บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๘๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
26-11-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Violation and Violence
The Midnight University

ข่าวสำคัญที่สื่อกระแสหลักไม่รายงาน
อเมริกันซ่อนหา: ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙
(ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม)
ภัควดี วีระภาสพงษ์
นักวิชาการ และ นักแปลอิสระ

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ เป็นข่าวที่ไม่ได้รับการรายงาน
และบางครั้งมีการปกปิด ปิดกั้นจากการรับรู้ของสาธารณชนอเมริกัน และทั่วโลก
ทางกองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้มีการนำข่าวที่ไม่เป็นข่าวเหล่านี้
จากต้นฉบับเดิมที่มีการลำดับในอีกระบบหนึ่ง มาจัดหมวดหมู่ใหม่เพื่อสะดวกในการค้นคว้า
โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มข่าวทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม กลุ่มหนึ่ง
และกลุ่มข่าววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม อีกกลุ่มหนึ่ง
สำหรับผู้สนใจหัวข้อลำดับข่าวตามต้นฉบับ
สามารถคลิกดูได้จากที่นี่

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1082
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13.5 หน้ากระดาษ A4)



อเมริกันซ่อนหา: ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙
(ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : นักวิชาการ และ นักแปลอิสระ

คนหิวโหยและไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา
จำนวนคนอดอยากและไร้ที่พำนักในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้นในปี ค.ศ. 2005 แม้รัฐบาลจะอ้างว่าเศรษฐกิจดีขึ้นก็ตาม รัฐบาลบุชจึงพยายามปกปิดข้อเท็จจริงนี้ ด้วยการวางแผนจะยกเลิก "การสำรวจรายได้และการเข้าร่วมโครงการสงเคราะห์" (Survey of Income and Program Participation) ของสำนักสำมะโนประชากร โดยอ้างว่าการสำรวจนี้ใช้งบประมาณมากเกินไป

กระนั้นก็ตาม มีนักเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ทั่วประเทศถึง 415 คน ยื่นจดหมายถึงสภาคองเกรสคัดค้านการยกเลิกการสำรวจนี้ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลบุชพยายามยกเลิกการสำรวจและการจัดทำสถิติที่ฟ้องถึงการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว. ในปี ค.ศ. 2003 รัฐบาลบุชเคยพยายามยกเลิก "รายงานสถิติการเลิกจ้างคนงาน" และในปี ค.ศ. 2004 - 2005 ก็พยายามไม่ให้มีการเก็บสถิติเกี่ยวกับการจ้างและการไล่คนงานผู้หญิงออก

การคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ที่ร้องเรียนการทุจริตในหน่วยงานของตน
ชักไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีเสียแล้ว

ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายอย่างหนึ่งที่เรียกว่า "whistleblower" นั่นคือการคุ้มครองพนักงานหรือลูกจ้างในกิจการและหน่วยงานต่างๆ ที่ร้องเรียนเรื่องการประพฤติทุจริตในองค์กรของตนเอง. กฎหมาย "whistleblower" นี้ยังครอบคลุมถึงการคุ้มครองเจ้าหน้าที่และข้าราชการในหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เปิดโปงการทุจริตในหน่วยงานที่ตนสังกัด โดยมี "สำนักงานที่ปรึกษาพิเศษของสหรัฐอเมริกา" (U.S. Office of Special Counsel - [OSC]) ทำหน้าที่คุ้มครองและสอบสวนคดีที่ข้าราชการร้องเรียนเกี่ยวกับหน่วยงานของตนเอง

ทว่าตั้งแต่ประธานาธิบดีบุชแต่งตั้งนายสก๊อต บล็อช เป็นที่ปรึกษาพิเศษเพื่อกำกับดูแล OSC ในปี ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา มีการร้องเรียนเพียงแค่ 1.5% เท่านั้นที่มีการส่งต่อให้สอบสวน ส่วนอีกกว่า 1,000 คดี ถูกพับเก็บไปโดยไม่เคยเปิดพิจารณาด้วยซ้ำ. มิหนำซ้ำ บล็อชยังตั้งกฎขึ้นมาใหม่ ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกับผู้ร้องเรียน หากหลักฐานที่ยื่นประกอบไม่สมบูรณ์เพียงพอ ทำให้ผู้ร้องเรียนในหลายร้อยคดีไม่มีโอกาสแม้แต่ชี้แจงการร้องเรียนของตน

เรื่องที่น่าขันก็คือ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2005 เจ้าหน้าที่ประจำในหน่วยงาน OSC รวมตัวกันเป็นองค์กรเพื่อร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของบล็อช ซึ่งเป็นเจ้านายของตนเอง. เจ้าหน้าที่ในสังกัดของบล็อชกล่าวหาว่า เขาละเมิดกฎเกณฑ์ที่ตัวเองควรเป็นผู้รักษา บังคับเจ้าหน้าที่ให้ปิดบังความจริง ตั้งพวกพ้องเข้ามาทำงาน เลือกปฏิบัติ และกลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่เห็นด้วยกับตน จนมีเจ้าหน้าที่ลาออกไปถึงหนึ่งในห้า แต่หน่วยงานรัฐบาลซึ่งขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีที่รับคำร้องเรียนนี้ กลับดองเรื่องไว้หลายเดือนกว่าจะดำเนินการต่อ

คติสอนใจจากเรื่องนี้คือ "ใครจะเป็นคนเฝ้าสุนัขเฝ้าบ้าน?"

กองทัพสหรัฐฯ ทรมานนักโทษจนเสียชีวิตในอัฟกานิสถานและอิรัก
เอกสารการชันสูตรศพนักโทษของกองทัพสหรัฐฯ จำนวน 44 คนในอัฟกานิสถานและอิรัก เมื่อเดือนตุลาคม 2005, มีนักโทษ 21 รายที่ระบุว่าถูกสังหารเสียชีวิต นักโทษเหล่านี้ตายระหว่างหรือหลังจากถูกทหารหรือหน่วยข่าวกรองทางทหารของสหรัฐฯ นำมาตัวมาสอบปากคำ การชันสูตรชี้ให้เห็นว่า มีการทรมานนักโทษอย่างรุนแรง

พลตรีเจนิส คาร์ปินสกี ผู้บัญชาการที่รับผิดชอบคุกคุมขัง 17 แห่งในอิรัก ระหว่างเหตุอื้อฉาวอาบูกราอิบในปี ค.ศ. 2003 ให้การเมื่อเดือนมกราคม 2006 ต่อหน้า "คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อสืบสวนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่รัฐบาลบุชเป็นผู้ก่อ" เมื่อถูกถามว่าความรับผิดชอบในการทรมานนักโทษนี้ สามารถสาวไปถึงผู้สั่งการเบื้องบนได้ถึงระดับไหน คาร์ปินสกีตอบว่า "รัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหมย่อมไม่สามารถมอบอำนาจลงมาได้ หากปราศจากความเห็นชอบของรองประธานาธิบดี"

ตามตัวบทกฎหมายของสหรัฐฯ นั้น ห้ามการทรมานอย่างเด็ดขาด แม้กระทั่งในระหว่างสงครามก็ตาม

เพนตากอนได้รับการยกเว้นจากกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2005 สภาคองเกรสผ่านกฎหมายที่รับรองให้ "เอกสารด้านยุทธการ" ของหน่วยงานข่าวกรองของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information Act) ซึ่งหมายความว่า ต่อจากนี้ไป เอกสารเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน

กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารคือเครื่องมือที่กลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชนหรือบุคคลใดๆ ใช้เพื่อการเข้าถึงเอกสารของรัฐบาลกลาง กฎหมายนี้เองที่ช่วยเปิดโปงการทรมานนักโทษในอัฟกานิสถานและอิรัก ซึ่งรวมไปถึงเหตุอื้อฉาวที่อาบูกราอิบด้วย หากหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สามารถปกปิดเอกสารเหล่านี้ ย่อมหมายความว่า การทำร้ายนักโทษและพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ จะมีมากขึ้นในอนาคต

ธนาคารโลกสนับสนุนทางการเงินแก่การสร้างกำแพงกั้นอิสราเอล-ปาเลสไตน์
ทั้งๆ ที่ศาลโลกมีมติออกมาในปี ค.ศ. 2004 เรียกร้องให้รื้อกำแพงกั้นอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และชดเชยค่าเสียหายให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ แต่การก่อสร้างกำแพงกลับเร่งมือยิ่งขึ้น แนวกำแพงกั้นนี้รุกลึกเข้าไปในดินแดนของปาเลสไตน์ ช่วยให้อิสราเอลผนวกดินแดนไปเป็นของตนได้มากขึ้นและแบ่งแยกดินแดนของปาเลสไตน์ออกเป็นส่วนๆ

ในรายงานของธนาคารโลกที่ออกมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 ได้แสดงวิสัยทัศน์ถึง "การพัฒนาเศรษฐกิจ" ของปาเลสไตน์ โดยไม่เอ่ยถึงการสร้างกำแพงที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
พร้อมกันนั้น ธนาคารโลกวางเค้าโครงนโยบาย "เขตการค้าเสรีตะวันออกกลาง" (Middle East Free Trade Area-MEFTA) ให้แก่ปาเลสไตน์ โดยธนาคารโลกเสนอให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก และอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังยึดครองอิสราเอล เขตอุตสาหกรรมนี้จะก่อสร้างบนที่ดินรอบกำแพง ชาวปาเลสไตน์ที่ถูกกักขังอยู่หลังกำแพงและไร้ที่ดินทำกิน สามารถทำงานเพื่อรายได้ต่ำมายังชีพ

ธนาคารโลกยังเสนอให้สร้างประตูและด่านตรวจไฮเทค ที่ควบคุมโดยกองทัพอิสราเอลตลอดแนวกำแพง เพื่อให้สามารถควบคุมชาวปาเลสไตน์และขนถ่ายสินค้าได้โดยสะดวก นอกจากนี้ยังมีระบบถนนกั้นกำแพงและอุโมงค์ สำหรับให้คนงานชาวปาเลสไตน์เดินทางไปทำงานได้ แต่เดินทางไปที่อื่นไม่ได้ โรงงานนรกจะกลายเป็นช่องทางยังชีพที่ไม่มีทางเลือกอื่นมากนักสำหรับชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกจองจำอยู่ในชุมชนที่ถูกตัดขาดออกจากกันในเขตเวสต์แบงก์

ธนาคารโลกระบุชัดเจนว่า ค่าแรงในปัจจุบันของชาวปาเลสไตน์สูงเกินไปสำหรับภูมิภาคนี้ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ค่าแรงของชาวปาเลสไตน์ต่ำกว่าค่าแรงเฉลี่ยในอิสราเอลถึงสามส่วนสี่ ดังนั้น นอกเหนือจากการถูกยึดครองและถูกบังคับขับไล่แล้ว ชาวปาเลสไตน์กำลังจะตกเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจอีกด้วย เขตอุตสาหกรรมนี้ย่อมเป็นผลประโยชน์ของอิสราเอลในการผลิตสินค้าราคาถูกเพื่อส่งออก

ธนาคารโลกมีแผนที่จะให้ปาเลสไตน์กู้ยืมเงิน เพื่อนำมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบาย MEFTA สาเหตุเบื้องหลังไม่ใช่เพราะความใจดีของธนาคารโลก แต่เป็นเพราะอิสราเอลไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารโลก เพราะมีรายได้ต่อหัวประชากรสูงเกินไป นั่นหมายความว่า ชาวปาเลสไตน์จะต้องแบกหนี้ เพื่อนำเงินมาสร้างด่านตรวจไฮเทคเพื่อกักขังตัวเอง ทั้งๆ ที่พวกเขาต่อต้านการสร้างกำแพงกั้นนี้ด้วยซ้ำ

นี่เป็นครั้งแรกที่ธนาคารโลกแสดงอาการกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเข้าไปหนุนหลังอิสราเอลในการยึดครองดินแดนของปาเลสไตน์ อดีตประธานธนาคารโลกคนก่อนคือ นายเจมส์ วูล์ฟเฟนโซน เคยปฏิเสธโครงการนี้มาแล้ว แต่ประธานธนาคารโลกคนปัจจุบันคือ นายพอล วูล์ฟโฟวิทซ์ ซึ่งมีแนวคิดอยู่ในสายอนุรักษ์นิยมใหม่ตกขอบ คงต้องการมีผลงานชิ้นโบดำระหว่างดำรงตำแหน่ง

ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลโลก และสนับสนุนเงินจำนวน 50 ล้านดอลลาร์ในการก่อสร้างประตูตามแนวกำแพง โดยอ้างว่าเพื่อ "ช่วยตอบสนองความจำเป็นของชาวปาเลสไตน์" สหรัฐอเมริกากำลังผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับหลายประเทศในอาหรับ กระทั่งเจ้าชายซาอุด อัล-ไฟซาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย ก็เคยออกมาแสดงความวิตกในเรื่องนี้

การขยายสงครามทางอากาศในอิรัก สังหารชีวิตพลเรือนมากขึ้น
มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ประธานาธิบดีบุชอาจจะถอนกองทหารอเมริกันออกจากอิรักในปี ค.ศ. 2006 นี้ สืบเนื่องจากคะแนนนิยมที่ตกต่ำลง และความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันในพรรครีพับลิกันของเขาเอง แต่ประเด็นที่ไม่ค่อยมีการเอ่ยถึงในวงกว้างก็คือ การถอนทหารอเมริกันออกมา จะแทนที่ด้วยกำลังทางอากาศของกองทัพอเมริกัน

การสู้รบและยึดครองอิรักสร้างความอ่อนล้าในหมู่ทหารชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก แต่การใช้กำลังทางอากาศเข้าไปแทนที่ทหารราบ ก็ทำให้กองทัพไม่ค่อยสบายใจเหมือนกัน โดยเฉพาะนายทหารระดับผู้บัญชาการกองทัพอากาศคัดค้านเรื่องนี้เสียงแข็ง ทั้งนี้เพราะเกรงจะตกเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกันเองของฝ่ายต่างๆ ในอิรัก

อย่างไรก็ตาม สถิติจากศูนย์บัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐฯ (U.S. Central Command Air Forces-CENTAF) ชี้ให้เห็นปริมาณภารกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของกองกำลังทางอากาศ นอกจากนี้ อากาศยานของกองทัพเรือสหรัฐฯ ยังออกปฏิบัติภารกิจมากกว่า 21,000 ชั่วโมงและทิ้งระเบิดกว่า 26 ตันลงในเมืองฟัลลูจาห์เพียงเมืองเดียวในเดือนพฤศจิกายน 2004

ความหายนะที่เกิดจากกองกำลังทางอากาศของอเมริกันในขณะนี้ก็แย่พออยู่แล้ว โดยเฉพาะการทิ้งระเบิดลงในเขตเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ยุทธวิธีที่ใช้ระเบิดหนักขนาด 500 และ 1,000 ปอนด์ ถล่มใส่เมืองเพื่อกำจัดกลุ่มนักรบต่อต้านสหรัฐฯ แค่หยิบมือหนึ่ง เป็นปฏิบัติการที่ใช้มานานแล้วในอิรัก

