นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร


The Midnight University

เรื่องของอำนาจในประวัติศาสตร์ไทย
โครงสร้างอำนาจในชีวประวัติการเมืองไทย
กำพล จำปาพันธ์
นักวิชาการอิสระ สาขาประวัติศาสตร์ไทย

หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
โครงสร้างอำนาจในการเมืองไทย
ทางกองบรรณาธิการขอขอบคุณเจ้าของต้นฉบับมา ณ ที่นี้


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 776
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11 หน้ากระดาษ A4)



โครงสร้างอำนาจในการเมืองไทย
กำพล จำปาพันธ์


โดยปกตินิยามของ "อำนาจ" นั้นมีหลากระดับ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่แวดล้อมก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์อย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา ถ้าจริงจังว่าความเท่าเทียมกันต้องบังเกิดผลเป็นจริงทั้งในทางปฏิบัติและทางหลักการ เราต้องขจัดประเด็นเรื่อง "อำนาจ" ออกไปให้ไกลจากระบบความสัมพันธ์ของเรา เพราะการมีอยู่ของอำนาจเท่ากับยืนยันว่า ความเท่าเทียมกันนั้นไม่มีอยู่จริงและไม่อาจเป็นจริงอีกด้วย

สำหรับความเท่าเทียมกันนั้น มีความสำคัญอยู่ในประเด็นที่ว่า เพราะเป็นหลักยึดถึงระดับประชาธิปไตยของระบอบการเมืองการปกครองอีกต่อหนึ่ง แม้ความเท่าเทียมกันที่บังเกิดผลในทิศทางที่เป็นจริงจะมีความสำคัญในตัวเองอยู่มาก แต่คุณค่าพิเศษนี้จะดำรงอยู่ได้อย่างไร หากมีการเรียกร้องหรือยินยอมให้ใครมีอำนาจมากเกินกว่าที่มนุษยธรรมดาจะพึงมี ทั้งเมื่อหากอำนาจกับความเท่าเทียมกันยังดำรงอยู่ด้วยกันอย่างลักหลั่น ความอยุติธรรมและความไร้เหตุผลจึงบังเกิดขึ้นได้ไม่ยากนักสำหรับระบบการเมืองที่ยังเอื้อหนุนต่อการขัดแย้งของทั้งสองสิ่งนี้

แต่ "อำนาจ" อาจมีเหตุผลในการดำรงอยู่ของตัวมันเองและมีมิติของการสร้างสรรค์เช่นกัน ชีวิตภายในรัฐนั้นเป็นชีวิตที่ต้องแขวนอยู่กับกลไกของอำนาจค่อนข้างมาก การเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลกระทบอย่างลึกล้ำที่สุดก็คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจนั่นเอง แม้ไม่ง่ายนักที่จะให้อำนาจทั้งหมดตกอยู่ที่คนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง แต่กล่าวได้ว่านั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่จำต้องยอมให้เป็นไปตามนั้น เพราะอำนาจที่ตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ซึ่งก็คือ ประชาชน นั้น จะเป็นหลักประกันในความยุติธรรม และความเท่าเทียมกันได้มากกว่าจะตกไปอยู่ที่ใครเพียงฝ่ายเดียว

จากจุดนี้นิยามอำนาจที่เรียกว่า "อธิปไตยสูงสุด" จึงเกิดขึ้นเพื่อขยายมิติของความเท่าเทียมกันให้ลบเลือนมิติของอำนาจให้มากที่สุด แต่อำนาจอธิปไตยนี้แท้จริงจะเป็นอะไรได้ เพราะหากยึดถือว่า มันเป็นของประชาชนทุกคนและประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจนี้ ก็เท่ากับว่าอำนาจอธิปไตยสามารถปรากฏได้ในทุกแห่งที่และทุกทิศทาง ในแง่นี้การจะประท้วงรัฐหรือจะต่อต้านชนชั้นนำ จึงไม่จำเป็นต้องพาคนไปเดินขบวนที่ถนนราชดำเนิน ไม่จำเป็นต้องไปเปิดเวทีไฮปาร์คที่สนามหลวง ไม่จำเป็นต้องพาคนไปป่ายปีนทำเนียบ ไม่ต้อง... ฯลฯ

แต่การต่อต้านรัฐสามารถทำได้ในทุกจังหวะ ทุกพื้นที่ที่อำนาจอธิปไตยปกแผ่ไปถึง ตราบเท่าที่อำนาจอธิปไตยยังคงเป็นของคุณอยู่ตรงตามโครงสร้างอำนาจของการเมือง ตราบนั้นเมื่ออำนาจนี้มีอยู่ทุกหัวระแหงจริง ๆ ก็เท่ากับตัวมันเองกลายเป็นอำนาจที่ไม่มีอยู่จริง หรือต้องพบความสูญสลายในท้ายสุด

