นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


The Midnight University



การเมือง การบริหาร การจัดการทรัพยากร และการมีส่วนร่วม
เสียงจากชาวบ้าน : การเมืองตะวันออกต่างจากตะวันตก
ทีมงาน วิทยาลัยการจัดการทางสังคม
สถาบันการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ได้รับมาจาก อ.ชัชวาล ทองดีเลิศ วิทยาลัยการจัดการทางสังคม
เป็นบทรายงานการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม
ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองในชุมชน การบริหารจัดการ
การดูแลทรัพยากร องค์กรเครือข่ายโดยยึดหลักคุณธรรมชุมชนเป็นพื้นฐาน

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 931
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 16.5 หน้ากระดาษ A4)



เสียงจากชาวบ้าน : การเมืองตะวันออกต่างจากตะวันตก
ทีมงาน วิทยาลัยการจัดการทางสังคม

รูปธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลสมานฉันท์
ประสบการณ์จริงจากบ้านนอกที่สอนคนเมือง
บทรายงานต่อไปนี้ เป็นข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์จริงเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนต่างๆในเขตรอบนอก ๔ อบต. ซึ่งเกี่ยวพันกับการเมืองในชุมชน ตำบล หมู่บ้าน การบริหารจัดการ การดูแลทรัพยากร องค์กรเครือข่าย โดยยึดหลักคุณธรรมเป็นพื้นฐานการพัฒนา

1. องค์การบริหารส่วนตำบลสมานฉันท์ อบต. น้ำเกี๋ยน จ.น่าน
2. องค์การบริหารส่วนตำบลสมานฉันท์ อบต.แม่ทา จ. ลำพูน
3. องค์การบริหารส่วนตำบลสมานฉันท์ อบต. บ้านต๊ำ จ. เชียงใหม่
4. องค์การบริหารส่วนตำบลสมานฉันท์ อบต. ห้วยปูลิง จ. แม่ฮ่องสอน

1. องค์การบริหารส่วนตำบลสมานฉันท์ อบต. น้ำเกี๋ยน จ.น่าน
1.1 ชุมชนแห่งนี้มีตำนาน
น้ำเกี๋ยน เป็นตำบลเล็กๆ ตั้งอยู่ที่กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน มีเนื้อที่ประมาณ 86 ตารางกิโลเมตร หรือ 53,750 ไร่ ระยะทางห่างจากกิ่งอำเภอภูเพียง 3 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมือง 5 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขาและภูเขา ทางด้านทิศตะวันออกของตำบล มีพื้นที่ป่าต้นน้ำซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำเกี๋ยนที่ไหลผ่านหล่อเลี้ยงชุมชน

ตำบลน้ำเกี๋ยนแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านน้ำเกี๋ยนใต้, บ้านน้ำเกี๋ยนเหนือ, บ้านต้นกอก, บ้านใหม่พัฒนา, และบ้านใหม่สันติสุข. มีจำนวนครัวเรือน 752 จำนวนประชากร 2,680 คน เป็นชาย 1.388 คน เป็นหญิง 1,292 คน ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองที่อยู่สืบลูกหลานมานานร้อยกว่าปี ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เพียง 20 ครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์ มีโบสถ์คริสต์ 1 แห่งชื่อโบสถ์กันธาทิพย์กิตติคุณ มีวัด 1 แห่งคือวัดโป่งคำ มีโรงเรียน 1 แห่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาถึงชั้นมัธยมต้น และสถานีอนามัย 1 แห่ง ประชากรส่วนใหญ่ใช้ชีวิตตามระบบเครือญาติ ตระกูลใหญ่มีอยู่ประมาณ 10 ตระกูล นามสกุลส่วนใหญ่ขึ้นต้นด้วย ดี ด้วยคำว่า "ดี" เช่น ดีพรหมา, ดีปานา, ดีอิ่นคำ, ดีปินตา, ดีสีใส, ดีค่ายคำ, ดีอุต, ดีคำวงค์, และบางตระกูลขึ้นต้นด้วย เกี๋ยน เช่น เกี๋ยนเรือน, เกี๋ยนคำ, เกี๋ยนสืบ เป็นต้น

ความสัมพันธ์ของคนในตำบลเชื่อมโยงกันผ่านความเชื่อ นับถือในผีปู่ย่าเดียวกัน และศรัทธาวัดเดียวกัน คือวัดโป่งคำ หรือกรณีของผู้นับถือคริสต์ ก็จะไปโบสถ์เดียวกัน นอกจากนั้นยังมีระบบกลุ่มเสี่ยว หรือกลุ่มรุ่น (กลุ่มคนที่เกิดปีเดียวกัน) มาเป็นตัวเชื่อมโยงและยึดเหนี่ยวจิตใจคนในตำบล

1.2 เป็นตัวของตัวเอง ทำตามวิถีชุมชน
การทำงานชุมชน สิ่งแรกต้องมองคือ เรื่องกำกึ๊ด (วิธีคิด) ซึ่งสำคัญมาก ในประเด็นเรื่องการเมือง วิธีคิดของคนในซีกโลกตะวันตกไม่เหมือนบ้านเรา ตะวันตกมองการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ ผลประโยชน์. คนบ้านเราจึงมองว่าการเมืองมีแต่ความเลวร้าย สิ่งทั้งปวงที่เลวร้ายถือว่าเป็นการเมือง แต่ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่เลวร้ายเป็นอย่างไร? สมัยก่อน เรามีทั้งแก่เหมือง แก่ฝาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีของคนในสมัยนั้น แต่ไม่ได้นำมาพูดคุยกัน กลับพูดเรื่องการเลือกตั้ง การเมือง การใช้อำนาจ การปกครอง ฉะนั้นจึงมองการเมืองที่เรารับมาว่า เป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์เหมือนโลกตะวันตก

เมื่อแนวคิดเรื่องการเมืองเป็นแบบตะวันตก หลายครั้งผู้นำของเราก็ตามกระแส เมื่อเข้ามาเป็นผู้นำ คิดแต่จะเอารถประจำตำแหน่งหรูหราราคาแพง รถธรรมดาไม่เอา ต้องเป็น 4 ประตู ต้องขับเคลื่อน 4 ล้อ เข้ามาครั้งแรกไม่ได้พูดเรื่องชาวบ้าน พูดแต่เรื่องตัวเองก่อน นี่คือความจริง ดังนั้น ตำบลน้ำเกี๋ยนจึงมีวิธีคิด ดังนี้

1.3 จะให้อะไรกับชาวบ้าน
สิ่งนี้สำคัญมาก ไปเยี่ยมคนเฒ่าคนแก่ เด็กกำพร้า พี่น้องผู้ติดเชื้อ ไปให้กำลังใจ ท่าทีมีน้ำใจแบบคนเหนือมีค่ามากสำหรับบ้านเรา ตำบลน้ำเกี๋ยนมีอีกกลไกคือ กลุ่มรุ่น กลุ่มเสี่ยว แต่ละคนมีกลุ่มที่ตนสังกัดอยู่ เวลามีใครในกลุ่มไม่สบายก็ไปเยี่ยมให้กำลังใจ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือโรงพยาบาล นี่เป็นวิถีปกติของบ้านเรา พี่น้องชาวพุทธนั้นให้พระไปทำพิธีสู่ขวัญ คนเป็นคริสมีอาจารย์อธิษฐานให้ มีความเชื่อและศาสนาเป็นสิ่งที่หล่อหลอมใจ น้ำเกี๋ยนทำงานแบบ บวรส. มาตลอด บวรส. มีที่มาดังนี้ บ-บ้าน, ว-วัด หรือ โบสถ์, ร-โรงเรียน ครู อาจารย์ต้องช่วยกัน, ส-ส่วนราชการ ที่พร้อมประสานความร่วมมือ

1.4 วิธีคิด ภาวะผู้นำ
เมื่อผู้นำมีวิธีคิด สิ่งที่ตามมาคือ วิธีการ น้ำเกี๋ยนไม่เอาป้าย อบต.เป็นหินอ่อน แต่เอาป้ายไม้ -ไม้ที่ได้จากการยึดมาจากคนที่ลักลอบตัด ทั้งนี้เพราะในขณะที่พี่น้องชาวบ้านลำบาก ไม่ทำป้ายหินอ่อนซึ่งราคาแพง นี่คือวิธีการที่ตอบสนองต่อความคิด หากวิธีคิดและวิธีการไม่สอดคล้องกัน อบต. ก็จะกลายเป็นจำเลยของสังคมไป

1.5 ต้องค้นหาความเป็นตัวตนของชุมชน
หลายครั้ง การทำงานต้องทวนนโยบายของรัฐ เช่น การเก็บภาษี อบต. น้ำเกี๋ยนจะเก็บภาษีเท่ากับ อบต.ที่อยู่ในเขตที่มีนิคมอุตสาหกรรม ย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ต้องพูดอีก 10-20 ปีข้างหน้า ชาตินี้ก็เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นต้องค้นหาตัวตนที่แท้จริงของน้ำเกี๋ยนให้พบ ถ้าปิดถนนไม่ให้คนน้ำเกี๋ยนออกไปในเมือง เพื่อไม่ต้องพึ่งคนข้างนอก คนน้ำเกี๋ยนสามารถอยู่ได้ นี่เป็นส่วนหนึ่งในการค้นหาความเป็นชุมชนของตนเองโดยใช้วัฒนธรรมจารีตประเพณีเป็นฐาน การเมืองใหญ่ในปัจจุบันไม่มีสิ่งเหล่านี้ แต่น้ำเกี๋ยนมี ดังนั้น การเลียนแบบการเมืองนอกท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว คิดว่าไปไม่รอด เพราะเป็นการเลียนแบบที่ไม่ได้เป็นตัวเรา

1.6 42 ขุนศึก ไม่ตกไปอยู่ภายใต้กลลวงระบบการเมืองภายนอก
ตำบลน้ำเกี๋ยนมีแกนนำสำคัญ 42 คน เรียกกันว่า 42 ขุนศึก ขุนศึกทั้ง 42 คนได้เรียนรู้ร่วมกันว่า ผู้นำจะไม่ไปติดตามพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง เพราะชุมชนน้ำเกี๋ยนไม่ได้ขึ้นหรือสังกัดอยู่กับพรรคการเมืองใดหรือบุคคลคนใด แม้ในความเป็นจริงผู้นำบางคนมีโยงใยกับพรรคการเมือง ผู้นำกลุ่มใหญ่จึงวิเคราะห์ว่า ถ้าทำแบบนั้น ชุมชนจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง สมัยก่อนผู้นำของเราไม่ว่าจะเป็นนายก กำนัน ล้วนติดสอยห้อยตาม สส. แต่ผลสุดท้าย ไม่ได้อะไร

เมื่อสรุปให้เห็นภาพรวมแล้วก็ต้องย้อนกลับมาดูตัวเอง ดูงบประมาณที่เรามี ช่วยกันจัดการงบประมาณให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องชาวบ้าน มี 10 บาทก็ใช้ 10 บาท มี 20 บาทก็ใช้ 20 บาท งานใดทำเองได้โดยไม่ต้องใช้เงินก็ทำเสียเอง เช่น พระถนัดหรือสอนตัวเมืองได้ ก็ให้พระสอน เอาเด็กในชุมชนไปเรียนตัวเมือง ฯ พยายามให้ความสำคัญกับสิ่งที่ดีๆ

ในหมู่บ้านเรา สมัยก่อนน้ำเหมืองพังก็ช่วยกันถมเหมือง แต่การเมืองกระแสใหญ่ทำให้ชาวบ้านไม่รู้จักพึ่งตนเอง มีปัญหาอะไรก็ต้องไปหาอบต. ให้ อบต. ทำ ให้ อบต. ช่วย เช่น ชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องน้ำ ลำเหมืองขาด น้ำไหลทะลักเข้านาตัวเองก็ต้องรอให้ อบต. ไปทำให้ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนหากมีปัญหาอะไร ชาวบ้านต้องช่วยกันทำ แต่เดี๋ยวมีอะไรต้องแบบมือขอ อบต. นี่เป็นจุดอ่อนของการเมืองแบบใหม่ ที่ทำให้ความดีงาม ความร่วมมือในชุมชนเราหายไป

1.7 ร่วมคิด ร่วมทำ
รูปแบบที่ถูกออกแบบมาจากรัฐในเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ เป็นรูปแบบที่เราคนในชุมชนไม่ได้ร่วมกันคิดและตัดสินใจ หลายๆอย่างจึงไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนของเรา ดังนั้น เมื่อเราต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในตำบล จึงต้องคิดรูปแบบที่เหมาะสมกับวิถีของเราเอง เช่นมาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติดฯ หากย้อนไปดูกฎหมาย จะเห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะมาจากกฎหมายทั้งนั้น หลายเรื่องที่รัฐสั่งให้ทำไม่เกิดประโยชน์กับชุมชน เช่น โครงการลานกีฬา สร้างเสร็จกลายเป็นที่ตากข้าวโพดของชาวบ้าน ไม่มีใครไปเล่น เพราะมันไม่ตรงกับวิถีชีวิตชาวบ้าน

รูปแบบจึงสำคัญมาก ถ้าชุมชนเข้มแข็งเข้าใจกัน ทำงานแบบไม่มีใครเป็นใหญ่ ความขัดแย้งย่อมไม่เกิดขึ้น เราสามารถรับมือกับแรงกระแทกกระทั้นจากภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งฝ่ายบริหาร (คือ อบต.) และฝ่ายปกครอง (กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ) ต้องช่วยกันทำงานเพื่อตำบล นายกฯ หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน ไม่ทำตัวเป็นผู้มีอำนาจที่เอาแต่สั่งหรือนั่งชี้นิ้ว ไม่มีใครเป็นพระเอก ทำงานแบบเสมอภาค อบต.สมัยนี้คือสภาตำบลสมัยก่อนนั่นเอง อบต.จึงรับงานที่เคยเป็นของสภาตำบลไปทำและรับผิดชอบ อย่าแบ่งฝ่าย หรือถือว่าไม่ใช่หน้าที่ เลยแยกขั้วกันสุดๆ

ที่น้ำเกี๋ยน นายก อบต.ก็ไปอยู่เวรยามเหมือนฝ่ายปกครอง นี่เป็นลักษณะการทำงานด้วยความเข้าใจกัน ปัญหาทุกปัญหาใช้เวทีชาวบ้านช่วยกันแก้ไข ไม่ว่าปัญหาใหญ่น้อย ต้องจัดเวที แม้กระทั่งชาวบ้านเป็นเหายังช่วยกันจัดเวทีแก้ไข

1.8 ผู้นำที่ดีต้องมีจริยธรรม
การสมัครนายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำเกี๋ยน ที่ผ่านมามีทีมที่ลงสมัครเลือกตั้ง 2 ทีม การแข่งขันไม่รุนแรง เพราะระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเป็นระบบเครือญาติ ส่วนนายกคนปัจจุบัน (นายสนิท สายรอคำ) ได้รับการทาบทามจากผู้นำของตำบลให้ขึ้นมาสมัครเป็นนายก เนื่องจากเป็นเคยทำงานกับชุมชนมายาวนาน

การหาเสียงที่นายกคนปัจจุบันมีเพียงการ ติดป้าย โดยกลุ่มญาติพี่น้องเดียวกันก็ได้ไปช่วยกันติดป้าย ใช้งบประมาณในการหาเสียงครั้งนั้นประมาณ 1,000 กว่าบาท นอกจากการแนะนำตัวกับชาวบ้านในเวทีที่ทางชุมชนจัดให้แล้ว นายกฯได้เข้าไปขอคำชี้แนะจากผู้อาวุโสของหมู่บ้านประมาณ 10 คน เพื่อขอความเห็นในเรื่องการลงสมัครของตน และเรื่องการกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชน

คนตำบลน้ำเกี๋ยนมีวิธีคิดในการเลือกผู้นำที่จะอาสามาเป็นตัวแทนของตนเองว่า ควรเป็นบุคคลที่มีความตั้งใจสูงที่จะทำงานเพื่อชุมชน เป็นคนที่ทำงานเพื่อสังคม มีจิตใจเสียสละ ที่สำคัญคือ ความมีใจฮักเมืองน่าน ชาวบ้านต้องการผู้นำที่ใจซื่อ มือสะอาด เป็นผู้นำที่ดี ซื่อสัตย์ โปร่งใส เดินไปด้วยกันได้ แต่งกายแบบเดียวกัน นายกต้องไม่รับเหมาการก่อสร้างในหมู่บ้าน ต้องไม่มาเพราะผลประโยชน์ของชุมชน

นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือผู้นำท้องถิ่นที่ดีควรมีความโปร่งใส ใจซื่อ มือสะอาด ทำตัวเป็นที่เคารพนับถือ เป็นที่น่าเชื่อถือของชาวบ้านและไม่ถือตัว ต้องเป็นคนดีจริงๆ ทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย ทั้งก่อนและหลังเป็นนายกฯต้องไม่ต่างจากที่เคยเป็น ทำงานร่วมกับสมาชิกฉันท์พี่น้อง และต่างมีความศรัทธาให้กัน ทำในสิ่งที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ สละเวลาให้ชาวบ้านในบทบาทคนสาธารณะ เพราะอาสามาช่วยเหลือชาวบ้าน นำชาวบ้านไปสู่การเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นคนประเภท "คำพูดอยู่ที่การกระทำ" คนบ้านน้ำเกี๋ยนนี้มีอะไรก็มาบอกกันตรงๆ โปร่งใส หากมีอะไรเกิดขึ้น ข้อมูลต้องถึงชาวบ้าน ถึงผู้นำฝ่ายปกครอง ต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรู้ หรือ "เขาต้องรู้อย่างที่เรารู้"

เมื่อผู้นำมีวิสัยทัศน์ดี ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน งานหนักเอาเบาสู้ ประสานการปฏิบัติกับท้องที่ได้ตลอด มีอะไรก็ปรึกษาหารือกัน ไม่ยึดติดตำแหน่ง ชาวบ้านจะเกิดความศรัทธา ความร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาท้องถิ่นย่อมเป็นเป็นรูปธรรม นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของชุมชน

ชาวน้ำเกี๋ยนมีความศรัทธาในตัวผู้นำของตนเอง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยนมีบุญ บุญที่สืบเนื่องมาจากการกระทำ ร่วมกันทำกรรมดี มีกระบวนการการทำงานเชิงบูรณาการ ทำงานร่วมกันตั้งแต่เด็ก เยาวชน และคนเฒ่าคนแก่ ทุกคนต่างแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เด็กเรียนรู้จากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เรียนรู้ร่วมกับเด็ก ช่วยกันหา ช่วยกันค้นต่อไป เด็กเรียนรู้จากผู้ใหญ่ที่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างของผู้นำที่ดี แล้วจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของชุมชนและสังคมฝนอนาคต

2. องค์การบริหารส่วนตำบลสมานฉันท์ อบต.แม่ทา จ.ลำพูน
2.1 ระบบการเมืองแบบชาวบ้านอุปถัมภ์ผู้นำ
ชุมชนแม่ทาเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้เมือง ความเจริญเข้าไปเร็วมาก ชุมชนค่อนข้างมีความหลากหลายทั้งเรื่อง อาชีพ จิตใจผู้คนเปลี่ยนแปลงไปมาก หนึ่งในจุดแข็งเรื่องของการเมืองของแม่ทาที่ไม่สร้างความขัดแย้ง คือ กำนันตำบลแม่ทา มีสายสัมพันธ์เป็นบิดาของนายก อบต. ดังนั้น การทำงานจึงเป็นการเชื่อมสายกันระหว่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กับ อบต.

ในอดีต ชาวบ้านตำบลแม่ทามีวิถีชีวิตอยู่กับระบบอุปถัมภ์ผู้นำตลอดมา เวลาชาวบ้านฆ่าวัวจะเอาไส้วัวไปให้กำนันกินก่อน หรือลาบเนื้อก็เอาเนื้อให้กำนันลาบก่อน แม้กระทั่งพริก เกลือ ก็แบ่งปันให้กำนัน กำนันแทบจะไม่ต้องทำนาเองเพราะชาวบ้านช่วยกันลงแรงทำให้เสร็จตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ปัจจุบันนี้ก็ยังมีระบบชาวบ้านอุปถัมภ์ผู้นำแบบนี้อยู่ ตัวผู้นำก็ทำงานให้ชาวบ้านอย่างเต็มที่ หากมีผู้นำแบบนี้หลายคนๆ จะเป็นสิ่งที่ดีกับชุมชน

เดิมกำนันมีบทบาททั้งการปกครองและบริหาร ดังนั้น การทำงานค่อนข้างชัด ควบคุม-ดูแลทั้งงบประมาณ และการบริหารบุคลากร แต่พอปี 2543 แยกจากสภาตำบลเป็น อบต. จึงเกิดขั้วใหม่ขึ้นคือ อบต. ส่วนกำนันเริ่มลดบทบาทลง กำนันมีหน้าที่แค่จูงเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องหอ หรือร่วมพิธีบังสกุล นอกเหนือจากนี้ ล้วนเป็นบทบาทของนายก อบต.

ในยุคแรกของการเมืองระบบ อบต. ตำบลแม่ทาได้ผู้นำอบต.ที่มองเรื่องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก ไม่ได้มองถึงฐานเดิมของชุมชนแม่ทา ที่ทำเรื่องการจัดการทรัพยากร เรื่องการเกษตร ไม่มีการเรียนรู้ มีแต่เที่ยวรับเหมาก่อสร้าง ไม่ทำงานร่วมกันทั้งปกครอง และการบริหาร ทำให้เกิดปัญหา และแบ่งเป็น 2 ขั้ว

เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ในปี พ.ศ. 2547 มีความเห็นกันในกลุ่มว่า ทำอย่างไรทำให้แนวคิดของกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มจัดการป่า กลุ่มเกษตรยั่งยืน ฯลฯ เข้าไปอยู่ใน อบต. ในแม่ทามีสิ่งที่ดีมากมาย แต่เมื่อก่อนในสภาตำบลเราค่อนข้างทุ่มเทการทำงานในด้านการจัดการป่า เกษตรยั่งยืน การรวมกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งงานเหล่านี้จะอยู่ในแผนของสภาตำบล เป็นงานหลักที่สภาตำบลต้องทำ

ในเรื่องวิถีชีวิตชาวบ้าน ชุมชนแม่ทาสามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่เมื่อมีการแบ่ง 2 ขั้วออกไปทำให้นโยบายของตำบลเปลี่ยนแปลงไป พอเวลาผ่านไป 4 ปี ต้องกลับมาคิดว่าเรื่องเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในตำบลได้อย่างไร ทำอย่างไรให้คนแม่ทาพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด? เพราะดูแล้วว่าตำบลแม่ทา ถ้าไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ก็จะไปไม่รอด และการบริหารงานใน อบต.ก็นำเรื่องเหล่านี้นำไปบริหารงาน โดยพยายามปลุกคนเก่าๆ ที่ล้าไปเพราะต่อสู้กับ อบต. ชุดเก่าให้กลับมาทำงาน

2.2 การเมืองท้องถิ่น ครั้งแรกของการเลือกตั้ง นายก อบต.
ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ในครั้งที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแบบเลือกตรงเป็นครั้งแรก มีผู้ลงสมัครแข่งขันรับเลือกตั้ง 5 คน โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาคนปัจจุบันคือ นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน ซึ่งชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงประมาณ 1,300 คะแนน ทิ้งห่างจากผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่สองซึ่งได้ประมาณ 700 คะแนน

การเมืองท้องถิ่นบ้านในตำบลแม่ทาที่ผ่านมา นับจากมีการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น จนได้รูปแบบการปกครองเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)จนถึงปัจจุบัน ผ่านการมีผู้บริหารงานส่วนท้องถิ่นมาหลายคนและจากหลากหลายวิธีการคัดสรร อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดถึงการอยู่ร่วมกันได้ในชุมชนเป็นอย่างดี คือการทำงานร่วมกัน รู้แพ้ชนะในทางการเมือง และระบบเครือญาติที่ผูกพันแน่นแฟ้น ดังที่นายอินทร ปูเฟย ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทากล่าวไว้ "เราเป็นญาติพี่น้องกัน เป็นเพื่อนบ้าน เป็นคนในชุมชนเดียวกัน มองไปทางไหนก็เป็นพี่น้องกัน วันสมัครก็แข่งกัน หลังจากนั้นก็พี่น้องกัน"

ในการแข่งขันการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโดยการเลือกตั้งตรงเป็นครั้งแรก การแข่งขันในการหาเสียงของตำบลแม่ทา เป็นการหาเสียงด้วยวิธีการพูดคุยและแนะนำตัวกับชุมชน โดยทีมของนายกฯ กนกศักดิ์ ใช้เงินหาเสียงไป 6,000 บาท และรวมกับค่าใบสมัครอีก 2,000 บาท เป็นการใช้เงินลงทุนในการหาเสียงเพียง 8,000 บาท ซึ่งหมดไปกับค่าป้ายผ้า ค่าถ่ายเอกสารและค่าป้ายแนะนำตัวไม้อัดเท่านั้น

ในช่วงของการหาเสียงนั้นจะทำในรูปแบบของการนำเสนอนโยบาย เข้าไปพูดคุยเป็นทีมและมีการแยกกันพูดคุยกับหมู่บ้านของแต่ละคน อาศัยความคุ้นเคยและความเป็นเครือญาติเป็นสะพานเชื่อมให้เข้าไปพูดคุยและชี้แจงนโยบาย โดยจะชี้แจงถึงสิ่งที่จะทำรวมถึงนำเสนอผลงานที่ผ่านมาของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีการพูดโจมตีผู้สมัครรายอื่นๆ ในเรื่องงานหรือส่วนตัว

แต่ว่าจะมีการโจมตี หรือมีข้อคำถามที่ว่า ผู้สมัครเป็น NGOs ซึ่งชาวบ้านบางคนไม่เข้าใจว่า NGOs คืออะไร จึงต้องมีการพูดคุยให้ความเข้าใจกับชาวบ้านที่สงสัยว่า NGOs คืออะไร ซึ่งจริงๆ แล้ว NGOs ก็คือคนที่ทำงานกับชุมชน ทำงานกับชาวบ้าน คือลูกคือหลาน ก็ช่วยให้เกิดความเข้าใจขึ้นในระดับหนึ่ง ที่สำคัญในพื้นที่ตำบลแม่ทาความสำพันธ์ในระบบเครือญาติก็จะใช้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นในช่วงของการเลือกตั้ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ถูกมองคือ ผลงานเป็นตัวตัดสินมากกว่าความเป็นเครือญาติหรือพวกพ้อง

2.3 ขึ้นเวทีก็เหมือนกับการชกมวย แต่เมื่อลงมาก็เป็นพี่น้องกัน
การเลือกตั้งในแม่ทา ปี พ.ศ. 2547 มีผู้สมัครนายก อบต. 5 คน เป็นการเลือกตั้งที่ค่อนข้างเข้มข้น คนแรกเป็นนายกคนเก่า, คนที่สองเป็นตัวแทนนักการเมือง, คนที่สามเป็นประธานสภาเก่า, คนที่สี่เป็นผู้ใหญ่บ้านเก่า, คนที่ห้า (นายกคนปัจจุบัน) เป็นลูกชายของกำนัน มีพื้นฐานการทำงานเดิมกับกลุ่มจัดการป่า เกษตรยังยืน ฐานเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกนายกคนปัจจุบันเข้ามาเพราะพ่อเป็นกำนัน รองลงมาเป็นเรื่องการทำงานกับชุมชนมาตลอด

อยากจะเสนอความแตกต่างระหว่างสภาตำบลเดิมกับอบต. ในปัจจุบัน ถ้าได้เข้าไปทำงานจะทำให้เหมือนกับสภาตำบลเดิม เป็นภาพที่นำเสนอและเปรียบเทียบกัน สู้กันดุเดือดในช่วงหาเสียง การหาเสียงช่วงนั้นพูดคุยกันว่ามีนโยบายอย่างไร นายกคนเก่าบอกว่าจะทำถนนหนทาง ไฟฟ้า ทำเหมือนเดิม คนที่เป็นสายนักการเมืองก็บอกว่า จะต่อกับสายนักการเมืองใหญ่ดึงงบประมาณเข้ามาในตำบล. นายกคนปัจจุบันนำเรื่องการจัดการทรัพยากร และการพัฒนาชุมชนเป็นหลักเข้าไปหาเสียง เมื่อขึ้นเวทีก็เหมือนการชกมวย แต่เมื่อลงมากลับเป็นพี่น้องกัน ผู้ที่ลงแข่งอบต. ขอมาเป็นรองนายก, อีกท่านขอเป็นประธานแม่บ้านตำบล เป็นการทำงานร่วมกัน

หัวใจสำคัญที่ทำให้ทีมของนายกนกศักดิ์ ได้รับการคัดเลือกให้มาเป็นทีมผู้บริหารในครั้งนี้คือ ความเข้มแข็งของทีมงานซึ่งเป็นคนที่ทำงานกับชุมชนมาโดยตลอด ดังนั้น ในช่วงเวลาหาเสียง ทีมจึงสามารถพูดถึงผลงานจากการทำงานกับชุมชนมาโดยตลอด ทำให้ชาวบ้านมองเห็นภาพและสร้างความน่าเชื่อถือได้ ดังนั้นจึงได้รับคะแนนเสียงจากชาวบ้านให้มาเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งๆ ที่คู่แข่งคนสำคัญเคยเป็นรองนายก อบต. และเคยเป็นประธานสภา อบต. มาก่อน. อย่างไรก็ตาม เมื่อเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง นายกนกศักดิ์สามารถประสานคู่แข่งให้เข้ามาทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

