นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ



The Midnight University

เจิ้งเหอ - แม่ทัพเรือจีนมุสลิม
๒๘ ปีที่จีนครอบครองท้องทะเลโลก
เรียบเรียงโดย อัล-ฮิลาล
นักเขียนและนักวิชาการมุสลิม


บทความนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เพื่อเผยแพร่ถึงความรุ่งเรืองทางทะเลและสมุทรยาตราครั้งสำคัญของจีนในอดีต
นำโดย ขันทีแม่ทัพเรือจีนมุสลิมนามว่า เจิ้งเหอ
เรื่องราวของแม่ทัพเรือท่านนี้ เพิ่งเป็นที่สนใจใน ๔-๕ ปีที่ผ่านมาในวงวิชาการประวัติศาสตร์จีน
ในขณะที่นักวิชาการมุสลิมจดจำเรื่องนี้มาโดยตลอด

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 790
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 19.5 หน้ากระดาษ A4)


เจิ้งเหอ - แม่ทัพเรือจีนมุสลิม
(Zheng He หรือ Cheng Ho)
เจิ้งเหอ(ค.ศ.1371-1433) เป็นผู้บัญชาการกองเรือมหาสมบัติของจีนสมัยราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644) การเดินเรือสำรวจทางทะเลในระยะเวลา 28 ปีของเจิ้งเหอ ประกอบด้วยกองเรือกว่า 300 ลำ ลูกเรือเกือบ 28,000 ชีวิต ออกสำรวจทางทะเลรวม 7 ครั้ง เดินทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร ท่องต่างแดนมากกว่า 30 ประเทศจากทะเลจีนใต้ไปจนถึงชายฝั่งตะวันออกของอาฟริกา เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฏาคม ค.ศ. 1405 (พ.ศ.1948) ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราชแห่งราชวงศ์อู่ทองปกครองกรุงศรีอยุธยา สิ้นสุดในปีค.ศ.1433 (พ.ศ.1976) พร้อมกับการเสียชีวิตของเจิ้งเหอ
กองเรือมหาสมบัติของจีนเคยติดต่อกับอาณาจักรอยุธยาด้วย กาวิน แมนซี (Gavin Menzies)(1) อดีตทหารเรือชาวอังกฤษ เสนอทฤษฎีว่า ในการเดินเรือครั้งหนึ่งของเจิ้งเหอ เขาน่าจะไปไกลถึงทวีปอเมริกา ซึ่งหากเป็นจริง เขาก็จะเป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัสเกือบร้อยปี

ภูมิหลังเจิ้งเหอ
เจิ้งเหอ เป็นคนชนชาติหุย(2) แซ่หม่า (แปลว่า "ม้า" และเกี่ยวพันกับคำภาษาอาหรับว่า "มุฮัมหมัด") ซึ่งเป็นแซ่ของชาวหุยส่วนใหญ่ เดิมชื่อ "หม่าเหอ" เกิดในครอบครัวมุสลิม ที่เมืองคุนหยาง มณฑลหยุนหนัน ซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้ายของกองทัพมองโกล และพวกที่ภักดีต่อมองโกลทางตอนใต้ของประเทศจีนที่ราชวงศ์หมิงยังยึดไม่ได้ในสมัยนั้น(3) เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1371 (พ.ศ.1914) ในต้นราชวงศ์หมิง เป็นลูกหลานชั้นที่หกของ ซัยยิด อัจญาล ชัมสุดดีน อุมัร (Sayyid Ajjal Shams al-Din Omar) แม่ทัพของกองทัพมองโกล จากบุคอรอ (4) เอเชียกลาง ซึ่งเป็นผู้ปกครองมณฑลเสฉวนและหยุนหนันผู้ลือนาม เจิ้งเหอมีพี่ชาย 1 คน พี่สาว 1 คน และน้องสาว 3 คน บิดาของเจิ้งเหอมีนามว่า ฮายีหม่า (Ma Hazhi หรือ Ma Haji) ทั้งพ่อและปู่ของเจิ้งเหอได้ไปทำพิธีฮัจญ์ในมักกะฮ (5)ฺ จึงได้พบเห็นผู้คนจากทุกสารทิศ และต้องเล่าเรื่องนี้แก่เจิ้งเหออย่างแน่นอน

เมื่อหม่าเหออายุได้ 11 ปี ตรงกับช่วงที่กองทัพของจูหยวนจาง หรือจักรพรรดิหมิงไท่จู่ (ชื่อรัชกาล "หงอู่") ปฐมราชวงศ์หมิง นำกำลังทัพเข้ามาปราบปรามที่มั่นสุดท้ายของพวกเชื้อสายมองโกลที่ยังหลงเหลืออยู่ที่หยุนหนัน และยึดครองหยุนหนันเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรหมิงได้สำเร็จในปีค.ศ.1382 ในเวลานั้นเด็กชายหม่าเหอผู้มีเชื้อสายจากเอเชียกลาง ถูกจับกลับไปยังเมืองหลวง และถูกตอนเป็นขันทีมีหน้าที่รับใช้เจ้าชายจูตี้

หม่าเหอมีความสามารถสูง เฉลียวฉลาด ได้รับความไว้วางใจอย่างสูง กระทั่งต่อมาได้กลายเป็นแม่ทัพคู่ใจของเจ้าชายจูตี้ ในการทำศึกรบพุ่งกับกองทหารมองโกลทางตอนเหนือ และการยกทัพเข้ายึดนครนานกิง ช่วงชิงราชบัลลังก์จากพระราชนัดดาคือ จักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ (ชื่อรัชกาล "เจี้ยนเหวิน") ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากหมิงไท่จู่ ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิง หม่าเหอมีส่วนสำคัญช่วยให้จูตี้ได้รับชัยชนะขึ้นสู่บัลลังก์เป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (ค.ศ.1403-1424) จักรพรรดิองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์หมิง มีชื่อรัชกาลว่า "หย่งเล่อ" ในปีค.ศ.1404 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ตั้งให้หม่าเหอเป็นหัวหน้าขันที และพระราชทานแซ่เจิ้งให้ เรียกว่า "เจิ้งเหอ" แต่ชื่อที่รู้จักกันดีก็คือ "ซันเป่ากง" หรือ "ซำปอกง"

ตามบันทึกในประวัติศาสตร์จีน เจิ้งเหอมีรูปร่างสูงใหญ่กว่า 7 ฟุต น้ำหนักเกิน 100 กก. ท่วงท่าเดินสง่าน่าเกรงขามเหมือนราชสีห์ น้ำเสียงกังวานมีพลัง

ภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์ได้เพียงปีเดียว จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ก็มีบัญชาให้สร้างกองเรือสินค้า เรือรบ และเรือสนับสนุน เพื่อไปเยือนเมืองท่าต่างๆ ในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย นับเป็นกองเรือที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ชาติจีนและของโลกในยุคนั้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการออกไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าและเครื่องราชบรรณาการจากรัฐต่างๆ อันจะสร้างความมั่งคั่งให้กับราชสำนักหมิง และความสันติสุขในบรรดาประเทศทางตอนใต้ นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงต้องการออกไปตามหาจักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ พระราชนัดดา ที่ร่ำลือกันว่าได้ทรงปลอมเป็นพระหลบหนีออกจากวังไปได้ในระหว่างที่พระองค์ยกทัพเข้ายึดนครนานกิง โดยทรงเชื่อว่าพระราชนัดดาได้หลบหนีไปทางทะเลจีนใต้

ทั้งนี้ จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ทรงมอบภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ให้กับเจิ้งเหอ ในการควบคุมการก่อสร้างกองเรืออันยิ่งใหญ่ และเป็นแม่ทัพผู้บัญชาการสูงสุด ออกสมุทรยาตราไปบนผืนท้องสมุทร ในฐานะที่เป็นตัวแทนแห่งองค์จักรพรรดิมังกร การเดินทางสำรวจทางทะเลของเจิ้งเหอถูกบันทึกไว้โดย หม่าฮวน หรือ มุฮัมหมัดหม่าฮวน หนุ่มจีนมุสลิมจากชนชาติหุยชนชาติเดียวกับเจิ้งเหอ เขาสามารถพูดภาษาอาหรับได้ และเป็นล่ามให้เจิ้งเหอ เขาบันทึกการสำรวจทะเลของเจิ้งเหอในหนังสือชื่อ "Ying yai sheng lan" หรือ "การสำรวจชายฝั่งมหาสมุทร" (The Overall Survey of the Ocean's Shores)

เส้นทางเดินเรือ
เส้นทางเดินเรือของเจิ้งเหอเริ่มต้นที่นครนานกิง จากนั้นแวะไปยังเมืองเหล่านี้คือ จามปา (Champa ตอนกลางของเวียดนาม) กัมพูชา (Cambodia กัมพูชา) สยาม (Siam ประเทศไทย) มะละกา (Malacca มาเลเซีย) ปาหัง (มาเลเซีย) กลันตัน (Kelantan มาเลเซีย) บอร์เนียว(Borneo เกาะบอร์เนียว หรือกาลิมันตัน) มัชฌปาหิต(Majapahit เกาะชวา อินโดนีเซีย) ซุนดา(Sunda เกาะชวา อินโดนีเซีย) ปาเล็มบัง(Palembang เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย) เซมูดารา(Semudara เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย) Aru(อินโดนีเซีย) แลมบรี(Lambri อินโดนีเซีย) Lide(อินโดนีเซีย) Batak(อินโดนีเซีย) ศรีลังกา(Ceylon) มัลดีฟส์(Maldives มัลดีฟส์) กาลิกัท(Calicut อินเดีย) คีลอน(Quilon อินเดีย) มะละบาร์ (Malabar อินเดีย) ฮอร์มุซ(Hormuz เปอร์เซีย ปัจจุบันอยู่ในอิหร่าน) โดฟา(Dhofar) เอเดน(Aden เยเมน) ซานา(Sana) มักกะฮฺ(Mecca ซาอุดิอารเบีย) มากาดิซู(Magadishu) บราวา(Brawa โซมาเลีย) มาลินดิ(Malindi เคนยา)

เปรียบเทียบกองเรือของเจิ้งเหอกับกองเรือของนักสำรวจชาวตะวันตก
"เรือมหาสมบัติ" หรือ "เป่าฉวน" อันเป็นเรือธงของเจิ้งเหอนั้น ตามบันทึกในสมัยราชวงศ์หมิงระบุว่า มีขนาดความยาวถึงลำละ 400 ฟุต กว้าง 160 ฟุต มี 9 เสากระโดงเรือ ในขบวนกองเรือประกอบไปด้วยเรือเสบียง เรือกำลังพล เรือรบ ฯลฯ รวมกว่า 300 ลำ ลูกเรือเกือบ 28,000 ชีวิต

หากนำเรือมหาสมบัติของจีนมาเปรียบเทียบกับเรือซานตา มาเรีย(Santa Maria) หรือเรือธงของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นักเดินเรือชาวอิตาลี ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้นพบโลกใหม่คือทวีปอเมริกา ในปี ค.ศ.1492 ซึ่งห่างจากปีที่กองเรือของเจิ้งเหอออกสำรวจมหาสมุทรครั้งแรกถึง 87 ปี เรือซานตา มาเรียของโคลัมบัส วีรบุรุษผู้ค้นพบโลกใหม่ ยังเล็กกว่าเรือมหาสมบัติของจีนถึง 4 เท่า โดยมีความยาวเพียง 85 ฟุต กว้าง 20 ฟุต มีกองเรือติดตาม 3 ลำ และลูกเรือ 87 คน

ต่อมาในปี ค.ศ.1498 วาสโก ดา กามา(Vasco Da Gama) นักเดินเรือชาวโปรตุเกส ได้ล่องเรืออ้อมแหลมกูดโฮปที่อาฟริกาใต้มาจนถึงชายฝั่งตะวันออก ระหว่างการเดินเรือไปยังอินเดียได้เป็นผลสำเร็จ กองเรือของเขาก็มีความยาวเพียง 85-100 ฟุต และลูกเรือ 265 คนเท่านั้น และในปี ค.ศ.1521 เฟอร์ดินันด์ แมคแจลลัน(Ferdinand Magallan) นักเดินเรือชาวโปรตุเกส เดินเรือมาถึงทะเลจีนใต้ ด้วยการเดินเรือมาทางตะวันตกเป็นครั้งแรก กองเรือของเขามีความยาวเพียง 100 ฟุต และมีลูกเรือเพียง 160 คน เท่านั้น

สินค้าและเครื่องบรรณาการ
กองเรือมหาสมบัติบรรทุกสินค้าเลื่องชื่อของจีน เช่น กระเบื้องลายคราม ผ้าไหม เครื่องเขิน และสิ่งของมีค่าต่างๆ เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างแดนที่ประเทศจีนต้องการ เช่น งาช้าง นอแรด กระดองกระ ไม้หายาก เครื่องหอมเช่น กำยาน ยา ไข่มุก และหินมีค่าต่างๆ พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการจากผู้ครองดินแดนต่างๆ กลับมาถวายแด่องค์จักรพรรดิที่นครนานกิง นอกจากนี้ยังนำสัตว์ต่างถิ่น เช่น สิงโต เสือดาว นกกระจอกเทศ ม้าลาย และยีราฟ (โดยบอกว่าเป็น กิเลน สัตว์มงคลในเทพนิยายจีน) กลับไปถวายด้วย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบมาก และกลายเป็นของแปลกและน่าตื่นเต้นสำหรับชาวจีนที่พบเห็นเป็นครั้งแรก

ที่เมืองท่าของอาหรับ ชาวจีนมีความสนใจด้านยาและการบำบัดโรคของชาวอาหรับเป็นพิเศษกว่าอย่างอื่น หลังจากมีการพิมพ์หนังสือทางการแพทย์อาหรับในประเทศจีนที่ชื่อว่า Hui yao fang (ตำรับยาชาวหุย หรือตำรับยาชาวจีนมุสลิม) ชาวจีนได้แลกเปลี่ยนผ้าไหมและเครื่องลายครามของตน กับสินค้าของพ่อค้าอาหรับดังต่อไปนี้คือ

1. ว่านหางจระเข้ ซึ่งใช้สำหรับทำความสะอาดและเป็นยาบำรุงกำลัง
2. myrrh เป็นยางไม้มีกลิ่นหอม เป็นยากันบูดของชาวอียิปต์โบราณ ที่ชาวจีนเชื่อว่าทำให้เลือดไหลเวียนดี ร่างกายกระปรี้กระเปร่าขึ้น
3. benzoin ยางไม้เหนียวกลิ่นหอมช่วยให้หายใจสะดวก
4. storax ยาแก้อักเสบ
5. mubietzi ยาสมุนไพรแก้แผลเปื่อย

ลักษณะกองเรือมหาสมบัติ
"เรือมหาสมบัติ" ต่อขึ้นที่อู่ต่อเรือหลงเจียง(Longjiang) เมืองนานกิง อดีตเมืองหลวงอันเก่าแก่ของจีน การต่อเรือไม้ที่หลงเจียงเริ่มต้นด้วยการวางตำแหน่งตัวลำเรือ และฝากั้นช่องเรือมีระยะห่างเป็นระเบียบเท่าๆ กัน ตัวลำเรือถูกปิดด้วยแผ่นกระดานรูปตัดทางยาวที่วางเหลื่อมกันเป็นชั้นๆ เสากระโดงจะถูกวางอย่างมั่นคงอยู่บนหัวเรือ เรียกว่า "mao tan" (หรือแท่นบูชาสมอเรือ) แผ่นกระดานถูกตอกหมันเรือให้ยึดกันไว้ด้วยเส้นใยปอกระเจา และใช้ปูนขาวและน้ำมันตังอิ๋วชโลมซ้ำเข้าไปอีกที ตะปูเหล็กที่ใช้ตอกแผ่นกระดานก็ถูกชโลมน้ำมันด้วยเพื่อป้องกันสนิมที่จะทำลายใยไม้

ส่วนผสมของน้ำมันตังอิ๋วนั้นเริ่มแรกต้องเคี่ยวบนไฟให้งวด และแข็งตัวพอสมควรเพื่อชโลมกันน้ำรั่วซึมตัวเรือ ซึ่งชาวจีนรู้จักใช้สิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ในขณะที่เรือที่แล่นในมหาสมุทรอินเดียโดยทั่วไปสมัยนั้น ใช้โคลนและมันหมูในการยึดแผ่นกระดานเรือเข้าด้วยกัน เมื่อใช้ไปนานๆ แผ่นกระดานเรือจะแยกออกจากกัน ทำให้เรือรั่วเสียหายได้ง่าย

เสากระโดงเรือสำเภาของจีนโดยทั่วไปจะทำมาจากไม้เฟอร์(fir)ที่แข็งแรง ไม้ shanmu ไม้ที่ใช้ทำตัวเรือและฝากั้นช่องในเรือทำจากต้นเอล์ม(elm) ไม้การบูร ไม้ sophora หรือไม้ nanmu ซึ่งเป็นไม้สนซีดาร์(cedar) ชนิดพิเศษจากมณฑลเสฉวน (Sichuan) หางเสือทำจากไม้ต้นเอล์ม ส่วนคันหางเสือหรือพังงาทำมาจากไม้โอ๊ค กรรเชียงเรือทำมาจากไม้เฟอร์ ไม้ juniper ซึ่งเป็นไม้จำพวกสน และไม้ catalpa

อู่ต่อเรือที่หลงเจียงแบ่งห้องเก็บของเป็น 10 แถวๆ ละ 60 ห้อง ซึ่งใช้สำหรับเก็บวัสดุที่ใช้สำหรับต่อเรือของกองเรือมหาสมบัติ ซึ่งมีทั้งแผ่นกระดานจากซากเรือเก่าๆ ที่กู้ขึ้นมาด้วย

เรือเหล่านี้มีหัวเรือเรียว"แหลมราวกับมีด" ที่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมขนาดใหญ่ได้ ส่วนตัวเรือจะบานออกมีดาดฟ้ายื่นออกมา กระดูกงูเรือออกแบบเป็นรูปตัววี(V) เพื่อให้เรือไม่โคลง หัวเรือสูง เรือมี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดบรรจุด้วยหินและดินเพื่อถ่วงน้ำหนักของเรือไม่ให้โคลง ชั้นที่สอง สำหรับเป็นที่พักลูกเรือและห้องเก็บของ ชั้นที่สามเป็นครัวกลางแจ้ง ห้องอาหารและหอบังคับการเดินเรือ ชั้นที่สี่เป็นชั้นสำหรับกองปฏิบัติการเดินเรือ หัวเรือมีความแข็งแรงมากและถูกใช้สำหรับดันเรือเล็ก นอกจากนี้ได้ออกแบบมาเพื่อให้ต้านทานแนวปะการังซึ่งมีอยู่มาก และทำอันตรายต่อเรือมานักต่อนักแล้วในแถบทะเลจีนใต้

ความแข็งแกร่งของเรือมหาสมบัติส่วนหนึ่ง มาจากการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ของชาวจีนเอง ช่องตรงกราบเรือใช้ลำไผ่หลายต้นอัดเข้าไปเพื่อกันน้ำรั่วซึม เรือมหาสมบัติได้ออกแบบหางเสือให้มีดุลยภาพและสามารถยกขึ้นหรือลงได้ ทำให้เรือทรงตัวได้ดีขึ้นเหมือนเป็นกระดูกงูเรืออีกอันหนึ่ง หางเสือชนิดพิเศษที่ทำให้เรือทรงตัวดีขึ้นนี้ถูกวางไว้หัวเรือ เพื่อทำให้เรือลำใหญ่ๆ เหล่านี้ถือหางเสือได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ชาวยุโรปรู้จักใช้การแบ่งกราบเรือเป็นช่องและหางเสือที่มีดุลยภาพนี้ในราวตอนปลายศตวรรษที่ 18 หรือต้นศตวรรษที่ 19

เรือมหาสมบัติมีเสากระโดงเรือ 9 ต้น ใบเรือเป็นรูปสี่เหลี่ยมทำด้วยผ้าไหม 12 ใบ ทำให้ใช้ประโยชน์จากแรงลมได้ดีที่สุดและมีความเร็วกว่าเรือสำเภาปกติของจีน ทั้งๆ ที่เรือมหาสมบัติที่บรรทุกปืนใหญ่ 24 กระบอกที่มีความยาวกระบอกละ 8-9 ฟุต นี้ไม่ได้ถือเป็นเรือรบ และไม่มีดาดฟ้าเรือใหญ่ๆ เพื่อการต่อสู้ ในทางกลับกัน เรือมหาสมบัติถูกออกแบบมาให้เป็นเรือที่หรูหรา มีห้องโถงใหญ่สำหรับไว้ต้อนรับอาคันตุกะของพระจักรพรรดิ ห้องโถงที่มีหน้าต่างและแบ่งเป็นช่องๆ ประดับประดาด้วยระเบียงและราวซี่ลูกกรงที่สวยงาม ที่เก็บสินค้าในเรือเต็มไปด้วยผ้าไหมราคาแพงและเครื่องลายครามสำหรับแลกเปลี่ยนกับประเทศต่างแดน

ตัวลำเรือได้รับการแกะสลักและวาดลวดลายอย่างงดงาม บริเวณหัวเรือถูกประดับด้วยหัวสัตว์ และวาดลวดลายเป็นตามังกร ตัวลำเรือวาดลวดลายมังกรและนกอินทรีเพื่อความเป็นสิริมงคล บริเวณท้องเรือบรรจุด้วยปูนขาว ผ้าสักหลาดมีขนข้างเดียวถูกเก็บไว้บริเวณแนวเรือที่ขนานกับน้ำทะเล ในจำนวนเรือ 317 ลำนั้นไม่แน่ว่าจะมีเรือขนาดใหญ่กี่ลำที่พระจักรพรรดิสั่งให้ต่อที่นานจิงช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปีค.ศ.1405 ดังที่ Lou Maotang นักประพันธ์ชาวจีนเคยตั้งข้อสังเกตไว้ใน San Bao taijian Xiyang ji tongsu yanyi วรรณกรรมที่เขาประพันธ์ขึ้นในศตวรรษที่ 16 เกี่ยวกับสมุทรยาตราของเจิ้งเหอว่า ในกองเรือมหาสมบัติอาจมีเรือขนาดใหญ่เพียง 4 ลำ คือสำหรับแม่ทัพเจิ้งเหอ และรองแม่ทัพของเขาเท่านั้น

จากรายงานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า กองเรือมหาสมบัติประกอบด้วยเรืออีกหลายชนิดและหลายขนาด เรือขนาดใหญ่รองลงมาจาก "เรือมหาสมบัติ" คือ "เรือบรรทุกม้า"ที่มีเสากระโดงเรือ 9 ต้น มีขนาดยาว 339 ฟุตและกว้าง 138 ฟุต เรือเหล่านี้ใช้บรรทุกม้า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้าระดับประเทศ นอกจากนี้ สินค้าของวังหลวงและวัสดุก่อสร้างนั้น เป็นสิ่งจำเป็นในการซ่อมแซมเรือกลางมหาสมุทร

นอกจากนี้มี "เรือบรรทุกสัมภาระ" ที่มีเสากระโดงเรือ 7 ต้น มีความยาวของตัวเรือ 257 ฟุตและกว้าง 115 ฟุต เป็นเรือบรรทุกอาหารสำหรับลูกเรือที่มีจำนวนมากถึง 28,000 คนในการสำรวจบางครั้ง เรือขนาดเล็กลงมาเป็น"เรือลำเลียงทหาร"ซึ่งมีเสากระโดงเรือ 6 ต้น ลำตัวเรือยาว 220 ฟุตและกว้าง 83 ฟุต ใช้ในการขนส่งกองทหาร นอกจากนี้ยังมีเรือรบ 2 แบบ แบบแรก มีเสากระโดงเรือ 5 ต้น ขนาดตัวเรือยาว 165 ฟุต ส่วนแบบที่สองจะเล็กกว่าแต่แล่นใบเร็วกว่าจะมีความยาว 120-128 ฟุต ไว้จัดการกับโจรสลัดในท้องทะเล

มีการสร้างถังบรรจุน้ำขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับลูกเรือของกองเรือมหาสมบัติใช้ดื่มกินเป็นระยะเวลา 1 เดือนหรือมากกว่า ซึ่งถือเป็นกองทัพเรือรายแรกของโลกที่มีการเตรียมการณ์พร้อมเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม โดยปกติกองเรือจะพยายามหยุดที่ท่าเรือทุกๆ 10 วันเพื่อเติมน้ำ ซึ่งคาดว่าในการสำรวจทะเลครั้งใหญ่ต่อๆ มา คงแวะประมาณ 20 ครั้งหรือมากกว่า

การสื่อสารในกองเรือ
การสื่อสารในท้องทะเลระหว่างเรือลำต่างๆ ของกองเรือมหาสมบัติทำได้ด้วยระบบเสียงและแสงที่ประณีตมาก เรือทุกลำจะมีธงใหญ่หนึ่งผืน ระฆังเตือนสัญญาณ ธงสีต่างๆ 5 ผืน กลองใหญ่ 1 ลูก ฆ้องหลายลูก และโคมไฟ 10 อัน สัญญาณเสียงใช้เพื่อออกคำสั่งบนเรือ ใช้กลองในการเตือนเรือลำอื่นๆ สำหรับหลบภัยจากพายุ ใช้โคมไฟเป็นสัญญาณยามค่ำคืนหรือยามอากาศขมุกขมัว ใช้นกพิราบสำหรับการสื่อสารทางไกล เรือแต่ละลำจะปักธงสัญญาณสีต่างๆ กันเพื่อแยกความแตกต่าง และธงดำที่มีตัวอักษรขาวจะบ่งบอกว่าเรือลำนั้นอยู่ในกองใด หมวดใด

การบัญชาการในกองเรือและขบวนลูกเรือ
ในกองเรือนอกจากมีมหาขันทีเจิ้งเหอผู้เป็นผู้บัญชาการกองเรือแล้ว มีขันทีอีก 7 คนเป็นตัวแทนของพระจักรพรรดิและเป็นคณะทูตของประเทศ ขันที 10 คนเป็นผู้ช่วยฑูต และขันทีอีก 52 คนทำงานด้านอื่น การบัญชาการทัพเรือยังมีนายพลเรือ 2 นาย ดูแลกองเรือทั้งหมด มีผู้บังคับกองพล 93 นาย ผู้บังคับกองพัน 104 นาย และผู้บังคับกองร้อย 103 นาย

กัปตันเรือแต่ละลำได้รับการแต่งตั้งจากพระจักรพรรดิและมีอำนาจที่จะ "สั่งเป็นสั่งตายได้" เพื่อความเป็นระเบียบของกองเรือ นอกจากนี้ในกองเรือยังมีเลขานุการ 2 คนเป็นผู้ดูแลด้านเอกสาร เลขานุการอาวุโสคนหนึ่งมาจากกรมพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งเป็นกรมที่ต้องจัดหาข้าวสารและฟางหรือหญ้าแห้งสำหรับกองเรือ มีเจ้าหน้าที่จากกรมการศาสนา 2 คนมาดูแลด้านพิธีการทูต มีโหร 1 คนสำหรับทำนายและพยากรณ์ดินฟ้าอากาศ ดูปฏิทินและอธิบายปรากฎการณ์ธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีอาจารย์อีก 10 คน "ผู้รู้หนังสือต่างประเทศ"มาเป็นล่ามบนเรือ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีล่ามภาษาอาหรับ และผู้ที่รู้ภาษาเอเชียกลาง(เตอร์ก-เปอร์เซียน)รวมอยู่ด้วย

กองเรือมีหมอและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 180 คนเพื่อเก็บรวมรวบสมุนไพรจากต่างแดน มีสัดส่วนเจ้าหน้าที่การแพทย์ 1 คนต่อลูกเรือ 150 คน นอกจากนี้ยังมีช่างฝีมือด้านต่างๆ ไว้ซ่อมแซมเรือหากมีปัญหากลางทะเล ลูกเรือทุกคนตั้งแต่ระดับต่ำสุดจนถึงสูงสุด จะได้รับรางวัลเป็นเงินทอง และเสื้อผ้าจากพระจักรพรรดิเมื่อเดินทางกลับถึงเมืองจีน พวกเขาและครอบครัวจะได้รับรางวัลเป็นพิเศษ หากเสียชีวิตลงหรือบาดเจ็บระหว่างการเดินทาง

สมุทรยาตราทั้ง 7 ครั้ง
การเดินเรือทั้ง 7 ครั้งของเจิ้งเหอมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1) ครั้งที่ 1 (ค.ศ.1405-1407 /พ.ศ.1948-1950) เจิ้งเหอเป็นผู้บัญชาการ มีขันทีหวังจิ่งหง(Wang Jinghong) เป็นรองแม่ทัพ (6) กองเรือจำนวน 317 ลำ พร้อมด้วยลูกเรือ 27,870 ชีวิต จอดแวะที่จามปา(เวียตนาม) มัชฌปาหิต บนเกาะชวา และเซมูดารา ปาเล็มบัง และ Deli ชายฝั่งด้านเหนือของเกาะสุมาตรา จากนั้นได้เดินเรือไปถึงศรีลังกา และเมืองท่ากาลิกัท ประเทศอินเดีย ซึ่งเรียกกันว่า "ประเทศที่ยิ่งใหญ่แห่งมหาสมุทรตะวันตก" (the Great Country of the Western Ocean) กองเรือของเจิ้งเหอได้ปราบปรามกลุ่มโจรสลัดที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินเรือบริเวณช่องแคบมะละกา และจับหัวหน้าโจรสลัดซึ่งเป็นคนจากมณฑลกวางตุ้งนามเฉินจู่อี้ (Chen Zuyi ) มาสำเร็จโทษที่นครนานกิง

เจิ้งเหอไม่พบร่องรอยของอดีตจักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ที่สันนิษฐานว่า อาจหลบหนีมาอยู่อาศัยอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปี ค.ศ.1407 จีนได้เข้ารุกรานอันนาม (Annam) หรือเวียดนามเหนือ และยึดครองอยู่จนถึงปี ค.ศ.1427

2) ครั้งที่ 2 (ค.ศ.1407-1409 / พ.ศ.1950-1952)
เจิ้งเหอเป็นผู้บัญชาการ มีขันทีหวังจิ่งหงเป็นรองแม่ทัพ รวมทั้งหู เซียน (Hou Xian) (7) คาดว่าในการเดินเรือครั้งนี้ กองเรือของเจิ้งเหอได้นำตัวฑูตอยุธยาที่เดินทางไปยังราชสำนักหมิงด้วยตัวเองก่อนหน้านี้กลับไปส่งที่เมืองอยุธยาด้วย นอกจากนี้เจิ้งเหอได้แต่งตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ของเมืองกาลิกัท ในการเดินเรือครั้งที่ 2 นี้ กองเรือจอดแวะที่จามปา สยาม(อยุธยา) มัชปาหิต(Majapahit) บนเกาะชวา และเซมูดารา และ Deli ชายฝั่งด้านเหนือของเกาะสุมาตรา จากนั้นได้เดินเรือไปถึงศรีลังกา และเมืองท่ากาลิกัท ประเทศต่างๆ ส่งบรรณาการที่มีค่า รวมทั้งนกและสัตว์หายาก

เชื่อกันว่า การเข้ามาถึงสยามหรือกรุงศรีอยุธยาของกองเรือเจิ้งเหอในปีนั้น ทำให้มีการเปลี่ยนราชวงศ์ของอยุธยา เจ้านครอินทร์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ผู้เคยไปเยือนและพำนักในราชสำนักหมิงนับปี ก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์อยุธยาแทนสมเด็จพระรามราชาธิราชแห่งราชวงศ์อู่ทอง ซึ่งปกครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ในขณะนั้น

3) ครั้งที่ 3 (ค.ศ.1409-1411 / พ.ศ.1952-1954)
นอกจากเจิ้งเหอและหวังจิ่งหงแล้ว มีเฟ่ย สิน(Fei Xin) (8) ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการนำกองเรือ ในการเดินเรือครั้งนี้ จีนให้ความสำคัญกับเรื่องมะละกามากเป็นพิเศษ มะละกาเป็นเมืองท่าบนชายฝั่งมาเลย์ที่เริ่มมีความสำคัญ ในขณะที่แวะที่เมืองมะละกา เจิ้งเหอได้รับรองอำนาจการปกครองมะละกาของปรเมศวร และมอบตราเป็นทางการประกาศว่ามะละกาเป็นเมืองในความคุ้มครองของจักรวรรดิจีน จีนเพิ่มอำนาจมะละกาเพื่อให้คานอำนาจกับอยุธยาและชวา และเพื่อยืนยันอำนาจการค้าของจีนในช่องแคบมะละกา

หลังแวะที่เซมูดารา กองเรือแล่นต่อไปยังศรีลังกา ที่นี่ชาวพื้นเมืองเปิดศึกแย่งชิงอำนาจกัน กษัตริย์ของศรีลังกาชื่อ Alagakkonara แสดงท่าทีไม่เคารพโอรสแห่งสวรรค์ และวางแผนโจมตีกองเรือของเจิ้งเหอ กองทหารจีนจึงบุกเข้าไปยึดเมือง จับกุมตัวกษัตริย์ แล้วตั้งกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นแทน ส่วนกษัตริย์องค์เดิมถูกกองเรือจีนนำกลับไปนครนานกิง เพื่อให้องค์จักรพรรดิพิจารณาโทษ แต่จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่พระราชทานอภัยโทษให้ ต่อมาเจิ้งเหอนำตัวกษัตริย์ศรีลังกากลับมาส่งที่เดิมในการเดินเรือครั้งที่ 4

4) ครั้งที่ 4 (ค.ศ.1413-1415 / พ.ศ.1956-1958) การเดินทางครั้งนี้ไปไกลถึงเมืองฮอร์มุซ และอ่าวเปอร์เซียเป็นครั้งแรก กองเรือจอดแวะที่จามปา เกาะชวา ชายฝั่งมาเลย์ ศรีลังกา มัลดีฟ เมืองท่าของอินเดีย และฮอร์มุซ ส่วนหนึ่งของกองเรือแล่นไปอ่าวเบงกอล และนำยีราฟกลับมาถวายพระจักรพรรดิ ชาวจีนคิดว่า ยีราฟคือกิเลน สัตว์นำโชคในเทพนิยายของจีน

ที่เกาะสุมาตราเจิ้งเหอใช้กำลังทหารจับกุมตัวเซกานดาร์(Sekanda) ผู้นำกบฏแห่งเมืองเซมูดารา (Semudara) บนเกาะสุมาตรา กลับมาสำเร็จโทษที่นครนานกิง เนื่องจากกษัตริย์ของเมืองที่ชื่อ Zaynu-'l-Abidin ส่งฑูตไปร้องเรียนจักรพรรดิจีนที่เมืองนานกิง การเดินทางครั้งนี้ทำให้กองเรือจีนมีอิทธิพลเหนือน่านน้ำมหาสมุทรอินเดียอย่างสูง

ในปี ค.ศ. 1415 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ทรงย้ายเมืองหลวงจากนานกิงไปยังปักกิ่ง หรือเมืองเป่ยผิงเดิม ในปีนี้กษัตริย์จากมะละกาพร้อมด้วยพระมเหสี และพระโอรส เดินทางไปยังราชสำนักหมิง เพื่อถวายบรรณาการต่อองค์จักรพรรดิ

5) ครั้งที่ 5 (ค.ศ.1417-1419 / พ.ศ.1959-1962) ในการเดินทางครั้งนี้ กองเรือได้นำคณะทูตต่างแดน 19 คนที่มากับกองเรือของเจิ้งเหอครั้งที่ผ่านมาเพื่อนำบรรณาการมาถวายแด่พระจักรพรรดิจีน กลับไปส่งยังประเทศของเขาเหล่านั้น ครั้งนี้เจิ้งเหอได้นำกองเรือมหาสมบัติมาเทียบท่าถึงชายฝั่งทวีปแอฟริกาตะวันออกเป็นครั้งแรก

ช่วงต้นของการเดินเรือ ขณะแวะจอดที่เมืองกวางสู(Quanzhou) เพื่อคัดเลือกลูกเรือเพิ่มเติมจากหมู่บ้านมุสลิมเล็กๆ ที่ชื่อ Baiqi ด้านเหนือของเมือง(9) เจิ้งเหอได้เข้าห้ามปรามการประหัตประหารชาวมุสลิมที่นั่น จากนั้นกองเรือได้แวะจอดที่เมืองท่าหลายแห่งในจามปาและชวา ที่ปาเล็มบัง และเมืองท่าหลายเมืองบนเกาะสุมาตรา แวะที่มะละกาบนคาบสมุทรมาเลย์ เกาะมัลดีฟส์ ศรีลังกา โคชินและกาลิกัท จักรวรรดิจีนโดยเจิ้งเหอได้รับรองกษัตริย์องค์ใหม่แห่งเมืองโคชิน ชื่อโคยะรี เพื่อป้องกันการคุกคามจากเพื่อนบ้าน คือเมืองกาลิกัท กองเรือได้สำรวจชายฝั่งอารเบียจากเมืองฮอร์มุซจนถึงเอเดน และชายฝั่งทะเลตะวันออกของอาฟริกา

การเดินทางครั้งนี้ เจิ้งเหอบันทึกไว้ว่า เจ้าเมืองฮอร์มุซถวายสิงโต เสือดาว และม้า เจ้าเมืองเอเดนถวายยีราฟ เมืองมากาดิซูถวายม้าลายและสิงโต เมืองบราวา(Brava)ถวายอูฐ (เจิ้งเหอบรรยายว่า "ซึ่งวิ่งได้ 1,000 ลี้") และนกกระจอกเทศ (เจิ้งเหอบันทึกว่า "อูฐที่บินได้") (10)

6) ครั้งที่ 6 (ค.ศ.1421-1423 / พ.ศ.1964-1966) การเดินเรือครั้งนี้เอง ที่กาวิน แมนซี ได้เสนอทฤษฎีการเดินเรือสำรวจโลกใหม่ของกองเรือมหาสมบัติของจีน ในหนังสือชื่อ 1421 : The Year China Discovered The World ว่าได้ไปค้นพบทวีปอเมริกาก่อนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ถึง 70 ปี พร้อมทั้งได้เดินเรือสำรวจทวีปอเมริกาเหนือ ขั้วโลกเหนือ อเมริกาใต้ ขั้วโลกใต้ กระทั่งข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมาถึงทวีปออสเตรเลีย และกลับสู่ประเทศจีนทางด้านตะวันออก ซึ่งถือเป็นการสำรวจรอบโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเดินเรือของโลก

นอกจากนำตัวคณะทูตจากเมืองฮอร์มุซและประเทศต่างๆ ซึ่งมากับกองเรือครั้งที่ผ่านมากลับไปส่งแล้ว การเดินเรือครั้งนี้กองเรือได้สำรวจชายฝั่งอาฟริกามากกว่าเดิม ที่เซมูดารา กองเรือได้แยกไปสำรวจตามที่ต่างๆ ส่วนใหญ่ของกองเรือเดินทางไปเอเดน และเมืองชายฝั่งตะวันออกของอาฟริกา

ปี ค.ศ.1419-23 มีการก่อกบฏที่แคว้นอันนาม

ปี ค.ศ.1421 ไฟไหม้พระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่อนุญาตให้มีการวิพากวิจารณ์พระองค์ แต่ภายหลังพระองค์กลับสั่งประหารผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์

ปี ค.ศ.1422 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่วางแผนโจมตีมองโกลทางด้านเหนือ

ปี ค.ศ.1424 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่สิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทัพไปปราบมองโกล

ปี ค.ศ.1424 พระโอรสองค์โตของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ขึ้นครองราชย์มีชื่อว่า จักรพรรดิหมิงเหยินจง ชื่อรัชกาล หงชวี่ พระองค์ทรงเชื่อฟังขุนนางลัทธิขงจื๊อ และจะลดการเก็บภาษีที่นำมาใช้จ่ายสร้างกองเรือลง

ปีค.ศ.1424 พระจักรพรรดิออกพระราชโองการให้หยุดการสำรวจทะเลของกองเรือมหาสมบัติ

ปีค.ศ.1425 พระจักรพรรดิสิ้นพระชนม์

ปีค.ศ.1425-1435 องค์ชายจูจานจีขึ้นเป็นพระจักรพรรดิหมิงเซวียนจง เมื่อพระชนม์ได้ 26พรรษา มีนามรัชกาลว่า "ซวนเด๋อ" (Xuande)

ปีค.ศ.1430 กองเรือมหาสมบัติไม่ได้ออกท่องสมุทรมา 6 ปีเต็ม พระจักรพรรดิหมิงเซวียนจงทรงเริ่มมองเห็นว่า ประเทศต่างแดนที่มาถวายบรรณาการแก่ราชสำนักหมิงมีจำนวนลดน้อยลงจนเห็นได้ชัด คงเป็นเพราะอิทธิพลของจีนในการค้าต่างแดนลดลง พระองค์จึงตั้งปณิธานที่จะฟื้นฟูพระราชอำนาจของราชวงศ์หมิงต่อต่างแดน และจะทำให้"หมื่นประเทศมาเป็นแขกของเรา" อีกครั้ง ทรงออกพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1430 มีใจความว่า :

"รัชกาลใหม่แห่งซวนเด๋อได้เริ่มขึ้นแล้ว และทุกอย่างจะต้องเริ่มกันใหม่ แต่ประเทศต่างแดนไกลโพ้นดูเหมือนจะยังไม่ทราบข่าวนี้ ดังนั้นเราจึงจะส่งขันทีเจิ้งเหอและขันทีหวังจิ่งหงออกไปพร้อมด้วยโองการแห่งเรา เพื่อแนะนำประเทศเหล่านี้ให้ปฏิบัติตามโอรสแห่งสวรรค์ด้วยความเคารพ และดูแลประชาชนในบังคับบัญชาของตนอย่างดี เพื่อให้มีโชคดีและสันติสุขสืบไป" (11)

7) ครั้งที่ 7 (ค.ศ.1431-1433 / พ.ศ.1974-1976)
เป็นการเดินทางสำรวจทางทะเลครั้งสุดท้ายของเจิ้งเหอ ก่อนการเดินทาง เจิ้งเหอได้เขียนจารึกไว้ที่แผ่นหิน 2 แผ่นที่เมืองฝูเจี้ยน ถึงการออกสำรวจครั้งที่ผ่านๆ มา ซึ่งได้กลายมาเป็นหลักฐานสำคัญในเวลาต่อมา นอกจากจอดแวะที่จามปาและชวาแล้ว กองเรือยังจอดแวะที่ปาเล็มบัง มะละกา เซมูดารา ศรีลังกา และกาลิกัท ในการเดินทางครั้งนี้เจิ้งเหอได้รับประกาศิตจากพระจักรพรรดิห้ามกษัตริย์อยุธยามิให้รุกรานราชอาณาจักรมะละกา

ที่เมืองกาลิกัทนี้ กองเรือชุดหนึ่งได้แยกไปทางชายฝั่งอาฟริกาตะวันออก ไปยังเมืองมาลินดิ(Malindi) ซึ่งอยู่ในประเทศเคนยาในปัจจุบัน นอกจากนี้บางส่วนค้าขายแถบทะเลแดง ในขณะที่ลูกเรือบางส่วนแยกไปทำพิธีฮัจญ์หรือแสวงบุญที่เมืองมักกะฮฺ

จากนั้นขบวนเรือที่แยกไปทั้งหมดกลับมารวมตัวกันที่เมืองกาลิกัท และท่องสมุทรกลับนครนานกิง ระหว่างทางเจิ้งเหอได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 62 และร่างถูกฝังในท้องทะเลลึก ซึ่งครอบครัวของเขาเชื่อกันมาอย่างนี้ ทั้งนี้ตามหลักศาสนาอิสลาม เมื่อมีผู้เสียชีวิตในท้องทะเล จะต้องนำร่างผู้เสียชีวิตมาอาบน้ำศพ ห่อด้วยผ้าขาว หันศีรษะของผู้เสียชีวิตไปทางเมืองมักกะฮฺก่อนจะหย่อนร่างลงท้องทะเล

ก่อนเสียชีวิตเจิ้งเหอได้สั่งให้นำเส้นผมและรองเท้าของเขากลับไปฝังที่เชิงเขา Nishou นอกเมืองนานกิง ซึ่งสุสานหรือกุโบร์จำลองของเขาก่อสร้างตามแบบมุสลิม เรียกว่า เจิ้งเหอมู่ หรือ สุสานเจิ้งเหอ ได้รับการบูรณะใหม่ในปี ค.ศ. 1985 บนสุสานมีอักษรภาษาอาหรับจารึกไว้เพียง 2 คำเท่านั้นว่า อัลลอฮุ อักบารฺ (Allah Akbar) แปลว่า อัลลอฮฺใหญ่ยิ่ง (Allah is Great)

ปีค.ศ.1435 พระจักรพรรดิหมิงเซวียนจงสิ้นพระชนม์ เมื่อจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ ขุนนางฝ่ายถือลัทธิขงจื๊อตำหนิว่า การเดินเรือของเจิ้งเหอเป็นการสูญเสียทรัพยากรมหาศาล ในขณะที่จีนกำลังเผชิญกับการรุกรานจากคนป่าเถื่อนทางชายแดนตะวันตก จักรพรรดิจีนจึงให้ความสำคัญกับการป้องกันประเทศก่อน และทรงปฏิเสธอย่างแข็งขันเมื่อมีผู้เสนอให้ส่งกองเรือออกสำรวจทะเลอีก ขุนนางฝ่ายต่อต้านการเดินเรือได้ทำลายเอกสารบันทึกและแผนที่การท่องสมุทรของเจิ้งเหอ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการรื้อฟื้นกองเรือมหาสมบัติขึ้นมาอีก ชนรุ่นหลังจึงเรียนรู้การเดินเรือของเจิ้งเหอส่วนใหญ่จากบันทึกของหม่าฮวน และจารึกบนแผ่นหินเท่านั้น

ยุคแห่งการขยายอิทธิพลกว้างไกลที่สุดของชาติจีน กลับติดตามมาด้วยยุคที่จีนปิดตัวเองจากโลกอย่างที่สุด ผู้นำของโลกในต้นศตวรรษที่ 15 ได้หันหลังเดินออกจากประตูประวัติศาสตร์ไป ในขณะที่โปรตุเกสกำลังเริ่มต้นส่งกองเรือลงมาสำรวจชายฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปอาฟริกา และไม่ถึงร้อยปีต่อมา ชาวยุโรปเดินเรือไปทั่วโลก ค้าขายต่างแดน ปฏิวัติอุตสาหกรรม และนำโลกตะวันตกไปสู่ยุคแห่งความทันสมัย ชาวยุโรปยึดอาฟริกา อเมริกา และประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเป็นเมืองขึ้น ประเทศจีนเองก็ได้รับผลร้ายกาจของการปิดประเทศในอีก 300 ปีต่อมา

เจิ้งเหอเป็นผู้ริเริ่มสิ่งที่อาจทำให้ประเทศจีนเจริญรุ่งเรืองกว่าประเทศใดๆ แต่โชคไม่ดีที่จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงองค์ต่อๆ มาปฏิเสธการริเริ่มอันยิ่งใหญ่ของเขา และนับตั้งแต่นั้นมา จีนไม่มีกองเรือใดที่จะยิ่งใหญ่เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับกองเรือมหาสมบัติของเจิ้งเหออีกเลย และกว่าที่โลกจะได้รู้จักกองเรือที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ก็ต้องรอจนถึงเกิดกองเรือรุกรานสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

"ซำปอกง" เทพเจ้าแห่งการเดินเรือ
คุณูปการของเจิ้งเหอที่มีต่อชาติจีนและชาวโลกนั้นมหาศาล ชาวจีนทั้งในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กองเรือของเขาเคยจอดแวะ ได้ตั้งศาลสักการะเจิ้งเหอเป็นเทพเจ้าแห่งการเดินเรือ เรียกว่า"ศาลเจ้าซำปอกง" ทั้งๆ ที่เจิ้งเหอเป็นมุสลิม ศาลเจ้าในแถบตะวันออกเฉียงใต้มีที่สะมารัง จ.ชวาตะวันออก ปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา ในประเทศอินโดนีเซีย มะละกา ปีนัง กูชิง กัวลาตรังกานู ในประเทศมาเลเซีย ซูลู ในประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศบรูไนและในประเทศไทย

ในปี ค.ศ.2005 นักธุรกิจชาวจีนที่สะมารัง อินโดนีซีย จัดสัมมนา และแสดงนิทรรศการเรื่องเจิ้งเหอ แม้ที่นี่มีศาลเจ้า"ซำปอกง" ที่โด่งดังอยู่แล้ว ชาวจีนก็ประกาศว่าจะบูรณะใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม (12)

นอกจากนี้ที่สุราบายา เมืองหลวงของ จ.ชวาตะวันออก ชาวเมืองได้สร้างมัสยิดชื่อ "มัสยิดมุฮัมหมัดเจิ้งเหอ" เพื่อรำลึกถึงชายผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยนำอิสลามมาเผยแพร่ที่เกาะชวา มัสยิดแห่งนี้เปิดเมื่อปี ค.ศ.2003 ก่อสร้างตามแบบศิลปะจีนเช่นเดียวกับมัสยิดหนิวเจี่ย ในกรุงปักกิ่ง ส่วนพิพิธภัณฑ์เจิ้งเหอที่มะละกา เปิดกลางปี ค.ศ.2005 ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือโบราณของมะละกา

เชื้อสายของเจิ้งเหอ
แม้ว่าเจิ้งเหอจะไม่มีลูก เพราะถูกตอนเป็นขันทีตั้งแต่เด็ก หากแต่หม่าเหวินหมิงพี่ชายได้ยกลูกชายหญิงให้กับเจิ้งเหอ ดังนั้นชาวจีนมุสลิมสกุล "เจิ้ง" ประมาณ 350 คนที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในหยุนหนัน เจียงสู รวมทั้งอีกหนึ่งสายที่อพยพมาอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ทางเหนือของประเทศไทยสามารถภูมิใจได้ว่า ตนสืบเชื้อสายมาจาก "เจิ้งเหอ" แม่ทัพเรือผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์หมิง(13) สายเลือดของเจิ้งเหอในประเทศจีนขณะนี้มี 24 รุ่นแล้ว

หลังจากกลับจากการท่องสมุทรครั้งที่ 3 เจิ้งเหอได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เมืองคุนหยาง สร้างหลุมศพใหม่ให้บิดา รับบุตรชาย-หญิงของพี่ชายเป็นบุตรบุญธรรม เจิ้งเหอได้จารึกสาแหรกของตระกูลตัวเองไว้บนหลุมศพของบิดา การแล่นเรือท่องมหาสมุทร รวมทั้งยังจารึกการก่อสร้างมัสยิด Jingjue ที่เมืองนานกิงของเขาไว้ด้วย (14)

หม่า กวง รือ (Ma Kuang Ru)หนุ่มจีนมุสลิม หัวหน้าสมาคมวิจัยเกี่ยวกับเจิ้งเหอในนานกิง กล่าวว่า เจิ้งเหอเป็นผู้ร้องขอต่อจักรพรรดิหมิงไท่จูเพื่อสร้างมัสยิด jingjue โดยจักรพรรดิพระราชทานที่ดินให้ แต่หลังจากผ่านสงครามหลายครั้ง รวมทั้งช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม(Cultural Revolution) มัสยิดแห่งนี้เหลือเนื้อที่เพียง 1 ใน 8 ของเนื้อที่เดิมเท่านั้น (15)

ส่วนรายชื่อผู้สืบตระกูลของเจิ้งเหอ ลูกหลานของเขาได้บันทึกเป็นลายมือเขียนสืบต่อกันมา ในปี ค.ศ.1937 Li Shihou (ค.ศ.1909-1985) นักประวัติศาสตร์จีนได้ถ่ายสำเนาการสืบวงศ์ตระกูลเจิ้งเหอจากเอกสารฉบับลายมือเขียนไว้เป็นหลักฐาน (16)

ทายาทเจิ้งเหอสายที่อพยพมาอาศัยอยู่ในจ.เชียงใหม่ ประเทศไทย ใช้นามสกุล "วงศ์ลือเกียรติ" อันเป็นนามสกุลที่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าเชียงใหม่องค์สุดท้าย ได้ประทานให้ เจิ้งชงหลิ่ง ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ" จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เจิ้งชงหลิ่งเป็นผู้บริจาคที่ดินสร้างสนามบินเชียงใหม่ เขาอพยพเข้าเมืองไทยในปี ค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) คนในตระกูลวงศ์ลือเกียรตินับถือศาสนาอิสลาม (17)

เจิ้งเหอและประเทศไทย
ในประเทศไทย เจิ้งเหอเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "เจ้าพ่อซำปอกง" (ซานเป่ากง) วัดซำปอกง หรือชื่อทางการ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สาเหตุที่ชาวจีนมาเซ่นไหว้วิญญาณซำปอกงที่วัดกัลยาณมิตรเป็นเพราะความเข้าใจผิด กล่าวคือ ชาวจีนผู้นับถือพุทธศาสนากลุ่มหนึ่งได้นมัสการหลวงพ่อโตที่วัดกัลยาณมิตร แล้วเกิดความเลื่อมใส จึงได้เขียนหนังสือจีนไว้ที่หน้าวิหารว่า 'ซำปอฮุดกง' ซึ่งแปลว่าพระเจ้า 3 พระองค์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ชาวจีนกลุ่มที่นับถือซำปอกง อ่านเห็นเป็น 'ซำปอกง' จึงคิดว่าเป็นสถานที่เซ่นไหว้วิญญาณของซำปอกง และได้มาเซ่นไหว้ซำปอกงเรื่อยมา(18) ด้วยเหตุนี้มีนักเขียนไทยบางคนคิดว่า เจิ้งเหอได้เปลี่ยนศาสนามาถือพุทธ

เจิ้งเหอและโลกอิสลาม
หม่าฮวนไม่ได้บันทึกถึงการประกอบพิธีฮัจญ์ในมักกะฮฺของเจิ้งเหอ และไม่มีหลักฐานอื่นใดจารึกเรื่องการทำฮัจญ์ของเขา ในขณะที่ทั้งรายการสารคดีโทรทัศน์ CCTV ของรัฐบาลจีน (19) และรายงานของกองทัพเรือจีน (20) ระบุว่า เจิ้งเหอบรรลุความฝันอันยิ่งใหญ่ของตน คือได้ไปแสวงบุญที่เมืองมักกะฮฺในการท่องสมุทรครั้งที่ 4 นอกจากนี้เขาได้ไปเยี่ยมหลุมฝังศพของศาสนทูตมุฮัมหมัดที่เมืองมาดีนา ส่วนลูกหลานของเจิ้งเหอในประเทศไทยสันนิษฐานว่า เจิ้งเหอได้ทำฮัจญ์ในการเดินเรือครั้งที่ 4 หรือครั้งที่ 5 (21) ในขณะที่ Levathes ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "When China Rules the Seas" สันนิษฐานว่า หากเจิ้งเหอได้ไปทำฮัจญ์จริง ก็น่าจะไปในการเดินเรือครั้งสุดท้าย (22)

ส่วนศาสตราจารย์ ซือ ฮุย รง (Zhu Hui Rong) หัวหน้าสมาคมวิจัยเกี่ยวกับเจิ้งเหอในหยุนหนันกล่าวว่า "จากการศึกษาวิจัยอย่างลึกของเรา สามารถยืนยันได้ว่า เจิ้งเหอมาจากครอบครัวมุสลิมที่เคร่งครัด ครอบครัวของท่านเป็นฮัจญีถึง 4 รุ่น แม้แต่เจิ้งเหอเองก็เป็นฮัจญี ท่านได้ไปทำฮัจญ์ในการเดินเรือครั้งใดครั้งหนึ่งของท่าน" (23)

ที่เจิ้งเหอปาร์ค หรือ สวนสาธารณะเจิ้งเหอที่เมืองจิ้นหนิง หยุนหนัน บ้านเกิดของเจิ้งเหอ ที่ซึ่งสุสานของบิดาเจิ้งเหอ "ฮัจญีหม่า" ตั้งอยู่ ในพิพิธภัณฑ์มีคัมภีร์อัล-กุรอ่านวางอยู่ในตู้กระจก กลางห้องโถงมีป้ายตัวอักษรอาหรับเขียนสไตล์จีนแขวนเด่นชัดอ่านว่า "ลาอิลาฮาอิลลัลลอฮ มุฮัมมาดัล รอซูลุลลอฮฺ" แปลว่า "ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมหมัดคือศาสนทูตของพระองค์" (There is no god but Allah and Muhammad is his messenger.) (24)

นอกจากเจิ้งเหอแล้ว ขันทีหวังจิ่งหง รองแม่ทัพของเจิ้งเหอก็เป็นมุสลิม พวกเขารวมทั้งลูกเรือมีส่วนอย่างมากในการเผยแพร่อิสลามให้แก่ชาวพื้นเมืองที่อินโดนีเซียในช่วงราชวงศ์หมิง ขันทีหวังจิ่งหงเสียชีวิตจากเรืออัปปางนอกชายฝั่งทะเลเกาะชวา ขณะนำสาส์นของพระจักรพรรดิหมิงเซวียนจงมาทูลกษัตริย์สุมาตรา เรื่องพระอนุชาของกษัตริย์ฯ สิ้นพระชนม์แล้วขณะพำนักที่ราชสำนักหมิงหลังถวายบรรณาการแด่พระจักรพรรดิ เนื่องจากทนภาวะอากาศหนาวไม่ได้

ในบริเวณศาลเจ้าของชาวจีนที่สะมารัง เกาะชวา มีหลุมศพแบบอิสลามของหวังจิ่งหงและของกัปตันเรือของเจิ้งเหออีกหลายคนเช่น Kiai Juru Mudi, Dampu Awang, Duogong นอกจากนี้เชื่อกันว่าในปี ค.ศ.1413 ขณะที่เจิ้งเหอต้องพำนักที่สะมารัง 1 เดือนเพื่อซ่อมแซมเรือ เขาและลูกเรือไปที่มัสยิดจีนที่สะมารังบ่อยมาก (25)

การที่จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ให้เจิ้งเหอเป็นแม่ทัพของกองเรือมหาสมบัติ สาเหตุนอกจากความสามารถส่วนตัวของเจิ้งเหอแล้ว น่าจะมาจากการที่เจิ้งเหอเป็นมุสลิม การติดต่อสัมพันธ์กับประเทศด้านตะวันตกของจีนซึ่งส่วนใหญ่นับถืออิสลามจึงเป็นไปด้วยความราบรื่น รวมทั้งขณะนั้นอาณาจักรอิสลามในแถบตะวันออกกลางและเอเชียกลางกำลังรุ่งเรือง ทั้งด้านวิทยาการและกำลังทหาร ทั้งนี้ในปี ค.ศ.1453 หลังจากเจิ้งเหอเสียชีวิตได้ 20 ปี กองทัพเตอร์กมุสลิมยึดกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ เป็นการสิ้นสุดของอาณาจักรไบเซนไทน์ หรือโรมันตะวันออก

นอกจากนี้ แม้ชาวโลกส่วนใหญ่รวมทั้งชาวจีนเองเพิ่งรู้จักเจิ้งเหอเพียง 4-5 ปีก่อนหน้านี้ แต่นักวิชาการโลกอาหรับกลับรู้จักเจิ้งเหอมาตลอด ในประวัติศาสตร์ของอาหรับได้กล่าวถึง นักสำรวจมุสลิมชาวจีนเชื้อสายเอเชียกลางที่ชื่อ "เช็งโห" ผู้เคยนำกองเรือจากจีนมาติดต่อค้าขายกับโลกอาหรับต้นศตวรรษที่ 15

เจิ้งเหอและซินแบด
นักประวัติศาสตร์บางราย รวมทั้งคอลัมนิสต์หลายราย ได้ตั้งคำถามและข้อสังเกตว่า ตัวละครบันลือโลก "ซินแบด" (Sinbad the sailor) ใน นิทานอาหรับราตรี "พันหนึ่งทิวา" (The Book of One Thousand and One Nights หรือ Arabian Nights) นั้น ผู้เล่าเรื่องอาจได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องเล่าของชาวทะเลที่ติดต่อค้าขาย หรือทำงานให้กับกองเรือของเจิ้งเหอ เพราะเรื่องราวของคนทั้งสองมีความคล้ายคลึงกัน 2 เรื่องคือ (26)
1) ชื่อของซินแบดและชื่อของเจิ้งเหอออกเสียงคล้ายคลึงกัน ซึ่งชื่อหนึ่งของเจิ้งเหอคือ "ซานเป่า" (Sanbao) คล้ายคลึงชื่อซินแบดที่ออกเสียงตามภาษาเปอร์เซียว่า "ซินดิบาด" (As-Sindibad)

2) จำนวนครั้งของการออกท่องทะเลของคนทั้งสองเท่ากัน ซินแบดเดินทางท่องทะเล 7 ครั้งเช่นเดียวกับเจิ้งเหอ



ยุคแห่งการขยายอิทธิพลกว้างไกลที่สุดของชาติจีน กลับติดตามมาด้วยยุคที่จีนปิดตัวเองจากโลกอย่างที่สุด
ผู้นำของโลกในต้นศตวรรษที่ 15 ได้หันหลังเดินออกจากประตูประวัติศาสตร์ไป
ในขณะที่โปรตุเกสกำลังเริ่มต้นส่งกองเรือลงมาสำรวจชายฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปอาฟริกา
และไม่ถึงร้อยปีต่อมา ชาวยุโรปเดินเรือไปทั่วโลก

