นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



บทวิเคราะห์การเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน
เผด็จการจำแลง อย่าตะแบงข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
รศ. ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ เป็นผลงานที่เคยตีพิมพ์แล้วใน นสพ.มติชน ประกอบด้วย
๑.
เผด็จการจำแลง
๒.
สถานการณ์หลังทักษิณเว้นวรรค และภาระหน้าที่ของภาคประชาชน
๓.
อย่าให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 903
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)




เผด็จการจำแลง อย่าตะแบงข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
รศ. ดร. เกษียร เตชะพีระ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๑. เผด็จการจำแลง
"มาบัดนี้ ระบอบทักษิณได้ยักยอกและยึดครองประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิงแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการลงมติรับรองผู้นำเผด็จการเท่านั้น การยุบสภาที่เกิดขึ้นทำไปเพื่อประโยชน์ของคนคนเดียวที่ไม่ยอมรับการตรวจสอบปัญหาคอร์รัปชั่น และผลประโยชน์ที่ทับซ้อนที่ได้กระทำไปด้วยความโลภโมโทสัน

"ทุกวันนี้ ระบอบทักษิณยึดอำนาจบริหารไปครองอย่างเข้มแข็ง ยิ่งไม่ต่างจากระบอบประธานาธิบดี แต่ระบอบประธานาธิบดีนั้นก็ยังดีที่ฝ่ายบริหารยุบสภาไม่ได้ และมีกลไกตรวจสอบของสภากับสื่อมวลชนที่อิสระ ที่เข้มแข็ง คอยทัดทานอำนาจอยู่ การยินยอมให้ระบอบทักษิณยุบสภาหนีการตรวจสอบได้ ผนวกกับการแทรกแซงครอบงำสื่อมวลชนอย่างรุนแรงเช่นปัจจุบัน ย่อมเป็นการยอมให้เผด็จการจำแลงยึดครองประชาธิปไตย ยักยอกรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ที่ไม่อาจยอมรับได้

"ในสถานการณ์เผด็จการจำแลงเช่นนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เล็งเห็น และให้สิทธิพื้นฐานแก่ชนชาวไทยไว้แล้ว ในมาตรา 65 ว่า หากมีการแสวงอำนาจรัฐโดยผิดวิถีทางของรัฐธรรมนูญ พาประเทศเข้าสู่เผด็จการเมื่อใด คนไทยย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสงบได้ไม่เป็นความผิด"
คำแถลง "ไชยันต์ ไชยพร" ฉีกบัตรสู้ระบอบ "ทักษิณ"
มติชนรายวัน, 3 เมษายน 2549, น.2

ในบทความ "Fascism Anyone?" ลงพิมพ์ในวารสาร Free Inquiry ฉบับประจำฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ.2003 หน้า 20, ดอกเตอร์ Lawrence Britt นักรัฐศาสตร์ผู้ศึกษาระบอบเผด็จการฟาสซิสต์หลายประเทศ ได้แก่ ระบอบของฮิตเลอร์ในเยอรมนี (ค.ศ.1933-1945), มุสโสลินีในอิตาลี (ค.ศ.1922-1943), ฟรังโกในสเปน (ค.ศ.1939-1975), ซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย (ค.ศ.1967-1989) และปิโนเชต์ในชิลี (ค.ศ.1974-1990) ได้ประมวลสรุปบุคลิกเอกลักษณ์ที่ระบอบฟาสซิสต์ต่างๆ เหล่านี้มีร่วมกันไว้ 14 ประการ ได้แก่

1) ชูชาตินิยมอย่างแข็งกร้าวและพร่ำเพรื่อ
ระบอบฟาสซิสต์มักพร่ำใช้คำขวัญ, วาทะ, สัญลักษณ์, เพลง และวัสดุอุปกรณ์รักชาติอื่นๆ อย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเสมอ เอะอะก็ชักธงชาติ ติดธงชาติตะพึดตะพือตามตึกรามอาคารถนนหนทางทุกหนแห่ง ไม่เว้นแม้แต่บนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย

2) เมินเฉยไม่นำพาสิทธิมนุษยชน
อารามตื่นกลัว "ศัตรู" และโหยหา "ความมั่นคง" จนสิ้นสติ ผู้คนพลเมืองในระบอบฟาสซิสต์จึงถูกชักจูงให้คล้อยตามท่านผู้นำว่า จำเป็นต้องละเลยสิทธิมนุษยชนเสียในบางกรณี พวกเขามักทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือกระทั่งเห็นดีเห็นงามไปกับการทรมานผู้ต้องสงสัย, ใช้อำนาจปฏิวัติหรืออำนาจฉุกเฉินสั่งยิงเป้า, ฆ่าตัดตอน, อุ้มหายสาบสูญ, ขังลืม ฯลฯ เอากับบรรดาผู้ถูกตราหน้าว่าเป็น "ศัตรู"

