นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

ประชาชนเป็นเจ้าของพลังงาน
หนังโกหกของ กฟผ.และการปลดพนักงานไฟฟ้าสหรัฐฯ
ประสาท มีแต้ม
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาลัยวันศุกร์

หน้าเว็ปเพจนี้ประกอบด้วยบทความ ๒ เรื่องดังนี้
๑. ความจริงที่หายไปในหนังโฆษณาชุดล่าสุดเรื่อง กฟผ.
๒. ปลดพนักงานไฟฟ้าสหรัฐอเมริกา:บทเรียนที่พนักงานไฟฟ้าไทยต้องรับรู้

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 757
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)



ความจริงที่หายไปในหนังโฆษณาชุดล่าสุดเรื่อง กฟผ.
ประสาท มีแต้ม : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มศึกษาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สงขลา

1. คำนำ
ผมได้ชมหนังโฆษณาชุดล่าสุดในโทรทัศน์ ที่พยายามบอกถึงเหตุผลของรัฐบาลในการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แล้วรู้สึกว่าต้องเขียนบทความชิ้นนี้ทันที ทั้งนี้เพราะมีข้อมูลสำคัญบางอย่างได้ถูกบิดเบือนและทำให้คิดต่อไปได้ว่า แล้วสิ่งอื่นๆ ที่รัฐบาลจะทำในอนาคตจะถูกบิดเบือนอีกไหม

ในฐานะที่ได้ติดตามข้อมูลด้านพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติและกิจการไฟฟ้ามานาน ผมจึงสามารถจับได้ไล่ทันว่าข้อมูลใดบ้างได้ถูกบิดเบือนหรือถูกทำให้หายไป ดังนั้นผมจึงขอนำเสนอข้อมูลที่ได้หายไปเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ใช้ประกอบการพิจารณา สำหรับข้อมูลดิบที่ผมใช้ในการวิเคราะห์นี้ มาจากกระทรวงพลังงานซึ่งท่านที่สามารถใช้อินเตอร์เนตค้นหาได้ที่ www.eppo.go.th/vrs/VRS61.pdf (หน้าที่ 63)

เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมจะเปรียบเทียบกิจการไฟฟ้าที่มีความซับซ้อน(และมีตัวเลขเยอะแยะ) กับกิจการคิวรถแท็กซี่ซึ่งจะทำให้เข้าใจได้ง่าย และสามารถนำไปเล่าสู่กันฟังภายใต้การผูกขาดการใช้สื่อแต่เพียงผู้เดียวของภาครัฐ

2. สาระสำคัญของหนังโฆษณา
เนื้อความในโฆษณาดังกล่าวมีสาระสำคัญว่า "ขณะนี้ทาง กฟผ. มีโรงไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้เพียงประมาณ 50% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่คนไทยทั้งประเทศใช้ ที่เหลืออีก 50% เป็นการผลิตของโรงไฟฟ้าของเอกชน ดังนั้นถ้าไม่มีการระดมทุนแล้วจะเอาทุนที่ไหนมาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นสัดส่วนการผลิตของ กฟผ.ก็จะลดต่ำลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ทาง กฟผ.ยังมีหนี้สินถึง 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท จึงจำเป็นต้องระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์"

3. ความจริงที่หายไป
จากสาระดังกล่าว เราพบว่ามีความจริง 2 ประการที่หายไป

ประการแรก คือทรัพย์สินของ กฟผ. มีอยู่ถึง 4 แสนล้านบาท การมีหนี้สินถึง 1.4 แสนล้านบาทก็ต้องถือว่ายังมีความมั่นคงทางการเงินอยู่และมีกำไรทุกปี ดีกว่ารัฐวิสาหกิจอื่นๆ อีกจำนวนมาก อาจจะดีกว่าฐานะของคนไทยทั้งประเทศที่มีหนี้สาธารณะถึง 52% ของรายได้ต่อปีเสียอีก หรือว่าจะต้องนำประเทศไทยไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย!

