2
0
0
4
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 378 หัวเรื่อง
รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน
อานันท์
กาญจนพันธุ์
ภาควิชาสังคมวิทยา
คณะสังคมฯ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้midnightuniv(at)yahoo.com
โครงการเสวนา
รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน
สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญติดหล่ม
ศ.ดร. อานันท์
กาญจนพันธุ์
ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(บทความนี้ยาวประมาณ 19 หน้ากระดาษ A4)
โครงการเสวนา
"รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. สิทธิชุมชน: ชุมชนไม่มีสิทธิ ศาสตราจารย์
เสน่ห์ จามริก, ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์
หมายเหตุ:
บทความชิ้นนี้เคยเผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแล้ว ในลำดับที่ 353
สำหรับการนำเสนอครั้งใหม่นี้
ได้รับการกรุณาจากท่านอาจารย์ อานันท์ กาญจนพันธุ์
ผู้เป็นองค์ปาฐก เป็นผู้ปรับปรุง
อานันท์ กาญจนพันธุ์ : สวัสดีท่านผู้สนใจเรื่องสิทธิชุมชน ท่านอาจารย์เสน่ห์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของผม ณ สถาบันแห่งนี้ วันนี้ก็เพิ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่จบการศึกษาไป ที่ได้มาพูดที่นี่ นับมาก็ได้ 35 ปีแล้ว ถือว่านานมากเลยที่ไม่ได้กลับมา
ผมคิดว่าสิ่งซึ่งอาจารย์เสน่ห์พูดไปแล้วมีความสำคัญอย่างยิ่ง เรื่องที่ว่าปัญหาจริงๆลึกๆแล้ว อยู่ที่ความแปลกแยกหรือช่องว่างทางปัญญาในสังคมไทย ที่ยังลักลั่นกันอยู่ในส่วนต่างๆของสังคม แต่สิ่งที่ผมจะพูดจะคล้ายๆกับว่าเป็นการขยายความ ในสิ่งที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ได้ปูเป็นพื้นฐานทางปรัชญา ซึ่งเป็นปัญหารากฐานของปัญหาที่แท้จริงในสังคมไทย ประกอบกับการที่เรายังยึดติดอยู่กับวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม ทั้ง 2 ประการนี้ถือเป็นพลังมหาศาล ที่ยากจะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น
สิ่งที่ผมจะพูดนั้นจะพยายามลงมาสู่ประเด็น ที่เป็นรูปธรรมหรือละเอียดย่อยลงมา กล่าวคือ ถ้าเราจะไปปรับแก้ทั้งหมดในทันที ก็คงจะต้องใช้พลังมหาศาล อาจจะต้องเคลื่อนไหวใหญ่ยิ่งกว่าพฤษภาทมิฬ 2535 เสียอีก ดังนั้นคงจะต้องซอยย่อยลงมา ในจุดที่อาจจะทำได้ในขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมว่าพื้นฐานยังอยู่ ในสิ่งที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ได้พูดไปแล้ว ซึ่งก็เป็นการนำทางที่ผมคิดว่าสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับสิ่งที่ผมจะพูดนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วนคือ
ส่วนแรกคือ สาเหตุของปัญหาที่ชุมชนยังไม่มีสิทธิได้จริงตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่สองคือ ความหมายของสิทธิชุมชน
ส่วนที่สามคือ ความเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสร้างสิทธิชุมชน
ส่วนแรกคือ
สาเหตุของปัญหาที่ชุมชนยังไม่มีสิทธิได้จริงตามรัฐธรรมนูญ
การที่เรามาตั้งคำถามกันว่า
การที่ชุมชนยังไม่ได้มีสิทธิ์จริงตามรัฐธรรมนูญ มีสาเหตุที่สำคัญอย่างไรบ้าง
เพราะถ้าเราเข้าใจสาเหตุแล้ว เราจึงจะสามารถลงไปหาทางแก้ได้ชัดเจน
สำหรับสาเหตุหลักอาจจะสืบทอดมาจาก
หรือต่อเนื่องมาจากปัญหาที่ท่านอาจารย์เสน่ห์พูดมาแล้วคือ
ปัญหาหลักของการที่ชุมชนยังไม่มีสิทธิ์ได้จริงตามรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของวิธีคิด
ซึ่งถือเป็นเรื่องของช่องว่างทางปัญญา ผมคิดว่าหลักๆแล้วมีอยู่ด้วยกัน 4 ประการคือ
ประการที่หนึ่ง วิธีคิดที่สำคัญในปัจจุบันก็คือ การที่เราหลงติดอยู่ในมายาคติ ซึ่งผมเรียกว่า "มายาคติของการยึดติดกับเรื่องสิทธิเชิงเดี่ยว" หมายความว่า สิทธินั้นจริงๆแล้วมีด้วยกันหลายอย่าง แต่การที่เรามายึดติดกับสิทธิเชิงเดี่ยว หรือดังที่อาจารย์เสน่ห์ได้พูดไปแล้วเรื่อง สิทธิของปัจเจกอะไรพวกนี้ หรือการมามองสิทธิว่าผูกติดกับหน่วยทางสังคมที่ตายตัวตามกฎหมายบัญญัติ เพราะหน่วยที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งจะเป็นหน่วยทางการได้มีไม่กี่อย่างที่เป็นหน่วยทางสังคมที่สำคัญ เช่น เรื่องของปัจเจกบุคคล กฎหมายจะบัญญัติเอาไว้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็เป็นหน่วยทางราชการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ กรม จังหวัด เรื่องของ อบต. ซึ่งพวกนี้เป็นหน่วยที่มีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างตายตัวแล้ว
หน่วยในทำนองนี้มีปัญหาอยู่มาก ในกรณีที่จะมอบอำนาจให้จัดการทรัพยากร เช่น การจัดการเรื่องป่า เราก็จะไปมอบอำนาจให้เฉพาะกรมป่าไม้ ตามหน่วยที่มีอยู่แล้ว โดยให้เขามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตัวของเขาเอง พูดง่ายๆก็คือว่า การจัดการทรัพยากรก็เลยกลายเป็นอาณาจักรของหน่วยงานนั้น ทั้งๆที่จริงๆแล้วทรัพยากรเป็นของประชาชนและเป็นของสังคม แต่เวลาเราคิดจะมอบให้ใครมีอำนาจไปจัดการ เรากลับไปมองเชิงเดี่ยว ก็เลยทำให้วิธีคิดนี้ผูกติดอยู่กับสังคมไทย และเมื่อใครได้อำนาจนั้นไป ก็ยึดติดเหมือนเป็นอาณาจักรของตนเอง เผลอๆแล้วข้าราชการกรมป่าไม้นึกไปว่า ป่าเป็นของตนเอง
ผมอยู่ที่เชียงใหม่พบว่ามีปัญหามาก เพราะว่าเราส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลป่า ปรากฏว่าทุกอาทิตย์จะกลับบ้าน เวลากลับบ้านก็จะถือน้ำมันสนบ้างล่ะ บางทีก็เอาโต๊ะไม้ลงมา ทำเหมือนกับสิ่งเหล่านี้เป็นของตัวเอง ในสายตาของเจ้าหน้าที่ดูแล้วไม่มีปัญหาอะไรเลย พวกเขาทำกันมาเป็นปกติ สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาเชิงวิธีคิด ที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมไทย ถ้ามองให้ลึกๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาหลัก ในเรื่องมายาคติของสิทธิเชิงเดี่ยว
ประการที่สอง คือการยึดติดกับมายาคติที่ว่า "รัฐเป็นตัวแทนของประชาชน" วิธีคิดเช่นนี้ก็สำคัญ จากการที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ท่านได้พูดไปแล้วว่า เรามักคิดว่ารัฐบาลเวลาได้เสียงข้างมาก แล้วจะทำอะไรก็ได้ แล้วคิดว่ารัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายแทนประชาชน ถ้าคิดเช่นนี้ก็จะมีปัญหา
เวลานี้เรามีปัญหาหลายเรื่องที่เปิดเผยออกมา บางทีรัฐไม่ฟ้องเสียเฉยๆ อย่างคดี หมอที่ฆ่าเมีย ถ้าเผื่อประชาชนคนธรรมดาไม่สามารถเป็นผู้เสียหายได้เองก็ซวย เพราะเราต้องรอให้รัฐเป็นผู้เสียหายแทนเราทั้งหมด เพราะเรายึดติดกับความคิดว่า รัฐเป็นผู้รักษาผลประโยชน์แทนประชาชน
แต่ในความเป็นจริงของสังคมไทย ปัญหาก็คือว่า รัฐมักจะเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มมากกว่าคนอีกบางกลุ่ม สังคมไทยมีหลากหลายกลุ่มชน แต่รัฐจะเอื้อกับบางกลุ่ม ไม่เอื้อกับบางกลุ่ม ดังนั้นปัญหานี้จึงขึ้นอยู่กับว่า กลุ่มใดมีอำนาจ ถ้าเผื่อว่ากลุ่มชนบางกลุ่มขาดอำนาจในการต่อรองแล้ว สิทธิประโยชน์ต่างๆที่รัฐมี ก็จะเอื้อให้กับบางคนที่มีอำนาจเท่านั้น
ผมชำนาญการวิจัยเรื่องป่า จึงขอยกตัวอย่างเรื่องนี้ขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจน ในกรณีของคนที่มีฐานะดีแต่ทำผิดกฎหมายป่าไม้ เช่นไปละเมิดพื้นที่ป่าเพื่อเอาไปทำเป็นรีสอร์ท เป็นต้น. โอเค! รัฐก็ฟ้องศาล ศาลตัดสินว่าผิดกฎหมาย ถ้าเป็นกรณีของคนทั่วไป เมื่อศาลตัดสินว่าผิดกฎหมายแล้วก็ต้องถือเป็นคนผิด แต่กรณีคนรวยปรากฏว่า รัฐกลับเสนอความเห็นว่า เขาลงทุนไปมากแล้ว ตกลงให้เขาเช่าต่อก็แล้วกัน อย่างนี้จะมีความหมายอะไรกับการที่ผิดกฎหมายตรงนั้น
