นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
130948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมั่น
ในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จว.ชายแดนใต้

หลักนิติธรรมและความยุติธรรมชายแดนใต้
คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)
คณะทำงานส่งเสริมการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม
และคณะอนุกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน
วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๘

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 667
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)



ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จว.ชายแดนใต้
โดย : คณะทำงานส่งเสริมการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม
และคณะอนุกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน
คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)


ยุทธศาสตร์ที่ 1 นโยบายการบริหารงานยุติธรรมแบบบูรณาการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
การนำนโยบายอาญาและนโยบายยุติธรรมแห่งรัฐไปปฏิบัติในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งขั้นวิกฤต ดังเช่น กรณีปัญหาการบริหารงานยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยหน่วยงานหลายหน่วยงาน หลายฝ่าย และหลายกระทรวงนี้ จำเป็นต้องมีการจัดกลยุทธ์ที่ชัดเจนเป็นเอกภาพ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีทิศทางที่ชัดเจน ไม่เกิดความสับสน และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น นโยบายการบริหารงานยุติธรรมแบบบูรณาการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่ง ประการแรก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีนโยบายอาญาในการจัดการงานยุติธรรมที่มีความเป็นเอกภาพร่วมกัน

แนวทางการดำเนินการ

1. กำหนดทิศทางนโยบายยุติธรรมแบบบูรณาการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ชัดเจน โดยเฉพาะการไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาด้านความยุติธรรม

2. สร้างความต่อเนื่องทางด้านนโยบายอาญาและนโยบายยุติธรรม และให้มีกลไกผลักดันนโยบายที่ประกอบด้วยบุคลากรจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

3. ให้ความสนใจกับยุทธวิธีในการแก้ไขปัญหา เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งและอาชญากรรมระยะยาวที่ระดับชุมชน และที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตชุมชนมากกว่าการแก้ไขปัญหาเพื่อปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินชีวิตให้เป็นแบบที่บุคคลภายนอกเข้าใจว่าเหมาะสม

4. สร้างดุลยภาพระหว่างการบังคับใช้กฎหมายกับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามสภาพของสังคมไทยโดยรวม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินกระบวนยุติธรรมตามหลักนิติธรรม
ในสถานการณ์ปกติ การดำเนินการกระบวนยุติธรรมของประเทศก็มีปัญหาข้อขัดข้องเกี่ยวกับความไม่เหมาะสม ไม่มีประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจับแพะของกรณี เชอรี่ แอน ดันแคน, การวิสามัญฆาตกรรมกรณีโจด่านช้างและพวกที่จังหวัดสุพรรณบุรี, การฆ่าตัดตอนจำนวนมากที่จับกุมตัวผู้กระทำผิดไม่ได้เมื่อคราวประกาศสงครามยาเสพติด, และการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีต่างๆ

ดังนั้นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ หรือสถานการณ์วิกฤตเช่นที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งเป็นกรณีที่การดำเนินกระบวนการยุติธรรมของประเทศ จะต้องผนึกกำลังเพื่อสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานทั้งในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน และในภาพรวมให้มีการระมัดระวังมาตรฐานที่ควรจะเป็นอย่างเคร่งครัดมากกว่าในกรณีสถานการณ์ปกติ เพื่อประชาชนชาวไทยทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประสบเหตุการณ์ใดๆจะได้ใช้เป็นที่พึ่งพิง เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการ เกิดความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ยุติธรรม และยอมรับได้ในผลแห่งการอำนวยความยุติธรรมที่เที่ยงธรรม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

แนวทางการดำเนินการ

1. ด้านกฎหมาย เพื่อลดความสับสนและสร้างความชัดเจนให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติและประชาชน ควรจะดำเนินการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายด้วยการ

- จัดทำคู่มือและแนวทางในการปฏิบัติงานตามกระบวนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 สำหรับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็วที่สุด เพื่อลดความผิดพลาดบกพร่องซ้ำซาก อันเกิดจากการตีความที่เป็นคุณหรือโทษต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

- จัดทำคู่มือให้ความรู้แก่ประชาชน เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่และขั้นตอนการดำเนินกระบวนการยุติธรรม เมื่อถูกเชิญตัวไปสอบปากคำ ตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยที่เกี่ยวข้องซึ่งจะให้ความช่วยเหลือกับประชาชนเมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ทั้งภาษาไทยและภาษามลายู โดยแจกจ่ายให้อย่างทั้งถึงให้กับชุมชน มัสยิด และโรงเรียน

- จัดทำคู่มือเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมให้กับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการตรวจค้นตัวบุคคล สถานที่ และวัตถุที่อาจล่วงละเมิดทางศาสนา

2. ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย

- คณะกรรมการประสานงานกระบวนการยุติธรรมแห่งชาติ ควรแสดงบทบาทเชิงรุกในการเป็นผู้นำเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการจัดทำแผนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศ ที่กำหนดบทบาทหน้าที่ และมาตรฐานการปฏิบัติงานของหน่วยงานย่อยในกระบวนการยุติธรรม ในลักษณะที่ลดทอนเงื่อนไขด้านเวลา ลดภารกิจหรือกระบวนการที่ทำให้ล่าช้าไม่เป็นธรรม ฯลฯ อันอาจก่อให้เกิดเงื่อนไขความไม่ไว้วางใจในสถานการณ์วิกฤตศรัทธาต่ออำนาจรัฐ โดยใช้เหตุการณ์ที่ขึ้นเป็นกรณีศึกษาเพื่อกำหนดที่ควรทำและละเว้นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ และเร่งนำแผนดังกล่าวมาปรับใช้กับ3 จังหวดชายแดนภาคใต้โดยเร็วที่สุด

- เร่งจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อประสานงานและให้มีการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในกระบวนการยุติธรรม

- กำหนดเป้าหมายร่วมและตัวชี้วัดความสำเร็จในงานยุติธรรม ด้วยการลดจำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ และเพิ่มปริมาณการดำเนินคดีโดยกระบวนการยุติธรรม

- เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยนำกรณีศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประสบปัญหาในกระบวนการยุติธรรมมาศึกษาสังเคราะห์ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายใหม่ทั้งองคาพยพ

3. ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวน จับกุม ค้น

- ดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานให้แน่นหนาเพียงพอก่อนที่จะลงมือจับกุมดำเนินคดีผู้ต้องสงสัย

- พัฒนาเทคนิควิธีการสืบสวนสอบสวนให้มีประสิทธิภาพในการทำงานด้วยนิติวิทยาศาสตร์ โดยมุ่งหมายให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิต และร่างกายของประชาชนให้น้อยที่สุด

- กู้ศักดิ์ศรีความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมของกฎหมายกลับคืนมา โดยแสดงให้เห็นว่าทุกคนอยู่ภายใต้หลักกฎหมายเดียวกัน และเจ้าหน้าที่ไม่ได้เลือกปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติผิดพลาดก็แก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง และแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต่างก็เคารพกฎหมายเช่นเดียวกัน

- การตรวจค้นบ้านเรือนสถานที่พักอาศัย หรือสถานศึกษาต้องแจ้งให้ผู้นำชุมชน หรือผู้บริหารการศึกษาทราบก่อนเข้าตรวจค้น หรือให้อยู่ในบริเวณที่ทำการตรวจค้นด้วย เพื่อให้ลูกบ้านหรือนักเรียนนักศึกษาจะได้อุ่นใจ เพราะบางครั้งชาวบ้านไม่เข้าใจภาษาไทย

- มีการแจ้งให้ญาติทราบโดยเร็วที่สุด เมื่อมีการเชิญตัวหรือจับกุมตัวไป เพื่อเป็นการแสดงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อให้ญาติจะได้คลายความกังวล สามารถไปเยี่ยมและเตรียมการประกันตัวได้

4. ด้านการพัฒนาการควบคุมตัว หรือปล่อยตัวชั่วคราวที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน

- ให้ความสำคัญกับการวบคุมตัวเยาวชน โดยปฏิบัติตามหลักกฎหายอย่างเคร่งครัดให้มีผลกระทบต่อเยาวชนให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงโอกาสทางการศึกษา

- การควบคุมตัวระหว่างสอบสวนในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ควรเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้ปฏิบัติศาสนกิจตามที่ร้องขอ

- การควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างสอบสวน และพิจารณาคดี ควรใช้หลักพันธนาการจำตรวนผู้ต้องขังเท่าที่จำเป็น เพื่อลดความรุนแรงทางสังคม หรือเลือกใช้วิธีอื่นในการควบคุมตัว เพราะบุคคลเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกพิพากษาว่ากระทำผิดจริง จึงไม่ควรรับโทษหลักกว่าผู้กระทำผิดจริง

- การควบคุมตัวควรคำนึงถึงสิทธิของตัวผู้ต้องขังและผลกระทบต่อผู้ต้องขังอื่นในเรือนจำเดียวกัน

- ควรมีกลไกช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยากจน ที่ต้องการขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทั้งในด้านของคำแนะนำ และในเงินกองทุนสนับสนุนเพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

5. ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการฟ้องร้องและดำเนินกระบวนพิจารณาคดี
ควรมีนโยบายเร่งรัดการดำเนินคดีบางประเภท ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น คดีนักศึกษาต้องขังระหว่างพิจารณาและไม่ได้รับการประกันตัว ฯลฯ ตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของคดีเพื่อลดความรู้สึกขัดแย้งทางสังคม และช่วยสังเคราะห์ให้ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

6. ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินการภายหลังมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
เร่งติดตามนำทรัพย์สินของกลางที่ถูกเก็บไว้คืนให้จำเลยที่ถูกยกฟ้องทุกกรณีโดยเร็วที่สุด มีการขอโทษชดใช้ค่าเสียหาย และลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเป็นการสร้างเงื่อนไขการไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสลายเงื่อนไขความไม่ยุติธรรมทางสังคม
ความยุติธรรมเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย และกฎหมายก็มีเจตนารมณ์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของสังคมได้อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ซึ่งหลักการดังกล่าวสามารถใช้การได้ดีเมื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่มีความขัดแย้งกันต่างก็มีคุณสมบัติหรือมี "ต้นทุนทางสังคม" (อันเป็นอำนาจต่อรองที่สำคัญประการหนึ่ง) สมน้ำสมเนื้อที่จะทำการต่อสู้

แต่เนื่องจากคนในสังคมกลุ่มต่างๆมีต้นทุนทางสังคมที่แตกต่าง หลากหลาย ไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคมในสภาพทั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้น โดยลักษณะที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และลักษณะทางวัฒนธรรมที่สังคมกำหนดให้ภายหลังจึงผสมผสานกันทำให้ "ต้นทุนทางสังคม" ของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอยู่ในสังคมไทย มีอำนาจต่อรองที่ค่อนข้างจำกัดในการเข้าร่วมต่อสู้ทางกฎหมายผ่านทางกระบวนการยุติธรรมเชิงสถาบัน

ซึ่งประเด็นความไม่เท่าเทียมกันโดยนี้ เป็นเงื่อนไขความไม่ยุติธรรมในสังคมที่สำคัญประการหนึ่งที่ชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบอยู่ในสถานการณ์ร่วมสมัยนี้ และจำเป็นต้องมีการจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อสลายเงื่อนไขความไม่ยุติธรรมทางสังคมโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของการเข้าถึงความยุติธรรมโดยกระบวนการยุติธรรมของรัฐ

แนวทางการดำเนินการ

- เร่งสลายเงื่อนไขการดำเนินกระบวนยุติธรรมด้วยการใช้ พรก. ให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุดและประกาศยกเลิกการใช้ พรก.กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เร็วที่สุด

- จัดให้มีล่ามหรือทนายความที่เข้าใจภาษามลายู ในการสื่อสารกับชาวไทยมุสลิมทันที และในทุกขั้นตอนที่มีการบังคับใช้กฎหมายและดำเนินกระบวนยุติธรรมทั้งระบบ

- จัดให้มีคู่มือ เอกสาร ป้ายประกาศ ฯลฯ ในหน่วยงานของกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทย

- ใช้อำนาจรัฐเพื่อช่วยลดทอนแรงเสียดทานของเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการคลี่คลายคดีที่สะท้อนถึงความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม อันแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่แสดงเจตนาสลายเงื่อนไข ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้กิความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม

- แสดงให้เกิดความกระจ่างชัดว่ารัฐไม่ได้เลือกปฏิบัติ หรือละเลยในการอำนวยความยุติธรรม โดยเร่งดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่กระทำผิด

- กรณีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาเป็นนักศึกษา ควรได้รับการดูแลให้มีโอกาสศึกษาต่อเนื่อง และเมื่อพ้นจากเรือนจำไม่ว่ากรณีใดก็ตาม นักศึกษาเหล่านี้ควรจะมีโอกาสกลับไปศึกษาต่อ ณ สถาบันการศึกษาเดิมเป็นกรณีพิเศษ

- ควรมีการขอโทษต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และเยียวยาความเสียหายให้กับผู้เสียหาย ทั้งผู้เสียหายโดยตรงและโดยอ้อม รวมทั้งผู้ที่พิการและอยู่ระหว่างการรักษาพยาบาลด้วย

- เร่งค้นหาบุคคลสูญหายเพื่อพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏ

- ให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงของการตายของผู้ก่อเหตุในวันที่ 28 เมษายน 2547 นอกจากกรณีมัสยิดกรือเซะ

- ในระดับนโยบาย ควรระมัดระวังในการส่งสัญญาณที่เป็นการชี้นำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ เกิดความรู้สึกสับสนในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การปรับกระบวนทัศน์และวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

"...ข้าราชการที่จะแต่งตั้งออกไปประจำตำแหน่งในมณฑลปัตตานี พึงเลือกเฟ้นแต่คนที่มีนิสัยซื่อสัตย์ สุจริต สงบเสงี่ยม เยือกเย็น มิใช่สักแต่ว่าส่งไปบรรจุให้เต็มตำแหน่งหรือส่งไปเป็นการลงโทษเพราะเลว...เมื่อจะส่งไปแล้วต้องสั่งสอนชี้แจงให้รู้ลักษณะทางการอันพึงประพฤติระมัดระวัง...ผู้ใหญ่ในท้องที่พึงสอดส่องฝึกอบรมต่อๆกันไปในคุณธรรมเหล่านั้นเนืองๆ ใช่แต่คอยให้พลาดพลั้งลงไปก่อนแล้วจึงจะลงโทษ..."

พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ 3/78 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2466

ความแตกต่างหลากหลายทางสังคม มิใช่จะปรากฏในเห็นเฉพาะในเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะแม้แต่ในสังคมทั่วไป ผู้คนต่างก็มีหลากความคิด หลายมุมมอง อันเนื่องจากได้รับประสบการณ์การขัดเกลาทางสังคมมาแตกต่างกัน ซึ่งการมีทัศนคติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแตกต่างกันนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะทำให้ผู้คนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันได้

แต่การเล็งเห็นผลกระทบและความเสียหาย ที่เกิดมาจากการนำคนที่มีกรอบทัศนะต่อโลกและชีวิตรูปแบบหนึ่ง ไปปกครอง ทำงาน ให้บริการ และใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้ถูกปกครองที่มีกรอบทัศนะต่อโลก และใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป และไม่เป็นที่คุ้นเคย นั้น เป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการได้ด้วยวิธีการคัดเลือก สรรหา ฝึกอบรม ซึ่งเป็นหลักการการบริหารบุคคล และหลักบริหารราชการแผ่นดินที่สังคมไทยพึงให้ความสำคัญกับการคัดสรร การปรับกระบวนทัศน์ และวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่อง อคติ และการเลือกปฏิบัติมาเกี่ยวข้องในการอำนวยความยุติธรรม ดังกรณีของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นี้

และโดยเฉพาะเมื่อรัฐประสงค์ให้เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นมารับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า แก้ปัญหาที่เรื้อรังยาวนาน และไม่สร้างปัญหาใหม่ๆเพิ่มขึ้น การปรับกระบวนทัศน์และบริหารบุคคลที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่อ่อนไหวเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ลดทอนเงื่อนไขปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความโกรธเกลียดชิงชัง อันนำไปสู่การแก้แค้นทดแทนลงได้ทางหนึ่ง จึงควรใช้หลักรัฐประศาสโนบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ดังความจากพระราชหัตถเลขาข้างต้น

แนวทางการดำเนินการ

- ควรให้ความสำคัญในการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้บุคคลที่เหมาะสม ไม่ไปสร้างเงื่อนไขให้กับประชาชนพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้น

- ต้องจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความเข้าใจในวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

- ไม่ควรจะมีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บ่อยเกินไป ทำให้ประชาชนไม่คุ้นชินและรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่เป็นคนแปลกหน้า ส่งผลให้เกิดความระแวงและไม่เชื่อมั่นต่อการอำนวยความยุติธรรม

- พัฒนาระบบการบริหารงานบุคคล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และสร้างขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจให้กับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น การให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นแบอย่างที่ดี และได้รับการยอมรับจากประชาชน ในทางตรงกันข้ามต้องเร่งการดำเนินการสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ ที่ประพฤติมิชอบและโยกย้ายออกนอกพื้นที่โดยเร็วที่สุด

- สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ให้เจ้าหน้าที่เกิดความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ สืบสวนสอบสวนเพื่อแสงหาหลักฐานตามหลักวิชาชีพ ไม่ใช่รีดพยานหลักฐานจากตัวผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีของเจ้าพนักงานอัยการและการพิจารณาคดีของศาล

- ต้องจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นจับกุม สืบสวน สอบสวน จับกุม ตรวจค้น ละควบคุมตัวตามกฎหมาย

- ควรพัฒนาจิตสำนึกของเจ้าหน้าที่ให้รักความยุติธรรมและมีเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

- จัดให้มีหน่วยเฉพาะหรือฝึกฝนการนำวิธีการที่เป็นสากลมาสลายการชุมนุม ให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน

- ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและกระบวนทัศน์ของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งยอมล่วงละเมิดหลักนิติธรรมเพราะกลัวเสียหน้าไปสู่วัฒนธรรมใหม่ที่ว่า "จับคนบริสุทธิ์คือความล้มเหลว จับถูกคนคือเกียรติเกียรติภูมิ"

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมบทบาทของประชาสังคมในกระบวนการยุติธรรม
การส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรมทางสังคม และสิทธิมนุษยชนเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติที่ยั่งยืนอันเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น สามารถวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวได้ เพื่อสร้างทางเลือกในการเข้าถึงความยุติธรรมด้วยวิธีต่างๆที่เหมาะสมกับบริบทสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้น การเคลื่อนไหวของประชาสังคมกลุ่มต่างๆที่เป็นเครือข่ายยุติธรรมชุมชน จึงเป็นพลังเชิงสร้างสรรค์และเป็นกิจกรรมที่รัฐควรการสนับสนุน ซึ่งในสถานการณ์ร่วมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ก็สามารถนำยุทธศาสตร์บางประการมาปรับใช้เฉพาะกิจได้เช่นกัน


แนวทางการดำเนินการ

- กระตุ้นและผลักดันให้ภาคประชาสังคมจัดตั้ง "หน่วยพิทักษ์ยุติธรรม" ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่ายทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชน ที่มีความสนใจเพื่อทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ติดตาม ตรวจสอบ เสนอแนะการดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบในทุกขั้นตอน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม อันเป็นการลดเงื่อนไขที่จะบั่นทอนความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

- เร่งสนับสนุนการใช้กลไกภาคประชาสังคมที่มีอยู่ เช่น กก.ตร.สภอ. ให้ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามหลักนิติธรรม

- ให้ความสำคัญกับต้นทุนทางสังคมในเรื่องของคุตบะฮวันศุกร์ (การเทศนาธรรมประจำสัปดาห์โดยอิหม่าม) มาใช้ในการป้องกันอาชญากรรมและการกระทำผิดในชุมชน

- ควรมีการดูแลเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากอาจส่งผลต่อปัญหาสังคมระยะยาวที่ตามมา

- ประสานความร่วมมือและบูรณาการกำหนดยุทธศาสตร์การข้าถึงเยาวชนไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาการถูกชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย และเปิดพื้นที่ให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมฐานะ "ยุวชนยุติธรรม"

- สื่อมวลชนร่วมแสดงบทบาทเชิงรุก ด้วยการให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดรายการโทรทัศน์และวิทยุ ที่สอดคล้องกับความต้องการบริโภคของชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

- ผลักดันให้ภาควิชาการผลิตและขับเคลื่อนองค์ความรู้ การพัฒนากระบวนการยุติธรรมโดยวิธีวิจัยต่างๆทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ


โดย : คณะทำงานส่งเสริมการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม
และคณะอนุกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน
คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาต(กอส.)
วันที่ : 29/8/2548


 

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 650 เรื่อง หนากว่า 8500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
เชิญชวนผู้สนใจภาษาอังกฤษ นำเสนอคำศัพท์ใหม่ๆ พร้อมคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจโลก และความคิดร่วมสมัย ทั้งในมิติด้านการมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
ความแตกต่างหลากหลายทางสังคม
มิใช่จะปรากฏในเห็นเฉพาะในเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์
เพราะแม้แต่ในสังคมทั่วไป ผู้คนต่างก็มีหลากความคิด หลายมุมมอง
อันเนื่องจากได้รับประสบการณ์การขัดเกลาทางสังคมมาแตกต่างกัน

"...ข้าราชการที่จะแต่งตั้งออกไปประจำตำแหน่งในมณฑลปัตตานี พึงเลือกเฟ้นแต่คนที่มีนิสัยซื่อสัตย์ สุจริต สงบเสงี่ยม เยือกเย็น มิใช่สักแต่ว่าส่งไปบรรจุให้เต็มตำแหน่งหรือส่งไปเป็นการลงโทษเพราะเลว...เมื่อจะส่งไปแล้วต้องสั่งสอนชี้แจงให้รู้ลักษณะทางการอันพึงประพฤติระมัดระวัง...ผู้ใหญ่ในท้องที่พึงสอดส่องฝึกอบรมต่อๆกันไปในคุณธรรมเหล่านั้นเนืองๆ ใช่แต่คอยให้พลาดพลั้งลงไปก่อนแล้วจึงจะลงโทษ..."

พระราชหัตถเลขา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ 3/78 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2466

 

 

ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี