นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


The Midnight University



ความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
ชาวจีนมุสลิมในมาเลเซีย (ตอนที่ ๒)
เรียบเรียงโดย อัล-ฮิลาล (Al-Hilal)
นักวิชาการอิสระ เกี่ยวกับจีนมุสลิม


ผลงานวิชาการชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เรียบเรียงนามว่าอัล-ฮิลาล
เรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ
Chinese Muslims in Malaysia History and Development
by: Rosey Wang Ma
เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาวจีนมุสลิมในมาเลเซีย
และการกลายกลืนเป็นชาวมาเลย์
รวมถึงเรื่องของชาวจีนกลุ่มต่างๆ ในมาเลเซีย

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 917
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)




ชาวจีนมุสลิมในมาเลเซีย (ตอนที่ ๒)
Chinese Muslims in Malaysia History and Development
by : Rosey Wang Ma
เรียบเรียงโดย อัล-ฮิลาล (Al-Hilal)

4) คนแซ่กั๊วะ ในปีนัง
(The Koay (Guo) Clan in Penang)

คนแซ่กั๊วะ ในปีนังมาจาก หุยอัน (Hui An) และ ฝูเจี้ยน (Fu Jian) ด้านตะวันออกของจีน. อง เส็ง ฮวด (Ong seng Huat) ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับชุมชนนี้ระบุว่า ตระกูลกั๊วะเป็น ชาวหุย มุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวอาหรับ ซึ่งสามารถสืบขึ้นไปได้ 20 รุ่นถึงแม่ทัพมุสลิมผู้ซึ่งปกครองซินเจียง และดินแดนด้านตะวันตกบนเส้นทางสายไหมช่วงราชวงศ์ถัง เมื่อสถานการณ์การเมืองไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติศาสนกิจ พวกเขาจึงละทิ้งศาสนา กลืนไปเข้ากับคนจีนฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

การกลืนไปเป็นคนจีนฮั่นของคนแซ่กั๊วะ อธิบายได้จากบันทึกการสืบเชื้อสายของพวกเขา: เริ่มแรกมาจากการไม่ค่อยปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนา นอกจากนี้หลังจากราชวงศ์หมิงไล่ราชวงศ์มองโกลออกไปจากจีนได้ ทำให้ชนกลุ่มน้อยอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างลำบาก คนแซ่กั๊วะเป็นชาวหุยกลุ่มเดียวที่อยู่ท่ามกลางมหาชนชาวฮั่น พวกเขาจึงต้องทำชีวิตให้ง่ายเข้า เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาก็ค่อยๆ กลายเป็นชาวฮั่นอย่างเต็มรูปแบบ

ข้อที่สองก็คือ เรื่องของสายเลือด เมื่อเด็กหญิง-ชาย แซ่กั๊วะเติบใหญ่ขึ้นมาต้องหาคู่ครอง จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้พวกเขาต้องแต่งงานกับชาวฮั่น ทำให้เลือดชาวหุยเจือจางลง

ข้อที่สาม เกิดการเปลี่ยนแปลงในความเชื่อและประเพณี หญิงชาวหุยที่แต่งงานกับชายชาวฮั่นค่อยๆ รับวัฒนธรรมชาวฮั่น เพื่อให้เข้ากับครอบครัวของสามี จากชีวิตครอบครัว และประเพณีที่เปลี่ยนไป ทำให้เริ่มมีรูปปั้นต่างๆ ในบ้านพวกเขา ต่อมาพวกเขาก็เริ่มทำป้ายบรรพบุรุษ และท้ายสุดพวกเขาก็บูชาบรรพบุรุษ

คนแซ่กั๊วะ ซึ่งในอดีตเป็น ชาวหุย แม้จะไม่ได้ปฏิบัติตามกฎของศาสนาอิสลามอีกต่อไปแล้ว ก็ยังคงประเพณีบางอย่างของชาวหุยไว้ ตัวอย่างเช่น ในอาหารที่เซ่นไหว้บรรพบุรุษ พวกเขาจะไม่ใช้เนื้อหมู หรือน้ำมันหมู บางครอบครัวยังใช้ภาชนะที่เป็นพิเศษต่างหาก (เนื่องจากคนแซ่กั๊วะรู้ว่าบรรพบุรุษของตนเองไม่กินหมู)

คนแซ่กั๊วะอพยพมาอยู่ที่สิงคโปร์และปีนังช่วงท้ายศตวรรษที่ 19 ที่นี่เองที่พวกเขาได้พบกับชาวจีนอพยพจากฝูเจี้ยนมากมาย ที่พูดภาษาเดียวกันและมีวัฒนธรรมเดียวกันกับพวกเขา แม้จะมีชุมชนมุสลิมอื่นๆ อีก แต่คนแซ่กั๊วะซึ่งเป็นชาวจีนมุสลิม พบว่ายากที่พวกเขาจะเข้ากับคนเหล่านั้นได้ เนื่องจากอุปสรรคด้านภาษา วัฒนธรรม และแม้แต่เรื่องความเชื่อทางศาสนาที่เกิดมาจากประเพณีที่ต่างกัน พวกเขาเห็นว่าการเข้าหาคนจีนที่ต่างศาสนาง่ายกว่าการเข้าหาคนศาสนาเดียวกันที่ต่างวัฒนธรรม พวกเขารู้สึกแตกต่างจากชุมชนมุสลิมใหญ่ที่นั่น แต่รู้สึกใกล้ชิดกับชุมชนชาวจีนฮั่นมากกว่าโดยเฉพาะเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ

อง เส็ง ฮวด ระบุว่า คนแซ่กั๊วะได้พิมพ์ประกาศออกมาปี ค.ศ.1975 ให้ติดไว้ในบ้านของคนแซ่กั๊วะทุกหลัง ประกาศเพื่อเตือนว่าคนแซ่กั๊วะเป็นมุสลิม และเพราะความแตกต่างทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้พวกเขาหันเหไปจากคำสอนของอิสลาม แต่เพื่อให้เกียรติแก่บรรพบุรุษ พวกเขาจะรับประทานเฉพาะอาหาร ฮาลาล เท่านั้น (STAR, 23 มีนาคม ค.ศ. 2002)

ที่น่าสนใจก็คือ เรื่องที่คล้ายคลึงกันนี้ก็เกิดขึ้นที่ ลูกัง (Lugang) ไต้หวัน. ดรู แกลดนี (Dru gladney) กล่าวว่า: คนแซ่กั๊วะที่ไต้หวันไม่ได้ระบุว่าตนเป็นชาวหุย อีกต่อไป พวกเขาไม่ได้ปฏิบัติศาสนกิจแบบชาวมุสลิมอีกแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะสลัดความเป็นหุยออกจนหมด พวกเขาไม่นำหมูเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เพราะกลัวจะทำลายปากของบรรพบุรุษ การไม่ยอมเอาหมูเซ่นไหว้บรรพบุรุษแสดงให้เห็นว่า ในระดับพิธีกรรมพวกเขาก็ยังคงความเป็นหุยบางส่วนอยู่

คนแซ่กั๊วะที่ปีนังก็สืบเชื้อสายบรรพบุรุษเดียวกับคนแซ่กั๊วะที่ไต้หวัน ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมคล้ายกัน พวกเขาฉลองเทศกาลตรุษจีน และทำตัวไม่ได้แตกต่างจากชาวจีนทั่วไป แต่หากมีสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต พวกเขาจะไม่กินหมูเป็นเวลา 49 วัน

คนแซ่ติง (Ding) ในอีโปห์ (Ipoh) เป็นอีกแซ่หนึ่งที่สำคัญในประเทศจีน พวกเขาสืบเชื้อสายไปได้พันปีถึงบรรพบุรุษชาวอาหรับมุสลิม พวกเขามีบันทึกการสืบเชื้อสาย และมีอนุสาวรีย์บรรพบุรุษในเมืองฉวนโจว (Quanzhou) ที่ประเทศจีน ในบรรดาอนุสาวรีย์บรรพบุรุษทั้งหมด เห็นได้ชัดเจนว่าอนุสาวรีย์ของตระกูลติงดูเป็นอิสลามมาก มีโดม และจันทร์เสี้ยวเล็กๆ ลูกหลานจะไม่เซ่นไหว้ด้วยอาหาร สมาชิกตระกูลติงในประเทศจีนยังคงปฏิบัติศาสนกิจตามหลักอิสลามอยู่ แต่คนแซ่ติงที่อีโปห์ และบางส่วนที่มะละกาถูกกลืนเข้าไปกับสังคมจีนที่นั่น พวกเขาไม่เรียกตัวเองว่ามุสลิมอีกต่อไปแล้ว เด็กรุ่นใหม่เองบางทีก็อาจไม่ทราบว่าตระกูลของตัวเองเมื่อก่อนเคยเป็นชาวจีนมุสลิม

5) ชาวหุยหุย จากเทียนจิงในซาบา
(The Tianjing Hui Hui in Sabah)

ที่ซาบา มีชาวจีนมุสลิม 4 ตระกูล คือ แซ่หวัง (Wang) แซ่หลี่ (Li) แซ่หง (Hong) และ แซ่กั๊วะ (Guo) พวกเขาอพยพมาจากเทียนจิง ช่วงปี ค.ศ.1913 เมื่ออังกฤษนำเข้าคนงานจีน 108 ตระกูลมาจากเมืองจีน เพื่อก่อสร้างทางรถไฟและทำสวนยางพาราในซาบา ส่วนตระกูลอื่นๆ ก็อพยพมาจากส่วนอื่นๆ ของซันตง (Shandong)

90 ปีให้หลังในซาบา มีชุมชนชาวจีนมุสลิมเล็กๆ ที่สืบเชื้อสายมาจาก 4 ตระกูลนั้น คนจีนที่นี่ต่างจากลูกหลานชาวหุยหุย ที่ตรังกานู เพราะแม้จะอยู่ที่ซาบา มา 5 รุ่นแล้ว เด็กๆ ก็ยังคงพูดภาษาจีนกลาง(แมนดาริน) สำเนียงเทียนจิงอย่างคล่องแคล่ว และมีสำนึกของความเป็นคนจีนสูง

จากการสัมภาษณ์ QC หรือ ซอลีฮาฮฺ. หลี่ ฉิง ชุน ลูกหลานรุ่นที่สี่ ผู้ทำงานในบริษัทก่อสร้างที่ลุงของเธอเป็นเจ้าของ ส่วนบิดาของเธอ หลี่ เต้อ เสียง (Li De Xiang) ผู้อายุได้ 66 แล้ว รำลึกถึงชีวิตวัยเด็กในซาบา เขามีพี่น้อง 10 คน สำนึกในสายเลือดจีนของพวกเขาเข้มแข็งมาก และพยายามรักษากันเอาไว้ แม้แต่ในรุ่นที่สอง พวกเขาต้องแต่งงานกับชาวมุสลิมเชื้อสายดูซุน (Dusun) และ คาดาซาน (Kadazans) รวมทั้งชาวจีนที่ไม่ใช่มุสลิม แต่คนเชื้อชาติอื่นที่แต่งงานเข้ามาในครอบครัวต้องเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน ส่วนชาวจีนที่ไม่ใช่มุสลิมต้องเปลี่ยนมารับอิสลาม

แม่ของ QC เป็นชาวไหหลำ ซึ่งเปลี่ยนมารับอิสลามหลังจากแต่งงานกับพ่อของเธอ ตอนแรกครอบครัวของพ่อเธอต่อต้านการแต่งงาน แต่ต่อมาก็ยอมรับแม่เธอ ความสัมพันธ์จึงดีขึ้น น้องชายของ QC แต่งงานกับสาวชาวดูซุน ซึ่งต้องมาเรียนพูดภาษาจีนหลังแต่งงาน พี่สาวของ QC แต่งงานกับชาวจีนที่เปลี่ยนมารับอิสลาม พวกเขาจึงยังคงเป็นครอบครัวชาวจีนมุสลิมที่ใหญ่มาก

ทุกวันนี้สมาชิกใน 4 ตระกูลนี้มีจำนวนไม่กี่ร้อยคน (QC บอกว่าน้อยกว่า 500 คน) พวกที่ไปแต่งงานกับชาวมาเลย์เท่านั้นที่ไม่มีชื่อจีนให้ลูก จะใช้ บิน (ลูกชายของ) หรือ บินตี (ลูกสาวของ) แทน

สาเหตุที่พวกเขายังคงรักษาความเป็นชาวจีนมุสลิมไว้ได้ อาจเป็นเพราะสาเหตุแรก ชุมชนมุสลิมในซาบาเป็นสังคมมุสลิมเล็กๆ หลากหลายเชื้อชาติ ไม่ใช่ชุมชนมาเลย์มุสลิมที่ใหญ่มากอย่างในมาเลเซียตะวันตก ที่ซาบามีทั้งมุสลิม ดูซุน คาดาซาน เมลาเนา ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมต่างจากชาวมาเลย์ เมื่ออยู่ท่ามกลางชนกลุ่มน้อยมุสลิมหลากเผ่าพันธุ์เช่นนี้ ชาวจีนจึงไม่รู้สึกยุ่งยากที่จะปรับตัวแม้มีภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะพวกเขาทุกกลุ่มต่างก็เป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยมุสลิมเหมือนกัน

สาเหตุที่สอง อาจเป็นเพราะชาวจีนที่ซาบาอพยพจากซันตงมีความเป็นหนึ่งเดียว แม้จะต่างศาสนา ซึ่งต่างจากพวกฮากกา (Hakka) หรือจีนแคะ สำหรับเรื่องนี้ QC บอกว่า ในตระกูลซันตงและสมาคมซันตงจะมี 2 ครัวเสมอ เมื่อมีการเฉลิมฉลองหรือมีงานแต่งงาน พวกเขาจะรวมชาวจีนมุสลิมที่อพยพมาจากมณฑลเดียวกัน มาฉลองร่วมกันเสมอ แต่อาหารจะมาจาก 2 ครัว คือครัวมุสลิม และครัวที่ไม่ใช่มุสลิม

6) การเผยแพร่อิสลาม จากชาวจีนสู่ชาวจีน
(Introduction of Islam in Chinese to the Chinese)

ในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของมาเลเซีย ฮัจญี อิบราฮิม หม่า เทียน ยิง (Haji Ibrahim Ma Tian Ying) นับเป็นชาวจีนมุสลิม นักเผยแพร่อิสลามคนสำคัญที่สุด เขาใช้ภาษาจีนเป็นสื่อในการเผยแพร่อิสลามสู่คนจีน งานเขียนชิ้นนี้จะกล่าวถึงชีวิต และผลงานของท่านบางส่วน

ฮัจญี อิบราฮิม หม่า มาจากครอบครัวจีนมุสลิมมีชื่อในปักกิ่ง (บรรพบุรุษอพยพมาจาก ซันตง Shan Dong) ช่วงปี ค.ศ.1938 - ค.ศ.1940 เขาเดินทางมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นผู้นำของผู้แทนศาสนาชาวจีนมุสลิม 3 คน ผู้แทนอีก 2 คนคือ หวู่ เจียน สุน (Wu Jian Xun) และ หม่า ดา วู (Ma Da Wu) ช่วงหนึ่งปีครึ่งคณะเผยแพร่ศาสนาเดินทางไปในหลายพื้นที่ และพบปะผู้คนมากมาย พวกเขาไปทุกรัฐในมาเลเซีย รวมทั้งซาบา และซาราวัก และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากทั้งชาวจีนและชาวมาเลย์

ชาวจีนในมาเลเซียเอง ก็ได้รับรู้เกี่ยวกับอิสลามในประเทศจีนจากชาวจีนมุสลิมโดยตรง ในการเดินทางเผยแพร่ศาสนาครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ ฮัจญี อิบราฮิม หม่า ผูกสัมพันธ์กับผู้ปกครองระดับสูง และสาธารณชนทั่วไป ซึ่งอำนวยความสะดวกเมื่อเขากลับมายังประเทศมาเลเซียอีกครั้ง

ฮัจญี อิบราฮิม หม่า กลับมายังมาเลเซียในปี ค.ศ.1948 ในฐานะกงสุลทั่วไปแห่งอีโปห์ ของรัฐบาล ก๊กมินตั๋ง คราวนี้เขากลับมาพร้อมครอบครัวคือ เฟ็ง หยุน เสี่ย (Feng Yun Xia) ภรรยา ลูกสาว 3 คน และลูกชาย 2 คน. ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในตำแหน่งกงสุล ฮัจญี อิบราฮิม หม่า มิได้ทำเพียงงานในหน้าที่กงสุล แต่เขาได้แสดงให้ชาวจีนในมาเลเซียได้เห็นถึงความก้าวหน้าของชาวจีนมุสลิม เมื่อประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ สถานกงสุลต้องปิดตัวลง ฮัจญี อิบราฮิม หม่า ไม่ได้ติดตามรัฐบาลเจียง ไค เช็ค ไปเกาะ ไต้หวัน เขาเลือกที่จะอาศัยอยู่ในมาเลเซีย ต่อไป

หลังจากเขาทำธุรกิจ โรงสีข้าว และธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ แล้ว เขาย้ายไปตามลูกสาว 2 คนไปยังสิงคโปร์ และอาศัยอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง ในปี ค.ศ.1957 มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ต่อมาปีค.ศ.1961 ตนกู อับดุล ราห์มาน ปุตรา อัล-ฮัจญ์ (Tunku Abdul Rahman Putra Al-Haj) นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ได้เชิญ ฮัจญี อิบราฮิม หม่า กลับมาเพื่อช่วยสร้างชาติมาเลเซีย. ตนกูมองเห็นว่า การที่ชาวจีนเข้าใจอิสลาม หรือให้ดีกว่านั้นก็คือเปลี่ยนมาเป็นมุสลิม จะช่วยลดช่องว่างระหว่างชาวมาเลย์และชาวจีนได้

จากนั้น เปอร์กิม (PERKIM หรือ Pertubuhan Kebajikan Islam Malaysia) "สมาคมสวัสดิการเพื่อมุสลิม" จึงก่อกำเนิดขึ้นมา ผู้ร่วมก่อตั้งได้แก่ ตนกู อับดุล ราห์มาน นายกฯ มาเลเซีย, ฮัจญี อิบราฮิม หม่า, ตัน ศรี มูบิน เช็พเพิร์ด (Tan Sri Mubin Sheppard), และ ตัน ศรี อุบัยดุลลาฮฺ (Tan Sri Ubaidullah) จากการที่มีเปอร์กิม ทำให้งานเผยแพร่ศาสนาอิสลามของ ฮัจญี อิบราฮิม หม่า ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง และไม่เคยหยุดเลยจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

จากตำแหน่งในเปอร์กิม ทำให้ ฮัจญี อิบราฮิม หม่า ได้เดินทางไปทั่วทุกจุดในมาเลเซีย ปาฐกถาเกี่ยวกับอิสลามเป็นภาษาจีน เขาออกกระจายเสียงทางวิทยุ โทรทัศน์ พูดในโรงเรียน ในองค์กรเอกชน และแม้กระทั่งในคุก เขายังเขียนหนังสือแนะนำให้ชาวจีนรู้จักอิสลามด้วยภาษาจีนที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย หนังสือเหล่านี้แจกฟรี และก็ยังคงแจกฟรีในทุกรัฐ ในทุกสถาบันศาสนาอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ หัวข้อของหนังสือเหล่านี้ได้แก่ คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับอิสลาม, ทำไมมุสลิมถึงไม่กินหมู, คำสอนของอิสลามและปรัชญาจีน, อิสลามคืออะไร ส่วนหนังสือเล่มสุดท้ายของเขาที่ชื่อ "มุสลิมในประเทศจีน" ที่เริ่มเขียนเมื่ออายุได้ 75 ปี เขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ

นอกจากเขียนหนังสือแล้ว ฮัจญี อิบราฮิม หม่า ยังออกหนังสือพิมพ์ราย 2 เดือน 2 ภาษา ทั้งจีนและอังกฤษ ชื่อ"แสงแห่งอิสลาม" หรือ หุย เจียว จี กวาง (Light of Islam หรือ Hui Jiao Zhi Guang) ต่อมาในภาษาจีนเปลี่ยนชื่อเป็น ยี ซี ลัน จี กวาง (Yi Si LanZhi Guang) เขาเป็นทั้งผู้พิมพ์ บรรณาธิการ และเขียนบทความส่วนใหญ่ ทุก 2 เดือนเมื่อหนังสือพิมพ์สำเร็จอกมาเรียบร้อย ภรรยาที่แสนดีของเขาจะนั่งอยู่ใกล้หนังสือพิมพ์กองมหึมา มีแผ่นป้ายชื่อ-ที่อยู่ของสมาชิก แสตมป์ กรรไกร และ กาว เธอนั่งติดชื่อ-ที่อยู่ ปิดแสตมป์ เตรียมส่งให้สมาชิกนับร้อยคนทั้งในมาเลเซียและต่างประเทศ

คนจำนวนมากยังจดจำภาพ ฮัจญี อิบราฮิม หม่า และภรรยานั่งที่โต๊ะอาหารขนาดใหญ่หมกมุ่นทำงานเพื่อพระผู้เป็นเจ้า หลานๆ ที่แวะมาเยี่ยมก็เคยช่วยงานปู่-ย่าด้วยความสนุกสนาน หนังสือพิมพ์อิสลามฉบับแรกที่เป็นภาษาจีน ถือเป็นพันธสัญญาของลูกหลานในตระกูลฮัจญี อิบราฮิม หม่า

ในเปอร์กิม ฮัจญี อิบราฮิม หม่า มีผู้ช่วยเป็นชาวจีนมุสลิมหลายคน เช่น เจ้า กั๊วะ จี (Zhao Guo Zhi) หู เอ็น จุน (Hu En Jun) หม่า จี บิน (Ma Zhi Bin) และคนอื่นๆ อีกมากมายที่มาช่วยเป็นเวลาสั้นๆ พวกเขามาจากหลายประเทศเช่น ไต้หวัน ลิเบีย ซาอุดิอารเบีย และประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง พวกเขาทำงานมิชชันนารี ให้คำปรึกษาแก่ชาวจีนที่เปลี่ยนมารับอิสลาม และสอนศาสนาอิสลามโดยใช้ภาษาจีน พวกเขามีส่วนอย่างมากในการทำให้คนจีนในมาเลเซียเข้าใจอิสลามมากขึ้น และทำให้มีชาวจีนหลายพันคนเปลี่ยนมารับอิสลาม

ฮัจญี อิบราฮิม หม่า เสียชีวิตเมื่อ 20 ปีก่อน ลูกหลานของเขาสืบทอดงานต่อมา อาลิยา ตุง หม่า หลิน (Aliya Tung Ma Lin) ลูกสาวคนโตของเขาเป็นอาจารย์และนักเขียน อยู่ที่สหรัฐอเมริกา เธอเขียนหนังสือเกี่ยวกับอิสลามออกมาจำนวนหนึ่ง และแม้จะอายุ 75 ปีแล้ว เธอก็ยังคงเข้าร่วมในงานประชุมเกี่ยวกับอิสลามในรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับชาวจีนมุสลิม และอิสลามในประเทศ จีน

ในขณะที่ มินุยรา ซับกี หม่า มิน (Minuira Sabki Ma Min) ลูกสาวคนที่ 3 ของ ฮัจญี อิบราฮิม หม่า ยังคงช่วยงานในวานิตา เปอร์กิม (Wanita Perkim) ซึ่งเป็นส่วนงานเผยแพร่อิสลามสู่สตรีของเปอร์กิมอย่างแข็งขัน เธอเคยเป็นประธานขององค์กรนี้หลายปี ส่วน ดาโต๊ะ ฮัจญี มุสตาฟา หม่า ชี (Dato' Haji Mustapha Ma Chi) ลูกชายคนโตของ ฮัจญี อิบราฮิม หม่า ก็ช่วยงานที่เปอร์กิม เช่นเดียวกัน ตอนนี้เขาเป็นประธานแม็คม่า (MACMA) หรือ "สมาคมจีนมุสลิมแห่งมาเลเซีย" (Malaysian Chinese Muslim Association http://macma.fotopic.net/) ในขณะที่ นาซีรฺ หม่า ลี (Nasir Ma Lee) ลูกชายคนเล็กของ ฮัจญี อิบราฮิม หม่า มักเป็นที่ปรึกษาให้ลูกของเพื่อนชาวจีนของเขาที่หันมารับอิสลาม

ในบรรดาลูกๆ ของฮัจญี อิบราฮิม หม่า มีเพียง หม่า มิน คนเดียวที่แต่งงานกับชาวมาเลย์ สามีของเธอพูดภาษาจีนคล่องและอยู่ในสังคมจีนได้อย่างดี ลูกๆ พูดภาษาจีนได้บ้าง ลูกชาย 2 คนและลูกสาว 1 คนแต่งงานกับชาวมาเลย์ ซึ่งในรุ่นนี้เองที่การกลืนเป็นมาเลย์อาจเริ่มต้นขึ้น อย่างไรก็ตาม หลานๆ ของ หม่า มิน อย่างน้อย 3 คนที่เรียนภาษาจีน และชอบรับประทานอาหารจีนที่บ้าน แต่พวกเขาไม่มีชื่อจีน ลูกหลานของเธอส่วนใหญ่อาศัยอยู่ต่างประเทศ

7) ชาวจีนมุสลิมผู้มาใหม่ หลังจีนเปิดประเทศ
(New settlers)

ช่วงทศวรรษ 1980 หลังจีนเปิดประเทศ มาเลเซียเริ่มรับนักเรียนมุสลิมจากไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่เข้าศึกษาที่ the Institute Dakwah perkim ซึ่งต่อมาพัฒนาไปเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติอิสลาม (International Islamic University หรือ IIU) จำนวนนักเรียนจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นทุกปี

เมื่อนักเรียนจีนมุสลิมมาถึงยังประเทศมาเลเซีย พวกเขาพบว่าตัวเองอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร เป็นสังคมอิสลามเสรีแต่มีความเป็นจีนอยู่ทั่วไป สำหรับพวกเขาแล้วประเทศมาเลเซียเป็นประเทศในอุดมคติสำหรับการศึกษา สิ่งแวดล้อมไม่ได้ต่างจากที่บ้านมากนัก และยังเป็นประเทศอิสลาม

ที่ควบคู่กันไปกับนักเรียนจีนมุสลิมก็คือ พ่อค้าจีนมุสลิม ที่เข้ามาทดลองตลาดการค้าใหม่และคู่ค้าใหม่ที่มาเลเซีย พวกเขาค่อนข้างพอใจกับคู่ค้ามุสลิมมาเลย์ จากนั้นข่าวเกี่ยวกับประเทศมุสลิมที่ทันสมัยอย่างมาเลเซีย ก็กระจายไปทั่วในบรรดาพ่อค้าชาวหุยที่เมืองจีน ทำให้พ่อค้าชาวหุยระลอกแล้วระลอกเล่าพากันเข้ามายังมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักกายกรรมชาวหุย ผู้เชี่ยวชาญด้านยาจีน บางส่วนของพวกเขามาแล้วก็ไป ที่สำคัญก็คือ พวกเขาส่วนใหญ่เมื่อกลับไปเมืองจีน จะสนับสนุนให้เด็กนักเรียนจีนมุสลิมเลือกประเทศมาเลเซียเพื่อศึกษาต่อ

ไม่ยากที่จะคาดเดาว่าทำไมเด็กจีนมุสลิมเลือกมาเลเซียเป็นเป้าหมายในการศึกษาขั้นสูง

- ข้อแรกสุด มาเลเซียเป็นประเทศมุสลิมที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมจีนเต็มเปี่ยม พวกเขาใช้ภาษาจีนกลางที่มาเลเซียได้สบาย ค่าใช้จ่ายไม่แพงมากและถูกกว่าการศึกษาในประเทศตะวันตกมากมาย

- ข้อได้เปรียบอีกข้อคือ การศึกษาที่ IIU เป็นภาษาอังกฤษ ส่วนที่สถาบันการศึกษาอิสลามเองก็เรียนทั้งภาษาอาหรับและอังกฤษ

- อีกประการหนึ่งมาเลเซียเป็นมุสลิมที่ไม่เคร่งครัดมากเท่ากับประเทศในตะวันออกกลาง หรือ อียิปต์ นอกจากนี้มาเลเซียใกล้กับประเทศจีนมากกว่า

นักเรียนแต่ละคนใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 ปีในมาเลเซีย. 1-2 ปีแรกสำหรับเรียนภาษาอังกฤษ อาหรับ และมาเลย์ ต่อมาอีก 4 ปีเรียนปริญญาตรี บางคนอาจศึกษาต่อปริญญาโทอีก 2 ปี หรือไม่บางคนที่จบปริญญาตรีจากประเทศมุสลิมอื่นๆ ก็มาต่อปริญญาโทและเอกที่นี่ จากการเรียนที่มาเลเซียเป็นเวลานาน หลายคนแต่งงานกับเพื่อนนักเรียน น้อยคนที่แต่งกับชาวมาเลย์ หรือชาวจีนที่เปลี่ยนมารับอิสลาม

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อ IIU จำกัดจำนวนนักเรียนจากประเทศจีน ครอบครัวชาวจีนมุสลิมก็เริ่มมองหาโรงเรียนเอกชน ทุกวันนี้มีเด็กนักเรียนชาวหุยในมาเลเซีย 50-60 คน แม้มีจำนวนน้อย แต่การปรากฏตัวของพวกเขาด้วยใบหน้าจีนในเครื่องแต่งกายแบบมุสลิมที่มหาวิทยาลัย ที่ตลาด ที่ศูนย์การค้า หรือที่สาธารณะอื่นๆ ส่งผลต่อทั้งชาวจีนและชาวมาเลย์

ปัจจุบันนี้ชาวจีนมุสลิมไม่ได้เป็นสิ่งประหลาดในสังคมมาเลเซียอีกต่อไปแล้ว เด็กนักเรียนชาวหุยคนหนึ่งกล่าวว่า: เมื่อตอนฉันมาที่นี่ใหม่ๆ ผู้คนค่อนข้างแปลกใจเมื่อเห็นฉัน สาวจีนในเครื่องแต่งกายมุสลิมหรือนี่? แต่ทุกวันนี้ แม้แต่คนขับรถแท็กซี่ก็รู้สึกคุ้นเคยที่เห็นพวกเรา พวกเขาถามพวกเรามากมายเกี่ยวกับชาวมุสลิมที่เมืองจีน และดูจะพอใจที่รู้เกี่ยวกับพวกเรามากขึ้น

บางส่วนของนักเรียนเหล่านี้ถูกเลือกให้โชว์ตัว ในรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศเป็นภาษาจีนกลาง Pusat Islam มีงบพิเศษสำหรับรายการภาษาจีนกลางเหล่านี้ ฮัจยะฮฺ มาเรียม หม่า เป็นผู้อำนวยการโครงการ เธอเป็นชาวจีนมุสลิมที่พูดคล่องทั้งภาษามาเลย์ และ จีนกลาง โครงการนี้ผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อชุมชนชาวจีนในมาเลเซีย

นอกจากนี้ นักเรียนจีนมุสลิมอาจหางานพิเศษที่สถาบันทางศาสนาต่างๆ เช่น REISAP หรือ PERKIM หรือไม่ก็ DarulFitrah เพื่อนำมุสลิมต่างเชื้อชาติพบปะกับสังคมมาเลย์มุสลิม

นักเรียนแต่ละคนอาจศึกษาในมาเลเซีย 6-10 ปี แต่พวกเขาก็ยังคงมากันอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลและองค์กรของรัฐควรสนับสนุนนักเรียนจีนมุสลิมให้มาศึกษาที่มาเลเซีย เพื่อลดช่องว่างระหว่างชาวจีนกับชาวมาเลย์ เพราะการมีพวกเขาอยู่ในมาเลเซีย จะแสดงให้ชาวจีนเห็นว่า มีชาวจีนที่เป็นมุสลิม และ ในขณะเดียวกันก็แสดงให้ชาวมาเลย์เห็นว่า มีมุสลิมที่เป็นคนจีน เป็นวิถีทางที่จะแสดงออกถึงความเป็นสากลของอิสลามที่ยังคงขาดอยู่ในมาเลเซีย

ทุกวันนี้ แม้นักเรียนชาวหุย พ่อค้าหรือผู้เชี่ยวชาญชาวหุยจะอยู่ในมาเลเซียเพียงชั่วคราว พวกเขาก็ถือเป็นคลื่นชาวจีนมุสลิมรุ่นล่าสุดที่เข้ามาในมาเลเซีย แต่ชาวจีนมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศนี้ก็ยังคงเป็นชาวจีนที่เปลี่ยนศาสนามารับอิสลามอยู่ดี

ที่มา: http://www.islam.org.hk/eng/malaysia/ChineseMuslim_in_Malaysia.asp

จบตอนที่ ๒ คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๑

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
100549
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ช่วงทศวรรษ 1980 หลังจีนเปิดประเทศ มาเลเซียเริ่มรับนักเรียนมุสลิมจากไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่เข้าศึกษาที่ the Institute Dakwah perkim ซึ่งต่อมาพัฒนาไปเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติอิสลาม (International Islamic University หรือ IIU) จำนวนนักเรียนจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อนักเรียนจีนมุสลิมมาถึงยังประเทศมาเลเซีย พวกเขาพบว่าตัวเองอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร เป็นสังคมอิสลามเสรีแต่มีความเป็นจีนอยู่ทั่วไป สำหรับพวกเขาแล้วประเทศมาเลเซียเป็นประเทศในอุดมคติสำหรับการศึกษา สิ่งแวดล้อมไม่ได้ต่างจากที่บ้านมากนัก และยังเป็นประเทศอิสลาม ที่ควบคู่กันไปกับนักเรียนจีนมุสลิมก็คือ พ่อค้าจีนมุสลิม ที่เข้ามาทดลองตลาดการค้าใหม่และคู่ค้าใหม่ที่มาเลเซีย พวกเขาค่อนข้างพอใจกับคู่ค้ามุสลิมมาเลย์

 

The Midnightuniv website 2006