บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๗๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
19-11-2549



Crisis of Humanity
The Midnight University

ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม
มนุษย์ศาสตร์ไทยและอเมริกาไม่เคยวิกฤต
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความวิชาการเกี่ยวกับมนุษยศาสตร์ชิ้นนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งนำเสนอในโครงการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ ๓ (๒๕๔๙)
"ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม"
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

midnightuniv(at)gmail.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1074
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 21 หน้ากระดาษ A4)

 



มนุษย์ศาสตร์ไทยและอเมริกาไม่เคยวิกฤต
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โครงการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ ๓ (๒๕๔๙)
"ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม"
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙


Martin Luther King,
"I Have a Dream,"
28 August 1963

I am happy to join with you today in what will go down in history as the greatest demonstration for freedom in the history of our nation.

Five score years ago, a great American, in whose symbolic shadow we stand today, signed the Emancipation Proclamation. This momentous decree came as a great beacon light of hope to millions of Negro slaves who had been seared in the flames of withering injustice. It came as a joyous daybreak to end the long night of their captivity.

But 100 years later, the Negro still is not free. One hundred years later, the life of the Negro is still sadly crippled by the manacles of segregation and the chains of discrimination. One hundred years later, the Negro lives on a lonely island of poverty in the midst of a vast ocean of material prosperity. One hundred years later, the Negro is still languished in the corners of American society and finds himself an exile in his own land. And so we've come here today to dramatize a shameful condition.

In a sense we've come to our nation's capital to cash a check. When the architects of our republic wrote the magnificent words of the Constitution and the Declaration of Independence, they were signing a promissory note to which every American was to fall heir. This note was a promise that all men - yes, black men as well as white men - would be guaranteed the unalienable rights of life, liberty, and the pursuit of happiness.

It is obvious today that America has defaulted on this promissory note insofar as her citizens of color are concerned. Instead of honoring this sacred obligation, America has given the Negro people a bad check, a check that has come back marked "insufficient funds."

But we refuse to believe that the bank of justice is bankrupt. We refuse to believe that there are insufficient funds in the great vaults of opportunity of this nation. And so we've come to cash this check, a check that will give us upon demand the riches of freedom and security of justice. We have also come to this hallowed spot to remind America of the fierce urgency of now. This is no time to engage in the luxury of cooling off or to take the tranquilizing drug of gradualism. Now is the time to make real the promises of democracy. Now is the time to rise from the dark and desolate valley of segregation to the sunlit path of racial justice. Now is the time to lift our nation from the quicksands of racial injustice to the solid rock of brotherhood. Now is the time to make justice a reality for all of God's children.

It would be fatal for the nation to overlook the urgency of the moment. This sweltering summer of the Negro's legitimate discontent will not pass until there is an invigorating autumn of freedom and equality. Nineteen sixty-three is not an end but a beginning. Those who hoped that the Negro needed to blow off steam and will now be content will have a rude awakening if the nation returns to business as usual. There will be neither rest nor tranquility in America until the Negro is granted his citizenship rights. The whirlwinds of revolt will continue to shake the foundations of our nation until the bright day of justice emerges.

But there is something that I must say to my people who stand on the warm threshold which leads into the palace of justice. In the process of gaining our rightful place we must not be guilty of wrongful deeds. Let us not seek to satisfy our thirst for freedom by drinking from the cup of bitterness and hatred. We must forever conduct our struggle on the high plane of dignity and discipline. We must not allow our creative protest to degenerate into physical violence. Again and again we must rise to the majestic heights of meeting physical force with soul force. The marvelous new militancy which has engulfed the Negro community must not lead us to a distrust of all white people, for many of our white brothers, as evidenced by their presence here today, have come to realize that their destiny is tied up with our destiny. And they have come to realize that their freedom is inextricably bound to our freedom. We cannot walk alone.

And as we walk, we must make the pledge that we shall always march ahead. We cannot turn back. There are those who are asking the devotees of civil rights, "When will you be satisfied?" We can never be satisfied as long as the Negro is the victim of the unspeakable horrors of police brutality. We can never be satisfied as long as our bodies, heavy with the fatigue of travel, cannot gain lodging in the motels of the highways and the hotels of the cities. We cannot be satisfied as long as the Negro's basic mobility is from a smaller ghetto to a larger one. We can never be satisfied as long as our children are stripped of their selfhood and robbed of their dignity by signs stating "for whites only." We cannot be satisfied as long as a Negro in Mississippi cannot vote and a Negro in New York believes he has nothing for which to vote. No, no we are not satisfied and we will not be satisfied until justice rolls down like waters and righteousness like a mighty stream.

I am not unmindful that some of you have come here out of great trials and tribulations. Some of you have come fresh from narrow jail cells. Some of you have come from areas where your quest for freedom left you battered by storms of persecution and staggered by the winds of police brutality. You have been the veterans of creative suffering. Continue to work with the faith that unearned suffering is redemptive.

Go back to Mississippi, go back to Alabama, go back to South Carolina, go back to Georgia, go back to Louisiana, go back to the slums and ghettos of our northern cities, knowing that somehow this situation can and will be changed.

Let us not wallow in the valley of despair. I say to you today my friends - so even though we face the difficulties of today and tomorrow, I still have a dream. It is a dream deeply rooted in the American dream.

I have a dream that one day this nation will rise up and live out the true meaning of its creed: "We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal."

I have a dream that one day on the red hills of Georgia the sons of former slaves and the sons of former slave owners will be able to sit down together at the table of brotherhood.

I have a dream that one day even the state of Mississippi, a state sweltering with the heat of injustice, sweltering with the heat of oppression, will be transformed into an oasis of freedom and justice.

I have a dream that my four little children will one day live in a nation where they will not be judged by the color of their skin but by the content of their character.
I have a dream today.

I have a dream that one day down in Alabama, with its vicious racists, with its governor having his lips dripping with the words of interposition and nullification - one day right there in Alabama little black boys and black girls will be able to join hands with little white boys and white girls as sisters and brothers.
I have a dream today.

I have a dream that one day every valley shall be exalted, and every hill and mountain shall be made low, the rough places will be made plain, and the crooked places will be made straight, and the glory of the Lord shall be revealed and all flesh shall see it together.

This is our hope. This is the faith that I go back to the South with. With this faith we will be able to hew out of the mountain of despair a stone of hope. With this faith we will be able to transform the jangling discords of our nation into a beautiful symphony of brotherhood. With this faith we will be able to work together, to pray together, to struggle together, to go to jail together, to stand up for freedom together, knowing that we will be free one day.
This will be the day, this will be the day when all of God's children will be able to sing with new meaning "My country 'tis of thee, sweet land of liberty, of thee I sing. Land where my fathers died, land of the Pilgrim's pride, from every mountainside, let freedom ring!"

And if America is to be a great nation, this must become true. And so let freedom ring from the prodigious hilltops of New Hampshire. Let freedom ring from the mighty mountains of New York. Let freedom ring from the heightening Alleghenies of Pennsylvania.

Let freedom ring from the snow-capped Rockies of Colorado. Let freedom ring from the curvaceous slopes of California.
But not only that; let freedom ring from Stone Mountain of Georgia.

Let freedom ring from Lookout Mountain of Tennessee.

Let freedom ring from every hill and molehill of Mississippi - from every mountainside.

Let freedom ring. And when this happens, and when we allow freedom ring - when we let it ring from every village and every hamlet, from every state and every city, we will be able to speed up that day when all of God's children - black men and white men, Jews and Gentiles, Protestants and Catholics - will be able to join hands and sing in the words of the old Negro spiritual: "Free at last! Free at last! Thank God Almighty, we are free at last!"

สุนทรพจน์ข้างบนนี้ไม่ได้ตอบคำถามโดยตรงว่า ทำไมมนุษยศาสตร์อเมริกันถึงไม่วิกฤต ทว่าใครที่พอรู้ประวัติศาสตร์ของคนผิวดำหรืออดีตทาสในสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพและความเสมอภาคของโลก ก็คงเดาได้ไม่ยากว่า ปัญหาความเป็นมนุษย์นั้น ถูกตีความและวิวาทะกันอย่างดุเดือดนับแต่วันแรกๆ ของการก่อตั้งประเทศนี้ขึ้นมา ผมอยากกล่าวอย่างสั้นๆ ในที่นี้ว่า สุนทรพจน์และจุดเด่นของมัน อันได้แก่การที่สาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ สามารถพูดความในใจของประชาชนผิวดำทั้งหมดในสหรัฐฯออกมาได้ ให้คนผิวขาวได้ฟังและอาจได้เห็นด้วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการดำรงอยู่ด้วยกันระหว่างคนสองผิวและสีที่ยาวนานพอๆ กับอายุของประเทศนั้น ข้อความนั้นคือพวกกูก็เป็นคนเหมือนและเท่าๆ กับพวกมึง

การตีความความเป็นมนุษย์ของคนผิวดำในสมัยแรกนั้น ยังเป็นทาสอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายมลรัฐ ปรากฏออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญอเมริกา ปี ๑๗๘๗ ด้วยการทำให้คนผิวดำเป็นคนเพียง ๓ ใน ๕ เท่านั้น ที่เหลือก็เป็นเพียงทรัพย์สินหรือสิ่งของที่มีชีวิตนั่นเอง อีกด้านหนึ่งก็ทำให้คนดำไม่อาจเป็นพลเมืองได้ เพราะอยู่นอกเหนือสัญญาสังคมที่ผู้นำปฏิวัติอเมริการับมาจากนักปรัชญาการเมืองอังกฤษจอห์น ล๊อค นั่นคือไม่ได้เข้ามาร่วมทำสัญญาในการสร้างสังคมอเมริกันเช่นคนผิวขาว ดังนั้นจึงไม่สามารถอ้างอิงเรียกร้องถึงสิทธิทางธรรมชาติเช่นคนผิวขาวที่เรียกร้องจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้

ระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๐๐ ถึง ๑๘๖๐ ทาสนิโกรประมาณ ๓ ถึง ๖ ล้านคนถูกนำเข้ามาในการผลิตเกษตกรรมระบบไร่ขนาดใหญ่ทั้งในทวีปอเมริกาและหมู่เกาะเวสต์อินดีส การลงทุนครั้งนี้กล่าวกันว่าช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค ก้าวกระโดดจากระบบพาณิชย์นิยมและการค้าแบบทุนพาณิชย์ เข้าสู่การสร้างระบบทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้ ทำให้ตะวันตกกลายเป็นศูนย์กลางของความมั่งคั่งและของอารยธรรมใหม่ของโลก แทนที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เคยมั่งคั่งและมีอารยธรรมของตนเองอยู่ก่อนแล้วลงไป

นั่นคือความยอกย้อนของวิกฤตในมนุษยศาสตร์อเมริกานับแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นมา หากเรามองว่าวิกฤตของมนุษยศาสตร์คือภาวะของความตีบตันอึดอัด และไม่สามารถทำให้จุดหมายอันสูงส่งของมนุษยศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติอันเป็นจริงในสังคม โดยเฉพาะในการหลีกเลี่ยงการสร้างวิกฤตให้แก่สังคม มนุษยศาสตร์อเมริกาก็ไม่ตกอยู่ในภาวะดังกล่าวนี้เช่นในยุโรปนับแต่กลางศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อยุโรปประกาศปลดปล่อยและประณามระบบทาสและการค้าทาสระหว่างประเทศไปเรียบร้อย ในขณะที่อเมริกากลับพัฒนาประเทศขึ้นมาบนระบบระบบแรงงานสองอย่างที่ขัดกัน คือแรงงานเสรีและแรงงานทาส ทั้งสังคมและมนุษยศาสตร์ถูกนำมาใช้ในการให้ความชอบธรรมแก่ระบบเศรษฐกิจการเมืองทั้งสอง กระทั่งถึงสงครามกลางเมือง น่าสนใจว่าแม้หลังสงครามกลางเมืองไปแล้วก็ตาม โศกนาฏกรรมครั้งนั้นก็ไม่ได้ทำให้คนอเมริกันมองเห็นว่า มันมีปัญหาในมนุษยศาสตร์อเมริกา คนภาคใต้เชื่อว่าโศกนาฏกรรมครั้งนั้นเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ภูมิหลังและความเป็นมาของกำเนิดโลกสมัยใหม่ดังกล่าว ทำให้ผมเชื่อว่า การศึกษาเรื่องมนุษยศาสตร์ที่มีน้ำยาและมีน้ำหนักและคุณภาพคับห้องนั้น จะต้องพิจารณาองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์ระยะสำคัญนี้ด้วย กล่าวคือการที่ยุโรปหรือตะวันตกออกไปทำลายความเป็นมนุษย์ของคนอื่น เพื่อที่จะกลับมาค้นหาและสร้างสรรค์ความเป็นมนุษย์ของตนและโดยนัยให้คนอื่นด้วยเช่นกันต่อไป

วิชาว่าด้วยมนุษยศาสตร์จะมีน้ำหนักและน้ำยาก็ต่อเมื่อ มันได้เสนอทางออกให้แก่วิกฤตการณ์ของความเป็นมนุษย์และของมนุษย์สังคม ในโลกยุคสมัยใหม่ วิกฤตความเป็นมนุษย์ที่อุบัติขึ้นในดินแดนที่ป่าเถื่อนอนารยชน ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักคิดและปัญญาชนยุโรปได้อย่างมีพลังเหมือนกันกับที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของตน

ในบรรดาประเทศตะวันตกสมัยใหม่ด้วยกัน อเมริกาต่างจากรุ่นพี่ๆ หลายด้าน ที่สำคัญทางประวัติภูมิปัญญาซึ่งต่อยอดมาจากยุโรป การมีภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่ต้องรักษาระบบทาสสมัยใหม่ไว้จนถึงนาทีสุดท้าย กลายมาเป็นคมดาบที่คนอื่นนอกอเมริกาใช้มาทิ่มแทงสำนึกของความเป็นมนุษย์ในสังคมนั้นมาอีกนาน ทำให้การพูดถึงวิกฤตในมนุษยศาสตร์ในอเมริกาเป็นเรื่องตลกไร้น้ำหนักไป เพราะความเป็นมนุษย์ถูกตีความใหม่และปฏิบัติใหม่ในสังคมด้วยตนเอง นักคิดนักศาสนาและปัญญาชนภาคใต้เชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่า ระบบทาสผิวดำในภาคใต้นั้นเป็นสิ่งดีสำหรับคนดำ เพื่อจะได้ค่อยๆ ยกระดับขึ้นมาเป็นคนมี่มีอารยธรรมกับเขาได้วันหนึ่งข้างหน้า ความสัมพันธ์แบบไม่เท่าเทียมกับคนดำเป็นเรื่องประจำวัน ที่ยากต่อการสร้างจินตนาการและแรงบันดาลใจอะไรได้อีก

น่าคิดว่าคนที่นำเสนอทฤษฎีและแนวคิดสังคมวิทยาคนแรกในสหรัฐฯ มาจากปัญญาชนภาคใต้ผู้สนับสนุนระบบทาสว่าดีถูกต้อง (1) อันนี้ก็จะคล้ายกับสังคมโลกที่สามเช่นสังคมไทย ซึ่งก็มองว่าคนเราไม่เคยเท่าเทียมกัน และก็จะไม่เท่าเทียมกันในชาติหน้าด้วย ด้วยทัศนคติและโลกทรรศน์ต่อมนุษย์และความเป็นมนุษย์ดังกล่าว ผมจึงคิดและเชื่อว่า ความคิดเรื่องความเป็นมนุษย์ของอเมริกาและไทยยังไม่วิกฤตและไม่เคยวิกฤตมาเลย และก็จะไม่วิกฤตในอนาคตอีกเช่นกัน

