เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๗: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

2
0
0
4

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 384 หัวเรื่อง
อาณาจักรอเมริกากับสงครามอิรัก
ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com

R
relate topic
080547
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความวิชาการ ฟรีสำหรับทุกคน
เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยไม่มีเงื่อนไขทางการศึกษา วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจใดๆมาเป็นอุปสรรค และยังมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตความรู้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
The Alternative University


แนวคิดสันติวิธีกับการทำความเข้าใจสงครามอิรัก
อาณาจักรอเมริกา กับ สงครามอิรัก
สัมภาษณ์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชื่อเดิมของบทความ"อาณาจักรอเมริกา ศาสนา สงคราม และสันติวิธ"ี
นำมาจาก http://www.skyd.org/html/sekhi/56/44-empire.html (เสขิยธรรม ฉบับที่ 56)
วงสนทนาระหว่าง อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, คุณนารี แซ่ตั้ง และเสขิยธรรม
ที่ชั้น ๓ ตึกคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันอังคารที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๖ เวลา ๑๕.๐๐ - ๑๖.๓๐ น.
(รำลึกครบรอบหนึ่งปีของสงครามอิรัก - เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง)

(บทความนี้ยาวประมาณ 21 หน้ากระดาษ A4)

 

ความนำ
สงครามธรรมยุทธ์ หรืออธรรมยุทธ์

เสขิยธรรม : สงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรักครั้งนี้ มีความเหมือนหรือแตกต่างจากสงครามครั้งก่อน ๆ อย่างไร?

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ขึ้นอยู่กับว่าเข้าใจกับสงครามครั้งก่อน ๆ อย่างไร
ผมคิดว่าเพื่อประโยชน์ของผู้อ่านหรือผู้สนใจ อยากชวนให้คิดถึงสงครามใน ๒ นัยยะ คือ

ประการแรก พิจารณาปัญหาสงครามครั้งนี้ ซึ่งผมเข้าใจว่าท่านเจ้าคุณพระศรีปริยัติโมลีได้เขียนถึงไว้ คือสงครามนี้เป็น "ธรรมยุทธ์" หรือ "อธรรมยุทธ์" และ
ประการที่สอง คือปัญหาเรื่องตัวของผู้ก่อสงคราม คือกรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัญหาอีกอันหนึ่งต่างหาก ถ้าจะพูดอย่างสั้น ปัญหาการเป็นธรรมยุทธ์ หรืออธรรมยุทธ์ มีเกณฑ์ในการพิจารณาซึ่งมีที่มาจากทางศาสนา ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ จนปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ ถือว่าเงื่อนไขที่สำคัญมี ๓ ข้อ คือ

ข้อแรก ดูว่าสงครามนั้น เป็นสงครามซึ่งรุกรานหรือป้องกันตัว (aggressive or defensive war) อธรรมยุทธ์เป็นสงครามที่รุกรานผู้อื่น ไม่มีเหตุอันควรที่จะต้องก่อสงครามแต่ก็ทำ

ข้อสอง พิจารณาว่า ผู้ประกาศสงครามนั้น ๆ มีสิทธิอำนาจ (authority) ในการประกาศสงครามหรือไม่ หมายความว่า สมมุติผู้เผด็จการตัดสินใจประกาศสงคราม ลากพาประชาชนเข้าไป ก็ถือกันว่าสงครามนั้น มีความชอบธรรมน้อยหรือไม่มีเลย เพราะตัวผู้เผด็จการนั้นเองไร้ความชอบธรรม แต่ถ้าผู้ปกครองนั้นมีที่มาทางการเมืองโดยชอบ เช่นได้รับเลือกตั้งมาอย่างถูกต้อง อาจถือได้ว่ามีความชอบธรรมมากขึ้น

ข้อสาม เป็นองค์ประกอบของการพิจารณาความเป็นธรรมยุทธ์ ภายใต้กลไกการต่อสู้ของสงครามนั้นเอง เช่นพิจารณาว่า สงครามนั้น ได้ใช้อาวุธที่ก่อความหายนภัยให้กับผู้คนมากน้อยเพียงไร ทำความเสียหายให้กับผู้คนซึ่งเป็นพลเรือนระดับใด หรืออาวุธที่ใช้สามารถจะแยกพลเรือนออกจากพลรบ ได้มากน้อยอย่างไร

เมื่อนำเกณฑ์เหล่านี้มาพิจารณาเป็นข้อ ๆ ไป จะเห็นได้ว่า ในแง่ของการเป็นสงครามป้องกันตัว ขณะนี้ค่อนข้างเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ เพราะเหตุผลที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ รวมทั้งสเปนและออสเตรเลีย เห็นพ้องยอมไปรุกรานอิรัก ก็เพราะเชื่อว่าอิรักมีอาวุธที่ก่อความหายนภัยได้สูง หรือเพราะอิรักมีความสัมพันธ์กับการก่อการร้ายสากล

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกเห็นว่าหลักฐานในเรื่องเหล่านี้ไม่หนักแน่นจึงยังไม่เห็นด้วย ที่จริงอาจกล่าวได้ว่างานของคณะกรรมการตรวจสอบอาวุธยังไม่ลุล่วง ในรายงานที่คณะกรรมการเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติ ก็ชี้ว่าอิรักให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เปิดเผยเกือบจะหมดโดยให้เข้าไปดูอาวุธในจุดต่าง ๆ รวมตลอดถึงทำเนียบประธานาธิบดีด้วย

และที่กล่าวหาว่าอิรักมีความสัมพันธ์กับการก่อการร้ายสากลก็ไม่ชัดเจนกระไร ที่จริงรัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซนกับองค์กรอัฆออิดะห์ถือกันว่า แตกต่างกัน เพราะองค์กรอย่างอัลฆออิดะห์อาศัยการอ้างศาสนาอิสลามเป็นแกน ในขณะที่รัฐบาลอิรักของซัดดัม ฮุสเซนเป็นพรรค "บาอัธ" ในสายสังคมนิยมไม่ใช่สายศาสนา ในอดีตก็ไม่เอาด้วยกับสายศาสนา เพราะฉะนั้นอธิบายปัญหาความสัมพันธ์นี้ได้ยาก

ประเด็นต่อมาคือ คือปัญหาว่า สงครามในคราวนี้ผู้ก่อสงครามมีความชอบธรรมหรือไม่ ควรเข้าใจว่าองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีสิทธิอำนาจ (authority) ในการทำสงครามหรือใช้กำลังในระหว่างประเทศ คือคณะมนตรีความมั่นคง เป็นองค์กรภายในสหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องอย่างนี้โดยตรง ไม่ว่าจะกล่าวอย่างไร ข้อยุติประการหนึ่งคือ คณะมนตรีความมั่นคงยังไม่ได้ตัดสินใจให้ก่อสงครามนี้

ถ้าจะบอกว่าถืออย่างฝรั่งเศส คือไม่รบ สหรัฐอเมริกาก็จะใช้สิทธิคัดค้านที่เรียกว่า veto ซึ่งเขาก็มีสิทธิ เพราะมีคณะมนตรีความมั่นคงมี ๒ ส่วน คือส่วนที่เป็นสมาชิกถาวร ๕ ประเทศ และที่เหลือคือสมาชิกหมุนเวียน สมาชิกถาวรมีลักษณะที่สำคัญคือ เป็นผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะเห็นได้ว่านี่คือโครงสร้างของ UN ซึ่งให้ประเทศที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาตั้งตนเองเป็นสมาชิกถาวร ซึ่งมีสิทธิในการ veto ซึ่งหมายความว่าใครจะพูดอะไร ๔ เสียงว่าอย่างนี้ สมาชิกถาวรหนึ่งประเทศไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิยับยั้งคัดค้าน เป็นอันต้องไม่เอาข้อเสนอนั้น นี่คือสถานการณ์สำคัญของคณะมนตรีความมั่นคง หลายคนบอกว่านี่คือจุดอ่อนของสหประชาชาติปัจจุบัน

ถ้าเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์ อาจพบว่าจุดอ่อนของสันนิบาตชาติ ซึ่งตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็คล้ายกัน คือการตัดสินใจของสันนิบาตชาติ ที่เขาต้องการให้ทุกคนลงมติเป็นเอกฉันท์ แต่ความเห็นพ้องต้องด้วยที่เป็นเอกฉันท์ หรือเรียกว่าเอกฉันทามติ (unanimity) ในการระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่ไกลสุดยากที่จะเกิดขึ้นได้ ที่สุดสันนิบาตชาติก็ต้องล้มไป ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะหากในกรณีอิรัก - สหรัฐฯนี้ จะไปทางที่สหรัฐฯ กับอังกฤษเห็นชอบ ฝรั่งเศสกับจีนและรัสเซีย ก็คงเห็นค้าน ที่จะไปทางสหรัฐฯและอังกฤษ อีกสามประเทศซึ่งเป็นสมาชิกถาวรก็คง veto ถือได้ว่า คณะรัฐมนตรีความมั่นคง ไม่ได้ให้สิทธิอำนาจในการโจมตีอีรัก

สหรัฐอเมริกาแย้ง โดยอ้างมติให้สหประชาชาติให้ใช้กำลังได้ ที่ลงไว้ตั้งแต่สงครามอ่าวเมื่อปี ๒๕๓๔ คราวที่อิรักบุกคูเวต ทั้งที่ขณะนี้เป็นคนละกรณีกัน แต่ฝ่ายสหรัฐฯ และอังกฤษก็อ้างว่ามติดังกล่าวยังใช้บังคับได้อยู่ แต่ในสายตานักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปในโลก เห็นว่าสงครามครั้งนี้ อย่างไรก็ถือกันทั่วไปว่า ไม่ชอบธรรม

ประเด็นพิจารณาต่อมา เป็นเรื่องของชนิดการใช้อาวุธ สงครามนี้แตกต่างจากสงครามอื่น ๆ ในความหมายที่ว่าเทคโนโลยีทางอาวุธก้าวหน้ามาก หมายความว่ามีระบบอาวุธที่เรียกว่า JDAM เป็นอาวุธซึ่งมีความแม่นยำสูง มุ่งโจมตีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงได้มาก มี E-Bomb หรืออิเล็คโทรนิคบอม ซึ่งมุ่งทำลายเครือข่ายอิเล็กโทรนิคของฝ่ายตรงข้าม โดยทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์ไม่มากนัก เว้นแต่จะอยู่ในบริเวณที่ระเบิดลงตรง ๆ

รัฐบาลอเมริกันคิดว่า ในสงครามคราวนี้ จะใช้วิธีการเหล่านี้ เพื่อลดการบาดเจ็บหรือล้มตายของพลเรือน พุ่งเป้าเข้าไปที่พลรบ แต่ดูเหมือนยุทธศาสตร์การทหารสหรัฐฯ ที่ใช้ในการรบครั้งนี้จะคาดคะเนผิดไป เพราะคาดว่าจะเร็วกว่านี้ แต่ก็ไม่เร็วเท่าที่ใจตนคิด ทั้งหมดนี้คือภาพของการประเมินว่าสงครามที่เกิดเป็นธรรมยุทธ์หรืออธรรมยุทธ์

อาณาจักรอเมริกา
ข้อพิจารณาสำคัญส่วนที่ ๒ ที่ทำให้คิดว่าสงครามคราวนี้ต่างจากคราวอื่นคือ คงจะต้องเข้าใจธรรมชาติของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนแปลงไป ผมได้ไปพูดอภิปรายในหลายที่เพื่อจะอธิบายว่า ขณะนี้สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศเหมือนเช่นประเทศอื่น ๆ ไม่ใช่จักรวรรดินิยมที่มุ่งล่าผลประโยชน์ของประเทศในลักษณะต่าง ๆ แต่เป็นอาณาจักร (empire) การเป็นอาณาจักรไม่ใช่การเป็นจักรวรรดินิยม (imperialist) ประเทศอาจใช้นโยบายจักรวรรดินิยมได้ คือจะไปรุกรานประเทศอื่น แย่งชิงขูดรีดวัตถุดิบและแรงงานของประเทศเหล่านั้นมาไว้เป็นสมบัติในอำนาจของตัว อย่างนี้เรียกว่าจักรวรรดินิยม (imperialism)

ข้อต่างที่สำคัญคือว่าประเทศจักรวรรดินิยมทำทุกอย่างในนามของผลประโยชน์ของประเทศ เวลาคิดถึงลัทธิจักรวรรดินิยม ยังสามารถใช้ "ประเทศ" เป็นหน่วยในการวิเคราะห์ได้ เวลาถามว่า อะไรเป็นผลประโยชน์ของชาติเข้าใจได้ ผมคิดว่าจุดอ่อนของการวิเคราะห์ในขณะนี้คือยังคิดกันอยู่ว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศ ถ้าเช่นนั้นคงต้องถามว่าแล้วประโยชน์ของสหรัฐฯ คืออะไร การทำสงครามอย่างนี้กับการซื้อน้ำมันจากอิรักในราคาแพงที่เป็นอยู่ อย่างไหนจะง่ายกว่ากัน หมายความว่าคงไม่ได้มีความต้องการแค่น้ำมัน ไม่ใช่เพียงเรื่องผลประโยชน์ของชาติด้วยซ้ำ คงมีอย่างอื่นอีกด้วย

ผมคิดว่าแนวคิดเรื่อง "อาณาจักร" หรือ empire ซึ่งมีนักวิชาการไม่น้อยกำลังทดลองใช้อธิบาย กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าใจว่า เหตุใดสหรัฐฯ จึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ถ้าคนทั่วโลก ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ในสหประชาชาติไม่เอาด้วย ความชอบธรรมของสงครามครั้งนี้ก็ไม่มี แต่รัฐบาลอเมริกันก็ตัดสินใจทำสงครามนี้จนได้ เช่นนี้จะอธิบายว่าอย่างไร

คงไม่ใช่ผลประโยชน์ของประเทศเสียแล้ว เพราะผลประโยชน์ของประเทศนั้น โดยเฉพาะของสหรัฐฯ ควรต้องเข้าใจว่าในหลายสิบปีที่ผ่านมา สิ่งที่สหรัฐได้ลงทุนไปในแง่ของความรู้สึกในทางวัฒนธรรมมากมาย ทำให้ผู้คนในโลกเห็นว่าสหรัฐฯ เป็นมหาประเทศซึ่งดีงาม เป็นแบบอย่างของสังคมที่ให้คุณค่ากับความแตกต่างกับเสรีภาพ สงครามครั้งนี้ส่งผลเสียต่อการลงทุนทางสังคมวัฒนธรรมเหล่านั้นของสหรัฐฯ เองอย่างที่ประมาณได้ลำบาก

นารี แซ่ตั้ง : จะเรียกว่าโง่เขลาได้ไหม เพราะเคยลงทุนไปมาก

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ถ้าลำพังคิดว่าเขาเป็นประเทศ คุณก็ไปสู่ข้อสรุปว่าเขาโง่ แต่ผมรู้สึกว่าสรุปแบบนั้นจะแปลได้หรือไม่ว่า ประเทศที่ก้าวหน้าเพียงนั้นโง่เขลา หรือว่าปัญหาอยู่ที่จะเข้าใจสหรัฐฯ ในปัจจุบันไม่ได้ด้วยวิธีปกติ แต่ถ้าอธิบายว่าสิ่งที่โลกกำลังเผชิญคืออาณาจักร (empire) ก็อาจช่วยให้เข้าใจได้ว่าทำไมพฤติกรรมของสหรัฐฯ ณ วันนี้จึงเป็นแบบนี้

เสขิยธรรม : มีบางคนพูดว่าสหรัฐฯ ทำแบบนี้โง่หรือหน้าด้านกันแน่

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ผมพยายามคิดว่า คำอธิบายแต่ละอัน ช่วยให้ผมเข้าใจแบบแผนพฤติกรรมของคน หรือสังคมมากขึ้นหรือน้อยลง ถ้าเราตอบว่าตกลงทั้งหมดนี้เพราะเขาโง่ก็คือจบ แต่จะอธิบายอย่างไร ประเทศซึ่งมีผู้คนกว่า ๒๕๐ ล้านคน มีนักการเมืองที่มีคุณภาพอยู่บ้าง ทั้งสังคม ก็มีคนทั้งเห็นด้วย เห็นค้าน หลากหลาย จะอธิบายได้อย่างไร หรือในกรณีอังกฤษจะอธิบายอย่างไรว่า รัฐสภาอังกฤษสนับสนุนนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ทั้งที่ประชาชนมากมายออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับสงคราม มีอะไรหลายอย่างที่เกิดขึ้น ถ้าตอบว่าเพราะ "หน้าด้าน" ก็คงตอบได้เวลาอธิบายพฤติกรรมบุคคล แต่จะอธิบายประเทศ ผมคิดว่าต้องทำอีกอย่างหนึ่ง และคำอธิบายที่ผมเสนอก็คือว่า ในวันนี้คงต้องตั้งคำถาม ถ้าเป็น empire เป็นอาณาจักรเขาจะคิดอะไร จะทำอะไร

นารี แซ่ตั้ง : เป็นความเข้าใจของเขานะคะอาจารย์ คือ เพราะว่าเขาคิดว่าเป็นเช่นนั้น เขาจึงทำอย่างนี้ แต่คนทั้งหลายในโลกคิดว่าเขาเป็นประเทศ ก็คือความรู้สึกของความเป็นอาณาจักร เป็นเพียงความคิดของคนสหรัฐฯ แต่อาจไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปใช่ไหม

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : คิดว่าแม้คนอเมริกันเองก็อาจไม่ได้คิดไปถึงว่า ตนกำลังเปลี่ยนแปลง หมายความว่า การเปลี่ยนสถานะจากประเทศมาเป็นอาณาจักร (empire) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าบุชขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี แต่เกิดจากตัวประเทศเองโดยธรรมชาติของตน และเหตุปัจจัยที่มาปรุงแต่งตนไว้ กำลังพาสหรัฐอเมริกาไปในเส้นทางนี้

นักวิชาการบางคนอธิบายว่า เหตุผลที่เป็นอาณาจักรมิได้เกิดจากเจตนาของสหรัฐฯ เองด้วยซ้ำ แต่เป็นข้อเรียกร้องของโลกให้ประเทศอย่างสหรัฐฯ ต้องทำหน้าที่หลายอย่างซึ่งที่จริงเขาอาจไม่อยากจะทำเลย ตัวอย่างเช่น องค์การระหว่างประเทศนับไม่ถ้วน ขอให้สหรัฐฯเข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาในทางเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ, UN เวลาประสบกับปัญหา ก็ขอให้สหรัฐเข้ามามีบทบาทในการทางทหาร ไม่ว่าจะในบอสเนีย หรือในไฮติ สิ่งเหล่านี้ชี้ว่า แม้ตนเองไม่อยากจะเป็น แต่คนรอบข้างและเหตุปัจจัยต่าง ๆ มีส่วนสร้างมันขึ้น ผู้คนในประเทศนั้นก็อาจเชื่อไปได้ว่าตนมีภาระต่อโลกอย่างไร

นารี แซ่ตั้ง : แต่...กรณีที่ไม่ได้ขอ

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : มาถึงวันนี้โลกเป็นอย่างนี้ไปแล้ว หากเราถอยไปคิดถึงเหตุปัจจัยที่ส่งผลให้สหรัฐฯ ถูกโจมตีเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ.๒๐๐๑ อาจเข้าใจได้ถึงเป้าของการก่อการร้ายเชิงสัญญลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่ตึก World Trade หรือ ที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายแห่งอาณาจักร ถ้าพูดอย่างสั้นๆก็คือ ลักษณะของอาณาจักร เวลาตนไปทำอะไรให้คนอื่น ไม่ได้คิดว่าทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง อันตรายอยู่ตรงนี้ เพราะคิดว่าไปทำให้คนอื่นในนามของคุณค่าซึ่งเป็นสากล สิ่งที่ "ฉัน" ทำ "ถูกต้อง" เพราะกำลังทำสิ่งเหล่านี้ในนามของ "Liberty and Freedom" ในนามของเสรีภาพ ในนามของอิสรภาพ นี่คือคำอธิบายของบุช เขาอธิบายว่า..อิสรภาพเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกรูปทุกนามแสวงหาอยากได้

ข้อความแบบนี้ไม่ใช่ข้อความทางการเมือง แต่เป็นข้อความเกี่ยวกับทางศาสนาด้วยซ้ำ สภาพการเป็นอาณาจักรในขณะนี้ทำให้สหรัฐฯ เห็นว่าบทบาทของตนคือ ทำให้โลกเป็นเหมือนตนในนามของความดีอันเป็นสากล พระคัมภีร์ไบเบิ้ล กล่าวถึงการที่พระเป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามฉายาของพระองค์ บัดนี้สหรัฐฯ กำลังทำการทางศาสนาด้วยการสร้างโลกและประชาชาติต่าง ๆ ในโลกตามฉายาของอาณาจักร เป็นการ "reinvent the nations of the world in its own image."(สร้างประชาชาติต่างๆในโลกขึ้นมาใหม่ในภาพลักษณ์ของตน)

เสขิยธรรม : การเปลี่ยนแปลงในลักษณะอย่างนี้ ทำให้กลไกเดิม ๆ ที่มีอยู่ในโลกไม่เพียงพอหรือเปล่า หมายถึงระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน หรือระบบสหประชาชาติจะไม่เพียงพอต่อการรองรับความเป็นอาณาจักรของสหรัฐ

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : เพื่อตอบคำถามนี้ ผมอยากชี้ให้เห็นความแตกสลายในหลาย ๆ จุดที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน อันเป็นผลจากพฤติกรรมของอาณาจักร

ความแตกสลายที่ ๑ คือ ความแตกสลายของสหประชาชาติ โดยเฉพาะในคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งเคยเป็นเนื้อเดียวกัน อย่างน้อยก็ในระดับของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งเห็นประโยชน์ไปในทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ จึงตกลงกันได้เรื่อยมา จนขณะนี้กลับกลายเป็นความขัดแย้งแตกสลาย

ความแตกสลายอย่างที่ ๒ คือ ความแตกสลายในนาโต้ (NATO) ซึ่งเป็นองค์การความมั่นคงของแอตแลนติคเหนือ เพราะมีฝรั่งเศส เยอรมันอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังเห็นความแตกแยกในสหภาพยุโรป ได้เห็นข้อต่างระหว่างเดนมาร์กกับฝรั่งเศส

นอกจากนั้นยังได้เห็นความแตกแยกในโลกมุสลิมระหว่างฝ่ายที่คัดค้านสงครามหัวชนฝา กับฝ่ายที่ต้องยอมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในสงครามครั้งนี้ ทั้งยังได้เห็นความแตกแยกภายในประเทศ ระหว่างรัฐบาลหลายรัฐบาลกับประชาชนของตน

ถ้าเรามองแบบนี้สิ่งที่เราเห็นเป็นความแตกแยกก็วิ่งเข้าไปในบ้านคนด้วย การตัดสินใจของอาณาจักรส่งผลกระเทือนเข้าไปในการแตกแยกหลายอย่าง ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นประโยชน์กับตัวอาณาจักรเองก็ได้ แต่ผมไม่ได้คิดว่าอาณาจักรจงใจที่จะทำให้ทั้งหมดนี้เกิดขึ้น แต่เมื่อตัดสินใจทำสงครามแล้วจะเกิดผลอย่างนี้ ในสภาพที่กำลังเกิดขึ้น

แต่เรื่องที่สำคัญกว่า และเป็นอันตรายอย่างยิ่งจากมุมมองสันติวิธี ในส่วนของการเมืองระหว่างประเทศมี ๒ เรื่อง คือ

เรื่องแรก พฤติกรรมเช่นนี้ของอาณาจักร เป็นการเรียงลำดับหรือจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของความรุนแรง ในการเมืองระหว่างประเทศเสียใหม่ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตำแหน่งของความรุนแรงอยู่สุดท้ายของลำดับเครื่องมือที่ใช้กำกับความสัมพันธ์ หมายถึงว่าในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ใช้การเจรจาการทูต ใช้อะไรต่าง ๆ เมื่อถึงลำดับสุดท้ายจึงใช้กำลังความรุนแรงเข้าดำเนินการ

สิ่งที่สหรัฐฯทำในครั้งนี้ นับเป็นการ "repositioning the use of force" การเปลี่ยนที่ทางความรุนแรงเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะในวิธีการของสันติวิธีที่ได้ต่อสู้กันมา อย่างน้อยเราพยายามทำให้เห็นว่า ถึงแม้เป็นวิธีสุดท้ายก็ยังเป็นปัญหา บัดนี้ความรุนแรงเปลี่ยนที่ทางเป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่ใช้เครื่องมือสุดท้ายเสียแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีอันตรายร้ายแรง เพราะโลกอาจไม่พยายามทำการอื่นก่อนจะใช้กำลังอย่างเต็มที่เช่นที่เคยกระทำมา

เรื่องที่สอง คือการโจมตีอิรักครั้งนี้เป็นการโจมตีที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "preemptive strike" เป็นการโจมตีเพื่อป้องกันไว้ก่อน การโจมตีอีรักเมื่อทศวรรษที่แล้ว เป็นการโจมตีอีกลักษณะหนึ่ง เพราะก็เป็นการโต้ตอบการรุกรานของอิรัก วิธีอธิบายผลของการโจมตีแบบ "preemptive" น่าจะคล้ายกับจะบอกว่า ในความเข้าใจของมนุษย์สามัญโดยเฉพาะสังคมอย่างไทยเชื่อกันว่า กรรมเป็นเครื่องส่อเจตนา ในทางกฎหมายก็เชื่อแบบนี้ โดยทั่วไปคนต้องมีกรรมเสียก่อนถึงจะถูกจัดการทางกฎหมายได้ ไม่ใช่มีเจตนาอย่างเดียว ตอนนี้ดูจะกลับกัน เจตนาเป็นเครื่องบอกว่ากรรมจะเป็นอย่างไร แล้วใครเล่าที่อยู่ในสถานะซึ่งตัดสินใจได้ว่าเพียงแค่คิดก็ผิดแล้ว

ในทางพระพุทธศาสนาผู้นั้นคงต้องเป็นสัพพัญญู อาจต้องมีทศพลญาณ ถึงจะตอบได้ว่าประเทศนี้มีเจตนาเช่นนี้แน่นอน และดังนั้นจะส่งผลให้เกิดกรรมเช่นนั้นเช่นนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่โตมีนัยยะสำคัญมาก เพราะว่าถ้าปล่อยเช่นนี้ไป ก็คงต้องยอมรับว่า ขณะนี้มีประเทศ ๆ หนึ่งซึ่งบอกว่าตนทรงทิพยญาณเป็นส่วนหนึ่งของทศพลญาณ และดังนั้นจึงรู้ได้แน่นอนว่า ประเทศนั้นประเทศนี้กำลังจะทำไม่ดี เพราะฉะนั้นฉันต้องเข้าไปจัดการเสียก่อน

เป็นไปได้ว่า ณ วันนี้เรากำลังดำรงอยู่ในโลกแบบนี้ นี่คืออันตรายทั้งมวลที่จะเกิดขึ้น จำเป็นต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกในระดับนี้ อาจช่วยให้เข้าใจการเมืองระหว่างประเทศได้รอบด้านลึกซึ้งยิ่งขึ้น

เสขิยธรรม : หากปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสัญญาณที่ส่งต่อประชาคมโลก เราจะต้องทำอย่างไรบ้าง และปรากฏการณ์นี้กำลังเตือนอะไรเราอยู่

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ผมคิดว่าทิฏฐิเช่นนี้ส่งผลกระทบหลายเรื่อง โดยเฉพาะส่งผลกระทบต่อการตั้งคำถามทางการเมืองระหว่างประเทศ คือผมเองไม่มีคำตอบแต่มีคำถาม เช่นคำถามว่า ตำแหน่งแห่งที่ของอธิปไตยของสิ่งสมมุติที่เราเรียกว่า "ประเทศ" อยู่ที่ไหน? คำถามคือว่าอธิปไตยของประเทศอยู่ไหน? ทำให้เกิดคำถามเรื่องความชอบธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า ณ วันนี้อยู่ที่ไหน ทำอะไรได้หรือไม่ได้อย่างไร?

ดูเหมือนว่าภัยจากความรุนแรงจะกลายเป็นสรณะมากขึ้น ในการแก้ไขปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ อาการอย่างนี้มีผลกระทบในความหมายของผมคือ พาโลกถอยหลัง ถ้าเราคิดว่าโลกทั้งผองค่อย ๆ เดินไปด้วยกัน ตกลงกันว่า เรื่องนั้นเราไม่เอานะ เรื่องนี้เราเอานิดหน่อย เช่น ตกลงกันว่าอาวุธนิวเคลียร์ ระหว่างประเทศที่วิ่งข้ามทวีปได้อันตรายเกินไป มหาประเทศในอดีตก็ตกลงกันเลิกทำ ICBM (Inter Continental Ballistic Missiles) ภัยต่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาของโลก ก็มีโครงการช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้สหรัฐฯ ไม่ยอมลงนาม แต่ประเทศ ๑๗๐ กว่าประเทศร่วมลงนาม

หรือความสำเร็จยิ่งใหญ่ที่สุดของสหประชาชาติคือการตกลงกันได้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ทำให้คนในโลก ประเทศในโลกมาตกลงเห็นพ้องต้องกันว่า มนุษย์เกิดมามีสิทธิมีฐานะที่เป็นมนุษย์เสมอกัน แล้วค่อยขยายไป เป็นเรื่องสิทธิคนกลุ่มน้อย สิทธิศาสนา เกิดความศักดิ์สิทธิ์ของสิทธิในแง่มุมต่าง ๆ แต่ในวันนี้กาลเวลาดูจะย้อนกลับไปหมด

ผมจึงอธิบายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็น "de-civilizing process" เป็นกระบวนการย้อนอารยะของมนุษย์กลับไปสู่ยุคสมัยในอดีต อาณาจักรวันนี้ ถ้าจะเปรียบเทียบน่าจะคืออาณาจักรโรมัน

นารี แซ่ตั้ง : สมัยก่อนเมื่อเขาล่าอาณานิคม เขาก็แบกกางเขนไปด้วย ประกาศศาสนาไปด้วย

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ผมเห็นว่า "ศาสนา" ที่เขาแบกไปนั้นนำไปใช้เป็นข้ออ้าง เพียงเพื่อบอกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูก แต่วันนี้เขาเชื่อว่าสิ่งที่ตนคิดและทำนั้นถูกต้อง ไม่ต้องใช้ข้ออ้างอะไรแล้วเพราะ "อิสรภาพ" อย่างที่เขาเข้าใจเป็นพื้นฐานของมนุษย์

นารี แซ่ตั้ง : แต่ปัญหาคือการกระทำของเขาขัดแย้งกับสิ่งที่เขาประกาศ เขาอ้างว่าจะมาปลดปล่อย เพื่อให้เกิดเสรีภาพ แต่เขาจะทำอะไรดังใจตน ไม่ฟังใครเลย ยังเป็นเผด็จการ เป็นอาการของการเห็นผิดอย่างแท้จริง เพราะการกระทำของเขากับสิ่งที่เขาพูดคนละเรื่อง ตรงกันข้าม

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : คุณกำลังอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลของบุคคลที่เป็นปัจเจกชน

นารี แซ่ตั้ง : ถ้ามีทิพยญาณจริง สิ่งที่พูดกับการกระทำคงจะสอดคล้องกันได้

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ถ้ามีทิพยญาณจริง ก็อาจอยู่ในวิสัยที่จะตอบได้ว่า คนนั้นคนนี้ หรือรัฐบาลนั้นรัฐบาลนี้ จะเป็นภัยต่อโลก ดังนั้นต้องจัดการเสียก่อนที่จะก่อปัญหาให้กับโลก ในกรอบของการมีทิพยญาณการกระทำเช่นนี้ก็สมเหตุสมผล แต่ปัญหาตอนนี้คือ ไม่มีใครเชื่อว่าอย่างนั้น ถ้าจะลองเทียบกับกรณีจักรวรรดิอังกฤษในอดีต ระบอบจักรวรรดินิยมดำรงอยู่บนฐานความคิดว่า ถ้าอังกฤษไปยึดครองอินเดียแล้วทำให้อังกฤษเสียหาย แต่อินเดียได้ประโยชน์ อังกฤษคงไม่ทำ ที่อังกฤษไปยึดครองอินเดียก็เพราะเป็นอินเดีย เป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบและตลาดใหญ่ให้อังกฤษ เป็นผลประโยชน์ของเขา อังกฤษจึงได้ครอบครองอินเดีย

วิธีการที่มหาตมะคานธีและพรรคครองเกรสของอินเดียใช้ต่อสู้ด้วยสันติวิธีคือ ทำการให้อังกฤษเห็นว่าไม่คุ้มประโยชน์อีกต่อไปที่จะปกครองอินเดีย จักรวรรดินิยมอังกฤษจึงยอมถอย สันติวิธีที่คานธีใช้ทำให้ต้นทุนในการครอบครองอินเดียของอังกฤษสูงจนไม่คุ้ม ที่จะครอบครองอังกฤษอีกต่อไป ถ้าคิดเช่นนี้คงต้องตั้งคำถามว่า ขณะนี้สงครามอิรักที่กำลังเกิดขึ้นนี้มีอะไรคุ้มค่าต่อสหรัฐฯ บ้าง

ที่จริงสหรัฐฯ สูญเสียมหาศาล งบประมาณทหารและซื้อหาอาวุธก็เพิ่มขึ้น แม้จะทำให้อุตสาหกรรมอาวุธของตนเข้มแข็ง แต่ความเดือดร้อนในด้านอื่นก็มีมาก การศึกษาของสหรัฐฯ ก็ตกต่ำ คนอเมริกันที่อ่านออกเขียนได้ระดับ ป.๔ เท่านั้นมีถึง ๔๔ ล้านคน อีก ๒๐๐ล้านคน แม้จะอ่านหนังสือพิมพ์กันบ้าง แต่ก็จะสนใจอ่านแต่การ์ตูน หรือข่าวกีฬา บันเทิงมากกว่า ความชื่นชมนิยมชมชอบที่ประชาคมโลกเคยมีต่อสหรัฐฯ โดยเฉพาะในโลกมุสลิมก็ลดลงอย่างน่าตระหนก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น "ราคา" ที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายไปในสงครามครั้งนี้

นารี แซ่ตั้ง : มีคำอธิบายอย่างเดียวหรือที่จะช่วยให้เข้าใจอาการเหล่านี้ อาจมีอีกอย่างหนึ่งนะคะ เช่น เนื่องจากว่ารัฐบาลอเมริกันปัจจุบัน แม้จะดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มาจากคนกลุ่มเดียวเท่านั้นเอง การกระทำทั้งหมดนี้แม้ในแง่ของประเทศชาติแล้ว จะเสียประโยชน์ แต่เป็นไปได้ไหมคะว่ากลุ่มของตัวเองได้ประโยชน์มหาศาล คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นคุณประโยชน์ต่อกลุ่มคนของตัวเอง เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้น ประเทศชาติต้องเข้ามาชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มบริษัทของตัวเองเติบโต แล้วแถมเกิดอาการต้องการสะสมอาวุธทั่วโลก กลุ่มของตัวเองก็ขายของได้มากมาย และเป็นฐานอำนาจให้ตัวเองกลับมาที่จะเสวยสุขในอนาคต อย่างนี้อธิบายไม่ได้หรือคะ

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ได้ แต่อาจไม่เพียงพอที่จะอธิบายได้ว่า สิ่งที่สหรัฐฯเสียไปในขณะนี้มีมากเหลือเกิน เพราะ "ต้นทุน" มิได้มีเพียงแต่เงินเท่านั้น สหรัฐฯลงทุนไปมหาศาลเพื่อสร้างความรู้สึกดี ๆ ต่อตน (goodwill) ในโลกนี้ ทำให้ผู้คนในโลกรู้สึกดีกับคนอเมริกัน กับสินค้าต่าง ๆ ของอเมริกัน ทั้งที่เป็นวัตถุและสินค้าทางวัฒนธรรมนานาชนิด เจ้าของสินค้าเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มทุนเช่นกัน และเขาก็ต้องเดือดร้อนเพราะสงครามครั้งนี้ไปด้วย

นารี แซ่ตั้ง : แต่คนเป็นประธานาธิบดีก็ไม่ได้เป็นกษัตริย์ชั่วชีวิต เดี๋ยวอีกหน่อยท่านก็ต้องลงจากตำแหน่ง คนอื่นก็เข้ามารับผิดชอบแทน

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ถ้าพูดอย่างนี้ก็เท่ากับกำลังคิดว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาของคุณบุชคนเดียว ถ้าข้อวิเคราะห์ข้างต้นถูกต้อง ผมคิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณบุชคนเดียว แต่เป็นปัญหาของประเทศทั้งประเทศซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปที่จุดหนึ่ง ถ้าคิดเช่นนี้จะเข้าใจได้บ้างว่า เหตุใดสหรัฐฯ จึงมีนโยบายซึ่งดูแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ มากมาย เช่น กรณี Kyoto Protocol ว่าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม มีประเทศต่าง ๆ กว่า ๑๗๐ ประเทศลงนามรับรอง แต่รัฐบาลอเมริกันก็ไม่ยอมรับรอง หรือกรณีกับระเบิด สหรัฐฯ ก็ไม่ลงนาม เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนสมัยของบุช ขณะที่คนทั่วโลกเห็นไปทางหนึ่ง แต่รัฐบาลอเมริกันเห็นไปอีกทางหนึ่ง

เสขิยธรรม : ที่อาจารย์พูดหมายความว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเดโมแครต หรือรีพับลีกัน ถึงจุดหนึ่งก็ต้องมีปรากฏการณ์นี้ขึ้น

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ถ้าถามว่าตัวประธานาธิบดีไม่มีผลต่อทิศทางการเมืองเลย ผมก็ไม่เชื่อเช่นกัน คือตัวบุคคลที่กำหนดนโยบาย ย่อมกระทำการบางอย่างที่มีผลต่อสังคมตนและสังคมโลก แต่อาจไม่ส่งผลเปลี่ยนแปลงที่โครงสร้างระดับใหญ่ คุณนึกออกไหม ขอยกตัวอย่างเช่นนี้ สมมุติคุณขับรถชนิดหนึ่งเมื่อคุณกระโดดเข้ามาในตำแหน่งคนขับรถนั้น ถามว่าคุณใช้อะไรได้ ทำอะไรได้บ้าง แน่นอนคุณอาจเลือกใช้ความเร็วได้มากหรือน้อย คุณอาจตัดสินใจเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้ แต่ว่ารถคันนี้จะอย่างไรต้องใช้น้ำมัน น้ำมันก็เป็นพลังงานที่เป็น fossil-based ตัวการขับรถยนต์ก็มีกฎเช่นกัน แม้คุณอาจละเมิดกฎได้บ้าง เช่นทางรถเดินทางเดียว แต่คุณจะขับสวนทางไป แทนที่ว่าจะทำอย่างนี้แต่คุณทำอีกอย่างหนึ่ง แม้จะทำได้ แต่ว่าคุณก็ยังอยู่ในรถคันเดิม

เสขิยธรรม : มิติทางศาสนาหรือวัฒนธรรม มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นจักรวรรดิ หรือความเป็นอาณาจักรที่อาจารย์กล่าวถึงด้วยหรือเปล่า นอกเหนือจากมุมมองทางรัฐศาสตร์ที่ว่ามาสักครู่

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ปัญหาอย่างศาสนาหรือวัฒนธรรม ในความคิดผม จะตั้งคำถามว่าวัฒนธรรมเขาทำงานอย่างไร ผมตอบว่าศาสนาและวัฒนธรรมทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมหรือไม่ให้ความชอบธรรมบางอย่าง คำถามคือศาสนาหรือวัฒนธรรมที่เราดำรงอยู่ในขณะนี้ ให้ความชอบธรรมกับรูปแบบอาณาจักรเหล่านี้ไหม ผมอาจจะผิดในการเข้าใจอาณาจักร แต่ผมแน่ใจว่าไม่น่าจะผิดในเรื่องของการพิเคราะห์ผลที่ตามมา ในแง่ของการทำลายความชอบธรรมของสหประชาชาติ ในแง่ของการเรียงลำดับตำแหน่งการใช้ความรุนแรงในการเมืองระหว่างประเทศ ในแง่ของปัญหาการมีทิพยญาณกับการตัดสินใจใช้ความรุนแรงทางการเมือง อย่างที่ว่าเอาเจตนาเป็นเรื่องส่อกรรมซึ่งผู้กระทำก่อนต้องรู้เจตนาของอีกฝ่ายหนึ่ง

คำถามก็คือว่าศาสนาจะเผชิญกับปรากฏการณ์อย่างนี้อย่างไร อันนี้คือโจทย์ที่ศาสนิกน่าจะลองใคร่ครวญอย่างจริงจัง

ท่าทีทางศาสนา และพุทธวิธีในการทำความเข้าใจปัญหา
เสขิยธรรม : มีบางคนพยายามอธิบายว่าปรากฏการณ์ของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ เป็นเพราะว่ามีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในโลกมุสลิมด้วย เช่นท่าทีของฝ่ายเคร่งศาสนา ที่ลดทอนคำสอนให้ออกมาเป็นปฏิบัติการบางอย่างในเชิงของการใช้อำนาจ หรือในเชิงของกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นเพียงบางด้านของศาสนาเท่านั้น เป็นการลดทอนสุนทรียภาพ ลดทอนความงดงาม ลดทอนอะไรต่าง ๆ ที่เป็นคุณค่าทางศาสนาด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในโลกมุสลิม ในด้านของอิสลาม ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์จากอีกฟากหนึ่ง ซึ่งมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : มีคนเคยอธิบายแบบนั้นนะครับ ว่าสิ่งที่ผู้คนในโลกเห็นอยู่เป็นปฏิกริยาต่อโลกมุสลิม แต่คราวนี้ผมอยากชวนให้คิดถึงคำถามนี้อีกวิธีหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ว่า วิธีการจะเข้าใจการเมืองระหว่างประเทศที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือ การพิเคราะห์ผ่านพุทธวิธี เพราะว่าวิธีคิดแบบปกติ เป็นวิธีคิดในแบบตัดตอน

เช่นถ้าเราจับเหตุการณ์ ๙ /๑๑ เป็นตัวอย่าง แล้วอธิบายว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั้งหมด เป็นการกระทำของสหรัฐฯที่เป็นปฏิกริยาต่อ ๙ /๑๑ ถามว่าคิดเช่นนี้ได้ไหม ก็ได้ และผมเองก็คิดว่าเหตุการณ์ ๙ /๑๑ มีความสำคัญ คิดเช่นนี้เป็นชุดคำอธิบายว่าในที่สุดเหตุการณ์ ๙ /๑๑ ไปเปลี่ยนวิถีคิดจิตใจของสังคมอเมริกัน (psyche) ไปแล้ว ทำให้สังคมอเมริกันเปลี่ยนไปเป็นอีกลักษณะหนึ่ง ถามว่าอธิบายได้ถึงขนาดนั้นไหม ผมเองคิดว่าพุทธวิธียอกย้อนกว่า สลับซับซ้อนกว่า และน่าจะอธิบายการเมืองระหว่างประเทศได้จริงจังกว่า

เพราะถ้าคิดแบบตัดตอนก็คือ เกิดเครื่องบิน ๔ ลำถูกผู้ก่อการร้ายพาบินเข้าชนตึก World Trade Center ๒ ลำ พุ่งเข้าใส่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่เพนทากอนหนึ่งลำ ขณะที่อีกลำหนึ่งตกที่เพนซิลวาเนีย เครื่องบิน ๔ ลำและคน ๑๙ คนที่เป็นผู้ก่อการร้ายนี้เป็นเหตุ ทำให้คนตายสามพันกว่าคน สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนหมด ตั้งกระทรวงความมั่นคงภายในขึ้นมาใหม่ ไปถล่มอัฟกานิสถาน ลดความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ตอนนี้กำลังคิดบัญชีกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นภัยคุกคาม คำอธิบายเช่นนี้แม้มีเหตุผล แต่ก็เป็นเหตุและผลที่เป็นระบบตัดตอน

ผมเชื่อว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้อธิบายแบบนี้ พุทธวิธีที่ผมเข้าใจก็คือชี้ว่า แม้สิ่งซึ่งเราเห็นก็ถูกปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัยอื่น ดังนั้นก็หมายความว่าเหตุการณ์ ๙ /๑๑ เป็นผลของเหตุปัจจัยอื่น ๆ ก็ไล่ไปว่าเป็นผลของอะไรในแง่นี้

มีคำอธิบายจากนักวิชาการหลายท่านว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลของนโยบายของสหรัฐอเมริกาเองที่ทำให้ตัวเองกลายเป็นเป้า ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกมุสลิมเอง ซึ่งในที่สุดกล่าวได้ว่า เป็นการประชุมกันของเหตุปัจจัยต่าง ๆ คำตอบทำนองนี้มิได้ตัดสิ่งที่พูดออกไป ขณะเดียวกัน ก็เป็นการตั้งคำถาม โดยเชื่อมโยงกับนโยบายต่างประเทศ และการปฏิบัติของอภิมหาประเทศ ที่กำลังเปลี่ยนเป็นอาณาจักร ซึ่งส่งผลสะท้อนต่อตนเอง

ผมคิดว่าความคิดในลีลานี้เป็นพุทธวิธีในการอธิบายนโยบายต่างประเทศ ซึ่งน่าจะซับซ้อนกว่าวิธีการธรรมดาและเห็นภาพได้ง่ายกว่า

การเคลื่อนไหวด้วยแนวทางสันติวิธี
เสขิยธรรม : กลับมาพูดถึงความรุนแรง ถ้าแนวโน้มความรุนแรงปรากฏออกมาอย่างนี้ มีการจัดลำดับความรุนแรงใหม่อย่างนี้ ในมุมมองของคนที่เคลื่อนไหวด้านสันติวิธี เราจะตั้งรับกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร หรือจะเผชิญกับเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ผมคิดคำถามว่า "มีอะไรบ้างที่เราจะทำได้" เป็นคำถามของยุคสมัย เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้มีอันตรายร้ายแรงสองประการคือ

ประการแรก นอกจากประเด็นเรื่องความรุนแรงแล้ว สงครามที่เกิดขึ้นกำลังชักพาให้มนุษย์เข้าสู่โลกแห่งความเกลียดชัง คนที่ถูกรังแกก็เกลียดชังคนที่มารังแกเขา คนที่รังแกก็หาเหตุมาเกลียดคนที่ถูกรังแก มากขึ้นเรื่อย ๆ โลกแบบนี้เป็นโลกซึ่งในที่สุด ความปลอดภัยในชีวิตมนุษย์จะหายไป

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ (๒๕๔๖) รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมันตั้งคำถามว่า สงครามที่สหรัฐอเมริกาจะไปถล่มอิรักนี้ ในที่สุดจะส่งผลอย่างไรต่อการก่อการร้ายสากล จะทำให้การก่อการร้ายในโลกเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแอลง สองสามวันมานี้ ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก แห่งอียิปต์ให้ความเห็นต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อก่อนนี้โลกมี อุสมา บิน ลาเดน เพียงคนเดียว แต่หลังสงครามต่ออิรักจะมีเป็นร้อย

ผมเข้าใจว่านักการทหาร นักวิชาการด้านความมั่นคง หรือผู้ที่สนใจปัญหาแบบนี้ล้วนเห็นตรงกันว่า ผลประการหนึ่งของสงครามครั้งนี้คือ การก่อการร้ายสากลน่าจะเข้มแข็งแพร่หลายมากขึ้น จะอยู่ในรูปไหนก็ไม่ทราบ ดังนั้นสงครามจะยุติเมื่อใดก็ตอบไม่ได้ ถ้าถามว่าแบกแดดจะตกอยู่ในมือของสหรัฐฯ เมื่อใด อาจจะพอตอบได้ แต่สงครามจะสิ้นสุดเมื่อใดนั้นไม่มีใครรู้

อีกอย่างหนึ่งเรากำลังพูดถึงมนุษย์ซึ่งมีกรอบความคิดเกี่ยวกับ "เวลา" ที่ต่างกัน สำหรับชาวอียิปต์ที่มีอารยธรรมเก่าแก่โบราณมานับพันปี เวลาสิบปีอาจถือว่าสั้นนิดเดียว แต่สำหรับบางบริษัทในสังคมอเมริกันที่เขาทำงานกัน สองวันก็ถือว่าช้าแล้ว บางบริษัทที่เป็น consultant เขารับงานตอนเช้าต้องเสร็จตอนเย็น ความคิดเรื่อง "เวลา" เช่นนี้ตลอดจนความเกลียดชังซึ่งอาจข้ามภพข้ามชาติได้ในลักษณะนี้ ผมว่าเป็นปัญหาทางศาสนาที่ต้องมาใคร่ครวญดูว่า แล้วศาสนิกที่สนใจสันติวิธีจะทำอย่างไร

ประการที่สอง ที่คิดว่าเป็นปัญหาใหญ่คือ ความรู้สึกหมดสิ้นความหวังของคนจำนวนมาก ถ้าที่ผมวิเคราะห์มาข้างต้นถูกต้อง ภาพที่ปรากฏออกจะน่ากลัวมาก เพราะตัวเราเล็กตัวนิดเดียว จะทำอะไรได้กับอาณาจักรในระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ จะทำอย่างไร มีทางเลือกอะไร?

สันติวิธีซึ่งแต่เดิมเป็นหนทางของผู้คนในการต่อสู้กับผู้เผด็จการ หรือ ระบอบจักรวรรดินิยมในอดีต มาบัดนี้สามัญชนจะยังมีที่ยืนในยุคอาณาจักรผงาดผยองเช่นนี้หรือไม่ ในยุคสมัยที่สันติวิธีเป็นหนทางต่อสู้กับผู้เผด็จการ ก็พอเข้าใจว่าจะสู้อย่างไร กำหนดจิตใจอย่างไร จะใช้เครื่องมือชนิดไหน จะสร้างเงื่อนไขอย่างไรสร้างพันธมิตรอย่างไร? มาบัดนี้สภาพของโลกเปลี่ยนไปมาก ความสอดคล้องของสันติวิธีในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเช่นนี้จะมีสภาพเช่นไร

นี่เป็นปัญหาท้าทายเลยทีเดียว แต่เรื่องนี้ไม่เพียงเป็นปัญหาสันติวิธีเท่านั้น คำถามของผู้คนในโลกว่า แล้วมีสิ่งอะไรที่ตนพอจะทำได้และมีความสำคัญ เพราะหากไม่เริ่มถามคำถามเหล่านี้ ในที่สุดก็จะงอมืองอเท้า ถ้ายิ่งทำเช่นนั้นก็เท่ากับยิ่งยอมรับพลังอำนาจอาณาจักร

นารี แซ่ตั้ง : ดูเหมือนจะเห็นช่องทางบางอย่าง คือสิ่งที่เรากลัวหลังสงครามจริง ๆ คือ ความไม่ไว้วางใจ ความเกลียดชังระหว่างผู้คน แต่ว่าเวลานี้เป็นจังหวะที่ผู้คนจำนวนมากหรือมากกว่า..ในโลกนี้ ล้วนไม่เห็นด้วยกับสงครามบุกอิรักและคงคิดว่า สิ่งที่ควรจะทำในตอนนี้คือ สร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนเหล่านี้เอาไว้ แล้วปกป้องตัวเองจากความเกลียดชังให้ได้เพราะอย่างในการรณรงค์ต่อต้านสงคราม เราเรียกร้องที่จะให้คนไม่ใช้ความรุนแรง พอเกิดสงครามขึ้นหลายกลุ่มก็เกิดความโกรธและความเกลียดชังสหรัฐอเมริกา ในแง่นี้คิดว่าฝ่ายสันติวิธี ฝ่ายที่ต้องการสันติภาพอย่างน้อยต้องรักษาความสมดุลของตัวเองเอาไว้ให้ได้ ไม่ข้ามเข้าไปถูกความเกลียดชังครอบงำ แล้วทำอย่างไรถึงจะทำความรู้จักกันให้มากขึ้น

ก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่รู้กันเลยด้วยซ้ำไปว่าใครบ้างที่คิดแบบนี้ กลุ่มใดที่ต้องการสันติภาพ แต่พอโลกตกอยู่ใต้ภัยสงคราม คนเหล่านี้ก็ลุกขึ้นมา คนพวกนี้ควรที่จะได้รู้จักกันได้เป็นเพื่อนกัน สร้างมิตรภาพในหมู่ผู้คนซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของโลกนี้ แนวทางดังกล่าวเป็นช่องทางหนึ่งที่สมควรจะเร่งทำโดยด่วนเอาไว้ เพื่อเป็นฐานพลังแห่งมิตรภาพที่จะต้องมาช่วยแก้ปัญหาในอนาคต

เสขิยธรรม : ขณะที่มีปรากฏการณ์อย่างนี้ ฝ่ายสันติวิธีเองก็ยังดูเหมือนกับว่ายังต้องมีการปรับตัว หรือยังมีอะไรบางอย่างที่ไม่มีความลงตัวมากนัก จะพออนุมานแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ได้หรือไม่ว่า สันติวิธีเป็นอุดมคติ ซึ่งนับวันจะยิ่งห่างจากโลกของความเป็นจริงออกไปเรื่อย ๆ

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ไม่ได้เลย เพราะ ณ วันนี้สันติวิธีมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดที่ผมพูดเพียงแต่อธิบายว่า บริบทในระดับโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าสันติวิธีจะทำงานได้ผลก็ต้องเริ่มจากการใช้พุทธิปัญญา ปัญญาที่ว่านี้คือการอธิบายได้ว่าโลกแปรเปลี่ยนไปอย่างไร ควรต้องเข้าใจว่าสิ่งที่แปรเปลี่ยนเป็นอย่างไร จะยึดเอาว่าเคยเป็นอย่างนี้เคยทำเช่นนี้มา ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ต่อไปคงไม่ถูกเท่าใดนัก

ถ้าเชื่อว่าสรรพสิ่งแปรเปลี่ยนเป็นเรื่องธรรมชาติ ก็ต้องหาเครื่องมือที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของการแปรเปลี่ยนนี้ให้ได้ ข้อเสนอข้างต้นเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการอธิบายความแปรเปลี่ยน

การเข้าใจเหตุแห่งความแปรเปลี่ยนนี้สำคัญก็เพราะ กิจกรรมสันติวิธีดำรงอยู่บริบทเหล่านี้ ถ้าเข้าใจบริบทผิด กิจกรรมนี้อาจจะมีน้ำหนักน้อยมาก ถ้าเข้าใจบริบทนี้ถูก อาจช่วยให้สันติวิธีมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมก็ได้ เราอาจไม่เสียเวลาไปทำสิ่งซึ่งเสียเวลา แต่เลือกทำสิ่งที่เหมาะสม

ที่สำคัญยิ่งคือ ณ วันนี้สันติวิธียิ่งไม่ใช่อุดมคติ ผมเห็นด้วยกับคุณนารีอย่างยิ่งที่บอกว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ฝ่ายสันติวิธีมีข้อได้เปรียบสองประการสำคัญ คือ

ประการแรก มหาชนในโลกเห็นเหมือนกันว่าสงครามนี้ไร้ความชอบธรรม ในแง่นี้การต่อต้านสงครามจึงไม่ได้อยู่บนฐานของผลประโยชน์ ไม่ใช่เข้าข้างพวกใด แต่อยู่บนฐานของความเข้าใจว่า สงครามนี้ไม่ถูก ไร้ความชอบธรรม เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับผม เพราะการต่อต้านสงครามด้วยประโยชน์ของตนหรือของพวกพ้องเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การต่อต้านสงครามเพราะเชื่อมั่นว่า สงครามนี้เป็นสิ่งผิดในตัวของมันเองเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

ประการที่สอง คนจำนวนมากออกมาคัดค้านสงครามนี้ตั้งแต่สงครามยังไม่เริ่ม และไม่หยุดเมื่อสงครามเริ่มแล้ว

ผมว่าปัจจัยทั้ง ๒ ข้อนี้ คือความไม่เห็นด้วยกับสงครามโดยการเห็นพ้องต้องด้วยของคนในโลก กับการที่คนในโลกออกมามีปฏิบัติการบางอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาไม่เห็นด้วย ทั้งสองอย่างเป็นอาการของสันติวิธีที่มีคุณภาพอย่างยิ่ง

และคนไม่น้อยก็เข้าใจดีว่า การต่อสู้ด้วยสันติวิธีนั้นอาจจะไม่ได้ผลเสมอไป ก็มีเรื่องได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แต่ก็ขึ้นกับความเข้าใจว่าการได้ผลนั้นคืออย่างไร ถ้าได้ผลในความหมายที่ว่า ผู้คนมีความรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่ทำได้นะ ผมคิดว่าได้ผลพอสมควร เราไม่ได้นั่งเฉย ๆ เราไม่ได้ยอมให้อาณาจักรครอบงำชีวิตเราจนกระทั่งทำอะไรไม่ได้ ผมคิดว่ามันก็เป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งทำได้

ขณะนี้คิดว่ามีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งกำลังเกิดขึ้นคือ การคว่ำบาตรสินค้าอเมริกัน แต่ถ้าการคว่ำบาตรนี้จะได้ผลก็ต้องเกิดขึ้นในวงกว้าง คือไม่ใช่คนกลุ่มหนึ่งทำ แต่อาจต้องทำทั้งประเทศ ทำให้ไกลออกไปในอุษาคเนย์ หรือในเอเซีย ถ้าทำพร้อมกันได้จะเป็นผล มีน้ำหนัก จะทำเช่นนี้คงต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบ

เสขิยธรรม : หลวงพี่ไพศาล เคยบอกว่าการคว่ำบาตร (boycott) เป็นเรื่องนามธรรมแทบจะไม่มีปฏิบัติการอะไรเลย

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ผมคิดว่าการประกาศคว่ำบาตรอย่างเดียวไม่พอ

นารี แซ่ตั้ง : แต่เราก็ทำให้มีปฏิบัติการขึ้นมาได้

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ถ้าสนใจเรื่องนี้ คงต้องทำการคว่ำบาตรในระดับรูปธรรมพอสมควร ควรคิดเกณฑ์คว่ำบาตรสินค้าบางเรื่อง เช่น ถ้ามีการคว่ำบาตรไม่บริโภคสินค้าชนิดนี้แล้ว จะลดน้ำหนักได้นับเป็นวิธีการที่ดีเยี่ยม แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่มีประโยชน์เป็นรูปธรรม เพราะว่ามีผลอย่างยิ่งกับการคิดถึงเรื่องสุขภาพ หรือกระทั่งคิดถึงปัญหาการบริโภคนิยม คือ สินค้าที่ฝ่ายมุสลิมนำมาเรียงหลายชนิดแล้วชักชวนให้คว่ำบาตรนั้น บางคนอาจรู้สึกว่าสินค้าบางรายการเป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้าชักชวนให้คนในประเทศหรือในเอเซียคว่ำบาตรสินค้าซึ่งไม่จำเป็น คือสินค้าที่ส่งเสริมบริโภคนิยม ผมว่าก็จะมีผลหลายอย่าง

นอกจากนั้น การคว่ำบาตรนี้ควรทำให้เห็นโดยมีกรอบเวลาชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ถ้าจะดูตัวอย่างปัญหารุนแรงจากโรคภัยอย่าง "หวัดมรณะ" ซึ่งส่งผลอย่างร้ายแรงต่อการท่องเที่ยว จะเห็นว่าผลกระทบเกิดขึ้นออกจะทันทีต่อธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว หรือสายการบิน ถ้าใช้วิธีการ "คว่ำบาตรเชิงยุทธศาสตร์" แบบนี้ ผมคิดว่าอาจมีผลเหมือนกัน อย่างน้อยผลดีต่อตนเอง ก็คือรู้สึกว่าเราได้ทำอะไรบางอย่าง ได้คิดถึงชีวิตของเราเองว่าของที่เราบริโภคเหล่านี้ อย่างน้ำอัดลม หรือ บุหรี่เป็นของจำเป็นสำหรับเราเพียงไร หรือที่จริงเป็นสิ่งของไม่จำเป็น และบางอย่างเป็นภัยต่อสุขภาพด้วยซ้ำ ไม่ต้องซื้อหามาใช้มาบริโภคจะดีต่อชีวิตมากกว่า ทำเช่นนี้จะช่วยให้สังคมบ้านเมืองของเราประหยัดด้วย

ในแง่สัญลักษณ์ก็เป็นการส่งสัญญานบอกกับอาณาจักรว่า มีผู้คนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่อาณาจักรได้กระทำลงไป สังคมอื่นก็ทำในสิ่งที่ตนทำได้ คือแสดงความไม่เห็นด้วยผ่านการเปิดพื้นที่ให้คนมีการกระทำด้วยสันติวิธี ทำให้คนรู้สึกว่ามีทางออก และโลกมิได้อับจนสิ้นหนทาง อันเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ในการลดภัยอันตรายจากความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นตามมา

เสขิยธรรม : กลับมาในระดับประเทศไทย สังเกตเห็นว่าการรณรงค์เพื่อสันติภาพเหล่านี้ ได้รับการขานรับจากชนชั้นกลาง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใหญ่โตแต่ก็มีการขานรับ แต่ในขณะเดียวกันเหตุการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรงเหมือนกรณีของจะนะหรือสมัชชาคนจน กลับไม่ได้มีปฏิกริยาจากสังคมในภาพกว้างมากนัก อาจารย์มองเปรียบเทียบเรื่องนี้อย่างไร

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ในความเข้าใจของผม เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่จะนะ หรือในกรณีของสมัชชาคนจน ประเด็นเหล่านั้นในแง่ของคุณค่าทางศีลธรรมยังเถียงกันได้มาก ทั้งสองกรณีเกี่ยวพันกับทิศทางการพัฒนาของสังคมไทย อาจกล่าวได้ว่าในความคิดของผู้คัดค้านท่อแก๊ซที่จะนะ หรือคัดค้านเขื่อนปากมูล เห็นว่าเส้นทางการพัฒนาของประเทศไปผิดทาง ควรต้องหันมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ผสานกับธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น แต่คนอีกจำนวนหนึ่งเห็นว่า เส้นทางการพัฒนาของประเทศเป็นทางที่ถูกแล้ว และจะก้าวต่อไปไม่ได้ถ้าไม่มีพลังงาน เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้คนก็ไม่เอาด้วย

แต่ในแง่ของสงครามครั้งนี้ ที่ผมเรียนว่าน่าสนใจมาก เพราะไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องประโยชน์ แต่เป็นประเด็นทางศีลธรรมว่า สงครามครั้งนี้ไม่ถูกต้อง สันติวิธีที่รณรงค์บนฐานความเชื่อเรื่องความถูกความผิดมีความหมายสำคัญยิ่ง ในแง่สันติวิธีแล้ว หลายฝ่ายก็พยายามให้ความสำคัญกับความเชื่อในใจคน เป็นแนวทางที่ผมได้เรียนรู้จากคุณนารี และหลวงพี่ไพศาล ท่านเหล่านี้เป็นตัวแทนของแนวความคิดสันติวิธีที่เน้นความสำคัญของจิตใจภายใน ไม่ใช่ถือว่าสันติวิธีเป็นเพียงวิธีการหรือยุทธศาสตร์

เสขิยธรรม : หมายถึงว่าสันติวิธีมันควรจะลงไปถึงวิถีชีวิตและวิธีคิด

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ควรหรือไม่ เป็นปัญหาเช่นกัน คุณนารีเห็นว่าควร แต่ในทัศนะของผมแม้จะสำคัญแต่ก็ไม่จำเป็น ผมสนใจอยากจะเห็นว่าสันติวิธีมีหลายรูปหลากแบบ มุ่งจะชี้ให้เห็นว่าตรงนี้ก็ใช้สันติวิธี ตรงนั้นก็ใช้สันติวิธี แต่หากเราถือว่าสันติวิธีต้องสมบูรณ์พร้อมเป็นวิถีชีวิตของผู้คน ผลประการหนึ่งก็คือ การตัดสินว่าการกระทำเช่นนี้ก็ไม่ใช่สันติวิธี เช่นนั้นก็ไม่ใช่สันติวิธี หรือส่วนนี้ใจยังไม่ลงตัว ก็อย่าเพิ่งใช้เลย ในแง่ของพื้นที่สันติวิธีก็จะจำกัดลงไปพอสมควร

ถามว่ามีข้อดีไหม อาจมีข้อดีในแง่ความบริสุทธิ์ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าคืออะไรแน่ แต่ว่าในทางกลับกันจะทำให้การกระทำหลายอย่างของหลายฝ่ายถูกมองว่าไม่ใช่สันติวิธี

ขณะนี้ปัญหาที่ต้องต่อสู้ด้วยอีกประการหนึ่งคือ ความเข้าใจในสังคมและโลกว่า อะไรคือสันติวิธี หรืออะไรไม่ใช่ ? เช่น ในสังคมไทยซึ่งมีคนอีกจำนวนมากเห็นว่า การชุมนุมขวางถนนนั้นไม่ใช่สันติวิธี สันติวิธีมีวิธีเดียวคือต้องเจรจา ผมมองว่าสิ่งที่อยากทำคือการขยายพื้นที่ให้กับสันติวิธี แต่ขณะเดียวกันก็มิใช่ขยายโดยไม่มีขอบเขต เพราะตัวสันติวิธีนั้นเอง คือวิธีการที่ใช้อย่างน้อยก็ต้องไม่เอาชีวิต หรือทำให้ใครบาดเจ็บล้มตาย ก็เป็นขอบเขตจำกัดวิธีการนี้ไว้ในตัวแล้ว

เสขิยธรรม : ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิด ขึ้น จะลงเอยอย่างไร ทั้งสงครามที่เป็นอยู่ และแนวโน้มที่ใช้ความรุนแรง ถามทั้งในฐานะนักทฤษฎี และผู้เคลื่อนไหวด้านสันติวิธี ตลอดจนในฐานะของศาสนิก อาจารย์คิดว่าถึงจุดหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะลงเอยอย่างไร

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ในเรื่องนี้ไม่ว่าจะคิดจากพุทธวิธี ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีสังคมศาสตร์อะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าปัญหาสำคัญ คือ กรรมได้ก่อไปแล้ว เมื่อก่อขึ้นก็จะมีผลตามมา ปัญหาของเราคือต้องจัดการกับผลที่จะตามมา หรือคำอธิบายของประธานาธิบดีอียิปต์ซึ่งมองว่า สงครามนี้จะเพิ่มปริมาณคนซึ่งจะเกลียดชังอเมริกัน คนซึ่งจะใช้ความรุนแรงนับร้อยนับพัน ซึ่งเป็นอันตรายที่รออยู่เบื้องหน้า

ในความเห็นของคานธี ความรุนแรงนั้นเมื่อทำขึ้นมาแล้ว คนเห็นผลระยะสั้นมักเห็นชัดว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งบ้างก็ถือว่าเป็นผลสำเร็จ แต่ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวอันนี้จะซึมไปอีกนาน ความเกลียดชังที่อาจเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่แก้ได้ยากมาก ต้องอาศัยความอดทนอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้นถามว่า ผลจะเกิดขึ้นอย่างไร? ถ้าตอบตรง ๆ ก็คือไม่รู้ แต่ว่าในอีกแง่หนึ่งก็รู้ เพราะกรรมถูกก่อให้เกิดแล้ว ถ้าเราถูก ในเรื่องที่ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีปัญหาความชอบธรรม ความรุนแรงถูกโยกย้ายตำแหน่งแห่งที่ การไปเดาใจคนอื่นว่าเขาจะก่อความรุนแรงทั้งที่ยังไม่ได้กระทำหรือยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ การสร้างความอัปลักษณ์ให้กับอีกฝ่ายหนึ่งในขณะที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับฝ่ายตน สิ่งเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดที่จะเป็นปัญหากับเรามาก หมายความว่าสันติวิธีมีภาระกิจอีกมากในโลกที่เราเองมีส่วนให้มันเกิด

เสขิยธรรม : ถ้าในเชิงของปฏิบัติการ ในระยะที่สงครามยังไม่จบเราควรจะมีอะไรบ้างเราควรจะเตรียมการอย่างไร หรือเมื่อจบสงครามครั้งนี้แล้ว หลายฝ่ายที่มาร่วมกิจกรรมกันรณรงค์ มาร่วมคิดร่วมทำกัน ควรจะมีปฏิบัติการอย่างไรต่อไป

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ณ วันนี้สงครามเกิดขึ้นแล้ว คิดว่าเป้าของการทำงานของสันติวิธีนี้น่าจะต้องมองไกลกว่าเป้าของผู้ที่ทำงานด้านสงคราม คือจะต้องสร้างเงื่อนไขของความร่วมมือเหล่านี้ ซึ่งจะต้องก้าวข้ามปราการนานาชนิดที่เกิดขึ้น อันนี้เป็นส่วนของงานทางด้านของการฟื้นฟู ซึ่งจำเป็นต้องทำ ควรต้องเสนอบทวิเคราะห์ซึ่งเป็นทางเลือกบ้าง ไม่ใช่การวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นโดยถูกครอบงำจากแนวคิดกระแสหลักอย่างเดียว

นอกจากนั้นคิดว่า สิ่งที่ทำหลายอย่างเป็นการกระทำซึ่งมีประโยชน์ ๒ ด้านต่อตัวเราเอง ในแง่ที่ทำให้เราพ้นจากสภาพซึ่งอับจน แต่อีกทางหนึ่งกำลังส่งสารที่สำคัญ เพราะว่าการต่อสู้แบบสันติวิธีเป็นการต่อสู้ในเวทีของปัญหาความชอบธรรม

ลองคิดสภาพว่าถ้าไม่มีการทำอะไรเลย ก็เหมือนกับว่า สงครามครั้งนี้ดำเนินไปราวกับว่าผู้คนเห็นด้วย เพราะเสียงค้านแผ่วเบาจนวันหนึ่งก็เงียบลง จะมีคนมาอ้างว่าเงียบแสดงว่ายอมรับ บางคนอาจคิดว่า ใจเราไม่ได้ยอมรับนะ แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติไม่ทำอะไรเลย ก็จะเสมือนว่ายอมรับให้สิ่งผิดกลายเป็นสิ่งถูก

ผมคิดว่าสันติวิธีมันอยู่ในชีวิตของการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคม มนุษย์ก็ต้องทำเช่นนี้คือเปลี่ยนแปลงสังคมไปในเส้นทางที่พึงปรารถนา อาจรู้สึกกันว่า สันติวิธีตอนนี้ยากเพราะต้องหาทางเลือก แล้วหลาย ๆ คนก็มักจะถูกกล่าวหาว่านั่งสวดมนต์ไปเถอะไม่ได้ผลอะไรหรอก แต่ผมเพิ่งไปที่สงขลามา เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๖ที่ใกล้สนามกีฬาติณสูลานนท์ มีพี่น้องชาวมุสลิมมาร่วมฟังการอภิปราย ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับหมื่นคน ฝนตกเปียกปอนกันทั้งคนพูดคนฟัง แต่ไม่มีใครลุกเลย หลังจากพูดเสร็จก็มีการละหมาด ทุกคนก็ไม่ถอยเลย

ถ้าถามจริง ๆ ว่าสงครามนี้เกิดกับเขาโดยตรงหรือเปล่า ในแง่ของอิสลามไม่ได้เกี่ยวกับเขาโดยตรง แต่นี่คือพลังทางศาสนา ซึ่งเชื่อมร้อยคนให้เห็นได้ว่าแม้ในจินตนาการของเขา พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอันใหญ่กว่าตัวเขาเอง

ผมคิดว่าประเด็นนี้สำคัญ เพราะการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเช่นนี้ พาคุณออกจากกรงขังของตัวตนเล็ก ๆ ไปสู่อะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่า เราสามารถเชื่อมสิ่งเหล่านี้หรือทำอะไรเหล่านี้ได้ อย่างน้อยสังคมมุสลิมในประเทศไทยก็น่าสนใจในฐานะกลุ่มคนที่ไม่ยอมอับจน แต่หาทางต่อสู้ด้วยสันติ

ในศาสนาอิสลามเชื่อกันว่า การสวดมนต์ขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ขึ้นต่อจำนวนคนอย่างเดียวหรอก ถ้ามีเพียงคนเดียวที่จิตใจของเขาบริสุทธิ์สะอาด พระผู้เป็นเจ้าอาจจะตอบสนองหากพระองค์มีประสงค์ ในสายตาคนอื่นการสวดมนต์ไม่มีความหมาย แต่ในสายตาของศาสนิกมีความหมายมากมายทั้งต่อตัวเราเองและรอบ ๆ ตัว แต่ต้องเข้าใจให้ละเอียด

เสขิยธรรม : ปรากฏการณ์สงคราม และการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพคราวนี้ จะพบว่ามีการร่วมมือระหว่างศาสนาอยู่ด้วย อาจารย์มองว่า ตรงนี้จะเป็นโอกาสของพัฒนาความร่วมมือระหว่างศาสนา ให้กว้างขวางลึกซึ้งขึ้นได้โดยตัวมันเองหรือเปล่า

อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ผมว่าน่าสนใจมาก เงื่อนไขสำคัญคือว่า ความเห็นร่วมกันของผู้คนในสังคมโลกว่าสงครามครั้งนี้ผิดทำนองคลองธรรม คนรู้สึกไม่ไหว เป็นสงครามที่อธิบายแล้วก็ฟังไม่ขึ้น ผู้คนจึงออกมาค้านทั่วโลก แต่ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรจะทำให้แรงค้านไม่ได้ออกมาในลักษณะที่เป็นการค้านคนหรือกลุ่ม แต่เป็นค้านการกระทำที่ผิด ถ้าเราไปค้านคนหรือค้านกลุ่มจะนำไปสู่ปัญหาอื่นอีก เพราะการเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มคนจะมีผลทางการเมืองตามมา ไม่ได้นำไปสู่ความมั่นคง ความสุขสงบของผู้คนบนโลก

เพราะฉะนั้นคิดอีกทางหนึ่งคือว่าสันติวิธีต้องหาวิธีให้คำตอบ และผมคิดว่าตอนนี้มีหน้าที่สำคัญคือเราต้องพยายามบอกกับคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งโกรธเกรี้ยวขึ้นทุกวัน หรือรู้สึกไม่พอใจ อับจนไม่รู้จะทำอย่างไรว่า ยัง มีทางออกนะ และเป็นทางออกซึ่งมีพลัง..


ภาคผนวก
ผ่าความรุนแรง ผนึกรวมศาสนาบนแนวทางสันติวิธี

อเมริกันพยายามครอบครองโลกด้วยการใช้นโยบาย 'โลกระบบเดียว' แต่ความพยายามของจักรวรรดินิยมใหม่ได้รับแรงต้านอย่างรุนแรง จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเพิ่งผ่านไปสด ๆ ร้อน ๆ ก็คือ 'สงครามอ่าว ๒' ที่เรียกได้ว่าเป็นการทำสงครามสองรูปแบบ แบบแรกเป็นแสนยานุภาพของกองกำลังอาวุธและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย การทำสงครามในสมรภูมิของกองทัพอเมริกันจึงได้เปรียบในทุกประตู และอีกขั้วคือกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธของทหารและพลเรือนอิรัก

"ความขัดแย้งทางศาสนาได้สร้างความชอบธรรมให้มีการใช้ความรุนแรงเข้าทำลายศัตรู คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าคนเหล่านี้เป็นคนไม่ปกติ แต่จากการศึกษาพบว่าคนเหล่านี้เป็นคนปกติดีทุกอย่าง ทั้งร่างกายและจิตใจ ฐานะและการศึกษา เพียงแต่ว่าคนเหล่านี้เชื่อว่า เขาสามารถใช้ความรุนแรงเพื่อความดีงามได้นั่นเอง"

อาจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวปาฐกถานำในการสนทนาเรื่อง "ศาสนาธรรมกับการสร้างสันติภาพโลก" ใน"งานรำลึก ๙๗ ปี ชาตกาล พุทธทาสภิกขุ" อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาในประเด็นสถานะการณ์โลกหลังสงคราม เมื่อโลกระอุไปด้วยความเคียดแค้นชิงชังของกลุ่มขบวนการก่อการร้าย

ในทัศนะของอาจารย์ ชัยวัฒน์ "อาวุธมีชีวิต" แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง กำลังตั้งคำถามและบอกถึงเหตุของความรุนแรง ในแง่ของการปกป้องตนเองและคุณค่าที่เขายึดมั่นในชุมชนที่เขารัก และไม่เรียกว่าการก่อการร้าย การระเบิดพลีชีพของขบวนการศาสนาหัวรุนแรงในตะวันออกกลาง กลุ่มต่าง ๆ อยู่บนความคิดที่ว่าการระเบิดพลีชีพเป็นปฎิบัติการทางทหารที่เปี่ยมไปด้วยศักดิ์ศรี และเป็นเพียงกลวิธีทางยุทธศาสตร์ที่ผู้ตายจะได้รับการยกย่องและโอบอุ้มจากพระผู้เป็นเจ้า

ยกตัวอย่างนักโทษชาวอียิปต์ผู้หนึ่งซึ่งถูกศาลอเมริกันสั่งจำคุกในฐานะผู้วางระเบิด อาคารเวิลดิ์ เทรด เซ็นเตอร์ ปี๑๙๙๔ ภายใต้วัฒนธรรมของนักรบแห่งศาสนาชี้ให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจ คือว่า การวางระเบิดของเขากระทำไปด้วยเหตุผลที่เฉพาะเจาะจง คือ มุ่งจะให้รัฐบาลอเมริกันเห็นว่า 'เรา' จำต้องใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา และจะไม่ยอมรับการกระทำที่รัฐบาลอเมริกัน ซึ่งได้กระทำแก่เราและโลกอีกต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐบาลอเมริกันพยายามทำให้รัฐประชาชาติหวาดกลัว รัฐบาลในหลายประเทศทำตามอเมริกาอย่างไร้ความหมาย"

ส่วนคำถามที่ว่า การก่อการร้ายด้วยการลอบวางระเบิดนี้ ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก จะให้เหตุผลว่าอย่างไร นักโทษผู้นี้ตอบว่า "ไม่ว่าจะอย่างไรเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลสะเทือนที่ต้องเกิดขึ้น เพื่อให้รัฐบาลอเมริกันทราบถึงผลที่จะเกิดแก่ตัวเอง เพราะสิ่งเดียวเมื่อมนุษย์กลุ่มหนึ่งถูกกระทำด้วยความอยุติธรรมก็คือ ต้องส่งสาส์นตอบไปยังผู้ที่ก่อความอยุติธรรมนั้น

เราไม่อาจสรุปได้ว่าสภาพเหตุการณ์การก่อการร้ายที่เกิดขึ้น เป็นการปะทะกันระหว่างอารยธรรมหรือสงครามระหว่างศาสนาคริสต์-อิสลาม แต่เป็นเรื่องการกระทำของรัฐบาลอเมริกันเองที่คิดแผ่อำนาจเหนือโลก การกำหนดนโยบายที่ไม่เป็นธรรม การสนับสนุนอิสราเอลเพื่อแย่งชิงดินแดนแห่งพันธะสัญญา หรือกดดันให้รัฐบาลอียิปต์เปิดเสรีทางการค้า เหล่านี้ไม่ได้เกิดเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกันในแง่ความเชื่อศาสนา แต่เป็นความไม่มีศาสนาโดยสิ้นเชิงของอเมริกา" อาจารย์ ชัยวัฒน์ กล่าวถึงคำพูดของมือระเบิดผู้นั้น

ที่สำคัญ ชายผู้นี้เคยเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถาน โดยการเข้ารับหน้าที่เก็บกู้ทุ่นระเบิด คำพูดสุดท้ายที่เขาบอกนั่นคือว่า "สังคมตะวันตกไม่เคยทำความเข้าใจพวกเขาเลย เพราะสิ่งหนึ่งที่สังคมตะวันตกได้สูญเสียไปแล้วโดยสิ้นเชิง นั่นคือจิตวิญญาณ

นักจิตวิเคราะห์ชาวปาเลสไตน์ผู้หนึ่ง ให้แง่คิดว่า ทำไมกลุ่มผู้ก่อการร้ายจึงกลับกลายเป็นผู้ติดระเบิดพลีชีพ เขาชี้ให้เราเห็นว่า เป็นเรื่องของการกระทำที่หมดหวังโดยสิ้นเชิง เขาบรรยายถึงภาพของผู้อพยพลี้ภัยชาวปาเลสไตน์บริเวณฉนวนกาซาที่ต้องตื่นแต่เช้า ทำงานหนักแสนสาหัสและกลับมานอนเพียงอึดใจก่อนจะต้องลุกขึ้นไปทำงาน และสัญลักษณ์ของศาสดาถูกเหยียดหยามอย่างหยาบคายและกล่าวหาว่าเป็น 'หมู'

คุณคงไม่รู้ว่าทหารอิสราเอลถ่มน้ำลายรดชายคนหนึ่ง พร้อมกับรุมทุบตีอย่างหนักหน่วง และผู้นำของเราบางคนนั่งรถติดแอร์สะดวกสบาย ความอัดอั้นทั้งหลายประการนี้ ทำให้เราต้องระเบิดความรุนแรงออกมาอย่างไม่อาจหักห้าม แล้วทีนี้คุณเข้าใจหรือไม่ว่าทำไมพวกเราต้องกลายเป็นระเบิดพลีชีพ

อาจารย์ ชัยวัฒน์ ยกข้อมูลชุดหนึ่งขึ้นมาชี้ให้เห็นว่า มีผู้เห็นด้วยกับการทำระเบิดพลีชีพเพื่อปกป้องศาสนาอิสลาม และเพิ่มจำนวนมากขึ้นในโลกอย่างน่าตกใจ และผลของสงครามอิรักทำให้ประชาคมมุสลิมรับรู้ว่า พวกเขากำลังตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือแห่งความอยุติธรรมของผู้ที่มีพลกำลังเหนือกว่า

"ลักษณะเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่ว่า จะทำให้ขบวนการก่อการร้ายสากลเกิดความเข้มแข็ง อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และมีผู้สนับสนุนมากขึ้น จะเห็นได้ว่า เพียงสงครามสิ้นสุดลงไม่นานมีการลอบวางระเบิดหลายแห่งในโมร็อคโค ซาอุดิอารเบียและเชชเนีย สงครามและการก่อการร้ายเป็นสิ่งเดียวกันอย่างชัดเจน แต่ต้องยอมรับว่าการก่อการร้ายมีทั้งในส่วนพฤติกรรม โครงสร้างและวัฒนธรรมสังคม แม้จะสัมพันธ์กันแต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะต่างก็มีกระบวนการการทำงานของตัวเอง สร้างความชอบธรรมว่า เป็นเรื่องธรรมดาและถูกต้องดีงาม

เพราะฉะนั้นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำความเข้าใจความรุนแรงนั้น อยู่ที่การทำความเข้าใจถึงวิธีการสร้างความชอบธรรมในโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้คนบางกลุ่มตกเป็นเหยื่ออย่างไม่เข้าใจ เช่น ถูกกระทำให้ยากจนหรือเหยียดผิวทำให้พวกเขาต้องหาทางออกด้วยความรุนแรงในที่สุด

อาจารย์ ชัยวัฒน์ ยังยกตัวอย่างกรณีเด็กชายอายุ ๑๑ ปี สังหารเด็กชายอายุ ๔ ปี เพียงเพราะต้องการรถจักรยาน เด็กคนนี้มาจากครอบครัวที่ยากจน มีพ่อพิการและอายุมากกว่าแม่มากทำให้เกิดความระแวงว่าแม่จะปันความรักให้กับชายคนอื่น พ่อพิการจึงทุบตีแม่ทุกวัน เด็กชายซึมซับความรู้สึกเหล่านี้ไว้ วันหนึ่งเมื่อเหตุการณ์อำนวย คือ เห็นว่าสามารถแย่งจักรยานตรงหน้าได้ เจ้าของเป็นเด็กที่เล็กกว่า ป้องกันตัวเองไม่ได้จึงลงมือกระทำการ เหตุผลสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นก็คือว่า "ผมอยากได้จักรยาน แต่ต้นมันขี้เหนียว" ปรากฎการณ์เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเด็กเปลี่ยนจากเหยื่อของความรุนแรงมาเป็นฆาตกร แต่หมายความว่า ขณะที่เด็กลงมือนั้นเด็กกำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วย

ความรุนแรงเปลี่ยนรูปร่างซับซ้อนขึ้น การทำความเข้าใจต้องอาศัยพลังแห่งความเมตตาเข้าเป็นส่วนชี้นำ และต้องใช้ความเข้มแข็งเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้มากขึ้นเป็นเงาทับทวี เปรียบดั่งอาวุธมหาประลัยที่ได้รับการปลุกเสกให้มีฤทธิ์เดชจนนำไปใช้ฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นอาวุธซึ่งมีชีวิต และสังคมโลกจะทำหน้าที่และเผชิญหน้ากับอาวุธชนิดนี้ได้อย่างไร ความคับข้องของผู้คนที่ถูกผลักให้ไปอยู่ริมขอบสังคม ผ่านระบบราชการของรัฐชาติและการสื่อสารที่ละเอียดซับซ้อน กล่อมเกลาผู้คนให้มุ่งมองว่าผู้อื่นไม่ใช่คน"

อาจารย์ชัยวัฒน์ ทิ้งคำถามก่อนกล่าวสรุปในตอนท้ายว่า "ปี ๒๕๒๒ ท่านพุทธทาสภิกขุได้ตั้งศาสนปณิธานเอาไว้ ๓ ประการ คือ

๑. ให้ทุกคนทำความเข้าใจหัวใจแห่งศาสนาของตน
๒. จักทำความเข้าใจระหว่างศาสนาให้จงได้
๓. ให้ทุกคนถอนตัวออกมาเสียจากวัตถุนิยม ความลุ่มหลงในเนื้อหนัง

"การเข้าไม่ถึงศาสนธรรมเพราะความลุ่มหลงวัตถุที่แปรเป็นกรงขังปัญญา การจะทะลวงออกมาสู่สิ่งจริงแท้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ณ ปัจจุบัน จำต้องอาศัยข้อคิดท่านพุทธทาสร่วมกับข้อคิดทางวิชาการ บางทีการเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลก จำเป็นจะต้องอาศัยอาวุธที่สร้างชีวิตต่อสู้กับอาวุธที่เอาชีวิตที่มีนัยยะสำคัญ ๒ ประการคือ

๑. พยายามทำความเข้าใจความรุนแรงด้วยมุมมองเชิงวิภาคชี้ให้เห็นว่า สิ่งซึ่งไม่มีชีวิตนั้นลุกขึ้นมาเอาชีวิตได้อย่างไร
๒. หาทางออกจากเมฆหมอกของความรุนแรงที่ทำให้มนุษย์รู้สึกไร้ทางออก ด้วยการชี้ให้เห็นถึงความสวยงามของชีวิตและคุณค่าของคนสามัญไม่เลือกเขาเหล่าใคร อาศัยปัญญาและความรักเผชิญหน้ากับความรุนแรง ที่มีความชอบธรรมเป็นธงในการทำลายผู้คนให้กลายเป็นสิ่งชั่วร้าย และต้องแน่ใจว่า ไม่มีใครจะหลุดลอดออกจากผลแห่งการเอาชีวิตผู้อื่นไปได้…

ในทางศาสนา พระไพศาล วิสาโล ตัวแทนศาสนาพุทธ กล่าวถึงเหตุแห่งความขัดแย้งอันเกิดจากวัฒนธรรมบริโภค และค่านิยมของใหม่ในการทำความดีของโลกยุคหลังสถานะการณ์สงครามอิรักว่า "ส่วนหนึ่งของสงครามเกิดจากวัฒนธรรมอเมริกัน ที่อาศัยช่องทางการสื่อสารกระตุ้นต่อมตัณหาและก่อความโลภ สร้างความขัดแย้ง-เกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ-ผิวพรรณ ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่เชื่อในวัฒนธรรมของอเมริกายืนหยัดต่อสู้ อีกส่วนเป็นเรื่องศาสนาซึ่งก่อปัญหาความขัดแย้งมาก และจะเห็นว่าวัฒนธรรมบริโภคทำให้ความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณและศาสนากลายเป็นสิ่งงมงาย เหลวไหลแบ่งฝักฝ่าย ใช้พลกำลังความรุนแรงแก่ผู้ที่มุ่งทำลายความเชื่อและวัฒนธรรมของกลุ่มพวกตน"

ท่านกล่าวย้ำว่า ผลของสงครามอิรักไม่ได้สะเทือนเฉพาะกลุ่มมุสลิมเท่านั้น แต่กลับก่อค่านิยมใหม่ของการทำความดีขึ้น เพราะต่อไปหากประเทศใหญ่ ๆ ต้องการทำอะไรในนามของความดีงามแล้ว ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องฟังกฎเกณฑ์กติกาใด ๆ จากสังคมโลก และมาตรฐานอันนี้ก็ลุกลามเข้าสู่สังคมไทย

ดูได้จากนโยบายปราบยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล การฆ่าแกงกันในสังคมไทยกำลังกลายเป็นเรื่องของความถูกต้องด้วยมีจุดหมายที่ดีงาม ความเชื่ออย่างนี้น่ากลัวเมื่อศาสนาไม่สามารถบันดาลใจให้คนยอมตายเพื่อรักษาชีวิตคนอื่น จุดตรงนี้แสดงให้เห็นว่า ขบวนการศาสนาไม่ได้เป็นกลุ่มที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะก่อสันติภาพโลกใช่ไหม

ขณะมีคนอีกกลุ่มเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ไม่ได้ยึดถือศาสนาตามรูปแบบ แต่กลับพลีตนเพื่อรักษาชีวิตสัตว์หรือต้นไม้เอาไว้ เช่น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลากหลายกลุ่ม หรือกลุ่มกรีนพีซ ที่ขึ้นไปอยู่บนต้นไม้เพื่อป้องกันไม้ให้บริษัทสัมปทานป่าไม้ตัดทำลายต้นไม้ หรือกรณีนำเรือไปขวางเรือล่าปลาวาฬเพื่อปกป้องชีวิตปลาเอาไว้ อันนี้คือตัวอย่างว่า "ศาสนาต้องเป็นแรงบันดาลใจให้คนปกป้องคนและคอยช่วยเหลือมวลชีวิต" แต่ปัจจุบันกลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม ศาสนา ณ วันนี้กลับเป็นส่วนบันดาลให้คนฆ่าคนและทำลายมวลชีวิต…

ศาสนิกชนจักต้องตระหนักถึงปรัชญาและความไม่ยึดติดในศาสนาตน การเข้าหาแก่นจะทำให้เราหลุดออกจากยี่ห้อที่เรียกว่า อุปทาน หรือมายาการแห่งอัตลักษณ์ และ ณ เวลานั้น ศาสนาจะเปี่ยมไปด้วยความหมายของสันติธรรม ไม่ใช่อาวุธอันชอบธรรมสำหรับมุ่งเอาชีวิตแก่ผู้คนที่ไม่เชื่ออย่างเรา

ทางด้าน คุณพ่อวิชัย โภคทวี ตัวแทนศาสนาคริสต์ ในนามคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ กล่าวถึง ความรุนแรงที่แฝงตัวเข้ามาอย่างเงียบเชียบ เป็นระบบและลึกซึ้งอย่างยิ่ง การต่อสู้กับระบบความรุนแรงจึงเหลือเพียงทางออกเดียวนั่น คือ พลังแห่งศาสนธรรมที่มีการผนึกกำลังกัน

การศึกษาศาสนาธรรมของตนอย่างถึงแก่นจะเป็นเกราะป้องกันทุนนิยมบริโภค อันเป็นศาสนายุคใหม่ที่มีพระเจ้าเป็นเงินตรา มีศูนย์การค้าเป็นวิหาร และมีโฆษณาเป็นพระผู้เผยแพร่และเป็นพระเจ้าที่ไร้น้ำใจอย่างยิ่ง เพราะก่อความรุนแรงและสร้างความดีลวงขึ้นภายใต้ผลประโยชน์ การจะแยกแยะความดีลวงได้ต้องอาศัยการชี้นำของศาสนา แต่ทว่าศาสนธรรมยังมีกำลังไม่เพียงพอที่จะชี้นำโลก ด้วยพลังอำนาจของอเมริกากับอาวุธ-เทคโนโลยีและอุดมการณ์วัตถุนิยม ที่ครอบครองจิตใจบรรดามนุษย์ ให้ลุ่มหลงไปกับความสะดวกสบาย หรือแม้แต่ศาสนิกชนของเราก็ยังไม่สามารถเอาชนะความเห็นแก่ตัว ยอมพลีตนเพื่อรับใช้ผู้อื่น นำความรัก ความเมตตาภายใต้อุดมการณ์ศาสนามามอบแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

คุณพ่อวิชัย กล่าวสรุปในท้ายที่สุดว่า

"แท้จริงเป็นเรื่องไม่ยากโดยเริ่มที่ตัวเอง ยืนหยัดตั้งมั่นในความยุติธรรมและพร้อมจะเผชิญหน้ากับทุกความเป็นไป ณ บัดนั้น แอ่งแห่งเสรีภาพ และสันติภาพ ท่ามกลางสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่แท้ จะบังเกิดขึ้นเฉกเดียวกับอาณาจักรแห่งพระผู้เป็นเจ้า ที่เปิดกว้างสำหรับคนทุกคนแม้แต่คนบาป…" ..

ทีมงาน thaingo รายงาน
นำมาจาก http://www.skyd.org/html/hot/27May46-violence.html

เสขิยธรรม ประเด็นร้อน

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

คือปัญหาเรื่องตัวของผู้ก่อสงคราม คือกรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัญหาอีกอันหนึ่งต่างหาก ถ้าจะพูดอย่างสั้น ปัญหาการเป็นธรรมยุทธ์ หรืออธรรมยุทธ์ มีเกณฑ์ในการพิจารณาซึ่งมีที่มาจากทางศาสนา ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ จนปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ ข้อพิจารณาคือ ดูว่าสงครามนั้น เป็นสงครามซึ่งรุกรานหรือป้องกันตัว (aggressive or defensive war)

บทความนี้เคยเผยแพร่แล้วในเสขิยยธรรม ฉบับที่ ๕๖ นำมาเผยแพร่ซ้ำเพื่อรำลึกครบรอบ ๑ ปี สงครามสหรัฐฯ กับอิรัก
H

สงครามคราวนี้ต่างจากคราวอื่นคือ คงจะต้องเข้าใจธรรมชาติของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนแปลงไป ผมได้ไปพูดอภิปรายในหลายที่เพื่อจะอธิบายว่า ขณะนี้สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศเหมือนเช่นประเทศอื่น ๆ ไม่ใช่จักรวรรดินิยมที่มุ่งล่าผลประโยชน์ของประเทศในลักษณะต่าง ๆ แต่เป็นอาณาจักร (empire) การเป็นอาณาจักรไม่ใช่การเป็นจักรวรรดินิยม (imperialist) ประเทศอาจใช้นโยบายจักรวรรดินิยมได้ คือจะไปรุกรานประเทศอื่น แย่งชิงขูดรีดวัตถุดิบและแรงงานของประเทศเหล่านั้นมาไว้เป็นสมบัติในอำนาจของตัว อย่างนี้เรียกว่าจักรวรรดินิยม (imperialism) ...ผมคิดว่าแนวคิดเรื่อง "อาณาจักร" หรือ empire ซึ่งมีนักวิชาการไม่น้อยกำลังทดลองใช้อธิบาย

และที่กล่าวหาว่าอิรักมีความสัมพันธ์กับการก่อการร้ายสากลก็ไม่ชัดเจนกระไร ที่จริงรัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซนกับองค์กรอัฆออิดะห์ถือกันว่า แตกต่างกัน เพราะองค์กรอย่างอัลฆออิดะห์อาศัยการอ้างศาสนาอิสลามเป็นแกน ในขณะที่รัฐบาลอิรักของซัดดัม ฮุสเซนเป็นพรรค "บาอัธ" ในสายสังคมนิยมไม่ใช่สายศาสนา ในอดีตก็ไม่เอาด้วยกับสายศาสนา เพราะฉะนั้นอธิบายปัญหาความสัมพันธ์นี้ได้ยาก

ตัวบุคคลที่กำหนดนโยบาย ย่อมกระทำการบางอย่างที่มีผลต่อสังคมตนและสังคมโลก แต่อาจไม่ส่งผลเปลี่ยนแปลงที่โครงสร้างระดับใหญ่ ขอยกตัวอย่างเช่นนี้ สมมุติคุณขับรถชนิดหนึ่งเมื่อคุณกระโดดเข้ามาในตำแหน่งคนขับรถนั้น ถามว่าคุณใช้อะไรได้ ทำอะไรได้บ้าง แน่นอนคุณอาจเลือกใช้ความเร็วได้มากหรือน้อย คุณอาจตัดสินใจเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้ แต่ว่ารถคันนี้จะอย่างไรต้องใช้น้ำมัน น้ำมันก็เป็นพลังงานที่เป็น fossil-based ตัวการขับรถยนต์ก็มีกฎเช่นกัน