ราวกับเป็น "พระเจ้า" ในการเมืองสมัยใหม่ และนี่ก็อาจแสดงถึงความไร้เหตุผลอย่างหนึ่งของระบบการเมืองที่โอ้อวดว่ามีสิ่งนี้ ทุกคนเป็นเจ้าของนั้นไม่ได้หมายความว่า ใคร ๆ ก็จะสามารถฉวยใช้ได้ตามอัตวิสัย แต่ไม่เลย "อำนาจ"นี้จะปรากฏก็ต่อเมื่อคนหลายคนร่วมกันใช้ร่วมกันต่อรองเท่านั้น ซึ่งมีเพียงสองสถานการณ์เท่านั้นที่จะเป็นไปได้อย่างเด็ดขาดและจริงแท้ คือ การปฏิวัติและสงครามนั่นเอง ส่วนการเลือกตั้งนั้นเป็นแต่เพียงภาพตัวแทนลวง ๆ ที่วิธีการประชาธิปไตยหยิบยื่นให้ เพราะอำนาจอธิปไตยสูงสุดนั้นคืออำนาจในการล้มล้างระบบด้วย ไม่ใช่อำนาจในการธำรงรักษา หรือเพียงคัดเลือกใครขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตเท่านั้น

และเมื่อยึดถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน อำนาจอื่นใดนอกเหนือจากนั้น ไม่ว่าจะมาจากกษัตริย์หรือนายกรัฐมนตรี พึงเข้าใจด้วยว่าถ้าฉวยใช้เทียบเคียงหรือแสดงนัยเหนือกว่า สูงส่งกว่า และเป็นอำนาจหนึ่งเดียวที่สามารถเป็นภาพตัวแทนของความบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว ต้องถือว่าอำนาจนั้นเป็นโมฆะโดยทันที เพราะรัฐธรรมนูญซึ่งตามหลักการจะไม่มีตัวบทกฎหมายอื่นเทียบเคียงได้เป็นสิ่งรับรองให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ด้วยเหตุประการนี้ "พระราช" อำนาจ จึงไม่ใช่อำนาจสูงสุดที่ควรพูดถึงกันในระบบการเมืองปัจจุบัน ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เกิดขึ้นได้ในสังคมไทยก็ด้วยเจตนารมย์ที่จะจำกัดสิ่งที่เรียกว่า "พระราชอำนาจ" นี้ เพื่อจักเป็นหลักประกันให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยสูงสุด ควบคู่กับที่เกิดขึ้นเนื่องจากความพยายามของบางกลุ่มการเมืองที่ต้องการขจัดคู่แข่งทางการเมืองของตน รวมไปถึงการป้องกันอิทธิพลของลัทธิระบบการเมืองอย่างอื่นที่เป็นทางเลือกในเวลาใกล้เคียงกัน เช่น สาธารณรัฐ (ในนาม ลัทธิไตรราษฎร์) และ สังคมนิยม - คอมมิวนิสต์

เมื่อพูดถึง "พระราช" อำนาจ ณ เงื่อนไขปัจจุบันนี้ ไม่ได้หมายความเท่ากับว่ากำลังพูดถึงอำนาจของพระราชาตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งสองสิ่งนี้ (พระราชอำนาจ vs. ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) แม้เกี่ยวข้องกันอย่างมากในปัจจุบัน แต่กล่าวได้ว่าทั้งสองเป็นคนละ "สิ่ง" กัน "พระราชอำนาจ" อาจหมายถึงพระราชอำนาจตามการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ พอ ๆ กับที่อาจหมายถึงพระราชอำนาจในยุคสมัยอันโบร่ำโบราณไปกว่านั้นโดยไม่รู้สำนึกก็ได้

เคยมีการถกเถียงกันมาแล้วว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น แท้จริงเป็นแต่เพียงระบอบการเมืองการปกครองที่อยู่ในช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่านจากสมบูรณาญาสิทธิ "ราช" ไปสู่ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐเท่านั้น เนื่องจากการเมืองจารีตและประเพณีนิยมต่าง ๆ ยังคงมีพลังอำนาจในการสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงอยู่อย่างมหาศาล ในแง่นี้ "การปฏิวัติ" ในความหมายอันร้อนเร่าตามแบบตะวันตกที่ต้องการการแตกหักฉับพลันกับจารีตเดิมทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้อจำกัดหรือปัญหาที่ควรหยามหยันกันแต่อย่างใด เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ฉลาดและมีวุฒิภาวะย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงที่วางอยู่บนพื้นฐานของการรู้จักเลือก เลือกคัด จัดสรร ปรุงแต่ง ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับตัวเองได้มากที่สุด

การสร้างสิ่งใหม่มักเกิดขึ้นท่ามกลางการอ้างความเก่าแก่หรือความเชื่อมโยงกับ "สิ่ง" อันเป็นอดีตไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งมีผลเปลี่ยนย้ายองค์อธิปัตย์จากกษัตริย์เป็นราษฎร บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ จึงต้องอ้างอเนกนิกรสโมสรสมมติด้วย (ดู รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๓๔/๒๔๗๕ วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕) สิ่งเก่ากับสิ่งใหม่บางครั้งจึงควรผสมผสานหรืออยู่ร่วมกันได้อย่างเอื้อหนุน เป็นพลังแก่กันในการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ที่ดีกว่า และนั่นย่อมจะเป็นหลักประกันของการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและมีความเป็นไปได้อย่างจริงแท้

