นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



อันเนื่องมาจากอำนาจที่ไร้ความชอบธรรม
การชุมนุมเป็นบ่อเกิดประชาธิปไตย
ความอิจฉาเป็นบ่อเกิดความเสมอภาค

ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ

เดช พุ่มคชา

หมายเหตุ
บทสัมภาษณ์และจดหมายบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากประชาไทออนไลน์และจดหมายอิเล็คทรอนิค
ที่ส่งถึงกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เป็นการสะท้อนถึงสถานการณ์การเมืองไทยระหว่างวันที่ ๔ -๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
จากวุฒิสมาชิก นักวิชาการ และนักพัฒนาองค์กรภาคประชาชน เอาไว้อย่างน่าสนใจ

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 836
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 14.5 หน้ากระดาษ A4)




การชุมนุมเป็นบ่อเกิดประชาธิปไตย
ความอิจฉาเป็นบ่อเกิดความเสมอภาค
บทสัมภาษณ์สะท้อนความเป็นไปทางการเมืองของสังคมไทย
ช่วงระหว่างวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ประกอบด้วย

๑. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง : การชุมนุมเป็นวิธีการในรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย
๒. เกษียร เตชะพีระ : ความอิจฉาเป็นบ่อเกิดแห่งความเสมอภาค
๓. เดช พุ่มคชา : กระซิบจากแม่ (จดหมายจากแม่ถึงลูก)


๑. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง : การชุมนุมเป็นวิธีการในรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย
ขณะนี้ ประชาชนทั่วประเทศเริ่มมีความตื่นตัวทางการเมือง ทั้งนิสิตนักศึกษาและเหล่าคณาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัย ก็มีการเคลื่อนไหว กล้าแสดงออกและมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจริงจัง
ผู้ที่มีหัวใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ย่อมจะมองความตื่นตัวของประชาชนในลักษณะนี้ว่า เป็นนิมิตหมายอันดี เพราะหากเชื่อว่า 'เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์' ก็หมายความว่า ในขณะนี้ สวรรค์กำลังจะเปิด ความมืดมิดกำลังจะหายไป และปีศาจร้ายกำลังจะถูกกระชากหน้ากาก

น่าเศร้าใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนักการเมืองในพรรครัฐบาลหลายคน กำลังพยายามสร้างความสับสนให้แก่สังคม บิดเบือนหลักการประชาธิปไตย เพื่อหวังเอาตัวรอด โดยใส่ร้ายบิดเบือนอยู่บ่อยครั้งว่า การเคลื่อนไหวของประชาชน โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วงรัฐบาล เป็นการเล่นนอกกติกา เล่นนอกเกม เป็นพวกไม่รู้แพ้รู้ชนะ เป็นการเมืองนอกระบบประชาธิปไตย

วิธีคิดแบบนี้จะมีผลเลวร้ายอย่างไร, ทำไมประชาชนต้องชุมนุมประท้วง?
ไม่แปลกใจว่า คนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะไม่เข้าใจความรู้สึกหรือจิตวิญญาณของคนที่รักและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพ และการได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยของบ้านเมือง เพราะไม่เคยมีบทบาทในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้ปรากฏมาก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 หรือ พฤษภาทมิฬปี 35 ถึงเป็นนายตำรวจก็ไม่เคยออกสนาม ไม่เคยถือปืนเดินเข้าสู่สมรภูมิ แต่ผลงานชีวิตที่เด่นชัดกลับเป็นการวิ่งเต้นขอสัมปทานผูกขาด ทำมาหากินในธุรกิจส่วนตัว

น่าแปลกใจ คนรอบข้างที่รับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น นพ.พรหมมินทร์ - นพ.สุรพงษ์ -จาตุรนต์ -และคนที่เคยมีอุดมการณ์ เคยเอาชีวิตเข้าแลกในการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ กลับไม่แสดงออกให้เห็นถึงจิตสำนึก และระดับความลุ่มลึกของอุดมการณ์ที่ตนมีแตกต่างกับพ่อค้านักธุรกิจผูกขาดเช่น 'ทักษิณ' เหตุใด จึงยังคง 'พายเรือ' ให้เขานั่งอยู่ต่อไป ทอดทิ้งบรรดามิตรสหายและประชาชนผู้เดือดร้อนให้กรำแดดอยู่กลางป่าคอนกรีต โดยปราศจากความเหลียวแล

ผู้ที่เคยร่วมต่อสู้เพื่อส่วนรวมจะทราบว่า การชุมนุมประท้วงไม่ใช่เรื่องสนุก เพราะประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็น ค่าเดินทาง ค่าเสียเวลาการทำงาน ค่าสุขภาพ ค่าความเสี่ยง ฯลฯ
หากกลไกในรัฐสภาที่ประชาชนเลือกเหล่าบรรดา ส.ส. และ ส.ว.ให้เข้าทำหน้าที่แทน สามารถทำงานได้อย่างปกติ ย่อมไม่มีใครอยากจะไปเดินตากแดดบนท้องถนน
แต่เป็นเพราะความมักมากในอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่พยายามรวบรวมจำนวน ส.ส.เข้ามาไว้ในมือให้มากที่สุด ซึ่งมีทั้งการใช้วิธีซื้อ เทคโอเวอร์และควบรวมพรรคการเมือง กระทั่งสามารถปิดกั้นรัฐสภา ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบตัวนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ ผู้แทนของราษฎรในสภา ก็ถูกโซ่ตรวนจองจำให้เป็นแค่ลูกจ้างของเจ๊ใหญ่และนายหญิง ไม่สามารถเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนได้ ไม่สามารถตัดสินใจตามความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชน ทั้งโทรทัศน์วิทยุและหนังสือพิมพ์ใหญ่บางฉบับ ก็ถูกอำนาจรัฐครอบงำแทรกแซง ถูกอำนาจทุนของธุรกิจพรรคพวกรัฐบาลซื้อ และเข้าไปมีอิทธิพลเหนือการทำงาน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ ไม่มีช่องทางส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากรัฐบาล
คนที่เคยพูดแทนความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล ก็ถูกอำนาจนอกระบบรัฐธรรมนูญเด็ดหัวออกไปจากสาระบบสื่อสารมวลชนไปทีละคน

ใครที่กล้าพูด กล้าวิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ และการหาผลประโยชน์ทางธุรกิจของครอบครัว 'ทักษิณ' ก็จะถูกฟ้องร้องข่มขู่ โดยเรียกเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน หรือนักธุรกิจที่กระด้างกระเดื่องก็จะถูกสรรพากรหรือกลไกของรัฐเข้าไปคุกคามตรวจสอบ ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม จึงตกอยู่ในสภาพ 'น้ำท่วมปาก' อยากพูด แต่ก็ไม่มีช่องทางให้พูด อยากฟัง แต่ไม่มีเสียงที่ต้องการหลุดออกมาให้ได้ยิน

เมื่อไม่มีหนทางผ่านตัวแทนของประชาชนและสื่อมวลชนแล้ว ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงต้องลุกขึ้นมามีบทบาท แสดงออก และมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยตนเอง เพื่อปฏิเสธนโยบายหรือตัวบุคคลที่เห็นว่าปราศจากความชอบธรรมในการใช้อำนาจ การชุมนุมประท้วงของประชาชน มิได้มีเจตนาเพียงเพื่อจะ 'บอกกับตัวนายกรัฐมนตรี' เท่านั้น เพราะหากต้องการแค่นั้น ก็เดินขบวนไปยื่นหนังสือก็จบ

แต่การชุมนุมประท้วงของประชาชน ยังมีเจตสำคัญเพื่อ 'สื่อสารกับประชาชนในสังคม' สื่อความหมาย ความรู้สึกนึกคิด ความคิดเห็น ไปยังเพื่อนร่วมสังคมอื่นๆ ทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ การชุมนุมสาธารณะ จึงจำเป็นต้องกระทำในที่สถานที่สาธารณะ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถมองเห็น รับรู้ รับฟัง หรือตัดสินใจเดินเข้าไปร่วมได้โดยสะดวก

นอกจากนี้ ในเมื่อการชุมนุมมีเจตนาเพื่อ 'สื่อความหมาย' ดังนั้น การเลือกสถานที่ชุมนุมที่มีนัยยะ หรือเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน และสนามหลวง ต่างมีประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เรียกร้อง ประกาศธรรมและการเปลี่ยนแปลง

ลานพระบรมรูปทรงม้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จึงมักถูกเลือกเป็นสถานที่ชุมนุม เนื่องจากมีความเหมาะสม เพราะเป็นสถานที่เปิด และยังมีความหมายในการเรียกร้องขอความเป็นธรรม ต่อฝ่าละอองธุลีพระบาท

การชุมนุมเป็นวิธีการ 'ในรัฐธรรมนูญ' ตามหลักประชาธิปไตย
การแสดงออกและมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการชุมนุม เป็นวิธีการที่ถูกบัญญัติไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา ๔๔ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ จึงเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนไทยทุกคน ที่สามารถจะใช้สิทธินั้นได้ทันที โดยรัฐบาลมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน อย่างไม่อาจบ่ายเบี่ยงหลบเลี่ยงได้

ประชาชนที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ขาดจริยธรรม หมดความชอบธรรม ไม่ต้องการให้อยู่ในอำนาจต่อไป มีทางเลือกในการดำเนินการหลายวิธี ซึ่งมีทั้ง 'ในระบบ' และ 'นอกระบบ' ทั้งที่ควรส่งเสริมและไม่ควรส่งเสริม
การชุมประท้วง หรือชุมนุมเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นวิธีการ 'ในระบบ' ตามระบอบประชาธิปไตย ที่รัฐบาลสมควรจะส่งเสริมเสียด้วยซ้ำ เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดดันในสังคม เหมือนกาน้ำเดือดที่ไม่มีช่องทางให้ไอน้ำได้ระบายออก มิเช่นนั้นแล้ว สังคมไทยอาจจะต้องเตรียมป้องกันการเผชิญหน้ากับวิธีการ 'นอกระบบ' ประชาธิปไตย และนอกเหนือบรรทัดฐานทางคุณธรรมและศีลธรรมอื่นๆ ซึ่งไม่อาจยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็น การปฏิวัติล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือการลอบสังหารบุคคลสำคัญ อย่างการพลีชีพที่เกิดในต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรี จึงไม่สมควรดูถูกเหยียดหยามประชาชนที่ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ตนลาออกว่า โง่เง่า หรือปลุกปั่นสังคมให้เข้าใจผิดว่าเป็นพวกเล่นนอกกติกา แต่ควรมองประชาชนเหล่านี้ด้วยสายตาของผู้มีวุฒิภาวะ มีความละอาย และไม่ยึดติด ไม่อาฆาตมาดร้าย เพราะประชาชนเหล่านี้กำลังใช้วิธีการ 'ในระบบ'

พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะไม่เคยมีประสบการณ์ในฐานะผู้เข้าร่วมประท้วงในระบบ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีประสบการณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจบริหารจัดการกับการชุมนุมประท้วงอย่างผิดพลาดมหันต์
ไม่ว่าจะเป็น การทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุมประท้วง ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่หน้าโรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หรือที่เลวร้ายที่สุด คือ การใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุม จับกุม และขนส่งประชาชนผู้ประท้วงที่บริเวณหน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนทำให้ประชาชนตาย ถึง 85 คน!

สังคมไทยต้องจ่ายค่าบทเรียนให้กับความผิดพลาดของรัฐบาลมากมายถึงเพียงนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นเลยหรือ นายกรัฐมนตรี นั่นแหละ ที่กำลังผลักดันความขัดแย้งออกไป 'นอกระบบ'!

(ข้อมูลจากประชาไทออนไลน์)

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID
=2534&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


๒. เกษียร เตชะพีระ : ความอิจฉาเป็นบ่อเกิดแห่งความเสมอภาค
เขาให้คำจำกัดความชนชั้นกลางแบบไม่ค่อยน่าไว้วางใจเท่าไหร่ พร้อมพูดถึงความรักชาติด้วยอาการอิหลักอิเหลื่ออย่างยิ่ง แต่ในภาวะไม่เอาทักษิณ และภาพของการชุมชุมวันที่ 4 ก.พ. 49 ที่ผ่านมา ทำให้ 'ประชาไท' อดนึกถึงเขาไม่ได้

คำอธิบายของเขาคล้องจองกันไปกับท่าทีของฝ่ายองค์กรภาคประชาชนในประเด็นที่ว่า ทักษิณไม่ใช่ปัญหาประการเดียวของแผ่นดิน แต่มีอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่าทักษิณ คำอธิบายจากนั้นคือความแตกต่าง เขาไม่ได้พูดถึงระบอบทักษิณ แต่พูดถึงโลกาภิวัตน์ของเสรีนิยมใหม่ที่การแปรรูปประเทศเป็นภาวะสากลของโลก อย่างนั้นแล้ว กระบวนการขับไล่นายกฯ จะตอบปัญหานี้อย่างไร

'ประชาไท' สัมภาษณ์ รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ ในช่วง 11.00 น. ของวันที่ 8 ก.พ. 2549 ไม่กี่ชั่วโมง ก่อนหน้าสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนสำคัญของการชุมนุมวันที่ 4 ก.พ. จะประกาศเปิดทางให้องค์กรภาคประชาชนรับช่วงนำการเคลื่อนไหวขับไล่นายกฯ จึงยังมีบางส่วนของคำสัมภาษณ์ที่แสดงความห่วงใยในสถานการณ์วัน 11 ก.พ. ที่จะถึงในบริบทแบบเดิม (สนธิ vs ทักษิณ)

อนึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นคนขี้อิจฉาหรือไม่ แต่กับเงิน 73,000 ล้านที่ครอบครัวนายกฯได้จากการขายหุ้นโดยไม่ต้องเสียภาษีสักบาท คุณควรอิจฉาเอาไว้นะ เพราะเกษียร เตชะพีระบอกว่า ความอิจฉาจะนำมาซึ่งความเสมอภาค

อาจารย์เคยอธิบายเรื่องชนชั้นกลาง ที่จะเลือกเอาผู้นำที่ทำให้ตัวเองมั่นคงปลอดภัยทางเศรษฐกิจไว้ก่อน ขบวนการม็อบขับไล่นายกฯ จะไปเข้าอีหรอบเดิมไหม จะเป็นเหมือนกบเลือกนายหรือไม่
ขอพูดเป็น 3 ชั้นนะ เพราะเรื่องนี้เรื่องใหญ่
ชั้นที่หนึ่ง เรื่องกบเลือกนาย ผมคิดว่าคำพูดคำนี้มันหยุดการคิด และที่สำคัญมันสะท้อนความจริงบางอย่าง ในความหมายแบบนี้ว่า สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ถ้า

1. มันนำไปสู่การสูญเสียชีวิตจากความขัดแย้งครั้งนี้
2. ได้แค่เปลี่ยนตัวประธานในการ privatize (แปรรูป) รัฐชาติไทย จากคุณทักษิณเป็นคนอื่น โดยที่โครงการ privatize รัฐชาติไทยยังเป็นแบบเดิม อันนี้น่าเศร้าที่สุด

ผมยังเข้าใจว่า ตอนนี้ความเข้าใจของมหาชนทั่วไปมันหยุดอยู่แค่นี้ ปัญหาที่เป็นรากเหง้ามันใหญ่เสียจนกระทั่ง แค่เปลี่ยนตัวทักษิณเป็นคนอื่นนั้นมันไม่แก้อะไร ปัญหามันใหญ่เสียจนกระทั่ง....ด้วยความเคารพ มีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา 100 คน มีความถูกกฎหมาย สุจริต ไม่มีความฉ้อฉลอะไรทั้งสิ้น ปัญหาก็ยังเกิดอยู่ดี (หัวเราะ) เพราะปัญหามันใหญ่มากเลย แต่ตอนนี้มันถูกรวบความเป็นว่า เปลี่ยนตัวประธานกระบวนการทั้งหมดก็แล้วกัน แล้วเอาแบบสะอาด ไม่มีคอร์รัปชั่น ถูกกฎหมายทุกอย่าง สุจริตเต็มร้อย แล้วทุกอย่างจะดี
อันนี้ไม่ใช่เลยครับ

สำหรับผมแล้ว สิ่งที่น่ากลัวในการเคลื่อนไหวขับไล่นายกฯ มี 2 ข้อคือ 1. มีคนตายจากความขัดแย้งครั้งนี้ 2. 'ได้แค่นี้' ซึ่งผมก็กลัวคือ มันจะได้แค่นี้จริงๆ

ชั้นที่สอง ผมคิดว่าชนชั้นกลางกำลังแสดงความรักชาติ ซึ่งถ้าพูดจากจุดยืนของคนชั้นล่าง มันเป็นชาติที่ไม่น่ารักเท่าไร เพราะมันเป็นชาติที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแบบไม่เสมอภาค

ชาติที่คนชั้นกลางรัก เป็นชาติที่ไฟฟ้าถูก แต่ไฟฟ้ามันถูกก็เพราะมันไปปล้นเอาแม่น้ำเขามา ปล้นเอาสิ่งแวดล้อมเขามา หรือพูดง่ายๆ มันเป็นชาติที่เขาอยู่บนความได้เปรียบพอสมควร ได้เปรียบธรรมชาติ ได้เปรียบชาวบ้านข้างล่าง นี่คือชาติที่คนชั้นกลางรักมากเลย. ผมคิดว่าปัญหาที่คนชั้นกลางลุกขึ้นมาต่อต้านทักษิณ เพราะทักษิณคุกคามความเป็นอยู่ของชาติในความหมายนี้ ซึ่งพูดถึงจุดยืนแล้ว ผมไม่ชอบชาติในความหมายนี้เลย มันเป็นชาติที่มีปัญหามาก แล้วก็ที่ผ่านมาก็ทะเลาะกันแย่งชาติแบบนี้แหละ

แต่แม้กระทั่งชาติแบบนี้ เราก็ยังรู้สึกว่าถูกคุกคาม เพราะอะไร เพราะทักษิณดำเนินกระบวนการเปลี่ยนแปลงแบบโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ แบบที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มทุนของเขา ต่อพวกพ้องของเขา ซึ่งมันไปคุกคามความมั่นคงในชาติที่น่ารักของคนชั้นกลาง ไฟฟ้าแพงเหรอ น้ำมันแพงเหรอ อย่างนี้แปลว่าอะไร ตลาดหุ้น... บางคนได้เปรียบ กูเสียเปรียบเหรอ

สินเชื่อราคาถูก ตลาดหุ้น บริโภคนิยม นี่คือ 3 สถาบันหลักของคนชั้นกลาง ซึ่งตอนนี้มันกำลังถูกคุกคาม ตลาดหุ้นก็ฉ้อฉล มันไม่แฟร์นี่หว่า สินเชื่อตอนนี้ดอกเบี้ยก็เริ่มสูงแล้ว บริโภคนิยมชักจะทำงานไม่ได้แล้ว ภายใต้สภาพที่ข้าวของเริ่มแพง ดังนั้น คนชั้นกลางจึงต้องแสดงความรักชาติ

ชั้นสุดท้าย เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ซึ่งผมรู้สึกว่ายังไม่มีใครเสนออะไรเลย แล้วคนที่ทำให้ผมนึกถึงอันนี้คือ อาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) คือพูดให้ถึงที่สุด มันเป็นกระบวนการที่โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่กำลังเข้ามาเปลี่ยนรัฐชาติไทย โดยตรรกะของมัน เป้าหมายสูงสุดก็คือ privatize (แปรรูป) รัฐไทย ซึ่งคุณทักษิณ บังเอิญ มาเป็นประธานดูแลบริหารกระบวนการนี้อยู่ โดยทำอย่าง Aggressive (ก้าวร้าว) มาก และรับเหมาคนเดียว ไม่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนอื่น ไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนชั้นกลางเท่าที่ควร อันนี้เป็นเหตุให้คนจำนวนมากรู้สึกว่าท่านสูญเสียความชอบธรรม

แต่ถามว่าเขาตั้งคำถามกับกระบวนการนี้ทั้งกระบวนไหม ผมคิดว่าไม่ ซึ่งมันน่าเศร้า เพราะมันหมายความว่าต่อให้เอาเขาออกไป คนใหม่เข้ามาก็จะนั่งเป็นประธานกระบวนการนี้ต่อ เพียงแต่จะก้าวร้าวขนาดนี้ไหม จะไม่ฟังคนอื่นขนาดนี้ไหม ทำเอฟทีเอ เมกะโปรเจคท์ เอาน้ำให้บริษัทนั้น บริษัทนี้ นี่มันเป็นฟังก์ชั่นของรัฐชาติ แล้วคุณก็ privatize ให้บริษัททั้งหลายทำ คือตรรกะมันง่ายมาก พอทำให้ของส่วนรวมกลายเป็นของส่วนตัว จะขายให้ใครก็ช่างเขา แต่ถ้าเขาขายให้ต่างชาติก็จบ คุณเปิดประตูแปรรูปแล้วจะห้ามต่างชาติเข้ามามันยากมาก ทักษิณเพียงแต่เป็นผู้ดำเนินตามตรรกะนี้ไปให้ถึงที่สุด

หากปัญหาของประเทศคือโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ ถ้ามองจากมุมของทักษิณก็ย่อมไม่มีใครสมควรขึ้นมาเป็นประธาน ในการแปรรูปประเทศได้ดีกว่าตัวทักษิณเอง เพราะเขาคือกลุ่มทุนใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ย่อมต้องปกป้องตัวเองได้ดีกว่าจะให้คนอื่นมาปกป้อง
ใช่ ถ้ามองจากมุมคุณทักษิณ เขาควรจะดูแลกระบวนการทั้งหมด แต่กระบวนการแปรรูปประเทศนั้นส่งผลกระทบต่อคนเยอะมาก และมีกลุ่มคนที่ไม่ได้ผลประโยชน์จากการแปรรูปประเทศครั้งนี้เลย กลุ่มทุนอื่นๆ ที่อยากจะร่วมกระบวนการนี้ไม่ได้ประโยชน์ คนที่ต้องเสียประโยชน์โดยตรงจากการแปรรูปประเทศโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยก็มีมาก

ม็อบที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ จะทำให้คนที่เข้าร่วมซึ่งหลากหลายมาก ได้เรียนรู้เพิ่มเติมได้ไหมว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร
ไม่ได้ ไม่พอ ฟันธงเลย แต่ว่าก็ทำไปจนสุดความสามารถที่จะทำให้เห็นประเด็นที่กว้างและมากไปกว่าตัวบุคคล นี่คือเรื่องใหญ่ ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า แต่ในทางกลับกัน คุณทักษิณก็เป็นตัวบล็อกในการเปลี่ยนระบบอยู่ การจะบอกว่าปัญหาอยู่ที่ระบบ ไม่ใช่บุคคล อย่าไปล้มทักษิณเลยมันก็ไม่ใช่ เพราะการที่คุณทักษิณอยู่ตรงนั้นมันก็ไปบล็อกการเปลี่ยนแปลง

แกนั่งเป็นประธานกระบวนการ privatize แล้วแกดันดำเนินกระบวนการแบบที่ antagonize (เป็นศัตรู) คนจำนวนมากที่อยากจะอยู่ในกระบวนการนี้ด้วย แกกลับดำเนินการไปในลักษณะที่แกได้คนเดียว และมันไปสั่นคลอนความมั่นคงของกลุ่มทุนกลุ่มอื่น ในความหมายนี้มันจึงมีเหตุผลที่คนจะไม่รับ และต้องปลดบล็อกตรงนี้ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงหลักรัฐศาสตร์ทั่วไปนะว่าที่แกทำมันก็ไม่ชอบธรรม

อย่างนั้นแล้วคำถามที่ชาวไทยรักไทย หรือหลายๆ คนถามว่า ไม่เอาทักษิณ แล้วจะเอาใคร ก็ไม่ใช่คำถามที่จำเป็น เพราะไม่ว่าใครขึ้นมาก็คงคล้ายๆ กันใช่ไหม
ประเทศที่สามารถรับผลกระทบของโลกาภิวัตน์แล้ว ชะตากรรมดีหน่อยก็คือ ประเทศที่ใช้อำนาจรัฐบริหารจัดการโลกาภิวัตน์อย่างเป็นตัวของตัวเอง ใช้อำนาจรัฐบริหารจัดการโลกาภิวัตน์แบบคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนกลุ่มใหญ่ และผลกระทบของคนกลุ่มน้อย

มีตัวอย่างไหม
อันนั้นเป็นหลักการทั่วไป ถ้าดูแลตรงนั้นก็จะเป็นโลกาภิวัตน์ที่เอื้ออาทร เป็นคุณต่อคนตัวเล็กตัวน้อยหน่อย มีเกราะคุ้มกัน และมีอำนาจต่อรอง ไม่สูญเสียทรัพยากร ถ้ายึดตรงนี้เป็นเกณฑ์ คุณทักษิณก็ตก เพราะในกระบวนการตรงนั้นเขาไม่ได้ดูแลคนเล็กคนน้อย ที่แย่กว่านั้นคือ เขาได้ประโยชน์มากกว่าคนอื่น แบบน่าเกลียดด้วย (หัวเราะ)

ในความหมายนี้เราก็ต้องเปลี่ยนตัวประธานผู้บริหารจัดการ เพราะอยู่ภายใต้แก แกก็ไม่ค่อยฟังใคร ด้วยความเป็นอำนาจนิยมของแก มันยิ่งทำให้กระบวนการนี้เลวระยำขึ้นไปอีก ด้วยความคับแคบ ไม่ให้คนอื่นเข้าร่วมกระบวนการ

จริง ๆ แล้วก็ไม่มีใครที่จะเป็นหลักประกันว่าขึ้นมาเป็นประธานในการแปรรูปประเทศแล้ว จะเฉลี่ยให้เท่าเทียมกัน
ก็ต้องสร้างอำนาจต่อรองของประชาชนขึ้นมา ปัญหาของคุณทักษิณคือ ความคับแคบในการทำงาน ไม่เปิดกว้าง

หมายความว่าถ้าทักษิณเปลี่ยนท่าที ฟังมากขึ้น เฉลี่ยผลประโยชน์มากขึ้น ก็โอเคใช่ไหม
ผมคิดว่าแกพูดอย่างนี้แล้วก็ทำตรงข้ามเสมอ ที่แกเสียตอนนี้ ไม่ใช่แกเสียท่า หรือเสียทีนะ แต่แกเสีย Trust แกเสียความไว้วางใจจากผู้คนไปแล้ว ตอนนี้ลำบากแล้ว

หรือเป็นเพราะคุณทักษิณทำไม่เนียน
แกพยายามเนียนแล้ว ปากแกไม่ดีเท่านั้นเอง ผมว่าแกก็คิดไม่ถึงว่า แกขายหุ้นแล้วคนจะด่ากันทั้งเมือง ดูแกช็อก

สรุปว่า แม้อาจารย์จะมองว่าปัญหาที่เราเผชิญอยู่ไม่ได้อยู่ที่ตัวคุณทักษิณเท่านั้น แต่ในเบื้องต้นคุณทักษิณควรลงจากตำแหน่งประธานในการแปรรูปประเทศก่อน
ครับ แต่จริงๆ ผมสงสารลูกแกนะ แกเป็นคนรักลูกมาก แล้วแกก็ไม่อยากให้การเมืองไปทำร้ายครอบครัวแก แต่ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ผลที่แกทำ มันนำไปสู่ผลตรงข้ามกับที่แกต้องการ กลายเป็นว่าลูกแกต้องมาเกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆ ด้วย น่าสงสาร

อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เคยบอกว่า สิ่งที่ตรงข้ามกับเสรีนิยม ก็คือชาตินิยม แล้วการที่จะสู้กับเสรีนิยม ก็ต้องยกชาตินิยมขึ้นมา ซึ่งมันก็ sensitive ไม่น้อยว่ามันจะออกมายังไง
น่าคิดมากเลยว่า ประเด็นที่ถูกชูในการเคลื่อนไหวก็เป็นเรื่องการขายชาติ กู้ชาติ พรรคประชาธิปัตย์ก็มีคำ ทุจริต ผิดกฎหมาย ขายชาติ ตั้งเสียคล้องจองสวยหรู แต่ที่มันพรางอยู่ข้างในก็คือ มันยังตกลงกันไม่เรียบร้อยเลยนะเรื่องชาติ มันยังเอารัดเอาเปรียบกันเองอย่างมาก

ในเมื่อมันยากหรืออาจจะสายเกินไปที่จะต้านโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ เราก็แปรรูปไปเลยพวกรัฐวิสาหกิจ น้ำ ไฟ อะไรต่างๆ ให้เกิดการแข่งขันแท้จริงเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคตามทฤษฎีของนักเศรษฐศาสตร์ เพราะทุนก็ไม่มีสัญชาติอยู่แล้ว
ประการแรก ไม่เคยมีที่ไหนในโลกที่เปิดเสรีแล้วไม่ได้แข่ง แต่ก็ไม่เคยมีที่ไหนที่เปิดแล้วไม่โดน dominate (ครอบงำ) ไม่เกิดการฉ้อฉล เพราะพื้นที่การเมืองมันไม่เคยเป็นพื้นที่ในฝันของนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกสักที่หนึ่งเลย นี่เมืองไทยนะครับ มันไม่มี เปิดเต็มที่แล้วจะเกิดการแข่งขันเสรีแล้วได้ประโยชน์สูงสุดมันไม่เกิดหรอก

ประการที่สอง มันไม่มีหลักประกันเลยว่า ถ้ากระบวนการ privatization เข้ามาแล้ว มันจะดูแลคนที่ไม่มีอำนาจซื้อ เมื่อทุกคนกลายเป็นผู้บริโภค บัตรประชาชนโยนทิ้งน้ำได้เลย เอาเครดิตการ์ดมาโชว์ดีกว่า ประเทศอื่นเวลาโดนแบบนี้ก็ฉิบหายหมดเลยนะ

ก็เมื่อใครขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็ต้านเสรีนิยมใหม่ไม่ได้ อย่างนั้นแล้วประเทศเรากำลังจะก้าวไปสู่อะไร
แต่ก่อนนี้ในนามของชาติ เรามีความเชื่อว่ามันจะปกป้องคนข้างหลังรั้วนั้นได้อย่างค่อนข้างเสมอภาคกัน ประสบการณ์มันก็เป็นอย่างนั้น แต่มันก็มีคนขายชาติอยู่ มีคนรังแกชาติอยู่ มาถึงตรงนี้มันมีการถอนรื้อรั้วนี้ทิ้ง ทีนี้คนที่เคยได้ประโยชน์จากรั้วนั้นบ้าง คือ คนตัวเล็กตัวน้อย เขามีความรู้สึกว่า ถ้าไม่มีรั้วแล้วจะมีอะไรให้เขา มันก็มีเหตุผลนะครับที่เขาจะรู้สึกว่าเขาจะรักชาติ มีเหตุผลที่จะรู้สึกว่าในพื้นที่ตลาดเสรี คนอย่างเขาแข่งไม่ได้ และเขาจะไม่ได้อะไรเลย แม้ว่าพื้นที่ตลาดเสรีนั้นจะมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือแม้ว่าพื้นที่ตลาดเสรีนั้นจะมีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์ เพราะเขาไม่มีต้นทุนจะไปแข่ง

ตามตรรกะของตลาดเสรีก็จะบอกว่าคุณก็เป็นผู้แพ้สิ เอาอย่างนี้แล้วกัน เดี๋ยวเราจะดูแลให้ 30 บาทรักษาทุกโรค อะไรก็ว่าไป และนั่นคือสิ่งที่ทำเพื่อรองรับประชากรส่วนเกิน คนที่ไม่มีคุณค่าในตลาด

โครงการ 30 บาท ไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินไปสู่รัฐสวัสดิการ ที่เก็บภาษีสูงๆ แล้วเอามาเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันหรอกหรือ
เราเพิ่งจะไม่เก็บภาษีเศรษฐีที่รวยที่สุด ไม่ใช่เหรอ แหม ทำเป็นลืม ถ้าคนๆ หนึ่งขายหุ้นไปเกือบแสนล้านแล้วไม่ต้องจ่ายภาษีเลย...คร่อก

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่กรณีขายหุ้นชินคอร์ปยังไม่ถูกต่อต้านแรงขนาดนี้ มีการทำโพลล์ออกมาถามว่านายกฯ จำเป็นต้องเสียภาษีไหม ตั้ง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ตอบว่าไม่จำเป็น
ก็คุณนึกดู สิ่งที่รัฐทำกับคุณมาทั้งชีวิต นึกดู ปัญหาภาคใต้ รีดไถ ฯลฯ แล้วคุณก็ต้องเสียให้มัน คุณอยากเสียภาษีไหม นี่เป็นรัฐที่บริการคุณดีหรือ นี่เป็นรัฐที่เป็นธรรมกับคุณหรือ ทั้งที่ไม่อยากเสีย เพราะมันบริการคุณแย่มาก. แต่ว่าความรู้สึกของชนชั้นกลางต่อกรณีคุณทักษิณก็คือ "เราไม่อยากเสียภาษียังมีเหตุผล แต่คุณทักษิณไม่มีเหตุผล มึงรวยกว่ากู" อย่าลืมว่า ความเสมอภาคมันเริ่มต้นด้วยความอิจฉานะ ความเสมอภาคมันเริ่มต้นจากการอิจฉารวมหมู่ การใช้ความอิจฉารวมหมู่ไปในทางสร้างสรรค์จะเป็นเส้นทางไปสู่ความเสมอภาค

ฉะนั้นกระบวนขับไล่ทักษิณนั้นก็คือการใช้พลังอิจฉารวมหมู่ไปในทางสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดระบอบที่เป็นธรรม ที่คุณทักษิณพูดก็ถูกนะ อิจฉานี่ โอ้โห ทำไมจะไม่อิจฉาล่ะ ถ้าผมเป็นคุณรักเกียรติ สุขธนะ (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ถูกพิพากษาจำคุกเนื่องจากกรณีทุจริตจัดซื้อยา-ประชาไท) ผมก็อิจฉา แหม กูโกงนิดเดียว จับกูติดคุก

อาจารย์บอกว่าม็อบขับไล่นายกฯ เป็นม็อบที่ชนชั้นกลางแสดงความรักชาติแบบชนชั้นกลาง แต่ก็มีคนระดับล่างที่ได้รับผลกระทบมาร่วมไม่น้อย
คนเหล่านั้น ผมคิดว่าเขาได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการในยุคโลกาภิวัตน์ ฉะนั้น มันมีแนวร่วมหลายขบวน แต่ก็อย่างว่า ชาติของคนชั้นกลางมันก็ยืนอยู่บนหลังของคนชั้นล่างที่จับมืออยู่กับเขานี่แหละ มันฝันเห็นชาติกันคนละชาติ แต่ความต่างของชาติที่ถูกคุกคามแบบของชนชั้นกลาง กับชาติที่ถูกคุกคามของคนชั้นล่าง มันถูกเกลื่อนกลบให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยการถวายคืนพระราชอำนาจ พอพระองค์ปรากฏ ความต่างที่สำคัญที่สุดหายไป ความเหมือนกันที่สุดก็กลายเป็นความต่างได้ โลกอุดมการณ์ทางการเมืองมันมีของพวกนี้อยู่

แต่ประเด็นการเคลื่อนไหวก็ดูจะเคลื่อนไปทางอื่นแล้ว เช่น การเรียกร้องปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2
ผมก็หวังว่า แต่กระนั้น ที่อ่านดูในจดหมายที่ถวายฎีกา เนื้อหา น้ำเสียงก็ไม่เป็นอย่างที่คุณพูดเลยนะ และการถวายพระราชอำนาจคืน ทันทีที่พูดคำนี้ขึ้นมา ถึงที่สุดมันต้องนำไปสู่การเปลี่ยนระบอบการเมือง ซึ่งในระบอบอย่างที่เรามีอยู่ปัจจุบันนี้ คุณทักษิณก็ล็อคมันไว้หมด

ฉะนั้น ข้อเรียกร้องในนามการถวายพระราชอำนาจคืน กับสภาพความเป็นจริงที่คุณทักษิณล็อคการเมืองไทยทั้งหมด ถ้ามันพุ่งเข้าใส่กัน มันก็มีทางออกอยู่อันเดียว คือต้องเปลี่ยนแปลงการเมืองนอกระบบ เช่น รัฐประหาร ม็อบ อะไรก็แล้วแต่ เพราะเงื่อนไขเดียวที่ในหลวงจะลงมา ดูจากทุกครั้งที่ผ่านมาคือ ระบอบการเมืองมันพัง ทำงานไม่ได้

การลงชื่อของนักวิชาการเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก อาจจะถูกตั้งคำถามว่าเป็นการยอมให้นายกฯ มาจากระบบอื่น เป็นการยอมรับอำนาจอื่นนอกเหนือกลไกตามระบอบประชาธิปไตยหรือเปล่า
ผมก็ไม่รู้รายละเอียดของนักวิชาการแต่ละสถาบัน แต่เท่าที่รู้ นักวิชาการในสถาบันต่างๆ เขาเรียกร้องก็ให้นายกฯ ลาออก ไม่ได้บอกว่านายกฯ คนใหม่ต้องมาด้วยวิธีการพิเศษ กล่าวเฉพาะในคณะของผม นี่คือประเด็นที่เราถกกันเยอะมากด้วยความวิตก เราระมัดระวังที่จะไม่ให้มีถ้อยคำใดๆ ในแถลงการณ์ของเราที่ส่อไปในทางยอมรับอำนาจพิเศษ คือขอให้อยู่ในกรอบ ในระบอบนี้ซึ่งเป็นระบอบที่มีปัญหา ต้องแก้ แต่เฉพาะหน้านี้มันต้องปลดล็อคตรงนายกฯ ก่อน ส่วนเราจะแก้อะไร แก้อย่างไร เราคุยกันได้อีกเยอะ เพราะโจทย์มันใหญ่ ไม่ใช่แค่ทักษิณ

พูดสั้นๆ โจทย์ก็คือ กลุ่มทุนผูกขาดในประเทศ + ทุนโลกาภิวัตน์ ซึ่งตอนนี้เรารู้จักกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ผ่านชื่อเทมาเสก เรากำลังจะหาการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญเพื่อมาถ่วงดุลคนกลุ่มนี้ โอ้โห มันยาก ผมไม่แน่ใจว่าทำได้ด้วยซ้ำ

แม้แต่กระแสที่นักวิชาการออกมา ชนชั้นกลางก็วิพากษ์วิจารณ์นักวิชาการว่าเก่งแต่ในตำรา ไม่รู้เรื่องโลกภายนอก
คืออยู่กันมาเป็น 10 ปีก็คงเริ่มรู้ว่าไอ้นี่ก็เก่งอยู่แต่ในสถาบัน เกลียดมันจริงๆ เลย แต่ก็ยอมรับว่ามันก็เป็นอย่างนี้แหละ คือผมคิดว่ามันก็ดีนะ ถ้าคนเราจะยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าจะเห็นแตกต่างกัน

วันที่ 11 ก.พ.นี้ ถ้าคนธรรมดาคนหนึ่งจะเดินเข้าไปในม็อบ เขาต้องทำความเข้าใจอย่างไรบ้าง
คุณก็มีสิทธินะ ถึงแม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางบางอย่างของคุณสนธิ แต่ว่าที่เขาทำก็ยังไม่เห็นมีอะไรผิดรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ที่ผมรู้สึกว่าน่าวิตกคือ ทั้งสองฝ่ายกำลังกระทำการผิดพลาดทางยุทธวิธี

ด้านของคุณสนธิ ก็อย่างที่บอก การรวมศูนย์อยู่ที่ตัวแก โดดเดี่ยวตัวเอง กลายเป็นม็อบสนธิล้วนๆ ทั้งๆ ที่กระแสความไม่พอใจทักษิณมันแผ่กว้างไปได้มาก ทั้งที่มันมีเงื่อนไขจะทำแนวร่วมได้มาก แต่แกมาโฟกัสที่ตัวแกมากเกินไป ทำให้ขบวนการที่จะเติบใหญ่หดแคบลง กลายเป็นการถวายคืนพระราชอำนาจ (ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างที่กล่าวไว้) ทำไมจึงโดดเดี่ยวตัวเองนัก ทำไมไม่ทำให้การเคลื่อนไหวไม่ใช่ของแก แต่เป็นของกลุ่มคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทักษิณ แล้วแกเป็นพลังหนึ่ง

ในแง่กลับกัน รัฐบาลห้ามใช้ลานพระรูป เป็นการตัดสินใจที่โง่มาก ไปยุให้คนโกรธอีก ผมคิดว่าถ้าคุณทักษิณแกเลิกพูดสักปีหนึ่งได้จะดีมาก เพราะทุกครั้งที่แกพูด คนจะโกรธ

ในเงื่อนไขที่มีการเผชิญหน้าที่ยืดเยื้อ มีการแยกขั้ว ความผิดพลาดเชิงยุทธวิธีของทั้งสองฝ่าย มันอาจจะไต่ระดับแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความรุนแรงในที่สุด ทำยังไงทั้งสองฝ่ายจะปรับยุทธวิธี

คุณทักษิณเองดูเหมือนก็พยายามดิ้นรนหาทางออกกับเรื่องนี้อยู่ เช่น การเปิดทำเนียบรับฟังนักวิชาการ หรือแม้กระทั่งรับฟังคุณสนธิเอง
มันเลยจุดนั้นไปแล้ว ถ้าเป็นคุณล่ะ คุณลองคิดดูสิ ผมบอกคุณว่า ฮัลโหล คุณจะมาคุยกับผมก็ได้นะ แต่ว่าช่วยพูดภาษาคนหน่อย แล้วก็ไมต้องพกความโง่มานะ ถ้าเป็นคุณคุณจะมาไหม แล้วใครจะไป แกพูดเสมอว่าเปิดรับฟัง แต่ก็ดูถูกเขาตลอดเวลา

อาจารย์อาจจะอ่อนไหวเกินไป คนขับแท็กซี่ หรือแม่ค้าขายของก็อาจจะบอกว่า อิจฉาเกินไป เขาให้อภัยได้ และมีคนจำนวนมากที่ให้อภัยท่าทีดูถูกคนอื่นของนายกฯ ได้
ก็ดีแล้วที่เป็นอย่างนั้น จะได้ลบอคติที่ว่าคนชั้นล่างต้องถูกเสมอ สมัยผมอยู่กับ พคท. จะมีความเชื่ออย่างนี้ว่า กรรมกร ชาวนาถูกต้องเสมอ คือไม่ใช่ มึงถูกก็มีนะ คนขับแท็กซี่ กรรมกรชาวนาก็ผิดได้
โอเค คำถามนี้น่าสนใจ มันเป็นการให้อภัยจากจุดยืนของคนที่ไร้อำนาจหรือเปล่า

อยู่กับคุณทักษิณนานๆ ไปก็เคยชินได้นะ
ผมก็เริ่มชินแล้ว เหมือนโดนบ้องหูทุกวัน แต่คราวนี้มันเกินไปหน่อย คุณทักษิณก็คงจะงงว่า เอ๊ะ ไอ้นี่ บ้องหูมันทุกวันไม่โวยวาย คราวนี้หนักไปหน่อยเดียวเอง ทำไมมันโวยวาย

อันตรายอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยคือ การที่เราแสดงการคัดค้านได้ แล้วก็สบายใจว่าได้คัดค้านไปแล้ว แล้วก็จบ ม็อบขับไล่นายกฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ทีผ่านมาจะเป็นกลลวงของประชาธิปไตย เป็นเพียงแค่การเอ็กเซอร์ไซส์ทางการเมืองเท่านั้นหรือไม่
ผมขอกลับคำถามคุณ พูดอีกภาษาหนึ่งคือว่า อะไรคือยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี การเคลื่อนไหวนอกสภาจะเชื่อมโยงกับในสภาอย่างไร อันนี้ยังต่างคนต่างคิด แต่กระบวนการภายในรัฐสภาก็ดูเหมือนจะโดนบล็อกไว้หมด ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับอาจารย์ทางเชียงใหม่ที่เขาเสนอว่าล่า 50,000 ชื่อ คือไม่ได้คิดว่ากระบวนการล่า 50,000 ชื่อเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง แต่ว่าในการที่คุณจะล่า 50,000 ชื่อได้ คุณต้องให้การศึกษาคน ตีโจทย์นี้ให้มันกว้าง อธิบายปัญหาให้มันลึกซึ้ง

นักวิชาการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกกับผมว่า เป็นห่วงคุณทักษิณมากว่าจะไปเร็วเกินไป ไปโดยวิธีการที่ไม่สมควร แกห่วงว่าเดี๋ยวระบบทักษิณกลายเป็นวีรชน เดี๋ยวมันก็มีทักษิณ 2 ตามมา เหมือนกับที่สฤษดิ์ กลายเป็นวีรชนให้คนฝันถึง อันนี้ไม่อยากให้เกิด ประการที่ 2 แกคิดถึงประโยชน์ที่คุณทักษิณอยู่ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ ยิ่งนานก็จะยิ่งทำให้คุณทักษิณเปื่อย เปื่อย เปื่อยไปเรื่อยๆ และเนื่องจากระบบมันโดนบล็อกเอาออกไม่ได้ใช่ไหม แกก็จะเน่านะ

ผมคิดว่าสิ่งที่น่ากลัวก็คือ ถึงที่สุดแล้วคุณใช้วิธีการนอกระบบ ไม่รู้นะ มันอยู่ที่การนิยามชัยชนะอย่างไรด้วยใช่ไหม ถ้านิยามชัยชนะว่า ทักษิณต้องออกไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเมืองไทย อย่างนี้ก็น่ากลัว แต่ถ้านิยามชัยชนะว่า ไม่มีใครตายแม้แต่คนเดียวในความขัดแย้งทางการเมืองนี้ สังคมไทยค้นพบการเปลี่ยนผ่านจากระบอบทักษิณ ไปสู่อย่างอื่นโดยไม่มีใครตาย ระหว่างที่สังคมไทยผ่านวิกฤต ได้เรียนรู้ เข้าใจตัวเอง และเข้าใจเงื่อนไขที่ล้อมสังคมดีขึ้น กระจ่างขึ้น อันนี้เป็นชัยชนะที่ยั่งยืน

การเปลี่ยนผ่านนี้มันใหญ่ ประเทศเราทั้งประเทศ จะจัดการเปลี่ยนผ่านนี้อย่างไร เอาแค่เรื่องคุณทักษิณ เอาแค่ไม่ให้มีใครตาย เพราะไม่คุ้มหรอก มันไม่เคยคุ้มเลย
สำหรับวันที่ 11 นี้ ผมเกรงว่าจะเกิดความรู้สึกประมาทของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลอาจจะประเมินจากวันที่ 4 ว่า อ๋อสุดยอดของคุณแค่ 50,000 เอง แล้วอาจมีใครทำอะไรเอาใจเจ้านายอีก

เขาไม่น่าประเมินอะไรอย่างนั้นได้เลยนะ
แต่ก็แปลกนะ ถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์ ความโง่ของผู้นำมันมหัศจรรย์มากเลย ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะคิดอย่างนั้นได้ ประเมินอย่างนั้นได้ แต่เขาคิด

อาจารย์มีข้อเสนอรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่การชุมนุมไหม ถ้าหากเราอยากจะเรียกร้องให้คุณทักษิณลาออก
โอ อันนี้ประชาชนเองก็มีความสร้างสรรค์กว่าผมเยอะนะ ผมเองก็ไม่รู้หรอก แต่ว่าการชุมนุมโดยตัวมันเองก็ทำไม่ได้ทุกวัน ก็คงต้องหารูปแบบที่เหมาะกับสถานการณ์ต่างๆ และการชุมนุมที่เป็นจุดสุดยอดนั้นบ่อยไปก็ไม่ดี แล้วก็น่าจะมีรายการอื่นๆ ไม่ใช่แค่สนธิ-สโรชา ให้มีความหลากหลาย

ตอนนี้มีแต่คนบอกว่า ทักษิณเป็นปัญหาของแผ่นดิน ผมว่าเก่งจริงทำให้แผ่นดินเป็นปัญหาของคุณทักษิณสิ

แต่ถ้าทำอย่างนั้นกระบวนการต้องใช้เวลานาน
จะรีบร้อนไปไหน มีคนบอกเขาอยู่เป็นปัญหา เขาอยู่มีความเป็นอันตราย แต่กระบวนการที่จะเอาเขาออกก็อันตรายเหมือนกัน หากไม่ระมัดระวัง

(ข้อมูลจากประชาไทออนไลน์)
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID
=2506&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


๓. เดช พุ่มคชา : กระซิบจากแม่
(จดหมายฉบับนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาทางจดหมายอิเล็คทรอนิค)

ทักษิณลูกแม่
บุญทานที่ลูก ครอบครัว และบริวาร อุทิศไปให้เนื่องในโอกาสครบรอบยี่สิบปี การสิ้นอายุขัยของแม่นั้น แม่ได้รับแล้ว น่าชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ลูกยังมั่นคงในการทำบุญสุนทานอย่างสม่ำเสมอ ย่อมเป็นปิติที่รับรู้กันมาในหมู่ชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ให้ จะอย่างไรก็ตามการให้นั้นเป็นเรื่องของตัวใครตัวมัน ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกหน้า ดังเช่นที่ลูกสัมผัสในห้วงนาทีซึ่ง จิตบริสุทธิ์ถวายไทยทานแด่พระภิกษุสงฆ์

ในส่วนของแม่นั้น เมื่อลูกหญิงชายของแม่เป็นฝั่งเป็นฝา แม่ก็ถือได้ว่าเป็นสุขแล้ว ในยามชราได้สัมผัสสวรรค์บนดิน ได้พักผ่อน ทำบุญสุนทานอย่างสม่ำเสมอ มีโอกาสทบทวนชีวิตตั้งแต่จำความได้ จนใกล้หมดอายุขัย สัญชาติญาณบอกแม่ว่า นรกปิดประตูสำหรับแม่อย่างแน่นอน

แม่เห็นแววหลายอย่างของลูกมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยนึกฝันว่า ลูกจะได้สำเร็จทั้งทรัพย์สมบัติและบารมีสมบัติ เป็นถึงผู้นำของประเทศ ก่อนหน้าเป็นใหญ่เป็นโต แค่ลูกได้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนพี่น้องและวงศาคณาญาติให้สุขสบายกันโดยทั่วหน้า คนเป็นแม่ก็หัวใจพองโต ต่อเมื่อได้เป็นถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่พึ่งพาของแผ่นดินด้วย ความสุขจากอานิสงฆ์นี้จึงยากที่จะบรรยายได้ เป็นบุญของแม่ค้าจริง ๆ มีลูกให้เป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้

เมื่อรับบทผู้นำของประเทศไม่ว่าที่ใด เท่ากับเป็นคนของแผ่นดินของประชาชน ลูกจะต้องพึงตระหนักเสมอว่า เป็นบุคคลสาธารณะและถูกคาดหวังสูง จากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้การปกครองที่อาสาขึ้นมารับใช้ส่วนรวม เมื่อรับใช้ประเทศ แน่นอน จำเป็นต้องเสียสละความเคยชินเก่า ๆ หลายอย่าง ซึ่งถูกทดแทนชดเชยด้วยบารมีและความเชื่อถือที่สาธารณะมอบให้

ใช่แต่เพียงเท่านี้ ผู้นำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมตัวเองทั้ง ด้านกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้อยู่ในร่องรอย ของศีลธรรม จริยธรรมอันดีงาม เป็นแบบอย่างทั้งต่อหน้าและลับหลัง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เป็นผู้นำ ส่วนจะเป็นผู้นำชนิดที่ประวัติศาสตร์ชิงชังหรือจดจำ มีปัจจัยหลายอย่าง หากถึงที่สุดแล้วอยู่ที่เธอหรือเขาผู้นำคนนั้นตัดสินใจเลือกเป็น ลูกแม่ก็หนีไม่พ้นภาวะทำนองนี้เช่นกัน ขอให้ใช้สติใคร่ครวญทบทวนให้รอบคอบเถิด

ตามธรรมเนียมไทยทุกครั้ง ก่อนลูกจะเริ่มบริหารประเทศลูกจะต้องนำพาคณะถวายสัตย์ปฎิญาณต่อหน้าพระพักตร์ในหลวงทุกครั้ง ว่าจะทำภารกิจด้วยความซื่อสัตย์ เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง วลีสั้น ๆ นี้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรองรับด้วยตัวบทกฎหมาย นโยบายตัวหนังสือ หรือคำพูด เจรจาพาที เท่านั้น หากจะต้องตรวจสอบหัวใจและหลักการของคุณธรรม ศีลธรรม ซึ่งเป็นตัวกำกับ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อความผาสุกของสังคม ทุกหมู่เหล่าโดยทั่วถ้วน ต้องไม่ลืมว่ามนุษย์ของโลกเราอยู่ร่วมกันด้วยดีมาก่อน มีตัวบทกฎหมายเสียอีก

ลูกเป็นผู้นำประเทศ จำนวนไม่มากนักที่เข้าสู่ตำแหน่งด้วยข้อได้เปรียบคนอื่น ๆ อย่างน้อยสามประการ เริ่มจากสถานการณ์ประชาธิปไตยของบ้านเมืองตอบสนอง จังหวะก้าวเข้าสู่วงจรของลูก อีกด้านหนึ่งลูกมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคั่งมาก จนไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง และอนาคตของครอบครัว เรื่องสุดท้ายลูกมีความรุ่มรวยประสบการณ์ด้านการศึกษาและธุรกิจ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ทางการเมืองได้ไม่ยาก ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งสูง เกือบทันที ฐานะของการเป็นรัฐบุรุษของแผ่นดินสำหรับลูกเปิดประตูรอรับอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม โอกาสทำนองนี้ก็เคยมีผู้นำสังคมจำนวนไม่น้อย พลาดไป เข้าทำนองที่ว่า บุญมีแต่กรรมบังอย่างน่าเสียดาย

ถึงวันนี้ ลูกจะต้องตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะเลือกเอาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการเป็น"อัครมหาเศรษฐี" หรือ"การเป็นนายกรัฐมนตรีของแผ่นดิน"ที่ประวัติศาสตร์ไม่มีวันลืมเลือน

ศีลและทานที่แม่ได้กระทำมาอย่างสม่ำเสมอ สมัยเมื่อมีชีวิตอยู่นั้น ย่อมเป็นผลส่งให้แม่มีสุขทิพย์ ในอีกภพหนึ่งอย่างเพียงพอแล้ว หากด้วยความเชื่อที่ว่า การให้คือบันไดสู่สวรรค์ แม่ขอสนับสนุนให้ลูกทำบุญสุนทานเยี่ยงที่เคยทำมาต่อไป ด้วยสถานภาพของลูกวันนี้ สามารถสร้างมหากุศลได้มากยิ่งขึ้น นั่นคือการทำบุญเพื่อแผ่นดินไทย ให้คุณธรรม จริยธรรม เป็นมาตรฐานของการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประเทศ

ในการนี้จะมีผู้ได้รับอาณิสงฆ์มากมาย ทั้งผู้ที่มีชีวิตอยู่และผู้วายชนม์ไป และลูกก็จะชื่อว่าเป็นทายาทที่ทำให้ตระกูล "ชินวัตร" เป็นที่ชื่นชมของแผ่นดินไทยตราบนานเท่านาน ยิ่งไปกว่านั้น ลูกสามารถรับรู้ผลได้ในขณะที่ยังมีวาสนา สำคัญที่สุดจะต้องไม่ประมาท เพราะวาสนาก็ต้องมีวันจบ

ลาภยศคือความฝัน รูปโฉม โนมพรรณดั่งดอกไม้
"ชินวัตร" จะรุ่งเรืองฤาเสื่อมคลาย หวังลูกชายใช้สติตรอง

ด้วยรักจากแม่


 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
150249
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

แต่ถามว่าเขาตั้งคำถามกับกระบวนการนี้ทั้งกระบวนไหม ผมคิดว่าไม่ ซึ่งมันน่าเศร้า เพราะมันหมายความว่าต่อให้เอาเขาออกไป คนใหม่เข้ามาก็จะนั่งเป็นประธานกระบวนการนี้ต่อ เพียงแต่จะก้าวร้าวขนาดนี้ไหม จะไม่ฟังคนอื่นขนาดนี้ไหม ทำเอฟทีเอ เมกะโปรเจคท์ เอาน้ำให้บริษัทนั้น บริษัทนี้ นี่มันเป็นฟังก์ชั่นของรัฐชาติ แล้วคุณก็ privatize ให้บริษัททั้งหลายทำ คือตรรกะมันง่ายมาก พอทำให้ของส่วนรวมกลายเป็นของส่วนตัว จะขายให้ใครก็ช่างเขา แต่ถ้าเขาขายให้ต่างชาติก็จบ คุณเปิดประตูแปรรูปแล้วจะห้ามต่างชาติเข้ามามันยากมาก ทักษิณเพียงแต่เป็นผู้ดำเนินตามตรรกะนี้ไปให้ถึงที่สุด

The Midnightuniv website 2006