The Lancet วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ ประเมินไว้ในเดือนตุลาคม 2004 ว่า 85% ของคนที่ถูกฆ่าตายในอิรักเป็นฝีมือของกองกำลังผสมของสหรัฐฯ และ 95% ของการถูกสังหารที่มีรายงานบันทึกไว้ เกิดมาจากปืนกลเฮลิคอปเตอร์ ขีปนาวุธ และอาวุธทางอากาศอื่นๆ. The Lancet ประเมินว่า มีพลเรือนชาวอิรักเสียชีวิตไปในการยึดครองแล้วกว่า 300,000 คน นี่เป็นตัวเลขเมื่อเกือบสองปีก่อน และผู้ประเมินก็ยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่ประเมินในขั้นต่ำมาก

จากการสำรวจพบว่า ชาวอิรักถึง 82% ต่อต้านการยึดครองของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง ไม่มีอะไรจะผลักดันให้ชาวอิรักเข้าร่วมขบวนการต่อต้านสหรัฐฯ ได้ดียิ่งไปกว่าการทิ้งระเบิดและขีปนาวุธที่ฆ่าผู้บริสุทธิ์ อีกหลายปีข้างหน้าเมื่อสื่อกระแสหลักในสหรัฐฯ ลืมตาตื่นขึ้นมาและยอมรับเสียทีว่า ชาวอิรักมีความรู้สึกต่อต้านชาวอเมริกันอย่างรุนแรง สื่อก็คงจะตั้งคำถามอย่างไร้เดียงสาอีกว่า "ทำไมพวกเขาถึงเกลียดเรานัก?"

ยิ่งการยึดครองอิรักล้มเหลวมากเท่าไร สหรัฐฯ ก็จะยิ่งใช้กองกำลังทางอากาศมากขึ้น แล้วสงครามอิรักก็คงจบลงไม่ต่างจากสงครามเวียดนามอันน่าอัปยศในกาลก่อน

เพนตากอนวางแผนกลับมาผลิตทุ่นระเบิดอีกครั้ง
เกือบทุกประเทศในโลกยอมรับว่าควรยกเลิกการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (antipersonnel mines) รัฐบาลอเมริกันในสมัยประธานาธิบดีคลินตัน ก็เคยแสดงความเห็นพ้องในเรื่องนี้. สหรัฐฯ ผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคลครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1997 แม้จะไม่ยอมลงนามร่วมกับอีก 145 ประเทศในสนธิสัญญายกเลิกการใช้ทุ่นระเบิด หรือที่เรียกกันว่า อนุสัญญาออตตาวา แต่ก็เคยแสดงเจตจำนงว่าอาจจะร่วมลงนามในอนาคต

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบุชกลับลำในเรื่องนี้อย่างหน้าตาเฉยในเดือนกุมภาพันธ์ 2004 โดยล้มเลิกแผนการที่จะร่วมลงนามในสนธิสัญญานี้ทั้งหมด แถมยังประกาศว่า "สหรัฐอเมริกาจะไม่ร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวา เพราะเงื่อนไขของอนุสัญญานี้ทำให้เราต้องเสียสมรรถภาพด้านการทหารที่จำเป็นไป" และยังบอกอีกว่า "สหรัฐอเมริกาจะพัฒนาทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและทุ่นระเบิดดักรถถังต่อไป"

Human Rights Watch รายงานว่า ทุ่นระเบิดแบบใหม่ของสหรัฐฯ จะทำงานได้หลายแบบ มีทั้งแบบใหม่ที่ทหารสามารถตัดสินใจสั่งการให้จุดระเบิดได้ ('man-in-the-loop') หรือแบบเดิมที่ทุ่นจะจุดระเบิดเมื่อมีบุคคลเข้าใกล้หรือสัมผัสโดน (victim-activation)

หากสหรัฐฯ กลับมาใช้ทุ่นระเบิดอีกครั้ง อาจมีผลพวงตามมาสองทางคือ ทางแรก 145 ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาออตตาวาจะยังยึดมั่นในสนธิสัญญาต่อไป และไม่ให้ความช่วยเหลือหรือเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารในกรณีที่มีการใช้ทุ่นระเบิด หรืออีกทางหนึ่งที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ ประเทศต่างๆ ในโลกอาจละทิ้งสนธิสัญญาและหันกลับมาใช้ทุ่นระเบิดกันอีก

กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ทำสัญญากับบริษัท KBR เพื่อสร้างศูนย์กักกันในสหรัฐฯ
บริษัท KBR ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของฮัลลิเบอร์ตัน ประกาศเมื่อต้นปี ค.ศ. 2006 ว่า ได้รับสัญญามูลค่า 385 ล้านดอลลาร์จากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เพื่อก่อสร้างศูนย์กักกันในสหรัฐอเมริกา โดยแต่ละศูนย์สามารถกักขังผู้คนได้ราว 5,000 คน

ในคำแถลงต่อผู้สื่อข่าว บรรษัทฮัลลิเบอร์ตันอ้างว่า ค่ายกักกันนี้มีไว้ใช้ในกรณีที่มีผู้อพยพลักลอบเข้ามาในสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก หรือ "ไว้รองรับพัฒนาการที่รวดเร็วของโครงการใหม่ ๆ" ซึ่งเป้าหมายประการหลังนี้ มีนักข่าวอิสระหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ศูนย์กักกันอาจมีไว้เพื่อกักกันพลเมืองชาวอเมริกัน ในกรณีที่รัฐบาลบุชประกาศกฎอัยการศึก หากมีการก่อวินาศกรรมคล้ายเหตุการณ์ 9/11 ขึ้นอีกในสหรัฐฯ

หลังจากเหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา รัฐบาลบุชก็ใช้กฎอัยการศึกอ่อน ๆ อยู่แล้วในการหน่วงเหนี่ยวคุมขังชาวตะวันออกกลาง ชาวมุสลิม และผู้ต้องสงสัยอื่นๆ ปัจจุบัน การหน่วงเหนี่ยวคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายครอบคลุมถึงชาวอเมริกันทั่วไปด้วย โดยเฉพาะชาวอเมริกันผิวดำ

แม้จะมีเสียงวิจารณ์ตอบโต้ว่า นักข่าวกลุ่มนี้อาจหวาดระแวงมากเกินไป แต่เราไม่ควรลืมคำพูดของโธมัส เจฟเฟอร์สันที่เคยกล่าวไว้ว่า "แม้แต่ภายใต้รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด เมื่อเวลาผ่านไปและในกระบวนการที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ผู้อยู่ในอำนาจสามารถแปลงร่างกลายเป็นทรราชได้เสมอ"

กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ใช้จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์โดยไม่มีการเปิดเผย
งบประมาณด้านความมั่นคงกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ ถูกแจกจ่ายให้แก่มลรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เหตุวินาศกรรม 9/11 เป็นต้นมา แต่ทั้งหมดนี้เป็นงบลับที่สาธารณชนไม่มีทางรู้ว่าใช้จ่ายไปอย่างไรและในเรื่องอะไร

กระทรวงและมลรัฐต่างๆ อ้างว่า การใช้จ่ายต้องเป็นความลับเพื่อไม่ให้ฝ่ายผู้ก่อการร้ายรู้จุดอ่อน แต่สิ่งนี้ต้องแลกมาด้วยความโปร่งใสและการตรวจสอบ ประชาชนไม่สามารถควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐบาลและข้าราชการได้. ในบางมลรัฐ เช่น โคโลราโด ทั้งๆ ที่ไม่มีแผนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเลยแม้แต่แผนเดียว แต่กลับใช้งบประมาณนี้ไปแล้ว 130 ล้านดอลลาร์ จนวุฒิสมาชิกประจำรัฐนี้ต้องตั้งคำถามว่า "คุณใช้จ่ายเงินไปตั้ง 130 ล้านดอลลาร์เพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ทั้งๆ ที่ไม่มีแผนเฮงซวยอะไรเลยได้ยังไงวะ?" จนเดี๋ยวนี้ยังไม่มีคำตอบอย่างเป็นทางการจากรัฐโคโลราโด

เอกวาดอร์และเม็กซิโกท้าทายสหรัฐฯ ในประเด็นศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลก ที่คัดค้านการลงสัตยาบันแก่ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Court-ICC) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้น โดยมีจุดประสงค์ที่จะนำตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาเป็นอาชญากรสงคราม และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติมาดำเนินคดี

ปัจจุบันมีนานาประเทศทั่วโลกให้สัตยาบันรับรองศาลนี้ ประเทศล่าสุดคือเม็กซิโกที่ให้สัตยาบันเป็นประเทศที่ 100 พอดี. สหรัฐอเมริกาพยายามตอบโต้ด้วยการชักจูงประเทศต่าง ๆ ให้ลงนามในข้อตกลงความคุ้มกันทวิภาคี (Bilateral Immunity Agreements-BIA) ซึ่งจะคุ้มครองสหรัฐฯ ให้มีสิทธิไม่ต้องถูกฟ้องร้องในศาลดังกล่าว โดยแลกกับการได้รับเงินสนับสนุนด้านการทหารและเศรษฐกิจ

ในปี ค.ศ. 2005 ประธานาธิบดีอัลเฟรโด ปาลาเซียว แห่งเอกวาดอร์ ยืนยันไม่ยอมลงนามในข้อตกลง BIA แม้ว่าวอชิงตันข่มขู่ว่าจะยกเลิกเงินช่วยเหลือทางทหารถึง 70 ล้านดอลลาร์ก็ตาม ส่วนเม็กซิโกที่เพิ่งให้สัตยาบันรับรองศาล ยืนยันไม่ยอมลงนามในข้อตกลง BIA ต่อให้ต้องสูญเสียเงินช่วยเหลือทางทหารถึง 3.6 ล้านเหรียญ เงินสนับสนุนทางเศรษฐกิจอีก 11 ล้านเหรียญ และเงินช่วยเหลือในสงครามต่อต้านยาเสพย์ติดอีก 11.5 ล้านเหรียญก็ตาม

สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าล่ารายชื่อในข้อตกลง BIA ต่อไป ทั้งกับประเทศที่ให้สัตยาบัน และไม่ได้ให้สัตยาบันต่อศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ แต่แม้จะกดดันขนาดไหน สมาชิกของ ICC ถึง 53 ประเทศก็ยืนยันไม่ยอมลงนามในข้อตกลง

ประเทศอื่น ๆ ที่กำลังจะถูกตัดความช่วยเหลือเพราะการแข็งขืนต่อสหรัฐฯ ก็คือ โบลิเวีย ซึ่งจะสูญเสียเงินช่วยเหลือทางการทหารไปถึง 96% และเคนยา ที่ยินยอมสูญเงินสนับสนุนทางเศรษฐกิจราว 8 ล้านดอลลาร์

อนึ่ง ในการสำรวจความคิดเห็นของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ พบว่า เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนชาวอเมริกัน (69%) เห็นว่า สหรัฐฯ ไม่ควรได้รับข้อยกเว้นพิเศษในสนธิสัญญาใดๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 60% สนับสนุนให้สหรัฐฯ ร่วมลงสัตยาบันในศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ

การยึดครองอิรักเป็นการส่งเสริมโอเปก
ในทัศนะของนักข่าวอย่าง เกรก พาลาสต์ (Greg Palast) การรุกรานอิรักไม่ใช่การมุ่งทำลายโอเปก อย่างที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่อ้าง แต่เป็นการเข้าไปมีอิทธิพลในโอเปกต่างหาก. ตราบที่ความไม่สงบในอิรักยังยืดเยื้อไปเรื่อย ๆ การแปรรูปอิรักให้เป็นเขตการค้าเสรีเต็มตัวคงเป็นไปไม่ได้ และอาจไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการยึดครองอิรักด้วย

ในเดือนธันวาคม 2003 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ร่างเค้าโครงในชื่อ "ทางเลือกต่างๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันอิรักอย่างยั่งยืนในระยะยาว" แผนการนี้ชี้นำให้อิรักรักษาระบบโควตาการผลิตน้ำมันต่อไป เพิ่มการส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในโอเปก นอกจากนี้ยังเสนอทางเลือกในการจัดการอุตสาหกรรมน้ำมันในอิรักด้วยโมเดลหลายรูปแบบ อาทิ โมเดลแบบซาอุดีอาระเบีย ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมทั้งหมด ไปจนถึงโมเดลแบบอาเซอร์ไบจัน ซึ่งเปิดเสรีให้กลุ่มบรรษัทน้ำมันระหว่างประเทศเข้าไปดำเนินการ. โดยโมเดลแบบอาเซอร์ไบจันดูจะได้รับความชื่นชอบมากกว่า

เนื่องจากผลประโยชน์ของกลุ่มบรรษัทน้ำมันผูกพันแน่นแฟ้นกับโอเปก การผลิตน้ำมันเกินกว่าโควตาที่โอเปกกำหนดหรือบ่อนทำลายโอเปกลง จึงไม่น่าจะสอดรับกับผลประโยชน์ของกลุ่มบรรษัทน้ำมัน มันจะทำให้เศรษฐกิจของอิรักพังทลายเร็วเกินไปและทำให้สถานะของสหรัฐฯ ในตลาดโลกพลอยง่อนแง่นไปด้วย

นับตั้งแต่การรุกรานอิรักเมื่อ ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา บรรษัทน้ำมันมีกำไรพุ่งพรวดอย่างเห็นได้ชัด บรรษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ทำกำไรชนิดทำลายหรือเกือบทำลายสถิติเป็นทิวแถว ในปี ค.ศ. 2005 กำไรของห้าบรรษัทเพิ่มขึ้นถึง 113 พันล้านดอลลาร์. เฉพาะเอ็กซอนโมบิลบรรษัทเดียวสามารถทำกำไรในหนึ่งปีได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

กองทัพสหรัฐฯ ในปารากวัย คุกคามความมั่นคงของภูมิภาคละตินอเมริกา
กองทหารสหรัฐฯ ยกพลเข้ามาในปารากวัยพร้อมเครื่องบินและอาวุธยุทโธปกรณ์ในเดือนกรกฎาคม 2005 ไม่นานหลังจากที่วุฒิสภาปารากวัยลงนามให้กองทหารอเมริกันได้รับความคุ้มกันจากศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ

แม้ว่าสหรัฐฯ และรัฐบาลปารากวัยจะปฏิเสธเสียงแข็งว่า ไม่มีความคิดที่จะก่อตั้งฐานทัพอเมริกันในปารากวัย แต่ฐานทัพอากาศมาริสกัล เอสติการ์ริเบีย ที่ตั้งห่างจากประเทศโบลิเวียและอาร์เจนตินาเพียง 124 ไมล์ และห่างจากจุดเชื่อมต่อชายแดนสามประเทศระหว่างบราซิล ปารากวัยและอาร์เจนตินาเพียง 200 ไมล์ กลับมีการขยายจนรองรับเครื่องบินรบขนาดใหญ่ได้หลายลำ ทั้งๆ ที่กองทัพอากาศปารากวัยมีเครื่องบินรบขนาดเล็กแค่ไม่กี่ลำ

ฐานทัพแห่งนี้ยังรองรับกำลังพลได้ 16,000 นาย มีระบบเรดาร์ขนาดใหญ่ โรงเก็บเครื่องบินขนาดมหึมา และหอควบคุมการจราจรทางอากาศ ทางขึ้นลงของเครื่องบินยังใหญ่กว่าที่สนามบินนานาชาติในกรุงอะซุนซิโอน ที่เป็นเมืองหลวงของปารากวัยด้วยซ้ำ ใกล้กับฐานทัพมีค่ายทหารที่เพิ่งขยายขนาดเมื่อเร็วๆ นี้

สหรัฐฯ ใช้ข้ออ้างของการเคลื่อนกำลังพลครั้งนี้ว่า ในเขตที่เป็นจุดเชื่อมต่อชายแดนสามประเทศนั้น มีเครือข่ายผู้ก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ และกลุ่มฮามาสในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ค่อยขึ้นเลย

การที่ฐานทัพแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ทำให้โบลิเวียไม่สบายใจ โบลิเวียมีประวัติยาวนานของการที่ประชาชนประท้วงการขูดรีดของสหรัฐฯ เนื่องจากโบลิเวียมีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่เป็นที่สองในอเมริกาใต้ และประธานาธิบดีโมราเลสเพิ่งออกกฤษฎีกาโอนแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดกลับมาเป็นของชาติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2006 นี้เอง

เมื่อนายโดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ไปเยือนปารากวัยในเดือนสิงหาคม 2005 เขาบอกกับผู้สื่อข่าวว่า "มีหลักฐานชัดเจนว่าทั้งคิวบาและเวเนซุเอลาเข้าไปพัวพันกับสถานการณ์ในโบลิเวียในหนทางที่ไม่สร้างสรรค์" นักวิเคราะห์ทางทหารของอุรุกวัยและโบลิเวียยืนยันว่า ภัยคุกคามของการก่อการร้ายมักเป็นข้ออ้างของสหรัฐฯ ในการใช้กำลังทหารแทรกแซงและเข้ามาผูกขาดทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคละตินอเมริกา

ในขณะที่รัฐบาลปารากวัยเอาใจออกห่างจากเพื่อนบ้าน ด้วยการเปิดประเทศให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาปฏิบัติการทางทหารในใจกลางทวีปอเมริกาใต้ แต่ประชาชนและองค์กรเอกชนในปารากวัยกลับประท้วงการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ อย่างดุเดือด

ปารากวัยเป็นประเทศผู้ผลิตถั่วเหลืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก พร้อมกับที่ธุรกิจเกษตรนี้ขยายตัวออกไป เกษตรกรยากจนก็ถูกขับไสไล่ส่งออกไปจากที่ดิน เกษตรกรจึงรวมตัวกันประท้วง ปิดถนนและบุกเข้ายึดที่ดินกลับคืนมา พวกเขาต้องเผชิญกับการปราบปรามกดขี่จากกองทัพ ตำรวจ และกองกำลังกึ่งทหารรับจ้าง

กลุ่มสิทธิมนุษยชนในปารากวัยรายงานว่า การปราบปรามเกษตรกรอย่างรุนแรงที่สุด มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีกองทหารของสหรัฐฯ ตั้งอยู่ นำไปสู่การเสียชีวิตของเกษตรกรถึง 41 ราย. โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า กองทัพสหรัฐฯ เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ตำรวจและทหารชาวปารากวัยถึงวิธีจัดการกับกลุ่มเกษตรกร. รัฐบาลสหรัฐฯ มีประวัติโชกเลือดยาวนานในการเข้าไปช่วย "ปราบจลาจล" ในละตินอเมริกา

การที่หลายประเทศในอเมริกาใต้เริ่มเลี้ยวซ้าย ย่อมทำให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจ หากเป็นสมัยก่อน สหรัฐฯ คงใช้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หนุนหลังให้เกิดการรัฐประหารหรือเข้าไปใช้กำลังทางทหารแทรกแซงโดยตรงแล้ว แต่ละตินอเมริกายุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อน หลายประเทศพยายามจับมือกันอย่างใกล้ชิด อาทิเช่น อาร์เจนตินา, บราซิล, เวเนซุเอลา, และโบลิเวีย ลงนามในข้อตกลงร่วมกันที่จะช่วยโบลิเวียพัฒนาแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นเพียงสามวันก่อนที่ประธานาธิบดีโมราเลสจะออกกฤษฎีกา โอนกิจการพลังงานกลับมาเป็นของชาติ

บรรษัทข้ามชาติทั้งหลายจะพอใจหรือไม่พอใจ พวกเขาก็ต้องจำใจทำธุรกิจในโบลิเวียต่อไป แม้ว่าจะต้องจ่ายให้รัฐบาลโบลิเวียเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 4 เท่า และหากบรรษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันหรือยุโรปคิดจะถอนตัวจากโบลิเวีย ก็มีบรรษัทสัญชาติจีนและรัสเซียจ่อคิวต่อแถวอย่างกระเหี้ยนกระหือรืออยู่แล้ว

รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่พอใจในความเป็นไปที่เกิดขึ้น รัมสเฟลด์กล่าวหาชาเวซว่าเป็นฮิตเลอร์ และเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาค. ความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ เริ่มหลั่งไหลเข้าไปในโคลอมเบียและปารากวัย กระนั้นก็ตาม ประชาชนในอีกหลายประเทศก็เริ่มท้าทายสหรัฐฯ มากขึ้น เอกวาดอร์ปั่นป่วนตลอดเวลาด้วยการประท้วงที่เรียกร้องให้ขับไล่บรรษัทน้ำมันต่างชาติออกไป และยุติการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ รวมทั้งประท้วงการมีฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ตั้งอยู่ที่เมืองมันตาด้วย

สื่อกระแสหลักมักเลือกเสนอข่าวด้านเดียว ไฟแนนเชียลไทมส์ อ้างว่า ประเทศส่วนใหญ่ในอเมริกาใต้กำลังปฏิเสธ "ระบอบประชาธิปไตย" เพราะในโลกทัศน์ของสื่อกระแสหลักพวกนี้ "ระบอบประชาธิปไตย" คือ "ตลาดเสรีและลัทธิเสรีนิยมใหม่" แต่ในโลกทัศน์ของชาวอเมริกาใต้ สองอย่างนี้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง พวกเขาไม่ได้ต่อต้านประชาธิปไตย แต่ต่อต้านนโยบายทางเศรษฐกิจที่สร้างความยากจนข้นแค้นให้พวกเขามาตลอดหลายศตวรรษ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
คลิกกลับไปที่เดิม


หมายเหตุ : ลำดับข่าวที่เป็นทางการตามต้นฉบับ ก่อนการจัดหมวดหมู่ใหม่บนเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน

1 อนาคตของเสรีภาพในอินเตอร์เน็ตไม่อยู่ในความสนใจของสื่อกระแสหลัก
2 บรรษัทฮัลลิเบอร์ตันมีส่วนพัวพันกับการขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้อิหร่าน
3 มหาสมุทรโลกตกอยู่ในอันตรายขั้นวิกฤต
4 คนหิวโหยและไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา
5 คองโกกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อรับใช้ความไฮเทคของชาวโลก
6 การคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ที่ร้องเรียนการทุจริตในหน่วยงานของตน ชักไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีเสียแล้ว
7 กองทัพสหรัฐฯ ทรมานนักโทษจนเสียชีวิตในอัฟกานิสถานและอิรัก
8 เพนตากอนได้รับการยกเว้นจากกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร
9 ธนาคารโลกสนับสนุนทางการเงินแก่การสร้างกำแพงกั้นอิสราเอล-ปาเลสไตน์

10 การขยายสงครามทางอากาศในอิรักสังหารชีวิตพลเรือนมากขึ้น
11 อันตรายของอาหารดัดแปลงพันธุกรรมได้รับการยืนยัน
12 เพนตากอนวางแผนกลับมาผลิตทุ่นระเบิดอีกครั้ง
13 หลักฐานใหม่ที่ยืนยันถึงอันตรายของยาฆ่าหญ้า "ราวด์อัพ"
14 กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิทำสัญญากับบริษัท KBR เพื่อสร้างศูนย์กักกันในสหรัฐฯ
15 สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอุตสาหกรรมเคมี
16 เอกวาดอร์และเม็กซิโกท้าทายสหรัฐฯ ในประเด็นศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ
17 การยึดครองอิรักเป็นการส่งเสริมโอเปก
18 นักฟิสิกส์ตั้งข้อสงสัยต่อการถล่มของตึกเวิลด์เทรดในวินาศกรรม 9/11
19 การทำลายป่าดงดิบเลวร้ายกว่าที่คาด

20 น้ำขวด: ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก
21 การทำเหมืองทองคำคุกคามธารน้ำแข็งโบราณในเทือกเขาแอนดีส
22 กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิใช้จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์โดยไม่มีการเปิดเผย
23 บรรษัทน้ำมันสหรัฐฯ หาทางทำลายพิธีสารเกียวโตในยุโรป
24 หุ้นบรรษัทฮัลลิเบอร์ตันของรองประธานาธิบดีเชนีย์มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า 3000% เมื่อปีที่แล้ว
25 กองทัพสหรัฐฯ ในปารากวัยคุกคามความมั่นคงของภูมิภาคละตินอเมริกา


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

เอกสารการชันสูตรศพนักโทษของกองทัพสหรัฐฯ จำนวน 44 คนในอัฟกานิสถานและอิรัก เมื่อเดือนตุลาคม 2005, มีนักโทษ 21 รายที่ระบุว่าถูกสังหารเสียชีวิต นักโทษเหล่านี้ตายระหว่างหรือหลังจากถูกทหารหรือหน่วยข่าวกรองทางทหารของสหรัฐฯ นำมาตัวมาสอบปากคำ การชันสูตรชี้ให้เห็นว่า มีการทรมานนักโทษอย่างรุนแรง
พลตรีเจนิส คาร์ปินสกี ผู้บัญชาการที่รับผิดชอบคุกคุมขัง 17 แห่งในอิรัก ระหว่างเหตุอื้อฉาวอาบูกราอิบในปี ค.ศ. 2003 ให้การเมื่อเดือนมกราคม 2006 ต่อหน้า "คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อสืบสวนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่รัฐบาลบุชเป็นผู้ก่อ" เมื่อถูกถามว่าความรับผิดชอบในการทรมานนักโทษนี้ สามารถสาวไปถึงผู้สั่งการเบื้องบนได้ถึงระดับไหน คาร์ปินสกีตอบว่า "รัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหมย่อมไม่สามารถมอบอำนาจลงมาได้ หากปราศจากความเห็นชอบของรองประธานาธิบดี"