บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๑๑๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙
25-12-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Justice & healthful ecology
The Midnight University

ตุลาการภิวัตน์กับความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
ศาลสิ่งแวดล้อม: กระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
ดร. สุนทรียา เหมือนพะวงศ์
ผู้พิพากษา สถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

บทความวิชาการชิ้นนี้เดิมชื่อ กระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอในเวที
นโยบายสาธารณะด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ: ความสมดุล-ความเป็นธรรม-ความพอเพียง
วันจันทร์ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ ณ ห้องเรดิสันบอลรูม ชั้น ๓ โรงแรมเรดิสัน ถ.พระราม ๙ กรุงเทพฯ
จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
เป็นเรื่องข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดให้มีศาลสิ่งแวดล้อม
และการตระเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับกระบวนการสร้างความยุติธรรม

(บทความวิชาการชิ้นนี้ เคยเผยแพร่แล้วบนประชาไทออนไลน์)
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๑๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๐.๕ หน้ากระดาษ A4)



ศาลสิ่งแวดล้อม: กระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
ดร. สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ - ผู้พิพากษา สถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอในเวที 'นโยบายสาธารณะด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ: ความสมดุล-ความเป็นธรรม-ความพอเพียง' ที่จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2549 ณ ห้องเรดิสันบอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเรดิสัน ถ.พระราม 9 กรุงเทพฯ จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

บทนำ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการสำรวจกระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในประเทศไทย ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และจะมีแนวทางในการปรับปรุงได้อย่างไร โดยเป็นการศึกษาในเชิงโครงสร้างและกระบวนการแบบกว้างๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมในเบื้องต้น และจะได้นำไปสู่การศึกษาวิจัยในรายละเอียดในโอกาสต่อไป

1. ความจำเป็นในการพัฒนากระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
ปัญหาเรื่องความอยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาของโลกและเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในปัจจุบัน ท่ามกลางการพัฒนาที่รีบเร่งทำให้มนุษย์ละเลยการดูแลเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ทำให้มนุษย์เองต้องเผชิญกับความสูญเสีย และธรรมชาติก็เผชิญกับหายนะอย่างยากที่จะแก้ไขได้

ความเสียหายจากความไม่เป็นธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดต่อมนุษย์ เห็นได้ชัดเจนในเรื่องปัญหาสุขภาพอนามัยและความไม่ปลอดภัยในชีวิตและร่างกายในลักษณะต่างๆ เช่น การเกิดอาการป่วยเจ็บของคนงานจากสารพิษในโรงงานอุตสาหกรรม การเป็นโรคภูมิแพ้ของประชาชนในเมืองเนื่องจากอากาศเสียหรือน้ำเสีย หรือการที่เกษตรกรเจ็บป่วยจากการสัมผัสยาฆ่าแมลง ฯลฯ ซึ่งผู้ที่เสียหายกระจายกันอยู่ทั่วไป มีทั้งคนที่มีฐานะและคนยากจน แต่คนยากจน คนด้อยโอกาส หรือชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็จะมีโอกาสในการแก้ไขปัญหาได้น้อยกว่า เนื่องจากมีช่องว่างทางสังคมและไม่มีช่องทางเข้าถึงความยุติธรรม
สำหรับความเสียหายที่เกิดแก่สภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น นับวันจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอากาศเสีย ดินเสีย น้ำใต้ดินเปื้อนมลพิษ ป่าถูกตัด ต้นไม้และสัตว์ป่าสำคัญใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดแก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ด้วย

ปัญหาเรื่องความอยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทยมาโดยตลอด โดยที่กลไกในกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ ไม่อาจเข้ามาจัดการความขัดแย้งเหล่านี้ได้ เพราะหลายกรณี ข้อพิพาทมิได้ถูกระงับโดยองค์กรที่มีความเหมาะสม เพราะการเรียกร้องหาความยุติธรรมมักกระทำกันในท้องถนน มีการใช้วิธีการระงับข้อพิพาทแบบเฉพาะหน้าเป็นพิธีเป็นครั้งๆ ไปเท่านั้น ทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นว่าความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมมีอยู่จริง จำนวนคดีสิ่งแวดล้อม เช่น คดีเกี่ยวกับการใช้พลังงานน้ำและการสร้างเขื่อน คดีเกี่ยวกับการจัดผังเมืองผิดพลาด คดีเกี่ยวกับอากาศเป็นพิษและเสียงเป็นพิษ หรือคดีที่การทำเหมืองแร่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนจึงมีอยู่น้อยมากในศาลไทย

เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ความเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Jtustice Movement) ที่เคยเกิดขึ้น ได้ส่งผลให้หลายประเทศได้พยายามปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าในบางประเทศได้มีองค์กรดูแลรับผิดชอบ และมีความพยายามจัดตั้ง "ศาลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ" "ศาลสิ่งแวดล้อมและผังเมือง" "ศาลสิ่งแวดล้อมและที่ดิน" หรือ "ศาลทรัพยากรน้ำ" เพื่อให้เป็นองค์กรในการระงับความขัดแย้งอย่างเป็นพิเศษ หรือในบางประเทศที่แม้ไม่มีศาลสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีกระบวนการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมที่สะดวก รวดเร็วและประหยัด ทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ถูกจัดการได้อย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมได้

สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น อาจถือได้ว่าอยู่ในสภาพวิกฤติ เพราะกระบวนการระงับข้อพิพาททางด้านสิ่งแวดล้อมยังเพิ่งได้รับการพัฒนา ศาลยังเพิ่งเริ่มรู้จักคดีสิ่งแวดล้อม ประชาชนยังไม่เข้าใจเรื่องการใช้สิทธิทางกฎหมายของตน ยังไม่มีกระบวนการใช้สิทธิทางศาล รวมทั้งความคุ้มครองสิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายยังมีจำกัด และกฎหมายวิธีพิจารณาคดียังไม่มีความเหมาะสม ทำให้การเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและร่างกาย อันเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่มีหรือยังมีไม่เพียงพอ

ยิ่งไปกว่านั้น การเยียวยาเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ธรรมชาติก็แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะความเข้าใจในเรื่องการเรียกร้องสิทธิเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรยังมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งในส่วนของนักเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ความจำเป็นในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก

ข้อบกพร่องในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงมีทั้งปัญหาการขาดกฎหมายที่เหมาะสม โดยเฉพาะกฎหมายด้านการคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กฎหมายว่าด้วยสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Health Law) กฎหมายเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายความถึงกฎหมายจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม และกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจ การขาดข้อมูลและความรู้ การขาดความชัดเจนในการกำกับเรื่องความขัดแย้งและคดีทางสิ่งแวดล้อม ความไม่พร้อม และทัศนคติที่ไม่ถูกต้องของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งจำเป็นต้องรีบเร่งปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสมกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

2. ปรัชญาและแนวความคิดในเรื่องความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
ในการพัฒนาเรื่องกระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมนั้น จำเป็นต้องศึกษาให้เห็นถึงแนวคิดหรือหลักการสำคัญที่อยู่เบื้องหลังด้วย เพื่อจะทำให้การออกกฎระเบียบหรือการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีทิศทางและเป็นระบบ ใน
ต่างประเทศได้พัฒนาปรัชญาและแนวความคิดในเรื่องความยุติธรรมร่วมสมัยไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งประเทศไทยสามารถศึกษาและนำมาเป็นหลักคิดเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมของไทยได้

