นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



บทความเชิงวิชาการ นิธิวิพากษ์รัฐบาล
ย้อนรำลึกถึงผลงานรัฐบาลทักษิณ (ตอนที่ ๒)
รวบรวมผลงาน นิธิ เอียวศรีวงศ์

จัดทำโดยกองบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วใน นสพ.มติชน
เขียนโดย ศ.ดร.นิธิเอียวศรีวงศ์ อาจารย์อาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์ถึงผลงานของรัฐบาลไทยรักไทย ประกอบด้วย
๑. เอาใจทุกฝ่ายคือขัดใจทุกฝ่าย
๒. ตีนที่มองไม่เห็นที่อาจสามารถ ๓.
ระบอบอาณานิคม
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 884
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)



ย้อนรำลึกถึงผลงานรัฐบาลทักษิณ (ตอนที่ ๒)
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อาจารย์อาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

1. เอาใจทุกฝ่ายคือขัดใจทุกฝ่าย
ข้ออ้างที่รัฐบาล,กระทรวงศึกษา,และครูใช้เสมอในการไม่ถ่ายโอนอำนาจจัดการศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็คือความพร้อม คำถามที่ อปท.น่าจะถามก็คือ แล้วรัฐบาล, กระทรวงศึกษา หรือแม้แต่ครูในสังกัดกระทรวงได้ทำอะไรบ้าง เพื่อช่วยให้เกิด "ความพร้อม" ดังกล่าว

อีกคำถามหนึ่งที่น่าจะถามก็คือ การถ่ายโอนอำนาจจัดการศึกษาสามารถทำได้กี่รูปแบบ โดยสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เป็นไปได้หรือไม่ที่จะถ่ายโอนอำนาจดังกล่าวแก่ อปท.ในหลายรูปแบบ ตามแต่ "ความพร้อม" ของแต่ละ อปท.ซึ่งไม่เท่าเทียมกัน

ยังมีคำถามซึ่งผู้สนใจการศึกษาโดยทั่วไปน่าจะถามอีกหลายข้อ ที่สำคัญที่สุดก็คือ "ความพร้อม" ดังกล่าวหมายถึงอะไร และสามารถประเมินด้วยเครื่องมืออะไร เครื่องมือเหล่านั้นสามารถวัด "ความพร้อม" ได้จริงหรือ ยิ่งกว่านี้ในฐานะที่การศึกษาย่อมเป็นสถาบันทางสังคมอย่างหนึ่ง จึงเป็นธรรมดาที่การศึกษาย่อมถูกพลังทางสังคมแทรกแซง และควบคุมในระดับหนึ่ง เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินความพร้อมจะสามารถวัดคุณภาพของการศึกษาซึ่งย่อมต้องมีพลวัตจากปฏิสัมพันธ์กับสังคมดังกล่าวนี้ได้อย่างไร

คำถามที่สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ "ความพร้อม" ที่ต้องการนี้ เป็นความพร้อมเพื่อจัดการศึกษาแบบใด แบบของกระทรวงศึกษาฯใช่หรือไม่ ถ้าอย่างนั้นต้องถามกลับว่า การจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาฯเองได้บรรลุ "ความพร้อม" ตั้งแต่เมื่อไร

หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การศึกษา ก็จะพบว่าใช้เวลายาวนานอย่างน่าตระหนก เช่นถ้าเริ่มตั้งแต่มีการตั้งกระทรวงธรรมการหรือศึกษาธิการ มาจนเมื่อไทยรับความช่วยเหลือด้านการศึกษาจากสหรัฐในพุทธทศวรรษ 2500 (ซึ่งแสดงว่าการศึกษาไทยในสายตาของธนาคารโลก หรือสหรัฐ ไม่มีความพร้อมที่จะเป็นเครื่องมือของการพัฒนา) ก็เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ยังไม่- "พร้อม" อยู่นั่นเอง กว่าจะตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาลัยครู และทุ่มเทงบประมาณลงไปอีกหลายสิบปี กระทรวงศึกษาฯจึงเงยหน้าอ้าปากมาประกาศได้ว่า ตนเองมี "ความพร้อม" ในการจัดการศึกษา นั่นก็เป็นเวลากว่าศตวรรษไปแล้ว

โดยปราศจากความสนับสนุนใดๆ อย่างเป็นแก่นสาร อปท.จะสามารถบรรลุ "ความพร้อม" ที่ต้องการนั้นได้เมื่อไร แต่แน่ใจหรือว่าการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นมีอยู่ลักษณะเดียว คือลักษณะที่กระทรวงศึกษาฯจัดอยู่ในเวลานี้ ถ้าอย่างนั้น เหตุใดคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งผ่านการศึกษาในระบบนี้ไม่สู้มากนักจึงยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ด้วยความสุขซึ่งเท่ากับหรืออาจจะมากกว่าคนที่ผ่านการศึกษาในระบบนี้มายาวนาน

แม้ใน พ.ร.บ.การศึกษาเอง(ซึ่งมีประเด็นที่ไม่น่าพอใจอยู่ไม่น้อย) ก็ยอมรับว่าการศึกษามีหลายลักษณะ และบางลักษณะเช่นการศึกษาตามอัธยาศัยก็เป็นสิ่งที่รัฐพึงสนับสนุน เหตุใดจึงคิดว่า อปท.ควร "พร้อม" จัดการศึกษาลักษณะเดียวเท่านั้น

อันที่จริงถ้าคิดถึงกระบวนการเรียนรู้ แทนที่จะคิดถึงการศึกษา ก็จะเห็นได้ทันทีว่า วิถีชีวิตหนึ่งๆ นั้นสามารถจัดให้เกิดการเรียนรู้ได้หลายลักษณะมาก และ อปท.ที่ "พร้อม" จะจัดกระบวนการเรียนรู้แก่เด็กๆ ของชุมชนก็คงมีอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียว ความ "พร้อม" ตรงนี้จะนำมาประสานกับการจัดการศึกษาในระบบได้อย่างไร

นอกจากนี้ หากการศึกษาจะตอบสนองต่อชีวิตของผู้เรียนได้จริง ระบบการศึกษาก็น่าจะมีคุณสมบัติสองอย่าง คือมีความยืดหยุ่น และมีความหลากหลาย ความยืดหยุ่นเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจจัดการศึกษาในกระทรวงศึกษาฯต้องมี นั่นคือไม่วางมาตรฐานตายตัวสำหรับประเมิน "ความพร้อม" ขององค์กรท้องถิ่นจนเกินไป

ในขณะที่ความหลากหลายเป็นธรรมชาติของกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละชุมชน ซึ่งมีเงื่อนไขแตกต่างกัน ฉะนั้นหากมาตรฐาน "ความพร้อม" เอื้ออำนวย สถาบันการศึกษาในสังกัดของ อปท.ก็จะมีความหลากหลายมากกว่ารูปจำลองของโรงเรียนกระทรวงศึกษาฯ ที่เราอาจจินตนาการได้ในเวลานี้

อันที่จริงเจตนารมณ์ของการกระจายอำนาจนั้น มีนัยยะสำคัญมากกว่าการถ่ายโอนอำนาจบริหารจากองค์กรหนึ่งไปยังองค์กรส่วนท้องถิ่น แต่ต้องหมายรวมถึงการปรับเปลี่ยนเป้าหมายของกิจกรรมและกระบวนการทำกิจกรรมนั้นๆ ให้สอดคล้องกับความจำเป็น และความต้องการของท้องถิ่นด้วย ด้วยเหตุดังนั้น กระจายอำนาจที่แท้จริงจึงย่อมกระทบต่อสิ่งที่ถือว่าเป็น "มาตรฐาน" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่มาตรฐานดีขึ้นหรือเลวลง แต่มาตรฐานต้องมีความยืดหยุ่นและมีพลังที่จะครอบคลุมความหลากหลายได้สูงขึ้น

ประชาธิปไตยที่แท้จริงอยู่ตรงนี้เอง นั่นก็คือไม่แต่เพียงมาตรฐานต้องถูกสร้างขึ้นจากความเห็นชอบของคนส่วนใหญ่เท่านั้น แต่มาตรฐานต้องยืดหยุ่นและครอบคลุมความหลากหลายได้กว้างขวาง เพราะที่จริงแล้ว ไม่เคยมีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดให้แก่มาตรฐานเดียวที่ไหนในโลก ชีวิตจริงก็คือแต่ละกลุ่ม อยากมีมาตรฐานที่แปรเปลี่ยนจากมาตรฐานของกลุ่มอื่น มากบ้างน้อยบ้างทั้งนั้น

และด้วยเหตุดังนั้น อำนาจนิยมจึงไม่สนับสนุนมาตรฐานที่ยืดหยุ่นและครอบคลุมความหลากหลายได้กว้าง เพราะมาตรฐานเช่นนั้นจะไม่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่ใครเลย มาตรฐานที่พอเป็นไปได้เกิดขึ้นจากการประนีประนอมทั้งสิ้น

ถ้าสักวันหนึ่งเราจะให้อำนาจจัดการศึกษาแก่ท้องถิ่นได้จริง วันนั้นเราจะเห็นโรงเรียนที่มีความหลากหลาย กระทรวงศึกษาฯมีหน้าที่สร้างมาตรฐานกลางที่พอเป็นไปได้จากการประนีประนอม ไม่ใช่จากอำนาจ ซึ่งหมายความว่างานของกระทรวงศึกษาฯจะเปลี่ยนไปเป็นผู้เรียนรู้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่คอยชี้นิ้วสั่งคนอื่น

ทั้งหมดที่ผมเขียนมานี้ ก็เพื่อจะเตือนว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับนโยบายโอนอำนาจการจัดการศึกษานั้น เป็นปัญหาด้านการบริหาร ซึ่งต้องแก้ด้วยการทบทวนปรับเปลี่ยนวิธีการบริหาร เพื่อทำให้ทุกฝ่ายรับได้ ไม่ใช่การไปแก้หลักการของการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นหลักการที่ไม่ใช่ปรากฏในรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหนึ่งในหลักการของรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับความยินยอมพร้อมใจจากสังคมไทยสูงที่สุดอันหนึ่ง

แต่ผมไม่เคยได้ยิน การถกเถียงโต้แย้งที่เกี่ยวกับหลักการจัดการศึกษาโดยท้องถิ่น ไม่ว่าจากครู, จากรัฐบาล หรือ อปท. ในขณะเดียวกัน ผมก็เข้าใจดีว่ารัฐบาลอยู่ระหว่างเขาควาย ฝ่ายหนึ่งครูซึ่งไม่มั่นใจในความมั่นคงด้านอาชีพการงานของตัว ย่อมวิตกห่วงใยต่ออนาคตของการงานของตนเอง หากต้องย้ายสังกัดไปอยู่กับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ต้องยอมรับด้วยว่าความวิตกห่วงใยนี้มีความชอบธรรม ฉะนั้นจึงต้องทำให้กลไกการบริหารภายใต้สังกัดใหม่นี้มีหลักประกันด้านความมั่นคงในการงานให้แก่บุคลากรทุกฝ่ายด้วย. ในอีกด้านหนึ่ง คือ อปท.ซึ่งหลายแห่งด้วยกันกุมคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง จึงมีอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองสูง

รัฐบาลไม่สามารถยืนอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ต้องหาทางออกแบบเลี่ยงประเด็น โดยไม่สนใจว่าหลักการใหญ่จะถูกกระทบจากการเลี่ยงการเผชิญหน้านี้อย่างไรหรือไม่

ในสถานการณ์ที่ไม่อาจยืนอยู่ฝ่ายใดได้เลยเช่นนี้ พ่อผมสอนเหมือนพ่อมาเวอริคว่า จงยึดหลักการความถูกต้อง เพราะไม่มีหนทางใดที่จะทำความพอใจให้แก่ทั้งสองฝ่ายไปพร้อมๆ กันได้ ส่วนพ่อคนอื่นเขาจะสอนว่าอย่างไรผมไม่ทราบ

2. ตีนที่มองไม่เห็นที่อาจสามารถ
เรือนหลังแรกที่คุณทักษิณ ชินวัตรแวะเยี่ยมที่อาจสามารถ ร้อยเอ็ด คือเรือนที่ภรรยาของคุณพรหมา นวลสำลีอาศัยอยู่ ตัวคุณพรหมาไม่อยู่ เพราะถูกพม่าจับตัวไปเมื่อ 4 ปีมาแล้ว เนื่องจากคุณพรหมา (ซึ่งเป็นชาวอีสาน และอาจไม่เคยเห็นทะเลมาก่อน) ไปรับจ้างเป็นลูกเรือประมง และก็คงล่วงล้ำน่านน้ำพม่าอย่างที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้ของอุตสาหกรรมประมงไทย จึงถูกพม่าจับและเมื่อตอนที่ครอบครัวคุณพรหมาได้รับเกียรติอย่างสูงจากท่านนายกรัฐมนตรีไทยนั้น คุณพรหมา (หากยังมีชีวิตอยู่) คงอยู่ในคุกพม่า พูดกับใครก็ไม่รู้เรื่อง และอาจไม่รู้ด้วยว่าคำพิพากษาของศาลสั่งให้ต้องจำขังนานกี่ปีแน่ คุกพม่าเองจะรู้หรือจำได้หรือไม่ ก็ไม่แน่เหมือนกัน

ความยากจนของครอบครัวคุณพรหมาเพียงกรณีเดียว ก็เกี่ยวพันเชื่อมโยงไปกับอะไรอื่นๆ ที่อยู่นอกตำบลและอำเภอที่คุณพรหมามีชีวิตอยู่ไปกว้างไกล และสลับซับซ้อน ด้วยสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณพรหมาในฐานะเกษตรกรรายย่อยไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง ฉะนั้นรายได้ก่อนออกทะเล คงมาจากการรับจ้างในภาคเกษตร ซึ่งแน่นอนว่าเป็นงานตามฤดูกาล (คือไม่มีงานทำทั้งปี)

ซ้ำร้ายกว่านั้น เพื่อหนีจากค่าแรงที่ราคาเพิ่มขึ้นในชนบท เกษตรกรรวยจึงลดการจ้างงานลงด้วยเครื่องจักรการเกษตร เหลือเฉพาะงานที่ไม่คุ้มในการใช้เครื่องจักรเท่านั้น เหตุดังนั้น งานตามฤดูกาลที่เกษตรกรไร้ที่ดินอย่างคุณพรหมาจะหาได้ในภาคเกษตร จึงยิ่งน้อยลง และห่างกันมากขึ้น จนเกินกว่าที่จะทนอดทนอยากอยู่ที่อาจสามารถต่อไปได้

จะอพยพเข้าเมืองเพื่อหางานจ้างที่มีรายได้แน่นอนกว่านั้น คุณพรหมาก็ไม่ได้เรียนหนังสือสูงนัก ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม "แรงงานไร้ฝีมือ" ซึ่งอุตสาหกรรมไทยพยายามขจัดให้ออกไปอยู่นอกระบบโรงงาน รับค่าจ้างกันตามผลผลิตในราคาที่ถูกกดให้ต่ำที่สุด เพื่อเพิ่ม "ความสามารถในการแข่งขัน" ของธุรกิจของตนกับแรงงานเวียดนาม,พม่า,กัมพูชา และจีน

คุณทักษิณ ชินวัตรแก้ปัญหาของครอบครัวนวลสำลีด้วยการสั่ง รมต.ต่างประเทศติดต่อกับพม่า เจรจาขอให้ปล่อยตัวคุณพรหมา (และคงรวมลูกเรือประมงไทยไร้ชื่อ ไร้หน้า และไร้ตาอีกมากที่ถูกคุมขังในคุกพม่า) ในขณะเดียวกันก็สั่งให้จัดสรรที่ดินทำกินให้ภรรยาคุณพรหมา

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ในที่สุดครอบครัวของคุณพรหมาก็จะเวียนมาเริ่มต้นใหม่ในวัฏจักรแห่งความหายนะของเกษตรกรรายย่อย นั่นคือมีที่ดินผืนเล็กๆ สำหรับทำกิน มีแรงงานกลับมาเหมือนเดิมเมื่อคุณพรหมาเดินทางออกจากคุกพม่ามาถึงบ้าน

แล้วก็เริ่มประสบความขาดทุนจากการผลิตด้วยปัจจัยหลากหลายและสลับซับซ้อน ในที่สุดก็ต้องนำที่ดินซึ่งได้ใหม่ (ถ้ามีกรรมสิทธิ์) ไปจำนองจำนำไว้กับ ธ.ก.ส.หรือเกษตรกรรวย และสูญเสียที่ดินนั้นไปในไม่กี่ปี (จะก่อนหรือหลังเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าก็ไม่แน่) หากโชคดีคุณพรหมาก็จะหลุดจากที่ดินโดยปราศจากหนี้สิน แต่มีโอกาสสูงที่คุณพรหมาจะสูญเสียที่ดินซึ่งได้ใหม่นั้น แต่ไม่สูญเสียหนี้ทั้งหมด คือกลายเป็นคนตัวเปล่าที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แม้แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์เด็ดขาดบนที่ดินซึ่งได้ใหม่ ก็มีวิธีที่จะถ่ายโอนกรรมสิทธิ์อันไม่ถาวรนั้นแก่ผู้มีทรัพย์ซึ่งต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นจนได้ (ดังที่เกิดขึ้นในที่ดิน ส.ป.ก.จำนวนไม่น้อยในประเทศไทย) ซึ่งหมายความว่าเงินตอบแทนที่คุณพรหมาจะได้มาจากที่ดินผืนนั้นย่อมมีราคาต่ำลง

ในที่สุด คุณพรหมาก็ต้องเสี่ยงออกทะเลอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับลูกเรือชาวกัมพูชา,ลาว, พม่า ฯลฯ และชาวนาล้มละลายไทยอื่นๆ เพราะเป็นช่องทางเดียวที่เหลืออยู่สำหรับคนอย่างคุณพรหมา และเนื่องจากความร่อยหรอของทรัพยากรทะเล เรือประมงที่คุณพรหมาไปรับจ้าง จึงจำเป็นต้องล่วงล้ำเขตหวงห้ามนานาชนิดของประเทศต่างๆ ทั้งใกล้และไกล ถ้าโชคดี คุณพรหมาจะได้ติดคุกออสเตรเลีย แทนที่จะเป็นพม่า,กัมพูชา, เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย

ตีนที่ถีบคุณพรหมาให้ตกทะเลและเข้าคุกพม่า กว้างใหญ่ไพศาลและสลับซับซ้อนจนไม่อาจมองเห็นได้ที่อาจสามารถ และความจริงแล้ว คุณพรหมาไม่ได้อยู่เฉพาะที่อาจสามารถ หากกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ

ถ้าไม่พยายามเข้าใจ "ตีนที่มองไม่เห็น" นี้ให้ถ่องแท้ และบรรเทาแรงถีบของมันอย่างจริงจัง ก็ไม่มีทางที่จะเยียวยาความยากจนลงได้ โรคภัยแม้ในทางการแพทย์ก็มีแหล่งที่เกิดอยู่สองด้านเสมอ นั่นคือจากบุคคลและจากสังคม (เช่นโรคอ้วนเกิดจากอุปนิสัยการกินของบุคคล เท่าๆ กับวัฒนธรรมการบริโภคของสังคม) แพทย์แต่ละคนทำได้แต่เยียวยาความเจ็บป่วยของบุคคล แต่ "การแพทย์" ต้องมองและพยายามเยียวยาสังคมไปพร้อมกันด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นแค่แพทย์หรือ "การแพทย์"?

นายกรัฐมนตรีสามารถเป็นได้มากกว่าแพทย์ซึ่งรักษาไข้เป็นคนๆ ไป ก็เพราะนายกรัฐมนตรีคุมกลไกมหึมาซึ่งใช้ประโยชน์ในการบริหารนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้านายกรัฐมนตรีบริหารเป็น

คุณพรหมา นวลสำลีติดคุกพม่ามาแล้ว 4 ปี ภรรยาคุณพรหมาจะรู้หรือไม่ว่า คุณพรหมาถูกตั้งข้อหาอะไร และในกระบวนการพิจารณาคดีในศาลนั้น คุณพรหมาได้มีโอกาสต่อสู้อย่างเป็นธรรมมากน้อยเท่าไร คำพิพากษาสั่งจำคุกคุณพรหมากี่ปี น่าเชื่อว่าภรรยาคุณพรหมาไม่ได้มีข้อมูลเหล่านี้เลย แม้แต่เรือประมงที่ถูกทางการพม่าจับกุมชื่อเรืออะไร และใครเป็นนายทุน ภรรยาคุณพรหมาก็อาจจะไม่ทราบ

ความมืดมนที่ภรรยาคุณพรหมามีเกี่ยวกับชะตากรรมของสามี แม้ว่าน่าเศร้าสลด แต่ก็พอจะเข้าใจได้ ที่น่าเศร้าสลดกว่าก็คือแล้วราชการไทยรู้อะไรมากไปกว่าภรรยาคุณพรหมาหรือไม่ ตั้งแต่เมื่อตอนที่คุณพรหมาถูกจับ หรือได้รู้อะไรเพิ่มขึ้นอีกบ้างหลังเวลาได้ผ่านไปถึง 4 ปีแล้ว อีกทั้งตลอด 4 ปีนั้น ราชการไทยได้ทำอะไรบ้าง เพื่อช่วยคุณพรหมา ไม่ว่าจะช่วยให้คุณพรหมาพ้นโทษได้เร็วขึ้น หรือช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานที่คุณพรหมาได้รับในคุกพม่า

ราชการไทยได้ทำอะไรบ้างเพื่อช่วยให้ภรรยาของคุณพรหมา (ซึ่งอาจมีลูกที่ต้องเลี้ยงดูอยู่ด้วย) สามารถเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจได้ต่อไป เพื่อรอเวลากว่าสามีจะพ้นโทษ ทั้งหมดเหล่านี้ราชการไทยเคยรายงานผู้บังคับบัญชาไปถึงระดับใด และเหตุใดราชการจึงไม่ได้ทำอะไรเลย จนกระทั่งเมื่อนายกรัฐมนตรีไปพบโดยบังเอิญ

ความตายด้านของระบบราชการในการตอบสนองความเดือดร้อนของประชาชนนั้น เกิดขึ้นจากข้าราชการในพื้นที่ทำงานไม่เป็น จึงต้องคอยรับการแสดงแบบอย่างให้ดูจากนายกรัฐมนตรี หรือเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องในตัวระบบ ซึ่งต้องการการยกเครื่องด้วยความรู้ความเข้าใจการทำงานเชิงระบบ หากจะขยับระบบราชการให้กระฉับกระเฉงในการแก้ปัญหาความยากจน

เหมือนเครื่องจักรขนาดใหญ่ หัวใจสำคัญของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือการไหลไปและกลับของข่าวสารข้อมูล โดยเฉพาะที่จุดอันเป็นศูนย์กลางควบคุม ต้องการรู้ว่าจุดไหนทำงานอย่างไร ต้องมีปุ่มที่กดแล้วรู้ได้ทันที และในทางตรงกันข้าม ทุกส่วนของเครื่องจักรจะสามารถรับข่าวสารข้อมูลที่ป้อนจากส่วนควบคุม และระหว่างกันเองได้ในเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งกว่านี้ศูนย์กลางสามารถติดตามข้อมูลได้ในเวลาอันรวดเร็วด้วยว่า ส่วนต่างๆ ของเครื่องจักรที่ได้รับป้อนข้อมูลไปนั้นมีพฤติกรรมตามที่ต้องการหรือไม่ (ถ้าพูดด้วยภาษาราชการคือการติดตามงานและประเมินผลได้ตลอดเวลา) จึงสามารถปรับพฤติกรรมของทุกส่วนได้ในทันที

หากใช้สำนวนของอาจารย์ประเวศ วะสีก็คือ ร่างกายมนุษย์เป็นระบบที่ทั้งใหญ่และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลที่ฉับไวและสมบูรณ์

ระบบราชการซึ่งถูกคุณทักษิณ"ปฏิรูป"มาเกือบ 5 ปีแล้ว ไม่ได้มีการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลในตัวระบบดีขึ้นแต่อย่างไร หากทุกข่าวสารข้อมูลที่ศูนย์กลางต้องการจะส่งลงไปถึงบางส่วนของเครื่องจักร หมายถึงการที่นายกรัฐมนตรีต้องนอนค้างอ้างแรมในพื้นที่เป็นวันๆ และใช้เวลาไปกับการทำสิ่งที่อาจใช้เวลาเพียงนาทีเดียวในการทำงานเชิงระบบ เรายังมีนายกรัฐมนตรีเหลืออยู่ล่ะหรือ?

โดยไม่จำเป็นต้องใช้สติปัญญามากมาย และไม่ต้องใช้การมองในลักษณะเชื่อมโยงที่กว้างไกลสักเท่าใด ใครๆ ก็เห็นได้ว่า การลงพื้นที่เพื่อไปกำกับการแก้ปัญหาความยากจนในอำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งของภาคอีสาน เป็นเพียงการรณรงค์ทางการเมือง ไม่ใช่ความพยายามอย่างจริงจังที่จะแก้ปัญหาความยากจน ไม่ว่าจะที่อาจสามารถ, ภาคอีสาน หรือประเทศไทย

น่าประหลาดที่ปรปักษ์ของนายกรัฐมนตรีซึ่งถูกเรียกว่า "ขาประจำ" ต่างพากันยกย่องท่านนายกฯ อย่างถูกต้องว่า ท่านกำลังรณรงค์ทางการเมือง แต่สมุนของท่านนายกฯ เองกลับออกมาประณามนายของตนว่า ท่านนายกฯ มีความจริงใจและตั้งใจจะแก้ปัญหาความยากจน และการลงพื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นหนทางอันวิเศษสุดที่จะแก้ปัญหาความยากจนได้

คำถามซึ่งยังตอบไม่ได้ในขณะนี้ก็คือ เราควรตั้งข้อสงสัยกับสติปัญญาของเหล่าสมุนของนายกรัฐมนตรีดี หรือของนายกรัฐมนตรีดี

3. ระบอบอาณานิคม
คุณหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ หนึ่งในเสรีชนจำนวนน้อยของสถาบันที่ถูกสื่อตั้งสมญาว่า "สภาทาส" ให้ความเห็นต่อการขายหุ้นให้แก่บรรษัทซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ว่า การขายกิจการสาธารณูปโภคให้แก่ต่างชาติก็คือ ลัทธิล่าเมืองขึ้นแนวใหม่นั่นเอง

ความตระหนกตกใจบวกความขยะแขยงของผู้คนจำนวนมาก (น่าสังเกตด้วยว่า ล้วนไม่ได้อยู่ใน ก.ล.ต.และไม่เกี่ยวอะไรกับการบริหารตลาดหลักทรัพย์) ทำให้มีความเห็นเชิงตำหนิ เชิงอุทาน เชิงรับไม่ได้ ออกมาท่วมทับหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่ออิสระเกือบจะแขนงเดียวที่ยังเหลืออยู่ในเมืองไทยเวลานี้อยู่หลายวัน แต่ไม่ค่อยมีใครผูกโยงประเด็นนี้กับลัทธิล่าเมืองขึ้น หรือลัทธิจักรวรรดินิยม ไม่ว่าจะแนวใหม่หรือแนวเก่า

ผมไม่ทราบว่า กรอบที่จะใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในโลกปัจจุบันได้ดีที่สุด ควรเป็นลัทธิล่าเมืองขึ้นแนวใหม่, จักรวรรดินิยมแนวใหม่, เสรีนิยมใหม่, โลกาภิวัตน์, หรืออะไรอื่นอีกร้อยแปดดี แต่ความเห็นของคุณหมอนิรันดร์ทำให้ผมอยากคุยเรื่องลัทธิล่าเมืองขึ้น ทั้งแนวเก่าและแนวใหม่

เพื่อให้ตรงกับต้นกำเนิดของคำในภาษาฝรั่ง เราอาจเรียกลัทธินี้ว่าลัทธิอาณานิคม เพราะแต่เดิมหมายถึงการอพยพผู้คนในประเทศแม่ไปตั้งนิคมในดินแดนใหม่ (ซึ่งอาจมีเจ้าของอยู่แล้ว แต่อย่าไปนับว่ามันเป็นคน เป็นเพียงสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่อยู่บนหลังควาย ผลัดกันกับนกเอี้ยงเท่านั้น) ฉะนั้น ทั้งดินแดนและผู้คนจึงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศแม่ อาจเป็นดินแดนและผู้คนชั้นสอง แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ "จะแบ่งแยกมิได้"

แต่ในเวลาต่อมา ประเทศแม่ก็พบว่านโยบายฆ่าหรือไล่นกเอี้ยงและสัตว์บนหลังควาย นอกจากทำไม่ได้แล้ว ยังขาดทุนอีกด้วย นอกจากต้องคอยรบราฆ่าฟันกับสัตว์เหล่านี้อยู่ไม่เลิกเสียทีแล้ว ภาวะสงครามที่มีอยู่บ่อยๆ ทำให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรนานาชนิดในอาณานิคมได้ไม่สะดวก ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ แค่ยอมรับว่าสัตว์บนหลังควายเหล่านั้นเป็นคนเท่านั้น ก็จะมีแรงงานราคาถูกหรือฟรีไว้ใช้ในการดูดเอาทรัพยากรมาใช้ได้สบาย

ผมค่อนข้างจะเน้นเรื่องกำไร-ขาดทุนเป็นปัจจัยหลักอันหนึ่งในลัทธิอาณานิคม เพราะผมพบว่าความเข้าใจของคนไทยส่วนใหญ่ต่อลัทธิอาณานิคมไม่ค่อยพิจารณาเรื่องนี้นัก เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาของเราละเลยเรื่องนี้ในเวลาพูดถึงลัทธิอาณานิคม เพราะเราไปถือว่าเราไม่เคยเป็นอาณานิคมของใคร แต่ในขณะเดียวกันผมก็ต้องเตือนด้วยว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอจะอธิบายลัทธิอาณานิคมได้ทั้งหมด แม้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่ละเลยไม่ได้เป็นอันขาดก็ตาม

เอาเข้าจริง นิยามของคำว่าลัทธิอาณานิคมในพจนานุกรมฝรั่งก็คือ สภาวะที่ประเทศหนึ่งถูกกำกับควบคุมทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม หรือวัฒนธรรมจากอีกประเทศหนึ่ง น่าสังเกตด้วยว่าไม่ได้หมายถึงการยึดครองแล้วเข้าไปบริหารโดยตรงอย่างที่เรามักเข้าใจกัน ด้วยเหตุดังนั้นแม้ไม่ต้องเติมคำว่าแนวใหม่ลงข้างท้ายคำ ลัทธิอาณานิคมตามนิยามนี้ก็ครอบคลุมปรากฏการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้หมด

หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปตะวันตก การหากำไรในอาณานิคมเปลี่ยนไป กำลังซื้อของประชาชนในอาณานิคมมีคุณค่าขึ้นมา เพราะอาจระบายสินค้าจากประเทศแม่มาหากำไรในตลาดของอาณานิคมได้ ในขณะเดียวกัน ทรัพยากรที่ประเทศแม่ต้องการจากอาณานิคมก็เปลี่ยนไป ทำให้การลงทุนในอาณานิคมเปลี่ยนไปด้วย เช่นทำเหมืองแร่ จะเอาแร่ไปใช้ในอุตสาหกรรมของตัวได้อย่างคุ้มทุน ก็ต้องลงทุนทำโรงถลุงในอาณานิคม เหมืองแร่ไม่ได้อยู่ที่ท่าเรือ อาจอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ซึ่งไม่เคยทำกำไรให้แก่ประเทศแม่เลย จึงจำเป็นต้องสร้างทางรถไฟไว้ขนแร่มาที่ท่าเรือ ทุนที่ลงไปทั้งหมดเหล่านี้ต้องหาทางรักษาความปลอดภัย และหลักประกันที่มั่นคงให้ทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นแล้วใครจะอยากมาลงทุนขุดคุ้ยทรัพยากรจากอาณานิคมไปใช้กันเล่า

ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดให้ชาวพื้นเมืองที่พอจะมีกำลัง ไปช่วยขุดคุ้ยทรัพยากรด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่เองบ้าง เพราะมีหลักประกันอยู่แล้วว่า ทรัพยากรที่ได้มาจะไหลมาสู่มือตน ในราคาที่ตนเห็นว่า "ยุติธรรม" คือตัวได้กำไรดี และชาวพื้นเมืองพออยู่ได้ เพื่อจะได้ไม่เลิกขุดคุ้ยต่อไป

ผลก็คือต้องเข้ามาบริหารจัดการอาณานิคมใกล้ชิดขึ้น เช่นสร้างระบบราชการแบบใหม่ขึ้นมา และสร้างกองทัพแบบใหม่ขึ้นมา จะทำสองอย่างนี้ในราคาถูกได้อย่างไร? หนึ่งคือรีดภาษีจากชาวพื้นเมืองเพิ่มขึ้น จะเป็นทางตรงทางอ้อมก็ตาม เพื่อสร้างงบประมาณในท้องถิ่นไว้เลี้ยงระบบราชการแบบใหม่และกองทัพแบบใหม่เอง และสองคือ จะเอาฝรั่งมาทำระบบราชการและกองทัพทั้งหมดไม่ไหว เพราะแพงเกินไป (ฝรั่งกินเนย คนในอาณานิคมกินแค่น้ำปลา) จึงจำเป็นต้องฝึกคนพื้นเมืองให้พอทำราชการแบบใหม่เป็น ในระดับแขนขามือเท้า รวมทั้งเป็นทหารในกองทัพแบบใหม่เป็น ในระดับเดียวกับที่กล่าวแล้ว

ทั้งนี้โดยตั้งอัตราเงินเดือนสองระบบขึ้นในระบบราชการและกองทัพ คือเงินเดือนในบัญชีหนังหมา สำหรับข้าราชการและทหารที่เป็นชาวพื้นเมือง และบัญชีหนังราชสีห์สำหรับฝรั่งที่เป็นผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาระดับสูง

นี่คือที่มาของการศึกษามวลชนซึ่งเกิดขึ้นในประเทศอาณานิคมทั่วไป อันเป็นแหล่งให้กำเนิดของนักกู้ชาติทั่วไป (และจำนวนเกือบหรือกว่าครึ่งเป็นนักกฎหมาย เพราะฝรั่งต้องการทั้งเนติบริกร และทนายตีนโรงตีนศาลสำหรับ "ปฏิบัติการ" ระบบกฎหมายตะวันตก ซึ่งให้หลักประกันอันมั่นคงแก่ทุนซึ่งฝรั่งลงไว้)

อย่างไรก็ตาม สงครามมหาเอเชียบูรพานำมาซึ่งโอกาสที่นักกู้ชาติในอาณานิคมต่างๆ สามารถขจัดอำนาจทางการเมืองของประเทศแม่ไปได้ ที่เรียกว่าโอกาสนั้นมีหลายประการด้วยกัน ซึ่งไม่ขอพูดถึงในที่นี้ แต่โดยสรุปก็คือ การถืออำนาจทางการเมืองไว้ในอาณานิคมต่อไป จะทำให้ขาดทุนอย่างใหญ่หลวง เพราะอำนาจทางการเมืองดังกล่าวนั้นย่นย่อให้ถึงแก่นแล้วก็แค่ธงชาติผืนเดียว ผลประโยชน์ที่แท้จริงไม่ได้อยู่บนผืนผ้าชิ้นนั้น ชักลงเสียดีๆ โดยมีแตรเป่าประกอบ แล้วรักษาผลประโยชน์ที่แท้จริงไว้ ย่อมมีเหตุผลกว่าที่จะปล่อยให้ชาวพื้นเมืองกระชากมันลงมา แล้วพลอยไปทำลายผลประโยชน์อื่นๆ ด้วย

ผมมีอะไรนอกเรื่องที่จะเล่าเกี่ยวกับธงตรงนี้หน่อยหนึ่ง เมื่อตอนผมเกิดนั้นเสาธงที่สูงที่สุดบนแผ่นดินไทยคือ เสาธงของสถานทูตอังกฤษที่ถนนเพลินจิต ด้วยเหตุดังนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงยอมไม่ได้ เมื่อท่านสร้างหอประชุมของโรงเรียนเก่าผมคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านจึงสร้างเสาธงที่สูงสุดบนผืนแผ่นดินไทยขึ้นที่นั่น จะมีราคาเท่ากับหลังคาหอประชุมทั้งหลังหรือไม่ผมก็ไม่ทราบ (แต่ที่แน่นอนคือ ไม่ได้สัดส่วนอันงามกับอาคาร) เสาธงจุฬาฯ ครองแชมป์ต่อมาอีกหลายปี จนหลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กระแสชาตินิยมของชนชั้นนำไทยจึงนำไปสู่เรื่องของธงชาติและเสาธง แล้วก็มีการเอาเงินงบประมาณไปสร้างเสาธงที่ชนะเสาธงจุฬาฯ ในเวลาต่อมา ... รวมไปถึงการชักธงชาติยี่สิบสี่ชั่วโมงของท่านผู้นำปัจจุบัน ก็อยู่ในกระแสชาตินิยมเสาธงกระแสเดียวกัน

ผมเชื่อว่าคนอังกฤษในสถานทูตคงจิบชาในบ่ายวันหนึ่ง แล้วคงหัวร่อต่อกระซิกกัน ที่ในที่สุดแล้วเอกราชของชาติมีความหมายเพียงเสาธง และกลายเป็นสนามแข่งขันที่ชาวพื้นเมืองเข้าไปต่อสู้กันเองอย่างเมามัน

ประชาชาติที่เกิดใหม่จากอาณานิคมเหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นจากการชักธงผืนใหม่ขึ้นไปแทนธงฝรั่งทั้งนั้น แทบไม่มีสักประเทศเดียวที่ได้ผ่านการปฏิวัติทางสังคมอย่างจริงจัง แม้บางประเทศต้องสู้รบกับฝรั่งอย่างหนักก็ตาม ฉะนั้น ใต้ผืนธงชาติลงมาจึงมีโครงสร้างเก่าทั้งทางเศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรมและ (ในแง่หนึ่ง) การเมืองของระบอบอาณานิคมตั้งอยู่อย่างมั่นคง เช่นบัญชีหนังหมาและหนังราชสีห์ก็ยังมีอยู่ตามเดิม เพียงแต่เปลี่ยนชื่อจากฝรั่งในบัญชีหนังราชสีห์ให้กลายเป็นชื่อคนพื้นเมือง ซึ่งโดยบังเอิญผิวมักจะขาวนวลกว่าชาวพื้นเมืองอื่นๆ

และนี่คือเหตุผลที่ประชาธิปไตยไม่เคยงอกงามได้ดีในประเทศอาณานิคมเก่า เพราะโครงสร้างเดิมเป็นโครงสร้างของระบอบอาณานิคม แม้บางประเทศมีการเลือกตั้งสม่ำเสมอตลอดมา ตั้งแต่ได้ชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา เราก็จะพบว่าเสรีภาพ, เสมอภาพและภราดรภาพในสังคมนั้นล้วนแต่ไร้ความหมาย

โครงสร้างอาณานิคมในทางเศรษฐกิจหมายถึง การทำให้ทรัพย์สมบติทุกอย่างของชาติ ไม่ว่าจะเป็นของเอกชนหรือของส่วนรวม กลายเป็นสินค้าในตลาดร้อยเปอร์เซ็นต์ ความเป็นสินค้าร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คือ การเปิดโอกาสอย่างอิสระเท่าเทียมกันแก่ทุกคนได้เข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติหรือคนในชาติก็มีสิทธิ "เสมอภาค" กัน

หลักการอันนี้ เมื่อใช้ในโครงสร้างของระบอบอาณานิคมและในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ย่อมมีความหมายว่าคนที่จะได้ประโยชน์จากการซื้อขายทรัพยากรของส่วนรวม คือคนต่างชาติและนายหน้าชาวพื้นเมืองนั่นเอง ก็สองพวกนี้เท่านั้นที่มีสมรรถภาพจะเข้าถึงได้ภายใต้ระบอบอาณานิคม และไม่เป็นประชาธิปไตย

ความเชื่อมโยงของโลกภายใต้สภาวะที่ถูกเรียกว่า โลกาภิวัตน์ ถ้ามองจากมุมมองของระบอบอาณานิคม ย่อมหมายถึงว่าไม่มีดินแดนใดที่เป็นอาณานิคมของประเทศแม่เพียงประเทศเดียว แต่การทำทุกอย่างในอาณานิคมให้เป็นสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นไฟฟ้า, โรงพยาบาล, พลังงาน, หรือเครือข่ายโทรคมนาคม ในนามของการค้าเสรี คือ การทำให้คนบางกลุ่มทั้งในอาณานิคมและประเทศแม่อันหลากหลาย ได้เข้ามาตักตวงทรัพยากรของชาวพื้นเมืองอย่างมีหลักประกันอันมั่นคง โดยชาวพื้นเมืองเองเป็นคนจ่ายสตางค์ให้แก่การประกันความมั่นคงนั้น ด้วยการสร้างและเลี้ยงระบบกฎหมาย, กระบวนการยุติธรรม, หน่วยงานบริการ, ระบบการศึกษา, และกองทัพเอง เพื่อให้ชาวพื้นเมืองสยบยอมทั้งกายและใจแก่ระบอบอาณานิคมโดยไม่ต่อต้าน

การไม่พยายามทำความเข้าใจกับลัทธิอาณานิคมให้ดี นอกจากทำให้อดีตถูกบิดเบือนแล้ว ยังทำให้ปัจจุบันถูกบิดเบือนด้วย

คราวนี้ก็ถึงคราวที่ท่านผู้อ่านซึ่งอุตส่าห์อ่านมาถึงบรรทัดนี้ต้องคิดเอาเองแล้วล่ะครับว่า ลัทธิล่าเมืองขึ้นหรือลัทธิอาณานิคมที่คุณหมอนิรันดร์พูดถึงนั้น มันเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับประเทศไทย ถ้าไม่เกี่ยว ทำไมถึงไม่เกี่ยว ถ้าเกี่ยว มันเกี่ยวอย่างไร

(ย้อนกลับไปตอนที่ ๑)

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
070449
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ความเชื่อมโยงของโลกภายใต้สภาวะที่ถูกเรียกว่า โลกาภิวัตน์ ถ้ามองจากมุมมองของระบอบอาณานิคม ย่อมหมายถึงว่าไม่มีดินแดนใดที่เป็นอาณานิคมของประเทศแม่เพียงประเทศเดียว แต่การทำทุกอย่างในอาณานิคมให้เป็นสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นไฟฟ้า, โรงพยาบาล, พลังงาน, หรือเครือข่ายโทรคมนาคม ในนามของการค้าเสรี คือ การทำให้คนบางกลุ่มทั้งในอาณานิคมและประเทศแม่อันหลากหลาย ได้เข้ามาตักตวงทรัพยากรของชาวพื้นเมืองอย่างมีหลักประกันอันมั่นคง โดยชาวพื้นเมืองเองเป็นคนจ่ายสตางค์ให้แก่การประกันความมั่นคงนั้น ด้วยการสร้างและเลี้ยงระบบกฎหมาย, กระบวนการยุติธรรม, หน่วยงานบริการ, ระบบการศึกษา, และกองทัพเอง เพื่อให้ชาวพื้นเมืองสยบยอมทั้งกายและใจแก่ระบอบอาณานิคมโดยไม่ต่อต้าน

The Midnightuniv website 2006