เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๗: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

2
0
0
4

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 383 หัวเรื่อง
การพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
ชัยอนันต์ สมุทวณิช
ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษา


เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com

R
relate topic
040547
release date
เว็ปไซค์ม หาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยไม่มีเงื่อนไขทางการศึกษา วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจใดๆมาเป็นอุปสรรค และยังมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตความรู้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
The Alternative University


การพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
เวทีสาธารณะ พลเมืองถกพลังงาน
ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ข้อความนี้เรียบเรียงจากแถบบันทึกเสียง คำกล่าวปาฐกถานำ "เวทีสาธารณะพลเมืองถกพลังงาน"
ของ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษา
ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๕
(จากแฟ้มข้อมูลเก็บตก มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๗)
(บทความนี้ยาวประมาณ 6.5 หน้ากระดาษ A4)

ถ้าทำให้เกิดการ'ได้หมด-เสียหมด' กลุ่มผู้เดือดร้อนจะต่อสู้รุนแรงมากขึ้น

ความนำ
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน วันนี้ผมมาพูดใน ๒ ฐานะด้วยกัน

ฐานะแรก คือ ฐานะที่เคยเป็นกรรมการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาผลกระทบทางสังคมและการเมืองในการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก หัวหน้าคณะทำงานลงพื้นที่รับฟังความเห็นของคนกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ชาวประมงขนาดเล็ก ไปจนถึงหอการค้าชลบุรีและระยอง เมื่อปี ๒๕๒๓ อาจจะเป็นครั้งแรก ที่รัฐมีความคิดจะศึกษาผลกระทบทางสังคมและการเมืองอย่างจริงจัง ด้วยเงินจากรัฐบาล ๖๐๐,๐๐๐ บาท เราได้ลงไปสำรวจความรู้สึก ความเห็นของประชาชนในพื้นที่

ฐานะที่สอง เป็นฐานะผู้ที่เคยเป็นครูสอนวิชารัฐศาสตร์ เกี่ยวโดยตรงกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ เอกชน ประชาชน รวมทั้งความสัมพันธ์ของรัฐ เอกชน ประชาชน ในกระแสโลกานุวัตน์

ผมมีข้อสังเกตเบื้องแรกว่า นับวันจะมีข้อขัดแย้งระหว่าง ๒ วิถีชีวิตมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้ง ๒ วิถีชีวิตนี้ นับวันยิ่งแยกห่างกันทุกที จากแนวทางเศรษฐกิจใหม่ ที่กำลังเกิดขึ้น

คำถามก็คือ สังคมมนุษย์ตั้งแต่โบราณมา วิวัฒนาการโดยสร้างอารยธรรมและวัฒนธรรมขึ้นมาอย่างไร อยู่รอดปลอดภัยยั่งยืนมาจนบัดนี้ เป็นเวลาหมื่นปีหรือห้าพันปีมาได้ด้วยเหตุผลอะไร

คำตอบก็คือ ชุมชนที่เติบโตเป็นเมืองแล้วกลายเป็นชาติ เติบโตมาด้วยความร่วมมือและการแข่งขันของมนุษย์ทุกชุมชน เป็นความร่วมมือและการแข่งขันที่อยู่ในแกนเดียวกัน อาจหมายความว่า ด้านซ้ายเป็นความร่วมมือ ด้านขวาอาจจะเป็นการแข่งขัน ในแกนของความร่วมมือ การแข่งขันก็มีอยู่ ไม่ใช่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้หมดและเสียหมด

ความร่วมมือและการแข่งขัน จึงอยู่บนหลักการที่ไม่มีฝ่ายใดได้หมดหรือเสียหมด นวัตกรรมใหม่และเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดจากการแข่งขันในการทำมาหากิน เช่น ชุมชนในแอฟริกาก็ดี เอเชียกลางก็ดี หรือชุมชนในแถบเอเชียก็ดี การแข่งขันบางเรื่องนำไปสู่การเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ

ไม่ว่าจะเป็น คนล่าสัตว์ใช้ตาข่ายดักสัตว์ จับสัตว์มาเป็นอาหาร คนจับสัตว์มาแล้วก็แบ่งปันกัน ในการแบ่งปันก็จะก่อเกิดความร่วมมือ ในที่สุดก็พัฒนาตาข่ายดักสัตว์มาใช้ร่วมกัน แม้แต่การทำประมง ก็มีเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่ใช้ร่วมกันได้ โดยไม่มีใครผูกขาดเทคโนโลยีนั้นไว้ใช้เฉพาะตัว

วิถีชีวิตของสังคมมนุษย์ ที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด คือ ไม่มีใครได้หมดหรือเสียหมด ทำให้สังคมเติบโตขึ้นมาได้ และอยู่ได้ด้วยหลักการแบ่งปันกันในสังคม

ขณะนี้ เมื่อโลกพัฒนาไปไกล ถึงขนาดที่เรามีระบบโลกานุวัตน์เกิดขึ้น กลายเป็นว่าการร่วมมือและการแข่งขัน กลับอยู่กันคนละแกน คนที่อยู่ในสมการของความร่วมมือและการแข่งขัน เป็นบุคคลคนละกลุ่ม มีผลประโยชน์แตกต่างกัน ที่สำคัญ มีวิถีชีวิตแตกต่างกัน แสวงหาผลประโยชน์หรือผลกำไรแตกต่างกัน จึงไม่มีวันที่จะมีความคิดหรือความรู้สึกร่วมกันได้ ผิดกับการแข่งขันและความร่วมมือในชุมชนดั้งเดิม

ตัวอย่างที่เห็นอยู่ขณะนี้ คือ กรณีโครงการขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก ที่ลงไปในที่ต่างๆ เราจะพบว่า ฝ่ายหนึ่ง มีข้อพิจารณาลำดับความสำคัญสูงสุด คือ สร้างผลกำไรให้ได้มากที่สุดสำหรับผู้ถือหุ้น และผู้ถือหุ้นที่จะได้รับผลกำไรตอบแทน ก็ไม่ใช่คนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับชุมชนที่ตั้งโครงการ ที่จะเข้าไปหาประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟฟ้า เรื่องท่อก๊าซ หรือโครงการอื่นๆ

พูดง่ายๆ คือ ความเป็นเจ้าของและผลประโยชน์ที่จะได้รับ เกิดกับกลุ่มคนที่มีความรู้สึก หรือมีทัศนคติที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับคนในพื้นที่ตั้งโครงการ

ในเบื้องแรก การพูดถึงยุทธศาสตร์การได้หมดหรือเสียหมด ก็ยังมีมิติที่แตกต่างกันอีกด้วย คือ ฝ่ายหนึ่งที่อยู่กับชุมชน เขาเสียหมดทั้งในแง่วิถีชีวิต เสียหมดในเรื่องของแหล่งอาหาร เสียหมดในเรื่องความสัมพันธ์ของชุมชนที่ก่อเกิดขึ้นมาในอดีต แล้วก็อยู่มาอย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน

คำว่าอยู่อย่างยั่งยืนนี้ เราพูดกันในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกือบทุกฉบับ โดยเฉพาะหลังๆ เราจะพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ความยั่งยืนในความหมายของคนต่างกลุ่มก็ต่างกัน เช่น ฝ่ายหนึ่งอาจมีข้อพิจารณาสูงสุดอยู่ที่เรื่องการเงิน

รัฐเองในระยะหลังๆ ถ้าไม่ระมัดระวังก็จะสับสนว่า การที่ชาติจะแข็งแรงได้นั้น ต้องแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจให้ทันประเทศอื่น จริงๆ แล้ว การวางตำแหน่งแห่งที่ของประเทศและชุมชน จะพบว่าระดับการพัฒนา ไม่ว่าทางเทคโนโลยีหรือด้านอื่น ให้เราวิ่งกวดเขาเท่าไหร่ก็ไม่มีทางทัน

เราคงต้องวางตำแหน่งแห่งที่ว่า เรื่องใดเราจะใช้แนวทาง หรือใช้วิธีหรือมีข้อพิจารณาสูงสุดในทางการเงิน หรือผลตอบแทนทางธุรกิจ เรื่องใดเราจะรักษาวิถีชีวิตที่ยั่งยืน คำนึงถึงต้นทุนทางสังคม ทางวัฒนธรรม ทางความรู้สึกนึกคิดของผู้คน ชีวิตของชนแต่ละรุ่น

กรณีระยองที่ผมไปสำรวจมา นับเป็นตัวอย่างที่ดี ขณะนั้น ไทยกำลังขัดแย้งกับเวียดนาม มีภัยรุกรานจากต่างประเทศ ทางฝ่ายทหารก็กำหนดว่า ถ้าเกิดภัยรุกรานขึ้น จะมาจากเวียดนาม จึงพิจารณาโดยสร้างภาพจำลองว่า ถ้าเวียดนามใช้เครื่องบินมิก บินมาถึงชายฝั่งทะเลตะวันออก จะใช้เวลาเพียง ๑๒ นาทีเท่านั้น เมื่อจะพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก ผมก็ว่าน่าจะดูทางด้านความมั่นคงทางการเมืองและทางด้านสังคมด้วย ไม่ใช่ดูเฉพาะผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหรือทางการเงินเพียงอย่างเดียว

จากการศึกษาพื้นที่แถบระยอง เราพบว่าแผนยุทธศาสตร์ในการป้องกันประเทศทางทะเล เมื่อปี 2523 นั้น กำหนดพื้นที่ความมั่นคงไว้ ๒ พื้นที่ คือ พื้นที่อ่าวแม่รำพึง บริเวณตำบลเชิงเนิน ใกล้กับกองพันทหารราบที่ ๗ นาวิกโยธิน ซึ่งเป็นกองกำลังส่วนหนึ่ง ที่จะต้องยันหากมีการรุกรานทางบกเข้ามาจากตราดและจันทบุรี

อีกพื้นที่หนึ่งอยู่ศรีราชา เป็นพื้นที่น้ำลึกใช้ยกพลขึ้นบก สำหรับสถานีทหารเรือสงขลา ที่จะตัดทะเลมาช่วย ถ้ามีการรุกรานจากเวียดนาม

ปรากฏว่า พื้นที่หนึ่งถูกตอกท่าเทียบเรือน้ำลึกในที่ยกพลขึ้นบก โดยบริษัทที่ขณะนี้ไม่ใช่ของคนไทยอีกแล้ว ขณะนั้น รัฐบาลตกลงใจ ที่จะให้ตอกท่าเทียบเรือน้ำลึกลงไปในที่นั้น ทหารเรือก็เสียที่ยกพลขึ้นบกไปที่หนึ่ง คราวนั้นเราต้องแลกความมั่นคงของประเทศกับการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ชาวประมงน้ำตื้นทั้งหลาย ที่บังเอิญอยู่ลึกลงไปอีกฟากถนนหนึ่ง ไม่ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณชายฝั่งมากนัก ถึงจะมีปฏิกิริยา แต่ก็ไม่เหมือนที่ประจวบคีรีขันธ์

บทเรียนที่เรามี คือ ที่ใดก็ตามถ้าเผื่อมีชุมชนใดตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งอย่างหนาแน่น และใช้พื้นที่บริเวณชายฝั่งนั้นเป็นแหล่งอาหารด้วย เป็นที่อยู่อาศัยด้วย และอยู่มาเป็นเวลานานเกินกว่า 30 ปีขึ้นไป ถ้ามีโครงการใหญ่ๆ ไปลงในแถบนั้น เราจะต้องใช้กระบวนการอีกแบบหนึ่ง แทนที่จะเข้าไปกว้านซื้อที่ แล้วก่อสร้างหรือลงทุนไปเลย

เหมือนอย่างโรงงานปิโตรเคมี ที่จังหวัดระยองขณะนั้น ก่อสร้างโรงงานไปก่อนจะได้รับใบอนุญาต ผมขอให้หยุดไว้ก่อน แต่ที่สุดทุกคนบอกว่า ลงทุนไปแล้วเป็นพันล้านบาท เราต้องยอมหมดทุกอย่าง แม้กระทั่งปล่อยให้พื้นที่ที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ แผนยกพลขึ้นบกของทหารเรือ ต้องกลายเป็นท่าเรือน้ำลึกไป นั่นคือ เราแลกกับความมั่นคงของประเทศ

เป็นการแลกที่นำไปสู่ยุทธศาสตร์ใหม่ นั่นคือ เราต้องทำทุกอย่างที่จะไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับเวียดนาม เพราะว่าพื้นที่แถบนั้นเป็นพื้นที่รับสงคราม ถ้าเกิดสงครามจริงๆ แล้ว มิกจากเวียดนามบินมา 12 นาที มาทิ้งระเบิดที่นั่นได้เลย หมายความว่า ถ้ามีสงครามเราจะสูญเสียมาก

สิ่งที่เราเรียนรู้ในที่นี้ คือ กระบวนการตัดสินใจของรัฐที่ผ่านมา เราดูข้อพิจารณาทางเศรษฐกิจมาก แม้ตอนหลังจะมาดูข้อพิจารณาอื่นๆ แต่ยังเป็นข้อพิจารณาผลตอบแทนทางการเงินอยู่ดี เช่น ถ้าเกิดข้อขัดแย้งขึ้น เราบอกจะตั้งกองทุนให้ เราจะให้เงินชาวบ้าน เราจะทำอะไรต่อมิอะไร

สิ่งหนึ่งที่ลืมคิดไป คือ พื้นที่นั้นจะเปลี่ยนเจ้าของ เราลืมว่าชุมชนเป็นเจ้าของพื้นที่ ทั้งในแง่วิถีชีวิต ทั้งเป็นผู้อาศัยแหล่งใกล้เคียง ไม่ว่าทะเลหรือป่าเป็นแหล่งอาหาร หรือแหล่งสินค้า

จริงๆ นั่นคือการเปลี่ยนเจ้าของ เจ้าของกิจการใหม่ที่ลงไปสู่พื้นที่บางพื้นที่ มีวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง มีข้อพิจารณาในเรื่องผลกำไรต่อผู้ถือหุ้นอีกแบบหนึ่ง ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ จะถูกเรียกร้องให้เสียสละเพื่อส่วนรวม และคนส่วนใหญ่

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ ที่จะได้รับอานิสงส์จากโครงการใหม่ๆ กลับเป็นประชาชนที่ไม่ใช่ผู้เดือดร้อน ประชาชนผู้เดือดร้อนอาจจะมีจำนวน ๑,๐๐๐ คน น้อยกว่าจำนวนประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ผู้เดือดร้อนโดยตรง แต่อาจจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ในกรณีเกิดโครงการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นปิโตรเคมี ไฟฟ้า หรืออื่นๆ

ข้อพิจารณาของรัฐ ที่ต้องคิดให้หนัก คือ ประชาชนที่เราหมายถึงในขณะนี้ เป็นประชาชนผู้เดือดร้อน ประชาชนผู้เดือดร้อน คือ ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย จึงไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ที่จะได้ผลประโยชน์จากโครงการ

เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะต้องลงไปดูประชาชนผู้เดือดร้อนจากโครงการ และข้อพิจารณาในเรื่องนี้ จะต้องนำไปสู่ยุทธศาสตร์ใหม่ เรามีบทเรียน ตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ เป็นต้นมาว่า อะไรก็ตามที่ก่อให้เกิดการได้หมดและเสียหมด จะผลักดันประชาชนกลุ่มผู้เดือดร้อน เข้าสู่การต่อสู้ที่รุนแรงมากขึ้น หลายๆ แห่งในโลก เราจะพบสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกา ในชุมชนต่างๆ หรือในยุโรป ก็มีลักษณะความขัดแย้งในเชิงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น หากไม่พิจารณากันในลักษณะก่อให้เกิดการประนีประนอมได้

ประเด็นการพูดคุยหรือปรึกษาหารือ เพื่อให้เกิดกระบวนการประนีประนอมกัน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกนี้ มีเรื่องสำคัญอยู่ ๒ เรื่อง คือ ๑. การสื่อสาร ๒. ความไว้วางใจกันและกัน

การสื่อสารและความไว้วางใจกันและกัน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับกรอบยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ไม่มีใครได้หมดเสียหมด การสื่อสารและความไว้วางใจกันและกัน จึงน่าจะเกิดขึ้นในเบื้องแรก

ปัญหาการสื่อสารไม่ตรงกัน มีข้อมูลไม่ตรงกัน มีข่าวลือจริงบ้างไม่จริงบ้าง เหมือนกรณีปิโตรเคมีคอล ที่ระยอง ซึ่งผมไปพบมา ตอนแรกมีข่าวว่า อาจจะเป็นโรคมินามาตะ ต่อมามีข่าวเรื่องต่างๆ ตามมา รวมทั้งข่าวบริษัทไม่ติดเครื่องระบายความร้อนของน้ำที่จะถ่ายลงไปทิ้งในทะเล ทำให้ตัวอ่อนของสัตว์ที่เรียกว่าแพลงตอนตายหมด ไม่สามารถเติบโตได้

ในหลายประเทศ จึงต้องสร้างแรงกดดันให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้หลักประกันว่า สภาพแวดล้อมในบริเวณที่จะเกิดโครงการใหญ่ๆ ไม่เสียไป บริษัทที่ทำเรื่องเหล่านี้ ถ้าเผื่อไม่มีการตั้งคำถาม หรือไม่มีแรงกดดันจากประชาชน หรือไม่มีนักวิชาการ คอยช่วยชี้ให้เห็นผลกระทบ ก็จะไม่ลงทุนในด้านที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น อย่างเช่น ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ระยะ ๒๐ ปีที่ผ่านมา บริษัททั้งหลายเห็นความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น ต้องจัดทำไว้ก่อนในโครงการเบื้องแรก ไม่ใช่เมื่อมีคนมาชี้หรือคนมาร้องเรียน หรือคนมาเคลื่อนไหวแล้ว ถึงบอกว่าจะทำ แล้วทำเป็นอย่างๆ ไป

ถ้าเผื่อต่อรองมากเรียกร้องมาก หรือประชาชนดื้อมากหน่อย ก็ทำมากหน่อย ถ้าเผื่อไม่ดื้อก็ใช้วิธีอื่น วิธีที่ใช้กันสมัยก่อน คือ เอาเงินสัก ๓๐๐,๐๐๐ บาท ไปบำรุงวัด หรือเงินอีก ๕๐๐,๐๐๐ บาท ไปให้สภาตำบล แล้วบอกว่าประชาชนบางส่วน เห็นด้วยกับโครงการแล้ว

เรื่องแบบนี้ ทำให้มีความคิดว่า
ประการแรก จะต้องทำให้การสื่อสารเรื่องข้อมูลกว้างขวางขึ้น ทำให้คนรับรู้ข้อมูลมากขึ้น เหมือนกับวันนี้มีหนังสือเล่มเล็กๆ หลายเล่ม ให้ข้อมูลบางอย่าง และบทเรียนที่มีการประเมินได้ข้อสรุปแล้วว่า ผลกระทบจากโครงการใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น ที่เคยบอกว่า จะทำให้วิถีชีวิตดีขึ้นนั้น ผลที่ออกมามันเป็นด้านบวกหรือเป็นด้านลบ

ถ้าเผื่อเรามีข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางเทคนิค หรือข้อมูลจาก EIA ก็ต้องตรวจสอบกัน และต้องสื่อสารให้ชัดเจนตรงกัน ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ในการสื่อสารมักมีข้อมูลไม่ตรงกัน แต่ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ยังไม่สำคัญเท่ากับแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาไม่ตรงกัน แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาที่สุดโต่งข้างหนึ่ง กับอีกข้างหนึ่งที่พยายามจะอยู่อย่างยั่งยืน อยู่อย่างพอเพียง

เรื่องการสื่อสาร ต้องมีกลไกและกระบวนการต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ ผมเคยเตือนหลายทีแล้วว่า ใครทำโครงการไหน อย่าพึ่งซื้อที่ดิน อย่าพึ่งจับจองที่ดิน ควรศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า ประชาชนในพื้นที่ ต้องการมีวิถีชีวิตอย่างไร ความผูกพันของชุมชนกับพื้นที่ มีสูงแค่ไหน

ประการที่สอง ความไว้วางใจกันและกัน การสื่อสารและความไว้วางใจกันและกัน เป็นปัจจัยหลัก ทำให้สังคมมนุษย์วิวัฒนาการมาได้จนทุกวันนี้ ความไว้วางใจกันและกันนั้น ขณะนี้ลดน้อยลงเป็นลำดับ และขยายขอบเขตไปเป็นความไม่ไว้วางใจกัน ระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง

อันนี้ผมเคยให้ความเห็นกับรัฐบาล หรือใครก็ตามที่จะทำโครงการว่า วิธีการที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่วิธีการแบ่งแยกแล้วปกครอง ไม่ใช่วิธีการที่จะทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับโครงการ ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการ เพราะวิธีนี้ คนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการก็ยังมีอยู่ ถึงแม้จะมีอยู่หนึ่งคนก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น เรื่องการสื่อสารกับการไว้วางใจกันและกัน จะต้องมีกระบวนการสร้างขึ้นมา

สุดท้าย เรื่องที่ยากที่สุดสำหรับทุกสังคม ทุกประเทศ คือ ข้อพิจารณาของฝ่ายที่จะสร้างอะไรก็ตาม กับข้อพิจารณาของฝ่ายที่จะได้รับผลกระทบ อาจเป็นข้อพิจารณาที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน เหมือนกับที่ผมพูดมาแล้ว ข้อพิจารณาของผู้สร้าง มักจะเป็นเรื่องการให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งบุคคลเหล่านั้น ไม่ได้มาเห็นหน้าเห็นตาผู้คนในชุมชน

สิ่งที่ยากที่สุด คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้กระบวนการตัดสินใจของรัฐ ที่ต้องวางนโยบายการพัฒนา จึงจะไม่มีนโยบายชุดเดียว ไม่มาบอกว่า เราทุกคนต้องเสียสละเพื่อการพัฒนาแบบนี้ เพราะการพัฒนาจริงๆ แล้ว คือ การสร้างทางเลือก และการรักษาทางเลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลง

บางคนมองการพัฒนา คือ การเปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ การพัฒนาที่ยั่งยืน อาจเลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นการก่อให้เกิดวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง

สิ่งที่ไม่ต้องเขียนในรัฐธรรมนูญ คือ สิทธิของมนุษย์ รัฐธรรมนูญเพียงแต่ประกันสิทธิตามธรรมชาติเท่านั้น สิทธิตามธรรมชาติ คือ สิทธิที่จะเลือกชีวิตตามที่ตัวเองต้องการ

ประการสุดท้าย ที่ผมอยากจะพูด คือ ขอแสดงความยินดีกับผู้จัดในวันนี้ ที่ได้ทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๖ วรรค ๒ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๖ นั้น การที่รัฐจะทำโครงการอะไรที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการใช้ทรัพยากร หรือการได้มาซึ่งทรัพยากร จะต้องไม่ให้มีผลกระทบถึงประชาชน ในวรรค ๒ บอกว่า จะต้องให้องค์กรอิสระและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย มาถกเถียงกันถึงข้อดีข้อเสียก่อน ผมยินดีที่เวทีนี้เป็นเวทีที่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๖ วรรค ๒

ผมหวังอย่างยิ่งว่า จะนำไปสู่ข้อพิจารณาเกี่ยวกับทางเลือกของชีวิตด้วย เพราะการที่ใครจะได้หมดเสียหมดนั้น ฝ่ายหนึ่งจะได้เฉพาะส่วนหนึ่งของชีวิตเขาเท่านั้น คือ ได้ผลกำไรจากกิจการที่ดำเนินไป ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งสูญเสียวิถีชีวิตทั้งหมด การได้หมดเสียหมด จึงไม่ควรจะดูเฉพาะในแง่ของผลตอบแทนทางด้านการเงินเท่านั้น แต่ควรจะดูให้ลึกลงไปว่า การสูญเสียทางเลือกในชีวิตของชุมชนบางชุมชนนั้น ไม่มีอะไรมาทดแทนได้

ดูปัญหาที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจแล้ว ผมไม่อิจฉาเลย ใครเป็นรัฐบาลขณะนี้ลำบากมาก แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะต้องเรียนรู้ บทเรียนที่เราเรียนรู้ ควรจะเป็นบทเรียนให้เราหลีกเลี่ยงการซ้ำรอยเดิม ไม่ว่าสังคมไหน ถ้าไม่เรียนรู้จากบทเรียนเดิม เดินซ้ำรอยเดิมอยู่บ่อยๆ สังคมจะมีความรุนแรงมากขึ้น โอกาสที่เราจะอยู่ร่วมกันโดยสันติ โดยสงบ และโดยยั่งยืนจะไม่มี

ความซับซ้อน จะยิ่งมีมากกว่านั้น ถ้าเผื่อผู้ที่ได้หมด หรือได้รับผลประโยชน์ เป็นคนที่อยู่ในสังคมอื่น จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามว่า ถ้าเอาสิ่งนี้มาตั้งหน้าบ้านคุณ คุณจะยอมไหม

ขณะที่ผู้เสียหมด คือ คนที่อยู่ในชุมชน และยังจะต้องอยู่ในชุมชนนั้น เป็นคนที่อยู่มานานแล้ว และอยากจะอยู่ต่อไปในวิถีชีวิตที่เคยอยู่มา

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชา"อาชญากรรมทางเพศและความรุนแรงต่อผู้หญิง" ศูนย์สตรีศึกษา มช.

ผมหวังอย่างยิ่งว่า จะนำไปสู่ข้อพิจารณาเกี่ยวกับทางเลือกของชีวิตด้วย เพราะการที่ใครจะได้หมดเสียหมดนั้น ฝ่ายหนึ่งจะได้เฉพาะส่วนหนึ่งของชีวิตเขาเท่านั้น คือ ได้ผลกำไรจากกิจการที่ดำเนินไป ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งสูญเสียวิถีชีวิตทั้งหมด การได้หมดเสียหมด จึงไม่ควรจะดูเฉพาะในแง่ของผลตอบแทนทางด้านการเงินเท่านั้น แต่ควรจะดูให้ลึกลงไปว่า การสูญเสียทางเลือกในชีวิตของชุมชนบางชุมชนนั้น ไม่มีอะไรมาทดแทนได้

บทความเก็บตกจากแฟ้มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - เคยเผยแพร่แล้วบน webboard
ทำอย่างไรกระบวนการตัดสินใจของรัฐ ที่ต้องวางนโยบายการพัฒนา จึงจะไม่มี นโยบายชุดเดียว ไม่มาบอกว่า เราทุกคนต้องเสียสละเพื่อการพัฒนา เพราะการพัฒนาจริงๆ แล้วคือการสร้างทางเลือก และการรักษาทางเลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลง

ในเบื้องแรก การพูดถึงยุทธศาสตร์การได้หมดหรือเสียหมด ก็ยังมีมิติที่แตกต่างกันอีกด้วย คือ ฝ่ายหนึ่งที่อยู่กับชุมชน เขาเสียหมดทั้งในแง่วิถีชีวิต เสียหมดในเรื่องของแหล่งอาหาร เสียหมดในเรื่องความสัมพันธ์ของชุมชนที่ก่อเกิดขึ้นมาในอดีต แล้วก็อยู่มาอย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน
รัฐเองในระยะหลังๆ ถ้าไม่ระมัดระวังก็จะสับสนว่า การที่ชาติจะแข็งแรงได้นั้น ต้องแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจให้ทันประเทศอื่น จริงๆ แล้ว จะพบว่าระดับการพัฒนา ไม่ว่าทางเทคโนโลยีหรือด้านอื่น ให้เราวิ่งกวดเขาเท่าไหร่ก็ไม่มีทางทัน

H