ในเบื้องต้น เพียงความหมายของคำว่าความเป็นธรรม (Fairness) กับสวัสดิการ (Welfare) ก็เป็นเรื่องที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในสังคมไทย เพราะทันทีที่ประชาชนได้รับความเสียหาย รัฐหรือผู้ก่อมลพิษมักเล่นบทเป็นผู้ให้ ทำการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ โดยที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าตนมีสิทธิเรียกร้องของตนเอง และอาจมีสิทธิเรียกร้องโดยชอบมากกว่าสิ่งได้รับก็เป็นไปได้ ดังนั้น ในประเด็นเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่อง "ความเป็นธรรม" จึงเป็นเรื่องที่ต้องตีความกันให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น

สำหรับปรัชญาหรือแนวคิดเรื่องความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice หรือ Green Justice) นั้นเป็นเรื่องต้องให้ความสำคัญในการศึกษาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (Constitutional Environmental Rights) ที่อาจจะถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแบบใหม่ ที่รัฐธรรมนูญของหลายประเทศเริ่มให้การรับรองไว้ ซึ่งหมายความว่าประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี (Clean and Healthy Environment) มีการประกันความคุ้มครองการใช้ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติไว้อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้เพราะเมื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกมองและถูกแปลงเป็นทรัพย์สินที่นำออกหาประโยชน์ได้ (Commodities) การเข้าใช้โดยไม่เป็นธรรมก็ย่อมเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เคยเกิดปัญหาการกีดกันทางเชื้อชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environmental Racism) หรือเรื่องความไม่เสมอภาคทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Inequality) อย่างรุนแรงมาก โดยเฉพาะกรณีคนผิวดำที่ยากจน ถูกรังแกโดยมีการนำมลพิษไปทิ้งในเขตพื้นที่ที่คนผิวดำอาศัยอยู่ ซึ่งก็อาจเปรียบเทียบกับปัญหาการทิ้งมลพิษในชนบทไทยในหลายพื้นที่ได้ด้วย

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมแล้ว ปรัชญาและแนวความคิดในเรื่องความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมยังมีการพัฒนาไปสู่เรื่องความยุติธรรมทางนิเวศ (Ecological Justice) ที่เน้นความสำคัญของระบบนิเวศทั้งระบบ โดยมองระบบนิเวศทั้งปวงเป็นฐาน (Eco-Centric Approach) ทำให้มีการพัฒนาหลักกฎหมายเกี่ยวกับความคุ้มครองต้นไม้ พันธุ์พืช หรือสัตว์ป่าได้ความชัดเจนขึ้น เช่น การให้สิทธิองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายเมื่อป่าถูกทำลาย อุทยานแห่งชาติโดนบุกรุก หรือเมื่อพันธุ์พืชและสัตว์ถูกทำลายจนใกล้สูญพันธุ์ เป็นต้น

สำหรับแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Democracy) ก็เป็นแนวคิดสำคัญที่มีส่วนในการพัฒนากระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมด้วย โดยกระบวนการเคลื่อนไหวที่สำคัญในเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อมีการทำอนุสัญญาระหว่างประเทศ Aarhus Convention ที่ส่งผลให้เกิดการคุ้มครองเรื่องสิทธิในเชิงกระบวนการ (Procedural Right) มากยิ่งขึ้น เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (Right to Know) โดยเฉพาะการรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ และสิทธิในการมีส่วนร่วมในลักษณะอื่นๆ เช่น การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐ (Participation in Decision-Making Process) รวมทั้งการใช้สิทธิทางศาล (Access to Justice) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญจนมีบางคนเรียกว่า เป็นเรื่องความยุติธรรมในเชิงการมีส่วนร่วม (Participative Justice) ก็ว่าได้

3. การพัฒนากระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
โดยการพัฒนาระบบคดีสิ่งแวดล้อมและการผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

เพื่อให้เกิดกระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาระบบคดีสิ่งแวดล้อมและการผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบัน ระบบคดีสิ่งแวดล้อมและการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยยังไม่เอื้อให้เกิดความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้เพราะยังขาดความพร้อมด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ ประชาชนยังขาดสิทธิในการฟ้องร้องบางประการ กระบวนการค้นหาความจริงของศาลยังไม่มีความสมบูรณ์ การประสานระหว่างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ยังไม่เกิดขึ้น วิธีพิจารณาคดียังล่าช้า ไม่รวดเร็ว ไม่สะดวก และไม่ประหยัดตามหลักการที่ควรเป็น รวมทั้งบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างดีพอ ดังนั้น การพัฒนาระบบคดีสิ่งแวดล้อมและการผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรีบนำมาพิจารณาโดยเร่งด่วน ซึ่งประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว มีดังต่อไปนี้

3.1 การพัฒนาระบบวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาระบบวิธีพิจารณาความในคดีสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะในปัจจุบัน กฎหมายวิธีพิจารณาคดีตามปกติยังไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ได้แก่

- อำนาจฟ้อง
ตามกฎหมายปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิในการฟ้องร้อง (Standing to Sue) ของประชาชนในหลายลักษณะ เช่น ผู้เสียหายโดยตรงที่ต้องพิสูจน์การมีส่วนได้เสีย (Subjective Right) อย่างจริงจังเท่านั้น ถึงจะมีอำนาจฟ้องตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและวิธีพิจารณาความอาญาได้ ทำให้เกิดข้อจำกัดในเรื่องอำนาจฟ้องพอสมควร นอกจากนี้ การฟ้องคดีโดยประชาชนทั่วไป การฟ้องคดีโดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโดยองค์กรชุมชน ยังเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในต่างประเทศ เช่น ในประเทศออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ ได้มีตัวอย่างที่น่าสนใจหลายประการ เช่น การเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องคดีได้ในลักษณะเปิด (Open Standing) เพื่อให้เกิดการตรวจสอบการไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดของฝ่ายปกครอง ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย (Judicial Review) เกี่ยวกับคำสั่งหรือคำตัดสินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือการร้องขอให้บังคับการตามกฎหมาย (Application for Civil Enforcement Orders) ซึ่งการรับรองสิทธิในลักษณะนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าร่วม ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลอย่างจริงจัง

สำหรับการฟ้องคดีโดยชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโดยองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่หลายประเทศให้การรับรองสิทธิไว้โดยชัดเจน ซึ่งสิทธิเช่นนี้ สมควรจะได้มีการรับรองไว้ตามกฎหมายไทยด้วย เพื่อให้มีการขยายวงผู้มีส่วนได้เสียกับคดีสิ่งแวดล้อมให้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับการดำเนินคดีของประชาชนในลักษณะกลุ่ม ที่กฎหมายยุโรปบางประเทศเอื้อให้เกิดความสะดวกสบายในการดำเนินการ หรือตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ขยายวงความคุ้มครองไปยังบุคคลอื่นๆ ที่มิได้ฟ้องคดีด้วย (Class Action) ก็เป็นตัวอย่างที่ประเทศไทยน่าจะได้นำมาปรับใช้ให้เหมาะสม

- ระบบกฎหมายเรื่องพยานหลักฐานและกระบวนการค้นหาความจริงในคดี
โดยหลัก กระบวนพิจารณาในศาลสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็นไปโดยง่าย รวดเร็ว ประหยัด คู่ความอาจไม่ต้องมีทนายความ และศาลก็อาจจะไม่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดเหมือนคดีประเภทอื่นๆ เพราะคดีสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะเป็นส่วนใหญ่

สำหรับประเด็นในกฎหมาย "เรื่องพยานหลักฐาน"นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคดีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพราะหากกฎหมายว่าด้วยพยานหลักฐานไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ การดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในคดีก็เป็นไปได้ยาก บทบัญญัติว่าพยานหลักฐาน (Rule of Evidence) ว่าจะค้นหาพยานหลักฐานอย่างไร จะรับฟังพยานหลักฐานต่างๆ ได้เพียงใด รวมถึงเรื่องภาระการพิสูจน์ในคดี จึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก

สำหรับคดีเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้นั้น ในต่างประเทศ เช่น ประเทศแคนาดา ประเทศออสเตรเลีย และประเทศมาเลเซีย ที่มีชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิม ได้มีการพัฒนาหลักการพิสูจน์สิทธิในที่ดินดั้งเดิมของส่วนกลาง (Communal Land) ไว้ด้วย เช่น กระบวนการรับฟังจากปากคำประวัติศาสตร์ (Oral History) ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับวิธีพิจารณาคดีป่าไม้และที่ดินของไทยด้วย

นอกจากนี้ ระบบผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการพิเศษ ระบบที่ปรึกษาศาลด้านเทคนิค รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนากันอย่างจริงจังต่อไป โดยหลักการแล้ว พยานผู้เชี่ยวชาญมีหน้าที่ช่วยเหลือศาลในเนื้อหาความชำนาญที่ตนเองเกี่ยวข้องโดยไม่ลำเอียง (Impartially) เพราะพยานผู้เชี่ยวชาญมิใช่ผู้ต่อสู้คดีแทนพยานฝ่ายที่อ้างตน แต่ในความเป็นจริง พยานผู้เชี่ยวชาญมักเข้าข้างคู่ความฝ่ายของตนมากกว่า

เรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องปรับเปรียบเกี่ยวกับวิธีการหาพยานหลักฐานในคดีสิ่งแวดล้อมอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเปลี่ยนบทบาทของผู้พิพากษา จากการที่เน้นระบบการต่อสู้กันโดยคู่ความ (Adversarial System) ก็สมควรจะเพิ่มบทบาทเป็นลักษณะระบบการค้นหาความจริง (Inquisitorial System) มากขึ้น หรือเป็นลักษณะผสมผสาน (Mixture of Adversarial and Inquisitorial) ดังนั้น สิ่งที่น่าจะถือเป็นแบบอย่างที่ดีในวิธีปฏิบัติของศาลสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ เช่น การที่ผู้พิพากษามักออกเดินเผชิญสืบไปยังพื้นที่พิพาทที่มีปัญหาขัดแย้งด้วยตนเอง และอาจมีการรับฟังพยานจากในพื้นที่โดยตรง ก็เป็นเรื่องที่น่าจะนำมาปรับใช้มากขึ้น เพราะเรื่องนี้ยังเกิดขึ้นน้อยมากในส่วนของศาลไทย

- การพัฒนาเครื่องมือทางกฎหมายให้แก่ศาล
การพัฒนาเครื่องมือทางกฎหมายให้แก่ศาล ได้แก่ การให้อำนาจศาลในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง การเพิ่มอำนาจดุลพินิจให้แก่ศาลในการเลือกมาตรการลงโทษจำเลยในคดีสิ่งแวดล้อม หรือการเพิ่มดุลพินิจในการสั่งการในเรื่องวิธีการฟื้นฟูสภาพธรรมชาติที่หลากหลาย นอกจากนี้ การพัฒนากระบวนการบังคับคดีให้เกิดขึ้นได้จริง ก็เป็นเรื่องที่ต้องเร่งพัฒนาโดยเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมา ปรากฏว่าผู้บุกรุกเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป เพราะรัฐไม่มีเครื่องมือในการรื้อถอนอย่างเพียงพอ เป็นต้น การพัฒนาเครื่องมือทางกฎหมายให้แก่ศาลในคดีสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพื่อให้ศาลสามารถสร้างความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

- การแก้ไขกฎหมายสารบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับระบบวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม
นอกเหนือจากการแก้ไขกฎหมายสบัญญัติบางเรื่องเพื่อปรับปรุงวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายสารบัญญัติบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่นเรื่องอายุความที่ผู้เจ็บป่วยจากมลพิษจะใช้ในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม ที่อาจจะต้องขยายให้กว้างขึ้น หรือเรื่องอำนาจศาลในการแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายต่างๆ เป็นต้น

- ระบบความช่วยเหลือประชาชนในทางคดีสิ่งแวดล้อมในเรื่องอื่นๆ
การช่วยเหลือประชาชนในทางคดีสิ่งแวดล้อมในเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดทนายความช่วยเหลือ การจัดผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคเข้าช่วยค้นหาและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน การจัดให้มีกองทุนในการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องการลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล (Court Fee) ซึ่งระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศได้รับประกันเรื่องนี้ไว้อย่างดี ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการติดอาวุธ (Empower) ให้กับประชาชนที่จะสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีหน่วยงานบางส่วนที่สนับสนุนในเรื่องความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นสภาทนายความ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งทำให้สามารถเยียวยาได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณนักกฎหมายและทนายความที่จำกัด ด้วยข้อขัดข้องทางงบประมาณ ด้วยปัญหาการบริหารแบบรวมศูนย์ ด้วยปัญหาการขาดการพัฒนาศักยภาพ ทำให้ความคุ้มครองประชาชนเกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อมยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร จึงสมควรจะมีการปฏิรูประบบการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวอย่างจริงจังโดยด่วน

3.2 การจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม
นอกเหนือจากการพัฒนาวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมแล้ว ในหลายประเทศได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อให้เป็นองค์กรพิเศษที่ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ หรือหากประเทศที่ยังไม่มีศาลสิ่งแวดล้อมก็ค่อยๆ พัฒนาองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดในลักษณะคณะกรรมการชี้ขาดขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

ในปัจจุบัน ประเทศที่ได้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมแล้ว ได้แก่ ประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีศาลสิ่งแวดล้อม (Environmental Court) ในประเทศออสเตรเลีย มีศาลที่ดินและสิ่งแวดล้อม (Land and Environment Court) ในมลรัฐ New South Wales มีศาลผังเมืองและสิ่งแวดล้อม (Planning and Environment Court) ในมลรัฐ Queensland มีศาลสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา (Environment, Resources and Development Court) ในมลรัฐ South Australia. ในประเทศสวีเดนมีศาลสิ่งแวดล้อม (Environmental Court) ในประเทศสหรัฐอเมริกามีศาลสิ่งแวดล้อม (Environmental Court) ในบางมลรัฐ สำหรับประเทศที่มีองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดในลักษณะคณะกรรมการชี้ขาด ได้แก่ ประเทศเดนมาร์กที่มีคณะกรรมการอุทธรณ์ทางสิ่งแวดล้อมและคณะกรรมการอุทธรณ์เกี่ยวกับการคุ้มครองธรรมชาติ เป็นต้น

ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับระบบศาลสิ่งแวดล้อม
- รูปแบบศาล
จากประสบการณ์ของหลายประเทศ ระบบศาลโดยทั่วไปมีความสลับซับซ้อน และไม่สามารถแก้ไขปัญหากฎหมายสิ่งแวดล้อมได้ จึงได้มีความพยายามจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษขึ้นมา เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศ เช่น ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือประเทศโปรตุเกสเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งศาลสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นพิเศษ เพราะประเทศเหล่านี้จัดให้คดีสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เป็นคดีปกครอง ซึ่งศาลปกครองสามารถทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว

สำหรับประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า ศาลที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมควรอยู่ในระบบศาลปกติหรือศาลพิเศษ ที่ผ่านมาการไม่มีศาลพิเศษ ทำให้ไม่มีการพัฒนาบุคลากรในด้านนี้อย่างจริงจัง ไม่มีการรวบรวมข้อมูลหรือสถิติคดีที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ ทำให้การจัดการความรู้และการพัฒนาความรู้เป็นไปได้ยาก

เป็นที่น่าดีใจ ที่เมื่อไม่นานมานี้ ศาลยุติธรรมได้เห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงได้มีการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา และต่อมาได้มีการขยายแผนกคดีสิ่งแวดล้อมไปยังศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคทั้งหมด เพื่อพัฒนาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม อำนาจหน้าที่ของศาลยุติธรรม มีเพียงการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น อำนาจในการพิจารณาพิพากษาปกครองทางสิ่งแวดล้อม ยังเป็นอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งการแยกศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมออกจากกันเกิดจากที่มาทางประวัติศาสตร์ที่มีการแบ่งแยกระบบศาลเป็นศาลคู่ อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ข้อขัดข้องในทางคดีสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เช่น ในคดีโคบอลต์ หรือคดีคลิตี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนว่าสมควรให้มีการแยกคดีสิ่งแวดล้อมไปยังศาลต่างๆ หรือควรรวมคดีสิ่งแวดล้อมทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อให้ความสะดวก รวดเร็ว และให้แนวทางการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลเป็นไปอย่างถูกต้องและมีเอกภาพ

- ความสัมพันธ์ระหว่างศาลสิ่งแวดล้อมกับศาลอื่น
ในประเทศที่มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมแล้ว ได้มีการกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจหน้าที่กับศาลอื่นที่แตกต่างกันไป ดังนั้น หากประเทศไทยจะมีระบบศาลสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ก็จำเป็นจะต้องศึกษาแนวทางของต่างประเทศอย่างละเอียดด้วย
ตัวอย่างเช่น ในประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ ไม่มีระบบศาลปกครอง ศาลสิ่งแวดล้อมจึงหน้าที่ในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่จะไม่รวมถึงคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายคอมมอนลอว์ หรือคดีที่ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น คดีละเมิด คดีเกี่ยวกับการรบกวน (Nuisance) คดีบุกรุก เป็นต้น ซึ่งคดีเหล่านี้จะอยู่ในเขตอำนาจของศาลทั่วไป หรือในประเทศสวีเดน มีระบบศาลยุติธรรม ระบบศาลปกครอง และมีระบบศาลสิ่งแวดล้อมด้วย ที่แบ่งแยกหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมต่างกันไป

- ลำดับชั้นของศาล
ในเรื่องลำดับชั้นของศาลสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญในเชิงโครงสร้างของระบบศาลโดยรวม ในประเทศออสเตรเลียบางมลรัฐ ศาลสิ่งแวดล้อมมีลำดับชั้นเทียบเท่าศาลชั้นต้น ในขณะที่บางมลรัฐเทียบเท่าศาลสูง เช่นในมลรัฐ South Australia มีศาลสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในลำดับชั้นเดียวกับ District Court คือศาลชั้นต้น โดยไม่มีศาลอุทธรณ์ในส่วนคดีสิ่งแวดล้อม คดีที่เสร็จจากศาลสิ่งแวดล้อมจะอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา (Supreme Court)

ในเรื่องนี้ หากประเทศไทยจะมีศาลสิ่งแวดล้อมเป็นศาลพิเศษ ก็จำเป็นต้องพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย ว่าจะให้มีศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร จะมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอุทธรณ์ฎีกาในคดีสิ่งแวดล้อมอย่างไร

- ระบบผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญศาล
หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญของศาล รวมทั้งการกำหนดองค์คณะผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากต่อการพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม

การมีความรู้ความชำนาญในเรื่องสิ่งแวดล้อมของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบุคลากรของศาลเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ซึ่งความรู้ที่จะใช้ในคดีสิ่งแวดล้อมมิใช่แค่เรื่องทางกฎหมาย หากแต่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์อื่นๆ เป็นจำนวนมาก เช่น วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม, วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม, และนิเวศวิทยา. ดังนั้น ระบบการคัดเลือกบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ จึงมีความสำคัญมาก

ในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือออสเตรเลีย ผู้พิพากษาศาลสิ่งแวดล้อม มักได้รับการคัดเลือกมาจากนักกฎหมายที่เคยมีผลงานการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อนทั้งสิ้น. นอกจากนี้ ในศาลตามระบบปกติ มีการเปลี่ยนย้ายตำแหน่งผู้พิพากษาเสมอ (Circulation of Judges) ทำให้ผู้พิพากษาขาดความรู้และประสบการณ์ที่เพียงพอ การปรับปรุงเรื่องการโยกย้ายไปศาลอื่นย่อมมีส่วนช่วยพัฒนาระบบคดีสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน

สำหรับผู้พิพากษาสมทบ (Expert Lay-Judges) ที่ปรึกษา (Environmental Adviser) และผู้เชี่ยวชาญ (Expert) ของศาลก็จะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ผ่านการอบรมด้านเทคนิค ได้แก่เรื่องวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม, วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ และจะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน เป็นที่ยอมรับจากวงการวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และมีความเป็นกลาง เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะสามารถให้ความเป็นธรรมในคดีสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งผู้พิพากษาสมทบ, ที่ปรึกษา, และผู้เชี่ยวชาญนี้ จะเป็นบุคลากรที่มาช่วยศาลในเรื่องข้อมูลที่มีความสลับซับซ้อน และจะต้องมีความสามารถเพียงพอที่จะตรวจสอบความถูกต้องของพยานผู้เชี่ยวชาญที่คู่ความมักจะอ้างกันในคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้พยานผู้เชี่ยวชาญ กลายเป็นอาชีพสำคัญที่มีราคาแพง ที่คู่ความแต่ละฝ่ายต่างแสวงหานำเข้ามาในคดี

ในส่วนของการกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาสมทบก็มีความสำคัญมาก ในประเทศที่มีความเชื่อมั่นในระบบผู้พิพากษาสมทบ เช่น ประเทศออสเตรเลีย, ผู้พิพากษาสมทบ ซึ่งเรียกกันว่า Commissioner จะมีอำนาจนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีอุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมหรือผังเมือง เพื่อให้ศาลวินิจฉัยในเนื้อหาทางเทคนิคของคดี (Merit Appeal) ที่มิใช่การพิจารณาข้อกฎหมาย (Decision at Law) โดยสามารถกระทำได้โดยลำพัง ซึ่งในเรื่องนี้ จะปรับใช้กับระบบการศาลของไทยได้เพียงใด ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาความเหมาะสมกันต่อไป

3.3 การพัฒนาระบบการระงับข้อพิพาททางเลือกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
การพัฒนากระบวนการระงับข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี เช่น การเจรจาต่อรอง, การตั้งอนุญาโตตุลาการทางสิ่งแวดล้อม, โดยเฉพาะกระบวนการไกล่เกลี่ยทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Mediation) ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพื่อจะให้เกิดการระงับข้อพิพาทกันโดยสมานฉันท์ โดยไม่ต้องฟ้องคดีหรือไม่ต้องให้ศาลมีคำวินิจฉัย

ในศาลสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ เช่น ศาลในประเทศออสเตรเลียมักจะมีการประชุมไกล่เกลี่ย (Conference & Mediation) ก่อนเสมอ เพราะหากคู่ความสามารถตกลงกันได้ก็ไม่ต้องต่อสู้คดีกันในศาลอีก ซึ่งถือเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมาก

ในปัจจุบัน การระงับข้อพิพาททางเลือกในด้านอื่นๆ ของประเทศไทย ได้พัฒนาไปได้อย่างดี แต่ในเรื่องการระงับข้อพิพาททางเลือกเกี่ยวกับปัญหาข้อขัดแย้งทางสิ่งแวดล้อม (Alternative Dispute Resolution in Environment) ยังถือเป็นเรื่องใหม่ และเพิ่งเริ่มทดลองดำเนินการในบางองค์กร เช่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ประเด็นที่เป็นปัญหาในเชิงหลักการในเรื่องที่เกี่ยวข้อง คงจะเป็นเรื่องการระงับข้อพิพาทที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายปกครองที่ใช้อำนาจมหาชนเพื่อดำเนินการให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในเรื่องนี้ ฝ่ายปกครองจึงมักจะเชื่อว่าไม่สามารถต่อรองกับฝ่ายประชาชนได้ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในต่างประเทศ ได้มีแนวทางในการพัฒนาที่น่าสนใจ และถือว่ากระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกตามกฎหมายมหาชน โดยเฉพาะการไกล่เกลี่ยตามกฎหมายปกครอง (Mediation in Administrative Law) เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็สมควรจะได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกันอย่างจริงจังต่อไป

4. การพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำโดยเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีองค์ความรู้ที่สมบูรณ์ วิธีการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม อาจกระทำได้ดังต่อไปนี้

4.1 การสำรวจขอบเขตบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
การสำรวจขอบเขตบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ทั้ง "ผู้รู้" และ "ผู้มีส่วนได้เสีย" ในเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง จะเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหาบุคคลหรือหน่วยงานที่จะมาพัฒนาเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

ที่ผ่านมาการพัฒนาเรื่องคดีสิ่งแวดล้อม ยังมีขอบเขตจำกัดในส่วนเจ้าหน้าที่ด้านการบังคับใช้กฎหมายเป็นสำคัญ แต่โดยสภาพแล้ว คดีสิ่งแวดล้อมเกี่ยวพันกับบุคลากรหลายฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่มีความรู้ด้านเทคนิคที่เป็นบุคลากรด้านการพิสูจน์ และสืบสวนนิติวิทยาศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Forensic and Investigation) และฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ ดังนั้น การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง บุคลากรฝ่ายต่างๆ ที่สำคัญ มีดังต่อไปนี้

- บุคลากรด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม
นักวิชาการด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม, นิติกรด้านสิ่งแวดล้อม, นักกฎหมาย, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง, เจ้าหน้าที่ตำรวจ, ทนายความ, อัยการและผู้พิพากษาเป็นบุคลากรที่มีหน้าที่พัฒนาเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง

ในต่างประเทศมีอาชีพหนึ่งที่เรียกว่า นักกฎหมายเพื่อประโยชน์มหาชน (Public Interest Lawyer) หรือนักปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Defender) และนักสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเป็นบุคลหรือองค์กรกลุ่ม เช่น องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการฟ้องคดีด้านสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก ซึ่งในประเทศไทยยังมีบุคลากรประเภทนี้น้อยมาก และจำเป็นต้องรณรงค์ให้มีมากขึ้นในอนาคตต่อไป

- บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ แพทย์, พยาบาล, นักสาธารณสุข, นักระบาดวิทยา, นักอาชีวอนามัย ฯลฯ เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญมากที่จะช่วยพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเด็นกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น ปัญหาการเจ็บป่วยเนื่องจากมลพิษของคนงาน หรือของประชาชนทั่วไป

- บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรมสิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบัน บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เช่นนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม, นักพิษวิทยา, หรือวิศวกรสิ่งแวดล้อม มีบทบาทนำในด้านการพิสูจน์และสืบสวนนิติวิทยาศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Forensic and Investigation) สำหรับสถาปนิกด้านสิ่งแวดล้อมก็มีบทบาทมากเกี่ยวกับเรื่องภูมิทัศน์และการผังเมืองต่างๆ

- บุคลากรด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
นักนิเวศวิทยา, นักอนุรักษ์ธรรมชาติ, นักชีววิทยา, นักวนศาสตร์, นักกีฏวิทยา ฯลฯ เป็นบุคลากรสำคัญที่จะช่วยให้ความกระจ่างในเรื่องความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตัวอย่างเช่นในการคำนวณความเสียหายเมื่อป่าไม้ถูกตัด นักนิเวศวิทยาอาจช่วยประเมินความเสียหายทางนิเวศโดยรวมได้อย่างกว้างขวางกว่านักการป่าไม้ ที่อาจมองต้นไม้ในฐานะผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าชิ้นหนึ่ง เป็นต้น

- บุคลากรด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม
วิชาการเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ถือเป็นศาสตร์ที่ใหม่และทันสมัย นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทมากในการช่วยคำนวณมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเป็นราคาที่คำนวณเป็นเงินได้ง่ายหรือที่คำนวณได้ยาก นอกเหนือจากการคำนวณค่าเสียหายในคดีสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังอาจคำนวณค่าขจัดความเสียหายและการฟื้นฟูเยียวยาต่างๆ ด้วย

- บุคลากรด้านชาติพันธุ์วิทยา นักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยา และนักโบราณคดี
บุคลากรด้านชาติพันธุ์วิทยา นักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยา ย่อมมีบทบาทในประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน การพิสูจน์สภาพความเป็นชุมชนและความสัมพันธ์กับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือเกี่ยวกับคดีสิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิม (Native Title) ในข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ต่างๆ นักโบราณคดีก็อาจจะมีบทบาทมากในการพิสูจนคดีตามกฎหมาย Historic Places Act เกี่ยวกับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานต่างๆ เป็นต้น

- บุคลากรด้านเทคนิคอื่นๆ
บุคลาการด้านเทคนิคอื่นๆ เช่น นักอ่านแผนที่ทางอากาศ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการรังวัดที่ดิน และการระวังชี้แนวเขตป่า เป็นต้น เป็นบุคลากรที่สำคัญมากเกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเช่นเดียวกัน

- บุคลากรฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่
ในความเป็นจริง บุคลากรฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ ถือเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากที่จะช่วยให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม บุคลากรฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ อาจหมายความรวมถึงบุคคลที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ผู้มีส่วนได้เสียโดยอ้อม บุคคลที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ยังหมายความถึงชุมชน คนเฒ่าคนแก่ ผู้รู้ในภูมิปัญญาชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งในชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิม (Indigenous Community) และในชุมชนทั่วไป และยังรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาบุคลากรในพื้นที่มักถูกละเลยไม่ให้มีส่วนร่วมในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม

- บุคลากรเกี่ยวกับสื่อทางด้านสิ่งแวดล้อม
นอกเหนือจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว สื่อทางด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชนให้มีความตื่นตัวในเรื่องการใช้สิทธิทางสิ่งแวดล้อม และเรื่องการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

- บุคลากรและหน่วยงานที่จะสนับสนุนทางการเงินเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
บุคลากรและหน่วยงานที่จะสนับสนุนทางการเงินเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม มีทั้งหน่วยราชการและองค์กรอิสระต่างๆ และหน่วยงานเอกชน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, รวมทั้งองค์กรหรือมูลนิธิต่างประเทศ เช่น Greenpeace, IUCN, US-AID และ Heinrich Boell เป็นต้น

- บุคลากรในสายธุรกิจอุตสาหกรรม
บุคลากรในสายธุรกิจอุตสาหกรรม มักตกเป็นจำเลยในสังคมสิ่งแวดล้อม ในความเป็นจริงผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนมากก็มีความประสงค์ที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การมีส่วนร่วมของบุคลากรในสายธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะองค์กรที่รวมตัวกันเป็นสมาคมการค้าหรือสภาอุตสาหกรรม ก็ถือเป็นบุคลากรที่จะมีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง

4.2 การพัฒนาศักยภาพและการพัฒนาการทำงานของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การจัดประชุมปรึกษาหารือ, แลกเปลี่ยนความคิดเห็น, การฝึกอบรม, การทำการอบรมเชิงปฏิบัติการ, การศึกษาดูงาน เช่น การไปดูสถานที่แหล่งกำเนิดมลพิษ การเดินทางไปศึกษาประสบการณ์การจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ การศึกษาวิจัยทางวิชาการต่างๆ

การพัฒนาการทำงานของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การพัฒนาระบบหาเจ้าภาพในการปฏิบัติงานและขจัดปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อน การพยายามสร้างจิตสำนึกร่วมและสร้างกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน การจัดเวทีนโยบายสาธารณะ การบูรณาการการทำงานของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ให้แต่ละฝ่ายสามารถทำงานร่วมกัน ประสานการทำงานกัน เห็นความสำคัญของกันและกัน ได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการทำให้นักกฎหมายได้เข้าใจกลไกการทำงานทางเทคนิคและวิทยาศาสตร์ และทำให้นักเทคนิคและนักวิทยาศาสตร์ต่างๆ ได้เห็นประโยชน์ของการทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

การพัฒนาการทำงานร่วมกันยังได้แก่ การทำงานในลักษณะคณะทำงานไม่ว่าจะเป็นคณะทำงานทั้งแนวดิ่งและแนวขวาง

- องค์กรแนวดิ่ง เช่น คณะทำงานของศาลยุติธรรม, คณะทำงานของศาลปกครอง,
คณะทำงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

- องค์กรแนวขวาง เช่น คณะทำงานของกระทรวงทรัพยากรฯ คณะทำงานระหว่างกระทรวงทรัพยากรฯ
กระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงยุติธรรม ฯลฯ หรือ

- องค์กรแนวขยาย เช่น ภาคราชการ ร่วมกับ นักวิชาการ ทนายความ ภาคเอกชน เช่น เอ็นจีโอ ผู้ประกอบการทางธุรกิจ ฯลฯ หรือการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พัฒนาการติดต่อสื่อสารให้ง่ายและสะดวก เป็นต้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเข้าถึงข้อมูล รวมถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทุกขั้นตอนอย่างแท้จริง

5. การพัฒนาระบบข้อมูลที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
การพัฒนากระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลที่เพียบพร้อมเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการตัดสินใจ ว่าประเทศไทยจะเลือกรูปแบบในการจัดการความขัดแย้งและคดีสิ่งแวดล้อมในลักษณะใด ซึ่งข้อมูลที่สำคัญน่าจะได้แก่

- ข้อมูลเกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลเกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น ได้แก่ สถิติข้อขัดแย้งและข้อพิพาทที่เกิดขึ้น รวมทั้งสถิติคดีที่มีการร้องเรียนและการฟ้อง และการรวบรวมคำพิพากษาสำคัญในคดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งของไทยและต่างประเทศ เพื่อเป็นแบบอย่างในการพิจารณาพิพากษาต่อไป

- ข้อมูลทางวิชาการด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมและศาลสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลทางวิชาการด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมและศาลสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอดขึ้นไป ที่ผ่านมายังมีการรวบรวมข้อมูลไว้น้อย ยังไม่มีศูนย์กลางในการรวบรวมเอกสารทางวิชาการ เช่น บทความและวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ยังไม่มีการรวบรวมงานวิจัยใหม่ๆ ไว้ในที่แห่งเดียวกัน การจัดการความรู้ในองค์กรยังไม่เป็นระบบ ทำให้แต่ละส่วนยังต้องทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำหรือเริ่มนับหนึ่งใหม่กันอยู่เรื่อยๆ

นอกจากนี้ เกี่ยวกับข้อมูลต่างประเทศที่เป็นเรื่องกฎหมาย ยังมีผู้รวบรวมไว้น้อยและยังหาผู้ศึกษาได้น้อย การจัดจ้างนักวิชาการให้ทำการศึกษาวิจัยในประเด็นสำคัญเบื้องต้นที่ยังมีข้อมูลไม่พอ เช่น ตัวอย่างรูปแบบศาลสิ่งแวดล้อมในประเทศต่างๆ ได้แก่ ศาลสิ่งแวดล้อมตามระบบออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สแกนดิเนเวีย, หรือสหรัฐอเมริกา หรือการศึกษาเรื่องโครงการผลักดันให้เกิดศาลสิ่งแวดล้อมในอังกฤษ รวมทั้งการศึกษาปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศในลักษณะอื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องรีบทำโดยเร่งด่วน

- ข้อมูลด้านเทคนิคทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
นอกเหนือจากข้อมูลทางกฎหมาย ข้อมูลทางด้านเทคนิคสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติก็จำเป็นต้องจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้โดยตรงในกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งคงมิได้จำกัดการใช้เฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคเท่านั้น แต่ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบคดีสิ่งแวดล้อมในภาพรวมด้วย

- ปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับระบบข้อมูล
ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ ปัญหาการไม่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ข้อมูลมีความกระจัดกระจาย อยู่คนละทิศละทาง องค์กรที่จัดเก็บหลากหลาย ระบบการจัดเก็บยังมีปัญหา ข้อมูลไม่เชื่อมโยง นอกจากนี้ งบประมาณที่จะสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้ก็มีไม่มากพออย่างที่ควรจะเป็น จึงทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบได้ยาก

6. แผนปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
เพื่อให้การพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้จริง จำเป็นต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นระบบ โดยจัดให้มีองค์กรผู้รับผิดชอบและมีงบประมาณในการดำเนินการได้อย่างพอเพียง และหากมีการปฏิบัติการตามแผนอย่างเหมาะสม ก็น่าจะเกิดผลต่อการพัฒนาความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการตามแผน มีดังต่อไปนี้

6.1 ขั้นตอนการสำรวจข้อมูลความคืบหน้า ในเรื่องการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมของแต่ละภาคส่วน
การสำรวจข้อมูลความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องสำคัญที่จะได้เห็นพัฒนาการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่ามีอยู่อย่างไร ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่สมควรทำการสำรวจ ได้แก่

- ข้อมูลด้านกฎหมายและระเบียบในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาข้อบกพร่องและหาแนวทางแก้ไข

- ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการตั้งศูนย์การบังคับใช้กฎหมายที่กรมควบคุมมลพิษ และสำรวจติดตามการดำเนินการขององค์กรด้านการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา, ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค, การพัฒนางานด้านคดีสิ่งแวดล้อมของศาลปกครอง, รวมทั้งสำรวจโครงการความช่วยเหลือทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม ของหน่วยงานช่วยเหลือทางกฎหมายต่างๆ หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น

- ข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการพัฒนาระบบคดีสิ่งแวดล้อมและศาลสิ่งแวดล้อม

6.2 ขั้นตอนการตัดสินใจ
เมื่อได้มีการสำรวจข้อมูลความคืบหน้า ในเรื่องการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมของแต่ละภาคส่วนโดยครบถ้วนแล้ว กระบวนการตัดสินใจจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพียงแค่เรื่องการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ก็จะมีประเด็นปลีกย่อยที่ต้องตัดสินใจมากมาย เช่น

- ควรตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเป็นศาลพิเศษหรือเป็นแผนกพิเศษในศาลธรรมดา หรือไม่เป็นศาลพิเศษแต่มีกระบวนการพิจารณาพิเศษ? ควรให้ศาลพิเศษมีขอบเขตอำนาจ (Jurisdiction) เพียงใด เช่น เป็นศาลสิ่งแวดล้อม, ศาลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ, ศาลสิ่งแวดล้อมและที่ดิน ศาลสิ่งแวดล้อมและผังเมือง, หรือศาลสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและศาลสุขภาพ?

- ศาลสิ่งแวดล้อมควรมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง คดีอาญาและคดีปกครองหรือไม่?

- ลำดับชั้นของศาล จะมีสองชั้นหรือสามชั้น จะอุทธรณ์ฎีกาอย่างไร ระบบบุคลากรของศาล เช่นผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ ผู้เชี่ยวชาญศาลควรเป็นอย่างไร?

- บรรยากาศในการพิจารณาคดีและห้องพิจารณาคดีในศาลควรเป็นอย่างไร กฎเกณฑ์เรื่องการค้นหาความจริงในคดี การสืบพยาน การรับฟังพยาน ภาระในการพิสูจน์ การเดินเผชิญสืบควรเป็นอย่างไร?

- อำนาจฟ้องคดีของประชาชนควรเป็นอย่างไร?

- ปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับขั้นตอนการตัดสินใจอีกประการหนึ่ง คือไม่ทราบว่าองค์กรใดจะเป็นมีผู้มีความเหมาะสมที่จะตัดสินใจ ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งผูกขาดความคิดและการตัดสินใจไว้องค์กรเดียว ทำอย่างไรจึงจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยได้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และให้ผลของการตัดสินใจเกิดการยอมรับ

6.3 ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อทำให้การตัดสินใจเกิดผลในทางปฏิบัติ
การดำเนินการเพื่อทำให้การตัดสินใจเกิดผลในทางปฏิบัติ ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐบาลหรือการดำเนินการยกร่างกฎหมาย โดยเฉพาะการยกร่างกฎหมายสมควรจัดทำโดยองค์กรที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม และพยายามนำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ ที่เป็นไปได้ เช่น ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ผ่านพรรคการเมือง, ผ่านกรมกองกระทรวงที่เกี่ยวข้อง, หรือผ่านกลุ่มผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ต่อไป

นอกเหนือจากการจัดทำกฎหมายแล้ว สิ่งที่ยังต้องทำยังได้แก่ การพัฒนาข้อมูล การพัฒนาเครือข่ายในการดำเนินการอย่างเป็นระบบ สิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมทั้งในด้านความรู้ที่เกี่ยวข้อง การจัดเตรียมเครื่องมือและข้อมูลให้สามารถปฏิบัติงานได้จริง รวมทั้งการปรับทัศนคติให้เกิดความเข้าใจในเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องด้วย ซึ่งอาจจัดการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ทั้งความรู้ทั่วไป ความรู้ระดับกลาง และความรู้ชั้นสูง และวางแผนเรื่องบุคลากรในระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาว เช่น การศึกษาดูงานภายในและต่างประเทศ การให้ทุนไปศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอกทางด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยการพิสูจน์พยานในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ หรือการผลักดันให้มีการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ฯลฯ

ทั้งนี้จากตัวอย่างในต่างประเทศจะพบว่า การพัฒนากฎหมายและคำพิพากษาในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยอมรับสิทธิในที่ดินดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเป็นคดีสำคัญในประเทศออสเตรเลีย การยอมรับสิทธิของชนรุ่นหลังในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นคดีสำคัญของประเทศฟิลิปปินส์ หรือการยอมรับสิทธิขององค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อมในการฟ้องคดี ตามกฎหมายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากนักกฎหมายไม่สนใจและไม่เข้าใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

การดำเนินการด้านการเผยแพร่ข้อมูลและประชาสัมพันธ์เรื่องการพัฒนาระบบคดีสิ่งแวดล้อม และการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับทราบว่าองค์กรต่างๆ มีพัฒนาการในเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างไร ดังจะเห็นว่าโครงการการจัดตั้งแผนกสิ่งแวดล้อมในศาลสูงก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนมากนัก หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ทราบภารกิจหน้าที่

ปัญหาหน่วยงานใหม่และกฎหมายใหม่ยังขาดความพร้อมด้านการประชาสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน ดังนั้น ในกระบวนการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชนจักต้องร่วมทำงานด้วยตั้งแต่ต้น และคอยเผยแพร่ความคิด ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบโดยตลอด โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลไปยังบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเผยแพร่ข้อมูลให้มาก โดยเฉพาะหน่วยช่วยเหลือทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน หน่วยงานด้านสาธารณสุข หน่วยงานฟื้นฟูระบบนิเวศ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน

6.4 ขั้นตอนการประเมินผล
ทันทีที่โครงการต่างๆ เริ่มมีการดำเนินการ จำต้องมีกระบวนการประเมินผลควบคู่กันไป ซึ่งที่ผ่านมาโครงการส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการประเมินอย่างเป็นระบบ หรือการประเมินผลมักไม่มีความเป็นกลางและไม่มีลักษณะเป็นการประเมินแบบมืออาชีพเพียงพอ ทั้งนี้เพราะผู้เกี่ยวข้องไม่เห็นความสำคัญของการประเมินผล หรือไม่เข้าใจวิธีการประเมินผลที่ถูกต้อง

ทางออกของเรื่องนี้ อาจทำได้โดยการเขียนกฎหมายบังคับไว้ให้ทำการประเมินใน 3 ปีหรือ 5 ปีหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ หรือการตั้งองค์กรประเมินที่เป็นกลาง เหมาะสม เป็นมืออาชีพ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงในทิศทางที่เหมาะสม รวมทั้งต้องสร้างการรับรู้ของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินผลในทุกขั้นตอน สร้างเวทีกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันของทุกภาคส่วน

โดยสรุป แผนปฏิบัติทุกขั้นตอนข้างต้นจะไม่สามารถกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมทุกฝ่าย ไม่เข้ามาช่วยพิจารณาดำเนินการอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการในส่วนต่างๆ ด้วย ก็ย่อมจะทำให้การดำเนินการมีความสมบูรณ์มากขึ้น

บทสรุป
การสำรวจกระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในประเทศไทย ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และจะมีแนวทางในการปรับปรุงได้อย่างไร ที่เป็นวัตถุประสงค์ของบทความนี้ มีข้อสรุปสั้นๆ ว่าประเทศไทยยังจะต้องทำงานหนักเพื่อพัฒนาความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ให้เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ เพราะการพัฒนาจักต้องทำเรื่องเนื้อหาสาระและเรื่องกระบวนการควบคู่กันไป

การคุ้มครองสิทธิของประชาชนทางด้านสิ่งแวดล้อมจักต้องปรับปรุงทั้งในส่วนกฎหมายสารบัญญัติและสบัญญัติ ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายและสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ ไม่สามารถกระทำได้แค่เพียงการปรับปรุงกลไกกฎหมาย ด้วยการยกร่างกฎหมายใหม่เพียงสองสามฉบับ หากแต่ต้องปรับระบบความเข้าใจ เปลี่ยนแปลงปรัชญาและแนวความคิดที่เป็นพื้นฐานด้วย

ที่สำคัญ ต้องรวบรวมพลังของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งในส่วนของนักกฎหมาย นักสังคมศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ในด้านต่างๆ รวมทั้งประชาชน ให้มาทำงานร่วมกันตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจปัญหา สำรวจข้อมูล การร่วมกันตัดสินใจ การร่วมกันดำเนินการ และการร่วมกันประเมินผล เพื่อที่จะให้ความสำเร็จในการสร้างความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เป็นผลงานที่ทุกฝ่ายมีส่วนสร้างสรรค์ร่วมกันอย่างแท้จริง

++++++++++++++++++++++
ภาคผนวก
สภาทนายหนุน 'ศาลสิ่งแวดล้อม' เครื่องมือสร้างความยุติธรรม
ผู้พิพากษาเสนอตั้ง 'ศาลสิ่งแวดล้อม' เป็นเครื่องมือยุติธรรมสิ่งแวดล้อม หลังพบสารพัดปัญหาคดีล่าช้า บุคคลไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อมเพียงพอ 'สภาทนายความ' หนุนสุดตัวตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ขณะที่อัยการติดเบรกควรคิดให้รอบคอบถึงผลได้-เสีย

ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์, ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฏีกา กล่าวเสนอประเด็นกระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมว่า กระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาระบบคดีสิ่งแวดล้อมและการผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เพราะปัจจุบันระบบคดีสิ่งแวดล้อมยังไม่เอื้อให้เกิดความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมได้ ยังขาดความพร้อมด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประชาชนยังขาดสิทธิ์ในการฟ้องร้องบางประการ กระบวนการค้นหาความจริงของศาลยังไม่สมบูรณ์ วิธีการพิจารณาคดียังล่าช้า ไม่สะดวก และไม่ประหยัดตามหลักที่ควรเป็น รวมทั้งบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างดีพอ ดังนั้น การพัฒนาระบบคดีสิ่งแวดล้อมและการผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรีบนำมาพิจารณาโดยเร่งด่วน

"ข้อเสนอในการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่ต้องการจุดประเด็นให้เกิดการศึกษาข้อดีข้อเสีย แนวทางในการจัดการปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในหลายประเทศมีความพยายามจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เป็นองค์กรพิเศษ ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ หรือหากประเทศที่ยังไม่มีศาลสิ่งแวดล้อมก็ค่อยๆ พัฒนาองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดในลักษณะคณะกรรมการชี้ขาดเป็นการเฉพาะ โดยในการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวกับระบบศาลสิ่งแวดล้อม จะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อาทิ รูปแบบของศาล, ความสัมพันธ์ระหว่างศาลสิ่งแวดล้อมกับศาลอื่น, ลำดับชั้นของศาล, ระบบผู้พิพากษา, ผู้พิพากษาสมทบ, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญศาล เป็นต้น" ดร.สุนทรียา กล่าว

ด้านนายสมชาย หอมลออ, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วเห็นว่าการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องฟันธงลงไปเลยว่า ประชาชนต้องการศาลสิ่งแวดล้อม ไม่ควรต้องรอให้กระบวนการต่างๆ แล้วเสร็จ หรือมีความพร้อมก่อนจึงจะดำเนินการ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีความพร้อม เนื่องจากประเด็นปัญหาใหญ่ก็คือ การบริหารประเทศของไทยมีปัญหามาก หากรอให้ทุกคนพร้อมก็คงไม่สามารถเริ่มจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นในวันนี้เราควรจะเสนอและผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการเปิดช่องทางในการเปิดปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งเมื่อมีการจัดตั้งและมีการดำเนินคดีทางสิ่งแวดล้อมแล้ว หากหลักการหรือกระบวนการใดที่เป็นปัญหาก็สามารถที่จะปรับแก้ไปได้ในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่ากระบวนการในการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมจะเป็นจุดกระตุ้นให้ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นเหยื่อรู้สึกเชื่อมั่นในกระบวนการพิจารณาคดีทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

"ปัจจุบันมีคดีสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ศาลหลายคดี แต่ไม่มีการเปิดเผยต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งหากไม่มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ข้อมูลต่างๆ ก็ไม่มีวันได้เปิดเผย คนไทยก็ไม่สามารถรู้เลยว่าขณะนี้ สิ่งแวดล้อมมีปัญหาอย่างไร อีกทั้งหากมีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม กระบวนการในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงคดีสิ่งแวดล้อมน่าจะดำเนินการได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น การพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ขณะนี้ดำเนินการได้ลำบากมาก แพทย์เองก็ไม่อยากมาเป็นพยานให้ แต่หากมีการตั้งศาลเฉพาะ กระบวนการเหล่านี้น่าจะเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น" นายสมชาย กล่าว

ขณะที่นายอำนาจ เนตยสุภา, อัยการจังหวัดประจำกรม กล่าวว่า ศาลเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหา และเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ใช่จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมดและป้องกันความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่าการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมีอีกหลายมิตินอกเหนือจากการจัดตั้งศาล ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง ขณะนี้สิ่งที่ยังต้องคำนึงถึงคือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันว่ายังมีปัญหาอยู่หรือไม่ ในการกำหนดมาตรฐานควบคุมโรงงานต่างๆ ที่ปล่อยมลพิษสู่สังคมมีประสิทธิภาพแล้วหรือไม่ หน่วยงานภาครัฐออกกลไกมาควบคุมสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด

"ผมไม่ปฏิเสธการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรจะมี แต่ควรจะอยู่ที่ไหนระหว่างศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม ไม่ใช่มีการจัดตั้งแล้ว ประชาชนก็ยังคงต้องวิ่งฟ้องร้องศาลโน้นศาลนี้อยู่ อย่างไรก็ตามประเด็นที่จะต้องคำนึงถึงด้วยนั่นก็คือ ขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีศาล ผู้พิพากษาจำนวนมากที่สุดในโลก ซึ่งจำนวนผู้พิพากษาที่มากขึ้นนั้น ทำให้สถิติคดีความลดหรือไม่ ต้องพิจารณาด้วย เพราะการมองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมองเพียงข้อดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองข้อเสียเหมือนกัน การจัดตั้งศาลขึ้นใหม่นั้น ต้องคำนึงถึงทั้งด้านทรัพยากรบุคคล เงินเดือน และอื่นที่จะต้องลงทุนไปว่าผลที่ได้รับคุ้มค่ากันหรือไม่ เพราะในการดำเนินการทุกอย่าง ปัจจัยด้านธุรกิจการเงินย่อมเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อไม่ให้สุดท้ายแล้วกลายเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนชื่อศาล แต่ระบบและรูปแบบในการดำเนินการก็ยังคงหลักการเดิมๆ" นายอำนาจกล่าว

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในต่างประเทศ เช่น ในประเทศออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ ได้มีตัวอย่างที่น่าสนใจหลายประการ เช่น การเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องคดีได้ในลักษณะเปิด (Open Standing) เพื่อให้เกิดการตรวจสอบการไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดของฝ่ายปกครอง ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย (Judicial Review) เกี่ยวกับคำสั่งหรือคำตัดสินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือการร้องขอให้บังคับการตามกฎหมาย (Application for Civil Enforcement Orders) ซึ่งการรับรองสิทธิในลักษณะนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าร่วม ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลอย่างจริงจัง สำหรับการฟ้องคดีโดยชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโดยองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่หลายประเทศให้การรับรองสิทธิไว้โดยชัดเจน ซึ่งสิทธิเช่นนี้ สมควรจะได้มีการรับรองไว้ตามกฎหมายไทยด้วย เพื่อให้มีการขยายวงผู้มีส่วนได้เสียกับคดีสิ่งแวดล้อมให้เพิ่มมากขึ้น