ภาพประกอบจากหนังสือ AIGA Graphic Design USA2 ผลงานของ Richard Hess / น.402 / เคยขึ้นปก New York Magazine June 4, 1973 ชื่อภาพ
How Kissinger Fooled US All (ภาพประกอบดัดแปรง)
"ถกปัญหาความรุนแรง และ สันติภาพโลก" โดย คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เสาร์ที่ 29 กันยายน 2544 เวลา 14.00 น. ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

วินาศกรรมบันลือโลกที่เพิ่งเกิดขึ้นในสหรัฐ มีผลกระทบต่ออะไรหลายอย่างที่เราเคยชินในช่วงชีวิตของเรา ที่สำคัญคือรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ การสงคราม และการก่อการร้ายข้ามชาติ

ความสูญเสียที่สหรัฐได้รับในครั้งนี้ยิ่งใหญ่ และรุนแรงขนาดที่ผู้นำและสื่อมวลชนอเมริกันกล่าวว่าสหรัฐได้เข้าสู่สงครามแล้ว (ตามคำแถลงของนายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก มีผู้สูญหายไปกับซากตึกนับได้ถึงเวลานี้ 6,300 คน เมื่อญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,300 คน เท่านั้น)

แต่อเมริกาเข้าสู่สงครามกับรัฐใด?
ไม่มีสักรัฐเดียวในโลกนี้ที่สนับสนุนการกระทำของผู้ก่อการร้ายในครั้งนี้ แม้แต่ที่ส่งเสียงเชียร์ก็เป็นประชาชนในปาเลสไตน์ ไม่ใช่รัฐปาเลสไตน์ ซึ่งแสดงความตระหนกและสลดใจต่อความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐในครั้งนี้

กลุ่มผู้ก่อการร้ายไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่สังกัดกับรัฐใดเลย แม้แต่รัฐซึ่งอาจให้ที่หลบซ่อนแก่ผู้ต้องสงสัย ก็หาได้เป็นผู้บังคับบัญชาผู้ก่อการร้ายนั้นได้ ทั้งในทางทฤษฎีและความเป็นจริง ถ้าสหรัฐจะตอบโต้ก็ต้องตอบโต้ไปที่รัฐใดรัฐหนึ่ง ทั้งๆ ที่รัฐนั้นไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการก่อการร้าย สหรัฐจะตอบโต้อย่างไรจึงจะสามารถทำให้พลโลกเห็นว่าเป็นการกระทำที่ชอบธรรมได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

แต่ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจก็คือ สงครามอาจเกิดขึ้นได้โดยปรปักษ์ไม่ใช่รัฐ เราเคยชินกับสงครามระหว่างรัฐมาหลายพันปี สร้างระเบียบแบบแผนของความสัมพันธ์ในสงครามขึ้นจากการมีรัฐเป็นคู่ปรปักษ์ สงครามที่ไม่มีรัฐเป็นคู่ปรปักษ์จะเอาชัยชนะกันได้อย่างไร

ที่น่ากลัวกว่าการเอาชนะกันคือ จะพ่ายแพ้กันได้อย่างไร เพราะการพ่ายแพ้ในสงครามแบบเดิมที่มีรัฐเป็นคู่ปรปักษ์จะเกิดเงื่อนไขของการยอมจำนน ซึ่งฝ่ายผู้แพ้ต้องปฏิบัติตาม และมีรัฐที่ยอมแพ้เป็นผู้รับผิดชอบต่อเงื่อนไขนั้น แต่สงครามที่ไม่มีรัฐสำหรับลงนามในสัญญายอมแพ้ จะยุติความขัดแย้งกันได้อย่างไร

คงตื้นเกินไปกระมังที่คิดว่า ฆ่าหรือจับตัว(สมมุติว่าเป็น) นายบิน ลาเดน ได้ แล้วจะเท่ากับการลงนามรับการยอมแพ้ของญี่ปุ่นบนเรือมิสซูรี่ เพราะขบวนการต่อต้านสหรัฐด้วยวิธีรุนแรงนั้นไม่ได้จำกัดอยู่กลุ่มเดียว ถ้าเป็นสมัยที่สงครามยังเป็นเรื่องของรัฐเสียอีกที่เรื่องจะจัดการได้ง่ายกว่า เพราะรัฐปฏิปักษ์ที่ถูกปราบลงแล้วก็ยากจะหารัฐใหม่เข้ามาเป็นปฏิปักษ์ได้อีก อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง(เวลาผ่านไปไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ถ้าอ่านหนังสือพิมพ์ก็จะได้ยินเสียงของสติดังมากขึ้นในหมู่พันธมิตรของสหรัฐเอง โดยเฉพาะในยุโรป คำเตือนทั้งหลายเหล่านี้สรุปได้ว่าปฏิบัติการทางทหารอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาการก่อการร้ายข้ามชาติได้)

ถ้าการก่อการร้าย(หรือสงครามแบบใหม่) มีลักษณะโลกาภิวัตน์เหมือนไก่ทอดและน้ำอัดลม หลักการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มุ่งจะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามหรือความขัดแย้งที่รุนแรงก็คงไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะรัฐหนึ่งอาจสร้างความขุ่นเคืองให้แก่ประชาชนของอีกรัฐหนึ่ง ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐยังเป็นปกติดีอยู่ก็ได้ ประชาชนซึ่งไม่เคยมีใครเห็นหน้าตานี่แหละที่จะเป็นผู้ประกาศสงครามเอง

ถ้าชาวทิเบต ฟา หลุน กง พม่าและชนกลุ่มน้อยในพม่า อินเดียนแดงในละตินอเมริกา ชาวเขาและประชาชนดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ฯลฯ ใช้การก่อการร้ายข้ามชาติเป็นเครื่องมือในการต่อสู้บ้าง คิดดูเถิดว่าภยันตรายของสงครามจะแผ่ขยายไปทั่วโลกกว้างขวางลึกซึ้งสักเพียงไร

ฉะนั้น หลักการที่ว่าไม่พึงก้าวก่ายกิจการภายในของรัฐอื่นก็ตาม รัฐบาลของทุกรัฐคือตัวแทนของประชาชนในรัฐนั้นก็ตาม ฯลฯ ยังเป็นหลักการที่ใช้ได้ในโลกยุคสงครามไร้รัฐอยู่อีกหรือ

การป้องกันประเทศในสงครามที่ไร้รัฐหมายความว่าอะไร จรวดป้องกันจรวด หรือโครงการสตาร์วอร์ ไม่สามารถรักษาความปลอดภัยให้แก่ใครได้ ถ้ายุทธศาสตร์โลกและยุทธศาสตร์รัฐหมายถึงการจัดการระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่ารัฐจะไม่ถูกสงครามไร้รัฐโจมตี

คนยอมตายให้แก่สิ่งที่เป็นนามธรรมมามากแล้ว แต่การทำสงครามชนิดยอม "พลีชีพ" ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะเอาเข้าจริง นับตั้งแต่สงครามครั้งแรกๆ ของมนุษยชาติ คนมักถูกเกณฑ์เข้าสู่สงครามมากกว่าสมัครใจไปตายในสมรภูมิเพื่ออะไรที่ตัวให้คุณค่าไว้เหนือชีวิต อย่างน้อยคนอาสาออกรบเพื่อช่วยชาติก็ยังมีความหวังอยู่บ้างว่า อาจจะรอดกลับมาได้

สงคราม การสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ในสังคมหรือในโลก การซื้อหุ้น การเล่นการเมือง ฯลฯ ล้วนตั้งอยู่บนข้อตกลงร่วมกันว่า ถึงที่สุดแล้วเราทุกคนจะรักษาชีวิตไว้สำหรับเลือก เช่น ในสงครามก็เลือกจะยอมแพ้หรือเลือกจะสู้ต่อไป ในการสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ก็เลือกที่จะติดคุกหรือโดนปรับหรือเปลี่ยนพฤติกรรม

อารยธรรมของมนุษย์ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า เงื่อนไขสำหรับการเลือกทุกอย่างต้องเลือกโดยมีชีวิตอยู่ ชีวิตและความตายไม่ใช่ตัวเลือก เป็นเงื่อนไขที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในธรรมชาติต่างหาก

ฉะนั้นการทำสงครามแบบ "พลีชีพ" ไม่ว่าจะเป็นกามิกาเซ่ เอาตัวเองเป็นทุ่นระเบิด หรือบังคับเครื่องบินชนตึก ฯลฯ จึงเป็นการเล่นนอกกติกา ที่เรียกว่าเล่นนอกกติกาไม่ได้ต้องการจะหมายความว่าผู้ที่เลือกความตายแทนชีวิตเหล่านี้ชั่วช้าสามานย์

