ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
071048
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 694 หัวเรื่อง
ปัญหาการจัดการทรัพยากรภาคใต้
งาน เสวนาโครงการตลาดวิชา
มหาวิทยาลัยชาวบ้าน
บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's free article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 30,779 สูงสุด 51,792 สำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม


คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

วิกฤตในการจัดการทรัพยากร ๓ จังหวัดภาคใต้
โจรสลัดทรัพยากร: ต้นตอของปัญหาชายแดนใต้
โครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน

ครั้งที่ ๑
วันเสาร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๘


เรื่อง
วิกฤตในการจัดการทรัพยากร ๓ จังหวัดภาคใต้
ห้องประชุม ศศ.๒๐๑ อดุลวิเชียรเจริญ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดย
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์
คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์,
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
สนับสนุนโดย สสส.

เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 14.5 หน้ากระดาษ A4)




มองความเปลี่ยนแปลงผ่านสายตานักวิจัยชาวบ้านและคนในพื้นที่

ราณี หัสสรังสี
คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แนะนำ "คณะทำงานวาระทางสังคม กรณี ๓ จังหวัดภาคใต้"
คณะทำงานวาระทางสังคมเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรชาวบ้าน ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรณี ๓ จังหวัดภาคใต้ โดยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ทำงานเอง ในการเข้าใจสถานการณ์ที่ซับซ้อนและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมไทยโดยส่วนรวม เพราะฉะนั้น คณะทำงานวาระทางสังคมจึงเห็นว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องเปิดกว้างทางความคิดและจิตใจ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แนะนำโครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน
มหาวิทยาลัยชาวบ้านนี้ได้แนวความคิดมาจากคำประกาศแต่งตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยย่อมบำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา"

นั่นคือปรัชญาของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๗๗ เป็นต้นมา หลังจากนั้นมาธรรมศาสตร์ก็เปลี่ยนมาเป็นมหาวิทยาลัยปิด แทนมหาวิทยาลัยเปิดในยุคแรก จนกระทั่งในวาระครบรอบ ๓๐ ปีของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๑๖ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ซึ่งก่อตั้งโดย ท่านอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสมาคมจดหมายเหตุไทยได้จัดโครงการตลาดวิชาขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากที่หยุดกิจกรรมไปตั้งแต่การเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ในครั้งนั้น แม้ปัจจุบันนี้ผมคิดว่า ความคิดปรัชญาการศึกษานั้นก็น่าจะยังจำเป็นอยู่ จึงคิดที่จะพยายามขยายกิจกรรมนี้ต่อไป

ในปัญหาเรื่อง ๓ จังหวัดภาคใต้ก็เป็นเรื่องเร่งด่วนอันหนึ่ง ที่โครงการตลาดวิชาได้ให้ความสนใจร่วมกับองค์กรหลากหลายเช่น คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเชียงใหม่ ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และนี่คือองค์กรที่จะมาศึกษาร่วมกันเกี่ยวกับเรื่อง ๓ จังหวัดภาคใต้

ในเรื่องของวิกฤตใน ๓ จังหวัดภาคใต้นั้น ผมได้มีโอกาสไปสัมมนาที่ มอ.ปัตตานีร่วมกับคณะของอาจารย์วรวิทย์ บารู และคณะกรรมการ กอส. ผมถามถึงแนวทางสร้างสันติภาพในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ ทำให้ผมได้รับทราบว่า มิติของการค้นคว้าทางด้านสร้างสันติภาพเรายังขาดความเข้าใจ ยิ่งในส่วนของภาครัฐยิ่งไม่เข้าใจใหญ่เลย รวมไปถึงผู้ที่ให้การสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนง ท่ามกลางความหลากหลายและความสับสนในสถานการณ์ ผมคิดว่าน่าจะมีการร่วมกันดูหนทางและแนวทางบางอย่างที่จะค่อย ๆ ให้ความกระจ่างแล้ว ให้ความเป็นไปได้ของการคลี่คลาย ในทางแก้ไขมันเป็นเรื่องที่ยากที่จะพูดในตอนนี้ แต่เราก็ยังสามารถเข้าสู่หนทางในการคลี่คลายอะไรบางอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญ

ดังนั้นโครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้านที่จัดขึ้นมาในครั้งนี้ และจะจัดอีกต่อไป ก็หวังว่าจะได้เข้ามาช่วยกันทำให้ข้อมูลความเข้าใจในปัญหาและวิธีต่าง ๆ เป็นรูปเป็นร่างที่จับต้องได้ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ทั้งส่วนที่เป็นเหยื่อ หรือผู้กระทำในสถานการณ์และในส่วนที่รับรู้ในสถานการณ์ เราต้องมีความร่วมมือกันในทุกๆด้าน ที่จะช่วยกันผลักดันเพื่อที่จะคลี่คลายวิกฤตการณ์นี้ออกไป นี่คือความมุ่งหวังของโครงการตลาดวิชาฯ ในระยะต่อไปของเรา

เพราะฉะนั้นผมหวังว่า การสัมมนาและการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ของเราจะออกดอกออกผลอย่างมีคุณูปการ ในการสร้างความเข้าใจที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เราไม่อาจรู้ทุกอย่างและทราบคำตอบทุกอย่าง แต่เราก็ควรจะมองได้ว่าอะไรคือทิศทางของความเป็นจริง และความน่าจะเป็นไปที่ทุกคนควรรับรู้

ราณี หัสสรังสี
ผู้ประสานงานคณะทำงานวาระทางสังคม กรณี ๓ จังหวัดภาคใต้

โครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน ครั้งที่ ๑ จะได้นำเสนอการเสวนาเรื่อง "วิกฤตในการจัดการทรัพยากร ๓ จังหวัดภาคใต้" ซึ่งจะมีวิทยากรในพื้นที่ที่มีความรู้และนักวิชาการมาร่วมให้ความเห็น ในช่วงเช้า จะเป็นการมองความเปลี่ยนแปลงผ่านสายตานักวิจัยชาวบ้านและคนในพื้นที่ ส่วนในช่วงบ่ายจะเป็นนักวิชาการ และนักนโยบายที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยน

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
หัวหน้าโครงการท้องถิ่นศึกษา คณะทำงานวาระทางสังคมกรณี ๓ จังหวัดภาคใต้

ในช่วงเช้านี้เราจะมามองความเปลี่ยนแปลงจากสายตานักวิจัยชาวบ้านทั้ง ๔ ท่าน ซึ่งจะเป็นการให้ความรู้จากบุคคลที่มีประสบการณ์ตรงจริง ๆ จากพื้นที่ ลำดับแรกอยากจะแนะนำท่านผู้ร่วมอภิปราย คือท่านกอเซ็ง อาบูซิ ท่านเป็นชาวประมงน้ำจืดแห่งพรุลานควาย ท่านจะมาพูดเรื่องพรุว่า ป่าพรุคืออะไร และนิเวศวิทยาที่สำคัญเกี่ยวกับพรุกับชาวบ้านเป็นอย่างไร คุณกอเซ็งท่านพักอยู่ที่ตำบลท่าคง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา จากข่าวสถานการณ์ทางทีวีเมื่อคืนก็ยังมีข่าวการเกิดเหตุการณ์ที่ตำบลท่าคงด้วย

ท่านต่อไปคือคุณมะรอนิง สาและ เราจะเรียกท่านว่า "เจ๊ะครู" ซึ่งเป็นตำเหน่งครูสอนศาสนาในโรงเรียนตาดีกา ซึ่งก็คือโรงเรียนสอนศาสนาเด็กเล็ก อยู่ที่บ้านดาโต๊ะในอ่าวปัตตานี คุณมะรอนิงมีประสบการณ์ในการทำวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศน์รอบอ่าวปัตตานี มีข้อมูลเกี่ยวกับอ่าวปัตตานีดีมาก คุณมะรอนิงนอกจากท่านจะเป็นเจ๊ะครูในโรงเรียนตาดีกา บ้านดาโต๊ะแล้ว ก็ยังเป็นคณะกรรมการบริหารกลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานีด้วย วันนี้เราจะได้รับฟังข้อมูลว่าทรัพยากรในอ่าวปัตตานีนั้น ได้ถูกเปลี่ยนแปลงหรือมีผลกระทบอย่างไรบ้าง

ท่านต่อไปคือคุณมะดานิง อารียู ท่านเป็นปราชญ์ชาวบ้านและเป็นแกนนำในการรักษาแม่น้ำสายบุรี ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนก็มีบทบาทความเคลื่อนไหวที่สูงมาก และท่านยังเป็นคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยผู้นำชุมชนด้วย ที่เราเรียกว่าสภาปราชญ์ชาวบ้านซึ่งเพิ่งตั้งเมื่อไม่กี่เดือนนี้เอง ท่านเป็นคนยะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตเทือกเขา ภูเขา นอกจากนั้นแล้วท่านยังได้ทำการวิจัยเมื่อประมาณเมื่อ ๒ - ๓ ปีที่แล้วเรื่องเกษตรยั่งยืน ผักพื้นบ้านในเขตป่าพรุและเทือกเขา โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญมากคือเรื่องของสวนดุซง ซึ่งเราจะมาฟังกันว่าการมีชีวิตอยู่ในเขตเทือกเขาบูโด เทือกเขาสันกาลาคีรี และในเขตสวน ในป่าพรุ จะมีชีวิตอย่างไรบ้าง และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเหล่านั้นอย่างไร

นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังเป็นคณะกรรมการดูแลพืชและสัตว์ท้องถิ่น ในพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ และยังเป็นคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่นของ ๕ จังหวัดภาคใต้ด้วย

อีกท่านหนึ่งคือคุณสะมาแอ เจ๊ะมูฎอ ท่านเป็นเลขาธิการสหพันธ์ประมงพื้นบ้าน เป็นคนปานาเละ จังหวัดปัตตานี แต่ตอนนี้งานหนักของท่านมาที่แถวอันดามัน เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้น จึงต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของประมงพื้นบ้านในเขตอันดามัน ท่านจะมาให้ภาพรวมเกี่ยวกับปัญหาและการพัฒนาในเขต ๓ จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝังทะเลในเขตอันดามันและปัตตานีด้วย

ในช่วงแรกเราจะได้รับฟังท่านผู้มีประสบการณ์ตรง ซึ่งจะมีวิธีการพูดที่แตกต่างไปจากที่อื่น เนื่องจากท่านจะพูดออกมาจากประสบการณ์จริงโดยตรงจากใจ เวลาที่เราเข้าไปทำงานในพื้นที่โดยเฉพาะที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ ปัญหาอย่างหนึ่งที่เห็นชัดมากกว่าเรื่องความขัดแย้งทางศาสนา หรือเหตุการณ์รุนแรงทางภาคใต้ก็คือ เป็นเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ตรงนี้เป็นการกระทบกระเทือนแก่คนและสังคมในพื้นที่อย่างมาก ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดที่มีผลกระทบกับชาวบ้าน

จากการเปรียบเทียบกับการทำงานในภาคอื่นๆกับคนใน ๓ จังหวัดภาคใต้ เราจะเห็นชัดว่าชีวิต วัฒนธรรม และศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเนื้อตัวของผู้คนเหล่านั้น ดังนั้นมันจะแยกกันออกไม่ได้จากระบบความเชื่อ ศาสนา และการดำรงชีวิต การทำมาหากินของพวกเขา ซึ่งมันโยงใยสัมพันธ์กันจนแบ่งแยกไม่ออก ฝ่ายรัฐบาลที่มองเข้ามาหรือพวกเราที่มองเข้ามานั้นเปรียบเหมือนนก แต่คนที่มีชีวิตจิตใจอยู่ ตรงนั้น ผ่านร้อนผ่านหนาวตรงนั้นมา เขาคิดอะไร สิ่งเหล่านี้จะได้รับการสะท้อนออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งอาจารย์ศรีศักร ท่านเรียกว่า เป็นการมองผ่านสายตาแบบหนอน การมองของนกกับหนอนแตกต่างกันชัดเจน จึงเป็นโอกาสที่หายากที่เราจะได้ฟังจากท่านที่มาจากพื้นที่โดยตรง

ในลำดับนี้เราจะคุยกันเรื่องทะเลก่อน โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเล ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อชุมชนรอบอ่าวและชายฝั่งทะเลภาคใต้ อีกส่วนเราจะคุยเรื่องภูเขา ตอนนี้ขอเชิญเจาะจงไปที่บ้านดาโต๊ะก่อน คือเจ๊ะครูมะรอนิงเป็นท่านแรก

มะรอนิง สาและ
นักวิจัยชาวบ้าน
เรื่อง "ระบบนิเวศน์อ่าวปัตตานีนิเวศน์ชายฝั่ง"

ขอสวัสดีทุกๆท่าน ผมขอขอบคุณผู้ดำเนินรายการ ท่านอาจารย์จากหลายหน่วยงาน และท่านอาจารย์ศรีศักรที่เปรียบเสมือนพ่อของผมในวันนี้ เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมที่ได้มาธรรมศาสตร์และได้มีโอกาสพูดคุยให้ท่านได้ฟัง ซึ่งคงไม่มีโอกาสได้บ่อยครั้งนัก นับว่าเป็นโชคดีของชาวบ้านคนหนึ่ง ในวันนี้ผมอยากคุยในเรื่องของอ่าวปัตตานี ระบบนิเวศน์อ่าวและชายฝั่ง เรื่องเหล่านี้ผมเคยพูดมาหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นที่ปัตตานีเอง จึงเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากที่ผมได้มาพูดที่กรุงเทพฯ หลายท่านอาจได้ยินได้ฟังเรื่องเหล่านี้จากสื่อต่างๆและนักวิชาการซึ่งมีมุมมองที่แตกต่างจากชาวบ้าน ผมจะพูดในมุมมองของชาวบ้านหากผิดพลาดก็ขออภัยด้วย เพราะมุมมองของชาวบ้านอาจไม่ตรงกันกับมุมมองของนักวิชาการก็ได้ ผมขอแบ่งเป็นหัวข้อหลักๆอยู่ 3 หัวข้อที่ทำให้กระทบต่อระบบนิเวศน์ของอ่าว

1. การพัฒนาของภาครัฐเพื่อตอบสนองการตลาดการพาณิชย์ เมื่อมีการตลาดเกิดขึ้น รัฐก็มีความพยายามที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกในเรื่องของสัตว์น้ำติด ๑ ใน ๑๐ ของโลก และมีเรื่องอื่นๆอีกมากมายในการพัฒนาอ่าวปัตตานีอย่างเช่นกรณีโรงงาน ผมขอย้อนอดีตเมื่อก่อนว่ามีความอุดมสมบูรณ์ในอ่าวปัตตานีอย่างไร ผมมาจากภูเขา มาอยู่ปัตตานีได้ประมาณ ๗ ปี ได้พบได้เห็นการทำมาหากินของชาวประมง ย้อนกลับไปสัก ๒๐ ปีตอนนั้นผมก็เริ่มไปประกอบอาชีพชาวประมงที่บ้านดาโต๊ะแล้ว ผมทำงานประกอบอาชีพเบ็ดราวปลาดุก ผมได้วันละ ๑,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาทเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว แต่ ณ.ปัจจุบันชาวบ้านเขาบอกว่าจะเอามาทำยาก็ยากเพราะว่ามันไม่มี มันหายากมาก

สิ่งที่ปลาดุกหายอาจจะมาจากคนนอกถิ่นที่มาเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนปัตตานี อย่างเช่นคนปัตตานีสมัยก่อนเวลาเขาตกเบ็ด ปลาตัวเล็กๆเขาจะไม่เอา เขาจะปล่อยไป แต่หลังจากที่คนจากแหล่งข้างนอกเข้ามา ซึ่งมีคนมาทั้งจากสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สงขลาเข้ามาอยู่ ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวปัตตานีเปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งปลาขนาดเท่าหัวแม่เท้าก็ยังเอา สิ่งเหล่านี้ถือว่าทำลายชีวิต ทำลายนิเวศน์โดยเฉพาะนี่เป็นจุดเริ่มเสื่อม

ส่วนโรงงานที่มาตั้งก็มีส่วนทำลายอย่างมาก เป็นที่น่าแปลกว่าโรงงานส่วนใหญ่ชอบมาตั้งใกล้กับเกาะ ใกล้กับทะเล อย่างเช่นโรงงานในเขตอุตสาหกรรมปัตตานีเกิดขึ้น ๓๐๐ กว่าโรง แต่เราประกาศเป็นแค่เขตอุตสาหกรรม ซึ่งคุณจินตวดี หัวหน้าทรัพยากรธรรมชาติท่านจะทราบดี ท่านเคยบอกว่าโรงงานเหล่านี้เราไม่สามารถบังคับให้เขาบำบัดน้ำเสียได้ เพราะเป็นเพียงแค่เขตอุตสาหกรรมไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม

นับเป็นเรื่องที่แปลกมาก และไม่มีคำตอบจากภาครัฐเลยว่า หากพัฒนาแล้วอะไรจะเกิดขึ้น นี่คือจุดด้อยของการพัฒนา ในเมื่อมีการตั้งโรงงานขึ้น แล้วก็ตามมาด้วยการถมทะเลเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน อย่างนี้ถือเป็นการทำลายหม้อข้าวหม้อแกงของชาวบ้าน เพราะว่าในเขตที่เขาถมทะเลนั้นมีสัตว์หลายชนิดที่เป็นอาหารของปลาตัวเล็ก ๆ แต่เขากลับมาถมทะเลมันจึงเกิดความเสียหายอย่างมาก ผมอยากพาท่านไปดูจริง ๆ ว่าอะไรมันเกิดขึ้น

และอีกอย่างคือการทำถนนเลียบชายฝั่งเพื่อลดต้นทุนให้กับกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งเป็นการทำลายอย่างชัดเจนมาก ชาวบ้านเองจะปลูกบ้านยังปลูกไม่ได้เลยเพราะกรมโยธาประกาศชัดเจนว่าห้ามบุกรุกพื้นที่ทะเล พื้นที่ป่า แต่การทำถนนทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย มันเห็นชัดว่าเวลาชาวบ้านขอกลับไม่ได้ แต่เวลารัฐบาลทำกลับถูกต้องตามกฎหมาย ผมเคยขอที่ดินของกรมป่าไม้เพื่อที่จะสร้างเตาเผาขยะในชุมชน กลับถูกปฏิเสธ แต่ถ้าอะไรที่รัฐทำกลับถูกต้องตามกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่การทิ้งขยะเป็นปัญหาอันดับแรกของชาวบ้าน เขากลับไม่ให้ ผมเลยไม่เข้าใจ

เมื่อภาครัฐทำถนนเลียบชายฝั่ง มันย่อมไปกระทบกับนาเกลือ ซึ่งนาเกลือเหล่านี้ผมอยากให้เป็นมรดกโลก เพราะมันมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่รัฐปัตตานี มีการค้าขายกับต่างประเทศโดยนาเกลือที่นี่แหละ แต่ ณ วันนี้กำลังจะถูกทำลาย เราจะทำให้เป็นมรดกโลกแล้วจัดเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ก็ว่ากันไป แต่รัฐไม่มองตรงนี้ การทำท่าเรือขนาดใหญ่ก็มีการขุดร่องน้ำ ซึ่งก่อนที่จะขุดก็จะบอกกับเราว่าขุดพอใช้แค่ ๕๐๐ ไร่ในเขตของอ่าวแต่เอาเข้าจริง ๆ กลับเป็น ๘๐๐ ไร่ นั่นก็เป็นการแย่งหม้อข้าวของชาวบ้านเช่นกัน ซึ่งในเมื่อเกิดแย่งชิงธรรมชาติแบบนี้ย่อมทำลายวัฒนธรรมอย่างแน่นอน

เมื่อก่อนเกิดโรงงานผู้ชายซึ่งเป็นสามียังมีอาชีพประมง ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นแม่บ้านเวลาสามีกลับมา ผู้ชายจะเป่าเขาควายเป็นสัญญาณว่ากลับมาแล้ว ส่วนภรรยาจะเข้าไปแกะปลาที่ท่าเรือ ซึ่งก่อนนั้นสามีเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่เดี๋ยวนี้ภรรยาเป็นแทนเพราะต้องไปทำงานในโรงงาน ส่วนสามีก็เล่นนกเขาเพราะว่าไม่มีปลาในทะเลให้จับ น้ำมันก็แพง ราคากุ้งก็ตกจาก ๑๒๐ บาทต่อกิโลกลายเป็น ๖๐ บาทต่อกิโล ปัญหาราคาน้ำมันของชาวบ้านไม่ได้รับการแก้ไข แต่เรือพาณิชย์กลับหาซื้อน้ำมันราคาถูกได้ จะไปก่อตัวประท้วงที่ศาลากลาง เดี๋ยวเขาก็หาว่าเป็นโจรแยกดินแดน ชาวบ้านไม่รู้จะไปพึ่งใคร

โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ทุกคนอยากให้เกิด แต่ผมเป็นห่วงเพราะเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ จะต้องมีการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติยิ่งไปกว่าเดิม ยกตัวอย่างว่า ในเมื่อเปิดโครงการนี้ขึ้นมามันต้องมีการป้อนวัตถุดิบให้กับโรงงาน ดังนั้นวัตถุดิบที่ต้องไปหามาก็ต้องมาจากอ่าวไทยและอ่าวปัตตานี หากเป็นเช่นนี้พวกอวนรุนอวนลากย่อมเกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งปัจจุบันนี้มีอวนรุนของชาวบ้านที่จดทะเบียนอยู่แล้วถึง ๓๒ ลำและอีก ๑๒๕ ลำของหมู่บ้านดาโต๊ะ เฉพาะที่ปัตตานีก็ยังมีมากมายขนาดนี้ ยังไม่รวมถึงที่สุราษฎร์ ฯ เพชรบุรี นครฯ และอื่นๆอีกมากที่จะเกิดเพื่อป้อนโรงงาน ทุกวันนี้แย่งกันทำมาหากินอย่างมาก หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริงทะเลไทยคงจะเป็นน้ำบูดู

ลองไปดูที่อ่าวไทยเวลากลางคืน เราจะเห็นเรือมากมายสว่างไสวไม่มีเวลาพัก มีเรือปลากะตักบ้าง ล่อปลาหมึกบ้าง เวลาอวนรุนจับปลาขนาด ๑๐๐-๒๐๐ ตัวต่อกิโล เขาขายในราคา ๓-๔ บาทเท่านั้น มันเสียดายทรัพยากรจริงๆ แกล้งธรรมชาติชัดๆ ปลาตัวเล็กก็น่าที่จะปล่อยให้โตหน่อยแล้วค่อยจับ ทำเช่นนี้มันบาปชัดๆ

เวลาผมพูดถึงอวนรุนผมจะเกิดความกลัวเพราะพูดแบบนี้ไม่รู้ว่าเวลากลับไปปัตตานีไม่ทราบว่าเขาจะให้รางวัลอะไร เนื่องจากอวนรุนเขามีอิทธิพลมากกว่าเรา แต่ถึงกลัวผมก็ต้องพูดถึงลูกหลานในอนาคต ซึ่งชาวบ้านดาโต๊ะเองต่อสู้กับอวนรุนมานานหลายปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๖ นับเป็น ๓๒ ปีมาแล้ว สมัยนายบันเทิง ซึ่งเป็นลูกเจ้าเมืองยะหริ่งคือ พระยาภูมิภักดี ก่อนที่เขาจะได้รับเลือก ชาวบ้านขอเสนอ ๓ อย่างจากเขา คือ ๑. ต้องมีไฟฟ้าใช้ ๒. มีอนามัย ๓. ยกเลิกอวนรุน

นับเป็น ๓๒ ปีที่ชาวบ้านดาโต๊ะต่อสู้กับอวนรุนเฉพาะในอ่าวปัตตานี ปรากฏว่าอวนรุนก็ยังไปเกิดในอ่าวไทยต่อ ผมไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนที่เคยเกิดขึ้นสมัยก่อน ชาวบ้านไปยิงพวกอวนรุนตาย ๔ ศพในอ่าว ทางการจึงมาจับ แต่ชาวบ้านไม่ยอมบอกว่า ถ้าจะมาจับก็ควรจับทั้งตำบล เพราะพวกเขาต่อสู้ด้วยคำพูดคำขอร้องก็แล้วไม่ได้ผล จึงต้องต่อสู้ด้วยความรุนแรง ผมไม่อยากเห็นชาวบ้านต้องแบกปืนไปต่อสู้กับอวนรุนเช่นนี้อีก เพราะปัจจุบันนี้ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดที่ภาคใต้ ชาวบ้านก็ไม่รู้จะซุกหัวนอนที่ไหนแล้ว หรือรัฐอยากให้ชาวบ้านต้องจับปืนลุกขึ้นสู้แบบอวนรุน

ผมต้องขอขอบพระคุณอาจารย์อัมมาร์ สยามวาลา ตอนวันที่ ๗ สิงหาคมที่ผ่านมา [กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (กอส.) จัดประชุมในพื้นที่เรื่องการจัดการทรัพยากร] สังเกตได้ว่าข้อเสนอชาวบ้านเสนอต่ออาจารย์ประเด็นแรกเร่งด่วนคืออวนรุน ทุก ๆ ท้องถิ่นต่างก็เสนอแต่เรื่องอวนรุน มันสะท้อนให้เห็นว่า เจ้าพ่อฝั่งอ่าวไทยคืออวนรุน ทุกคนรู้กันดีว่าผู้ทำลายระบบนิเวศน์คืออวนรุน ทำไมไม่มีใครจับ เรื่องแค่นี้รัฐยังแก้ไม่ได้ แล้วจะไปแก้ปัญหาก่อความไม่สงบในภาคใต้ได้อย่างไรทั้งที่รัฐไม่รู้ตัว แต่เรื่องอวนรุนรู้ตัวแล้วยังไม่จับเลย

ฉะนั้นผมมีข้อเสนอว่าถ้าอยากจะยกเลิกอวนรุนต้องแก้กฎหมาย เพราะกฎหมายมีช่องโหว่ เพราะ พ.ร.บ.ทะเล กำหนดว่าอวนรุนต้องออกไปจากฝั่ง ๓,๐๐๐ เมตร ผมว่าต้องมีสักวันที่อวนรุนต้องเข้ามาขโมยลากปลาในรัศมี ๓,๐๐๐ เมตร เมื่อเขาเข้ามา พอเจ้าหน้าที่ไปจับเขาก็อ้างว่าไม่ได้อยู่ในเขต ๓,๐๐๐ เมตร เจ้าหน้าที่ทำอะไรไม่ได้ ตราบใดที่พ.ร.บ.ยังอนุญาตให้อวนรุนอยู่ร่วมกับชาวบ้าน การทำผิดกฎหมายของอวนรุนก็ทำได้ตลอด และการขัดแย้งเช่นนี้มีมาตลอด

เมื่อตอนไปประชุมที่สงขลา ชาวบ้านก็มาประท้วงที่ทะเลเพื่อขอถอนโป๊ะออก แต่ชาวบ้านอีกกลุ่มก็มาประชุมที่ศาลากลางเพื่อไม่ให้ย้ายโป๊ะ ดังนั้นทุกอย่างที่รัฐปล่อยให้มันเกิดขึ้นมาแล้วไม่รีบแก้ไข มันจึงสร้างปัญหาจนทุกวันนี้ ยากจะแก้ไข ผมอยากให้รัฐทบทวนอดีตแล้วมาแก้ในปัจจุบัน รัฐมักมองว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ล้าหลังที่ต้องเปลี่ยนตามเหตุการณ์ เป็นการมองแบบไม่เข้าใจ คนมุสลิมไม่ใช่คนโลภ แต่กลับถูกมองว่านิสัยเช่นนี้เป็นเรื่องของคนเกียจคร้าน คนมุสลิมทำงานแต่พอกินพอใช้ดังพระราชดำรัสเรื่องความพอเพียงของในหลวง ไม่ขยันกอบโกยเหมือนคนรวย

2. สัมปทานทะเล เพื่อสนองนโยบายการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เหมือนกับที่สัมปทานพื้นที่ป่าให้กับนายทุน ชาวบ้านเดือดร้อนในเรื่องของบ่อกุ้งทำให้ราคากุ้งของชาวบ้านตกต่ำ และทำลายพื้นที่ป่าในรอบๆ อ่าวปัตตานี

การส่งเสริมเลี้ยงหอยแครงโดยกรมประมง เจ้าหน้าที่มาบอกชาวบ้านว่าเขาจะเพาะเลี้ยงเพื่อให้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพื่อกระจายไปในอ่าวปัตตานี แต่หลังจากนั้นก็มีกลุ่มนายทุนเข้ามาเลี้ยงหอยแครงสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน การเลี้ยงหอยแครงโดยนายทุนนอกถิ่น เข้ามาแล้วมาจ้างคนในท้องที่เป็นลูกจ้าง สร้างความแตกแยกให้กับคนในท้องถิ่นและคนในหมู่บ้านเดียวกัน เพราะความเห็นไม่ตรงกัน พวกที่ไม่ต้องการให้เลี้ยงหอยแครงก็จะทะเลาะกับคนในหมู่บ้านเดียวกัน ขาดความสามัคคีกัน เวลาชาวบ้านไปหาหอยของเขาเองก็จะถูกนายทุนยิงปืนขู่ ตามความเชื่อทางศาสนา การที่เราไปปักที่จับจองในทะเลซึ่งถือเป็นที่สาธารณะ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นถือว่าเป็นบาป แต่นายทุนเขาไม่คิด เขาไม่มีจิตสำนึก

เรื่องซีฟู๊ดแบงค์ (Sea Food Bank) ซึ่งเป็นโครงการของเนวินที่อยากเปลี่ยนแปลงอ่าวปัตตานี เป็นความคิดที่อยากให้มีความทันสมัยระดับโลก เหมือนกับเอาวิถีของตะวันตกเข้าไป แต่เดิมทีชาวบ้านอยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย พึ่งพาอาศัยกันได้เรื่องทำมาหากิน แบ่งปันกันในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ แต่ความคิดของเนวิน คือการออกโฉนดแสดงความเป็นเจ้าของลงไป มันเหมือนตัดทางหากินของชาวบ้านแต่ดั้งเดิม

วิถีชาวบ้านรอบอ่าวเปรียบเหมือนกับนกที่บินหากินได้อย่างเสรีแต่พอเพียง แต่ถ้า ซีฟู๊ดแบงค์ เข้ามาก็เปรียบเหมือนตัดปีกของนกจนไม่สามารถบินได้ ชาวบ้านละแวกนั้นไม่มีใครต้องการ ซีฟู๊ดแบงค์ แน่นอน

3. คนในชุมชนก็มีส่วนที่ทำให้อ่าวเสื่อมโทรมและเสียหาย อย่างเช่นการทิ้งขยะ ทุกวันนี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นที่ทราบกันดีว่า อ่าวปัตตานีเป็นอ่าวที่รองรับน้ำจืดจากคลองยะหริ่งและคลองปาเละ ซึ่งมีภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่และปล่อยน้ำเสียจากการทำเกษตรได้แก่ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ลงมาที่คลองยะหริ่งและคลองปาเละแล้วก็ลงอ่าว ก็ถือว่าชาวบ้านก็มีส่วนที่สร้างความเสียหายให้กับแม่น้ำได้เช่นกัน และการขยายตัวของราษฎรรอบอ่าวนั้นมากเกินไป ทำให้ต้องแย่งกันทำมาหากิน

แม้ว่าทั้งกรมประมงและสถานีชายฝั่ง จะมีแนวคิดที่จะฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างไรก็ไม่ทันกับความต้องการหากินของชาวบ้านแน่นอน โดยเฉพาะการใช้อวนรุนยิ่งทำให้การจับสัตว์น้ำทำได้ครั้งละมาก ๆ สัตว์น้ำที่มีอยู่ย่อมโตไม่ทันเพียงพอกับการหากินแน่นอน หากเราไม่มีอวนรุน บางทีอ่าวไทยอาจจะมีสัตว์น้ำรวมทั้งปลาพะยูน และปลาโลมากลับมามากเหมือนเดิม

สะมาแอ เจ๊ะมูฎอ
เลขาธิการสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้
เรื่อง "นิเวศน์ชายฝั่ง"

ผมมีอาชีพเป็นชาวประมง อยู่ที่ปัตตานี เรื่องวิกฤตทรัพยากรและระบบนิเวศน์ทางทะเลและสัตว์น้ำ ผมคิดว่าถ้าเราไม่ทำลาย ไม่นานมันก็จะปรับตัวฟื้นขึ้นมาได้เหมือนเดิม แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดการทำลายล้างมากขนาดนี้ก็คือ นโยบายของรัฐบาลเอง นโยบายของรัฐล้วนมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการทำลาย ยกตัวอย่าง เรื่องอวนลากอวนรุน แต่เดิมทีชาวบ้านไม่มีใครใช้อวนรุนอวนลากเลย ระยะหลังรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการจับทรัพยากรสัตว์น้ำคราวละมาก ๆ เพื่อผลิตให้ทันการส่งออกเพื่อจะได้ติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของโลก จะได้มีเงินตราต่างประเทศเข้ามา มันเป็นการเปิดโอกาสให้เครื่องมือทำลายล้างอย่างอวนรุนเข้ามาทำลายทรัพยากรมากขึ้น ต่อมาก็มีการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง รวมทั้งโครงการ ซีฟู๊ดแบงค์ ด้วย

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ปัญหามันเกิดกับชาวประมงพื้นบ้านซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากแต่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรทั้งสิ้น ต่างกับประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีไม่กี่คนแต่มีสิทธิมีเสียงมากกว่า และยังไปรับเอาคนงานต่างชาติเข้ามาเป็นลูกมือช่วยทำลายทรัพยากรบ้านเรา คนทางฝั่งปัตตานีไม่มีใครทำอวนรุนแล้ว พวกนายทุนก็ไปรับเอาแรงงานต่างชาติเข้ามาทำอวนรุน รัฐน่าจะคิดบ้างว่าการที่ชาวบ้านไม่นิยมทำอวนรุนเพราะจิตสำนึกที่ละอายในการทำลายทรัพยากรของตนเอง กลับปล่อยให้เกิดช่องว่างให้นายทุนเอาแรงงานต่างชาติเข้ามา

ที่ผ่านมาการเกิดวิกฤตทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง ได้สร้างปัญหาให้กับชุมชนอย่างมาก โดยเฉพาะชุมชนประมงชายฝั่งต้องอพยพแรงงาน ถ้าเป็นคนทางภาคใต้ตอนบนก็จะอพยพมาสู่โรงงานอุตสาหกรรม และเข้าเมืองมาเป็นคนงานก่อสร้าง แต่คนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีทางเลือกทางเดียวก็คือ ไปมาเลเซีย เพราะวัฒนธรรม ประเพณี การสื่อสารมันสอดคล้องกัน ทำให้คนที่นี่ส่วนมากไปขายแรงงานยังประเทศมาเลเซีย

เมื่อทั้งพ่อบ้านและแม่บ้านต้องออกไปขายแรงงานที่มาเลเซียครั้งละนานๆ ครอบครัวที่มีอยู่จึงเหลือเพียงเด็กและคนแก่ ทำให้เด็กขาดโอกาสเรียนหนังสือ จึงเป็นการสร้างปัญหาเสี่ยงต่อการติดยาเสพติด เราจะเห็นว่าชุมชนชายฝั่งทุกหมู่บ้านจะมีปัญหาติดยาเสพติดทั้งนั้น ซึ่งการขาดความอบอุ่นจากครอบครัวก็มีส่วนอยู่มาก ทางเราเองก็พยายามพูดคุยปัญหาเหล่านี้กับผู้นำศาสนา เพื่อใช้วิธีทางชุมชนช่วยแก้ปัญหา แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป ที่ผ่านมาภาครัฐเองก็พยายามช่วยบ้างในเรื่องของการสร้างปะการังเทียม การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ แต่ก็เป็นเพียงปลายเหตุ มันไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งก็คือการเปิดโอกาสให้ใช้เครื่องมือทำลายล้างดังที่กล่าวมา

เราใช้ พ.ร.บ.ประมงปี พ.ศ.๒๔๙๐ มานานแล้ว ในปีที่ผ่านมาจึงดำเนินการปรับปรุงให้มีกฎหมายใหม่ขึ้นมา เราจึงมีกฎหมายประมงอยู่ ๔ ร่างขึ้นมา ๑. คือร่างของกระทรวงเกษตร ๒. คือร่างของกรมประมง ๓. คือร่างของประมงพาณิชย์ ๔. คือร่างของสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ คือของพวกเราเอง แต่ทั้ง ๔ ร่างมันไปคนละแนวกันและกำลังปรับเข้าสู่ ครม. ทางเรามีการรวมตัวขึ้นมา และได้มีสภาที่ปรึกษาซึ่งท่านอานันท์ ปันยารชุน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการมาชุดหนึ่งซึ่งร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน และผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประมงในสภาที่ปรึกษา หลังจากนั้นสภาที่ปรึกษาก็หมดวาระยังไม่ได้นำร่างเข้าสู่ ครม. ซึ่งผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าทาง ครม.จะรับร่างของสภาที่ปรึกษาหรือไม่ ซึ่งสภาที่ปรึกษาเองก็มีปัญหามาเกือบปีกว่าจะได้ร่างชุดใหม่มา

ทางปัตตานีโชคดีที่ได้ มอ.ปัตตานีเป็นที่ปรึกษา อย่างเรื่องอวนรุนนับเป็นจังหวัดแรก ที่ห้ามการใช้เครื่องมืออวนรุนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งผมเองก็เป็นคณะกรรมการของกรมประมง กระทรวงเกษตรฯ ในเรื่องของการนำร่องของเกษตรยั่งยืน ก็ได้ผลักดันให้ออกกฎหมายห้ามการใช้เครื่องมืออวนรุน แต่กฎหมายที่ออกมาใช้บังคับอะไรไม่ได้เลยมาเป็นปี เพราะไม่มีใครกล้าใช้ ไม่มีใครบอกได้ว่าเขตทะเลปัตตานีอยู่ตรงไหน เจ้าหน้าที่เองทำไม่ได้ จึงต้องประสานไปทางจังหวัดปัตตานี

ในความเป็นจริงปัจจุบันนี้ยิ่งทำได้ยากมากเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบ อย่าว่าแต่จะเฝ้าทะเลเลย เฝ้าถนนยังทำได้ยากเลย ต่างคนต่างก็ต้องดูแลตนเอง ตอนนี้ทะเลที่เป็นของส่วนรวมจึงไม่มีใครดูแล ถ้าถามว่าเรื่องประมงดีกว่าแต่ก่อนหรือไม่ ตอนนี้มีกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้ ไม่มีใครดูแล มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร สภาพการณ์ต่าง ๆ จึงยังเหมือนเดิม แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรมากเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบสมัยนี้ หากไม่พอใจพากันไปประท้วงที่ศาลากลางตอนนี้คงตายเรียบ

เกือบ ๑ ปีที่ผ่านมา ผมต้องคลุกคลีกับพี่น้องฝั่งอันดามันเนื่องจากประสบภัยสึนามิ ผมเป็นเลขาธิการที่ดูแลประมงตรงนั้นด้วย พบพี่น้องในกลุ่มประมงนั้นเสียชีวิตด้วย จึงต้องเรียกประชุมคณะกรรมการที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอ่าวไทยหรือฝั่งทะเลสาบมาพูดคุยกัน จึงมีนักวิชาการ นักพัฒนามาช่วยกันระดมความคิด และมีน้ำใจอย่างหลากหลายเข้ามาสู่สมาพันธ์ฯ จึงต้องตั้งเป็นคณะกรรมการชุดหนึ่งชื่อว่า "โครงการฟื้นฟูอันดามัน"

ในระยะแรกเราดำเนินการแจกจ่ายสิ่งของทุกอย่างให้ชุมชนตั้งตัวได้ และผมก็พบว่าถ้าเราไม่มีกลุ่มชมรมมันจะทำงานยาก และในส่วนของชาวบ้านเองหากรับบริจาคอย่างเดียวมันไม่ได้ผล เราต้องสร้างขบวนของชาวบ้าน ในการช่วยบริหารจัดการกันเองในเรื่องสิ่งของและเงินบริจาค และจากข้อสังเกตของผมพบว่า ที่บางคร่ำครวญ จ.ระนอง กับหาดประพาส จ.ระนอง ซึ่งมีพื้นที่ติดกันเลย แต่หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิที่บ้านคร่ำครวญกลับไม่มีบ้านเสียหายสัก หลังเดียวเพราะหน้าบ้านเป็นป่าชายเลนหนาทึบ ผิดกับที่หาดประพาสอย่างมากเสียหายหมดทั้ง 58 หลังคาเรือน เพราะไม่มีป่าชายเลน

สิ่งนี้จึงเกิดเป็นจิตสำนึกของชาวบ้านในการเริ่มรักพื้นที่ป่าชายเลนหน้าบ้านขึ้นมา เห็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านในการช่วยปลูกป่าชายเลน เห็นถึงการรวมกลุ่มสามัคคีในการช่วยสร้างบ้านเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่จะมีส่วนร่วมกัน ที่เกาะลันตาเอง ชาวบ้านขอแค่งบประมาณซื้อไม้ แต่ช่วยกันต่อเรือขึ้นมาเอง อีกเรื่องที่ผมอยากพูดคือเรื่องนโยบายของรัฐที่ลงไปในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ตอนล่างหรืออีกหลายพื้นที่ตามชายฝั่ง อันได้แก่

1. ซีฟู๊ดแบงค์
แต่เดิมทีชาวบ้านก็เลี้ยงสัตว์น้ำกันอยู่แล้ว แต่ภาครัฐก็มาคิดแทนให้เสร็จเลยว่า หากไม่มีเงินทุน หรืออยากขยายการเพาะเลี้ยง ทางรัฐจะช่วยออกโฉนดทะเลให้ เพื่อที่จะเอาโฉนดไปจำนำจำนอง ซึ่งผมจึงถามท่านเนวินว่า การออกโฉนดนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นหรือ ท่านบอกว่าไม่ใช่ ท่านบอกว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลมีอยู่ ๓ แปลงด้วยกันคือ ๑. พื้นที่เหมาะสมในการเลี้ยงสัตว์น้ำ ตรงไหนเหมาะสมก็เปิดโอกาสให้เลี้ยง ๒. พื้นที่ที่มีการเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่เดิม ๓. พื้นที่ที่ไม่เหมาะสม คือพื้นที่เสื่อมโทรม คือพื้นที่สาธารณะ ผมได้ยินเช่นนี้ก็ตกใจ เพราะท่านรัฐมนตรีจะให้พื้นที่ที่เสื่อมโทรมไม่มีทรัพยากรอะไรมาเป็นที่สาธารณะ ให้ชาวบ้านมาจับปลา แต่พื้นที่ที่สมบูรณ์จะได้รับการออกโฉนดแบ่งปันให้กับนายทุนจนหมด ดังนั้นจากโครงการ ซีฟู๊ดแบงค์ นี้ ผมเชื่อว่าต่อไปพื้นที่ทะเลทั้งหมดจะต้องเป็นของนายทุนอย่างแน่นอน

2. การจัดการประมงเรือชุมชน
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ แนวคิดของกรมประมงอยากให้ทะเลมีเจ้าของ เขามองว่าเมื่อทะเลไม่มีเจ้าของก็เลยเสื่อมโทรม จึงมีแนวคิดว่าจะให้หน้าบ้านดูแลกันเอง โดยมีพื้นที่ทะเลหน้าบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของตน หน้าบ้านใครก็จับปลาตรงนั้น ถ้าจะจับหน้าบ้านคนอื่นต้องขออนุญาตจาก อบต.ก่อน ผมว่ามันเป็นเรื่องตลกเพราะมันเป็นปลาจะไปเจาะจงอย่างไรได้

และยังมีข้อกำหนดอีกว่า แต่ละคนต้องมีเครื่องมือเพียงอย่างเดียว เช่นใครจับปลาทูก็จับปลาทูตลอดปี จับกุ้งก็จับกุ้งตลอดปี ใครตกเบ็ดก็ตกเบ็ดเพียงอย่างเดียว ซึ่งในความเป็นจริงของทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งไม่ใช่อย่างนั้น ธรรมชาติจะมีสัตว์น้ำหมุนเวียนกันเป็นฤดูกาล ไม่ใช่มีสัตว์น้ำเพียงอย่างเดียวอยู่ตลอดกาล ตามแนวคิดของอาจารย์กังวาน จันทรโชติ ที่มีแนวคิดที่จะทำให้ทะเลมีเจ้าของ

3. โครงการอาหารฮาลาล
ตอนนี้ทาง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐอยากให้มีโครงการอาหารฮาลาล ขึ้นมา ซึ่งตัวโครงการนั้นดี แต่ภาคอุตสาหกรรมที่จะมาเกิด สร้างความน่าเป็นห่วง อยากให้รัฐมองภาพการแจกงานอุตสาหกรรมเข้ามาในครัวเรือนตามหมู่บ้านต่างๆ มากกว่าการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม คนใต้ส่วนมากที่ไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบียเล่าว่า เขารับการแจกงานเข้ามาในครัวเรือนต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้า ก็จะได้รับการแบ่งงานกันไป แบ่งกันปัก แบ่งกันเย็บ แล้วทางนายทุนจะเป็นผู้รับไปขาย ซึ่งชาวบ้านก็พึงพอใจเป็นอย่างมาก

การมีงานให้ชาวบ้านไปทำที่บ้าน น่าจะเป็นความสุขที่แท้จริงของชาวบ้านที่ไม่ต้องห่างไกลครอบครัว ยังสร้างความอบอุ่นให้กับลูกหลานอีกด้วย สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่า ทุกวันนี้แค่ที่จะนะ โรงงานน้ำยางมีแค่ 2 โรง ควันเสียที่ปล่อยออกมายังสร้างปัญหาให้ชาวบ้านอย่างมาก หากมีการตั้งโรงงานจริง ผนวกกับมีลมตะวันออกพัดมา มอ.ปัตตานีเองก็ไม่อาจหนีพ้น

แต่สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้มีอำนาจในการเคลื่อนย้ายชาวบ้านและชุมชนออกนอกพื้นที่ ได้โดยไม่ต้องผ่านที่ประชุม ครม. เจ้าหน้าที่มีอำนาจล้นฟ้า ต่อไปนี้ไม่ว่าจะเป็นสุสาน เป็นวัด หรือมัสยิด ต่างก็อาจต้องถูกเคลื่อนย้ายหากผู้ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษผู้นั้นเห็นว่า เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นการแสดงถึงโลกาภิวัตน์ที่เจริญเข้ามา

การเปิดการค้าเสรีของเราก็ทำอย่างเสรีจริงๆ ใครคิดอยากมาเอาอะไรในประเทศก็ทำได้เต็มที่ ต่อไปเราอาจต้องลำบากมากกว่าเดิม อย่างการค้าแลกเปลี่ยนกับจีน เราส่งสินค้าเกษตรไปขายแต่ทางจีนส่งคอมพิวเตอร์กับมือถือเข้ามา มูลค่าของสินค้ามันต่างกัน เราเสียเปรียบอย่างมากประเทศที่ยากจนส่วนใหญ่ต่างกลัว เอฟทีเอ (FTA) กันมาก หากประเทศต้องการการพัฒนา ก็อยากขอร้องให้การพัฒนาเป็นไปอย่างสอดคล้องกับวิถีชุมชน

ปัญหาของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมว่ามีทางออก มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหาตั้งหลายชุด เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสมานฉันท์ ต่าง ๆ มากมาย ทุกคนต่างมีข้อมูล มีข้อสรุป มีข้อเสนอ แต่ข้อเสนอเหล่านั้นไม่ได้รับความสนใจนำไปปฏิบัติใช้จากท่านผู้นำประเทศ

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ผู้ดำเนินรายการ
จากข้อมูลที่นำเสนออย่างเข้มข้นของท่านผู้อภิปราย ทำให้เราทราบอย่างหนึ่งว่า คนที่อยู่ในอ่าวปัตตานี หรือชาวประมงพื้นบ้านทั่วไป ล้วนต่างได้รับผลกระทบด้านโครงสร้างทางครอบครัวอย่างมาก เมื่ออาชีพของผู้ชายหายากขึ้น ภาระหาเลี้ยงครอบครัวตกเป็นของฝ่ายหญิง ศักดิ์ศรีของความเป็นผู้ชายลดน้อยลงไป ซึ่งสังคมมุสลิมนั้นผู้ชายเคยภาคภูมิใจกับอาชีพตนเอง และคุ้นเคยกับการประกอบอาชีพประมง กลับต้องเปลี่ยนไปอย่าสิ้นเชิงภายใน ๒๐ ปีที่ผ่านมา ต่างก็รู้สึกทุกข์ใจ ขาดศักดิ์ศรี ที่ต้องส่งภรรยาหรือลูกสาวไปทำงานในโรงงานแทน

เหล่านี้เป็นความรู้สึกทั่วไปที่สัมผัสได้เวลาทีมงานลงพื้นที่ อย่ามองเพียงผิวเผินว่าคนมุสลิมไม่ทำงานเอาแต่เล่นนกเขา หรือนกกรงหัวจุก อยากให้มองลึกลงไปรับทราบถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากข้อมูลที่เรารับทราบในวันนี้

เขตที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือเขตทะเล เป็นจุดแรก เป็นประตูที่เข้าไปสู่ภูเขา เขตเศรษฐกิจพิเศษหากเกิดขึ้นจริง ตั้งแต่จะนะลงมา โครงการที่จะเกิดขึ้นอย่างท่อก๊าซฯ และสิ่งอื่นๆที่จะตามมา ล้วนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก พื้นที่ต่าง ๆ จะถูกนำไปใช้โดยไม่สนใจว่า ชาวบ้านต้องการจะทำเกษตรยั่งยืน ประมงพื้นบ้าน หรือทำสิ่งต่าง ๆ

ได้ฟังท่านนายกฯให้สัมภาษณ์ผ่านทางทีวีกรณีใบปลิวขู่ให้หยุดงานในวันศุกร์ ท่านกลับพูดว่าเมื่อไม่กล้าทำ ท่านจะไปเอาแรงงานต่างชาติมาทำแทน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดของท่านว่ามองคนภาคใต้เป็นเพียงแค่แรงงานเท่านั้น ต่อไปเป็นการนำเสนอของคนในพื้นที่เรื่องป่าพรุ โดยศึกษาถึงพรุลานควาย ในเขตจังหวัดยะลา ต้นน้ำสายบุรีว่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

กอเซ็ง อาบูซิ
นักวิจัยชาวบ้านป่าพรุ
เรื่อง "ป่าพรุ"

ผมเป็นชาวประมงน้ำจืดโดยพื้นเพ เป็นเพียงแค่นักสังเกตนักวิเคราะห์ในพื้นที่อดีตกับปัจจุบันเท่านั้น ผมอาศัยอยู่ในพุงของพรุ แต่ยังไม่รู้จักพรุเท่าไหร่ มาบัดนี้พอเข้าใจแล้ว อยากเปรียบเทียบว่าพรุก็เหมือนกับคน มีองค์ประกอบเป็นหัว ตา หู จมูก ปาก ลำคอ ก้น เท้า มีครบเหมือนคน พรุมีหลายรูปร่าง หลายแบบ พรุทางอีสานก็เป็นอีกแบบไม่เหมือนกัน

พรุลานควายในอดีต ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมานั้นสวยมาก มีป่า มีสายน้ำ พืชน้ำ สัตว์น้ำ สัตว์ปีก และขนาดพื้นที่ก็ไม่น้อย ในทางเขตยะลา มีตั้ง ๑,๐๐๐ กว่าไร่ ในทางเขตปัตตานีมีตั้ง ๑,๐๐๐ กว่าไร่ ส่วนหัวของพรุก็คือภูเขา ลำคอก็เปรียบกับสายน้ำที่ไหลจากภูเขามาสู่ตัวพรุซึ่งเปรียบเป็นกระเพาะ คือที่เก็บกักน้ำจากภูเขา และระบายทางก้น ไปสู่แม่น้ำ ถ้าเราดูแลไม่ถูกทาง ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหาย และหากเรารักษาไม่ถูกวิธีความเสียหายก็มากขึ้น ทุกวันนี้เราดูแลด้วยความไม่รู้จริง เอาความรู้เรื่องพรุจากที่หนึ่ง ไปเยียวยาอีกที่หนึ่ง ซึ่งมันไม่ถูกต้อง มันอันตราย

หัวของพรุเป็นภูเขา ลำคอเป็นสายน้ำ มือเป็นทุ่งหญ้า ทุ่งนา องค์ประกอบของพรุเป็นนาข้าว เป็นทุ่งหญ้า เป็นป่าอยู่ในนั้น รวมทั้งมีสัตว์ มีพืช มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์อยู่ในพรุ ธรรมชาติสร้างมาให้มนุษย์ คนเฒ่าคนแก่ในอดีตสอนมาว่า ธรรมชาติสร้างสรรพสิ่งในโลกนี้มาทั้งหมด ๘,๐๐๐ ชนิด ๑ ใน ๘,๐๐๐ ชนิดนั้นคือมนุษย์ อีก ๗,๙๙๙ ชนิดนั้นคือทรัพยากรธรรมชาติที่มีมาให้เราใช้ ให้เราได้ดูแลรักษา

ถ้าเราไม่เข้าใจสรรพสิ่งที่เราใช้ ทำลายธรรมชาติที่มีอยู่ ก็เปรียบเหมือนกับเราเองทำลายตัวเราเอง เราจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติอย่างยิ่ง จึงก่อเกิดวัฒนธรรม และประเพณีขึ้นมารักษามนุษย์กับธรรมชาติเอาไว้ วิถีชีวิตของชาวบ้านเราล้วนดำเนินไปอย่างมีวัฒนธรรม ประเพณีและกฎเกณฑ์ที่เป็นไปเพื่อรักษาธรรมชาติ ไม่ใช่วิถีของคนเกียจคร้านอย่างที่ถูกมอง การใช้ชีวิตที่เรียบง่ายอย่างสมัยก่อนอาจทำให้มองไปเช่นนั้นได้

สมัยก่อนผมทำประมง ด้วยทุน ๑๐๐ บาท ผมไปลงพรุ จับปลา ตอนเช้า ๒ ชั่วโมง และตอนเย็นอีก ๒ ชั่วโมงรวมเป็น ๔ ชั่วโมง ด้วยทุนเพียง ๑๐๐ บาทผมจับปลาได้เงินมา ๗๐๐ บาท จะเห็นได้ว่า เราใช้ทุนน้อย กำไรมาก แต่มาสมัยนี้ผมต้องหยุดทำเพราะไม่คุ้มทุน ใช้ทุนเยอะ แต่กำไรไม่พอทุน เพราะป่าพรุถูกทำลาย สัตว์น้ำลดลง จับปลาได้น้อยลง ผมต้องหนีไปแย่งงานอื่นทำ

ป่าพรุถูกทำลายเพราะใช้ความรู้มาจัดการไม่ถูกทาง ความรู้ที่มีมาในทางปฏิบัติมันทำยากมาก มีความรู้แล้วปฏิบัติเลยมันยากมาก มันต้องมาปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง และต้องมีจิตใจไปพร้อมกับความรู้ด้วย การจัดการป่าพรุก็เช่นกันต้องมีจิตใจอย่างมาก ผมอยู่กับพรุมาตั้งแต่เล็กยังไม่รู้จักพรุดีนัก จนอายุ ๒๕ ปี ผมได้มีโอกาสไปเรียนรู้ที่ มอ.ปัตตานี จึงจะรู้จักพรุชัดเจนขึ้น ทั้ง ๆ ที่เคยอยู่มาตั้งแต่เด็ก

ปัจจุบันนี้พรุลานควายกลับประสบปัญหาอย่างมาก เปรียบเหมือนคนเป็นหลายโรค มีทั้งเท้าเปื่อย ปากเปื่อย ท้องร่วง ชาวบ้านไม่สามารถประกอบอาชีพกับพรุได้เหมือนเดิม ต้องหนีไปทำงานอีกแบบหนึ่ง ทำงานยังไม่ทันได้ตั้งตัวก็ประสบปัญหาขึ้นมาอีก ก็ต้องหนีไปหางานใหม่อีก เช่นนี้เรื่อยไป พรุก็ถูกทำลายมากขึ้น มากขึ้นจนอยู่ในพื้นที่ไม่ได้แล้ว ต้องหนีไปหางานทำที่มาเลเซีย

พื้นฐานของปัญหาจริงๆ คือการก่อสร้างของภาครัฐ การก่อสร้างเพื่อการท่องเที่ยว ทั้งๆที่รู้ว่าทำให้เกิดน้ำท่วมทุกปี แต่กลับไปแก้ปัญหาทางอื่น พอน้ำท่วมก็แก้ที่การขุดลอกลำน้ำเท่านั้น ปัญหาของชาวบ้านด้านอื่นไม่ได้รับการแก้ไข เป็นการแก้แค่ระยะสั้น ผมเป็นคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพรุซึ่งกว้างใหญ่พอควร มีชาวบ้านอาศัยร่วมกันอยู่ประมาณ ๑๓ หมู่บ้าน ส่วนที่เล็ก ๆ ก็อยู่กันอีกประมาณ ๑๐๐ กว่าคน รวมทั้งหมดแล้วมีเกือบ ๒๐ หมู่บ้านที่ทำการเกษตรรอบ ๆ พรุ มีทั้งทำนาข้าว ปลูกผัก ทำสวนยาง และอื่น ๆ ร่วมกัน

สมัยก่อนสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ อย่างปลาชะโดสมัยก่อนมีน้ำหนักตัวละ ๑๒ กิโล ปัจจุบันมีน้ำหนักเพียงแค่ ๕ กิโลต่อตัวก็หายากแล้ว ชาวบ้านจึงยากจนลงเรื่อย ๆ รัฐบาลคอยแต่แก้ปัญหาด้วยการเอาเงินไปแจก คิดว่าไม่พอเพียงแน่นอน เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ปัญหาคือทรัพยากรหายากขึ้น ทรัพยากรถูกทำลาย ชาวบ้านไม่สามารถดำรงชีพได้ การแจกทีวีตามความคิดของผู้ใหญ่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย ปัญหาทรัพยากรเป็นปัญหารวมทั้งหมด ป่าพรุเปรียบเหมือนกระเพาะของแม่น้ำ แม่น้ำเชื่อมต่อกับภูเขา แม่น้ำเปรียบเหมือนลำไส้ใหญ่ที่ต่อสู่ทะเล เมื่อแม่น้ำเน่าเสีย ทะเลก็มีปัญหา ปัญหาทั้งหมดจึงควรแก้แบบสมานฉันท์

มะดานิง อารียู หรือแบยา
นักวิจัยชาวบ้าน
เรื่อง "พืชพันธุ์พื้นบ้าน เกษตรในเขตป่า"

ในโลกนี้มีทรัพยากรให้เราใช้แบ่งปันกัน อันได้แก่ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร พรุ ป่า และทะเล ในหลักของมุสลิม พระเจ้าได้ประทานทรัพยากรเหล่านี้มาทั้งหมดเพื่อมนุษย์ ในหลักความเชื่อของพี่น้องมุสลิมมีหลักอยู่ ๓ ประการ ซึ่งวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เกิดมาทั้งหมดย่อมเชื่อมโยงกับหลักทั้ง ๓ ประการนี้ ได้แก่

๑. มนุษย์ด้วยกันต้องมีความเชื่อมโยงกับพระเจ้า เพราะฉะนั้นพี่น้องมุสลิมจะดื่มอะไรก็ต้องกล่าวพระนามของพระเจ้าก่อน จะทำงานทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องกล่าวคำนี้ก่อนเสมอ และกล่าวคำนี้ทุกขณะการเดินทาง ไม่ว่าจะไปขึ้นรถ ลงเรือ หรือทุกอิริยาบถที่กิน นอน เพื่อให้คนได้ตระหนักว่าเราทั้งหมดได้รับการดูแลจากพระเจ้า อยู่ในความคุ้มครองของพระเจ้า

ท่าน นบีมูฮัมหมัด ซอลลัลลอฮ ฮูอาลัย ฮีวาซะลัม ได้กล่าวว่า คนทุกคนได้เกิดมาจากท่าน นบีอาดัม ซึ่งเป็นมนุษย์คนแรกของโลก และท่านอาดัมนี้เกิดจากดิน เพราะฉะนั้นทุกคนที่เกิดมาจะไม่มีการเหนือกว่ากันและกัน มีความเสมอภาคกัน ยกเว้นผู้ที่เหนือกว่าคือ ผู้ที่ยำเกรงต่อพระเจ้าเท่านั้นเอง ถึงจะมีความเหนือกว่า ด้วยเหตุนี้คนจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับพระเจ้าเสมอ

๒. มนุษย์เราต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ด้วยกัน มีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน ในครอบครัวก็ต้องมีความสัมพันธ์และมรรยาทที่ดีกับลูกเมีย ตลอดรวมไปถึงเพื่อนบ้าน

๓. มนุษย์ต้องมีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ซึ่งก็หมายรวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติด้วย

ตลอดเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา พื้นที่ทั้ง ๓ จังหวัดภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นพรุ ภูเขา ลำธาร ทะเล ล้วนสวยงาม แต่ปัจจุบันนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ความหลากหลายทางธรรมชาติและความสวยงามได้หมดไป ตลอด ๒ ข้างทางจะมองเห็นป่า ก็หายาก จะเห็นข้าวที่เหลืองอร่าม หรือสีเขียวยามข้าวออกใหม่ ก็หาดูได้ยาก มองไปตรงภูเขา ก็เห็นเพียงต้นยางพารากับต้นไม้อื่นๆเพียงไม่กี่ชนิด ความหลากหลายทางธรรมชาติหมดไป เพราะมีการตัดไม้ทำลายป่ามาตั้ง ๒๐ ปีผ่านมา ทุกวันนี้ยังมีอยู่ ทั้งที่ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นเองกลับพยายามรักษาป่า โดยอาศัยวัฒนธรรมและจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ มาสร้างเป็นวิถีอยู่รวมกับป่า ไม่ทำลายธรรมชาติโดยไม่ต้องมีการออกกฎหมายห้ามการตัดไม้ทำลายป่าแต่อย่างใด

คนในชุมชนที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ เขาใช้ภูมิปัญญาในการจัดการกับธรรมชาติ ผิดกับนักวิชาการที่ชอบใช้หลักวิชาการมาจัดการธรรมชาติ หลักสูตรมันต่างกัน นักวิชาการชอบใช้หลักทางคณิตศาสตร์มาจัดการ เช่น คำนวณมูลค่าของภูเขาว่าถ้าต้องการสร้างมูลค่าต้องปลูกยาง การปลูกยางก็ต้องคำนวณกันเป็นขนาดและความยาว ความลึกกันในเวลาปลูก แต่ก็ไม่เห็นว่าจะปลูกยางได้ต้นใหญ่เท่าที่ชาวบ้านปลูกกันตามธรรมชาติเลย นักวิชาการจะเชื่อถือเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มากกว่า อย่างเช่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะเชื่อข้อมูลที่ทางดาวเทียมส่งมาว่าเป็นพื้นที่ป่า จึงมีการประกาศเขตป่าทับที่ทำกินของชาวบ้านแต่ดั้งเดิมเสมอ ๆ

นอกจากทรัพยากรบนภูเขาได้สูญเสียไป ในป่าพรุก็เช่นกัน เมื่อป่าไม้รอบๆป่าพรุสูญเสีย พรุก็ย่อมเสียตามไปด้วย ระบบนิเวศน์ที่พระเจ้าสร้างมานับเป็นพัน ๆ ปี ย่อมสูญเสียตามไปด้วย เพียงเพราะเราชอบใช้หลักวิชาการเข้ามาจัดการธรรมชาติ ถึงตอนนี้ชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้แล้ว เพราะแหล่งอาหารตามธรรมชาติหมดไป ระบบนิเวศน์ตามแต่ละภูมิภาคย่อมไม่เหมือนกัน ทางภาคกลางการทำนาข้าว เราจะเห็นแต่ทุ่งนาข้าวเต็มไปหมด แต่ทางภาคใต้ ๓ จังหวัดเราจะเห็นเป็นที่นา ร่วมกันภูเขา ลำธารและแม่น้ำ

ขอยกตัวอย่างที่นาของผมเองซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อยพอดำรงชีพ ต่อมานักวิชาการเกษตรมาบอกว่า มีการพยากรณ์ว่าจะเกิดความแห้งแล้งขึ้นในปีหน้า จึงต้องมีการเก็บกักน้ำโดยการขุดลอกคลอง เมื่อโครงการนี้ได้รับการอนุมัติ ก็ดำเนินการขุดลอกคลองโดยต้องทำลายต้นสาคูที่อยู่รอบ ๆ คลองลงด้วย การที่มีต้นสาคูอยู่รอบ ๆ คลองชาวบ้านถือว่าเป็นระบบที่พระเจ้าสร้างมาเพื่อกระจายน้ำ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ โดยเฉพาะงูซึ่งมีประโยชน์ในการกำจัดหนูที่เป็นศัตรูต้นข้าว ดังนั้นหลังจากขุดลอกคลองและทำลายต้นสาคูลงแล้ว ปรากฏว่าปีถัดมา ชาวบ้านทำนาไม่ได้เลย นับเป็นร้อย ๆ ไร่ หรือนับพันไร่ด้วยซ้ำ

ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่การทำลายต้นสาคูลงเท่านั้นเอง นับเป็นการก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้านโดยนำหลักวิชาการมาจัดการ เพราะคลองที่ทำการขุดก็ลึกไป น้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาได้ไหลลงมาอย่างรวดเร็วเกินไป และไม่มีต้นสาคูในการกระจายน้ำเข้าสู่นา ณ วันนี้ที่ดินบริเวณนั้นก็ยังไม่สามารถปลูกข้าวได้

โครงการที่รัฐบาลรุกให้ดำเนินการทุกตำบล ทุกองค์กรท้องถิ่น โครงการที่คิดก็มีแต่จะขุดคลอง ทำถนน เทคอนกรีต สร้างศาลา เวลาส่งเจ้าหน้าที่ช่างมาทำก็ไม่ได้คุณภาพ คำนวณทำถนนอย่างดี แต่ใช้ได้ไม่กี่วันก็พัง สร้างศาลาก็ใช้งบแพง อย่างงบสองแสนบาท ถ้าให้ชาวบ้านทำจะเสียงบไม่เกินสามหมื่นบาท ได้ประโยชน์มากกว่าด้วย วิธีคิดของเจ้าหน้าที่รัฐแบบนี้มีทุก ๆ ตำบล ทุกแห่งคิดอย่างเดียวกันหมด ระบบทรัพยากรจึงถูกทำลายไปเกือบหมดแล้ว

ผิดกับภูมิปัญญาชาวบ้านที่จะทำอะไรก็ไม่เคยทำลายธรรมชาติเลย อย่างการทำทำนบสมัยปู่ของผม ท่านทำโดยใช้ดินบริเวณนั้นมาทำทำนบ ชาวบ้านทำนาได้ผล แต่เวลาที่นักวิชาการปัจจุบันนี้เวลาไปทำทำนบใช้คอนกรีตอัดเหล็กอย่างดี ชาวบ้านกลับทำนาไม่ได้ผล เหล่านี้สะท้อนความแตกต่างระหว่างหลักวิชาการที่นั่งเรียนในห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ผิดกับภูมิปัญญาชาวบ้านที่ที่เรียนกันในห้องกว้าง เรียนกับธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงไปถึงดวงดาวเป็นการเชื่อมโยงโลกกับจักรวาล

เวลาชาวบ้านคิดจะทำอะไร เขาจะคิดรวมไปถึงระบบของดวงดาว ระบบของดวงอาทิตย์ รวมทั้งเจ้าที่ เจ้าป่า เจ้าเขาที่พวกเขานับถือ ผนวกกับวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา สะท้อนวิธีคิดที่เชื่อมโยงหลากหลาย

นับเป็นเรื่องแปลกที่เมื่อนำหลักวิชาการมาใช้กลับไม่ได้ผล แต่ภูมิปัญญาชาวบ้านกลับใช้อย่างยั่งยืนมานาน มีหลายพื้นที่อย่างพรุแค พรุสะตอ พรุบากง พรุลานควาย ล้วนมีทำนบคอนกรีตมากมาย งบก็นับ ๑๐ ล้าน แต่ใช้ไม่ได้ผลเลย ขณะที่ชาวบ้านทำได้ผลเพราะมันมีวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญามากำกับทรัพยากรที่มีอยู่ จึงเป็นที่น่าเสียดายมาก

เมื่อก่อนเมืองปัตตานีเป็นเมืองที่มีนาข้าวมาก แต่วันนี้คนปัตตานีกลับต้องซื้อข้าวกิน ที่หนองจิก สมัยก่อนมีโรงสีใหญ่ และโรงสีเล็กมากมายกระจายไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ แต่ ณ วันนี้โรงสีเหล่านี้ได้หมดไป หลายคนคงคิดว่าที่หมดไปก็เพราะฝีมือของพวกเรา พระเจ้าได้บอกอย่างชัดเจนแล้วว่า พระเจ้าไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือทำลายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ยกเว้นถูกทำลายด้วยมือมนุษย์เอง

มนุษย์ทำลายธรรมชาติกันเองเพราะการคิดที่ไม่รอบคอบของเขาเอง ความคิดเป็นใหญ่ของเขาเอง และหลักสูตร กระบวนการคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะเราอยู่ในกระบวนการคิดที่คนอื่นคิด คนอื่นใช้ คนอื่นอนุมัติ คนอื่นตรวจสอบ ซึ่งไม่ใช่ระบบการตรวจสอบที่ดีเลย ยกตัวอย่างเช่น การสร้างศาลาให้ชุมชน ก็ใช้เจ้าหน้าที่จากที่อื่นมาทำ คิดเอง สร้างเอง เลยไม่ตรงกับประโยชน์ของชาวบ้านอย่างแท้จริง

อย่างการคิดติดตั้งทีวี ตั้งยูบีซีของรัฐบาลนั้น ก็ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม แม้แต่แนวคิดจะให้โฉนดในทะเลก็คิดโดยคนอื่น ชาวบ้านไม่เคยคิดเช่นนี้ เพียงความคิดเล็ก ๆ ของรัฐบาลก็อาจกระทบระบบธรรมชาติและวิถีชีวิตทั้งหมดได้

สมัย ๑๐ ปีก่อน มีเจ้าหน้าที่มาดูแม่น้ำสายบุรี ที่มาจากภูเขาสันกาลาคีรี ท่านมองเห็นว่าเป็นแม่น้ำที่ยังไม่มีเขื่อน เกิดความเสียดายแม่น้ำที่ไหลลงทะเลเปล่า ๆ จึงคิดจะสร้างเขื่อนเพื่อให้ชาวบ้านได้ปลูกผัก ทำนา ทั้งที่แท้จริงแล้วที่บริเวณนั้นน้ำท่าไม่ได้ขาดแคลน และชาวบ้านบริเวณนั้นส่วนใหญ่ก็ปลูกยางซึ่งไม่ได้ใช้น้ำมากมายแต่ประการใด ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงมีความคิดที่จะใช้น้ำ กั้นน้ำ เปลี่ยนระบบน้ำขึ้นมา

บังเอิญที่ผมได้มีโอกาสเจอกับอาจารย์นุกูล จึงรวมตัวกันไปประท้วงกับรัฐบาลที่หน้าทำเนียบ ซึ่งตรงกับรัฐบาลพลเอกชวลิตในสมัยนั้น และครม.ก็มีมติยกเลิกเขื่อนสายบุรีเป็นกรณีแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นเขื่อนใหญ่มหาศาล นับเป็นเรื่องโชคดีที่แม่น้ำสายบุรียังบริสุทธิ์และสะอาดอยู่ นับเป็นแม่น้ำสายหนึ่งใน ๓ จังหวัดที่ยังบริสุทธิ์อยู่

ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาแค่ ๓ จังหวัด ทุกวันนี้คนยังเข้าใจผิดคิดว่าคนใน ๓ จังหวัดภาคใต้เป็นคนร้ายที่ต้องไปปราบปราม อย่างเพื่อนทหารชาวอีสานที่ต้องเดินทางมาลงพื้นที่ทางภาคใต้ ๓ จังหวัด ก่อนมาเขามีความคิดอคติต่อชาวมุสลิมว่าต้องเป็นคนร้าย แต่เมื่อมาอยู่จริง กลับพบแต่วิถีของมุสลิมที่ใช้ชีวิตไปกับการละหมาด และทำงานกรีดยางตามปกติ ซึ่งมันขัดแย้งกับข้อมูลที่เขาได้รับรู้มา

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ผู้ดำเนินรายการ
ทั้งกอเซ็งและแบยาต่างก็ให้ข้อมูลถึงการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี อาจเป็นเพราะทั้งสองคนได้มีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือมาตลอด ๒๐ - ๓๐ ปีที่ผ่านมา กอเซ็งชี้ให้เราเห็นชัดถึงการหาเลี้ยงชีพ มูลค่าของทรัพยากรที่ลดลง และมูลค่าต้นทุนที่สูงขึ้นจนไม่อาจประกอบอาชีพดั้งเดิมได้ และเสนอให้เห็นความรู้ของชาวบ้านที่รู้จักธรรมชาติอย่างซับซ้อน

ส่วนแบยาเสนอให้เห็นการปะทะกันระหว่าง ความรู้ทางวิชาการโดยเฉพาะจากตะวันตก กับความรู้ทางภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เข้าใจความซับซ้อนของธรรมชาติ ซึ่งความรู้แบบชาวบ้านนี้ได้ถูกการจัดการใหม่แบบไม่ฉลาดเข้ามาแทนที่ เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เข้าไปพัฒนาจะมองความรู้แบบชาวบ้านเป็นแบบแบน ๆ ไม่มีความหลากหลาย มองไม่เห็นความซับซ้อนทางธรรมชาติ

 

 



 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 690 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com

midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

เรื่องซีฟู๊ดแบงค์ (Sea Food Bank) ซึ่งเป็นโครงการของเนวินที่อยากเปลี่ยนแปลงอ่าวปัตตานี เป็นความคิดที่อยากให้มีความทันสมัยระดับโลก เหมือนกับเอาวิถีของตะวันตกเข้าไป แต่เดิมทีชาวบ้านอยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย พึ่งพาอาศัยกันได้เรื่องทำมาหากิน แบ่งปันกันในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ แต่ความคิดของเนวิน คือการออกโฉนดแสดงความเป็นเจ้าของลงไป มันเหมือนตัดทางหากินของชาวบ้าน

ผิดกับภูมิปัญญาชาวบ้านที่จะทำอะไรก็ไม่เคยทำลายธรรมชาติเลย อย่างการทำทำนบสมัยปู่ของผม ท่านทำโดยใช้ดินบริเวณนั้นมาทำทำนบ ชาวบ้านทำนาได้ผล แต่เวลาที่นักวิชาการปัจจุบันนี้เวลาไปทำทำนบใช้คอนกรีตอัดเหล็กอย่างดี ชาวบ้านกลับทำนาไม่ได้ผล เหล่านี้สะท้อนความแตกต่างระหว่างหลักวิชาการที่นั่งเรียนในห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ผิดกับภูมิปัญญาชาวบ้านที่ที่เรียนกันในห้องกว้าง เรียนกับธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงไปถึงดวงดาวเป็นการเชื่อมโยงโลกกับจักรวาล
เวลาชาวบ้านคิดจะทำอะไร เขาจะคิดรวมไปถึงระบบของดวงดาว ระบบของดวงอาทิตย์ รวมทั้งเจ้าที่ เจ้าป่า เจ้าเขาที่พวกเขานับถือ ผนวกกับวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา สะท้อนวิธีคิดที่เชื่อมโยง

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ้างอิง