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า สังคมไทยหรืออเมริกาและคนไทย อเมริกันไม่มีปัญหาความเป็นมนุษย์ มี เรามีแน่นอน และก็มีไม่น้อยกว่าคนและสังคมอื่นๆ อาจมากกว่าเสียด้วย แต่การมีปัญหาในความเป็นคน ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การเกิดวิกฤตในมนุษย์ศาสตร์เสมอไป ขึ้นอยู่กับทรรศนะและโลกทรรศน์ในการรับรู้ความเป็นคน

ผมจะอภิปรายประเด็นและข้อโต้แย้งเหล่านี้ในประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของอเมริกาและไทย

มนุษยศาสตร์ต่อสู้กับความตาย
J.H. Plumb เขียนในคำนำหนังสือ Crisis in the Humanities (1964) ความตอนหนึ่งซึ่งผมขอยืมมาใช้ว่า ระหว่างสังคมศาสตร์กับมนุษยศาสตร์นั้นอาจมีสะพานเชื่อมต่อกันได้ "ในขณะที่สังคมศาสตร์ทำการต่อสู้เพื่อชีวิต วิชามนุษยศาสตร์ก็ต่อสู้กับความตาย" (2) ผมคิดว่าการให้คุณสมบัติเด่นที่สำคัญแก่มนุษยศาสตร์ว่า คือการต่อสู้กับความตายนั้น เป็นการสรุปจุดหมายแนวคิดและวัตรปฏิบัติทางวิชาการของมนุษยศาสตร์ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

ใช่ มนุษยศาสตร์คิดถึงความเป็นอนิจจังของมนุษย์มากกว่าสังคมศาสตร์แน่นอน และต้องการทำให้อนิจลักษณะของมนุษย์นั้นเป็นพลังที่สามารถสร้างสรรค์ความเป็นมนุษย์ให้สูงส่งขึ้นมา กระทั่งในกาลอันไม่สิ้นสุดความเป็นมนุษย์ที่อารยะนี้เองก็จะดำรงอยู่ชั่วกัลปาวสาน มันเป็นวิภาษวิธีหรือกฎแห่งการปฏิเสธของการปฏิเสธ (negation of the negation) และอันนี้เป็นความรู้สึกลึกๆ ที่มนุษยศาสตร์เชื่อว่าตนอารยะหรือลุ่มลึกกว่าสังคมศาสตร์ (3) ไปถึงการอ้างว่าแม้มนุษยศาสตร์จะไม่สามารถดัดแปลงเงื่อนไขในชีวิตของเรา แต่มันก็ช่วยสร้างคุณภาพที่ดีกว่าให้แก่ชีวิต

ตรงนี้เองที่กระตุ้นให้คนรู้สึกถึงวิกฤตการณ์ของมนุษยศาสตร์ระลอกใหม่ เพราะคนจำนวนมากขึ้นพากันสงสัยในคำอ้างข้อหลังนี้เหมือนกันว่า มนุษยศาสตร์ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริงหรือเปล่า (4) กล่าวโดยรวมๆ ความเชื่อว่าความรู้คลาสสิกจะช่วยตระเตรียมพลเมืองให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น บัดนี้พูดได้ว่ากลายเป็นตำนานปรัมปราไปแล้ว ส่วนการเรียนปรัชญาจะช่วยสร้างปัญญา ประวัติศาสตร์ให้การตัดสินใจทางการเมืองก็เช่นกัน นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ปัจจุบันมีมติพ้องกันว่าความเชื่อดังกล่าวก็เป็นเรื่องไร้เดียงสาเช่นกัน

จอห์น แคร์รอล นักสังคมวิทยาอังกฤษแต่สอนอยู่ในออสเตรเลีย เขียนในหนังสือเรื่อง Humanism: The Wreck of Western Culture(1993) ความตอนหนึ่งว่า "เราอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของลัทธิมนุษยนิยมที่เคยยิ่งใหญ่เมื่อห้าร้อยปีที่ผ่านมา รอบๆ ตัวเราคือซากหักพังอันมหึมานั้น วัฒนธรรมของเราเป็นเพียงกองธุลีหนึ่ง มันแทบจะไม่สามารถให้ที่กำบังจากลมที่พัดมาอย่างเบาๆ ได้ ไม่ต้องห่วงถึงพายุหนักที่เย็นเฉียบราวน้ำแข็ง ที่กลับมากระชากคนออกไปจากความอบอุ่นที่แสนหวานชื่นนั้นไปจากชีวิตประจำวันของพวกเขา และทำให้พวกเขาเผชิญหน้ากับความมืดมน น่าแปลกใจหรือที่เราตกต่ำถึงเพียงนั้น? เราอยู่ในภาวะที่สิ้นไร้ไม้ตอก ทว่าเราก็ไม่แคร์อะไรกับมันมากนักอีกต่อไป เราขี้กลัว แต่เราไม่อาจถูกทำให้ช๊อกได้ เราถูกทำให้แน่นิ่งในชีวิตที่ยุ่งเหยิงของเรา เราขัดสนในความมั่งมี เราเป็นคนไร้บ้านทั้งๆ ที่อยู่ในบ้านของเราเอง

...เราควรมีอะไรที่นั่นที่จะมาช่วยจูงมือของเราไป แต่มันไม่มี วัฒนธรรมของเราได้สูญหายไปจากเราแล้ว มันได้ทอดทิ้งเราให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ในยามที่มันถูกทำลาย มันไม่อาจกระทั่งล้อเลียนทำตลกให้พวกเราหัวเราะอีกต่อไป

...ไม่มีการมองด้วยหางตาไปยังเด็กน้อยผู้โหยหามารดาของเขา วาระนั้นเช่นกันมันได้ผ่านพ้นไปแล้ว วัฒนธรรมของเราได้เป็นทารุณกรรมแห่งอดีต มันเป็นซากหักพัง มันตายแล้ว."

จากข้อความข้างบนนี้ เห็นได้ว่านักคิดตะวันตก(ยุโรป)ปัจจุบันเชื่อว่า มนุษยนิยมอันดีงามนั้นบัดนี้ได้ถูกทำลายไปหมดสิ้นแล้ว วิธีคิดและความฝังแน่นกับอุดมคติดังกล่าวของมนุษยนิยมเป็นผลิตผลและการสร้างสรรค์ทางภูมิปัญญาของยุโรปแห่งยุคสมัยใหม่โดยแท้ ซึ่งซีกโลกอื่นไม่มีและไม่อาจทำได้

ผมคิดว่าพลังและความเชื่อในลัทธิมนุษย์นิยม ซึ่งถือว่าเป็นวิญญาณของมนุษยศาสตร์นั้น ถูกสร้างและจินตนาการขึ้นมา หลังจากที่ยุโรปได้ประสบความสำเร็จในการทำให้มนุษย์มีฐานะที่เทียบเท่ากับพระเจ้าได้ กล่าวคือ "มนุษยนิยม" มุ่งเปลี่ยนทิศทางของเรือสำเภาที่บรรทุกขุมทรัพย์มหาศาลของวัฒนธรรมตะวันตกนี้เสียใหม่ มันตั้งใจจะแทนที่พระเจ้าด้วยมนุษย์ และทำให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ ความทะเยอทะยานของมันคือการจะสร้างระเบียบของมนุษย์ขึ้นบนโลกนี้ โดยมีเสรีภาพและความสุขเป็นบรรณาการ ทั้งหมดนี้กระทำไปโดยไม่ต้องอาศัยการหนุนช่วยของอำนาจเหนือมนุษย์ใดๆ ทั้งนั้น มัน เป็นระเบียบของมนุษย์กันเองจริงๆ

นั่นหมายความว่า การที่มนุษย์ศาสตร์จะวิกฤตได้ สังคมนั้นจักต้องสามารถทำให้มนุษย์ใกล้กับการเป็นพระเจ้าบนดินได้เสียก่อน นอกจากยุโรปแห่งยุคปรัชญาแสงสว่างแล้ว ไม่เคยมีที่ไหนอีกที่จะสามารสร้างพลังแห่งจินตนาการเช่นลัทธิมนุษยนิยมนั้นขึ้นมาได้อีก

อ.เจตนา นาควัชระ นักวรรณคดีและภาษาแห่งโลก(ตะวันตกและตะวันออก) ชูประเด็นการอภิปรายในหนังสือวิกฤตของมนุษย์ศาสตร์ ด้วยบทวิพากษ์ของ Hans Magnus Enzenbersger (b 1929)ทำนองเดียวกับจอห์น แคร์รอลว่า "ความเป็นอารยะไม่ใช่ปกติวิสัยของประวัติศาสตร์" เพื่อจะย้อนยุคกลับไปสู่อรุณสมัยของมนุษยนิยมที่แท้จริง เมื่อความจริงและจินตนาการยังสามารถร่วมมือและดำรงอยู่ด้วยกันได้ในความคิดของปัญญาชน เมื่อโลกที่เพิ่งถูกค้นพบและทำให้เป็นความจริงอันเดียวกัน ยังไม่มีกำแพงและรั้วแห่งอคติและความหลงตัวเองรูปแบบต่างๆ เข้ามาครอบงำ

นั่นคือยุคสมัยที่นักคิดรุ่นใหม่เช่นวอลแตร์มองเห็นมนุษยชาติเป็นส่วนรวม ดังที่เขาเขียนใน "วิพากษ์พจน์ว่าด้วยขันติธรรม ๑๗๖๓" ว่า

"ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า เราจำเป็นที่จะต้องถือว่ามนุษย์ทุกผู้ทุกนามเป็นพี่น้องของเรา อะไรกัน? หมายความว่า คนเตอร์กก็เป็น คนจีนก็เป็น คนยิวก็เป็น คนสยามก็เป็น กระนั้นหรือ? ใช่ ถูกต้องแล้ว เราทุกคนเป็นลูกพ่อเดียวกัน เป็นสัตว์โลกที่พระเจ้าองค์เดียวกันทรงสร้างมา มิใช่หรือ?"

ถ้าเช่นนั้น คงมีคนสงสัยอยากถามเหมือนกัน ว่าทำไมนักคิดนักเทววิทยาและปัญญาชนไม่น้อยในสหรัฐฯ สมัยก่อนสงครามกลางเมืองและเอาเข้าจริงๆ แล้ว ยังต่อมาถึงกลางทศวรรษ ๑๙๖๐ ด้วย ถึงยังเชื่อว่าคนผิวดำไม่เท่าเทียมกันกับคนผิวขาว ก็ไหนบอกว่ามนุษย์เราทุกคนเป็นลูกพ่อเดียวกัน ถูกสร้างโดยพระเจ้าตามฉายาของพระองค์อันเดียวกัน

กระทั่งสงครามกลางเมือง คนอเมริกันทั้งเหนือและใต้ซึ่งก็คือคนขาวที่เป็นโปรเตสแตนท์นั่นเอง เชื่อว่าพระเจ้าได้ลงโทษลูกของแฮม ซึ่งคือลูกของโนอาห์ที่ล่วงละเมิดต่อพ่อ ด้วยการสาปให้เป็นทาสของลูกชายคนอื่นๆ นั่นคือที่มาของการมีทาสอย่างถูกต้องตามพระคัมภีร์ไบเบิล ดังนั้นการปฏิบัติต่อทาสซึ่งตามธรรมชาติเหมือนเด็กที่ยังไม่บรรลุความเป็นผู้ใหญ่ ก็คือต้องเลี้ยงดูแลเหมือนคนรับใช้เท่านั้นเอง ไม่ใช่ประเด็นว่าพวกนั้นมีสิทธิเสรีภาพเหมือนคนขาวหรือไม่

ปมเงื่อนของทฤษฎีทาสผิวดำว่าคือทาสโดยธรรมชาติ และให้การยอมรับโดยพระเจ้านั้น เป็นประเด็นน่าถกเถียงยิ่ง เพราะในคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกตรงๆ หรือชัดเจนจนไม่ต้องเถียงว่า ลูกหลานของแฮมที่ถูกสาปให้เกิดมาเป็นทาสนั้นคือคนแอฟริกันหรือคนดำ ไม่มีพระวจนะหรือข้อเขียนของสาวกพระเยซูคนไหน สามารถระบุตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ได้ว่า คนแอฟริกันนั้นต้องเกิดมาเป็นทาส และเป็นทาสของคนผิวขาวจากยุโรปและในอเมริกาด้วย คำตอบคือไม่มี

เพราะกระทั่งพระคัมภีร์ไบเบิลเองในสมัยโน้น ก็คงยังไม่รู้จักทวีปแอฟริกาและคนแอฟริกันผิวดำว่าคืออะไร หน้าตาบุคลิกเป็นอย่างไร และก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่า อนาคตคนผิวขาวจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นเจ้ามหาอำนาจ เจ้าอาณานิคมและจักรวรรดินิยมในศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมาได้ ดังนั้นทฤษฎีและคติเรื่องคนดำเป็นทาสโดยธรรมชาติ และถูกต้องตามไบเบิลนั้นก็เป็นอีก "การประดิษฐ์สร้าง" (invention) ของคนผิวขาวในระยะที่ยุโรปขยายอาณานิคมไปยังดินแดนโลกใหม่หลังศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมานั้นเอง และนี่ก็คือต้นตอกำเนิดของทฤษฎีการเหยียดผิวและเชื้อชาติ ที่เรียกว่า racism นั่นเอง (5)

นั่นคือมนุษยนิยมแห่งยุคแสงสว่างทางปัญญา Humanism of the Age of Enlightenment ที่ "จินตนาการมีพลังสูงกว่าการติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยี เป็นรากฐานที่มั่นคงของมนุษยศาสตร์ และคุณค่าเชิงจริยธรรม มนุษยศาสตร์ในฐานะที่เป็นศาสตร์ที่เป็นระบบ จึงก่อรูปขึ้นมาในโลกตะวันตก สืบทอดประเพณีทางความคิดและวิชาการตะวันตกเอาไว้" (6) ซึ่งบัดนี้มันได้กลายมาเป็นมรดกและอารยธรรมของโลกสมัยใหม่ไปแล้ว ความมั่นคงของมนุษยศาสตร์ที่ผ่านมา จึงผูกพันกับความเชื่อมั่นในมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ดังกล่าวเหล่านั้น

และแน่นอน วิธีการของมนุษยศาสตร์อันที่สำคัญยิ่งหนึ่งก็คือ อาศัยการศึกษาจากต้นแบบจากอดีต โดยเฉพาะจากอารยธรรมกรีกและโรมัน สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการคิดใหม่ และสร้างสรรค์ใหม่ ดังที่เกอเธ นักกวีเยอรมันกล่าวว่า

" สิ่งที่เจ้าได้รับเป็นมรดกมาจากบรรพบุรุษนั้น
จงรับเอาไว้เพื่อที่จะได้ทำให้เป็นสมบัติของเจ้าเอง"

คนที่เชื่อและพยายามสานต่อการปฏิบัติดังกล่าวนั้น ก็มีแต่นักคิดปัญญาชนยุโรปเป็นส่วนใหญ่ เพราะเชื่อว่าพวกเขาเป็นทายาทและผู้สืบทอดอารยธรรมคลาสสิคของกรีกโรมันนั่นเอง

ที่น่าสนใจในเรื่องของการเป็นทายาทของคลาสสิคกรีกก็คือ นักคิดและปัญญาชนอเมริกาในศตวรรษที่ ๑๙ ต่างศึกษาในกรอบของคลาสสิคศึกษาเหมือนในยุโรป แต่นักคิดนักเขียนและรวมถึงนักการเมืองภาคใต้ที่ยังเป็นระบบทาสอย่างสมบูรณ์เท่านั้น ที่อ้างว่าพวกตนคือและกำลังสืบทอดความเป็นทายาทของกรีกโรมันคลาสสิคอยู่อย่างจริงจัง ในขณะที่มหาวิทยาลัยอเมริกันทางภาคเหนือ จะมีคณะเทววิทยาซึ่งถือว่าเป็นรากฐานอันสำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัยระดับไอวี่ลีก ยกเว้นคอร์แนล ซึ่งก่อตั้งหลังสงครามกลางเมืองแล้ว การเน้นความสำคัญของภูมิปัญญาอเมริกันจึงไม่ได้หนักไปทางปรัชญาทางโลก มากเท่ากับจริยธรรมและศาสนธรรมและต่อมาคือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

การวิวาทะอันใหญ่หลวงก่อนถึงสงครามกลางเมืองระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ ไม่ใช่ระหว่างนักคิดทางการเมืองสองภาค หากแต่ไปอยู่ที่วิวาทะระหว่างนักการศาสนานิกายเดียวกัน แต่แยกกันออกไปตามภาคและอุดมการณ์เพื่อ"ระบบทาส"กับ"ต่อต้านระบบทาส" ทั้งสองฝ่ายใช้ความรู้อันลึกซึ้งในเทววิทยาและศาสนาคริสต์มารองรับข้อโต้แย้งของฝ่ายตนคือเหนือหรือใต้ ว่าพระเจ้าสร้างและรับรองการมีทาสและสถานะของทาสหรือไม่ หากอ่านด้วยใจเป็นกลางแล้ว เชื่อหรือไม่ว่า วาทกรรมการสนับสนุนระบบทาสโดยนักคิดและปัญญาชนภาคใต้ ชนะภาคเหนือในด้านนี้อย่างเทียบชั้นกันไม่ติดเลย นี่เองที่เป็นโศกนาฏกรรมแบบอเมริกัน ที่ไม่เหมือนใคร

มนุษยนิยมกับอารยธรรมและวัฒนธรรม
ดังได้กล่าวแต่ต้นแล้วว่า ความเข้มข้นและพลังของวิชามนุษยศาสตร์หลีกไม่พ้นจากการขยายอาณาจักรและอำนาจรัฐไปยังดินแดนอื่นๆ ทั่วโลก ลักษณะเด่นของการขยายอำนาจของยุโรปในระยะศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา ไม่ใช่เรื่องของการใช้กำลังอาวุธที่เหนือกว่าเข้าสยบดินแดนอื่นๆ หากที่สำคัญกว่าในระยะยาว คือการใช้ความรู้และการต่อยอดพัฒนายกระดับองค์ความรู้ ควบคู่ไปกับการขยายอำนาจทางโลก เรียกว่าเป็นการขยายทั้งอำนาจทางกายและอำนาจทางความคิด ทั้งกายและจิตหรือวิญญาณ ผลโดยรวมของกระบวนสร้างโลกสมัยใหม่ จึงไม่ได้เปลี่ยนเพียงแค่ยุโรป หากเปลี่ยนคนนอกยุโรปด้วย เป็นกระบวนการที่เชื่อมทั้งอัตวิสัยและภววิสัยเข้าด้วยกันอย่างเป็นวิภาษวิธี ดังที่มิเชล ฟูโกต์ ในที่สุดก็ค้นพบสัจธรรมข้อนี้ว่า "อำนาจ/ความรู้"(power/knowledge) คือเรื่องเดียวกัน

อ.เจตนา นาควัชระกล่าวตอนหนึ่งว่า "ความลึกซึ้งในทางความคิดอันเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของมนุษยศาสตร์ตะวันตก ผูกอยู่กับความสัมพันธ์อันแนบสนิทกับปรัชญาและศาสนาหรือเทววิทยา" (7) พัฒนาการอันยาวไกลของภูมิปัญญาด้านนี้ แสดงออกในศักยภาพและพลังของความคิดเชิงเหตุผลและความเป็นจริง กระทั่งมนุษยศาสตร์สามารถแยกตัวออกมาเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองได้ในสำนักปรัชญาแสงสว่าง

อีกด้านที่มนุษยศาสตร์ตะวันตกสามารถทำได้ และทำได้อย่างงดงามด้วยก็คือการสร้างสรรค์งานที่เรียกว่าโศกนาฏกรรมขึ้นมา โศกนาฏกรรมประสบความสำเร็จได้เพราะ โลกใหม่นี้ไม่ได้อิงอยู่กับพระเจ้าและความยุติธรรมของพระเจ้าแต่ถ่ายเดียวอีกต่อไป ในโศกนาฏกรรมมนุษย์ต้องพบกับความพินาศโดยปราศจากเหตุผล ทั้งนี้สังคมจะได้เอามาเตือนสติมนุษย์ให้สงบเสงี่ยมเจียมตัว

แต่เมื่อมองจากอีกแง่มุมหนึ่ง โศกนาฏกรรมเป็นละครที่นำเสนอ "ความโหดเหี้ยมทางกายภาพ" คำถามคือเหตุใดมหาชนจึงชื่นชมกับ "พิธีกรรมเปื้อนเลือด"ในศิลปะการแสดงได้ คำตอบของ อ.เจตนาให้ข้อคิดอันแหลมคมยิ่ง กล่าวคือ กวีตะวันตกสามารถหาทางออกที่เป็นศิลปะได้อย่างแนบเนียน "ในประการแรก เขารู้จักที่จะปรับความโหดเหี้ยมทางกายภาพ ในโลกแห่งความเป็นจริงขึ้นสู่ระดับของ ความโหดเหี้ยมทางปรัชญา ในโลกของศิลปะที่สร้างขึ้นด้วยจินตนาการ และในประการที่สอง เขาใช้วรรณศิลป์กลบคาวเลือดได้อย่างน่าประทับใจ" สรุปคือมนุษยศาสตร์ตะวันตกได้กระทำกิจที่มีความลึกซึ้งทางปรัชญาไม่ด้อยไปกว่าอรรถกถาของเทววิทยา (8)

ผมคิดว่าคำอธิบายดังกล่าวนี้น่าฟังและน่าคิดตามอย่างยิ่ง เพราะทำให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงสัมพันธภาพทางความคิดระหว่างปรัชญา ศาสนวิทยา กับมนุษยศาสตร์ทางโลก ซึ่งบรรลุจุดสุดยอดในสิ่งที่เรียกว่า "secularization" หรือกระบวนการแยกศาสนาออกจากสังคม ผมคิดว่า อ.เจตนาพูดบรรยายกระบวนการทางประวัติศาสตร์นี้อย่างงดงาม และเต็มไปด้วยศิลปะไม่น้อยไปกว่างานโศกนาฏกรรมเองด้วย ด้วยการชี้ให้เห็นถึงความสามารถ อัจฉริยภาพของ "เขา" "ที่รู้จักปรับ"ความโหดเหี้ยมทางกายในความเป็นจริง ให้ยกระดับไปสู่ความโหดเหี้ยมทางปรัชญาในโลกของการละคร

อีกครั้งที่เราคนนอกยุโรปทั้งหลายได้เห็น "ความสามารถหรือพรสวรรค์" ซึ่งคงไม่ใช่เพียงเรื่องของความเก่งกาจทางภูมิปัญญาหรือสติปัญญาเลิศล้ำอะไรมากนัก หากแต่อยู่ที่การรู้จัก(สามัญสำนึก)ที่จะประสานของสองสิ่งเรื่องสองเรื่องความขัดแย้งสองชนิด ฯลฯ ให้มันเข้ามาทำปฏิกิริยาและแทรกซึมซึ่งกันและกัน กระทั่งก่อเกิดคุณภาพและเนื้อหาใหม่ขึ้นมา เหนือสิ่งอื่นใดผมรู้สึกว่า คนเหล่านั้น เขาต้องเห็นและตระหนักถึงความงาม ความสุขความเบิกบานของอารมณ์และฯลฯทั้งหลาย ที่ทำให้หัวใจและหัวคิดของพวกเขาโลดเต้นมีพลัง มีความกล้า มีความอยาก ที่จะทำอะไรให้มันต่างออกไปด้วยตัวเองให้ได้ จนก่อเกิดการสร้างสรรค์หลากหลาย ที่ให้ความสุขทั้งทางกายและความอิ่มเอมทางใจกับความสุกงอมทางปัญญาได้ เป็นมนุษย์ที่ดูแล้วงดงามผิวพรรณวรรณะสดใส

ถ้าพูดด้วยภาษาไตรภูมิพระร่วงก็ต้องว่า เหมือนคนที่อยู่ "กลางแผ่นดินทอง และรุ่งเรืองงามดั่งแสงพระอาทิตย์" สังคมปัจจุบันภายใต้เงื่อนไขอะไรที่จะทำให้ผู้คนธรรมดาๆมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้นขึ้นมาได้ เหตุไฉนสังคมและผู้คนนอกโลกยุโรปและอเมริกาถึงไม่เคยและไม่อาจบันดาลภววิสัยและอัตวิสัยดังกล่าวนั้นให้เกิดขึ้นมาได้บ้าง เพราะอะไร?

ประสบการณ์มนุษยนิยมในอเมริกา
ต้นแบบและอดีตแห่งประสบการณ์ของลัทธิมนุษยนิยมเหล่านั้น ไม่เคยเกิดและมีในสังคมและความคิดแบบไทยเลย แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของสังคมและคนไทย เพราะกระทั่งในสหรัฐอเมริกา ประสบการณ์ของมนุษยนิยมแบบยุโรปก็ไม่ได้เกิดขึ้นเช่นกัน ฟังดูเผินๆ ยากจะเชื่อ เป็นไปได้อย่างไร เพราะเป็นที่รู้กันว่า สหรัฐฯนับแต่ยุคสมัยอาณานิคมมา ก็นำเข้าและปลูกฝังอารยธรรมตะวันตกจากยุโรปอย่างขะมักเขม้น กระทั่งประสบความสำเร็จในการสถาปนาระบบปกครองประชาธิปไตยเสรีนิยม และมหาชนรัฐแห่งแรกขึ้น บนอุดมการณ์ของปรัชญาลัทธิแสงสว่างและมหาชนรัฐแห่งพาณิชย์นิยม (commercial republic)

ความแตกต่างในประสบการณ์ของอเมริกันกับยุโรป เห็นได้จากทรรศนะและการนำเอาปรัชญาแสงสว่างไปใช้ กล่าวกันว่าสิ่งที่ทำให้ปรัชญาแสงสว่างในอเมริกามีลักษณะเด่น ไม่ใช่ว่าเขาได้สร้างแนวคิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา หากอยู่ที่การที่คนอเมริกันนำความคิดเหล่านั้นไปใช้อย่างไรต่างหาก

ช่วงเวลาอันสำคัญที่อเมริกานำทฤษฎีปรัชญาแสงสว่างไปใช้อย่างเต็มที่คือช่วงของการปฏิวัติอเมริกา กระทั่งนำไปสู่การสร้างประชาชาติใหม่ขึ้นมา ดังนั้นหากไปถามนักศึกษาอเมริกันว่า อะไรคือเอกสารของปรัชญาแสงสว่าง คำตอบที่ได้รับคือคำประกาศเอกราชหรือไม่ก็รัฐธรรมนูญนั่นเอง. เอกสารข้อเขียนเหล่านี้ ไม่ได้ถูกถือว่าเป็นทฤษฎีหรือหลักการอันเป็นนามธรรม หากแต่ได้รับการนับถือว่าเป็นรากฐานของการเมืองและการปกครองอเมริกัน

ในยุโรปปรัชญาแสงสว่างหมายถึงการเรียกร้องให้มีชีวิตที่มีขันติธรรม และอดทนต่อกันให้มาก, ในอเมริกามันหมายความถึงการมีชีวิตที่ดี คนอเมริกันไม่เพียงแต่เรียกร้องเสรีภาพ หากแต่อเมริกาในคำพูดของเจมส์ แมดิสัน "เป็นห้องทดลองของเสรีภาพ"

กล่าวในบริบทของโลกใหม่ ศตวรรษที่ ๑๘ ที่อเมริกาก่อกำเนิดขึ้นมานั้น เป็นโลกที่กำลังมีการต่อสู้กันอย่างแข็งขันในทางจริยธรรมและในทางภูมิปัญญา เป็นหมุดหมายของการที่ยุโรปก้าวเข้าสู่ภาวะของการมีวัยวุฒิ คือรุ่งอรุณของความสุกงอมทางปรัชญา การต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระทางจริยธรรม การตื่นขึ้นทางสำนึกทางการเมือง และอเมริกาก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความหมายยิ่งของโลกนั้น เพราะอเมริกาเป็นเสมือนสาขาในวัฒนธรรมยุโรปนั่นเอง เป็นการเริ่มต้นครั้งแรกและก็เป็นครั้งสุดท้ายที่อเมริกาผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาของอารยธรรมเหนือมหาสมุทรแอตแลนติค

วิกฤตการณ์ของมนุษยศาสตร์
กล่าวได้ว่า มโนทัศน์ว่าด้วยวิกฤตการณ์ของมนุษย์ศาสตร์นั้น มาจากประสบการณ์ของโลกและนักคิดตะวันตก โดยเฉพาะในยุโรปตะวันตก แม้ในสหรัฐอเมริกาเอง เข้าใจว่า นักคิดและนักวิชาการทั้งหลายที่ทำเรื่องอเมริกันศึกษาและภูมิปัญญาอเมริกัน คงไม่เห็นว่ามนุษยศาสตร์อเมริกันก็เกิดวิกฤติแล้วเช่นกัน หากตอบตามทรรศนะของนักประวัติศาสตร์มีชื่อผู้ล่วงลับไปแล้ว Richard Hofstadter แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก็ต้องพูดว่า เพราะสังคมอเมริกันมีทัศนะคติด้านลบกระทั่งต่อต้านเหยียดหยามความเป็นปัญญาชนนั่นเอง ที่ทำให้มนุษย์ศาสตร์อเมริกันไม่จำเป็นต้องเกิดวิกฤต เพราะไม่มีพื้นที่และไม่มีคนให้ความสนใจมากพอ

แนวคิดที่ให้ความสำคัญแก่ความเป็นมนุษย์ในภูมิปัญญาอเมริกัน ที่ไม่ใช่เรื่องของความเป็นเหตุเป็นผล หรือเป็นปรัชญาสำนักแสงสว่าง ที่แสดงออกในเอกสารสำคัญคือ คำประกาศเอกราชของอเมริกา (ค.ศ. ๑๗๗๖) ที่อ้างว่า "มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน" หากแต่จะไปอยู่กับนักคิดในโบสถ์ ห้องปาฐกถาและในห้องเรียน และนี่เองคือที่นักปรัชญาอเมริกันแสดงบทบาทอันเด่นชัดออกมา ไม่ใช่ในวาทกรรมการปกครองและในงานเขียนทางปรัชญา ในศตวรรษที่ ๑๘ นักคิดแห่งสำนักแสงสว่างจึงปรากฏออกมาในผลงานของสามนักคิดนักปฏิบัติในสามปริมณฑล คือในทางศาสนา โจนาธาน เอ็ดเวิร์ดส, ในทางจริยธรรม เบนจามิน แฟรงกลิน, และในทางการเมืองคือโทมัส เจฟเฟอร์สัน (9)

หากเราพิจารณาลัทธิมนุษยนิยมยุโรปว่ามิติสำคัญคือ การสร้างสิ่งที่เรียกว่าความรู้ทางโลก หรือการแยกศาสนาออกจากสังคม (secularization) ก็จะเป็นความแตกต่างกับของอเมริกาได้ชัดเจนมากขึ้น กล่าวได้ว่าปรัชญาแสงสว่างอเมริกานั้น ไม่ได้เน้นไปที่การสร้างความรู้ทางโลกวิสัยด้านเดียว หากแต่มุ่งไปที่การประสานระหว่างศาสนากับโลกวิสัย แม้ในทางการเมืองจะประกาศว่ามีการแยกอย่างเด็ดขาดระหว่างศาสนากับการเมือง แต่ในทางปฏิบัติเป็นที่รู้กันว่า กลุ่มและขบวนการศาสนานิกายต่างๆ มีบทบาทและมีพลังทางการเมืองสูงมากในอเมริกา ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๘ กระทั่งปัจจุบันในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นสาวกของนิกาย fundamentalism

กลับมาที่เรื่องของศาสนากับมนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอีกนิด ในอเมริกัน มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงนั้นจะต้องมีคณะเทววิทยาอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ตรงนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงพัฒนาการของมนุษยศาสตร์อเมริกา ที่ไม่อาจแยกออกจากเทววิทยาและศาสนธรรมได้อย่างสนิทนัก ในขณะที่นักเรียนมัธยมปลายในฝรั่งเศสต้องเขียนเรียงความเรื่องปาสคาล หรือนักปรัชญาคนใดคนหนึ่งก่อนจบ ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์แบบนี้แสดงว่าความเป็นมนุษยศาสตร์ กลายมาเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นชาติศรีวิไลซ์ของประเทศยุโรปไป มากกว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ทางภูมิปัญญาล้วนๆ การมีความรู้มนุษยศาสตร์ เช่น วรรณคดีกรีก โรมัน กลายเป็นบัตรเครดิตที่บ่งบอกถึงฐานะทางสังคมของคนๆ นั้นไป

ในศตวรรษที่ ๑๙ สำนักคิดที่โด่งดังและมีอิทธิพลได้แก่ ความคิดและปรัชญาของเอมเมอร์สัน ที่เรียกว่า Transcendentalism แต่น้ำหนักของมันก็ไม่ใช่แบบลัทธิมนุษย์นิยมดังที่เกิดในยุโรปสมัยกรีกและเรอเนซองส์และต่อๆ มา หากแต่เอมเมอร์สันและสาวกพวกพ้องให้ความสำคัญไปที่สัจจะเหนือเหตุผลและสัมผัส จิตวิญญาณและการพัฒนาของวิญญาณไปสู่จุดสูงสุด มากกว่าการทำให้มนุษย์นิยมเข้ามาดัดแปลงและกำกับระบบการเมืองและสังคม

ในอีกแนวรบได้แก่ สำนักการต่อต้านทาส The abolitionist ของวิลเลียม ลอยด์ แกริสันและพรรคพวกและอดีตทาส เช่น เฟรเดอริก ดักลาส และโซเจอเนอร์ ทรูธ รวมทั้งกลุ่มสตรีนิยม สิทธิสตรีของอลิซาเบ็ธ เคดี้ สแตนตัน และซูซาน บี แอนโธนี เป็นต้น ครึ่งศตวรรษนั้นหมดไปกับวาทกรรมของการทำลายระบบทาส และในมุมกลับหมายถึงการเรียกร้องถึงความเป็นเสรีชน แต่ไม่ใช่ความเป็นมนุษย์ที่เอามนุษย์เป็นตัวตั้ง หากแต่เป็นการเอามนุษย์ในสังคมหรือระบบสังคมมาเป็นตัวตั้ง นี่เองที่ทำให้ปรัชญาแสงสว่างหรืออะไรก็ตาม มักหนีไม่พ้นที่จะต้องให้น้ำหนักไปที่มิติของศีลธรรม เพราะไม่อาจไว้ใจปัจเจกชนแต่ละคนได้

อีกช่วงที่แนวคิดลัทธิมนุษย์นิยมถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในสหรัฐฯ คือช่วงทศวรรษปี ๑๙๖๐ ท่ามกลางขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนดำ และการต่อต้านสงครามเวียดนาม ในช่วงนี้เองที่กลุ่มปัญญาชนซ้ายใหม่ ก่อตัวและเคลื่อนไหวอย่างมีพลัง กลายเป็นขบวนการทางสังคมระดับชาติไป

การค้นพบแนวคิดมนุษย์นิยมคราวนี้มาจาก การต่อสู้ระหว่างพวก"ลัทธิมาร์กรุ่นเก่า"กับ"รุ่นใหม่" สิ่งที่นักลัทธิมาร์กซรุ่นใหม่ค้นพบในข้อเขียนและแนวคิดของมาร์กซเองก็คือ การให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ในงานเขียนมากมายของมาร์กซ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ลัทธิมนุษย์นิยมแบบมาร์กซ แนวคิดดังกล่าวนี้ให้ความสำคัญไปที่การทำให้ความสามารถของมนุษย์ปรากฏเป็นจริงขึ้น ในเรื่องเสรีภาพ การสร้างสรรค์ของมนุษย์ และการเอาชนะความแปลกแยก

แต่แนวคิดมนุษย์นิยมเหล่านี้ ไม่สามารถถูกยกขึ้นมาในระดับทฤษฎีที่ชี้นำการต่อสู้ทางการเมืองหรืออื่นๆ ได้ บางคนจึงมองว่า การค้นพบและนำเอามนุษย์นิยมของมาร์กซขึ้นมานั้น ทำได้ในการศึกษาไปที่ด้านของความเป็นอัตวิสัย นั่นคือไปที่ความเป็นปัจเจกลักษณะ ในด้านจิตวิทยา หรือธรรมชาติและบทบาทของจิตสำนึกและสำนึกของตัวตน ที่มีต่อวัฒนธรรมและทฤษฎีหรือในด้านจริยธรรม ทั้งหมดนี้ล้วนตรงข้ามกับการเน้นที่ภววิสัยของพวกนักลัทธิมาร์กซ ซึ่งเน้นไปที่กฎภววิสัยทางประวัติศาสตร์ ไปที่การต่อสู้ทางชนชั้นและการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ดำเนินไปตามกฎเหล่านั้น อันสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ ซึ่งเป็นแม่แบบของวิทยาศาสตร์ธรรมชาตินั่นเอง สรุปก็คือแนวคิดลัทธิมาร์กซแบบปฏิวัติทั้งหลาย เน้นไปที่ความเป็นวิทยาศาสตร์ของมนุษย์

มนุษยนิยมอเมริกาจึงดำเนินมาบนอิทธิพลของแนวคิดลัทธิโปรเตสแตนท์ และปรัชญาปฏิบัตินิยม ภายใต้ประสบการณ์ของการเติบโตของสหรัฐฯ ที่เป็นมหาชนรัฐ ทำให้มนุษย์ศาสตร์อเมริกามีปัญหาและทางออกที่ต่างไปจากของยุโรป วิกฤตการณ์ของมนุษยศาสตร์แบบยุโรปที่จำลองมาจากโศกนาฏกรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย เพราะด้านที่เป็นอัตวิสัยอันเป็นที่มาของความรู้สึกและคุณค่านั้นถูกลดบทบาทและความหมายลงไป เหลือแต่มนุษย์ที่เป็นถุงกระสอบทรายหรือถุงมันฝรั่ง (สำนวนของมาร์กซเองใน การต่อสู้ทางชนชั้นในฝรั่งเศส)

กล่าวโดยสรุป มนุษยนิยมอเมริกาเน้นความสำคัญไปที่ประสิทธิผลที่แนวคิดจะสร้างให้เกิดขึ้นในตัวของปัจเจกบุคคลของสังคม ไม่ใช่ปัจเจกชนในนามธรรม โดยเฉพาะคือมิติด้านจริยธรรม ไม่ใช่การสร้างภูมิปัญญาที่ต่อยอดออกไป ในขณะที่นักคิดอังกฤษ ให้น้ำหนักไปที่เนื้อหาของความคิด จึงไม่เน้นหนักไปที่ด้านของจริยธรรม แต่จะมองไปที่ผลรวมกว้างกว่าการสร้างคนให้เป็นคนดี ความที่มนุษยนิยมเป็นมรดกที่พวกเขาสืบทอดมาจากมนุษยนิยมกรีก ทำให้คุณค่าและความสำคัญของมนุษยนิยมในยุคสมัยใหม่มุ่งไปที่ชื่อเสียง และเกียรติภูมิของความเป็นอังกฤษที่วางอยู่บนปรัชญาอันสูงส่งนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นกล่าวสำหรับนักคิดและนักปรัชญายุโรป มนุษยนิยมก็คือความเป็นคลาสสิกนั่นเอง

จากเทววิทยาสู่กระฎุมพีพุทธในสยาม
ผมขอจบข้อคิดในเรื่องมนุษยนิยม ด้วยการเดินทางของความคิดมนุษยนิยมอเมริกาอันหนึ่งที่มายังเมืองไทย ข้อความต่อไปนี้เป็นบทแปลข้อเขียนตอนหนึ่งของเอมเมอร์สัน น่าสนใจมากว่าผู้แปลคืออาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อพูดถึงปัญหาการศึกษาและความรู้ของโลก

"อันความยั่วยวนมายาแห่งโลกเรานี้แหละ ที่ทำให้เราเกิดความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้เคร่งในการเรียน เป็นสมณแห่งวิทยาและผู้รักเรียนนั่นเองก็มีหน้าที่และสิทธิที่จะบังคับโลกให้เดินตามตน มิใช่ตนเดินตามโลก จงน้อมรับเอารสธรรมอันขจายตลบอยู่แล้วในของทุกสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นธรรมชาติ จงช่วยเป็นลิ้นให้ธรรมชาติได้กล่าวมธุรสกล่อมใจมนุษย์ และจงแสดงให้โลกอันโง่เขลาเล็งเห็นเสียทีว่า วิชาความรู้นี้ประเสริฐเพียงใด เมื่อเราเห็นอยู่ตำตาแล้วว่า กาลสมัยของเรานี้มีบาปอยู่หนาแน่น และบ้านเมืองของเรานี้ ความเท็จ ความชั่วดาษดื่นอยู่

ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายจงเข้าสู่ความร่มเย็นแห่งวิชาและแสวงหาความรู้ ซึ่งใครๆ เขาได้ละเลยเสียแล้ว ถึงแสงแห่งวิชานั้นจะริบหรี่ ก็จงพอใจเถิด เพราะแม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อย ก็ยังเป็นของของเราจริงๆ จงมุ่งหน้าค้นแล้วค้นอีกต่อไป อย่าได้ท้อถอย อย่าได้ทะนงจนถึงกับวางมือจากการค้นคว้าหาความรู้ อย่าเชื่อถือในความคิดของท่านจนงมงาย และก็อย่าหลงลืมผู้อื่นโดยไม่พิจารณาถึงเหตุผล ท่านมีสิทธิที่จะเดินทางข้ามทะเลทรายไปสู่วิชา ถึงจะเป็นทะเลทรายทุรกันดาร ก็มีดวงดาราส่องแสงอยู่แพรวพราว และเหตุไฉนเล่า ท่านจึงจะสละสิทธิข้อนี้ของท่านเสีย ไปชิงสุกก่อนห่ามโดยเห็นแก่ความสำราญ ที่ดินสักแปลง บ้านสัก ๑ หลัง และยุ้งข้าวสัก ๑ ยุ้ง วิชาเองก็มีหลังคา มีฟูก ที่นอน มีอาหารไว้ต้อนรับท่าน

"จงบำเพ็ญตนให้เป็นผู้จำเป็นแก่โลก มนุษยชาติก็จะนำอาหารมาสู่ท่านเอง แม้จะไม่ให้ถึงยุ้งถึงฉาง แต่ก็เป็นบำเหน็จชนิดที่ไม่ลบล้างบุญคุณของท่านที่ทำไว้แก่มนุษยชาติ ไม่ลบล้างความรักใคร่นิยมของคนทั้งหลาย และไม่ลบล้างสิทธิของท่านที่มีอยู่ต่อศิลปะ ต่อธรรมชาติ และต่อความหวังของมนุษย์"
(สุนทรพจน์ ณ ดาร์ทมัธคอลเลจ ถอดความและเรียบเรียงใน คำพูดและข้อเขียนของป๋วย อึ๊งภากรณ์ หน้า ๓๐๖-๗) ใน ถนนหนังสือ สิงหาคม ๒๕๓๐, หน้า ๔๔.

ผมคิดว่าแนวคิดมนุษย์นิยมอเมริกา ที่มีทั้งการให้ความสำคัญแก่จริยธรรม การเรียกร้องตนเองและการรู้จักโลก (10) เป็นแนวคิดที่มีเสน่ห์และสามารถรับได้ค่อนข้างเป็นธรรมชาติสำหรับนักคิดไทยพุทธ ดังนั้นผมจึงกล่าวว่ามนุษยศาสตร์ไทยก็ย่อมไม่เกิดวิกฤตทำนองเดียวกับอเมริกาเหมือนกัน.

(ต้นฉบับแก้ไขล่าสุด ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙)

++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) ดู George Fitzhugh, Sociology for the South, or The Failure of Free Society (Richmond, 1854); Henry Hughes, A Treatise on Sociology (Philadelphia, 1854).

(2) J.H. Plumb, ed., Crisis in the Humanities (Penguin Books, 1964), 10.

(3) ดูการวิวาทะแห่งยุคสมัยใน C.P. Snow, The Two Cultures: And a second look (New York: A Mentor Book, 1963).

(4) Graham Hough, "Crisis in Literary Education," in Plumb ed., Crisis in the Humanities, 96.

(5) ดูการวิเคราะห์อันลึกซึ้งในเรื่องนี้ใน Elizabeth Fox-Genovese and Eugene D. Genovese, The Mind of the Master Class; History and faith in the Southern Slaveholders' Worldview (Cambridge: Cambridge University Press, 2005), 521-27. และดู David M. Goldenberg, The Curse of Ham. Race and Slavery in Early Judaism, Christianity, and Islam (Princeton University Press, 2006).

(6) เจตนา นาควัชระ, วิกฤตการณ์ของมนุษยศาสตร์ (กรุงเทพฯ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๓๘), ๒๐.

(7) อ้างแล้ว, ๒๒.

(8) อ้างแล้ว, ๒๕.

(9) ดูรายละเอียดใน Donald H. Meyer, The Democratic Enlightenment (New York: Capricorn Books, 1976.

(10) ดู ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ "ปริศนาความรักใน"ข้างหลังภาพ" วารสารภาษาและหนังสือ ปีที่ ๓๕ (๒๕๔๗) , หน้า ๑๒๑-๑๓๔)

 

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

หากเราพิจารณาลัทธิมนุษยนิยมยุโรปว่ามิติสำคัญคือ การสร้างสิ่งที่เรียกว่าความรู้ทางโลก หรือการแยกศาสนาออกจากสังคม (secularization) ก็จะเป็นความแตกต่างกับของอเมริกาได้ชัดเจนมากขึ้น กล่าวได้ว่าปรัชญาแสงสว่างอเมริกานั้น ไม่ได้เน้นไปที่การสร้างความรู้ทางโลกวิสัยด้านเดียว หากแต่มุ่งไปที่การประสานระหว่างศาสนากับโลกวิสัย แม้ในทางการเมืองจะประกาศว่ามีการแยกอย่างเด็ดขาดระหว่างศาสนากับการเมือง แต่ในทางปฏิบัติเป็นที่รู้กันว่า กลุ่มและขบวนการศาสนานิกายต่างๆ มีบทบาทและมีพลังทางการเมืองสูงมากในอเมริกา ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๘ กระทั่งปัจจุบันในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นสาวกของนิกาย fundamentalism

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น