นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



ชั้นเรียนมลายูศึกษา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
มลายูมุสลิมภายใต้นโยบายการพัฒนาของไทย
ปิยะ กิจถาวร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

หมายเหตุ : บทความถอดเทปนี้ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากต้องการนำเสนอให้ผู้ที่สนใจทั่วประเทศ
ซึ่งไม่ได้มีโอกาสเข้าชั้นเรียนมลายูศึกษาของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ได้ทราบถึงเนื้อหาถ้อยคำบรรยายทั้งหมดอย่างคร่าวๆ
สำหรับงานวิชาการในขั้นสมบูรณ์กำลังอยู่ระหว่างการเรียบเรียงและแก้ไขโดย
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งจะจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือในเร็วๆนี้

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 855
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 19 หน้ากระดาษ A4)




มลายมุสลิมูภายใต้นโยบายการพัฒนาของไทย
ปิยะ กิจถาวร : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สมเกียรติ ตั้งนโม : เกริ่นนำ
ผมอยากจะเน้นย้ำอีกทีว่า ในขณะที่มีภาวะของความขัดแย้งที่เป็นปรากฏการณ์อยู่ในขณะนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนตั้งใจที่จะทำเรื่องมลายูศึกษาเพื่อให้ทราบถึงฐานคิดหรือประวัติศาสตร์ซึ่งมีมาอย่างยาวนานของวัฒนธรรมมลายู เพื่อให้เราเข้าใจหรือมีทรัพยากรมากพอที่จะเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในเหตุการณ์สองปีที่ผ่านมา ดังนั้นโครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างเสริมมิติทางความรู้หรือองค์ความรู้เกี่ยวกับมลายูให้กับสังคมไทย

สำหรับวันนี้เป็นเรื่องของ"มลายูภายใต้นโยบายการพัฒนาของไทย" ซึ่งท่าน อ.ปิยะ กิจถาวร จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะมาให้ความรู้กับเรา ผมขอทำความเข้าใจนิดหนึ่ง ในขณะที่สนทนากันหรือขณะที่มีการบรรยายอยู่นั้น จะมีช่วงพัก คือเมื่ออาจารย์ปิยะบรรยายไปได้สักประมาณชั่วโมงครึ่งก็จะพัก 10 นาที และหลังจากนั้นก็จะต่อจนจบ สุดท้ายจะเปิดโอกาสให้พวกเราทุกท่านได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และขอให้ทุกคนที่ประสงค์จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใช้ไมโครโฟนด้วยเพราะเราบันทึกเทป หลังจากนั้นเราจะไปถอดเทปเพื่อทำเป็นหนังสือขึ้นมาสำหรับสังคมไทย ขอบคุณครับ ขอเรียนเชิญ อ.ปิยะ ได้เลยครับ

ปิยะ กิจถาวร
กราบเรียนท่าน อ.นิธิ และท่านอาจารย์เพื่อนนักวิชาการทุกท่าน สำหรับผมเอง จริงๆ อยากจะเรียนว่า ผมใคร่จะแบ่งการพูดคุยเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกผมคงใช้เวลาไม่มาก ไม่เกินครึ่งชม. หรือ 40 นาทีเพื่ออธิบายข้อมูลตามที่ผมพอจะรวบรวมและประมวลมาได้ รวมทั้งหลักฐานต่าง ๆ ที่จะทำความเข้าใจร่วมกันเรื่องของชาวมลายูภายใต้นโยบายการพัฒนาของไทย หลังจากนั้นอยากให้เป็นการซักถาม และอยากให้เป็นการถามแบบตรงไปตรงมามาก ๆ เพราะผมเป็นคนพื้นที่ สิ่งที่ท่านกรุณาซักถามหรือแนะนำหรือตั้งประเด็นให้จะเป็นประโยชน์ในการที่ผมจะได้กลับไปคิดหาคำตอบเหล่านั้นต่อไป

สำหรับเรื่องมลายูภายใต้นโยบายการพัฒนารัฐไทย ผมได้ทำเป็นเอกสาร 2-3 ชิ้น เนื่องจากว่าใคร่จะพยามยามทำให้ดีที่สุดเท่าที่ความรู้และเวลาพอมี แต่โดยทั่วไปผมอยากจะเรียนว่า จากโจทย์ที่ผมได้ไปก็คือว่า คำว่านโยบายการพัฒนารัฐไทยนั้น ผมอยากจะให้มองในส่วนแรกคือมองผ่านช่วงเวลา เพื่อให้เห็นการพัฒนาการ เห็นวิธีการจัดการกับปัญหาในแต่ละเงื่อนไขของปัญหาที่ผ่านมา

สมัยราชาธิราช
โดยทั่วไปอยากจะเริ่มว่าสมัยราชาธิราช ผมใช้คำสรุปสั้นว่าเป็นการยึดครองและก็ครองใจ อันนี้จากมุมของคนพื้นที่ เราคงต้องทำใจให้กว้างเพราะคนที่นั่นเขาตระหนักชัดดีว่า เขาคือคนมลายูปัตตานี และการที่รัฐไทยเข้าไปในพื้นที่เหล่านั้นก็เป็นการเข้าไปยึดครอง อันนี้เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นปัญหาหรือเป็นสิ่งที่คับข้องใจหรือมีความไม่เข้าใจหรือเคียดแค้นใจต่อกัน

อันหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ อาจจะเรียกว่าสมัยราชาธิราช สมัย รัชกาล 5 และรัชกาล 6 ทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้ว สมัยนั้นนอกจากไปยึดครองและพยามยามจัดเป็นรูปการปกครองต่างๆ สิ่งหนึ่งที่มีอยู่มาโดยตลอดก็คือการครองใจ รูปธรรมหลักฐานชัดเจน เช่น รายงานการตรวจราชการของเจ้าพระยายมราช อันนี้ผมได้ข้อมูลมาจาก อ.พันธ์งาม ซึ่งท่านกรุณาเล่าให้ฟัง นั่นคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สมัยราชาธิราชนั้น การเข้าไปยึดครองแผ่นดิน ไม่ใช่ยึดครองเพื่อจะไปกดขี่ข่มเหงบีบบังคับหรือไปรีดนาทาเร้น แต่พอยึดครองแล้วก็พยายามจะปกครองดูแลให้เขาได้มีชีวิตอย่างปกติสุขที่เขาควรจะเป็น

สมัยดังกล่าวถือว่า การทำเช่นนี้ได้สำเร็จนั้นคืออาจจะเรียกว่าเป็นความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ผู้ปกครอง ที่เรียกว่าเป็นทศพิษราชธรรม นั่นคือวิธีคิดสมัยนั้น คือเข้าไปยึดครองเขาจริง แต่ทำให้เขามีชีวิตอย่างปกติสุขได้ และเป็นที่ยอมรับและครองใจเขาได้ มีเรื่องเล่าครับ เช่น

ผมเป็นคนสายบุรี สมัยรัชกาล 5 ท่านเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ อันนี้ไม่รู้จริงไม่จริงเพราะเราไม่มีหลักฐาน แต่เป็นชาวบ้านเล่าให้ฟัง เขาบอกว่ารัชกาล 5 ก็เสด็จที่ปัตตานีและเชิญผู้นำศาสนาจากสายบุรีไปเข้าเฝ้า คือพอจะไปเข้าเฝ้าแล้ววิธีคิดของระบบรัฐไทยก็คือว่า คุณเข้าไปคุณต้องหมอบกราบ เป็นประเพณีเข้าเฝ้ากษัตริย์สมัยโบราณ แต่พอ รัชกาล 5 ท่านทรงทราบท่านสั่งยกเลิกสิ่งเหล่านี้หมดเลย เพราะท่านตระหนักรู้อย่างชัดเจนว่า การหมอบกราบในวิถีปฏิบัติของมุสลิมนั้นทำไม่ได้ เขาจะหมอบให้กับสิ่งเดียวเท่านั้นคือพระผู้เป็นเจ้า ในเวลาที่เขาทำพิธีละหมาดตามหลักศาสนา

เมื่อรัชกาล 5 ทราบตรงนี้ พระองค์ได้สั่งให้ยกเลิกหมด และเมื่อเข้าเฝ้าก็ให้ผู้นำศาสนาสามารถแต่งกายชุดคลุมขาวยาวตามประเพณีนิยมของตัวเองได้ และก็ไม่จำเป็นต้องหมอบกราบ เพียงแต่เสด็จผ่านก็อาจจะโค้งนิด ๆ ไม่ต้องโค้งมาก เพราะโค้งมากก็ทำไม่ได้อีก หลังจากนั้นท่านก็พระราชทาน เขาเรียกว่าเป็นเข็ม...ผมเรียกไม่ถูก แต่เป็นเข็มที่สลักชื่อรัชกาลให้กับผู้นำทุกคน ที่ผมเล่าเรื่องนี้ได้เพราะที่สายบุรี ผู้นำศาสนาเวลาพูดคุยเขายังมีการอ้างอิงเรื่องนี้ด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงเราต้องยอมรับว่าเราไปยึดครองแผ่นดินเขา แต่วิธีที่ท่านปฏิบัตินั้นคือการครองใจ คำว่าครองใจตรงนี้ก็คือ

1. เคารพความต่าง ให้เกียริติยศซึ่งกันและกัน และ

2. เป็นการเทียบเคียงคือ หลักรัฐศาสนโยบายของ รัชกาล 6 ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจราชการของเจ้าพระยายามราชซึ่งก็มีหลักฐานชัดเจน สมัยนั้นก็มีคล้ายๆ กับที่เราเห็นในปัจจุบัน มีการก่อความรุนแรง แต่พอไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่าเป็นการกระทำของคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้หรือประสงค์ในเรื่องราวเหล่านั้นทั้งสิ้น และสิ่งที่เป็นข้อเสนอจากการตรวจราชการครั้งนั้นไม่ได้บอกว่าให้ส่งกำลังเข้าไปปราบมากๆ แต่ตรัสว่าจะต้องปรับปรุงข้าราชการให้เป็นคนดี เข้าใจวิถีปฏิบัติต่าง ๆ ของพี่น้องมุสลิมในพื้นถิ่น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือให้ระวังอย่าไปล่วงละเมิดในเรื่องของศาสนา เพราะถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม ที่ทำให้คนที่นั่นรู้สึกว่าศาสนาถูกคุกคามถูกทำลายแล้วนั้น เจ้าพระยายมราชเขียนชัดเจนว่า จะก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจนถึงที่สุดและก็น่ากลัว

นี่คือข้อสรุปที่ได้ หลังจากนั้นเราก็จะเห็นว่ามีการใช้ รปส... และเหตุการณ์ก็คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
ผมอยากจะเรียนว่านี่เป็นนโยบายการพัฒนาของรัฐไทยในช่วงสมัยราชาธิราช ข้อสรุปสั้น ๆ ก็คือ เข้าใจศาสนา เข้าใจวัฒนธรรม เข้าใจวิถีชีวิตชาวบ้าน และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการศึกษา

สมัยนั้นมีความพยายามจะเปลี่ยนให้มาเรียนภาษาไทย เรียนหนังสือไทย และมีข้อคับข้องใจอันหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือไม่สนใจการศึกษาศาสนา แต่ผลการตรวจราชการครั้งนั้นก็พยายามชี้ชัดและให้มีการปรับเปลี่ยน ผมทราบจากคนพื้นที่ว่าสมัยนั้นการเรียนหนังสือเขาเรียน 3 อย่าง คือ

1. เรียนหนังสือไทย
2. เรียนอิสลามศึกษา ศาสนา
3. เรียนภาษามลายู

ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย
พอผ่านช่วงราชาธิราช อีกช่วงหนึ่งก็คือการพัฒนาของรัฐไทยในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อที่น่าสนใจหลังจากเราเปลี่ยนประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้วนั้น ในช่วงแรก ก็ชัดเจนว่า คุณปรีดี พนมยงค์, คุณแช่ม พรมยงค์ ซึ่งเป็นจุฬาราชมนตรี เหล่านี้เป็นต้น ก็ได้พยายามที่จะประสานประโยชน์ คำว่าประสานประโยชน์ก็คือ พยายามจะเข้าใจ พยายามผ่อนปรน พยามปรับเปลี่ยนวิธีการต่าง ๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการที่เป็นจริงของคนในท้องถิ่น

หลักฐานหลายอย่าง อาทิเช่น กระบวนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัวและมรดกนั่นคือผลผลิตของที่นั่น ในยุคนั้นที่เป็นเรื่องของความพยายามเข้าใจ รวมทั้งเท่าที่ผมรับทราบมา เรื่องของการจัดการศึกษา ถ้าไปถามคนรุ่นก่อน ๆ เขาจะพูดชัดเลยว่าการศึกษายุคแรก ๆ ก็จะเป็นเหมือนที่ว่า ไทยมลายู ภาษามลายูและอิสลามศึกษา สิ่งเหล่านี้สามารถไปด้วยกันในระบบการจัดการศึกษาของประเทศ ใช้เฉพาะใน 3-4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนปัญหานั้นเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเราเปลี่ยนประเทศเข้าสู่เผด็จการ โดยเฉพาะเผด็จการในช่วงยาวนานมากตั้งแต่ จอมพลป. พิบูลย์สงคราม สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถนอม ประภาส ผมว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ประเทศของเราใช้นโยบายในการบีบบังคับ มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับในพื้นที่ เช่น ชาวบ้านจะติดต่อราชการที่อำเภอเมืองปัตตานี หน้าอำเภอจะมีร้าน มีแผงให้เช่ากางเกง โดยวิถีชีวิตของชาวบ้านนั้น การนุ่งโสร่ง นั้นคือการแต่งตัวที่สุภาพ การที่เขาใส่หมวกกาปิเยาะ (หมวกขาว) นุ่งโสร่ง เป็นการแต่งตัวที่สุภาพ แต่ทางราชการเรากลับมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ทันสมัย ไม่เหมาะ ไม่ควร ก็เลยบังคับ ชาวบ้านว่า เวลาไปติดต่ออำเภอก็จะต้องถอดโสร่ง เช่ากางเกง ขึ้นไปติดต่องานบนอำเภอเสร็จก็กลับมาเปลี่ยน และก็มีการบีบบังคับหลายอย่างในยุคนั้น

รูปธรรมที่เราเห็นก็คือกรณี"ฮายีสุหรง" ฮายีสุหรง นี่มองได้หลายด้าน กล่าวคือเป็นความพยายามที่จะต่อสู้เรียกร้องในระบบเสรีประชาธิปไตย มีข้อเสนอ 7 ข้อ ตอนหลัง ฮายีสุหรง ถูกฆ่าตาย อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่สื่อให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงของภาครัฐ ที่กระทำต่อผู้นำทางศาสนาในพื้นที่ แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีการเอ่ยอ้างในเรื่องเหล่านี้อยู่ ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายรัฐก็ยังพูดว่าในพื้นที่ขณะนี้ถ้ายอมตามข้อเสนอฮายีสุหรง ทั้ง 7 ข้อ เท่ากับยกแผ่นดินให้เขา อีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ใช่รัฐก็บอกว่า ฮายีสุหรง พยายามต่อสู้ในวิถีทางที่ถูกต้องแล้ว แต่กลับถูกฆ่า เรามาใช้ความรุนแรงกันดีกว่า อันนี้คือสิ่งที่เราเห็น

เรื่องฮายีสุหรง ผมมีงานวิจัยอีกอันหนึ่งที่เขาบอกชัดเจนเลยว่า จริง ๆ การต่อต้านนโยบายรัฐนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ สิ่งที่แก้ไขได้ง่ายที่สุดก็คือ ความพยายามจะเข้าใจวิถีชีวิต วัฒนธรรมและศาสนา ซึ่งเป็นความต้องการรากฐานที่แท้จริงของชาวบ้านในพื้นที่ ถ้าเข้าใจตรงนี้โดยไม่ไปล่วงละเมิดการปฏิบัติตามหลักศาสนาหรืออะไรต่าง ๆ ของชาวบ้านนั้นแล้ว การแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่ไม่ยากเลย รวมทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน นั่นเป็นงานวิจัยที่ศึกษาไว้ในเอกสารที่ได้ระบุเอาไว้

ในช่วงระยะต่อมา หลังจากนั้นมันก็จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ต่อเนื่องมาเป็นระยะ ๆ สิ่งที่เราคุยกันมากหรือเอ่ยอ้างกันมากก็คือ กบฏดูซงยอ กบฎดูซงยอ จริง ๆ ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เราเห็นอะไรหลายอย่างถึงความสับสนของข้อมูลที่แต่ละฝ่ายได้อธิบายเอาไว้แตกต่างกัน ท่านก็ลองติดตามดู

มันมีหนังสือเล่มหนึ่งเขียนโดยอดีตแม่ชี ผมจำชื่อท่านไม่ได้ อันนี้เป็นหลักฐานที่น่าสนใจว่า มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านจริง อาบน้ำมนต์ คงกระพัน และก็ลุกฮือขึ้นมา และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปตรวจสอบจริง และก็ถูกไล่ฆ่าจริง มีการปะทะ มีการต่อสู้กันจริง และมีการสูญเสียชีวิตกันทั้งสองฝ่าย แต่ชาวบ้านคงสูญเสียมากกว่า. กบฏดูซงยอ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการต่อต้านอำนาจรัฐ หรืออาจจะเรียกว่าต่อต้านนโยบายของรัฐ หลังยุคสมัยหรือว่าอยู่ในช่วงของการใช้กำลังบีบบังคับสมัยจอมพล ป.

