The Midnight University
รำลึก ๒๙ ปี เหตุการณ์
๖ ตุลา ๒๕๑๙
๖
ตุลา กับภูมิปัญญาสังคมไทย
ศ.ดร.
นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความนี้เคยเผยแพร่แล้วเมื่อคราวครบรอบ ๒๐ ปีเหตุการณ์
๖ ตุลา
โดยคณะกรรมการประสานงาน ๒๐ ปี ๖ ตุลา, ตุลากาล, ตุลาคม ๒๕๓๙
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 693
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)
ผมคิดว่าสังคมไทยโดยรวมเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ 6 ตุลา ในปี พ.ศ. 2519 ไม่ต่างไปจากผมเท่าใดนัก กล่าวคือ ไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุร้ายถึงขนาดนี้จะเกิดขึ้นได้กลางบ้านกลางเมืองอย่างนั้น พ้องพานคนและระบบลึกซึ้งกว้างขวางอย่างน่าตระหนก และอย่างที่หลายคนไม่เคยคาดไปถึงและเช่นเดียวกับผม จนถึงทุกวันนี้ ผมก็เข้าใจว่าสังคมไทยโดยรวมก็ยังไม่ได้มีปัญญางอกงามอะไรขึ้นมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา มากไปกว่าเมื่อ พ.ศ. 2519 มากนักอยู่นั่นเอง เพราะนักปราชญ์ท่านก็ยังรักษาท่าทีสุขุมอย่างเลือดเย็นของท่านไว้ด้วยคำเตือนว่า "มีประโยชน์อะไรที่จะไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ" หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ "อย่าเรียนรู้" เป็นอันว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นอีกเหตุการณ์ใหญ่หนึ่งในอดีตของไทยที่ถูกทำหรือรักษาความไร้ความหมายเอาไว้สืบไป
หนังสือเล่มนี้คงเป็นความพยายามรุ่นแรก ๆ อีกครั้งหนึ่งที่จะทำให้สังคมได้เรียนรู้จาก 6 ตุลา คงอีกยาวไกลกว่ากระบวนการนี้จะสามารถเสนออะไรที่มีคุณค่าควรแก่การเรียนรู้ได้ และคงอีกยาวไกลกว่าสังคมจะเริ่มลงมือเรียนรู้หรือร่วมไปในกระบวนการนี้ เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงย่อมมีความเจ็บปวดอยู่ด้วยเสมอ ยิ่งเรียนรู้อดีตที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเช่นนี้ย่อมมีเหตุให้เกิดความเจ็บปวดได้มาก เนื่องจากความขัดแย้งมักจะปลิ้นเอาธาตุแท้ของทุกอย่างออกมาให้เห็นชัดกว่ายามปรกติเป็นธรรมดา
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าผมไม่คิดว่าผมสามารถสลัดความโง่เขลาเบาปัญญาของตนเองใน พ.ศ. 2519 ไปได้ อีกทั้งไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมจากสังคมที่ถูกวางเงื่อนไขให้ลืม 6 ตุลา เสียอีก ฉะนั้นสิ่งที่เขียนต่อไปนี้จึงขาดความสัมพันธ์กันเอง ไม่มีลักษณะที่อาจใช้เป็นกรอบโครงในการเรียนรู้ 6 ตุลา ได้ และเมื่อกระบวนการเรียนรู้ก้าวหน้าต่อไป สิ่งที่ผมพูดต่อไปนี้ (ซึ่งหลายข้อคงมีผู้อื่นพูดมาแล้วด้วย) ก็คงถูกพิสูจน์ว่าไม่ถูกต้อง หรือเป็นเพียงความรู้ดาด ๆ ที่ไม่มีประโยชน์มากนัก
