เว็บไซต์ใช้เวลาพัฒนามาตลอดเวลา ๖ ปี นับจากปี ๒๕๔๓ เพื่อสร้างอุดมศึกษาทางเลือกสำหรับทุกคนที่อ่านไทย โดยการประกาศสละลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ















บทความลำดับที่ ๑๑๒๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์
ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ ภายใต้ลิขซ้าย ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นักศึกษาและสมาชิกได้รับอนุญาตให้คัดลอกไปได้คำต่อคำ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร เมื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
R
H
080150
release date
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น... midnight's
ร่วมกันสร้างสรรค์ความรู้และความเสมอภาคเพื่อเตรียมตัวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาธิปไตยในคริสตศตวรรษที่ ๒๑
สำหรับผู้ที่สนใจบทความวิชาการก่อนหน้า ท่านสามารถคลิกที่ภาพประกอบ เพื่อย้อนกลับไปอ่านบทความที่เพิ่งผ่านมาได้จากที่นี่

นักศึกษา สมาชิก สามารถคลิกเพื่อค้นหาบทความต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้จากแถบสีฟ้า
โดยใส่คำค้นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ต้องการค้นหา
midnightuniv(at)gmail.com

History of Southern Thailand
The Midnight University

รากเหง้าปัญหาสังคมและวัฒนธรรมชุมชนภาคใต้
แกะรอยปัญหาภาคใต้: จากวัฒนธรรมโจรถึงไม่รบนายไม่หายจน
จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา


บทความวิชาการนี้ นำมาจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม
ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๗ วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๙
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของปัญหาสังคมวัฒนธรรมภาคใต้ ซึ่งโยงถึงอำนาจกดขี่ของรัฐ
มีการกล่าวถึงการก่อกำเนิดวัฒนธรรมโจร และแนวคิดไม่รบนายไม่หายจน
ซึ่งจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหาในเชิงประวัติศาสตร์ตามลำดับ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๒๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๘ หน้ากระดาษ A4)

 

แกะรอยปัญหาภาคใต้ : จากวัฒนธรรมโจรถึงไม่รบนายไม่หายจน
จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา

รากเหง้าของปัญหาสังคมและวัฒนธรรม ชุมชนภาคใต้
ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของสังคมและวัฒนธรรมชุมชนภาคใต้ มีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นจนเป็นที่รับรู้ทั่วไป โดยเฉพาะอุปนิสัยใจคอและบุคลิกภาพของคนใต้ที่มีผู้ประมวลไว้ว่า คนใต้เป็นคนพูดจาตอบโต้ตรงไปตรงมา โผงผาง ไม่ถนอมน้ำใจหรือรักษามารยาทในการพูดกับคู่สนทนา เจรจาโต้ตอบเฉียบแหลม ไม่ยอมรับอะไรง่ายๆ ชอบแสดงตนว่าเป็นคนกว้างขวาง กล้าได้กล้าเสีย รักศักดิ์ศรีและพิทักษ์พวกพ้องเครือญาติ ชอบทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่หรือเป็นนักเลง คำนึงถึงประโยชน์เฉพาะหน้าและเอาตัวรอด รักสนุก เกียจคร้าน ชอบรวมกลุ่ม ผูกพันกับตัวบุคคล รักและผูกพันกับถิ่นกำเนิด (ชวน เพชรแก้ว, ๒๕๓๔ : ๑๐๓.)

วัฒนธรรมโจร
ปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนภาคใต้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ล้วนเป็นสิ่งยืนยันให้เห็นถึงคตินิยมของคนใต้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะคตินิยมเกี่ยวกับการต่อต้านอำนาจรัฐ และคตินิยมความเป็นคนนักเลงที่ได้รับการสั่งสม สืบทอดมายาวนานหลายชั่วอายุคน เช่น กรณี"วัฒนธรรมโจร"ที่เป็นลักษณะโดดเด่นของชาวลุ่มทะเลสาบสงขลาจนสามารถจะกล่าวได้ว่า ในพื้นที่แถบลุ่มทะเลสาบสงขลา มีเรื่องราวเกี่ยวกับโจรอย่างเข้มข้นมาตลอดยุคสมัยอันยาวนาน ทั้งจากเอกสาร หลักฐานของทางราชการ และจากประวัติบอกเล่าของชาวบ้าน และจากหลักฐานดังกล่าวพอจะสรุปสาเหตุได้ว่า การเกิดโจรหรือวัฒนธรรมโจรเหล่านั้นมักเกี่ยวข้องและสัมพันธ์โดยตรงกับกลไกอำนาจรัฐ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ (บรรณาธิการ. ทักษิณคดี. ๒๕๓๗ : ๑๑-๑๒.)