ทีนี้พอมาดูพัฒนาการระยะต่อมา ก็คือเรื่องของหลังจากเราเข้าสู่สมัยสฤษดิ์ เริ่มมีนโยบายการพัฒนาประเทศ พูดถึงน้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี พูดถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ในความพยายามส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาภาคใต้ภายใต้นโยบายของรัฐก็คือ ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการเข้าไปสอดส่องดูแลปัญหาต่าง ๆ และที่น่าสนใจที่สุดก็คือ เราใช้ชื่อว่าคณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ มีคุณถนัด คอมันตร์เป็นประธาน ก็ลงไปศึกษาดูว่าจะพัฒนาพื้นที่นี้อย่างไร ก็มีข้อเสนอต่าง ๆ ออกมามากมาย แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับข้อเสนอของการพัฒนายุคนั้นก็คือ ไม่ได้มองเฉพาะเศรษฐกิจเท่านั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือว่า เสนอให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัย เขาเรียกว่ามหาวิทยาลัยภาคใต้ คือเป็นแหล่งวิชาการที่จะได้เป็นที่พึ่งและก็เป็นรากฐานสำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว

นอกจากนี้ยังได้มีการเสนอให้มีการปรับถนน เสนอให้มีการพัฒนาโครงการชลประทานปัตตานี ซึ่งมาเริ่มจริง ๆ ในปี พ.ศ. 2511 ถึงปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ เกรือบ 40 กว่าปี แต่อันหนึ่งซึ่งเป็นข้อบกพร่อง ผมใช้คำว่าข้อบกพร่อง คือว่าเป็นข้อบกพร่องที่เกิดจากความไม่รู้ก็คือ พอพูดถึงการศึกษานั้น ก็จะมองว่าต้องเป็นแบบแผนเดียวกันทั้งประเทศ และก็มองว่าการศึกษาในระบบปอเนาะ คือเป็นการศึกษาศาสนาซึ่งเป็นรากฐานดั้งเดิมของชุมชนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ไม่ยอมรับอำนาจรัฐหรือว่าเป็นแหล่งซ่องสุมของคนที่ต่อต้านอำนาจ

ก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนสถาบันปอเนาะ เปลี่ยนปอเนาะให้มาเป็นโรงเรียนสามัญ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ตอนหลังก็มาปรับพัฒนาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และเมื่อ 2 ปีที่แล้วถึงจะมายอมรับว่าต้องปรับมาเป็นสถาบันศึกษาปอเนาะ แต่ตรงนี้จุดประเด็นที่สำคัญก็คือว่าภายใต้ความพยายามที่จะพัฒนาของรัฐไทยนั้น บางเรื่องผมว่าขาดความเข้าใจ ขาดการเคารพ และขาดความรู้ที่เป็นจริงเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่แท้จริงของชาวบ้านในพื้นที่

ในประการต่อมาคือว่า เป็นการพยายามแก้ปัญหาภายใต้ นอกจากขาดความรู้แล้ว ผมว่าเป็นการแก้ปัญหาภายใต้ความกลัว ความกลัวว่าสถาบันเหล่านี้จะเป็นแหล่งต่อต้านรัฐ อะไรเหล่านี้เป็นต้น ในขบวนการหลายขบวนการ เช่น BRN ที่กำลังถูกอธิบายว่าเป็นผู้ก่อเหตุสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบัน จริง ๆ เริ่มเติบโตก็ในยุคนั้น ถ้าจำไม่ผิดตั้งปี 2503 และก็เริ่มเติบโต และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เกิดจากการที่ผู้นำศาสนาส่วนหนึ่งรู้สึกและเห็นชัดเจนว่าสถาบันปอเนาะของเขาถูกคุกคาม และถูกทำลาย และเขาก็ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐ

ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ที่นี้พอช่วงแผนพัฒนาตั้งแต่แผนที่ 1 มันมีคำถามซึ่งผมได้รับมอบหมายให้ไปหาคำตอบมาว่า ได้มีการไหลเข้ามาของทุนเข้าไปในพื้นที่อย่างไร คำอธิบายคือทุนที่ไหลเข้ามามันไหลผ่าเข้ามา 2 ระบบ อันแรกเป็นการไหลเข้ามาโดยทุนของรัฐ และอันที่สองเป็นการไหลเข้ามาของทุนเอง

1. ไหลเข้ามาโดยทุนของรัฐ คำว่าทุนของรัฐอาจอธิบายได้ 2 ด้าน คือ

1.1. ทุนของรัฐลงทุนเอง ตัดถนน ทำโครงการชลประทาน พัฒนาระบบการศึกษา พยายามทำในส่วนที่เรียกว่าความเจริญเข้าไปในพื้นที่

1.2. เป็นทุนของรัฐเหมือนกัน แต่ว่าเป็นทุนของรัฐที่ได้รับประโยชน์จากภายใต้กรอบคิดของการพัฒนา เช่น ระบบสัมปทานทั้งหลาย คือถ้าท่านดูแผนที่ ดูสภาพภูมิประเทศจะเห็นได้ชัดเจนว่า ในชายแดนใต้อุดมสมบูรณ์มาก ๆ มีภูเขา ป่าดงดิบบาราฮารา มีพลุ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีความสลับซ้อนของระบบนิเวศมาก ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีชายฝั่งที่ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ เคยมีนักวิชาการซึ่งเป็นนักสมุทรศาสตร์ จากเนเธอร์แลนด์ เขามาศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ที่อ่าวปัตตานีตั้งแต่ปี 2516 เขาพิสูจน์ชัดเจนว่าอ่าวปัตตานีเป็นอ่าวที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก นั่นคือตัวอย่างที่จะอธิบาย

ทีนี้ถามว่าการพัฒนาของรัฐมันเข้าไปจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร คำตอบก็คือเป็นการเข้าไปใช้อำนาจรัฐและก็มองว่าทรัพยากรเหล่านี้มันต้องถูกนำมาใช้ประโยชน์ผ่านการจัดการของภาคเอกชน ก็ก่อให้เกิดระบบสัมปทานต่าง ๆ สิ่งที่กระทบรุนแรงที่สุดคือป่าไม้แถวเปตง ท่านคงได้ข่าว สมัยก่อนก็เคยมีอดีตรัฐมนตรีติดคุก เพราะไปตัดโค่นบุกรุกป่าไม้ต่าง ๆ และมันได้เปลี่ยนหลายพื้นที่จากป่าดงดิบให้กลายมาเป็นป่าสวนยาง แต่บางพื้นที่ก็ยังคงอยู่ ยังคงรักษาสภาพได้ แต่บางพื้นทีก็ถูกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงนี้มันมีขั้นตอนที่ซับซ้อนหลายมิติ เช่น มีการให้สัมปทานตัดโค่น พอตัดโค่นเสร็จก็มีการอ้างสิทธิยึดครองและก็ทำเป็นสวนยาง นั่นคือขั้นตอนบุกเข้ามาของทุน โดยผ่านการจัดการของรัฐ

อีกด้านก็คือการเข้ามาของทุนโดยรัฐ โดยความตั้งใจดี อยากจะพัฒนา อยากจะเปลี่ยนแปลง แต่ว่าไม่เข้าใจข้อจำกัด สิ่งซึ่งคนในพื้นที่เขาหวงแหน หรือลักษณะเฉพาะบางอย่างของพื้นที่ ก็อาจจะก่อให้เกิดเรื่องที่ยิ่งทำยิ่งมีปัญหา

2. การไหลเข้ามาโดยทุนของทุนโดยตรง ตรงนี้ผมอาจจะมองในเชิงวิเคราะห์ว่า มีอยู่มากมายเกี่ยวกับการไหลเข้ามาของทุนโดยตรง ซึ่งเรามักจะเรียกว่า"ทุนนายหน้า" เช่น ในปัตตานีก็จะมีบริษัทตระกูลใหญ่ๆ ตระกูลตนานุรัตน์ ตระกูลพิทาน ก็จะเป็นลักษณะของทุนนายหน้าทั้งนั้น คือเป็นคนในท้องถิ่นซึ่งพอมีทุนบ้าง หลังจากนั้นก็ไปโยงกับทุนส่วนกลาง หรือกลายเป็นเอเยนต์ต่าง ๆ ของต่างประเทศแล้วก็เข้ามาค้าขายอยู่ในพื้นที่ แต่ลักษณะทุนเหล่านี้นั้นก็เป็นทุนที่เขาอยู่และก็ทำมาหากิน และก็ต้องอยู่รอดในพื้นที่อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ข้อวิเคราะห์ของผมเองมองว่า ทุนเอกชนในลักษณะนี้ไม่เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรง ถ้าจะมองในเชิงเปรียบเทียบนั้นคิดว่าคำว่า"การพัฒนาของรัฐ" ทุนที่ไปผูกพันนั้นมีการใช้อำนาจรัฐให้เป็นประโยชน์ในการเข้าไปช่วงชิงหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่าง ๆ ตรงนี้ผมมองแล้วเป็นทุนที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวบ้านมากกว่า

ที่นี้ภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ที่มันเปลี่ยนไปนั้น มันได้เกิดปัญหามาโดยตลอด เช่น ปี 2518 ก็เกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่ที่ จ.ปัตตานี 45 วัน ถามว่าการชุมนุมตรงนี้เกิดขึ้นได้เพราะอะไร คำตอบที่ชัดที่สุดเขาก็ว่ามีการที่ทหารนาวิกโยธินไปตั้งด่านสกัดและจับชาวบ้าน 4-5 คน บวกเด็กอีกหนึ่งคน ซึ่งถามว่าชาวบ้านนั้น ผมเคยถามข้อมูลเชิงลึก ....ถามว่าชาวบ้านเหล่านั้นเป็นใคร เขาก็บอกว่าเป็นแนวร่วมและผู้ร้ายจริง แต่ว่าวิธีไปจับเอาคนเหล่านั้นมาฆ่าทิ้งของรัฐมันก็ผิดเหมือนกัน ผมว่าตรงนี้เป็นประเด็นที่เราต้องขบคิดว่าวิธีจัดการกับปัญหาถ้าใช้ความรุนแรงแบบนี้ แม้กระทั่งบอกบุคคลที่ทำผิดกฎหมายก็จริง แต่มันเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม เป็นการกระทำนอกกรอบของกฎหมาย มันก่อให้เกิดปัญหาบานปลายและก็มีการชุมนุมประท้วงกัน

ถามว่าการชุมนุมประท้วงใหญ่ที่ปัตตานีเมื่อปี 2518 แปลว่าอะไร ที่จริงข้อเสนอมีอย่างเดียวคือ เอาคนผิดมาลงโทษ แต่พอเกิดขึ้นมาแล้ว ทางรัฐไม่ยอมรับ และชุมนุมที่ศาลากลาง จ.ปัตตานีก็มีการขว้างระเบิดเข้าไปทำให้มีคนตายเยอะและก็บานปลายออกไปเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายก็ยุตติลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าตรงนั้นผมว่ามันเป็นฉนวนของความรุนแรงอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามมามากมายไปหมด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2519, 20, 21, 22, 23, เกิดเหตุการณ์มากในพื้นที่ ผมเชื่อว่าไม่ด้อยกว่าในปัจจุบัน เพียงแต่สมัยนั้นสื่อทั้งหลายยังไม่เข้าถึงการรับรู้ของสังคม ยังมีน้อย มันก็เป็นการจัดการกับปัญหาโดยใช้ความรุนแรงในกรอบที่จำกัดในระดับหนึ่ง แต่คนรับผลกระทบนั้นมีมากมาย ทั้งชาวบ้าน ผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่

ภาพที่ผมอยากสะท้อนให้ท่านเห็นก็คือว่ามันเป็นภาพที่เวลาเราดูการพัฒนาของรัฐ ผมว่าเราต้องดูคู่ขนานกันไป นโยบาย ทิศทางการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาการเข้ามาของทุนและปฏิบัติการความขัดแย้งการใช้ความรุนแรงในพื้นที่มันก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่และก็มีความเกี่ยงโยงสัมพันธ์กัน อยากให้มองภาพตรงนั้นไป ที่นี้ภายใต้สถานการณ์เหล่านั้น ถามว่ารัฐไปจัดการอย่างไร มันก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาโดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่าจะมีเครื่องไม้เครื่องมือวิธีการในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ก็ออกมาว่าต้องมีนโยบาย คำว่านโยบายคือ มีเป้าหมาย มีวิธีการ ต่าง ๆ ที่จะแก้ปัญหาที่สอดคล้องและตรงไปในทางเดียวกัน

นโยบายเหล่านั้นคิดว่า ถ้าใช้คำง่าย ๆ นะครับ คือนโยบายความมั่นคงบวกการพัฒนา แต่ข้อสรุปที่น่าสนใจก็คือว่า ด้านความมั่นคงซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของสังคมจิตวิทยา การเคารพความแตกต่าง รวมทั้งการกำกับดูแลพฤติกรรมของข้าราชการให้ดี ค่อนข้างประสบความสำเร็จ มีงานวิจัยหลายอย่างที่ยืนยันว่าทำได้สำเร็จ การประชาสัมพันธ์ การชี้แจง การเข้าถึงผู้นำศาสนา ปฏิบัติการมวลชน และการพยายามกวดขันข้าราชการในพื้นที่ให้ปฏิบัติอยู่ในร่องในรอยที่เหมาะสม อันนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ทำให้เหตุการณ์นั้นคลี่คลายลง

แต่ว่าด้านการพัฒนามีการสรุปว่าล้มเหลว ถามว่าล้มเหลวเพราะอะไร? คำตอบคือ เพราะว่าเวลารัฐเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น ผมว่าไม่ได้พัฒนาเพื่อพัฒนา แต่พัฒนาโดยเข้าใจว่าการพัฒนาในการทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น มันจะต้องเข้าไปคลี่คลายปมปัญหาที่เขาเรียกว่าความมั่นคง คือการต่อต้านอำนาจรัฐ ตรงนี้มันทำให้มุมมองของการพัฒนามันถูกเฉไฉเบี่ยงประเด็นออกไปได้

และที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนามันคงไม่ค่อยตรงกับปัญหาความต้องการที่แท้จริงของประชาชนเท่าใดนัก เราเห็นรูปธรรมของการพัฒนาต่างๆมากมาย และนี่เป็นปมที่สังคมไทยหรือรัฐบาลไทยยังขบไม่แตกในปัจจุบัน คือพอเราเห็นปัญหาปุ๊บ แล้วเราบอกว่าเราเข้าไปพัฒนาแล้ว ผมว่าความคิดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของการพัฒนาก็คือว่า ไม่ได้พัฒนาเพื่อพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาชาวบ้านอย่างแท้จริง แต่พัฒนาเพื่อหวังว่า การทำตรงนั้นจะได้ใจเขา และจะนำไปสู่การลดปัญหาความไม่มั่นคงและการต่อต้านอำนาจรัฐ

ตรงนี้อยากจะตั้งเป็นประเด็นฝากไว้ ซึ่งถ้ามีเวลาจะมาถกเถียงขบคิดกัน แม้กระทั่งหลังสุดที่เกิดความรุนแรง ผมว่าการพัฒนาก็ยังตั้งอยู่บนฐานตรงนี้ ซึ่งถ้าทำแบบนี้มันก็เปล่าประโยชน์ อีกอันหนึ่งก็คือ ปี 2533 นั้นก็อยากจะเรียกว่าเป็นผลกระทบของทุนและการพัฒนาที่เข้าไปในพื้นที่ คือก่อนหน้านี้มีความพยายามโหมประโคมของประเทศไทยเราเยอะมาก ในเรื่องของการท่องเที่ยว และก็มัสยิดกรือเซะก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งหนึ่งที่สำคัญ

ทุกต้นปี วันมาฆบูชาก็จะมีการจัดงานแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แต่ในยุคนั้นผมคิดว่าเขายังคงไม่มีความเข้าใจในมิติของประวัติศาสตร์ และขาดความเคารพชุมชนก็จะมีการออกข่าวประชาสัมพันธ์ว่ามัสยิดกรือเซะต้องคำสาปเจ้าแม่ ทำให้สร้างไม่เสร็จ ถูกฟ้าผ่า ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ได้ไปกระทบกระเทือนความรู้สึกของคน ของผู้นำศาสนาสูงมาก ความรู้สึกว่าทำไมต้องไปอธิบายสิ่งเหล่านี้ด้วยวิธีการเหล่านั้น มันผิดหรือมันถูกอย่างไร? แต่สังคมกับรับรู้ไป และก็ทำให้สังคมส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจ ผมไม่ทราบว่าตรงนี้คือเหตุของการชุมนุมประท้วงที่มัสยิดกรือเซะเมื่อปี 2533 รึเปล่า

แต่มีงานศึกษาของท่าน อ.ชัยวัฒน์ ท่านบอกว่า การชุมนุมประท้วงที่กรือเซะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ในเชิงขิงสัญลักษณ์ มัสยิดกรือเซะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ถามว่าการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็อาจจะเป็นผลผลิตหนึ่งของการพัฒนาที่ไม่เข้าใจ ไม่ให้เกียรติ์กัน และก็คิดว่าวัฒนธรรม หรือวิธีคิด หรือนิทานเรื่องเล่าของเราถูกหรือเหนือกว่าความเชื่อดั้งเดิมของชุมชน เกิดการปะทะกันในเรื่องของความเชื่อ และความขัดแย้งในเชิงสัญลักษณ์ อันนี้น่าสนใจเพราะมันขยายตัวได้เร็ว

และ อ.ชัยวัฒน์เคยเขียนและวิเคราะห์เอาไว้ว่า เหตุผลที่ทำให้คนจำนวนมหาศาลเข้ามาร่วมและมีใจสนับสนุนการชุมนุมประท้วงที่กรือเซะก็เพราะรู้สึกว่า อัตลักษณ์ ความเป็นตัวตน หรือมัสยิดที่ถือว่าเป็นบ้านของพระผู้เป็นเจ้าของเขาถูกลบหลู่ อันนี้เป็นข้อวิเคราะห์ตั้งแต่ปี 2533

แต่ข้อวิเคราะห์อีกด้านหนึ่ง ของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเขามองว่าการชุมนุมประท้วงปี 2533 เป็นการรวมกลุ่มของพวกชีอะห์ ซึ่งเริ่มมีการขยายตัวมากขึ้นในพื้นที่ จริง ๆ เราก็เห็นรูปธรรม เช่นมีข่าวว่าเอาเด็กไปฝึกร่างกาย ฝึกซ้อมอาวุธ และพอมาชุมนุมประท้วงก็โพกหัวแดงและก็มีปฏิกิริยาใช้ความรุนแรงต่าง ๆ ฝ่ายรัฐก็เลยตีความว่า การชุมนุมนั้นเป็นความพยายามที่จะต่อต้านอำนาจรัฐ ภาพตรงนี้เราต้องแยกให้ชัดว่า แล้วจริง ๆ มันเป็นยังไงกันแน่ หรือมันเป็นทั้งสองอย่างแต่ว่ามันมีส่วนผสมที่ต่างกัน ผมว่าถ้าเข้าใจตรงนั้น อาจจะเข้าใจเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2547 ได้ นั่นก็เป็นการชุมนุมที่กรือเซะปี 2533

ถ้าท่านไปดู อ.ชัยวัฒน์เขียนไว้ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ผมจำไม่ได้ว่าปีไหน อาจจะเป็นปี 2536 หรือ 2540 พัฒนาการต่อมาคือการเผาโรงเรียน 36 โรงพร้อมกัน ก็มีการอธิบายเรื่องราวเหล่านี้ต่างกันไป บางคนก็บอกว่ารัฐบาลสุจินดา รัฐบาล รสช. ซึ่งหมดอำนาจแล้ว ไปใช้ทหารบางคนในพื้นที่ จ้างเด็กวัยรุ่นมาก่อเหตุเผาโรงเรียนเพื่อดีสเครดิตหรือทำลายความเชื่อถือรัฐบาล อันนี้ก็ว่ากันไป นั่นเป็นประเด็นของข่าวลือ

ข่าวอีกด้านซึ่งผมว่าน่าสนใจก็คือ ในขณะหลังเกิดเหตุไม่นาน มีข้อวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์อาทิตย์รายสัปดาห์สมัยนั้น เขียนว่าการเผาโรงเรียนเป็นการแสดงปฏิกิริยาของคนรุ่นใหม่ ที่นิยมอิหร่าน เพราะอย่าลืมว่าสมัยนั้นอิสลามไนเซชั่น หรือแนวคิดคอมมิวนิสต์มาแรงมากที่นิยมอิหร่าน และขณะเดียวกันก็ไม่เข้าใจผู้นำทางการเมืองมุสลิมในพื้นที่ ที่หันเข้ามามีบทบาทและก็มีสัดส่วนในอำนาจรัฐมากขึ้น และละเลยปัญหาประชาชน เขาบอกนั่นคือการแสดงปฏิกิริยาของคนรุ่นใหม่ และการแสดงครั้งนั้นไม่ได้ต้องการผลทางมวลชน คือไม่ได้ประกาศว่าใครทำ ทำแล้วเงียบไปเลย และปฏิบัติการครั้งนั้นก็ไม่หวังที่จะต้องการทำร้ายชีวิตใคร เป็นการส่งสัญญาณเตือนบางอย่างให้เกิดขึ้น นั่นคือข้อวิเคราะห์ของปี 2536 ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ

หลังจากนั้นพอมาถึงปี 2536 เราจะเห็นว่า เหตุการณ์ก็ดูเหมือนสงบแต่ว่าความจริงในพื้นที่จะมีเหตุการณ์ก่อการร้ายประปราย และปรากฏการณ์ที่เห็นอันหนึ่งก็คือว่า ในเอกสารที่ผมเตรียมมา อีกด้านหนึ่งถ้าเราไปมองเรื่องของพื้นฐานอาชีพ มันก็จะมีกรณีตัวอย่างที่น่าศึกษาหลายกรณี แต่เท่าที่ผมไปมีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงก็คือ การศึกษาเรื่องของชุมชนประมงพื้นบ้านที่บ้านตันหยงปาว อ.หนองจิก งานศึกษาตรงนี้เราก็ได้ทำการศึกษาร่วมกับชาวบ้านและนักพัฒนาเอกชน ใช้เวลาประมาณ ปีครึ่งถึงสองปี

ข้อค้นพบที่ได้จากการศึกษาคือว่า ตั้งแต่ปี 2510 เศษ ๆ หลังการพัฒนาไม่นาน ชาวบ้านเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่คือเห็นถึงการมีการใช้เครื่องมือประมงบางอย่างเข้าไปในพื้นที่ โดยคนนอกหรือนายทุนจากในเมือง มีการใช้เครื่องมือเรืออวนลุน นึกภาพออกไหม คือให้เรานึกถึงรถแทรกเตอร์ เวลาทำมันก็จะไถเข้าไป มันเป็นการทำประมงที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก คืนหนึ่งอาจจะมีรายได้เป็นหมื่น ๆ หรือเป็นแสนบาท เพราะสัตว์น้ำที่เขาจับกันเป็นกุ้งราคากิโลประมาณ 3-4 ร้อยบาท ถ้าพันกิโลก็เท่าไหร่ สองพันกิโลก็เท่าไหร่

ปรากฏการณ์นั้นเริ่มเห็นในพื้นที่ ถามว่าการใช้เครื่องมือประมงที่มีขีดความสามารถในการจับสัตว์น้ำสูงไม่แยกประเภท ทำลายทรัพยากรด้านอื่นไปด้วยนั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไร? คำตอบก็คือมันเกิดภายใต้นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐที่อยากจะให้เราจับสัตว์น้ำได้เยอะ ๆ ส่งขายได้เยอะ ๆ ได้มีเงินเยอะ ๆ ก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปกติ ไม่ได้เป็นความเสียหายหรือเป็นความชั่วร้าย ก็มีการส่งเสริมและขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก และมันก็ส่งผลให้เกิดการทำลายทรัพยากร การแพร่กระจายของกลุ่มทุนในลักษณะนี้มันยังไปส่งผลกับชาวบ้านด้วย

ในหมู่บ้านที่เราไปศึกษา ชาวบ้านบางส่วนก็หันไปทำอวนลุนด้วย แต่ทำเล็ก ๆ ตามภาษาตามความสามารถที่ทำได้ จนต้องเกิดการซึ่งเรียกว่ากดดันกันภายในชุมชน จนสุดท้ายคนที่ทำอวนลุนก็ต้องอยู่ในหมู่บ้านไม่ได้ ต้องอพยพย้ายถิ่นออกไป การกดดันก็คือการไม่คบหาด้วย ไม่ติดต่อ ไม่สัมพันธ์ ต้องออกไป แต่บางหมู่บ้านที่ไม่เข้มแข็ง เช่น หมู่บ้านลูซามีแล ใกล้ มอ. เขาเปลี่ยนทั้งหมู่บ้านเลย นั่นคือรูปธรรมของการเข้ามาของทุน คือนอกจากทำลายทรัพยากร ผมว่ามันเข้าไปเปลี่ยนวิธีคิดอะไรบางอย่างของชาวบ้านว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา เอาได้ต้องเอาก่อน เปลี่ยนจากรากฐานดั้งเดิมที่มองว่าการใช้ทรัพยากรนั้นจะต้องใช้อย่างคุ้มค่า คือใครจะใช้ไม่จำกัด ไม่ได้ไปหวงห้ามว่าต้องเป็นของใครหรือไม่ใช่ของใคร แต่ว่าทุกคนจะต้องนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า สภาพเหล่านี้มันค่อย ๆ รุนแรงขึ้น

ถามว่าภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ในพื้นที่ที่เราไปศึกษา ชาวบ้านเขาจัดการอย่างไร คำตอบที่ง่ายที่สุด เขาใช้ความรุนแรง ระยะแรกเขาบอกว่าเขาไปตัดต้นมะพร้าว ตัดมาเป็นท่อน ๆ และก็เอาตะปู 3 นิ้ว 6 นิ้ว ตอก ๆ เขาเรียกว่าทำทุ่นระเบิด และพอเรืออวนลุนออกมาหากิน เขาก็จะเอาเรือหางยาวของเขาซึ่งมันเร็วกว่า คล่องตัวกว่าวิ่งโฉบเข้าไป และก็โยนใส่ถุงอวน ทำให้ถุงอวนขาด แต่เขาบอกว่าทำแบบนี้ก็ทำจนเหนื่อย และพอขาดเขาก็เปลี่ยนใหม่ เขามีกำลังทรัพย์มากกว่า ก็แก้ปัญหาไม่ได้ สุดท้ายก็ไปจับตัวมาเรียกค่าไถ่ เขาบอกตรง ๆ ว่าเขาไปติดต่อกับผู้ร้ายหรือกับโจร ออกไปเรียกค่าไถ่จับมาเลย ปรากฏว่าก็ไม่ดีเพราะว่ามันเริ่มมีอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านก็รู้สึกไม่สบายใจ เจ้าหน้าที่ก็เพ่งเล็ง การจับตัวมาเรียกค่าไถ่ พอได้เงินมันก็เรื่องของผลประโยชน์ ความขัดแย้ง สุดท้ายวิธีนี้ก็เลิก

ต่อไปก็คือออกไปไล่ยิงตามชายฝั่งก็ยิงไม่ไหว เพราะเรือมาก็ไม่ใช่มาลำสองลำ ทุนก็เยอะ บางทีก็ไปจับเขามา ชาวบ้านบอกว่าเอามาตัดหูทิ้ง นี่ก็เป็นเรื่องเล่าของเขา คิดว่าคงเป็นความจริง ถามว่าทำไมตัดหู เขาบอกว่าพูดแล้วไม่ฟัง แต่ก็ไม่สำเร็จนะครับ ถามว่าทำไม เขาบอกว่าคนที่เขาตัดก็เป็นลูกจ้าง บางทีเป็นแรงงานจากอีสาน เถ้าแก่หูก็ยังมีอยู่ นั่นคือตัวอย่าง ซึ่งผมกับชาวบ้านได้ประสบได้เรียนรู้วิธีการจัดการกับปัญหาในแง่มุมต่าง ๆ

สุดท้ายก็ถามว่าทำยังไง เขาก็บอกว่ามีนักพัฒนา มีนักวิชาการเข้าไปคุย และสิ่งที่เขาพยายามทำหลังจากนั้นคือเปลี่ยนวิธีคิดของสังคม เริ่มจากการชวนกันทำ"ซั้ง" คือเอาใบมะพร้าวมามัด ๆ และถ่วงลงไปในน้ำ และมีกระสอบเล็ก ๆ กระสอบประมาณ 50 กิโล ใส่ถุงทรายดึงเอาไว้กับ ผูกกับไม้ไผ่ ทำเป็นซั้ง ซึ่งซั้งเป็นภูมิปัญญาโบราณ คือคนสมัยก่อนเวลาเขาจะจับปลาเขาต้องทำเครื่องล่อ ให้ปลามันมาอยู่ ใบมะพร้าวนี่ปลาชอบกิน เขาบอกว่าใบมะพร้าว ปลาหลังเขียวชอบกิน พอปลาหลังเขียวกินมันก็ดึงห่วงโซ่อาหารทั้งปลาเล็กปลาใหญ่เข้ามากินเป็นพรวนแล้วก็สามารถสามารถไปวางอวน ไปตกเบ็ด เขาก็เริ่มทำซั้งเพื่อจะบอกให้คนนอกรู้ว่าชาวประมงพื้นบ้านนั้น เป็นคน, มีความคิด, มีภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากร, และเขาหวงแหนสิ่งเหล่านี้

นอกจากการทำตรงนี้แล้วยังมีการเชิญหน่วยงานต่าง ๆ ไปพบปะสัมพันธ์ ก็เกิดความรู้จัก เกิดความเป็นเพื่อน เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น เขาทำได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ถามว่า"ซั้ง"หยุดเรืออวนลุนได้ไหม? คำตอบคือ ไม่ได้ มันก็ยังเข้ามาอยู่ แต่ว่าสังคมเริ่มเข้าใจแล้วว่า ชาวประมงพื้นบ้านมีจริงนะ ก็มีรูปธรรมอันหนึ่ง ซึ่งผมว่าน่าสนใจมากก็คือ ชาวบ้านเคยไปหาปลัดอำเภอ บอกว่าเขาเป็นชาวประมงพื้นบ้านและยากจน ปลัดอำเภอคนนี้ไม่เชื่อว่าชาวประมงคนนี้ยากจน เพราะชาวประมงที่เขาเห็นเป็นเถ้าแก่ทั้งนั้น

เพราะปัตตานีเป็นเมืองท่า เมืองประมง สิ่งที่เขาเคยสัมผัส ก็ชาวประมงที่มีสตางค์ทั้งนั้น ยังไม่รู้ว่ามีคนอีกส่วนหนึ่งเรียกว่าประมงพื้นบ้านที่ยากจนอยู่ นั่นคือสิ่งที่มันเกิดขึ้นหลงจากเริ่มเปลี่ยนแนวต่อสู้ ติดต่อสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ ประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ มากขึ้น และตอนหลังก็ลุกคืบจนถึงขนาด ทำเป็นโครงการวิจัย เอานักวิชาการไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ผลักดันการออกกฎหมาย ซึ่งก็ทำมาหมดแล้ว และก็มีการติดต่อร่วมกับสมัชชาคนจนผลักดันเรื่องโครงการนำร่อง ได้เรือตรวจ ก็สู้มาตลอด

แต่ถามว่า ณ วันนี้เป็นยังไง ปัญหายังมีอยู่ มีกฎหมายแล้ว มีเรือตรวจแล้ว มีความพร้อมแล้ว ปัญหายังมีอยู่ เพียงแต่มันลดระดับความรุนแรงลง แล้วจำกัดขอบเขตได้บางพื้นที่ ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นในบางพื้นที่และเลวในบางพื้นที่ นั่นคือภาพที่เห็น การเข้ามาของทุนซึ่งข้อวิเคราะห์ของผมก็คือว่า การเข้ามาของทุนมันทำงานได้อย่างประสิทธิภาพ ด้วยเงื่อนไขอะไร? ผมก็อธิบายว่าด้วยเงื่อนไข 2 อย่าง

1. ระบบความรู้ ที่เราเรียกว่าการพัฒนา เราดีใจมาก ผมว่านักวิชาการทางด้านประมง ด้านต่าง ๆ ก็ดีใจว่าเราส่งออก เรามีสัตว์น้ำ เรามีรายได้สูง อันนี้คือระบบความรู้ที่มันทำงานผ่านสถาบันการศึกษา และจากสถาบันการศึกษามันก็ถ่ายทอดไปสู่ข้าราชการ ระบบราชการ เป็นแผนงานโครงการต่าง ๆ และมันเข้าไปสร้างความชอบธรรมให้กับการจัดการทรัพยากรในรูปแบบนั้น โดยละเลยอีกส่วนหนึ่งโดยสิ้นเชิง

2. ผมคิดว่ามันทำงานผ่านสิ่งที่เราเรียกว่าการพัฒนา ซึ่งทุกคนมีเจตนาที่ดีแต่ว่ามองไม่รอบด้านขาดข้อมูลความรู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ่งในมิติของชุมชน ทำให้การพัฒนามันเหมือนกับคนขาเป๋ มันกระโผกกระเผก มันไปก็ไม่ได้ อยู่ก็ลำบาก ผลกระทบเชื่อมโยงกันไปหมด

นั่นคือคำอธิบายเกี่ยวกับการเข้ามาของทุน จริง ๆ มันมีหลายกรณีแต่ว่าผมไม่มีข้อมูลและความรู้พอจะอธิบาย ผมว่ากรณีป่า กรณีการจัดการทรัพยากรอีกหลายอย่างก็เป็นเรื่องราวเหล่านี้ และมีตัวอย่างเล็ก ๆ ผมเห็นบันทึกบอกเล่าเรื่องของการทำนาเกลือ นาเกลือที่ปัตตานีเป็นนาเกลือที่ยิ่งใหญ่มาก ส่งออกไปต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ โปตุเกตุ สมัยก่อนใช้เกลือปัตตานีทั้งนั้น แต่ว่าปัจจุบันอาชีพนาเกลือนี้กำลังหมดไป นาเกลือหมดไปเพราะอะไร?

นาเกลือหมดไปเพราะถนน พอมีถนนเข้ามามันเกิดการบุกเบิกและก็เปิดพื้นที่ใหม่ พอถนนเข้าไปสิ่งที่ตามมาก็คือ นากุ้ง นากุ้งเข้าแย่งพื้นที่นาเกลือ นากุ้งท่านคงเข้าใจนะครับ มีทุนมากกว่า มีกำลังมากกว่า มันก็เข้าไปกลบและลดพื้นที่ของนาเกลือลงไปเรื่อย ๆ ขณะนี้นาเกลือก็ยังทำอยู่ แต่ว่าทำอยู่ในขอบเขตจำกัด อันนี้ก็คือป็นอีกรูปธรรมหนึ่งของการเข้ามาของทุนภายนอก ซึ่งมันผ่านนโยบายการพัฒนา ผ่านระบบคิดอะไรต่าง ๆ อันนี้อาจจะใช้เวลานิดหนึ่งเพราะเป็นเรื่องเล่าฟังเพลิน ๆ

ต่อไปเป็นความพยายามที่จะ ผมใช้คำว่าวิเคราะห์ พยายามแยกแยะเนื้อหาประเด็นที่มันร่วม ๆ กันมารวมกัน ผมก็บอกว่าถ้าเราจะเข้าใจนโยบายพัฒนาของไทยต่อชาวมลายู 3 จังหวัด ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจ 2 ด้าน ซึ่งผมคิดว่ายังเป็นปมที่ยังคลายไม่ออก คือ คำว่าการยึดครอง ณ วันนี้ก็ยังใช่อยู่ โดยเฉพาะมีสถานการณ์ความรุนแรงเข้ามา วิธีคิดก็คือว่าทำอย่างไรที่จะเข้าไปยึดครองพื้นที่เหล่านี้ได้ ให้เกิดความสงบ แต่มันไม่ได้เปิดพื้นที่อีกด้านหนึ่งให้กับคนท้องถิ่น เหมือนที่ผมเล่าให้ฟัง เหมือนที่ผ่านมาวันรอยอยังดีที่ 3-4 จังหวัดนั้นเป็นวันหยุด แต่ก็มีข้าราชการหลายหน่วยงานก็บ่นว่าทำไมต้องไปหยุดเฉพาะพื้นที่ ผมว่านี่คือวิธีคิดของการยึดครอง

คือพอเราเข้าไปแล้วเราอยากให้ทุกอย่างมันเหมือนกันหมด เด็กมุสลิมทำไมต้องใส่ขายาวมาโรงเรียน เดี๋ยวนี้ดีขึ้นนะครับ เพราะเมื่อก่อนพอเห็นใส่ขายาวก็รู้สึกยอมรับไม่ได้ ที่จริงเขาก็บอกว่าเขาไม่อยากโชว์ขาอ่อน มันเป็นการที่แต่งกายไม่สุภาพตามหลักศาสนา คือเด็กมุสลิมทำไมต้องคุมฮิญาบ เขาก็บอกว่าเขาต้องปฏิบัติตามหลักศาสนา และมีคำถามว่าทำไมเมื่อก่อนไม่ทำ เขาบอกว่าเมื่อก่อนเขาไม่รู้ แต่เดี๋ยวนี้เขารู้แล้วเขาต้องทำ ผมว่าวิธีคิดเหล่านี้มันตั้งอยู่บนฐานคิดของการยึดครอง คือว่า คุณต้องเหมือนเราทุกอย่าง ถ้าเราแก้ปมตรงนี้ได้ จะคลายเงื่อนไขของความรุนแรงได้มาก

การเคารพความต่างอะไรต่าง ๆ อีกอันที่น่าสนใจคือ ในช่วงของเดือนรอมอดอนในปีที่ผ่านมา ปกติรอมอดอนก็รอมอดอนไป ก็ไม่มีใครสนใจอะไรเท่าไหร่ แต่ในพื้นที่อาจจะตระหนักนิดหนึ่ง ข้าราชการหน่วยงานต่าง ๆ ก็เข้าใจ ออกไปเยี่ยมเยียนพบปะประชาชน แต่ว่ารูปธรรมอันหนึ่งซึ่งเห็นในปีที่แล้วก็คือ มีข้อเสนอบอกว่ารอมอดอน ช่วงละหมดตอนเย็นให้มีการออกวิทยุโทรทัศน์การเชิญชวนให้ประชาชนไปละหมาด ชาวบ้านเรียกอาซาน ก็ปรากฏว่าออกมาทางทีวี และเป็นภาพที่ดีมาก คำว่าดีก็คือ ดีสำหรับคนในพื้นที่ อาจจะไม่ดีสำหรับคนนอกพื้นที่ พอ 6 โมงเย็นเราจะได้เห็นทีวีออก มีการอาซานเชิญชวนให้คนไปละหมาดเป็นภาษาอาหรับและก็มีคำแปลเป็นภาษาไทย ถ้าอ่านคำแปลก็เป็นเรื่องที่ดี ๆ ทั้งสิ้น

และผมสังเกตเวลาที่ผมคุยกับเพื่อนหลายคน คนที่เป็นมุสลิมเขาก็รู้สึกภูมิใจ เออดี..น่าจะมีนาน ๆ เยอะ ๆ จะได้เคารพต่อกันและกัน ได้เข้าใจความต่างที่ไม่เป็นความเหมือน แต่เสียดายเมื่อพ้นรอมอดอน รายการนี้ก็หายวับไปเลย ไม่ปรากฏอีกแล้ว ผมว่าทั้งหมดอยู่ภายใต้การยึดครอง คือคุณต้องเหมือนเรา ถ้าเราแก้ตรงนี้ได้ผมว่าแก้อะไรได้เยอะ

ประเด็นต่อมาคือ"การพัฒนา" ผมเห็นด้วยกับงานวิจัยที่เขาบอกว่า การพัฒนานั้นละเลยปัญหาที่แท้จริงของประชาชน แต่พยายามใช้การพัฒนาเป็นเครื่องมือเพื่อยึดครอง และสร้างปัญหาขัดขาตัวเองมาโดยตลอด ท่านคงเห็นหลาย ๆ อย่างเมื่อช่วงเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ก็มีการเอาเด็ก เยาวชนมาดูงานเชียงใหม่ มาเที่ยว ถามว่ามีประโยชน์รึเปล่า คำตอบคือมันคงไม่มีเท่าไหร่ ในแง่ของการที่จะสร้างความเข้าใจ สร้างความเคารพต่าง ๆ ด้วยกัน

อีกอันหนึ่งก็คือ พอพูดถึงการพัฒนา ผมเองยังมีความเชื่อนะครับว่า การพัฒนาที่นั่นจะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดสรร เพื่อจะตอบคำถามว่าใครได้ประโยชน์จากทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ และจริง ๆ คำที่ชัดที่สุดคือ การจัดสรรทรัพยากรบนพื้นฐานของวิธีคิดเศรษฐกิจพอเพียง ผมว่าอันนี้ชัดที่สุด ไม่ว่าจะเป็นชายฝั่งสำหรับประมง พื้นที่ป่าพลุสำหรับชาวบ้านที่อยู่ที่ราบที่นาภูเขาต่าง ๆ การจัดสรรทรัพยากรเหล่านี้ มันจะต้องดูเป็นพิเศษในพื้นที่เหล่านั้น ใน 2 มิติ คือคำว่าพอเพียงไม่ได้แปลว่าไม่ทำอะไร แต่ผมใช้คำว่าพอเพียงคือ มันจะเป็นเกราะคุ้มกันที่ป้องกันไม่ให้เกิดการล้างผลาญทรัพยากรจนน่ากลัวจนเกินไป

เมื่อเช้าผมนั่งผ่านผมก็เพิ่งเห็นไนท์ซาฟารีเชียงใหม่ ผมว่าอันนี้ก็น่ากลัว เพราะว่ามันก็คือวิธีพัฒนาการเข้ามาครอบงำทรัพยากรอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์แบบของกลุ่มทุน เราไม่อยากเห็นสภาพเหล่านี้เกิดในชายแดนใต้ ผมคิดว่าวิธีที่เสนอของผมก็คือว่า การจัดสรรทรัพยากรภายใต้ของเขตของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะมันจะป้องกันทุนไม่ให้เข้าไป มันจะถูกจำกัดด้วยขนาดของมัน และก็น่าจะจัดสรรการกระจายตัวที่ดีกว่า

อีกด้านหนึ่งก็คือการจัดสรรทรัพยากรที่เคารพต่อหลักความเชื่อหรือฐานคิด อะไรบางอย่างของคนในท้องถิ่น เช่น ถ้าจะจัดสรรทรัพยากรประมง คือคุณจะทำอะไรก็ทำไป แต่ให้ใช้อย่างคุ้มค่าเท่านั้น อย่ากอบโกย ตัวอย่างเช่นจะมีการทำซีฟู๊ดแบงค์ ซึ่งคนก็ต่อต้านเยอะ แต่พอเราไปดูในพื้นที่ก็คิดว่ายังพอมีความหวังเพราะว่า

1. ไม่มีการเร่งรัดให้ทำเรื่องนี้จนเกินไป โดยเฉพาะทางฝ่ายประมง เขาเข้าใจและก็พยายามชะลอเรื่องนี้อยู่

2. มีการเข้าไปปรึกษาหารือกับชุมชนบ้างว่า ถ้าต้องทำจะทำอย่างไร คือถ้าต้องทำเพราะว่ารัฐบาลสั่ง ก็ไปถามชาวบ้านว่าต้องทำอย่างไร ชาวบ้านก็บอกว่าถ้าจะต้องทำเนี่ย การทำซีฟู๊ดแบงค์ อย่าให้กับคนแต่ให้กับกลุ่ม และเป็นกลุ่มที่มีหลักฐานรองรับที่น่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง มันก็จะลดผลกระทบไปได้

การจัดสรรทรัพยากรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ผมมีความพยายามจะศึกษาเบื้องต้นง่าย ๆ ในพื้นที่สีแดงที่กอสสส. ระบุว่าเป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐและก็มีกลุ่มใช้ความรุนแรง มันอยู่ตรงไหนบ้าง เราก็ได้ข้อมูลเบื้องต้นแต่ยังไม่ลงลึกถึงระดับหมู่บ้าน เป็นระดับขอบเขตอำเภอ ก็พบว่าในพื้นที่ชายฝั่งซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาความยากจนสูง 46 % โดยประมาณ เป็นพื้นที่สีแดง

และอีกอันที่น่าสนใจก็คือเขาเรียกเขตอุทยานแห่งชาติบูโดปาดี ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่สั่งสมมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2542 เดิมที่นั่นเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2508 ทุกคนก็เข้าใจและยอมรับ แต่วันดีคืนดี กรมป่าไม้คุณปลอดประสพ ก็ประกาศจะเพิ่มพื้นที่ป่า ก็ประกาศให้พื้นที่บูโดปาดี เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และมันก็สร้างปัญหา พอเป็นเขตอุทยานแล้วชาวบ้านมักจะเข้าไปตัดยางไม่ได้ ไปเก็บทุเรียนก็ไม่ได้ เก็บสะตอก็ไม่ได้ ไปเลี้ยงวัวก็ไม่ได้ กระทบไปหมด ทั้งที่ในความจริง มันมีการใช้ประโยชน์อยู่ในนั้นอยู่แล้ว

ยังดีที่ตอนหลังมีมติ ครม.ผ่อนปรนให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้ แต่ห้ามตัดโค่น ปัญหามันก็เลยคาราคาซังมาโดยตลอด แต่พอเราไปศึกษาข้อมูลเราพบว่าพื้นที่บูโดปาดีนี้ 56 % เป็นพื้นที่สีแดง และเป็นเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือปัตตานี ยะลา นราธิวาส เจาะไอร้อง สุไหงปาดี ระแง๊ะ บาเจาะ ลามัน กะพ้อ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวสูงอยู่ในเขตอุทยานทั้งนั้นเลย ผมว่าอันนี้อาจจะเป็นความเชื่อมโยงบางอย่างกับความที่คนเขารู้สึกว่า ทรัพยากรของเขาที่เขาใช้มาแต่เดิมถูกอำนาจรัฐเข้าไปยึดครอง และเกิดความรู้สึกต่อต้าน ซึ่งอาจจะมีเงื่อนไขอื่นอีกก็ได้ ผมไม่เชื่อว่าเงื่อนไขอุทยานจะเป็นเงื่อนไขเดียวเท่านั้น คงมีเงื่อนไขอื่น

แต่ว่าถ้าเราต้องการถอดสลักความรุนแรง บางทีการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมยิ่งกว่านี้อาจจะช่วยลดความชิงชัง ความเครียดแค้น ด้วยการใช้ความรุนแรงต่อกันและกันระดับหนึ่ง นี่ก็เป็นข้อวิเคราะห์นโยบาย ต่อไปเป็นการตอบสนอง การตอบสนองผมเห็น 2 ด้าน อย่างที่อาจารย์แนะนำไปคือการปรับตัว เราก็จะเห็นคนมุสลิมส่วนหนึ่งก็ปรับตัวเข้าสู่ระบบผ่านการศึกษา ผ่านสถานภาพด้านต่าง ๆ ก็เริ่มปรับตัวเข้าสู่ระบบมากขึ้น ทำการค้าขาย ตั้งบริษัทห้างร้าน ทำธุรกิจบริการต่าง ๆ ก็เริ่มทำได้ระดับหนึ่ง แต่ยังเป็นคนส่วนน้อย อีกส่วนหนึ่งเราใช้คำว่าต่อต้าน การต่อต้านนั้นผมคิดว่ามี 2 แบบที่เราเห็นในพื้นที่ คือ

1. ย้ายถิ่น ผมมีตัวเลขที่ประมาณการเบื้องต้นว่ามีคนใน 3 จังหวัดต้องอพยพทิ้งถิ่นตามฤดูกาล อาจจะไม่ใช่ฤดูกาลแบบทางเหนือ ที่ว่าหลังหน้านาก็เข้าเมือง แต่ของเขาฤดูกาลคือไปยาว การย้ายถิ่นมีการไปทำร้านอาหารเราเรียกว่าร้านต้มยำกุ้ง อันนี้มีตัวเลขโดยประมาณซึ่งสอบถามจากคนที่ไปจริงเขาบอกว่า ทั้งในมาเลเซียมีประมาณ 35,000 กว่าร้าน แต่เราอย่านึกว่าเป็นร้านแบบที่เราเห็น อาจจะเป็นรถเข็น แผงลอย ร้านในซอกมุมเล็ก ๆ หรือว่าอาจเป็นร้านโดยทั่วไปกระจายตัวอยู่เต็มในประเทศมาเลเซีย

ถ้าประมาณว่าร้านหนึ่งมีคนที่เป็นแรงงานจากประเทศไทยประมาณ 3-4 คน มันก็จะมีคนประมาณ แสนกว่าคนที่อพยพทิ้งถิ่นและก็ไปยังชีพอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ก็ไปเป็นแรงงานอื่น ๆ เช่น แรงงานตัดยาง แรงงานประมง หรือแรงงานอื่น ๆ ในประเทศมาเลเซีย ผมว่านี่คือการต่อต้าน ก็คือการย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่นไปเลย มีคนถามว่าทำไมไม่อยู่ เขาบอกว่าอยู่ก็ไม่รู้จะทำอะไร อยู่ก็อดตาย ก็ต้องไปที่โน่น ปัญหาก็แก้ไม่ได้

กรณีประมงจะเห็นได้ชัดเพราะว่า หมู่บ้านประมงส่วนใหญ่เป็นคนส่วนใหญ่ที่ต้องทิ้งถิ่นไปอยู่มาเลเซีย แต่ข้อพิสูจน์อันหนึ่งคือ ในบางหมู่บ้านพอทรัพยากรเริ่มฟื้นตัว เราจะเห็นการกลับมาของคน ผมมีหลักฐานที่ขอยืนยัน เคยมีคนถามว่าคนไทยที่ไปมาเลเซียรักประเทศไทยรึเปล่า คำตอบคือรักและก็รักมากด้วย เวลาเขาอธิบายตัวเองกับคนอื่นในมาเลเซีย เขาจะบอกว่าเขาเป็นคนไทยแลนด์ เขาไม่ได้บอกว่าเขาเป็นมลายู ลาเลย์ ไม่ใช่... นี่คือสิ่งที่ยืนยันว่าเขาก็ยังเป็นคนไทยอยู่ เพียงแต่มีความต่างในเรื่องชาติพันธุ์และศาสนากับเราเท่านั้น

เพียงแต่ว่าประเทศของเราไม่ได้ให้โอกาสที่เขาจะประกอบอาชีพทำมาหากินได้เท่านั้น เขาถึงต้องไป แต่ความผูกพัน ความรักครอบครัว รักท้องถิ่นของเขายังมีอยู่เยอะมาก และเมื่อไหร่ที่พื้นที่ทางบ้านเราเริ่มเปิดโอกาสให้เขากลับมาทำมาหากินได้ เขาก็จะกลับมา

2. อีกอันหนึ่งก็คือกลุ่มใช้ความรุนแรง จริง ๆ ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นข้อที่จะต้องแยกแยะให้ดี ผมเชื่อว่ากลุ่มใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่ที่ต่อต้านอำนาจรัฐนั้น ไม่ได้ต่อต้านภายใต้เงื่อนไขการถูกขูดรีดหรือข่มเหงในทางเศรษฐกิจหรือการใช้ทรัพยากร แต่เชื่อว่าแรงจูงใจที่สำคัญที่สุด ก็คือรู้สึกว่าชาติพันธุ์ ศาสนา หรืออัตลักษณ์ความเป็นมลายูของตัวเองกำลังจะถูกทำลาย เชื่อว่าตรงนี้เป็นแรงจูงใจที่สำคัญกว่า ในพื้นที่มีคำขวัญที่พูดมานานแล้ว ว่ามลายูอิสลามปัตตานี เป็นคำขวัญที่เขาเข้าไปปลุกใจหรือปลุกระดมคนหนุ่มคนสาวให้ลุกขึ้นมาต่อต้านและก็ใช้ความรุนแรงเหมือนที่เราเห็นอยู่ แต่ผมยังเชื่อว่าความไม่เป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรหรือการพัฒนาเป็นเหมือนกับเชื้อเพลิง เหมือนไฟสุมขอน คือมันจะติดไฟจะลุกโชนอยู่ตลอดเวลา และความรู้สึกที่ศาสนาถูกทำลาย อัตลักษณ์ถูกทำลาย ก็เหมือนกับน้ำมันที่ราดลงไป มันก็จะลุกขึ้นมาอย่างรุนแรง

ถ้าเราต้องการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน นอกจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เน้นความมั่นคงแล้ว ผมคิดว่าความตระหนักอย่างหนักแน่นถึงเรื่องของทรัพยากร เรื่องของการพัฒนาที่พอเพียงและเป็นธรรม เรื่องของการให้โอกาสในชีวิตกับคนทุกคน ผมเชื่อว่ายังเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่สำหรับพื้นที่ขณะนี้ ผมไม่อยากเห็นการมองมิติของการแก้ไขปัญหาโดยใช้กำลังเท่านั้น คือเรายอมรับขณะนี้ว่าการใช้กำลังเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่เปลี่ยนนิดเดียวว่าต้องใช้กำลังเพื่อรักษาชีวิตของผู้บริสุทธิ์หรือของประชาชน และขณะเดียวกันเรื่องอื่นก็ต้องทำไปด้วยถึงจะแก้ปัญหาได้อย่างถึงรากฐานจริง ๆ

เพราะขณะนี้เรียนว่าผมในฐานะคนปัตตานี เฝ้ามองเหตุการณ์ด้วยความเป็นห่วงเมื่อมีคนถามผมว่า ปัญหาความรุนแรงหยุดได้ไหม ผมบอกว่าหยุดได้และเชื่อว่าหยุดได้จริง แต่มันจะจริงระดับไหน เช่น หยุดการฆ่ารายวัน อาจจะใช้เวลา 1 ปีหรือ 2 ปี หยุดได้ จับกุมกวาดล้างก็ว่ากันไป แต่ว่าเชื้อของปัญหาจะดำรงอยู่ถ้าเราไม่ทำด้านอื่น โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากร เรื่องการพัฒนา เรื่องอัตลักษณ์ นี่ก็ขึ้นกับสังคมไทยว่าเราต้องการจัดการกับปัญหาในระดับใด

ถ้าเราติดตามทางสื่อ ผมคิดว่าเราจะพอใจกับการแก้ปัญหาระดับผิวเผินหรือผิวหน้าเท่านั้น คือ 2-3 วัน ถ้าไม่มีการฆ่ารายวันก็รู้สึกสบายใจ และพอใจแล้ว ทีจริงมันไม่ใช่ มันคงจะมีเรื่องวุ่นต่าง ๆ เกิดขึ้นมาอีก และปัจจุบันเราต้องยอมรับ ผมใช้คำว่าพลวัตคือการปรับเปลี่ยนอะไรต่าง ๆ ซึ่งมันเปลี่ยนแปลงได้เร็วมาก ของความคิด ของการใช้ความรุนแรงต่าง ๆ ซึ่งมันแพร่กระจายได้เร็วและก็ที่แย่ที่สุดก็คือว่าเมื่อมีการใช้ความรุนแรง คนที่ได้รับผลกระทบมักจะเป็นคนบริสุทธิ์อยู่เสมอ ทั้งหมดก็ไม่รู้จะตรงหรือไม่ ชาวมลายูภายใต้การพัฒนาของรัฐไทย ที่พยายามอธิบาย คือกลุ่มใช้ความรุนแรงก็ผิด ผิดแน่นอน ในขณะเดียวกันความพยายามในการแก้ปัญหาของรัฐก็ผิด อาจจะถูกบ้างในบางเรื่องแต่ส่วนใหญ่ก็ยังผิดอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของคำว่าการพัฒนา ก็คงแลกเปลี่ยนในเบื้องต้นเพียงเท่านี้ หลังจากนี้อยากจะใช้เวลาส่วนใหญ่จากการตั้งคำถามการพูดคุยมากกว่า


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
070349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ทุนของรัฐที่ได้รับประโยชน์จากภายใต้กรอบคิดของการพัฒนา เช่น ระบบสัมปทานทั้งหลาย คือถ้าท่านดูแผนที่ ดูสภาพภูมิประเทศจะเห็นได้ชัดเจนว่า ในชายแดนใต้อุดมสมบูรณ์มาก ๆ มีภูเขา ป่าดงดิบบาราฮารา มีพลุ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีความสลับซ้อนของระบบนิเวศมาก ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีชายฝั่งที่ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ เคยมีนักวิชาการซึ่งเป็นนักสมุทรศาสตร์จากเนเธอร์แลนด์ เขามาศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ที่อ่าวปัตตานีตั้งแต่ปี 2516 เขาพิสูจน์ชัดเจนว่าอ่าวปัตตานีเป็นอ่าวที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก

The Midnightuniv website 2006