มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้

midnight2545(at)yahoo.com

บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 405 หัวเรื่อง
วาทกรรมและอุดมคติในสื่อ
สมเกียรติ ตั้งนโม
สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



R
relate topic
150647
release date
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความฟรี ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - เชียงใหม่
H
บทความวิชาการเกี่ยวกับการวิเคราะห์เรื่องสื่อกับสังคม - media and society
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


บทความเกี่ยวกับเรื่องสื่อกับสังคม
การให้นิยามเกี่ยวกับคำว่าวาทกรรมและอุดมคติ
สมเกียรติ ตั้งนโม : แปลและเรียบเรียง
คณะวิจิตรศิลป์หาวิทยาลัยเชียงใหม่
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)

บทความชิ้นนี้แปลมาจากหนังสือเรื่อง Media and Society
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เขียนโดย Michael O' Shaughessy และ Jane Stadler
สำนักพิมพ์ Oxford University Press ปีที่พิมพ์ 2002

 


ความนำ
ศัพท์คำว่า"วาทกรรม"(discourse)และ"อุดมคติ"(ideology) ค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างมากในการพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องสื่อและการศึกษาด้านวัฒนธรรม มันเป็นศัพท์ที่มีความหมายสลับซับซ้อน ทั้งนี้เพราะ คำศัพท์ดังกล่าวได้บรรจุเอาความหมายที่เป็นไปได้หลายหลากเอาไว้ และสามารถได้รับการตีความได้ในหลายๆทาง

ตามที่มีการนำมาใช้ในผลงานของ Foucault และ Althusser ศัพท์พวกนี้มีอยู่ในเนื้อเรื่องของความเรียงเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงบทความและหนังสือ ซึ่งได้สร้างพื้นฐานทางทฤษฎีเกี่ยวกับการวิเคราะห์สื่อขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ยิ่งคุณอ่านมากเกี่ยวกับแนวความคิดเหล่านี้ คุณก็จะยิ่งเข้าใจได้ดีขึ้น ในที่นี้เราจะให้นิยามสั้นเกี่ยวกับคำว่า"วาทกรรม"เป็นอันดับแรก ซึ่งถูกใช้โดย Foucault และถัดจากนั้น เราจะให้ความสนใจลงไปที่คำว่า"อุดมติ"เป็นลำดับต่อไป

วาทกรรม (Discourse)
คนที่สนใจอ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องสื่อมาโดยตลอด(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทความที่เผยแพร่อยู่บนเว็ปไซค์แห่งนี้) คงได้พานพบกับศัพท์คำว่า"วาทกรรม"กันมาบ้างแล้ว ในความสัมพันธ์กับเรื่องของภาษา ดังที่ได้นำเสนอโดย John Fiske และในความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับการเล่าเรื่อง ซึ่งใช้แนวความคิดของ Colin MacCabe ในเรื่อง"ลำดับชั้นสูงต่ำของวาทกรรม"(hierarchy of discourse) และ"วาทกรรมที่ครอบงำ"(dominant discourse)

ความหมายซึ่งง่ายที่สุดของศัพท์คำนี้ก็คือ การพูดออกมาอย่างชัดเจน(articulation), สุ้มเสียงหรือการนำเสนอเกี่ยวกับความคิดเห็น

ปฏิบัติการดังกล่าวเกี่ยวกับการพูดออกมาอย่างชัดถ้อยชัดคำ ปกติแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา หรือการแลกเปลี่ยนกันทางความคิดต่างๆ ท่ามกลางผู้พูดหลายๆคนหรือกลุ่ม ด้วยเหตุดังนั้น "วาทกรรม" จึงเป็นกระบวนการหนึ่งของสังคมเกี่ยวกับการสร้างความหมาย

บันทึกลงไปด้วยว่า วาทกรรมต่างๆนั้นพบได้ในการนำเสนอของตำรับตำราทั้งหลาย และปฏิบัติการเกี่ยวกับการสื่อสารอื่นๆ เช่นเดียวกับในการพูดคุยกัน โดยแบบฉบับแล้ว ศัพท์คำว่า"วาทกรรม"อ้างอิงถึงการสนทนากันรวมๆ หรือความสัมพันธ์ของความหมายและความคิดต่างๆ ซึ่งวนเวียนอยู่รายรอบเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งโดยเฉพาะ, เป็นการก่อรูปโดยรวมการแสดงออกที่แตกต่างกันเหล่านี้ และกรณีตัวอย่างของการสื่อสาร

ทฤษฎีเกี่ยวกับวาทกรรมของ Foucault คือว่า สังคมทั้งหลายมีแนวโน้มที่จะเชื่อมหรือรวมลำดับการอันหนึ่งของสุ้มเสียงต่างๆ, ไอเดียหรือความคิด, และความเชื่อเข้ามาสู่คำอธิบายโดยสรุป ที่ได้ให้วิธีการต่างๆเกี่ยวกับการทำความเข้าใจโลก(Fiske 1987, pp.14-15) ไม่ว่าสังคมใดๆก็ตาม จะมีวาทกรรมอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมันได้ให้ความหมายเกี่ยวกับโลก

Foucault ได้ใช้แง่คิดเกี่ยวกับวาทกรรมเพื่อสำรวจว่า สังคมต่างๆทำความเข้าใจและสร้างความหมายเกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างไร, รวมไปถึงเรื่องความบ้า, และอาชญากรรม (Rabinow 1984; Foucault 1981; Fillingham 1995)

เขาให้เหตุผลว่า ลำดับการเกี่ยวกับวิธีคิดอันหนึ่ง(คำอธิบาย)ได้ถูกนำมาเชื่อมร้อยเข้าด้วยกันเพื่อสร้างความหมายเกี่ยวกับพื้นที่ต่างๆเหล่านี้ และคำอธิบายนั้นสามารถและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา. ในความสัมพันธ์กับอาชญากรรมและการก่ออาชญากรรม เป็นตัวอย่าง เขาได้สำรวจดูว่า วาทกรรมทางการแพทย์, กฎหมาย, ศาสนา, และศีลธรรม, ได้นิยามการก่ออาชญากรรม และความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมอย่างไร และได้เสนอวิธีการต่างๆกับการไปเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร

"วาทกรรมทางการแพทย์" ได้นิยามอาชญากรรม ในเทอมต่างๆของการเจ็บป่วยหรือการมีสุขภาพดี และถ้าเพื่อว่าพวกมันถูกเข้าใจว่าเป็นความเจ็บป่วย หากเป็นเช่นนั้น พวกมันก็ต้องการการบำบัดรักษาและพักฟื้นให้คืนสู่สภาพปกติ

"วาทกรรมทางศาสนาและศีลธรรม" ได้นิยามอาชญากรรมต่างๆในเทอมของความดีและความชั่ว
ซึ่งสมควรจะได้รับรางวัลและการลงโทษ และ

"วาทกรรมทางกฎหมาย" ได้นิยามอาชญากรรมในฐานะที่เป็นอันตรายอย่างหนึ่งต่อคนอื่นๆ และเกี่ยวพันกับการปกปักรักษาความปลอดภัยและทรัพย์สินของผู้คน จึงได้มีการกำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติที่จะจัดการและปกป้องอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ด้วยเหตุนี้ เราสามารถที่จะเห็นถึงวิธีการปฏิบัติที่เป็นไปได้ 3 ประการ สำหรับเรื่องของอาชญากรรม ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนวาทกรรมทั้งสามอย่าง สำหรับการทำความเข้าใจการกระทำของบรรดาอาชญากร นั่นคือ การฟื้นฟูต่างๆหรือการบำบัดรักษาความป่วยไข้ของพวกเขา, การลงโทษ (ซึ่งอาจมีหลากหลายรูปแบบ) สำหรับการกระทำอันชั่วช้าของพวกเขา, และรูปแบบบางอย่างของการควบคุม (ยกตัวอย่างเช่น การตัดแขนตัดขา หรือการจับกุมคุมขัง) เพื่อปกป้องการก่ออาชญากรรมต่อๆไป

ในภาพยนตร์เรื่อง Dead Man Walking, ดาราภาพยนตร์ Sean Penn ได้แสดงบทบาทเป็นอาชญากรที่ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต โดยการฉีดยาให้ถึงแก่ความตาย ในฐานะที่เป็นการลงโทษสำหรับการข่มขืนและกระทำฆาตกรรม. Susan Sarandon ได้รับเลือกให้แสดงเป็นแม่ชี ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางจิตวิญญาน และแสวงหาหนทางที่จะฟื้นฟูเขา เพื่อเป็นการไถ่บาปทางวิญญานให้กับเขา

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ วาทกรรมทางศาสนาได้ถูกนำมาเชื่อมโยงเพื่อทำการฟื้นฟู ส่วนวาทกรรมทางการแพทย์ได้ถูกมาเชื่อมโยง โดยทำหน้าที่จัดการเรื่องเกี่ยวกับการลงทัณฑ์ และวาทกรรมทางกฎหมายได้รับการนำมาผูกกับแง่มุมการจับกุมคุมขังตัวนักโทษ ในฐานะที่เป็นเรื่องของหลักการทางด้านนิติศาสตร์และหลักการทางด้านรัฐศาสตร์

แต่ละวาทกรรมเหล่านี้ได้รับการทำให้เป็นแนวคิดขึ้นมาโดยคำสนทนาต่างๆ ซึ่งความคิดทั้งหลายเหล่านั้นได้ไปเชื่อมโยงกับเรื่องทางการแพทย์, กฎหมาย, และศาสนา, กับคนคุกซึ่งได้รับการแสดงออกอย่างชัดเจนและแพร่กระจายอยู่ในสังคม

ไอเดียต่างๆเหล่านี้ได้รับการแสดงออกในการสนทนาระหว่างผู้คน อย่างเช่น ท่ามกลางตัวละครที่แสดงโดย Sarandon และ Penn, และระหว่างสมาชิกผู้ดู ภายหลังจากที่พวกเขาดูภาพยนตร์เรื่องนี้จบลงแล้ว อาทิเช่น เนื้อหาภาพยตร์ในตัวมันเอง และในกฎหมายที่ถูกเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งห้ามไม่ให้มีการลงโทษถึงตาย

อุดมคติ (Ideology)
ขอให้เรามาเริ่มต้นกันตรงที่การให้นิยามความหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้กันสองข้อ นิยามความหมายแรกเป็นนิยามร่วมกันระดับสามัญสำนึก ที่คุณอาจจะคุ้นเคยจากหนังสือพิมพ์ รายงานข่าวทางโทรทัศน์ และเรื่องราวเหตุการณ์ทั่วๆไป แต่สำหรับเหตุผลที่เสนอเป็นข้อๆข้างล่างต่อไปนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่เราทั้งหลายยึดมั่นเท่าใดนัก

1. นิยามความหมายระดับสามัญสำนึกเกี่ยวกับอุดมคติ
(The common-sense definition of ideology)

"อุดมคติ" คือ ชุดหนึ่งของหลักการกฎเกณฑ์ที่รอบคอบสุขุม, มีลักษณะเชื่อมโยง, มีความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งปกติแล้วคือความคิดทางการเมืองต่างๆที่ถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นหนทางอันหนึ่งของการนิยามและทำความเข้าใจว่า สังคมสามารถที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นองค์ระบบได้อย่างไร

เมื่อใช้ในหนทางนี้ "อุดมคติ" ปกติแล้วถูกใช้ในลักษณะที่ไม่ค่อยมีคนเห็นด้วย บางทีดูถูก ใส่ร้ายป้ายสี และปรามผู้คน ซึ่งความคิดต่างๆของพวกเขาถูกอ้างอิงถึง การใช้ในกรณีดังกล่าวนี้ทึกทักว่า อุดมคติต่างๆในบางความหมาย มักจะมีความผิดพลาดมาตั้งแต่แรกและมีมลทิน เพราะพวกมันไม่เป็นความจริง (นั่นคือ ไม่อาจที่จะบรรลุถึงได้) หรือเป็นเพราะพวกมันไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง

ยกตัวอย่างเช่น มันเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้คน ที่จะอธิบายปรัชญาทางการเมืองและความเชื่อเกี่ยวกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ในฐานะที่เป็นอุดมคติของพรรคนั้นๆ - เช่น อุดมคติเกี่ยวกับเสรีภาพ, อุดมคติเกี่ยวกับ"แรงงานใหม่", อุดมคติสังคมนิยม, อุดมคติฟาสซิสท์, และอื่นๆ

อันนี้สามารถถูกทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาใน"Howard ideology" หรือ อุดมคติของนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย, "Blairite ideology" อุดมคติของนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบัน, "Tratcherite ideology" อุดมคติของนายกรัฐมนตรีของอังกฤษคนที่แล้ว, และอื่นๆ

ความเชื่อทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเหล่านี้ ถูกมองในฐานะที่มีมลทินหรือข้อตำหนิในเรื่องที่ว่าพวกมัน ไม่เหมาะสมกับความเป็นจริงนั่นเอง. ในบริบทดังกล่าว การอธิบายว่าใครบางคนได้ดำเนินรอยตามอุดมคติอันใดอันหนึ่ง คือการเสนอว่า ทัศนะต่างๆของพวกเขาไม่เป็นความจริง, ตายตัว, และมีลักษณะที่เป็นหลักการที่ไร้ข้อพิสูจน์ ซึ่งคนๆนั้นมักจะพยายามที่จะสร้างความจริงขึ้นมาให้เหมาะกับความเชื่อที่เป็นอุดมคติของพวกเขา

เพราะว่านิยามอันนี้ค่อนข้างกว้างมาก เป็นไปได้ที่คุณเองอาจจะมีทัศนะในเชิงลบอยู่แล้วเกี่ยวกับคำว่า"อุดมคติ"ต่างๆเหล่านั้นว่าคืออะไร มีความเป็นไปได้ซึ่งคุณอาจมองพวกมันในฐานะที่เป็นความผิดพลาด เป็นความเชื่อที่ไร้ข้อพิสูจน์ และเป็นระบบคิดที่ตายตัวแข็งทื่อมากจนเกินไป ซึ่งบรรดานักการเมืองทั้งหลายพยายามที่จะบังคับยัดเยียดให้กับผู้คน

คำนิยามนี้ไม่ช่วยอะไรสำหรับการศึกษาทางด้านสื่อมากนัก เพราะมันบอกเลิกหรือไม่ยอมพิจารณาเรื่องของอุดมคติต่างๆ โดยไม่เบื่อหน่ายที่จะตั้งคำถามว่า แล้วพวกมันทำงานอย่างไรล่ะ?

ในทางตรงข้าม นิยามความหมายที่สองที่นำมาเสนอข้างล่างไม่ได้ใช้ในเทอมต่างๆของลักษณะการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย; มันไม่ได้มองความเชื่อต่างๆในเชิงอุดมคติในฐานะที่เป็นความผิดพลาด แต่ค่อนข้างจะนิยามอุดมคติในหนทางหนึ่งซึ่งยินยอมให้มันผลิตความเข้าใจที่ชัดแจ้งว่าเราและสังคมเราทำงานอย่างไร

2. นิยามความหมายของอุดมคติที่เป็นประโยชน์กว่า
(A more useful definition of ideology)

อุดมคติเป็นชุดหนึ่งของค่านิยมต่างๆของสังคม ความเชื่อ ความรู้สึก การนำเสนอ และสถาบันต่างๆ ซึ่งผู้คนได้สร้างความหมายเกี่ยวกับโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่

มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะพูดเกี่ยวกับนิยามความหมายอันนี้ (อีกประการหนึ่ง มันยังทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นนิยามความหมายซึ่งใช้ได้กับ"วาทกรรม"ด้วย) ศัพท์คำว่า"อุดมคติ"สัมพันธ์กับข้อสรุปของความรู้ รวมไปถึงข้อมูลและปฏิบัติการชุดหนึ่ง ที่ถูกทำให้เป็นธรรมชาติในขอบเขตที่พวกมันได้ก่อรูปทัศนะที่ยอมรับกัน โดยไม่ต้องพิสูจน์เกี่ยวกับวิธีการที่โลกทำงานและเป็นไปต่างๆ

อะไรที่เราหมายถึง"การสร้างความหมายเกี่ยวกับโลก"?
ทุกๆคนมีค่านิยม, ความเชื่อ, และความรู้สึกต่างๆอยู่ชุดหนึ่ง ที่สร้างความหมายแก่ตัวของพวกเขา และทำให้พวกเขาสามารถที่จะมีบทบาทหน้าที่ในโลกใบนี้. อะไรก็ตามที่เราทำ - ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินให้กับการกุศล, การตกปลาเพื่อการแข่งขัน, การเชื้อเชิญใครสักคนไปดูคอนเสริท, หรือการนั่งดูทีวี - สิ่งเหล่านี้มันไม่เพียงสร้างความหมายให้กับเราในบางหนทางเท่านั้น แต่มันยังเป็นการประกาศหรือแสดงออกถึงวิธีการที่เราสร้างความหมายเกี่ยวกับโลกของเราด้วย

การกระทำต่างๆเหล่านี้ เกิดขึ้นมาจากทัศนะของเราที่มีต่อโลก และพวกมันแสดงถึงค่านิยมต่างๆ, ความเชื่อ, และความรู้สึกของเรา, มันเพิ่มเติมหรือให้รายละเอียดข้อเท็จจริงที่เราเชื่อว่า มันสร้างความหมายและให้การช่วยเหลือคนที่โชคดีน้อยกว่าเรา หรือการแข่งขันกับคนอื่นๆเพื่อที่จะเป็นผู้ประสบความสำเร็จ, หรือเพื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์โดยการมีนัดไปดูคอนเสริท มากกว่าการมุ่งไปถึงเรื่องของการแต่งงาน

นับตั้งแต่วิธีการที่เราประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของเรา มันคือปฏิบัติการทางสังคมอย่างหนึ่งในการเชื่อมโยงเราเข้าด้วยกัน อันนี้เน้นว่า คนทั้งหลายได้สร้างความหมายเกี่ยวกับโลกขึ้นมาร่วมกัน

ในทุกๆคนต่างมีส่วนร่วมปันในเรื่องค่านิยม ความเชื่อ และความรู้สึกต่างๆ ที่มาครอบงำการกระทำและความเป็นอยู่ร่วมกันของผู้คน สถาบันต่างๆ อย่างเช่น โรงเรียน และโทรทัศน์ ได้ให้การสนับสนุนเรื่องต่างๆเหล่านี้ ทั้งนี้เพราะพวกมันได้จัดให้มีฟอรัมหรือพื้นที่สาธารณะที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสนทนากันอย่างกว้างขวางสำหรับปัจเจกชนทั้งหลายขึ้น เพื่อรับรู้และยอมรับข้อมูลข่าวสารในอย่างเดียวกัน

ถ้าเผื่อว่า อุดมคติอันหนึ่งมีผลกระทบทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ มันก็จะต้องถูกปันส่วนและเห็นพ้องจากกลุ่มของผู้คนขนาดใหญ่ด้วย อันนี้คือเหตุผลที่ว่า ทำไมสื่อสารมวลชนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสื่อสารและเพิ่มพลังให้กับอุดมคติต่างๆ

ณ ช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดและความสับสนอลหม่าน อุดมคติส่วนตัวของเราอาจถูกท้าทาย และอาจเปลี่ยนแปลงไป ดังที่เราพบว่ามันไม่ได้มีความหมายสำหรับเราอีกต่อไปแล้วที่จะแบกมันไปในหนทางนั้น ถ้าเผื่อว่าคนรักของเราตายจากไป หรือเรามีลูกเล็กๆคนหนึ่ง หรือเราสูญเสียงานที่ทำอยู่ หรือพบกับการหย่าร้าง หรือต้องประสบกับหายนภัยที่บังเกิดขึ้นต่อชุมชนของเรา เราอาจพบว่ามันไม่มีความหมายอีกต่อไป ที่จะชักนำการมีชีวิตอยู่ของเราไปในหนทางที่เราเคยเป็น

ณ จุดนั้น อุดมคติของเรากำลังได้รับการท้าทาย ถ้าหากว่าเราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเรา เราก็จะค้นพบรูปแบบใหม่อันหนึ่ง เกี่ยวกับปฏิบัติการทางสังคมที่มีความหมายขึ้นมาอีกครั้งสำหรับเรา เราจะค้นพบคุณค่าชุดใหม่อันหนึ่ง ความเชื่อและความรู้สึกต่างๆ ซึ่งเป็นอุดมคติใหม่

ความเชื่อและความรู้สึกเป็นสิ่งสำคัญต่ออุดมคติต่างๆ
Beliefs and feelings are important in ideologies
นิยามความหมายข้อที่สองนี้ คล้ายคลึงกับข้อแรกตรงที่ทั้งคู่เสนอแนะว่า อุดมคติต่างๆคือชุดหนึ่งของความคิดที่อธิบายว่า สังคมทำงานอย่างไร ซึ่งมันมีความหมายเกี่ยวกับโลก แต่นิยามความหมายในอย่างที่สองนี้ มันได้เพิ่มเติมอะไรเข้ามามากขึ้น กล่าวคือ มันได้เน้นถึงความเชื่อและความรู้สึกต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่ออุดมคติทั้งหลาย อันนี้ได้ดึงเราออกมาจากอาณาจักรแห่งเหตุผลและความสำนึกอันบริสุทธิ์

ในขณะที่นิยามความหมายแรกได้เน้นที่ความมีเหตุมีผลอันรอบคอบสุขุม นิยามความหมายอย่างที่สองเสนอว่า "อุดมคติทั้งหลายของผู้คนได้ถูกเชื่อมโยงกับหัวใจ เช่นเดียวกับสมองของพวกเขา" และอุดมคติทั้งหลายเหล่านี้ มันจึงไม่ถูกคิดพิจารณาหรือไตร่ตรองอย่างรอบคอบและมีสำนึก มันเสนอว่า พวกเขากระทำการในระดับของสิ่งที่ Louis Althusser เรียกว่า "ความสำนึกที่ไร้สำนึก"(unconscious consciousness)

อันนี้คือแนวคิดที่เป็นประโยชน์มาก เราในฐานะมนุษย์ ได้กระทำการในสิ่งต่างๆมากมายโดยปราศจากสำนึกเกี่ยวกับแรงกระตุ้นทั้งหลาย เราไม่ได้คิดอย่างรอบคอบเกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังกระทำเสมอๆ; เราทำโน่นทำนี่โดยผ่านอุปนิสัยหรือความเคยชินที่เรียนรู้มา. อันนี้เป็นที่ชัดเจนในกรณีต่างๆของมอเตอร์ทักษะหรือเครื่องจักรความชำนาญต่างๆ อย่างเช่น การเดินและการขับรถยนต์ ซึ่งได้รับการเรียนรู้และเรากระทำไปโดยปราศจากการคิดถึงสิ่งที่เรากำลังทำอยู่

แต่การกระทำทั้งหลายที่ปฏิบัติโดยแรงกระตุ้นที่ไร้สำนึก ไม่ได้เป็นเพียงปฏิบัติการ ณ ระดับกายภาพของเครื่องจักรความชำนาญนี้เท่านั้น จำนวนมากของการกระทำทางสังคมของเราได้รับการกระตุ้นด้วยความเชื่อ ความรู้สึก และค่านิยมต่างๆ และได้ถูกปฏิบัติการโดยแรงกระตุ้นอันไร้สำนึกนี้

มีตัวอย่างง่ายๆธรรมดาๆอยู่คู่หนึ่งซึ่งสาธิตถึงเรื่องเหล่านี้ได้ นั่นคือ มีอะไรเกิดขึ้นเมื่อคุณและใครคนหนึ่งซึ่งเป็นเพศตรงข้ามได้มาถึงประตูพร้อมกัน? ใครจะเป็นคนที่ผ่านประตูนั้นเข้าไปก่อนเป็นคนแรก? คุณจะเปิดประตูให้กับอีกคนหนึ่ง หรือว่าจะเชื้อเชิญคนๆนั้นเข้าไปก่อน? หรือว่าคุณจะตัดหน้าอีกคนหนึ่งทันที? ลองจ้องมองคนอื่นและตัวคุณเองในสถานการณ์นี้ดู

เราเสนอว่า ปกติแล้ว คุณจะกระทำในสิ่งที่คุณทำโดยปราศจากความคิดที่มีสำนึกอะไรมากมายนัก แต่ทว่าเบื้องหลังทางเลือกที่คุณตัดสินใจทำ มันวางนอนอยู่ในอุดมคติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเพศสภาพ. มันเป็นความเป็นไปได้ต่างๆจำนวนหนึ่ง:

ประการแรก ผู้ชายที่จับลูกบิดประตูจะเปิดประตูให้กับผู้หญิงเพื่อให้เธอผ่านเข้าไป
ประการที่สอง ผู้ชายจะเปิดประตูให้ผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงคนนั้นจะร้องเชิญผู้ชายให้เข้าไป
ประการที่สาม ผู้ชายที่เดินมายังประตู จะก้าวเท้าของตนเองให้ช้าลงเล็กน้อย เพื่อให้ผู้หญิงซึ่งกำลังเดินย่ำมาให้ไปถึงประตูก่อน และผ่านประตูเข้าไปข้างในเป็นคนแรก
ประการที่สี่ ผู้หญิงจะเปิดประตูให้ผู้ชาย และอื่นๆ

วิธีปฏิบัติโดยจารีตจะให้ผู้หญิงไปก่อน ลำดับเหตุการณ์ใดๆก็ตามที่สร้างผลลัพธ์อันนี้ขึ้นมา จะเข้ากันได้กับอุดมคติแบบจารีต ส่วนลำดับต่อมาเป็นการตีความที่ต่างออกไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ในกรณีต่างๆเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงเพศสภาพ นั่นคือ มันแสดงให้เห็นว่า ผู้ชายเคารพและแตกต่างจากผู้หญิง และได้สร้างการยอมรับอันหนึ่งขึ้นมาว่า ผู้หญิงเป็นคนที่เหนือกว่า

หรือมันแสดงว่าผู้ชายทั้งหลายปฏิบัติกับผู้หญิงในฐานะที่ด้อยและอ่อนแอกว่า ซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากผู้ชายสำหรับกิจกรรมอันนี้

หรือมันเสนอว่า แม้ผู้หญิงจะมาถึงประตูเป็นคนแรก แต่ผู้ชายเป็นคนที่ควบคุมการกระทำโดยผ่านการเปิดประตูบานนั้น ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของผู้ชาย

หรือผู้ชายทั้งหลายที่เปิดประตูให้กับผู้หญิง กำลังส่งผู้หญิงให้เข้าไปสู่สภาพแวดล้อมนั้นๆเป็นคนแรก เพื่อว่าผู้หญิงจะได้ทำให้บรรยากาศเชิงสังคมเป็นไปอย่างสบายๆสำหรับพวกเขา เพราะมันจะทำให้ผู้ชายรู้สึกตื่นกลัวเกี่ยวกับทักษะในด้านสังคมของพวกเขาน้อยลง อันนี้คือขนบธรรมเนียมที่ได้รับการบอกเล่าถึงหลักเกณฑ์ต่างๆในสมัยกลางเกี่ยวกับพฤติกรรมของพวกอัศวิน

ทัศนะเหล่านี้ส่วนใหญ่เสนอว่า ผู้ชายเป็นคนควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้น ในขณะที่คำอธิบายเหล่านี้ยินยอมให้มีความเป็นไปได้ที่ว่า ผู้หญิงอาจกระทำการในเชิงบวกซึ่งได้ก้าวมาถึงที่ประตูก่อนเป็นคนแรก และพอใจที่จะแสดงการให้เกียรติ นอกจากนี้ เหตุการณ์ข้างต้นยังสามารถที่จะได้รับการมองโดยรวมทั้งหมดในฐานะการแบ่งแยกหรือมีอคติทางเพศ ในด้านที่มีการให้ความยอมรับความนึกคิดเกี่ยวกับอำนาจของผู้ชาย สำหรับผู้คนต้องการท้าทายพฤติกรรมนั้น สามารถที่จะทำลายขนบธรรมเนียมดังกล่าวลงได้โดยเจตนา ด้วยการที่ผู้หญิงรั้งรอให้ผู้ชายผ่านประตูเข้าไปก่อนเป็นคนแรก

อันนี้อาจดูเหมือนว่าเป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กๆน้อยๆ กระนั้นก็ตาม มันเป็นแง่มุมอันหนึ่งของชีวิตประจำวันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างๆในเชิงเพศสภาพ ประเด็นของเราคือว่า ในความสัมพันธ์กับพื้นที่ต่างๆของชีวิตจำนวนมาก ผู้คนทั้งหลายต่างกระทำการในระดับของความสำนึกที่ไร้สำนึกนี้ พวกเขากระทำสิ่งต่างๆโดยปราศจากการคิดถึงเรื่องของแรงกระตุ้นทั้งหลายของพวกเขา

ในโอกาสต่อไปที่คุณมาถึงประตูกับคนที่มีเพศตรงข้ามกับคุณ คุณจะตระหนักหรือสำนึกถึงสิ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้น อันนี้ได้แสดงภาพประกอบให้คุณเห็นถึงแนวคิดเกี่ยวกับความสำนึกที่ไร้สำนึก และจะสนับสนุนให้คุณสะท้อนถึงอุดมคติต่างๆเกี่ยวกับเพศสภาพ และความสัมพันธ์ทั้งหลายที่แสดงนัยะในการกระทำนั้นๆ มันอาจทำให้คุณสงสัยว่าจะทำอย่างไรต่อไป!

ขณะที่ตัวอย่างที่สอง ให้เรามาลองพิจารณากันถึงว่า บรรดานักศึกษาทั้งหลายครอบครองพื้นที่ในห้องเรียนกันอย่างไร ข้าพเจ้าเสนอว่า ผู้คนทั้งหลายเลือกว่าจะนั่งตรงไหนในห้องบรรยายในระดับความสำนึกที่ไร้สำนึก และแบบแผนต่างๆดังกล่าวนั้น ปรากฎขึ้นมาโดยมีความสัมพันธ์กับอุดมคติเกี่ยวกับเพศสภาพในเรื่องพื้นที่และการศึกษา

ข้าพเจ้าได้สำรวจดูถึง บรรดานักศึกษาทั้งหลายที่เข้ามาฟังคำบรรยายของข้าพเจ้า ณ ช่วงเวลาหนึ่ง และสังเกตว่า

นักศึกษาหญิง มีแนวโน้มที่พวกเธอจะนั่งในตำแหน่งต่างๆดังต่อไปนี้: ใกล้ๆหน้าชั้นเรียน, ถัดจากคนหรือสองคนมา, หรือช่วงกลางของแถวที่นั่ง

ในทางตรงข้าม นักศึกษาชาย มีแนวโน้มที่จะนั่งในตำแหน่งต่อไปนี้: นั่งข้างหลังห้อง, ที่ของตัวเอง, ต่อจากคนอื่น, และนั่งที่ปลายแถวที่นั่งหรือริมๆ

ทำไมความแตกต่างเหล่านี้จึงมีอยู่ และพวกเขาสัมพันธ์กับอุดมคติเพศสภาพเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่และการศึกษากันอย่างไร

หมายเหตุประการแรก ผลลัพธ์ทั้งหลายดังกล่าวอาจแตกต่างไป ดังที่ข้าพเจ้าเคยสำรวจการสอนของอาจารย์ผู้สอนที่เป็นผู้หญิง เพศสภาพของผู้บรรยายอาจมีความสำคัญต่อการผันแปรในสถานการณ์อันนั้น ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขหรือปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่น มันน่าสนุกสนานแค่ไหน, น่าสนใจมากเท่าไหร่, หรือน่าเบื่อ, หรือความน่าดึงดูดใจของตัวผู้บรรยายเอง

ข้าพเจ้าคิดว่าประเด็นทั้งหลายต่อไปนี้ บอกอะไรกับเราได้. โดยการนั่งอยู่ที่หลังห้อง ผู้ชายสามารถที่จะกวาดตาดูทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุดังนั้น จึงได้รับความรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว(และเพราะว่ามีอำนาจเหนือกว่า). การนั่งอยู่ที่หลังห้องสามารถทำให้พวกเขามีระยะห่าง(distant)หรือแยกห่างจากคนที่มีอำนาจ(อาจารย์) ซึ่งนั่นหมายความว่า พวกเขาจะถูกสังเกตโดยผู้สอนได้น้อยลง และด้วยเหตุนี้ จึงมีอิสรภาพมากกว่าที่จะทำอะไรตามที่พวกเขาต้องการ

ในวิธีการดังกล่าวข้างต้น พวกเขาเอาชนะพื้นที่อันหนึ่งเกี่ยวกับความมีอิสรภาพและเป็นตัวของตัวเองภายในระบบของผู้มีอำนาจและการควบคุม พวกเขากำลังต่อต้านอำนาจและหน้าที่. พวกเขากำลังดำเนินรอยตามแบบฉบับของผู้ชายที่มีความปรารถนาที่จะควบคุมเหนือสถานการณ์ต่างๆในระดับหนึ่ง เป็นไปได้ เพราะผู้ชาย บ่อยครั้ง ถูกทำให้ต้องแข่งขันในเชิงสังคม

พวกเขากำลังใช้ที่นั่งในฐานะที่เป็นวิธีการหนึ่งเกี่ยวกับการปกป้องตัวของพวกเขาเอง

แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้งผู้ชายก็นั่งอยู่แถวหน้าของผู้หญิง ทั้งนี้เพราะตำแหน่งดังกล่าวทำให้เรียนรู้ได้ดีกว่า โดยการนั่งใกล้ผู้ให้ความรู้มากกว่า หรือได้รับการสนับสนุนจากครูบาอาจารย์, หรือปรับตัวให้ลงรอยและเข้าสู่เส้นชัยของการเป็นคนเรียนดี

ในแบบแผนต่างๆในเชิงที่ขัดแย้งหรือตรงข้าม เราได้พบผู้ชายและผู้หญิงที่เข้ากันได้กับพฤติกรรมเกี่ยวกับเพศสภาพในการเรียนรู้: เด็กผู้ชายได้รับการกระตุ้น สนับสนุนให้กบฎต่างๆ เพื่อท้าทายอำนาจ และทำงงานอย่างอิสระเกี่ยวกับมัน; ส่วนเด็กผู้หญิงได้รับการกระตุ้นให้มองดูตัวของพวกเธอเอง ในฐานะผู้ที่รู้จักปรับตัวให้สอดคล้อง, ชอบเข้าสังคม, ชอบช่วยเหลือ, และเป็นคนดีตามขนบประเพณี

ความดี/เลว ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกันนี้สามารถย้อนหลังกลับไปได้ ให้คิดถึงบทเพลงของพวกเด็กๆซึ่งเป็นนิยมร้องกันดังต่อไปนี้ ที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกับ"อุดมคติ"เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของเพศสภาพ:

"เครื่องเทศและน้ำตาล รวมถึงทุกๆสิ่งล้วนดีเลิศ นั่นคือสิ่งที่เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆได้รับการสร้างขึ้น
ส่วนตัวบุ้งและหอยทาก รวมทั้งหางของลูกสุนัข คือสิ่งที่เด็กผู้ชายทั้งหลายถูกสร้างขึ้น"

ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายต่างๆเรียนรู้มาตั้งแต่เล็กๆว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้องสำหรับพฤติกรรมของชายและหญิง และอะไรคือพื้นที่ที่ถูกต้องของผู้ชายและผู้หญิง. เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกันโดยตรง และเพื่อที่จะไม่ต้องประนีประนอมในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา พวกเขามีแนวโน้มที่จะหลีกหนีการยึดครองพื้นที่ของอีกเพศหนึ่ง และจะละเว้นพฤติกรรมที่เข้ากันได้กับแบบแผนต่างๆที่ได้รับการคาดหวังของเพศตรงข้าม

ในความสัมพันธ์กับเรื่องพื้นที่ ในกรณีต่างๆเกี่ยวกับว่า ใครนั่งใกล้และไกลจากคนอื่น ข้าพเจ้าสังเกตว่า ผู้ชายมักจะรักษาระยะห่างทางกายภาพจากคนอื่นๆ. อันนี้เป็นเพราะพวกเขาปกป้องความเป็นอิสระในตัวของพวกเขาเอง และเป็นเพราะว่า พวกเขาอาจจะอดทนเกี่ยวกับการสัมผัสทางกายภาพอย่างใกล้ชิดได้น้อยกว่าผู้หญิง

ปกติแล้ว เด็กผู้ชายได้รับการให้ความรักหรือความเสน่หาทางกายน้อยกว่าเด็กผู้หญิง และพวกเขาอาจเชื่อมโยงกายสัมผัสกับเรื่องเพศ และมีความขัดแย้ง(ต่อสู้)กับการปลอบโยนและความใกล้ชิดมากกว่า. บ่อยครั้ง ผู้หญิงจะประสบกับการสัมผัสทางกายอย่างใกล้ชิดได้ง่าย, รู้สึกสบายกว่า, และโฟกัสไปที่เรื่องเพศน้อย

นอกจากนี้ ก็มีเรื่องต้องห้ามทางเพศในมิตรภาพของผู้หญิงที่เป็นเพศเดียวกันน้อยกว่ามิตรภาพของผู้ชายที่ดำรงสถานะเพศเดียวกัน

ท้ายที่สุด เงื่อนไขหรือปัจจัยเกี่ยวกับความปลอดภัย อาจกระตุ้นสนับสนุนผู้หญิงให้รวมกลุ่มกัน การแยกตัวหรือการอยู่ลำพังคนเดียวในพื้นที่สาธารณะของพวกเธอ อาจทำให้พวกเธอตกเป็นเป้าหมายของการรังควาญหรือกวนใจ การอยู่รวมกันนำมาซึ่งความปลอดภัยกว่าโดยผ่านเรื่องของจำนวน

ข้าพเจ้ากำลังเสนอว่า โดยผ่านตัวอย่างอันนี้เกี่ยวกับพื้นที่เพศสภาพ(gender space)ในห้องบรรยาย พฤติกรรมที่ได้เรียนรู้นั้น ประสบการณ์ในอดีต และแบบแผนที่เป็นรูปแบบทัศนคติตายตัวทางเพศต่างๆ(sexual stereotyping form patterns) นั่นคือสิ่งที่ถูกทำให้ฝังลึกอยู่ภายในของผู้คน ทางเลือกของเราเกี่ยวกับว่าจะนั่งที่ตรงไหน ได้สะท้อนถึงแง่มุมต่างๆเกี่ยวกับอุดมคติของการศึกษาและพื้นที่. ทางเลือกเหล่านั้นที่เราเลือกว่าจะนั่งลงที่ใด จะได้รับการตัดสินใจมาจากจิตในระดับที่ไร้สำนึก ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งเกี่ยวกับอุดมคติของเรา วิธีการของเราเกี่ยวกับการสร้างความหมายเกี่ยวกับโลก

ขอได้โปรดหมายเหตุลงไปด้วยว่า ประเด็นที่ข้าพเจ้าได้นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องทางสังคมและอุดมคติทั้งหลายข้างต้น มิได้ใช้กับทุกๆคน อันนี้มิได้ถูกกำหนดตายตัวเช่นนั้นตลอดเวลา อุดมคติต่างๆเกี่ยวกับความเป็นหญิงและความเป็นชายมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคมและยุคสมัย

ให้ลองพิจารณาคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับอุดมคติทางการศึกษาและทางด้านพื้นที่ โดยการทดลองสังเกตเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ ซึ่งถูกกระทำโดยผู้ชายและผู้หญิงในพื้นที่ต่างๆ เช่น โรงหนัง โรงละคร บนท้องถนน การสัญจรหรือไปๆมาๆบนพื้นที่สาธารณะ และอื่นๆ

ข้าพเจ้ายังหมายเหตุถึงแนวโน้มเรื่องของการใช้พื้นที่เกี่ยวกับที่นั่งอื่นๆด้วยอีกสองประการ

ประการแรก คือ นักศึกษาที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่ว่าชายหรือหญิง มีแนวโน้มที่จะนั่งใกล้หน้าชั้นเรียน การอ่านสิ่งที่ปรากฏของข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้คือว่า นักศึกษาเหล่านี้ได้เข้ามาสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งพวกเขาแต่ละคนได้รับการแรงกระตุ้นให้เรียนรู้ และต้องการที่จะได้ความรู้เท่าที่พวกเขาสามารถทำได้ - ผลที่ตามมาคือ พวกเขาพยายามที่จะเข้าใกล้ครูผู้สอนทั้งหลาย อันเป็นที่ที่ง่ายต่อการได้ยิน และที่ซึ่งพวกเขาสามารถรู้สึกถึงความเกี่ยวพันได้มากกว่า นอกจากนี้วัยของพวกเขาก็ใกล้เคียงกับผู้สอน ซึ่งอาจทำให้พวกเขารู้สึกเท่าเทียมหรือเสมอภาคกับผู้บรรยายมากขึ้น

ประการที่สอง นักศึกษาชายที่เป็นชาวเอเชียจำนวนมาก มีแนวโน้มที่จะนั่งใกล้หน้าชั้นเรียน ข้าพเจ้าเข้าใจว่า นี่เป็นผลสะท้อนถึงอุดมคติอันหนึ่ง ที่ได้ให้คุณค่ากับการศึกษาและการปรับตัวมากกว่าวัฒนธรรมผู้ชายออสเตรเลียนผิวขาว และมองว่าความสำเร็จทางการศึกษา เป็นขั้นตอนที่สำคัญค่อนข้างมากต่อความสำเร็จทางสังคมในอนาคต

ผลลัพธ์ที่ตามมาเกี่ยวกับการดำรงอยู่และพฤติกรรมของพวกเรา โดยผ่านความสำนึกที่ไร้สำนึกคือว่า แบบแผนอันนั้นเกี่ยวกับพฤติกรรมกลายเป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติ มันถูกนิยามในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ ถูกพิจารณาในฐานะที่เป็นหนทางซึ่งสิ่งทั้งหลายเป็นไป แบบแผนพฤติกรรมต่างๆข้างต้น มิได้ถูกมองในฐานะที่เป็นเรื่องอุดมคติโดยผู้คนเหล่านั้น ซึ่งปฏิบัติการเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ อันที่จริงแล้ว พวกมันไม่ได้ถูกคิดถึงมากมายนัก

อันนี้ได้ย้อนกลับไปสัมพันธ์กับความคิดต่างๆเกี่ยวกับเรื่องภาษาของเรา และการประกอบสร้างทางสังคมเกี่ยวกับความจริง: ภาษาและองค์กรทางสังคมไม่ได้เป็นเรื่องของธรรมชาติ; ทั้งคู่ได้รับการสร้างขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ บ่อยครั้งได้รับการพิจารณาโดยผู้คนทั้งหลายในฐานะที่เป็นธรรมชาติและเป็นเรื่องปกติ

เราได้นำเสนอไปเรียบร้อยแล้วว่า คุณควรจะคิดอย่างรอบคอบ เมื่อไรก็ตามที่ใครคนใดคนหนึ่งเสนอว่า หนทางที่มนุษย์กระทำเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นสิ่งปกติ ถ้าใครบางคนกล่าวกับคุณถึงบางสิ่งบางอย่างว่ามันเป็นธรรมชาติมนุษย์ ขอให้ค้นหาความเกี่ยวพันหรือนัยะทางอุดมคติในการกระทำนั้นซึ่งพวกเขากำลังอธิบายอยู่

จำไว้ว่า ผลที่ตามมานั้นของพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติ คือการทำให้เป็นธรรมชาติและมันได้ซ่อนเร้นอุดมคติบางอย่างเอาไว้ ในหนทางนี้ อุดมคติสามารถที่จะเพิ่มเติมหรือสนับสนุนความสัมพันธ์เชิงอำนาจและโครงสร้างทางสังคมต่างๆให้ดำรงคงอยู่ ในลักษณะที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (กลุ่มที่มีอิทธิพลในบริบทนั้น), และไม่เป็นประโยชน์สำหรับคนกลุ่มอื่นๆ โดยการทำให้คนอื่นดูเหมือนว่าผิดปกติ, แตกต่าง, หรือเบี่ยงเบนไป

เรามักจะดำรงอยู่ในอุดมคติเสมอใช่ไหม?
Are we always in ideology?

ท้ายสุด ในความสัมพันธ์กับนิยามความหมายที่สอง เราอาจตั้งคำถามว่า เราดำรงอยู่กับอุดมคติเสมอๆใช่ไหม? เราไม่เคยสามารถที่จะหนีพ้นไปจากกรอบโครงร่างเกี่ยวกับการรับรู้ของตัวเราเกี่ยวกับโลกได้อย่างสมบูรณ์. อุดมคติได้ถูกประกอบสร้างขึ้นมา ทั้งจากการซ่อนเร้นโลกทัศน์ของเรา และจากภาษา

พยายามมองดูอุดมคติ และก้าวออกมาให้พ้นจากมัน หรือมองไปรอบๆมัน คล้ายกับกำลังพยายามที่จะมองคอนแท็กท์เลนส์ เมื่อเรากำลังมองผ่านมัน. ดังที่ Levinas กล่าว เรามองโลกอย่างที่เราเป็น มิใช่มองมันอย่างที่มันเป็น

เรามักจะมีค่านิยมอยู่ชุดหนึ่ง มีความเชื่อและความรู้สึกต่างๆซึ่งน้อมนำพฤติกรรมของเรา ซึ่งได้มากำหนดให้เราคิดอย่างไร รู้สึกและกระทำอย่างไร. สิ่งเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงตลอดมา และเป็นไปได้ที่คุณจะรับรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโดยผ่านชีวิตของตัวคุณเอง แต่ในการสูญเสียอุดมคติหรือโลกทัศน์อันหนึ่งไป เราก็ได้ใส่อีกอันหนึ่งเข้ามาแทนที่

อันนี้ไม่ใช่เรื่องดีหรือเรื่องเลว แต่มันเป็นวิถีทางที่สิ่งต่างๆเป็นไป แม้ว่าคุณอาจคิดว่าอุดมคติบางอย่างมันดีกว่าอย่างอื่น อุดมคติ ดังที่เข้าใจในนิยามความหมายที่สองของเรา ไม่ได้ถูกใช้ในเชิงตัดสินหรือพิพากษา มันเพียงอธิบายถึงภาวะที่เราทั้งหลายดำรงอยู่เท่านั้น


 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน
I webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




เมื่อสื่อได้พยายามนิยามความหมายของคำว่า วาทกรรม และ อุดมคติ และใช้คำทั้งสองคำนี้ในเชิงวิเคราะห์สื่อ
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

วาทกรรมทางสังคมกับอาชญากรรม

ในความสัมพันธ์กับอาชญากรรมและการก่ออาชญากรรม เป็นตัวอย่าง Foucault ได้สำรวจดูว่า วาทกรรมทางการแพทย์, กฎหมาย, ศาสนา, และศีลธรรม, ได้นิยามการก่ออาชญากรรม และความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมอย่างไร และได้เสนอวิธีการต่างๆกับการไปเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร

"วาทกรรมทางการแพทย์" ได้นิยามอาชญากรรม ในเทอมต่างๆของการเจ็บป่วยหรือการมีสุขภาพดี และถ้าเพื่อว่าพวกมันถูกเข้าใจว่าเป็นความเจ็บป่วย หากเป็นเช่นนั้น พวกมันก็ต้องการการบำบัดรักษาและพักฟื้นให้คืนสู่สภาพปกติ

"วาทกรรมทางศาสนาและศีลธรรม" ได้นิยามอาชญากรรมต่างๆในเทอมของความดีและความชั่ว ซึ่งสมควรจะได้รับรางวัลและการลงโทษ และ

"วาทกรรมทางกฎหมาย" ได้นิยามอาชญากรรมในฐานะที่เป็นอันตรายอย่างหนึ่งต่อคนอื่นๆ และเกี่ยวพันกับการปกปักรักษาความปลอดภัยและทรัพย์สินของผู้คน จึงได้มีการกำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติที่จะจัดการและปกป้องอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไป (คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ)

ศัพท์คำว่า"วาทกรรม"(discourse)และ"อุดมคติ"(ideology) ค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างมากในการพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องสื่อและการศึกษาด้านวัฒนธรรม

"อุดมคติ" คือ ชุดหนึ่งของหลักการกฎเกณฑ์ที่รอบคอบสุขุม, มีลักษณะเชื่อมโยง, มีความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งปกติแล้วคือความคิดทางการเมืองต่างๆที่ถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นหนทางอันหนึ่งของการนิยามและทำความเข้าใจว่า สังคมสามารถที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นองค์ระบบได้อย่างไร เมื่อใช้ในหนทางนี้ "อุดมคติ" ปกติแล้วจะมีลักษณะที่ไม่ค่อยมีคนเห็นด้วย บางทีถูกดูถูก ใส่ร้ายป้ายสี และเป็นการปรามผู้คน การใช้ในกรณีดังกล่าวนี้ทึกทักว่า อุดมคติต่างๆในบางความหมาย มักจะมีความผิดพลาดมาตั้งแต่แรก