 

เอกสารอ้างอิง:

http://www.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0602011048&srcday=2005/10/01&search=no
http://www.chinaheritagenewsletter.org/articles.php?searchterm=002_zhenghe.inc&issue=002
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000146605&#Comment
http://english.chinamil.com.cn/site2/special-reports/2005-07/06/content_243759.htm
http://www.chinapage.com/zhenghe.html
http://manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9480000065910
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000085054
http://english.chinamil.com.cn/site2/special-reports/2005-07/06/content_243759.htm
http://english.cctv.com/english/special/C14181/20050617/101090.shtml
http://english.chinamil.com.cn/site2/zhxxy/index.htm
http://www.geocities.com/johannes_widodo/zhenghe.htm
http://www.ripon.edu/academics/global/Levathes.html
http://www.1421.tv/index.asp
http://www.hist.umn.edu/hist1012/primarysource/source.htm
http://www.bbc.co.uk/radio4/history/swimming_dragons.shtml
http://www.carnaval.com/columbus/diffusion.htm
http://theseoultimes.com/ST/?url=/ST/db/read.php?idx=630
http://www.mca.org.my/story.asp?file=/articles/exclusive/2005/7/43168.html&sec=Exclusive

ปริวัฒน์ จันทร. เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที "ซำปอกง". กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๘.

Levathes, รายการสารคดี Treasure Fleet: The Adventure of Zheng He ของ National Geographic ออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ UBC ประเทศไทยช่อง 24 ช่วง ธันวาคม 2005 - มกราคม 2006.

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ :

(1) http://www.1421.tv/index.asp

(2) ชาวหุย (Hui) เป็นชนกลุ่มน้อย 1 ใน 55 ชนเผ่าของจีน ปัจจุบันมีประชากร 10 ล้านคนเศษตามตัวเลขอย่างเป็นทางการของจีน ชาวหุยคือชาวจีนฮั่นที่นับถือศาสนาอิสลาม สืบเชื้อสายจากชาวอาหรับและเอเชียกลาง ที่อพยพเข้ามาสู่ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์หยวนหรือมองโกล(ค.ศ.1271-1368) รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย และธรรมเนียมของชาวหุยในปัจจุบันเหมือนชาวฮั่นทุกประการ ยกเว้นการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลามและการไม่รับประทานเนื้อสุกร ชาวหุยนอกเขตเมืองใหญ่สำหรับผู้ชายยังคงนิยมสวมหมวกกลมๆ สีขาว ผู้หญิงคลุมฮิญาบ แม้ชาวหุยจะมีจำนวนเพียงร้อยละ 0.7 ของประชากรจีนทั้งประเทศ แต่ชาวหุยมีบทบาทด้านเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศจีนในปัจจุบันค่อนข้างมาก

(3) ก่อนหน้ากองทัพมองโกลเข้ายึดประเทศจีน และก่อตั้งราชวงศ์หยวนหรือมองโกล(ค.ศ.1271-1368) ที่มีกุบไลข่านเป็นปฐมจักรพรรดินั้น อาณาจักรอิสลามแถบเอเชียกลางและตะวันออกกลาง ถูกกองทัพมองโกลยึดได้มาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อมองโกลเข้าปกครองประเทศจีน กองทัพมองโกลได้อพยพมุสลิมจากเอเชียกลางและตะวันออกกลางเข้ามาประเทศจีนจำนวนมาก คนพวกนี้มีทั้งทหาร หมอ นักดาราศาสตร์ นักวิชาการ ช่างฝีมือ พ่อค้า นักสอนศาสนา ในช่วงราชวงศ์หยวน ชาวมุสลิมหรือชาวหุยมีสถานภาพสูงกว่าชาวฮั่น เพราะมองโกลบริหารงานโดยใช้ชาวต่างชาติคือ ชาวมุสลิมจากเอเชียกลาง เปอร์เซีย และอาหรับ เป็นหลัก และไม่ให้ชาวจีนฮั่นเจ้าของประเทศดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ชาวมุสลิมเป็นนายอากรเก็บภาษีและบริหารงานทั่วไป Ting-hsueh Wu ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ชื่อดังของจีนระบุว่า มีชาวมุสลิมกว่า 30 คนดำรงตำแหน่งระดับสูงในราชสำนักหยวน และเป็นผู้ว่าการมณฑลถึง 9 มณฑล ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ชาวอิหร่านชื่อ Rashidu'd-Din Fadlu'llah ได้ระบุไว้ในหนังสือ Iami'u't-Tawarikh ว่า "ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์หยวนซึ่งปกครองโดยกุบไลข่านแบ่งการปกครองเป็น 12 มณฑล มีผู้ว่าการและรองผู้ว่าการเป็นผู้บริหาร ในผู้ว่าการ 12 คน เป็นมุสลิม 8 คน ส่วนใน 4 มณฑลที่เหลือก็มีมุสลิมเป็นรองผู้ว่าการ"

(4) ปัจจุบันอยู่ในประเทศอุซเบกิสถาน (Uzbekistan)

(5) สันนิษฐานจากคำนำหน้าชื่อว่า "ฮัจญี"

(6) http://www.china.org.cn/english/features/zhenhe/132810.htm

(7) http://www.china.org.cn/english/features/zhenhe/132810.htm

(8) http://www.china.org.cn/english/features/zhenhe/132810.htm

(9) http://www.1421.tv/pages/evidence/content.asp?EvidenceID=171
http://www.geocities.com/johannes_widodo/zhenghe.htm

(10) http://www.hist.umn.edu/hist1012/primarysource/source.htm

(11) http://www.ripon.edu/academics/global/Levathes.html

(12) http://english.chinamil.com.cn/site2/special-reports/2005-07/06/content_243765.htm

(13) http://english.chinamil.com.cn/site2/special-reports/2005-07/06/content_243759.htm

(14) http://www.chinaheritagenewsletter.org/articles.php?searchterm=002_zhenghe.inc&issue=002

(15) http://www.mca.org.my/story.asp?file=/articles/exclusive/2005/7/43168.html&sec=Exclusive

(16) http://english.chinamil.com.cn/site2/special-reports/2005-07/06/content_243759.htm

(17) http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000085054
http://www.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0602011048&srcday=2005/10/01&search=no

(18) http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000146605&#Comment

(19) http://english.cctv.com/english/special/C14181/20050617/101090.shtml

(20) http://english.chinamil.com.cn/site2/special-reports/2005-07/06/content_243780.htm

(21) http://www.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0602011048&srcday=2005/10/01&search=no

(22) Levathes, รายการสารคดี Treasure Fleet: The Adventure of Zheng He ของ National Geographic ออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ UBC ประเทศไทยช่อง 24 ช่วง ธันวาคม 2005 - มกราคม 2006.

(23) http://www.mca.org.my/story.asp?file=/articles/exclusive/2005/7/43168.html&sec=Exclusive

(24) http://www.mca.org.my/story.asp?file=/articles/exclusive/2005/7/43168.html&sec=Exclusive

(25) http://www.geocities.com/johannes_widodo/zhenghe.htm

(26) http://www.csmonitor.com/2004/0616/p11s01-trgn.htm
http://www.bbc.co.uk/radio4/history/swimming_dragons.shtml
http://www.carnaval.com/columbus/diffusion.htm
http://theseoultimes.com/ST/?url=/ST/db/read.php?idx=630



นักศึกษา สมาชิก และท่านผู้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับ
สมุทรยาตราของแม่ทัพเรือจีนมุสลิมท่านนี้
สามารถคลิกไปอ่านเพิ่มเติมได้



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
281248
release date
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
1234567890 -A12345678
เจิ้งเหอ(ค.ศ.1371-1433) เป็นผู้บัญชาการกองเรือมหาสมบัติของจีนสมัยราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644) การเดินเรือสำรวจทางทะเลในระยะเวลา 28 ปีของเจิ้งเหอ ประกอบด้วยกองเรือกว่า 300 ลำ ลูกเรือเกือบ 28,000 ชีวิต ออกสำรวจทางทะเลรวม 7 ครั้ง ท่องต่างแดนมากกว่า 30 ประเทศ กองเรือมหาสมบัติของจีนเคยติดต่อกับอาณาจักรอยุธยาด้วย กาวิน แมนซี (Gavin Menzies)(1) อดีตทหารเรือชาวอังกฤษ เสนอทฤษฎีว่า ในการเดินเรือครั้งหนึ่งของเจิ้งเหอ เขาน่าจะไปไกลถึงทวีปอเมริกา ซึ่งหากเป็นจริง เขาก็จะเป็นผู้ค้นพบทวีป อเมริกาก่อนโคลัมบัสเกือบร้อยปี
When China Rule the Seas