อย่างไรก็ตาม มีการพิจารณาบ้างเหมือนกันว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี้ เป็นระบอบการเมืองที่มีคุณค่าความสำคัญในตัวเอง เพราะเป็นทางเลือกที่ผ่านการคัดสรร ปะทะประสาน ต่อรอง มาหลายขั้นตอนหลายช่วงเวลาโดยที่ระบบยังคงไม่ถูกเปลี่ยนย้ายไปสู่ประชาคมแบบสาธารณรัฐ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบอบนี้มีความสำคัญในแง่นี้เห็นจะหนีไม่พ้นประเด็นของพระมหากษัตริย์กับการเมืองของการถวายความจงรักภักดี

ในระบอบนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า องค์พระมหากษัตริย์สามารถเป็นสิ่งยึดโยงระหว่างคนในชาติ สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งแม้ระบอบสาธารณรัฐเองจะมีรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดี (ในแง่สถาบัน) และประชาสังคมที่เข้มแข็ง แต่ไม่อาจเทียบได้กับรัฐเดี่ยวตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

นี่เป็นเหตุผลที่เมื่อคราวอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ ในหัวข้อประเทศไทยยังควรเป็นรัฐเดี่ยวหรือไม่ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นพ้องว่ายังควรเป็นรัฐเดี่ยว รูปแบบสมาพันธรัฐ เช่นที่สหรัฐอเมริกาใช้อยู่นั้นไม่มีความเหมาะสมจะเป็นรูปแบบรัฐไทยแต่อย่างใด และอันที่จริงระบอบมณฑลเทศาภิบาลที่เคยใช้ในสยามสมัยสมบูรณาฯ ก็มีสภาพใกล้เคียงกันอยู่มาก ซึ่งถูกพิสูจน์โดยทางประวัติศาสตร์ไปแล้วว่าใช้ไม่ได้...

ต่อเมื่อเป็นรัฐเดี่ยวอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ความเท่าเทียมกันกลายเป็นความเท่าทียมกันภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ยอมรับโดยดุษฎีให้พระองค์มีฐานะเป็นประมุขสูงสุดที่ควรเคารพสักการะ และควรกล่าวด้วยว่าความเท่าเทียมกันในแง่นี้นั้น เป็นความเท่าเทียมกันแบบสมัยใหม่อย่างทื่อทึ่มที่สุด เดิมพระมหากษัตริย์จะทรงเท่าเทียมกับพสกนิกรของพระองค์เมื่อทรงอยู่ต่อหน้าพระเจ้า และยังต้องรอคอยคำพิพากษาจากพระเจ้าว่าประพฤติตัวควรแก่การมีชีวิตอมตะหรือไม่

ในสังคมไทยเองพระมหากษัตริย์แต่โบราณก็ทรงเท่าเทียมกับไพร่ฟ้าหน้าใสของพระองค์ ด้วยเหตุเพราะยังต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกับสามัญชน อีกทั้งการลุ่มหลงการเป็นเจ้าเป็นกษัตริย์จักเป็นเหตุให้เผชิญทุกขเวทนาไปอีกหลายชั่วกัปป์กัลป์ นี่คือหัวใจหลักของคำสอนที่สิทธารถประทานแก่ราหุลกุมาร เมื่อครั้งถูกพระมารดาสั่งให้ไปทูลขอราชสมบัติจากพระบิดา อเนกนิกรสมโมสรสมมตินั่นก็อีกหลักคิด ที่จำกัดสถานะสูงส่งของกษัตริย์ไว้ให้ต้องฟังเสียงของประชาชน และเป็นโพธิสัตว์นำพาพวกเขาเข้าถึงสัจจะแห่งนิพพาน การเป็นกษัตริย์แง่หนึ่งจึงเป็นเรื่องของภาระหน้าที่ทางจิตวิญญาณ

ส่วนมิติของอำนาจ ซึ่งเป็นจุดด่างของพระมหากษัตริย์เชิงสถาบัน ปัญญาชนจารีตมีคำอธิบายที่แยบยลพอ สำหรับการลบเลือนมิติของอำนาจในความสัมพันธ์ที่ไม่สู้จะสลับซับซ้อนนัก การอ้างอิงถึงการปกครองแบบพ่อกับลูก มีความหมายไม่ใช่แค่ตามตัวบทเท่านั้น แต่ "อำนาจ" และ "ชั้น" จะหายไปจากการมีผู้ปกครองเป็นพ่อ ความชอบธรรมมีสูงขึ้นเพราะไม่ใช่นายกับบ่าว ไม่ได้อยู่ในระหว่างบรรทัดให้ได้อ่านเจอแม้แต่น้อย นี่นับเป็นข้อน่าฉงนอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในพระนิพนธ์บางชิ้นของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีปาฐกถา "การปกครองประเทศสยามแต่โบราณ" ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าร่วมฟังด้วย ซึ่งนั่นสะท้อนว่า พระองค์ทรงสนพระทัยและเห็นด้วยกับพระญาติวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ท่านนี้ ไม่เป็นปัญหาที่จะไม่ทรงเข้าพระทัยว่า การเป็นกษัตริย์ตามจารีตนิยมแบบไทยนั้นเป็นอย่างไร ต้องมีคุณสมบัติและประพฤติปฏิบัติอย่างไรจึงจะสมพระเกียรติ ต้องทรงไม่นิยมการมีอำนาจหรือหากจำเป็นต้องมีต้องแสดงก็ไม่ควรบาตรใหญ่หรือประเจิดประเจ้อนั่นเอง