แต่ต้องการจะชี้ว่า อารยธรรมของมนุษย์ไม่ได้สร้างกลไกไว้เผชิญกับการเล่นนอกกติกาแบบนี้

ระเบียบที่นักบินและพนักงานบนเครื่องบินโดยสารพึงกระทำหากมีคนร้ายไฮแจ๊กเครื่องบิน ล้วนตั้งบนสมมติฐานว่า การรักษาชีวิตของผู้โดยสารย่อมสำคัญกว่าอื่นใดทั้งหมด แต่ถ้าการไฮแจ๊กไม่ได้ให้ทางเลือกของการรอดชีวิตไว้เลย ดังกรณีวินาศกรรมครั้งนี้ ระเบียบของกิจการบินพลเรือนที่วางไว้สำหรับเผชิญกับการไฮแจ๊กก็ไร้ประโยชน์

การต่อสู้เผชิญกับการไฮแจ๊กเครื่องบินคงต้องเปลี่ยน จะเปลี่ยนอย่างไรจึงจะทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินมีความปลอดภัยเท่าเดิม หรือเกือบเท่าเดิม นับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา การทำลายล้างกันในสงครามไม่เคยจำกัดอยู่แต่ในสมรภูมิ พลเรือนแนวหลังนั่นแหละคือเป้าสำหรับการโจมตีทำลายล้างที่ดีอย่างหนึ่ง

ฉะนั้นถ้าคิดแต่เพียงตัวเลขความสูญเสีย การทำสงครามแบบ "พลีชีพ" ดูจะเป็นการทำสงครามที่ให้ผลคุ้มค่าที่สุด อีกทั้งยังสามารถกระทำกับแสนยานุภาพอันเกรียงไกรขนาดไหนก็ได้ด้วย เราอาจตกใจกับความสูญเสียในครั้งนี้ แต่นี่จะเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในสงครามไร้รัฐของอนาคตหรือไม่ และเราก็อาจเคยชินและยอมรับ เหมือนกับที่เราต้องยอมรับความสูญเสียของสงครามโดยรัฐไปแล้ว

กลไกต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาความโหดร้ายของสงครามโดยรัฐมักเป็นหมัน และทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าปากกระบอกปืน แม้กระนั้นเราก็เพียรพยายามสร้างกลไกเหล่านั้นขึ้น และเพียรพยายามให้กลไกเหล่านั้นพอทำงานได้บ้าง

แต่เราไม่มีกลไกอะไรสักอย่างเดียวสำหรับบรรเทาความโหดร้ายของสงครามไร้รัฐ เพราะเราไม่รู้จักและไม่เคยคิดถึงสงครามที่ไร้รัฐมาก่อน เราจึงกำลังย่างไปบนหนทางข้างหน้าที่ไม่รู้จักอย่างอ่อนแอและน่ากลัว

(บทความนี้เคยตีพิมพ์แล้วใน มติชนรายวัน 21 กันยายน 2544)


คลิกไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

 

 

 

 

 

 

 


เพลโต เคยกล่าวเอาไว้ทำนองว่า "ไม่มีใครสามารถที่จะเป็นรัฐบุรุษขึ้นมาได้ โดยใช้วิธีการทำสงคราม แม้ว่าเขาคนนั้นจะมุ่งกระทำเพื่อความสุขของ ปัจเจกหรือรัฐก็ตาม สันติภาพไม่อาจได้มาด้วยการทำสงคราม และสงครามไม่เคยนำมาซึ่งสันติภาพ (Plato, Law, I, 628B)

เธียว์ดอร์ อะดอร์โน เคยกล่าวเอาไว้ว่า นับเวลาเป็นพันๆปี มนุษย์ไม่ได้เพิ่มเติมคุณค่าทางจิตใจอะไรขึ้นมาใหม่เลย สิ่งเดียวที่มนุษย์เพิ่มเติมให้กับเผ่าพันธุ์ก็คือ การพัฒนาการขว้างลูกหินด้วยหนังสติ๊ก จนกระทั่งมาถึงอะตอมมิกบอมบ์ เท่านั้น

มีคนเคยถามไอน์สไตน์ว่า สงครามโลกครั้งที่สามจะเป็นอย่างไร ? ไอน์สไตน์ตอบว่า "ผมตอบไม่ได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเป็นอย่างไร แต่ที่ผมรู้แน่ๆก็คือ สงครามโลกครั้งที่ 4 มนุษย์จะใช้ก้อนหินปาเข้าใส่กัน"

ขณะนี้เรือบรรทุกเครื่องบินหลายลำ กำลังไปลอยลำอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย และมีเครื่องบินรบอยู่บริเวณนั้นไม่ต่ำกว่าสองร้อยเครื่อง เพื่อเตรียมทำสงครามกับนายบิลาดิน

อเมริกันกำลังจะไปถล่มใคร อเมริกันกำลังจะทำอะไรกับโลก อเมริกันกำลังต้องการความร่วมมือและฉันทามติ จากชาวโลก เพื่อรักษาผลประโยชน์ของอเมริกันหรือของใคร

อเมริกันเคยทำเช่นนี้มาแล้ว เพื่อแสวงหาฉันทามติจากชาวอเมริกันในสงครามเวียดนาม ปัจจุบันอเมริกันกำลังทำอย่างเดียวกันนี้ โดยการแสวงหาฉันทามติจากชาวโลก

เหตุการณ์นับจากวันที่ 11 กันยายน 2544 ที่นักระเบิดพลีชีพได้นำพาเครื่องบินโบอิ้งถล่มตึก World Trade และอีกไม่กี่วันนี้ อเมริกันจะใช้เครื่องบินรบถล่มโลก เพื่อความสุข, ความปลอดภัยของคนอเมริกัน (ดูเหมือนต้นทุนนี้จะแพงไปสำหรับชาวโลก)

H
home
คลิกเข้าไปหน้าแรก
หากภาพ และตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
24
09
44
บทความรณรงค์เพื่อสันติภาพ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๒๖๐๙๔๔
Midnight University's Campaign for World Peace
September 25,2001
Is War the Sword of Justice? [ภาพประกอบจากนิตยสาร Time / banner จาก Fox news]
สงคราม คือ ดาบของความยุติธรรมล่ะหรือ ? (25 กันยายน 2544 / มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

ในรายการทอล์กโชว์การเมืองรายการหนึ่งทางทีวีอเมริกัน ภายหลังการโจมตีศูนย์อำนาจของอเมริกาครั้งใหญ่เมื่อ 11 กันยายน ศกนี้ ชาวอเมริกันผู้เข้าร่วมรายการคนหนึ่งพูดออกอากาศว่า เหตุการณ์นี้ชี้ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องป้องกันผลักดัน "พวกพูดภาษาอังกฤษสำเนียง (accent) ไม่เหมือนเรา" ออกไปเสียที

ถ้าจะว่าความคับแคบทางศาสนา-ชาติพันธุ์เป็นตัวกระตุ้นโอซามา บิน ลาเดน กับเครือข่ายนักรบมุสลิม มูจาฮีดีน "อัล เกดา" ของเขาให้ก่อวินาศกรรมนองเลือดครั้งนี้แล้ว ปฏิกิริยาของผู้คนจำนวนไม่น้อยในประเทศอภิมหาอำนาจที่ขึ้นชื่อว่าโลกาภิวัตน์ที่สุดในโลกเองก็สะท้อนทรรศนะที่ไม่กว้างไปกว่ากัน

บนซาก 6,300 ศพ ของผู้บริสุทธิ์ที่ตายไป "โอซามา บิน ลาเดน" -น้อยๆ สัญชาติอเมริกัน, ยุโรปตะวันตกและอื่นๆ กำลังปรากฏตัวขึ้น แยกเขี้ยวกริ้วกระหาย เรียกร้องเลือดบริสุทธิ์มาเซ่นสังเวยเพิ่มเติม

ความคับแคบสะท้อนความคับแคบ ความรุนแรงเพาะความรุนแรง ฆาตกรรมผลิตซ้ำฆาตกร เหยื่อของการก่อการร้ายกำลังจะกลับกลายเป็นผู้ก่อการร้ายเอง พร้อมจะลอบสังหารผู้นำ ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ขนาดจิ๋ว (mini-nukes) ทุ่มพลเข้ารุกรบอัฟกานิสถาน ซูดาน แอลจีเรีย - บรรดาประเทศที่ล้วนยากจน คนส่วนใหญ่ผิวคล้ำและ "พูดอังกฤษสำเนียงไม่เหมือนเรา" เหล่านั้น พร้อมทำทุกอย่างเพื่อชนะ "สงคราม" กับ "คนป่าเถื่อน" ผู้เป็นศัตรูของ "อารยธรรม" โดยไม่เลือกวิธี รวมทั้งวิธี "ป่าเถื่อน" และ "อนารยธรรม"

หาก "อารยธรรม" เลือกใช้วิธีป่าเถื่อนมาสู้กับ "คนป่าเถื่อน" ใช้วิธีอนารยะมาปกป้อง "อารยธรรม" แล้ว จะเหลือ "อารยธรรม" อะไร?

อนิจจา...ดูเหมือน โอซามา บิน ลาเดน กำลังเปลี่ยนอเมริกาให้กลายเป็นโอซามา บิน ลาเดน
.....
ดูแล้ว นี่ไม่น่าใช่สงครามระหว่างรัฐในความหมายเดิม การจี้ยึดเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และเพนตากอนหนนี้ไม่เหมือนศึกเพิร์ล ฮาเบอร์ครั้งที่สอง คิดเช่นนั้นชวนหลงทิศผิดทาง เปรียบเช่นนั้นออกจะผิดฝาผิดตัว

เอาเข้าจริง มันเป็นสิ่งที่ธรรมเนียมนักเคลื่อนไหวอนาธิปไตยเรียกว่า โฆษณาด้วยการกระทำ (propaganda of the deed) และวงการเมืองอาหรับปีหลังๆ นี้ยกย่องเป็น ปฏิบัติการพลีชีพ (amalia istishadia) อันทรงเกียรติยิ่งต่างหาก

เป้าหมายไม่ใช่เพื่อรบชนะอเมริกา(อย่างที่ญี่ปุ่นต้องการสมัยเพิร์ล ฮาเบอร์) โค่นอำนาจรัฐ พังเศรษฐกิจ พิชิตกองทัพ ล้มรัฐบาลหรือแม้แต่สั่นคลอนระบบการเมือง ขืนตั้งเป้าแบบนั้นรังแต่เหลวเปล่า เพราะการโจมตีหนนี้เผลอๆ กลับจะทำให้มหาชนอเมริกันหันไปห้อมล้อมเชียร์ประธานาธิบดีบุชและนานาชาติหันมาเป็นแนวร่วมสนับสนุน เสริมอำนาจอเมริกาให้เข้มแข็งขึ้นด้วยซ้ำ

เป้าหมายเป็นเรื่องการเมือง กล่าวคือ
1) ตบหัวสั่งสอนและลูบคมหยามน้ำหน้ายักษ์โลกาภิวัตน์อเมริกา ยั่วให้โกรธแค้นหุนหัน ฟาดกระบองกราดตอบกลับด้วยความรุนแรงไปทั่วโลก และ
2) โฆษณาภารกิจและระดมกำลังสนับสนุนขบวนการต่อต้านการครอบงำของอเมริกาและพวกพ้องในภูมิภาคตะวันออกกลาง

จะเห็นได้ว่า เป้าหมายดังกล่าวประสบความสำเร็จสุดยอดเหนือความคาดหมายอย่างต่อเนื่องครั้งแล้วครั้งเล่า ภายหลังการโจมตีด้วยความอนุเคราะห์ช่วยแพร่ภาพโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลกซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่หยุดหย่อนของสำนักข่าวลูกโลกทุกช่องทุกสถานีไม่ว่า CNN, BBC, ABC, NBC, CBS, PBS, AP, Reuters, etc. ยิ่งยักษ์อเมริกาดิ้นพล่านแสวงหาความมั่นคงจากศัตรูและการโจมตีทำนองนี้ ก็จะยิ่งเหมือนถูกผีของมัน ตามสิงสู่หลอกหลอน พาให้โกรธเกรี้ยวคลั่งแค้นไม่รู้หาย ตอกย้ำเตือนใจไม่รู้ลืม มาตรการป้องกันที่คิดวางขึ้นใหม่จะกลายเป็นเหมือนคำท้าให้มีผู้ลองของทะลวงเข้ามาอีก เพราะศัตรูของอเมริกาคราวนี้ไม่ใช่รัฐชาติอย่างเคย

จอห์น อัพไดค์ นักเขียนนิยายสะท้อนชีวิตสังคมอเมริกันร่วมสมัยชื่อดัง ผู้เฝ้าดูตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่ม ทลายต่อหน้าต่อตาจากบ้านญาติย่านบรู๊กลินซึ่งอยู่ติดกัน ตั้งข้อสังเกตเตือนสติเพื่อนร่วมชาติว่า: -

"ตอนนี้คนโกรธแค้นขุ่นเคืองกันมากแต่ศัตรูนั้นเหมือนผีหลอกที่ลื่นไหล และต่อให้ตัวการใหญ่ถูกกำจัดไป ผมคิดว่าพลังอย่างเดียวกับที่ปลุกเขาขึ้นมา ก็จะปลุกตัวใหม่ขึ้นมาสืบทอดอีก"

พลังที่ว่านั้นคืออะไรหรือ?
..... 0000000
ผมคิดว่าการโจมตีอเมริกาครั้งนี้เป็นตอนล่าสุดในกระบวนการที่ ศาสตราจารย์เบนจามิน อาร์. บาร์เบอร์ แห่งมหาวิทยาลัยรุตเจอร์ มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ เรียกไว้ในหนังสือชื่อเดียวกันของเขาว่า ญิฮาด vs แมคเวิลด์ (Jihad vs McWorld)

กล่าวอีกนัยหนึ่ง แมคเวิลด์ = การแผ่ถึงกันทั่วโลก-เข้าถึงโลก-เอาชนะโลก-ทำโลกทั้งใบให้เป็นแบบแมคๆ (ให้ชาวโลกแดกด่วน McDonald's เหมือนอเมริกัน, ใช้คอมพิวเตอร์ Macintosh และยี่ห้ออื่นตามอเมริกัน, รัฐบาลทั้งหลายพากันเปิดประเทศดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการค้าเสรีสไตล์ McGovernment อย่างที่อเมริกันชี้นำ เป็นต้น)

ประชันกับญิฮาด = กระแสต่อต้านการครอบโลกทางวัฒนธรรม สารสนเทศ เศรษฐกิจและการเมืองดังกล่าวที่มีฐานมาจากชุมชนท้องถิ่น หรือเอกลักษณ์เฉพาะทางชาติพันธุ์-ศาสนาแบบใดแบบหนึ่งของผู้คนตามพื้นที่ต่างๆ ในโลก

ทั้งคู่เป็นสองด้านของเหรียญเดียว ที่ด้านหนึ่งนำไปสู่ปฏิกิริยาตอบโต้กลับจากอีกด้านหนึ่งอย่างเป็นธรรมดาธรรมชาติและอัตโนมัติ

ญิฮาด vs แมคเวิลด์จึงเป็นกระบวนการเดียว ที่ต่างก็เชื่อมโยงสัมพันธ์ เป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน กำหนดซึ่งกันและกัน, เป็นกระบวนการเดียวกันแห่งโลกาภิวัตน์กับปฏิกิริยาตอบกลับต่อมันที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

เพราะโลกาภิวัตน์อย่างที่ดำเนินมาหลังสิ้นสุดสงครามเย็นจนบัดนี้ได้ก่อรูปโลกที่เชื่อมโยงแผ่ถึงกันเป็นโลกเดียวขึ้นจริง แต่ก็เป็นโลกที่ไม่เสมอภาคอย่างยิ่ง ไม่ว่าด้านโภคทรัพย์เศรษฐกิจ อำนาจการเมือง และโอกาสในการเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารวัฒนธรรม เห็นได้ชัดว่าโภคทรัพย์อำนาจและโอกาสเหล่านั้นไปรวมศูนย์หนาแน่นที่สุดอยู่ที่อเมริกาซึ่งกลายเป็นต้นธารของกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันไป

อย่าลืมว่าตึกระฟ้าคู่ในนครนิวยอร์กที่ถูกทำลายมีชื่อว่า World (โลก) Trade (การค้า) Center (ศูนย์กลาง)

และนิตยสาร Time ของอเมริกาฉบับประจำวันที่ 10 กันยายนศกนี้เอง - หนึ่งวันก่อนตึกถล่ม - ยังประกาศอย่างอหังการว่า:-

"สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ตรงหนึ่งในบรรดาจังหวะโชคดีที่หาได้ยากในประวัติศาสตร์เมื่อมันสามารถกำหนดรูปลักษณ์ของโลกได้"

ดังที่ แดเนียล เบนจามิน อดีตสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐสมัยประธานาธิบดีคลินตัน ยอมรับว่า มีคนเป็นล้านๆ จากทวีปแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ แอลจีเรีย มอริทาเนีย ไปจรดฟิลิปปินส์ที่นึกนิยมโอซามา บิน ลาเดน คนเหล่านั้นจำนวนมากยากจน รู้สึกถูกลิดรอนสิทธิ ไม่มีปากเสียงทางการเมือง หงุดหงิดเหลือทนกับตะวันตกและทุเรศรังเกียจวัฒนธรรมอเมริกันที่เข้ามาครอบงำผู้คนและกลุ่มพลังนานาชาติพันธุ์ ศาสนา และอุดมการณ์ ที่ไม่พอใจความเหลื่อมล้ำแห่งโลกาภิวัตน์ และต้องการอิสรภาพจากชะตากรรมที่ต้องตกเป็นสมาชิกตัวเล็กๆ ของโลกที่ถูกยักษ์อเมริกากำหนดรูปลักษณ์จึงพากันต่อต้านคัดค้านขัดขืน ไม่เฉพาะมุสลิมแต่รวมทั้งฮินดู ชาวพุทธ ชาวคริสต์ ไม่เฉพาะคนผิวคล้ำชาวอาหรับ เอเชีย แอฟริกัน ละตินอเมริกัน หากรวมถึงคนหลากสีผิวหลายเชื้อชาติสารพัดสำเนียงภาษาที่ไปชุมนุมประท้วงต่อต้านโลกาภิวัตน์ ณ ซีแอตเติล, ดาวอส, วอชิงตัน ดี.ซี., ลอนดอน, กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ฮาวาย, ปราก, ปอร์โต อาเลเกร, ควิเบก, เจนัว ฯลฯ ในรอบสองปีที่ผ่านมา(ซึ่งหนึ่งในบรรดาปฏิบัติการแรกสุดของพวกเขาคือพังร้านแมคฯในพื้นที่)

พวกเขาส่วนใหญ่ที่สุดเห็นต่างจากโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ด้วยเหตุผลอันชอบธรรมและต่อต้านโลกาภิวัตน์อย่างสันติ การที่คนส่วนน้อยบางกลุ่มเลือกใช้ความรุนแรงกระทั่งก่อการร้ายวินาศกรรมพร่าผลาญชีวิตผู้บริสุทธิ์อย่างโหดเหี้ยม นับเป็นอาการของความไร้อำนาจ (powerlessness) อันเกิดจากถูกลิดรอนอำนาจที่จะเลือก, อำนาจที่จะบอกว่า "ไม่เอา" (disempowerment) เบื้องหน้าโลกาภิวัตน์

ในความหมายนี้ การก่อการร้ายจึงเป็นการลัดวงจรทางการเมือง (the short-circuiting of politics) เพราะพวกเขาพบว่าตัวเองไร้อำนาจที่จะต่อต้านขัดขืนกระแสอันเขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรมตามวิถีทางการเมืองในระบบ เมื่อไม่ยอมตกเป็นเหยื่อ ก็หันไปสวมบทผู้กระทำการด้วยความรุนแรงหรือผู้ก่อการร้ายแทน

หากชาวโลกจะออกจากเขาควาย ญิฮาด vs แมคเวิลด์ ก็จะต้องไม่มองโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่เสมือนหนึ่งกระบวนการธรรมชาติที่เลี่ยงไม่พ้น เปลี่ยนไม่ได้ ได้แต่ยอมจำนนแล้วปรับตัวเต้นเร่าๆ ไปตามเพลงแห่งการแข่งขัน-แพ้/ชนะ-และความไม่เสมอภาคของมัน แต่จะต้องร่วมมือกันหาทางคุมและเปลี่ยนโลกาภิวัตน์ไปสู่สันติภาพและความเป็นธรรมให้ได้ด้วยปัญญา

 


กองทัพอเมริกันโดยการสนับสนุนของนานาชาติ กำลังจะไปทำสงครามกับบุคคลคนนี้ !!!

คลิกไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะจัดให้มีการ

"ถกปัญหาความรุนแรง และสันติภาพโลก"
วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2544 เวลา 14.00 น. ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สนใจ ขอเชิญไปร่วมแลกเปลี่ยนและถกปัญหาดังกล่าวนี้กันในวัน เวลา และสถานที่ข้างต้น

 

 

N
next

midnight's
history

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน รณรงค์เรียกร้องสันติภาพโลก เพื่อความสงบสุขของมนุษยชาติ / จากกรณีเหตุการณ์ถล่มตึก World Trade Center