1. ผมคิดว่า เราไม่อาจแยก 6 ตุลา กับ 14 ตุลา ได้ เพราะ 6 ตุลา สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างรวดเร็วหลัง 14 ตุลาคม 2516 อาจกล่าวได้ว่า 6 ตุลา เป็นฉากสิ้นสุดของกระแสหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ 14 ตุลา นำมาสู่สังคมไทยนั้นกว้างใหญ่ไพศาลนักจนเกินกว่าที่นักรัฐประหารคณะใด เผด็จการพลเรือนหรือ จปร. รุ่นใด ๆ จะสามารถหยุดยั้งมันลงได้ทั้งหมด จาก 14 ตุลา จนถึงทุกวันนี้ เราไม่เคยมีรัฐบาลพลเรือนที่มั่นคงสักชุด แต่เราก็ไม่เคยมีรัฐบาลรัฐประหารที่มั่นคงสักชุดเช่นเดียวกัน
เมืองไทยได้เปลี่ยนไปเกินกว่าที่จะดึงให้กลับไปสู่สภาพก่อน พ.ศ. 2516 ได้อีกแล้ว และ 6 ตุลา น่าจะเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งที่อยู่ในความเปลี่ยนแปลงมโหฬารนี้ ไม่ใช่อุบัติการณ์โดด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญอย่างแน่นอน
2. เฉพาะในส่วนของ 6 ตุลา การเรียนรู้จะต้องทำให้สองส่วนซึ่งมีความสัมพันธ์กันนี้เพิ่มพูนขึ้นและหลากหลายขึ้น สองส่วนดังกล่าวนี้ก็คือ
ก. ข้อเท็จจริง
ในปัจจุบันได้มี พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสำหรับเหตุการณ์ในวันนั้นออกมาแล้ว แม้ในครั้งที่ออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็มีผู้คัดค้านว่า เหตุใดจึงนิรโทษกรรมแก่นักศึกษาซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ในเมื่อจุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือ การนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่มีมือเปื้อนเลือดเท่านั้น ทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนั้นไม่เปิดเผยในชั้นการสอบสวนหรือชั้นศาล อย่างไรก็ดี จนถึงทุกวันนี้ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมก็ไม่เป็นผลให้มีผู้เล่าความจริงเพิ่มขึ้น นอกจาก "เหยื่อ" ซึ่งรู้ข้อเท็จจริงเพียงครึ่งเดียวและการสัมภาษณ์หลายบุคคล และหลายครั้ง ก็ดูเหมือนไม่ได้ข้อมูลอะไรที่จะทำให้มองเห็นอะไรได้กว้างขวางมากนัก การเก็บรวบรวมข้อมูลจึงควรหันไปเจาะผู้ที่กระทำให้มากขึ้น ผมเชื่อว่าหลายคนในเวลานี้คงพร้อมจะเล่ามากขึ้น ถ้ายอมปิดบังชื่อเสียงเรียงนามของเขา แม้แต่ผู้กระทำที่เป็นเพียงเบี้ย หากเป็นเบี้ยฝ่ายรุก การได้ข้อเท็จจริงจากฝ่ายนี้ก็จะทำให้ภาพที่กระจ่างขึ้นอย่างไม่ต้องสังสัย
เราจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลปลีก ๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกันเหล่านี้ปะติดปะต่อกันให้ได้ว่า ใครทำอะไรในวันที่ 6 ตุลา ใครไม่ทำอะไรในวันที่ 6 ตุลา ใครแกล้งทำอะไร และใครแกล้งไม่ทำอะไร ใครรู้อะไร รู้แค่ไหน และรู้เมื่อไร ฯลฯ เป็นต้น ถ้ายังไม่มีข้อมูลย่อย ๆ สำหรับปะติดปะต่อให้เกิดภาพใหญ่ขึ้นได้แล้ว ก็ยากที่จะเข้าใจได้ว่า 6 ตุลา ไปเกี่ยวโยงอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงอันมโหฬารที่สังคมเผชิญอยู่ในเวลานั้นได้
ข. ทรรศนะที่ใช้เป็นเครื่องมือการวิเคราะห์
ที่ผ่านมาในสังคมไทย มักใช้อุดมการณ์เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์อุบัติการณ์นี้ ดังนั้น 6 ตุลา จึงเป็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ที่แตกต่างกันเท่านั้น ซึ่งออกจะเห็นได้ชัดว่า แทบไม่ได้อธิบายเหตุการณ์อีกมากมายใน 6 ตุลา รวมทั้งไม่อธิบายพฤติกรรมของคนอีกหลายกลุ่มที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ 6 ตุลา ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย บางคนก็อาจเปลี่ยนอุดมการณ์มาร์กซิสท์ เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ ฯลฯ ซึ่งก็ได้ผลเท่ากันคือ ดูไม่เพียงพอสำหรับเป็นกรอบการวิเคราะห์ 6 ตุลา ได้
นักวิชาการบางท่านพยายามเชื่อมโยงความเสื่อมโทรมทางการเมืองในประเทศไทยระหว่างนั้น กับเผด็จการที่ตนเองเคยช่วยขจัดออกไป อย่างไรก็ตาม คนชั้นกลางไทยจะเผชิญกับภาวะไร้ความแน่นอนในอนาคตเหมือนกัน หรือยิ่งกว่าอีกครั้งหนึ่งภายใต้รัฐบาลเปรมที่ฝ่าฟันวิกฤตทางเศรษฐกิจออกไปได้ในที่สุด แต่ในครั้งนั้น คนชั้นกลางไทยก็ไม่เกิดอาการ "ถอยกลับ" ยิ่งไปกว่ามีพลเอกเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง
ผมหวังว่าถ้าเราไม่หยุดเรียนรู้ เราจะสามารถสร้างทรรศนะที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ 6 ตุลา ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือมีพลังกว่าที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน นั่นก็คือ ลงตัวกับเหตุการณ์จริงตามข้อเท็จจริงที่รวบรวมมาได้หรือแม้แต่ที่ยังรวบรวมไม่ได้ เปิดเผยเมื่อไรก็ไม่ขัดแย้งกับทรรศนะนั้น นอกจากนี้ ยังสามารถอธิบายพฤติกรรมของฝ่ายต่าง ๆ ในการเมืองไทยในสมัยที่ใกล้กับ 6 ตุลา ได้ดีอีกด้วย บางส่วนก็อาจยังเอามาใช้อธิบายสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันหรืออนาคตได้ด้วย
ฉะนั้น ผมจึงเชื่อว่าการเรียนรู้ 6 ตุลา ของสังคมเป็นเรื่องมีประโยชน์อีกทั้งยังหลบหลีกไม่ได้อีกด้วย แม้ไม่มีใครต้องมาชดใช้การกระทำของตนในวันนั้นกับกฎหมายอีกแล้ว แต่ทุกคนยังเป็นหนี้ที่ต้องให้สังคมได้เรียนรู้ ไม่ควรที่จะปกปิดหรือพยายามกลบเกลื่อน เพราะนั่นคือการไม่ยอมคืนบทเรียนแก่สังคมไทยนั่นเอง
3. 6 ตุลา เป็นอุบัติการณ์ที่มักทำให้ต้องพูดกันถึงความรุนแรงทางการเมืองบ างคนถึงกับประกาศว่าเป็นการใช้ความรุนแรงอย่างป่าเถื่อนเป็นครั้งแรกในการเมืองไทย แต่ที่จริงแล้ว การเมืองไทยมิใช่การเมืองที่สงบ หากเป็นการเมืองที่มีความรุนแรงแฝงเร้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลอดมา จะไม่ย้อนกลับไปกล่าวสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือยุคราชาธิราชย์ ซึ่งก็ไม่ได้ว่างเว้นจากความรุนแรงในหลายรูปแบบเช่นกัน เพียงแต่ว่าในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีอำนาจภายนอกคือจักรวรรดินิยมตรามาตรฐานของตัว สำหรับใช้เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงการเมืองเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย ทำให้การใช้ความรุนแรงทางการเมืองไม่เป็นไปอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมานัก
อย่างไรก็ตาม หลังจากการปฏิวัติโดยแทบจะไม่เสียเลือดเนื้อในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไปแล้วความรุนแรงก็กลายเป็นเนื้อหาหลักอีกอย่างหนึ่งของการเมืองไทย เพียงแต่ว่าจำกัดการใช้ความรุนแรงไว้เฉพาะสำหรับนักการเมืองที่สามารถเข้าถึงกำลังกองทัพเท่านั้น จึงดูเหมือนว่าการยกทัพปะทะกันกลับกลายเป็น "ความมีระเบียบ" แต่ที่จริงแล้ว มีคนเจ็บคนตายหรือข้าวของเสียหายเนื่องจากการที่กองทัพรบกันเอง ไม่ว่าจะเป็นกบฏบวรเดช กบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตัน ฯลฯ ทั้งสิ้น ยุคสมัยที่ผู้นำสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำได้นาน ๆ ก็ใช้กลไกสำคัญอย่างหนึ่งคือ การประหารชีวิตนักโทษการเมือง การปล่อยเกาะ และ/หรือการลอบสังหารคู่แข่งทางการเมือง ฯลฯ นักการเมืองไทยที่พ่ายแพ้การแข่งขันมักต้องหนีไปจบชีวิตในต่างแดน ทั้งหมดเหล่านี้ลองเทียบกับเพื่อนบ้าน เห็นจะมีการเมืองที่ใกล้เคียงกับไทยก็แต่พม่าและกัมพูชาเท่านั้น
ความรุนแรงอีกลักษณะหนึ่งที่ใช้ในการเมืองไทยตลอดมาคือ การสังหารโหดประชาชนในชนบทที่อำนาจบ้านเมืองเข้าใจว่ากระด้างกระเดื่องต่อตัว หรือจะเป็นเหตุให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง นี่เป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกทำร้ายมามากแล้ว ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2516 - 2519 มีผู้นำชาวนาถูก "เก็บ" มากกว่าผู้นำนักศึกษาหลายเท่าตัวนัก นอกจากนี้ เพราะอำนาจในรัฐไทยนั้นไปสัมพันธ์อย่างแยกออกไม่ได้กับอำนาจท้องถิ่น พึ่งพาอาศัยกันเองอย่างซับซ้อน อำนาจในท้องถิ่นจึงอาศัยอำนาจบ้านเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของอำนาจบ้านเมืองในการ "เก็บ" ประชาชนที่ขัดขวางผลประโยชน์ของตนด้วย
สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เริ่มต้นทำการเก็บเหล่านี้ให้ถูก "กฎหมาย" โดยการประหารบุคคลที่ถูกเรียกว่า "ผีบุญ" และคอมมิวนิสต์ (อย่างไรก็ตาม ในสมัยของเขา อำนาจเถื่อนทุกอย่างที่เขามีอยู่ถูกทำให้เป็นอำนาจที่ถูกกฎหมายหมดด้วยมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญปกครองประเทศการรักษาอำนาจเถื่อนนี้ไว้ให้ถูกกฎหมาย จะยังคงมีสืบมาอีกหลายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า มีการทำความรุนแรงให้กลายเป็นสถาบันสถาพรทางการเมืองไปเลย และไม่ได้เป็นสถาบันที่เหลือแต่อาชญาสิทธิ์ที่ไร้ความหมายด้วย เพราะถูกนำมาใช้อีกหลายครั้ง)
ความรุนแรงในลักษณะนี้ที่เคยถูกซุกไว้ไต้พรมในชนบท มาในภายหลังหลายปีก่อน 6 ตุลา ก็ปรากฏขึ้นมาให้เป็นที่รู้เห็นของสังคมในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้ผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองเผด็จการ ที่ครอบงำประเทศไทยยาวนานร่วมสองทศวรรษ จึงแยกไม่ออกจากการเมืองไทย เหมือนการยกทัพแย่งตำแหน่งกันกลางกรุงของกองทัพซึ่งกระทำกันหลายครั้งหลายหนนั่นเอง
ก่อน 6 ตุลา มีผู้เรียกร้องให้ขวาพิฆาตซ้ายบ้าง ให้ขจัดพวกหนักแผ่นดินสัก 2,000 แล้ว บ้านเมืองจะสงบสุขบ้าง การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปบ้าง ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้คืออคติ ( mentality ) ของคนที่เคยชินกับวิธีคิดของความรุนแรงทางการเมืองที่รู้จักกันดีในชนบทไทย เพราะ "เก็บ" ศัตรูเสียได้ ทุกอย่างก็ปลอดโปร่งโล่งสบาย หรือ "สงบสุข" สำหรับผู้เก็บไปได้อีกนานทีเดียว ความคิดของคนจำนวนหนึ่งที่สร้างสถานการณ์ 6 ตุลา ขึ้นมาก็เพื่อ "เก็บ" นักศึกษา และทำให้เกิดความหลาบจำแก่คนอื่นที่ได้พบเห็น อย่างเดียวกับการยิงทิ้งในชนบท หลายครั้งก็อาจลากศพไปทิ้งไว้หน้าบ้านศัตรูอีกคนหนึ่งด้วย
ด้วยเหตุดังนั้น ความรุนแรงใน 6 ตุลา จึงไม่ใช่เหตุการณ์ที่โดดเดี่ยวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแต่อย่างไร ถ้าสังคมไทยจะเรียนรู้ 6 ตุลา ก็ต้องมีผลให้ขจัดความรุนแรงทางการเมืองในลักษณะอื่น ๆ ไปด้วย ไม่แต่เพียงขจัดการยิงกราดผู้เดินขบวนอย่างพฤษภาทมิฬ หรือการล้อมยิงผู้บริสุทธิ์อย่าง 6 ตุลา เท่านั้น เหตุการณ์เช่นนี้อาจไม่เกิดบ่อยเท่าการสังหารผู้นำชาวบ้านอย่างครูประเวียน บุญหนัก
4. แม้กระนั้น ก็ต้องยอมรับใน "ปริมาณ" ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่าเข้มข้นมากกว่าเดิม แม้มาจากฐานของประเพณีการใช้ความรุนแรงทางการเมืองอันเดียวกันก็ตาม ทั้งนี้เพราะความรุนแรงของ 6 ตุลา เกิดขึ้นในบริบทอันใหม่ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในการเมืองไทยบ่อยนัก เท่าที่ผมมองเห็นก็คือ
ก. อันที่จริง ประเทศไทยในช่วงนั้นไม่มีรัฐสืบเนื่องกันมานานมาก นับตั้งแต่กรุงแตกเมื่อ 200 ปีมาแล้ว เห็นจะไม่มีครั้งไหนที่บ้านเมืองจะขาดรัฐนานถึงเพียงนั้นอีก บ้านเมืองเป็นจลาจลแก่ทุกฝ่าย มองจากฝ่ายที่ถูกรังแกก็จะเห็นได้ชัด มีการขว้างระเบิดใส่ฝูงชนจนผู้คนล้มเจ็บจำนวนมากโดยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองป้องกันไม่ได้ และจับคนร้ายมาลงโทษไม่ได้ มีแก๊งอันธพาลทางการเมืองเอาระเบิดใส่กล่องวางไว้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกีดกันมิให้อีกฝ่ายหนึ่งเดินขบวนผ่านไป มีการบุกเข้าไปเผาทำลายธรรมศาสตร์ ฯลฯ การกระทำเหล่านี้ถามว่า ใครไม่รู้บ้างว่าผู้ละเมิดกฎหมายเหล่านี้คือใคร ก็จะเห็นว่าไม่มี แต่คนหรือหน่วยงานที่มีอำนาจในมือเพียงพอจะจัดการจับกุมลงโทษคนเหล่านี้ ก็ไม่มีไปด้วยต่างหาก นั่นก็คือ ไม่มีรัฐเหลืออยู่อีกแล้ว
ผมไม่ได้หมายความว่าถ้ามีรัฐไทยแล้ว ทุกอย่างจะราบรื่นหมด ผมหมายความเพียงว่าอำนาจเถื่อนในรัฐไทยซึ่งมีเป็นปกตินั้น จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากรัฐ ฉะนั้น จึงไม่ทำอะไรที่หยามน้ำหน้ารัฐขนาดนั้น แต่ในช่วงนั้นทุกฝ่าย และผมขอย้ำว่าทุกฝ่าย (ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน) ไม่สนใจการยอมรับจากรัฐมากนัก หรือต่อสู้กับคู่ปรปักษ์ของตนโดยตรงโดยมองข้ามรัฐไปเลย ต่างฝ่ายต่างมีหนังสือพิมพ์ของตัว และหนังสือพิมพ์ของแต่ละฝ่ายก็ด่าประณามคู่ปรปักษ์ของตัวอย่างไม่ต้องเกรงกลัวการหมิ่นประมาทเลย ผมคิดว่าหยิบหนังสือพิมพ์สมัยนั้นมาอ่านก็จะเห็นเองว่า แทบจะฟ้องขึ้นศาลกันได้ทุกวันทีเดียว
คดีในศาลเป็นการแสวงหายอมรับจากรัฐว่าตนเป็นฝ่ายถูก ในขณะที่การเผาหรือวางระเบิดโรงพิมพ์เป็นอำนาจเถื่อน ซึ่งใช้กันในรัฐไทยค่อนข้างบ่อย และเขามักใช้ทั้งสองอย่าง แต่เท่าที่ผมจำได้ในช่วงนั้น คดีในศาลมีไม่มากเท่าการใช้อำนาจเถื่อน เช่น ตีหัวนักเขียน ยิงคอลัมนิสต์ทิ้ง เอาระเบิดไปวางไว้หน้าโรงพิมพ์ ฯลฯ ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนการอันตรธานของรัฐทั้งนั้น
ผมคิดว่า นักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งผู้นำในตอนนั้นทั้งคนน้องและคนพี่ เลือกที่จะประคับประคองรักษาเงาของรัฐไทยเอาไว้ เพราะคิดว่าถ้าใช้ไม้แข็งเพื่อสถาปนารัฐให้มีสถานะเดิมให้ได้แล้ว ก็อาจนำไปสู่ความแตกแยกล่มสลายของรัฐอย่างเปิดเผยเลยก็ได้ ผมคิดว่านั่นเป็นนโยบายที่ผิดอย่างยิ่งทีเดียว และส่วนหนึ่งก็เป็นเหตุนำมาสู่ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วย
รัฐไทยที่กลับเกิดขึ้นใหม่ในเย็นวัน 6 ตุลาคม ของปีนั้น กลับเป็นรัฐที่เกิดจากการฮั้วกันของแก๊งที่หลากหลายผลประโยชน์มาก เพียงแต่ต้องสวมเสื้อคลุมขวาจัดเท่านั้น ฉะนั้น จึงทำให้แก๊งและกลุ่มที่ไม่อาจสวมเสื้อคลุมตัวนี้ได้ ต้องพากันหลุดออกไปจากรัฐเข้าป่าบ้างไปต่างประเทศบ้างไปทำนาบ้าง ไปเริ่มขบวนการ อพช. บ้าง มีเมียแล้วเลิกยุ่งกับ "แม่ง" บ้าง ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนทำให้รัฐอ่อนแอลงทั้งสิ้น เพราะรัฐไทยมีพลังที่ธำรงความหลากหลายไว้ภายในได้ต่างหาก
ผมคิดว่า สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกเปลี่ยนไปมากแล้ว หลัง 14 ตุลาคม 2516 ทุกแก๊งทุกกลุ่มต้องถูกบังคับให้ทะเลาะกัน วางระเบิดกัน และป้ายสีกัน ภายใต้รัฐให้ได้ เพื่อที่ว่าในที่สุดจะได้ร่วมกันพัฒนาเวทีสำหรับการต่อรองทางการเมือง ที่มีประสิทธิภาพกว่าระบบพี่เอื้อยของรัฐไทยขึ้นมาให้ได้ ฉะนั้น สิ่งที่บาดเจ็บที่สุดในการต่อสู้กันของฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งนำมาสู่ 6 ตุลา ก็คือประชาธิปไตย เพราะมันถูกปฏิเสธโอกาสที่จะพัฒนาขึ้นในสังคมไทย ซ้ายก็ไม่เชื่อ ขวาก็ไม่ใช่ แม้แต่รัฐบาลเองก็สังเวยมันเสีย เพื่อเก็บเงาของรัฐเอาไว้เท่านั้น
ข. ผมคิดว่า "ขบวนการนักศึกษา" (ผมขอใช้วลีนี้ไปก่อนด้วยความอึดอัด เพราะยังไม่แน่ใจว่า มีสิ่งที่อาจเรียกว่า ขบวนการนักศึกษา ได้จริงหรือไม่ ? ) ทำให้ความขัดแย้งแตกต่างออกไปจากที่เคยเกิดขึ้นในรัฐมาก่อนอย่างมาก นั่นก็คือ แปรเปลี่ยนผลประโยชน์ออกมาในรูปอุดมการณ์ การกระทำอย่างนี้มีพลังมากทีเดียว เพราะอุดมการณ์ให้แผนปฏิบัติการทางสังคมด้วย ไม่ใช่เพียงแต่สำนึกว่า ใครเป็นศัตรู ใครเป็นมิตร ความขัดแย้งซึ่งเดิมเคย เป็นความขัดแย้งของแก๊งของกลุ่มจึงกลายเป็นความขัดแย้งที่กว้างกว่านั้นมาก (เช่น "ชนชั้น" หรือ "ฝ่ายประชาธิปไตย" กับ "ฝ่ายเผด็จการ" หรือ "นายทุน" กับ "แรงงาน" ฯลฯ)
ในสภาพความขัดแย้งอย่างนี้ ผลักให้ทุกฝ่ายต้องวิ่งเข้าหาฝ่ายที่มีพลังกล้าแข็งที่สุด และพลังกล้าแข็งมาจากความสามารถในการจัดตั้ง "ขบวนการนักศึกษา" เองก็มีพลังตรงนี้ และหลัง 14 ตุลาคม 2516 ก็มีคนวิ่งเข้าหาอยู่ไม่น้อย แต่ต่อมาก็เห็นได้ว่า พลังดังกล่าวของ "ขบวนการนักศึกษา" มีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับอีกสองฝ่าย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นฝ่ายที่มีการจัดตั้งที่ดีที่สุดในสังคมไทยขณะนั้น นั่นก็คือ กองทัพ และ พคท. และสองฝ่ายนี้แหละที่ในที่สุดแล้ว ทุกฝ่ายในสังคมต่างพากันวิ่งเข้าหาเพื่ออาศัยเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับกลุ่มที่ขัดแย้งกับตน
ผมคิดว่า ความขัดแย้งในสังคมถูก "ลด" มาให้เหลือเป็นคู่ความขัดแย้งเดิม คือ ระหว่างกองทัพและพคท. ไม่นานหลังปี พ.ศ. 2516 ทำให้ความขัดแย้งทั้งหมดกลายเป็นเรื่องของสงครามชนชั้น หรือสงครามของผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กับคนขายชาติไป คู่ความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการต่อสู้มานานแล้ว ถ้าเอาวิดีโอเหตุการณ์ 6 ตุลา มาดูใหม่จะเห็นยุทธวิธีปราบผู้ก่อการร้ายที่อเมริกันสอนเอาไว้มากมายหลายอย่างทีเดียว
ค. ตลอดเวลา 3 ปีของความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มพูนขึ้นแทบทุกวินาทีนั้น คนไทยในเมืองได้สร้างวัฒนธรรมความรุนแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ประเด็นนี้มีผู้พูดไว้พอสมควรแล้ว ผมก็ขอกล่าวซ้ำแต่เพียงสองเรื่องคือ การทำลายความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้ามลงในวลี เช่น "หนักแผ่นดิน" "สมุนจักรวรรดินิยม" ผลของการทำลายความเป็นมนุษย์ของศัตรูสำเร็จแค่ไหน จะเห็นได้จากคำแก้ตัวของกลุ่มที่ทุบตีนักศึกษาจนเสียชีวิต แล้วจับเอาไปเผานั่งยางกลางสนามหลวง กลุ่มนี้อาจกล่าวว่า เพราะเหยื่อเป็นญวน ดูเหมือนเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำอะไรกับญวนก็ได้ เพราะญวนไม่ใช่คน
อีกกรณีหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบอาชีพครูสองคนออกโทรทัศน์ แล้วพากันหัวร่อต่อกระซิกชี้ชวนกันชมภาพวิดีโอที่แสดงการลากทึ้งศพนักศึกษาของฝูงชนกลางสนามหลวง การหัวร่อใส่ศพเช่นนั้นก็เป็นอนารยะในวัฒนธรรมไทยเหลือจะกล่าว แล้วมิพักต้องพูดถึงการกระทำเบื้องหน้าสาธารณชนทางโทรทัศน์เช่นนั้น และภาพของครูที่มีปฏิกิริยาเช่นนั้นต่อนักเรียน ก็ทำลายอุดมคติความสัมพันธ์ระหว่างครูและศิษย์ที่เคยมีในวัฒนธรรมไทยลงโดยสิ้นเชิงอีกเรื่องหนึ่งของวัฒนธรรมความรุนแรงก็คือ ตลอดช่วง 3 ปีนั้น ดูเหมือนไม่มีภูมิปัญญาสำหรับการแก้ปัญหาสังคมอะไรเหลืออยู่อีก นอกจากการใช้ความรุนแรง ประชาธิปไตยก็เป็นเพียงเครื่องมือของนายทุน และไม่มีทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นอื่นได้เลยนอกจากการปฏิวัติ แม้แต่จะสนับสนุนให้ใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มขึ้นในการคุมกำเนิด เพราะปลอดภัยแก่ผู้หญิงมากกว่า ก็ยังต้องปฏิวัติเสียก่อน ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็เสนอภาพของชาติที่เต็มไปด้วยเลือดของบรรพบุรุษ ซึ่งทาแผ่นดินไว้ทุกตารางนิ้ว ไม่มีความรัก ความสนุก ความเมตตา ความเอื้ออาทร หรืออะไรที่ตลกขบขันในชาติไทยเอาเสียเลย
(ที่มา : คณะกรรมการประสานงาน
20 ปี 6 ตุลา, ตุลากาล, ตุลาคม 2539, หน้า 226-241)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ผลของการทำลายความเป็นมนุษย์ของศัตรูสำเร็จแค่ไหน จะเห็นได้จากคำแก้ตัวของกลุ่มที่ทุบตีนักศึกษาจนเสียชีวิต แล้วจับเอาไปเผานั่งยางกลางสนามหลวง กลุ่มนี้อาจกล่าวว่า เพราะเหยื่อเป็นญวน ดูเหมือนเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำอะไรกับญวนก็ได้ เพราะญวนไม่ใช่คน
อีกกรณีหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบอาชีพครูสองคนออกโทรทัศน์ แล้วพากันหัวร่อต่อกระซิกชี้ชวนกันชมภาพวิดีโอที่แสดงการลากทึ้งศพนักศึกษาของฝูงชนกลางสนามหลวง การหัวร่อใส่ศพเช่นนั้นก็เป็นอนารยะในวัฒนธรรมไทยเหลือจะกล่าว แล้วมิพักต้องพูดถึงการกระทำเบื้องหน้าสาธารณชนทางโทรทัศน์เช่นนั้น และภาพของครูที่มีปฏิกิริยาเช่นนั้นต่อนักเรียน ก็ทำลายอุดมคติความสัมพันธ์ระหว่างครูและศิษย์ที่เคยมีในวัฒนธรรมไทยลงโดยสิ้นเชิง