ประการที่สอง เรื่องที่ทาง กฟผ.มีส่วนแบ่งการตลาดเพียงประมาณ 50% เรื่องนี้ต้องอาศัยข้อมูลประกอบการพิจารณา ขอท่านผู้อ่านโปรดอ่านอย่างช้าๆสักนิด

3.1 นับถึงเดือนมิถุนายน 2546 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันถึง 25,647 เมกะวัตต์ แต่มีความต้องการสูงสุดของทั้งปีเพียงที่ 18,121 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังผลิตสำรองอยู่ถึง 42% เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ผมจะเปรียบโรงไฟฟ้าเป็นรถแท็กซี่ ส่วนจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้เทียบเป็นจำนวนผู้โดยสาร และเพื่อให้เห็นสัดส่วนของการใช้งานของรถแท็กซี่ ผมขอเปรียบให้จำนวนผู้โดยสารในวันที่มีมากสูงสุดมีจำนวน 100 คน (18,121 เมกะวัตต์) ดังนั้นในวันนั้นประเทศไทยมีรถแท็กซี่อยู่ทั้งหมด 142 คัน (รถ 1 คันเทียบเท่าโรงไฟฟ้า 180 เมกะวัตต์คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,300 ล้านบาท)

จากตัวเลขดังกล่าวทำให้เรารู้สึกได้ว่า คิวนี้มีรถมากเกินไป เพราะมีสำรองถึง 42 คัน หากคิดย้อนกลับไปคิดเป็นกิจการโรงไฟฟ้า การมีโรงไฟฟ้าสำรองถึง 42% นั้นต้องถือว่ามีมากเกินไป (ซึ่งปกติเขามักสำรองที่ 15% ท่านนายกฯทักษิณเคยกล่าวเมื่อต้นปี 2545 ว่า "ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าสำรองคิดเป็นมูลค่าถึง 4 แสนล้านบาท เนื่องจากการคำนวณที่ผิดพลาด ทำให้คนไทยต้องเสียค่าไฟฟ้าแพง")

3.2 ในจำนวนรถทั้งหมด 142 คัน ปรากฏว่าเป็นของ กฟผ. 84 คันหรือคิดเป็น 59% ของจำนวนรถทั้งหมดของคิว ที่เหลือ 41%(หรือ 58 คัน) เป็นของบริษัทเอกชน

3.3 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2546 พบว่ารถของ กฟผ. ได้รับผู้โดยสารรวมเพียง 52% (แต่มีรถอยู่ 59%) ในขณะที่รถของเอกชนได้รับผู้โดยสาร 48%(แต่มีรถอยู่ 41%) จากข้อมูลนี้ทำให้เราได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า "นายคิว" นี้ไม่มีความเป็นธรรมอย่างยิ่ง คำถามก็คือว่า ใครคือนายคิว จึงได้ปล่อยให้รถของ กฟผ. หรือของคนไทยทุกคนต้องว่างงานเป็นจำนวนมาก

4. ใครคือนายคิว?
คำตอบคือ กฟผ. เองนั่นแหละที่เป็นนายคิว เพราะ กฟผ. เป็นผู้ควบคุมระบบส่งไฟฟ้าหรือควบคุมถนน แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเกณฑ์การจัดคิวแบบนี้คือใคร? คำตอบคือรัฐบาลไทยนั่นเอง เพราะนโยบายมาจากรัฐบาล โดยรัฐบาลไทยได้เซ็นสัญญาที่เรียกว่า "ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย" กล่าวคือเป็นสัญญาที่ได้ประกันความเสี่ยงให้กับบริษัทเอกชนที่ว่า เมื่อบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าได้แล้ว ทาง กฟผ. ต้องรับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทอย่างน้อย 85% ของจำนวนที่บริษัทผลิตได้เพื่อนำไปขายต่อให้กับประชาชน

โปรดอย่าลืมว่า ในระบบทั้งหมดเรามีรถอยู่ 142 คันแต่มีผู้โดยสารไม่เกิน 100 ราย ด้วยสัญญาแบบนี้ กฟผ. จึงจำเป็นต้องปล่อยรถของตนเองออกให้น้อยลง เพราะถึงปล่อยรถของตนเองออกมา ก็ต้องจ่ายเงินให้รถของเอกชนอยู่ดี ตามสัญญา "ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย"

5. กฟผ. เสียรายได้ปีละ 17,500 ล้านบาท
ในปี 2546 ทั้งปี คนไทยใช้ไฟฟ้าประมาณ 1 แสน 1 หมื่นล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 275,000 ล้านบาท ดังนั้นปริมาณไฟฟ้า 1% มีค่าเท่ากับ 2,750 ล้านบาท

จากหัวข้อ 3.3 ที่รถของ กฟผ. มีอยู่ถึง 59% แต่ได้รับผู้โดยสารเพียง 52% คือหายไปถึง 7% (เพราะไปเพิ่มให้รถของเอกชน) ดังนั้นด้วยการจัดคิวที่ไม่เป็นธรรมนี้ได้ทำให้ กฟผ. ขาดรายได้ไปถึงปีละ 17,500 ล้านบาท

เงินรายได้ที่หายไปจาก กฟผ.จำนวน 19,250 ล้านบาทนี้ เป็นค่าเชื้อเพลิงประมาณ 11,900 ล้านบาท(หรือประมาณ 68%ของรายได้) ดังนั้นรายได้ที่เหลืออีกประมาณ 6,000 ล้านบาทจึงถือได้ว่าเอากำไรล้วนๆ ของ กฟผ.ไปให้กับบริษัทเอกชนนั่นเอง เพราะว่าต้นทุนค่าสายส่งและค่าบริหารไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มอีกแล้ว

เงินก้อนนี้ตกปีละ 6,000 ล้านบาทนี้เป็นเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้จ่าย ได้หายไปจาก กฟผ. ซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน แต่กลับไหลไปสู่กระเป๋าของบริษัทเอกชนเพราะนโยบายการจัดคิวที่ผิดพลาดของรัฐบาลไทย
ที่กล่าวมาแล้วเป็นข้อมูลปี 2546 แต่ที่ทางราชการไทยได้วางแผนไว้สำหรับปี 2547 กลับสาหัสมากกว่านี้คือ รถของ กฟผ. จะได้รับผู้โดยสารเพียง 48% (ทั้งๆที่มีโรงไฟฟ้าหรือรถเพิ่มขึ้นอีก 2 คันที่จังหวัดกระบี่ รวมรถของ กฟผ.มี 60%) รถของบริษัทเอกชนจะได้รับผู้โดยสาร 52%
ความอยุติธรรมนี้จะเพิ่มขึ้นจาก 7% ในปี 2546 เป็น 12% ในปี 2547 เฉพาะส่วนที่ไม่เป็นธรรมนี้คิดเป็นกำไรล้วนๆ ถึงหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี

5. สรุป
ที่ได้กล่าวมาแล้ว ผมได้ชี้ให้เห็นว่าในหนังโฆษณาชุดนี้รัฐบาลทักษิณได้หลอกลวงคนไทยไว้ 3 ประเด็น คือ (1) บอกแต่จำนวนหนี้สินแต่ไม่บอกจำนวนทรัพย์สินที่มีมากกว่า (2) จำนวนโรงไฟฟ้าล้นเกินถึง 42% แทนที่จะเป็น 15% และ (3) ปิดบังความจริงเรื่องการจัดคิวที่ไม่เป็นธรรมซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลเอง ส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้และเอกชนได้ประโยชน์ถึงปีละ 6,000 ล้านบาท

ผมคิดว่าสิ่งที่คนไทยต้องตั้งคำถามอีก 4 ข้อ คือ
(1) ยังมีสิ่งที่หลอกลวงที่บทความนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงอีกไหม
(2) นี่เป็นการหลอกลวงครั้งสุดท้ายของรัฐบาลหรือไม่
(3) เงินค่าโฆษณาทางโทรทัศน์มาจากไหน ใครเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ซึ่งรับเงินค่าโฆษณาแล้วนำความเท็จมาให้ประชาชน และ
(4) แล้วเราจะเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าภายใต้การปิดกั้นข่าวสารได้อย่างไร

ข้อมูลจาก http://www.fridaycollege.org/index.php?file=forum&obj=forum.view(cat_id=en,id=17)
วิทยาลัยวันศุกร์ http://www.fridaycollege.org

๒. ปลดพนักงานไฟฟ้าสหรัฐอเมริกา:บทเรียนที่พนักงานไฟฟ้าไทยต้องรับรู้

"ทั้งๆที่ความต้องการไฟฟ้าของชาวอเมริกันเพิ่มสูงขึ้น 25% นับจากเริ่มการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าในปี 1990
แต่จำนวนพนักงานกลับลดลงจากเดิมถึง 24%หรือ 1 แสน 5 พันคน ในปี 2000 "

บทความนี้จะนำผลการศึกษาวิจัยในการปลดพนักงานไฟฟ้ากว่า 1 แสนคนในประเทศสหรัฐอเมริกาหลังการปฏิรูประบบการกำกับดูแลระบบไฟฟ้าในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1990-2000 มาเตือนสติพนักงานการไฟฟ้าไทยทั้งระบบ ท่ามกลางกระแสการคัดค้านการแปรรูปการไฟฟ้าในบ้านเราในปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงพนักงานการไฟฟ้าเราหมายรวมถึง พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) ที่ทำหน้าที่การผลิตและส่งกระแสไฟฟ้า พนักงานการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และพนักงานการไฟฟ้าภูมิภาค(กฟภ.) ซึ่งพนักงานในสองส่วนหลังนี้ทำหน้าที่ให้บริการประชาชนในเขตของตนเอง แต่ที่กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในบ้านเราก็คือพนักงานของ กฟผ. เพราะได้รับอนุญาตให้ซื้อหุ้น กฟผ. คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท ในราคาพาร์ซึ่งมีราคาเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของราคาเข้าตลาดเท่านั้น

ความจริงแล้วพนักงานการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงานข้างต้นได้ร่วมกันคัดค้านการแปรรูป กฟผ.มาตลอด แต่อาจจะเป็นเพราะคิดเอาเองว่า "ต้านไม่ไหวแล้ว" หรือเพราะ "ผลประโยชน์ที่ทางรัฐบาลหยิบยื่นให้" ก็ไม่อาจทราบได้ พนักงาน กฟผ. ส่วนใหญ่จึงได้ยุติการคัดค้านร่วมกับประชาชนกลุ่มต่างๆในขณะนี้ นอกจากนี้ทางรัฐบาลอาจจะมีคำมั่นสัญญาลับๆกับพนักงาน กฟผ.ว่าในอนาคตจะไม่ปรับลดจำนวนพนักงานลง ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่พนักงานทุกคนทุกหน่วยงานต่างก็รู้สึกกลัวกันทั้งนั้น

บทความนี้ผมจะนำเสนอข้อมูลบางส่วนที่ได้มีการศึกษาวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาในเรื่องที่คล้ายกัน แต่ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว เพื่อเป็นการเตือนสติว่า "คำมั่นสัญญา" ของรัฐบาลที่มีฐานคิดเพื่อกำไรของนายทุนนั้นเชื่อถือไม่ได้. ข้อมูลส่วนใหญ่ต่อไปนี้มาจาก Monthly Labor Review ฉบับเดือนพฤษภาคม 2546(2003) เรื่อง "Regulatory reform and labor outcomes in the U.S. electricity sector" เขียนโดย M. Scott Niederjohn ท่านที่สนใจสามารถค้นได้ google.com ครับ

นับตั่งแต่ปี พ.ศ.2533(1990) เป็นต้นมา หลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกาได้เริ่มต้นแผน "การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า" เหตุผลหลักที่ใช้อ้างในการปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวก็คล้ายกับในบ้านเราบางส่วนคือ "เพื่อกระตุ้นการแข่งขันสำหรับการขายส่งในตลาดกิจการไฟฟ้า" (สำหรับรายละเอียดและผลสัมฤทธิ์ด้านอื่นๆเราจะไม่สนใจ แต่บทความนี้จะสนใจเฉพาะที่เกี่ยวกับการปลดพนักงานและเงินเดือนพนักงาน รวมทั้งที่เกี่ยวกับกิจการสหภาพแรงงานเท่านั้น)

ตอนเริ่มต้นการปฏิรูป ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกามีพนักงานการไฟฟ้า(ที่ทำหน้าที่เหมือนกับ 3 หน่วยงานของบ้านเรา) รวมกันประมาณ 4 แสน 5 หมื่นคน ในปีถัดมามีการปลดพนักงานออกเพียงเล็กน้อย เมื่อผ่านไป 2 ปี พนักงานถูกปลดไปถึง 25,000 คน และก็ถูกปลดต่อมาเกือบทุกปี เมื่อนับจำนวนพนักงานไฟฟ้าจนถึงปี 2543 พนักงานของกิจการไฟฟ้าลดลงถึง 1 แสน 5 พันคน หรือลดลงถึง 24% ของจำนวนพนักงานในตอนเริ่มต้นปฏิรูป ทั้งๆที่ ในช่วงเวลาดังกล่าว คนอเมริกันใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 25% (ข้อมูลจาก Energy Information Administration)

ในด้านรายได้ของพนักงาน ผลการศึกษาพบว่า ผลจากการปฏิรูปดังกล่าวไม่ได้ทำให้รายได้ของพนักงานลดลง กล่าวคือรายได้ที่แท้จริงเพิ่มจากสัปดาห์ละ $482 ในปี 2335 เป็น $529 ในปี 2543 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.2% เท่านั้นหลังจากหักค่าเงินเฟ้อไปเรียบร้อยแล้ว

ในด้านเปอร์เซ็นต์ของพนักงานการไฟฟ้าที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานก็ลดลงมาอยู่ที่ 30% จากเดิมที่เคยมีถึงเกือบ 40% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด จำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานย่อมสะท้อนอำนาจในการต่อรองของพนักงานกับเจ้าของกิจการนั่นเอง

ในปี 2544 คนอเมริกันทั่วประเทศ(293 ล้านคน) ใช้พลังงานไฟฟ้า 3.8 ล้านล้านหน่วย (ล้านสองครั้ง) โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 9 แสน 5 พันเมกกะวัตต์ มีพนักงานไฟฟ้าทั้งสิ้น 339,000 คน

ลองนำมาเปรียบเทียบกับประเทศในปี 2547 แม้ข้อมูลคนละปีกันแต่ก็พอจะเห็นอะไรได้บ้าง

คนไทยทั่วประเทศ(63 ล้านคน) ใช้พลังงานไฟฟ้า 1.25 แสนล้านหน่วย โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 26,000 เมกกะวัตต์ มีพนักงานไฟฟ้าที่เป็น กฟผ.(25,700 คน) กฟน.(9,913 คน) และ กฟภ.(26,970 คน) รวมทั้งสิ้นรวม 62,583 คน (ไม่นับพนักงานของบริษัทผลิตไฟฟ้าของเอกชน-เพราะผมไม่ทราบ ในการวิเคราะห์ต่อไปจะถือ พนักงานไฟฟ้าทั้งประเทศมี 64,000 คน)

จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า ทุกๆ หนึ่งหน่วยเมกกะวัตต์ของกำลังการผลิต สหรัฐอเมริกาว่าจ้างพนักงานเพียง 0.37 คนเท่านั้น(ในประเทศญี่ปุ่นเท่ากับ 0.5 คน) ในขณะที่ของประเทศเราใช้พนักงานถึง 2.46 คน. หรือทุกๆ หนึ่งเมกกะวัตต์ของกิจการไฟฟ้าไทยใช้พนักงานมากเป็นเกือบ 7 เท่าของสหรัฐอเมริกา. จริงอยู่ครับว่า ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศเรากับของสหรัฐอเมริกา มีความแตกต่างกันในการกำหนดจำนวนพนักงานในการบริการประชาชนในชนบท แต่ตัวเลขที่แตกต่างกันขนาดนี้ย่อมเป็นเงื่อนไขให้เจ้าของกิจการไฟฟ้าอ้างได้

ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจตนาจะทำลายเครดิตของพนักงานการไฟฟ้าแต่อย่างใด ตรงกันข้ามผมกลับยกย่องว่าองค์ทั้ง 3 นี้เป็นองค์กรชั้นเลิศของประเทศไทยเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ. ปัญหาประสิทธิภาพที่ต่ำไปเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเพราะปัจจัยต่างๆมากมาย รวมทั้งการแทรกแซงของนักการเมือง ในการจัดซื้อ จัดจ้าง และนโยบายด้านเชื้อเพลิงที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ค่าไฟฟ้าแพง มากกว่าค่าแรงงานของพนักงานหลายเท่านัก

แม้ว่าค่าแรงมีสัดส่วนไม่ถึง 6% ของต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งหมด แต่ด้วยแนวคิดของของผู้ประกอบการที่มีเป้าหมายเพื่อกำไรสูงสุดของผู้ถือหุ้น วิธีการปลดพนักงานที่เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกาผู้เป็นต้นแบบ ทำไมเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศไทยผู้เดินตามลูกพี่ใหญ่เกือบทุกกระเบียดนิ้ว

แต่ที่ต่างกันอย่างชัดเจน ก็คือดัชนีความโปร่งใสในการบริหารประเทศของไทยเราต่ำกว่าของสหรัฐอเมริกามาก กล่าวคือ ในปี 2547 สหรัฐได้คะแนน 7.5 แต่ไทยได้ 3.6 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

ในสถานการณ์ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งที่ประชาชนร่วมกันคัดค้านและยื่นต่อศาลปกครอง เพื่อให้รัฐบาลระงับการขายกิจการไฟฟ้า พนักงาน กฟผ. ควรจะต้องเก็บรับบทเรียนจากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ มาพิจารณาผลประโยชน์ที่ทางรัฐบาล หยิบยื่นมาให้นั้น เป็นเพียงเพื่อให้วัตถุประสงค์ของเขาได้บรรลุไปก่อนเท่านั้น หลังจากนั้นเขาก็ถีบไสไล่ส่งพวกท่านอย่างแน่นอน ผมคิดคร่าวๆจากข้อมูลที่ได้กล่าวมาแล้วว่าน่าจะมากกว่า 24% เยอะเลย

http://www.fridaycollege.org/
ประสาท มีแต้ม :
วันที่ 25 พ.ย. 2548

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

Free Documentation License
Copyleft : 2005, 2006, 2007
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies
of this license document, but changing it is not allowed.

ลิขซ้าย 2548, 2549, 2550 : สมเกียรติ ตั้งนโม
ผู้ที่นำข้อมูลวิชาการฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ เผยแพร่ หรืออ้างอิง โดยต้องไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ได้รับความยินยอมจากผู้เรียบเรียง สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ระบุไว้ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร โดยกรุณาระบุถึงเว็ปไซต์ และ URL มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org

 

R
related topic
281148
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้


อุดมศึกษาบนเว็ปไซต์ เพียงคลิกก็พลิกผันความรู้ ทำให้เข้าใจและเรียนรู้โลกมากขึ้น
สนใจค้นหาความรู้ในสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีน้ำเงิน
สนใจเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีแดง