นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

พจนานุกรมฉบับความรู้เที่ยงคืน
สารพันคำศัพท์ทวนกระแสสังคม(๑)
ภัควดี วีระภาสพงษ์
นักวิชาการอิสระ


บทความเพื่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองทวนกระแส

หมายเหตุ
กลุ่มคำศัพท์เหล่านี้ได้รับมาจากผู้เขียน ซึ่งได้รับการบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของสารานุกรม ม.เที่ยงคืน
ทางกองบรรณาธิการเว็ปไซต์ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 720
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10.5 หน้ากระดาษ A4)




วิจัยคำศัพท์ภาษาอังกฤษร่วมสมัย
กองบรรณาธิการและสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การลำดับคำศัพท์ตามตัวอักษร A-Z (การค้นหาความหมาย ให้คลิกที่คำศัพท์)
(หมายเหตุ: วงเล็บท้ายคำศัพท์ที่เป็นตัวเลข คือลำดับที่ได้รับการ post เช่น world system theory(13) หมายถึงเป็นคำศัพท์ลำดับที่ 13)
หากค้นไม่พบคำศัพท์ที่ต้องการ คลิกไปหน้าเว็ปเพจถัดไปจากที่นี่

Adbusters
Anarcho-syndicalism

Black Flag
Boston Tea Party

Club of Rome
Culture-jamming

Direct-action

Enclosure Movement
Entropy

First Quarter Storm

Hayek, Friedrich August Von

Immiseration theory
Isaac Deutscher

Liberation Theology

Merry Pranksters
Mumia Abu Jamal

Nozick, Robert

Onanism

Piqueteros
Praxis

Richard Wright
Rigoberta Menchu

sub-proletariat

Yippies

Zapatista

สารพันคำศัพท์ทวนกระแสสังคม
คำศัพท์ลำดับที่ 17
Praxis (Oxford Dictionary of Philosophy)
เป็นคำที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอริสโตเติล praxis เป็นหนึ่งในกิจกรรมพื้นฐานสามประการของมนุษย์ (อีกสองประการคือ theoria หรือทฤษฎี และ poi?sis หรือการผลิตด้วยความชำนาญ) praxis ในความหมายของอริสโตเติลครอบคลุมถึงการกระทำโดยสมัครใจหรือมีเป้าหมาย แม้ว่าบางครั้งยังรวมถึงเงื่อนไขที่การกระทำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในตัวมันเอง

ในความหมายของค้านท์ praxis คือการประยุกต์ทฤษฎีเพื่อใช้กับกรณีต่าง ๆ ที่เผชิญในประสบการณ์จริง แต่ยังเป็นความคิดที่มีความสำคัญทางจริยธรรมหรือเหตุผลเพื่อปฏิบัติ (practical reason) กล่าวคือ การใช้เหตุผลเพื่อค้นหาสิ่งที่สมควรซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นอยู่ การที่ค้านท์ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติเหนือทฤษฎีมีอิทธิพลต่อนักปรัชญารุ่นหลังอย่างเช่น ฟิคเต้, เชลลิง และเฮเกล

แต่จวบจนมาถึงมาร์กซ์ แนวความคิดนี้จึงกลายเป็นแกนกลางของอุดมคติทางปรัชญาแนวใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกโดยอาศัยการปฏิวัติ การที่ทฤษฎีมีความสำคัญเป็นรองจากการปฏิบัติ เกี่ยวพันกับการที่เหตุผลไร้ความสามารถในการแก้ไขความขัดแย้ง สิ่งที่จะมาแทนที่เหตุผลในการขจัดความขัดแย้งคือความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์ตามหลักวิภาษวิธี praxis ยังเกี่ยวข้องกับกิจกรรมอันแท้จริงซึ่งเปี่ยมไปด้วยความสำนึกในตัวเองและเป็นอิสระอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามกับการใช้แรงงานอย่างผิดแปลกสภาวะภายใต้ระบบทุนนิยม

คำศัพท์ลำดับที่ 18
E
ntropy
ในทางฟิสิกส์ entropy คือหน่วยวัดพลังงานความร้อนของระบบที่สูญหายไปในกระบวนการเปลี่ยนไปสู่พลังงานกล หรือหน่วยวัดความยุ่งเหยิงหรือความเสื่อมของระบบใดใด

C.P. Snow นักวิทยาศาสตร์และนักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ สรุปกฎ 3 ข้อของทฤษฎีเทอร์โมไดนามิคส์ให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า:
(i) คุณไม่มีทางชนะ (สสารและพลังงานไม่เคยหายไปไหน)
(ii) คุณไม่มีทางเสมอ (ไม่สามารถย้อนกลับไปสู่สภาพของ entropy เดิม เนื่องจากความยุ่งเหยิงหรือความเสื่อมย่อมเพิ่มขึ้นเสมอ)
(iii) คุณไม่มีทางเลิกเล่นเกมนี้ (จุดศูนย์สัมบูรณ์ไม่มีทางเกิดขึ้นได้)

กฎข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิคส์กำหนดว่า ความเสื่อมของระบบใด ๆ มีแต่เพิ่มขึ้น ไม่มีทางลดลง และจักรวาลนี้จะมีการถ่ายเทพลังงานหมดเปลืองไปเรื่อยๆจนถึงจุดที่เรียกว่า 'heat death' เมื่ออุณหภูมิเท่ากันหมดทั่วทั้งจักรวาล

คำศัพท์ลำดับที่ 19
Club of Rome
สโมสรแห่งกรุงโรม (Club of Rome) คือสภาของผู้นำทางธุรกิจนานาชาติ ในปี 1972 คณะนักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) ตีพิมพ์หนังสือชื่อ The Limits to Growth เป็นงานวิจัยที่ได้ทุนสนับสนุนจากสโมสรแห่งกรุงโรมนี้

รายงานนี้สร้างสมมติฐานจากแบบจำลองที่คำนวณโดยคอมพิวเตอร์ โดยพิจารณาแนวโน้มของสังคมเศรษฐกิจระดับโลกหลาย ๆ แนวทาง รายงานนี้สรุปว่าโลกจะถึงจุดเสื่อมทราม ถ้าปล่อยให้จำนวนประชากร การเติบโตของอุตสาหกรรม และมลภาวะที่เพิ่มขึ้น ขยายตัวไปอย่างไม่หยุดยั้ง การผลิตอาหารจะไม่พอเพียงและเกิดการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็น

การหยุดยั้งแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นนี้คือ ต้องปฏิวัติความคิดเสียใหม่ เลิกงมงายกับมายาคติเรื่องความเติบโต ควบคุมการขยายตัวของประชากรให้เหลือศูนย์และลดการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากระบบที่เน้นสินค้าของผู้บริโภคไปเป็นระบบที่เน้นการบริการ

คำศัพท์ลำดับที่ 20
The Enclosure Movement
ขบวนการล้อมรั้วที่ดิน (The Enclosure Movement) ในยุโรปสมัยก่อน ที่ดินที่ใช้ทำกสิกรรมไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของปัจเจกบุคคลคนใดโดยเฉพาะ แต่มีลักษณะเป็นที่ดินส่วนรวมของชุมชน กสิกรแต่ละคนจะจับจองที่ดินคนละหย่อมเพื่อเพาะปลูก แต่เมื่อพ้นฤดูเก็บเกี่ยว คนอื่น ๆ สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินผืนนั้นได้ เช่น เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ

ขบวนการล้อมรั้วที่ดินเพื่อจับจองเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในอังกฤษเริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 12 โดยพวกขุนนางบางกลุ่ม จนมาเสร็จสิ้นเบ็ดเสร็จในศตวรรษที่ 19 เมื่อที่ดินที่ทำกสิกรรมได้ทั้งหมดตกเป็นของส่วนบุคคล ในประเทศอื่น ๆ กระบวนการนี้เริ่มต้นและสิ้นสุดในระยะเวลาที่ต่างกันไป

คำศัพท์ลำดับที่ 21
Hayek, Friedrich August Von 1899-
ฟรีดริช เอากุสต์ ฟอน เฮก (Hayek, Friedrich August Von 1899- ) นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรีย เป็นอาจารย์สอนที่ London School of Economics ช่วงปี 1931-50 เขียนหนังสือชื่อ The Road to Serfdom (1944) วิเคราะห์แนวโน้มไปทางสังคมนิยมของอังกฤษในสมัยนั้น นอกจากนี้มีผลงานเขียนเกี่ยวกับประวัติของทุนนิยมและทฤษฎีทางการเงิน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์คู่กับ Gunnar Myrdal นักเศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดน ในปี 1974 เฮกได้รับสมญานามว่าเป็นหนึ่งในบิดาของสำนักจารีตนิยมใหม่ (Neo-Conservative)

คำศัพท์ลำดับที่ 22
Nozick, Robert
โรเบิร์ต โนซิก (Nozick, Robert) นักปรัชญาการเมืองชาวอเมริกัน มีผลงานสำคัญชื่อ Anarchy, State and Utopia (1974) แนวความคิดของเขามุ่งวิพากษ์วิจารณ์ John Rawls เป็นสำคัญ ปรัชญาการเมืองของโนซิกวางพื้นฐานอยู่บนแนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิ เขาเห็นว่าถ้าความมั่งคั่งของปัจเจกบุคคลได้มาโดยวิธีที่ถูกกฎหมายและไม่ได้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ก็ไม่มีใครมีสิทธิมาแบ่งความมั่งคั่งนั้นไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของ แม้กระทั่งรัฐก็ตาม ดังนั้น การเก็บภาษีคนรวยเพื่อมาช่วยคนจนจึงเป็นข้ออ้างที่ไม่ชอบธรรม เราสามารถขอความเห็นใจจากคนรวยได้ แต่ไม่มีใครมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือคนอื่น

คำศัพท์ลำดับที่ 23
Isaac Deutscher (1907 - 1967) นักประวัติศาสตร์สายนิยมทรอตสกี้ เป็นผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับลัทธิทรอตสกี้ ลัทธิสตาลินและลัทธิเหมา
ดอยท์เชอร์เป็นชาวโปแลนด์ มาจากครอบครัวชนชั้นกลางชาวยิว เขาเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ในปี ค.ศ. 1926 และต่อมาแตกหักทางความคิดกับพรรคเกี่ยวกับนโยบายที่มีต่อลัทธินาซีในเยอรมัน รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการที่โคมินเทิร์นยอมรับแกนนำที่มาจากสายนิยมสตาลิน ดอยท์เชอร์ถูกพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ขับออกในปี ค.ศ. 1932

เขาย้ายไปอยู่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1939 โดยทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ให้ The Economist เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติชีวิตของทรอตสกี้ คือ The Prophet Armed (1952) The Prophet Unarmed (1959) และ The Prophet Outcast (1963) ในช่วงปลายของชีวิต เขาหันมาเขียนประวัติของลัทธิเหมา ดอยท์เชอร์วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิสตาลินและลัทธิเหมาเป็นอย่างมาก ในทัศนะของเขา ทั้งสองลัทธินี้เป็นการบิดเบือนสังคมนิยม เขาวิจารณ์ว่ารัสเซียและจีนเป็น "รัฐชนชั้นแรงงาน" ไม่ใช่สังคมนิยม ผลงานที่มีชื่อเสียงอีกชิ้นหนึ่งของเขาคือ On Socialist Man เป็นงานเขียนทางด้านปรัชญา

คำศัพท์ลำดับที่ 24
Immiseration theory แนวความคิดเกี่ยวกับ "สภาวะเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องของชนชั้นแรงงาน" เป็นแนวคิดที่เดิมทีมาจากริคาร์โด ตามทัศนะของริคาร์โด เมื่อใดที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่เหนือระดับการยังชีพ ชนชั้นแรงงานจะมีลูกมากขึ้น ทำให้กำลังแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงจุดที่ค่าแรงขั้นต่ำลดลงมาอยู่ในระดับของการยังชีพ มาร์กซ์รับเอาแนวความคิดนี้ของริคาร์โดมา แต่ปรับเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ โดยเห็นว่าค่าแรงในระดับยังชีพเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดด้วยปัจจัยทางสังคม-ประวัติศาสตร์มากกว่า

สภาพความเป็นอยู่ที่ดีของชนชั้นแรงงานในซีกโลกเหนือในช่วงศตวรรษที่ 20 ทำให้แนวความคิดเกี่ยวกับสภาวะเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องนี้เกือบจะถูกปฏิเสธและละทิ้งไปโดยสิ้นเชิง แต่หลังจากลัทธิทุนนิยมขยายตัวกลายเป็นลัทธิเสรีนิยมใหม่ สภาพที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ของแรงงานในโลกที่สามทำให้ทฤษฎีนี้ถูกรื้อฟื้นกลับมากล่าวถึงกันอีกครั้ง

กล่าวอย่างคร่าว ๆ ทุนนิยมทำให้เกิดสภาวะเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องของชนชั้นแรงงานเพราะ

1. แนวโน้มที่จะลดต้นทุนด้วยการลดการจ้างงานเป็นอันดับแรก
2. ใช้เครื่องจักรที่ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้นและใช้แรงงานน้อยลง
3. บีบคั้นให้แรงงานที่จ้างอยู่ให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงกว่าเดิม
4. ใช้แรงงานราคาถูก เช่น เด็ก ผู้หญิง นักโทษ ฯลฯ
5. ใช้อำนาจรัฐกีดกันไม่ให้มีการก่อตั้งสหภาพ
6. จ้างแรงงานชั่วคราวหรือทำสัญญาเหมาช่วง

ทุนนิยมมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิด "ประชากรส่วนเกิน" ในตลาดแรงงานขึ้นมา กล่าวคือ แรงงานสำรองจำนวนมหาศาลที่ตกอยู่ในภาวะว่างงานเรื้อรัง ลัทธิเสรีนิยมใหม่ยังทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงระหว่างอุตสาหกรรมในประเทศกับสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศ นอกจากนี้ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ยังพยายามผลักภาระต้นทุนออกไปให้พ้นตัวมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางด้านสวัสดิการแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ สภาพการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้ชนชั้นแรงงาน โดยเฉพาะในโลกที่สาม มีสภาพที่เลวร้ายลง จนแนวคิดเกี่ยวกับ immiseration ถูกรื้อฟื้นกลับมาอีก

คำศัพท์ลำดับที่ 25
Sub-proletariat : ชนชั้นอนุกรรมาชีพ ชนชั้นอนุกรรมาชีพเป็นชนชั้นที่เกิดขึ้นในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ ชนชั้นนี้เป็นแรงงานรับจ้างตามโรงงานอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยทำงานไม่เต็มเวลาหรือทำงานชั่วคราว เช่น พนักงานในร้านแมคโดนัลด์ พนักงานตามร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด หรือคนที่รับงานเป็นรายชิ้นมาทำที่บ้าน แรงงานชนชั้นนี้ต้องดำเนินชีวิตโดยขาดหลักประกันในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าหลักประกันว่าจะมีงานทำถาวร สวัสดิการหรือสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน

คำศัพท์ลำดับที่ 26
Piqueteros ความหมายตรงกับภาษาอังกฤษคือ picketers (คำเรียกนักประท้วงที่ใช้วิธีปิดล้อมทางเข้าออก) คือชื่อของหนึ่งในขบวนการสังคมใหม่ในอาร์เจนตินา ขบวนการปีเกเตโรส์เป็นขบวนการของคนว่างงานหรือกึ่งว่างงานหลายแสนคน จัดตั้งเป็นองค์กรแบบกระจายอำนาจในลักษณะของ "สหพันธ์" โดยมีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ทางการเมืองและยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ขบวนการปีเกเตโรส์มีร่วมกันคือ พวกเขาเป็นตัวแทนของคนจนว่างงานในชุมชนแออัดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะล่มสลายของภาคอุตสาหกรรม พวกเขาเรียกร้องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยวิธีการปิดถนน แต่บางส่วนในขบวนการนี้ พัฒนาไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจในระดับโครงสร้าง

คำศัพท์ลำดับที่ 27
Merry Pranksters กลุ่มคนที่รวมตัวกันโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่นักเขียนนวนิยายชาวอเมริกัน เคน เคซีย์ (Ken Kesey) ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง บ้าก็บ้าวะ (One Flew Over the Cuckoo's Nest) ในช่วงทศวรรษ 1960 คนกลุ่มนี้เดินทางไปทั่วสหรัฐอเมริกาด้วยรถโรงเรียนที่ระบายด้วยสีฉูดฉาดในสไตล์ไซคีเดลิก (psychedelic)

"ชาวพิเรนผู้ครื้นเครง" กลุ่มนี้ยึดมั่นในกัญชาและสารกระตุ้นแอลเอสดีเป็นสรณะ ตลอดทางที่พวกเขาผ่านไป พวกเขาสามารถชักชวนผู้คนให้หันมานิยมวิถีชีวิตแบบเดียวกันนี้ได้ไม่น้อย และเป็นจุดกำเนิดของวงดนตรีชื่อดังในยุคนั้นคือ The Grateful Dead พวกเขาเป็นเสมือนตัวแทนหนึ่งของวัฒนธรรมทวนกระแสแบบฮิปปี้ในยุคนั้น การเดินทางของพวกเขาดำเนินไปจนถึงปี ค.ศ. 1969 โดยมีจุดหมายปลายทางที่เทศกาลวู้ดสต๊อก

คำศัพท์ลำดับที่ 28
Culture-jamming : การยำทางวัฒนธรรม คำนี้เป็นคำที่ใช้กันในขบวนการนักกิจกรรมรุ่นใหม่ ปฏิบัติการยำทางวัฒนธรรมคือ การใช้รูปแบบและวิธีการของสื่อมวลชนกระแสหลักมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวสื่อมวลชนเอง โดยเฉพาะในด้านการโฆษณา แนวคิดของกลุ่มนี้ก็คือ การโฆษณาในยุคนี้ไม่ต่างจากการโฆษณาชวนเชื่อ มันไม่มีเหตุผล การวิจารณ์มันด้วยเหตุผลจึงใช้การไม่ได้ แต่ต้องใช้วิธีการที่ไม่มีเหตุผลพอ ๆ กันมาวิพากษ์วิจารณ์มัน

คำว่า "culture jamming" มาจากคำว่า radio jamming ซึ่งหมายถึงการลักลอบนำคลื่นวิทยุมาใช้เพื่อการสื่อสารอย่างอิสระ หรือรบกวนการใช้คลื่นวิทยุในเชิงธุรกิจ การยำทางวัฒนธรรมถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของขบวนการต่อต้านขัดขืน รูปแบบของมันมีตั้งแต่การนำโลโก้หรือคำขวัญของสินค้ามาล้อเลียนในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงศิลปะแบบเพอร์ฟอร์มานซ์ การเขียนฝาผนัง การแฮ็กทางอินเตอร์เน็ต ฯลฯ Kalle Lasn ผู้ก่อตั้งนิตยสาร AdBusters เคยเขียนหนังสือชื่อ Culture Jam แต่เขาไม่ใช่คนที่คิดค้นคำนี้เป็นคนแรก

คำศัพท์ลำดับที่ 29
Adbusters นิตยสารของกลุ่มนักออกแบบและนักกิจกรรมที่มีเป้าหมายในการล้อเลียนโฆษณาและการสร้างภาพของ "แบรนด์เนม" ชื่อดังต่าง ๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอันตรายของลัทธิบริโภคนิยมและความคลั่งไคล้ในการโฆษณา เว็บไซท์: http://www.adbusters.org/

คำศัพท์ลำดับที่ 30
Black Flag : ธงดำ (Black Flag) เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของลัทธิอนาธิปไตย นอกเหนือจากสัญลักษณ์อักษร A ในวงกลมสีแดง แต่ ธงดำ จะเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันมากกว่า

สีดำ เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิอนาธิปไตยมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1880 ส่วนต้นกำเนิดมีข้อสันนิษฐานว่า สัญลักษณ์ ธงดำ เริ่มมาจากตอนที่อนาธิปไตยต้องการแยกตัวเองให้ชัดเจนจากลัทธิสังคมนิยมซึ่งใช้ ธงแดง เป็นสัญลักษณ์

หนังสือพิมพ์ของชาวอนาธิปไตยฝรั่งเศสใช้ชื่อว่า Le Drapeau Noir แปลว่า ธงดำ มีปรากฏในปี ค.ศ. 1882

- Black International เป็นชื่อของกลุ่มอนาธิปไตยในลอนดอน ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1881
- ในการปฏิวัติรัสเซีย ปี ค.ศ. 1917 กองกำลังกลุ่มอนาธิปไตยเรียกตนเองว่า Black Army และธงดำเป็นธงประจำทัพ
- เอมีเลียโน ซาปาตา ผู้นำการปฏิวัติเม็กซิกันในยุคทศวรรษ 1910 ใช้ธงดำมีรูปกะโหลกกับกระดูกไขว้และพระแม่มารี
- ในญี่ปุ่น กลุ่มอนาธิปไตยออกวารสารชื่อ Kurohata (ธงดำ) ในปีค.ศ. 1945 และ
- ในการประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษาฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤษภาคม 1968 พวกเขาก็ใช้ธงดำและธงแดงเป็นสัญลักษณ์

คำศัพท์ลำดับที่ 31
Boston Tea Party : การประท้วงของชาวเมืองบอสตันต่อรัฐบาลอังกฤษ ในสมัยที่สหรัฐอเมริกายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ การประท้วงครั้งนี้กลายเป็นตำนานที่เชื่อกันว่า เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่นำไปสู่การปฏิวัติอเมริกันและการก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ มีการคว่ำบาตรไม่ซื้อใบชาจากจีนที่นำเข้ามาขายในอเมริกา โดยบริษัทบริติชอีสต์อินเดีย เป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงอเมริกันแสดงบทบาทอย่างมากในเรื่องนี้ ชาวอเมริกันหันไปซื้อใบชาจากผู้ลักลอบนำเข้าที่เป็นชาวอเมริกันแทน ทำให้บริษัทบริติชอีสต์อินเดียประสบภาวะขาดทุน รัฐบาลอังกฤษพยายามเข้ามาช่วย โดยยกเว้นภาษีให้แก่บริษัท ทำให้บริษัทสามารถขายใบชาตัดราคาได้ แต่เรือขนใบชาของบริษัทไม่สามารถเข้าจอดเทียบที่เมืองท่าแห่งไหนในอเมริกา นอกจากที่บอสตัน

ในวันที่ 16 ธันวาคม 1773 ชาวเมืองบอสตันกลุ่มหนึ่งประมาณ 60 คน บุกขึ้นไปทำลายใบชาทั้งหมดในเรือสามลำ โดยไม่ได้ทำลายข้าวของอื่นหรือทำร้ายใคร แต่การกระทำครั้งนี้ทำให้ชาวอเมริกันบางคนไม่พอใจ อาทิเช่น เบนจามิน แฟรงคลิน ถึงขนาดเสนอจะชดเชยค่าใบชาที่ถูกทำลายด้วยเงินส่วนตัวของเขาเอง สุดท้าย บริษัทบริติชอีสต์อินเดียต้องเลิกนำใบชาเข้าไปขายในอเมริกา และแก้ปัญหาหนี้สินด้วยการนำฝิ่นเข้าไปขายที่จีนแทน จนกลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดสงครามฝิ่นครั้งแรกขึ้น

คำศัพท์ลำดับที่ 32
Liberation Theology : เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย (Liberation Theology) เป็นขบวนการทางศาสนาที่เกิดขึ้นในศาสนจักรโรมันคาทอลิกช่วงปลายศตวรรษที่ 20 โดยมีศูนย์กลางอยู่ในละตินอเมริกา ขบวนการนี้พยายามปรับศรัทธาในศาสนาคริสต์ให้หันมาช่วยเหลือคนจนและผู้ถูกกดขี่ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยสนใจปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางสังคมและพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนั้น

นักเทววิทยาแห่งการปลดปล่อยเชื่อว่า พระเจ้าสำแดงวจนะผ่านคนยากไร้เป็นพิเศษ และชาวคริสต์จะเข้าใจพระคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างถ่องแท้ ก็ต่อเมื่อพิจารณาผ่านสายตาของคนยากคนจนเท่านั้น ขบวนการนี้เห็นว่า ศาสนจักรโรมันคาทอลิกในละตินอเมริกามีภารกิจที่แตกต่างจากในยุโรป กล่าวคือ ศาสนจักรในละตินอเมริกา เป็นศาสนจักรของคนยากจนและเพื่อคนยากจน

เพื่อสร้างศาสนจักรให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ ขบวนการจึงก่อตั้ง communidades de base หรือชุมชนฐานราก ชุมชนดังกล่าวประกอบด้วยสมาชิกชาวคริสต์ท้องถิ่น 10-30 คน รวมตัวกันศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิล และช่วยกันแก้ปัญหาของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนอาหาร น้ำ ท่อระบายน้ำ ไฟฟ้า ฯลฯ ชุมชนแบบนี้ผุดขึ้นมากมายทั่วทั้งละตินอเมริกา

ต้นกำเนิดของขบวนการเทววิทยาแห่งการปลดปล่อย มักเชื่อกันว่ามีจุดเริ่มต้นที่การประชุมบิชอปในละตินอเมริกาครั้งที่สองเมื่อปี ค.ศ. 1968 ในการประชุมครั้งนี้ คณะบิชอปออกเอกสารยืนยันสิทธิของคนยากไร้ และกล่าวโทษประเทศอุตสาหกรรมว่ากอบโกยความมั่งคั่งไปจากโลกที่สาม บุคคลสำคัญของขบวนการนี้มีอาทิเช่น

- กุสตาโว กูเตียร์เรซ พระและนักเทววิทยาของเปรู ผู้เขียนหนังสือชื่อ Teologia de la liberacion
(A Theology of Liberation, 1971)
- อาร์คบิชอปออสการ์ อาร์นุลโฟ โรเมโร แห่งเอลซัลวาดอร์ (ถูกลอบสังหารในปี ค.ศ. 1980 โดยกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายขวา)
- เลโอนาร์โด บอฟฟ์ นักเทววิทยาชาวบราซิล, อาร์คบิชอปเอลเดอร์ กาเมรา แห่งบราซิล เป็นต้น

ขบวนการเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อยมีความเข้มแข็งในละตินอเมริกาตลอดช่วงทศวรรษ 1970 แต่เนื่องจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อสู้ทางการเมือง ขบวนการจึงมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งจากฝ่ายคริสตจักรและจากฝ่ายซ้ายสังคมนิยม


ในช่วงทศวรรษ 1990 คริสต์จักรวาติกันภายใต้พระสันตะปาปาจอห์นปอลที่สอง พยายามสกัดอิทธิพลของขบวนการด้วยการแต่งตั้งพระราชาคณะที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมให้มาดำรงตำแหน่งในบราซิล และในประเทศอื่น ๆ ของละตินอเมริกา

คำศัพท์ลำดับที่ 33
First Quarter Storm : พายุเมื่อขึ้น 8 ค่ำ (First Quarter Storm) การประท้วงครั้งใหญ่ในฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ. 1970 โดยนักศึกษา คนงานและชาวนา รวมตัวกันเดินขบวนในเมืองมะนิลาเพื่อประท้วงราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น การคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การเดินขบวนจบลงด้วยการนองเลือดเมื่อรัฐบาลใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง

คำศัพท์ลำดับที่ 34
Rigoberta Menchu : ริโกเบอร์ตา เมนชู (Rigoberta Menchu) นักต่อสู้ทางสังคมเพื่อสิทธิสตรีและชาวพื้นเมืองในกัวเตมาลา เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 1959 ในครอบครัวชาวอินเดียนแดงเผ่ามายาที่ยากจน เธอเริ่มเข้าไปมีบทบาทในกิจกรรมปฏิรูปสังคมของโบสถ์คาทอลิก และขบวนการสิทธิสตรีตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น การที่ครอบครัวของเธอเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม ทำให้พ่อ แม่ และพี่ชายของเธอถูกจับ ทรมานและฆ่าตายอย่างทารุณ

ริโกเบอร์ตายิ่งมุ่งมั่นในการทำกิจกรรม เธอเรียนพูดภาษาสเปนและภาษาอินเดียนแดงเผ่าอื่น ๆ เพิ่มเติม มีบทบาทในการประท้วงครั้งใหญ่ ๆ หลายครั้ง และทุ่มเทให้การศึกษาแก่ชาวนาอินเดียนแดงเพื่อต่อต้านการกดขี่ของรัฐบาลเผด็จการ ในปี 1981 ริโกเบอร์ตาต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศเม็กซิโก และเคลื่อนไหวต่อสู้เพิ่อสิทธิของชาวอินเดียนแดงจากนอกประเทศ ในปี 1983 เธอเล่าประวัติชีวิตของตนเองออกมาเป็นหนังสือชื่อ I, Rigoberta Menchu

คำศัพท์ลำดับที่ 35
Zapatista : ซาปาติสต้า (Zapatista) เป็นกองทัพปฏิวัติที่ก่อตั้งขึ้นในแคว้นเชียปาส ประเทศเม็กซิโก ประกอบด้วยชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองเผ่ามายาเป็นส่วนใหญ่ โดยมีโฆษกหรือวาจกของขบวนการเป็นปัญญาชน อดีตนักปฏิวัติมาร์กซิสต์จากในเมืองและเป็นคนผิวขาว เขาใช้ชื่อสมญานามว่า รองผู้บัญชาการมาร์กอส และใส่หน้ากากสกีปิดโฉมหน้าที่แท้จริงไว้เสมอ ไม่เคยมีใครรู้ชื่อที่แท้จริงของเขา

ขบวนการซาปาติสต้าก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1983 แต่การต่อสู้ของชาวอินเดียนแดงในแถบถิ่นนี้สามารถสืบย้อนกลับไปได้หลายร้อยปี ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1994 ซาปาติสต้าประกาศสงครามกับรัฐบาลเม็กซิกัน อันเป็นวันเดียวกับที่มีการประกาศใช้ข้อตกลงการค้าเสรีเขตอเมริกาเหนือ (NAFTA) ดังที่ซาปาติสต้ากล่าวอยู่บ่อย ๆ ว่า "นาฟต้าคือคำพิพากษาประหารชีวิตพวกเรา" มีการปะทะกับกองทัพเม็กซิกัน ซึ่งสังหารหมู่ประชาชนชาวพื้นเมืองไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก

ต่อมารัฐบาลเม็กซิกันยอมเจรจาหยุดยิง ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้นโยบายที่เอื้อต่อวิถีชีวิตที่ดีขึ้นของชาวพื้นเมือง ฯลฯ แต่ก็ยังมีการปะทะกันและการสังหารหมู่ชาวพื้นเมืองอยู่เนือง ๆ กระนั้นก็ตาม รัฐบาลเม็กซิกันไม่สามารถปราบกองกำลังปฏิวัติในเชียปาสลงได้

ในปี ค.ศ. 2000 เม็กซิโกได้ประธานาธิบดีคนใหม่คือ บีเซนเต้ ฟอกซ์ (Vicente Fox) ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2001 ทัพซาปาติสต้าเริ่มออกเดินทางครั้งสำคัญเพื่อเข้ามาในเมืองเม็กซิโกซิตี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อตกลงก่อนหน้านี้ คณะผู้บัญชาการ รวมทั้งรองผู้บัญชาการมาร์กอสเดินทางเข้ามาถึงเมืองเม็กซิโกซิตีในวันที่ 11 มีนาคม มีประชาชนออกมาต้อนรับถึง 250,000 คน

การเดินทางครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ นอกจากชาวเม็กซิกันที่แห่กันออกมาต้อนรับแล้ว ยังมีนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวจากประเทศอื่นจำนวนมากเข้ามาร่วมขบวน ส่วนหนึ่งเพื่อเป็น "เกราะมนุษย์" ไม่ให้แกนนำของซาปาติสต้าถูกลอบสังหารด้วย

ขบวนการซาปาติสต้าได้รับความสนใจในหลายแง่มุม ขบวนการนี้เป็นกองทัพปฏิวัติของชาวพื้นเมืองก็จริง แต่มีวิธีคิดในลักษณะโลกาภิวัตน์ ไม่ได้มุ่งเรียกร้องแต่ปัญหาเฉพาะถิ่น ยังวิพากษ์วิจารณ์ระบบเสรีนิยมใหม่ และหลายครั้งก็ส่งแถลงการณ์ไปเข้าร่วมกับการประท้วงในระดับนานาชาติ

ซาปาติสต้ารู้จักใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์แก่ขบวนการของตนเอง มีการปรับตัวยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ แม้ว่าจะเป็นกองกำลังติดอาวุธ แต่ก็ไม่ปฏิเสธหนทางสันติวิธีและการเจรจา การจัดตั้งภายในองค์กรเน้นระบบประชาธิปไตยระดับรากหญ้า อาศัยการประชุมและมติที่ประชุมเป็นเกณฑ์ตัดสิน ไม่มีผู้นำแบบหัวขบวน ไม่มีการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ไม่มุ่งยึดอำนาจรัฐ เน้นสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ แนวทางของซาปาติสต้าคือการผสมผสานญาณทัศนะแบบชาวพื้นเมืองกับลัทธิมาร์กซิสต์ แล้วกลับหัวกลับหางทุกอย่างเสียใหม่

รองผู้บัญชาการมาร์กอสจัดว่าเป็นบุคคลไร้หน้า ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง แถลงการณ์ที่เขาเขียนมักมีลักษณะเป็นบทกวี นิทานพื้นบ้าน อารมณ์ขันแบบเจ็บแสบ งานเขียนของเขาถูกนำมารวบรวมเป็นหนังสือหลายเล่ม และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือสำหรับเด็กเล่มหนึ่งชื่อ Story of the Colors ซึ่งได้รับรางวัล Firecracker Alternative Book Award ส่วนเล่มที่มีชื่อเสียงคือ Our Word is Our Weapon

ความน่าทึ่งของขบวนการซาปาติสต้าทำให้แคว้นเชียปาสและป่าลากันดอน ซึ่งเป็นที่ตั้งของขบวนการ กลายเป็นเสมือน "เมกกะ" อีกแห่งหนึ่งที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมของโลกตะวันตกจาริกไปแสวงหาแนวทางการต่อสู้ในโลกยุคใหม่

ข้อมูลเกี่ยวกับซาปาติสต้าที่เป็นภาษาไทย เท่าที่ทราบมีดังนี้คือ
1. นิตยสาร ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2546
2. นาโอมี ไคลน์, "ขบถในเชียปาส" รั้วแห่งการกักกัน หน้าต่างแห่งโอกาส (พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ แปล) สนพ.โกมลคีมทอง, 2546.
3. เว็บไซท์ ปxป "โลก: ในทัศนะของขบวนการชาวนาซาปาติสตา" จุลสารฉบับที่ 31 http://www.pxp.in.th/index.htm

คำศัพท์ลำดับที่ 36
Onanism : การคุมกำเนิดด้วยการหลั่งน้ำกามภายนอก มาจากชื่อของ Onan ซึ่งเป็นบุคคลในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเก่า ในบทปฐมกาล 38: 8-10 โอนันเป็นบุตรชายของยูดาห์ ยูดาห์สั่งให้โอนันไปหลับนอนกับพี่สะใภ้ที่เพิ่งเป็นม่าย อันเป็นธรรมเนียมในสมัยนั้นเพื่อให้พี่ชายที่ตายไปมีทายาทสืบสกุล แต่โอนันรู้ดีว่าลูกที่จะเกิดมาจะมิใช่บุตรของตน เขาจึงปล่อยให้น้ำกามตกดินเสีย พระเจ้าไม่พอพระทัยที่เขาทำดังนี้ จึงประหารเขา ต่อมาคำว่า Onan จึงมีความหมายถึงการสำเร็จความใคร่หรือการคุมกำเนิดที่ให้ผู้ชายหลั่งน้ำกามภายนอก

คำศัพท์ลำดับที่ 37
Direct-action : การท้าทายซึ่งหน้า (direct-action) คำ ๆ นี้น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวความคิดของโจเซฟ-ปิแอร์ พรูดอง ซึ่งเป็นนักคิดคนสำคัญของฝ่ายอนาธิปไตย พรูดองเห็นว่าการดำเนินการทางการเมือง ไม่ควรผ่านช่องทางของรัฐและสถาบันที่มีอยู่เดิม เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับอำนาจของมัน

เดิมที "การท้าทายซึ่งหน้า" มักเชื่อมโยงเข้ากับการใช้ความรุนแรง เช่น การก่อจลาจล แต่ในภายหลัง คำ ๆ นี้ถูกหลาย ๆ ฝ่ายหยิบยืมมาใช้จนแพร่หลายทั่วไป แม้แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรงก็ใช้คำนี้เช่นกัน โดยมีความหมายถึงการต่อต้านขัดขืนที่ไม่อาศัยช่องทางและกระบวนการที่อิงกับอำนาจรัฐ เช่น ไม่ใช้วิธีล้อบบี้ตัวแทนในรัฐสภา แต่ใช้การชุมนุมประท้วง การนัดหยุดงาน การไม่ยอมจ่ายภาษี ฯลฯ นอกจากไม่ให้ความร่วมมือกับอำนาจรัฐและสถาบันเดิมแล้ว ยังพยายามแก้ไขปัญหาโดยตรง โดยไม่สนใจกฎหมายหรือข้อบังคับที่รัฐวางไว้ เช่น การเข้ายึดอาคารร้างเพื่อนำมาเป็นที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน เป็นต้น

คำศัพท์ลำดับที่ 38
Yippies : ยิปปี้ส์ (yippies) เป็นชื่อเล่นของพรรคยุวชนสากล (Youth International Party) ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าในอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1960 พวกเขาจัดการเดินขบวนประท้วงสงครามเวียดนามในปี ค.ศ. 1967 และระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1968 ผู้นำของยิปปี้ส์จัดการแสดงละครข้างถนนล้อเลียนนักการเมือง โดยเสนอผู้สมัครของพรรคยิปปี้ส์เป็นหมูชื่อ Pigasus

"ชาวพื้นเมืองในนครใหญ่" (Metropolitan Indians) เป็นการแต่งตัวล้อเลียนผู้อยู่ในอำนาจโดยนักศึกษากลุ่มหนึ่งในขบวนการนักศึกษาในอิตาลีในปี ค.ศ. 1977

ยุทธการจับจองตึกร้างในเยอรมนีและอิตาลีเป็นขบวนการของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้น ที่บางทีเรียกกันว่าเป็นพวก "พังค์" แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า "autonomists" คนกลุ่มนี้ต่อต้านทุนนิยมและอำนาจรัฐ ต้องการเสรีภาพที่จะดำเนินชีวิตชุมชนในแบบของตัวเอง พวกเขาเข้าจับจองตึกอาคารร้างตามเมืองต่าง ๆ เช่น ปอตสดัมในเยอรมนี นำมาใช้เป็นที่อยู่อาศัย เปิดร้านอาหาร ร้านหนังสือ ร้านเหล้า โรงหนังและสถานีวิทยุ โดยไม่ขออนุญาตจากรัฐ ขบวนการยึดตึกร้างนี้ไม่ได้มีเฉพาะในเยอรมนีและอิตาลี แต่ยังมีในเนเธอร์แลนด์ สกอตแลนด์ โปแลนด์ ฟินแลนด์ เป็นต้น นาโอมี ไคลน์เล่าถึงขบวนการนี้ในอิตาลีไว้ใน "ศูนย์สังคมของอิตาลี" ใน รั้วแห่งการกักกัน หน้าต่างแห่งโอกาส (พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ แปล), สำนักพิมพ์โกมล คีมทอง, 2546.

คำศัพท์ลำดับที่ 39
Anarcho-syndicalism : อนาธิปไตยสหการนิยม (anarcho-syndicalism) ขบวนการอนาธิปไตยที่สนับสนุนให้ชนชั้นแรงงานใช้ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าเพื่อล้มล้างระบอบทุนนิยม รวมทั้งรัฐ และก่อตั้งระบบสังคมใหม่ที่ให้คนงานรวมตัวจัดตั้งในหน่วยการผลิตของตนโดยอิสระ นักคิดในปัจจุบันที่สนับสนุนอนาธิปไตยสหการนิยมอย่างเปิดเผย มีอาทิเช่น นอม ชอมสกี เป็นต้น

คำศัพท์ลำดับที่ 40
Mumia Abu Jamal : มูเมีย อาบู-จามาล เป็นนักหนังสือพิมพ์ผิวดำในรัฐเพนซิลวาเนีย เขาเคยได้รับรางวัลจากการทำข่าวเปิดโปงตำรวจที่ใช้ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อย ในปี ค.ศ. 1982 เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งตายและต้องรอรับโทษประหารชีวิต แต่หลักฐานทั้งในด้านวัตถุพยานและพยานบุคคลที่ศาลใช้พิจารณาคดีมีข้อบกพร่องและอ่อนมาก จนเชื่อกันว่าคำตัดสินของศาลเป็นอคติทางด้านเชื้อชาติ เป็นเหตุให้เกิดขบวนการที่เรียกร้องให้พิจารณาคดีนี้เสียใหม่ ไปจนถึงเรียกร้องให้ปลดปล่อยมูเมียเป็นอิสระ

นอกจากขบวนการของประชาชนแล้ว มีบุคคลสำคัญอีกหลายคนที่พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมให้มูเมีย อาทิเช่น บิชอปเดสมอนด์ ตูตู, เนลสัน แมนเดล่า, รัฐสภายุโรป, นักเขียน อลิซ วอล์คเกอร์, นักแสดง พอล นิวแมน, องค์กรนิรโทษกรรมสากล ฯลฯ แม้ว่ามูเมียต้องถูกคุมขังในคุกมานานถึง 22 ปีแล้ว แต่เขายังมีงานเขียนและส่งสารที่แสดงความห่วงใยถึงปัญหาสังคมอยู่เนือง ๆ

คำศัพท์ลำดับที่ 41
Richard Wright (1908-1960) นักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นชาวอเมริกันผิวดำ เขาเป็นนักเขียนอเมริกันคนแรก ๆ ที่ส่งเสียงประท้วงต่อความไม่เป็นธรรมที่คนขาวปฏิบัติต่อคนผิวดำ จุดประกายให้เกิดนักเขียนผิวดำที่เขียนงานแนวทางนี้เกิดขึ้นอีกหลายคน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ไรท์เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1932 แต่ลาออกเพราะความคิดขัดแย้งในปี ค.ศ. 1944 นวนิยายเรื่องเด่นของไรท์คือ Native Son เคยดัดแปลงเป็นละครเวทีบรอดเวย์โดย ออร์สัน เวลส์.

ไรท์เคยแสดงเป็นตัวเอกของนิยายเรื่องนี้ที่ดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ในอาร์เจนตินาด้วย


 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
R
related topic
301048
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้



คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
อุดมศึกษาบนเว็ปไซต์ เพียงคลิกก็พลิกผันความรู้ ทำให้เข้าใจและเรียนรู้โลกมากขึ้น
สนใจค้นหาความรู้ในสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีน้ำเงิน
สนใจเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีแดง
Liberation Theology : เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย เป็นขบวนการทางศาสนาที่เกิดขึ้นในศาสนจักรโรมันคาทอลิกช่วงปลายศตวรรษที่ 20 โดยมีศูนย์กลางอยู่ในละตินอเมริกา ขบวนการนี้พยายามปรับศรัทธาในศาสนาคริสต์ให้หันมาช่วยเหลือคนจนและผู้ถูกกดขี่ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยสนใจปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางสังคมและพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนั้น

นักเทววิทยาแห่งการปลดปล่อยเชื่อว่า พระเจ้าสำแดงวจนะผ่านคนยากไร้เป็นพิเศษ และชาวคริสต์จะเข้าใจพระคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างถ่องแท้ ก็ต่อเมื่อพิจารณาผ่านสายตาของคนยากคนจนเท่านั้น ขบวนการนี้เห็นว่า ศาสนจักรโรมันคาทอลิกในละตินอเมริกามีภารกิจที่แตกต่างจากในยุโรป กล่าวคือ ศาสนจักรในละตินอเมริกา เป็นศาสนจักรของคนยากจนและเพื่อคนยากจน (อ่านเนื้อความที่สมบูรณ์ข้างล่าง)