นอกจากนั้นยังมีการปฏิเสธกลไกอำนาจรัฐของชาวบ้านในอีกหลายรูปแบบหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีลักเล็กขโมยน้อย การลักวัวลักควาย การปล้นฆ่าจนถึงการเป็นพื้นที่สีแดงเขตเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ยังหลงเหลือร่องรอยเป็นตำนานเลือดจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นยุทธการ "ถีบลงเขาเผาลงถัง(แดง)" หรือคำประกาศชาวบ้านแถบเทือกเขาบรรทัดเขตรอยต่อสตูล-สงขลา-พัทลุง-ตรัง-นครศรีธรรมราชที่ว่า "ไม่รบนายไม่หายจน" ล้วนสะท้อนถึงคตินิยมการต่อต้านอำนาจรัฐและความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนเส้นทางการต่อสู้ทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนภาคใต้

จากรายงานราชการของพระสฤษดิ์พจนกรณ์ เรื่องตรวจราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ว่าด้วยโจรผู้ร้ายพัทลุงที่ได้จากการสนทนากับนายบ่าวสามีของอำแดงริน ขณะที่พบกันตอนหยุดพักร้อนที่ศาลาหม่อมนุ้ยตามรายงานข้อ ๒๔๘ มีว่า

ข้าพระพุทธเจ้าไต่ถามดูเรื่องร้ายและการบ้านเมือง พูดจากันอย่างเพื่อนธรรมดา นายห่อสั่นศีรษะแล้วว่าเต็มที ชี้ให้ข้าพระพุทธเจ้าแลดูบ้านร้างและนาร้างที่ใกล้ศาลา หม่อมนุ้ยว่า ให้ข้าพระพุทธเจ้าแลดูด้วยเถิด นาและบ้านเหล่านั้นร้างด้วยเหตุอันใด และทำไมผู้ร้ายจึงชุกชุมนัก คือเกิดการโจรผู้ร้ายนั้นที่ใครแล้ว เจ้าเมืองกรมการไม่จับผู้ร้าย จับแต่ชาวบ้านไปโดยสงไสยว่าคบหาแลให้เสบียงอาหารที่พักแก่โจร อย่างใดอย่างหนึ่ง จนราษฎรต้องหนีทิ้งบ้านเรือนแลนาไว้ให้ร้าง ถึงตัวนายห่อเอง ในปี ร.ศ. ๑๑๒ ก็ต้องเสียเงิน ๒๐๐ เหรียญ คือกรมการจับนายห่อไปว่า อ้ายขำผู้ร้ายมาอาไศรย นายห่อต้องไปติดขังอยู่ ณ ตรางเมืองพัทลุง ๕ เดือน นายห่อเห็นท่าไม่ได้ออก จึงนำเงิน ๒๐๐ เหรียญไปให้พระทิพกำแหงสงคราม (หรั่ง) ปลัดจึงได้หลุดจากโทษ ไม่มีคดีเกี่ยวกัน (อ้างในวีระ แสงเพชร, ๒๕๔๔ : ๓.)

จากข้อความข้างต้น สะท้อนถึงบ่อเกิดของ "โจร" ในชุมชนภาคใต้ประการหนึ่งว่า มาจากสาเหตุที่เจ้าเมืองและกรมการเมืองไม่อาทรต่อความทุกข์ยากของราษฎร แต่กลับแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่และอำนาจของตน ซึ่งปรากฏการณ์และพฤติการณ์เช่นนี้มีมาตลอดตราบจนปัจจุบัน ดังรายงานของพระวิจิตรวรสาสน์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลาและพัทลุง ฉบับวันที่ ๑๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๔ (พ.ศ. ๒๔๓๘) กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ความว่า

ราชการเมืองพัทลุงยังหนักใจเปนล้นเกล้าฯ ด้วยมองดูไม่เห็นตัวเลย กรมการผู้ใหญ่ไม่โปก็ฝิ่นๆ ก็สุรา ประพฤติกันซึ่งๆ หน้า ไม่ปิดบังอันใด เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดด้วยเกล้าฯ ว่าจำเปนต้องใช้อำนาจบ้าง (อ้างในวีระ แสงเพชร, ๒๕๔๔ : ๓.)

นอกจากนั้นรายงานของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่ทรงรายงานกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๓๙) ความว่า

ธรรมเนียมบ่อนเบี้ยบ่อนไก่ในเมืองสงขลา เมืองพัทลุง ถ้าบ่อนเบี้ยมีที่ไหน บ่อนไก่ก็มีด้วย ต้องอาไศรยแก่กันเหมือนเพลงเหมือนละคร ไม่เช่นนั้น คนไม่มากย่อมไม่สนุก ยิ่งบ่อนเบี้ยไม่มีกำหนดว่ามากเท่าใดแล้ว บ่อนไก่ก็เท่ากัน ถ้าไม่คิดอ่านผ่อนผันการทั้ง ๒ อย่างนี้แล้ว โจรผู้ร้ายไม่สงบ ราษฎรไม่เปนอันทำมาหารับประทาน และเปนการเหลือกำลังที่จะจัดราชการให้เรียบร้อยทันพระราชประสงค์ได้ (อ้างในวีระ แสงเพชร, ๒๕๔๔ : ๔.)

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นต้นมา โจรจะมีอำนาจเหนืออำนาจรัฐ เป็นผลทำให้เกิดชุมโจรขึ้นในพื้นที่ต่างๆ โจรจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในพื้นที่ที่อยู่ในอิทธิพลของตน เช่น การจัดเก็บรายได้ การห้ามราษฎรติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ชุมโจรสำคัญๆ ได้แก่ ชุมโจรบ้านดอนทราย อำเภอทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลดอนทราย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง)

ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในท้องที่ตำบลดอนทราย อำเภอทะเลน้อย ได้เกิดชุมโจรขนาดใหญ่ขึ้นคณะหนึ่งมีรุ่งดอนทรายเป็นหัวหน้า ดำหัวแพรเป็นรองหัวหน้า มีคนเกเรและคนนักเลงหัวไม้จากท้องถิ่นใกล้เคียงและหัวเมืองตรัง นครศรีธรรมราชมาเข้าด้วยเป็นจำนวนมาก โจรกลุ่มนี้ได้ประกาศไม่ให้ชาวบ้านติดต่อกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง รวมทั้งห้ามเสียเงินรัชชูปการ รวมไปถึงภาษีอื่นๆ ด้วย สร้างความหนักใจให้แก่เจ้าหน้าที่ปกครองเป็นอันมาก ราษฎรเดือดร้อน ทางการบ้านเมืองจะยื่นมือเข้าไปจัดการเป็นคราวๆ ไป การปราบปรามนั้นเจ้าหน้าที่อาจดำเนินการเองโดยตรง หรือไม่ก็ใช้วิธีให้โจรปราบโจรกันเอง ซึ่งทำให้มีปัญหาติดตามมาอีกมากมาย เช่น มีการตามแก้แค้น ฆ่าฟันสืบสายสกุล ชาวบ้านไม่ไว้วางใจข้าราชการจนเกิดอคติต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

เมื่อรุ่งดอนทรายเสียชีวิตลงในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ดำหัวแพรก็ขึ้นเป็นหัวหน้าแทน ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ดำหัวแพรปะทะกับตำรวจ ถูกกระสุนแล้วสมุนพาหนีไปตายระหว่างทาง สมุนจึงฝังศพไว้. อีก ๒ วันต่อมาเจ้าหน้าที่ตามไปพบก็ให้ขุดศพขึ้นมาผูกประจานไว้กับต้นตาลหน้าวัดกุฏิ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง) (ล้อม เพ็งแก้ว, ๒๕๓๗ : ๔๐-๕๓.)

ตั้งแต่ยุคการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลเป็นต้นมา หัวเมืองต่างๆ ในภาคใต้อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการปกครองแบบเจ้าเมืองมีอำนาจแบบกินเมือง และจากสังคมที่เคยมีระบบทาส ระบบไพร่มาสู่ระบบการปกครองโดยรัฐ

เจ้าคุณรัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เล่าว่าเมื่อแรกๆ ท่านมาเป็นเจ้าเมืองตรังนี้ เป็นธรรมเนียมผู้ชายไปขอลูกสาว ฝ่ายบิดามารดาถามก่อน ๒ ข้อ คือ "รำโนราเป็นหรือไม่ กับขโมยควายเป็นหรือไม่" ถ้าไม่เป็นทั้ง ๒ อย่างไม่ยอมยกลูกสาวให้ เพราะบิดามารดาของผู้หญิงแลไม่เห็นว่าจะเลี้ยงเมียได้อย่างไร. คตินิยมเรื่องผู้นำครอบครัวและผู้นำชุมชนต้องเป็นนักเลง วัฒนธรรมการรักษาหน้า หน้าใหญ่ใจกว้าง "ยอมฉิบหายขายนา แต่ไม่ยอมเสียหน้าเสียคำพูด" ไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างของการข่มเหงรังแก ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ยิ่งใหญ่มาจากไหนก็ตาม เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงจากชุมชนเป็นชุมโจรในสังคมวัฒนธรรมชุมชนภาคใต้

นอกจากนี้ปัจจัยจากภายนอกชุมชน ได้แก่ ปัญหาที่เกิดจากการกดขี่ข่มเหงจากอำนาจผู้กินบ้านครองเมือง จนผู้นำชุมชนต้องรวมพลังเป็นเส้นสายแห่ง "หัวเกลอ" เพื่อต่อต้านอำนาจอยุติธรรมเหล่านั้น

รศ.สงบ ส่งเมือง (๒๕๓๗ : ๓๐-๓๙) อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีโจรผู้ร้ายในบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาระหว่างเมืองพัทลุงกับเมืองสงขลาชุกชุม เนื่องจากปัจจัยดังต่อไปนี้

๑. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในเมืองสงขลา อันเนื่องมาจากการขยายตัวของการใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างกว้างขวาง และมีการสะสมทรัพย์สมบัติในรูปของเงินตรา ทองคำรูปพรรณและสิ่งของมีค่าที่เคลื่อนย้ายได้ จึงเปิดโอกาสให้โจรปล้นสะดมและเก็บเอาทรัพย์สิน สิ่งของเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น

๒. ราษฎรบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะราษฎรในจังหวัดพัทลุงประกอบอาชีพแต่เพียงการทำนาและหาของป่าเท่านั้น ถ้าหากปีใดดินฟ้าอากาศไม่อำนวยก็จะทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ผู้ที่อดอยากหรือมีความละโมบอยากได้ของผู้อื่นโดยพลการ ก็จะหันไปเป็นโจรกันมาก จนกระทั่งทำให้เมืองพัทลุงมีชื่อเสียงทางด้านนี้มากกว่าเมืองใดๆ

๓. การเดินทางติดต่อระหว่างเมืองทั้งสองทำได้สะดวกมาก โดยเฉพาะทางเรือทางทะเลสาบสงขลา โจรผู้ร้ายได้อาศัยเส้นทางดังกล่าวออกไปปล้นสะดมและหลบหนีอย่างรวดเร็ว จึงยากแก่การตามจับกุม

๔. เขตแดนระหว่างเมืองสงขลากับเมืองพัทลุงมีบางส่วนคาบเกี่ยวอยู่โดยเฉพาะระหว่างตำบลด่านหินดำ แขวงเมืองพัทลุงกับตำบลพระเกิด แขวงเมืองสงขลา พวกโจรจึงสามารถอาศัยตำบลทั้งสองเป็นแหล่งพักพิงได้ ทั้งก่อนและหลังจากการปล้นสะดม จึงทำให้การจับกุมโจรเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งเพราะต่างก็อยู่นอกเขตหัวเมืองของตน

นอกจากนั้น รศ.สงบ ส่งเมือง ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโจรในลุ่มทะเลสาบสงขลาอย่างน่าสนใจว่า การปล้นสะดมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดจากโจรเมืองพัทลุงลอบเข้าไปปล้นบ้านเรือนราษฎรในแขวงเมืองสงขลาและแทบจะไม่พบหลักฐานเลยว่าโจรจากเมืองสงขลาเข้าไปปล้นราษฎรในเมืองพัทลุง ทั้งนี้เพราะราษฎรชาวเมืองสงขลาโดยทั่วไปมีฐานะดีกว่าชาวเมืองพัทลุง ประกอบกับกรมการเมืองบางคนในเมืองพัทลุงชักชวนพรรคพวกในเมืองพัทลุงเข้าไปปล้นบ้านเรือนราษฎรในเขตเมืองสงขลา

ชุมชนภาคใต้ในช่วงเวลาย้อนหลังไปประมาณ ๑ ศตวรรษ หรือประมาณหนึ่งชั่วอายุคนได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งชุมโจรหรือเขตวัฒนธรรมโจร การเกิดโจรในภาคใต้มักเกี่ยวข้องสัมพันธ์โดยตรงกับกลไกอำนาจรัฐ และรากเหง้าทางสังคมวัฒนธรรม การไม่ยอมคนหรือไม่ยอมรับการข่มเหงรังแกจากคนข้างนอกหรือ "หลวง" หรือราชการ ดังที่ลุงหนู เส้งเอียด บิดาของพี่น้องตระกูล "เส้งเอียด" คนนักเลงรุ่นล่าสุดแห่งบ้านลานข่อย ตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ที่ว่า "เราคนจนไม่มีอะไร มีแต่ปืนกับใจเท่านั้น"

สมเจตนา มุนีโมไนย (๒๕๓๗ : ๑๔-๒๙) "หลานปู่คนปลักขี้กราใหญ่" แห่งเมืองตรัง เมืองที่กล่าวกันว่า "มาแต่ตรัง ไม่หนังกะโนรา" ได้ให้เหตุผลของการเกิดโจรหรือความเป็นโจรโดยใช้หลักอริยสัจสี่ ดังนี้

๑. ความเป็นโจรเพราะความโลภ มักแสดงออกโดยการมุ่งประทุษร้ายต่อทรัพย์และไม่เสี่ยงที่จะประทุษร้ายต่อเจ้าทรัพย์

๒. ความเป็นโจรเพราะการจองเวร เกิดเพราะถูกโจรประเภทแรกกระทำเอา จึงกระทำตอบเป็นการแก้แค้น จองเวรและก่อเวรกันไปไม่รู้สิ้นสุด


๓. ความเป็นโจรเพราะจุดร่วมแห่งความรู้สึก ได้แก่ ภาวะแห่งความรู้สึกที่ชาวบ้านมักจะถูกข่มเหงรังแกและถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าพนักงานหรือกลไกอำนาจรัฐอยู่เสมอ

๔. ความเป็นโจรเพราะมีค่านิยมโจร จากจดหมายเหตุประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๘ มีผู้อธิบายว่า "อันที่จริงการรำโนราก็ดี การลักควายก็ดี ไม่สามารถยึดเป็นอาชีพได้ยืด เพราะราคาค่าราดค่าโรงสมัยก่อนคิดเป็นเงินพอซื้อขนมให้เด็กกิน ซื้อเหล้ากินกันเอง ส่วนการลักควายนั้นเล่าก็เพียงเพื่อสร้างค่านิยมความเป็น "ไอ้เสือ" ให้เป็นที่หวั่นเกรงเท่านั้น เป้าหมายหลักที่แท้จริงของการรำโนราก็คือ การได้ท่องเที่ยวไปตามหมู่บ้านต่างถิ่น รู้จักคนมาก ที่ไหนมีนักเลงหัวไม้หรือที่เรียกว่า "คนใหญ่คนยาว" ก็เป็น "เกลอ" กันไว้เพื่อได้ต่อยาวสาวยืดกัน การลักควายก็ทำนองเดียวกัน เป็นแค่ทางผ่านของชีวิตผู้นำชุมชน"

ไม่รบนายไม่หายจน
ยุคต่อมาชุมชนภาคใต้เข้าสู่ยุค "ไม่รบนายไม่หายจน" คำว่า "นาย" ของคนใต้ในยุคแรกๆ หมายถึงชนชั้นปกครองทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ต่อมาจำเพาะเจาะจงไปที่ทหาร ตำรวจ และนักปกครอง

คนใต้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อนายมานาน ดังจะเห็นได้จากบทเพลงร้องเรือหรือเพลงกล่อมเด็ก คำสอนลูกหลานที่ว่า "หนีเสือหนีเข้นั้นหนีได้ แต่เรื่องหนีนาย ไม่รู้จะหนีไปไหน" หรือ "นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา" แม้เวลาลูกหลานร้องกระจองอแง พ่อแม่หรือผู้ใหญ่มักจะปรามว่า "อย่าร้องเดี๋ยวนายจับ" หรือ "อย่าร้องเดี๋ยวนายมา" และในยุคที่มีการต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กับรัฐบาลในสงครามแย่งชิงประชาชน, หรือ "สงครามเย็น" เมื่อประมาณ ๓ ทศวรรษที่ผ่านมาก็เกิดวรรคทองของคนใต้ในแถบเทือกเขานครศรีธรรมราช เทือกเขาบรรทัด ต่อเนื่องไปถึงเขาน้ำค้าง และสันกาลาคีรี ด้วยวลีที่ว่า "ไม่รบนายไม่หายจน" ดังบทเพลงที่ขับขานกันทั่วไปจนถึงทุกวันนี้ว่า

"ปังๆ โหยหาย เสียงเจ้านายรบกวน ค่ำคืนลมหวล เสียงรัญจวนกรีดกราย กระโดดลงใต้ถุน หลบกระสุนนาย กลิ่นความตายโชยมา

เขาว่าพัทลุงสบาย ฉันว่าอันตรายแท้เชียว จะหลบไปทางไหนก็หวาดเสียว ก้าวผิดนิดเดียวเราก็ตาย จับไปใส่ถัง ราดน้ำมันแล้วจุดไฟ ข้อหาคอมมิวนิสต์มันคิดร้าย จับเราใส่เตาแล้วเผาไฟ แล้วปิดป้ายสีแดง

บ้างเมียก็เสียผัว ตัดหัวเสียบประจาน แล้วโกหกลูกหลาน ว่าพ่อมันเป็นคอมฯ แท้จริงคอมฯ คือเจ้านาย หัวหน้าตัวร้าย กอ.รมน. ไล่มันออกไปไอ้หัวหมอ กอ.รมน. ต้องออกไป"

ทำไมคนใต้จึงมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อนาย
ทำไมคนใต้จึงมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อนาย พัฒนาการเกี่ยวกับเรื่องนี้มีผู้ศึกษา วิเคราะห์เอาไว้มากมาย เช่น อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว (๒๕๓๔ : ๗-๑๔) ให้เหตุผลเกี่ยวกับพัฒนาการของการเกลียดและกลัวนายของคนใต้ว่า เนื่องจากการปกครองของรัฐไทยคือการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากประชาชน และเมื่อศึกษาเอกสารโบราณจำพวกกฎหมายและรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการพบว่า บุคคลกลุ่มที่อำนาจรัฏฐาธิปัตย์เกี่ยวข้องอยู่มากที่สุดคือกลุ่มที่เรียกว่า "เลกไพร่" ซึ่งต่อมาก็คือประชาชนพลเมืองของภาคใต้ เลกไพร่เหล่านี้ต้องรับผิดชอบต่อรัฐโดยไม่เต็มใจในหลายฐานะ ในยามสงครามหรือเกิดความไม่สงบต้องไปเป็นทหาร แต่ในยามปกติต้องเสียสละครึ่งหนึ่งของชีวิตให้รัฐ คือต้องเข้ารับราชการในลักษณะการเข้าเดือนออกเดือน หากไม่ไปต้องจ่ายเงินแทนค่าแรง

นอกจากนั้นเลกไพร่หรือพลเมืองยังต้องเสียภาษีในการประกอบอาชีพอีกต่างหาก เช่น ภาษีค่านา ค่าสวน ค่าน้ำ ค่าไต้ ค่ากระแชง ค่าจาก ค่าเก็บของป่า แม้แต่ค่าเก็บผักบุ้งก็ไม่เว้น และในอัตราที่ค่อนข้างสูง เช่น ภาษีค่านาเก็บในอัตราไร่ละ ๒ ถัง และยังบังคับซื้อราคาถูกอีก ๒ ถัง ราคาถังละ ๒ ไพ (ประมาณ ๖ สตางค์) โดยต้องขนไปให้ถึงฉางหลวง

ผู้ใดเกิดคดีหากประสงค์จะต่อสู้ก็มีเรื่องให้ต้องเสียยุ่บยั่บ จนมองไม่เห็นว่าผู้ใดสมัครใจจะมีคดีต่อกัน ตัวอย่างเช่นเงินที่โจทก์และจำเลยจะต้องเสีย หากต้องการพิสูจน์ตนเองโดยวิธีดำน้ำลุยเพลิง ได้แก่ ค่าใส่ราด ค่าอาลักษณ์อ่านคำอธิษฐาน ค่าข่มคอ ค่าหัวหลัก ค่าตีฆ้อง ค่าที่นั่ง ค่ากลัง ค่าผู้คุม ค่าเครื่องกระยาต้องจัดหาไปแต่ละฝ่าย

เครื่องกระยา ประกอบด้วย กระแชง ผ้าขาวนุ่งห่ม ผ้าขาววางผรา ไก่ผู้รู้ขัน ไก่บังสุกุล เหล้าไหว้เทพารักษ์ เหล้าเลี้ยงตระลาการ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว หม้อข้าวหม้อแกงใหม่มีฝา กระออมใส่น้ำ ครก-สากกะเบือ จวัก กระบวย จอกรองเหล้า ขี้ผึ้งผง ด้ายใส่ราด ด้ายมงคล และผูกประเด็น พริกเทศ กระเทียม หอม ตะไคร้ ข่า กระชาย หมาก พลู ปูน ยาสูบ เคย เกลือ พอให้ตระลาการกินได้ ๓ วัน หวีสางผม น้ำมันกระแจะจวงจันทน์และไม้เล้าไม้ราว กระแชงสำหรับให้ตระลาการพัก โดยให้เตรียมมาพร้อมก่อนพระอาทิตย์บ่ายคล้อย ๒ โมงก่อนพิธี

จากสาเหตุเรื่องค่าราชการ ภาษีและทรัพย์สินที่ต้องเสียหากมีเรื่องถึงหน่วยงานของรัฐ น่าจะเป็นผลให้ราษฎรต้องหลบหนีราชการไปตั้งรกรากในที่ที่มือของรัฐเอื้อมไปไม่ถึงหรือไปถึงได้ยาก แต่มือรัฐก็ยังตามไปจนได้

การอพยพไปอยู่ในที่ห่างไกลทำให้ชาวบ้านไม่ไว้วางใจคนแปลกหน้าเพราะกลัวจะเป็นสายให้นาย นอกจากนั้นต้องประพฤติตนเป็นคนนักเลงหัวไม้เพื่อคุ้มครองกันเอง จนกลายเป็นปัญหาในการปกครอง รัฐจึงออกกฎหมายให้ราษฎรช่วยเหลือกัน เช่น กฎหมายโจร ๓ เส้น ๑๕ วา อันน่าจะมีสาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองย่อหย่อนความสามารถ เมื่อติดตามจับกุมคนร้ายไม่ได้ก็โยนภาระให้ชาวบ้าน เพราะกฎหมายนี้มีสาระสำคัญว่า หากบ้านเรือนใดถูกปล้น คนที่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงในรัศมี ๓ เส้น ๑๕ วา ต้องช่วยเหลือ หากปล่อยให้โจรปล้นสำเร็จ เพื่อนบ้านนั้นจะต้องชดใช้ทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้แก่เจ้าทรัพย์ที่ถูกปล้น

ผลของกฎหมายนี้ทำให้ชาวบ้านนิยมตั้งบ้านเรือนอย่างกระจัดกระจายห่างไกลกันเกิน ๓ เส้น ๑๕ วา เพื่อให้ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎหมายไม่มีผลบังคับตนให้ต้องปฏิบัติตาม

จะเห็นได้ว่าพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนภาคใต้เกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐหรือ "นาย" เป็นไปในทางที่เป็นผลลบในความรู้สึก อันเป็นมรดกตกทอดทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างไม่อาจจะปฏิเสธได้ ความเชื่อและคตินิยมเหล่านี้แสดงออกทั้งในทางวาทกรรมและพฤติกรรมทางสังคม การเมืองมาครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายจราจรจนนำไปสู่การเผาโรงพักที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือเรื่องใหญ่ๆ ระดับชาติอย่างสงครามแย่งชิงประชาชนยุคสงครามเย็น การคัดค้านโรงงานแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่นำไปสู่การล้มประชาพิจารณ์และความรุนแรงหลายครั้ง และล่าสุดความรุนแรงรายวันใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

ดังนั้นการแก้ปัญหาต่างๆ ในภาคใต้จึงต้องเน้นที่การปฏิวัติหรือปฏิรูปวัฒนธรรมราชการ ให้เปลี่ยนแปลงไปจากยุค "กินบ้านกินเมือง" หรือ "ยุคเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากประชาชน" ให้ได้หันมารับใช้ประชาชนและปรนนิบัติราชการอย่าง "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่มัวแต่ประกาศตนเป็นศัตรูคู่อาฆาตกับประชาชนอย่างที่ผ่านๆ มา

+++++++++++++++++++++++++++
เอกสารอ้างอิง

ชวน เพชรแก้ว. "นิสัยและบุคลิกภาพของชาวใต้ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนา," ใน พื้นบ้านพื้นเมือง ถิ่นไทยทักษิณ. พรศักดิ์ พรหมแก้ว บรรณาธิการ. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา, ๒๕๓๔, หน้า ๑๐๑-๑๐๘.

บรรณาธิการ. "บทนำ : จากรุ่งดอนทรายถึงพี่น้อง "เส้งเอียด"," ใน ทักษิณคดี. ๔ (๑) : ๑๑-๑๒; มิถุนายน-กันยายน ๒๕๓๗.

ล้อม เพ็งแก้ว. "การแผ่นดิน : อำนาจที่ต้องยื้อยุด," ใน พัฒนาการทางวัฒนธรรม : กรณีทักษิณ. นครศรีธรรมราช : จังหวัดนครศรีธรรมราช, ๒๕๓๔, หน้า ๗-๑๔.

__________. "ชุมโจรบ้านดอนทราย : รุ่งดอนทรายและดำหัวแพร," ใน ทักษิณคดี. ๔ (๑) : ๔๐-๕๓; มิถุนายน-กันยายน ๒๕๓๗.

วีระ แสงเพชร. ภูมิปัญญาการปราบปรามของ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๔.

สงบ ส่งเมือง. "สูตรนารายณ์," ใน ทักษิณคดี. ๔ (๑) : ๓๐-๓๙; มิถุนายน-กันยายน ๒๕๓๗.

สมเจตนา มุนีโมไนย. "เรื่องจากปก : วัฒนธรรมโจรที่ปรากฏในท้องถิ่นภาคใต้," ใน ทักษิณคดี. ๔ (๑) : ๕๔-๑๐๔; มิถุนายน-กันยายน ๒๕๓๗.

+++++++++++++++++++++++++++

(คัดลอกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสารานุกรม)
จาก : ศิลปวัฒนธรรม /วันที่ 01 มกราคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 03


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

ปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนภาคใต้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ล้วนเป็นสิ่งยืนยันให้เห็นถึงคตินิยมของคนใต้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะคตินิยมเกี่ยวกับการต่อต้านอำนาจรัฐ และคตินิยมความเป็นคนนักเลงที่ได้รับการสั่งสม สืบทอดมายาวนานหลายชั่วอายุคน เช่น กรณี"วัฒนธรรมโจร"ที่เป็นลักษณะโดดเด่นของชาวลุ่มทะเลสาบสงขลาจนสามารถจะกล่าวได้ว่า ในพื้นที่แถบลุ่มทะเลสาบสงขลา มีเรื่องราวเกี่ยวกับโจรอย่างเข้มข้นมาตลอดยุคสมัยอันยาวนาน ทั้งจากเอกสาร หลักฐานของทางราชการ และจากประวัติบอกเล่าของชาวบ้าน และจากหลักฐานดังกล่าวพอจะสรุปสาเหตุได้ว่า การเกิดโจรหรือวัฒนธรรมโจรเหล่านั้นมักเกี่ยวข้องและสัมพันธ์โดยตรงกับกลไกอำนาจรัฐ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