H

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 363 หัวเรื่อง
โลกของธุรกิจคอมพิวเตอร์
ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(บทความนี้ยาวประมาณ 12 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

150347
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

ธุรกิจบนโลกของคอมพิวเตอร์
ว่าด้วยธุรกิจ Dot.Com บนไซเบอร์สเปซ

ศาสตราจารย์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(บทความนี้ ยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)

รวมบทความวิชาการ 4 เรื่อง เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์
คัดลอกมาจากนิตยสารผู้จัดการ : เขียนโดย ศ. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
ตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 ถึง เดือนมีนาคม 2547

บทความ 4 เรื่องประกอบด้วย
1. จาก Dot.Com ไปสู่ Dot.Gone นิตยสารผู้จัดการ (เมษายน 2544)
2. ครึ่งทศวรรษ Google.com นิตยสารผู้จัดการ (พฤศจิกายน 2546)
3. จาก Google ถึง Googling นิตยสารผู้จัดการ (มกราคม 2547)
4. Sir Bill Gates นิตยสารผู้จัดการ (มีนาคม 2547)

1. จาก Dot.Com ไปสู่ Dot.Gone
ในที่สุด ภาวะฟองสบู่ของธุรกิจ Dot.Com ก็แตกสลายดุจเดียวกับการแตกสลายของภาวะฟองสบู่ของกิจกรรมเศรษฐกิจอื่นๆ นับตั้งแต่ปี 2537/2538 เป็นต้นมา เมื่อ Internet สามารถใช้ประโยชน์ทางด้านการพาณิชย์ได้ ธุรกิจ E-Commerce ก็เฟื่องฟู อย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาเหนือ และยุโรปตะวันตก ในขณะที่โลกที่สามยังมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ไม่มากนัก

การเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ผลักดันให้มีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ Dot.com จำนวนมาก หน่วยธุรกิจประเภทนี้ประกอบธุรกิจใน Cyberspace ไม่มีสถานประกอบการทางกายภาพ และไม่มีร้านค้าที่ลูกค้าเยี่ยมชมได้ เพียงแต่สร้าง Online Web Site และประกอบธุรกิจจาก Online Web Site ของตน ชื่อของหน่วยธุรกิจมักจะลงท้ายด้วย .Com อาทิ amazon.com เป็นต้น ด้วยเหตุดังนี้ หน่วยธุรกิจที่ประกอบธุรกิจใน Cyberspace จึงมีสามัญนามว่า Dot.Com

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการขยายตัวของการใช้ Internet ทำให้ธุรกิจ Dot.Com มีตลาดอันกว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมพื้นที่ทุกภูมิภาคในขอบเขตทั่วโลก คุณสมบัติ ดังกล่าวนี้เกื้อหนุนการขยายตัวของธุรกิจ Dot.Com อย่างยิ่ง ในช่วงที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง ธุรกิจ Dot.Com ผุดขึ้นใหม่นับพันบริษัทเกือบทุกเดือน การเติบโตของธุรกิจ Dot.Com ได้รับการเกื้อหนุนจากธุรกิจ Venture Capital ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในการประกอบการระยะแรกเริ่ม

นอกจากจะแสวงหาเงินทุนจาก Venture Capital ได้โดยง่ายแล้ว การระดมเงินทุนจากตลาดทุนยังมิใช่เรื่องยากอีกด้วย เพราะตลาดมองเห็นอนาคตอันสดใสของธุรกิจประเภทนี้ การเก็งกำไรซื้อขายหุ้นของธุรกิจ Dot.Com จึงเป็นไปอย่างคึกคัก

ธุรกิจ Dot.Com บางบริษัทมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน ทั้งๆ ที่ยังไม่มีผลกำไร ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้มีเงินออมพากันตบเท้าเข้าไปเก็งกำไรซื้อขายหุ้นของธุรกิจ Dot.Com ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเก็งกำไรดังกล่าวนี้ จะไม่ก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ของราคาหลักทรัพย์ของธุรกิจ Dot.Com ซึ่งรอวันแตกสลายในอนาคต

การขยายตัวของธุรกิจ Dot.Com ยังเป็นผลจากการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการหน้าใหม่อีกด้วย นักบริหารธุรกิจมืออาชีพ จำนวนไม่น้อยพากันลาออกจากงาน เพื่อตั้งตัวเป็นเถ้าแก่เสียเอง บัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก Business School ต่างๆ ต่างมองเห็นอนาคตอันสดใสในการเข้าไปประกอบธุรกิจใน Cyberspace อันเป็นตลาดที่กว้างใหญ่ไพศาล โดยที่มีทำนบกีดขวางการเข้าไปแข่งขัน (Barriers to Entry) ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเป็น เพราะการแสวงหาเงินทุนจาก Venture Capital ทำได้ง่าย ด้วยเหตุดังนี้ ภาวะฟองสบู่ของธุรกิจ Dot.Com หรือ Dot.Com Mania จึงก่อเกิดขึ้น

แต่แล้วภาวะฟองสบู่ของธุรกิจ Dot.Com ก็เริ่มแตกตั้งแต่ต้นปี 2543 แม้ในชั้นแรกจะเป็นการแตกสลายของภาวะฟองสบู่ของตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ หากแต่ในเวลาต่อมา เกิดการล้มละลายของธุรกิจ Dot.Com นิตยสาร Fortune ถึงกับเปิดคอลัมน์ Dot.Com Deathwatch ในขณะที่หนังสือพิมพ์ The Washington Post เปิดคอลัมน์ Dot.Com Graveyard รายงานข่าวเกี่ยวกับการปิดกิจการ และการล้มละลายของธุรกิจ Dot.Com ปรากฏอย่างต่อเนื่อง ชนิดที่ต้องมีการจับตามองมรณกรรม หรือต้องมีการขุดหลุมฝังศพของธุรกิจ Dot.Com

ณ บัดนี้ Dot. Com กลายเป็น Dot.Gone

คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า ธุรกิจ Dot. Com สิ้นอนาคตจริงแล้วหรือ? ธุรกิจ Dot.Com จำนวนมากประกอบธุรกิจ B2C (= Business to Consumer) ขายสินค้าสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน นับตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภค หนังสือ ดนตรี ของเล่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ บริการการท่องเที่ยว บริการบันเทิง และบริการการเงิน

ในช่วงเวลาครึ่งศตวรรษ ที่ผ่านมา โครงสร้างของ E-Commerce เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ B2C ลดความ สำคัญลง ในขณะที่ B2B (= Business to Business) มีความสำคัญมากขึ้น ธุรกิจ Dot.Com ที่ล้มหายตายจาก ไปนั้น ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจ B2C โดยที่ไม่สามารถปรับตัวเพื่อการอยู่รอด และมีการบริหารธุรกิจที่ผิดพลาดอย่างน้อย 5 ประการ

ประการแรก การขาดยุทธศาสตร์ทางด้านธุรกิจ (Business Strategy) นับเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดชะตากรรมของธุรกิจ Dot. Com ธุรกิจ Dot.Com ส่วนใหญ่สนใจการแข่งขันกันในการลดราคา แต่ไม่สนใจในการปรับปรุงคุณภาพของบริการ แม้จะมีการห้ำหั่นราคา แต่เมื่อรวมค่าขนส่งสินค้าแล้ว ราคาที่ผู้บริโภคจ่ายมิได้ถูกกว่าการซื้อสินค้าตามร้านปกติ

ยิ่งการส่งสินค้าเป็นไปอย่างล่าช้าด้วยแล้ว ยิ่งเป็น การทำลายตนเอง ผู้บริโภคเริ่มพบว่าสินค้าที่สั่งซื้อจาก Dot.Com เพื่อเป็นของขวัญในเทศกาลวันคริสต์มาสและวันปีใหม่ ล่ากว่ากำหนดเป็นอันมาก นับตั้งแต่เทศกาลปี 2541/2542 เป็นต้นมา การสั่งซื้อสินค้าจาก Dot.Com เนื่องในเทศกาลลดลงเป็นอันมาก

ประการที่สอง ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) มีความสำคัญในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งธุรกิจ Dot.Com จะต้องมีการนำทุนทางปัญญาไปใช้ในการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Databases) และใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในด้านการบริหารและการตลาด, ธุรกิจ Dot.Com ที่เลิกกิจการส่วนใหญ่ละเลยการไขว่คว้า บ่มเพาะและพัฒนาทุนทางปัญญา

ประการที่สาม การจับตลาดเฉพาะ (Niche Market) เป็นเรื่องสำคัญ แม้ Cyberspace จะมีตลาดขนาดใหญ่มหาศาล แต่การประกอบธุรกิจ Dot.Com โดยมิได้จับตลาดเฉพาะ ย่อมไม่มีหลักประกันเกี่ยวกับความยั่งยืนของธุรกิจ

ประการที่สี่ ธุรกิจจำเป็นต้องมียี่ห้อ (Brand) มิฉะนั้นจะไม่สามารถติดตลาดได้ ธุรกิจ Dot.Com มิใช่ข้อยกเว้นของหลักการข้อนี้ ธุรกิจ Dot.Com จำนวนมากที่ล้มละลายเพราะไม่มียี่ห้อ หรือยี่ห้อไม่ติดตลาด แต่ยี่ห้อมิอาจสร้างบน Internet ได้ ธุรกิจ Dot.Com ที่เกิดใหม่ไม่เป็นที่รู้จักและไม่เป็นที่ไว้วางใจของผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องสร้างยี่ห้อด้วยการทุ่มโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ และโทรทัศน์ รวมทั้งการติดป้ายโฆษณาบนถนนและทางหลวง และ การแจกจ่ายแผ่นพับโฆษณา

amazon.com, eBay.com และธุรกิจ Dot.Com ยักษ์ใหญ่อื่นๆ ล้วนสร้างยี่ห้อด้วยวิธีการเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ Dot.Com จำนวนมากมิทันสร้างยี่ห้อให้ติดตลาด ก็หมดเงินทุนเสียก่อน

ประการที่ห้า ธุรกิจจะอยู่รอดได้ กระบวนการทางธุรกิจ (Business Process) จักต้องมีประสิทธิภาพ ธุรกิจ Dot.Com ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับธุรกรรมหน้าบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโฆษณา และการรับคำสั่งซื้อ แต่มิได้ให้ความสำคัญกับธุรกรรมภายในบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อ

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยยังคงเชื่อว่า ธุรกิจ Dot.Com ยังมีอนาคต การปิดกิจการและการล้มละลายที่เกิดขึ้น เป็นผลจากความผิดพลาดในการบริหาร อีกทั้งมีการคาดการณ์เกี่ยวกับธุรกิจ Dot.Com ในด้านดีเกินกว่าความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2543 เป็นต้นมาจะช่วยปรับเปลี่ยนการคาดการณ์เกี่ยวกับธุรกิจ Dot. Com ให้ตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น

กระนั้นก็ตาม โครงสร้างของ E-Commerce จะยังคงเปลี่ยน แปลงไปในทางที่ B2B มีความสำคัญมากขึ้น และ B2C มีความสำคัญลดลง ธุรกิจ Dot.Com รุ่นนักผจญภัยเริ่มล้มหายตายจากไปตากกฎ Survival of the Fittest ในขณะเดียวกัน ธุรกิจ Dot.Com รุ่นที่สองกำลังปรากฏตัวขึ้น

