มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 307 หัวเรื่อง
ภาษาและการสร้างความจริงทางสังคม
ต้นฉบับมาจาก Media and Society เขียนโดย Michael O' Shaughnessy
และ Jane Stadler บทที่ 1 ตอนที่ 4 หัวเรื่อง What's in a Name? Language and
the Social Construction of Reality
แปลและเรียบเรียงโดย
สมเกียรติ ตั้งนโม / สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(บทความนี้ยาวประมาณ 18
หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
ภาษาและการสร้างความจริงทางสังคมของสื่อ
แปลและเรียบเรียงโดย : สมเกียรติ ตั้งนโม
บทความนี้แปลและเรียบเรียงมาจากหนังสือ Media and Society
เขียนโดย Michael O' Shaughnessy และ Jane Stadler
บทที่ 1 ตอนที่ 4 หัวเรื่อง What's in a Name? Language and the Social Construction
of Reality
(บทความนี้ยาวประมาณ
18 หน้ากระดาษ A4)
ข้อถกเถียงที่เป็นแกนกลางในบทความต่อไปนี้คือ การเป็นตัวแทนต่างๆของสื่อ คือการสร้างสิ่งต่างๆขึ้นมาโดยมีพื้นฐานอยู่บนภาษา. ในบทความนี้จะมาสำรวจกันถึงธรรมชาติของภาษาและเชื่อมโยงมันกับความคิดต่างๆเกี่ยวกับสังคม และเชื่อมโยงมันกับการสร้างความจริงของสังคมขึ้นมา. เราจะมาตรวจตราถึงบทบาทของภาษาที่แสดงออกในการสร้างความจริงทางสังคม ซึ่งโดยทั่วไป เวลาที่เราพูดเกี่ยวกับเรื่องของ"ภาษา" มันสามารถที่จะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับ"สื่อ"ได้ด้วย
ข้อความต่อไปนี้คือข้อถกเถียงต่างๆที่เป็นไปได้ อย่างสั้นๆ
1. สังคมของมนุษย์ได้จัดระบบและสร้างโลกใบนี้ขึ้นมาในวิธีทางที่มีลักษณะเฉพาะ
2. ในการกระทำเช่นนั้น พวกเขาได้"สร้าง"โลกและสร้าง"ความจริง"ขึ้นมา
3. ความจริงอันนี้มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเรื่องปกติและถูกทำให้เป็นธรรมชาติ ดังนั้น มันจึงได้รับการทึกทักว่า - "นั่นคือชีวิต"- โดยผู้คนในสังคมนั้น
4. เราโน้มเอียงที่จะลืมว่า ความจริงได้รับการสร้างขึ้นมา หรือมันสามารถที่จะได้รับการสร้างให้เป็นระบบในเชิงที่แตกต่างได้
5. พวกเราเรียนรู้เกี่ยวกับโลก แรกสุดโดยผ่านภาษา และภาษานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างอันนี้ และยังเป็นสิ่งสำคัญในการส่งผ่านถ่ายทอดเกี่ยวกับการสร้างอันนี้ไปสู่คนอื่นๆ
โลกสังคมที่เราอาศัยอยู่นั้นคือสิ่งสร้างอันหนึ่งด้วยเช่นกัน คุณสามารถบรรลุถึงความคิดเกี่ยวกับข้อถกเถียงข้างต้นที่มันเป็นจริงได้โดยตัวอย่างในเชิงจินตนาการดังต่อไปนี้
สมมุติว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยพอใจกับวัฒนธรรมและสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ และตัดสินใจที่จะเริ่มต้นชุมชนใหม่ขึ้นมาท่ามกลางทะเลทรายแห่งหนึ่ง. ท่ามกลางทะเลทรายนั้น พวกเขาได้สร้างเวลาและขนบประเพณีที่เป็นระบบของพวกเขาขึ้นมา ในวิถีทางที่แตกต่างดังต่อไปนี้:
พวกเขาตัดสินใจที่จะให้หนึ่งรอบสัปดาห์มี 8 วัน ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นวันทำงาน 5 วันและที่เหลือ 3 วันเป็นวันพักผ่อน. ผู้ชายทั้งหมดในชุมชนนี้จะกินนอนด้วยกันอยู่ในอาคารหลังหนึ่งกับพวกเด็กๆ ในขณะที่พวกผู้หญิงก็กินนอนในอาคารที่แยกต่างหากออกไปอีกหลัง. ทุกๆ 32 วันพวกเขาจะจัดให้มีการเฉลิมฉลอง และพวกเขาจะเต้นรำด้วยกันตลอดทั้งคืน. ผู้หญิงจะเป็นคนออกจากบ้านไปปลูกพืช ในขณะที่ผู้ชายทำงานบ้านและงานครัวทั้งหมด!
อันนี้อาจจะดูเหมือนว่าเป็นจินตนาการที่ไกลห่างจากความเป็นจริง แต่มันดึงความสนใจของเราไปสู่ความเข้าใจในวิถีทางของสังคมอื่น ซึ่งอาจจะสร้างระบบวันเวลาของตัวเองขึ้นมา มีพิธีกรรมต่างๆ และการปฏิบัติงาน หรืออื่นๆของพวกเขาเองแตกต่างไปจากเรา
ใครๆก็ตามที่มีประสบการณ์การเดินทางจากวัฒนธรรมหนึ่งไปยังอีกวัฒนธรรมหนึ่ง จะรู้สึกประหลาดใจขึ้นมาเป็นอันดับแรกที่พบว่า วัฒนธรรมใหม่ได้สร้างระบบต่างๆในลักษณะที่แตกต่างออกไป. บ่อยครั้ง บรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลายยังสังเกตเห็นด้วยว่า การดำเนินชีวิตหรือกิจวัตรใหม่นั้นกลายเป็นสิ่งปกติอย่างไร และเมื่อพวกเขาย้อนกลับมายังวัฒนธรรมดั้งเดิมของเขา กลับพบว่า ตนเองรู้สึกผิดปกติไปจากวัฒนธรรมบ้านเกิดของตนเอง
ให้ลองจินตนาการถึงสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งเด็กๆได้ถือกำเนิดขึ้นมาในชุมชนจินตนาการของเรา. สำหรับพวกเขา โครงสร้างใหม่ๆเหล่านี้จะปรากฎว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นธรรมชาติ และเป็นโครงสร้างต่างๆของโลกในชีวิตประจำวัน
ในช่วงที่เราเป็นเด็ก เรายอมรับธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัวและสังคมของเราในฐานะที่เป็นปกติ และในการกระทำอย่างนั้น เราได้สูญเสียการสังเกตเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า พวกมันได้ถูกสร้างขึ้นมาในทางสังคม อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง การทำให้เป็นธรรมชาติของการสร้างทางสังคม(social construction) บังตาเราไม่ให้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวแทนมนุษย์ในการสร้างความจริงทั้งหลายที่เราอาศัยอยู่ขึ้นมา
ตลอดเวลา เราจะเพียรถามคุณให้ตระหนักและระมัดระวังหรือเฝ้าดูทุกครั้งที่ศัพท์คำว่า"เป็นธรรมชาติ"หรือ"เป็นปกติ"ได้ถูกนำมาใช้. คำเหล่านี้บ่อยครั้งได้ถูกนำมาใช้ในรูปที่ทำให้เป็นธรรมชาติของพฤติกรรม หรือการทำให้เป็นองค์ระบบทางสังคม เพื่อว่าเราจะได้ไม่ตั้งคำถามพวกมัน แต่มันไม่มีสิ่งที่เป็นธรรมชาติเกี่ยวกับวิธีการที่สังคมต่างๆของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเป็นระบบในทุกวันนี้
การกระทำและพฤติกรรมของเราทั้งหมด ได้รับการสร้างขึ้นมาในสถานการณ์ต่างๆ และโดยสถาบันต่างๆทางสังคม ซึ่งเป็นผลิตผลของวัฒนธรรมมนุษย์ ไม่ใช่ธรรมชาติ. อันนี้ไม่ได้กล่าวว่าพวกมันไม่ได้ค่อยๆวิวัฒน์ขึ้นมาในความสัมพันธ์กับเงื่อนไขบรรยากาศ หรือสภาพการณ์ทางภูมิศาสตร์ต่างๆ และไม่ได้พูดว่า มันมีบางสิ่งบางอย่างผิดไปกับการปฏิบัติต่างๆเหล่านี้ แต่พวกมันไม่เป็นธรรมชาติในความหมายของแบบแผนพฤติกรรมที่เป็นอยู่ ซึ่งเกิดขึ้นมาโดยความจำเป็นและโดยสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากลักษณะทางสรีรวิทยาของมนุษย์ (อย่างเช่น การขานรับหรือโต้ตอบกับอันตราย หรือความต้องการอาหาร)
ถ้าเผื่อว่าคุณเดินทางไปยังวัฒนธรรมอื่น คุณจะมีประสบการณ์ความเข้าใจที่แท้จริงว่า สังคมสามารถถูกจัดระบบในเชิงที่แตกต่างได้ และวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งแปลกประหลาด ไม่คุ้นเคยสำหรับคุณ และสังคมของคุณเองก็ได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์เช่นกัน
ภาษาและการเมืองเกี่ยวกับการตั้งชื่อ
(Language and the politics of naming)
ภาษาเป็นเครื่องมือขั้นปฐมของการสื่อสาร เป็นสื่อกลางที่ใช้เพื่อความเข้าใจ การตีความ
และการสร้างความจริง
มันมีความจำเป็น สำหรับในขณะนี้ที่จะพิจารณาถึงธรรมชาติของภาษาและความสัมพันธ์ของมันที่มีต่อโลก. มีทฤษฎีอยู่ 2 ทฤษฎีสำหรับความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ และความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและโลก
1. ภาษาคือการสะท้อนหรือการล้อเลียน (Reflective or mimetic)
2. ภาษาคือการสร้าง (Constructionist)
1. ภาษาคือการสะท้อนหรือการล้อเลียน
(Reflective or mimetic)
อันนี้เสนอว่า ภาษาทำหน้าที่อธิบายโลกอย่างง่ายๆ นั่นคือวิธีการอันหนึ่งที่ใช้ในการกล่าวถึงและอธิบายสิ่งที่มีอยู่แล้ว.
ตามทฤษฎีนี้ มนุษย์ทั้งมวล มองโลกนี้ในวิธีการเดียวกัน มีส่วนร่วมปันในแนวความคิดพื้นฐานอย่างเดียวกัน
และภาษาเป็นพาหนะอันหนึ่งง่ายๆสำหรับการแสดงออกเกี่ยวกับแนวความคิดเหล่านี้ และโลกที่ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระของมัน
2. ภาษาคือการสร้าง (Constructionist)
ทฤษฎีนี้เสนอว่า ภาษาไม่ได้อธิบายโลกที่มีอยู่ก่อนแล้ว. อันที่จริงมันได้สร้างโลกนี้ขึ้นมามากกว่า
โดยผ่านการตั้งชื่อ และสร้างแนวคิดขึ้นมาผ่านสิ่งซึ่งเราเข้าใจชีวิตและโลก ด้วยเหตุนี้
ภาษาที่ต่างกันจึงแสดงหรือเป็นตัวแทนโลกในหนทางที่แตกต่าง และคนที่พูดภาษาใดภาษาหนึ่งก็จะเข้าใจและมีประสบการณ์เกี่ยวกับโลกในวิถีทางที่เฉพาะพิเศษสำหรับภาษานั้น
และในลักษณะที่ต่างออกไปจากวิถีทางของคนที่พูดจาในอีกภาษาหนึ่ง
อันนี้มิได้ปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับโลกวัตถุ หรือสิ่งที่มันมีอยู่ก่อนภาษา แต่ต้องการจะกล่าวว่า มันเป็นเพียงความเข้าใจความหมายหรือความเข้าใจเมื่อมันได้ถูกกล่าวถึง หรือสร้างโดยผ่านเรื่องของภาษา. ความรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับความจริงถูกสื่อโดยภาษา ประสบการณ์ของเราเกี่ยวกับโลกได้รับการพัฒนาขึ้นมาให้มีรูปลักษณ์เด่นชัดขึ้น เมื่อนำเสนอผ่านภาษา
ปกรณัมโบราณของคริสเตียนได้แสดงภาพเกี่ยวกับพลังอำนาจของภาษา(ของคำ) ในฐานะที่เป็นเครื่องมืออันหนึ่งของการให้ชีวิตและให้โครงสร้างแก่โลกขึ้นมา: "ณ การเริ่มต้น เป็นเรื่องของคำ และคำนั้นคือพระผู้เป็นเจ้า". หนึ่งในภารกิจต่างๆของอาดัมเป็นอันดับแรกก็คือการตั้งชื่อสัตว์ทั้งมวลและพันธุ์พืชต่างๆ ถัดจากนั้นก็ทำให้พวกมันมีแก่นสารขึ้นมา หรือสั่งให้มันดำรงอยู่
ไบเบิลได้บอกกับเราว่าภาษาทำให้สิ่งต่างๆมีขึ้นมา. แต่มันไม่ใช่มีเพียงแค่ภาษาเดียว ไม่ใช่หนทางเดียวเกี่ยวกับการการอธิบายโลก
ใครก็ตามที่ได้เรียนรู้ภาษาที่สองต่างทราบว่า ภาษาสองภาษานั้นไม่ได้ลงรอยสอดรับกันเสียทีเดียว ในลักษณะคำต่อคำ. ภาษาที่แตกต่างมีวิธีการที่ผิดแผกกันในการอธิบายหรือเรียกขานโลก ยกตัวอย่างเช่น ภาษาของชาว Inuit (ชนพื้นเมืองของแคนาดาที่อยู่ทางตอนเหนือในส่วนต่างๆของเกาะกรีนแลนด์และอล้าสก้า)มีคำมากกว่า 27 คำ ในการอรรถาธิบายรูปลักษณ์ของหิมะ, ในขณะที่ภาษาอังกฤษนั้นมีคำเรียกเกี่ยวกับหิมะอยู่เพียงสองสามคำเท่านั้น(Hall 1997, pp. 21-44) จะเห็นได้ว่า ความจริงสามารถถูกเรียกขานได้โดยภาษาในหนทางที่แตกต่างกัน
"สี"เป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง แม้ว่าสเปคตรัมของสีจะมีลักษณะอนุกรมต่อเนื่อง ซึ่งมันมีความผันแปรสุดคณานับของสี แต่โดยผ่านภาษา เราเรียกมันและสร้างมันขึ้นมาในหนทางที่มีลักษณะเฉพาะอันหนึ่ง เราทำให้สเปคตรัมของสีเป็นเรื่องง่ายๆซึ่งมีอยู่เพียงแค่ 7 สีเท่านั้น. อันนี้ทำให้เราสามารถที่จะจัดการมันได้และสามารถอธิบายมันได้ ถึงแม้ว่าเราอาจพบว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะชี้ชัดลงไปถึงที่ทางที่แน่นอน ซึ่งสีแดงกลายเป็นสีส้ม และสีส้มกลายเป็นสีเหลืองก็ตาม
ระบบสี 7 สีที่เราใช้เป็นเพียงความเป็นไปได้อันหนึ่งเท่านั้น เราสามารถแตกสเปคตรัมเป็น 6 สีก็ได้ โดยการรวมเอาสีคราม(indigo)และสีม่วง(violet)เข้าเป็นสีม่วงแดง(purple), หรือแยกมันให้เป็น 9 สีก็ได้เช่นกัน โดยการเพิ่มสีฟ้า turquoise [หรือเขียวหัวเป็ด(teal)], สีเขียวน้ำเงินอ่อน(aqua) หรือสีเหลืองโอ๊ค(ochre) เข้ามา และถ้าเผื่อว่าภาษาของเรากระทำดังนี้ เราก็จะเริ่มมองเห็นสเปคตรัมในลักษณะที่ต่างออกไป. ด้วยเหตุนี้ คำต่างๆของเราจึงสร้างโลกขึ้นมาในหนทางที่มีลักษณะจำเพาะ เพื่อที่จะเข้าใจมัน
หากว่าวิธีการที่ภาษาทำหน้าที่สะท้อนหรือล้อเลียน(reflective/mimetic)ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นคือสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเช่นนั้น มันก็น่าจะมีภาษาสากลเพียงภาษาเดียวที่อธิบายโลกได้อย่างสมบูรณ์ หรือภาษาที่แตกต่างก็น่าจะสอดคล้องรองรับกันอย่างพอดิบพอดี ดังนั้น มันก็น่าจะมีคำต่างๆที่เท่าเทียมกันจริงๆในทุกๆภาษา แต่อันนี้ไม่ใช่ประเด็น
ไม่เพียงภาษาที่แตกต่างที่นำพาความหมายที่แตกต่างไปเล็กน้อยเท่านั้น แต่มันยังมีความแตกต่างในสิ่งอื่นๆอีก เช่น วิธีการที่"กาล"ในไวยากรณ์ต่างๆ(tenses)ถูกนำมาใช้ และการใช้คำกริยาหรือคำนามเพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ. ภาษาที่ต่างกันได้สร้างโลกในหนทางที่ต่างไปเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น ภาษาเยอรมันเป็นภาษาหนึ่งที่ถูกทำให้มีเพศ ด้วยคำที่แตกต่างกัน 3 คำสำหรับ"the" (das คือรูปของเพศชายของ the, ใช้กับวลีอย่างเช่น das Jungen - the boy - ในขณะที่ die เป็นรูปของเพศหญิง และ der คือคำที่มีลักษณะเป็นกลางๆของคำว่า the เป็นต้น)
มีเกร็ดประวัติเล็กๆน้อยๆอันหนึ่งเกี่ยวกับบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องการที่จะติดภาพโฆษณาสำหรับการขายใบมีดโกนให้กับผู้หญิงเพื่อที่จะใช้สำหรับโกนขนรักแร้. บริษัทดังกล่าวได้ใช้บริษัทตัวแทนโฆษณาอเมริกัน. ตัวแทนโฆษณาได้ประดิษฐ์การ์ตูนโฆษณาขึ้นมา ซึ่งนำเสนอภาพของปลาหมึกยักษ์(octopus)กำลังโกนขนรักแร้ของมัน 8 แขน. เมื่อการโฆษณาชุดนี้พร้อม บริษัทอเมริกันนั้นได้นำเสนอมันให้กับสต๊าฟของบริษัทญี่ปุ่นดู ปรากฏว่าสต๊าฟเหล่านี้ถึงกับตกตะลึงและช็อคเอาเลยทีเดียว พวกเขาปฏิเสธที่จะยอมรับงานโฆษณาชิ้นนั้น. ปัญหาคือว่าในภาษาญี่ปุ่น ปลาหมึกยักษ์ไม่ได้มีแปดแขน แต่มันมีแปดขา
เรื่องที่เล่ามาข้างต้นได้แสดงให้เห็นถึงไอเดียหรือความคิดที่ว่า ภาษาอะไรก็ตามที่เราเกิดมาในภาษานั้น จะสร้างวิธีการที่เรามองโลกและเข้าใจโลก. อันนี้คือพื้นฐานของสมมุติฐานของ Sapir-Whort: "ณ แก่นแกนหัวใจสมมุติฐานของ Sapir-Whort อ้างว่า คำต่างๆที่เราพูดและโครงสร้างไวยากรณ์ที่เราใช้ ตามความจริงแล้ว มันมีอิทธิพลหรือมากำหนดวิธีการที่เราคิด ในแง่คิดนี้ ภาษาไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมืออันหนึ่งเกี่ยวกับการสื่อสารไอเดียหรือความคิดเท่านั้น อันที่จริง มันช่วยสร้างรูปไอเดียหรือความคิดขึ้นมาด้วย"(Open University 1981, p.72)
ทัศนะของเราเกี่ยวกับโลกได้คลายตัวออกมาโดยความสามารถของภาษาของเราที่คลี่มันออก. เราอาจกล่าวว่า เราไม่ได้พูดภาษา แต่ภาษาพูดเรา(we don't speak language, language speak us.) อันที่จริง นี่คือหนึ่งในหลักการหรือทฤษฎีต่างๆของผลงานของ Sapir และ Whorf และเกี่ยวกับภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง. มันเสนอว่า ภาษาได้สร้างเอกลักษณ์ของเราขึ้นมา ซึ่งเราคือฟันเฟืองซี่เล็กๆอันหนึ่งเท่านั้นในเครื่องจักรของภาษา.
สมมุติฐานนี้ได้รับการตีความในสองลักษณะ คือ
1. ภาษาของเราได้กำหนดความคิดของเรา; หรือ
2. ภาษาของเราเป็นเพียงอิทธิพลความคิดของเรา
การตีความในลักษณะที่สอง ได้ให้อิสระกับเราในระดับหนึ่ง
สำหรับบทความชิ้นนี้ค่อนข้างยอมรับฐานคิดที่ว่า ภาษาคือการสร้าง(constructionist) ซึ่งเป็นฐานคิดที่ตรงข้ามกับภาษาคือการเลียนแบบ(mimetic) และให้เหตุผลว่า ภาษาสามารถทำให้เราคิดและเข้าใจได้. มันได้ให้รูปร่างการรับรู้และความรู้สึกของเราโดยปิดป้ายฉลากพวกมัน. มันเป็นระบบหนึ่งของการเป็นตัวแทนและการแสดงออก. กระบวนการทั้งหมดเกี่ยวกับภาษาคือการตั้งชื่อหรือกระบวนการของการการปิดป้าย ซึ่งนำพาไปสู่ความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับเรื่องทางสังคมและการเมือง
ให้ลองจินตนาการถึงคนสองคนที่มีความผูกพันกันในกิจกรรมทางเพศ คุณสามารถจะอธิบายหรือกล่าวถึงสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ได้อย่างไรบ้าง?
- พวกเขากำลังทำรัก(making love)
- พวกเขาไปนอนร่วมกัน(gone to bed together)
- พวกเขากำลังเกี่ยวพันกันทางเพศ(sexual intercourse)
- พวกเขากำลังสังวาสกัน(fucking)
ทั้งหมดนี้อธิบายถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แต่ละประโยคได้นำพาความคิดหรือความรู้สึกบางอย่างที่คำได้มาปลุกเร้าความหมายขั้นปฐมของมัน มันนำเสนอความหมาย ความสัมพันธ์ และความรู้สึกต่างๆ; พวกมันได้สร้างคำอธิบายที่ต่างออกไป
คำอธิบายชุดแรกเน้นความรู้สึกที่โรแมนติค, ขณะที่คำอธิบายชุดที่สองมีลักษณะที่สละสลวย ยินยอมให้เราจินตนาการถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริง, ส่วนคำอธิบายชุดที่สามค่อนข้างฟังดูเป็นทัศนะหรือแง่มุมทางการแพทย์และคลินิค ขณะที่คำอธิบายชุดสุดท้ายมีลักษณะน่ารังเกียจ ซึ่ง ออกจะเป็นความรู้สึกที่เสียหายที่สัมพันธ์กับภาษาแสลง ไม่มีคำอธิบายใดที่ผิดพลาด
ทั้งหมดนี้เชื้อเชิญเราให้มองและทำความเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในหนทางที่แตกต่าง ยิ่งไปกว่านั้น มันไม่มีช่องทางเกี่ยวกับการอธิบายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่ไม่ได้นำพาทัศนะที่มีลักษณะเฉพาะอันหนึ่งเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ. ภาษาจึงไม่ใช่อะไรที่เป็นกลาง นิ่งๆ หรือสถิต. มันเป็นเรื่องของอารมณ์ ความอำเภอใจ(arbitrary-ไร้เหตุผล) แบกคุณค่าบางอย่างไว้ บรรจุความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่างๆ และมีลักษณะเป็นพลวัตร
ในการพิจารณาถึงนัยสำคัญเกี่ยวกับภาษา
เราได้เสนอแนะแนวทางต่างๆดังต่อไปนี้
1. ภาษาไม่ได้เป็นกลาง(Language
is not neutral)
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะพูดถึงโลกดังที่มันเป็น แต่จะง่ายกว่า หากว่าเป็นการสร้างทัศนะหนึ่งขึ้นมาเกี่ยวกับโลก.
คุณอาจจะคิดเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า การพูดถึงหรือการเขียนถึงภาษาเป็นสิ่งที่สลับซับซ้อนเรื่องหนึ่ง
เพราะคุณจำเป็นต้องใช้ภาษาเพื่อพูดถึงมัน! ดังที่เราเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เราตระหนักดีถึงวิธีการที่แตกต่างกันซึ่งเราสามารถแสดงถึงสิ่งต่างๆ
และความหมายที่แตกต่างที่จะเป็นผลตามมาได้
เรายังตระหนักต่อไปด้วยว่า คุณในฐานะผู้อ่าน อาจต้องการที่จะโต้เถียงกับบางสิ่งบางอย่างที่เราเขียน ด้วยเหตุนี้ เราจึงประสงค์ที่จะเสริมหรือแสดงในสิ่งที่เราหมายถึง เมื่อเรากล่าวว่า ภาษาไม่ใช่อะไรที่เป็นกลางๆ. เราไม่ได้หมายความว่า มันไม่มีอะไรเป็นกลางๆสำหรับมนุษย์ที่จะพูด. อันที่จริง มันดูเหมือนว่า หนึ่งในการนิยามคุณสมบัติต่างๆเกี่ยวกับสิ่งที่มันหมายถึงคือ มนุษย์จะมีเรื่องความสามารถของภาษาที่มีอยู่เดิม. เด็กๆมีความชอบหรือโน้มเอียงอันหนึ่งภายในที่จะเรียนรู้ภาษา แต่มันไม่มีอะไรปกติ เที่ยงธรรม ถูกต้อง หรือมีวิธีการพูดที่ตรงไปตรงมาที่มาอธิบายโลก
นักทฤษฎีบางคนอรรถาธิบายคุณลักษณะของภาษาโดยการกล่าวว่า ภาษาทุกๆภาษาเป็นสิ่งที่เป็นไปตามอารมณ์หรือความอำเภอใจ ไร้หลักการ(arbitrary) หมายความว่า มันไม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่จำเป็นใดๆระหว่าง ในด้านหนึ่ง "เสียง"และ"สัญลักษณ์ทั้งหลาย"ที่ได้สร้างภาษาต่างๆขึ้นมา และอีกด้านหนึ่ง ที่ได้สร้างตัวมันเอง ยกตัวอย่างเช่น
สัญลักษณ์และเสียงต่างๆของคำว่า "t-h-o-n-g" มันไม่มีอะไรที่สัมพันธ์กันอย่างแท้จริงกับเครื่องหุ้มห่อเท้า(footwear - รองเท้า)ที่ใส่ในฤดูร้อนเลย เว้นแต่โดยจารีต(convention). "Thong" ไม่เหมือนกับบางสิ่งบางอย่างที่ไปด้วยกันกับเท้า; มันไม่ใช่สำเนียงที่คล้ายๆเสียงสายหนังดังขึ้นมาจากส้นเท้าในขณะที่คุณเดิน; และตัวอักษร t-h-o-n-g ไม่มีกลิ่นแน่ๆ ไม่มีรส หรือรู้สึกว่ามันเหมือนกับวัตถุอื่นๆ ซึ่งพวกมันได้ถูกทำให้สัมพันธ์กันอย่างไร้เหตุผล(arbitrarily associated)
ตามข้อเท็จจริง วัฒนธรรมที่แตกต่างกันจะใช้ตัวอักษรที่แตกต่างกันทั้งหมด เสียงก็ผิดแผก และคำที่ใช้เป็นตัวแทนรูปลักษณ์ต่างๆของเครื่องสวมใส่เท้า(ตัวอย่างเช่น sandalo ในภาษาอิตาเลี่ยน). ในออสเตรเลีย the thong มีที่ทางของมันเป็นพิเศษ ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักกันเกี่ยวกับสไตล์การใช้ชีวิตในยามพักผ่อน หรือชีวิตที่อยู่กลางแจ้ง-นอกบ้าน เพิ่มเติมไปกว่านั้น มันเป็นรูปลักษณ์เฉพาะในพิธีเปิดงานโอลิมปิคเกมส์ปี 2000 ที่ซิดนีย์
แต่ในบางวัฒนธรรม ผู้คนของวัฒนธรรมนั้นไม่ได้สวมใส่ thong ดังกล่าว จะไม่มีคำเพื่อใช้อธิบายมันเลย. มีภาษาอยู่มากมายที่อธิบายโลกด้วยความผันผวนและความโน้มเอียงหรืออคติต่างๆที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง. ไอเดียเกี่ยวกับความโน้มเอียงหรืออคติต่างๆได้น้อมนำไปสู่ประเด็นต่อไป
2. ภาษาไม่ได้เป็นกลางๆ
(Language is not neutral)
ภาษามักจะนำพาความสัมพันธ์ ความหมาย หรือคุณค่าบางอย่างไปด้วยกันกับมันเสมอ.
เราเห็นตัวอย่างอันนี้มาแล้วเกี่ยวกับเรื่องการทำรัก(making love). แม้แต่คำที่ธรรมดาอย่างเช่นคำว่า"up",
"down", "top", "bottom", "left" และ "right"(ขึ้น - ลง, บน - ล่าง, ซ้าย และขวา)
มันก็ยังนำพาความสัมพันธ์บางอย่างที่มีนัยสำคัญไปด้วย
พวกมันอาจทำหน้าที่ง่ายๆเพียงอธิบายถึงตำแหน่งต่างๆบนพื้นที่ว่างเท่านั้น. แต่คำว่า"up"(ขึ้น) กับคำว่า"top"(บน) และ"right"(ขวา) ยังนำพาความหมายในเชิงบวกที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมอันหนึ่งมาด้วย ซึ่งได้ให้คุณค่า"right"(ขวา)อยู่เหนือ"left"(ซ้าย) และได้ถูกกำหนดอยู่บนเรื่องของการเปรียบเทียบ การตัดสิน ที่เปรียบเทียบเรากับคนอื่นๆ และแบ่งลำดับชั้นตัวเราในเทอมต่างๆของการจัดลำดับชั้นสูงต่ำ(hierarchical terms) อย่างเช่นคำว่า"up"(ขึ้น) และ"top"(บน) ถูกมองในเชิงบวก แต่คำว่า"down"(ลง) "bottom"(ล่าง)ถูกรับรู้ในเชิงลบ เป็นต้น แม้แต่ชื่อเรียกส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เช่น "bottom"(ล่าง)ก็นำพาความหมายต่างๆในเชิงลบในวิถีที่วัฒนธรรมตะวันตกมองมัน
ในปกรณัมโบราณของคริสเตียน มือซ้ายได้ถูกพิจารณาว่าเป็นมือข้างที่ปองร้าย(sinister) เนื่องมาจากกำเนิดที่มาจากภาษาลาตินของคำว่า sinister (ปองร้าย มุ่งร้าย) หมายถึง"ซ้าย"หรือ"ซ้ายมือ", และเป็นเพราะความชั่วร้ายหรือปีศาจ(devil)ถูกทึกทักว่าเป็นมือซ้าย. ส่วนมือขวาถูกถือว่าเป็นมือที่เหนือกว่า ถนัดและชำนาญกว่า(dexterous hand)(คำนี้มาจากภาษาลาตินว่า dextral - ขวา). ด้วยเหตุนี้ คำต่างๆที่ยกมาข้างต้นจึงไม่ใช่อะไรที่ไร้เดียงสาหรือเป็นกลางแต่อย่างใด
และเมื่อมาถึงการตั้งชื่อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองมากขึ้น มันจึงง่ายมากที่จะเห็นว่า ศัพท์ต่างๆอย่างเช่นคำว่า "terrorist"(ผู้ก่อการร้าย) "guerilla"(สมาชิกกองโจร) "freedom"(อิสรภาพ) "fighter"(นักรบ) ได้ถูกนำมาใช้โดยกลุ่มการเมืองที่แตกต่างกัน เพื่ออ้างถึงคนแบบเดียวกัน(แต่เรียกกันคนละชื่อ)
ในทำนองเดียวกัน ศัพท์คำว่า"boat
people"(คนเรือ[ที่อพยพ]), "refugees"(ผู้ลี้ภัย), "asylum seeker"(ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย),
"queue jumpers"(พวกลัดคิว), "illegal immigrants"(ผู้อพยพที่ผิดกฎหมาย) ก็ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายถึงผู้คนจากเอเชียที่เข้ามาในออสเตรเลียในช่วงปี
2001 และภาพของคำอธิบายแต่ละอย่างนี้ อ้างอิงถึงวาทกรรมที่แตกต่างสำหรับทำความเข้าใจว่าคนเหล่านี้คือใคร
และเราคือใคร, สาธารณชนออสเตรเลียน ควรจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับพวกเขา
(หมายเหตุ : ให้สังเกตว่า ทำไม"คนเรือ"(boat people)เหล่านี้จึงไม่ถูกเรียกด้วยรูปศัพท์ธรรมดา
ซึ่งใช้อธิบายเกี่ยวกับการมาถึงออสเตรเลียของกัปตันคุกและลูกเรือของเขา แม้ว่ามันสามารถที่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็ตาม)
ผลที่ตามมาในทันทีเกี่ยวกับการที่ผู้ก่อการร้ายโจมตีในวันที่ 11 กันยายน 2001 หนังสือพิมพ์ของโลกตะวันตกและบรรดานักการเมืองบางคน ได้นำเสนอเหตุการณ์ดังกล่าวในรูปต่างๆของภาษาด้วยคำที่เป็นคู่ตรงข้ามระหว่าง"ความดี"กับ"ความชั่ว"
ให้หมายเหตุข้อสังเกตเกี่ยวกับคำ ดังต่อไปนี้
- ดึงเอามาจากทางศาสนา / วาทกรรมทางศีลธรรม
- สร้างเหตุการณ์ต่างๆขึ้นมาให้เป็นจริง ในเทอมเดียวกันกับภาพยนตร์ผจญภัยของฮอล์ลีวูด อย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Star Wars
- มีแนวโน้มปฏิเสธความเป็นไปได้เกี่ยวกับการถกเถียง หรือการตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมาย และสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการกระทำต่างๆโดยการบ่งหรือบอกใบ้ถึงประเด็นในเรื่องความดี-ความชั่ว, ดำ-ขาว, ด้วยคำศัพท์ต่างๆเหล่านี้ มันจึงเป็นการส่งสารว่า ความถูกต้อง การกระทำที่มีเหตุผลในเชิงตรรก ด้วยเหตุผลบางประการ จึงมีสิทธิ์ที่จะลงโทษ กำจัดและทำลาย หรือขับไล่สิ่งซึ่งเป็นความชั่วออกไป
ในที่นี้จะไม่มาถกเถียงกันถึงเรื่องของความผิดถูกทางการเมืองเกี่ยวกับป้ายฉลากที่แตกต่างกันพวกนี้ และไม่พูดว่า คนๆเดียวกันสามารถได้รับการตั้งชื่อในวิถีทางที่ผิดแผกไปเลยด้วยความหมายที่แตกต่างกันแบบสุดกู่ และชื่อเหล่านั้นทั้งหมดมันนำพาฐานคิดทางการเมืองไปพร้อมกับมันด้วย
"วาทกรรม"(discourse-อำนาจคำอธิบาย)ศัพท์สำคัญในเชิงวิพากษ์นี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะช่วยให้เข้าใจว่า ภาษามันทำงานอย่างไร. John Fiske ได้ให้เหตุผลว่า "วาทกรรม-อำนาจคำอธิบาย"(discourse)ได้ให้วิธีการคิดเกี่ยวกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยเฉพาะ ที่อยู่ในบริบทที่เฉพาะ. เขาได้ให้ภาพดังต่อไปนี้:
คุณยังจำได้ไหมเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนถนนของลอสแองเจลิส หลังจากคำตัดสินกรณี Rodney King? นั่นเราเรียกมันว่าเป็นการจลาจล หรือการต่อต้าน หรือการกบฎ อย่างไรกันแน่?
ถ้าหากว่าเราเรียกมันว่าการจลาจล นั่นจะผลักดันไปสู่กรอบปฏิบัติการทางวาทกรรม ซึ่งเสนอแนะว่ามันเป็นอาชญากรรม มันเป็นความไร้ระเบียบทางสังคม. แต่ถ้าเราเรียกมันว่าเป็นการต่อต้าน มันก็จะนำเสนอปฏิบัติการทางวาทกรรมอีกชุดหนึ่ง อำนาจคำอธิบายอีกคำหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมา มันมีองค์ระบบบางอย่างที่สวนกับบางสิ่งบางอย่าง และมันไม่ใช่เพียงแค่ความไร้ระเบียบ
ดังนั้นคำว่า"จลาจล" และคำว่า"การต่อต้าน"จึงมาจากวาทกรรมที่แตกต่างกัน มันเป็นวิธีการต่างๆเกี่ยวกับการพูดถึงหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ดังนั้น วาทกรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่มีเหตุการณ์ทางสังคม ที่ห้ามไม่ให้เราใช้วาทกรรมเพื่อมาอธิบายมัน มันเป็นทางเลือกของเราในฐานะผู้ใช้ภาษา. และวิธีการที่เราสร้างทางเลือก ซึ่งวาทกรรมถูกนำมาใช้กับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการทำความเข้าใจ (ABC Radio National, Media Report, 7 December 2000)
ลองพิจารณาวิธีการ 3 วิธีเหล่านี้เกี่ยวกับการอธิบายพื้นที่ต่างๆซึ่งประกอบด้วย แอฟริกา, อเมริกาใต้, และส่วนใหญ่ของเอเชีย: เราจะได้ยินคำเรียกพื้นที่เหล่านี้ว่า"โลกที่สาม"(Third World), "โลกด้อยพัฒนา"(underdeveloped world), และ"โลกส่วนใหญ่"(majority world). มันมีความแตกต่างที่สำคัญอันหนึ่งระหว่างสองคำแรกกับคำหลังสุด. สำหรับสองคำแรก เป็นการมองด้วยสายตาที่เป็นไปในเชิงลบ: ถ้าหากว่ามันเป็นอันดับที่สาม แสดงว่ามันมาหลังจากโลกอันดับที่หนึ่งและที่สอง - มันเป็นภาษาเกี่ยวกับการจัดลำดับชั้นสูงต่ำ และภาษาเกี่ยวกับการแข่งขัน, ซึ่งได้สร้างความคิดตะวันตกจำนวนมากขึ้นมา และมันยังทำให้คนอื่นมาอยู่ข้างล่าง และมีลักษณะเป็นผู้แพ้
ในทำนองเดียวกัน การถูกทำให้ด้อยพัฒนาเป็นอะไรที่มันน้อยกว่า, หรือเป็นไปในเชิงลบเกี่ยวกับการพัฒนา. ดังนั้นในบริบทนี้ "ด้อยพัฒนา"จึงเป็นศัพท์ที่มีลักษณะเชิงลบซึ่งบ่งชี้ว่า พื้นที่ต่างๆเหล่านั้นล้มเหลวที่จะไปพานพบกับศักยภาพที่บริบูรณ์เต็มที่ของพวกมัน หรือไปสู่ภาวะสุกงอมหรือการพัฒนา
ประเด็นคือว่า ในขณะที่ศัพท์คำว่า"โลกที่สาม"และ"โลกด้อยพัฒนา"เป็นประโยชน์ในบางหนทางในการชี้ชัดถึงการแบ่งแยกโดยสวนทางกับโลกอื่นๆ มันยังมีลักษณะเป็นไปในเชิงลบและได้ให้ทัศนะอันหนึ่งจากมุมมองหรือทัศนียภาพของโลกของคนจำนวนน้อยด้วย. จริงๆแล้ว มันไม่ได้ท้าทายโครงสร้างต่างๆของอำนาจที่เกี่ยวพันอยู่แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การเรียกขานพื้นที่เหล่านี้ในฐานะที่เป็นโลกของคนส่วนใหญ่(majority world)เป็นการให้คุณค่าในเชิงบวกกับมัน เพราะในความคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตก คนส่วนใหญ่ได้เป็นผู้นำพาความถูกต้องและพลังอำนาจเอาไว้. การเรียกชื่อพื้นที่เหล่านี้ว่าโลกของคนส่วนใหญ่ได้วางประชาชาติที่ได้รับการเรียกขานว่าประเทศที่พัฒนาแล้วในตำแหน่งของคนส่วนน้อย. ทันใดนั้น เราได้เห็นภาพของความอยุติธรรมของโลกขึ้นมา ซึ่งได้รับการใส่ล้อฟันเฟืองให้มุ่งไปสู่ความพึงพอใจในเชิงวัตถุของคนส่วนน้อย
สำหรับข้าพเจ้าแล้ว เมื่อแรกที่ได้ยินศัพท์คำว่า"โลกส่วนใหญ่"ซึ่งถูกนำมาใช้ มันทำให้ข้าพเจ้ามองสิ่งทั้งหลายในเชิงที่แตกต่างไปเลยทีเดียว
3. ภาษาคือการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของอำนาจและการต่อสู้
(Language is a changing site of power and struggle)
ความหมายต่างๆของภาษาและความสัมพันธ์ของภาษา สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา.
เราต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ ดังนั้น ในการวิเคราะห์เรื่องภาษา เราจะมองไปที่ความหมายต่างๆในเชิงประวัติศาสตร์และบริบททางวัฒนธรรม
Dale Spender ได้บันทึกว่า ในความสัมพันธ์กับเรื่องเพศ(gender) ภาษามีแนวโน้มอันหนึ่งในการทำให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศและมีลักษณะใส่ร้ายป้ายสี ซึ่งนำมาใช้อธิบายผู้หญิง(spender 1980, pp.16-19). เธอได้พิจารณาคู่ตรงข้ามต่างๆจำนวนหนึ่ง: ยกตัวอย่างเช่น คำว่า master-mistress(นายผู้ชาย - นายผู้หญิง), bachelor-spinster(ชายโสด - หญิงโสด), King-queen(ราชา - ราชินี), courtier-courtesan(ข้าราชสำนัก-สตรีในราชสำนัก), lord-lady(คุณชาย - คุณหญิง)
การค้นพบของเธอคือ ศัพท์ที่เป็นของผู้หญิงแต่ละคำได้สูญสลายหายไปในเทอมต่างๆเกี่ยวกับสถานภาพและคุณค่าของพวกเธอ - อย่างเช่นคำว่า lady(คุณหญิง) อธิบายถึงผู้หญิงธรรมดา, ในขณะที่ตรงข้าม คำว่า lord(คุณชาย-เจ้าคุณ) ยังคงรักษาความหมายต่างๆในเชิงอำนาจของมันเอาไว้; หรืออย่างคำว่า bachelor(ชายโสด) เป็นฐานะตำแหน่งทางสังคมอันหนึ่งซึ่งมีคุณค่าในเชิงบวกมากกว่าคำว่า spinster(หญิงโสด) - หรืออื่นๆ
ศัพท์ต่างๆที่มาอธิบายถึงผู้หญิงในเทอมต่างๆของเรื่องเกี่ยวกับเพศของพวกเธอ (ยกตัวอย่างเช่น ตลอดเวลาที่ผ่านมา คำว่า mistress (นายผู้หญิง) และ courtesan(หญิงในราชสำนัก) กลายเป็นคำซึ่งอธิบายถึงฐานะตำแหน่งทางเพศของผู้หญิงในความสัมพันธ์กับผู้ชาย)
การปิดป้าย"queen"(ควีน-ราชินี)ได้ถูกนำมาใช้อธิบาย และป้ายสีชายที่รักร่วมเพศ มันมีนัยะเกี่ยวพันถึงสิ่งที่บ่งชี้สำหรับผู้ชายที่ถูกทำให้เป็นหญิง ซึ่งเป็นการดูถูกหรือถูกสบประมาทอย่างหนึ่ง. แต่อย่างไรก็ตาม ควรหมายเหตุลงไปด้วยว่า ในการต่อสู้เหนือเรื่องภาษา, ผู้ชายที่เป็นเกย์(gay men - คนที่รักร่วมเพศ), ผู้ซึ่งเมื่อแรกถูกปิดป้ายฉลากดังกล่าว และต่อมาได้รับการปรับปรุงความหมายเกี่ยวกับคำว่าเกย์ไปสู่ความมีเหตุผล ฟังขึ้น และยกย่องความรักในเพศเดียวกัน(homosexuality) ซึ่งปัจจุบันนี้ยังได้มีการปรับปรุงขึ้นมาอีกครั้งสำหรับคำว่า"queen"และ"queer"(queer - ชายที่รักร่วมเพศ)ในฐานะป้ายฉลากที่เป็นไปในเชิงบวกเกี่ยวกับคำอธิบาย
"Queer theory"(ทฤษฎีเกี่ยวกับชายที่รักร่วมเพศ)ปัจจุบันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสื่อ(media studies)และการศึกษาเรื่องวัฒนธรรม(cultural studies), และบรรดาร้านที่ขายเสื้อผ้าบูติคตามแฟชั่นได้ใช้เป็นสื่อในการโฆษณาอย่างภาคภูมิ อย่างเช่น "Queen-sized shoes". นอกจากนี้ ผู้หญิงเป็นจำนวนมากได้หักร้างถางพงและนิยามศัพท์ที่กระจุ๋มกระจิ๋มคำว่า"girl"(เด็กสาว-หญิงสาว)ขึ้นมาใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ในอดีตได้ถูกใช้เพื่ออ้างถึงผู้หญิงที่สุกงอมเต็มที่(มีอายุ)ในหนทางที่เกี่ยวกับความรัก ซึ่งแม้ว่าจะไปลดทอนฐานะตำแหน่งทางสังคมของพวกเธอลงมาก็ตาม(โดยการจัดหมวดหมู่พวกเธอให้อยู่ในกลุ่มของพวกเด็กๆ)
มาถึงตอนนี้ ศัพท์คำว่า"grrrl power"(พลังอำนาจของผู้หญิง) ซึ่งถูกพูดออกมาในลักษณะคำรามหรือเปล่งออกมาด้วยความโกรธ ไม่ทิ้งความสงสัยอันใดอีกแล้วเกี่ยวกับจุดยืนทางสังคมของผู้หญิง ซึ่งได้ใช้มันเพื่ออ้างถึงตัวของพวกเธอเอง อ้างถึงเพื่อนๆของพวกเธอ และอัตลักษณ์เกี่ยวกับสื่อ อย่างเช่น Lara Croft, Britney Spears, the Spice Girls, และ Buffy
ถ้าหากว่าผู้หญิงที่โตแล้ว กำลังอ้างถึงคำๆหนึ่งที่หมายถึง"juvenile female"(หญิงที่อ่อนวัย) ดูเหมือนว่าศัพท์คำดังกล่าว โดยแท้จริงแล้ว เป็นการให้อำนาจและการแปรขบวนใหม่ในหนทางที่มีลักษณะของการยืนยันในสิทธิของตน
ศัพท์คำว่า"grrrl" ได้ถูกยกขึ้นมาโดยกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างเช่น Riot Grrrl และ Surfergrrrl. บรรดานักเรียกร้องสิทธิสตรีที่เยาว์วัยเหล่านี้ บ่อยครั้งได้สัมพันธ์อย่างหลวมๆกับฉากของพั๊งค์(punk), คือสื่อต่างๆอย่าง"hacktivist"ซึ่งโต้คลื่นอยู่ในเครือข่ายหรือเน็ท และ/หรือ พวกที่ได้สร้างสื่อและวัฒนธรรมอย่างกระตือรือร้น, จาก"zines"จนถึง"music"(zines - หมายถึง แม็กาซีนต่างๆ โดยเฉพาะแม็กาซีนของแฟนๆที่เป็นพวกเดียวกัน)
รูปแบบปฏิบัติการของนักเรียกร้องสิทธิสตรีต่างๆอันนี้ไม่เพียงหวนรำลึกหรือกลับไปจับเอาดินแดนเรื่องของภาษาเท่านั้น แต่พวกเธอยังแสดงให้เห็นว่าไอเดียเกี่ยวกับการยอมจำนนของผู้หญิง และความกลัวต่อเทคโนโลยี(technophobia)นั้น เป็นเรื่องที่ผิดพลาดหรือความเชื่อแบบผิดๆ
อันนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ความหมายของภาษานั้นมันไม่ได้ถูกทำให้ตายตัว และสามารถที่จะนำมาต่อสู้กันได้ตลอดเวลาโดยผู้คนที่แตกต่างกัน และโดยกลุ่มสังคมที่ต่างกัน. ในทางประวัติศาสตร์ การต่อสู้อันนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งเหล่านั้นที่เกิดขึ้นมาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่าง. การต่อสู้กันเหล่านี้เหนือเรื่องภาษาเป็นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออำนาจ และพวกมันเป็นเรื่องธรรมดาเอามากๆ
ในอังกฤษราวคริสตศตวรรษที่ 18 การพูดด้วยภาษา Gaelic (หมายถึงภาษาและวัฒนธรรม Celtic ทางตะวันตกของสก๊อตแลนด์)ในสก๊อตแลนด์ถือเป็นสิ่งต้องห้าม และอาจจะถูกทำโทษได้. ชาวอังกฤษกำลังต้องการที่จะธำรงรักษากฎเกณฑ์ของพวกเขา หรือความมีอิทธิพลเหนือกว่าชาวสก๊อตเอาไว้ โดยการขจัดวัฒนธรรมของชาวสก๊อตทิ้งไป และยัดเยียดค่านิยมวัฒนธรรมของชาวอังกฤษให้ โดยผ่านการใช้ภาษาอังกฤษ
ในแอฟริกา อเมริกา และออสเตรเลีย ภาษาท้องถิ่นในหลายๆช่วงเวลาในอดีตได้ถูกประกาศห้าม ซึ่งอันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นลงนั่นเอง. ภาษาอังกฤษได้ถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นแหล่งต้นตออันหนึ่งของพลังอำนาจของชาวยุโรป ที่ได้รับการสถาปนาอย่างมั่นคงแล้วเหนือประชากรพื้นเมืองต่างๆ
แม้กระทั่งปัจจุบัน การใช้ภาษา singlish (หมายถึงภาษาอังกฤษแบบชาวสิงคโปร์ - singaporean English) หรือ Ebonics (หมายถึงภาษาอังกฤษแบบแอฟริกัน-อเมริกัน - African-American English)ได้ถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และจะเพิ่มการลงโทษมากขึ้นในสถาบันการศึกษาต่างๆในออสเตรเลีย สหราชอาณาจักรอังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา และที่อื่นๆ
นักเขียนแอฟริกันคนหนึ่งนามว่า Ngugi Wa Thiong'o ได้อธิบายว่า ภาษาสามารถถูกนำมาใช้ในการต่อสู้เพื่ออำนาจ ระหว่างเชื้อชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยต่างๆได้อย่างไร. เขาได้พูดถึงช่วงตอนที่เขาเป็นเด็กในเคนย่าคนหนึ่ง ซึ่งได้ถูกบังคับให้ร่ำเรียนภาษาอังกฤษ บนความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานด้วยการลงโทษ ซึ่งในการเรียนดังกล่าวนั้น ทำให้เขาแปลกแยกไปจากวัฒนธรรมและผู้คนของตัวเอง ด้วยการกีดกันเขาไม่ให้ใช้ภาษา Gikuyu อันเป็นภาษาโดยกำเนิดของเขา
"ภาษาอังกฤษกลายมาเป็นภาษาการศึกษาที่เป็นทางการของข้าพเจ้า. ในประเทศเคนย่า ภาษาอังกฤษมันเป็นอะไรที่มากกว่าภาษาหนึ่งเท่านั้น: กล่าวคือ มันคือภาษาและอะไรบางอย่างที่คนอื่นทั้งหมดจะต้องค้อมศีรษะให้กับมันด้วยความเคารพ. ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในประสบการณ์ที่น่าอายและถูกหลู่เกียรติมากที่สุดก็คือการถูกจับได้ว่าพูดภาษา Gikuyu ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงเรียน. ผู้กระทำผิดหรือความจริงน่าจะเรียกว่านักโทษจะถูกลงโทษทางร่างกาย - ด้วยการใช้ไม้เรียวตี 3-5 ที ด้วยการถกกางเกงขึ้นมาแล้วเฆี่ยนลงไปที่ก้นอันเปลือยเปล่า - หรือไม่ก็ถูกทำโทษด้วยการสวมแผ่นเหล็กเอาไว้ที่คอโดยมีข้อความจารึกบนแผ่นโลหะดังกล่าว เช่น "ผมเป็นคนโง่" หรือ "ผมเป็นเจ้าลาโง่" (Ngugi 1986, p.11)
เขาได้แสดงภาพให้เราเห็นว่า การใช้ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาที่เป็นทางการนั้น ได้ไปลดทอนคุณค่าภาษา Gikuyu อย่างไร และทำให้ภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาที่ด้อยกว่าในสายตาของคนที่ใช้ภาษาพื้นเมืองจนคล่องลิ้นหรือผู้เป็นเจ้าของภาษา. และด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเริ่มที่จะเห็นและคิดจากมุมมองหรือทัศนียภาพแบบชาวยุโรป
ชาวแอฟริกันทั้งหลายกลายเป็นสิ่งแปลกแยกจากวัฒนธรรมของพวกเขาเอง และนำไปสู่การดูถูกเพื่อนร่วมชาติทั้งชายหญิง ผู้ซึ่งมิได้นำเอาวิถีทางและคำของชาวยุโรปมาใช้. ในหนทางนี้ การครอบงำทางเศรษฐกิจและการเมืองของชาวยุโรป - ลัทธิจักรวรรดิ์นิยม การสถาปนาจักรวรรดิ์ - จึงได้รับการสนับสนุนโดยผ่านการควบคุมทางด้านภาษา
การครอบงำทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ไม่เคยที่จะสามารถยังผลสัมฤทธิ์ที่สมบูรณ์ได้เลยโดยปราศจากการครอบงำทางความคิดและจิตใจ สำหรับลัทธิอาณานิคม อันนี้เกี่ยวพันกับแง่มุมสองประการของกระบวนการเดียวกัน: การโหมทำลายหรือการลดทอนเชิงคุณค่าเกี่ยวกับวัฒนธรรมของผู้คนลงอย่างรอบคอบสุขุม, รวมไปถึงการลดคุณค่าทางด้านศิลปะ-การเต้นรำ, ศาสนา, ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์, การศึกษา, การสวดในพิธีกรรมและวรรณคดี, และสำนึกอันสูงส่งเกี่ยวกับภาษาของผู้ตกเป็นอาณานิคม
การมีอิทธิพลเหนือภาษาของผู้คนโดยภาษาของประชาชาติที่เป็นเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย นับเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งยวดต่อการครอบงำสกลความคิดของผู้ตกเป็นอาณานิคม(Ngugi 1986, p.16)
อันนี้ไม่ใช่เพียงรูปแบบหนึ่งของลัทธิจักรวรรดิ์นิยมทางเศรษฐกิจ แต่เกี่ยวกับลัทธิจัรวรรดิ์นิยมทางวัฒนธรรม. การเหน็บแนมเย้ยเยาะสุดท้ายสำหรับ Ngugi คือว่า เขาได้กลายเป็นนักเขียนที่ใช้ภาษาอังกฤษที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง งานเขียนของเขา ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของขนบประเพณีวรรณคดีอังกฤษ มิได้เป็นประโยชน์หรือเป็นไปเพื่อผู้คนส่วนใหญ่ของประชากรของเขาเอง ซึ่งไม่อาจที่จะอ่านภาษาอังกฤษได้
ไม่ต้องสงสัยหรือประหลาดใจเลยว่า หลังจากที่ประสบความสำเร็จในฐานะนักเขียนคนหนึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1970s ท้ายที่สุด เขาได้ตัดสินใจละทิ้งภาษาอังกฤษ, ดังคำแถลงที่ว่า: "หนังสือเล่มนี้ เป็นการอำลาของข้าพเจ้าต่อภาษาอังกฤษในฐานะที่เป็นพาหนะสำหรับงานเขียนทุกชิ้นของข้าพเจ้า. และนับจากบัดนี้เป็นต้นไป มันจะมีแต่ภาษา Gikuyu และ Kiswahili ไปโดยตลอด" (Ngugi 1986, p.xiv)
คุณสามารถเหลียวมองไปที่การต่อสู้ดิ้นรนเหนือเรื่องภาษาในลักษณาการที่คล้ายๆ และเท่าๆกันนี้ ระหว่างออสเตรเลียนที่ได้สืบเชื้อสายมาจากยูโรเปียน กับ แอบบอริจินเนส(Aborigines), ระหว่าง ผู้อพยพที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในออสเตรเลีย กับ ผู้อพยพที่ใช้ภาษาอังกฤษ, ระหว่าง แอฟโร-อเมริกัน กับ ยูโรเปียน-อเมริกัน, ระหว่างชนพื้นเมืองอเมริกัน กับ อเมริกันผู้อพยพ
คำถามที่เป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้เหล่านี้ทั้งหมดคือสิ่งซึ่งภาษาจะต้องอยู่รอดต่อไป. แม้ว่าเมื่อภาษาใดภาษาหนึ่งได้ชัยชนะก็ตาม ดังเช่นภาษาอังกฤษได้เป็นเช่นนั้นในหลายๆสถานการณ์ มันก็สามารถยังคงมีการต่อสู้กันระหว่างความแตกต่างหลากหลายของการพูดภาษาอังกฤษโดยกลุ่มของสังคมที่แตกต่างกัน: ยกตัวอย่างเช่น ภาษาอังกฤษแบบค็อกนี(cockney English)[cockney-ชาวลอนดอนทางตะวันออกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนจน) กับ the Queen's English (หมายถึง การพูดภาษาอังกฤษซึ่งได้รับการพิจารณาและยอมรับว่าเป็นภาษาอังกฤษแบบมาตรฐาน)
หรือระหว่าง "Black English"(Ebonics) กับ "White English"; ระหว่าง Australian English, Singaporean English, และ American English; และระหว่างคนที่พูดภาษาอังกฤษโดย Aboriginal Australians และคนที่พูดภาษาอังกฤษโดย non-Aboriginal Australians. การต่อสู้ดิ้นรนเหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีอำนาจโดยผ่านภาษา; รูปแบบต่างของภาษาอังกฤษที่ผิดไปจากธรรมดา ซึ่งบ่อยครั้งเป็นรูปแบบของการต่อต้านโดยกลุ่มทางสังคมที่ถูกกดขี่
ในปี ค.ศ.1995 รายการ The Science Show, ซึ่งเป็นโปรแกรมหนึ่งของวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ เอบีซี (ABC Radio National), ได้เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการประชุมแคนาเดียนในเรื่องของคนท้องถิ่นที่เป็นชนพื้นเมือง(ABC Radio National 1995). โปรแกรมดังกล่าวรายงานว่า ความขัดแย้งต่างๆรายรอบเรื่องของภาษาเป็นที่รับรู้และรู้สึกกันอย่างรุนแรง. ในด้านหนึ่งนั้น มันเป็นความพยายามอันหนึ่งที่จะธำรงรักษาภาษาตามขนบจารีตเอาไว้ ในฐานะที่เป็นหนทางหนึ่งของการธำรงรักษาวัฒนธรรมตามประเพณีให้ดำรงอยู่ต่อไปนั่นเอง - หากว่าภาษาได้สูญสลายหายไป วัฒนธรรมก็จะจากไปพร้อมกันด้วย
แต่นั่นเป็นการยอมรับอันหนึ่งด้วยว่า ภาษาอังกฤษได้กลายเป็นภาษาของชนพื้นเมืองเหล่านั้นจำนวนมากไปแล้ว ดังนั้นในความรู้สึกหนึ่ง มันอาจได้รับการมองว่าเป็นภาษาของพวกเขา. ยิ่งไปกว่านั้น ภาษาอังกฤษยังเป็นภาษาที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการสื่อสารระหว่างกันโดยกลุ่มชนพื้นเมืองที่แตกต่างสำหรับการประชุมคราวนั้น(ABC Radio National 1995).
ความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นอันหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราพิจารณาว่า ภาษาอังกฤษได้กลายเป็นภาษาของสื่อสารมวลชนเพิ่มมากขึ้นทุกที ซึ่งใช้ในการสื่อสารข้ามโลก. แน่นอน มันยังเป็นภาษาที่ครอบงำหรือมีอิทธิพลเกี่ยวกับการสื่อสารผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบอินเตอร์เน็ต. ด้วยเหตุดังนั้น เพื่อที่จะเป็นเสียงๆหนึ่งที่ถูกได้ยินในฟอรั่มนานาชาติ การมีความสามารถที่จะพูดและเขียนด้วยภาษาอังกฤษและเผยแพร่ดังที่กล่าว จึงกลายเป็นความจำเป็นอันหนึ่งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
อันนี้หมายความว่า สื่อให้การส่งเสริมต่อการสร้างวัฒนธรรมหนึ่งเดียว(monoculture) และโลกาภิวัตน์เกี่ยวกับเครือข่ายการสื่อสาร ซึ่งสามารถถูกมองเห็นได้ในแสงสว่างที่ไม่เป็นที่ต้อนรับนี้ใช่ไหม? เราจะหวนกลับไปยังคำถามที่สลับซับซ้อนนี้ในภายหลัง
ภาษาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
(Language and Social Chang)
การรับรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงซึ่งถกเถียงกันข้างต้นในเรื่องของภาษา (ข้อถกเถียงกันเหล่านี้
อันที่จริง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองของการตั้งชื่อ) ได้น้อมนำให้กลุ่มสังคมต่างๆพยายามเปลี่ยนแปลงการใช้ภาษา
เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความสัมพันธ์เกี่ยวกับอคติทางเพศ
ทัศนคติตายตัว-การแบ่งแยกทางเพศ(sexism)
อันนี้ได้ก่อให้เกิดคำถามที่จริงจังขึ้นมาอันหนึ่งว่า ภาษาที่เปลี่ยนไป ได้น้อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจริงหรือ? ยกตัวอย่างเช่น การใช้คำนำหน้าชื่อของผู้หญิง "Ms" แทน "Miss" หรือ "Mrs", หรือการใช้คำว่า"differently abled" มาแทนคำว่า "disable" ("ความสามารถที่ต่างออกไป"มาแทนคำว่า"ไร้ความสามารถ"), มันจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราคิด เราเชื่อ และการประพฤติของเราได้ใช่ไหม?
ขณะที่ภาษาที่เปลี่ยนไปจะทำให้เกิดความแตกต่างบางอย่าง บรรดานักวิจารณ์หลายคนได้แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงคำ สามารถที่จะพลิกแพลงหรือทำให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมกระแสหลักได้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆทางสังคมเกิดขึ้น
"Ms" เดิมทีเจตนาที่จะให้เป็นศํพท์ที่คู่ขนานกันกับ"Mr" แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการศึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเสนอแนะว่า "Ms"ไม่ได้ถูกนำไปใช้ และไม่ได้ถูกตีความตามเจตนาเดิมดังกล่าว. งานศึกษาชิ้นหนึ่ง[ในแคนาดา] แสดงให้เห็นว่า ผู้คนมีช่องทางการใช้คำหน้าของผู้หญิงที่แตกต่างกันอยู่ 3 ช่องทางคือ : "Mrs" ถูกนำมาใช้กับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว, "Miss"ใช้กับผู้หญิงที่เป็นโสด, และ"Ms"ถูกใช้กับผู้หญิงที่หย่าร้าง
ในประเทศอังกฤษได้มีรายงานว่า "Miss" และ "Ms" เป็นคำนำหน้าชื่อของผู้หญิงที่ใช้ในความหมายเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมันมีคำนำหน้าชื่อที่แตกต่างกันระหว่าง "Mrs" และ "Ms", คำว่า"Mrs"หมายถึงผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ในขณะที่"Ms"หมายถึงผู้หญิงที่ยังเป็นโสด การแยกแยะหรือการแบ่งแยกคำนำหน้า"Ms"ได้ถูกตั้งใจที่จะขจัดทิ้งไป ซึ่งอันนี้ยังมีการแสดงออกอยู่ แต่ในหนทางที่แตกต่าง (Susan Ehrlich, quoted in ABC Radio National 1995)
ในหลายต่อหลายกรณี ไม่เพียงภาษาเท่านั้น แต่ยังมีสื่อกลางของการสื่อสารที่ได้มากำหนดทางเลือกต่างๆของผู้หญิงเกี่ยวกับว่า พวกเธอจะแสดงตัวของพวกเธอเองกับคนอื่นๆอย่างไร. แบบแผนการกรอกข้อมูลเป็นจำนวนมากที่จะต้องกรอกลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลซึ่งเป็นที่ต้องการทางด้านคอมพิวเตอร์ ปฏิเสธที่จะยอมให้ใช้คำนำหน้าชื่อว่า"Ms"ในฐานะที่เป็นตัวเลือกอันหนึ่ง, โดยให้มันเป็นคำนำหน้าชื่อในฐานะตัวเลือกที่มีข้อจำกัดสำหรับผู้หญิงที่มีอายุที่แน่นอนช่วงวัยหนึ่ง, หรือเสนอมันในลักษณะที่ร่วมกันกับ"Miss"และ"Mrs" อันนี้มีมากกว่าการใช้คำนำหน้าว่า"Ms"และในฐานะที่เป็น default title (คำนำหน้าชื่อที่กำหนดโดยเครื่องคอมพิวเตอร์) มากำหนดคำนำหน้าชื่อของผู้หญิง ในฐานะที่เป็นคำศัพท์ที่ตั้งใจให้เครื่องทำงานต่อไปได้ (เทียบเท่ากันกับคำนำหน้าชื่อของผู้ชาย "Mr" ซึ่งกำหนดใช้กับผู้ชายทุกคน ผู้ซึ่งไม่ได้มีคำนำหน้าชื่อเฉพาะ อย่างเช่น "Dr" เป็นต้น)
ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนคำว่า"Ms"ยังบ่งถึงความหมายต่างๆของเรื่องสิทธิสตรี. ศัพท์คำว่า"สิทธิสตรี"(feminist)สำหรับบางคน มีความหมายเป็นไปในแง่ลบ และสำหรับหญิงสาวบางคน ก็ไม่ต้องการที่จะใช้คำนำหน้าชื่อ"Ms" เพราะพวกเธอไม่ต้องการได้รับการปิดป้ายฉลาดเป็นนักเรียกร้องสิทธิสตรี (แม้ว่าพวกเธอจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน ในหลายๆกรณีเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวในแนวสิทธิสตรีก็ตาม)
ตัวอย่างข้างต้นนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า เป็นไปเพื่อที่จะขจัดการแบ่งแยกที่มีต่อผู้หญิงทิ้งไป มันมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงภาษา. โดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ภาษาที่เปลี่ยนแปลงก็เหมือนกับการต่อสู้ที่พ่ายแพ่ในสนามรบ. อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางภาษา การรับรู้เรื่องภาษาคือส่วนที่สำคัญอันหนึ่งของการยกระดับความสำนึกของเราขึ้นมาเกี่ยวกับอคติและการแบ่งแยก และพวกมันช่วยให้เราเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ภาษาที่ใช้กันอยู่ (Language
in Use)
ภาษามักจะดำรงอยู่ในสถานการณ์ต่างๆของสังคมเสมอ
ดังเช่น มันเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ในหนทางที่แตกต่าง. ในความสัมพันธ์กับเรื่องเพศ(gender)
เป็นที่น่าสนใจที่จะสังเกตว่า ผู้ชายกับผู้หญิง จริงๆแล้ว ใช้ภาษากันอย่างไร
เช่นเดียวกับภาษาชนิดใดที่พวกเขาใช้กันอยู่
1. ให้ลองสังเกตว่า ผู้หญิงและผู้ชายพูดกันอย่างไรเมื่อพวกเขาอยู่ในกลุ่มของคนเพศเดียวกัน และพวกเขาพูดกันอย่างไรเมื่ออยู่ในกลุ่มที่มีคนทั้งสองเพศ. การทดลองต่างๆในงานวิจัยในช่วงต้นๆเกี่ยวกับเด็กสังเกตพบว่า เด็กผู้หญิงสองคน เมื่อมาอยู่ด้วยกันและให้ของเล่นกับเธอทั้งสองคน จะใช้เวลาส่วนใหญ่พูดคุยกัน มันเป็นการทำให้เป็นสังคมโดยผ่านภาษา. ในเชิงเปรียบเทียบ กับเด็กผู้ชายสองคนในสถานการณ์เดียวกัน มีแนวโน้มการทำให้เป็นสังคมส่วนใหญ่ โดยการเล่นกับของเล่นต่างๆ มากกว่าการใช้วิธีสนทนา.
บรรดานักวิจัยหลายๆคนได้ถกว่า ผู้ชายกับผู้หญิงพูดคุยแตกต่างกัน: ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะพูดคุยกันในลักษณะที่ให้การสนับสนุนกันมากกว่าผู้ชาย(supportively) ซึ่งผู้ชายนั้นค่อนข้างจะพูดคุยกันในลักษณะเชื่อมั่นและก้าวร้าวกว่าผู้หญิง(assertively); ผู้หญิงชอบพูดคุยกันในลักษณะที่เป็นส่วนตัว และมีลักษณะคล้อยตามในการสนทนามากกว่า; ในขณะที่ผู้ชายชอบพูดเรื่องตลกและขัดจังหวะมากกว่า. อะไรคือความแตกต่างกันโดยทั่วไปที่คุณสังเกตเห็นในขณะที่ผู้ชายและผู้หญิงพูด?
2. บางครั้งคำนำหน้าชื่อผู้หญิง "Miss" ถูกใช้ในการสื่อสารข้อมูลว่าผู้หญิงที่กำลังกล่าวถึงเป็นผู้หญิงสาว. อันนี้ผูกพันกับอคติทางวัฒนธรรมที่ให้การยกย่องและให้สิทธิพิเศษแก่ความเยาว์วัย ในหนทางที่อาจมีผลต่อทางเลือกของผู้หญิงเกี่ยวกับ คำนำหน้าชื่อของพวกเธอที่ใช้ในการบ่งชี้หรือแยกแยะตัวของพวกเธอเองใช่ไหม? ให้คิดถึงชื่อและคำนำหน้าชื่อของผู้หญิงที่มีชื่อเสียงที่รู้จักกันในสื่อต่างๆ หรือถามถึงทางเลือกของผู้หญิงที่คุณรู้จัก ไม่ว่าพวกเธอจะใช้คำนำหน้าชื่อว่า "Ms", "Miss", หรือ "Mrs" (ถ้าหากว่าเป็นไปได้) และพูดคุยถึงเหตุผลของพวกเธอเกี่ยวกับการใช้คำเหล่านี้. คุณอาจจะซักถามต่อไปด้วยว่า พวกเธอยืนอยู่ข้างใดบนความสัมพันธ์ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเรื่องนามสกุลของผู้หญิง ถ้าเผื่อเธอเป็นคนที่แต่งงานแล้ว หรือเธอจะให้ลูกๆของเธอใช้นามสกุลใคร ระหว่างนามสกุลของพ่อ กับนามสกุลของแม่
คำนำหน้านาม"Ms" ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้กลายเป็นธรรมชาติในภาษา (เนื่องมาจากปฏิกริยาอันรุนแรงของผู้คนจำนวนมากที่มีต่อลัทธิการเรียกร้องสิทธิสตรี และเนื่องมาจากสถาบันต่างๆ ยังต่อต้านที่จะรวมมันเข้าไว้เป็นทางเลือกที่กำหนดเป็นปกติ[default option]ในแบบฟอร์มต่างๆของธนาคารทั้งหลาย, สถาบันทางด้านศัลยกรรมทางการแพทย์ต่างๆ, และอื่นๆ)
บางครั้งผู้หญิงที่ปรารถนาจะได้รับการเรียกว่า"Ms" พบว่า มันยากเหลือเกินที่สถาบันต่างๆเหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงเรื่องของคำนำหน้านาม. ในประสบการณ์ของข้าพเจ้า นักศึกษาหญิงจำนวนน้อยเท่านั้นในปัจจุบัน เลือกที่จะบ่งชี้ตัวของพวกเธอเองด้วยคำนำหน้านามว่า"Ms" อันนี้น้อยกว่าในกรณีเดียวกันเมื่อหนึ่งทศวรรษมาแล้ว
เมื่อมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเธอก็อธิบายว่า พวกเธอไม่ต้องการถูกระบุในฐานะที่เป็นพวกเรียกร้องสิทธิสตรี หรือพวกเธอต้องการที่จะถูกระบุในฐานะเด็กสาว และบางครั้งก็ใช้ได้. แนวโน้มทางวัฒนธรรมอันนี้ในการเรียกชื่ออาจชี้ถึงความสัมพันธ์กับผู้ชายและความเยาว์วัย ซึ่งยังคงนิยามลักษณะต่างๆเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของผู้หญิงในขอบเขตที่แน่นอนอันหนึ่ง
สรุป
ในบทความชิ้นนี้ได้นำเสนอว่า ความจริงของสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา
และภาษา ในฐานะของระบบหนึ่งเกี่ยวกับการเป็นตัวแทน คือศูนย์กลางในการสรรสร้างดังกล่าว.
ภาษาไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมชาติหรือเป็นกลาง แต่มันได้นำพาคุณค่าบางอย่างมาด้วยกันกับมันเสมอ
และภาษามันยังเป็นที่ทางของการต่อสู้ทางการเมืองด้วย
ข้อถกเถียงเรื่องของภาษาสามารถถูกนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องสื่อได้ แม้ว่าสื่ออาจจะไม่ได้ใช้คำพูดเสมอไปก็ตาม - เพราะสื่อมีทั้งภาพ รูปลักษณ์ต่างๆ รูปแบบเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกล้อง การตัดต่อ หรือกระทั่งแบบแผนหรือยุทธวิธีเชิงโครงสร้าง (ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่มีการวางตำแหน่งซึ่งได้รับการพิจารณาให้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด จะถูกวางไว้บนสุดของเว็ปเพจ เป็นต้น). เทคนิคต่างๆของสื่อสามารถถูกทำความเข้าใจในฐานะที่เป็น"ภาษาของสื่อ" และการสนทนากันเกี่ยวกับเรื่องของภาษาในบทนี้ เป็นสิ่งที่ตรงประเด็นและสัมพันธ์กับเรื่องภาษานี้ด้วย. ในฐานะของนักวิจารณ์ พวกเราทั้งหลายสามารถเริ่มรื้อสร้าง(deconstruct)ภาษาของสื่อได้นับแต่บัดนี้
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)