มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
มายาคติของนักเศรษฐศาสตร์
ดร. เดชรัต สุขกำเนิด
งานวิจัยนี้นำเสนอที่ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่
วันที่ 28 มิถุนายน 2546 เวลา 14.00-16.30 น.
(ความยาวประมาณ 13 หน้ากระดาษ A4)
ชัชวาล ปุญปัน : สวัสดีครับ นักศึกษาและสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในโอกาสนี้เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด ได้ให้เกียรติมาบรรยายเรื่อง "มายาคติของนักเศรษฐศาสตร์ ปัญหาและทางแก้ไข" ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญต่อการกำหนดนโยบาย ต่อการคิดและท่าทีหรือการดำเนินวิถีชีวิตต่างๆมากมาย
สำหรับอาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด ผมแทบไม่ต้องแนะนำ เพราะอาจารย์เป็นแขกประจำของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ทำงานในระดับพื้นที่ ระดับสังคม และระดับประเทศมามากมาย ผมขอเรียนเชิญอาจารย์นำสนทนาได้เลยครับ
เดชรัต สุขกำเนิด : นมัสการพระคุณเจ้า และสวัสดีชาวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทุกคน วันนี้เราคงจะมาคุยกันในเรื่องของนักเศรษฐศาสตร์ คือวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ผมเข้าใจว่า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากและรุนแรงในสังคมไทย นักเศรษฐศาสตร์เองได้ยินแต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ว่ามันเป็นอย่างไร? ผมและเพื่อนร่วมงานจึงมาศึกษาในเรื่องนี้กัน
ผมเองที่ อ.ชัชวาล ได้เกริ่นว่า ทำงานในหลายๆเรื่องทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพ พอแนะนำตัวแบบนี้คนที่พบกันครั้งแรกเขามักจะตกใจอยู่เหมือนกันว่า ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แปลว่าเขาก็คาดหวังว่า นักเศรษฐศาสตร์ไม่น่าจะมาทำงานในลักษณะแบบนี้ ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาให้ทีมงานวิจัยเราส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์
ช่วงเริ่มต้นศึกษาปัญหาวิชาเศรษฐศาสตร์ เราคิดว่าจะใช้คำไหนดี เช่น ปัญหา หรืออะไรต่างๆ อันนี้เรานึกกันอยู่หลายคำ สุดท้ายเราก็มาตกลงที่คำว่า "มายาคติ" คำนี้หมายถึงกระบวนการที่ใช้ในการสื่อความหมาย ตั้งแต่การพูดคุยกัน การเขียน การเรียน การสอบด้วยคติความเชื่อกันทางวัฒนธรรม ซึ่งถูกกลบเกลื่อนเสมือนว่ามันจะเป็นธรรมชาติ คือพูดสื่อออกมาแล้วเหมือนว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนี้จะต้องถูก จะต้องใช่ ถ้าเป็นอย่างอื่นมันคงจะไม่ถูก ไม่ใช่
สำหรับเรื่องที่จะพูดวันนี้ เราเคยไปนำเสนอบางที่ หลายท่านก็บอกว่า ทำไมไม่ใช้คำว่า"มิจฉาทิฐิ" ผมก็บอกว่า มิจฉาทิฐิตามความเข้าใจของผม มันเหมือนกับมีสิ่งที่ถูกที่ชอบ และสิ่งที่ไม่ถูกไม่ชอบ เราเองยังไม่นึกถึงว่า สิ่งที่เราพูดสิ่งที่เราคุยเรื่องเศรษฐศาสตร์ มันเป็นเรื่องที่ถูกหรือผิด
แต่เราอยากจะตั้งคำถามกับสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ ผู้สอนและผู้เรียนเศรษฐศาสตร์เชื่อว่ามันถูก คือเชื่อไปเลยว่าถูกเพราะผ่านมายาคติ ขบวนการสอน ขบวนการเรียน การอ่านหนังสือ การสื่อความหมาย รูปแบบอื่นๆที่เสมือนเป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเขาก็จะซึมลึกเรื่องเหล่านั้นไปโดยปริยาย เราก็เลยอยากจะหยิบสิ่งเหล่านั้นที่ดูเหมือนเป็นธรรมชาติขึ้นมาตั้งคำถามว่า จริงๆแล้ว มันเป็นอย่างนั้นหรือไม่? มันอาจจะถูกบ้าง ผิดบ้าง อันนี้ก็ว่ากันไป เพียงเพราะเราอยากจะตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นมายาคติก่อน
ดังนั้นโดยหลักการแล้ว งานวิจัยที่เราเริ่มทำและได้รับทุนจาก สกว. เป็นงานที่มุ่งตั้งคำถามมากกว่าที่จะพยายามหาคำตอบ แต่ลองดูครับว่าเราตั้งคำถามได้เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร? ในการพูดคุยนั้น ผมคงจะตั้งคำถามเช่นกัน เพื่อให้เราได้แลกเปลี่ยนสนทนากัน
ผมอยากจะแนะนำเรื่องมายาคตินิดหนึ่ง คือ "มายาคติ"ที่ผมใคร่เสนอนั้น เป็นภาพกลางๆ สิ่งที่พวกเรานักวิจัยคุยกันก็คือ "มายาคติ"ไม่ใช่การโกหก ไม่ใช่เรื่องที่เขาจะมาหรอกลวงเรา บางครั้งเวลาเราพูดว่า เศรษฐศาสตร์จริงๆ ชีวิตชาวนาจริงๆ เกษตรกรจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่ได้เป็นอย่างนี้ ไม่ได้เหมือนสอนในตำรา ไม่ใช่ว่าผู้เขียนตำราหรือผู้สอนเขาหรอกลวงเรา แต่ว่ามันเกิดกระบวนการอะไรบางอย่างลวงให้เขาหลงไปว่า มันเป็นลักษณะแบบนั้นแบบนี้เหมือนกับว่าจะเป็นธรรมชาติ และเราพบว่า "มายาคติ" มันเกิดขึ้นทุกที่ในสังคมและชีวิตประจำวันของเรา และมายาคติมันก็มีหน้าที่ของมันในการที่จะสร้างให้สังคมเกิดเป็นค่านิยม เป็นมาตรฐานต่างๆขึ้นมาในสังคม
อันนี้ก็เหมือนกับปริญญา ซึ่งก็ถือว่าเป็นมายาคติตัวหนึ่งคือ เมื่อเราได้รับปริญญาก็เหมือนกับมีภาพว่าสามารถจะทำงานนั้นงานนี้ได้ ก็คือเป็นการสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คงจะเป็นคนที่พึ่งได้ แต่ในบางกรณีก็พึ่งไม่ได้ ถึงจะจบปริญญาเอกก็พึ่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นมายาคติมันก็มีหน้าที่อย่างนี้ในสังคม
ที่เราต้องเกริ่นเรื่องนี้เพราะว่า ไม่ใช่ว่า"มายาคติ"จะเป็นเรื่องที่เลวร้ายเสียทั้งหมด แต่สิ่งซึ่งเป็นเรื่องแย่ของมันก็คือ มายาคติมันมีหน้าที่ปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม ก่อนที่คนจะรู้สึกตัว ตรงนี้มันสำคัญ ก่อนที่จะรู้สึกตัวนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อไม่รู้สึกตัวแล้วปัญหาต่อมาก็คือ มันก็เลยซ่อนความวิตกกังวล ความคิดขัดแย้งต่างๆในสังคมเอาไว้ภายใต้ความเชื่อที่ว่า มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไปมันก็คงลำบาก เพราะฉะนั้นมายาคติมันจึงไปป้องปรามสติปัญญาเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน คือไม่ต้องไปตั้งคำถามอะไรกับมันแล้ว มันคงจะเป็นอย่างนี้อย่างนั้นอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ เราจึงนำเอาคำว่า"มายาคติ"มาเป็นตัวหลัก ว่าแล้วมันมีอะไรหรือเปล่าล่ะ ที่จะมาป้องปรามสติปัญญาของนักเศรษฐศาสตร์ในเมืองไทยอยู่ ทำให้ไม่สามารถคิดไปได้ว่า ความเป็นจริงมันอาจจะเป็นไปในทิศทางอื่น มันอาจจะเป็นไปในแง่อื่น ซึ่งอันนี้เราจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษา เพื่อที่จะทำให้เกิดการคิดใคร่ครวญ การตั้งข้อสงสัยถึงตัวมายาคติที่มีอยู่
วิธีการศึกษาของเราโดยหลักๆก็คือ เราดูจากเอกสารและมีการพูดคุยกัน แล้วก็ไปสัมภาษณ์คนอื่นๆ แต่ว่าสิ่งที่เราอยากจะพูดต่อไปนี้คือความเห็นของทีมวิจัย ไม่ใช่เป็นการสรุปความเห็นของคนอื่น เพราะว่าการจะพูดเรื่องมายาคติ ต้องประกาศให้ชัดด้วยว่าเราเป็นผู้พูดสิ่งเหล่านี้ออกมา เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นมายาคติซ้อนมายาคติไปอีกที เราจึงต้องประกาศความรับผิดชอบของเราว่า เป็นข้อคิดเห็นต่างๆ ซึ่งเราก็พบว่า
มายาคติของวิชาเศรษฐศาสตร์ มีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับ ซึ่งทั้งสามระดับนี้ส่งผลให้วิชา เศรษฐศาสตร์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในปัจจุบัน และเราก็อยากจะลองเสนอเพื่อพูดคุยกับคณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนดูว่า มีความคิดเห็นเพิ่มเติมหรือขัดแย้งอย่างไร?
ประเด็นแรก
คือ มายาคติของเศรษฐศาสตร์ระดับปรัชญา
วิชาเศรษฐศาสตร์มีมายาคติในระดับปรัชญาอยู่ 3 เรื่อง
เรื่องแรก ก็คือ เป้าหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์เอง อันนี้เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสที่สุดในความเห็นของผมคือ ถ้าเราไปดูในตำราเศรษฐศาสตร์ปีหนึ่งของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จะพบว่า เศรษฐศาสตร์จะถูกนิยามว่าเป็นวิชาที่ว่าด้วย "การจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการที่มีไม่จำกัด"
อันนี้กลายเป็นว่า เป้าหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ก็คือ เอาความต้องการของมนุษย์เป็นตัวตั้ง ซึ่งตรงนี้ถ้าเราไปค้นตำราเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่เล่มแรกๆ ปรากฏว่าตำราเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เขียนแบบนี้ แต่เดิมนั้นเขาเขียนว่า
"เศรษฐศาสตร์ คือการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อตอบสนองทางเลือกหรือวัตถุประสงค์ที่หลากหลายของสังคม"
ก็หมายความว่า สังคมมันมีทางเลือกไม่จำกัดเหมือนกัน แต่มันไม่ได้หมายถึงความไม่จำกัดเช่น มีรถยนต์แล้วอยากจะได้อย่างอื่นเพิ่ม แต่มันหมายความว่า สังคมมันอยากจะได้ความเจริญเติบโต ความสะดวกสบาย ความเท่าเทียมกัน ความเป็นธรรม ความสงบสุข สังคมมีวัตถุประสงค์หลายอย่างหลายทาง คำถามคือ เศรษฐศาสตร์จะไปจัดการอย่างไร? ในเมื่อสังคมมีเป้าหมายอยู่หลายทาง มันไม่ได้ไปจัดการตอบสนองความต้องการที่มีไม่จำกัดอย่างเดียว
อันนี้มันเกิดกระบวนการเบี่ยงเบนขึ้นในการสืบทอดทางความคิดเศรษฐศาสตร์ ตรงนี้ก็เลยกลายเป็นปัญหาขั้นแรกคือว่า คนที่เอาวิชาเศรษฐศาสตร์มาใช้ก็เลยมีความรู้สึกว่า ถ้าเราจะต้องใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ มันก็เป็นเรื่องที่ชอบธรรม เป็นเรื่องปกติที่เราจะแสวงหาผลประโยชน์สูงสุด หรือกำไรสูงสุด ตรงนี้ก็เป็นอีก version หนึ่ง
คือเมื่อสักครู่ผมพูด version ที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน คือความต้องการไม่สิ้นสุด และ version เริ่มต้นก็คือ เพื่อตอบสนองกับวัตถุประสงค์ของสังคมที่มันมีหลากหลาย มันก็มามี version ตรงกลางอีกอันหนึ่งก็คือ "เศรษฐศาสตร์ก็คือวิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม"
ถามว่า version นี้ต่างจาก version แรกเริ่ม และต่างจาก version สุดท้ายไหม?
คำตอบก็คือ ต่างกันครับ คือมันเหมือนกับฟังดูแล้ว อาจเหมือน version แรกตรงที่ว่า คือการเน้นประโยชน์ของสังคม แต่พอใช้คำว่าประโยชน์สูงสุด มันกลายเป็นว่า ต้องเอาทุกด้านมาเปรียบเทียบกัน ว่าแล้วด้านไหนล่ะจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ก็เหมือนกับว่า เขาพยายามที่จะเทียบกันเกี่ยวกับท่อก๊าสที่จะนะ ตกลงแล้ว คุ้มหรือไม่คุ้มที่จะทำท่อก๊าส แล้วมูลค่าความสูญเสียของชาวบ้านจะเป็นเท่าไหร่ ทั้งๆที่ version แรกของเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นอย่างนั้น แต่ต้องการให้สมดุลกันระหว่างความต้องที่มีความแตกต่างหลากหลายกัน ตรงนี้ก็เลยกลายเป็นปัญหา เป็นมายาคติระดับเริ่มต้นที่สุด ก็คือลืมเป้าหมายของการพัฒนาวิชาตัวเองไป
มีตัวอย่างการศึกษางานในอดีตของอดัม สมิทธ์ ซึ่งเขาเป็นคนที่น่าสงสารพอสมควร เราจะโจมตีอดัม สมิทธ์มากเลยในเรื่องของ"มือที่มองไม่เห็น"(invisible hand) จริงๆอีกครึ่งเล่มของอดัม สมิทธ์ ได้ถูกเซ็นเซอร์โดยนักเศรษฐศาสตร์ และเหมือนกับว่าหายไป part ที่อดัม สมิทธ์ จะบอกเลยว่ามันไม่สามารถที่จะใช้ได้ มันหายไปจากการสืบทอดทางความรู้ของนักเศรษฐศาสตร์
อดัม สมิทธ์ พูดบอกว่า บางส่วนที่มันอยู่นอกเหนือจากตลาด ต้องอาศัยความรัก ความร่วมมือกันภายในสังคม การเสียสละภายในสังคมมาจัดการปัญหาเศรษฐกิจเหล่านี้ part เหล่านี้ไม่มีอยู่ในตำราเรียนของเมืองไทย มันหายไปตรงไหนก็ไม่ทราบ
ในขณะเดียวกัน อดัม สมิทธ์ เขียนตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรก ในฐานะที่จะเป็น moral philosophy คือปรัชญาทางศีลธรรม โดยการที่เชื่อว่า ระบบตลาด ณ วันนั้นเมื่อ 300 กว่าปีก่อน หน้าที่จะทำให้เกิดผลทางด้านมนุษยธรรม ดีกว่าลัทธิล่าอาณานิคมแล้วอาศัยทรัพยากรจากเมืองขึ้นเป็นตัวแข่งกัน ซึ่งมันก็จะบีบให้ฐานประเทศแม่อาณานิคมพยายามหาอาณานิคมในประเทศต่างๆ
อดัม สมิทธ์เห็นว่า น่าจะมาแข่งกันบนพื้นฐานของเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องของประสิทธิภาพจะดีกว่าการใช้ทหารไปใช้เป็นตัวล่า แต่ตรงนี้ไม่ได้มีการพูดถึงแนวความคิดของอดัม สมิทธิที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นอดัม สมิทธ์ จึงเป็นบุคคลที่น่าสงสารคนหนึ่ง ผมเองก็เพิ่งทราบว่า เขาคิดอะไรบางส่วนไว้ซึ่งก็ไม่เคยได้อ่านมาเหมือนกัน
ประเด็นที่สอง คือว่า ในระดับปรัชญาอีกส่วนหนึ่ง ในวิชาเศรษฐศาสตร์จะพูดเอาไว้ชัดเจนว่า จะเป็นวิชาที่เป็น value free คือ ปราศจากคุณค่า ไม่ได้เอาคุณค่า หรือค่านิยมใดๆก็ตามมาใช้ในการวิเคราะห์ เพราะฉะนั้นนักเศรษฐศาสตร์ถือจุดนี้เป็นเหมือนกับจุดแข็งหรือจุดขาย ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดในหมู่วิชาสังคมศาสตร์ เพราะว่าไม่ได้เอาคุณค่าเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจ ทุกอย่างเป็นไปตามข้อมูลหลักฐาน เป็นไปตามตัวเลขทั้งสิ้น
แต่จุดนี้เราฟันธงบอกได้เลยว่า นี่คือ"มายาคติ"สุดยอด มายาคติก็คือการซ่อนความจริงเอาไว้ เพราะว่าในทุกทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์มีคุณค่าบอกอยู่อย่างชัดเจนทั้งสิ้น
ทฤษฎีการบริโภค เศรษฐศาสตร์บอกเอาไว้ว่า ต้องการหาจุดที่เหมาะสมที่สุดเพื่อให้ได้ความพึงพอใจสูงสุด ความพึงพอใจนั่นก็คือคุณค่าอย่างหนึ่ง และถ้าเราลึกลงไปดูความพึงพอใจนั้นเป็นความพึงพอใจเฉพาะตน หมายถึงว่าไม่ได้คำนึงถึงความพึงพอใจของคนอื่น แต่ว่าเวลาเราตัดสินใจอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าเราจะซื้อของหรือเราจะแบ่งทรัพยากรของเรา เราจะไม่ได้นึกถึงความพอใจของเราอย่างเดียวใช่ไหม? ความพึงพอใจของเพื่อน ของครอบครัว หรือแม้กระทั่งในบางกรณีของคนไม่รู้จักที่เราเกี่ยวข้องกับเขาด้วย เราก็ยังเอาเข้ามาคิด แต่เศรษฐศาสตร์ให้เรื่องคุณค่าว่า ไม่ต้องไปคิด เน้นเฉพาะความพึงพอใจสูงสุดของตนอย่างเดียวเพียงพอแล้ว
ในแง่การผลิต เศรษฐศาสตร์ก็มีการระบุไว้ว่า ต้องการให้มีกำไรในการผลิตสูงสุด อันนี้ก็เป็นคุณค่าอย่างหนึ่ง แต่มันมามีความสามารถในการสร้างมายาคติครอบคนเรียนว่าไม่มีคุณค่า จริงๆแปลอีกนัยหนึ่งคือว่า คุณอย่าเอาคุณค่าอื่นเข้ามา นอกจากที่มันเป็นคุณค่า assumption พื้นฐานของวิชานี้นั่นเอง ซึ่งอันนี้เราเห็นว่าเป็นมายาคติขั้นสุดยอดอีกขั้นหนึ่ง ในประเด็นนี้มันโยงไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมเข้าใจว่ามีคนวิจารณ์กันมากคือ เรื่องของ"การพัฒนา"
ประเด็นที่สาม เป็นเรื่องของการพัฒนา เพราะมันไม่ได้ให้คุณค่ากับเรื่องอื่น มันก็กลายเป็นว่า การพัฒนาในความหมายของนักเศรษฐศาสตร์ก็คือ ความเจริญตามแบบตะวันตก ซึ่งผมไม่ได้หมายความว่าไม่ดี เพียงแต่ว่ามันไม่มีคุณค่าอื่นเข้ามาแข่งขัน มาเทียบเคียง แล้วว่าจริงๆ การพัฒนาในแต่ละบริบทมันควรจะมีความหมายเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร? ที่เวียงแหงเขาอยากจะพัฒนาอย่างไร ที่ฝางเขาอยากจะพัฒนาอย่างไร กรุงเทพฯ อยากจะพัฒนาอย่างไร มันถูกสะกัดไม่ให้คิดเรื่องคุณค่าอื่น
เพราะฉะนั้น เมื่อมันมีคุณค่าเดียว การพัฒนาก็เลยเป็นการพัฒนาที่แคบไปในทางเดียว ดังนั้นสิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นเสริมกับกระบวนการสร้างความเจริญ ก็เลยไม่ได้เรียกว่าเป็นการพัฒนา แล้วก็ตกหล่นไปจากวิชาเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด
เหล่านี้ก็คือมายาคติที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ระดับปรัชญา 3 ข้อ ก็คือ เรื่องการลืมเป้าหมายตัวเอง เข้าใจเป้าหมายตัวเองผิดพลาด ไม่ตั้งคำถาม เอาเรื่องของ value free มาขจัดไม่ให้พูดถึงเรื่องคุณค่าอย่างอื่นๆ ไม่ให้พูดถึงเรื่องการให้ ไม่ให้พูดถึงเรื่องการแบ่งปัน เพราะมันถูกสะกัดมาตั้งแต่ระดับ assumption ในเรื่องของคุณค่า
ปัญหาเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์ในระดับเนื้อหาและแนวทางในการวิเคราะห์
มาถึงระดับของเนื้อหาและแนวทางในการวิเคราะห์ ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหาอีกเพราะว่า
สิ่งที่สำคัญก็คือมีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง
ประเด็นแรก คือ เศรษฐศาสตร์จะยึดทฤษฎี ซึ่งจริงๆแล้วการศึกษาก่อนที่จะมาถึงทฤษฎีมีสิ่งสำคัญอีกขั้นหนึ่ง ที่เราจะต้องศึกษากันให้ดีก่อน ผมขอใช้คำภาษาอังกฤษว่า framework คือกรอบของแนวคิด ความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องแต่ละเรื่อง มันมีอะไร? แต่ถ้าใครเรียนเศรษฐศาสตร์ จะเห็นว่าเศรษฐศาสตร์จะไม่พูดถึง framework
Framework เป็นการวางภาพให้เห็นก่อน หลังจากนั้นจะมาต่อกันที่ทฤษฎี ทฤษฎีนั้นมันเป็นชุดคำอธิบายของความสัมพันธ์ตัวใดตัวหนึ่ง เหมือนกับในทางฟิสิกส์ อ.ชัชวาลสอนว่า ถ้าเพื่อมวลเพิ่มความเร็ว ผลที่เกิดขึ้นก็คือ momentum มันจะมากขึ้น. เศรษฐศาสตร์ก็เหมือนกัน ถ้าเพิ่มรายได้ ลดราคาลงมา คนก็ต้องการซื้อมากขึ้น แต่ว่ากรอบของความสัมพันธ์เกี่ยวกับตัวแปรทั้งหมดไม่เคยพูด ว่ามันมีตัวแปรอื่นที่อยู่นอกเหนือตัวแปรที่พูดไว้ในทฤษฎีหรือไม่? อันนี้ไม่พูด
เมื่อเป็นดังนั้น นักศึกษา ผู้สอน ก็จะยึดอยู่แต่ในทฤษฎี ไม่สามารถที่จะตั้งคำถามกับทฤษฎีของตัวเองได้ เพราะ framework ทั้งหมดนี้ไม่ได้ให้ไว้ จริงๆถ้าการสอนที่ดี ควรจะให้ framework แล้วก็อาจจะมีทฤษฎีหลายทฤษฎีแข่งกันอยู่ได้ภายใน framework แต่ละส่วน บางส่วนอาจจะเน้นเรื่องนี้ บางส่วนอาจจะไปเน้นตัวแปรอีกตัวหนึ่ง
แต่ในปัจจุบันในทางเศรษฐศาสตร์ เริ่มชั่วโมงแรก็ทฤษฎีการบริโภค อันนี้ก็ลุยไปเลยให้คนเชื่อว่า จะมีความสัมพันธ์คือ ถ้าบริโภคมากขึ้น คนก็จะมีความสุขมากขึ้น ถ้าราคาเพิ่มขึ้น คนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ใช้ปัจจัยมากขึ้น ก็จะผลิตมากขึ้น แล้วก็จะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น
อันนี้ก็คือ การไม่เคยพูดถึง framework อื่นๆไว้ ไม่มีเรื่องนิเวศวิทยา ไม่มีเรื่องวัฒนธรรม อยู่ใน framework ของวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไม่ได้รับการพัฒนาเลย เพราะว่ามันไม่รู้ว่าจะไปพัฒนาโดยเชื่อมกับตัวแปรไหน เนื่องจากว่า framework มันไม่ได้ถูกสร้างเอาไว้. อันนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถทำได้เลย แต่มันหมายความว่าทำได้ยาก คือไม่มีตัว framework ใหญ่เอาไว้
ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะว่า จริงๆแล้ววิชาอย่างเศรษฐศาสตร์ มันควรจะสร้างองค์ความรู้ในลักษณะที่ผมใช้ภาษาอังกฤษว่า situated knowledge คือเป็นความรู้เฉพาะกรณีสถานการณ์ ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่าเราจะใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ก็คือ แก้ปัญหาเมื่อเรามีทรัพยากรจำกัด เมื่อเรามีทางเลือกหลากหลายที่เราจะพิจารณา เราต้องเอาวิชาเศรษฐศาสตร์เข้ามา และเราจะใช้อย่างไร เราก็ใช้กับ situation ของเรา กับสถานการณ์ของเรา กับเงื่อนไขของเรา
แต่เนื่องจากไม่มี framework ก็เลยไม่ได้สนใจว่า แล้วเงื่อนไขของคนแต่ละคน ของที่แต่ละที่มันเป็นอย่างไร? ดังนั้น วิชาเศรษฐศาสตร์จึงไม่ได้ไปทำความเข้าใจอย่างเช่น กรณีที่เอาไปประยุกต์ใช้กับชาวบ้าน ดังที่ท่านอาจารย์นิธิ เองก็เคยเขียนเรื่อง" เศรษฐศาสตร์คนจน" ก็ไม่เคยวิเคราะห์ว่า เขามีเงื่อนไขที่ดินอย่างไร? ไม่ได้มีเงื่อนไขเรื่องน้ำกันอย่างไร? เรื่องลูกของเขาที่จะต้องไปเข้าทำงานในช่วงเดือนไหนที่กรุงเทพฯอย่างไร? ไม่มีการสนใจในเงื่อนไขต่างๆเลย แต่ว่าตั้งเกณฑ์เหมือนกับว่าเป็นเงื่อนไขทั่วไป ที่จะนำมาใช้ได้ทั่วประเทศบนพื้นฐานที่คิดว่า ทุกคนมีทรัพยากรเหมือนกันหมด
ผลต่อมาก็คือว่า นักเศรษฐศาสตร์จึงมองคนทุกคนออกมาในลักษณะ ถ้าเป็นผู้บริโภค ก็เป็นผู้บริโภคเหมือนกันหมด ถ้าเป็นผู้ผลิตก็เป็นผู้ผลิตเหมือนกันหมด เมื่อมีนโยบายใดๆออกมา นโยบายนั้นก็จะถูกใช้ในลักษณะที่เหมือนกันหมด หว่านแหเหมือนกันหมด อย่างเช่นกองทุนหมู่บ้าน การพักชำระหนี้ มันไม่ได้มีความเข้าใจ situation หรือเงื่อนไขสถานการณ์ของคนแต่ละคนที่แตกต่างกันไป แล้วก็ไปประยุกต์เอาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ลงไปในแต่ละบุคคล
เพราะฉะนั้น เราพบว่าคนแต่ละคนต้องพยายามขวนขวายหาวิธีการใช้วิชาเศรษฐศาสตร์กันเอาเอง เพื่อให้รอดพ้นจากสถานการณ์ของแต่ละคน ซึ่งบางคนก็อาจจะรอดได้ แม้กระทั่งนโยบายที่เราเห็นว่าอาจจะไม่ดีนัก เขาก็อาจจะรอด แต่บางคนก็อาจจะไม่รอด อันนี้เป็นเพราะว่านักเศรษฐศาสตร์ไม่พยายามศึกษาในเงื่อนไขเหล่านี้
ถ้าใครเรียนเศรษฐศาสตร์จะเข้าใจดีว่า ในห้องเรียนของเราไม่เคยยกเงื่อนไขเกษตรกรแต่ละรายขึ้นมาเป็นตัวตั้ง เราจะพูดว่าทฤษฎีเป็นอย่างนี้ คุณต้องไปทำอย่างนี้ ต้องไปคิดอย่างนี้ ต้องไปผลักดันให้เขาทำอย่างนี้ เราไม่เคยเริ่มต้นกับนายคนนี้ ซึ่งมีอย่างนี้ๆ แล้วทฤษฎีที่เราเรียนกันมาจะมาแก้ปัญหาของนายคนนี้ ซึ่งมีที่ดินเท่านี้ มีน้ำเท่านี้ มีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างนี้ อย่างไร? เพราะฉะนั้น เศรษฐศาสตร์เราจึงเป็นเศรษฐศาสตร์ที่เหวี่ยงแหและตามๆกันมา
เมื่อเรามองเห็นคนแต่ละคนเหมือนกันหมดโดยไม่เข้าใจเงื่อนไขต่างๆ เราก็เลยไม่พูดถึงและละเลยถึงความสัมพันธ์ของคนแต่ละคนไปด้วย จริงๆแล้วเรื่องเศรษฐศาสตร์จะต้องเป็นเรื่องซึ่งให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของคนแต่ละคนอย่างยิ่ง เพราะมีเหตุการณ์ที่เข้าใจว่าน้อยมาก ซึ่งคนแต่ละคนจะจัดสรรทรัพยากรของตัวเองเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องไปสัมพันธ์กับคนอื่น
ตรงที่ไปสัมพันธ์กับคนอื่นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในทางเศรษฐศาสตร์ ปัญหาก็คือเศรษฐศาสตร์ไม่มองเงื่อนไขของคนแต่ละคน ก็เลยไม่รู้ว่าเมื่อคนแต่ละคนสัมพันธ์กัน ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกัน ซึ่งมันได้ก่อรูปเป็นความสัมพันธ์หลายแบบ นับตั้งแต่เรื่องของ"การให้"
"การให้" เป็นกิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์ที่ตกหล่นไปเลยจากวิชาเศรษฐศาสตร์ การให้เป็นเรื่องซึ่งหาที่ยืนไม่ได้ในวิชาเศรษฐศาสตร์ ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนที่เรียกว่า"การให้" แต่การให้คือการจัดสรรทรัพยากร การให้คือการช่วยให้คนหนึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ที่เขาต้องการหรือสังคมต้องการได้ แต่ตกหล่นไปเลยเนื่องจากตัวทฤษฎี และก็เนื่องจากการไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน
"การร่วมมือกัน" มีไหมครับในวิชาเศรษฐศาสตร์? มีอยู่บ้าง แต่ว่าไม่มากนัก สิ่งที่มีอยู่มากในวิชาเศรษฐศาสตร์ก็คือ "การแข่งขัน" นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ "การร่วมมือ"และ"การให้" จึงตกหล่นไป
จริงๆยังมีความสัมพันธ์อีกประเภทหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากในกระบวนการทางเศรษฐกิจ ก็คือ "การเอาเปรียบ"และ"การขูดรีด" อันนี้ก็ไม่มีอยู่ในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่สอนกันในเมืองไทย ถ้าเป็นวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุดเน้นก็จะเป็นความสัมพันธ์เชิงเอาเปรียบหรือการขูดรีดอันนี้ แต่ที่สอนในเมืองไทย ส่วนนี้ก็หายไปอีก ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ฐานที่คิดว่าทุกคนต้องเท่ากันก็เลยไม่น่าจะมีใครต้องเอาเปรียบใคร แล้วมันจะเอาเปรียบกันได้อย่างไร ถ้าคนทุกคนมันเหมือนกันหรือเท่ากัน
ตรงส่วนนี้เป็นส่วนที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ ไม่สามารถอธิบายถึงความสัมพันธ์ของคนต่างๆในสังคมได้ พูดเฉพาะอย่างเดียวคือไปแข่งขันกัน แต่มันมีสิ่งที่ดีกว่าการแข่งขันกัน เช่นการให้ หรือการร่วมมือกัน และมีสิ่งที่เลวร้ายกว่าก็คือ การเอาเปรียบและการขูดรีด แล้วเราก็ปิดตา เราไม่ดู เราดูเฉพาะเรื่องของการแข่งขันกันเท่านั้น
อันนี้ผมเรียกว่า"มายาคติ"ในระดับแนวทางหรือเนื้อในการวิเคราะห์ ก็คือ ไม่มองเงื่อนไขของคน ยึดทฤษฎีเป็นหลัก ไม่มี framework แล้วสุดท้ายก็คือไม่สนใจเรื่องของความสัมพันธ์ของคน
ประเด็นที่สอง ความสัมพันธ์ของคน ผมอยากขยายนิดหนึ่งคือว่า เวลาเรามีความสัมพันธ์ของกันและกัน ส่วนหนึ่งมันเกิดจาก ณ วันนั้น เงื่อนไขเวลานั้นอย่างเช่น ถ้าเราไม่มีเงิน เราต้องออกไปร้องขอจากคนอื่นๆ และคนที่เข้ามาก็แล้วแต่จะพิจารณาว่า เรามีท่าทีอย่างไร จะให้ความช่วยเหลือเราหรือไม่ บางทีเราก็จะไปเจอเพื่อนเราบางคน
คำว่า"เพื่อน"แปลว่าอะไรครับ? แปลว่าความสัมพันธ์ของเรา ณ ตอนนั้นก็จะทบทวนถึงเรื่องอดีต ว่าเรามีพฤติกรรมอะไรเอาไว้เวลาที่เราไปเจอ อดีตเป็นสิ่งที่ตกหล่นอีกข้อหนึ่งจากวิชาเศรษฐศาสตร์ คือวิชาเศรษฐศาสตร์เวลาที่เราไปดูกรอบของการวิเคราะห์ จะไม่มีเรื่องอดีตเข้ามา มันจะพูดถึงปัจจุบันกับอนาคตว่าจะทำให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดได้อย่างไร แต่จริงๆอดีตเป็นตัวที่มีผลต่อการตัดสินใจในเชิงเศรษฐกิจอย่างมาก คนที่เขากำลังจะตัดสินใจนั้น ในอดีตเคยมีอะไรไว้ยังไง ไม่ว่าจะช่วยเหลือ เอาเปรียบ แข่งขัน อะไรกันยังไง อดีตก็เป็นสิ่งที่เป็นเงื่อนไข
พูดอย่างวิชาการหน่อยก็คือ "ไม่มิติในเชิงประวัติศาสตร์เลยในทางเศรษฐศาสตร์" อันนี้ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่เราเรียกว่ามายาคติในระดับเนื้อหา
ประเด็นที่สาม สุดท้ายเป็นเรื่องมายาคติในระดับปฏิบัติการ ซึ่งก็คือเวลาที่เราไปวิเคราะห์ เราก็จะพบว่า นักเศรษฐศาสตร์ก็จะพยายามมองทุกอย่างให้ออกมาเป็นตัวเลข จริงตัวเลขนี่ก็ยังไม่น่าเกลียดเท่าไหร่ แต่ว่าที่ลำบากใจหน่อยก็คือ ตัวเลขเหล่านั้นก็คือ"ตัวเงิน"
เพราะว่ามันขาดกรอบความคิด มันเป็นผลมาจากปรัชญา เพราะมันไม่รู้ว่ามีคุณค่าอื่นเข้ามารวมด้วย ดังนั้นทุกอย่างจึงถูกแปลงออกมาเป็นตัวเงิน ซึ่งส่วนนี้ทำให้การวิเคราะห์ต่างๆเกิดการวิเคราะห์ที่มุ่งเน้นแต่เฉพาะเรื่องเดียว ก็คือเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ยิ่งกว่านั้น ลำพังเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียว สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ยังเข้าใจได้น้อยก็คือ เวลาคนเราตัดสินใจอะไรสักอย่างหนึ่ง มันไม่ได้ตัดสินใจในฐานะเดียว ตรงนี้เป็นปัญหาอยู่เหมือนกันเพราะว่า นักเศรษฐศาสตร์จะมองคนนี้กำลังตัดสินใจในฐานะผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ลงทุน ผู้ออม แต่ว่าในทางปฏิบัติของเรา เราตัดสินในทั้งในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและผู้บริโภค
อย่างเช่นชาวนาจะบริหารที่ดินแปลงหนึ่ง เขาก็จะแบ่งเอาไว้แล้วว่า เขาจะบริโภคเท่าไหร่ จะผลิตอย่างไร ตรงไหนจะขาย ตรงไหนจะเก็บเอาไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ในอนาคต มีเรื่องของการให้ จะแบ่งปันกับเพื่อนฝูง ซึ่งจะตัดสินใจไปพร้อมกันในคราวเดียว แต่ว่านักเศรษฐศาสตร์จะวิเคราะห์ได้แต่ละที ซึ่งเราได้ไปสัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์หลายคน หลายคนก็เห็นด้วยว่าจริง
ทั้งหมดนี้ก็คือมายาคติของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีผลอย่างยิ่งใน 3 ระดับด้วยกัน คือถ้าเราไม่แก้เรื่องมายาคติ ผลคิดว่าจะมีผลเกิดขึ้น 3 เรื่อง
มายาคติของนักเศรษฐศาสตร์กับผลกระทบ 3 ระดับ
หนึ่ง เราก็คงจะพัฒนาไปอย่างนี้ แล้วความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของการพัฒนา อย่างเช่นที่จะนะ อย่างเช่นที่จะเกิดขึ้นที่เวียงแหง นักเศรษฐศาสตร์ก็จะตอบอะไรออกมาไม่ได้ นอกจากจะแปลงออกมาเป็นเงิน แล้วบอกว่าอันไหนคุ้มกว่าอันไหน ซึ่งก็คงเข้าใจกันดีครับว่า ประชาชนก็คงไม่รับส่วนนี้ เพราะฉะนั้นแนวคิดในการพัฒนาต่างๆก็ยังคงติดอยู่ในกรอบเดิม ถ้าไม่มีการแก้ไขในเรื่องนี้ขึ้นมา
สอง เมื่อเป็นลักษณะนี้ กระบวนการในการทำงานและความเข้าใจของคนแต่ละคนในสังคม น่าจะยังเข้าใจไขว้เขวคือ อันนี้ผมหมายถึงว่า มองไม่ออกว่ามันต้องคำนึงถึงผลประโยชน์อย่างไรบ้าง ในการที่จะมาตัดสินใจร่วมกันอย่างไรในสังคม เหมือนที่จะนะ คนส่วนหนึ่งยังมีความเข้าใจว่า อ้าว! แล้วผลประโยชน์ของประเทศมันเยอะล่ะ แล้วจะทำอย่างไร? ทำไม่คนที่จะนะจึงไม่ยอมเสียสละ ทั้งที่วิชาเศรษฐศาสตร์จะไม่ได้บอกว่าให้มีการเทียบกันในลักษณะอย่างนั้นว่า มันต้องบรรลุวัตถุประสงค์อย่างนั้นที่สังคมต้องการ ซึ่งมันหลากหลาย แล้วจะแก้กันอย่างไร?
ซึ่งทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่า ต้องไม่มีท่อก๊าสที่จะนะ ถึงจะเป็นไปตามเศรษฐศาสตร์ อันนี้ไม่ใช่ แต่มันหมายถึงว่า แล้วนักเศรษฐศาสตร์จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายสามารถที่จะอยู่ร่วมกันในพื้นที่ที่จะนะ ในเหตุและผลของการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดเท่ากัน ซึ่งเรื่องนี้ถ้าไม่แก้ไข ความเข้าใจของสังคมก็จะเป็นไปในลักษณะของการปะทะกัน
สาม มันจะมีผลทำให้ผู้เรียน เริ่มมีความคิดเป็นไปตามแบบจำลองของนักเศรษฐศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ คือเวลาเราเรียน การให้ก็ไม่มีอยู่ในตำราที่เราเรียน มีแต่จะต้องรับท่าเดียว ความร่วมมือก็ไม่มีอยู่ในตำราเรียนของเรา มีแต่จะต้องแข่งขันกันลูกเดียว และเรื่องของคุณค่าอื่นก็ไม่มีอยู่ อันนี้ถูกห้ามตั้งคำถาม ผมคิดว่าถ้าเราสอนอย่างนี้ไปอีกสัก 10 ปี คนก็คงจะได้รับอิทธิพลซึมซาบเรื่องเหล่านี้ไปเรื่อย แล้วตรงนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาที่มากขึ้น
ทางแก้มายาคติของนักเศรษฐศาสตร์
ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้
ดังนั้นผมจึงมีความเห็นว่าเราจะต้องแก้ไขเรื่องนี้ ซึ่งผมก็มีข้อเสนอเพียงสั้นๆจากทีมนักวิจัย
4 ข้อคือ
ประการแรก เราจะต้องเอาเป้าหมายที่แท้จริงของวิชาเศรษฐศาสตร์กลับมา คือต้องมีการพูดถึงฐานะของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่จะมาตอบปัญหาของสังคม ไม่ใช่ตอบปัญหาความต้องการที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด อันนี้ไม่ใช่. แต่ต้องตอบวัตถุประสงค์ของสังคมซึ่งมันมีอยู่อย่างหลายหลายให้มันได้ ให้เกิดความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคม อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในความคิดเห็นของทีมวิจัยเรา
ประการที่สอง คือว่า ต้องทำความกระจ่างว่ามนุษย์ไม่ใช่ economic man คือนักเศรษฐศาสตร์ไปตีความว่า มนุษย์คือ economic man จะต้องคิดด้วยเหตุและผลทางเศรษฐศาสตร์ แต่เขาเก่ง คือเขาสามารถสอนคนไปเรื่อยๆ แล้วคนเริ่มเป็น economic man ตามที่เขาสอนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จริงๆแล้วมันไม่มีวันที่จะเป็นได้ทั้งหมดหรอก อันที่จริงมนุษย์เป็น social man ในความเห็นของผม
คำว่า social man, social woman ในความเห็นส่วนตัวก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์นี้ดี คำว่า social ไม่ได้หมายความว่าดี เพียงแต่ว่าการตัดสินใจของมนุษย์มันพิจารณาจากเงื่อนไขทางสังคม ซึ่งมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะทำให้คนแต่ละคนอยู่รอดในสังคม
ผมกล้ายืนยันในเรื่องนี้พอสมควรเพราะผมรู้สึกว่า การตัดสินใจในหลายกรณีที่เป็นการตัดสินใจในทางเศรษฐกิจ แต่อาจจะไม่มีเหตุผลในทางเศรษฐกิจ มนุษย์ตัดสินใจด้วยเหตุผลทางสังคม เช่น การบริโภคของบางอย่าง ดูอย่างไรก็ไม่จำเป็นเลย ทำไมมนุษย์ถึงบริโภคล่ะ ก็เพราะบริโภคด้วยเหตุผลที่จะอยู่เหมือนคนอื่นๆในสังคม เช่น มีมือถือในลักษณะนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะด้วยเหตุผลหรือไม่ด้วยเหตุผล มนุษย์มองสังคมเป็นตัวหลักก่อน แล้วมีเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่ง เป็นส่วนสำคัญด้วยซึ่งผมไม่ปฏิเสธอยู่ในเงื่อนไขสังคมนั้น
การที่มนุษย์เป็น social man มนุษย์ก็มองคุณค่าที่สังคมให้การยอมรับ ซึ่งก็มีคุณค่าในหลายด้าน แน่นอน เราก็ยังให้ความสำคัญกับภายนอก แต่ก็มีคุณค่าภายในที่มนุษย์ก็ให้การยอมรับ และนั้นก็มีผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์เช่นกัน รวมถึงการตัดสินใจที่จะให้ในบางเรื่อง ตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน หรือให้ธรรม หรือให้อภัย หรือให้โอกาส อะไรแล้วแต่ มิเช่นนั้นการให้มันก็ต้องหมดไปจากสิ่งที่เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ไปแล้ว ตรงนี้เป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
พระไพศาล วิสาโล ซึ่งทีมวิจัยของเราได้ไปเรียนปรึกษาท่าน ท่านก็บอกว่า ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องชี้ให้เห็นว่า ความจริงระบบเศรษฐกิจของมนุษย์มันมีระบบ 2 ระบบ คือ commodity economy คือการใช้ การซื้อขายแบบเป็นโภคภัณฑ์ กับอีกอันหนึ่งซึ่งเป็นส่วนที่เรียกว่า give economy ก็คือระบบเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องของ"การให้"
สองตัวนี้มาคู่กัน แต่เดิมนั้น give economy ก็ใหญ่ ส่วนตัว commodity economy ก็เล็ก มีการซื้อขายกันบ้าง เกลือ ปลา ก็แลกกันไป แต่ว่าปัจจุบัน commodity economy กลับใหญ่ ส่วน give economy เล็กลง ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่า give economy ต้องใหญ่กว่า แต่ที่มันมีปัญหาก็คือ มายาคติทำให้เห็นว่า give economy มันหลุดออกไปแล้ว
ในงานวิจัยของเรา เคยไปถามนักเศรษฐศาสตร์ เขาบอกว่าอันนั้นเป็นเรื่องของสังคม นักเศรษฐศาสตร์ไม่ควรไปยุ่ง เราควรจะไปยุ่งแต่เรื่องของการซื้อขายเท่านั้น หรือว่าการผลิต นั่นเป็นหน้าที่ของเรา ถ้าจะมีการให้ก็เป็นเรื่องของสังคมไปแล้ว ซึ่งจริงๆมันเป็นพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญว่า ถ้าเรามีมายาคติอย่างนี้ พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของคน ก็จะเป็นไปในลักษณะของการแข่งขันมากขึ้น ที่ลืมเรื่องของการให้
เพราะฉะนั้น ในเรื่องของเศรษฐศาสตร์เชิงคุณค่า เป็นสิ่งที่สำคัญที่เราจะต้องดึงขึ้นมาเพราะว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นมนุษย์เศรษฐกิจ แต่เราเป็นมนุษย์ทางสังคม เมื่อเราเห็นว่ามนุษย์เราเป็นมนุษย์ทางสังคม มีคุณค่า และถูกยึดโยงหรือผูกโยงด้วยความสัมพันธ์ต่างๆ ผมคิดว่าวิชาเศรษฐศาสตร์จะต้องหันมาทำความเข้าใจการศึกษาในความสัมพันธ์กับมิติต่างๆให้ชัดเจนขึ้น ตัวเองจะต้องพัฒนาองค์ความรู้ของตัวเองขึ้นมาในเรื่องความสัมพันธ์ เริ่มต้นจาก"การให้"
ประการที่สาม "การให้"มีฐานะอย่างไรในทางเศรษฐศาสตร์ ผมไม่ทราบว่ามีนักเศรษฐศาสตร์อยู่กี่คน ผมจำเป็นต้องขออนุญาตท้าวความสักนิดหนึ่ง คือวิชาเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีการบริโภค เขาจะมีแกนอยู่ 2 แกน คือการบริโภคสินค้า เขาจะสมมุติเป็นสินค้า X1 กับสินค้า X2 จะทำอย่างไรให้บริโภคสินค้า 2 ตัวนี้แล้วเกิดความพอใจสูงสุด บนทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด เขาก็จะเรียนกันอยู่อย่างนี้ และถ้าเผื่อมีทรัพยากรเพิ่มขึ้น หรือเราหาทางที่บริโภค X1 หรือ X2 เพิ่มขึ้น เราก็จะมีความพึงพอใจมากขึ้น
เราเคยทดลองกับนักศึกษาที่ ม.เกษตร โดยการเปลี่ยนแกนๆหนึ่ง จากการที่เป็นสินค้าตัวหนึ่งกับสินค้าตัวสอง เราเปลี่ยนแกนตัวหนึ่งโดยเป็นการรับสินค้าตัวที่หนึ่ง คือไม่บริโภค กับอีกอันหนึ่งคือการให้ คือเป็นการรับและให้ แล้วเราก็มาพูดคุยกันว่า เรามีทรัพยากรจำกัด และถ้าเราให้มากขึ้น และเรารับน้อยลง จะมีความพอใจเท่าเดิมไหม? และเราจะทำอย่างไรให้มีการให้และการรับสมดุลขึ้น และเพิ่มขึ้น แล้วเราก็ให้ได้มากขึ้น โดยขณะเดียวกันเราก็อาจจะรับเท่าเดิม แล้วเราก็มีความพอใจเพิ่มขึ้นมิใช่หรือ? อันนี้มีการพูดคุยกันในห้อง
ถึงแม้จะเป็นการเริ่มต้นเล็กๆ ก็รู้สึกว่า ก็จริงอยู่ มนุษย์ก็ยังอยากจะให้ ถ้าได้มีการพูด ถ้าได้มีการคุย โดยมีจุดยึดโยงว่าตัวเองจะให้อย่างไรแล้ว และอีกแง่หนึ่งมนุษย์ก็ยังอยากจะรับ อันนั้นก็คือธรรมชาติของมนุษย์ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจ
เรื่อง"การร่วมมือกัน"ก็เช่นกัน "เศรษฐศาสตร์แห่งการร่วมมือกัน"ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งงานวิจัยของเราก็ได้มีการศึกษา เรื่องการแข่งขันนี้มีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องของการขูดรีดนี่ยังไม่ค่อยมีการศึกษามากนักในบ้านเรา ตอนที่เราไปศึกษาเรื่องของความร่วมมือนั้น ได้พบการขูดรีดโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งซ่อนอยู่ได้เหมือนกัน คือถ้าเราไม่พยายามทำความเข้าใจความสัมพันธ์ในลักษณะอย่างนั้น
ตรงนี้เป็นสิ่งที่วิชาเศรษฐศาสตร์จะต้องพยายามจำลอง เพราะตัวเองในฐานะของวิชาก็คือ อธิบายพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ อ.ชัชวาล เป็นนักฟิสิกส์ ก็พยายามอธิบายพฤติกรรมทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เราก็ต้องอธิบายพฤติกรรมทางเศรษฐกิจทุกพฤติกรรมให้ได้ แต่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทำคือ ไม่อธิบายทุกพฤติกรรม แต่อธิบายเพียงบางพฤติกรรม แล้วเก่งกว่านั้นก็คือ สามารถที่จะทำให้คนอื่นๆซึ่งมีพฤติกรรมอย่างอื่น มามีพฤติกรรมเหมือนกับที่ตัวเองต้องการจะให้มีได้มากขึ้นๆเรื่อยๆ
ประการที่สี่ คิดว่าการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ต่อไปจะต้องยึดเอาเงื่อนไขของแต่ละบุคคลเป็นตัวตั้ง พอดีเรามาจากเรื่องเกษตรมากหน่อย เราก็บอกว่าอย่างกรณีเกษตร สิ่งที่ต้องยึดคือเงื่อนไขทาง"นิเวศวัฒนธรรม" คือเวลาเราจะเรียนเรื่องเศรษฐศาสตร์ เราต้องเอาตัวนิเวศวัฒนธรรมมาเป็นเงื่อนไขก่อน ให้รู้ก่อนว่าคนนี้เมื่อจะใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ จะต้องใช้ภายใต้เงื่อนไขอะไร? ซึ่งเงื่อนไข ถ้าเราไปตีความตามนิยามวิชาเศรษฐศาสตร์ ก็คือทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั่นเอง เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งซึ่งมีความสำคัญมาก
ทำไมเราถึงเน้นเรื่อง"นิเวศวัฒนธรรม"? "นิเวศ"ก็คือสิ่งที่ธรรมชาติให้มา "วัฒนธรรม"ก็คือสิ่งที่คนจัดระบบกันขึ้น เพราะฉะนั้น 2 ส่วนนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้เราสามารถใช้วิชาเศรษฐศาสตร์แล้วอยู่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ปัจจุบัน 2 เรื่องนี้ยังไม่มีที่ยืนอยู่เหมือนกันในวิชาเศรษฐศาสตร์
ทั้งหมดนี้ใน 4 ข้อที่ผมกล่าวมาเบื้องต้น มันจะต้องถูกสร้างขึ้นมาเป็น framework หมายถึงกรอบความคิดที่นักเศรษฐศาสตร์จะต้องคิด ก่อนที่จะไปถึงทฤษฎี
เวลาคนจะกิน จะใช้ เขาต้องคิดถึงเรื่องอะไรกันบ้าง เป็นภาพกว้างๆไม่ต้องอธิบายเป็นเชิงทฤษฎี เชิงทฤษฎีจะมีตัวเหตุและตัวผล คือทุกทฤษฎีจะมีเรื่องของเหตุและผล คุณทำอันนี้แล้วจะเกิดอันนี้ อย่าเพิ่งให้นักศึกษาลงไปติดยึดกับทฤษฎีเร็วเกินไป ให้เขาเห็นภาพที่เป็นเงื่อนไขโดยภาพรวมทั้งหมดก่อน ให้รู้และเห็นว่าคนเรานั้นจะมีทางเลือกได้หลายทาง และมีข้อจำกัดการเลือกอยู่หลายข้อ สิ่งเหล่านี้จะต้องสอนโดยเร็วที่สุด
ตอนนี้ที่เราทำอยู่ก็คือ แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์เขาอย่างเดียวว่า มายาคติของนักเศรษฐศาสตร์คืออะไร? เราก็พยายามจะเขียนเอกสารขึ้นมาหนึ่งเล่ม เราจะเขียนเหมือนกับตำราทางเศรษฐศาสตร์สำหรับนักศึกษาชั้นปีหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ตำราทฤษฎี แต่จะโยงให้เห็นทั้งหมดว่า เวลาคนที่เข้ามาจัดการเรื่องเศรษฐกิจ เขาต้องคิดถึงนิเวศอย่างไร คิดถึงวัฒนธรรมอย่างไร แล้วเขามีทางเลือกในการจัดการอย่างไร แล้วเมื่อไหร่เขาจะร่วมมือกัน แล้วเมื่อไหร่เขาจะเอาเปรียบกันอย่างไร และถ้าเขาเอาเปรียบ เขาจะแก้ปัญหาการเอาเปรียบในลักษณะไหนบ้าง นี่ก็จะเป็นการจำลองภาพให้เห็น
รู้สึกที่ผ่านมา ความพยายามของกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มก้าวหน้า หรือเรียกว่ากลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ก็ได้ เริ่มต้นเมื่อตอนที่สายเกินไป คือไปเริ่มเมื่ออยู่ปี 4 หรือว่าระดับปริญญาโทมานั่งคุยกัน อย่างนี้มันดูเหมือนกับว่าได้นิดเดียว แล้วก็คนส่วนอื่นก็ถูกมายาคติในทางเศรษฐศาสตร์ฝังหัวออกไปแล้ว ติดไปแล้ว โอกาสที่เราจะไปช้อน จะไปรื้อฟื้น จะไปพูดคุยก็ค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นเราเลยคิดว่าจะใช้โอกาสไปสอนในระดับปีหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะเป็นการวางพื้นทำให้ผู้เรียนเศรษฐศาสตร์เห็นถึงกรอบของประเด็นต่างๆ ปัจจัยต่างๆที่กว้างขวางขึ้น และหวังว่าเขาคงจะตั้งคำถามได้ ถ้ามีใครมาพูดถึงวิชาเศรษฐศาสตร์ต่อไปจากนั้น ว่ามันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะการรับแล้วความพอใจจะดีขึ้น หรือว่ามันไม่จำเป็นต้องผลิตมากขึ้นแล้วจะได้ผลกำไรมากขึ้น ไม่ต้องพัฒนาไปโดยการมุ่งสู่ความเจริญอย่างเดียว อันนี้เขาจะได้เอาวิชาของเราเป็นภูมิคุ้มกัน ในการที่จะไปรับทราบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่จะมีต่อมาในภายหลัง
ทั้งหมดนี้ก็เป็นความพยายามที่เราจะเพิ่มสติปัญญาของผู้ที่จะต้องรับทราบ
รับฟัง หรือใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ ไม่ให้ต้องหลงติดยึดอยู่กับสิ่งที่ถูกทำให้เชื่อว่ามันเป็นความจริงแต่เพียงด้านเดียว
ขอบคุณครับ
(สนใจช่วงถาม-ตอบ กรุณาคลิกไปอ่านต่อ)
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
ถ้าเราไปดูในตำราเศรษฐศาสตร์ปีหนึ่งส่วนใหญ่ จะพบว่า เศรษฐศาสตร์จะถูกนิยามว่าเป็นวิชาที่ว่าด้วย การจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการที่มีไม่จำกัด อันนี้กลายเป็นว่า เป้าหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ก็คือ เอาความต้องการของมนุษย์เป็นตัวตั้ง
ซึ่งตรงนี้ถ้าเราไปค้นตำราเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่เล่มแรกๆ ปรากฏว่าตำราเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เขียนแบบนี้ แต่เดิมนั้นเขาเขียนว่า เศรษฐศาสตร์ คือการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อตอบสนองทางเลือกหรือวัตถุประสงค์ที่หลากหลายของสังคม ก็หมายความว่า สังคมมันมีทางเลือกไม่จำกัดเหมือนกัน สังคมมีวัตถุประสงค์หลายอย่างหลายทาง คำถามคือ เศรษฐศาสตร์จะไปจัดการอย่างไร?
ในระดับปรัชญาอีกส่วนหนึ่ง
ในวิชาเศรษฐศาสตร์จะพูดเอาไว้ชัดเจนว่า จะเป็นวิชาที่เป็น value free คือ ปราศจากคุณค่า
ไม่ได้เอาคุณค่า หรือค่านิยมใดๆก็ตามมาใช้ในการวิเคราะห์ เพราะฉะนั้นนักเศรษฐศาสตร์ถือจุดนี้เป็นเหมือนกับจุดแข็งหรือจุดขาย
ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดในหมู่วิชาสังคมศาสตร์ เพราะว่าไม่ได้เอาคุณค่าเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจ
นี่คือ"มายาคติ"สุดยอด มายาคติก็คือการซ่อนความจริงเอาไว้ เพราะว่าในทุกทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์มีคุณค่าบอกอยู่อย่างชัดเจนทั้งสิ้น.
ทฤษฎีการบริโภค เศรษฐศาสตร์บอกเอาไว้ว่า ต้องการหาจุดที่เหมาะสมที่สุดเพื่อให้ได้ความพึงพอใจสูงสุด
ความพึงพอใจนั่นก็คือคุณค่าอย่างหนึ่ง (ข้อความตัดมาบางส่วนจากบทความ)