ผู้ประกอบการธุรกิจ Dot.Com รุ่นแรกเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ซึ่ง ไม่มีฐานการผลิตในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) ผู้ประกอบการเหล่านี้มิได้ผลิตสินค้าเอง เพียงแต่ให้บริการพาณิชย์ผ่าน Internet เมื่อมีผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าใด ธุรกิจ Dot.Com ก็เพียงแต่จัดซื้อจากผู้ผลิต แล้วจัดส่งให้ลูกค้า

ผู้ประกอบธุรกิจ Dot.Com รุ่นที่สองมีฐานการผลิตในภาคการผลิตที่แท้จริง และมีสถานประกอบการภายในอาคารที่มั่นคง ดังนั้นจึงมี ชื่อเรียกว่า Brick and Mortar บริษัทเหล่านี้เริ่มรุกคืบเข้าไปประกอบธุรกิจ E-Commerce โดยมีการจัดองค์กรแตกต่างกันอย่างน้อย 4 รูป แบบ

รูปแบบแรก E-Commerce อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน หรือแผนกหนึ่งภายในบริษัท The Office Depot ผู้ผลิตเครื่องใช้ในสำนักงานเลือกใช้รูปแบบนี้

รูปแบบที่สอง แยกกิจการ E-Commerce ออกเป็นบริษัทต่างหาก แต่ยังเป็นบริษัทในเครือของบริษัทแม่ ดังกรณี CVS ผู้ประกอบธุรกิจการขายยา

รูปแบบที่สาม ได้แก่ การจัดตั้งธุรกิจ ร่วมทุนระหว่าง Brick and Mortar Company กับ Dot.Com บริษัท ผู้ผลิตเป็นผู้ป้อนสินค้าสำหรับขายใน Cyberspace โดยอาศัยทักษะและความชำนัญการด้าน E-Commerce ของ Dot.Com

รูปแบบที่สี่ ได้แก่ การจัดตั้งบริษัทใหม่แยกต่างหากจากบริษัทแม่โดยชัดเจน และไม่พึ่งเงินทุนจากบริษัทแม่ หากแต่พึ่งเงินทุนจาก Venture Capital และ ระดมทุนจากตลาดทุนเป็นสำคัญ

การแตกสลายของภาวะฟองสบู่ของธุรกิจ Dot.Com ในช่วงปี 2543-2544 อันนำมาซึ่งจุดจบของ Dot.Com Mania ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ E-Commerce เท่านั้น หากยังนำมา ซึ่งมรณกรรมของธุรกิจ Dot.Com รุ่น แรก และการก่อเกิดของธุรกิจ Dot. Com รุ่นที่สองอีกด้วย

2. ครึ่งทศวรรษ Google.com
Google.com มีอายุครบครึ่งทศวรรษในปีนี้ ไม่น่าเชื่อว่า ธุรกิจขนาดจิ๋ว ซึ่งก่อเกิดจากมันสมองของนักศึกษาวิชาคอมพิวเตอร์ แห่งมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด 2 นาย จะสามารถถีบตัวเป็น Search Engine ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก เพียงชั่วระยะเวลาเพียง 5 ปี

เซอร์ไก บริน (Ser- gey Brin) ขณะอายุ 22 ปี และลาร์รี เพจ (Larry Page) ขณะอายุ 21 ปี ร่วมกันสถาปนา Google.com ในปี 2538 โดยในชั้นแรกใช้ชื่อ Back Rub ห้องพักในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของคนทั้งสองแปรสภาพเป็นสำนักงาน ห้องพักของเพจเป็นศูนย์สารสนเทศ ส่วนห้องพักของบรินเป็นสำนักงานธุรกิจ โดยที่ในเวลาต่อมาย้ายสำนักงานไปยัง Menlo Park มลรัฐแคลิฟอร์เนีย Google.com ถือกำเนิด ณ ที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นอู่ซ่อมรถ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2541 ด้วยเงินลงทุน 1 ล้านดอลลาร์อเมริกันที่ระดมจากญาติสนิทและมิตรสหาย

เมื่อ Google.com ถือกำเนิดนั้น ธุรกิจ Dot Com กำลังรุ่งเรืองสุดขีด แต่แล้วภาวะฟองสบู่ของธุรกิจ Dot Com ก็เริ่มแตกในปี 2543 จนธุรกิจ Dot Com กลายเป็นธุรกิจ Dot Gone

Google.com สามารถฟันฝ่ามรสุมธุรกิจดังกล่าวนี้ได้อย่างดียิ่ง ไม่เพียงแต่จะอยู่รอดได้เท่านั้น หากยังเติบใหญ่ได้อีกด้วย

เมื่อ Google.com เริ่มให้บริการ Search Engine นั้น ในชั้นแรกมีผู้ใช้บริการเพียงวันละ 10,000 รายเศษ ในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการมากกว่าวันละ 200 ล้านราย

Search Engine ทำหน้าที่เสมือนหนึ่ง 'ห้องสมุด' ใน Cyberspace ผู้ที่ต้องการแสวงหาความรู้และค้นหาข้อมูล เพียงแต่เข้าสู่ Search Engine และพิมพ์คำไข (Key Words) หรือหัวข้อที่ต้องการค้น Search Engine จะช่วยนำพาไปสู่ Web- sites ต่างๆ ที่สามารถให้ความรู้และข้อมูลตามคำไขหรือหัวข้อที่ค้นนั้น

Google.com ให้ความสนใจในการพัฒนา Indexing Technology เพราะการจัดระบบดรรชนีเป็นหัวใจของ Search Engine ทั้งนี้ Search Engine จะต้องสามารถนำผู้ใช้บริการไปสู่ Website ที่ให้ข้อมูลและความรู้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการในเวลาอันรวดเร็ว

Google.com ทุ่มทรัพยากรในการวิเคราะห์เนื้อหา ของ webpage ต่างๆ เพื่อกำหนดคำไข และเพื่อประเมินความนิยมของผู้ใช้บริการ ด้วยเหตุดังนี้ Google.com จึงสามารถจัดทำดรรชนีสำหรับ Web Journals เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการให้บริการได้

ในด้านหนึ่ง Google.com กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา Indexing Technology ในอีกด้านหนึ่ง Google.com ให้ความสำคัญในด้านยุทธศาสตร์การตลาด ทั้งนี้เนื่องจาก Google.com อยู่รอดในทางธุรกิจได้ด้วยรายได้จากการโฆษณา โดยที่รายได้จากการโฆษณาเพิ่มพูนตามปริมาณผู้ใช้บริการ ในขณะที่ปริมาณผู้ใช้บริการจะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการให้บริการของ Google.com เอง ยุทธศาสตร์ทั้งสองจึงขึ้นต่อกันและกัน และมีผลต่อชะตากรรมของ Google.com

Google.com สนใจศึกษาว่า webpage แต่ละหน้าสมควรโฆษณาสินค้าหรือบริการอะไร การหาโฆษณาของ Google. com จึงมีเป้าหมายเด่นชัด เพราะมิได้เพียงให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการได้ประโยชน์เท่านั้น หากต้องการให้ผู้ใช้บริการได้ประโยชน์ด้วย อาทิ ในขณะที่ผู้ใช้บริการกำลังค้นข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยว จะมีโฆษณาบริการนำเที่ยวปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ด้วยวิธีการเช่นนี้ Google.com ช่วยให้การโฆษณามีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น บริษัทผู้ผลิตสินค้าและบริการพอใจที่จะโฆษณากับ Google.com

การเติบใหญ่ของ Google.com เป็นปรากฏการณ์ที่มีผู้จับตามองมากขึ้น เมื่อ Google.com ก้าวล่วงไปซื้อ Pyra Labs ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์เมื่อต้นปี 2546 วงการธุรกิจเริ่มตั้งคำถามว่า เหตุใดบริษัทผู้ประกอบธุรกิจ Search Engine จึงตัดสินใจซื้อบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์?

Pyra Labs เป็นเจ้าของบริษัท Blogger เมื่อ Google. com ซื้อ Pyra Labs ดังนั้น Google.com ย่อมเป็นเจ้าของ Blogger ด้วย Blogger นอกจากผลิตคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์แล้วยังเป็นเจ้าของ Website อันเป็นที่สิงสถิตของ Weblogs นับล้านใน Cyberspace

Weblogs เน้น Website ส่วนบุคคล ณ ที่ซึ่งผู้อ่านสามารถ เข้าไปสื่อสารด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูล แสดงทัศนวิจารณ์ หรือมี 'บทสนทนา' กับผู้อ่านอื่นๆ โดยปกติจะมี Web Links ด้วย

กระบวนการเติบโตของ Weblogs หรือ Weblogging นอกจากจะมีผลต่อการขยายขนาดของ Cyberspace แล้ว ยังมี ผลต่อวัฒนธรรมการสื่อสารของมนุษย์อย่างสำคัญอีกด้วย Cyberspace กลายเป็นแหล่งความรู้และข้อมูลที่สำคัญยิ่งกว่าห้องสมุดใดๆ การแลกเปลี่ยนความรู้และทัศนวิจารณ์ใน Cyberspace เป็นไปอย่างเสรี ข้อเขียนที่ปรากฏในสิ่งตีพิมพ์ถูกถ่ายทอดสู่ Cyberspace ได้โดยง่าย ผ่านการเชื่อมโยงระหว่าง Weblogs ต่างๆ

แต่ Weblogs แตกต่างจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ข้อเขียนที่ปรากฏบน Weblogs ไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นข้อเขียนที่ถูกต้องตรงต่อข้อเท็จจริง ไม่มีกระบวนการบรรณาธิกรเพื่อให้ภาษาสละสลวย หากจะมีการใช้ภาษาหยาบคาย หรือแม้แต่หยาบโลน ก็เป็นเรื่องคาดการณ์ได้

การปรากฏตัวของ Weblogs ก่อให้เกิด Weblog-sphere หรือ Blogosphere อันเป็นส่วนต่อเติมของ Cyber-space กระบวนการ Weblogging ช่วยขยายต่อเติม Blog-sphere

Google.com ต้องการหาประโยชน์จาก Blogsphere อันกว้างใหญ่ไพศาลอย่างปราศจากข้อกังขา มิฉะนั้นคงไม่ตัดสินใจซื้อ Pyra Labs การซื้อ Pyra Labs ไม่เพียงแต่จะทำให้ Google.com ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่พัฒนาโดย Pyra Labs และ Blogger เท่านั้น หากยังได้ประโยชน์จาก ข้อมูลเกี่ยวกับ Weblogs ที่ Blogger ครอบครองอีกด้วย ข้อมูลเหล่านี้ช่วยขยายต่อเติมฐานข้อมูลที่ Google.com มีอยู่เดิม มิพักต้องกล่าวถึง Interlinks ที่มากับ Weblogs ด้วย

นักสังเกตการณ์จำนวนไม่น้อยเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า Google.com อาจอยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้าง เพื่อเปลี่ยนโฉมเป็นธุรกิจสื่อสารมวลชน (Media Business) Google.com รุกคืบไปทำสัญญาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับ American Online เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2546 ทำให้ข้อคาดการณ์ข้างต้นนี้มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง Microsoft จับตามองการเติบโตของ Google.com ด้วยและ เริ่มวางแผนที่จะประกอบธุรกิจ Search Engine แข่งกับ Google.com

ครึ่งทศวรรษของ Google.com เป็นครึ่งทศวรรษแห่งการเติบโตที่มีคุณภาพ อย่างน้อยที่สุด แม้แต่ยักษ์ใหญ่ดุจดัง Microsoft ยังต้องเกรงขาม

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ Google.com
กำเนิด 7 กันยายน 2541 ผู้ก่อตั้ง Larry Page และ Sergey Brin
ความหมาย Google มาจากคำว่า Google ซึ่งในทางคณิตศาสตร์ หมายถึงเลข 1 ตามด้วยศูนย์อีก 100 ตัว
จำนวนพนักงานมากกว่า 1,000 คน, จำนวนผู้ใช้บริการ 200 ล้านรายต่อวัน,
จำนวนข้อมูล 3,100 ล้าน Web (ปัจจุบัน จำนวนข้อมูลมากกว่ามากกว่า 4,000 ล้าน Web)

3. จาก Google ถึง Googling
Google.com ทะยานขึ้นมาเป็น Search Engine ยอดนิยมภายในชั่วเวลาครึ่งทศวรรษ ในแต่ละวันผู้คนในมนุษยพิภพนับร้อยล้านคน ใช้บริการของ Google.com ท่องไปใน Cyberspace

อาณาจักรของ Google.com เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยก้าวล่วงออกจากธุรกิจ Search Engine และก้าวล้ำเข้าสู่ Software Industry โดยที่อาจก้าวเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารมวลชนด้วย Microsoft จับตามองการเติบโตของ Google ด้วยอาการเกรงขาม เพราะ google กำลังถีบตัวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของ Microsoft

บิลล์ ธอมป์สัน (Bill Thompson) ผู้สื่อข่าวสายเทคโนโลยีของ BBC ตั้งคำถามเมื่อต้นปี 2546 ว่า Google มีอำนาจมากเกินไปหรือไม่ ในบทความเรื่อง "Is Google Too Powerful?" (BBC News, February 21, 2003) บิลล์ ธอมป์สัน เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานชื่อ Office of Search Engines (เรียกย่อๆ ว่า Ofsearch) ทำหน้าที่ควบคุม กำกับ และตรวจสอบธุรกิจ Search Engines เพราะธุรกิจประเภทนี้กำลังมีอิทธิพลในตลาด และสามารถชี้เป็นชี้ตายธุรกิจอื่นๆ

Google.com มีอำนาจล้นฟ้าในธุรกิจ Search Engines อย่างปราศจากข้อกังขา จนถึงขั้นที่องค์กรประชาชนระหว่างประเทศจำนวนหนึ่ง กำลังจับตามองทุกย่างก้าวของ Google

เมื่อมีผู้ใช้บริการ Google.com Google ดำเนินการติดตั้ง Tracking Cookie ในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ทันรู้ตัว นอกจาก Google จะล่วงรู้ IP Address วันเวลาที่ใช้บริการ และคำไข (Key Words) ที่ค้นแล้ว Google ยังสามารถติดตามพฤติกรรมการใช้บริการ Search Engines ของลูกค้าเป็นเวลายาวนาน โดยที่ Tracking Cookie จะสิ้นอายุการใช้งานในปี ค.ศ.2038 หรืออีก 34 ปี ข้างหน้า

ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวนี้ Google เก็บสะสมข้อมูลของผู้ใช้บริการตลอดเวลา ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า Google เก็บบันทึก ข้อมูลเหล่านี้เพื่อเหตุผลอันใดฤา

Google บันทึกข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่รัฐบาลในการทำหน้าที่ Big Brother (ตามนวนิยายเรื่อง 1984 ของ George Orwell) สอดส่องตรวจสอบและกำกับพฤติกรรมของ ราษฎร ข้อที่ประจักษ์ชัดก็คือ ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ eCommerce

Google พัฒนา Indexing Technology เพราะการพัฒนาระบบดรรชนีสำหรับการค้นคำไข เพื่อให้ผู้ใช้บริการเข้าไปสู่ Websites ที่ต้องการในเวลาอันรวดเร็ว นับเป็นหัวใจของธุรกิจ Search Engines หาก Google ไม่ชอบหน้าสถาบัน องค์กร และธุรกิจใด Google เพียงแต่ตัดชื่อหน่วยงานเหล่านี้ออกจากระบบดรรชนี จำนวนผู้ใช้บริการของหน่วยงานเหล่านี้ย่อมลดลงอย่างน่าใจหาย

Google ไม่เพียงแต่มีอำนาจล้นฟ้าในธุรกิจ Search Engines เท่านั้น หากยังแผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรมอีกด้วย Google เป็นวิสามัญนาม เป็นชื่อบริษัท และเป็น Global Brand การแผ่อิทธิพลของ Google ทำให้วิสามัญลักษณ์ของ Google ลดน้อยถอยลง Google เริ่มกลายเป็นสามัญนาม กลายเป็นคำกริยา และกลายเป็นคำคุณศัพท์

Anne will 'google' a new boy-friend. ในประโยคนี้ google เป็นคำกริยา ทั้งประโยคแปลว่า แอนค้นหาเพื่อนชายคนใหม่โดยใช้บริการ Search Engines ผู้คนพากันกล่าวขวัญถึง googling และ being googled บัดนี้ google กลายเป็นศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์เสียแล้ว

กระบวนการแปรวิสามัญนาม (Proper Noun) เป็นสามัญนาม (Common Noun) มิใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เมื่อหลายร้อยปีก่อน Sandwich ก็เปลี่ยนแปลงสถานะดังกล่าวนี้

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่จำนวนมาก ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มียี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้า ในระยะแรกเริ่ม ผลิตภัณฑ์อันเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้มักไร้คู่แข่ง ทั้งนี้อาจเป็นผลจากการจดทะเบียนสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา ผู้บริโภคใช้ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าแทนชื่อผลิตภัณฑ์ ในเวลาไม่ช้าไม่นานต่อมา ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้านั้นกลายเป็นสามัญนาม

Xerox นับเป็นอุทาหรณ์อันดีของความข้างต้นนี้ Xerox เป็นผู้บุกเบิกในการผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร ในเวลาต่อมา Xerox ซึ่งเป็นยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้า ค่อยๆ แปรเปลี่ยนจากวิสามัญนามเป็นสามัญนาม โดยที่มีการใช้ Xerox เป็นคำกริยาด้วย แม้ในบัดนี้จะมีผู้ผลิตเครื่องถ่ายเอกสารหลายต่อหลายบริษัท แต่ผู้คนยังคงเรียกเครื่องถ่ายเอกสารหรือการถ่ายเอกสารว่า Xerox

Hoover มีสถานะไม่แตกต่างจาก Xerox และเผชิญชะตากรรมเดียวกัน Hoover เป็นผู้บุกเบิกในการผลิตเครื่องดูดฝุ่น แม้ในบัดนี้ชาวแองโกลแซกซันยังใช้คำว่า hoovering ในความหมาย vacuuming เจ้าของผลิตภัณฑ์อันเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้มีความพอใจหรือไม่เพียงใด ที่ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการ ค้าของตนแปรเปลี่ยนสามัญนาม?

Google แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจน เมื่อ World Spy อันเป็น Lexico-graphy Website บรรจุคำว่า google ใน Online Lexicon ผู้บริหาร World Spy ได้รับจดหมายประท้วงจาก Google โดยกดดันให้เปลี่ยนแปลงคำนิยามให้สื่อความหมายว่า google เป็นเครื่องหมายการค้า

ผู้จัดทำพจนานุกรมฉบับต่างๆ มีหน้าที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงภาษาในด้านต่างๆ รวมทั้งบรรจุคำที่เกิดขึ้นใหม่ ศัพท์ใหม่จำนวนมากแปรเปลี่ยนจากวิสามัญนาม ที่เป็นยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้า ในขณะที่บริษัทธุรกิจไม่ต้องการให้ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าของตนแปรเป็นสามัญนาม เพราะการแปรเปลี่ยนเป็นสามัญนามมีผลในการลดทอนมูลค่าตลาดของยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้านั้น

บรรษัทยักษ์ใหญ่บางบรรษัทว่าจ้างทนายให้ทำหน้าที่ปกป้องยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าของตน หากมีสื่อมวลชนใดใช้ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าเป็นสามัญนามหรือคำกริยาก็ดี หรือมีพจนานุกรมฉบับใดบรรจุศัพท์ที่เป็นยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าก็ดี ทีมทนายความจะดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อมิให้มีการใช้ศัพท์เหล่านั้นในความหมายที่มิใช่ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้า

นอกเหนือจาก Google แล้ว Xerox, Kleenex, Portakabin และ Rollerblade รวมอยู่ในกลุ่มนี้ ความพยายามในการธำรงยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้ามิให้แปรเปลี่ยนเป็นสามัญนาม ทำให้ทนายที่มีความชำนัญในการดำเนินคดีเครื่องหมายการค้า (Trademark Lawyers) รับงานเพิ่มอีกอักโข นักอักษรศาสตร์จำนวน ไม่น้อย เริ่มตั้งข้อกังขาว่า ทนายเหล่านี้กำลังทำหน้าที่ตำรวจพิทักษ์ภาษา

ท้ายที่สุด ศาลสถิตยุติธรรมจะกลายเป็นองค์กรที่ให้ 'คำตอบสุดท้าย' ว่า ศัพท์คำใดจะบรรจุในพจนานุกรมได้ และศัพท์ใดบรรจุมิได้ แทนที่จะปล่อยให้นักพจนานุกรมทำหน้าที่อย่างเต็มที่และทำงานอย่างมืออาชีพ

McDonald มีเหตุขัดข้องใจ แตกต่างจาก Google เมื่อ Merriam-Webster's Collegiate Dictionary อันเป็นพจนานุกรมภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียง บรรจุศัพท์ใหม่ McJob โดยนิยามว่าเป็นงานหนักค่าตอบแทนต่ำ McJob หมายถึง งานที่ทำกับ McDonald ศัพท์นี้ปรากฏครั้งแรกในนวนิยายเรื่อง Generation X ของดักลาส คูปแลนด์ (Douglas Coupland) ซึ่งปรากฏสู่บรรณพิภพในปี 2534

McDonald มีสาขาทั่วโลกประมาณ 30,000 แห่ง และมีลูกจ้างประมาณ 500,000 คน การบรรจุ McJob ในพจนานุกรมด้วยความหมาย เชิงลบสร้างความไม่พอใจแก่ McDonald เป็นธรรมดา

ไม่ว่าบรรษัทยักษ์ใหญ่จะชอบหรือไม่ก็ตาม กระบวนการแปรยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าเป็นสามัญนามจะยังคงปรากฏต่อไป

หมายเหตุ โปรดอ่าน
1. Bill Thompson, "Is Google Too Powerful?" BBC News (February 21, 2003)
2. Jonathan Duffy, "Google Calls in the Language Policy", BBC News (June 20, 2003)
3. "McDonald's Anger over McJob Entry", BBC News (November 9, 2003)

4. Sir Bill Gates

บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) King of Computer Software ผู้ถือหุ้นใหญ่ Microsoft ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ kinght Commander of the Most Excellent Order of the British Empire (KBE) จากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ แห่งสหราชอาณาจักร

หากบิลล์ เกตส์ เป็นคนอังกฤษ เขาจะมีฐานันดรศักดิ์เป็น Sir Bill Gates แต่เป็นเพราะบิลล์ เกตส์ เป็นพลเมืองแห่งสหรัฐอเมริกา เขาจึงเป็นได้เพียง Bill Gates, KBE บิลล์ เกตส์ รู้สึกปราโมทย์ที่ได้รับเกียรตินี้

KBE เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีมาแต่ปี 2460 พระราชทานแก่ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือสหราชอาณาจักรในด้านการสงคราม ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้ทรงคุณค่าแก่การรับ KBE ให้ครอบคลุมบรรดาผู้ทำสาธารณรัฐประโยชน์แก่สหราชอาณาจักรและพลเมือง แห่งสหราชอาณาจักร

บิลล์ เกตส์ มิใช่ชาวอเมริกันคนแรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสหราชอาณาจักร. สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับ ภาพยนตร์นามอุโฆษก็ดี, อลัน กรีนสแปน (Alan Greenspan) ประธานคณะผู้ว่าการแห่ง The Federal Reserve ก็ดี, และรูดิ จิอัลเยียนี (Rudi Giuliani) ผู้ว่าการมหานครนิวยอร์กก็ดี ล้วนแล้วแต่มาก่อนบิลล์ เกตส์ ทั้งสิ้น (ดูภาค ผนวก)

บิลล์ เกตส์ มิใช่นักธุรกิจอเมริกันคนแรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสหราชอาณาจักร. ลู เกิร์สต์เนอร์ (Lou Gerstner) อดีตประธานบริษัท IBM เคยได้รับเกียรตินี้มาก่อน

แต่เหตุใดบิลล์ เกตส์ จึงกลายเป็น Bill Gates, KBE?

บิลล์ เกตส์ ได้รับยกย่องเป็นนักธุรกิจ ผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยที่ระบบเศรษฐกิจแห่งสหราชอาณาจักรได้รับประโยชน์จากผลพวงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของ Microsoft ด้วย ในประการสำคัญ บิลล์ เกตส์ มีใจบุญสุนทาน เขาและภรรยาได้ก่อตั้ง Bill and Melinda Gates Foundation ในปี 2543 โดยบริจาคเงินจำนวน 2,600 ล้านดอลลาร์อเมริกัน (หรือประมาณ 1,400 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง) เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านสุขภาพอนามัยและการศึกษา

เงินบริจาคจำนวนมากใช้ไปในการวิจัยเพื่อต่อสู้กับโรคมาลาเรีย และโรคเอดส์ อีกส่วนหนึ่งใช้ไปในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ บิลล์ เกตส์ เจาะจงให้เงินอุดหนุนในด้านนี้แก่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์โดยเฉพาะ รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เข้ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในด้านหนึ่ง บิลล์ เกตส์ แสดงตนเป็น เศรษฐีใจบุญสุนทาน แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นนายทุนผู้หิวกำไรชนิดไม่รู้จักพอ

Microsoft พยายามรวบอำนาจผูกขาดในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ด้วยวิธีการนานัปการ บิลล์ เกตส์ ถูกกล่าวหาว่า ไม่มีจิตวิญญาณแห่งการแข่งขันที่เป็นธรรม Microsoft ถูกรัฐบาลอเมริกันฟ้องในสหรัฐอเมริกาโทษฐานมีประพฤติกรรมอันขัดต่อ Anti-Trust Law และถูกฟ้องด้วยโทษฐานเดียวกันในสหภาพยุโรป

ขณะเดียวกัน ประชาชนผู้บริโภคก็ดำเนินคดีกับ Microsoft ด้วย เพราะอำนาจผูกขาดของ Microsoft ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อ Windows PC Operating System ในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น

ประชาสังคมโลกพากันตั้งข้อกังขาว่า นายทุนผู้หิวกำไรจะกลายเป็นเศรษฐีใจบุญสุนทานได้อย่างไร หากมิใช่เป็นเพราะเหตุผล ในเรื่องการเสียภาษีอากร เพราะการบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลจะได้รับยกเว้นและลดหย่อนภาษีจำนวนมาก

บิลล์ เกตส์ กำหนดนโยบายมาเป็นเวลาช้านานที่จะมิให้ Microsoft จ่ายเงินปันผล จนในปี 2545 Microsoft มีดุลเงินสดสูงถึง 36,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน นโยบายการไม่จ่ายเงินปันผลทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเสียประโยชน์ เพราะมิได้รับส่วนแบ่งกำไร แต่บิลล์ เกตส์ ได้ประโยชน์ เพราะเมื่อยังมิได้รับเงินปันผล บิลล์ เกตส์ ก็ยังไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินปันผลที่ยังมิได้รับ ต่อเมื่อ Microsoft จ่ายเงินปันผล บิลล์ เกตส์ ก็ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินปันผลที่ได้รับ

นโยบายการไม่จ่ายเงินปันผล ทั้งๆ ที่ Microsoft มีกำไรจำนวนมหาศาล ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอันมาก โดยที่ ราล์ฟ เนเดอร์ (Ralph Nader) เป็นผู้นำการวิพากษ์ จนในปี 2546 Microsoft ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายการจ่ายเงินปันผล

เงินบริจาคที่บิลล์ เกตส์ ให้ในด้านสุขภาพอนามัย ทั้ง Global Fund for Children's Vaccines และการต่อสู้กับโรคมาลาเรียและโรคเอดส์ ก็ถูกวิพากษ์จาก NGOs ว่า ดำเนินการอย่างไม่เข้าใจพื้นฐานของปัญหา

บิลล์ เกตส์ ยังถูกวิพากษ์จาก Amnesty International ในฐานที่ไม่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย และไม่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สนใจเฉพาะแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ กรณีคลาสสิก ได้แก่ การขายเทคโนโลยีแก่สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อนำไปใช้เซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต อันนำไปสู่การจับกุมผู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตในประเทศนั้น

การเติบใหญ่และอำนาจผูกขาดของ Microsoft ทำให้มีผู้เห็นภัยอันเกิดจาก Microsoft กระบวนการต่อต้าน Microsoft และบิลล์ เกตส์ ปรากฏอย่างชัดเจน บัดนี้มี Websites จำนวนไม่น้อยที่แสดงตนเป็น ปรปักษ์ต่อ Microsoft และบิลล์ เกตส์ อาทิ

* Bill Bashing ดู www.cc.jyu.fi/ otto/bill-bashing/
*Gates of Hell? ดู http://egomania.nu/gates. Html
* The antiMicrosoft (UK) Website ดู http://members.tripod.com/ antiMicrosoft/

Websites เหล่านี้ล้วนต้องการถลกหนังหัว Microsoft และบิลล์ เกตส์ จึงกอปรด้วยบทวิพากษ์ที่ดุเด็ดเผ็ดมัน

บิลล์ เกตส์ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2498 ณ นครซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา บิดาชื่อ William H. Gates, II เป็นอัยการนครซีแอตเติล มารดาชื่อ Mary Gates เป็นครูสอนหนังสือ

บิลล์ เกตส์ เริ่มใช้คอมพิวเตอร์เมื่ออายุ 13 ขวบ ครั้นอายุ 17 ปี สามารถผลิตโปรแกรม Timetabling System ขายให้แก่โรงเรียนได้ราคา 4,200 ดอลลาร์อเมริกัน ณ Lakeside School

บิลล์ เกตส์ ได้พบพอล อัลเลน (Paul Allen) ซึ่งเป็นรุ่นพี่ 2 ปี ทั้งสองคนสนใจคอมพิวเตอร์ร่วมกัน และเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 2518 ทั้งสองคนร่วมกันก่อตั้งบริษัท Microsoft

บิลล์ เกตส์ ออกจากมหาวิทยาลัยเมื่อ ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 (หลักสูตร 4 ปี) เมื่อประจักษ์ชัดว่า ธุรกิจคอมพิวเตอร์กำลังเฟื่องฟู จุดเปลี่ยนผันสำคัญเกิดขึ้นในปี 2523 เมื่อ Microsoft ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโปรแกรมระบบการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ที่รู้จักกันในนาม MS-DOS และทำสัญญาขายให้แก่ IBM โดยที่ต่อ มาทำสัญญาขายให้แก่บริษัทผู้ผลิต IBM-Compatible PCs อื่นๆ

ในปี 2529 Microsoft จดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์และสามารถระดมเงินทุนได้ถึง 64 ล้านดอลลาร์อเมริกัน หลังจากนั้น Microsoft ก็เติบโตชนิดรั้งไม่อยู่ ในเวลาต่อมา พอล อัลเลน ถอนหุ้นจาก Microsoft คงเหลือแต่ บิลล์ เกตส์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่

ในปัจจุบัน บิลล์ เกตส์ มีทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 64,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน ทรัพย์สินของเขามีมูลค่ามากกว่า GDP ของประเทศเล็กๆ รวมกัน 70 ประเทศ และมีเพียง 63 ประเทศในมนุษยพิภพเท่านั้นที่มี GDP มากกว่ามูลค่าทรัพย์สินของบิลล์ เกตส์

ไม่ว่าบิลล์ เกตส์ ร่ำรวยมหาศาลปานใด หรือเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับว่า บิลล์ เกตส์ เป็นนักบุญหรือ ปีศาจ

ภาคผนวก
รายนามชาวต่างชาติที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อังกฤษ

Bob Geldof ผู้จัดงานสาธารณกุศล Live Aid
Lou Gerstner ประธานบริษัท IBM
Hamid Karzai ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน
Billy Graham นักเทศน์
Spike Milligan ดาราตลก
James Watson นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบ DNA
Placid Domingo นักร้องโอเปร่า
Steven Spielberg ผู้กำกับภาพยนตร์
Alan Greenspan ประธาน The Federal Reserve
Rudi Giuliani ผู้ว่าการนครนิวยอร์ก

ที่มา : "Microsoft Creator to Be Knighted" BBC News (January 26, 2004)

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เดือนมีนาคม พศ.๒๕๔๗
รวมบทความวิชาการ 4 เรื่องว่าด้วยโลกของธุรกิจคอมพิวเตอร์ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ของ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

บิลล์ เกตส์ ยังถูกวิพากษ์จาก Amnesty International ในฐานที่ไม่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย และไม่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สนใจเฉพาะแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ กรณีคลาสสิก ได้แก่ การขายเทคโน โลยีแก่สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อนำไปใช้เซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต อันนำไปสู่การจับกุมผู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตในประเทศนั้น การเติบใหญ่และอำนาจผูกขาดของ Microsoft ทำให้มีผู้เห็นภัยอันเกิดจาก Microsoft ทำให้เกิด กระบวนการต่อต้าน Microsoft และบิลล์ เกตส์

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ Google.com
กำเนิด 7 กันยายน 2541 ผู้ก่อตั้ง Larry Page และ Sergey Brin ความหมาย
Google มาจากคำว่า Google ซึ่งในทางคณิตศาสตร์ หมายถึงเลข 1 ตามด้วยศูนย์อีก 100 ตัว จำนวนพนักงานมากกว่า 1,000 คน, จำนวนผู้ใช้บริการ 200 ล้านรายต่อวัน, จำนวนข้อมูล 4,200 ล้านเว็ป

ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความวิชาการเกี่ยวกับเรื่อง internet
Google.com ให้ความสนใจในการพัฒนา Indexing Technology เพราะการจัดระบบดรรชนีเป็นหัวใจของ Search Engine ทั้งนี้ Search Engine จะต้องสามารถนำผู้ใช้บริการไปสู่ Website ที่ให้ข้อมูลและความรู้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการในเวลาอันรวดเร็ว