The Midnight University
นิติรัฐศาสตร์ ว่าด้วยคนไร้สัญชาติ
ภาวะสิ้นชาติที่รัฐกำหนด-เขาถูกบังคับให้ไร้สัญชาติ
สมชาย
ปรีชาศิลปกุล
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความเพื่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับคนชายขอบ
หมายเหตุ
ชาวเขา (หรือที่เรียกกันในภาษาของหน่วยงานราชการว่าบุคคลบนพื้นที่สูง)
เป็นกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งที่เผชิญกับภาวะของการเป็นคนไร้สัญชาติ
การมี/ไม่มีสัญชาตินั้นมีความหมายสำคัญต่อการดำรงชีวิตอยู่ของผู้คนในห้วงเวลาปัจจุบัน
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 714
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 5 หน้ากระดาษ A4)
เขาถูกบังคับให้ไร้สัญชาติ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
๑.
ชาวเขา (หรือที่เรียกกันในภาษาของหน่วยงานราชการว่าบุคคลบนพื้นที่สูง) เป็นกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งที่เผชิญกับภาวะของการเป็นคนไร้สัญชาติ
การมี/ไม่มีสัญชาตินั้นมีความหมายสำคัญต่อการดำรงชีวิตอยู่ของผู้คนในห้วงเวลาปัจจุบัน
หากปราศจากสัญชาติแล้วบุคคลก็อาจไม่มีความมั่นคงของการมีชีวิตอยู่ภายในรัฐ
สภาความมั่นคงแห่งชาติและสำนักทะเบียนกลาง
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ประเมินเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 ว่ากลุ่มคนไร้สัญชาติในประเทศไทยมีทั้งหมด
5 กลุ่ม คือ
- กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง (ชาวไทยภูเขา)
- กลุ่มที่อพยพมาจากนอกประเทศแต่อาศัยในประเทศไทยมายาวนาน
- กลุ่มคนที่ทางราชการได้สำรวจและจัดทำระบบทะเบียนและควบคุมและผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราว
- กลุ่มผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ และแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และ
- กลุ่มคนที่ไม่ทราบที่มา
กลุ่มที่สามเป็นชาวเขาอพยพเข้ามาหลัง
3 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ซึ่งจะถือว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย คนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับสิทธิหรือสถานะใดๆ
เพราะถือว่าเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง
การจำแนกสถานะของชาวเขาออกเป็น 3 กลุ่มเช่นนี้ ในด้านหนึ่งก็ดูจะเป็นการสอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่า
ในอดีตการตั้งถิ่นฐานที่อยู่ของชาวเขาหลายกลุ่มมิได้มีลักษณะที่เป็นการถาวร
แต่มีลักษณะของการอพยพเกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งจากเหตุผลตามประเพณี การหลบหนีจากภัยธรรมชาติหรือแม้กระทั่งจากภัยสงคราม
เช่นเดียวกับชาวเขาที่ปัจจุบันพักอาศัยในประเทศไทย บางกลุ่มเป็นชาวเขาที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมในดินแดนของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง
บางกลุ่มอาจมีการอพยพข้ามพรมแดนไปมาก่อนที่อำนาจรัฐจะมีความเข้มแข็งขึ้น จึงได้ตั้งถิ่นฐานถาวรลงในประเทศไทย
บางส่วนอาจเป็นชาวเขาใหม่ที่เพิ่งโยกย้ายเข้ามา
สถานะของชาวเขาที่ได้รับการจัดแบ่งโดยหน่วยงานรัฐ จึงน่าจะเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับความเป็นจริงและหลักกฎหมายในเรื่องสัญชาติ เพราะมิใช่ว่าชาวเขาทุกคนจะต้องเป็นคนที่ได้รับสิทธิของการถือสัญชาติไทย ถ้าเป็นชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่นและเพิ่งเข้ามาในประเทศไทยก็ย่อมไม่ได้รับสัญชาติอย่างแน่นอน
จากการสำรวจของทางสภาความมั่นคงและสำนักทะเบียนกลางระบุว่ามีชาวเขาที่จัดเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองมาใหม่จำนวน
220,527 คน (ตัวเลขนี้ต่างจากการประเมินขององค์กรพัฒนาเอกชนที่มีจำนวนมากกว่า)
ที่จะไม่ได้รับสิทธิและสถานะใดๆ เลย
คำถามที่สำคัญก็คือว่ากลุ่มคนทั้งหมดนี้เป็นชาวเขาที่เพิ่งอพยพเข้ามาใหม่จริงหรือ
๒.
ตามหลักกฎหมายเรื่องสัญชาติของไทย บุคคลที่เกิดในประเทศไทยนับตั้งแต่ พ.ศ.
2456 มาจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2515 จะได้รับสัญชาติไทยโดยไม่พิจารณาว่าบิดาหรือมารดาจะเป็นคนไทยหรือไม่
จะเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายหรือไม่ก็ไม่เป็นเงื่อนไขในการตัดสิทธิไม่ให้ได้รับสัญชาติ
ลำพังการเกิดในประเทศไทยก็จะทำให้ได้รับสัญชาติไทยทันที อันเป็นการได้รับสัญชาติตามหลักดินแดน
(jus soli)
หากพิจารณาในทางกฎหมาย ชาวเขาทุกคนที่เกิดในประเทศไทยก่อน พ.ศ. 2515 ก็ย่อมได้รับสัญชาติไทยทันที ดังนั้นการจำแนกสถานะของชาวเขาตามที่ทางหน่วยงานได้กระทำจึงสอดคล้องกับหลักกฎหมายในเรื่องสัญชาติ
แต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติการแยกแยะว่าบุคคลใดที่ถือกำเนิดขึ้นในหรือนอกประเทศไทยสำหรับชาวเขาเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย
ความสามารถของรัฐไทยในการเข้าถึงประชาชนกลุ่มที่เป็นชาวเขานั้นมีอยู่อย่างจำกัดในอดีต อันเนื่องมาจากถิ่นที่อยู่ของชาวเขาอยู่ห่างไกลจากเส้นทางคมนาคมซึ่งทำให้ความเป็นอิสระของชาวเขามีอยู่สูงจากอำนาจรัฐ และนอกจากนี้สงครามภายในระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เพิ่งยุติลงกลางทศวรรษ 2520 ก็ยิ่งทำให้ความสามารถของรัฐในการควบคุมชาวเขาเป็นไปได้อย่างลำบาก
การสำรวจประชากรของชาวเขานั้นเริ่มต้นกระทำกันอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. 2512-2513 ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ตอนล่าง สามารถกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีความพยายามในการสำรวจและจัดทำเอกสารบ่งชี้ในเชิงตัวบุคคล เพื่อให้ทราบว่าบุคคลใดที่ผ่านการสำรวจ อย่างไรก็ตามการสำรวจครั้งนี้ยังคงมีความหละหลวมเนื่องจากเป็นการสำรวจลงแบบพิมพ์และมิได้มีการถ่ายรูปไว้ จึงทำให้อาจเกิดความคลาดเคลื่อนหรือผิดพลาดได้เมื่อระยะเวลาผ่านไปยาวนาน
การสำรวจชาวเขาครั้งต่อมาเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528-2531 หรือที่เรียกว่า "โครงการสิงห์ภูเขา" โดยกรมประชาสงเคราะห์ทำการสำรวจในพื้นที่ 18 จังหวัด แต่การสำรวจครั้งนี้ก็ไม่แตกต่างจากครั้งก่อนที่เป็นเพียงการสำรวจชื่อและบุคคลในครอบครัวเท่านั้น
การสำรวจชาวเขาที่มีการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวของชาวเขา ที่สามารถบ่งชี้สำหรับปัจเจกบุคคล ซึ่งยากต่อการเปลี่ยนมือหรือแอบอ้างตัวบุคคลได้ยาก เพิ่งปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้การดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติ และวางบัตรประจำตัวบุคคลบนที่สูง (หรือที่เรียกกันว่า "บัตรสีฟ้า") ใน 20 จังหวัดที่มีชาวเขา โดยดำเนินการในช่วงระยะเวลาระหว่าง พ.ศ 2533-2534 อันเป็นการสำรวจและจัดทำทะเบียนที่มีรูปถ่ายของผู้ได้รับการสำรวจ
๓.
ภายหลัง พ.ศ. 2515 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลักกฎหมายเรื่องสัญชาติ คณะปฏิวัติที่นำโดยจอมพลถนอม
กิตติขจรได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับ 337 (ปว. 337) มีเนื้อหาจำกัดสิทธิการได้สัญชาติของบุคคลที่เกิดในประเทศไทยที่เคยเป็นมาแต่เดิม
โดยนับจากนี้ไปเพียงการเกิดในประเทศไม่เป็นผลให้บุคคลนั้นได้สัญชาติไทย
คำสั่งคณะปฏิวัติฉบับนี้เป็นผลจากสถานการณ์การเมืองในภูมิภาคระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยความเกรงกลัวว่าจะมีการแทรกซึมเข้ามาในประเทศโดยการแต่งงานของคนต่างด้าวกับชายไทย และอาจเป็นการบ่อนทำลายประเทศต่อไปในอนาคตตามคำปรารภของ ปว.337 ว่า
"บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือบิดา หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่เพียงชั่วคราว หรือเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย บุคคลเหล่านี้แม้จะมีสัญชาติไทย แต่ก็มิได้มีความจงรักภักดีต่อประเทศไทย เพื่อป้องกันและรักษาความมั่นคงแห่งชาติ สมควรมิให้บุคคลดังกล่าวมีหรือได้สัญชาติไทยอีกต่อไป"
เป้าหมายของ ปว. 337 จึงมุ่งจำกัดสิทธิในการได้สัญชาติของบุคคลที่เป็นบุตรคนต่างด้าวและเข้าเมืองมาในลักษณะไม่ถาวร ที่ทางรัฐพิจารณาแล้วว่าอาจเป็นภัยต่อประเทศชาติ ดังนั้น ในกรณีสำหรับกลุ่มชาวเขาแล้ว จึงไม่เข้าข่ายที่จะถูกจัดอยู่ในข้อจำกัดตาม ปว. ฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นชาวเขาที่อยู่มาดั้งเดิม และถือกำเนิดภายในประเทศไทยก่อนหน้า พ.ศ. 2515 ก็ย่อมได้สิทธิในการถือสัญชาติไทยอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ได้เกิดปัญหาขึ้นในทางปฏิบัติว่าเมื่อจะมีการให้สัญชาติแก่ชาวเขาเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทางหน่วยงานของรัฐก็ต้องคำนึงด้วยว่าบุคคลเหล่านี้ได้ถือกำเนิดขึ้นประเทศไทยก่อน พ.ศ. 2515 หรือไม่ หรือถือกำเนิดขึ้นจากบุคคลที่เป็นคนต่างด้าวตามที่เป็นข้อจำกัดใน ปว. 337 หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากว่า จะอาศัยหลักฐานอะไรมาเป็นเงื่อนไขในการพิสูจน์ถึงสถานะของการเป็นชาวเขาดั้งเดิมที่อยู่ติดแผ่นดิน
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าหลักฐานของทางหน่วยงานที่จะออกให้แก่ชาวเขาในประเทศไทยที่สามารถบ่งชี้ถึงตัวบุคคลได้อย่างชัดเจนก็เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533-2534 และก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ได้รับการสำรวจจะได้รับเอกสารยืนยันถึงความเป็นชาวเขาดั้งเดิม
แม้กฎหมายจะให้สิทธิในการถือสัญชาติไทย แต่เมื่อปราศจากหลักฐานพิสูจน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานทางราชการ (ที่ก็ไม่มีอยู่ในความเป็นจริง) เมื่อไม่มีหลักฐานยืนยันถึงความเป็นชาวเขาดั้งเดิม จึงมีผลทำให้ชาวเขาเป็นจำนวนนับแสนคนถูกจัดกลุ่มอยู่ในสถานะของชาวเขาผู้อพยพเข้ามาใหม่ บางคนอาจได้สถานะต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย ขณะที่บางส่วนไม่ได้รับสถานะใดเลย
๔.
เมื่อนึกถึงชาวเขา สำหรับสังคมไทยแล้วส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าสาเหตุที่บุคคลเหล่านี้ไม่มีสัญชาติเป็นเพราะบุคคลเหล่านี้
"ไม่ใช่คนไทย" แต่ในความเป็นจริงบนดินแดนของประเทศไทย มีคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่มาเป็นเวลานาน
และหากพิจารณาตามหลักกฎหมายเรื่องสัญชาติก็ควรมีสิทธิได้รับสัญชาติไทย
แต่เพราะข้อจำกัดบางประการ เฉพาะอย่างยิ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้วความสามารถของรัฐไทยในการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ห่างไกลยังอยู่ในระดับที่ต่ำ รวมทั้งรัฐไทยเองก็ยังไม่ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดทำเอกสารทางทะเบียน เพื่อจำแนกแยกแยะบุคคล ดังนั้นแม้ ปว.337 จะมุ่งเน้นการจำกัดการให้สัญชาติแก่บุคคลที่อพยพหลบหนีเข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติก็เกิดปัญหาในการจำแนกแยกแยะบุคคลเหล่านี้มิใช่น้อย
ข้อจำกัดดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในหน่วยงานของรัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชาวเขา คณะอนุกรรมการชาวเขาสาขาการปกครองและการทะเบียน ได้มีความเห็นต่อการจัดการทางทะเบียนแก่ชาวเขาเมื่อ 8 พ.ค. 2516 ว่า
"ชาวเขาส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรกรากอยู่ในเขตแดนของประเทศไทยเป็นเวลาช้านานแล้ว ตามหลักกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ชาวเขาเหล่านั้นก็เป็นคนไทยหรือมีสัญชาติไทยอยู่แล้ว ชาวเขาเหล่านี้จะมีข้อบกพร่องตรงที่มิได้มีชื่อในทะเบียนบ้านเท่านั้น ซึ่งข้อนี้ก็ไม่ใช่ความผิดของชาวเขา หากแต่ว่าทางราชการไม่อาจส่งเจ้าหน้าที่ออกไปปกครอง ควบคุม ดูแลให้ถึงที่อยู่ของชาวเขาต่างหาก"
การจะเป็นไทยหรือไม่เป็น จึงอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุผลว่าเป็นคนไทยหรือไม่ หากเป็นเพราะว่าเขาเหล่านั้นถูกบังคับจากอำนาจรัฐ และช่องว่างของกฎหมายให้กลายไปเป็นคนไร้สัญชาติ
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ภายหลัง พ.ศ. 2515 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลักกฎหมายเรื่องสัญชาติ
คณะปฏิวัติที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจรได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับ 337 (ปว.
337) มีเนื้อหาจำกัดสิทธิการได้สัญชาติของบุคคลที่เกิดในประเทศไทยดังนี้
"บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
หรือบิดา หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่เพียงชั่วคราว
หรือเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย บุคคลเหล่านี้แม้จะมีสัญชาติไทย แต่ก็มิได้มีความจงรักภักดีต่อประเทศไทย
เพื่อป้องกันและรักษาความมั่นคงแห่งชาติ สมควรมิให้บุคคลดังกล่าวมีหรือได้สัญชาติไทยอีกต่อไป"