นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


The Midnight University



การต่อสู้ของประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในพม่า
เหตุการณ์ 8888 การเมืองภาคประชาชนในพม่า
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)

ข้อมูลลำดับเหตุการณ์ชิ้นนี้ได้รับมาจากคุณสุภัตรา ภูมิประภาส
ต้นฉบับเดิมชื่อ : เหตุการณ์ 8888 การลุกขึ้นสู้ของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า
ซึ่งเป็นข้อมูลลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่พม่าได้เอกราชจากอังกฤษ ปี ค.ศ.1948,
เหตุการณ์ประท้วงของนักศึกษาต่อรัฐบาลเผด็จการทหาร,
เหตุการณ์ 8888,การคุมขังออง ซาน ซูจี,
การปราบปรามชนกลุ่มน้อยในพม่า, ใบอนุญาตข่มขืน,
จนกระทั่งถึงรัฐบาลทหารพม่า ประกาศถอนตัวในการเข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมอาเซียน ปี ค.ศ.2005

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 926
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10.5 หน้ากระดาษ A4)



เหตุการณ์ 8888 การลุกขึ้นสู้ของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า
เรียบเรียงโดย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)

ความนำ
ประเทศพม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ประกาศตัวเป็นรัฐเอกราชในนาม "สหภาพพม่า" เมื่อวันที่ 4 มกราคม 1948 (พ.ศ.2491) โดยมี อูนุ (U Nu) ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เดือนมีนาคม 1962 (พ.ศ.2505) นายพลเนวิน (General Newin) นำคณะทหารทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากอูนุ

ในช่วง 26 ปีที่รัฐบาลของนายพลเนวินยึดอำนาจปกครองประเทศพม่า ภายใต้นามพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party-BSPP) หรือที่เรียกขานกันว่า "ระบอบเนวิน" นำพาประเทศพม่ามาสู่ภาวะที่สภาพการเมือง เศรษฐกิจและสังคมตกต่ำอย่างถึงที่สุดจนประชาชนมิอาจทนได้อีกต่อไป

นายพลเนวิน ได้ชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งของโลก จากการมีเงินฝากไว้กับธนาคารต่างประเทศถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินดอลลาร์ซึ่งเขาได้มาในระหว่างการยึดครองอำนาจ คือความมั่งคั่งที่ถ่ายเทมาจากประเทศพม่า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์

เหตุการณ์ 8888 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988 (พ.ศ.2531) คือการสิ้นสุดความอดทนของประชาชนภายใต้การปกครองระบอบเนวิน ก่อนหน้านั้น ประชาชนต่างตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวกับอำนาจปลายปืนของรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ทำการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การเริ่มต้นของระบอบเนวิน

ก่อนเหตุการณ์ 8888
7 กรกฎาคม 1962 (2505) เกิดเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเนวิน รัฐบาลทหารของเนวินได้สั่งยิงกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุม และระเบิดตึกกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยร่างกุ้ง และสั่งปิดมหาวิทยาลัย

28 มีนาคม 1964 (2507) รัฐบาลเผด็จการประกาศยุบพรรคการเมืองทุกพรรคยกเว้น "พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า" หรือ BSPP ซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาล
พฤษภาคม 1964 (2507) รัฐบาลเนวินประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรใบละ 100 จั๊ตและ 50 จั๊ต โดยไม่มีการคืนเงินให้แก่ประชาชน

5 กันยายน 1967 (2510) ธนบัตรใบละ 25 จ๊าต 35 จ๊าต 75 จ๊าตถูกยกเลิกโดยไม่มีการชดเชยใด ๆ ซึ่งทำให้เงินตราของประเทศถึงร้อยละ 75 ที่หนุนเวียนในประเทศไร้ค่าในทันที สร้างความไม่พอใจให้กับสาธารณชน ประชาชนและนักศึกษาออกมาชุมนุมประท้วงในกรุงร่างกุ้งและขยายต่อไปยังเมืองใหญ่ ๆ ในพม่า

11 ธันวาคม 1974 (2517)
รัฐบาลเนวินสั่งปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่กำลังช่วยกันสร้างสุสานชั่วคราวสำหรับเก็บศพของอูถั่น (U Thant) อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ที่บริเวณสนามหน้าที่ทำการสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยร่างกุ้ง (The Rangoon University Student Union-RUSU) ผู้ร่วมชุมนุมหลายคนถูกยิง ถูกแทงด้วยหอกปลายปืนและถูกจับกุม

3 พฤศจิกายน 1985 (2528) รัฐบาลฯประกาศลดค่าเงินธนบัตรใบละ 100 จั๊ต

เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความกดดันที่ทับถมลงบนจิตใจของประชาชนพม่า สิทธิเสรีภาพทางการเมืองถูกปิดกั้น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชนแทบมองไม่เห็น ประเทศพม่าตกต่ำจนถึงขีดที่ประชาชนจะทนไหว

เหตุการณ์ที่เป็นชนวนที่นำไปสู่ "เหตุการณ์ 8888"
ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2531 (1988) คือเหตุการณ์ฆาตกรรมนักศึกษา 2 คน

16 มีนาคม 1988 (2531) กลุ่มนักศึกษาชุมนุมประท้วง และเผชิญหน้ากับกองตำรวจปราบจลาจลที่บริเวณสะพานขาว (White Bridge) ริมทะเลสาบอินยา ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ทำร้ายและยิงใส่กลุ่มผู้ประท้วงบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก นักศึกษาหลายคนถูกจับกดน้ำตายในทะเลสาบอินยา

วันรุ่งขึ้น ภายใต้การบัญชาการของเส่ง ลวิน (Sein Lwin) ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความมั่นคง กองกำลังทหารและตำรวจปราบจลาจล กองกำลังทหารและตำรวจติดอาวุธบุกมหาวิทยาลัยร่างกุ้ง เพื่อจับกุมนักศึกษาจำนวนหลายร้อยคน ในระหว่างการขนย้ายผู้ถูกจับกุม นักศึกษาจำนวน 41 คนเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจในรถตำรวจที่เป็นพาหนะในการขนย้าย
เหตุการณ์นี้สร้างความโกรธแค้นให้กับนักศึกษาและประชาชน นำไปสู่การชุมนุมประท้วงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และมีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2531 (8-8-88)

เดือนมีนาคม 1988 (2531) เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทที่ร้านน้ำชาสถาบันเทคโนโลยีร่างกุ้งระหว่างนักศึกษาและชาวบ้าน เรื่องลุกลามเมื่อตำรวจปราบจลาจลได้ยิงนักศึกษาคนหนึ่งเสียชีวิต และจับกุมนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการรับผิดชอบเรื่องนี้ และการป้ายความผิดไปยังนักศึกษาเพื่อหาข้อยุติในเรื่องการเสียชีวิตของนักศึกษา ได้ทำให้การประท้วงขยายตัวขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงขั้นมีจดหมายเปิดผนึกจากนายพลอองยีถึงนายพลเนวิน 2 ฉบับ และได้ส่งถึงคณาจารย์ ผู้พิพากษา นักกฎหมายและทนายความหลายคน โดยเฉพาะฉบับสุดท้ายได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอย่างรุนแรง ต่อการกระทำทารุณกรรมต่อนักศึกษาที่ถูกจับกุมไปคุมขังไว้ว่ามีการฆาตรกรรมนักศึกษาจำนวนมาก ในระหว่างการคุมขังและการข่มขืนนักศึกษาหญิงจำนวนหลายคนจนตั้งท้องเมื่อปล่อยตัวออกมา

เมื่อประชาชนหลายๆ คนได้รับรู้เนื้อหาของจดหมายก็เกิดความไม่พอใจและโกรธแค้นรัฐบาล ความโกรธแค้นนี้ได้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง จนมีการชุมนุมของนักศึกษาและมีข้อเรียกร้องให้มีการเปิดให้ตั้งสหภาพนักศึกษา ให้มีการสอบสวนต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาในเหตุการณ์เดือนมีนาคม ให้ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุม และลงโทษ เส่ง ลวิน ผู้ที่ออกคำสั่งให้ปราบปรามนักศึกษา และขอให้อธิบายถึงความโหดร้ายของรัฐบาล และภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่ผู้นำประเทศกลับร่ำรวย เมื่อไม่มีคำตอบจากรัฐบาล กลุ่มนักศึกษาได้นัดชุมนุมกัน โดยครั้งนี้มีพระสงฆ์และประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก

15 มิถุนายน 1988 (2531) รัฐบาลฯส่งกองกำลังตำรวจและทหารเข้าสลายการชุมนุมในเขตมหาวิทยาลัยร่างกุ้ง ทำให้การประท้วงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่รัฐฯใช้วิธีการโหดร้ายปราบปรามผู้ชุมนุม โดยการขับรถบรรทุกวิ่งด้วยความเร็วสูงเข้าไปในกลุ่มนักศึกษาที่ประท้วง พร้อมทั้งยิงเข้าใส่กลุ่มนักศึกษา ทำให้นักศึกษาเสียชีวิตไปจำนวนมาก สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การออกมาร่วมกับนักศึกษาต่อต้านรัฐบาล ถึงขั้นประกาศไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาในเขตพื้นที่ตน และรุมประชาทัณฑ์จนเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปหลายคน รัฐบาลประกาศปิดมหาวิทยาลัยร่างกุ้ง และสถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งร่างกุ้งในวันที่ 20 มิถุนายน 1988

แต่เหตุการณ์ก็ได้ลุกลามไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ จนต้องมีคำสั่งปิดการเรียนการสอนอย่างไม่มีกำหนด และประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 18.00 น.- 06.00 น. ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมประท้วง การปราศรัย ซึ่งประกาศนี้ครอบคลุมพื้นที่กรุงร่างกุ้งทั้งหมด แต่การประกาศดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งการชุมนุมของนักศึกษาได้ การชุมนุมได้ขยายไปสู่เมืองอื่นๆ ในพม่า

การประกาศนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เพราะการขนส่งสินค้าสดสู่ตลาดไม่สามารถทำได้ ทำให้ขาดสินค้าอุปโภคบริโภค และมีราคาสูงขึ้น หน่วยงานราชการต้องปิดตั้งแต่บ่ายสองเพื่อให้ข้าราชการกลับบ้านได้ทัน ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ได้สร้างความหวั่นวิตกต่อประชาชน และส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลเอง ทำให้รัฐบาลต้องออกประกาศเปลี่ยนเวลาห้ามออกจากบ้าน เป็นตั้งแต่เวลา 20.00 น. - 04.00 น. และพยายามผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มีการปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม และวันที่ 8 กรกฎาคม 1988 มีประกาศให้นักศึกษามาลงทะเบียนใหม่โดยให้ผู้ปกครองมารับรองด้วย และมีการตรวจสอบเอกสารต่างๆ อย่างละเอียด

9 กรกฎาคม 1988 (2531) รัฐบาลฯประกาศยกเลิกการห้ามออกนอกบ้านและถอนทหารออกจากกรุงร่างกุ้ง แต่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างพุทธกับมุสลิมขึ้นที่เมืองตองยี จนเกิดการปะทะกันขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุอย่างเฉียบขาด ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นติดกันนานถึง 4 วัน มีผู้เสียชีวิต 3 คน

เหตุการณ์ไม่สงบได้ขยายไปสู่เมืองเปรมอีกครั้งในวันที่ 18 กรกฎาคม 1988 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกหนึ่งคน ซึ่งทำให้เกิดแรงกดดันต่อรัฐบาลจนต้องออกมายอมรับและสอบสวนต่อกรณีเหตุการณ์เดือนมีนาคม และยอมรับเพิ่มเติมว่ามีนักศึกษาเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ เพราะถูกยัดเข้าไปในรถกักขังอีก 41 คน โดยให้เหตุผลของการไม่ประกาศก่อนหน้านี้ว่าไม่ต้องการให้สถานการณ์ลุกลามขึ้นไปอีก

ซึ่งการประกาศดังกล่าวส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกิจการภายในและกิจการศาสนาต้องลาออก และส่งผลกระทบสำคัญถึงขั้นที่นายพลเนวินประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า และเสนอให้มีการลงประชามติของประชาชนทั่วประเทศว่าจะยอมรับระบบการเมืองแบบพรรคเดียวหรือจะเปลี่ยนให้เป็นแบบหลายพรรค แต่ที่ประชุมสภาคองเกรสของพรรคฯปฏิเสธเรื่องการลงมตินี้ และได้ลงมติให้เส่ง ลวินขึ้นเป็นผู้นำพรรคแทนนายพลเนวิน

23 กรกฎาคม 1988 (2531) นายพลเนวิน ประกาศลาออก ในคำประกาศลาออก เขากล่าวเตือนไว้ว่า "ข้าพเจ้าต้องการให้ประชาชนทั้งชาติรู้ว่า ถ้าทหารยิง นั่นคือการยิงไปที่เป้าหมาย ไม่มีกระสุนลูกใดยิงใส่อากาศเพื่อสร้างความหวาดกลัว"

27 กรกฎาคม 1988 (2531) เส่ง ลวิน (Sein Lwin) ขึ้นรับตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า แทนนายพลเนวิน การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของเส่ง ลวินได้กลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งขึ้น เนื่องจากเส่ง ลวินไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน

และที่สำคัญเส่ง ลวินเป็นคนออกคำสั่งให้ยิงนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงเนวินเมื่อปี 1962 สั่งยิงตัวอาคารสหภาพนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยร่างกุ้ง อันเป็นสถานที่ประวัติศาตร์สำคัญของขบวนการชาตินิยมพม่า และเป็นศูนย์รวมผู้นำพม่าในการต่อสู้และเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ และเส่ง ลวิน คนนี้คือคนที่สั่งบุกมหาวิทยาลัยร่างกุ้งในปี 1974 ในระหว่างที่นักศึกษาและประชาชนชุมนุมกันเพื่อเตรียมจัดพิธีศพของอูถั่น

ด้วยการที่สภาคองเกรสไม่ยอมรับในเรื่องการเมืองแบบหลายพรรค และตั้งเส่ง ลวิน เป็นผู้นำประเทศนี้เอง ทำให้เกิดการชุมนุมของประชาชนขึ้นในกรุงร่างกุ้ง และขยายตัวสู่เมืองต่างๆ ทั่วพม่า

3 สิงหาคม 1988 (2531) เส่ง ลวินประกาศกฎอัยการศึกเพื่อยุติการประท้วง แต่ไม่อาจหยุดยั้งความไม่พอใจของสาธารณชนได้ นักศึกษาประชาชนและพระสงฆ์ลุกฮือขึ้นจัดการชุมนุม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้อง

- ให้ขับไล่เส่ง ลวิน ให้พ้นจากตำแหน่ง
- ให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง
- ให้ดำเนินการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
- ยุติการกดขี่สิทธิเสรีชน และคืนเสรีภาพแก่ประชาชน และ
- ประกาศวันดีเดย์ในการประท้วงทั่วประเทศคือวันที่ 8 สิงหาคม 1988 ซึ่งประชาชนต่างขานรับและออกมาชุมนุมพร้อมกันในวันที่ 8 สิงหาคม เส่ง ลวินตอบโต้โดยสั่งกองกำลังทหารเข้าทำการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง

8 สิงหาคม 1988 - เหตุการณ์ 8888
ประชาชนที่ออกมาชุมนุมกันอย่างสันติตลอดทั้งวัน ซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษา ประชาชนและพระสงฆ์ โดยมีทหารเฝ้าอยู่ตามท้องถนนในสภาพที่ข่มขวัญ เสียงเพลงจากนักศึกษาประชาชนดังขึ้น "เรารักพวกท่าน ท่านเป็นพี่น้องเรา เราต้องการอิสรภาพ พวกท่านเป็นทหารของประชาชน โปรดมาอยู่ข้างเราเถิด เราเพียงต้องการ อิสรภาพเท่านั้น" จนกลางดึกของคืนนั้น กองทหารติดอาวุธครบมือเริ่มปฏิบัติการณ์สังหารโหดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 4 วัน โดยระดมยิงเข้าไปในฝูงชน

ทางการออกมาให้ข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 คน แต่เจ้าหน้าที่ทางการทูตและผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่าตัวเลขที่แท้จริงอยู่ราวๆ เกือบหมื่นคน ทหารที่ยิงประชาชนต่างถูกผู้บัญชาการกล่อมให้เชื่อว่านักศึกษาเป็น "กบฏคอมมิวนิสต์"

สถานการณ์หลังเกิดเหตุการณ์ 8888
12 สิงหาคม 1988 (2531) เส่ง ลวิน ลาออกจากการเป็นผู้นำรัฐบาล และ ด.ร.หม่อง หม่อง อดีตผู้พิพากษาที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายพลเนวิน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าแทนเส่ง ลวิน