แม้กษัตริย์จะมีมานาน แต่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพิ่งเกิดไม่นานนี้ และแม้ถ้อยคำสำนวนที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" จะเกิดจริงจังในทศวรรษ ๒๔๙๐ รวมถึงองค์มหากษัตริย์ผู้จักเป็นต้นฉบับของการปกครองระบอบนี้จะเพิ่งเกิดหลังการครองราชย์ในรัชกาลปัจจุบันก็ตาม

แต่กล่าวได้ว่าโครงสร้างอำนาจในแบบที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่ในที่เคารพสักการะ เหนือการเมือง และใต้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นคุณูปการของการเปลี่ยนแปลงเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ทั้งภาษาและสำนวนก็เป็นภาษาและสำนวนของ ๒๔๗๕ (ตามการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ๒๔๗๕) ก่อนหน้านั้นไม่ถือว่าระบอบการเมืองแบบนี้เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบหนึ่งด้วยซ้ำ หากเรียกด้วยภาษาสำนวนที่มีนัยสำคัญ เช่น "ราชาธิปตัยอำนาจจำกัด" "ราชาธิปตัยตามรัฐธรรมนูญ" "กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" ฯลฯ

๒๔๗๕ เป็นรากฐานให้กับการเมืองสมัยหลัง เช่น ๒๔๙๐ หลวงกาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) ผู้นำคนหนึ่งของรัฐประหาร ๒๔๙๐ เป็นสมาชิกคณะราษฎร การกลับมาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อันเป็นผลต่อเนื่องตอนปลายของรัฐประหาร ทั้งจอมพล ป. ยังสามารถสานต่อนโยบายบางอันที่เคยเสนอไว้เมื่อทศวรรษ ๒๔๘๐ อีกด้วย แม้จะไม่ถึงขนาดรื้อฟื้นนโยบายสร้างชาติขึ้นมาอย่างใหญ่โตนักก็ตาม เพราะบทบาทด้านนี้ (ซึ่งเรียกเป็นสำนวนว่า "การปลูกต้นรักชาติ"(1) ตกอยู่ที่งานด้านศิลปวัฒนธรรมของหลวงวิจิตรวาทการและกรมศิลปากรไปเรียบร้อย

และถ้าหลวงวิจิตรวาทการกับกรมศิลปากรประสบความสำเร็จในการสร้างราก ต่อยอดความเปลี่ยนแปลง และกระทั่งสร้างความต่อเนื่องได้แล้ว ก็ไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไปว่าใครจะรัฐประหาร ใครจะใหญ่ หรือใครจะเป็นผู้นำ หากสำคัญส่วนที่เป็นรากเป็นฐานนั้นเป็นสิ่งใดและมีความมั่นคงหยั่งลึกเพียงใด ฉะนั้นเบื้องต้นที่มองกันว่ารัฐประหาร ๒๔๙๐ ยุติบทบาทคณะราษฎร และ ๒๔๗๕ นั้นเห็นจะไม่ใช่ข้อสรุปที่ถูกต้องนัก การประเมิน ๒๔๗๕ ต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็น พร้อมกับที่ให้ความสำคัญกับยุคหลังมากไป อาจนำมาซึ่งความผิดพลาดได้ง่ายดาย...

อย่าว่าแต่ ๒๔๙๐ เลย ๒๕๐๐ ก็ไม่ใช่จุดเปลี่ยนที่รื้อทลายโครงสร้างตัวนี้ลง ตรงข้ามระบอบสฤษดิ์กลับมีกำพืดจากอำนาจของสามัญที่ ๒๔๗๕ สร้างขึ้น จอมพล ป. ก็เคยใช้อำนาจนี้ แม้จอมพลสฤษดิ์จะดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาให้ความชอบธรรมแก่ตน แต่สถาบันฯ สำหรับจอมพลสฤษดิ์จะเป็นเป้าหมายสูงสุดของการถวายความจงรักภักดีหรือไม่ ยังน่าสงสัยอยู่ เพราะเป็นไปได้มากว่าจอมพลสฤษดิ์จะเพียง "อ้างอิง" สถาบันไว้เอื้อประโยชน์ต่อตนเท่านั้น ขณะที่อ้างจงรักภักดีก็แอบสะสมความมั่งคั่ง ทรัพย์ศฤงคาร และเมียเก็บอีกตั้งมากมาย

แม้ต่างกันในรายละเอียดบางอย่าง แต่อำนาจบังคับบัญชาหลัก ๆ ตามระบบราชการ จนถึงอำนาจบริหารสูงสุดของประเทศ ยังคงเป็นของนายกรัฐมนตรี บทบาทพ่อขุนที่ฉวยใช้ก็เช่นกัน ต่อให้โปรโมทว่าตนเป็นพ่อขุนกันอย่างเอิกเกริกเพียงใด ก็ไม่ช่วยให้จอมพลได้กลายเป็นพ่อของประชาชนไปได้จริง ๆ บทบาทเช่นนี้แม้ต่างในรายละเอียดเมื่อเทียบกับบทบาทท่านผู้นำของจอมพล ป. แล้ว โดยโครงสร้างของอำนาจที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหาร บทบาททั้งสอง (พ่อขุน vs. ผู้นำ) ไม่ได้แตกต่างกันนัก เพราะเป็นบทบาทที่เกิดขึ้นเพื่ออธิบายให้นัยสำคัญของอำนาจนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่อำนาจของกษัตริย์ หรืออำนาจของบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งทางสังคมการเมืองอื่น ๆ

เหตุนี้ระบอบสฤษดิ์จึงไม่ได้ไปไกลถึงขั้นฟื้นสมบูรณาฯ ทั้งไม่มีน้ำยามากพอที่จะล้มโครงสร้างอำนาจที่เป็นของ ๒๔๗๕ อีกด้วย ตรงข้ามระบอบสฤษดิ์เป็นระบอบของกลุ่มคนที่เข้ามาฉวยประโยชน์จากโครงสร้างตัวนี้มากเกินพอดี พวกนี้ตะกละ คดโกง และประพฤติโสมมเกินกว่าที่ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยจะอนุญาต ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จึงเกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นกลไกพิทักษ์ตนเองของโครงสร้างนี้ (2)

อันที่จริงกลุ่มแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการฉวยใช้การเมืองแบบมวลชนนั้นไม่ใช่ใครอื่น คือ คณะราษฎร นั่นเอง (ไม่ใช่ พคท. กับ นักศึกษา) การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนของนักศึกษาประชาชนที่เกิดขึ้นในทศวรรษ ๒๔๘๐ นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่บทบาทของคณะราษฎรกลุ่มหลวงพิบูล แต่ก็นั่นแหล่ะ! กลุ่มอำนาจที่โดยหลักการแล้วถูกจำกัดอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งจารีตใหม่ที่ถือว่าทรงอยู่นอกเหนือปริมณฑลของงานบริหารราชการแผ่นดิน กลับสามารถฟื้นตัวขึ้นใหม่ได้โดยเงื่อนไขที่ ๒๔๗๕ หยิบยื่นไว้ให้นั่นเอง

เนื่องจากได้รับการปลดเปลื้องพระราชภาระออกจากส่วนกลางของอำนาจ พระมหากษัตริย์จึงทรงมีโอกาสได้แสดงความห่วงใยใกล้ชิดต่อพสกนิกรของพระองค์ อย่างชนิดที่ไม่มีอดีตกษัตริย์พระองค์ไหนเคยกระทำได้มาก่อน การดำเนินการจัดทำโครงการพระราชดำริ โครงการตามพระราชประสงค์ มูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ และกิจกรรมต่าง ๆ โดยเสด็จพระราชกุศล จึงเกิดขึ้นและสนองตอบต่อภาวะเงื่อนไขดังกล่าว

ด้วยระยะเวลาที่มีความต่อเนื่องยาวนานร่วมถึง ๕ ทศวรรษ นับจาก ๒๔๙๐ (พ.ศ. ๒๔๙๔) จวบจนปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใดที่จะมีคนเห็นว่า ทรงเปี่ยมพระราชหฤทัยเพียงใดในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมือง มีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น กระทั่งเห็นว่าทรงเป็นผู้เดียวที่ห่วงใยอาณาประชาราษฎร์อย่างแท้จริง

เทียบไม่ได้เลยกับเหล่านักการเมืองที่เต็มไปด้วยฉ้อฉลและผลประโยชน์มากมาย ที่ต่างตะเกียกตะกายให้ตนได้รับเลือกเข้ามา เพียงเพื่อเกียรติยศและความนิยมจอมปลอม ถึงขนาดโจมตีใส่ไคล้กล่าวหากันอย่างหน้าด้านหน้าทนเป็นที่สุด จึงไม่เป็นปัญหาที่ชาวบ้านจะเกลียดชังคนเหล่านี้แล้วหันไปหลงรักในหลวงโดยง่ายดาย แม้โครงการพระราชดำริหลายโครงการอาจมีปัญหาและทำให้ชาวบ้านทุกข์หนักไปกว่าเดิมก็ตาม

และแม้ไม่อาจกล่าวได้แน่ชัดนักว่าเป็นเรื่องของอำนาจบารมีหรือบรมเดชานุภาพ แต่ที่แน่ ๆ คือ เป็นการเริ่มจาก "การสร้างพระคุณ" มากกว่า "พระเดช" และก็ด้วยมิติของการสร้างพระคุณ (หรือที่เรียกกันตามสำนวนนิยมคือ "พระมหากรุณาธิคุณ")นี้เอง ที่ความจงรักภักดีระดับสูงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทรงผูกขาดมาเป็นเวลายาวนาน

งานของประมวล รุจนเสรี รวมทั้งข้อเสนอที่ต่อเนื่องกันของสนธิ ลิ้มทองกุล ในส่วนเกี่ยวกับ "พระราชอำนาจ" เป็นตรรกะตอนปลายของกระแสนี้ อาศัยคตินิยมต่าง ๆ ที่มีต่อในหลวงหวังล้างอำนาจของรัฐบาลทักษิณ ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนเสนอทำนองนี้ เป็นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นในการเมืองไทยเสมอ พรรคประชาธิปัตย์เมื่อคราวล้มปรีดีก็เคยใช้วิธีนี้ ขบวนการนักศึกษาประชาชนเมื่อครั้ง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ก็เคยใช้ กลุ่มเอ็นจีโอนักเคลื่อนไหวก็เคยใช้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจก็เคยใช้ แม้ว่าทั้งประมวลและสนธิ ต่างมีรายละเอียดเฉพาะของตนเอง เช่น มีการเขียนหนังสือ พิมพ์เอกสาร พูดปาฐกถา และใช้สื่อสาธารณะ ราวกับปัญญาชน...

คตินิยมต่าง ๆ ที่ปรากฏในงานประมวลชวนให้นึกถึงงานบางชิ้นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, และธานินทร์ กรัยวิเชียร (ทั้งสามเป็นต้นแบบบางอย่างให้กับประเวศ วะสี, วิทยานิพนธ์ของธงทอง จันทรางศุ, สุเมธ ตันติเวชกุล, เปรม ติณสูลานนท์, กนก วงศ์ตระหง่าน (บางชิ้น), ชัยอนันต์ สมุทวณิช (บางชิ้นในช่วงแรก ๆ), สนธิ เตชานันท์, วิทยานิพนธ์ของนัยนา หงษ์ทองคำ, งานวิจัยของหม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, วิทยานิพนธ์เจษฎา พรไชยา ฯลฯ). จะถือว่า "พระราชอำนาจ" ของประมวลเป็นสูตรผสมล่าสุดของคึกฤทธิ์ เสนีย์ และธานินทร์ ( คึกฤทธิ์ + เสนีย์ + ธานินทร์ = ประมวล ) หรือเป็นผู้สืบรับมรดกทางความคิดของคึกฤทธิ์ เสนีย์ และธานินทร์ ก็เห็นจะไม่ผิดนัก

คติเช่น "เจ้าชีวิต" "เจ้าแผ่นดิน" "อาญาสิทธิ์" ล้วนแต่เป็นคติที่เสนออย่างเป็นระบบโดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ แทบทั้งสิ้น "อธิปไตยพระราชทาน" ก็มาจากบทบาท ม.ร.ว. เสนีย์ ในการตีความหลักศิลาจารึก การเมืองสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และบทบาทรัชกาลที่ ๗ ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง บทบาทพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญเสรีนิยม ก็ล้วนแต่ผ่านการอธิบายโดยแจ่มกระจ่างจากธานินทร์ โดยเฉพาะในงานเขียนที่ชื่อ "พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย"(3)

ส่วนกรณีประมวลกับสนธินั้นจะอย่างไรได้ ในเมื่อทักษิณไม่อาจเทียบได้กับคณะราษฎรหรือคอมมิวนิสต์แม้แต่น้อย ผิดบริบท ผิดฝาผิดตัว ผิดทั้งรูป ผิดทั้งรอย...

คืนพระราชอำนาจ ?
ว่ากันในทางหลักการแล้ว พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมที่มีกษัตริย์เป็นประมุข จักต้องมีอำนาจแต่เฉพาะที่จำกัด มิใช่รุกล้ำเข้าครอบงำ ปรับเปลี่ยน ทั้งตัวบุคคลและโครงสร้าง เพราะถ้าเป็นตรงข้ามไปจากเงื่อนไขนี้ก็ต้องเป็นระบอบอื่น เราควรต้องเข้าใจว่าระบอบนี้ถือกำเนิดขึ้นมาส่วนหนึ่งก็เพื่อปลดเปลื้องพระราชภาระของพระองค์ด้วย

รัฐบาล รัฐสภา ศาล กองทัพ ฯลฯ ต่างไม่มีสิทธิอำนาจที่จะยุ่งเกี่ยวกับกฎมนเทียรบาล รวมทั้งอำนาจตามจารีตของพระองค์ในเขตพระราชฐาน และการจัดทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะของพระองค์ ควบคู่กับที่พระองค์จักต้องไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเชิงโครงสร้าง การเลือกตั้ง การอภิปรายในสภา การกำหนดนโยบายของรัฐบาล การตัดสินคดีความของผู้พิพากษา ฯลฯ เว้นแต่ในภาวะฉุกเฉิน เช่น จลาจล และสงครามที่ไร้รัฐบาลเท่านั้น ซึ่งเป็นบทบาทในการสร้างดุลยภาพให้กลับคืนมา ดังที่หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ กับ พฤษภา' ทมิฬ ๒๕๓๕ คลี่คลายลงส่วนหนึ่งก็ด้วยบทบาทพระมหากษัตริย์นั่นเอง

คำ เช่น "พระราชอำนาจ" ที่ใช้เสียจนเกร่อนี่ก็ผิด! เพราะอำนาจนี้มิใช่อำนาจของพระองค์ หากแต่เป็นอำนาจที่มาจากประชาชน (ตามนิยามอำนาจอธิปไตย) นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ในคราวพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพร้อมคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นพ้องกันว่า ควรตัดคำว่า "พระราช" ออกเสีย ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ให้ใช้แต่เฉพาะคำ เช่น "อำนาจ" เท่านั้น (ดู รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๓๕/๒๔๗๕ วันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๕)

ประเด็นนี้แม้แต่บุคคลที่ไม่ใช่คณะราษฎร และภายหลังกลับเป็นปรปักษ์กับคณะราษฎรเป็นส่วนใหญ่ เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, หลวงแสงนิติศาสตร์, พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์, เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์, พระเรียมวิรัชชพากษ์, พระยามานวราชเสวี, พระยาราชวังสัน ฯลฯ ต่างก็เห็นด้วย เหตุนั้นจึงไม่มีการใช้คำเช่น "พระราชอำนาจ" สำหรับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมายอื่น

