คำประกาศรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแห่งการเมืองภาคประชาชน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
ในวาระครบรอบ ๗๖ ปีแห่งรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย การเมืองภาคประชาชน
ที่ก่อตัวเติบใหญ่มาตั้งแต่การลุกขึ้นสู้ของประชาชนเมื่อ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖,
๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และพฤษภาประชาธรรม พ.ศ. ๒๕๓๕ กำลังถูกชนชั้นนำกลุ่มต่าง
ๆ ในสังคมบิดเบือนฉวยใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐ ให้ผันแปรเป็นอะไรก็ได้ในทางปฏิบัติขอแต่ให้ได้ชัยชนะมา
จนแปลกแยกหลุดลอยจากมืออันสั้นของประชาชนโดยเฉพาะคนจนคนชายขอบ แทบหมดความหมาย
สิ้นความชอบธรรมและล้มละลายทางศีลธรรม
ถึงแม้คำว่า การเมืองภาคประชาชน จะถูกแย่งชิงไปตัดต่อพันธุกรรมจนกลายพันธุ์ แต่เราเชื่อว่าจิตวิญญาณและเจตนารมณ์หรือนัยหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแห่งการเมืองภาคประชาชน ยังคงอยู่ และชนชั้นนำไม่ว่ากลุ่มใดมิอาจยึดครองได้ เพราะมันขัดแย้งตรงข้ามกับผลประโยชน์มูลฐานของพวกเขา
เพื่อกอบกู้ความหมายและปฏิบัติการของ การเมืองภาคประชาชน คืนแก่ประชาชนโดย เฉพาะคนจนคนชายขอบ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอนำเสนอหลักการและแนวทางปฏิบัติบางอย่างต่อกลุ่มพลังการเมืองภาคประชาชนดังนี้: -
๑) การเมืองภาคประชาชนควรยึดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นเป้าหมาย, ถืออิสระโดยสัมพัทธ์จากรัฐและทุนเป็นทิศทางใหญ่, และรักษาเอกภาพทางศีลธรรมระหว่างเป้าหมายกับวิธีการเป็นกฎกติกา
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แปลว่าไม่ว่าใคร ฝ่ายเรา, คู่กรณี, เพื่อนมิตร, คนทั่วไปในสังคม - ก็มีความเป็นคนเท่ากัน ควรได้การเคารพและปฏิบัติต่ออย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
ก่อนอื่นคือความเสมอภาคทางการเมือง กล่าวคือ มีสิทธิเสรีภาพและความรับผิดเท่าเทียมกันเบื้องหน้ากฎหมาย, มีหนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากันในระบอบประชาธิปไตย
และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ไม่แตกต่างเหลื่อมล้ำทางรายได้ทรัพย์สินกันเกินไปจนต้องขายศักดิ์ศรีและสิทธิความเป็นคนแลกการอยู่รอด มีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคมพอ สมควรที่จะทำให้ระเบียบสังคมส่วนรวมเป็นที่ยอมรับและรักหวงแหนร่วมกันได้
อิสระโดยสัมพัทธ์จากรัฐและทุน แปลว่าเคลื่อนไหวโดยยึดถือผลประโยชน์และทรรศนะของประชาชนผู้ไร้รัฐและไร้ทุนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ของรัฐและทุน, อาจเกี่ยวข้องสัมพันธ์ร่วมมือด้วยกับฝ่ายรัฐและทุน แต่ไม่ใช่ขึ้นต่อหรือถูกใช้เป็นแค่เครื่องมือทางการเมือง, เข้าต่อรองขัดแย้งกับฝ่ายรัฐและทุนเพื่อสร้างระเบียบสังคมเศรษฐกิจการเมืองใหม่ที่ประชาชน โดยเฉพาะคนจนคนชายขอบมีส่วนร่วมและส่วนแบ่งในอำนาจและทรัพยากรสาธารณะร่วมกับฝ่ายอื่นอย่างทัดเทียมและเป็นธรรม
เอกภาพทางศีลธรรมระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ แปลว่าวิธีที่ใช้ในการรณรงค์ต่อสู้ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และทิศทางความเป็นอิสระของการเมืองภาคประชาชน นั่นคือกระบวนการตัดสินใจเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเสรี, ความสัมพันธ์ระหว่างแกนนำกับสมาชิกเป็นไปแบบล่างขึ้นบนเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่บนลงล่างถ่ายเดียว, ยึดมั่นแนวทางอารยะขัดขืนและสันติวิธีอย่างเด็ดเดี่ยว บริสุทธิ์ใจ จริงจังและถึงที่สุด โดยไม่มีข้อแม้เงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น
๒) ระบบสถาบันการเมืองที่ผ่านมากลายเป็นเพียงเครื่องมือใช้แล้วทิ้งของชนชั้นนำส่วนน้อย ทั้งยังถูกบิดเบือนบ่อนทำลายจนพิกลพิการ ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนจนคนชายขอบถูกกีดกันออก เอื้อมไม่ถึงตัวแทนอำนาจ ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมัน
กติการัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นจริงทำให้ระบบสถาบันการเมืองถูกยึดครองโดยชนชั้นนำกลุ่มต่าง ๆ ผ่านการแข่งขันเลือกตั้งและการสรรหา โดยอาศัยเงินทองและเครือข่ายอุปถัมภ์, หลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสภากลับตกเป็นเบี้ยล่างฝ่ายบริหาร ระบบราชการและอำนาจนอกและเหนือรัฐธรรมนูญอื่น ๆ ในทางปฏิบัติหลังฉาก, พรรคการเมืองเป็นแค่พรรคของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลและกลุ่มทุนใหญ่ที่จำกัดบทบาทไว้ในสภา แทนที่จะเป็นพรรคของมวลชนที่สัมพันธ์แนบเนื่องกับกลุ่มจัดตั้งอิสระของมวลชนนอกสภา, และเมื่อใดกลุ่มชนชั้นนำแพ้เกมในระบบสถาบันการเมือง พวกเขาก็พร้อมเล่นนอกระบบ นอกกติกา หันมาบ่อนทำลายระบบสถาบันการเมืองลงเองอย่างเลือดเย็นและไร้ยางอาย โดยยืมมือกลไกอำนาจอื่น ๆ
มีแต่การเปิดกว้างกระบวนการการเมืองทุกขั้นตอนออกต้อนรับการมีส่วนร่วมขององค์กรจัดตั้งอิสระของประชาชนในสังคมจึงจะช่วยก่อรูปขัดเกลาหล่อหลอมระบบสถาบันการเมืองให้เติบใหญ่ควบคู่ไปกับการเมืองภาคประชาชนได้ เริ่มตั้งแต่การร่างกติการัฐธรรมนูญลงมา
๓) สถาบันตุลาการในท่ามกลางความขัดแย้งแบ่งข้างแยกขั้วของสังคมการเมือง สถาบันตุลาการมีบทบาทสำคัญยิ่งในอันที่จะแก้ไขความขัดแย้งให้ยุติตามกฎหมายผ่านกระบวนการยุติธรรม ความเที่ยงธรรมไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดบนพื้นฐานหลักกฎหมายที่เข้มแข็ง เหตุผลที่หนักแน่นและการวินิจฉัยที่ชัดเจนโปร่งใสเท่านั้น จะยังความน่าเชื่อถือ ประสิทธิผลและแข็งแกร่งมั่นคงปลอดภัยให้สถาบันตุลาการในระบอบประชาธิปไตย
ในภาวะเช่นนี้ สถาบันตุลาการไม่อยู่ในสถานะที่จะทานรับแม้เพียงอาการเสมือนหนึ่งลำเอียงเลือกข้างได้ ทว่าสองสามปีที่ผ่านมา ปรากฎความสงสัยในหมู่สาธารณชนและวงการนักกฎหมายเกี่ยวกับคำตัดสินคดีความที่ส่งผลให้คุณให้โทษแก่คู่ขัดแย้งทางการเมืองฝ่ายหนึ่งหลายกรณี อาทิ กรณีมติคณะรัฐมนตรีชุดสมัคร สุนทรเวชเกี่ยวกับเขาพระวิหาร, กรณีสถานะความเป็นลูกจ้างของนายก-รัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช, กรณีความเร่งรีบรวบรัดในการวินิจฉัยคดีทุจริตเลือกตั้งอันนำไปสู่การยุบพรรคร่วมรัฐบาล ๓ พรรค เป็นต้น
ข้อความสงสัยเหล่านี้บั่นทอนประสิทธิภาพในการแสดงบทบาทยุติธรรมของสถาบันตุลาการท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยยิ่งกว่าการชุมนุมคุกคามที่จะปิดศาลหรือระเบิดข่มขู่ใด ๆ และทางเดียวที่จะแก้ไขให้ตกไปได้ก็แต่โดยผ่านการยึดมั่นหลักกฎหมาย เหตุผลและกระบวนการที่ชัดเจนโปร่งใสให้เข้มงวดจริงจังจนเป็นที่ประจักษ์ของสังคมเท่านั้น
๔) สถาบันสื่อมวลชน นับแต่ช่วงเหตุการณ์ฆ่าหมู่และรัฐประหาร ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นต้นมา ไม่เคยมีครั้งใดที่สื่อมวลชนทั้งสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์หลากฉบับหลายสถานีทั้งของรัฐและของเอกชนกลายสภาพเป็นกระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อกระจายความจริงผสมเท็จและความเกลียดความกลัวแบบเลือกข้างทางเดียวของกลุ่มพรรคฝักฝ่ายทางการเมืองเหมือนปัจจุบัน ในฐานะกลไกซึ่งทำหน้าที่สื่อแสดงทรรศนะ ข่าวสารข้อมูลและเสียงของมวลชนในระบอบประชาธิปไตย กล่าวได้ว่าสื่อมวลชนหลายแหล่งกำลังแพร่พิษทำร้ายสังคมประชาธิปไตยไทยให้หูหนวกและตาบอดข้างเดียว พิกลพิการทางข้อมูลความรู้และความคิดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
มีแต่ฟื้นฟูสถานะและบทบาทที่เป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกฝ่ายได้สื่อแสดงข่าวสารข้อมูลความเห็นอย่างเสรีและเสมอภาคกันเท่านั้น สื่อมวลชนจึงจะกลับฟื้นคืนหน้าที่เป็นกลไกการเห็นและการได้ยินอย่างเที่ยงตรง เป็นกลาง รอบด้านและครบถ้วนสมบูรณ์ของสังคมประชาธิปไตยไทย
ชีวิตมนุษย์มีค่ามากกว่าการเมืองโสมม
ชำนาญ จันทร์เรือง
ท่ามกลางความมืดหน้าตามัวของผู้ที่กำลังต่อสู้กันอย่างเมามันเพื่อเอาแพ้เอาชนะ
ทางการเมืองจนถึงขนาดเอาชีวิตเป็นเดิมพันเพียงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตน
โดยต่างฝ่ายต่างลืมไปว่าชีวิตมนุษย์นั้นมีค่ายิ่งนัก กว่าจะเกิด กว่าจะเจริญเติบโต
กว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึงวันตาย แต่กลับต้องมาถูกจับให้เป็นเบี้ยของแกนนำของฝ่ายการเมืองที่โสมม
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง
ไม่ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะจบลงอย่างไร บทเรียนประวัติศาสตร์ตอนนี้จะถูกจารึกไว้ว่าในครั้งหนึ่งสังคมไทยเราไร้สติถึงกับฆ่าฟันกันเพียงเพื่อสนองตัณหาทางการเมืองของคนไม่กี่คน สังคมไทยเราไร้สติจนถึงกับบุกยึดสนามบินนานาชาติที่เป็นประตูเข้าออกประเทศ
นอกจากการออกมาห้ำหั่นเพื่อเอาชีวิตของฝ่ายตรงข้ามแล้ว กลไกของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็กลับนิ่งเฉย ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลเป็ดง่อยที่มักกล่าวอ้างอยู่เสมอว่าได้รับฉันทามติจากการเลือกตั้งเข้าไปบริหารประเทศรวมถึงการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ว่ากลไกของรัฐที่เป็นตำรวจ ทหารหรือฝ่ายพลเรือนที่ไม่ยอมปฏิบัติงานจนปล่อยให้สนามบินถูกยึด โดยลืมไปว่าในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะชื่ออะไรหรือมาจากพรรคการเมืองไหนก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยภาษีอากรจากประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ
สภาวะการณ์ของความขัดแย้งของไทยเราก้าวเข้าสู่ภาวะไร้อำนาจรัฐซึ่งเป็นสภาวะการณ์ขั้นแรกของความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งมีอยู่ 3 ระดับ คือ
1) จลาจล(Riot) มีความวุ่นวายเกิดขึ้นแผ่ซ่านไปทั่วประเทศ กลไกของรัฐทำงานไม่ได้ สถานที่ราชการถูกยึด ฯลฯ ซึ่งสภาวะการณ์เช่นนี้คือสภาวะการณ์ของไทยเราในปัจจุบันที่ติดอันดับ 7 ประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกรองจาก อิรัก อัฟกานิสถาน เชชเนีย แอฟริกาใต้ จาเมกา และซูดานเท่านั้นเอง(ขนาดอินเดียที่มีการฆ่ากันตายเกือบ 200คนในการก่อการร้ายที่มุมไบยังอยู่อันดับที่ 17 เท่านั้น)
2) สงครามกลางเมือง(Civil War) เมื่อมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นก็มีการจัดตั้งกองกำลังเป็นของตัวเอง มีพื้นที่ที่ฝ่ายตนเองยึดครองเป็นสัดส่วน ซึ่งสภาวะทางการเมืองของไทยเราก็เริ่มมีเค้าลาง ขึ้นบ้างแล้วหากปัญหาในขั้นที่ 1 ไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
3) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ในขั้นที่รุนแรงที่สุดก็คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังเช่นที่เกิดขึ้นในรวันดา หรือที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือในกัมพูชายุคเขมรแดงครองเมือง ซึ่งเหตุการณ์ในกัมพูชานี้ เราสามารถนำมาเป็นเป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีสาเหตุมาจากเหตุผลทางการเมืองล้วนๆ เหมือนของไทยในปัจจุบันโดยไม่มีปัจจัยทางศาสนาเช่นสงครามครูเสด และไม่เหมือนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวโดยนาซีหรือที่รวันดาที่มีเหตุผลเรื่องชาติพันธุ์
สมควรแล้วล่ะหรือที่เราจะต้องเอาชีวิตที่มีค่าของเรามาสังเวยเพื่อสนองตัณหาให้แก่ แกนนำทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพันธมิตรหรือฝ่ายรัฐบาล ก่อนที่เราจะเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผมขอนำแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นแถลงการณ์ที่ออกมาเพื่อเตือนสติคนไทยให้ฉุกคิดได้ดีที่สุดฉบับหนึ่ง ดังนี้ครับ
แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง คืนความเป็นมนุษย์และนำหลักนิติรัฐกลับสู่สังคมไทย
ท่ามกลางความขัดแย้งที่กำลังขยายตัวออกอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ดังปรากฏให้เห็นจากการเข่นฆ่าและการทำร้ายกันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านพันธมิตรฯ ทั้งที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพและในต่างจังหวัด และจนบัดนี้ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะยุติลงได้อย่างไร แต่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
ไม่ว่าความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลและพันธมิตรจะดำเนินไปหรือยุติลงในลักษณะเช่นไร แต่สิ่งที่มีความหมายสำหรับสังคมไทยและจะเป็นหนทางหนึ่งในการธำรงรักษาให้สังคมไทยไม่ให้บอบช้ำไปมากกว่านี้ นั่นคือต้องร่วมผลักดันและเรียกร้องดังต่อไปนี้
ประการแรก นำหลักนิติรัฐมาบังคับใช้อย่างเป็นธรรม
สภาวะความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาของหน่วยงานรัฐรวมถึงการเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้สังคมตกอยู่ในสภาวะของการทำสงครามระหว่างผู้คน หากยังปล่อยให้สภาพดังกล่าวดำเนินต่อไปก็จะมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของผู้คน
จำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายโดยองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อผู้ที่กระทำผิดกฎหมายไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม หากหน่วยงานรัฐใดไม่กระทำตามหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดต้องดำเนินไปตามกรอบของความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมตามมาตรฐานของอารยะประเทศ มิใช่เป็นการใช้อำนาจด้วยความรุนแรงตามอำเภอใจเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก
ประการที่สอง คืนความเป็นมนุษย์ให้กับสังคมไทย
ในห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งที่ผ่านมา ได้มีการปลุกเร้าและสร้างความหมายให้ฝ่ายที่คิดต่างจากตนกลายเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด จึงทำให้สามารถที่จะลงมือต่ออีกฝ่ายได้เมื่อเผชิญหน้ากัน สังคมไทยเคยมีบทเรียนของการแบ่ง ซ้าย/ขวา จากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อมาถึงบัดนี้การแบ่งแยกระหว่าง แดง/เหลือง กำลังนำพาสังคมไทยย้อนกลับไปสู่โศกนาฏกรรมแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง
ควรตระหนักว่าไม่ว่าจะมีความเห็นไปในทิศทางใดก็ตาม แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตนก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเฉกเช่นเดียวกับเรา อุดมการณ์ทางการเมืองที่ทั้งสองฝ่ายกำลังยึดมั่นและปลุกปั่นอยู่ในขณะนี้ ล้วนแต่ไม่มีคุณค่าพอต่อชีวิตและเลือดเนื้อของผู้คน ต้องเรียกร้องให้หวนกลับมาตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมสังคมให้มากขึ้น รวมทั้งประณามการกระทำที่มีผลต่อการสร้างความเป็นศัตรูให้เกิดขึ้นระหว่างผู้คนในสังคมไทยด้วยกันไม่ว่าการกระทำนั้นจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม
เงื่อนไขทั้งสองประการจะเป็นสิ่งที่ช่วยประคับประคองสังคมไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงใคร่ขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการคืนความเป็นมนุษย์และนำหลักนิติรัฐกลับสู่สังคมไทยโดยเร่งด่วนที่สุด
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
29 พฤศจิกายน 2551
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนประณามผู้ให้ท้ายพันธมิตรสร้างภาวะมิคสัญญี
วันนี้ (26 พ.ย.51) คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน พร้อมคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกันแถลงข่าวและออกแถลงการณ์ "ประณามการร่วมสร้างภาวะมิคสัญญีในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ" โดยระบุว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องการสร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมไทย และมีเป้าหมายดึงอำนาจนอกระบบเข้ามา เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้เป็นความสุ่มเสี่ยง เพราะมีการเข้ายึดสถานที่ราชการ และสนามบินสุวรรณภูมิ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบและความเสียหายที่จะตามมา โดยสถานการณ์ทั้งหมดกำลังนำไปสู่ความหายนะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง ประณามการร่วมสร้างภาวะมิคสัญญีในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการเคลื่อนไหวของแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องการสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยโดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อนำไปสู่การดึงเอาอำนาจนอกระบบเข้ามาเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา ดังเห็นได้จากการเคลื่อนไหวแบบสุ่มเสี่ยง การเข้ายึดสถานที่ราชการและสถานที่สำคัญต่างๆ อาทิ สนามบินสุวรรณภูมิ ฯลฯโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบและความเสียหายที่จะติดตามมาแม้แต่น้อย ทั้งหมดกำลังนำพาสังคมไทยไปสู่ความหายนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในห้วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา สามารถดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่องมิใช่เพียงการระดมผู้คนเข้าร่วมโดยแกนนำพันธมิตรฯ เท่านั้น ส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญเป็นผลมาจากการสนับสนุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในความหายนะที่เกิดขึ้นมาจากการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ โดยมีบุคคลและองค์กรที่มีบทบาทสำคัญดังต่อไปนี้
1. ปัญญาชนสาธารณะและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน อาทิ นพ.ประเวศ วะสี, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีบทบาทต่อการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ รวมถึงบรรดานักวิชาการและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจำนวนมากที่ได้ช่วยให้เกิดขบวนการพันธมิตรฯ ขึ้น แม้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามิใช่เป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะของอารยะขัดขืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องให้ทหารออกมาปฏิวัติซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ในสังคมประชาธิปไตย
2. ส.ว. กลุ่ม 40 และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งได้เข้าร่วมอย่างแข็งขันทั้งในการเข้าร่วมปราศรัย การให้สัมภาษณ์สนับสนุนแนวทางการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ โดยทั้งนี้ เพื่อมุ่งประโยชน์ของตนมากกว่าประโยชน์ของบ้านเมืองและการสร้างระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรมในระยะยาว
3. สื่อมวลชนที่ไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาซึ่งรวมถึงสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ได้เสนอข่าวที่เป็นด้านบวกแก่สนับสนุนพันธมิตรฯ มาอย่างต่อเนื่อง แนวทางการเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้เป็นที่ประจักษ์ว่าไม่ได้เป็นการนำเสนอข่าวที่ทำให้เกิดความเข้าใจรอบด้านแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ดำเนินการโดยภาษีของประชาชนทั้งหมด
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเรียกร้องบุคคลและองค์กรดังกล่าวได้แสดงความรับผิดชอบต่อความหายนะที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย ในฐานะที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนและค้ำยันต่อการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ด้วยการยอมรับความผิดพลาดและแสดงความเห็นวิจารณ์ต่อการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการตรวจสอบและหยุดยั้งการกระทำรุนแรงของแกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งกำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่เป็นอันตรายต่อสังคมทั้งหมดดังที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญเพื่อให้สังคมไทยหลุดพ้นไปจากภาวะมิคสัญญีที่ไร้ขื่อแป และสร้างสังคมประชาธิปไตยที่การแสดงความคิดเห็นและการเคลื่อนไหวต่างๆ ดำเนินไปบนหลักนิติธรรมและการเคารพต่อสังคมโดยรวม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
26 พฤศจิกายน 2551
แถลงการณ์โดย
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (เอเอชอาร์ซี)
(Asian Human Rights Commission : AHRC)
ประเทศไทย: หัวเลี้ยวหัวต่อประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐไทย
การบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญสำหรับประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐของประเทศไทย หลังจากที่ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ที่ก้าวร้าวมากขึ้นทุกทีมาเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อไล่รัฐบาลและขัดขวางไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2550 ที่ร่างขึ้นมาภายใต้การดูแลของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และผู้สนับสนุน และผลักดันให้มีการประกาศใช้โดยอาศัยการลงประชามติที่บกพร่องอย่างรุนแรง
ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พันธมิตรฯได้ยกระดับจากการยึดถนนและพื้นที่สาธารณะมาเป็นการยึดสถานที่ราชการคือ ทำเนียบรัฐบาล มีการจัดตั้งการ์ดติดอาวุธเพื่อป้องกันพื้นที่จากฝ่ายตรงข้ามและเจ้าหน้าที่รัฐ พวกเขาพกพาอาวุธอย่างผิดกฎหมายโดยเปิดเผย รวมถึงปืนจากคลังอาวุธภายในทำเนียบด้วย พวกเขายังได้มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวประชาชนอย่างผิดกฎหมายอีกด้วย มีการทำลายและขโมยทรัพย์สินของราชการและเอกชน ในช่วงหนึ่งถึงสองวันที่ผ่านมา มีรายงานว่านอกจากการยึดสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว พวกเขายังได้ยึดรถเมล์ และปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปในสนามบินเพื่อสืบสวนเหตุระเบิดที่เกิดในเวลากลางคืน พวกเขาขณะนี้กำลังเตรียมการณ์ช่วงสุดท้ายใน สงครามครั้งสุดท้าย ที่กำลังมีการปลุกระดมกันอยู่โดยใช้สำนวนว่าปฏิบัติการฮิโรชิมาและนางาซากิ ที่เป็นเมืองที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในการปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2
พันธมิตรฯ ได้แสดงลักษณะต่างๆ ออกมาจำนวนมากที่ (จากบทเรียนในอดีตของไทยและประเทศอื่นทั่วโลก) ส่ออันตรายอย่างรุนแรงต่ออนาคตของประชาธิปไตยไทยที่กำลังง่อนแง่นอยู่ในขณะนี้ เท่าที่ยกมากล่าวได้คือ
1.พันธมิตรฯ ยึดอุดมการณ์ขวาจัดที่เป็นอุดมการณ์ขับเคลื่อนระบอบอมาตยาธิปไตยมายาวนานหลายทศวรรษ อันเป็นระบอบที่ถูกคุกคามถอยร่นมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
2.การบุกยึดและโจมตีที่ทำอย่างเป็นกระบวนการโดยใช้ข้ออ้างการป้องกันตนเองและการทำเพื่อชาตินั้นเป็นการวางแผนเพื่อให้เกิดความระส่ำระสายในวงกว้าง และเปิดทางให้กลุ่มอภิชนปฏิกริยาพาประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน
3.แกนนำพันธมิตรฯ มีเสียงดังในสังคมและบังคับให้ประชาชนต้องเลือกข้าง หรือไม่ก็ต้องเงียบไป จึงเป็นการกีดกันประชาชนนับล้านไม่ให้พวกเขาได้มีปากเสียงในปัญหาสังคมและการเมืองที่สำคัญของยุคสมัย
ผู้วิจารณ์และฝ่ายต่อต้านพันธมิตรฯ บางส่วนได้เรียกวาระทางการเมืองของพันธมิตรฯ ว่าเป็นฟาสซิสต์ ซึ่งไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลย ประสบการณ์แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและระบอบที่จะเกิดตามมาหลังขบวนการเช่นว่านี้มีลักษณะความเป็นฟาสซิสต์ (แม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้อธิบายตนเองว่าเป็นฟาสซิสต์ก็ตาม) ที่จริงแล้ว เผด็จการที่สืบเนื่องมาในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยล้วนชื่นชอบ แสดง และใช้สัญลักษณ์และนโยบายแบบฟาสซิสต์จำนวนมาก และคราบไคลของสิ่งเหล่านี้สามารถพบได้ในภาษาและพฤติกรรมของแกนนำพันธมิตรในวันนี้
หากมีการยินยอมให้เหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินต่อไป ซึ่งก็ชัดเจนว่ามีการยินยอมอยู่ ก็จะเป็นการลบล้างทุกสิ่งที่ได้กระทำกันมาเพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งสิทธิและการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากน้ำมือของพันธมิตรฯ จะมากมหาศาลกว่าความเสียหายใดๆ ก็ตามที่เกิดจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกโค่นล้มไป และจะสามารถสร้างหายนะได้มากกว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 เสียอีก ความก้าวหน้าใดๆ ในเชิงสถาบันและกฎหมายที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งถึงสองทศวรรษที่ผ่านมาจะสูญสลายไป
ระบบยุติธรรมของไทยได้กลายเป็นเรื่อง ตลก ไปแล้ว หน่วยงานและบุคลากรของตุลาการไทยทั้งไม่สามารถหรือไม่ยอมทำการแทรกแซงเพื่อปกป้องทรัพย์สินสาธารณะและชีวิตประชาชน หรือกระทั่งดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด การที่กองทัพสามารถก่อการรัฐประหารได้เพียงนายพลนึกอยากจะทำ และเปิดฉากรบด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่รับผิดชอบปกป้องทำเนียบหรือสนามบินนั้นเป็นเรื่องปาหี่จริงๆ การที่หน่วยงานรัฐบาลถูกบังคับให้ต้องเจรจาและยอมถอยแทนที่จะยืนยันการบังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นความเขลาที่อันตราย และการที่ตุลาการภิวัฒน์ที่มีคำพิพากษาแบบการเมืองออกมาอย่างต่อเนื่องและมีส่วนสำคัญในการสร้างความยุ่งเหยิงที่เป็นอยู่ในเวลานี้ กลับไม่มีน้ำยาเลยในยามที่ชีวิตของผู้คนถูกใช้เป็นเดิมพันและประเทศต้องการสติปัญญาเพื่อหาทางออก ช่างน่าละอายแท้ๆ
การประท้วงอย่างสันติไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย หากเป็นส่วนที่ขาดเสียมิได้ แต่การชุมนุมและบุกยึดในช่วงที่ผ่านมานั้นไม่ได้เป็นไปโดยสันติ ไม่ควรเรียกว่าเป็นการประท้วงเสียด้วยซ้ำไป เพราะมันไม่ใช่เป็นแค่การชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้อง แต่เป็นการกระทำที่มุ่งบรรลุเป้าหมายโดยไม่สนว่าจะต้องแลกกับอะไร ใช้ต้นทุนแค่ไหน ซึ่งต้นทุนสำหรับประเทศไทยนั้นแพงลิบลิ่วไปแล้ว และจะแพงขึ้นไปอีก และต้องจ่ายด้วยชีวิตและเสรีภาพของประชาชนทุกคนในประเทศหากไม่ถูกทำให้ยุติ ประชาชนทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิที่จะต่อต้านการครอบอำนาจรัฐของฝ่ายขวาจัดสุดขั้วเหล่านี้
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอเรียกร้องให้ทั้งโลกให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ในประเทศไทย ที่ได้ดำเนินมาหลายเดือนโดยแทบไม่มีปฏิกริยาใดๆ จากองค์กรระหว่างประเทศเลย โดยเฉพาะสหประชาชาติ หลังจากลังเลกับการรัฐประหาร 19 กันยามาแล้ว คราวนี้ประชาคมโลกไม่สามารถปล่อยเลยตามเลยโดยปราศจากการแทรกแซงได้อีกแล้ว หากประเทศไทยต้องถอยหลังลงคลองเข้าไปอีก ก็จะส่งผลร้ายไม่เพียงแต่ต่อประชาชนไทยหลายสิบล้านคนเท่านั้น หากยังต่อทั้งภูมิภาคด้วย ในช่วงเวลาที่พลังปฏิปักษ์ประชาธิปไตยกำลังกลับมาผงาดหรือกำลังลงหลักปักฐานให้แข็งแกร่งในเกือบทุกแห่งเช่นนี้ ประเทศไทยไม่อาจจะแพ้ได้
+++++++++++++++++++++++++++++++++
AHRC เอเอชอาร์ซี : คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หรือ เอเอชอาร์ซี
(The Asian Human Rights Commission : AHRC)
เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ซึ่งทำงานตรวจสอบและรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย
เอเอชอาร์ซีมีสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง
โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2527
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I
สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com