนการทำแท้งและฝ่ายคัดค้านหรือ "Pro-life" เพื่อตอกย้ำซ้ำทวนเกี่ยวกับการทำแท้งที่ผิดกฏหมายนั้นยังคงดำเนินต่อไป ความขัดแย้งทั้งทางอุดมการณ์และเงื่อนไขทางสังคมดังกล่าว ได้เผยให้เห็นอย่างชัดเจนในเรื่องเล่าที่ทั้งสองฝ่ายได้สร้างขึ้น

ความไม่ลงรอยที่ปรากฏในเรื่องราวในยุคนี้นั้น เกิดจากการบรรยายภาพตัวละคร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้หญิงที่ไปทำแท้งและผู้ชายที่ (ส่วนมากจะ) เป็นคนทำแท้งให้

สำหรับคุณลักษณะของผู้หญิงที่เป็นตัวละครในเรื่อง ในด้านหนึ่งนั้น จะถูกวาดภาพให้เห็นอย่าง ชัดเจนว่าเป็น "เหยื่อ" ที่ยังเด็กและเป็นโสด และในอีกด้านหนึ่งนั้น ผู้สนับสนุนการปฏิรูปได้กล่าวว่า การทำแท้งแบบผิดกฎหมายนั้นก็มีผลกระทบกับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เช่นกัน "ไม่ใช่เด็กวัยรุ่นที่กระเจิดกระเจิงตามอารมณ์ของตนเอง... และก็ไม่ใช่เด็กผู้หญิงที่อ่อนเยาว์ไร้เดียงสาในเมืองหลวง… แต่เป็นกลุ่มผู้หญิงแต่งงานแล้ว (อายุประมาณ 21-25 ปี) ที่ต้องพบเจอกับการทำแท้ง"

การกระทำที่ค้านกันดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการที่จะให้เกิดความสนใจต่ออุดมการณ์แบบเก่าดั้งเดิม หากว่าเรื่องเล่าได้บอกเล่าถึงชีวิตของผู้หญิงโชคร้ายที่ถูกบังคับจากสถานการณ์ให้ต้องทำแท้ง อุดมการณ์หลักที่ฝังลึกนั้นถือกันว่า ผู้หญิงที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้นั้นคือคนที่แต่งงานแล้วเท่านั้น และถ้าเพศสัมพันธ์จากการแต่งงานนั้นเป็นผลให้เกิดการตั้งครรภ์ ดังนั้น ภรรยาทุกคนก็จะต้องการที่จะอุ้มท้องของตน ผู้หญิงต้องมีความรับผิดชอบต่อการตั้งท้องของตัวเอง มีเพียงเด็กๆ และคนที่ถูกข่มขืน หรือคนที่ ล้มเหลวเท่านั้นที่จะใช้อ้างเป็นข้อแก้ตัวในการทำแท้งได้

นอกจากนั้นแล้ว แรงกระตุ้นให้ไปทำแท้งของแต่ละบุคคลนั้นก็ยังแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ความต้องการหรือความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่จะต้องควบคุมจำนวนคนในครอบครัว วิถีการดำเนินชีวิต และสถานภาพผ่านทางการทำแท้ง และเป็นเพราะอุดมการณ์เกี่ยวกับเสรีภาพของผู้หญิงนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป จึงไม่มีข้อโต้แย้งใดที่เด่นสะดุดพอที่จะแสดงความต้องการหรือความปรารถนาสำหรับการทำแท้งได้ ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีการแสดงออกถึงสิทธิทางการเมืองของผู้หญิงอีกด้วย

ความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายยังถูกสร้างขึ้นผ่านทางตัวละครผู้ที่ทำแท้งอีกด้วย ในด้านหนึ่ง ผู้ที่เป็นฝ่ายทำแท้งให้ จะถูกวาดภาพว่าเป็นคนที่ไร้ความสำคัญและไร้ความสามารถ เป็นผู้ชายซึ่ง "…ใช้ชีวิตอย่างเละเทะ ผ่านการหย่าร้างมาแล้วหลายหน เปลี่ยนงานบ่อย เปลี่ยนที่อยู่เสมอๆ บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้พบว่า เขามีหนังสือโป๊อยู่ในครอบครอง และผู้ชายพวกนี้ยังมีเพศสัมพันธ์กับคนไข้ก่อนที่ตัวเองจะทำแท้งให้อีกด้วย"

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายได้เน้นให้เห็นว่า "90% ของผู้ที่ทำแท้งให้อย่างผิดกฎหมายนั้นส่วนใหญ่ทำโดยแพทย์" และวาดภาพให้เห็นว่า "..ดูเป็นหมอที่รักครอบครัว ใจดี ทำงาน รับใช้สังคมมาแล้วกว่า 30 ปี…"

ความขัดแย้งเหล่านี้เกิดขึ้นใน 2 ระดับ คือ ในระดับพื้นผิว อันได้แก่ ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับกฎหมายของการทำแท้งอย่างเสรีนั้นมีความขัดแย้งกัน ความหวาดกลัวเชื้อโรคและความตายจากการทำแท้งเถื่อนเป็นประเด็นหลักที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิรูป ดังนั้น การวาดภาพความสกปรกและการไร้ความสามารถของผู้ที่ทำแท้ง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องก่อให้เกิดความกลัวนั้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความกระทบกระเทือนต่ออุดมการณ์หลักในสังคม กลุ่มผู้สนับสนุนให้มีการปฏิรูปจึงต้องแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายการทำแท้งนั้นจะไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านจริยธรรมในสังคม และต้องไม่ทำให้จำนวนของการทำแท้งมีมากไปกว่าเดิม ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้การปฏิรูปกฎหมายเหลือเพียง การทำแท้งที่ผิดกฏหมายโดยแพทย์ที่มีอยู่แล้วในสังคมได้เปลี่ยนเป็นการทำแท้งที่ถูกกฏหมายเท่านั้นเอง

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ความแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนระหว่างแพทย์ผู้ทำแท้งให้ กับความแตกต่างระหว่างชนชั้นของผู้หญิงที่ทำแท้ง ผู้หญิงชนชั้นกลางระดับบนสามารถจะมีการทำแท้งที่ปลอดภัยได้จากหมอที่มีความสามารถ สามารถเดินทางไปทำแท้งได้ที่ภายนอกประเทศ เช่น คิวบา เม็กซิโก หรือเปอร์โตริโก หรืออาจจะให้หมอส่วนตัวมาทำแท้งให้ที่บ้าน ในขณะผู้หญิงที่ยากจนไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากจะต้องไปทำแท้งกับหมอเถื่อนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วาทกรรมที่ว่าด้วยความไม่เท่าเทียมกันนี้ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง จนกระทั่งในตอนปลายยุค '60 คำศัพท์เชิงสัญลักษณ์ที่ว่าด้วย "การแบ่งแยก" (discrimination) จึงจะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปจนสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชุดวาทกรรมของการทำแท้งได้ ในตอนนี้เองที่ ลำดับขั้นที่สามของการสร้างชุดวาทกรรมการทำแท้งในเรื่องของ "คำหรือสัญลักษณ์ที่แสดงความหมาย" ก็ได้เกิดขึ้น

ในช่วงปลายยุค '60 คำสำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนได้ปรากฏขึ้นอย่าง เด่นชัด เช่น คำว่า "เสรีภาพ" "ความเท่าเทียมกัน" (หรือ "การแบ่งแยก") และ "สิทธิส่วนบุคคล" การยอมรับคำต่างๆเหล่านี้ ทำให้สามารถนำมาใช้อธิบายต่อความขัดแย้งในเรื่องราวการทำแท้งเถื่อนได้

คำหรือสัญลักษณ์ที่แสดงความหมายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การทำแท้งอย่างผิดกฎหมายนั้นเป็นผลมาจาก อุดมการณ์แบบแบ่งแยกที่ครอบงำอยู่ เช่น การแบ่งแยกระหว่างผู้หญิงที่แต่งงานแล้วกับผู้หญิงที่เป็นโสด, หมอที่มีความสามารถกับหมอเถื่อน

ผู้หญิงร่ำรวยที่แต่งงานแล้วจะได้ทำแท้งอย่างปลอดภัยกับหมอที่มีความสามารถ ในขณะที่ เรื่องราวอันน่าสะพรึงกลัวของการทำแท้งเถื่อนนั้น กลับเป็นเรื่องของผู้หญิงยากจน และฆาตรกรร้ายที่ขาดความชำนาญในการทำแท้ง ผู้หญิงยากจนได้รับการปฏิบัติอย่าง "ไม่เท่าเทียม" และ "สิทธิ" ของพวกผู้หญิงเหล่านี้ได้ถูกล่วงละเมิด

เมื่อคำต่างๆเหล่านี้เป็นที่แพร่หลายและได้รับการยอมรับมากขึ้น ทำให้กลุ่ม ผู้สนับสนุนได้ใช้วาทกรรมต่างๆเหล่านี้ในการแสดงออกถึงความต้องการปฏิรูปกฏหมายที่มาจากสังคม มากกว่าจะจำกัดแค่เพียงการสร้างเรื่องเล่าที่แสดงความทุกข์โศกเพียงอย่างเดียว

ปฏิบัติการทางวาทกรรมที่เปลี่ยนผ่านจากการสร้างเรื่องเล่ามาสู่การใช้คำหรือสัญลักษณ์ที่แสดงซึ่งความหมายนั้น ต้องการแนวนโยบายใหม่มาสนับสนุน หากกฎหมายที่มีอยู่ถูกคัดค้านเพราะก่อให้เกิดการแบ่งแยก ความไม่ยุติธรรมนั้นไม่สามารถจะเยียวยาได้จากการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่จะต้องกำจัดระบบการแบ่งแยกทั้งหมด ดังนั้น แทนที่จะต้องการให้มีการปฏิรูปกฎหมาย ข้อเรียกร้องใหม่ที่เกิดขึ้นคือการ ยกเลิกกฎหมายการทำแท้งทั้งหมด

ในตอนปลายของยุค '60 วาทกรรมที่เกี่ยวกับการทำแท้งถูกโยงเข้ากับคำว่า "การแบ่งแยก" หากว่าผู้หญิงมี "สิทธิ์ที่จะเลือก" ที่จะไม่มีลูกแล้ว วิถีชีวิตของผู้หญิงก็คงจะแตกต่างไปจากการได้รับแต่เพียง บทบาทของ "แม่" อย่างเดียว ด้วยเหตุนี้เอง "การควบคุมร่างกายของตัวเอง" จึงกลายมาเป็นข้อเรียกร้องหลักเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิง ที่จะสนับสนุนให้มีการแท้งอย่างถูกกฏหมาย

การปรากฏขึ้นของข้อโต้แย้งในการ "มีสิทธิ์ที่จะเลือก" หรือ "การควบคุมร่างกายของตัวเอง" ดังกล่าว ถือเป็นการท้าทายครั้งใหญ่ในยุค '70 ต่ออุดมการณ์หลักที่ดำรงอยู่ ซึ่งได้วาดภาพของผู้หญิงไว้ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดเด็ก และก่อให้เกิดวาทกรรมชุดใหม่ของสังคมจากทางฝั่งของสตรีนิยม ซึ่งแสดงผลให้เห็นในอุดมการณ์หลักของการเคลื่อนไหว นั่นคือ เรื่องของ "ทางเลือก"

ขณะเดียวกัน ยังได้เกิดข้อโต้แย้งที่สำคัญด้วยการใช้คำว่า "เด็กซึ่งไม่เป็นที่ต้องการ" ซึ่งก่อนหน้ายุค '60 นั้น การสร้างข้อโต้แย้งของกลุ่มผู้คัดค้าน จะอาศัยวาทกรรมจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านพันธุกรรมเพื่อปฏิเสธไม่ให้มีการทำแท้งโดยอ้างว่า การทำแท้งจะส่งผลให้กลุ่มคนชั้นสูงลดจำนวนลงและกลุ่มคนชั้นล่างจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สนับสนุนการปฏิรูปได้กลับความหมายของคำดังกล่าวเสีย และทำให้เห็นว่าเด็กที่ไม่เป็นที่ต้องการนั้นเป็นปัญหาร้ายแรงของสังคม และเชื่อมโยงคำดังกล่าวเข้ากับเรื่องของคดีเด็กและเยาวชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เด็กที่จะเกิดมาอย่างยากจนและถูกทารุณกรรม ดังนั้น การทำแท้งจึงเป็นสิ่งที่สมควร เพื่อผลประโยชน์ทั้งต่อตัวเด็กเองและต่อสังคม

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ในช่วงปลายของยุค '60 ได้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากชุดวาทกรรมที่เป็นเรื่องเล่า ไปสู่ชุดของวาทกรรมซึ่งเป็นคำหรือสัญลักษณ์ที่มีลักษณะแสดงความหมาย จากชุดของวาทกรรมที่เกี่ยวกับการปฏิรูปไปสู่การยกเลิกกฏหมาย และการท้าทายจากชุดวาทกรรมของฝั่ง สตรีนิยมต่อชุดของวาทกรรมที่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งวางอยู่บนรากฐานของอุดมการณ์แห่งสังคมปิตาธิปไตย

ช่วงต้นของยุคเจ็ดศูนย์
ความสำเร็จของกลุ่มที่ต้องการให้มีการปฏิรูปกฎหมายการทำแท้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณบางประการว่า อย่างน้อยๆแล้ว วาทกรรมต่างๆที่ถูกนำมาใช้นั้นส่งผลถึงการยอมรับการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย และคนอเมริกันต่างก็ยอมรับและยอมเข้าใจในการทำแท้งมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในกรุงนิวยอร์คที่รับรองกฎหมายการทำแท้งในปี 1970 และอาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จในการปฏิรูปกฎหมาย ดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงอื่นๆเช่นกัน

นั่นคือ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มที่เรียกว่า ผู้สนับสนุนการมีชีวิต (pro-life) ซึ่งได้คัดค้านกฎหมายการทำแท้งอย่างเสรี โดยยึดอุดมการณ์หลักขึ้นมาเป็นเหตุผลว่า ตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์สมควรได้รับการปกป้องเช่นเดียวกับชีวิตของมนุษย์ โดยใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์หลายประการมาสนับสนุนปฏิบัติการดังกล่าว เช่น การพัฒนาทางพันธุกรรมของมนุษย์, ภาพถ่ายของตัวอ่อนที่ยังอยู่ในครรภ์ ซึ่งเป็นผลต่อการแสดงให้เห็นว่าตัวอ่อนนั้นก็เป็นเช่นเดียวกับมนุษย์ ฯลฯ เงื่อนไขเหล่านี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการท้าทายต่อเรื่องราวของผู้ที่สนับสนุนให้มีการปฏิรูปกฎหมายการทำแท้ง

และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เหตุผลสนับสนุนสำหรับการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาด้วยเช่นเดียวกัน การมุ่งความสนใจมาที่วาทกรรม "การแบ่งแยก" ได้นำไปสู่ความเชื่อในเรื่องของ "สิทธิ" ที่จะเลือกทำแท้ง การผสานกันระหว่างอุดมการณ์ของ "สิทธิ" และเรื่องเล่าที่พรรณนาถึงความหายนะจากผลลัพธ์ของการขาดทางเลือก เป็นผลให้เกิดวาทกรรม "ทางเลือก" ขึ้นมา และวาทกรรมทางเลือกนี้ค่อยๆแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆจนถึงกลางยุค '70

การพัฒนาขึ้นไปเป็นขั้นตอนที่สี่ในข้อโต้แย้งนี้ มีความผูกพันอย่างแนบแน่นกับการ เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรี การโต้แย้งเรื่องการทำแท้งได้ก่อให้เกิดพลังในการพัฒนาอุดมการณ์ของสิทธิสตรี ซึ่งวาทกรรม "ทางเลือก" นี้ได้มีนัยยะที่สำคัญสำหรับผู้หญิงในครอบครัวแบบดั้งเดิม และเป็น เงื่อนไขสำหรับผู้หญิงที่จะมีสิทธิในการเลือกรูปแบบชีวิตของตนเอง และในท้ายที่สุดสิทธิที่จะเลือกและ ความคิดใหม่เกี่ยวกับครอบครัวนี้ก็ค่อยๆได้รับการยอมรับมากขึ้น

ช่วงกลางของยุคเจ็ดศูนย์
การทำให้การโต้แย้งเป็นเรื่องที่ปกติธรรมดาหรือขั้นที่ห้าของปฏิบัติการทางวาทกรรม ระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายนี้ สามารถเห็นได้จาก

(1) ความพยายามที่จะทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยทำให้คนอเมริกันเกิดความเข้าใจในเรื่องการทำแท้ง และ

(2) การต่อต้านความเป็นปกติธรรมดาของการทำแท้งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีประเด็นรองที่เป็นตัวสนับสนุนหรือเป็นสนามในการปะทะข้อโต้แย้งดังกล่าว ได้แก่ ภาพของการทำแท้งที่เหมาะซึ่งปรากฏในโทรทัศน์ การวิจัยเกี่ยวกับเรื่องตัวอ่อนในครรภ์ ความเชื่อของสมาชิกโบสถ์ การตั้งคำถามถึงความสามารถในการดำรงอยู่ของตัวอ่อนเหล่านั้น และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการทำแท้ง

ความสามารถในการดำรงอยู่ของตัวอ่อน ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะในคดีที่ Dr.Kenneth Edelin ถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนโดยไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน การพิจารณาคดีสะเทือนอารมณ์ ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ Dr.Edelin ได้ช่วยทำแท้งให้กับผู้หญิง โดยทำการผ่าตัดมดลูกเพื่อเอาเด็กออก คดีดังกล่าวได้ทำให้วาทกรรมระหว่าง "ทางเลือก" และ "ชีวิต" กลายเป็นประเด็นที่ปะทะกันระหว่าง 2 ฝ่าย

นอกจากนั้นแล้ว การจัดตั้งกองทุนเพื่อการทำแท้งในที่สาธารณะก็ถูกมองว่าแฝงฝังไว้ด้วยเจตนาร้ายเช่นกัน แม้ว่าปฏิบัติการใช้เรื่องเล่าเพื่อสนับสนุนการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายจะทำให้เห็นภาพว่า การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพื่อป้องกันการลักลอบการทำแท้งเถื่อนที่มีราคาถูกกว่า อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งกองทุนของกลุ่มผู้สนับสนุนการทำแท้งนี้ได้ถูกย้อนรอยโดยกลุ่มคัดค้าน เนื่องจาก กลุ่มนี้ได้ออกมารณรงค์ให้ผู้ที่คัดค้านออกมาต่อต้านกองทุน หรือคัดค้านการให้งบสนับสนุนสำหรับกองทุนเพื่อการทำแท้งต่างๆ

ถึงแม้ว่าในยุค '70 นี้ การทำแท้งจะเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และเรื่องราวของการทำแท้งเถื่อนจะเป็นที่รับรู้โดยทั่วไป แต่ความขัดแย้งหลักในอุดมการณ์ระหว่าง "ชีวิต" กับ "ทางเลือก" ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้สนับสนุนการมีชีวิต (คัดค้านการปฏิรูปกฎหมายการทำแท้ง) ก็ได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในทุกวิถีทางที่จะจำกัดในเรื่องของเวลา สถานที่ เงินทุน และเงื่อนไขต่างๆที่เกี่ยวกับการทำแท้ง ดังนั้น ในขั้นที่หกของการโต้แย้งนี้ลักษณะของการคุมเชิง (stalemate) จึงได้เกิดขึ้น

ช่วงปลายของยุคเจ็ดศูนย์
ผู้สนับสนุนในทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะยืนยันข้อเรียกร้องของฝ่ายตน ผ่านทางวาทกรรมในรูปแบบต่างๆ อาทิ การใช้คำศัพท์เชิงสัญลักษณ์ เรื่องเล่า และลักษณะของการทำแท้ง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มที่สนับสนุนทางเลือก ได้อ้างว่าการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายนั้นเป็นการปกป้องชีวิต ชีวิตของผู้หญิง ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการมีชีวิตอ้างว่า ทางเลือกนั้นเป็นทางเลือกที่จะมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่ทางเลือกที่จะพรากชีวิต

การคุมเชิงนี้ยังเป็นช่วงแรกของการประนีประนอมของอุดมการณ์ทั้งสองฝ่าย และในขณะเดียวกันก็ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเข้าถึงผู้รับสารกลุ่มใหม่ อาทิ กลุ่มสนับสนุนการมีชีวิต (คัดค้านการออกกฎหมายทำแท้งเสรี) ได้พยายามหันมาเปลี่ยนแปลงกลุ่มเสรีนิยม ด้วยการใช้วาทกรรมเกี่ยวกับคำว่า "ชีวิต" และกลุ่มสนับสนุนการออกกฎหมายการทำแท้ง ก็พยายามเปลี่ยนใจพวกอนุรักษ์นิยมด้วยปฏิบัติการในรูปแบบต่างๆที่แสดงให้เห็นถึงราคาที่ต้องจ่าย และ "ปลอดจากการแทรกแซงของรัฐ"

ความพยายามเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดขั้นที่เจ็ดของการโต้แย้งขึ้น นั่นคือ การแตกเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย (fragmentation) เมื่ออุดมการณ์ของทั้งสองฝ่ายได้กลายมามีความหมายเดียว และค่อยๆหมดความกำกวมไปทีละน้อย ข้อโต้แย้งของฝ่ายที่สนับสนุนการมีชีวิตมีอยู่ 3 รูปแบบหลักด้วยกัน คือ

(1) กลุ่มแคทอลิคและเสรีนิยมโต้แย้งบนอุดมการณ์ของชีวิตและความเป็นมนุษย์
(2) กลุ่มหลักการนิยมและสิทธิมนุษย์ โต้แย้งจากอุดมการณ์ของครอบครัวและจากลักษณะของผู้หญิง บ้าน และเด็ก และ
(3) ทุกกลุ่มใช้ข้อโต้แย้งบนพื้นฐานของความรัก ซึ่งเรียกร้องให้ต้องเสียสละต่อผลประโยชน์ของตัวอ่อนที่ยังอยู่ในครรภ์

ส่วนข้อโต้แย้งของกลุ่มที่สนับสนุนอุดมการณ์ทางเลือก ได้แสดงให้เห็นสัญลักษณ์ของความ แตกต่าง อย่างไรก็ตาม ความต้องการที่จะควบคุมและปฏิเสธต่อการครอบงำของผู้ชายนั้นก็ยังคงมีอยู่ แต่ไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก อันเนื่องมาจากลักษณะของ "ทางเลือก" และ "เสรีภาพของปัจเจกชน" ซึ่งเป็นฐานรากของระเบียบใหม่นั้น ยังไม่มีลักษณะเป็นแบบรูปธรรมและมีความชัดเจน ขณะเดียวกัน ภายในกลุ่มก็ยังมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งและไม่ลงรอยกัน เนื่องจาก บางคนไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์รูปแบบ ครอบครัวแบบดั้งเดิม แต่บางคนต้องการแนวคิดใหม่ๆเกี่ยวกับคำว่าครอบครัว และบางคนต้องการปฏิเสธคำว่าครอบครัว

ในขั้นตอนของการแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยนี้ เป็นสัญลักษณ์ของรูปแบบการประนีประนอมกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความการตกลงร่วมกันนี้จะเป็นไปอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม การโต้แย้งได้ให้แนวทางใหม่ต่อความเข้าใจเกี่ยวกับ การทำแท้งทั้งในด้านที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนา จากบทบาทของมันในการปกป้องผู้หญิง ชีวิตของตัวอ่อนในครรภ์ และโครงสร้างของครอบครัวในสังคม

และในความเป็นจริงแล้วนั้น แม้ว่า จำนวนของผู้หญิงที่เข้ารับการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่ทัศนคติของสังคมที่ต่อต้านการทำแท้งดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่มากเช่นเดียวกัน

บทสรุป

ยี่สิบปีผ่านไป วาทกรรมการโต้แย้งระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายได้มาถึงจุดที่สามารถตกลงกันได้ในปี 1980 ปฏิบัติการทางวาทกรรมดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนทั้งหมด 7 ขั้นด้วยกัน ขั้นแรกนั้นเกิดขึ้นในแวดวงของฝ่ายวิชาชีพ แม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงในวงแคบๆ แต่ก็ส่งผลถึงปฏิบัติการโต้แย้งในที่สาธารณะ ต่อจากนั้นก็มาถึง ขั้นที่ 2 หรือปฏิบัติการทางวาทกรรมโดยการใช้เรื่องเล่า เรื่องราวที่น่าสะพรึงกลัวจากการทำแท้งที่ผิดกฎหมายหรือลักลอบทำแท้งเถื่อน

สำหรับขั้นที่ 3 เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และข้ออ่อนของการใช้เรื่องเล่า ทำให้ปฏิบัติการทางวาทกรรมในรูปแบบต่างๆเปลี่ยนมาใช้คำศัพท์เชิงสัญลักษณ์ โดยมุ่งเน้นมาที่วาทกรรม "การแบ่งแยก"

ในขั้นตอนที่ 4 กลุ่มสตรีนิยมได้หันมาใช้วาทกรรม "ทางเลือก" และในตอนกลางของยุค '70 ก็มาถึงขั้นตอนที่ 5 คือ การทำให้ทุกสิ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา และการต่อต้านการแทรกแซงตัวบทกฎหมาย ในขั้นที่ 6 หรือการคุมเชิงซึ่งกันและกันนั้น วาทกรรมของทั้ง 2 ฝ่ายถูกนำเสนอต่อที่สาธารณะ ในลักษณะของการเปรียบเทียบค่านิยมอุดมการณ์ซึ่งกันและกัน

และขั้นที่ 7 ขั้นสุดท้าย ข้อโต้แย้งของทั้งสองกลุ่มได้พุ่งเป้ามาที่กลุ่มเป้าหมายใหม่ หรือผู้รับสารของฝ่ายตรงกันข้าม และในการกระทำดังกล่าวนี้เองทำให้มาสู่ขั้นที่เรียกว่า "การแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย" ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์ใหม่ๆ-ได้รับการยอมรับ การทำแท้งเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย ผู้คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ "ทางเลือกของผู้หญิง" อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก สังคมยังคงถูกเหนี่ยวรั้งยึดตรึงไว้ด้วยค่านิยมเก่าๆอื่นๆ ทำให้ "ทางเลือก" ดังกล่าวนั้น ยังคงถูกจำกัดให้อยู่เพียงเรื่องของ "ชีวิต" และ "ครอบครัว" เท่านั้น

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




การโต้แย้งกันทางวาทกรรมเกี่ยวกับการสนับสนุนให้มีการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย และการต่อต้านการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกา

 

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ความแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนระหว่างแพทย์ผู้ทำแท้งให้ กับความแตกต่างระหว่างชนชั้นของผู้หญิงที่ทำแท้ง ผู้หญิงชนชั้นกลางระดับบนสามารถจะมีการทำแท้งที่ปลอดภัยได้จากหมอที่มีความสามารถ สามารถเดินทางไปทำแท้งได้ที่ภายนอกประเทศ เช่น คิวบา เม็กซิโก หรือเปอร์โตริโก หรืออาจจะให้หมอส่วนตัวมาทำแท้งให้ที่บ้าน ในขณะผู้หญิงที่ยากจนไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากจะต้องไปทำแท้งกับหมอเถื่อนเท่านั้น