2.4 ธรรมมาภิบาล หลักการทำงานของผู้นำ
กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน กล่าวว่า "เมื่อได้มาทำงานเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแล้วแนวทางการบริหารงานจึงเป็นแบบการกระจายอำนาจการตัดสินใจให้กับสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้มีโอกาสในการคิดตัดสินใจ" อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด ด้วยการจัดเวที อบต. สัญจรทุกหมู่บ้านสลับกันไปในแต่ละเดือน โดยเวที อบต. สัญจรจะเป็นเวทีที่ทำให้ชาวบ้านสามารถรับทราบถึงการทำงานของ อบต. และสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ให้กับ อบต. ได้ ซึ่งในการทำงานของอบต. ถ้าชาวบ้านเห็นว่าอะไรที่ไม่ดี ไม่สมบูรณ์ ก็จะสามารถเข้ามาทำให้ดี มาร่วมกันเติมแต่งให้สมบูรณ์ที่สุด "การทำงานจะไม่มีการทดลองทำ แต่จะทำเลย" และที่สำคัญทำให้เห็นปัญหาต่างๆ ของชุมชนมากมาย

การทำงานขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาในขณะนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ฝ่ายบริหารและฝ่ายสภาตำบล และเป็นการประสานการทำงานกันกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยมองถึงประโยชน์ของชุมชนเป็นสำคัญ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องระวังมุมมองของคนอื่นๆ ที่อาจมองได้ว่าการทำงานร่วมกันมากๆ จะกลายเป็นลักษณะของการได้ประโยชน์ร่วมกันหรือเปล่า ดังนั้น การทำงานจึงต้องระมัดระวัง ต้องยึดหลักความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกเรื่อง

เครื่องมือสำคัญในการทำงานอย่างหนึ่งคือ การจัดให้มีการประชุมสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นประจำทุกเดือน ไม่ต้องรอสมัยประชุม ซึ่งถ้ามีปัญหาอะไรจะได้ทำได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังมีการประชุมนอกรอบกันบ่อยเพื่อพูดคุยกัน แก้ปัญหาร่วมกัน วางแผนการทำงานร่วมกัน สร้างการมีส่วนร่วมในการทำงาน หรือที่เรียกว่าการทำงานเป็นทีม ไม่ว่าในอดีตจะเป็นอย่างไรมีข้อขัดแย้งกันอย่างไร แต่เมื่อต้องมานั่งทำงานร่วมกันก็สามารถทำงานร่วมกันได้ พยายามหลอมให้เป็นเนื้อเดียวกัน

คิดว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นตัวแทนที่คนในชุมชนเลือกขึ้นมาเป็นตัวแทนที่จะต้องทำงานร่วมกับทุกฝ่าย เป็นผู้นำในองค์กร ประสานงานในชุมชน เป็นบุคคลที่จะคลี่คลายความขัดแย้งภายในชุมชน และหรือภายนอกชุมชน ประสานแหล่งทุน หน่วยงานรัฐบาลหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับชุมชน

2.5 สภาประชาชน อำนาจชาวบ้าน
แกนนำเครือข่ายเกษตรและเครือข่ายทรัพยากร พูดถึงสภาประชาชนตำบลแม่ทาว่า การเลือกตั้ง อบต.ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายปกครอง เมื่อเริ่มเห็นปัญหาจึงต้องกลับไปคิดถึงระบบเก่า หรือสภาประชาชนในการตัดสินใจเอาใครเข้ามาเป็นอะไร ชาวบ้านเป็นคนเลือกในนามของสภา เพราะสภาประชาชนการรวมคนของคนทั้งตำบล พ่อบ้าน แม่บ้าน เยาวชน กลุ่มหมอเมืองต่างๆ มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการพัฒนา เรื่องคน เรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องของคนที่จะมาเป็นผู้นำ ต้องมีการวางแผนไว้ก่อน เช่น

การเลือกนายก อบต. สภาประชาชนแม่ทากำหนดคุณสมบัติไว้ 10 ข้อ เช่นต้องเป็นคนซื่อสัตย์ ฯ เรามองคุณสมบัติของนายกฯ หรือกำนัน ต่างจากการมองของบคคลภายนอกที่ส่วนมากจะเน้นแค่เรื่องวุฒิการศึกษา อายุ จริงๆ มันไม่ใช่วิถีชีวิตของชาวบ้าน เรื่องให้ความสำคัญกับคนที่มีการศึกษา ทำให้คนที่มีการศึกษาน้อยกว่า ต่ำกว่าไม่มีคุณค่า ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ คุณค่าของคนเป็นผู้นำไม่ได้อยู่ที่ว่าจบอะไรมา

3. องค์การบริหารส่วนตำบลสมานฉันท์ อบต. บ้านต๊า จ.เชียงใหม่
3.1 กว่าจะมาเป็น นายก อบต.
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านต๊ำ (อบต. บ้านต๊ำ) เป็น อบต. ชั้น 5 มีเจ้าหน้าที่ และลูกจ้างทั้งสิ้น 13 คน ประชาชนที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งมีจำนวน 5,751 คน การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่ผ่านมามี ผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 4 ทีม

การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครแต่ละทีมไม่มีความรุนแรง ไม่มีการโจมตีกัน แต่เป็นการแนะนำตัวสมาชิก และนโยบายของทีมตัวเองมากกว่า เป็นการหาเสียงที่ใช้หลักการถ้อยทีถ้อยอาศัย เมื่อเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ทีมที่แพ้ก็ยอมรับทีมที่ชนะและประสานการทำงานเพื่อท้องถิ่นร่วมกัน

สถานการณ์ช่วงระยะเวลาตอนหาเสียงนั้น ทุกทีมได้ออกแนะนำตัว แถลงนโยบายกับชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน บรรยากาศคึกคัก แต่ไม่มีอะไรรุนแรง ในส่วนของทีมนายประพันธ์ มูลข้าว (นายกฯ คนปัจจุบัน) ออกหาเสียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในการลงพื้นที่ทีมงานได้แบ่งพื้นที่กันทำงาน การหาเสียงเป็นการเดินเข้าไปแนะนำตัวเอง แนะนำนโยบายของทีมตามบ้านต่างๆ นอกจากการเดินแบบเคาะประตูบ้านแล้ว ยังใช้รถหาเสียง สื่อที่ใช้ก็มีคัทเอาท์ขนาดใหญ่ และแจกแผ่นพับที่ทีมงานได้ทำขึ้นเอง

ช่วงเวลาที่ใช้ในการหาเสียงประมาณ 1 เดือน เพราะชาวบ้านทั้งตำบลเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันอยู่ก่อนแล้ว งบประมาณที่ใช้ในการหาเสียงครั้งนั้น หมดไปกับการทำสื่อแนะนำตัว และเป็นค่าน้ำมันรถที่ใช้กระจายเสียงไปประมาณ 10,000 กว่าบาท นอกจากนั้นก็ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ต้องจ่าย เพราะการเลือกตั้งนายก อบต. บ้านต๊ำ ไม่มีการแจกเงินซื้อเสียง ไม่ว่าจะจากผู้สมัครทีมใด

ในช่วงของการหาเสียงนั้นความมั่นใจว่าตัวเองจะได้รับการเลือกตั้งอยู่ที่ 50 - 50 เปอร์เซ็นต์ และสาเหตุที่ชาวบ้านเลือกทีมของประพันธ์ ก็เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่มั่นใจว่า "พวกเราเป็นคนซื่อ ทำงานได้ อย่างน้อยก็ทำมา 2 สมัย แล้วก็ทำงานพอใช้ได้ แล้วส่วนคนที่ไม่เลือกเราก็เป็นเรื่องธรรมดา เราก็ไม่ได้บังคับกันแล้วแต่ชอบพอในผลงานกัน"

คนที่จะมาเป็น อบต. ในยุคก่อนอาจมองเรื่องผลประโยชน์ แต่สำหรับในตอนนี้จะมองในประโยชน์ส่วนรวม เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก อย่างตัวของประพันธ์ เป็นคนทำงานเพื่อชุมชนมาตั้งแต่อายุ 21 ปี เช่น เป็นกรรมการหมู่บ้าน "กรรมการหมู่บ้านเป็นงานที่ต้องใช้ความเสียสละ ต้องมองถึงวิธีการที่จะช่วยเหลือหมู่บ้าน ในตอนแรกผมคิดว่าง่าย แต่จริงๆ ต้องใช้เวลา แต่ที่มาก็มาด้วยใจ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ต้องรู้และมีฐานจากประสบการณ์ด้วย"

3.2 อบต. สมานฉันท์
สาเหตุที่ อบต. บ้านต๊ำ ไม่มีความรุนแรงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน สถานการณ์โดยรวมบ้านเราก็อยู่กันแบบพี่น้อง ทุกคนรู้จักกันหมด ไม่ยึดการเป็นพรรคพวกกัน อย่างช่วงระหว่างการหาเสียงก็ไม่ได้โจมตีคู่แข่งขันเพราะที่นี่อยู่กันแบบพี่แบบน้อง

การสร้างความสมานฉันท์ที่ตำบลบ้านต๊ำ เหตุทีทีมของนายกฯ ประพันธ์ สามารถทำงานได้ โดยที่ความขัดแย้งไม่ค่อยมี ก็โดยการประสานเอาพ่อหลวง กำนันมานั่งคุยกัน คือ ประสานคนมาทำงานร่วมกัน หรือแม้แต่ทีมผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯ ที่เคยเป็นคู่แข่งกัน ทางทีมของนายกฯ ประพันธ์ ก็ชวนมาเป็นที่ปรึกษา เมื่อเขาให้คำแนะนำมาก็จะรับมาพิจารณา จะคุยกัน เคารพกันตลอด ทุกคนในชุมชนส่วนใหญ่จะพบเจอกันในงาน ในกิจกรรมของชุมชน ถือว่าเราทำงานด้วยกัน เป็นคนบ้านเดียวกัน ส่วนใหญ่แล้วต่างก็จะยอมรับกัน

3.3 หลักการทำงาน
ชาวบ้านตำบลบ้านต๊ำ เลือก "นายประพันธ์ มูลข้าว" เป็นตัวแทนของตนเองเข้ามาเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านต๊ำ เนื่องจากประพันธ์เป็นบุคคลที่สามารถประสานการทำงานกับทุกคนทุกท้องที่ได้เป็นอย่างดี และประวัติการทำงานที่ผ่านมา ประพันธ์ถือเป็นบุคคลที่ทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการสงเคราะห์คน ซึ่งได้รับผลกระทบจากเอดส์ การเข้าไปช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและครอบครัว รวมถึงการเข้าไปมีส่วนสำคัญในการจัดตั้งกองทุนฌาปนกิจของตำบลบ้านต๊ำ

นอกจากนั้นประพันธ์คิดว่าผลงานที่ผ่านมา เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านที่นี่ 1 ปีกว่า หลังจากที่ได้รับเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านต๊ำ ประพันธ์คิดว่าได้ทำงานบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ประมาณ 50% เพราะสามารถแก้ปัญหาสังคมได้ระดับหนึ่ง เช่น การช่วยเหลือคนชรา เด็กและเยาวชนในเรื่องของการศึกษา เป็นต้น

3.4 เน้นความต้องการของชาวบ้าน
นายก อบต. บ้านต๊ำ มีหลักการทำงานโดยเน้นความต้องการของชาวบ้านเป็นอันดับแรก การทำแผนงานต้องใช้กระบวนการของประชาคม ซึ่งแต่ละหมู่บ้านต่างมีประธานประชาคมเข้ามามีส่วนร่วมใน อบต. เพื่อให้แผนงานที่วางไว้บรรลุตามเป้าหมาย

3.5 การสร้างทีมงาน
การสร้างทีมงานถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานของ อบต. บ้านต๊ำ คนที่มาทำงานร่วมกันก็เปรียบกับส่วนต่างๆ ของร่างกายที่มาประกอบเข้าด้วยกัน ตัวนายกฯ เป็นคนแบบหนึ่ง ทีมงานคนอื่นๆ ก็จะต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง ทีมงานไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เหมือนกัน เพราะงานมีหลากหลายลักษณะ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องใช้คนให้เหมาะสมกับงานในลักษณะต่างๆ บางงานต้องใช้คนที่แรงมาเป็นฝ่ายบู๊ บางงานก็ต้องใช้คนที่เก่งในทางประนีประนอม ก็จำเป็นต้องมีทั้งฝ่ายบุ๋น และฝ่ายบู๊ ดังนั้นคนทำงานต้องมีหลากหลาย

3.6 หลักความเสมอภาค
หลักในการบริหารงานต้องใช้หลัก"ความเสมอภาคใ"ห้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน การทำงานต้องเป็นไปอย่างชอบธรรม เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่มีนอกไม่มีใน การใช้ทรัพยากรต้องเป็นไปอย่างประหยัดและให้เกิดผลมากที่สุด และผู้น้ำต้องมีความเสียสละ

3.7 ความประนีประนอม
เรื่องของความประนีประนอม การทำงานที่ผ่านมาชาวบ้านมักร้องเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น มีการตั้งโรงสีกลางหมู่บ้าน ก่อให้เกิดมลพิษในหมู่บ้าน เมื่อนายกได้รับคำร้องเรียนก็จะต้องเข้าไปถาม ประนีประนอม สร้างความเข้าใจ ในการไกล่เกลี่ยก็ต้องให้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งที่ทำมาส่วนใหญ่จะเป็นการขอความร่วมมือนั้นจะดี

3.8 หลักการติดตาม และประเมินผล
หลักการติดตาม และประเมินผล ซึ่งหากมองการทำงานก็มีกระบวนการติดตามตามแผนและมีการประเมินผล หลังจากทำงานก็จะมีคณะทีมงานประเมินผล โดยมีองค์กรข้างนอกมาร่วม เช่น ดูว่าทำงานได้ตามเป้าหรือไม่ ซึ่งเป็นการประเมินผลรายไตรมาส

3.9 ผู้นำที่ดีต้องมีคุณธรรม
คุณสมบัติของผู้นำที่ดี การเป็นผู้นำที่ดีต้องมีความเสมอภาค มีคุณธรรม จริยธรรมในการทำงาน มีสัจจะ มีความจริงใจ รู้จักตัวเอง นอกจากนี้ก็จะเป็นเรื่องความจริงจังในการทำงาน ทุ่มเทในการทำงาน โปร่งใส และเน้นความถูกต้อง หรือในการลงพื้นที่ก็ต้องรู้จักและมีการประสานพื้นที่เป็นอย่างดี หรือการพูดคุยกัน รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น พิจารณาถึงความจำเป็นในแต่ละงานโครงการด้วยการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง ที่สำคัญคือ คุณภาพชีวิต ปากท้องของชาวบ้าน ดูความจำเป็นตามโครงสร้าง

การเป็น อบต.ทำให้รู้ถึงการทำงานตามบทบาทหน้าที่ ทำงานเพื่อส่วนรวม และการเป็นนายก อบต.ที่ดีนั้นจะต้องมีความรู้ที่ดี รู้จักบทบาท หน้าที่ กฎระเบียบ รู้จักพื้นที่ที่ดูแล รู้จักชาวบ้านในพื้นที่ด้วย และสำคัญรู้จักตัวเอง และนายกที่ดีต้องมีความรู้เรื่องกฎหมาย ระเบียบต่างๆ อย่างน้อยต้องรู้ถึงปัญหาที่บ้าน เช่น ไปเก็บข้อมูลต่างๆ คนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานสิ่งแวดล้อมก็ต้องรู้ปัญหาที่แท้จริง นำปัญหาของประชาชนมาเป็นข้อมูล มีข้อมูลวิชาการ คือว่าจะต้องรู้เยอะ และที่สำคัญ ผู้บริหารต้องกล้าตัดสินใจทำเพื่อประชาชนในฐานะที่เป็นตัวแทนชาวบ้าน "ทำตามความพอใจของชาวบ้าน เพราะเอาเสียงของชาวบ้านมาก็ต้องช่วยเขา"

ต้องทำงานกับชุมชนให้ได้ผลเต็มที่ 100% แก้ไขให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ไม่ได้ตั้งเป้าเพื่อความโก้เก๋ ในการแก้ปัญหาต้องมีหลายมุมมอง นำทฤษฎีและเหตุที่เกิดมาจับ ตั้งใจทำงาน ใช้หลักการมีส่วนร่วมโดยใช้ชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง. ในการทำงานต้องใช้เวลา รู้จักประเมินผล เมื่อเข้ามาบริหารก็ต้องทำให้บรรลุเป้าประสงค์ในจุดหนึ่ง ทุกอย่างล้วนอยู่ที่การเสียสละ ในการทำงานเป็นทีมแต่ละคนต้องเป็นส่วนประกอบของกัน

การเตรียมคนเพื่อมาสืบทอด ด้วยการสร้างกระบวนการ อุดมการณ์ แนวคิดในการทำงานให้เด็กเยาวชนรุ่นหลังเรียนรู้ รู้โดยการจัดอบรมเยาวชนให้เรียนรู้และสุดท้ายก็จะได้แก่ตัวเยาวชนเอง ในการทำงานกับชุมชนไม่ได้หวังอะไรจากชุมชน ในวันข้างหน้าขอให้เราอยู่กับชุมชนของเราได้อย่างมีความสุข เช่น บางครั้งบ้านเปิดก็ไม่มีใครขึ้นไปขโมยของ บ้างก็มาช่วยดูบ้านให้ บ้างก็เสียสละเพื่อส่วนรวม ผลที่ได้รับคือ การอยู่อย่างสบายใจ สิ่งเหล่านี้คือกำไรชีวิต

ในการทำงานก็อาจมีท้อแท้บ้าง แต่ด้วยความที่ตั้งใจมาแล้ว ในการทำงานเพื่อสังคมนั้นเราได้คำชมมาก็เยอะ ได้กำลังใจก็เป็นส่วนหนึ่งของแรงใจ ก็เข้ามาทำงานตรงนี้แล้ว อย่างไรก็จะทำให้ดีที่สุด ภูมิใจที่ได้เข้ามาช่วยพี่น้อง "ทำดีเสมอตัว" ในส่วนลึกที่ทำได้ก็ช่วยเหลือพี่น้อง การมาก็ต้องมาด้วยใจ ในการทำงานต้องใช้เวลา ต้องอดทน เจอทุกอย่างต้องพยายามทำความเข้าใจ จิตใจต้องเข้มแข็งก็ภูมิใจที่ทำได้และที่ได้ทำ ได้ช่วยชีวิตคนที่อยู่ร่วมกันและได้ช่วยเหลือสังคม

3.10 ข้อจำกัดของ อบต.
ถึงแม้ว่าจะมีการกระจายอำนาจการปกครองมาให้ท้องถิ่น แต่ก็ยังไม่ใช่การกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ รัฐยังไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของท้องถิ่น รัฐมองว่าเราไม่มีศักยภาพ จากการโอนอำนาจท้องถิ่นเป็นเพียงการโอนอำนาจให้อยู่ในกรอบ คือ อำนาจของรัฐนั้นไม่ได้ให้ท้องถิ่นเต็มที่ รัฐเพียงออกกฎระเบียบให้เราทำตามหน้าที่ สรุปคือ รัฐไม่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของท้องถิ่น

4. องค์การบริหารส่วนตำบลสมานฉันท์ อบต. ห้วยปูลิง จ. แม่ฮ่องสอน
4.1 ชุมชนปกาเกอะญอ
ตำบลห้วยปูลิง มีพื้นที่ทั้งหมด ๔๘๕ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย ๑๑ หมู่บ้าน ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลห้วยโป่ง ปางหมู ห้วยทา และเมืองแปง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ จำนวนประชากร ๓,๘๐๐ คน จากเดิมมีประชากรกว่า ๕,๐๐๐ คน แต่เนื่องจากบางส่วนเดินทางไปทำมาหากิน หรือเรียนหนังสือต่างถิ่น จำนวนประชากรจึงลดลง ประชากรส่วนใหญ่ยังชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียน ทำนา เลี้ยงสัตว์ บนพื้นฐานวัฒนธรรมปกาเกอะญอทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างเครือญาติ เป็นพี่น้องกัน

4.2 สมานฉันท์ การแข่งขันที่ไม่รุนแรง
ในส่วนการจัดการบริหารชุมชนนั้น การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นครั้งที่ผ่านมา ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. มีการแข่งขันกัน ๒ ทีม มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ๑,๐๐๐ กว่าคน โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการแข่งขันไม่รุนแรง แม้ว่าจะมีฐานการเมืองระดับชาติเข้าเกี่ยวข้อง ผู้สมัครมีการรณรงค์หาเสียง และใช้เงินลงทุนในการสมัครแข่งขันจำนวนน้อย

กลไกดำเนินการที่ก่อให้เกิดความสมานฉันท์นั้น ประกอบไปด้วยผู้นำชุมชน ซึ่งมีกระบวนการจัดการผ่านผู้เฒ่าผู้แก่ ที่คอยชี้แนะในการคัดกรอง เลือกสรรผู้นำ ผ่านกิจกรรมประเพณีต่างๆ ชุมชนพุทธแลกเปลี่ยนกันตามวัด งานบุญ. ชุมชนคริตส์ แลกเปลี่ยนกันทุกวันอาทิตย์ หลังประกอบพิธีกรรม เกิดวงคุยกันเป็นเวทีตามธรรมชาติ ประกอบกับปัจจัยทางวัฒนธรรม ผู้สมัครทุกคนเป็นพี่เป็นน้องปกาเกอะญอเหมือนกัน ที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น ตกลงกัน จึงไม่เกิดปัญหาในการจัดการ

ทั้งนี้ คุณลักษณะ คุณสมบัติ วัยวุฒิของผู้นำก็เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญเช่นกัน นายกฯ อบต.ห้วยปูลิง คนปัจจุบัน นายไชยา ประหยัดทรัพย์ มีประสบการณ์การทำงาน อบต.มากว่า ๑๐ ปี ประกอบกับการทำงานที่ผ่านมา นายกฯ ไชยา ทำงานบนฐานความต้องการของชุมชนมาโดยตลอด เน้นหลักความร่วมมือจนชาวบ้านเห็นผลงาน ให้การยอมรับเชื่อถือ

ในขณะที่ผู้สมัครอีกฝ่ายขาดประสบการณ์และมีอายุน้อย นอกจากนี้พื้นฐานของตัวนายกฯ ไชยา มีประสบการณ์การทำงานกับชุมชนในพื้นที่อื่น และทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่ง ทั้งศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาและโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ฯลฯ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในการทำงานพัฒนาชุมชน ที่สามารถนำมาปรับใช้ในตำบลห้วยปูลิง

หลังการเลือกตั้ง นายกฯ ไชยา เข้ามาทำงานโดยเน้นหลักการสร้างความร่วมมือ ทีมงาน อบต.ที่เข้ามาทำงานก็คัดสรรจากกระบวนการชุมชน เป็นคนที่ชุมชนส่วนใหญ่ยอมรับ ส่วนในการทำงานกับชุมชนนั้น จะมีการทำประชาคมของแต่ละหมู่บ้าน รับรู้สภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนของแต่ละพื้นที่ เพื่อจะนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณจัดการตามความเป็นจริง โปร่งใสและตรวจสอบได้

4.3 เรื่องการจัดสรรงบประมาณ
การจัดสรรงบประมาณนั้น อบต.ห้วยปูลิงและชุมชนจะร่วมคิดวิเคราะห์ความต้องการจากงบประมาณที่มีอยู่ โดยจะมีการสรุปรวมรายชื่อโครงการต่างๆ ที่ชุมชนต้องการ เพื่อส่งให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการการจัดการ เปิดซองตรวจโครงการ ชี้แจงงบประมาณ และนำแผนพัฒนาแจกกระจายในแต่ละหมู่บ้าน มีเวทีประชาคม ๒ ครั้ง/ปี เพื่อแถลงผลงานให้ชุมชนรับรู้ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนตรวจสอบการทำงาน ตรวจสอบเอกสาร ข้อมูลต่างๆ ได้

โครงการส่วนใหญ่ที่ อบต.จัดสรรนั้น เน้นโครงการที่จะสร้างระบบเครือข่าย กระจายอำนาจสู่ชุมชน ให้ชาวบ้านสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ได้ละทิ้งจิตวิญญาณปกาเกอะญอ มีการพัฒนาคน พัฒนาจิตใจ ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพคนในท้องถิ่น ผ่านงานบริหารจัดการ ที่ก่อให้เกิดการถ่ายทอดความคิดการมีส่วนร่วมที่สำคัญให้แก่ชุมชน เชื่อมร้อยพระ ผู้นำคริตส์ศาสนา ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้นำวัฒนธรรม รวมทั้งสมาชิกทำงาน มาร่วมกิจกรรมที่จะมาหนุนเสริมการทำงานท้องถิ่น

4.4 การทำงานเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน
อบต.ห้วยปูลิงการทำงานมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยยึดหลักทา(คำสอน สุภาษิต) เช่น เรื่องเด็กเลี้ยงแกะ ถ้าเรามีแกะอยู่ 100 ตัว แกะแต่ละตัวมีนิสัยแตกต่างกัน บางตัวอาจไม่เข้ากับฝูง คิดแตกต่างจากฝูงสัก 1 ตัว เด็กเลี้ยงแกะก็ต้องติดตามกลับมาให้ได้ เพราะ 1 ตัวนั้นก็มีความสำคัญเช่นเดียวกับอีก 99 ตัว เช่นเดียวกับการเป็นผู้นำ ถ้ามีชาวบ้านเพียง 1 คนไม่เข้าใจเรา เราก็ต้องให้ความสำคัญกับเขาไม่ใช่ปล่อยเขาไป

ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จ ที่มาจากปัจจัยทางวัฒนธรรม และปัจจัยคุณลักษณะผู้นำที่เข้ามาหนุนก่อให้เกิดการเมืองสมานฉันท์นั้น พัฒนาการและจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่เป็นพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างมากก็คือ การเกิดเครือข่ายทรัพยากรห้วยปูลิง ซึ่งก่อตัวขึ้นจากการมองเห็นปัญหาการจัดการทรัพยากรร่วมกันของชุมชน ด้วยสภาพแวดล้อมป่า เขา ชาวบ้านที่หาอยู่หากินด้วยการพึ่งพิงป่า เก็บหาของป่า และทำไร่ ทำนาผสมผสาน แต่การเปิดให้มีสัมปทานทำไม้ในเขตป่าของชาวบ้าน ทำให้พืชเศรษฐกิจหลายชนิดรุกคืบเข้าสู่ชุมชน

ทั้งถั่ว ขิง ฝิ่น ซึ่งต้องใช้สารเคมีในการเจริญเติบโต ส่งผลให้สภาพทรัพยากรธรรมชาติชุมชนเสื่อมโทรม เมื่อชาวบ้านมีบทเรียนจากแผนพัฒนาดังกล่าว ประกอบกับมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ชุมชน จนเกิดการรวมตัวกันขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๓๘ และเกิดเครือข่ายอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.๒๕๔๒

การต่อสู้เรื่องป่าชุมชน จนพัฒนาเกิดเครือข่ายทรัพยากรห้วยปูลิง เป็นพื้นฐานทางความคิดที่สำคัญให้กับคนในชุมชนเกี่ยวกับแนวคิดทางการเมือง กระบวนการต่อสู้ดังกล่าวได้สร้างการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกระดับ จากเครือข่ายทรัพยากรขยายผลเกิดกลุ่มกิจกรรม คณะทำงานป้องกันยาเพสติด คณะทำงานการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ ที่มีการประชุมร่วมกันทุก ๓ เดือน กลายเป็นโครงสร้างการจัดการที่เชื่อมโยงท้องถิ่นและท้องที่ในการทำงานประสานประโยชน์เพื่อชุมชน แม้ว่าจะมีความขัดแย้งเรื่องบประมาณในบางครั้งก็ตามที

การเมืองสมานฉันท์ ตำบลห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ก่อเกิดตามเงื่อนไขของสังคม บนฐานบริบทวัฒนธรรมปกาเกอะญอ และการต่อสู้เรื่องการจัดการฐานทรัพยากร การจัดการการเมืองสมานฉันท์ของ อบต.ห้วยปูลิง จึงมีเป้าหมายที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกระดับ เพื่อให้เกิดสังคมที่เป็นสุข ดังที่ นายกฯ ไชยา ประหยัดทรัพย์ กล่าวว่า "การเมืองสมานฉันท์ สังคมสมานฉันท์ คือ สังคมที่เรียนรู้ เครือญาติของตนเอง เรียนรู้ที่จะจัดการกับสิ่งที่จะทำให้ชุมชนเกิดความขัดแย้งนั่นเอง"

 





บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
240549
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
The Midnightuniv website 2006
รูปแบบที่ถูกออกแบบมาจากรัฐในเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ เป็นรูปแบบที่เราคนในชุมชนไม่ได้ร่วมกันคิดและตัดสินใจ หลายๆอย่างจึงไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนของเรา ดังนั้น เมื่อเราต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในตำบล จึงต้องคิดรูปแบบที่เหมาะสมกับวิถีของเราเอง เช่นมาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติดฯ หากย้อนไปดูกฎหมาย จะเห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะมาจากกฎหมายทั้งนั้น หลายเรื่องที่รัฐสั่งให้ทำไม่เกิดประโยชน์กับชุมชน เช่น โครงการลานกีฬา สร้างเสร็จกลายเป็นที่ตากข้าวโพดของชาวบ้าน ไม่มีใครไปเล่น เพราะมันไม่ตรงกับวิถีชีวิตชาวบ้าน