แม้ในยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ พระมหากษัตริย์เมื่อจะทรงใช้สิ่งที่ประมวลกับสนธิเรียก "พระราชอำนาจ" นี้ พระองค์ก็ไม่ทรงใช้ด้วยพระองค์เอง เนื่องจากทรงตระหนักว่าอำนาจนี้มิใช่อำนาจของพระองค์เช่นกัน แต่การใช้อำนาจนี้จักเป็นในลักษณะร่วมกันใช้ด้วยความยินยอมพร้อมใจจากเสนาบดี เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ และขุนนางที่คุมกำลังและมีอำนาจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาญาสิทธิ์แบบ "เจ้าชีวิต" นั้นยิ่งจะกล่าวว่าเป็นของพระองค์ไม่ได้ เพราะไม่อาจใช้โดยพระบรมราชวินิจฉัยของพระองค์เท่านั้น

ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ กรณี ร.ศ. ๑๓๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ไม่สามารถสั่งประหารชีวิตผู้ก่อการ เพราะหากจะลงโทษหนักขนาดนั้น พระองค์ทรงเข้าพระทัยดีว่าจะถูกทัดทานจากเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เป็นแน่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ย่อมจักไม่ยินยอมให้มีการประหารชีวิตเหล่าบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของแต่ละพระองค์เป็นแน่ และก็ทรงตระหนักพระทัยดีว่า หากทรงใช้อำนาจนี้จะเกิดความไม่พอใจในหมู่ราษฎร

ในรัฐจารีตแบบมณฑล (Mandala State) ที่กษัตริย์เป็นจักรพรรดิราชเท่านั้น ที่คติ "เจ้าชีวิต" และ "เจ้าแผ่นดิน" จักอาจเป็นจริงได้ การแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในโครงสร้างอำนาจของรัฐ แม้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์เองก็เป็นไปอย่างยากลำบาก อภิรัฐมนตรีสภาสมัยรัชกาลที่ ๗ ไม่ได้เกิดจากบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เพียงลำพัง มีหลายคนในคณะรัฐบาล เจ้านายชั้นสูง ตลอดจนที่ปรึกษาทั้งไทยและเทศ ต่างเห็นพ้องและยินยอม ในทางกลับกันกรณี "เค้าโครงเบื้องต้น" กับ "เค้าโครงการเปลี่ยนรูปรัฐบาล" ที่ภายหลังมองกันว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญสมัย ร.๗ นั้น แม้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะทรงตั้งพระทัยที่จะพระราชทาน แต่ไม่อาจทำได้ดังพระราชปณิธาน เนื่องจากถูกคัดค้านจากเจ้านายชั้นสูง อภิรัฐมนตรีบางพระองค์ และที่ปรึกษาของพระองค์เอง

ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อำนาจเช่นนั้นยิ่งจะเป็นไปไม่ได้และไม่ควรเป็นด้วย (ดังที่ได้อธิบายไว้แล้ว) ด้วยเหตุประการนี้ เราจะ 'คืน' สิ่งที่ไม่ได้เป็นของพระองค์และพระองค์ก็ไม่ทรงเคยมีตามระบอบนี้ได้อย่างไร ? ข้อเสนอเช่นนี้ไม่น่าจะเกิดจากบุคคลที่เข้าใจประเพณีการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ

(1) การปลูกต้นรักชาติ ความหมายไม่ได้เป็นด้านลบหรือแสดงถึงการตกต่ำของคติเรื่องความเป็นชาติ วันชาติที่กลายเป็นวันปลูกต้นไม้แห่งชาติก็อยู่ในบริบทนี้ ไม่ได้มีด้านลบหรือตกต่ำแต่อย่างใด นักศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีพึงระวังอย่างยิ่งในการสอดใส่บริบทแบบผิด ๆ เพี้ยน ๆ สร้างนัยดูถูกดูหมิ่นต่อการกระทำทางประวัติศาสตร์ ภาษาของอดีตมีความสำคัญของมันเอง สายตาคนปัจจุบันปกติก็ฟ่าฟางในการมองคำในอดีตอยู่แล้ว ผู้ศึกษาที่ดีควรเจียมตนและเรียนรู้ว่า สายตาอันตีบบอดและจิตใจที่คับแคบเหลือประมาณนั้น ไม่พึงยัดเยียดให้คนอื่นหรือชี้ชวนคนอื่นเห็นคล้อยอย่างไร้วิจารณญาณและสัมปชัญญะเพียงพอ

(2) น่าเสียดายที่บทความ "๒๔ มิถุนาในขบวนการ ๑๔ ตุลา" ของประจักษ์ ก้องกีรติ ไม่ได้ชี้ให้เห็น แต่งานประจักษ์ก็ค่อนข้างมีประโยชน์สำหรับประเด็น "การเมืองของความทรงจำ" (คำของประจักษ์เอง) ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ มีต่อ ๒๔๗๕ ไม่ใช่ประเด็นเรื่องโครงสร้างที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจาก ๒๔๗๕ จนถึงหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ประจักษ์กลับหัวเป็นท้ายไปอย่างน่าเสียดาย แต่เข้าใจได้ในแง่ที่ว่า กล่าวเฉพาะ "โครงสร้าง" ปกติจะถูกแยกออกจากประเด็นอำนาจ อุดมการณ์ หรือที่มักชอบใช้กัน คือ "วาทกรรม"