สังคมไทยแปลกมาก ที่กฎหมายกลับให้รางวัลกับคนทำผิด ถือเป็นเรื่องประหลาดมาก จนทำให้อาจารย์เสน่ห์พูดถึงว่า ต้องวิพากษ์นิติศาสตร์อย่างมาก เพราะเป็นวิธีคิดสำคัญที่ยึดติดกันอยู่ในระบบ ขณะที่คนจะทำดี คนจะรวมตัวรักษาป่า อย่างนี้กลับทำไม่ได้ ถือว่าผิดกฎหมาย เห็นไหมครับ ข้อนี้แปลกมากและผมก็งงๆอยู่เหมือนกันว่ากรณีเช่นนี้เกิดขึ้นได้ยังไง
แต่เราลองคิดดูซิครับ ถ้าใครทำผิดแล้วได้รับรางวัลจะมีผลกระทบอย่างไร แต่กฎหมายของเราให้รางวัลกับคนทำผิดตลอดเลย คนทำผิด คอรัปชั่นอะไรต่างๆ คุณทำไปเถอะ ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะถือเป็นเรื่องของวัฒนธรรมภายในองค์กร จากตัวอย่างของปัญหาที่หยิบยกมาให้ดู ก็คงจะเห็นแล้วว่า ที่เป็นอย่างนี้ได้ก็เพราะว่า รัฐยังคงยึดติดกับความคิดในเรื่องอำนาจนิยม โดยพยายามจะรักษาอำนาจเอาไว้ ในฐานะที่อ้างความเป็นตัวแทนเป็นหลัก
แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาไม่ได้บอกว่ารัฐเป็นตัวแทนประชาชนอย่างเดียว หากกำหนดให้การใช้อำนาจรัฐนั้นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งอาจารย์เสน่ห์ได้พูดไว้เป็นปรัชญาเป็นเจตนารมณ์สำคัญ แต่ปรากฏว่าตรงนี้เขียนเอาไว้สองไพเบี้ย ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครนำไปปฏิบัติ ยังคงยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติเก่าๆ ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาที่เราต้องมาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในแง่ที่ว่า ให้รัฐมีอำนาจ และรัฐก็พยายามจะรักษาอำนาจเอาไว้ เรื่องเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนจากกรณีของกฎหมายป่าชุมชน ที่เราร่วมกันผลักดันมาเป็นเวลานาน แต่กฎหมายป่าชุมชนก็ยังไม่ผ่านรัฐสภาออกสักที แสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่า รัฐพยายามจะคงอำนาจในการจัดการป่าไว้ ทั้งๆ ที่ล้มเหลวมาตลอดร้อยปีที่ผ่านมา ขณะที่การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลจัดการป่า กลับบอกว่าไม่ได้ โดยปล่อยให้ร่างกฎหมายคาเอาไว้ในรัฐสภา
กรณีเช่นนี้ถือเป็นปัญหามายาคติ ที่ยึดติดกับความคิดว่า "รัฐเป็นตัวแทนของภาคประชาชน" รัฐจึงทำแทนหมด คนอื่นอย่าเกี่ยว ไม่ต้องเข้ามายุ่ง เรื่องนี้จึงเป็นมายาคติ ที่เราหลงคิดว่าเป็นจริง ทั้งๆที่เป็นการอ้างถึงสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักกฎหมาย หลักธรรมะ และหลักธรรมศาสตร์ คือ ขัดแย้งกับทุกหลักการ แต่ว่าจะทำซะอย่าง เมื่อเป็นอย่างนี้ก็แย่และลำบากเหมือนกัน ที่เราจะบอกว่าสังคมของเราเป็นสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่ปรากฏว่าลักษณะอำนาจนิยมยังดำรงอยู่เต็มไปหมด ซึ่งก็ขัดแย้งในตัวเองและเป็นปัญหาที่สำคัญ
ประการที่สาม สังคมของเรามีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ระบบทุนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเรามักจะยึดติดกับมายาคติที่ว่า "ตลาดเป็นกลไกที่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน" ความคิดเช่นนี้ก็ถือเป็นมายาคติอย่างมาก เพราะว่า เราไม่ยอมรับว่าตลาดก็ล้มเหลวได้ เราคิดว่าตลาดทำงานดีมาก ในบางด้านก็ดี ซึ่งผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ก็มีโอกาสล้มเหลวได้ไม่ใช่หรือ? การที่บอกว่าตลาดดีอย่างเดียวนั้นเป็นปัญหา เพราะบางด้านพบว่าล้มเหลว อย่างเช่น ปัญหาที่ดิน
เราคิดว่าตลาดจัดการเรื่องตลาดที่ดินได้ดีมาก ถ้าใครอยากจะมีที่ดินก็จะมีได้ใช้ได้ และก็บอกว่า ถ้าเผื่อมีตลาดแล้วก็สามารถจะซื้อขายที่ดินต่างๆได้ โอเค! เราก็ยอมให้ทำ สังคมไทยก็ยอมให้ตลาดทำหน้าที่นี้มาเป็นเวลานานแล้ว แต่วันดีคืนดีปรากฏว่า ปัญหาโผล่ ตอผลุดขึ้นมา เมื่อพบว่า การให้ตลาดจัดการที่ดินนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะว่า เวลานี้สังคมไทย ทิ้งที่ดินไว้ให้รกร้างว่างเปล่าถึง 30 ล้านไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุดของสังคมไทย และสามารถจะใช้ทำการผลิตได้ดี แต่เราปล่อยทิ้งไว้ให้หญ้าขึ้น
การทำอย่างนี้ก่อให้เกิดผลกระทบ เพราะเท่ากับกดดันให้คนจน ต้องไปเปิดพื้นที่ป่าเพิ่ม แล้วรัฐก็เอาพื้นที่ที่เฮงซวยที่สุดจัดสรรให้คนจน ในขณะที่ดินที่ดีที่สุด ปล่อยให้คนรวยเก็บดองเอาไว้เฉยๆ หรือเพื่อเก็งกำไรอย่างนี้เป็นต้น กรณีอย่างนี้แสดงว่า กลไกตลาดคงต้องล้มเหลวด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งสร้างปัญหาอีกหลายอย่างตามมา เพราะว่าการที่เราปล่อยไปแบบนี้ เราลองนึกภาพดูว่า เวลานี้เมืองไทยมีที่ดินทั้งหมด 320 ล้านไร่ และเหลือพื้นที่ป่าเพียง 80 ล้านไร่เท่านั้นเอง แล้วคุณดูซิ เราทิ้งไว้เฉยๆ 30 ล้านไร่ เพื่อรอเก็งกำไร
การปล่อยทิ้งที่ดินไว้ 30 ล้านไร่นี้ สังคมต้องแบกรับภาระ ไม่ใช่ทิ้งไว้เก็งกำไรสำหรับลูกหลานแล้วสังคมไม่ต้องแบกรับภาระ เราต้องแบกรับภาระซิครับ เพราะที่ดินเหล่านี้คือ หนี้เน่า ซึ่งติดจำนองอยู่ในธนาคารทั้งหลายแหล่ เราก็ต้องจ่ายดอกซิครับในรูปของภาษีอากร เพื่อชดเชยกองทุนอะไรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาทั้งหลายแหล่ กองทุน สถาบันบ้าบอ ในการปรับปรุงทางการเงินอะไรต่างๆ ทั้งหมดนี้เราต้องจ่าย อย่าคิดว่านี้ทำได้เล่นๆ เราเป็นผู้ที่ต้องจ่ายในรูปภาษี เพื่อให้คนเอาที่ดินไปดองเล่น ดูคล้ายๆกับรอไว้ให้กับลูกหลาน แต่ส่วนใหญ่เป็นการเก็งกำไร
ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่าเรื่องราวเหล่านี้พัวพันกับเรา และจะมากระทบกับเรา แต่เราก็มักจะวางเฉย เพราะไม่รู้เรื่อง หรือทำเป็นไม่รู้เรื่อง จริงๆแล้วเราติดอยู่ในมายาคติ ลึกๆสุดท้ายสุด ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้เรื่อง แต่เราคิดว่าตลาดจะช่วยจัดการให้เราทุกอย่าง แก้ไขปัญหาให้เราทุกอย่าง แต่จริงๆแล้วตลาดล้มได้ เราจึงควรจะต้องเปลี่ยนมาคิดว่าตลาดล้มได้
เมื่อก่อนนี้ผมไม่เชื่อ ผมคิดว่าคนซื้อที่ดินเก็บดองๆไว้ ที่ดินก็จะมีราคาดีขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้เราเริ่มรู้แล้วว่า ที่ดินก็ราคาตกได้เหมือนกัน ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ราคาที่ดินตกลงไป 30 กว่าเปอร์เซนต์ ไม่ใช่ราคาจะขึ้นไปเรื่อยๆอย่างเดียว ดังนั้น ตลาดก็มีสิทธิ์ล้มเหลว ถ้าเผื่อเราเข้าใจตรงนี้ เราจะหาวิธีแก้ไขปัญหาได้ดีมากขึ้น แต่ว่าเรายังยึดติดอยู่กับมายาคตินี้มาก ดังนั้นจึงมีปัญหาที่ทำให้เราไม่ใส่ใจในเรื่องสิทธิชุมชนเท่าที่ควร
ประการที่สี่ ความเข้าใจความหมายของ"สิทธิชุมชน"ในปัจจุบัน ยังมีปัญหาอีกหลายอย่าง ที่เรายังสับสนอยู่พอสมควร อันนี้ต้องยอมรับความจริง เรามักจะมองเรื่องสิทธิชุมชนในลักษณะที่เป็นนามธรรม เพราะคำที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญสั้น แต่มีรากฐานมาจากประวัติความเป็นมาของประสบการณ์ชีวิตในสังคม อย่างที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ได้พูดไปแล้ว ดังนั้นการจะมาเขียนบรรยายให้เต็มที่ก็เป็นไปได้ยาก จึงทำให้คนที่สนใจจะผลักดัน มองเรื่องของสิทธิชุมชนเป็นนามธรรม
ส่วนคนที่ปฏิบัติราชการ ผมเจอกับปัญหานี้มาด้วยตัวเอง ในเวลาที่ไปช่วยยกร่างกฎหมายป่าชุมชน จะเจอกับข้าราชการที่พูดว่า บอกผมมาซิว่า ไอ้ชุมชนของคุณนั้นมันอยู่ตรงไหน บัญญัติมาเลย ตรงนี้แสดงว่าเขาคิดถึงในทำนองเดียวกันกับการตั้งหมู่บ้าน คือการระบุหน่วยและจำนวนคนในหน่วยให้ชัดเจน เช่น จะเอา อบต. หรือจะเอาหน่วยที่มีอยู่แล้ว และจะเอา 50 คนได้ไหม? ซึ่งผมพูดเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรกแล้วว่า คนส่วนใหญ่จะคิดอยู่แค่นี้เองว่าจะเอาหน่วยแบบไหน
แต่ความเป็นชุมชนจะสะท้อนพัฒนาการของสังคมด้วย ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัวอยู่กับที่ ถ้าเราไปบัญญัติว่า ให้ถือเอาเฉพาะ อบต. ก็จะมีปัญหา เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 บอกว่า ผู้คนที่รวมตัวกันเป็นชุมชน โดยไม่ได้ระบุว่ามีขนาดเท่าไหร่ และไม่ได้บอกว่าชุมชนนั้นเป็นยังไงชัดเจน แต่อาจจะมีการเติมว่าดั้งเดิมเข้าไป เพื่อเป็นการย้ำว่าชุมชนมีรากฐานมาตั้งแต่ในอดีตด้วย ไม่ใช่เฉพาะชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่อย่างเดียว ตรงนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่ายังมีความสับสนวุ่นวายอยู่พอสมควร
นอกจากนั้นในสังคมไทย จริงๆ เราเชื่อมั่นในระบบตลาดมาก จึงมีปัญหาเข้าใจผิดๆว่าสิทธิชุมชนไปขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะเราจะพบว่า เวลาที่อ้างถึงสิทธิชุมชนทีไร ก็มักจะเป็นการคัดค้านโครงการพัฒนาบางอย่างเสมอ อย่างนี้เป็นต้น ก็เลยเข้าใจผิดไป หลงคิดไป ว่า โครงการพัฒนาเหล่านั้นจะเอื้อให้ตลาดทำงานดีขึ้น ส่วนพวกที่มาคัดค้านก็คือ พวกที่พยายามจะขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือการพัฒนาในระบบตลาด ที่จะทำให้เรามีการกินดีอยู่ดีมากขึ้นตามความคิดเชิงเศรษฐกิจ ถ้าคิดเช่นนี้ก็เป็นปัญหา
จริงๆแล้ว ผมบอกได้เลยว่าสิทธิชุมชน ซึ่งมีคนเข้าใจน้อยมากนั้น จะช่วยรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ บนพื้นฐานของความเป็นธรรม แทนที่จะถูกบิดเบือน ซึ่งจะอธิบายต่อไปว่าตรงนี้หมายความว่าอะไร เพราะคนทั่วไปคิดว่าสิทธิชุมชนไปขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เขาจึงไม่ค่อยอยากจะยอมรับ แต่จริงๆแล้วสิ่งที่สังคมควรจะเข้าใจมากขึ้นคือว่า ถ้ามีสิทธิชุมชนต่างหาก การพัฒนาทางเศรษฐกิจถึงจะเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงเน้นแต่ตัวเลขของการเจริญเติบโต อย่างที่เราฝันหวานอยู่เวลานี้ว่าจะ 8%, 10% อะไรต่างๆ ก็ฝันไปเถอะ แต่ตัวเลขมันฟ้องว่ามีความลักลั่นในการถือครอง หรือในการรับประโยชน์จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แสดงว่ามีการบิดเบือนมากมาย
สถิติตัวเลขใหม่ๆที่เผยออกมาก็บอกชัดอยู่แล้วว่า การบิดเบือนมีมากขึ้น เมื่อก่อนเศรษฐกิจตกต่ำ คนที่รวยที่สุด 20% ของประเทศไทย ถือครองทรัพยากรและความมั่งคั่งของสังคม ประมาณ 60% ส่วนคนที่จนระดับล่างสุดของสังคม 20% ถือครองทรัพยากรประมาณ 5% กว่าๆ วันนี้เดี๋ยวนี้หลังจากรัฐบาลที่คิดว่ามีความสามารถในการจัดการทางเศรษฐกิจ ทำได้ดีมากเลย จากเดิมที่คนรวยมี ความมั่งคั่ง 60% เวลานี้ปาเข้าไป 65-70% แล้ว ส่วนคนจนระดับล่างที่อยู่ต่ำสุดในสังคม จากเดิม เคยมีอยู่ 5% ตอนนี้เหลือ 3% กว่าๆ แล้ว นี่ถ้าหากพัฒนามากขึ้น ทรัพย์สินของคนจนมิยิ่งหดลงเรื่อยๆหรือ
นายกบอกว่า 8 ปีความยากจนจะหมดไป ก็คงหมดแน่ๆ เพราะคนจนเหลือศูนย์ คือไม่มีอะไรเหลือเลย แต่ไม่ได้หมายความว่า ความยากจนนั้นจะหมดไปจริง เพราะมองแค่เรื่องเศรษฐกิจไม่นับเรื่องปัญหาสังคมอื่นๆ ขณะที่คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ได้ออกมาเตือนๆอยู่แล้วว่า เวลาคิดถึงความยากจน ไม่ใช่คิดแต่เพียงเรื่องเศรษฐกิจ ว่ามีเงินหรือไม่มีเงินเท่านั้น ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิและโอกาสอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นทางสังคมที่ไม่ได้พูดถึง ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาอย่างมาก
ความคิดทั้งหมดเหล่านี้ที่ผมพูดแล้วรวมๆกัน จะขัดขวางทำให้เราไม่สนใจใยดีในเรื่องสิทธิชุมชน แล้วสุดท้ายที่ยังเป็นปัญหา ซึ่งคิดว่าสำคัญมากและจะขยายความต่อไปอีกก็คือ ความคิดเรื่องสิทธิชุมชนไม่สามารถเอามาพูดลอยๆได้ แต่เราต้องพูดว่า ในเงื่อนไขใดบ้างที่สิทธิชุมชนถึงจะแสดงออกมาได้ ตรงนี้ถือเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ ในแง่ที่ว่าในปัจจุบันความเข้าใจเงื่อนไขของความคิดที่จะทำให้สิทธิชุมชนปรากฏได้ยังมีน้อย
ความคิดที่จะทำให้สิทธิชุมชนปรากฏได้ อย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญเขียนว่า คนมารวมตัวกัน แต่การที่สิทธิชุมชนจะปรากฏได้ จะต้องมีแนวคิดหรือ Concept ที่ทำให้คำนี้ปรากฏได้ แล้วต้องเอาไปบัญญัติได้ด้วย ไม่ว่าในกฎหมายระดับต่ำกว่านั้นก็ดี ไม่ใช่อยู่เฉพาะในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เขียนได้แค่นั้น แต่ต้องมาปรากฏในกฎหมายระดับที่ต่ำกว่า อย่างน้อยที่สุดต้องมีการตัดสินอะไร ที่ทำให้คำเหล่านี้ปรากฏได้มากขึ้น ซึ่งการจะทำให้คำเหล่านี้ปรากฏได้ ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างมาก
กรณีที่ทำสำเร็จแล้ว ที่ชัดเจนมีอยู่กรณีเดียวคือ การเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ปากมูล ซึ่งเคลื่อนไหวจนกระทั่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในความคิดเรื่องการเป็นผู้เสียหายต้องได้รับการชดเชยใหม่ เมื่อก่อนรัฐจะชดเชยให้เฉพาะในกรณีของการสูญเสียที่ดิน แต่ความเคลื่อนไหวของชาวบ้านก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักการ ที่กำหนดให้รัฐต้องชดเชยการสูญเสียอาชีพด้วย เพราะว่าการสร้างเขื่อนปากมูลไม่ได้กระทบเฉพาะคนใช้ที่ดินเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อชาวประมง ที่พึ่งพาการจับปลาในลำน้ำมูลอีกด้วย ดังนั้นการสูญเสียอาชีพประมง ก็เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องชดเชย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การได้รับการชดเชยถือเป็นสิทธิร่วมกันของผู้สูญเสียอาชีพประมง
ดังนั้น กลุ่มคนที่เคยทำประมง เมื่อก่อนเขาก็ไม่ได้ตั้งบ้านเป็นชุมชนชัดเจน เพราะเขามาจากหลายบ้านหลายที่ แต่การที่เขาเสียสิทธิ์ในการที่จะได้จับปลาตรงนั้นไป ซึ่งเป็นสิทธิชุมชน เป็นสิทธิร่วมกันของคนที่มีอาชีพเดียวกัน รัฐต้องชดเชย ตรงนี้เอง การชดเชยอาชีพจึงเป็นแนวคิดที่ทำให้สิทธิชุมชนปรากฏขึ้นเป็นจริงได้ในบางเงื่อนไข เช่นในกรณีของการสร้างเงื่อนปากมูล ความคิดอย่างนี้ เรื่องการชดเชยอาชีพ จึงสำคัญและจะต้องผลักดันให้สังคมเข้าใจมากขึ้น ถึงจะส่งผลให้เกิดการบังคับใช้สิทธิ์เป็นไปตามสิทธิชุมชนเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ
ที่พูดไปแล้ว ผมกำลังบอกว่า มีอะไรบ้างที่ขัดขวาง ไม่ให้สิทธิชุมชนสามารถปรากฏเป็นจริงได้ ซึ่งก็จะพบว่ามีอยู่มากมาย ถ้าเราจะแจกแจงออกมา ทั้งหมดจะเป็นวิธีคิดต่างๆ ทั้งที่เป็นมายาคติ ทั้งที่เป็นความเชื่อมั่นบางอย่าง ซึ่งไม่ยอมคลายอำนาจออกไป ขณะที่สังคมไทยเองก็ยังไม่สามารถสร้างและสะสมสติปัญญาได้เพียงพอ ที่จะช่วยให้สังคมเข้าใจว่า ความคิดและเงื่อนไขบางอย่างสามารถทำให้สิทธิชุมชนปรากฏขึ้นเป็นจริงได้
ความคิดอย่างหลังนี้ สังคมไทยของเรายังอ่อนอยู่ ซึ่งเป็นความอ่อนแอของสถาบันทางวิชาการ ที่ไม่ได้ใส่ใจในการสร้างปัญญาทางด้านนี้ จึงทำให้คนไม่เข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงเขียนไว้ในตัวรัฐธรรมนูญหรือตัวกฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องทำให้คำหรือตัวแนวคิดเหล่านี้เป็นที่เข้าใจในสังคมด้วย ถึงจะทำให้คนในสังคมยอมรับและบังคับใช้เป็นกฎหมายได้
ส่วนที่สอง
ความหมายของสิทธิชุมชน
เนื่องจากสิทธิชุมชนเป็นนามธรรม มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ยาวนัก
ก็เลยทำให้เกิดความสับสนอยู่พอสมควร จึงอยากใช้เวลาสักเล็กน้อยเพื่ออธิบายว่า
ความหมายหรือความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ควรจะมองอย่างไรในสังคมปัจจุบัน
สิทธิชุมชน ดังที่อาจารย์เสน่ห์ได้บอกแล้วว่า มีรากฐานมาจากสังคมในอดีต
ในปัจจุบันต้องไม่ลืมว่า เรามีความคิดเป็นปัจเจกมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งสังคมพัฒนา
ยิ่งทำให้เราคิดเป็นปัจเจกตามตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ
ความเข้าใจของเราในเรื่องนี้จึงค่อยๆคลายลงไป
จริงๆแล้ว ความหมายของสิทธิชุมชน จะเกี่ยวพันกับเรื่องของพลวัตความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ใช่มองเป็นหน่วยทางสังคมที่ตายตัว จะเอาสิทธิชุมชนไปเทียบกับเป็นเรื่องหมู่บ้านไม่ได้ เพราะว่าชุมชนเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ดังนั้นสิทธิชุมชนจึงเป็นความสัมพันธ์ ที่เชื่อมโยงอยู่กับเรื่องของ อุดมการณ์ คุณค่า ศีลธรรม ในฐานะที่เป็นความชอบธรรมทางสังคมด้วย แล้วยังไปพันกับเรื่องโครงสร้างทางสังคมอื่นๆอีก ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ก็สามารถเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ
ดังนั้น สิทธิชุมชนจึงไม่ได้ผูกติดอยู่กับหน่วยทางสังคมที่มีอยู่แล้ว จะเอาหน่วยหมู่บ้าน หน่วยองค์กร หรือหน่วยอะไรต่างๆที่มีอยู่แล้วไปใช้เทียบเคียงว่า หน่วยเช่นนั้นคือหน่วยของสิทธิชุมชนไม่ได้ จริงๆแล้วเรื่องสิทธิชุมชน ก็หมือนกับความคิดอื่นๆที่เขียนเป็นคำขวัญไว้ว่า สังคมดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องร่วมสร้าง สิทธิชุมชนก็อย่างเดียวกัน ไม่ได้มีอยู่แล้ว ให้เราไปซื้อ ไปเอา หรือหยิบเอามาใช้เลยตรงๆ ไม่ได้ ถ้าอยากได้ ก็ต้องร่วมกันผลักดัน ร่วมกันสร้างขึ้นมา แต่เขียนไว้เฉยๆ จะไม่สามารถปรากฏเป็นจริงได้
เรื่องของสิทธิชุมชนเป็นความคิดที่ต้องร่วมกันสร้างขึ้น ด้วยการปฏิบัติการต่อรอง ด้วยการต่อสู้ทางสังคม จนกว่าสังคมจะเกิดการยอมรับ เราจะเอาแต่ใจของตัวเราเอง โดยบอกว่ามีอยู่ในกฏหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ต่อไปนี้ต้องบังคับใช้ คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะยังต้องขับเคลื่อนด้วยการต่อรองและการต่อสู้ทางสังคม หมายความว่ายังต้องมีการเคลื่อนไหวทางสังคมพอประมาณ ถึงจะทำให้เกิดสิทธิชุมชนที่เป็นจริงขึ้นมา
เท่าที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ ขณะที่สังคมไทยยังมีรากฐานอยู่ในสังคมเกษตรกรรมเป็นหลัก สิทธิชุมชนจะเกี่ยวข้องกับสิทธิประเภทอื่นๆอีกหลายอย่าง ตามคติที่มีอยู่ในเชิงคุณค่า เชิงศีลธรรมของสังคมของเราแล้ว สิทธิชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ถ้าเผื่อเป็นสังคมเกษตรกรรมเมื่อก่อน ก็จะซ้อนทับอยู่กับสิทธิต่างๆ ซึ่งผมได้เคยศึกษามาแล้ว เช่น "สิทธิหน้าหมู่" คือสิทธิของคนที่จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในป่า ในที่ดินอะไรต่างๆ หรือว่าสิทธิในเรื่องของ "สิทธิการใช้" อย่างเช่นในกรณีที่ว่า ถ้าเห็ดเกิดขึ้นที่ไหน เพราะเห็ดเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นมาในที่ดินของใคร คนที่ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ก็สามารถไปเก็บเห็ดในที่ดินของคนอื่นได้ เพราะเห็ดเป็นของเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เจ้าของที่ดินเป็นคนเพาะขึ้นมา สิทธิทำนองนี้เรียกว่า"สิทธิการใช้"
สิทธิต่างๆเหล่านี้ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า ทุกคนควรมีสิทธิในการยังชีพ มีสิทธิในการที่จะมีชีวิต ก็เลยทำให้ความรู้สึกที่ว่า ถ้าเห็ดขึ้นในบ้านฉัน คุณจะมาเก็บไม่ได้ อันนี้ไม่ถูกต้อง เพราะว่าเราควรจะคิดว่าทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ได้ เนื่องจากเห็ดเป็นของที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งผมก็เคยเจอมาด้วยตัวเอง เรื่องไข่มดแดงก็เหมือนกัน
เรื่องนี้ผมมักพูดถึงอยู่เสมอๆ ในกรณีที่มดแดงมาทำรังบนต้นมะม่วงในบ้านของเรา ต้นมะม่วงถือเป็นของเรา เพราะเราเป็นคนปลูก แต่เราจะผูกขาดการเก็บได้เฉพาะลูกมะม่วง ส่วนไข่มดแดงบนต้นมะม่วงนั้น ชาวบ้านจะถือเป็นของทุกคน ใครอยู่ที่ไหนก็มาเก็บได้ ไม่ใช่ว่าเจ้าของบ้านจะกันรั้วแล้วห้ามคนอื่นมาเก็บ อันนี้ทำไม่ได้ เพราะถือเป็นศีลธรรมทางสังคม ที่เขาต้องเน้นเรื่องการยังชีพ ดังนั้น สิทธิที่ใครๆก็เก็บมาใช้ได้ อย่างนี้เราเรียกว่า"สิทธิการใช้"
ดังนั้นในสังคมเกษตรกรรม การที่ชุมชนสามารถทำอย่างนี้ได้ เพราะเรื่องของสิทธิชุมชน ถือเป็นระบบคุณค่าทางศีลธรรม ซึ่งสังคมได้ให้ความสำคัญกับการยังชีพ เขาจึงเน้นตรงนี้
ทีนี้เมื่อเราเปลี่ยนมาอยู่ในสังคมสมัยใหม่ ความสัมพันธ์ทางสังคมมีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้น สิทธิชุมชนจึงค่อยๆขยายตัวออกไป เกี่ยวข้องกับสิทธิอื่นๆอีกเยอะแยะไปหมด ตามความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่น สิทธิในความเป็นมนุษย์หรือศักดิ์ศรีของความเป็นคน อันนี้ก็เป็นสิทธิชนิดใหม่ ซึ่งเมื่อก่อนเราคิดว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องพูดกันมาก
แต่สังคมปัจจุบัน ในขณะที่มีการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เราถึงต้องมาพูดกันมากว่า คุณต้องเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครเคารพกันจริงๆ เมื่อก่อนไม่มีใครพูดเรื่องนี้ เพราะเขาเคารพกันอยู่แล้ว คือทุกคนถือเป็นญาติพี่น้องกันหมด ก็เลยไม่มาพูดเรื่องนี้ มาถึงตอนนี้ ถ้าเผื่อเราไม่พูด คนก็ไม่เข้าใจ สิทธิประเภทต่างๆเหล่านี้จึงค่อยๆเกิดขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม
สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของสิทธิสำคัญที่เกิดขึ้นใหม่ เราจะไปบอกว่าทุกคนต้องพัฒนาอย่างเดียวกันหมด ทุกคนต้องมีรถยนต์ ทุกคนต้องใช้ไฟฟ้า ทุกคนต้องใช้แก๊ส แล้วถ้าเผื่อมีคนบอกว่า ผมไม่เอาด้วย ผมอยากจะอยู่อย่างนี้ แบบนี้ไม่ได้หรือ เราต้องตีหัวเขาจนกว่าเขาจะยอมรับหรือ อย่างเช่นกรณีการต่อต้านท่อแก๊สที่ภาคใต้ ชาวบ้านบอกว่าอยากจะอยู่เลี้ยงนกเขา อยากจะอยู่แบบชุมชนมุสลิม แต่รัฐบอกว่าไม่ได้ พยายามจะบังคับให้เขาเปลี่ยนวิถีชีวิต แสดงว่ารัฐไม่เคารพสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญ เพราะจะเกี่ยวพันกับเรื่องของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อีกด้วย ถามว่าชาวบ้านอยากจะมีชีวิตความเป็นอยู่แบบอื่น ซึ่งไม่เป็นไปตามกระแสไม่ได้หรือ เพราะชาวบ้านอยากจะอยู่อย่างนั้น แต่รัฐกลับบอกว่าไม่ได้ ตรงนี้ถือได้ว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
นอกจากนั้นก็ยังมีสิทธิในการแสดงตัวตนในด้านต่างๆ อย่างเช่น สิทธิในการรวมตัวกัน ในฐานะที่เป็นเพศที่สาม ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาอยากจะสร้างตัวตนขึ้นมา ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และเขาอยากจะมีชีวิตทางเพศอย่างนั้นบ้าง เพราะไม่อยากจะทำตามที่สังคมกำหนด ถามว่าพวกเขามีสิทธิไหม? หรือตัวอย่างสิทธิของผู้หญิง ซึ่งเมื่อก่อนเคยถูกบังคับให้ใช้นามสกุลของสามี เดี๋ยวนี้เขาอยากจะใช้นามสกุลตัวเองบ้างหลังแต่งงาน ก็เป็นสิทธิใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ สิทธิใหม่ๆอย่างอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการมีส่วนร่วม สิทธิในการที่จะคัดค้าน สิทธิในการดื้อแพ่ง โดยไม่ยอมทำตามตัวบทกฎหมายบางอย่าง หรือสิทธิในการตรวจสอบถ่วงดุล สิทธิเหล่านี้จะถือเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องกับชีวิตสมัยใหม่ทั้งสิ้น
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สิทธิในการเป็นผู้เสียหาย สังคมสมัยใหม่มักกำหนดให้ ประชาชนจะต้องมีสิทธินี้ ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายได้ ถ้าชาวบ้านเสียหายไม่ได้ ก็จะถูกรัฐละเมิดตลอดเวลา ในกรณีที่การพัฒนาจะมาทำลายชุมชน รัฐมักจะมาบอกว่า คุณจะต้องเป็นคนที่ยอมเป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวม และไม่ว่าจะเป็นพวกทำเขื่อน หรือทำท่อแก๊ส ก็มักจะบอกให้ ชาวบ้านจะต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม จะอ้างแต่ให้เสียสละเสมอ ก็อาจจะถูกต้อง ที่คนเราต้องเสียสละบ้าง แต่เมื่อเราเสียสละได้ ก็ต้องเป็นผู้เสียหายได้ ไม่ใช่จะเอาด้านเดียว เพราะสิทธิเป็นเรื่องที่มีสองด้าน ไม่ใช่บังคับให้ยอมรับอยู่ด้านเดียวตลอดเวลา
จะเห็นได้ว่า สิทธิต่างๆ ในสังคมสมัยใหม่นั้น ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหว เพื่อต่อรองและต่อสู้ในการรักษาสิทธิต่างๆ ซึ่งแสดงว่า สิทธินั้นจะแฝงไว้ด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจอยู่ด้วยเสมอ ด้วยเหตุนี้เอง สิทธิชุมชนจึงไม่ได้ลอยอยู่โดดๆ แต่จะไปพันกับสิทธิอื่นๆมากมายไปหมด ถ้าเราดึงสิทธิชุมชนมาพิจารณาแต่เพียงสิทธิเดียว เราอาจจะมองไม่เห็นสิทธิดังกล่าว และการที่สิทธิชุมชนยังบังคับใช้ไม่ได้และยังมีปัญหาอยู่ ก็เพราะเรายังไม่ได้มองสิทธิชุมชน ในฐานะที่เป็นความเชื่อมโยงกับสิทธิที่เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะต้องสถาปนาหรือผลักดันความเข้าใจ โดยเชื่อมโยงเรื่องสิทธิชุมชนกับสิทธิอื่นๆให้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ดำเนินการกันอยู่บ้างแล้ว แต่คงยังไม่เพียงพอ ที่จะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน
แต่วงการนิติศาสตร์ของไทยในปัจจุบัน เมื่อเราพูดถึงสิทธิใดสิทธิหนึ่ง เรามักจะพูดถึงสิทธินั้นๆแบบโดดๆ หาความเชื่อมโยงอะไรไม่ได้ เพราะระบบกฎหมายของเรามีลักษณะเป็นแบบ Positivism ดังที่ท่านอาจารย์เสน่ห์พูดไปแล้ว จึงมักจะเน้นตามตัวบทบัญญัติเป็นเรื่องๆไป โดยไม่ค่อยมีความสนใจในการเชื่อมโยงความคิดต่างๆ ตรงนี้ก็เลยทำให้สิทธิชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงหลุดลอยออกไปจากความเข้าใจทางกฎหมาย การที่จะไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็อาจจะเสียเวลาเปล่า เพราะต่างก็มาจากศาลฎีกาด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ คนที่เคยทำหน้าที่เป็นศาลมาตั้ง 40 ปี ถึงจะจับให้มานั่งอยู่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังคงคิดอย่างศาลเดิมอยู่นั่นเอง จึงต้องมีการเปลี่ยนองค์ประกอบอะไรบางอย่าง
นอกจากสิทธิชุมชนจะพันกับเรื่องสิทธิในด้านอื่นๆแล้ว ยังโยงใยกับอุดมการณ์และคุณค่าอื่นๆ ในสังคมอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการสร้างความชอบธรรม ยกตัวอย่างเช่น เรื่องทุนทางสังคม ถ้าเราไม่เข้าใจว่าที่ดินเป็นทุนของสังคม คิดแต่เพียงว่าเป็นของส่วนตัว ข้าจะทำอะไรก็ได้ อย่างนี้ไปไม่รอด เพราะที่ดินนั้น ถึงแม้ว่ารัฐจะยกให้โฉนดเป็นของปัจเจก แต่แท้จริงแล้วกฎหมายยังถือว่าที่ดินเป็นสมบัติร่วมกันของสังคม ซึ่งมีนัยว่าเป็นทุนทางสังคมนั่นเอง เพราะกฎหมายยังกำหนดไว้ว่า ถ้าคุณได้รับสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินไปแล้ว แต่ไม่ใช้ และปล่อยทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า มัวแต่เก็งกำไรกันอยู่ จนสร้างผลกระทบต่อสังคม กฎหมายที่ดินมาตรา 6 กำหนดให้รัฐสามารถถอนสิทธินั้นคืนได้ ถ้าเจ้าของที่ดินไม่ใช้เกิน 10 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กฎหมายที่ดิน ถือว่าเจ้าของโฉนดที่ดินเป็นเพียงผู้ดูแลแทนสังคมเท่านั้น แต่ปัญหาก็คือ มาตรา 6 นี้รัฐยังไม่เคยบังคับใช้เลย
ตรงนี้เป็นเรื่องน่าแปลก คนผิดกฎหมาย คล้ายๆกับจะได้รับแต่รางวัล เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องเฉพาะของเมืองไทย ก็อย่างที่บอกเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว คนที่อยากจะทำดี กลับไม่ได้รับรางวัล ซ้ำร้ายกลับถูกตีหัว จึงสร้างปัญหาเกี่ยวกับสิทธิอย่างมาก
นอกจากทุนทางสังคมแล้ว ทุนทางชีวิตและเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืนทางธรรมชาติและสังคม ความเป็นธรรมทางสังคม ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ตลอดจนวิธีคิดใหม่ๆ ที่เรากำลังนำเข้ามาแนะนำแก่สังคมไทย เช่น เรื่องของ"ประชาสังคม"บ้าง เรื่อง"ธรรมรัฐ"บ้าง ความคิดพวกนี้เกี่ยวข้องกันทั้งนั้น แต่เวลานี้เราเป็นพวก Lip Service คือพูดแต่ปาก พูดจนคล่อง ประชาสังคมบ้าง ธรรมรัฐบ้าง แต่ไม่รู้แปลว่าอะไร
สิทธิชุมชนจะไปพันกับความคิดพวกนี้ด้วย ถ้าความคิดพวกนี้ยังไม่ชัดเจน สิทธิชุมชนจะไม่สามารถปรากฎให้เห็นชัดเจนได้ ในทางการบังคับใช้ตามกฎหมาย ผมพูดถึงว่าจะเอาสิทธิชุมชนมาบังคับใช้ตามกฎหมายยังทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆ ที่จะตามมาก็ตาม พูดง่ายๆ คือว่า ในปัจจุบันนี้ อุดมการณ์ สิทธิ และคุณค่าต่างๆ ซึ่งพูดมาแล้ว ยังเป็นวาทกรรม ยังเป็นการพูดกันในวงวิชาการ ซึ่งค่อนข้างจำกัด และมีผู้สนใจทำความเข้าใจน้อยมาก เพราะเราไม่รู้ว่ามีผลกระทบกับเราอย่างไร? ดังนั้น จึงยังต้องการการเคลื่อนไหว ยังต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจอีกมาก จนกว่าเรื่องสิทธิชุมชนจะสามารถมีพลังและทำให้เป็นจริงได้ในสังคมไทย
ตามนัยะดังกล่าวที่พูดมาแล้ว ผมถือว่าสิทธิชุมชนเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องของการเปิดพื้นที่ทางสังคม ตรงนี้สำคัญมาก เพราะว่า โดยทั่วไปเรามักจะคิดว่า การเมืองของเรามีแต่การเลือกตั้ง จริงๆแล้วการเมืองเป็นเรื่องของพื้นที่ทางสังคมขนาดใหญ่ เราคงจะไม่ยอมให้กลไกทางการเมืองจากการเลือกตั้งผูกขาดพื้นที่นี้อย่างเดียว เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมือง ไม่ใช่ 4 ปีไปลงคะแนนเสียงครั้งหนึ่งเท่านั้น
สิทธิชุมชนคงจะปรากฏเป็นจริงไม่ได้เลย ถ้าหากว่าพื้นที่ทางการเมืองเหล่านี้ถูกปิด เพราะสิทธิชุมชนเกี่ยวพันกับพื้นที่เหล่านี้ หมายถึงพื้นที่ทางสังคมที่จะเปิดขึ้นมาใหม่ๆเหล่านี้ พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ของการแสดงความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะแสดงได้ก็ต่อเมื่อได้เปิดให้มีการเคลื่อนไหวทางสังคม ถ้าเราบอกว่าเรื่องนี้ชาวบ้านเดินขบวนไม่ได้ ก็เท่ากับปิดพื้นที่ทางสังคมอย่างแน่นอน การเคลื่อนไหวทางสังคมอาจจะทำได้หลายรูปแบบ การรวมตัวกันเพื่อคัดค้านก็เป็นรูปแบบหนึ่ง
การที่จะพัฒนาให้เกิดพื้นที่ทางสังคมเพิ่มขึ้นมากๆ ต้องอาศัยความคิด ซึ่งผมว่าไปแล้วหลายอย่าง เช่น ทุนของชีวิต ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม อะไรต่างๆเหล่านี้ ที่จะเข้ามามีบทบาทมาก แต่ว่าความคิดเหล่านี้เองก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจในสังคมอย่างชัดเจน สิทธิชุมชนในสังคมจึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะต้องมีชีวิตเชื่อมโยงกับความคิดเหล่านี้อยู่
ถ้าหากเราสามารถเปิดพื้นที่ของส่วนรวมให้มากขึ้นได้มากเท่าไหร่ ความเป็นไปได้ในเรื่องของสิทธิชุมชนในสังคมไทยก็จะเกิดขึ้นได้ แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า แนวทางของผู้มีอำนาจในรัฐบาล จะทำอะไรที่สวนกับที่ผมว่ามาโดยตลอดหมด ไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งนั้น พูดถึงนโยบายเกือบทุกอย่างจะสวนทางหมดเลย อย่างเช่น ผมบอกว่าต้องเปิดพื้นที่ของส่วนรวมมากขึ้น เพื่อให้สิทธิชุมชนปรากฏตัว นโยบายของรัฐเป็นอย่างไรหรือ? นโยบายของรัฐคือการแปลงทรัพย์สินเป็นทุน
นโยบายในเรื่องของการแปลงทรัพย์สินเป็นทุนนี้ ส่วนมากแล้วก็คือการเปลี่ยนทรัพย์สินของส่วนรวมให้เป็นสมบัติของส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้ก็ขัดแย้งแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ก็เท่ากับ ทำลายสิทธิชุมชนไปด้วย แต่ไม่เห็นมีใครคัดค้านเลยว่า ทำอย่างนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ ในแง่ที่ว่า ถ้าเราต้องการจะให้เกิดสิทธิชุมชน เราจะไปเปลี่ยนทรัพย์สิน ซึ่งเป็นของส่วนรวมอยู่แล้ว เพื่อเป็นของส่วนตัวไม่ได้
ปัญหาเช่นนี้จะก่อผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะคนจนต้องพึ่งพื้นที่ส่วนรวมมาก เช่นว่าเขาจะขายของที่นั่นที่นี่ที่เรามี บนฟุตบาทที่เป็นที่ส่วนรวม แต่แน่นอนก็ยังมีอำนาจมืดมาเก็บค่าต๋งไปอะไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีพื้นที่ให้เข้าถึงได้ ยิ่งคนจนเท่าไหร่ เขายิ่งพึ่งตลาดได้น้อย เขาต้องพึ่งพื้นที่ส่วนรวมนี้มาก ถ้าถูกปิดกั้นให้เป็นสมบัติส่วนตัว คนจนจะลำบากเพราะเข้าไม่ถึง คนจนที่อยู่ได้ทุกวันนี้ต้องพึ่งแม่น้ำ เมื่อไหร่ที่พวกเขาจับปลาไม่ได้ เพราะบอกว่าลำน้ำนี้เป็นของคนบ้านนั้น หรือทะเลเป็นของคนนี้ เป็นของคนนั้น คนจนแย่เลยครับ คนจนจับปลาตรงไหนก็ไม่ได้ แล้วปลามันเป็นอาหารขั้นต่ำสุด หมูหมาอาจไม่มีจะกิน อย่างน้อยจับปลากินได้ ก็พอเอาตัวรอดได้ ถ้าขาดตรงนี้ไปก็แย่
ดังนั้นการที่รัฐบาลมีนโยบายสวนทางกับความคิดสิทธิชุมชนอยู่ตลอดเวลา ในแง่ที่ว่าไปปิดกั้นพื้นที่ส่วนรวมให้กลายเป็นสมบัติส่วนตัว ซึ่งคนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาอาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจน ที่ผมกล่าวมาแล้ว การกระทำอย่างนี้เป็นการสร้างปัญหาให้เกิดความยากลำบากต่อการพัฒนาสิทธิชุมชน ซึ่งเราจะต้องชี้ปัญหาตรงนี้ให้ชัดเจน มิฉะนั้นแล้ว นโยบายที่ออกมาแต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่มีปัญหาทั้งนั้น พูดง่ายๆ นอกจากจะไม่ส่งเสริมสิทธิชุมชนแล้ว ยังทำลายอย่างจะแจ้งเยอะมาก
ทั้งนี้เพราะว่าเราไม่เข้าใจความหมายสิทธิชุมชนที่ชัดเจน เรามักจะดูความหมายของสิทธิชุมชน ในลักษณะที่แยกลอยออกมาต่างหากจากเงื่อนไขและบริบทต่างๆ พอพูดถึงเรื่องสิทธิชุมชน ก็พูดแยกออกมาต่างหาก โดยไม่ได้มองเห็นว่าสิทธิชุมชนต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของความเข้าใจสิทธิประเภทอื่นๆอีกมากมายมหาศาล ตรงนี้ต้องพยายามคิดให้เข้ามาเชื่อมโยง และต้องเข้าใจในสภาวะความเป็นจริงของปัจจุบันด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะผลักดันให้เกิดสิทธิชุมชนไม่ได้
ส่วนที่สาม
ความเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสร้างสิทธิชุมชน
เมื่อพูดถึงปัญหาของการไม่เข้าใจความหมายและการทำลายสิทธิชุมชน
สำหรับผู้ที่จะผลักดันในเรื่องนี้ ก็จะรู้สึกหดหู่แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า
ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาของเราอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาร่วมกันของสังคม
ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ ดังนั้นจึงต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างให้สิทธิชุมชนเป็นจริง
ผมบอกแล้วว่า สิทธิชุมชนไม่ใช่ความคิดซึ่งมีอยู่อย่างสมบูรณ์แล้ว
แต่ต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจ สิทธิชุมชนในบางลักษณะอาจจะมีอยู่แล้วบ้าง
แต่เนื่องจากสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องการมีสิทธิชุมชนประเภทอื่นๆ ใหม่ๆ
ขึ้นมาอีกมาก อย่างหลังนี้ต้องอาศัยการสร้างและการผลักดันให้เกิดขึ้น
ถ้าถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะทำอะไรได้บ้าง? ไม่ใช่บ่นอย่างเดียว ผมคิดว่า
ประการแรก คงต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายเชิงซ้อน เพราะผมบอกแล้วว่า เราติดอยู่ในมายาคติเชิงเดี่ยว เราถือว่ากฎหมายปัจจุบันเป็นกฎหมายเชิงเดี่ยว ส่วนกฎหมายเชิงซ้อนหมายความว่า การใช้ความคิดทางกฎหมายหลายหลักซ้อนกัน แต่ทำหน้าที่ต่างกัน เพื่อให้ตรวจสอบและถ่วงดุลกัน เช่น จารีตประเพณีก็ถือว่าเป็นหลักกฎหมายชนิดหนึ่ง มันควรจะต้องสามารถซ้อนอยู่ในกฎหมายอื่นๆได้ด้วย กฎหมายของเรานั้นก็ไม่ใช่ว่าจู่ๆเราไปลอกกฎหมายตะวันตกมาทั้งหมด ยังมีกฎบัญญัติอื่นๆ ที่คงอยู่ไม่ได้หายไปไหน อย่างเช่น กฎหมายตราสามดวง กฎพระธรรมศาสตร์อะไรต่างๆ ซึ่งยังคงรวมอยู่ในกฎหมายปัจจุบันด้วย แต่เนื่องจากว่าระบบกฎหมายของเราเน้นหลักกฎหมายเชิงเดี่ยว เราจึงไม่ค่อยยอมรับการดำรงอยู่ของความคิดทางกฎหมายชนิดอื่นๆ ซึ่งเคยมีอยู่แล้วในสังคมไทย
การที่เราไม่ใส่ใจความคิดเรื่องกฎหมายเชิงซ้อน มีผลให้ความคิดเกี่ยวกับสิทธิชุมชนหลายอย่างเกิดขึ้นไม่ได้ เช่น เรื่องของการมีส่วนร่วม และสิทธิในการเป็นผู้เสียหายของชาวบ้าน เป็นต้น อย่างที่ผมได้พูดไปแล้ว ถ้าเราใช้กฎหมายเชิงซ้อนก็หมายความว่า คนหรือชุมชนจะต้องสามารถแสดงตนเป็นผู้เสียหายได้ อย่างเช่นในกรณีของการสร้างโรงไฟฟ้าใช้พลังงานถ่านหิน ชาวบ้านที่คาดว่าจะเป็นผู้เสียหายต้องเดินขบวนกัน เสียเวลานานกว่าจะทำความเข้าใจได้ว่าเป็นผู้เสียหาย แท้จริงแล้วการที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้านตรงนั้น ก็คือสิทธิของชุมชนในฐานะที่เป็นผู้เสียหาย ถ้าใครก็ตามเป็นผู้เสียหาย เขาจะต้องสามารถแสดงตนเป็นผู้เสียหายได้ หลักการนี้จะต้องซ้อนอยู่ในการใช้หลักกฎหมายอื่นๆด้วย สิทธิชุมชนของชาวบ้านจึงจะได้รับการเคารพ หลักการเช่นนี้ถือเป็นการใช้กฎหมายเชิงซ้อน แต่เราไม่มีความคิดเรื่องนี้ใส่อยู่ในวิธีคิดของกฎหมายเชิงเดี่ยว จึงทำให้สิทธิประเภทนี้ยังไม่ได้ถูกนำมาบังคับใช้กันอย่างจริงๆจังๆ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับความเป็นธรรมในสังคมอย่างมาก
แล้วถามว่าในสังคมไทยมีกฎหมายเชิงซ้อนใช้กันอยู่แล้วบ้างหรือเปล่า เราจะพบว่ามีการใช้อยู่เต็มเลยครับ แต่มีลักษณะของการเลือกปฏิบัติไง การใช้ในบางลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ รัฐก็ใช้ อย่างเช่นในกรณีของกฎหมายผังเมืองจะเห็นได้ชัดเจน กฎหมายผังเมืองกำหนดว่า แม้คุณจะถือครองที่ดินอยู่เป็นสมบัติส่วนตัว แต่ถ้าที่ดินของคุณเกิดอยู่ในเขตพื้นที่สีเขียว รัฐจะสามารถห้ามคุณไม่ให้ทำอะไรตามใจชอบ คุณจะไปทำเป็นเขตพาณิชย์หรือสร้างโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้ อย่างนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นการบังคับใช้กฏหมายเชิงซ้อนแล้ว เพราะใช้หลักกฎหมาย 2 หลักซ้อนกันบนพื้นที่เดียวกัน หลักกฎหมายหนึ่งให้สิทธิเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในพื้นที่ส่วนตัว แต่หลักของกฎหมายอีกอันหนึ่งกลับยกเว้นสิทธิอันเดียวกันนั้นในบางเงื่อนไข ตามที่สังคมคิดว่าจะมีประโยชน์มากกว่า
ในกรณีที่ต้องการรักษาพื้นที่ไว้ให้เป็นสีเขียวเพื่อส่วนรวม อย่างนี้ก็แสดงว่ามีการใช้หลักกฎหมายเชิงซ้อนอยู่บ้างแล้ว ในกรณีของพื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัดก็เช่นกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวมุสลิมอยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ เราก็ใช้ทั้งหลักกฎหมายไทยและกฎหมายมุสลิมซ้อนกันอยู่ ถ้าเป็นเรื่องครอบครัว เรื่องศาสนา ใช้กฎหมายมุสลิมบังคับ แต่เรื่องอื่นก็ใช้กฎหมายไทยส่วนรวมบังคับ
หลักกฎหมายเชิงซ้อนนี้ นักนิติศาสตร์ในเมืองไทยจำนวนมากไม่เข้าใจ อาจจะไม่เคยเรียน หรือไม่รู้เรื่อง แต่เท่าที่ทราบทั่วโลกถือเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะเห็นว่ามีผลงานทางวิชาการ มีวารสาร มีสมาคม มีการพูดถึงเรื่องนี้ในการเรียนการสอน แต่ของเราเรียนกฎหมายกันอย่างไรไม่ทราบ หลักการเรื่องนี้หลุดหายไปเสียเฉยๆ เพราะฉะนั้นคนส่วนหนึ่งจึงยังไม่เข้าใจ แต่มิได้หมายความว่าสังคมไทยยังไม่มีการใช้ เพราะได้ชี้ให้เห็นแล้วว่ามีการใช้อยู่จริง แต่รัฐจะเลือกใช้ในกรณีที่ได้ประโยชน์เท่านั้น ส่วนกรณีที่จะทำให้ประชาชนได้สิทธิชุมชนขึ้นมา รัฐกลับเพิกเฉยไม่นำเอามาใช้
ดังนั้นความคิดเรื่องสิทธิชุมชนก็ดี หลักกฎหมายเชิงซ้อนก็ดี ที่พยายามผลักดันกันอยู่ จึงไม่ใช่เป็นเพียงอุดมคติหรือเรื่องเลื่อนลอย แต่เป็นหลักการที่มีใช้อยู่แล้วในสังคมไทย แม้จะเป็นเพียงการถูกเลือกใช้ก็ตาม เพราะฉะนั้นจะต้องผลักดันให้มีการนำเอากฎหมายเชิงซ้อนมาใช้อย่างเป็นกิจลักษณะ แล้วก็ครอบคลุมมากขึ้น ส่วนจะทำอย่างไรเป็นเรื่องรายละเอียด แต่จะต้องเข้าใจหลักคิดนี้เสียก่อน ถ้าปราศจากหลักคิดดังกล่าวก็ทำไม่ได้
ประการที่สอง ต้องปรับแก้กลไกเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่บิดเบือน เนื่องจากสิทธิชุมชนไม่ใช่สิทธิลอยๆอยู่ได้โดดๆ แต่จะเกี่ยวพันอยู่กับเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญมากที่สุดคือ เรื่องของกลไกเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อันนี้สำคัญมาก เพราะอะไรหรือ ถ้าเราผลักดันสิทธิชุมชนกันไปแทบตาย แต่ปรากฏว่ากลไกเชิงโครงสร้างยังอยู่เหมือนเดิม สิทธิชุมชนก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะกลไกเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ทุกวันนี้บิดเบือนสารพัด ปล่อยให้ดูดเอาส่วนที่เป็นสมบัติส่วนรวม กลายไปเป็นกำไรของส่วนตัวเต็มไปหมด จนแทบไม่เหลือที่สำหรับส่วนรวม
ในระบบตลาดจะมีกลไก ที่รัฐบาลเผด็จการเคยออกมาตรการมาบิดเบือนไว้เต็มไปหมด มีอยู่หลายเรื่อง ที่จริงมีเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องนโยบายที่รัฐบาลกำหนดให้ประชาชนต้องซื้อน้ำตาลในราคาที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งตอนนี้เราถูกกำหนดให้ต้องซื้อในราคากิโลกรัมละ 13-14 บาท ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกเพียง 5 บาทเท่านั้น รัฐบาลจะอธิบายว่า การที่คนไทยต้องซื้อน้ำตาลแพงเพราะ เราต้องการจะอุดหนุนให้อุตสาหกรรมน้ำตาลอยู่ได้ เพื่อให้คนทำไร่อยู่ได้ ให้คนงานมีงานทำ แต่ลองไปดูคนงานไร่อ้อยซิครับ ต้องอยู่กันเหมือนหมูเหมือนหมา มีคนไปเอามาจากภาคอีสาน ใส่รถบรรทุกแล้วเอาไปปล่อยทิ้งที่ไร่อ้อย
พูดง่ายๆก็คือว่า เราไปอุดหนุนเฉพาะอุตสาหกรรมเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้ช่วยคนทั่วไปจริง ถ้าเผื่อเราเปลี่ยนราคาน้ำตาลเป็นกิโลกรัมละ 5 บาท แล้วอุตสาหกรรมของเราไร้ประสิทธิภาพเอง ก็คงต้องปล่อยให้ล้มไปครับ ทำไมต้องรักษาไว้ด้วย ในเมื่อไม่มีประสิทธภาพ ขณะที่เรายึดหลักการว่า ระบบตลาดต้องผลักดันไปสู่เป้าหมายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ประโยชน์สูงสุด แต่จริงๆ กลับทำตรงกันข้าม มีแต่จะรักษาอุตสาหกรรมห่วยๆเอาไว้ พวกนี้ชอบซื้อเครื่องจักรราคาถูกจากไต้หวัน เป็นเครื่องจักรมือสอง แล้วก็ต้องซ่อมกันอยู่นั่น ซึ่งไม่มีทางพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีได้ แสดงว่าเราไม่ได้เน้นเรื่องประสิทธิภาพจริง เราพูดกันแต่ปาก จึงเป็นปัญหาให้ประชาชนคนไทยต้องแบกรับภาระอีกตั้งเกือบ 10 บาทฟรีๆ โดยไม่รู้ว่าไปเข้ากระเป๋าใครบ้าง
การที่รัฐบาลจะทำเพียงแค่นโยบายเอื้ออาธรณ์อะไรต่างๆ หรือโครงการหมู่บ้านละล้านบาท ก็ปล่อยให้ส่งเข้าไปเถอะ แต่จะไปไม่รอดหรอกครับ เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจยังบิดเบือนอยู่ทั้งหมด แม้จะให้คุณไปล้านบาท แต่ต้นทุนของคุณเวลาจะทำขนมอะไรขาย ที่ต้องใช้น้ำตาล คุณก็จะถูกดึงให้ต้องเพิ่มต้นทุนมากขึ้น ถ้าเผื่อปรับแก้ทางโครงสร้างให้น้ำตาลทรายราคากิโลกรัมละ 5 บาท ชาวบ้านก็คงได้ประโยชน์มากกว่า ดังนั้นนโยบายที่รัฐบาลทำอยู่ จึงเป็นการแก้ไขผิดจุด ถือเป็นเพียงการไปแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น
นโยบายต่างๆที่รัฐบาลพยายามทำอยู่นั้น จริงๆแล้วเป็นเพียงการไปเร่งให้เศรษฐกิจทุนนิยมฟื้นขึ้นมาใหม่ แม้การผลักดันให้เงินไปกระจายอยู่ในหมู่บ้านมากขึ้น ก็อาจจะดูดี แต่ถ้าทำอย่างนั้นอย่างเดียว ทำเพียงปีหนึ่งหรือสองปี ก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าทำเรื่อยๆไปถึง 8 ปี ก็ซวยซิครับ เพราะว่าเรื่องสำคัญๆ เชิงโครงสร้างยังไม่ได้แก้ไข แต่ไปทำเฉพาะในเรื่อง ที่ผมเรียกว่าปัญหาตบยุง หมายถึงยุงกัดที่ไหนก็ตบที่นั่น อย่างนี้ก็ตบกันตายทั้งตัว แต่ตัวสาเหตุที่ทำให้เกิดยุง ยังไม่ได้ทำอะไรเลย
ถ้าทำกันแบบนี้อย่างเดียว สิทธิชุมชนก็เกิดขึ้นไม่ได้ แทนที่จะสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง กลับจะยิ่งเป็นการเตะหมูเข้าปากหมาเสียมากกว่า อย่างเช่น โครงการแปลงทรัพย์สินเป็นทุนอะไรต่างๆเหล่านี้ จะยิ่งเป็นการบิดเบือนเชิงโครงสร้างมากขึ้นทั้งสิ้น ถ้าเผื่อเราไม่เข้าไปจัดการปรับแก้เลย ก็จะไม่ก่อให้เกิดสิทธิชุมชนอะไรขึ้นมาได้ ถ้าเราปล่อยให้โครงสร้างทีบิดเบือนเหล่านี้คงอยู่ ก็จะทำให้การกระจายความมั่งคั่งของสังคมถูกบิดเบือนด้วย หมายความว่าเกิดช่องว่างของรายได้อย่างที่เราพูดถึงกัน แล้วพอเกิดช่องว่างมากๆ ยังสำทับซ้ำเติมลงไปอีก ด้วยโครงการพัฒนาต่างๆของรัฐที่ มักเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละ ส่วนใหญ่ก็คือคนจนต้องเสียสละก่อน และก็ต้องเสียสละมาโดยตลอด เมื่อโครงสร้างยังบิดเบือนอยู่ร้อยแปด แล้วก็ยังไปเรียกร้องให้ชาวบ้านเสียสละอีก อย่างนี้แล้วเมื่อไหร่ช่องว่างจึงจะหดแคบเข้าได้
การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจหรือการสร้างความเจริญให้กับประเทศชาตินั้น ตัวชี้วัดน่าจะอยู่ที่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้รับส่วนแบ่ง จากการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ปล่อยให้โครงสร้างบิดเบือน แล้วก็บอกว่าฉันจะสร้างเศรษฐกิจ ให้พัฒนาบนความบิดเบือน แบบนี้จะพัฒนาไปได้อย่างไร เมื่อไหร่ที่โครงสร้างบิดเบือนมาก ก็จะไปปิดกั้นแรงจูงใจของคนที่จะลงทุน เราก็จะพัฒนาได้เฉพาะบนพื้นฐานของการบริโภคอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไร้ความยั่งยืนอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่ได้ง่ายมาก เมื่อเราใส่เงินเข้าไปในระบบมากๆ แต่ไม่มีใครสนใจผลิตอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จะผลิตกันเพียงบางอย่างจากคนภายนอกเข้ามาลงทุน เช่น รถยนต์ บ้านจัดสรร อะไรต่างๆ กล่าวคือจะมีการผลิตเพียงนิดหน่อย แต่ไม่ได้เป็นการส่งเสริมภาคการผลิตอย่างแท้จริง
ถ้าเป็นเช่นที่กล่าวมานี้ ใครจะมีแรงจูงใจไปลงทุนผลิตอะไร เพราะว่าเมื่อพัฒนาจนเกิดความมั่งคั่งขึ้นมาแล้ว คุณก็ไม่ได้รับส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรม เนื่องจากโครงสร้างยังบิดเบือนอยู่ตลอดเวลา ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ ถ้าหากเราต้องการผลักดันกันจริง ยังมีมาตรการอีกหลายอย่างที่รัฐบาลจะต้องแก้ไข เท่าที่ผ่านมา ยังไม่เห็นรัฐบาลนี้ไม่ขยับเลย ถ้าหากว่ารัฐบาลอยากจะทำนโยบายเท่าที่ทำไปแล้ว ไม่ต้องการเสียงข้างมากก็ได้ เพราะได้เสียงข้างมากขนาดนี้แล้ว ยังไม่ได้แก้ไขอะไรเกี่ยวกับโครงสร้างเลย ก็อย่าไปเสียเวลาหาเสียงข้างมากเลย เพราะว่ามีเสียงน้อย ก็เห็นทำเหมือนกับแบบนี้ ทำอย่างเดียวกัน คือแก้ปัญหาเฉพาะที่ปลายเหตุ
ในสมัยรัฐบาลชวน ผมก็เคยเบื่อมาแล้ว พอลุกขึ้นพูดทีไร ก็อ้างถึงนโยบายอุดหนุนนมโรงเรียน ก็เอื้ออาธรณ์แบบเดียวกัน พอมารัฐบาลนี้ ก็เอื้ออาธรณ์กันอีกแล้ว นี่แสดงว่าไม่ได้คิดอะไรใหม่กันจริงๆเลย เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ ไม่ว่าจะมีเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย ก็ทำเหมือนเดิม คือยังไม่ได้แก้ไขโครงสร้างที่บิดเบือนอะไรเลย
การแก้ไขโครงสร้างที่บิดเบือนต่างๆนั้น รัฐบาลที่ผ่านๆมา ก็น่าจะทำได้ตั้งหลายอย่าง เช่นการเปลี่ยนมาเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว ก็จะช่วยลดการบิดเบือนลงมาได้อย่างมหาศาล คนถือครองที่ดินไปแล้วไม่ทำประโยชน์ ก็ให้เก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น เท่ากับบังคับให้ต้องนำที่ดินไปใช้ในการผลิต ถ้าเจ้าของที่ดินไม่ใช้ ก็จะถูกบังคับให้ขายออกมา เพราะแบกรับภาระภาษีไม่ได้ คนอื่นที่ต้องการผลิตก็จะได้ประโยชน์แทน มาตรการในระบบทุนนิยมง่ายๆแค่นี้ นักวิชาการพูดกันมาแล้วไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี ก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนสนใจจะทำอะไร ทั้งๆ ที่ ขณะนี้ไม่มีประเทศไหนในโลก ที่สามารถจะพัฒนาได้ โดยไม่มีการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เพราะทุกประเทศรู้ดีว่า ถ้าไม่เก็บภาษีดังกล่าว ทรัพยากรจะไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตามเงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในปัจจุบัน เรายังไม่ต้องพูดถึงการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเป็นแบบอื่น เอาแค่มาตรฐานของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ก็ถือว่าการไร้ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า นี้ เป็นการจัดการระบบเศรษฐกิจที่ต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว
เท่าที่ผมพูดมานี้ พูดอยู่ในภาพของอนาคตเพียงแค่ 20-30 ปี ไม่ใช่พูดในเรื่อง 100 ปีข้างหน้า เอาแค่นี้ก่อน ถ้าไม่ทำตรงนี้จะก้าวไปกว่านี้ไม่ได้แน่นอน เพราะระบบเศรษฐกิจก็จะลุ่มๆดอนๆ เศรษฐกิจของเราเวลานี้ก็ลุ่มๆดอนๆ อยู่แล้ว หมายความว่า บางวันดีบางวันร้าย เมื่อก่อนนี้ภาวะวิกฤตจะเกิดขึ้นห่างกันมาก ประมาณ 30-50 ปี จึงเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ 2470 เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ต่อมาปี พ.ศ 2520 กว่าๆ ก็เกิดวิกฤตอีกครั้ง ต่อไปในอนาคต ความถี่ของวิกฤตทางเศรษฐกิจอาจจะเกิดบ่อยมากขึ้น กระทั่งทำให้คนจนต้องประสบกับความลำบากมาก จนอยู่ไม่ได้ เพราะกลไกเชิงโครงสร้างที่ควรจะสร้างขึ้นมาแก้ไขการบิดเบือนต่างๆ เราแทบไม่ได้ทำอะไรกันเลย ซึ่งก็ยังมีอีกหลายกลไก ผมเพียงแต่ยกตัวอย่างเรื่องของภาษีที่ดินที่จัดเก็บในอัตราก้าวหน้าเท่านั้น
สังคมไทยยังต้องการกลไกเชิงโครงสร้างอื่นๆ อีกมาก เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สิทธิชุมชน เท่าที่ผ่านมาสังคมไทยขยับตัวช้ามาก จะมีการเคลื่อนไหวอยู่บ้างก็ในภาคประชาชน ที่ต้องเผชิญอยู่กับปัญหาจริงๆ ตัวอย่างเช่น กรณีที่ชุมชนในชนบทของจังหวัดลำพูนพยายามจะผลักดันเรื่องการออกโฉนดชุมชน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นกลไกเชิงโครงสร้างที่สำคัญอีกกลไกหนึ่ง เพราะจะช่วยรักษาให้ที่ดินยังอยู่ในการควบคุมและจัดการของภาคสังคมและชุมชน มิเช่นนั้นเราก็จะคิดแต่การแปลงทรัพย์สินเป็นทุนอย่างเดียว ทุนในที่นี้ก็คือทรัพย์สินส่วนตัว ในสังคมประชาธิปไตยจะต้องให้ทรัพย์สินอยู่ในการดูแลของหลายๆฝ่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับกลุ่มชนส่วนต่างๆในสังคม ทรัพย์สินจึงไม่ควรให้เป็นของปัจเจกชนหรือของรัฐเท่านั้น แต่ต้องให้อยู่ในการควบคุมดูแลของภาคชุมชนบ้าง ของภาคสังคมอื่นๆบ้าง เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ ถ่วงดุล และต่อรองกันมากขึ้นในสังคม ไม่ใช่ปล่อยให้ตลาดและรัฐทำงานแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในการบิดเบือนโครงสร้างต่างๆเพิ่มมากขึ้น ดังที่กล่าวไปแล้ว
การแก้ไขปัญหาของโครงสร้างที่บิดเบือน พร้อมๆกับการสร้างกลไกเชิงโครงสร้างใหม่ๆขึ้นมาในสังคม บนพื้นฐานของการเปิดพื้นที่ให้กับสิทธิชุมชนมีบทบาทมากขึ้น จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้อย่างดีทีเดียว ตรงนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญ ที่ผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริงๆ
ประการที่สาม ต้องทำลายมายาคติต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในส่วนแรก พร้อมๆกันนั้น ก็ต้องสร้างความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์และความคิดใหม่ๆ เช่น สิทธิในการสร้างตัวตน สิทธิในการมีส่วนร่วม สิทธิในการเป็นผู้เสียหาย เป็นต้น
ในกรณีของความคิดเรื่องสิทธิในการเป็นผู้เสียหายนี้สำคัญมาก สังคมไทยเราคุ้นเคยกับการปล่อยให้รัฐเป็นตัวแทนไปหมด เราจะต้องผลักดันให้ความคิดนี้เข้าไปอยู่ในกฎหมายต่างๆ เพื่อที่จะทำให้สิทธิชุมชนเกิดขึ้นได้ เพราะจะช่วยเปิดพื้นที่ให้ชุมชนสามารถแสดงตัวตนได้ในเงื่อนไขที่เป็นจริงในสังคมปัจจุบัน
ประการสุดท้าย ต้องมีการเคลื่อนไหว เพื่อคัดค้านการทำลายสิทธิชุมชนทุกรูปแบบ เพราะการคัดค้านการทำลายสิทธิชุมชน ก็เท่ากับเป็นการสร้างสิทธิชุมชนขึ้นด้วยในเวลาเดียวกัน แม้เป้าหมายสำคัญคือการสร้างสิทธิชุมชนก็ตาม แต่ทีนี้ปัญหาในปัจจุบันจะพบว่ามีการทำลายสิทธิชุมชนอยู่แล้วมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นนโยบายและการปฏิบัติการต่างๆของภาครัฐและราชการ มักจะมีส่วนทำลายสิทธิชุมชนทั้งสิ้น ดังนั้นหากไม่ได้คัดค้านสิ่งเหล่านี้เสียก่อน สิทธิชุมชนก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง
ท้ายที่สุดก็อยากจะฝากไว้ว่า สิทธิชุมชนจะไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าเราไม่สามารถทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจว่า สิทธิชุมชนไม่ใช่เป็นเรื่องของการไปคัดค้านหรือว่าไปขัดขวางการพัฒนา จริงๆแล้ว ถ้าไม่มีสิทธิชุมชนต่างหาก การพัฒนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะการพัฒนาไม่ใช่หมายความเพียงว่า การพัฒนาไปสู่การมีตัวเลขความเจริญเติบโตที่มากขึ้น แต่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นหมายความถึง การมีส่วนร่วมและมีการแบ่งปันกันในสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น ขณะเดียวกันมีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนด้วย สองประเด็นนี้เป็นเป้าหมายของการพัฒนา ไม่ใช่แค่ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น
ถ้าเราคิดว่าการพัฒนาที่แท้จริง หมายถึงการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วไซร้ ผมคิดว่าสิทธิชุมชนเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะจะส่งเสริมให้หรือสร้างแรงจูงใจให้คนในสังคม มีความสนใจที่จะลงทุนหรือที่จะผลิตมากขึ้น แทนที่จะใช้การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบของการบริโภคอย่างเดียว อย่างที่เรากำลังจะเข้าสู่แนวทางนั้นอยู่ หรือทำอยู่เวลานี้ ซึ่งผมคิดว่าจะนำพาให้เราเข้าสู่ทางตันมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
อยากจะเน้นอีกครั้งหนึ่งว่า สิทธิชุมชนจะเอื้อต่อการพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืน ไม่ใช่เป็นตัวขัดขวาง แต่ถ้าเราคิดแต่ว่าการพัฒนาคือตัวเลขที่สวยหรูแล้วละก็ อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องตัดสินใจ ผมก็พูดได้ แต่ตัดสินใจแทนไม่ได้ แต่ถ้ายังมีความสงสัยอยู่ ก็จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจให้ได้
ดังนั้น การที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ได้เริ่มต้นว่า ปัญหาของเราเป็นเรื่องของความแปลกแยกและช่องว่างทางปัญญา ผมว่าช่องว่างเช่นนี้ ก็เหมือนกับช่องว่างของรายได้ หากปล่อยให้ห่างกันมาก จนยากที่จะสื่อสารกันแล้ว ก็จะสร้างปัญหามากเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าประเด็นต่างๆที่ผมกล่าวมาแล้วเหล่านี้ สังคมไทยยังไม่เข้าใจชัดเจน สื่อมวลชนยังสนใจลงแต่เรื่องอาชญากรรมทุกวัน ขอให้เราดูโทรทัศน์ มีแต่เรื่องอาชญากรรม ฆ่ากันทุกวัน แต่เรื่องอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม มักไม่ค่อยได้ออก แล้วจะให้ว่ากันอย่างไร
ผมก็พูดได้ในเวทีเล็กแค่นี้เท่านั้น ขอขอบคุณมากครับ
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิมmidnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)