ผู้นำคนใหม่ได้พยายามลดความร้อนแรงของสถานการณ์ โดยการตั้งคณะกรรมการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่า ต้องการวิถีทางการเมืองอย่างไร? หลังจากประกาศตั้งคณะกรรมการได้ 3 วัน คณะกรรมการประกาศให้ความสนใจเรื่องการเมืองแบบหลายพรรค แต่ไม่ได้ระบุเวลาที่แน่นอนในเรื่องการจัดการเลือกตั้งขึ้น สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนจนเกิดการชุมนุมประท้วงขึ้นอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องให้มีการทำประชามติเรื่องการเมืองแบบหลายพรรคขึ้น และสถานการณ์ได้ลุกลามไปเรื่อยๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอัดอั้น ความไม่พอใจต่อระบอบการปกครองแบบเผด็จทหาร

15 สิงหาคม 1988 (2531) ออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ยึดอำนาจในการปกครองพม่า เรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป. ออง ซาน ซูจี เดินทางกลับมาจากประเทศอังกฤษ เพื่อมาพยาบาลมารดาที่กำลังป่วยหนัก ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2531 จดหมายฉบับนี้คือการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกของเธอ

26 สิงหาคม 1988 (2531) ออง ซาน ซูจี ขึ้นกล่าวปราศรัยครั้งแรกกับประชาชนหลายแสนที่มาชุมนุมกันอยู่บริเวณด้านหน้าของเจดีย์ชเวดากอง เธอเรียกร้องประชาธิปไตย ความสมานฉันท์ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติเท่าเทียมกันระหว่างชนชาติพม่า และกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆในประเทศพม่า

28 สิงหาคม 1988 (2531) มิงโกนาย (Ming Ko Naing) นักศึกษาปี 3 คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยร่างกุ้ง จัดการประชุมครั้งแรกของ สหภาพนักศึกษาแห่งสหพันธ์พม่า (All Burma Federation of Students Union - ABFSU) และจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชุมนุมใหญ่ ซึ่งมีผู้แทนนักศึกษามหาวิทยาลัยและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นสูง จำนวน 119 คน

เดือนกันยายน 1988 (2531) นักศึกษาอดข้าวประท้วง เรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว เพื่อจัดเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป

17 กันยายน 1988 (2531) ทหารยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ ในเมืองร่างกุ้ง ฝูงชนประมาณ 5,000 คนโกรธแค้น ฮือเข้าแย่งอาวุธจากทหาร มิงโกนาย และผู้นำนักศึกษาจำนวนหนึ่งเข้าเจรจาเพื่อแก้ไขสถานการณ์

18 กันยายน 1988 (2531) กลุ่มทหารนำโดยนายพล ซอว์ หม่อง (Saw Maung) เข้ายึดอำนาจการปกครอง และประกาศตั้งสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council - SLORC) สมาชิกของคณะปฏิวัติ ประกอบด้วยนายทหารระดับนำจำนวน 21 นายซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารผู้ใกล้ชิดกับนายพลเนวิน

23 กันยายน 1988 (2531) นายพลซอว์ หม่อง ประกาศว่า "กองทัพไม่อาจหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของรัฐ เมื่อเห็นว่าสถานการณ์ในประเทศตกอยู่ในภาวะที่จะเป็นอันตรายต่ออนาคต". เขายังได้ให้คำมั่นสัญญาว่า "กองทัพของเราจะสานต่อหน้าที่ดั้งเดิมในการปกป้องและรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ และการรักษากฎหมายและระเบียบหลังจากการส่งผ่านอำนาจให้กับรัฐบาล ที่ได้มาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งประชาชนได้ใช้สิทธิประชาธิปไตยอย่างเต็มเปี่ยม"

หลังคำประกาศของนายพลซอว์ หม่อง นักศึกษาบางส่วนทยอยเดินทางออกจากเมืองหลวงร่างกุ้ง สู่ชายแดนในเขตพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ฝึกอาวุธเพื่อตั้งกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร

24 กันยายน 1988 (2531) ออง ซาน ซูจี ร่วมจัดตั้งพรรคแนวร่วมแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League of Democracy - NLD) และได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

เดือนมีนาคม 1989 (2532) มิงโกนายผู้นำนักศึกษาถูกจับ และถูกพิพากษาโทษจำคุก 20 ปี ตามมาด้วยการสั่งกักบริเวณออง ซาน ซูจี ในเดือนกรกฎาคม รัฐบาลเผด็จการของนายพลซอว์ หม่อง สั่งกักบริเวณดอว์ ซูจี โดยไม่มีความผิดใด พร้อมทั้งจับกุมสมาชิกพรรคเอ็น แอล ดี ไปควบคุมตัวไว้ที่คุกอินเส่ง

27 พฤษภาคม 1990 (2533) พรรคเอ็น แอล ดี ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ได้ 392 ที่นั่งจาก 455 ที่นั่ง โดยที่พรรค National Unity Party ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลทหาร ได้เพียง 10 ที่นั่ง แต่ไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจให้ผู้ชนะ

23 เมษายน 1992 (2535) นายพลซอว์ หม่อง อ้างปัญหาสุขภาพเพื่อลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (SLORC) อย่างกะทันหัน โดยมีนายพลตาน ฉ่วย (Than Shwe) ขึ้นรับตำแหน่งแทน. ตาน ฉ่วย เป็น 1 ใน 21 สมาชิกของคณะปฏิวัติ และเป็นนายทหารมือขวาของ ซอว์ หม่อง เมื่อรับตำแหน่งช่วงแรก ตาน ฉ่วย ปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวนหนึ่ง

ปี พ.ศ.2536 (1993) เขาเปลี่ยนชื่อประเทศจากพม่า (Burma) เป็นเมียนมาร์ (Myanmar) ดำเนินนโยบายเปิดประเทศ สั่งให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และพยายามผลักดันให้พม่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมอาเชียน (Association of South East Asian Nations-ASEAN)

แต่ขณะเดียวกัน นายพล ตาน ฉ่วย ยังคงดำเนินนโยบายปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าก่อนหน้านี้ ระหว่างปี พ.ศ.2532 (1989) จนถึงปี พ.ศ.2537 (1994) รัฐบาลทหารจะสามารถเจรจา"หยุดยิง" (ceasefire) กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้ถึง 13 กลุ่ม. ปี 1994 (2537) มีผู้อพยพลี้ภัยจากสถานการณ์การเมืองและการสู้รบในประเทศพม่า มาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทยประมาณ 71,000 คน

เดือนมีนาคม 1994 (2537) สมาคมอาเชียนเชิญพม่าเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์

10 กรกฎาคม 1995 (2538) ออง ซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณให้อยู่ในบ้านพักของตัวเองมานานถึง 6 ปี

ปี 1997 (2540) นายพล ตาน ฉ่วย สั่งปลดรัฐมนตรีหลายตำแหน่งด้วยข้อกล่าวหาพัวพันกับการคอรัปชั่น เขายังอนุญาตให้ผู้แทนจากคณะกรรมการกาชาดสากล (International Committee of the Red Cross) และ องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) เข้าพม่า

นโยบายปราบปรามชนกลุ่มน้อย - ยุทธวิธีตัดสี่ (Four Cuts) ไม่เปลี่ยนแปลง
ยุทธวิธีตัดสี่เป็นนโยบายในการปราบปรามชนกลุ่มน้อยที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยของนายพลเนวิน
คือการตัดช่องทาง 4 ช่องทางที่สนับสนุนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ คือ

1.อาหาร (food)
2. ทุน (funds)
3. การข่าว (intelligence) และ
4.กำลังพล (recruits)
ในการดำเนินนโยบายนี้ ทหารพม่าในพื้นที่บังคับให้ประชาชนย้ายหมู่บ้าน

ใบอนุญาตข่มขืน
นอกจากนี้ การข่มขืนกลายเป็นอีกยุทธวิธีหนึ่งที่กลุ่มทหารพม่านำมาใช้ในการข่มขู่ ปราบปราม ทำลายล้างกลุ่มชาติพันธุ์ หลักฐานที่ปรากฏ คือรายงานเรื่อง "ใบอนุญาตข่มขืน" จัดทำโดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน (The Shan Human Rights Foundation - SHRF) และเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (The Shan Women's Action Network - SWAN)

ระหว่างปี พ.ศ.2539 - 2544 (1996 - 2001) สตรีและเด็ก 625 คนในรัฐฉาน ถูกทหารพม่าข่มขืน กระทำทารุณกรรมทางเพศในรูปแบบต่างๆ และฆาตกรรม เหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยง โดยองค์กรผู้หญิงกะเหรี่ยงได้บันทึก 125 คดีของเหตุการณ์ทารุณกรรมทางเพศที่ทหารพม่ากระทำต่อผู้หญิงในรัฐกะเหรี่ยง ไว้ในรายงาน "ข่มขืน-ขื่นขมในความเงียบ (Shattering Silences)

ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2540 - 2548
เดือนพฤศจิกายน 1997 (2540) สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council - SLORC) เปลี่ยนชื่อเป็น "สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ" (The State Peace and Development Council - SPDC)

21 กันยายน 2000 (2543) - พฤษภาคม 2002 (2545)
ออง ซาน ซูจีถูกควบคุมตัวเป็นครั้งที่ 2

เดือนตุลาคม 2000 (2543) - มกราคม 2001 (2544) รัฐบาลทหาร โดย นายพล ขิ่น ยุ่นต์ เปิดการเจรจาทางการเมืองแบบ face-to-face กับ ออง ซาน ซูจี เป็นครั้งแรก เกี่ยวกับอนาคตของประเทศ แต่ผลการเจรจาถูกเก็บเป็นความลับ และไม่เคยถูกเปิดเผย. การเจรจายุติลงเมื่อใด ไม่มีใครทราบ

เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2546 (2003) มีข่าวว่านายพลขิ่น ยุ่นต์ จะเปิดการเจรจาทางการเมืองรอบใหม่กับ ออง ซาน ซูจี

เดือนสิงหาคม 2003 (2546) นายพล ขิ่น ยุ่นต์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เดือนกันยายน 2003 (2546) นายพล ขิ่น ยุ่นต์ประกาศใช้แผน 7 ขั้นตอนเพื่อประชาธิปไตยและการปรองดองแห่งชาติ (Road Map to Democracy and National Reconciliation)

17 พฤษภาคม 2004 (2547) รัฐบาลทหารพม่าประกาศฟื้นฟูสมัชชาแห่งชาติเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหยุดไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2539. พรรคเอ็น แอล ดี และพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ประกาศไม่เข้าร่วม ด้วยเหตุผลว่า ออง ซาน ซูจี ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย

(หลังการยึดอำนาจ รัฐบาลทหารฯประกาศตั้ง "สมัชชาแห่งชาติ" (The National Convention) พ.ศ.2536 เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สมัชชาแห่งชาติหยุดชะงักไปในปี พ.ศ.2539 เมื่อพรรคเอ็น แอล ดี walked out โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการเป็นตรายางสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหาร)

10 กรกฎาคม 2004 (2547) รัฐบาลทหารฯประกาศเลื่อนการประชุมสมัชชาโดยไม่ให้เหตุผล

19 กันยายน 2004 (2547) รัฐบาลทหารฯมีคำสั่งปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ วิน อ่อง (Win Aung) พร้อมทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการ และรัฐมนตรีอีก 2 คน โดยไม่ให้เหตุผล

18 ตุลาคม 2004 (2547) นายกรัฐมนตรี ขิ่น ยุ่นต์ ถูกจับกุมในข้อหาคอรัปชั่น และขัดคำสั่ง และถูกปลดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทหาร

22 ตุลาคม 2004 (2547) รัฐบาลทหารฯยุบสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ

พฤศจิกายน 2004 (2547) มิงโกนาย ได้รับการปล่อยตัว เขาถูกคุมขังมาเป็นเวลา 16 ปี รัฐบาลทหารฯยังประกาศปล่อยตัวนักโทษการเมืองอีก 3,937 คน

26 กรกฎาคม 2005 (2548) รัฐบาลทหารพม่าฯประกาศถอนตัวในการเข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมอาเซียน

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
190549
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ประชาชนที่ออกมาชุมนุมกันอย่างสันติตลอดทั้งวัน ซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษา ประชาชนและพระสงฆ์ โดยมีทหารเฝ้าอยู่ตามท้องถนนในสภาพที่ข่มขวัญ เสียงเพลงจากนักศึกษาประชาชนดังขึ้น "เรารักพวกท่าน ท่านเป็นพี่น้องเรา เราต้องการอิสรภาพ พวกท่านเป็นทหารของประชาชน โปรดมาอยู่ข้างเราเถิด เราเพียงต้องการ อิสรภาพเท่านั้น" จนกลางดึกของคืนนั้น กองทหารติดอาวุธครบมือเริ่มปฏิบัติการณ์สังหารโหดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 4 วัน โดยระดมยิงเข้าไปในฝูงชน ทางการออกมาให้ข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 คน แต่เจ้าหน้าที่ทางการทูตและผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่าตัวเลขที่แท้จริงอยู่ราวๆ เกือบหมื่นคน ทหารที่ยิงประชาชนต่างถูกผู้บัญชาการกล่อมให้เชื่อว่านักศึกษาเป็น "กบฏคอมมิวนิสต์"