จริง ๆ แล้วการแยกลักษณะดังกล่าวนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ ยังน่าสงสัยอยู่ ในเมื่อ "อำนาจ" ก็มีการจัดจำแนก ตามกลุ่มผู้ใช้ ผู้มี ผู้เข้าถึง หรือแม้กระทั่งมีโครงสร้างอย่างหนึ่งอย่างใดกำกับการใช้อยู่ และ "อำนาจ" โดยตัวมันเองก็มีหลากระดับหลากนิยาม ทั้ง "อำนาจ" ของแต่ละกลุ่มผู้ใช้ยังมีการแลกเปลี่ยนปะปนกัน บางครั้งขัดแย้ง ปะทะประสาน ต่อรอง ช่วงชิง บาง "อำนาจ" ก็มีอำนาจเหนืออีกบาง "อำนาจ" ยิ่งกรณีอำนาจการเมืองในแต่ละระบอบรัฐยิ่งมีความแตกต่างหลากหลายและซ้อนหลั่นมากเป็นทวีคูณ

อย่าว่าแต่ "อำนาจ" เลย "วาทกรรม" เองก็ยังมีโครงสร้างกำกับปฏิบัติการของมันอยู่ดุจกัน แม้ "โครงสร้าง" ทั้งในที่นี้หรือที่อื่น ๆ จะหมายถึงโครงสร้างในแบบที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตามที ก่อนที่จะยอมรับแนวคิดที่มีรากกำเนิดจากตะวันตก ขอเตือนว่าคงไม่ยากจนเกินไปนัก ถ้าจะมีวิจารณญาณกันให้มากกว่านี้

(3) อย่างไรก็ตาม ธงชัย วินิจจะกูล ในปาฐกถา "ข้ามไปให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลา" ได้เสนอว่า พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ก็เคยอธิบายบทบาทนี้มาก่อนนับแต่ครั้งทศวรรษ ๒๔๙๐ แต่ธงชัยเองก็ตั้งข้อสังเกตว่าพระนิพนธ์ดังกล่าวเผยแพร่ในวงจำกัด มีคนอ่านกี่คน เป็นใครบ้าง ในหลวงทรงเห็นด้วยจริง ๆ หรือ ? ล้วนเป็นประเด็นคำถามที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องหลักฐาน แต่ก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

ขณะที่กรณีธานินทร์นั้นไม่เป็นปัญหา เพราะงานหลายชิ้นของเขาตีพิมพ์โดยหน่วยงานรัฐ กองทัพบก ฝ่ายความมั่นคง และกระทั่งกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะเรื่อง "พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย" นี้ถูกใช้เป็นคู่มือฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐและเป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอนในสถานศึกษาด้วยซ้ำ เป็นไปได้ยากที่ธานินทร์จะเคยอ่านพระนิพนธ์กรมหมื่นพิทยลาภฯ ดังที่ธงชัยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเผยแพร่ในวงจำกัดของพระนิพนธ์ชิ้นนั้น เพียงแต่ว่าบริบทการเมืองของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร คือ คณะราษฎร กับ ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นบริบทในบางชิ้นงานของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ , ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในระยะเวลาใกล้เคียงกันด้วย ส่วนกรณีธานินทร์นั้นอยู่ที่คอมมิวนิสต์และฝ่ายซ้ายในเมืองเป็นสำคัญ ขณะที่สถานภาพพระมหากษัตริย์ไทยในปัจจุบันเป็นผลผลิตจากบริบททั้งสอง หรือกล่าวอีกนัยคือ เป็นส่วนผสมจากสูตรการต้านคณะราษฎรกับคอมมิวนิสต์นั่นเอง

 

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

นายปรีดีก็เล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นรากฐานในการสร้างประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ กล่าวคือ เมื่อคนรุ่นใหม่มีจิตสำนึกในทางอิสรภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ แและเสมอภาพเสียแล้ว คนรุ่นใหม่ย่อมไปพ้นค่านิยมเดิมๆ ที่สะกดให้ผู้คนเคารพนับถือยศศักดิ์อัครฐานอันจอมปลอมต่างๆ แม้จนยอมรับการกดขี่ข่มเหงโดยรัฐ หรือโดยชนชั้นบน ที่อ้างว่ากระทำการในนามของรัฐ

ฉะนั้นการที่ท่านตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นในปี ๒๔๗๗ นั้น จึงนับได้ว่านี่คือมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแห่งแรก ที่สร้างความเข้มแข็งทางจริยธรรมให้มหาชน แม้จนคนในชนบทที่ห่างไกลและยากจน ก็อาจเป็นนักศึกษาของธรรมศาสตร์ได้ โดยที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนี้ ได้กลายเป็นผู้นำของขบวนการประชาธิปไตยมาไม่น้อยคน ไม่ว่าจะกุหลาบ สายประดิษฐ์, เตียง สิริขัณฑ์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ

R
related topic
161248
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้


อุดมศึกษาบนเว็ปไซต์ เพียงคลิกก็พลิกผันความรู้ ทำให้เข้าใจและเรียนรู้โลกมากขึ้น
สนใจค้นหาความรู้ในสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีน้ำเงิน
สนใจเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีแดง