นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University

วิพากษ์กระบวนการยุติธรรมร่วมสมัย
พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนญ (๒)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมชาย หอมลออ - ผศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ
ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ไพสิฐ พาณิชย์กุล : ดำเนินรายการ

บทความวิชาการถอดเทปชิ้นนี้ เป็นกิจกรรมเนื่องในวันรัฐธรรมนูญที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๘
ซึ่งจัดให้มีการอภิปรายในหัวข้อ พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ
ณ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ เวลา ๑๓.๓๐ - ๑๗.๐๐ น.
(เนื่องจากบทความถอดเทปนี้มีความยาวพอสมควร จึงได้แบ่งออกเป็น ๓ ตอน ต่อเนื่องกัน)
บทความลำดับที่ 816-817-818

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 817
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 24.5 หน้ากระดาษ A4)




พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ (๒)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ผู้ร่วมการอภิปราย ประกอบด้วย
- ศ.ดร.คณิต ณ นคร คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
- ไพโรจน์ พลเพชร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- สมชาย หอมลออ สภาทนายความ
- ผศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


สมชาย หอมลออ :
จริงๆแล้วผมก็ทำงานร่วมกับคุณไพโรจน์ พลเพชร ประสบการณ์ก็ไม่ค่อยต่างกันมาก และอยากจะเสนอเพิ่มเติมจากสำนักงานสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ ที่ได้มีประสบการณ์มา ในการใช้มาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ก่อนที่จะถึงจุดนั้น ผมมีประเด็นสืบเนื่องจาก อ.คณิต คืออยากจะเสริมอยู่ 2-3 จุด

1. ในการพิจารณาคดีของคุณสมชาย นิละไพจิตร เมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา เป็นคดีโด่งดัง และเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลย ซึ่งอาจจะทำให้มีเรื่องของอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ จึงได้เชิญนักสังเกตการณ์จากต่างประเทศมาสังเกตการณ์การพิจารณาคดี เพื่อจะประกันการดำเนินคดีให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส และถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม

สำหรับผู้สังเกตุการณ์ บางท่านก็เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกามาก่อน ท่านสังเกตว่า เวลาจดบันทึกคำให้การในศาล ทำไมจดแต่คำพูดของผู้พิพากษา ไม่จดคำของพยาน สภาทนายความเคยเรียกร้องตุลาการมาเป็นเวลานานแล้ว กรณีการบันทึกนั้นควรปรับปรุงเทคนิคให้ทันสมัย ให้มีการบันทึกด้วยวิดีโอเทป ถ้าหากศาลจดคำพยานตามที่ศาลเข้าใจ พอข้อความดังกล่าวขึ้นไปสู่ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ซึ่งไม่ได้เห็นโจทย์ตอนมาเบิกความ ไม่เห็นสีหน้า คำพูด น้ำเสียง อากัปกริยาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงในคดีอาญาเป็นสิ่งสำคัญมาก ศาลจะพิจารณาจากการจดของศาลชั้นต้น

2. พยานเบิกความหันหน้าเข้าศาล แต่หันหลังให้กับสาธารณชนในห้องพิจารณา การที่พยานจะพูดจริงหรือเท็จ พยานจะต้อง accoutable (รับผิดชอบ) ไม่ใช่ต่อคำสาบานของตนเองเท่านั้น แต่ต่อสาธารณชนด้วย และถ้าศาลไม่ได้เห็นสีหน้า ท่าทาง อากัปกริยาของพยานเลย พยานจะหลบสายตาหรือจะสู้ อันนี้มันเป็นเรื่องทางด้านจิตวิทยา

3. เรื่องเกี่ยวกับการสืบพยาน อันนี้ก็นับวาเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งการสืบพยานเกือบจะจบแล้ว แต่มีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา การเปลี่ยนตัวผู้พิพากษานั้นเป็นเรื่องปรกติมาก ดังนั้นผู้พิพากษาอาจจะไม่ใช่คนนั่งฟัง และมีหลายคดี ไม่ได้ให้ปากคำกับองค์คณะ หรือบางกรณีให้ผู้ช่วยมานั่งฟังและนั่งจด แต่ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ตัดสินจริง ๆ หลายนัดไม่ได้มา และบางคดีกว่าจะเสร็จมีการเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาไป 2-3 ชุด เพราะฉะนั้นความจริงมันจะได้มายังไงในการพิจารณาของศาล ในที่สุดก็มีการท้วงติงกัน ไม่เฉพาะแต่ศาลอย่างเดียว อัยการก็เปลี่ยน คนที่มาไม่มีการศึกษาคดีมาก่อน เห็นได้ชัดว่ามันมีปัญหาเยอะมากในกระบวนการยุติธรรมของเรา ซึ่งมันกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงชีวิตของจำเลยด้วย เพราะเรายังมีโทษประหารชีวิตอยู่

ตามผมเรียนหนังสือมา ที่ผ่านมาเราถูกปลูกฝังให้มีความเชื่อในกรอบของกฎหมายที่ค่อนข้างแคบมาก ใน 3 - 4 ทฤษฎี

1. กฎหมายระบบ civil law ต้องเป็นไปตามลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ซึ่งไม่ทราบว่าอาจารย์เข้าใจอย่างนั้นหรือเปล่า แต่อย่างน้อยสอนให้เราที่เป็นลูกศิษย์เข้าใจว่าอย่างนั้น ผมมีกรณีตัวอย่างเช่น ในกฎหมายหรือระเบียบการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลข่าวสาร บอกว่าถ้าคู่กรณีต้องการสำเนา เจ้าหน้าที่ต้องถ่ายสำเนาให้ เรื่องเกิดขึ้นจริงมีว่า เจ้าหน้าที่ถ่ายสำเนาให้ แต่ไม่ยอมรับรองสำเนา ในที่สุดมีคำวินิจฉัยว่า"ให้ถ่ายสำเนาและพร้อมรับรองให้กับผู้ขอด้วย" จะเห็นชัดว่าทฤษฎีกฎหมายมันเป็นไปตามลายลักษณ์อักษรแบบศรีธนนชัย อันนี้มันมีปัญหา เพราะการที่บอกว่าจะต้องถ่ายสำเนาให้ มันจะต้องรับรองอยู่แล้วถ้าฝ่ายที่ขอประสงค์ นี่คือเจตนา

ทำให้เห็นชัดว่าระบบกฎหมายของเราที่สอนกันมาอย่างนี้ มันครอบงำอย่างมาก ดังนั้นเราจึงไม่แปลกใจเลยว่านักกฎหมายระดับเหรียญทอง ระดับศาสตราจารย์ เมื่อขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ก็จะหยิบยืมทฤษฎีกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือมารับรองการกระทำที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาล ให้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

2. เรื่องที่เราไม่สามารถอ้างอิงกฎหมายระหว่างประเทศได้ ถ้าไม่ได้มีการอนุมัติ หรือทำกฎหมายในประเทศให้มารองรับเสียก่อน หรือตามบทบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศมาบัญญัติเป็นกฎหมายไทยเสียก่อน อันนี้ก็นับว่าเป็นปัญหามาก มีการตีความอย่างสุดโต่งโดยไม่สนใจศึกษากันเลย อย่าว่าไปถึงเรื่องการนำมาใช้ โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน

พันธกรณีระหว่างประเทศ หรืออำนาจสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมี ไม่ว่าจะเป็นกติการะหว่างประเทศ สิทธิเสรีภาพทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือสิทธิเด็ก สิทธิสตรี เราไม่เห็นผู้พิพากษาโดยทั่วไปนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ แม้แต่เมื่อเราหยิบขึ้นมาในการสืบพยานก็ดีหรือในคำฟ้อง ในคำร้อง ศาลบอกว่าอย่า ทำไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น แสดงว่าระบบนี้มันถูกครอบงำมาก

แต่ก็แปลกใจมากว่าเดี๋ยวนี้ในยุคโลกาภิวัฒน์ พันธกรณีในทางธุรกิจ ในทางเศรษฐกิจเริ่มมีทางฝ่ายรัฐบาล ทั้งที่บางกรณีไม่มีกฎหมายในประเทศมารองรับ หยิบหรือนำขึ้นมาอ้าง เช่นการลงทุนระหว่างประเทศจากต่างประเทศ เช่นกรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แต่ก็มีคำพิพากษาบางคดีอ้างว่าการกระทำของประชาชนที่อาจผิดกฎหมายไปบ้างในเรื่องการบุกรุกที่ดินหรืออะไรต่างๆเหล่านี้ ทำให้บรรยากาศการลงทุนเสีย อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ 2 ที่ผมคิดว่ามันเป็นโครงครอบในทางทฤษฎีที่มันเป็นปัญหามาก และมีความลักหลั่น

3. สิ่งที่ผมถูกปลูกฝังมาโดยตลอด และตอนนี้ผมก็ไม่เชื่อแล้วก็คือความยุติธรรมทางกฎหมายนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นความยุติธรรมทางสังคม ก็คือคนละเรื่องกันเลย ถ้าตีความกันสุดโต่ง แล้วก็มักมีการอ้างกัน ก็คือกฎหมายจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ผลออกมาจะก่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมอย่างไรหรือไม่ก็ได้ เพราะว่าไม่ได้บอกว่ากฎหมายจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความยุติธรรมในสังคมนั่นเอง

ดังนั้นสิ่งเหล่านี้มันไม่สอดคล้อง ผมคิดว่าโดยหลักแล้วเราต้องการสร้างสังคมที่สงบสุข มีการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ถ้าการบริหารราชการแผ่นดินหรือการตีความกฎหมายหรือการใช้กฎหมาย ออกมาภายใต้โครงครอบแบบนั้น เหล่านั้นแล้วมันจะเสียในจุดนี้ มันจึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมในช่วงหลัง จะมีทนายความร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชน ร่วมกับองค์กรประชาชน พยายามที่จะแหวกกรอบเหล่านี้โดยทำคดีตัวอย่าง โดยการพยายามหยิบยกข้อความในรัฐธรรมนูญก็ดี หยิบยกหลักการในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิชุมชนก็ดีมานำเสนอต่อศาล มานำเสนอต่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง มาเสนอให้ประชาชนซึ่งเขาดิ้นรนต่อสู้อยู่แล้ว เพราะปัญหาความยากจน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความเดือดร้อนที่เขาได้เจอ มาเป็นอาวุธในการต่อสู้ในปริมณฑลของทฤษฎีในทางกฎหมาย

เราได้ทำคดีมากมายในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นคดี ไอทีวี ที่อ้างมาตรา 40, คดีแม่อาย ที่อยู่ ๆ นายอำเภอก็ไปถอนสัญชาติคนพันกว่าคน, ในกรณีคนไทยพลัดถิ่นที่ระนอง มีคนไทยจำนวนหนึ่งถูกแบ่งแยกไปอยู่ในเขตปกครองของอังกฤษและพม่า และเมื่อมีความยากลำบากก็หนีมาอยู่ระนองจำนวนนับหมื่นคน หัวหน้าของคนกลุ่มนี้ก็ยังพูดภาษาไทยใต้โบราณ ก็พยายามเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้สัญชาติ ตำรวจหมั่นไส้ก็เลยจับในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเราก็หยิบยกประเด็นเรื่องความเป็นคนไทย

ในระเบียบราชการก็ดี หรือในสารระบบทางกฎหมายของเราก็ดี มันมีคำว่าสัญชาติกับเชื้อชาติ เอาเรื่องเชื้อชาติมาสู้ เพราะเขามีเชื้อชาติไทย ไม่ได้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย มีประวัติศาสตร์มีความเป็นมา ซึ่งต้องสืบพยานสิ่งเหล่านี้ ในที่สุดศาลจังหวัดระนองก็พิพากษายกฟ้องว่า เพราะคน ๆ นี้ไม่ถือว่าเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพราะเป็นคนที่มีเชื้อชาติไทยและสามารถพิสูจน์ได้ในทางประวัติศาสตร์ ในทางสังคมวิทยา

อย่างคดีกะเหรี่ยงที่คริสตี้เรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งมีผลกระทบจากเหมือนแร่ตะกั่ว รัฐบาลบอกว่าการแก้ปัญหากะเหรี่ยงที่คริสตี้ง่ายนิดเดียว มีคนอยู่ประมาณ 30-40 ครอบครัวเท่านั้นเอง ก็ย้ายออกจากห้วยคริสตี้เสีย ให้พ้นจากห้วยที่มีความเสี่ยง ก็แก้ง่าย ลงทุนจัดงบให้อย่างมาก 5 ล้านบาท แต่ปัญหาก็คือว่าคนเหล่านี้จะถูกย้ายหรือเหมืองที่ปล่อยสารตะกั่วควรจะรับผิดชอบ สิทธิที่ชาวบ้านเหล่านี้อยู่มาเป็น 100 ปี คือตรงนั้น และยังมีหลายคดี มีชุมชนกะเหรี่ยงเค้าจะทำไร่ซึ่งไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยแต่เป็นไร่หมุนเวียน ผมว่าคนกะเหรี่ยงอาจจะอยู่ก่อนคนไทยด้วยซ้ำไปในดินแดนแถบนี้ กรมป่าไม้บอกว่าคุณอยู่ได้แค่นี้นะ 5 ไร่เท่านั้น สำหรับ 5-6 ไร่ที่คุณหมุนเวียนไปนั้น คือเขตป่าสงวน เสร็จแล้วก็จับ

ยังมีคดีอีกคดีหนึ่งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ซึ่งผมคิดว่าเราต้องสู้ก็คือ"คดีปากน้ำปราง" คดีปากน้ำปรางคือ ถ้าเราไปเที่ยวชุมชนปากน้ำที่เป็นแม่น้ำหรือคลองที่ออกทะเล มันจะเป็นมีเขตน้ำขึ้นน้ำลง และมีบ้านชาวบ้านตั้งอยู่เนื่องจากแถบนั้นเป็นโคลน บ้านเรือนจึงมักจะอยู่เหนือขึ้นไปประมาณ 1-2 กิโล และมีสวนผลไม้บ้าง

เพราะว่าชาวบ้านทำประมงขนาดเล็ก ไม่สามารถทำได้ทั้งปี ชีวิตของเค้าจะอยู่ได้ต้องมีทั้งพืชไร่ พืชสวน อาจมีนาผืนเล็ก ๆ และอาชีพประมงขนาดเล็ก ซึ่งแน่นอนว่าการทำอาชีพประมงขนาดเล็กต้องใช้พื้นที่บริเวณปากน้ำเป็นที่ตากแห ตากอวน หรือเก็บเรือพาย ก็มีการสร้างกระต๊อบเล็ก ๆ ชั่วคราว ปรากฏว่าวันดีคืนดีทาง อบต.ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว เห็นว่ามันเป็นอุจาดทัศน์ ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว ก็ให้ชาวบ้านออกจากที่สาธารณะ ชาวบ้านไม่ออก ไม่ออกก็เลยจับ กล่าวหาว่าเป็นการ บุกรุกที่สาธารณะ ตอนนี้คดียังอยู่ที่ศาล

ที่เราจะสู้ก็คือว่า ถ้าคุณไม่ให้เขาใช้ที่ตรงนั้น เขาต้องเลิกอาชีพประมงขนาดเล็ก เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะแบกเรือขึ้นไปอีก 1-2 กิโลเพื่อไปเก็บ มันเป็นวิถีชีวิตของเขาที่มีมาเป็นร้อยเป็นพันปีแล้ว แล้วคุณก็มาบอกว่าตรงนี้เป็นที่สาธารณะ คุณต้องออกไป ไม่อย่างนั้นคุณมีความผิดตามกฎหมายอาญา เรื่องนี้ผมมีความสงสัยว่า อัยการฟ้องไปได้อย่างไร ?

ดูคดีคุณจินตนา คำฟ้องของอัยการและทุกคดี แม้แต่คดีที่ตากใบ ก็คือฟ้องให้เข้าประเด็นข้อกฎหมายเท่านั้นเอง โดยไม่ได้พูดเลยว่าก่อนที่คน ๆ นี้จะมาทำผิดตามกฎหมายดังกล่าว เขามีพื้นเพ มีพฤติกรรมอะไรมา มันมีปัญหาอะไรมาบ้าง การต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้า ซึ่งจะสร้างปัญหามลพิษตรงนี้ให้กับชุมชนทำให้ชุมชนแตกสลาย ถ้าคนฟ้องเป็นทนายที่โจทก์จ้างมา อันนี้จะไม่ว่ากันเลย สำหรับในคดีนี้อัยการเป็นคนฟ้อง อัยการไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ให้ความยุติธรรม และเป็นผู้ที่กินภาษีของจำเลยในคดีนั้นด้วย ทำไมพูดเรื่องขาวกับดำเท่านั้น ทั้ง ๆที่ความจริงแล้วมีสีเทาอยู่ด้วย อันนี้คือปัญหา ถ้าเราทำงานอยู่อย่างนี้ ผมคิดว่าสังคมไปไม่ได้

สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ก็คือ ทำยังไงให้มีการปรับปรุงกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ใช่แค่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น นับตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย อาจารย์สอนทางกฎหมาย การเรียนกฎหมาย จนไปถึงศาล ทั้งในเรื่องแนวคิด ทั้งในเรื่องแนวทางต่างๆเหล่านี้ ซึ่งพอเราไปอยู่ในกระบวนการแล้ว เรารู้สึกว่าเราไม่ใช่คน ถ้าเรามีความรู้สึกบางอย่าง เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่มันแปลกแยกกับคน ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น

ปัญหาคือว่าการดำเนินการอย่างนี้เรามาถูกทางหรือไม่ ช่วงที่เราเป็นนักศึกษาต่อสู้กับเผด็จการ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส เรายังจำได้ว่าสิ่งที่เราพูดคือศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่ง แต่ก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เราสู้มาในกระบวนการประชาธิปไตย ต้องการรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่เราไม่ได้คิดถึงจุดนั้น จะว่าเราละเลยก็ได้ และเมื่อมาถึงจุดนี้ เกิดความรู้สึกขึ้นมาเหมือนเดิมคือว่า ในช่วงที่มีรัฐบาลซึ่งมีอำนาจค่อนข้างมาก ก็คือเริ่มหันมามองที่ศาล

เมื่อวานนี้ เราได้มีการแถลงขององค์กรสิทธิชุมชนประมาณกว่า 20 องค์กร ประเมินงานด้านสิทธิชุมชนในรอบปี 48 ที่ผ่านมา เรามีข้อสรุปซึ่งแน่นอนอาจเป็นข้อสรุปที่ยังไม่สามารถจะยืนยันได้ แต่ว่าจะเป็นเรื่องข้อพิสูจน์อะไรอีกหลาย ๆ อย่าง มีคำพิพากษาที่แสดงถึงว่า กระบวนการตุลาการอาจจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ เช่น คดีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เมื่อเทียบกับองค์กรอื่น ๆ เมื่อเทียบกับการทำงานของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลว่า ศาลอาจจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ อาจจะไม่ใช่แค่ตีความอย่างเดียว แต่อาจจะวางนโยบาย สร้างบรรทัดฐานบางอย่างได้ด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุลในสังคม

ซึ่งการจะทำอย่างนี้ได้ ส่วนหนึ่งทุกฝ่ายที่อยู่ในกระบวนการนี้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมกระทั่งเพื่อนสื่อมวลชนที่จะต้องมีการจับตาดูด้วย ว่าจะมีส่วนผลักดันร่วมกันได้อย่างไร ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ในการที่จะให้มีคำพิพากษาหรือบรรทัดฐานที่ดีในทางกฎหมายที่ทำให้พวกเราเข้าถึงได้

ไพสิฐ พาณิชย์กุล :
คุณสมชาย หอมลออ ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดก็ดี ศักยภาพบุคลากรก็ดี การทำงานยังไงไม่ไห้เกิดการลดคุณค่าศักดิ์ศรีของความเป็นคนลง อันนี้ได้สรุปจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ และได้สะท้อนภาพให้เห็นจากประสบการณ์ที่เป็นทนายด้านสิทธิมนุษยชน ลำดับต่อไปผมขอเรียนเชิญอาจารย์บรรเจิด สิงคะเนติครับ

ผศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ :
วันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ และเป็นโอกาสดีที่เราได้มาคุยกัน เรื่อง"พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ" ผมคิดว่าก็คงมองเรื่องสิทธิผ่านกรณีคุณจินตนา ในรอบหลายวันที่ผ่านมา หรือในช่วงที่ผ่านมามีประเด็นในการพูดเรื่องของรัฐธรรมนูญ ถ้าผมจะแยกเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ก็จะแยกได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ส่วนที่สองคือเรื่องของการจัดองค์กร

เรื่องการจัดองค์กรของรัฐเป็นประเด็นปัญหามากว่า จะแก้โน่นนี่ แต่เรื่องสิทธิเสรีภาพมีประเด็นน้อยมากว่าจะแก้อะไรหรือไม่ ผมเรียนอย่างนี้ครับว่าประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพนั้น ประเด็นใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การแก้ แต่อยู่ที่การเอาไปใช้และความเข้าใจขององค์กรที่ใช้นั้นตีความสิทธิเสรีภาพอย่างไร นี่คือประเด็นใหญ่ในสิทธิเสรีภาพซึ่งเราเห็นได้ว่ามันต่างจากเรื่องการจัดการบุคคล

เมื่อปัญหาในส่วนสิทธิเสรีภาพมันเป็นปัญหาขององค์กรผู้ใช้ ตรงนี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ ไม่ว่าในกรณีของศาลเกิดปัญหาของการใช้ การตีความ เกิดปัญหาความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่มีผลต่อการใช้การตีความค่อนข้างมาก

ก่อนที่จะเข้าไปสู่ปัญหา ผมอยากจะแยกให้เห็นเรื่องสิทธิเสรีภาพก่อน ว่ามันแยกได้หลายมิติ ผมจะแยกในแง่มิติของการใช้ แยกได้ 3 มิติ

1. สิทธิเสรีภาพที่ใช้เพื่อปัจเจกบุคคล
2. สิทธิเสรีภาพที่ใช้เพื่อชุมชน เพื่อกลุ่มบุคคล
3. สิทธิเสรีภาพที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ

อันดับแรก ผมขอเริ่มจากสิทธิเสรีภาพที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะก่อนว่า เป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด ยกตัวอย่างสิทธิของผู้แทนที่เป็นของปวงชนชาวไทย ในมาตรา 149 สส. เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย อันนี้เป็นสิทธิของ สส.ที่ใช้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะ เพื่อตรวจสอบรัฐบาล เพื่ออะไรต่างๆ
(หมายเหตุ : มาตรา 149 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย)

แต่สิทธิเสรีภาพนี้ถูกทำหมันโดยรัฐธรรมนูญ ถูกทำหมันยังไง ถูกทำหมันเพราะมันต้องเขียนต่อให้สมบูรณ์ คุณเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยคุณมีสิทธิก็จริงแต่ภายใต้มติพรรค เพราะฉะนั้นใครฝืนมติพรรคต้องโดนไล่ออก พอไล่ออกก็ขาดสมาชิกภาพ เพราะฉะนั้นอันนี้คือสิทธิที่ใช้เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ และท้ายสุดมันถูกทำหมัน ใช้ไม่ได้ ก็ใครล่ะที่จะกล้าฝืนมติพรรค

อันที่สอง สิทธิเสรีภาพที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ คือสิทธิของสื่อมวลชน มันใช้เพื่อควบคุมการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งตอนนี้มันถูกฟ้องร้องกันกระเจิง แม้ว่าจะถูกถอนฟ้องไปแล้วบ้างก็ตาม แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า การใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ท้ายที่สุดมันมีความสุ่มเสี่ยงเพราะท้ายที่สุดมันไปกระทบอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นมิติใดก็ตาม เพราะฉะนั้นตรงนี้นี่เองถ้าเรามองความขัดแย้งของสิทธิที่ใช้เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ถ้าไปกระทบกับปัจเจกบุคคล โดยหลักแล้วต้องถือว่าสิทธิที่ใช้เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะอยู่ในสถานะที่มีความสำคัญมากกว่า

สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมี 2 สถานะ สถานะที่เป็นบุคคลธรรมดากับสถานะที่เป็นผู้นำของรัฐบาล เพราะฉะนั้นตรงนี้เองความเป็นส่วนบุคคลก็ต้องถูกบีบเข้ามา ลีบเข้ามาเล็กเข้ามา เพื่อให้มีพื้นที่ของส่วนบุคคลนั้นแคบลงเพราะเป็นบุคคลสาธารณะ ในการที่จะพูดวิพากษ์วิจารณ์ได้ อันนี้คือสิทธิที่มันใช้เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ท้ายที่สุดสิทธิกลุ่มนี้จะถูกทำหมัน ถูกจำกัด ถูกโต้แย้ง

ประการต่อมา ในระดับชุมชนจะเห็นว่ามันมีปัญหาในการใช้สิทธิในระดับชุมชนค่อนข้างมาก คำถามแรกที่เกิดก็คือว่าชุมชนในรัฐธรรมนูญมันมีหรือไม่ หลายเสียงก็ตั้งคำถามว่ามันมีแต่บุคคลที่รวมกันในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ฝ่ายแรกก็บอกว่ามันมีจริงหรือไม่ชุมชน แต่มันจะมีหรือไม่ก็ตาม ในวิถีชีวิตจริงมันมีอยู่ ในความเป็นจริงมันมีอยู่

เพราะฉะนั้นการใช้สิทธิในระดับชุมชนตรงนี้ มันไม่ได้ใช้สิทธิเพื่อตอบสนองสิทธิของปัจเจกบุคคลโดยตรง แต่มันใช้เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะในระดับชุมชน การใช้สิทธิในกลุ่มนี้มีความสุ่มเสี่ยงอยู่เหมือนกัน ในการไปโต้แย้งกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลและรวมไปถึงอำนาจรัฐ ท้ายที่สุดก็นำมาสู่การสูญเสียอะไรต่างๆมากมาย ในระดับผู้นำชุมชน

ผมว่า 2 ระดับนี้ที่มันมีปัญหาในแง่ของการใช้สิทธิและนำไปสู่การขัดแย้งกับอำนาจรัฐ อำนาจท้องถิ่น หรืออิทธิพลผลประโยชน์อะไรก็ตามแต่

การใช้สิทธิของปัจเจกบุคคล ผมว่ามันมีปัญหาของการใช้การตีความมาก ผมขอยกตัวอย่างสักคดีหนึ่ง ท่านคงเคยได้ยินคดีที่ทนายความเป็นโปลิโอแล้วไปใช้สิทธิสมัครสอบเป็นผู้พิพากษา เป็นอัยการ คดีนี้ทนายความที่เป็นโปลิโอได้มีการสู้กัน 3-4-5 ศาล ผมอยากชี้ให้เห็นว่าศาล 2-3 ศาลที่ตีความเรื่องนี้ 3 ศาลได้ตีความกันไปคนละทิศละทาง ผมจะยกให้ดู

เรื่องนี้มันมีการโต้แย้งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่ากฎหมายระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ที่เขียนว่าผู้ที่สมัครต้องมีคุณสมบัติดังนี้ ในวงเล็บประมาณวงเล็บ 10 ของมาตรา 26 บอกว่า "มีร่างกายที่เหมาะสม" เขาก็โต้แย้งว่าการเขียนแบบนี้มันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 คือขัดกับหลักความเสมอภาค ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าไม่ขัด ไม่เป็นไรนะครับ ตีความอย่างนั้นไม่เป็นไร แต่ท่านเดินต่อครับบอกว่า
(มาตรา 30 : บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน. การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้…)

การที่ กต.(คณะกรรมการตุลาการ)บอกว่า มีมติปฏิเสธไม่ให้ทนายความที่เป็นโปลิโอไปสอบ เป็นการกระทำที่ทำได้เพราะว่า ท่านบอกว่าตำแหน่งผู้พิพากษา เป็นตำแหน่งที่ทำในพระปรมาภิไธย มีสถานะพิเศษ จึงใช้กระบวนการพิเศษในการคัดเลือกคนได้ หลักเกณฑ์คืออะไรครับ ผมจะสรุปสิ่งสำคัญที่ใช้เป็นเกณฑ์คือว่า

บุคคลที่สถานะเหมือนกัน มีสาระสำคัญเหมือนกัน ควรจะได้รับการปฏิบัติเหมือนกันนี่คือหลักความจริง ตรงนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะบอกว่าตำแหน่งผู้พิพากษานั้นมีสถานะพิเศษ เพราะฉะนั้นเขาสามารถจะเลือกปฏิบัติได้ เพราะมันเป็นตำแหน่งพิเศษที่ทำในพระปรมาภิไธย ท่านเห็นเกณฑ์ไหมครับ ศาลบอกว่าตำแหน่งนี้มันพิเศษ ดังนั้นเลือกแตกต่างจากคนอื่นได้ อันนี้คือศาลรัฐธรรมนูญ

ถามว่าอาชีพอื่นตำแหน่งอื่นปฏิเสธเพราะความพิการไม่ได้เหรอครับ ผมยกตัวอย่างผมจะจ้างเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีดสักคน คนมาสมัครแขนขาดไปสองข้าง ผมปฏิเสธได้ไหม? ปฏิเสธได้ ทุกอาชีพปฏิเสธได้เพราะความพิการได้ ไม่ใช่เฉพาะผู้พิพากษา แต่เกณฑ์มันอยู่ตรงไหน นี่คือเกณฑ์ของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้มีการไปฟ้อง ทนายที่เป็นโปลิโอก็ไปสมัครเป็นอัยการ กอ.คณะกรรมการอัยการเขาก็ปฏิเสธเหมือนกันว่า มีร่างกายไม่เหมาะสม ทนายความคนดังกล่าวเขาก็ฟ้องไปที่ศาลปกครอง ศาลปกครองก็ฟ้องไปที่ศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองชั้นต้นบอกอย่างนี้ครับ บอกว่า

เมื่อเปรียบเทียบคนพิการกับคนไม่พิการแล้ว จะเห็นว่ามีความต่างกันในสาระสำคัญระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการ เพราะฉะนั้นมติ กอ.ที่ออกมาปฏิเสธจึงชอบแล้ว เกณฑ์ของศาลปกครองฟังดูแล้วเป็นอย่างไรครับ เอาคนพิการมาเปรียบเทียบกันคนไม่พิการ แล้วบอกว่ามันแตกต่างกัน ดังนั้นมติในการปฏิเสธจึงชอบ ท่านเห็นเกณฑ์ไหมครับ ศาลรัฐธรรมนูญนั้นเกณฑ์หนึ่ง ศาลปกครองก็มีอีกเกณฑ์หนึ่ง

และทนายความโปลิโอก็อุทธรณ์ไปที่ศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดบอกว่า ถ้าจะชี้กันนั้นต้องเอาภาระงานตั้ง อัยการทำอะไรบ้างครับ เมื่อเอาภาระงานตั้ง เอาความสามารถของบุคคลมาทาบดู ว่าความสามารถมาทาบกับภาระงานนั้นสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้และไปปฏิเสธเขา เท่ากับมตินั้นไม่ชอบ ทีนี้เมื่อศาลปกครองสูงสุดวางเกณฑ์อย่างนี้ ภาระงานของอัยการเป็นอย่างไร ทนายความคนนี้ประกอบอาชีพทนายความมาเป็น 10 กว่าปีแล้ว ถามว่าภาระงานของอัยการกับทนายความมีความต่างกันมากไหม แทบไม่ต่างเลย เมื่อเขาประกอบอาชีพทนายความได้ ไฉนเขาจึงจะประกอบอาชีพเป็นอัยการไม่ได้ แต่ก็ปรากฏว่าไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในตรงนี้ ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาว่ามติของ กอ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เพราะฉะนั้นตรงนี้ประเด็นเดียว ผมยกเพื่อให้เห็นประเด็นเดียวว่าของไทยมันมีปัญหาเรื่องของการใช้การตีความเรื่องสิทธิเสรีภาพ เนื่องจากกลไกเรื่องสิทธิเสรีภาพ ฟันเฟืองนี้มันไม่เคยขยับ มันไม่เคยหมุน เรื่องความเสมอภาคแทบไม่มีประเด็นขึ้นไปที่ศาล พอขึ้นไปเราหาเกณฑ์ไม่ได้ว่าจะเอาอะไรมาวัดมาทาบ เพราะว่ามันเลือกปฏิบัติ มันไม่มีเกณฑ์ ดังนั้นตรงนี้เมื่อไม่มีเกณฑ์มาทาบจึงอาศัยทัศนคติเดิม ๆในการมอง แต่ไม่ได้มองเกณฑ์ในทางกฎหมายที่มันให้ความยุติธรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเป็นปัญหาในการใช้การตีความเรื่องสิทธิเสรีภาพค่อนข้างมาก

อีกประเด็นที่อยากจะยกซึ่งเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ คือ เวลาเราพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเขียนไว้ในมาตรา 27 บอกว่าอำนาจรัฐทั้งหลายผูกพันต่อสิทธิเสรีภาพ ถามว่าทำไมต้องไปเขียนแบบนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 ทำไมต้องเขียนไว้ ที่ต้องเขียนไว้เพราะอะไร ก็เพราะตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญ 2475 จนมาถึง 2539 การใช้การตีความหมวดสิทธิเสรีภาพนั้น เรามองว่ามันเป็นเพียงถ้อยคำสวยหรูที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ แต่มันไม่มีภาคบังคับ มันเป็นเพียงสายลมแสงแดด เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญ 40 จึงต้องบังคับบอกว่ามันผูกพันโดยตรง ทีนี้เมื่อมันผูกพันโดยตรง ถามว่ามันผูกพันอะไรครับ
(มาตรา 27 : สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นๆของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง)

ถ้าท่านไปดูในรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพ มันมีขอบเขตแห่งสิทธิเสรีภาพอยู่ มันมีวัตถุที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง ส่วนนั้นแหละเป็นส่วนที่ผูกพันกับการใช้อำนาจรัฐทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ มาตราที่สะท้อนให้เห็นว่ามันผูกพันคือมาตรา 29 แสดงว่าวัตถุแห่งสิทธิเสรีภาพนี้มีอยู่ ถ้าคุณจะตรากฎหมายไปกระทบตรงนี้ ไอ้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ แสดงว่ามันมีขอบเขตมีวัตถุแห่งการคุ้มครองอยู่ ถ้าเขาใช้ขอบเขตของสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่เป็นการไปปิดกฎหมายอื่น ตรงนี้เป็นปัญหามากในการตีความ
(มาตรา 29 : การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิแลเสรีภาพนั้นมิได้)

ที่คุณไพโรจน์ยกมาเรื่องสิทธิเสรีภาพก็ดี ที่เอ็นจีโอใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้วไปกระทบบุคคลอื่นแล้วบอกว่าเป็นการละเมิด เรียกค่าเสียหายมากมายมหาศาล มันเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิเสรีภาพกับการตีความกฎหมายที่ต่ำกว่า ผมขอยกตัวอย่าง เขาใช้เสรีภาพมาตรา 44 คือเสรีภาพในการชุมนุม เขาบอกว่าถ้าบุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มาตรา 44 มันไปสัมพันธ์กับความผิดในทางกฎหมายอาญา บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดการจลาจลในบ้านเมือง มีความผิดตามกฎหมาย

ถามว่าจุดแบ่งระหว่างเสรีภาพในการชุมนุมในมาตรา 44 กับอาญามันอยู่ตรงไหน ถ้าเราปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตีความ ขาข้างหนึ่งของเราก็อยู่ในตารางแล้ว จุดแบ่งมันอยู่ตรงไหน ในการที่จะแยกว่านี่คือการใช้เสรีภาพในการชุมนุม หรือการก่อให้เกิดการจลาจลวุ่นวาย เฉกเช่นเดียวกันกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน…ตามมตรา 39 มันมีกฎหมายแพ่งคือล่วงละเมิด จุดแบ่งมันอยู่ตรงไหนครับในการตีความกฎหมาย 2 เรื่องนี้. คุณใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่อีกด้านหนึ่งไปละเมิดเขา จุดแบ่งของ 2 อันนี้อยู่ตรงไหน นี่คือความสัมพันธ์ของกฎหมายสูงกับกฎหมายรัฐ
(มาตรา 39 : บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น. การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน…)

ที่ผ่านมาการใช้กฎหมายของศาลแทบไม่เอารัฐธรรมนูญมาใช้เลย เราจะดูอะไรครับ เราจะดูว่าผิด 216 หรือไม่อาญา เราจะดูว่าผิดละเมิด 420 หรือไม่ ตรงนี้เองครับคือการใช้การตีความกฎหมาย โดยดูจากกฎหมายที่ต่ำกว่า โดยที่เราไม่เคยไปดูกฎหมายที่สูงกว่า ตรงนี้แหละที่เขาเขียนว่าสิทธิเสรีภาพมันผูกพัน หมายความว่าคุณต้องใช้จากกฎหมายที่สูงกว่า เมื่อใดก็ตามที่เขาใช้เสรีภาพชุมนุมอยู่ขอบเขตของ ม.44 คุณเลิกพูดเลยครับว่ามันจะเป็นคดีอาญา เพราะ 2 อันนี้มันจะไม่ขัดแย้งกัน

การใช้เสรีภาพในการชุมนุมย่อมไม่ไปขัดแย้งถ้าเขาใช้อยู่ในกรอบ ย่อมไม่มีทางที่จะไปผิดจลาจล เพราะเขาใช้เสรีภาพอยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกัน ถ้าเขาใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในกรอบของรัฐธรรมนูญมันไม่เกิดการละเมิด เพราะเขาใช้เสรีภาพอยู่ในกรอบ

ถ้าเราตีความอย่างนี้ แสดงว่าเราตีความว่ามันมีขอบเขตซึ่งมันปกครองอยู่ ถ้ามาใช้ในขอบเขตตรงนี้ก็ไม่ต้องดู ม.216 ครับ ไปดู ม.420 แต่ของไทยมันใช้โดยดู ม.216 ก่อนแล้วไปละเลย ม.44 ดู ม.420 แล้วไปละเลย ม.35 เพราะฉะนั้นตรงนี้ที่เป็นปัญหาในการตีความกฎหมายของไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราละเลยไม่เคยดูสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่ามันมีขอบเขตในการคุ้มครองแค่ไหนเพียงใด แล้วไปใช้กฎหมายระดับล่างตีความ ยกตัวอย่างการฟ้องคุณสุภิญญา

ถ้าเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อประโยชน์สาธารณะอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญย่อมไม่ไปละเมิด 420 เพราะถ้าเค้าใช้สิทธิเสรีภาพใน ม.39 เป็นการใช้เสรีภาพอยู่ในขอบเขต มันจะไปละเมิดได้อย่างไร เพราะเป็นการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ เพราะฉะนั้นตรงนี้เองเราจะเห็นว่าท้ายที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับกฎหมายที่ต่ำกว่า มันนำไปสู่ประเด็นอะไร มันนำไปสู่ว่า ท้ายที่สุดปัจเจกกับบุคคลก็ถูกผูกพันกับสิทธิเสรีภาพ ตรงนี้หมายความว่าอะไร

ตรงนี้หมายความว่าจริง ๆ แล้วสิทธิเสรีภาพมันผูกพันกับอำนาจรัฐ ผูกพันอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่โดยผลของการใช้การตีความกฎหมายอย่างนี้เองมันผูกพันกับปัจเจกบุคคลด้วย หมายความว่าถ้าเขาใช้เสรีภาพนั้นแล้ว ไปกระทบกับคนอื่น คุณต้องยอมรับ เขาใช้เสรีภาพสื่อในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำรัฐบาล มันไปกระทบท่าน ๆ ต้องยอมรับ ตรงนี้เองสิทธิเสรีภาพมันไปผูกพันกับปัจเจกบุคคลด้วยในทางอ้อม คุณต้องยอมรับว่าเค้าใช้เสรีภาพอยู่ในกรอบ เมื่อไปกระทบคุณต้องยอมรับว่านี่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ

เพราะฉะนั้นปัญหาการใช้การตีความนี้เอง ยกตัวอย่างในคดีท่อก๊าซจะนะ คดีนี้นอกจากจะมีการฟ้องที่ศาลจังหวัดสงขลา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจฟ้องกลุ่มผู้ชุมนุมว่าเป็นการจลาจลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ในขณะเดียวกันนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมก็ฟ้องบอกว่าคำสั่งให้สลายการชุมนุมนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรื่องนี้ฟ้องที่ศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองสงขลาตีความว่า ถ้ามันเป็นคำสั่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มันไม่อยู่ในเขตของศาลปกครอง ศาลปกครองตีความว่าคำสั่งให้สลายการชุมนุมนั้นเป็นคำสั่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

ทีนี้เราจะแยกอย่างไรกับเรื่องทางปกครอง กับเรื่องทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ศาลปกครองก็บอกว่า ก็เมื่อเจ้าหน้าที่เขาเห็นว่าการชุมนุมนั้นมันเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา แสดงว่ามันมีความผิดในทางกฎหมายอาญาเกิดขึ้นแล้ว ตรงนี้อันตราย ถ้าเรามองว่า มันผิดหรือไม่ผิด ขึ้นอยู่กับการตีความของเจ้าหน้าที่

ทุกการชุมนุม เจ้าหน้าที่มองว่าเข้าข่ายชุมนุมผิดกฎหมายอาญาหมดเลย ถ้าเราปล่อยให้การตีความเช่นนั้นอยู่กับทัศนะในการตีความของเจ้าหน้าที่ เพราะเรียนได้เลยว่าทุกการชุมนุม เจ้าหน้าที่จะบอกว่าเป็นการก่อความวุ่นวายหมด แสดงว่าขาข้างหนึ่งของผู้ชุมนุมอยู่ในคุกแล้ว เพราะเราปล่อยให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ตีความ เจ้าหน้าที่ก็ตีความอยู่ร่ำไปว่านี่เป็นการก่อความวุ่นวาย นี่คือทัศนะ

