1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนอภิปราย:
วิกฤตสถาบันการเมืองกับวิกฤตสังคมไทย
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
สงครามครั้งสุดท้ายของ National Robber Baron
พงศ์พันธ์
ชุ่มใจ : , ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงาน
บทสรุปการอภิปรายนี้ ได้รับการบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
ชื่อเดิมของบทความ: วิกฤตสถาบันการเมืองกับวิกฤตสังคมไทย
บทสรุปอภิปรายและเรียบเรียงต่อไปนี้
ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)
บทสรุปอภิปรายต่อไปนี้
ประกอบด้วยหัวข้อที่สำคัญคือ
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล: ความขัดแย้ง 3 คู่ และสถาบันที่ไม่สามารถแก้วิกฤต
- สมเกียรติ ตั้งนโม: สงครามครั้งสุดท้ายของ National Robber Baron
- ชำนาญ จันทร์เรือง: แก้รัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาสามารถถ่วงดุลอำนาจได้
- อรรถจักร สัตยานุรักษ์: ความขัดแย้ง 2 ทุน เปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์กลุ่มคน
- ชัชวาล ปุญปัน: หวังว่าคนที่ตรวจสอบความจริงจะไม่ถูกเผาไปเสียก่อน
- เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช: Concerned Citizens
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๖๖๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๐ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนอภิปราย:
วิกฤตสถาบันการเมืองกับวิกฤตสังคมไทย
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
สงครามครั้งสุดท้ายของ National Robber Baron
พงศ์พันธ์
ชุ่มใจ : , ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงาน
บทสรุปการอภิปรายนี้ ได้รับการบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
'สมชาย ปรีชาศิลปกุล' เสนอ ๓ คู่ขัดแย้ง และสถาบันทางการเมืองไม่สามารถแก้วิฤตได้ ชี้รัฐธรรมนูญ ๕๐ 'ไม่มีเงาหัว' รอวันถูกแก้แน่ไม่ช้าก็เร็ว
'สมเกียรติ ตั้งนโม' บอกเป็นสงครามครั้งสุดท้ายของ National Robber Baron ต่อทุนโลกาภิวัตน์ เรียกร้องแก้วิกฤตด้วยการผลักดัน 'รัฐสวัสดิการ' ให้ 'ข้าว ผ้า ยา บ้าน' ยังอยู่กับเรา. 'ชำนาญ จันทร์เรือง' ยังหวังให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาสามารถถ่วงดุลอำนาจได้
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. เวลา 16.00 น. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้จัดอภิปรายหัวข้อ "วิกฤตสถาบันการเมืองกับวิกฤตสังคมไทย" ที่ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวิทยากรได้แก่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล, รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม, อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง และ รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ โดยมีเนื้อหาการอภิปรายดังต่อไปนี้
สมชาย ปรีชาศิลปกุล: ความขัดแย้ง 3 คู่ และสถาบันที่ไม่สามารถแก้วิกฤต
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อธิการบดี ม.เที่ยงคืน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรรายแรก กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ดูเหมือนสงบ แต่คิดว่าจะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ไม่ว่ารัฐบาลจะนำโดยอภิสิทธิ์หรือเฉลิม สังคมยังจะไม่ไปสู่จุดที่ราบรื่น โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้อีก ถ้าอภิสิทธิ์ได้เป็นรัฐบาล เรื่องที่กลุ่มเสื้อแดงจะออกมาชุมนุมก็คงไม่ยาก
แต่เราต้องมองให้กว้างออกไปและช่วยกันพิจารณาร่วมกันว่าสังคมไทยพร้อมรับปัญหาในตอนนี้ขนาดไหน
โดยสังคมไทยมีกลุ่มความขัดแย้ง 3 คู่ใหญ่ๆ
คู่ที่หนึ่ง "นักการเมืองผ่านการเลือกตั้ง"กับ"อำมาตยาธิปไตย"
คู่ที่สอง "กลุ่มทุนชาติ"กับ"ทุนโลกาภิวัตน์" และ
คู่ที่สาม "ชนชั้นกลาง" กับ "ชนชั้นรากหญ้า"
คู่แรก ถ้าเรามองการเมืองไทยในระนาบที่ยาวขึ้น หลัง 2520 เป็นต้นมา เราพบว่านักการเมืองจากระบบเลือกตั้งมาเบียดขับพลังอำมาตยาธิปไตยให้น้อยลงๆ การก่อตัวของพรรคการเมืองต่างๆ ทำให้อำมาตย์นักการเมืองจากระบบราชการมีอำนาจน้อยลง
ข้อเสนอในปี 2535 ที่ว่านายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง ทำให้นักการเมืองมีอำนาจเหนือพลังอำมาตยาธิปไตย อาจกล่าวได้ว่าการมาของทักษิณเป็นการรุกคืบของนักการเมืองต่อพลังอำมาตยาธิปไตย แต่พอมีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อำมาตยาธิปไตยก็พยายามกลับมาอีกครั้ง
คู่ที่สอง "กลุ่มทุนชาติหรือทุนจารีต" กับ "ทุนโลกาภิวัตน์" การเกิดขึ้นของความขัดแย้งระหว่างทุนสองกลุ่มนี้ปรากฏชัดเจนหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งกลุ่มทุนเดิมต้องเผชิญปัญหาค่อนข้างมาก ในขณะที่ทุนโลกาภิวัฒน์สามารถหลุดพ้นจากความหายนะทางเศรษฐกิจที่เกิดในเมืองไทยได้ ทุนดั้งเดิมอย่างทุนธนาคารประสบวิกฤตมาก. ในขณะที่ทุนโทรคมนาคมสามารถสถาปนาอำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งได้ นับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะทุนโลกาภิวัตน์พยายามกินรวบ ผิดกันที่แต่เดิมทุนชาติกินอย่างเผื่อแผ่กัน สนับสนุนทุกพรรค แต่พอในสมัยทักษิณมีการให้เลือกว่าจะอยู่กับอั๊วหรือไม่อยู่ ถ้าไม่อยู่ก็เลิกกิจการไป ทำให้เกิดสภาวะแบบใหม่ที่กลุ่มทุนไม่เคยเผชิญหน้ากันมาก่อน เป็นแรงกดดันต่อกลุ่มทุนดั้งเดิมให้ไปรวมตัวกับพลังอำมาตยาธิปไตย
คู่ที่สาม "ชนชั้นกลาง"กับ"ชนชั้นรากหญ้า" เดิมชนชั้นกลางเคยมีเสียงดังในการเมืองไทย ถ้ายึดเอาตามข้อวิเคราะห์แบบ "สองนคราประชาธิปไตย" โดยระหว่างทศวรรษที่ 2520-2530 ชนชั้นล่างเป็นผู้ตั้งรัฐบาล แต่ชนชั้นกลางสามารถล้มรัฐบาลได้ คือชนชั้นกลางเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางของรัฐบาลได้ค่อนข้างมาก
แต่พอเกิดรัฐบาลทักษิณ ได้ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า ชนชั้นล่างไม่เพียงแต่ตั้งรัฐบาลด้วยคะแนนเสียงอันกว้างขวางในชนบทได้เท่านั้น แต่ยังค้ำยันรัฐบาลด้วย ลำพังเสียงของชนชั้นกลางอย่างเดียวไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ ดูกรณีรัฐบาลทักษิณ การเคลื่อนไหวของพันธมิตรไม่สามารถล้มรัฐบาลทักษิณได้ จนต้องเสนอมาตรา 7 เช่นเดียวกับการขับไล่รัฐบาลสมัคร หรือสมชาย ก็ล้มไม่ได้ สุดท้ายต้องยืมมือกลไกตามรัฐธรรมนูญใหม่มาล้มรัฐบาล เช่น การยุบพรรคด้วยเงื้อมมือของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
การเมืองตอนนี้ ชนชั้นกลางที่เคยมีอำนาจกำกับรัฐบาลอยู่มาก ขณะนี้เกิดฐานเสียงของรัฐบาลที่กว้างขวางที่สามารถตั้งขึ้นและค้ำยันด้วยมวลชนอันไพศาลอย่างเสื้อแดง ในแง่หนึ่งอาจสั่นคลอนอำนาจชนชั้นกลาง จึงต้องหันไปหาวิธีอื่นเพื่อโค่นรัฐบาล ลำพังเสียงสะท้อนชนชั้นกลางผ่านสื่อ หรือการชุมนุมล้มรัฐบาลไม่ได้แล้ว
เมื่อเกิดความขัดแย้งถึงจุดวิกฤต คู่ขัดแย้งต่างๆ จึงหันมาจับมือกันปรากฏตัวมาเป็นพันธมิตร กับรัฐบาลทักษิณ-สมชาย-สมัคร นี่คือการจับขั้วทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเปลี่ยน แม้รัฐบาลจะล้มไป แต่พวกเขาพร้อมกลับมาเผชิญหน้าเมื่อมีขัดแย้งกันอีก ดังนั้น สภาวะความขัดแย้งนี้ยังคงอยู่ แต่เราจะก้าวข้ามความขัดแย้งอย่างไร
ขอเสนอให้เราพิจารณาสถาบันการเมืองต่างๆ
ที่หลายคนเชื่อว่าจะทำให้วิกฤตคลี่คลายได้ คือ
รัฐสภา ตุลาการ รัฐธรรมนูญ และสถาบันจารีต
1. รัฐสภา รัฐสภาจะสามารถใช้เป็นเวทียุติข้อขัดแย้งหรือแก้ไขปัญหาข้อต่างๆ ได้หรือไม่ บัดนี้เป็นที่ยอมรับว่า รัฐสภาไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าจะแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะถูกโต้แย้งจากชนชั้นกลาง ที่รู้สึกว่าเลือกตั้งทีไรก็สู้ฐานเสียงต่างจังหวัดไม่ได้ เราจึงเจอข้อเสนอที่น่าสยดสยองเช่นที่ นายจรัสพงษ์ สุรัสวดี หรือ ซูโม่ตู้ เสนอให้คนจบปริญญาตรี กับคนจ่ายภาษีเท่านั้นเลือกตั้งได้ ไม่ให้คนจนมีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น เพราะถูกชนชั้นกลางต้านเช่นนี้ ตัวระบบรัฐสภาในบ้านเราเมื่อเกิดวิกฤตจึงไม่มีความหมาย
ส่วนพรรคการเมืองในสภา เราคงลืมไปแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน แต่พอคุณเนวินโผล่ขึ้นมา ทำให้เราเพิ่งคิดได้ว่า เรายังมีคุณอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าฝ่ายค้านอยู่ ปัญหาของระบบพรรคการเมืองไทยไม่ถูกทำให้เชื่อมโยงกับพลังทางสังคม กรรมกรชาวนาไม่สามารถเชื่อมโยงกับฐานเสียงการเมืองได้ สหภาพแรงงานมีกฎหมายห้ามยุ่งกับการเมือง สภาจึงเป็นเรื่องของนักการเมืองที่ไม่มีพลังทางสังคมมาขับเคลื่อน พอมีความไม่ไว้ใจระบบรัฐสภา จึงทำให้ความชอบธรรมของตัวรัฐบาลต่ำลง ผมจึงไม่คิดว่าสถาบันรัฐสภาจะแก้วิกฤตได้ เพราะอ่อนแอเกินไป
2. สถาบันตุลาการ สถาบันตุลาการควรช่วยจัดการความยุ่งยากได้ ถ้าดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา มีเหตุผลทางวิชาการรองรับ มีความชอบธรรม. สถาบันตุลาการในบ้านเราถ้าเทียบสามสถาบัน(นิติบัญญัติ, บริหาร และตุลาการ) ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับมากกว่าสถาบันอื่น แต่เราจะเห็นว่าในช่วงที่ยุ่งยากนี้ สถาบันตุลาการถูกตั้งคำถาม คดีหลายคดีเมื่อตัดสิน ทำให้หลายคนเริ่มโต้แย้งกับสถาบันตุลาการ ทั้งในแง่การตัดสินและในแง่ความชอบธรรมของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งตุลาการ กรณีการตัดสินให้สมัคร สุนทรเวช ขาดคุณสมบัติจากการเป็นนายกรัฐมนตรี คนก็ถามว่าจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ได้มีสถานะต่างจากสมัคร เท่าใดนัก. แต่คำถามนี้ ก็ไม่มีคำตอบออกมาชี้แจงจากฝ่ายตุลาการ
ส่วนการตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน แม้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย แต่ไม่ชอบธรรมที่จะตัดสินคดีทันที หลังปิดคดีในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นจึงเห็นว่า สถาบันตุลาการก็ไม่มีความชอบธรรม หรือมีความน่าเชื่อถือเพียงพอจะตอบคำถามต่อปัญหาในขณะนี้
3. รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นที่ประจักษ์ชัดนับตั้งแต่ลงประชามติว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำปัญหาให้สังคมไทย มาบัดนี้ข้อเสนอของผมที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีเงาหัวแน่ ก็ชัดเจนว่าไม่มีเงาหัวมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำลายพรรคการเมือง และการเอื้อให้อำมาตยาธิปไตยมาควบคุมการเมือง. รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ไม่ว่าช้าหรือเร็ว แม้พันธมิตรฯ จะบอกอย่าแก้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ล้าหลังเกินจะอยู่ในสังคมไทยได้ เราคงต้องคิดถึงการปรับแก้รัฐธรรมนูญที่ทุกคนจะได้มาร่วมกันใช้และยอมรับผลที่เกิดขึ้นได้
4. สถาบันจารีต หลัง 14 ตุลาคม 2516 สถาบันจารีตได้รับความคาดหวังสูงในการคลี่คลายวิกฤต และมีความพยายามดึงสถาบันจารีตมาใช้ ทุกวันนี้ก็ได้รับความคาดหวังอยู่ แต่มีสองเรื่องที่ต้องคิดถึงว่า สถาบันจารีตมีข้อจำกัดในการยุติวิกฤตการณ์ในสังคมไทย
หนึ่ง คงเป็นที่ตระหนักว่าสถาบันจารีตของไทยอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ทำให้เกิดความไม่มั่นคง ไม่ชัดเจนในสถาบัน การเปลี่ยนผ่านนี้ทำให้ความคาดหวังว่าจะทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปไม่ได้
สอง ช่วงวิกฤตที่ผ่านมา มีคนนำเรื่องสถาบันมาใช้ปิดปากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตน การไม่พูดถึงสถาบันทำให้มีแรงต้านนอกระบบเกิดมากขึ้น เราไม่รู้ว่าสถาบันจารีตอยู่บนความขัดแย้งในสังคมมากขนาดไหน สถาบันจารีตจึงไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่เฉกเช่นที่เคยเป็นมา
จากทั้งสี่สถาบัน ผมจึงไม่มีคำตอบ และความขัดแย้งยังดำรงอยู่ ตัวสถาบันต่างๆ ไม่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงได้โดยลำพัง สิ่งที่สังคมไทยจะเผชิญ 10 ถึง 20 ปีข้างหน้าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง คงต้องช่วยกันคิด
สมเกียรติ ตั้งนโม: สงครามครั้งสุดท้ายของ National Robber Baron (*)
(*) Robber baron is a term that revived in the 19th century in the United States as a reference to businessmen and bankers who dominated their respective industries and amassed huge personal fortunes, typically as a direct result of pursuing various anti-competitive or unfair business practices. The term may now be used in relation to any businessman or banker who is perceived to have used questionable business practices or scams in order to become powerful or wealthy (placing them in power of everything having controlled most business affairs.) (อ่านเพิ่มได้ใบทความลำดับที่ 921)
รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)กล่าวว่า วิกฤตการเมืองไทยทั้งหมดเกิดจากขบวนการโลกาภิวัตน์ ขอให้ทราบว่าหลังปี ค.ศ. 1989 ที่เกิดฉันทามติวอชิงตันและเสรีนิยมใหม่ ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก สังคมไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2540 สมัยชวน หลีกภัยเปิด BIBF ปล่อยให้ทุนต่างประเทศไหลเขามาในประเทศไทย และมีผลกระทบต่อทุนชาติในไทย
กลุ่มทุนชาติ ประกอบด้วย กลุ่มทุนเก่า ส่วนใหญ่เป็นทุนจีน ต้องการการปกป้องทุนของตนเอง วิธีการปกป้องทุนของตนเองคือสวามิภักดิ์กับทหารและชนชั้นสูงตลอดมา จะเห็นว่าในอดีตมีแต่ พล.อ. และคนมีราชทินนามมาเป็นประธานฯ ธนาคาร ทุนชาติถือเป็น National Robber Baron เป็นคนกินรวบ เป็นเจ้าของทรัพยากรทั้งหมดทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ทุนโลกาภิวัตน์ ถือเป็นคู่ความขัดแย้งกับทุนชาติ. "ทุนโลกาภิวัตน์หรือทุนใหม่"บวก"ทุนข้ามชาติ" เป็นการประสมรวมตัวกัน เป็นการระดมทุนชนิดหนึ่งที่ไม่ผ่านธนาคาร วิธีการปกป้องกลุ่มทุนของกลุ่มนี้ใช้วิธีการแก้กฎหมายให้เอื้อประโยชน์ Deregulation ฝ่ายตนหลายอย่าง เป็นกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ที่ด้รวมตัวกันกับ Global Robber Baron
วิธีการต่อสู้กับทุนชาตินั้น ทุนโลกาภิวัตน์ใช้นโยบายสองมาตรฐาน (ข้างล่างประชานิยม ข้างบนโลกาภิวัตน์). อยากให้ดูที่ชนชั้นสูง พยายามดึงรากหญ้าด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ผ่านสื่อและสถาบันการศึกษาให้เชื่อถือและยอมรับในความเป็นผู้วิเศษ, ในขณะที่ทุนใหม่ ดึงรากหญ้าผ่านนโยบายประชานิยม เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค หมู่บ้านละล้าน และอื่นๆ เป็นการต่อสู้เชิงนโยบายต่อชนชั้นสูงที่พยายามเข้าถึงรากหญ้า
การสะสมทุนของทุนชาติ กล่าวคือ กลุ่มทุนชาติได้สัมปทานทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แร่ธาตุ ภูเขา แม่น้ำ ลำดับต่อมา ได้มาจากการสะสมที่ดิน ทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่ และผูกขาดต่างๆ นอกจากนี้ มีการทำอุตสาหตะวันตกดิน สร้างโรงงานต่างๆ ที่ปลดระวางมาจากโลกที่ 1 และ 2 มีการระดมทุนผ่านธนาคารและสถาบันการเงิน. ทุนชาติเหล่านี้ ต้องการการปกป้องจากทหาร ชนชั้นสูง นักการเมืองและกฎหมาย จึงจ่ายตลอดทางและจ่ายทุกพรรค
ทุนชาติกับสงครามครั้งแรก คือ ทุนชาติไม่ใช่เพิ่งมาต่อสู้หรือทำสงครามครั้งนี้เท่านั้น เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทุนชาติต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ มียุทธวิธีที่เป็นแกนกลางคือ 'ชาติ ศาสน์ กษัตริย์' บอกว่าคอมมิวนิสต์จะมาทำลายสามสถาบันหลักนี้ สงครามครั้งนี้จบลงด้วยนโยบาย 66/23 ที่มี พล.เอกเปรม และ พล.เอก ชวลิต เป็นตัวละครที่สำคัญ ออกนโยบายให้ฝ่ายซ้ายคืนเมือง ระดมผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย. ส่วนฝ่ายซ้ายที่คืนเมือง ก็ไปร่วมสังฆกรรมกับกลุ่มทุนชาติ และบางส่วนอยู่กับกลุ่มทุนใหม่ จะเห็นว่าทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง และเสื้อแดง ล้วนมีอดีตฝ่ายซ้ายสังกัดทั้งสิ้น
ทุนชาติกับสงครามครั้งสุดท้าย มาถึงเรื่องทุนชาติกับสงครามครั้งสุดท้าย ที่ประกาศบนเวที ผมตั้งต้นไว้ว่าทุนชาติไมใช่พวกที่ไม่มีประสบการณ์ ทุนชาติมีประสบการณ์สูงมาก ทุนชาติสามารถดำรงอยู่ได้ต่อมา จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เป็นการเปิดเผยให้เห็นว่าทุนชาติไปไม่ได้กับโลกาภิวัตน์อย่างไร?
ครั้งนี้ก็ใช้ยุทธวิธีเดิมคือ 'ชาติ ศาสน์ กษัตริย์' ผมกล้าพูดแบบนี้เพราะวันที่เวทีพันธมิตรตั้งที่สะพานมัฆวาน อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร ซึ่งจัดรายการทางสถานีวิทยุจุฬาฯ โทรศัพท์มาสัมภาษณ์ผม ก่อนสัมภาษณ์ ไชยันต์ได้อ่านแถลงการณ์พันธมิตรให้ผมฟัง ผมบอกเลยว่าเป็นแถลงการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เหตุผลคล้ายการรัฐประหาร 19 กันยา วิกฤตครั้งนี้ผมเห็นด้วยกับอาจารย์สมชาย (ปรีชาศิลปะกุล) ว่า เป็นการสงบแค่ชั่วคราว
ตัวละครครั้งก่อนมี พล.เอก เปรม, ชวลิต, ครั้งนี้ก็เหมือนกัน และชวลิตก็สึกมาแล้ว นอกจากนี้ยังมี Big 5 คือ 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปรากฏตัวและอยู่ในเหตุการณ์
เมื่อ 20 ปีก่อน, "ทุนชาติ"เป็นศัตรูกับ"คอมมิวนิสต์" และตอนนี้"ทุนชาติ"เสมือนเป็นศัตรูกับ"ประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์" ความขัดแย้งนี้ทำให้คนที่รักในประชาธิปไตยไม่มีที่ยืน ทำให้คนที่รักระบอบประชาธิปไตยมีผืนที่แคบลง. สำหรับข้อเสนอของผม เสนอเลยว่ามีทางออกสองทางสำหรับสงครามครั้งสุดท้ายว่าจะจบลงอย่างไร
ทางออกของวิกฤตการเมืองไทย ๒ ทาง
1. นองเลือดบนถนน จบลงด้วยสงครามกลางเมือง คล้าย 6 ตุลา 2519 ทำให้คนถอยหนีไปอยู่ป่า ไปอยู่ชายขอบ
2. ถ้าไม่ปะทะ จะประนีประนอม ผมใช้"หลักวิภาษวิธี" ในการวิเคราะห์ (Thesis, Anti-thesis, Synthesis) ถ้าจบแบบที่สอง ทุนชาติแบ่งเค็กกับทุนโลกาภิวัตน์ การจัดสรรผลประโยชน์ลงตัว เกิดดุลยภาพของผลประโยชน์เท่ากับก็ "โอเค. เนชั่น"ทุนชาติ + ทุนโลกาภิวัตน์ = OK NATION
ขอโทษ นี่คือคำถามที่เราต้องถาม เพราะว่าทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง เป็นนอมินีของทุนทั้งสองฝ่าย
ประชาชนกับสงครามครั้งสุดท้าย
หนึ่ง, พันธมิตรกับสงครามครั้งสุดท้าย มีการโฆษณาชวนเชื่อเป็นปี โดยนักผลิตสื่อระดับชาติหลายคน และทั้งพรรคการเมือง. ส่วนพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนใช้นโยบายปลอมๆ ที่ข้างล่างทำประชานิยม แต่ข้างบนทำโลกาภิวัตน์
สอง, ประชาชนตกเป็นเหยื่อตามแห่คำโฆษณาชวนเชื่อบนเวที และนโยบายปลอมๆ
สาม, ประชาชนได้อะไร ได้ทุนชาติคืนมาหรือ หรือได้โลกาภิวัตน์มาครอง ส่วนใหญ่แล้วประชาชนไม่ได้ประโยชน์เลยจากเกมการเมืองของฝ่ายทุนทั้งสองนี้ ทุนชาติกลับมาทำให้พวกเรารวยขึ้นหรือ ตั้งแต่ 2500-2540 คนจนของไทยลดลงแค่ไหน, ตั้งแต่ปี 2540-2550 คนยากจนยากจนลงมากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่าประชาชนกลับสงครามครั้งสุดท้ายที่แท้จริงคือ การรับมือกับ"ทุนชาติ"และ"ทุนโลกาภิวัตน์"ในอนาคต นี่คือของแท้ ของจริง ประชาชนต้องเผชิญต่อไปในอนาคตอันใกล้
ประชาชนกับสงครามโลกาภิวัตน์
วิธีการที่ประชาชนจะเผชิญกับสงครามโลกาภิวัตน์ในอนาคต คือต้องเฝ้าระวังตนเอง
เพราะทุนชาติและทุนโลกาภิวัตน์จะร่วมมือกันหลังจากแบ่งเค็กกันเรียบร้อย ได้จัดสรรผลประโยชน์อย่างสมดุลย์
ภัยที่ตามมาสำหรับประชาชนอย่างเราๆ ก็คือ การถูกกดขี่ และเอารัดเอาเปรียบเหมือนเดิม
ดังนั้น
ข้อที่ 1 ประชาชนจะต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายขึ้นมาเอง (Policy Maker) เดิมประชาชนเป็นเพียงแค่ผู้ซื้อนโยบายจากพรรคการเมือง ต่อไปเราต้องเป็นคนกำหนดนโยบายและญัตติสาธารณะด้วยตัวเอง ต้องให้นักเมืองหรือผู้แทนราษฎรทำตามที่เราต้องการ
ข้อที่ 2 การเรียกร้องหารัฐสวัสดิการหรือสังคมสวัสดิการ เพราะในอนาคตทุนโลกาภิวัตน์และนโยบายเสรีนิยมใหม่จะไม่ปรานีกับคนจน คนชายขอบ รัฐสวัสดิการจะเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญในการสร้างหลักประกันว่า ข้าว ผ้า ยา บ้าน หรือปัจจัยสี่จะอยู่กับเรา จะไม่มีใครหนาวตายหรืออดตาย
ข้อที่ 3 ต้องยืนยันประชาธิปไตยทางตรง และประชาธิปไตยแบบตัวแทน
ข้อที่ 4 ประชาชนต้องครองพื้นที่สื่อมากขึ้นเพื่อรับมือกับรัฐ เพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงของตนเองให้สาธารณชนรับรู้ถึงปัญหาภาคประชาชนที่แท้จริง. เดิมเราทะเลาะกันมาตลอด 40-50 ปีว่าใครควรจะเป็นเจ้าของสื่อ และวันนี้การจัดสรรคลื่นความถี่ก็ยังจัดสรรกันไม่เสร็จ
ในอนาคต รัฐไทยจะทำหน้าที่อะไร? รัฐไทยจะทำหน้าที่เป็นเพียงนอมินีของทุนข้ามชาติเท่านั้น พวกนักการเมืองไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน พวกเขาจะแก้กฎหมายให้เอื้อประโยชน์ให้ทุนข้ามชาติ เดินตามนโยบายเสรีนิยมใหม่(Neo-liberalism) ปล่อยให้เงินทุนไหลเข้ามามาลงทุนอย่างเสรี เช่น มาลงทุนในรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน โทรคมนาคม สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา ฯลฯ จะมีการแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับทุนข้ามชาติ จะมีการแปรรูปไปเรื่อยๆ
ชำนาญ จันทร์เรือง: แก้รัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาสามารถถ่วงดุลอำนาจได้
ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระกล่าวว่า ตั้งแต่เรามีระบบรัฐสภาเป็นต้นมา รัฐสภาไทยเต็มไปด้วยสมาชิกที่มาจากชนชั้นที่ได้เปรียบทางสังคม ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองอาชีพ ตลอดจนอดีตข้าราชการที่โยงใยใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วุฒิสภาที่มีการกำหนดคุณสมบัติที่เอื้ออำนวยต่อชนชั้นนำมากกว่าชนชั้นล่าง มิหนำซ้ำยังมาจากการลากตั้งอีก ๗๔ จาก ๑๕๐ คน
ทั้งนี้ เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญที่ออกแบบขึ้นมาโดยชนชั้นนำและแนวทางการพัฒนาประเทศที่ขาดความสมดุล ทำให้คนส่วนใหญ่ถูกกันออกไปจากเวทีแข่งขันทางการเมืองโดยอัตโนมัติ คนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถมีส่วนกำหนดนโยบายใดๆ ของรัฐ ตัวระบอบรัฐสภาเองจึงมีความจำกัดในการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
ตัวรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ฉบับปี ๕๐) ก็มุ่งแต่กลั่นกรองตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง มากกว่าการกระจายโอกาสทางการเมืองให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของสมาชิกรัฐสภาปัจจุบัน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นชนชั้นนำที่ครอบงำรัฐสภาอยู่. ในหลักการของระบบรัฐสภานั้น ฝ่ายบริหารอาจถูกลงมติไม่ไว้วางใจ หรือสภาผู้แทนอาจถูกยุบเพื่อให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้แสดงบทบาทของผู้ตัดสิน ประชาชนจึงต้องพร้อมเสมอที่จะใช้สิทธินั้น ดังนั้น จึงมีความจำเป้นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องได้รับการศึกษา
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การศึกษาไม่เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย เพราะอย่างอินเดีย อัตราการรู้หนังสือต่ำกว่าไทย แต่ตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราชมาไม่เคยมีการปฏิวัติ รัฐประหารเลย และประชาชนควรได้รับโอกาสในการรับรู้ข่าวสารทางการเมือง ตลอดจนโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการควบคุมการดำเนินงานขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย และหากประเทศใดขาดหลักเกณฑ์ที่ว่านี้ ก็ย่อมกล่าวไม่ได้ว่าประเทศนั้นมีการปกครองในระบบรัฐสภาที่แท้จริง และประเทศที่ว่านี้ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ารวมประเทศไทยของเราในปัจจุบันนี้เข้าไปด้วย
นอกจากปัญหาสำคัญที่ได้ชี้ให้เห็นมาแล้วว่า รูปแบบการปกครองแบบรัฐสภา ซึ่งก็หมายความว่ารัฐสภาเป็นใหญ่หรือมีอำนาจสูงสุด แต่ระบบรัฐสภาของไทยในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ แต่กลับกลายเป็นรัฐบาลที่เป็นใหญ่กว่ารัฐสภา และปัจจุบัน ขณะที่วิ่งกันฝุ่นตลบยังมีคนใหญ่กว่ารัฐบาลคือ"ทหาร" ที่มีข่าวขี่รถตู้ไป มีพันธมิตรที่เป็นใหญ่ มีแกนนำของกลุ่มพรรคที่ติดโทษแบนห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง แต่มีว่าที่นายกรัฐมนตรีต้องซื้อดอกกุหลาบเนเธอร์แลนด์ช่อละ 3,000 ไปให้ ซึ่ง พรบ.พรรคการเมือง มาตรา 96-98 เขาห้ามนะครับ เพราะอยู่ๆ ก็ไปหาพรรคที่ถูกยุบ ชาติไทย"บรรหาร", ไปมัชฌิมา แถมยังแถลงข่าวหน้าตาเฉย
พรรคการเมืองต่างๆ ของไทยจึงล้วนแล้วแต่บกพร่องในบทบาทต่อสังคม เพราะทำตัวแปลกแยกจากสังคมมาโดยตลอด แสวงหาหรือเล่นบทบาทเฉพาะบทบาททางการเมืองในสภาเท่านั้น มิหนำซ้ำเมื่อเกิดปรากฏการณ์พันธมิตรฯขึ้นมา พรรคการเมืองทั้งหลายก็กลับละทิ้งหน้าที่ในทางการเมืองในสภาไปเสียอีก หันไปเล่นทางลัดนอกสภาโดยคอยหนุนหลังกลุ่มเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงอย่างโจ๋งครึ่ม พรรคการเมืองจึงหมดความหมายจากประชาชนไปโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ได้ทำหน้าที่ทั้งในทางสังคมและในทางการเมืองแต่อย่างใด โอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตยโดยพรรคการเมืองจึงเสื่อมสูญไปอย่างน่าเสียดาย กอปรกับการมีมาตรการยุบพรรคซ้ำเติมเข้าไปอีก ก็เป็นอันว่าสิ้นหวังเลยว่า พรรคการเมืองจะเป็นจักรกลที่จะขับเคลื่อนการเมืองในระบบรัฐสภาของเราให้พัฒนากว่านี้ไปได้
ถึงเวลาแล้วที่รัฐสภาไทยจะต้องปรับปรุงกันอย่างขนานใหญ่ ด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญเสียใหม่ เพราะพิสูจน์ได้ชัดเจนแล้วว่า รัฐสภาซึ่งใช้อำนาจนิติบัญญัตินั้นตกเป็นเบี้ยล่างของรัฐบาล ไม่ได้เป็นอิสระและไม่อาจถ่วงดุลเพื่อควบคุมตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแต่เพียงการแสดงละครฉากใหญ่เท่านั้นเอง
อรรถจักร สัตยานุรักษ์: ความขัดแย้ง 2 ทุน เปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์กลุ่มคน
รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความขัดแย้งในการแย่งชิงผลประโยชน์ของทุนเก่า ทุนใหม่ ได้มาสั่นคลอนสถาบันทางการเมืองต่างๆ ทั้งรัฐสภา ตุลาการ รวมถึงสถาบันจารีต ถ้าพวกเราไม่สามารถหาทางอออกที่สังคมยอมรับได้ มันจะนำไปสู่ปัญหาที่หนักหน่วงมากขึ้น ทันทีที่มีการต่อสู้ของทุนและเก่าใหม่ ได้มาเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ของคนในสังคมการเมืองและสถาบันทางการเมืองปรับตัวไม่ทัน
เราพบว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้เกิดชนชั้นรากหญ้า ประชาชนที่มีส่วน 20% ของประเทศ ที่มีรายได้ 3% จากรายได้ประชาชาติ ซึ่งไม่เคยได้รับผลประโยชน์จากการเมืองที่ผ่านมา แต่พอทักษิณเข้ามา ทำให้คน 20% ข้างล่างได้รับผลประโยชน์ และเปลี่ยนอัตลักษณ์มาเป็นชนชั้นรากหญ้า ซึ่งพวกเขาเกาะติด ผูกตัวเองกับประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีความหวัง จากคนจนมาเป็นผู้รักประชาธิปไตย. ส่วนคนชั้นกลางและคนชั้นสูง ทำได้อย่างเดียวคือหันไปเกาะอุดมการณ์เก่า 'ชาติ ศาสน์ กษัตริย์'
ความขัดแย้งใหญ่นี้ ได้ลากคนเข้ามาอยู่ในอัตลักษณ์ดังกล่าวและพร้อมจะฆ่ากันได้ พลเมืองผู้รักประชาธิปไตยรับไม่ได้ที่รัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ต่อทุนเก่า ขณะที่ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงกลายเป็นผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเกิดการรบกันขึ้นมาระหว่างสองฝ่าย ภาวะนี้ไม่ได้เกิดลอยๆ เพราะคนชื่อทักษิณและสนธิ แต่มันเป็นการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และมันเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ของคน และสถาบันหลักๆ ควบคุมไม่ได้
ทุกวันนี้ เราทั้งหมดพูดกันไม่ได้ อีกฝ่ายไม่มีพื้นที่ให้แต่ละฝ่าย เสื้อเหลืองไม่มีพื้นที่ให้เสื้อแดง เสื้อแดงไม่มีพื้นที่ให้เสื้อเหลือง เหลือเพียงแต่เรื่องที่คิดจะขยี้คนอื่น ขยี้คนที่ไม่รักประชาธิปไตย ส่วนคนเสื้อเหลืองก็จะขยี้คนที่ไม่รักสถาบัน รศ.ดร.อรรถจักร กล่าว
ชัชวาล ปุญปัน: หวังว่าคนที่ตรวจสอบความจริงจะไม่ถูกเผาไปเสียก่อน
ในช่วงแลกเปลี่ยน อาจารย์ชัชวาล ปุนปัน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขอมองในแง่ดีของวิกฤตที่ผ่านมาว่า ได้เกิด"พลังการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เข้มแข็ง"ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการตรวจสอบทักษิณช่วงที่ทักษิณมีอำนาจ และพอมีพันธมิตรมีอำนาจก็มีการตรวจสอบเบื้องหลังพันธมิตร และมีการตรวจสอบอย่างเข้มแข็งจากสื่อต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถปิดกั้นการสื่อสารได้ เพราะผู้คนรวมถึงคนรากหญ้าสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอินเตอร์เน็ตได้ ขณะนี้จึงเป็นโอกาสเกี่ยวกับการรักษาสมดุลของการตรวจสอบนี้ไว้ หากรักษาสภาพเช่นนี้ได้ สังคมจะก้าวไปสู่การตรวจสอบที่ดีมากขึ้น จะมีการคลี่คลายของอวัยวะในโครงสร้างเดิมซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ
อาจารย์ชัชวาลยังกล่าวว่า ตอนที่นิโคลัส โคเปอร์นิคัส บอกว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาล มีแต่คนไม่เชื่อ ต้องใช้เวลาถึง 100 ปี ถึงจะมีการตรวจสอบและพบว่าสิ่งที่เขาเสนอเป็นความจริง แต่ก่อนหน้านี้มีคนถูกเผาไฟเป็นจำนวนมาก ดังนั้น อาจารย์จึงหวังว่า คนที่คิดจะตรวจสอบความจริงจะไม่ถูกเผาไปเสียก่อน
เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช: Concerned Citizens
ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช กล่าวว่า หวังว่าสังคมไทยจะเป็นเสรีนิยมทางการเมืองมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา การเมืองจำกัดอยู่ที่ชนชั้นนำ ประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรจากนโยบายการเมือง ที่มักจะกล่าวหาว่าประชาชนซื้อสิทธิขายเสียง จริงๆ แล้วที่ประชาชนขายเสียงก็เพราะระบบการเมืองไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับเขา
แต่พอมาถึงระยะหลัง การที่ทักษิณสามารถระดมผู้คน ซึ่งขอใช้คำว่า "คนชนบทใหม่" คือ ไม่ใช่คนชนบทแบบเดิมต่อไป เพราะเขาให้ความสำคัญต่อความรู้ต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น เขาต้องการมีส่วนร่วมด้านผลประโยชน์จากระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนแบ่งในผลประโยชน์ที่จะได้จากระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่มีหนทางอื่น เราต้องขยายพื้นที่ประชาธิปไตยให้มากขึ้น
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในยุโรปก็เป็นแบบนี้ คือเดิมเป็นประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ ที่จำกัดสิทธิเลือกตั้งกับกลุ่มที่ไม่มีทุน ซึ่งไม่ต่างจากสังคมไทยขณะนี้เท่าใดนัก แต่หลังคริสตศตวรรษที่ 19-20 มันเริ่มคลี่คลายมาเป็นเสรีนิยมมากขึ้น ในแง่นี้ ขอเสนอว่า จำเป็นต้องให้คนรากหญ้าเข้าสู่ระบบการเมือง เข้ามาจัดสรรผลประโยชน์กับระบบการเมืองมากขึ้น และมีความจำเป็นที่สังคมไทยต้องยอมรับคนกลุ่มที่เรียกว่า Concerned Citizens ที่เคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ของตัวเอง เขาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเมืองปรับตัวได้ ไม่สุดขั้วไปข้างใดข้างหนึ่ง
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
สถาบันตุลาการควรช่วยจัดการความยุ่งยากได้ ถ้าได้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา มีเหตุผลทางวิชาการรองรับ และมีความชอบธรรม. สถาบันตุลาการในบ้านเราถ้าเทียบสามสถาบัน(นิติบัญญัติ, บริหาร และตุลาการ) ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับมากกว่าสถาบันอื่น แต่เราจะเห็นว่าในช่วงที่ยุ่งยากนี้ สถาบันตุลาการถูกตั้งคำถาม คดีหลายคดีเมื่อตัดสิน ทำให้หลายคนเริ่มโต้แย้งกับสถาบันตุลาการ ทั้งในแง่การตัดสินและในแง่ความชอบธรรมของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งตุลาการ กรณีการตัดสินให้สมัคร สุนทรเวช ขาดคุณสมบัติจากการเป็นนายกรัฐมนตรี คนก็ถามว่าจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ได้มีสถานะต่างจากสมัคร เท่าใดนัก. แต่คำถามนี้ ก็ไม่มีคำตอบออกมาชี้แจงจากฝ่ายตุลาการ (สมชาย ปรีชาศิลปกุล: นิติศาสตร์ มช.)