นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



ปัญหาและความเข้าใจ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ชาติพันธุ์และสัญชาติกับปัญหาภาคใต้ : ความเข้าใจในความเป็นคนไทย
อภิชาติ จันทร์แดง
อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่


บทความวิชาการบนเว็บเพจนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาชาติพันธุ์กับคนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับผู้สนใจ สามารถติดต่อผู้เขียนได้ที่
[email protected]
ติดต่อกับกอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
midnightuniv(at)yahoo.com


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 870
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)




ชาติพันธุ์และสัญชาติกับปัญหาภาคใต้ : ต่อความเข้าใจในความเป็นคนไทย
อภิชาติ จันทร์แดง : อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

1. ความนำ
"เป็นคนไทยหรือเปล่า?"
นับเป็นคำถามติดปากที่ถูกเอ่ยถึงอยู่เสมอ เมื่อเกิดกรณีที่ชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่าคนในสังคมไทยกำลังขาดความรักความสามัคคี หรือเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอันเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำของคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศอันเปี่ยมไปด้วยความสงบสุขประเทศนี้

โดยสมมุติฐานดังกล่าว คำถามว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า?" จึงถูกเอ่ยออกมาในเชิงตักเตือน อบรมสั่งสอน ให้สติ และบางครั้งก็เหยียดหยันเย้ยเยาะ กระทั่งกลายเป็นการแบ่งแยกเขาแยกเราไปในขณะเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนพูด พูดในสถานการณ์ไหน น้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง อารมณ์เป็นอย่างไร ?

พร้อมกันนั้นก็นำมาซึ่งความภาคภูมิอันเต็มเปี่ยมของผู้ถาม ว่าการที่ได้เอ่ยคำถามนี้ออกมานั้น ตัวเองย่อมเป็นคนไทยผู้มีสายเลือดไทยอันเข้มข้นอยู่เต็มตัวและหัวใจ และเชื่อว่าตัวเองมีสิทธิ์มีเสียงในประเทศนี้ทุกประการโดยสมบูรณ์ในฐานะ "คนไทย" ดังที่ถูกระบุไว้ในบัตรประชาชนหรือเอกสารสำคัญของทางราชการ

เป็นเรื่องที่ดีและควรจะเป็นอย่างยิ่ง ที่คนทุกคนควรรู้สึกภาคภูมิในประเทศชาติของตน ภาคภูมิในความเป็นผู้มีสังกัด ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผู้มีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศนั้นๆ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไทยทุกคนก็เช่นเดียวกัน

แต่ในหลายครั้ง ความเข้าใจของคนทั่วไปกลับแยกไม่ได้ระหว่าง "การเป็นคนไทยโดยเชื้อชาติ" กับ "การเป็นคนไทยโดยสัญชาติ" ซึ่งคนที่มีสัญชาติไทยอาจมีเชื้อชาติลาว เขมร เวียดนาม พม่า มาลายู ญี่ปุ่น อเมริกัน ฯลฯ ก็ได้ เพราะสัญชาติเป็นเพียงการบอกสถานภาพ "ความเป็นพลเมือง" ของคนคนนั้น ว่าอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศใด มิได้หมายความว่าต้องมีเชื้อชาติเดียวกับคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นๆ แต่ประการใดไม่

2. ความมุ่งมั่นอันไร้จุดมุ่งหมาย
ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเด็น "เป็นคนไทยหรือเปล่า?" จึงถูกโยงให้เกี่ยวเนื่องกับปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นับวันยิ่งแก้ไขก็เหมือนยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมความรุนแรงของปัญหาให้ทวียิ่งขึ้น จนถึงระดับว่าแทบจะมองไม่เห็นหนทางแก้ไข ตกกระทบสะท้อน กระทั่งทำให้สะท้านสะเทือนถึงแนวคิด มาตรการ และวิธีการในการจัดการแก้ไขปัญหาของรัฐให้สั่นคลอนโดยต่อเนื่อง

เมื่อดูเหมือนว่าแต่ละด้าน แต่ละวิธีการในการจัดการกับปัญหา ล้วนประสบกับภาวะตีบตันไปทุกขณะ ในที่สุดรัฐก็อ้างเหตุผลแบบโยนความผิดให้กับประชาชนว่าปัญหาเกิดขึ้นเพราะคนไทยขาดความรักความสามัคคี ไม่ยอมร่วมมือกันรักษาไว้ซึ่งแผ่นดินไทยที่บรรพบุรุษเคยพลีชีพ สละเลือดเนื้อปกป้องเอาไว้ให้ลูกหลาน แล้วก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการสร้างกระแสความรักชาติและความรักความสามัคคีในหมู่คนไทยอย่างมุ่งมั่น ทว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ไฟไหม้ฟางที่ลุกโชนขึ้นมาเพียงครู่ขณะ แล้ววูบหายไป ซึ่งควบคู่ไปกับการขาดจุดมุ่งหมายต่อการคลี่คลายแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

วิธีการดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องของรูปแบบ เพื่อแสดงผลในขั้นตอนปฏิบัติออกมาเป็นรูปธรรมที่ผิวเผินและฉาบฉวย มากกว่าการมุ่งเข้าใจและเข้าถึงสาเหตุของปัญหาอันแท้จริง ดังกรณีการพับนกกระดาษ การร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องให้คนไทยรักกัน หรือประณามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เป็นต้น

มิได้หมายความว่าการพับนกกระดาษ หรือการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เพราะอย่างน้อยก็ส่งผลในเชิงจิตใจต่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่อยู่พอสมควร แต่รัฐให้ความสำคัญและทำราวกับว่า การพับนกกระดาษหรือการร่วมแสดงความคิดเห็นนั้น เป็นหนทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างถาวร

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กรณีนกกระดาษเป็นการแก้ไขปัญหากับกลุ่มคนที่ไม่ได้มีปัญหา รัฐเพียงหวังสร้างกระแสเพื่อให้ประชาชนคนไทยโดยทั่วไปที่อยู่นอกพื้นที่ของปัญหา เห็นด้วยกับการทำงานของฝ่ายรัฐ มากกว่าการมุ่งเข้าถึง แล้วทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ประสบกับปัญหาโดยตรง มิหนำซ้ำแรงกระตุ้นแห่งความรักชาตินี้ ทำให้กลุ่มคนไทยโดยทั่วไปที่อยู่นอกพื้นที่ของปัญหารู้สึก คิดและเข้าใจไปว่าผู้คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเป็นผู้สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติ

ส่งผลให้เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาจึงตกอยู่ในสภาวะเลื่อนลอยและล้มเหลว ประชาชนคนไทยโดยทั่วไปก็ไม่สามารถเข้าใจถึงภาพรวมของเหตุแห่งปัญหาความขัดแย้งที่แท้จริงได้ อีกทั้งรัฐก็ยังไม่สามารถก้าวทันเกมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่พยายามสรรหาวิธีการใหม่ๆ มาก่อความไม่สงบอยู่ต่อไป

แท้จริงแล้ว ปัญหาภาคใต้มิได้มาจากผลของความไม่รักกัน ไม่สามัคคีกันของคนไทยแม้แต่น้อย หากแต่โดยภาพรวมเป็นเหตุผลของกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องการเรียกร้องสิทธิที่พวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับจากสังคมส่วนใหญ่เท่านั้น และรัฐหรือสังคมไทยก็มิได้ให้ความใส่ใจเท่าที่ควรจะเป็น มิหนำซ้ำยังมองข้ามเสมอมา จึงเชื่อว่าแม้คนไทยโดยทั่วไปรักและสามัคคีกันมากแค่ไหน ร่วมใจกันพับนกกระดาษไปโปรยอีกสักกี่ล้านตัว หรือสามารถแสดงตนเพื่อยืนยันความเป็นคนไทยได้ร้อยเปอร์เซนต์เต็ม ก็มิใช่หนทางแก้ไขปัญหาที่ตรงเป้าหมาย ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงยังคงเกิดขึ้นและดำเนินอยู่ต่อไปไม่จบสิ้น

เช่นนี้แล้ว ประเด็นเกี่ยวกับเหตุแห่งปัญหาจึงถูกเบี่ยงไป ความเข้าใจในตัวปัญหาอย่างแท้จริงก็ย่อมถูกเบี่ยงออกไปด้วย เพียงแค่ไปตั้งคำถามกับพวกที่ก่อเหตุความไม่สงบนั้นว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า?" ก็กลายเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนในประเทศนี้เริ่มฉุกคิด ตั้งข้อสังเกต รู้สึกถึง "ความเป็นเรา" ที่แตกต่างจาก "ความเป็นเขา" โดยสิ้นเชิง

โดยเฉพาะพื้นที่เปราะบางอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความแตกต่างกับภูมิภาคอื่นๆ สูงมาก ทั้งในเรื่องภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และส่วนสำคัญคือเชื้อชาติ นำมาซึ่งความรู้สึกถึงการแบ่งแยกเขาแยกเราอย่างขาดสติ ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างเพื่ออยู่ร่วม แต่ตั้งอยู่บนความเข้าใจที่ว่าแตกต่างต้องแบ่งแยก

กระทั่งเข้าใจไปว่า ถ้าหากคนที่อยู่ในประเทศไทยไม่ใช่คนไทยก็ไม่ควรอยู่ในประเทศนี้ เมื่อไหร่ที่พวกเขา (คนเชื้อชาติอื่นๆ) ยอมรับว่าเป็นคนไทย พวกเรา (ในฐานะคนไทย) ก็จะยอมรับพวกเขาเข้าเป็นพวกเดียวกันกับพวกเรา และเมื่อใครก็ตามอยู่ในฐานะคนไทยในประเทศนี้แล้ว ก็มิควรสร้างปัญหาความยุ่งยากใดๆ ให้คนอื่น (ซึ่งหมายถึงคนไทยทุกคน) โดยที่ลืมมองไปว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความพยายามส่งเสียงเรียกร้องสิทธิ ความต้องการ หรือความเป็นธรรมบางอย่างหรือไม่

ในประเด็น "เป็นคนไทยหรือเปล่า?" จึงกลายเป็นเรื่องที่กำลังพูดคนละเรื่องหรือเข้าใจกันคนละอย่างโดยสิ้นเชิง เพราะเมื่อคำถามนี้ถูกตั้งขึ้นมาถามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ในขณะเดียวกันก็ถูกส่งทอดและตกกระทบไปยังความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ทว่าเมื่อถามออกไปแล้ว รัฐหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เอ่ยถามออกไป ต้องการฟังคำตอบที่แท้จริงหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน ว่าพวกเขาเหล่านั้น "เป็น" หรือ "ไม่เป็น" คนไทย

หากเป็นคนไทย "เป็นโดยเชื้อชาติ" หรือ "เป็นในฐานะพลเมือง" และหากไม่เป็นคนไทย อะไรคือเหตุผลของคำปฏิเสธนั้น

เหตุผลเป็นสิ่งสำคัญ นั่นคือคำตอบที่เป็นความต้องการตามความพึงพอใจอย่างแท้จริง ควรค่าแก่การสดับรับฟังเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาอย่าง "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" ตามนโยบายที่รัฐบาลเคยวาดวางไว้อย่างสวยหรูก่อนหน้านี้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า เหตุผลเป็นสาระสำคัญที่จะนำทางไปสู่การเผชิญหน้ากับความจริง เพื่อการวิเคราะห์บริบทของปัญหาในเชิงลึกได้

3. ความเหมือนในความต่าง
ตลอดมาในประวัติศาสตร์ รัฐพยายามสร้าง "ความเป็นคนไทย" ให้กับคนในพื้นที่ตั้งแต่สยามรุกคืบเข้ายึดครองดินแดนแถบนี้ ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ตลอดเรื่อยมา และชัดเจนมากขึ้นเมื่อถึงยุคสร้างชาตินิยมโดยการกำหนดนโยบาย "มาลานำไทย" ในสมัยรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

กระทั่งปัจจุบัน รัฐก็ยังพยายามสร้าง "ความเป็นคนไทย" ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อแบบการขายสินค้าและการทำการตลาดของรัฐ ไม่ว่าการพับนกกระดาษหรือการเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น โดยเน้นประเด็นว่า "คนไทยต้องรักกัน" หากโดยประเด็นนี้ แน่นอนอยู่แล้วว่าคำตอบหรือการแสดงความคิดเห็นที่ถูกสะท้อนออกมาจากคนไทยโดยทั่วไปว่าจะเป็นอย่างไร เพราะโดยหัวข้อนี้คงไม่มีใครตอบปฏิเสธหรือไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน

ในขณะเดียวกัน ต่างก็ร่วมประณามคนที่ไม่รักคนไทยด้วยกัน หรือพวกก่อความไม่สงบอย่างรุนแรงและขาดเหตุผล โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเกลียดชัง เหมือนมองตัวเองว่าเป็นคนดีที่ยืนอยู่บนความถูกต้อง และจำเป็นต้องกำจัดคนร้ายผู้ยืนอยู่บนความไม่ถูกต้องออกไปให้หมดสิ้น โดยที่มิอาจแยกแยะหรือทำความเข้าใจว่า "ถูกต้อง" อย่างไร และ "ไม่ถูกต้อง" อย่างไร ที่น่าวิตกคือ ในภาพลักษณ์แห่งความไม่ถูกต้องนั้น ตั้งอยู่บนการมองแบบเหมารวมว่า เหตุแห่งความไม่สงบเป็นการกระทำของคนมุสลิมทั้งหมด นี่คือความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อภาวะความมั่นคงของชาติอย่างแท้จริง ซึ่งรัฐอาจมองข้ามไป

ความเป็นคนไทยที่รัฐพยายามเน้นย้ำ จึงอาจมีผลต่อความรู้สึกของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "คนไทย" โดยสายเลือดเท่านั้น ไม่ให้ความรู้สึกร่วมกับคนชนชาติอื่นที่อยู่ในประเทศนี้ในฐานะพลเมืองไทยแต่อย่างใด ในทางกลับกัน หากคนชนชาติอื่นที่อยู่ร่วมประเทศในฐานะพลเมืองไทยได้ยินเข้า หรือถูกผลักไสให้ตกอยู่ในบรรยากาศดังกล่าว เท่ากับเป็นการสร้างรู้สึกว่าพวกเขายิ่งถูกกีดกันให้กลายเป็น "คนอื่น" ในประเทศนี้มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นชนเชื้อสายมาลายู

ดังนั้นการเน้นย้ำถึงความเป็นคนไทยมากเท่าใด ก็ยิ่งสร้างความรู้สึกต่อต้านให้เกิดขึ้น มิใช่ว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่เห็นด้วย ชิงชังความสามัคคี หรือเกลียดชังคนไทย แต่พวกเขากำลังเห็น รู้สึก และเข้าใจว่ารัฐไทยกำลัง "ยัดเยียด" ความเป็นคนไทยโดยเชื้อชาติให้กับชาวมาลายูเหมือนดังที่เป็นมาในอดีต

หากพูดถึงในแง่คุณค่าของความเป็นมนุษย์ การเป็นคนไทยไม่ได้น่าภาคภูมิไปกว่าความเป็นมาลายู หรือชนชาติอื่นใดในโลก หากน่าภาคภูมิก็มิได้มีชนชาติใดเหนือกว่าชนชาติใด เป็นความภาคภูมิที่งดงามสูงค่าเท่าเทียมกัน ในประเด็นนี้มีรายละเอียดที่แตกต่างกับการสร้างมายาคติให้กับคนชนชาติต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและได้ผลมาแล้ว อย่างคนลาวตระกูลต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทางภาคอีสาน พวกเขาต่างรู้สึกต่ำต้อยที่ถูกเรียกว่าเป็นคนลาว แต่จะยินดีที่ถูกเรียกว่าเป็นคนไทย เพราะขาดความภาคภูมิในความเป็นเชื้อชาติลาวของตนไปแล้วส่วนหนึ่ง หรือยังคงภาคภูมิในเชื้อชาติของตนอยู่ลึกๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ถือว่าดีกว่าหากจะถูกเรียกกว่าเป็นคนไทย เพื่อมิให้เป็น "คนอื่น" หรือเป็น "คนแปลกหน้า" ในสังคมของประเทศนี้

เช่นเดียวกับคนเขมร คนมอญ คนญวน รวมทั้งชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่รู้สึกว่าการเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมของตนเป็นความต่ำต้อย ถูกดูถูกเหยียดหยาม ไม่อาจยืนอยู่อย่างสง่าผ่าเผยในประเทศนี้ได้ มิหนำซ้ำยังถูกกีดกันทางสังคมให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอย่างเต็มที่เหมือนคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ ซึ่งได้รับโอกาสทางสังคมที่พึงได้รับในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของประเทศที่สูงกว่า และพวกเขาก็พึงปรารถนาที่จะได้รับสิทธิ์นั้นบ้าง

ขณะที่ชาวมาลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มิได้ตกอยู่ในมายาคติดังกล่าว และยังคงรู้สึกว่าการได้เป็นชนชาติดั้งเดิมของตน คือสิ่งที่พวกเขาภาคภูมิและพึงปรารถนาที่จะดำรงไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ของชาวมาลายูที่มีความเป็นปึกแผ่นในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน มีความเป็นตัวของตัวเองทางสังคมและวัฒนธรรมสูง ซึ่งแตกต่างไปจากสังคมและวัฒนธรรมไทยในภูมิภาคอื่นๆ อย่างชัดเจน จนไม่สามารถกลืนกินหรือครอบงำ ให้กลมกลืนกับภาพรวมทางสังคมและวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ในประเทศได้

ผิดกับคนลาว เขมร ญวน มอญ ที่มีลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมใกล้เคียงกับคนไทยมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อทางศาสนาและภาษา จึงมีคุณลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมมาเป็นสิ่งยึดโยงให้การอยู่ร่วมกันไม่มีความขัดแย้ง หรือมีส่วนเหลื่อมล้ำกันน้อยกว่า จนสามารถรับประสานกันได้แล้วค่อยๆ กลมกลืนกันไปในที่สุด

เหตุผลที่สำคัญอีกประการก็คือ ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ชาวมาลายูอยู่ร่วมกันอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่อพยพโยกย้ายถิ่นกระจัดกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ เหมือนอย่างกลุ่มชนกลุ่มอื่นๆ ชาวมาลายูจึงมีความเป็นปึกแผ่นสูง ยากยิ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลง หากแต่ปรารถนาที่จะรักษาให้คงอยู่สืบไปด้วยตัวของตัวเอง มิใช่ให้ใครมา "กำหนด" หรือ "ควบคุม" ดังการเข้าไปปกครองของรัฐไทยที่ปรารถนา "กำหนด" และ "ควบคุม" ให้ดินแดนรวมถึงผู้คนอยู่ใต้อาณัติโดยสมบูรณ์

4. ความต่างในความเหมือน
ต่อกรณีความเป็นคนไทยของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่าได้นำความต้องการเป็นคนไทยของชาวอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปีที่ผ่านมามาเปรียบเทียบ ซึ่งในกรณีชาวอำเภอแม่อายนั้น ชาวบ้านพันกว่าคนถูกกรมการปกครองถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร์ เพราะข้อหาว่าพวกเขาไม่ใช่คนไทย จนกระทั่งมีการฟ้องศาลปกครองสูงสุด และผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมาว่า คำสั่งถอนชื่อพวกเขาออกจากทะเบียนบ้านโดยนายอำเภอไม่ถูกต้องตามกฎหมายโดยประการทั้งปวง

เท่ากับว่าการต่อสู้เรียกร้อง เพื่อความเป็นคนไทยในฐานะพลเมืองของพวกเขาสัมฤทธิ์ผล และพวกเขาก็ได้กลับมาเป็นคนไทยผู้มีสิทธิ์มีเสียงในประเทศนี้โดยสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของพวกเขา อีกทั้งยังเป็นไปตามความต้องการของกระแสสังคมส่วนใหญ่ ที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ เพราะเห็นและเชื่อว่า พวกเขาเหล่านั้นก็มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะยอมรับให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยได้

หากมองให้ลึกลงไป สาระสำคัญของการต่อสู้เรียกร้องไม่ได้อยู่ที่ว่าพวกเขา "เป็น" หรือ "ไม่เป็น" คนไทยในแง่ของเชื้อชาติ หากแต่อยู่ที่ความต้องการเป็นคนไทยในเรื่องของสัญชาติ เพื่อให้มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในประเทศนี้ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของประเทศ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาอาจไม่ใช่คนไทยในแง่ของเชื้อชาติก็ได้

การเป็นคนไทยในแง่ของเชื้อชาติหรือไม่นั้น ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักในการอยู่ร่วมกันแม้แต่น้อย เพราะหากศึกษาและพิจารณากันจริงๆ แล้ว รัฐชาตินามว่า "สยาม" ในอดีตหรือ "ประเทศไทย" ในปัจจุบัน ล้วนมีพลเมืองชนชาติต่างๆ อยู่ในดินแดนมากมาย และไม่ได้กระทบเทือนต่อความมั่นคงของชาติแต่อย่างใด หากแต่หลายๆ ครั้ง ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไทยต่างหากที่ทำความสั่นคลอนให้เกิดแก่ประเทศชาติเสียเอง

นี่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและจบลงด้วยดีที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2548 ที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน ไกลลงไปที่ภาคใต้ คนไทย (ตามความหมายของรัฐ-หมายถึงมีเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย) จำนวนหนึ่งซึ่งมีความคิดเห็นเป็นอีกอย่างในทิศทางตรงกันข้าม พวกเขารู้สึกไม่อยากเป็นคนไทยในแง่ของเชื้อชาติ กล่าวคือไม่ต้องการมีเชื้อชาติไทยเหมือนเช่นที่ได้รับสิทธิมาแต่กำเนิด ดังที่ถูกระบุในเอกสารของทางราชการว่า "เชื้อชาติไทย" ทั้งที่พวกเขาเชื่อมั่นเสมอว่ามี "เชื้อชาติมาลายู" อยู่อย่างเต็มเปี่ยม

ความพยายามเพื่อเรียกร้องสิทธิ ในการระบุเชื้อชาติของตนลงในเอกสารของทางราชการนั้น เป็นเรื่องที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พูดถึงกันมานานแล้ว หากมองดูแล้วเป็นเรื่องง่ายที่รัฐมองข้าม และอีกด้านหนึ่งก็คือจงใจ อาจด้วยเหตุผลที่ถูกนำมากล่าวอ้างเสมอว่า "เพื่อความมั่นคงของชาติ" อันเป็นการตัดปัญหาความยุ่งยากในการเรียบเรียงคำอธิบายที่มากไปกว่านี้หรือมีความยุ่งยากไปกว่านี้

ทั้งที่ปัญหาที่ทำให้เกิดความมั่นคงสั่นคลอนอยู่ทุกวันนี้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามเพื่อปลดเปลื้องสถานภาพความเป็นคนไทยโดยเชื้อชาติ ที่ถูกยัดเยียดให้โดยรัฐไทยให้หลุดพ้น (ผู้เขียนมิได้หมายความว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องหลัก ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงแต่มองว่าเรื่องนี้ถูกเข้าใจโดยรัฐว่าเป็นเรื่องเล็ก จึงถูกมองข้ามหรือจงใจที่จะไม่ให้ความสำคัญมาโดยตลอดเท่านั้น)

ประเด็นเรื่องเชื้อชาติที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งในชิ้นส่วนอันหลากหลายของจิกซอว์ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กระจัดกระจายอยู่อย่างไร้ระบบระเบียบ จนกระทั่งไม่รู้ว่าจะหยิบชิ้นใดขึ้นมาก่อนหรือหลัง หากหยิบมาแล้วก็มิรู้ว่าควรวางลงที่ใดจึงจะเหมาะสมลงตัว

เป็นเรื่องไม่แปลก แต่เป็นเรื่องที่ควรเปรียบเทียบ ขบคิด และแยกประเด็นให้ได้ว่า ณ พื้นที่แห่งหนึ่งของประเทศไทย มีคนจำนวนหนึ่งพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นคนไทย ทั้งโดยเชื้อชาติและสัญชาติ แต่อีกแห่งหนึ่งบนผืนแผ่นดินของประเทศเดียวกัน กลับมีกลุ่มคนผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไทยตามความหมายของรัฐมาแต่กำเนิด (เพราะถูกระบุในเอกสารทางราชการว่ามีเชื้อชาติไทย-สัญชาติไทย) พยายามเรียกร้องเพื่อปลดเปลื้องสถานภาพที่พวกเขามีอยู่นานแล้ว โดยเฉพาะเรื่องเชื้อชาติ

นั่นแสดงว่าพวกเขามิได้ภาคภูมิหรือยินดีกับสิ่งที่เป็นอยู่แม้แต่น้อย ยิ่งถูกตอกย้ำด้วยคำถามว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า?" อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งคำถามนี้มักมาพร้อมกับปัญหาในเชิงจิตวิทยาที่ค่อยๆ เผยปรากฏเป็นความขัดแย้งออกมาอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือจากร่างเงาแห่งความรู้สึกแบ่งแยกแปลกหน้า แล้วกลายมาเป็นการปฏิเสธต่อต้านในท้ายที่สุด

5. ความลวงที่มีอยู่จริง
จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐจะระบุว่าประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้มี "เชื้อชาติมาลายู สัญชาติไทย" ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงและความต้องการของพวกเขามากกว่า เป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับพลเมืองของประเทศบนพื้นฐานของความเป็นจริง มิใช่สร้างความลวงเพื่อปกปิดความจริง ในที่สุดก็กลายเป็นความขัดแย้งและความรุนแรงเพื่อปฏิเสธ และต่อต้านความลวงที่ถูกสร้างขึ้นดังที่เป็นอยู่โดยตลอดมา

จึงเป็นเรื่องตื้นเขินทางความคิดอย่างยิ่ง กับการสร้างหรือเรียกร้องความรักความสามัคคีของคนชาตินี้ ด้วยการชี้นิ้วแล้วโยนคำถามใส่ว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า?" ไม่ต่างอะไรกับการอ้างมาตรวัดว่า บุคคลผู้เป็นคนไทยต้องร้องเพลงชาติไทยให้ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนทุกถ้อยคำมิผิดเพี้ยน วิธีการนี้ถูกรัฐยึดถือเป็นหลักปฏิบัติติดต่อมายาวนาน นับตั้งแต่มีเพลงชาติ จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังคงยึดถือปฏิบัติอยู่

แม้ว่าการร้องเพลงชาติไทยได้ เป็นเพียงการพิสูจน์ความเป็นคนไทยเฉพาะหน้าในบางสถานการณ์เท่านั้น แต่เป็นการสร้างมายาคติให้กับคนในสังคมไทยว่า นี่คือมาตรวัดที่พิสูจน์ความเป็นคนไทยได้แท้จริง ยิ่งเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐก็จะมีผลต่อความเชื่อถือของประชาชนสูง และลบเลือนออกไปได้ยากยิ่งนัก

หากโดยวิธีการดังกล่าวนี้ คนไทยคนหนึ่งที่เกิดและเติบโตที่เมืองนอกและไม่สามารถร้องเพลงชาติไทยได้ ก็คงไม่ใช่คนไทย ทั้งที่สายเลือดหรือเชื้อชาติของเขาเป็นไทยโดยสมบูรณ์เพราะมีพ่อแม่เป็นคนไทย ในขณะเดียวกัน การที่ใครสักคนร้องเพลงชาติได้ก็มิได้หมายความว่าคนคนนั้นจะเป็นคนไทยเสมอไป และก็มิได้หมายความว่าการที่คนไทยร้องเพลงชาติไทยได้ จะทำให้ประเทศชาติจะมีความมั่นคงมากขึ้นแต่อย่างใดด้วย

นี่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบรรทัดฐานในการแก้ปัญหาของสังคมไทยหรือไม่ ซึ่งตั้งอยู่บนความผิวเผินและฉาบฉวย จนหลงลืมที่จะค้นหาข้อเท็จจริงหรือรากของปัญหา อันนี้ไม่อาจสรุปได้ เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตจากข้อเท็จจริงที่พึงประจักษ์ได้เท่านั้น

ฉะนั้นการตั้งคำถามว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า?" และพยายามยัดเยียดความเป็นคนไทยโดยเชื้อชาติให้ผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอดนั้น สำหรับประชาชนในพื้นที่นี้แล้ว กล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงก็คือความสูญเสียความมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ที่เชื่อว่าดีงามอยู่แล้ว ไปอยู่ภายใต้ "ความเป็นอื่น" และ "เป็นคนอื่น" ซึ่งไม่ได้น่าภาคภูมิไปกว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่ มิหนำซ้ำกลับรู้สึกต่อต้านและไม่พึงปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะรู้สึกว่าพวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้ "ความเป็นชาติไทย" ที่พยายามกลืนกิน "ความเป็นเชื้อชาติมาลายู" ให้สูญหายไปเพื่อกลายเป็นคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งพวกเขามองว่าเคยกดขี่เอารัดเอาเปรียบพวกเขามาก่อน จึงไม่แปลกหากพวกเขาจะรู้สึกขัดแย้งและต่อต้าน

ในความเป็นจริง ประเทศนี้ไม่อาจสงบสุขได้หากคนทุกคนถูกเรียกว่าเป็นคนไทย แต่ประเทศนี้จะสงบสุขได้ หากคนทุกคนที่อยู่ภายในรัฐชาตินี้ถูกให้ความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม เสมอภาคกัน โดยเฉพาะความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์ของคนแต่ละคนแต่ละกลุ่ม มิใช่ยอมตกอยู่ภายในวังวนแห่งมายาคติความเป็นชาติไทย ที่ว่าพลเมืองของชาติต้องเป็นคนไทยเท่านั้นมายาวนาน นี่เป็นเรื่องที่เปราะบางและอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ต่อความมั่นคงของชาติที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่มีชาติพันธุ์อันหลากหลาย

ฉะนั้นการยอมรับในความเป็นชาติพันธุ์มาลายู (ซึ่งไม่ใช่เชื้อชาติไทยแม้แต่น้อย) ของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นสิ่งจำเป็น หากต้องการแก้ปัญหาแบบ "เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา" ตามนโยบายของรัฐที่วาดวางไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นมิใช่การยอมรับเพียงรูปลักษณ์ทางกายภาพเพียงอย่างเดียว จำต้องลงลึกไปในรายละเอียดของวัฒนธรรม วิถีชีวิต รวมถึงความเชื่อความศรัทธาด้วย

การยอมรับตรงนี้ไม่ได้หมายถึงการขาดความเป็นปึกแผ่นของรัฐไทย หรือสูญเสียอำนาจในการปกครองไปแต่อย่างใดไม่ เพราะทุกคนทุกกลุ่มก็ยังอยู่ในฐานะ "พลเมืองของรัฐไทย" ภายใต้โครงสร้างของรัฐธรรมนูญอย่างเท่าเทียมกันเช่นเดิม ที่สุดแล้วความเป็นคนไทย เป็นลาว เขมร ญวน มอญ ชาวเขาเชื้อสายต่างๆ หรือเป็นมาลายู ก็มิใช่สิ่งที่ต้องยัดเยียดหรือพยายาม "ให้เป็น" หรือ "ไม่ให้เป็น" หากแต่ให้พวกเขาเป็นตามที่พวกเขาเป็นอยู่ ควรจะเป็น หรือพึงปรารถนาที่จะเป็น

ไม่เชื่อว่าประเทศใดในโลกนี้จะเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้ หากประเทศนั้นๆ มีพลเมืองที่มีชาติพันธุ์เดียวกันทั้งหมด สิ่งเหล่านี้ปรากฏให้เห็นอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก แต่เชื่อว่าการที่พลเมืองได้รับสิทธิ ถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมจากรัฐต่างหาก ที่จะทำให้ประเทศนั้นๆ มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้โดยสมบูรณ์อย่างแท้จริง

แม้แต่การเขียนบทความชิ้นนี้ซึ่งมีเนื้อความดังที่กล่าวมาข้างต้น อันมีนัยมุ่งหมายเพื่อให้เข้าใจและสรุปได้ทั้งว่า "อย่าทำให้พวกเขาเป็นคนไทย" และ "อย่าทำให้พวกเขาไม่เป็นพลเมืองไทย" ในลำดับแรกก็คงถูกหลายคนเห็นแย้งว่าไม่เหมาะสม และไม่สมควรอย่างยิ่ง อาจเข้าใจไปว่าผู้เขียนมุ่งสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นกับสังคม โดยการกระหน่ำซ้ำเติมลงบนรอยร้าวของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า ประการแรกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จำเป็นอย่างมากที่ต้องตั้งบนพื้นฐานความเข้าใจที่ว่าพวกเขา (ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ไม่ใช่คนไทยโดยเชื้อชาติ แต่เป็นคนไทยโดยสัญชาติ ซึ่งมีความแตกต่างกับคนไทยในภูมิภาคอื่นทั้งในเรื่องภาษา ศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือแม้แต่ความพึงพอใจในการรับการพัฒนา ความพึงพอใจในการถูกปกครอง เป็นต้น ซึ่งนั่นมิใช่อุปสรรคในการอยู่ร่วมกันในสังคมของประเทศนี้ ในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิ์มีเสียงเท่ากับพลเมืองไทยผู้มีเชื้อชาติไทยหรือเชื้อชาติอื่นๆ ทุกประการ

6. ความจริงยังคงเป็นไป
ควรคำนึงอยู่เสมอว่าความสมานฉันท์ย่อมเกิดขึ้นได้ แม้อยู่บนความแตกต่างแลหลากหลาย ทั้งทางกายภาพและจิตภาพ นั่นคือปรัชญาแห่งสันติ

นั่นคือจงยอมรับว่าผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกทำให้กลายเป็นคนไทยโดยเชื้อชาติมาเนิ่นนานนั้น เป็นความผิดพลาดอย่างจงใจของรัฐไทยมาตั้งแต่อดีต เพราะแท้จริงแล้วพวกเขาเป็น "ชนเชื้อชาติมาลายูผู้มีสัญชาติไทย" และย่อมเป็น "คนไทยในฐานะพลเมืองของรัฐไทย" เช่นเดียวกับชนเชื้อชาติอื่นๆ อีกมากมายที่อยู่ร่วมกันในประเทศนี้มาเนิ่นนาน

ดังนั้นคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ทั้งเชื้อชาติและสัญชาติ ก็ควรเคารพในความเป็นชาติพันธุ์ของผู้อื่นด้วย แล้วก็อย่าตั้งคำถามอันตื้นเขินว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า?" อีกต่อไป โดยเฉพาะคำถามที่ออกมาจากบุคคลผู้ทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ซึ่งมักจะยกเอาเหตุผลทางด้านความมั่นคงมากล่าวอ้าง เพื่อสนับสนุนความถูกต้องสมควรของการใช้คำถามนี้เพื่อปกปิดภาวะตีบตัน หรือความจนปัญญาของการแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ

นอกจากมิได้แสดงวิสัยทัศน์อันชาญฉลาด หรือการแสดงภาวะผู้นำผู้เปี่ยมไปด้วยศักยภาพแล้ว นั่นก็ไม่ใช่คำถามที่จะก่อให้เกิดความรักความสามัคคี หรือความสมานฉันท์ อันเป็นพื้นฐานของความเป็นชาติ ที่มีความปึกแผ่นมั่นคงดังที่เข้าใจกันแม้แต่น้อย กลับยิ่งแบ่งแยกให้พลเมืองเชื้อสายต่างๆ รู้สึกถึงการแบ่งเขาแบ่งเรา แล้วต่างฝ่ายต่างก็กลายเป็น "คนอื่น" ซึ่งแปลกหน้ากันในสังคมไปทุกขณะ

จะเป็นอย่างไรหากสังคมไทยเต็มไปด้วยความแปลกหน้าที่ก่อให้เกิดความหวาดระแวง ไร้สิ้นซึ่งความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะทุกคนต่างถูกทำให้คิดว่า "เราไม่ใช่เขา" และ "เขาก็ไม่ใช่เรา" ในทำนองเดียวกับ "เราเป็นปัญหาของเขา" และ "เขาเป็นปัญหาของเรา" แล้ว "เรา" กับ "เขา" ก็ไม่อาจอยู่ร่วมกันได้อีกต่อไป

เช่นนั้นแล้ว "เป็นคนไทยหรือเปล่า?" ย่อมไม่ใช่คำถามที่ทำให้เกิดวิถีทางแห่งสันติหรือความสมานฉันท์ ดังที่ทุกฝ่ายเรียกร้องและต้องการอยู่ในห้วงเวลานี้ โดยเฉพาะพื้นที่เปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งและความรุนแรงอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา และต้องลงลึกในรายละเอียดทุกด้าน

แต่เมื่อใครคนหนึ่งชี้นิ้ว แล้วโยนคำถาม "เป็นคนไทยหรือเปล่า?" ออกไปใส่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อนั้นการกระเพื่อมไหวของวงน้ำแห่งความขัดแย้งและความรุนแรงก็ยิ่งแผ่กว้างออกไปราวไม่รู้จบ


ผู้เขียน : อภิชาติ จันทร์แดง
ที่ทำงาน : โครงการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทร. : 09-1403317, 074-282330-1
e-mail : [email protected], [email protected]

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
220349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

เป็นเรื่องไม่แปลก แต่เป็นเรื่องที่ควรเปรียบเทียบ ขบคิด และแยกประเด็นให้ได้ว่า ณ พื้นที่แห่งหนึ่งของประเทศไทย มีคนจำนวนหนึ่งพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นคนไทย ทั้งโดยเชื้อชาติและสัญชาติ แต่อีกแห่งหนึ่งบนผืนแผ่นดินของประเทศเดียวกัน กลับมีกลุ่มคนผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไทยตามความหมายของรัฐมาแต่กำเนิด (เพราะถูกระบุในเอกสารทางราชการว่ามีเชื้อชาติไทย-สัญชาติไทย) พยายามเรียกร้องเพื่อปลดเปลื้องสถานภาพที่พวกเขามีอยู่นานแล้ว โดยเฉพาะเรื่องเชื้อชาติ

The Midnightuniv website 2006