3) ปลุกผี "ศัตรู" ขึ้นมาเป็นแพะรับบาปเพื่อสร้างความสามัคคีบนพื้นฐานความเกลียดกลัว
ปลุกระดมประชาชนให้สามัคคีกันคลั่งชาติเพื่อกำจัดผู้ที่ถูกถือว่าเป็น "ศัตรู" หรือ "ภัยคุกคาม" ร่วมกัน ไม่ว่าเจ๊ก, แกว, แขก, คริสต์, มุสลิม, เสรีนิยม, คอมมิวนิสต์, สังคมนิยม, ผู้ก่อการร้าย ฯลฯ

4) ทหารเป็นใหญ่ในบ้านเมือง
แม้ในยามบ้านเมืองอัตคัดขัดสนข้าวยากหมากแพง ทหารยังคงได้สัดส่วนงบประมาณมากเป็นพิเศษเหนือกิจการด้านอื่นๆ ทหารหาญได้รับยกย่องสดุดีอย่างสูงยิ่ง

5) กดขี่ทางเพศอย่างแพร่หลาย
รัฐบาลประเทศฟาสซิสต์มักถูกครอบงำโดยผู้นำเพศชายแทบจะล้วนๆ และยึดมั่นถือมั่นการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ชาย/หญิงตามประเพณีอย่างเคร่งครัดตายตัว การหย่าร้าง ทำแท้ง และพฤติการณ์รักร่วมเพศจะถูกกดขี่ปราบปราม รัฐถูกถือเป็นองครักษ์พิทักษ์สถาบันครอบครัวอย่างถึงที่สุด

6) ปิดปากควบคุมสื่อมวลชน
บางครั้งรัฐบาลฟาสซิสต์จะเข้ากำกับควบคุมสื่อมวลชนโดยตรง แต่บางทีก็ทำโดยอ้อมผ่านกฎระเบียบราชการหรือผู้บริหาร และกระบอกเสียงโฆษกที่ฝักใฝ่รัฐบาล การเซ็นเซอร์ทำกันดกดื่นโดยเฉพาะในยามสงคราม

7) หมกมุ่นฝังหัวเรื่อง "ความมั่นคงแห่งชาติ"
รัฐบาลฟาสซิสต์จะใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือสำคัญในการจูงจมูกมวลชนให้เชื่อฟัง และสยบยอมตามภายใต้ข้ออ้างเรื่อง "ความมั่นคง"

8) รัฐบาลพัวพันอีนุงตุงนังกับศาสนจักร
รัฐบาลฟาสซิสต์มักฉวยใช้ศาสนาหลักที่แพร่หลายในประเทศ เป็นเครื่องมือหลอกล่อชักจูงมติมหาชน ผู้นำรัฐบาลจะพร่ำพูดเรื่องศีลธรรมไม่ขาดปาก เข้ามนัสการพระชื่อดังไม่ขาดสาย แต่กลับดำเนินนโยบายและมาตรการขัดทวนสวนทางหลักคำสอนศาสนาเป็นตรงกันข้าม

9) ปกป้องอำนาจกลุ่มธุรกิจ
ชนชั้นนำในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมมักเป็นตัวการหนุนหลังผู้นำรัฐบาลให้ขึ้นสู่อำนาจ จึงผูกสานเป็นสายใยสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกันในหมู่ชนชั้นนำแห่งวงการธุรกิจกับรัฐบาล

10) กดขี่ขบวนการแรงงาน
เนื่องจากแรงงานที่จัดตั้งกันเป็นสหภาพ นับเป็นภัยคุกคามรัฐบาลฟาสซิสต์ที่แท้จริงเพียงหลักเดียว ฉะนั้น ถ้าไม่ถูกกวาดล้างจนเหี้ยนเตียนก็โดนปราบปรามอย่างหนัก

11) ดูหมิ่นถิ่นแคลนปัญญาชนและศิลปวรรณกรรม
ระบอบฟาสซิสต์มักส่งเสริมและปล่อยให้เกิดการต่อต้านเป็นปฏิปักษ์กับการศึกษาชั้นสูง และแวดวงวิชาการอย่างเปิดเผย อาจารย์นักวิชาการจะถูกเซ็นเซอร์หรือแม้แต่จับกุมเป็นปกติวิสัย เสรีภาพที่จะแสดงออกในทางศิลปวรรณกรรมถูกโจมตีโต้งๆ

12) ปราบปรามลงโทษอาชญากรรมด้วยอำนาจอาญาสิทธิ์
ภายใต้ระบอบฟาสซิสต์ ตำรวจได้รับอำนาจไร้ขีดจำกัดในการบังคับใช้กฎหมาย ประชาชนมักยินดีทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เวลาตำรวจฉวยใช้อำนาจรังแกผู้คน หรือแม้แต่ละทิ้งสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเพื่อเห็นแก่ชาติ บ่อยครั้งประเทศฟาสซิสต์ จะอาศัยกองกำลังตำรวจระดับชาติที่มีอำนาจไร้ขีดจำกัดในทางเป็นจริงไปรักษา "กฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง"

13) การเล่นพวกพ้องและทุจริตคอร์รัปชั่นแพร่ระบาด
แทบจะเป็นกฎเกณฑ์เลยว่า ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ทั้งหลายจะปกป้องโดยกลุ่มพรรคพวกเพื่อนพ้องที่เอื้อเฟื้อแต่งตั้งกันและกัน ไปกินตำแหน่งใหญ่โตในราชการแล้วใช้อำนาจนั้นๆ ปกป้องกันและกันให้พ้นผิดตามหลัก "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" การฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยผู้นำรัฐบาล มีเป็นปกติธรรมดาในระบอบดังกล่าว เนื่องจากการขีดเส้นแบ่งนิยามว่าอะไรเป็นของหลวง / อะไรเป็นของกูนั้น ดันไปขึ้นอยู่กับอำนาจสิทธิขาดของผู้นำ

14) โกงเลือกตั้ง
บ่อยครั้งการเลือกตั้งในประเทศเผด็จการฟาสซิสต์เป็นตลกลวงโลกทั้งเพ การจัดการเลือกตั้งถูกฉ้อฉลบิดเบือนโดยการรณรงค์ให้ร้ายป้ายสี หรือกระทั่งลอบสังหารผู้สมัครฝ่ายค้าน, ออกกฎหมายกำกับควบคุมจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้เป็นคุณแก่ตน, ใช้สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงรัฐบาลฝ่ายเดียว และควบคุมชักเชิดกรรมการจัดเลือกตั้ง และศาลตุลาการอยู่หลังฉาก

น่าสนใจจะลองติ๊กว่าระบอบทักษิณมีบุคลิกลักษณะเข้าข่ายบ้างไหม อย่างไร กี่ข้อใน 14 ประการข้างต้น?

มองกว้างออกไป มีสัญญาณแนวโน้มการแพร่หลายของ [ระบอบทุนนิยม-อำนาจนิยม] ในระดับโลกปัจจุบัน กล่าวคือ ด้านหนึ่งบรรดา ประเทศทุนนิยม-เสรีนิยม ทั้งหลายชักจะโน้มเอียงเป็น อำนาจนิยมทางการเมือง ขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ภัยคุกคามของการโจมตีก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ.2001 ในอเมริกาเป็นต้นมา

ในทางกลับกัน บรรดา สังคมที่เป็นอำนาจนิยม อยู่แล้วเช่นจีนก็ชักหันมาเดิน แนวทางเศรษฐกิจทุนนิยม มากขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับว่าฝนตกขี้หมูไหล ทั้งสองระบบทุนนิยมกับอำนาจนิยมจัญไรจึงหันมาบรรจบกัน...

ทุนนิยม---> [ระบอบทุนนิยม-อำนาจนิยม] <--- อำนาจนิยม


อย่าลืมว่า อันที่จริงโลกของเราก็มีประเทศทุนนิยมที่ไม่เคยเป็นเสรีนิยมมาแต่ไหนแต่ไรอยู่ก่อนแล้วมากมาย อาทิ สิงคโปร์ เป็นต้น หลายประเทศในนั้นเป็นอดีตอาณานิคม ที่เจ้าอาณานิคมส่งออกพลังเศรษฐกิจตลาดมาขึ้นฝั่งให้ แต่ดันลืมบรรจุสถาบันประชาธิปไตยใส่หีบห่อมาด้วย ที่มักรับเชื่อว่า ตลาดเสรีกับการเมืองประชาธิปไตยมาด้วยกันไปด้วยกันนั้น จึงออกจะด่วนทึกทักสรุปเกินไป มิฉะนั้นก็คงไม่มีระบอบเผด็จการฟาสซิสต์เกิดมาให้เห็นดอก

ฉะนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจการเมืองโลกในอนาคตจึงดูจะกลับกลายเป็นเรื่อง" ตลาดเสรีขย้ำขยอกกลืนการเมืองประชาธิปไตยจนเหี้ยนเตียนไม่เหลือหรอมากกว่าอื่น"

ในแง่นี้ระบอบทักษิณก็อาจเป็นเพียงตัวอย่างแสดงออกในเมืองไทยของแนวโน้ม "เผด็จการจำแลง" (คำของอาจารย์ไชยันต์ ไชยพร แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ), "เผด็จการพลเรือน" (คำของบรรเจิด สิงคเนติ แห่งนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์) หรือ "ประชาธิปไตยอำนาจนิยม" (คำของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แห่งรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์) ดังกล่าว

๒. สถานการณ์หลังทักษิณเว้นวรรค และภาระหน้าที่ของภาคประชาชน
สถานการณ์การเมืองปัจจุบันภายหลังรักษาการนายกฯทักษิณประกาศเว้นวรรคตำแหน่งนายกฯสมัยหน้า ยังคงอึมครึม คลุมเครือ อิหลักอิเหลื่อ ไม่รู้จะออกหัวออกก้อยด้วยปัญหาคาค้างสารพัด อาทิ :-

- นายกฯนอมินีจะเป็นใคร?
- มีบ้านไหนวังใดในไทยรักสนับสนุน?
- กกต.จะทู่ซี้ลากยาวการเลือกตั้งอันวิปริตอาเพศ อเนจอนาถไปถึงไหน?
- สภาผู้แทนราษฎร "แปลกแต่จริง" จะเปิดได้หรือไม่? เมื่อไร? โดยอ้างเอาสีข้างของกฎหมายข้อใดเข้าถู?
- การปฏิรูปการเมืองรอบสองจะพลิกแพลงทำกันท่าไหน? ออกมาพิลึกพิเรนทร์เพียงไร?
- พรรคฝ่ายค้านจะกลับลำลื่นไหลเข้าร่วมการเมืองในสภาหรือไม่? ด้วยกระบวนท่าใด?
- พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเรียกชุมนุมใหม่อีกหรือเปล่า?
- สนธิ สุลักษณ์ แกนนำ และผู้ปราศรัยบนเวทีพันธมิตรทั้งหลายจะถูกฟ้องข้อหาหมิ่นฯ และอื่นๆ หรือไม่?
- ม็อบบ้าเลือดที่คนสติแตกไปปลุกระดมมา จะใช้กำลังเข้ารำมะนาฝ่ายตรงข้ามเหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปอีกที่ไหน? เมื่อไหร่?
- แล้วทั้งหมดนี้จะช่วยรับมือราคาน้ำมันที่นับวันพุ่งพรวด และค่าเงินบาทที่แข็งโด่เด่ได้หรือไฉน?
- รึว่าในที่สุดจะลงเอยด้วยนายกฯพระราชทาน? ถ้ากระนั้น จะเป็นผู้ใดแน่? พลเอก ส. หรือว่าประธาน อ. หรือ ฯลฯลฯ?


และที่สำคัญ เบื้องหน้าความสับสนอลหม่านทั้งหมดนี้ ภาคประชาชนจะทำอะไรดี? นอกจากฉีกบัตรกงเต๊กควากๆ เซ่นไหว้สังเวยดวงวิญญาณของนายอารยะขัดขืน ณ ประชาธิปไตย ไปพลางๆ

แบบนี้เห็นทีต้องลองหันไปปรึกษาประธานเหมาฯเจ้าเก่าดู เริ่มด้วยคำถามตามสูตรวิภาษวิธีว่า

อะไรคือ "ความขัดแย้งหลัก" ในเมืองไทยปัจจุบัน? และอันไหนเป็น "ด้านหลัก" ของคู่ขัดแย้งนั้น?
พิจารณาดูแล้ว ชะรอยความขัดแย้งหลัก น่าจะเป็นระหว่างระบอบทักษิณ ซึ่งยังตั้งมั่นสบายดีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ กับพันธมิตรต้านทักษิณ ซึ่งแตกต่างหลากหลายร้อยพ่อพันแม่ แต่มาเข้าแถวร่วมขบวนอยู่ด้วยเป้าหมายเดียวกันคือ "ท้ากกกกสิน...ออกไป"

แล้วอะไรคือ "ด้านหลัก" ของคู่ขัดแย้งนี้เล่า?
ดูๆ ไม่น่าจะใช่ม็อบคาราวานคนจน หรือคนขับแท็กซี่ หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือชาวสลัมยากไร้เจ้าของเสียงตะโกน "ทักษิณ...สู้ๆ" ดังสนั่นเหล่านั้น

หากคือโครงการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยที่ทักษิณเป็นตัวแทน (อันประกอบไปด้วยการแปรไทยให้เป็นทุน, แปรอำนาจรัฐให้เป็นแบบซีอีโอ, แปรการเลือกตั้งให้เป็นแบบทักษิณ ณ ไทยรักไทย, แปรกิจการด้านต่างๆ ของรัฐชาติไทยให้เป็นของเอกชน, แปรโลกาภิวัตน์ให้เอียงเข้าข้างพวกพ้องเส้นสาย)

ส่วน "ด้านรอง" ของคู่ขัดแย้งย่อมได้แก่พลังฝ่ายค้านของคนชั้นกลางและชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่พอใจและหวาดวิตกภัยคุกคามจากโครงการดังกล่าวของทักษิณที่มีต่อ "ชาติ" ของตน จึงพยายามหยุดยั้งมันไว้ก่อนที่ "ระบอบทักษิณ" จะลงหลักปักฐานแน่นหนามั่นคงกว่านี้

หากยึดมุมมองแบบประธานเหมาฯข้างต้นเป็นตัวตั้ง ข้อเรียกร้องเชิงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่พันธมิตรต้านทักษิณอันกว้างขวาง ควรจะร่วมกันผลักดันน่าจะเป็นเช่นไร?

...ก็อาจจะเป็นเช่นนี้คือ :-

1) เป้าหมายเฉพาะหน้า
ขยายการเว้นวรรคทางการเมืองเป็นย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่ หรือปิดบัญชีขึ้นเล่มใหม่ไปเลย โดยผ่านการรื้อฟื้นคดีข้อหาคาราคาซังมากมายที่ยังไม่กระจ่างชัด ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 5 ปี ภายใต้รัฐบาลที่นายกฯซีอีโอเป็นผู้รับผิดชอบขึ้นมาสะสางตรวจสอบ ไม่ว่าคดีทุจริตคอร์รัปชั่น การขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก การฆ่าตัดตอนผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติด การอุ้มฆ่าและละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นต้น โดยให้คณะกรรมการอิสระที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นที่ยอมรับของสังคมเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและวินิจฉัยตามหลักกฎหมายอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม

ทั้งนี้เพื่อหยุดยั้งการลื่นไถลเปลี่ยนสภาพของรัฐไทยจาก นิติรัฐ - รัฐโปลิศ - รัฐผู้ร้าย (the rule of law - police state - criminal state) ที่ทำผิดกฎหมายเสียเองตามลำดับในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีแต่ดึงตัวการเปลี่ยนแปลง (agent of change) สำคัญที่สุดให้ปลอดพ้นไปก่อนเท่านั้น จึงจะฟื้นฟูสุขภาพของนิติรัฐขึ้นมาใหม่ในระบบการเมืองได้ มิฉะนั้นหลักนิติรัฐก็จะถูกคุกคามจนขาดเสถียรภาพ ด้วยพลังกดดันประชานิยมซึ่งสามารถถูกปลุกเรียกขึ้นมาใหม่ได้ทุกเมื่อนับแต่คดีซุกหุ้นรอบแรกแล้ว

2) เป้าหมายระยะกลาง
ชำระกวาดล้างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย ซึ่งต้องข้อครหาว่าบิดเบือนฉวยใช้อำนาจไปในทางมิชอบ ไม่เป็นกลาง ไม่เที่ยงธรรม และมีพฤติการณ์ด่างพร้อยเป็นมลทินภายใต้รัฐบาลที่ผ่านมา ให้ปลอดพ้นจากบรรดาผู้ฝักใฝ่รับใช้ปกป้องคุ้มครองฝ่ายการเมือง ดำเนินการพิสูจน์ตรวจสอบว่าข้อสงสัยที่มีผู้ตั้งต่อองค์กรอิสระต่างๆ ที่ผ่านมา อย่างเช่นศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น จริงเท็จแค่ไหนเพียงใด ปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจำกัดอำนาจของนายกรัฐมนตรีในอนาคตลง ปรับแก้การจัดการปัญหาความรุนแรงภาคใต้ในระดับปฏิบัติการในพื้นที่ ให้ยึดมั่นแนวทางการเมืองนำการทหารของกองทัพ และสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปของ กอส.อย่างจริงจัง

3) เป้าหมายระยะยาว
เปลี่ยนแปลงภาวะ "สองนัคราประชาธิปไตย" ระหว่างเมืองกับชนบท ที่เปิดจุดอ่อนช่องโหว่ให้พรรคใดพรรคหนึ่ง กลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือผู้นำคนใดคนหนึ่งผูกขาดฐานเสียงของคนชนบทไว้ลำพังฝ่ายเดียว ไม่ปล่อยให้เกิดเงื่อนไขที่ใครจะปลุกคนจนชนบทมาฟอกตัวเองทางการเมือง จากข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยการเลือกตั้งหรือก่อม็อบสนับสนุนได้อีก โดยทำให้การกระจายทุน, กระจายสวัสดิการและกระจายอำนาจจัดการดูแลทรัพยากรท้องถิ่น และวิถีชีวิตชุมชนแก่ชาวนาชนบทเป็นองค์ประกอบถาวรของหลักนโยบายแห่งรัฐ ที่ผูกมัดรัฐบาลชุดต่อๆ ไปในอนาคตให้ต้องดำเนินการสืบต่อ และปรับปรุงขยายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพื่อลดช่องว่างแห่งความอยุติธรรม และเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอันใหญ่ที่สุดของชาตินี้ลง

๓. อย่าให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน ปัจจุบันอยู่ตรงที่ต่างฝ่ายต่างก็กล่าวหาฟ้องร้องฝ่ายตรงข้ามว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" กันจ้าละหวั่น ตั้งแต่ช่วงสามสี่เดือนสุดท้ายปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา

ครั้งนั้นเรื่องทำท่าจะลุกลามไปใหญ่โต เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายจังหวัดทางภาคอีสานประกาศจะฟ้องร้องกล่าวหาผู้วิจารณ์คัดค้านรัฐบาลในข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชนุภาพ" เรียงจังหวัด แต่แล้วเรื่องก็ชะงักไปเมื่อผู้พิพากษาในจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน ปฏิเสธที่จะออกหมายจับคนผู้นั้น เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาของตำรวจตามสำนวนที่ยื่นฟ้องมาฟังไม่ขึ้น

และแล้วกระแสคลื่นการฟ้องร้องฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ก็มาระงับทุเลาไปภายหลังพระราชดำรัส 4 ธันวาคม พ.ศ.2548 ดังมีความบางตอนเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ว่า :-

"แต่ว่าวันนี้ตั้งใจจะพูดอะไรที่ไม่พาดพิงใครเลย ไม่ติเตียนใครเลย เพราะการติดเตียนใคร พาดพิงใคร ก็เกิดความไม่สบายใจ แต่ที่เห็นอยู่ข้างหน้า มีคนที่พูดก็คงรู้ว่าใครพูด มีคนพูดว่าข้าพเจ้าไม่ดี พระเจ้าอยู่หัวไม่ดี ทำอะไรผิด แต่เขาต้องแสดงออกมาว่าพระเจ้าอยู่หัวฯไม่ผิด ผิดไม่ได้ เป็นตามความจริงในระบอบประชาธิปไตย ในระบอบรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระเจ้าอยู่หัวฯผิดไม่ได้ เขาพูดอย่างนั้น THE KING can do no wrong เหมือนท่านองคมนตรีชอบพูดว่า กษัตริย์ผิด แต่เวลาบอก THE KING บอกว่า THE KING can do no wrong ก็เป็นสิ่งที่ wrong แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ผิดแล้ว ไม่ควรพูดอย่างนั้น

"ความจริงเวลาอ่านตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ มีตำราที่คนอ้างเสมอ และคนที่เรียนภาษาอังกฤษ เรียนกฎหมายอังกฤษ ต้องอ้างเสมอเรื่อง THE KING can do no wrong และนักกฎหมายแถวนี้พยักหน้าว่าใช่ ความจริง THE KING can do no wrong คือการดูถูก THE KING อย่างมาก แสดงให้เห็นว่า เดอะคิงไม่ใช่คน แต่เดอะคิงทำ wrong ได้ สำคัญที่สุด

"...และก็บอกในหนังสือพิมพ์วิทยุโทรทัศน์ บอกว่า ที่เดอะคิงทำอะไร ก็ไม่วิจารณ์ และเขาบอกอย่าวิจารณ์ เพราะว่าเราทำอะไรไป ก็ต้องรู้ว่าเขาเห็นดีไม่ดี ถ้าไม่พูด ก็หาว่าทำดีแล้ว แต่แท้จริงที่พูดที่ออกข่าวให้สัมภาษณ์บอกว่าอย่างไปวิจารณ์ THE KING ต้องบอกว่าอย่าไปวิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะว่าไม่ควร ในรัฐธรรมนูญก็มีอยู่ว่าละเมิดมิได้ นักกฎหมายก็พยักหน้าอีกแล้วว่าถูกต้อง ว่าไม่ควรจะวิจารณ์ วิจารณ์ไม่ได้ ละเมิดไม่ได้ แต่ว่าถ้าพูดว่าพระเจ้าอยู่หัวทำถูก พูดถูก ไม่ใช่ละเมิด เป็นการถ้าพูดภาษาอังกฤษก็ approve พระเจ้าอยู่หัวเห็นชอบด้วย แต่ไม่เคยมีใครมาบอกเห็นชอบว่าพระเจ้าอยู่หัวพูดดี พูดถูก

"แต่ว่าความจริงก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัวถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกไม่วิจารณ์แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี รู้ได้อย่างไร ถ้าเขาบอกว่าไม่ให้วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น บางคนอยู่ในสมองว่าพระเจ้าอยู่หัวพูดชอบกล พูดประหลาดๆ ถ้าขอเปิดเผยว่าวิจารณ์ตัวเองได้ว่าบางทีก็อาจจะผิด แต่ให้รู้ว่าผิด ถ้าเขาบอกว่าวิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวว่าผิด งั้นขอทราบว่าผิดตรงไหน ถ้าไม่ทราบ เดือดร้อน

"ฉะนั้นก็ที่บอกว่าการวิจารณ์เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิดเขาก็ถูกประชาชนบอมบ์ คือเป็นเรื่องของขอให้รู้ว่าเขาวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูก ไม่ว่า แต่ถ้าเขาวิจารณ์ผิด ไม่ดี แต่เมื่อบอกว่าไม่ให้วิจารณ์ ไม่ให้ละเมิด ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ก็ลงท้ายก็เลยพระมหากษัตริย์ก็เลยลำบากแย่ อยู่ในฐานะลำบาก ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่ให้วิจารณ์ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวนี่ก็ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิด พระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี ซึ่งถ้าคนไทยด้วยกันก็ยังไม่กล้า สองไม่เอ็นดูพระเจ้าอยู่หัว ไม่อยากละเมิด แต่มีฝ่ายชาวต่างประเทศ มีบ่อยๆ ละเมิดพระเจ้าอยู่หัว ละเมิด THE KING แล้วก็หัวเราะเยาะว่า THE KING ของไทยแลนด์ พวกคนไทยทั้งหลายนี่เป็นคนแย่ ละเมิดไม่ได้ ในที่สุดถ้าละเมิดไม่ได้ก็เป็นคนเสีย เป็นคนที่เสีย ฉะนั้นก็บางโอกาสขอให้ละเมิด จะได้รู้กันว่าใครดีใครไม่ดี

"แต่อย่างไรก็ตาม เข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อน เดือดร้อนหลายทาง ทางหนึ่งต่างประเทศเขาบอกว่าเมืองไทยนี่พูดวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ว่าวิจารณ์ไม่ได้ก็เข้าคุก มีที่เข้าคุก เดือดร้อนพระมหากษัตริย์ ต้องบอกว่าเข้าคุกแล้วต้องให้อภัย ทั้งที่เขาด่าเราอย่างหนัก ฝรั่งเขาบอกว่าในเมืองไทยนี่ พระมหากษัตริย์ถูกด่า ต้องเข้าคุก ที่จริงควรเข้าคุก แต่เพราะฝรั่งบอกอย่างนั้นก็ไม่ให้เข้า ไม่มีใครกล้าเอาคนที่ด่าพระมหากษัตริย์เข้าคุก เพราะพระมหากษัตริย์เดือดร้อน เขาหาว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนที่ไม่ดี อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นคนที่จั๊กจี้ ใครว่าไรซักนิดก็บอกให้เข้าคุก ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก ตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อนๆ เป็นกบฏ ก็ยังไม่จับใส่คุกไม่ลงโทษ รัชกาลที่ 6 ท่านไม่ลงโทษ ไม่ได้ลงโทษผู้ที่เป็นกบฏ มาจนกระทั่งถึงต่อมารัชกาลที่ 9 ใครเป็นกบฏ ก็ไม่เคยมีแท้ๆ ที่จริงก็ทำแบบเดียวกัน ไม่ให้เข้าคุก ให้ปล่อย หรือถ้าเข้าคุกแล้วก็ให้ปล่อย ถ้าไม่เข้าก็ไม่ฟ้อง เพราะเดือดร้อนผู้ที่ถูกด่า เป็นคนเดือดร้อน อย่างที่คนที่ละเมิดพระมหากษัตริย์และถูกทำโทษไม่ใช่คนนั้นเดือดร้อน พระมหากษัตริย์เดือดร้อน นี่ก็แปลก

"คราวนี้นักกฎหมายก็ชอบให้ฟ้อง ให้จับเข้าคุก อันนี้นักกฎหมายก็สอนนายกฯว่า ต้องฟ้อง ต้องลงโทษ ก็สอนนายกฯว่า ใครบอกว่าให้ลงโทษ อย่าลงโทษเขา ลงโทษไม่ดี ลงท้ายไม่ใช่นายกฯเดือดร้อน แต่พระมหากษัตริย์เดือดร้อน อาจจะอยากให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อนไหมล่ะ ไม่รู้นะ เขาทำผิด เขาด่าพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน และเดือดร้อนจริงๆ เพราะใครมาด่าเรา ชอบไหม ไม่ชอบ แต่ถ้านายกฯเกิดให้ลงโทษ แย่เลย แล้วนักกฎหมายต่างๆ ก็จะให้ลงโทษคนที่ด่าพระมหากษัตริย์..."
(อ้างจาก "อัญเชิญพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 ธ.ค. 2548" เว็บไซต์สำนักข่าวประชาไท, 31 มีนาคม พ.ศ.2549, http://www.prachatai.com)

แต่แล้วกระแสการกล่าวหาฟ้องร้องฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ทางการเมืองด้วยข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ที่ระงับทุเลาไปชั่วคราวภายหลังพระราชดำรัส 4 ธันวาคม พ.ศ.2548 ก็มาปะทุขึ้นอีกระลอกใหม่ในช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง 2 เมษายนศกนี้ นับร้อยคดี มีการแสดงพลังปิดล้อมตึกที่ทำการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง, กดดันให้ปิดตัวหนังสือพิมพ์ชั่วคราว, ยกขบวนมอเตอร์ไซค์บุกก่อกวนข่มขู่ที่ทำการหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่ง, และพลอยเผา ห้ามขายหรือแจกจ่ายและให้ยึดวารสารฟ้าเดียวกัน อันเป็นวารสารวิชาการและการเคลื่อนไหวทางสังคมฉบับหนึ่ง รวมทั้งตั้งข้อหาบรรณาธิการ คุณธนาพล อิ่วสกุล ในข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" อีกเช่นกัน

ท่ามกลางความคลี่คลายของเหตุการณ์ ที่ดูเหมือนจะมิได้มีการน้อมนำพระราชดำรัสที่ยกมาข้างต้นใส่เกล้าใส่กระหม่อมเท่าที่ควร กลับปรากฏข้อความคำสัมภาษณ์ปัญญาชนรอยะลิสต์ ที่สอดรับคล้องจองกับพระราชดำรัสดังกล่าวในเอกสารที่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันว่า :-

"...พระเจ้าอยู่หัวเองรับสั่งเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะกระเทือนไปถึงพระองค์ท่านทุกครั้ง เมื่อเร็วๆ นี้ หมอสุวิทย์ วิบูลย์ผลประเสริฐ โดนกระทรวงสาธารณสุขกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เรื่องก็ไปถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท มีหนังสือจากราชเลขาธิการมาเลยว่า เห็นเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นให้เลิกเสีย พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ก็พูดกับผมเมื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า ในหลวงรับสั่งกับเขาเองว่า ต่อแต่นี้ไปให้เลิก ไม่ให้จับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่สิ่งที่ท่านรับสั่งก็ไม่ได้แพร่หลายเท่าที่ควร แล้วอย่างคุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ก็โดนอีก ผมเห็นว่าเรื่องนี้ควรทำเป็นเรื่องเป็นราวให้ชัด ก็ท่านรับสั่งเลยว่ากระเทือนถึงท่าน ท่านเสียหาย แล้วคนที่ฟ้องร้องนั้นเอาประโยชน์จากท่าน ไม่ได้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์"

ในปีฉลองการครองราชสมบัติครบ 60 ปี บังควรแล้วหรือที่จะก่อเกิดเหตุอันทำให้ "พระมหากษัตริย์เดือดร้อน" เช่นนี้?

สมควรหรือไม่ที่ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันในบ้านเมือง จะน้อมนำพระราชดำรัสใส่เกล้าใส่กระหม่อม เพื่อพิจารณาทบทวนการฟ้องร้องกล่าวหากันและกันว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" อย่างโกลาหลอลหม่านที่กำลังเกิดขึ้น?


 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
260449
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ทุกวันนี้ ระบอบทักษิณยึดอำนาจบริหารไปครองอย่างเข้มแข็ง ยิ่งไม่ต่างจากระบอบประธานาธิบดี แต่ระบอบประธานาธิบดีนั้นก็ยังดีที่ฝ่ายบริหารยุบสภาไม่ได้ และมีกลไกตรวจสอบของสภากับสื่อมวลชนที่อิสระ ที่เข้มแข็ง คอยทัดทานอำนาจอยู่ การยินยอมให้ระบอบทักษิณยุบสภาหนีการตรวจสอบได้ ผนวกกับการแทรกแซงครอบงำสื่อมวลชนอย่างรุนแรงเช่นปัจจุบัน ย่อมเป็นการยอมให้เผด็จการจำแลงยึดครองประชาธิปไตย ยักยอกรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ที่ไม่อาจยอมรับได้ ในสถานการณ์เผด็จการจำแลงเช่นนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เล็งเห็น และให้สิทธิพื้นฐานแก่ชนชาวไทยไว้แล้ว ในมาตรา 65 ว่า หากมีการแสวงอำนาจรัฐโดยผิดวิถีทางของรัฐธรรมนูญ พาประเทศเข้าสู่เผด็จการเมื่อใด คนไทยย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสงบได้ไม่เป็นความผิด"

The Midnightuniv website