และถ้าเราปล่อยให้ใช้การตีความแบบนี้ ท้ายที่สุดเป็นอย่างไรครับ เสรีภาพตามมาตรา 44 ก็เกิดไม่ได้ ถ้าเราปล่อยให้เกิดมีการใช้การตีความ เสรีภาพตามมาตรา 44 จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เพราะฉะนั้นตรงนี้เองเป็นการปล่อยให้กฎหมายที่ต่ำกว่าไปลบล้างกฎหมายที่มันสูงกว่า ทำให้เสรีภาพที่มันมีขอบเขตที่กฎหมายคุ้มครองอยู่ถูกลบออกจากรัฐธรรมนูญ

ขอยกตัวอย่างอีกคดี คือโรงไฟฟ้าที่แก่งคอย ที่เขาใช้เสรีภาพในการคัดค้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้า เขาก็ทำข้อมูลออกมา มีการอาศับ พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งแวดล้อม มาตรา 101 บอกว่าการเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบกิจการซึ่งมันมีความผิดทางอาญาอยู่ มาตรานี้มันไปกระทบกับมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าเราเอาอาญาไปบอกว่าการที่คุณใช้เสรีภาพแสดงข้อมูลอย่างนี้ผิดอาญา ถ้าเราไม่ตีความ ม.39 ตอนท้ายสุดเป็นยังไงครับ มาตรา 101 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมมันก็ไปลบล้าง ม.39 เพราะมันมีความผิดทางอาญา

เพราะฉะนั้นตรงนี้เองผมถึงว่าลำดับชั้นของการตีความกฎหมายมันต้องตีจากสูงมาก่อน ไม่ใช่คุณตีความกฎหมายอาญาที่มันมีความผิดแล้วไปลบล้างสิทธิเสรีภาพ ถ้าเรายังใช้อย่างนั้นท้ายที่สุดกฎหมายที่มันผิดทางอาญามันไปลบล้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญหมด ถ้าเรายังใช้การตีความอย่างนี้ อันนี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ในการใช้การตีความในเรื่องสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญกับกฎหมายที่อยู่ในระดับชั้นที่ต่ำกว่า

สรุปตรงนี้ว่าสิทธิเสรีภาพรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนร่ม….ซึ่งกฎหมายอื่น ๆ นั้นอยู่ต่ำกว่า มันอยู่ภายใต้ร่มอันนี้ ถ้าจะตีความต้องตีความภายใต้ร่มนั้น ไม่ใช่เอากฎหมายหมายต่ำกว่ามาเป็นร่ม แล้วไปคลุมสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดตรงนี้ก็คือมาตรา 27 ที่บอกว่าอำนาจรัฐผูกพันต่อสิทธิเสรีภาพ เราจะต้องตีความเสมอว่า คำว่าผูกพันนั้นหมายความว่า คุณต้องถูกตรวจสอบได้เสมอ ประเด็นอยู่ตรงนี้ ยกตัวอย่าง อำนาจนิติบัญญัติไปตรากฎหมายฉบับหนึ่งคือร่าง พ.ร.บ.ทางหลวง กฎหมายฉบับนี้บอกว่าถ้าจะมีการชุมนุมในเขตทางหลวง แล้วก็มีการนิยามว่าเขตทางหลวงหมายความว่าอะไรบ้าง มี 7 ประเภท สรุปเลยว่าทางสาธารณะทั้งหลายเป็นทางหลวง

กฎหมายฉบับนี้บอกว่าถ้าจะชุมนุมในเขตทางหลวง ต้องขออนุญาตจากผู้อำนวยการเขตทางหลวงก่อน ถามว่ากฎหมายอันนี้ไปขัดต่อเสรีภาพ ม.44 หรือไม่ คือแต่เดิมประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้ความสงบ และปราศจากอาวุธ แต่พอกฎหมายนี้ออกมาแสดงว่า เวลาคุณจะชุมนุมคุณต้องไปขออนุญาตก่อน มันไปกระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิหรือไม่ มันเป็นการไปจำกัดสิทธิที่จำเป็นไหมครับ

ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าเกิดอำนาจนิติบัญญัติอาจจะไปกระทำการขัดกับสิทธิเสรีภาพได้ หลักของเสรีภาพเขาถูกตรวจสอบไปที่ศาลรัธรรมนูญได้ ศาลรัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ดีอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้ยึดในเชิงหลักการก่อน อำนาจทุกอำนาจถูกตรวจสอบควบคุมได้ แสดงว่ากรณีนี้คุณไปออกกฎหมาย มันไปจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าที่จำเป็นหรือไปกระทบสายสัมพันธ์แห่งสิทธิ คุณถูกควบคุมตรวจสอบได้ อันนี้ประการที่หนึ่ง หลักควบคุมตรวจสอบ มันผูกพันมันต้องถูกควบคุมตรวจสอบได้

ประการที่สอง อำนาจบริหาร ตรงนโยบายมันอาจจะถูกควบคุมตรวจสอบโดยศาลปกครองไม่ได้ แต่มันถูกควบคุมตรวจสอบในทางการเมือง แต่ทันทีที่เราแปลงนโยบายมาสู่การกระทำ เช่น มีนโยบายในการที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จากตัวนโยบายมาสู่การกระทำออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกา ตัวพระราชกฤษฎีกามันถูกควบคุมตรวจสอบโดยศาลปกครองได้ ท้ายที่สุดตัวนโยบายมันไม่มีผลโดยตรง มันต้องผ่านการกระทำของเจ้าหน้าที่ อาจจะเป็นพระราชกฤษฎีกา อาจจะเป็นการกระทำทางปกครอง เหล่านี้มันจะถูกควบคุมตรวจสอบได้

เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็นำไปสู่การควบคุมตรวจสอบได้ สององค์กรนี้ไม่เป็นปัญหา ที่เป็นปัญหาคือองค์กรตุลาการ ถามว่าถ้าองค์กรตุลาการใช้สิทธิเสรีภาพ ใช้อำนาจในการตีความทางกฎหมายขัดต่อสิทธิเสรีภาพใครควบคุมตรวจสอบ นี่เป็นปัญหา ถ้าศาลชั้นต้นใช้อำนาจขัดต่อสิทธิเสรีภาพ องค์กรที่ตรวจสอบสูงขึ้นไปคือศาลอุทธรณ์ ศาลสูงขึ้นไป แต่ถ้าศาลสูงหรือศาลฎีกาทำใครเป็นผู้ตรวจสอบ นี่คือประเด็นปัญหา

การใช้อำนาจองค์กรตุลาการขัดต่อสิทธิเสรีภาพได้หรือไม่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพได้หรือไม่ ผมยืนยันตรงนี้ว่า การใช้อำนาจขององค์กรตุลาการเป็นการใช้อำนาจมหาชนอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะไปขัดต่อสิทธิเสรีภาพก็ได้ ขอยกตัวอย่างครับ มันอาจจะขัดได้ใน 2 มิติ

มิติแรก ขัดต่อสิทธิเสรีภาพในแง่ของกระบวนวิธีพิจารณาเบื้องต้นเลย วิธีพิจารณาความถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเบื้องต้น คนใช้อำนาจศาลโดยไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้โต้แย้ง อันนี้คือการใช้อำนาจมหาชนที่ไปกระทบกับสิทธิในการพิจารณาคดีเบื้องต้น ท้ายสุดทำให้จำเลยแพ้คดี อย่างนี้ถือว่าเป็นการใช้อำนาจตุลาการไปกระทบกับสิทธิขั้นพื้นฐาน เขาโต้แย้งได้ หรือคุณใช้สิทธิเสรีภาพในการตีความสิทธิในเรื่องนั้นๆ ขัดกับรัฐธรรมนูญ

ผมขอยกตัวอย่างในต่างประเทศ ในเยอรมันมีคดีหนึ่ง มีการจะไปสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ฝ่ายปกครองก็ออกคำสั่งเลยครับ ว่าในพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตรห้ามชุมนุม เค้าก็ฟ้องไปศาลปกครอง ศาลปกครองบอกว่าออกคำสั่งมาถูกต้องเหมาะสมแล้ว และได้มีการอุทธรณ์ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายเมื่อไปถึงศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดบอกว่า ที่คุณไปห้ามเขา 100 ตารางกิโลเมตรนั้นเกินไป เอาสัก 30 ตารางกิโลเมตรก็พอ ตรงนี้มันเป็นการใช้การตีความทางกฎหมายในเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมซึ่งอาจจะขัดกันอยู่ แต่เนื่องจากของเยอรมันเมื่อศาลปกครองสูงสุดเขาตัดสินแล้ว เขายังมีสิทธิที่จะเชื่อมต่อไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนวินิจฉัยสุดท้ายเพราะมันเป็นการใช้การตีความรัฐธรรมนูญ

ท้ายที่สุดเรื่องนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลบอกว่าคุณไปจำกัด 30 ตารางกิโลเมตรมากไป คุณเอาเฉพาะเขตที่จะสร้างโรงงานก็พอแล้ว ท้ายที่สุดการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น ศาลปกครองสูงสุดของเยอรมันก็อาจจะใช้ขัดรัฐธรรมนูญได้ เค้าถึงให้ศาลใดศาลหนึ่งเป็นคนมาตีความสุดท้าย เพื่อให้มันเกิดวามเป็นเอกภาพ ตรงนี้มันมีความสำคัญ เพราะศาลแต่ละศาลอาจจะสิทธิเสรีภาพในการตีสิทธิเสรีภาพขัดแย้งกันได้

ยกตัวอย่างที่เกิดในเยอรมัน ศาลยุติธรรมบอกว่า คนที่ผูกพันกับสิทธิเสรีภาพหมายเฉพาะอำนาจรัฐเท่านั้น ศาลยุติธรรมสูงสุดก็ตีความไปทางหนึ่ง ศาลแรงงานก็ตีความไปทางหนึ่งบอกว่ารวมถึงนายจ้างด้วย ถ้าเป็นศาลไทยมันก็จะหยุดอยู่ตรงนี้ ศาลปกครองสูงสุดตีความไปทาง ศาลยุติธรรม ศาลฎีกาตีความไปทาง มันไม่มีจุดไป แต่ของเยอรมันไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า โดยตรงนั้นผูกพันกับอำนาจรัฐ และโดยทางอ้อมผูกพันกับคนอื่นได้

ประเด็นของไทยตอนนี้ มีคำถามว่าอำนาจตุลาการละเมิดสิทธิเสรีภาพได้หรือไม่ ผมสรุปได้ว่า อำนาจตุลาการก็ละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ ไม่ว่าจะในแง่ของหลักวิทยาพื้นฐานหรือตีความสิทธิเสรีภาพไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ท้ายที่สุดของไทยไม่มีจุดที่จะนำไปสู่ให้ศาลใดศาลหนึ่งมาใช้ แต่ต้องเรียนตรง ๆ ว่าของไทยในสภาพการณ์อย่างนี้ไม่น่าไว้วางใจให้ไปศาลรัฐธรรมนูญตีความหรอกครับ แต่ว่ามองในเชิงหลักการก่อนครับว่า อำนาจตุลาการย่อมกระทบต่อสิทธิเสรีภาพได้ในสองนัยะ

นัยะหนึ่ง ไปละเมิดหลักการวิธีการพิจารณา
นัยะที่สอง คุณใช้คติความคิดขั้นพื้นฐานตีความไม่ถูกต้อง มันทำให้ขอบเขตสิทธิเสรีภาพมันแคบลง จำกัดลงหรือใช้ไม่ได้ ถ้าตีความเช่นนั้น มันเป็นการใช้อำนาจมหาชนไปกระทบสิทธิเสรีภาพ

ในกรณีของคดีคุณจินตนา เป็นไปได้ที่จะใช้การตีความของศาลอุทธรณ์ ถูกต้องหรือไม่ในแง่ของหลักพื้นฐานในการพิจารณา ถ้าไม่ถูกต้องมันก็คือการใช้อำนาจไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้ ผมจึงขอยกประเด็น 2-3 ประเด็นนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า สิทธิเสรีภาพของไทยในแง่หลักกฎหมายที่เขียนอยู่มันค่อนข้างสมบูรณ์ แต่มันมีปัญหาในระดับที่ 2 คือระดับของการใช้การตีความ รวมไปถึงองค์กรที่จะมา review ด้วย

อ.ไพสิฐ พาณิชยกุล :
สำหรับคนต่อไปขอเรียนเชิญ อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งจะพูดถึงเรื่องของรัฐธรรมนูญต่อ และหลังจาก อ.สมชายแล้ว ท่านอาจารย์คณิต ณ นคร จะมีประเด็นมาเสริมในตอนท้าย หลังจากนั้นจะเปิดให้มีการซักถามสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ขอเรียนเชิญ อ.สมชายครับ

ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล :
ผมคิดว่าการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มันเกิดสงครามการแย่งชิงความหมายตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง"ประชาชน"กับ"องค์กรเจ้าหน้าที่รัฐ". หลัง 2540 มีประชาชนเคลื่อนไหวและใช้รัฐธรรมนูญเป็นฐานในหลายเรื่อง อาทิเช่น เรื่องสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วม การตีความของชาวบ้านในการใช้รัฐธรรมนูญกับองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรในกระบวนการยุติธรรม ทำอย่างไรกับมัน ผมคิดว่าหลัง 2540 เป็นต้นมา อันนี้เป็นปัญหาใหญ่

สำหรับผมมี 3 ประเด็นคือ

ประเด็นแรก มันมีกระบวนการที่ทำให้รัฐธรรมนูญไร้ความหมายลงโดยกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาผมเข้าใจว่าวิทยากรหลายท่าน ได้พูดในหลายกรณีที่เป็นแนวโน้มในแง่ดี ผมคิดว่าส่วนใหญ่หรือกระแสหลักในสถาบันกระบวนการยุติธรรม ในสถาบันศาสตร์ ผมคิดว่ายังเดินตามแนวทางที่เป็นในลักษณะ ที่ยังคิดถึงสิทธิของประชาชนน้อย

ตัวอย่างคดีหนึ่งที่เชียงใหม่ คดีนี้ขึ้นศาล ปี 2541-2544 คดีแรกเป็นชาวเขาตัดไม้ โดยเข้าไปขออนุญาตคณะกรรมการป่าชุมชน แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เห็นเข้าจึงจับ ชาวบ้านบอกอันนี้เป็นการใช้สิทธิชุมชนตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จับโดยอาศัย พ.ร.บ.ป่าไม้ ซึ่งศาลตัดสินปี 2544 จำเลยสู้ 3 เรื่องใหญ่ คือ

1. ไม่รู้กฎหมาย
2. อ่านภาษาไทยไม่ออก ไม่รู้ว่าตรงไหนเขตป่า
3. ใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ

ศาลตัดสินจำคุก 6 เดือน รอลงอาญา วินิจฉัยประเด็นเรื่องไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้ภาษาไทย ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนไม่ได้วินิจฉัย ซึ่งสำหรับเรื่องนี้หากจะมีการตีความอะไร เกี่ยวกับเรื่องของสิทธิชุมชนก็ว่าไปอย่าง แต่อันนี้ไม่ได้วินิจฉัยเลย ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยทุกประเด็น เห็นด้วยไม่เห็นด้วยต้องวินิจฉัย แต่คดีนี้ไม่ได้วินิจฉัย

มีอีกคดีหนึ่งซึ่งคู่กันมา ชาวบ้านไปเอาไม้ล้มในป่า ได้ขออนุญาตคณะกรรมการป่าชุมชนเหมือนเดิม แต่เหตุเกิดคนละพื้นที่นะครับ อันนี้เป็นคำให้การ คือเอาขวานไปถาก ๆ ไม้ล้มมา 7 ปีแล้ว ถากเสร็จแบกไม้กลับบ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาเหมือนเดิม จับกุมข้อหาตาม พ.ร.บ.ป่าไม้คือแปรรูปไม้ เท่ากับว่าการใช้ขวานอันเดียว มันถูกกล่าวหาว่าทำเป็นโรงงานได้เลย ชาวบ้านสู้เหมือนเดิม คือไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้ภาษาไทย และสู้ว่าอันนี้ไม่ได้แปรรูปไม้ ขวานอันเดียวจะแปรรูปไม้ได้อย่างไร ไม้ล้มมาตั้ง 7 ปีแล้ว และสู้เรื่องสิทธิชุมชนมาตรา 46

ศาลตัดสินปี 2546 ในระหว่างที่สู้คดี ผลปรากฏว่าคดีแรกไม่ตัดสินเรื่องสิทธิชุมชนเลย ก็เปลี่ยนทนาย ทนายอีกคนก็แนะนำว่าอย่าสู้เรื่องสิทธิชุมชน รับสารภาพดีกว่า เพราะจะได้รอลงอาญา ตอนหลังชาวบ้านเลยเปลี่ยนใจรับสารภาพ จำคุก 1 ปี ปรับ 1 หมื่นบาท โทษจำคุกก็รอลงอาญาไปก่อน คือสมมุติ ยกตัวอย่างเช่นคดีแรก ถ้าเกิดชาวบ้านสู้โดยสิทธิชุมชนแล้วชนะ คดีที่สองไม่รับสารภาพแน่ สู้เลยใช้สิทธิชุมชน แต่ปัญหาก็คือคดีแรกอย่าว่าแต่ตีความเลย วินิจฉัยยังไม่มีการวินิจฉัย

คดีที่ 2 ตอนผมเจอชาวบ้าน ผมก็ยุชาวบ้านให้สู้ต่อ อันนี้มันต้องพิทักษ์สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 46 แต่ชาวบ้านบอกไม่ติดคุกก็บุญแล้ว ถ้าผมติดคุกแล้วอาจารย์ติดคุกกับผมรึเปล่า ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ คือผมกำลังโยนภาระในการปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญไปให้ชาวบ้านเป็นผู้แบก ซึ่งไม่ยุติธรรม ผมคิดว่าแบบนี้คือ เวลาเราพิจารณารัฐธรรมนูญ เราพิจารณาตามตัวหนังสือไม่ได้ ตอนนี้สิ่งที่เราเผชิญมามากคือปัญหาในเรื่องของการตีความโดยองค์กรตุลาการ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และศาลปกครอง เรากำลังเผชิญกับปัญหานี้

ตัวอย่างเช่นการชุมนุม อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ เคยมีข้อพิพาทกับปตท. บริษัทที่ได้กำไรหลายหมื่นล้านในท่ามกลางสภาวะน้ำมันขึ้นพรวด ๆ ตอนสร้างท่อก๊าซจากพม่าเข้าไทย อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ก็ไปขวาง โดยอ้างสิทธิชุมนุมโดยสงบ เปิดมาตรา 44 ไป ชุมนุมไป ผลปรากฏว่าอาจารย์ ถูกฟ้อง พอถูกฟ้องอาจารย์อ้างมาตรา 44 เรื่องสิทธิในการชุมนุม

เมื่อสักครู่ศาลแพ่งในคดีจะนะ ศาลแพ่งตีความสิทธิการชุมนุมค่อนไปในทางบวก ผลปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความบอกว่า สำหรับการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่จำเลยจะได้รับความคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 นั้น จำเลยจะได้รับความคุ้มครองต่อเมื่อจำเลยไม่ได้ละเมิดต่อกฎหมาย หรือละเมิดสิทธิอันพึงมีโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลอื่น สิทธิในการชุมนุมมี แต่ต้องไม่ละเมิดต่อกฎหมายหรือสิทธิของคนอื่น

ผมนึกไม่ออกว่าการชุมนุมทำนองนี้ที่ไม่ละเมิดกฎหมายมันมีด้วยหรือ ตัวอย่าง สมมติเราเกลียดคุณทักษิณ เราไปชุมนุมประท้วง 11 คน ชุมนุมเกิน 10 คน ตำรวจอาจเข้ามาระงับ สมมติระหว่างชุมนุมอยู่เกิดปวดฉี่ แล้วฉี่ลงกลางถนน ผิดไหม ผิดข้อบัญญัติ กทม.ว่าด้วยการรักษาความสะอาด เกิดพูดไปพูดมา น้ำลายหนียวแล้วถุยลงถนน ผิดไหม คือมันมีการชุมนุมอะไร ที่ไม่ผิดต่อกฎหมาย มันไม่มี

ปัญหาคือผมคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นส่วนของสิทธิเสรีภาพ มันกำลังทำให้ถูกไร้ความหมายลงโดยการวินิจฉัยของศาล ซึ่งตอนนี้ผมคิดว่าเมืองไทยกำลังเผชิญกระแส คือมันมีด้านหนึ่งไปในทางที่ดูเหมือนว่ากำลังรับรองสิทธิเสรีภาพ แต่อีกด้านหนึ่งมันดึงไปทางที่ทำให้สิทธิเสรีภาพประชาชนหดแคบ ซึ่งจะปรากฏในหลายรูปแบบ เช่น

1. ไม่สนใจเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเลย
2. สนใจ แต่ตีวงให้แคบที่สุด

การชุมนุมเป็นตัวอย่าง คือชุมนุมได้ต้องไม่ผิดกฎหมาย หาไปเถอะ ไม่มีหรอก เวลาเราสิ้นสุดการชุมนุม เวลาเราคิดถึงเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่ถูกตีความโดยตุลาการ และมาตรฐานใด ๆ ก็ตาม ในทัศนะผมเชื่อว่าศาลมีแนวโน้มที่จะตีความไปในทิศทางแบบอำนาจนิยม บางครั้งมีการตีความที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชนบ้าง ประเด็นก็คือว่า ทำไมศาลถึงมีแนวโน้มที่จะตีความในทางที่ส่งเสริมอำนาจนิยม ผมมีคำตอบอยู่ 3 เรื่อง คือ

1. ระบบความรู้ในแวดวงนิติศาสตร์ไทย คือแวดวงนิติศาสตร์ไทย การเรียนการสอนจะเน้นการท่องจำ กฎหมายที่เรียนคือ กฎหมายแพ่ง อาญา วิอาญา ถามว่าให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญขนาดไหน ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ได้รับความสนใจน้อย หรือเวลาเรียนรัฐธรรมนูญก็จะเรียนคล้าย ๆ กฎหมายแพ่ง อาญา คือท่องเป็นมาตรา ๆ แต่ไม่ได้อธิบายว่านี่เป็นฐานของการรับรองสิทธิเสรีภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดองค์กร และการใช้อำนาจของรัฐ ซึ่งต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เวลาเรียน ๆ เป็นมาตรา ๆ ถามว่าเวลาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาเป็นฐานของอาญาว่าจะใช้อะไรดี มาตรา ๆ มาชนกัน แต่โดยไม่ได้ทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญ เป็นฐานการรับรองสิทธิเสรีภาพที่สำคัญที่สุด การจัดองค์กรของรัฐ การใช้อำนาจของรัฐก็มุ่งไปเพื่ออันนี้ การจัดองค์กรของรัฐไม่ได้มุ่งไปเพื่อให้รัฐมีอำนาจมากขึ้น แต่ทำยังไงจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผมคิดว่าระบบความรู้บ้านเราไม่ได้สนใจสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญมากนัก

2. มันเป็นบรรทัดฐานในเชิงสถาบันของตุลาการ มีหลายครั้งที่เกิดข้อพิพาทในการใช้กฎหมายระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตั้งแต่อดีตมันเกิดข้อพิพาทว่าจะตัดสินกฎหมายอย่างไร ซึ่งมันมีประเด็นที่อยู่ระหว่างเรื่องอำนาจรัฐกับประเด็นที่อยู่ระหว่างเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น

คณะปฏิวัติยึดอำนาจได้ มีคนฟ้องคณะปฏิวัติว่ากระทำการโดยมิชอบ ถามว่าศาลจะเลือกอย่างไร คณะปฏิวัติทำผิดกฎหมายฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐบาลเก่า และสถาปนาตัวเองขึ้นมา ถามว่ามีคนไปฟ้องว่าคณะปฏิวัติมาโดยมิชอบ มันยึดอำนาจ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ จะตีความอย่างไร ศาลไทยตีความเป็นบรรทัดฐานมาตั้งแต่หลังทศวรรษ 2500 ว่า ใครยึดอำนาจได้ก็สามารถออกกฎหมายได้ตามระบบแห่งการปฏิวัติ

คือถามว่าการล้มล้างรัฐบาลผิดหรือเปล่า ผิด แต่ถ้าล้มได้เมื่อไหร่ บางทีระบบแห่งการปฏิวัติอันนี้ทำได้เองโดยถูกต้อง คือจริง ๆ คุณอุทัย พิมพ์ใจชน คือมี สส.อยู่ 3 คนนะครับ คือคุณอุทัย พิมพ์ใจชน, คุณอนันต์ ภักดิ์ประไพ, และคุณบุญเกิด หิรัญคำ, เคยฟ้องจอมพลถนอม คือจอมพลถนอมเคยรัฐประหารตัวเอง สส.เหล่านี้จึงไปฟ้องศาล

พอฟ้องไปที่ศาล ศาลศาลบอกว่า 3 คน ซึ่งเป็น สส.อยู่ในตอนนั้น แล้วก็ฟ้องไปว่าถนอมนั้นกระทำรัฐประหารขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลบอกว่า 3 คนนี้ไม่ใช่ผู้เสียหาย แล้วใครเป็นผู้เสียหาย ขนาด สส.ยังไม่เป็นผู้เสียหาย ผมคิดว่าเมื่อไหร่ที่เกิดข้อพิพาทแบบนี้ ศาลมักจะเลือกยืนในทางที่จะสนับสนุนอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่เป็นธรรมชัดๆ

ถ้าใกล้เข้ามาหน่อย รัฐบาลคุณทักษิณออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิต กิจการโทรนาคมปี 2546 คือพระราชกำหนดออกได้ถ้าจำเป็นเร่งด่วน มีเหตุผลรองรับ. ก่อน 2546 รัฐบาลคุณทักษิณโฆษณามาโดยตลอดว่าประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง เศรษฐกิจฟื้นตัว ทุกอย่างดีไปหมด ผลปรากฏว่าพอปี 2546 จะออกพระราชกำหนดฉบับนี้ เหตุผลที่ออกอธิบายว่า เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในระหว่างการฟื้นฟู เราต้องการจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจยังไม่ดีมากเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงออกพระราชกำหนด

ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าไง ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าการออกพระราชกำหนดเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงที่มีคนไปโต้แย้งว่า ข้อเท็จจริงพูดขัดกับตัวเองว่าเศรษฐกิจดี แต่ผลปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความสนับสนุนอันนี้ ผมคิดว่าบรรทัดฐานในเชิงสถาบันไม่ได้หมายความว่าผู้พิพากษาดีเลว ไม่ใช่ แต่บรรทัดฐานในเชิงสถาบันของเรามีแนวโน้ม ที่สถาบันตุลาการจะให้ความสำคัญกับอำนาจของรัฐ ถ้าให้ชัดๆก็คือให้ความสำคัญกับอำนาจของรัฐบาล

3. เป็นประเด็นสำคัญหรือเป็นหัวใจ คือสถาบันตุลาการปิดกั้นตัวเองออกจากสังคม เวลาเกิดการพูดถึงการวิจารณ์คำพิพากษาของศาล จะได้ยินเสมอว่าระวังจะละเมิดอำนาจศาล ผมยกอันนี้ขึ้นมาก็เพราะเป็นประเด็นที่ต้องพูด การละเมิดอำนาจศาลโดยปกติทั่วไป การลงโทษในคดีต่าง ๆ ต้องขึ้นศาลพิจารณา แต่การละเมิดอำนาจศาล ศาลสั่งได้โดยไม่ต้องมีพิธีพิจารณาใด ๆ เช่น บนเวทีเกิดพูดไป แล้วศาลเห็นว่าละเมิดอำนาจศาลเข้าคุกกันหมดเลยครับ ท่าน อ.คณิต ไล่ไปถึง อ.บรรเจิด อาจกันผมไปเป็นพยานก็ได้ ผมคิดว่าการใช้คำว่าละเมิดอำนาจศาลในเมืองไทย มีปัญหา 2 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก ผมคิดว่าการละเมิดอำนาจศาลควรจะจำกัดไว้เฉพาะ การกระทำที่เป็นการขัดขวางกระบวรวิธีพิจารณาเท่านั้น หมายความว่าศาลพิจารณาแล้วเกิดผมทะเล่อทะล่าเข้าไปโวยวาย นั่นคือการละเมิดอำนาจศาล แต่ไม่ควรจะใช้กับการวิจารณ์

เรื่องที่สอง การละเมิดอำนาจศาลก็คือ การห้ามวิจารณ์ในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด เหตุผลเพื่อป้องกันการชี้นำ เพื่อทำให้ผู้พิพากษาปราศจากอคติ อันนี้ผมไม่เห็นด้วย

ผมคิดว่าหนึ่ง ผู้พิพากษาไม่ใช่พระอรหันต์ การไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น มิได้หมายความว่า ผู้พิพากษาจะปราศจากอคติ เพราะว่ามนุษย์ปุถุชนทั่วไปย่อมมีสิ่งที่เรียกว่าอคติอยู่ภายใต้อิทธิพลความคิด ความเชื่อที่ตนเองมีอยู่ในขณะนั้นอยู่แล้ว ถ้าศาลเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถไตร่ตรองใช้เหตุผลได้ดีควรเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์

การไม่เปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ปัญหาที่ตามมาก็คือว่า นักกฎหมายส่วนใหญ่ของไทยมีแนวโน้มที่จะ 1. อนุรักษ์นิยม 2. สนับสนุนอำนาจรัฐ พอไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การตัดสินนั้นมักจะเดินไปในแนวทางที่สนับสนุนอำนาจรัฐเป็นส่วนใหญ่ คำถามคือ แล้วเราจะเผชิญหน้ากับปัญหานี้อย่างไร? ผมมี 2 เรื่องใหญ่ที่ต้องคิดถึงด้วยกัน

หนึ่ง ในระยะเฉพาะหน้า เราต้องช่วยกันทำให้รัฐธรรมนูญมีความหมาย มากกว่าบทบัญญัติที่จะถูกตีความแบบเปิดพจนานุกรม ในส่วนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่วนหนึ่งมันคือความปรารถนาของสังคม คือความใฝ่ฝันของผู้คนในการที่จะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งนี่คือฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ อันนี้คือฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ถ้ารัฐธรรมนูญถูกตีความให้มีความหมายน้อยลง ถูกละเลยมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้น ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่จะอิงอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญจะมีปัญหา การเคลื่อนไหวของชาวบ้านจะถูกบีบให้แคบลง ถ้ารัฐธรรมนูญไม่สามารถคุ้มครองเสรีภาพต่าง ๆ ได้

สอง กับตัวสถาบันตุลาการ คิดว่าสถาบันตุลาการต้องเปิดการรับฟังความคิดเห็น และถูกตรวจสอบเพิ่มมากขึ้น การถกเถียง การตรวจสอบ การวิพากษ์วิจารณ์ จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ศาลเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตัวอย่างเช่น ในอเมริกาช่วงหนึ่งมีกฎหมายแรงงานออกมา และกฎหมายแรงงานคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง เช่น ห้ามยกของหนัก มีสิทธิลาคลอด มีสิทธิอะไรต่างๆเหล่านี้ มีคนฟ้องในศาลสูงสุดของอเมริกาว่าอันนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ. ศาลสูงสุดของอเมริกาตีความว่า การคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงมากกว่าปกติเหล่านี้เป็นการเลือกปฏิบัติ ทำไม่ได้ สิทธิลาคลอด ห้ามยกของหนัก อันนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เท่าเทียมกัน ผู้ชายผู้หญิงต้องยกของเหมือนกัน ผู้ชายผู้หญิงต้องคลอดเหมือนกัน

พอศาลสูงสุดตัดสินออกมาแบบนี้ ผลปรากฏว่าสาธารณชนรุมด่าศาล ไม่ใช่รุมด่าผมขอเปลี่ยนเป็นรุมให้ความเห็น สาธารณชนรุมให้ความคิดเห็น คือถ้าศาลกักตัวอยู่บนสถานที่ ๆ ไม่สามารถสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือในคำพิพากษานี้เกิดในช่วงทศวรรษ 1950-1960 เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิ เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในอเมริกา ทั้งในเรื่องสิทธิของชนกลุ่มน้อย สิทธิของคนผิวดำ สิทธิชายหญิง คือถ้าศาลไม่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คำตัดสินมันก็ออกมาเชย ๆ คือมันมากกว่าเชย (เรียกว่าห่วยแตก …เสียงตะโกนมาจากคนฟัง)

อันที่สองผมคิดว่าต้องทำให้ตระหนักว่าศาลเป็นองค์กรหนึ่งที่ใช้อำนาจอธิปไตย เช่นเดียวกับองค์กรฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งอำนาจอธิปไตยนี้มาจากปวงชนชาวไทยทั้งหมด ต้องทำให้สถาบันตุลาการสำนึกในจุดนี้ว่าจะกระทำในนามของพระมหากษัตริย์ก็จริง แต่อำนาจทั้งหมดมาจากปวงชนชาวไทย ขอบคุณครับ

ไพสิฐ พาณิชย์กุล :
มีกฎหมายอยู่ข้อหนึ่งที่จะหักล้างข้อที่ อ.สมชาย จะเอาพวกเราไปเป็นพยานในคุกก็คือ มาตรา 65 ของกฎหมายศาลปกครอง คือผู้ใดวิจารณ์การพิจารณาคำพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริต ด้วยวิธีการทางวิชาการ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจหรือดูหมิ่นศาลหรือตุลาการ

อีกอันหนึ่งที่จะขอขัดแย้งกับ อ.สมชาย ก็คือ อ.สมชาย … ไม่ใช่อรหันต์ ตอนที่มานั่งคุยกับ อ.คณิต ตรงโซฟา อาจารย์ทำท่าให้ดูว่าศาลเวลาจะตัดสินคดีก็นั่งทางใน ผมก็ไม่ทราบว่าคนที่ทำงานโดยวิธีการนั่งทางในจะใกล้อรหันต์รึเปล่า ตรงนี้เป็นประเด็นฝาก อ.คณิต ช่วยขยายความด้วย

ผศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ :
ผมขอเสริมนิดเดียว เพื่อที่จะทำให้พวกเราไม่ต้องเกร็ง ผมเป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญมากที่สุดคนหนึ่ง โดยได้ดูทางหนีทีไล่ไว้แล้ว เพราะว่าอะไรครับ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีข้อที่ว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาล เพื่อให้พวกเราทุกคนจะได้สบายใจ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเขามีข้อกำหนดในการพิจารณาความ ซึ่งศาลเป็นคนออกเอง ที่นี้เมื่อศาลมีข้อกำหนดที่ศาลออกเอง จะไปออกให้มีการลงโทษไม่ได้ครับ เพราะฉะนั้นพวกเราสบายใจครับ วิจารณ์ได้เลย เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเรื่องการละเมิดอำนาจศาล

ศ.ดร. คณิต ณ นคร :
ผมขอเปิดประเด็นว่า ศาลมี 2 ประเภท คือศาลพิจารณา กับศาลทบทวน ซึ่งทำหน้าที่ในการ review court ในการ review นั้น คือการ review ในข้อมูล สองประเด็นนี้เป็นสองประเด็นใหญ่ เราก็เลยปฏิบัติในศาลสูง มันไม่ใช่เป็น panel court ในข้อเท็จจริง คืออ่านๆแล้วก็ไม่ได้เห็นพยาน และก็เชื่อตาม จึงเปิดโอกาสให้ตัดสินตามความเชื่อ อันนี้เป็นเรื่องที่หนึ่ง

ประเด็นต่อไปคือ เมื่อศาลแบ่งเป็นศาลพิจารณาหรือศาลทบทวนก็ตาม กฎหมายบังคับไว้เลย ไม่ว่าจะเป็นวิธีพิจารณาความแพ่ง ความอาญา หรือคดีปกครอง คดีรัฐธรรมนูญ หรือคดีแรงงาน บังคับให้ศาลต้องให้เหตุผลในการตัดสิน และเหตุผลในการตัดสินต้องให้อย่างมีความเป็นภาววิสัย คือต้องให้สามารถเข้าใจได้ อันนี้เป็นประเด็น

ในทางปฏิบัติ การให้เหตุผลก็ยังไม่ค่อยมีความเป็นภาววิสัยเท่าที่ควร บางครั้งก็ไม่ให้เหตุผลเลยก็มี ยกตัวอย่าง เรื่องการลักกระแสไฟฟ้า ศาลฎีกาตัดสินว่าการลักกระแสไฟฟ้าว่าเป็นการลักทรัพย์ จำเลยก็ต่อสู้ว่าไฟฟ้าไม่ใช่ทรัพย์ แต่เป็นพลังงาน ไม่สามารถครอบครองได้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การลักกระแสไฟฟ้าเป็นการลักทรัพย์ตามมาตรา 334 หรือ 335 แล้ว แล้วแต่กรณี แล้วจะไปตรวจสอบอะไร ดังนั้นการให้เหตุผลของศาลจะต้องมีความเป็นภาววิสัย

รัฐธรรมนูญนี้ต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีต รัฐธรรมนูญในอดีต เป็นกฎหมายสูงสุด อยู่บนยอดดอยอินทนนท์ แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว มันเชื่อมกันแล้ว ดังนั้นการให้เหตุผลเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าศาลพยายามให้เหตุผลอย่างมีความเป็นภาววิสัย เขาก็วิจารณ์ได้ และอันที่จริงแล้วการตรวจสอบโดยประชาชนที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้ ผมก็ดีใจครับที่ได้ฟังข้อเท็จจริงหลายเรื่อง ว่าในระยะหลังมีการยกข้อกฎหมายมาต่อสู้ แต่ในอดีตมักจะหยิบยกข้อเท็จจริง โดยการหยิบยกข้อเท็จจริงมันเป็นเรื่องที่อาจจะใช้ แทนที่จะเป็นวิทยาการก็กลายเป็นวิทยายุทธ์ไป ดังนั้นการตรวจสอบอำนาจศาลจริง ๆ กลายเป็นการตรวจสอบบุคคล ดังนั้นถ้าเหตุผลไม่มี หรือมีน้อย ความจริงขัดรัฐธรรมนูญ

สมัยที่ผมเป็นอัยการพิเศษฝ่ายคดีแรงงาน ศาลแรงงานชี้ขาดคดีทำนองการลักกระแสไฟฟ้า ผมอุทธรณ์ว่าศาลไม่ให้เหตุผลนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผมก็ชักแม่น้ำทั้ง 5 ว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญบอกว่าศาลมีอิสระในการพิจารณาพิพากษา ถ้าตัดสินโดยไม่ให้เหตุผลและผมจะรู้ได้อย่างไรว่าคดีนี้มันแพ้หรือชนะด้วยเหตุผลหรือคำอธิบายอะไร รวมทั้งถ้าหากว่ากฎหมายของรัฐเองนั้นมีความบกพร่องยังไง ถ้าศาลให้เหตุผลก็สามารถที่จะปรับปรุง ตกแต่งได้ หลายๆคดีที่ผมสู้ไป และหลายๆคดีผมเป็นฝ่ายชนะ

ขณะนี้สังคมเรามีปัญหาอยู่ที่นักกฎหมาย ไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย กฎหมายสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่นักกฎหมายนี้ไม่รู้จะพูดอย่างไร ปัญหานี้รู้ๆกันอยู่สำหรับคนซึ่งนั่งอยู่ ณ ที่นี่ ผมซึ่งทำหน้าที่สอนอยู่ ทั้ง อ.บรรเจิด, อ.สมชาย, มันเป็นปัญหาของมหาวิทยาลัย ก็ลองไปพิจารณาดูว่าการเรียนการสอนของเรา มันสอนถึงแก่นหรือเปล่า ถ้าสอนไม่ถึงแก่นก็จะเป็นไปในลักษณะนี้ และต้องแก้ที่ระบบ ไม่ใช่แก้ที่คน ต้องแก้รากเหง้า ที่มหาวิทยาลัยโดยตรง

(คลิกไปอ่านต่อ "พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ(3)" ได้จากที่นี่)


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
290149
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ถ้าเราจะบอกว่าศาลนั้นมี 2 อย่าง ได้แก่ "ศาลพิจารณา"กับ"ศาลทบทวน" ทบทวนนั้นคือทบทวนข้อกฎหมาย ข้อกฎหมายที่ถูกทบทวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นศาลสูงสุด ศาลสูงสุดของต่างประเทศจะไม่เป็นศาลพิจารณาสืบพยาน แต่เป็นการตัดสินข้อกฎหมาย
ศาลสูงสุดก็จะเป็นศาลที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ บางประเทศก็จะเป็นระบบเปิด ท่านก็คงทราบว่าในสหรัฐอเมริกาจะมีแค่ 9 คน และเขาจะหยิบคนที่เก่งขึ้นมาเรียกว่าระดับศาสตราจารย์มาเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด และศาลสูงสุดของท่านก็มีหน้าที่ชี้ข้อกฎหมาย. ผมคิดว่า ศาลสูงสุดของทุกประเทศ หน้าที่หลักของท่านก็คือมีหน้าที่ต้องอ่านหนังสือ ต้องครองตัวเองให้ฉลาด เพื่อจะไปพิพากษาข้อกฎหมายได้ (ศ.ดร.คณิต ณ นคร)