ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
related topic
010948
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 654 หัวเรื่อง
การเมือง กาสร้างภาพ ภาษามาลายู
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's free article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 30,779 สูงสุด 51,792 สำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

รัฐศาสตร์ไทยและวัฒนธรรมรัฐไทย
ความมั่นคง การสร้างภาพ และการเมืองเรื่องภาษา

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ประกอบด้วย
๑. The Ugly Siamese ๒. คุณลำไย ๓. วัฒนธรรมขี้เหล้าเมายา ๔. การเมืองเรื่องภาษา

การค้าที่ชาวพุทธไม่ควรสนับสนุนนั้นมีสี่อย่าง คือขายน้ำเมา, ขายเนื้อสัตว์, ขายคน, และขายอาวุธ
เราขายเนื้อสัตว์เป็นอันดับต้นๆ ของโลกเหมือนกันนะครับ ไม่ว่าจะเป็นไก่หรือปลา ถึงแม้เราไม่ได้ขายคน
แต่ในระดับโครงสร้างการผลิตทางเศรษฐกิจของเรา แรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน
และการกดราคาแรงงานในประเทศ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและราคารับซื้อพืชผลการเกษตร
การจะพูดว่าเราไม่ได้ขายคนเลยก็คงละอายปาก และน่าจะละอายยิ่งขึ้นก็ตรงที่
เราไม่เคยแก้ไขอะไรในเชิงที่จะทำให้การขายคนลักษณะนี้บรรเทาลงเลย


บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลำดับที่ 654
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13.5 หน้ากระดาษ A4)



ความมั่นคง การสร้างภาพ และการเมืองเรื่องภาษา
1. The Ugly Siamese
ในระยะเวลานับตั้งแต่สิ้นสงครามอินโดจีนเป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีโอกาสรับ "แขก" ที่เข้ามาเยือนประเทศไทยด้วยความจำเป็นนับเป็นหลายล้านคน เพื่อหลบภัยสงครามหรือการจลาจลในบ้านเมืองตนเอง จนถึงทุกวันนี้ ไทยก็ยังมี"แขก"ที่ต้องพำนักหลบภัยอยู่อีกหลายล้านคน เพียงแต่ภัยที่ต้องหลบหนีมานั้น อาจไม่ใช่ภัยการเมืองโดยตรง หากเป็นภัยทางเศรษฐกิจ

คนเหล่านี้มีอนาคตอยู่สามทาง หนึ่งคือกลับประเทศไปในที่สุดเมื่อภัยในบ้านเมืองของตัวทุเลาลงแล้ว หรือสองมีประเทศที่สามรับไปเป็นพลเมืองของตัว หรือสามกลืนตัวเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชากรประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม

ถ้านับจากชาวเวียดนามและลาว ซึ่งหนีการยึดอำนาจของคอมมิวนิสต์ในประเทศของตน ทยอยเข้าประเทศทั้งทางบกและทางเรือ มาถึงชาวกัมพูชาซึ่งหลบภัยการปกครองของเขมรแดง ไปจนถึงชนกลุ่มน้อยในพม่าซึ่งหนีการสู้รบเข้าสู่ประเทศไทยเป็นระลอก และชาวพม่า, กัมพูชา และลาว ซึ่งหลบภัยเศรษฐกิจเข้ามาขายแรงงานในประเทศไทยปัจจุบัน รวมกันแล้วเป็นจำนวนหลายล้านคน ทั้งนี้ยังไม่รวม การหลบภัยทางเศรษฐกิจของคนจากเอเชียใต้ โดยเฉพาะบังกลาเทศและปากีสถานอีกจำนวนมากมาย ผมประมาณโดยอัตโนมัติว่า ทั้งหมดไม่น่าจะต่ำกว่า 10 ล้านคนขึ้นไป ใหญ่กว่าประเทศลาวและกัมพูชาเสียอีก

ประสบการณ์ของคนเหล่านี้ที่มีต่อประเทศไทยเป็นอย่างไร? ผมไม่เคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์คนเหล่านี้ ถึงมีโอกาสถาม เขาก็คงเลือกที่จะตอบสิ่งที่ไม่ตรงกับใจเขานักกระมัง แต่ในฐานะเป็นมนุษย์ด้วยกัน เราคงสามารถเอาใจของเราหยั่งลงไปในใจของเขาได้ (ถ้าใจมนุษย์ทำอย่างนั้นไม่ได้ คำว่ามนุษยธรรมก็เป็นเพียงลมปากที่มีกลิ่นเหมือนตดเท่านั้น) เพราะประสบการณ์ที่เขาต้องเผชิญในประเทศไทย เป็นข่าวที่เราทนอ่านทนฟังมาตลอดเวลาเกือบสามทศวรรษ

คนที่หลบภัยมาเป็นกลุ่มก้อน (ซึ่งมักเป็นปกติของคนลี้ภัยทั่วไป มากกว่าลักลอบหลบหนีเฉพาะครอบครัวเดียว) ถูกต้อนให้เข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย มาตรการเช่นนี้เป็นสิ่งปรกติธรรมดาที่ทุกประเทศต้องทำ เพราะไม่มีสังคมใดที่พร้อมจะดูดซับแรงงานเป็นแสนๆ ได้ในทันที จึงต้องระวังมิให้คนตกงานจำนวนมากเช่นนั้นก่อให้เกิดปัญหาสังคมขึ้นได้ นอกจากนี้ยังดำเนินการสงเคราะห์ได้สะดวกอีกด้วย

แต่ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเป็นทางตัน เพราะเราตั้งใจแต่แรกแล้วว่า ประตูออกจากค่ายมีเพียงสองประตูแคบๆ หนึ่งคือประเทศที่สามรับตัวไป หรือเมื่อได้โอกาสที่ดีทางการเมือง(คือตกลงกับประเทศที่มาของผู้อพยพได้ หรือนานาชาติโดยเฉพาะสหประชาชาติ) ก็จะผลักดันผู้อพยพกลับประเทศ ประตูทั้งสองนี้มักไม่เปิดต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ ที่จริง รัฐบาลไทยก็รู้ว่าประตูสองด้านนี้ ไม่เปิดง่ายๆ ฉะนั้นค่ายผู้อพยพจึงไม่มีวันเป็นของชั่วคราวในเวลาอันสั้นได้

และเพื่อให้ทางมันตันจริงๆ เราจึงมักต้องพิพาทกับ UNHCR ว่า คนเหล่านี้คือผู้หลบหนีเข้าเมือง หรือผู้ลี้ภัยเสมอ เพราะถ้าเรายอมรับว่าเขาคือผู้ลี้ภัย ในด้านหนึ่งองค์กรระหว่างประเทศนี้จะให้ความช่วยเหลือและเข้ามาดูแลในระดับหนึ่ง แต่ด้านที่ตรงกันข้ามก็คือคนเหล่านี้เกิด "สิทธิ" ขึ้นระดับหนึ่งในฐานะผู้ลี้ภัยเหมือนกัน

ไม่ว่าตามกฎหมายเขาจะเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้หลบหนีเข้าเมืองก็ตาม ชีวิตในค่ายเหล่านี้คือการเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นที่สุด รัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมา มักพยายามทำให้คนไทยเชื่อว่า เราไม่ควรแบ่งปันอะไรให้แก่ผู้ยากไร้ต่างชาติเหล่านี้มากกว่านี้ เพราะจะเป็นภาระทางงบประมาณมากเกินไปบ้าง เพราะจะเท่ากับดึงดูดผู้อพยพเข้ามามากขึ้นบ้าง แต่ตราบเท่าที่ผู้ลี้ภัยไม่สามารถทำกินเลี้ยงตัวได้ ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นภาระด้านงบประมาณอยู่ตราบนั้น

ประตูที่จะเปิดให้ผู้อพยพออกไปหากินนอกค่ายไม่เคยเปิดเป็นทางการ กุญแจดอกเดียวที่จะไขออกไปได้คือการติดสินบนเจ้าหน้าที่ ฉะนั้นรายได้ของแรงงานหลบหนีเข้าเมืองซึ่งต่ำอยู่แล้ว ก็ยิ่งต่ำลงไปอีก และภาระทางงบประมาณก็เป็นไปอย่างไม่มีทางลดลงได้เลย

แต่ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ภาระทางงบประมาณ ซึ่งไทยไม่จนถึงขนาดที่จะแบ่งปันให้เพื่อนมนุษย์ ได้อยู่อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ได้หรอก แต่อยู่ที่ใจซึ่งแคบเกินไป โดยเฉพาะใจของรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา ทำให้นโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพ ไม่เปิดทางให้เขาได้หายใจหายคอในประเทศไทย

ในช่วงระยะเวลาซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่ายาวนาน ซึ่งผู้อพยพต้องพำนักอยู่ในประเทศไทย ต้องมีประตูที่เปิดให้เขาได้ใช้แรงงานและความรู้ความสามารถของเขา เพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าจ้างที่เป็นธรรมบ้าง เราจำเป็นต้องพัฒนากลไกราชการ ที่สามารถติดตามการออกมาหากินภายนอกได้อย่างเป็นระบบ (และไม่ต้องถูกรีดไถ) ความสามารถในการเลี้ยงดูตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เฉพาะงานในภาคที่ขาดแคลนเพียงอย่างเดียว (แม้จำกัดการเดินทางไว้เฉพาะจังหวัดหรือภาค) ก็จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อพยพดีขึ้นมากแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ผู้อพยพจะได้พบกับคนไทยจริงๆ ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นคนน่ารักกว่ารัฐบาลไทยเป์นอันมาก และนี่คือสายสัมพันธ์กับสังคมไทยที่เขาจะตรึงตราตลอดไป ไม่ว่าเขาจะได้กลับบ้านหรือไม่ก็ตาม

ไหนจะด้านการศึกษาซึ่งเด็กๆ ลูกหลานผู้อพยพควรมีโอกาสบ้าง ไม่ว่าเขาจะเป็นพลเมืองของประเทศอะไรในอนาคต การศึกษาไทยจะเป็นประโยชน์ต่อเขาทั้งนั้น และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมหาศาลด้วย เพียงแค่มีคนกว่าสิบล้านคนในประเทศเพื่อนบ้านอ่านหนังสือไทยออก เราจะอยู่ในภูมิภาคนี้อย่างสุขใจมากขึ้นเพียงใด

ผมขอไม่พูดถึงชะตากรรมของแรงงานอพยพอีกเป็นล้านที่ต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้ เพราะคนอ่านหนังสือพิมพ์ที่ยังมีใจเป็นมนุษย์อยู่บ้างก็คง "รู้สึก" ได้เหมือนกัน ไหนจะนายทุนที่เอาเปรียบแรงงานเขาอย่างทารุณ รวมทั้งอาศัยความ "ผิดกฎหมาย"ของเขา เพื่อโกงค่าจ้างอย่างหน้าด้านๆ ไหนจะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่คอยแต่จะรีดไถ หรือละเมิดทางเพศแก่เขา ไหนจะนายหน้าซึ่งเอาเปรียบคนหิวอย่างไร้มนุษยธรรม ฯลฯ

คนไทยซึ่งเคยได้ชื่อว่าโอบอ้อมอารี กลายเป็นคนซื่อบื้อที่จำนนต่อนโยบายไร้มนุษยธรรมเช่นนี้ได้อย่างไร หรือคำว่า "คนไทยใจดี" ยังเหลืออยู่เพียงแค่ในโฆษณาขายเบียร์เท่านั้น ผมคิดว่าคุณลักษณะของคนไทยที่เปลี่ยนไปนี้เกิดขึ้นจาก นโยบายต่อผู้อพยพและต่อสังคมไทยทั้งหมดนั้นถูกครอบงำด้วยแนวคิดเกี่ยวกับความมั่นคง

คนในฝ่ายที่เรียกกันว่า "ความมั่นคง" ในเมืองไทยนั้น มองอะไรไม่ได้ไกลเกินกว่าปลายจมูก หรือไกลกว่านั้นก็ไม่เกินขี้มูกของตัว (ไม่เชื่อก็ลองอ่านหนังสือที่คนเหล่านี้ ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้งอดีตและปัจจุบันเขียนดูบ้าง ก็จะเห็นเอง) จึงมองไม่เห็นว่าสภาพการณ์ทั้งหลายที่เราเห็นในปัจจุบันนี้นั้น ล้วนไม่คงที่ ย่อมแปรเปลี่ยนไปตามความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของโลก ประโยชน์เฉพาะหน้าของไทยในปัจจุบันนี้ก็มีซึ่งต้องดูแลรักษา แต่ประโยชน์ในอนาคตก็มีที่ต้องสร้างเสริมเอาไว้ จำเป็นต้องหาดุลยภาพที่เหมาะสม สำหรับประนีประนอมผลประโยชน์ทั้งสองด้านนี้เข้าหากัน

ไม่เคยมีโอกาสครั้งไหน ที่เราจะสามารถสร้างมิตรให้แก่ประเทศของเราได้เท่าครั้งนี้ มีคนกว่าสิบล้าน และอาจจะมากกว่านี้อีก เพราะต้องเวียนเข้าเวียนออกประเทศไทย ถ้าเราทำให้คนเหล่านี้มีความประทับใจทางดีแก่ประเทศของเรา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภูมิภาคนี้ เรามีฐานของมิตรภาพที่กระจายอยู่ในหมู่ประชาชนเพื่อนบ้านอย่างเป็นกอบเป็นกำ จะหาอะไรที่เป็นฐานให้แก่ความมั่นคงได้ดียิ่งไปกว่านี้อีกเล่า

เราจะรื้อฟื้นคุณสมบัติที่ดีของเรากลับคืนมาได้อย่างไร ผมคิดว่าสังคมไทยไม่ควรวางเฉยให้คนสายตาสั้นวางนโยบายความมั่นคงตามใจชอบ ความมั่นคงไม่ใช่ความรู้เฉพาะด้านสำหรับให้ผู้ชำนัญการกำหนดฝ่ายเดียว แต่มีมิติที่กำหนดตัวเราและความสัมพันธ์ที่เราพึงมีกับคนอื่นด้วย เราเป็นใครและพึงมีบทบาทในโลกนี้อย่างไรเป็นสิ่งที่เราต้องนิยามเอง ไม่ปล่อยให้คนที่อ้างตัวเองว่าเป็นผู้ชำนัญการนิยามฝ่ายเดียว

เราหยุดเป็น "คนไทยผู้น่าชัง" ได้ ถ้าเราแย่งสิทธิการนิยามตนเองกลับคืนมาจากฝ่ายความมั่นคง


2. คุณลำไย
พ่อแม่พี่น้องชาวกรุงเทพฯ คงได้กินลำไยกันอิ่มแปร้ไปแล้ว ไม่แน่ว่าเพราะชอบลำไยนักหนา หรือเพราะถ้าซื้อถึงสามกิโลก็จะมีโอกาสชิงโชค ถึงอย่างไรก็ทำให้รัฐบาลระบายลำไยออกไปได้ 1,000 ตัน ในการจัดงานที่ท้องสนามหลวง แต่ไม่มีใครรู้ว่าค่าโปรโมชั่นลำไยครั้งนี้เป็นเงินเท่าไร ไหนจะค่าจัดสถานที่ ไหนจะค่าประชาสัมพันธ์ทางสื่อ ไหนจะค่าขนส่ง ฯลฯ

ถ้าท่านเอาต้นทุนเหล่านี้รวมลงไปในลำไย ก็ไม่มีใครรู้ว่า แล้วไปซื้อชาวสวนมาในราคาเท่าไรกันแน่ ถ้าท่านไม่เอาไปบวกในต้นทุน ลำไยจะเป็นสินค้าที่ต้นทุนการตลาดแพงจนเกินกว่าจะมีอนาคตอะไรเหลืออยู่ แต่ขอโทษ ใครเขาคิดถึงอนาคตกันบ้างครับ เขาสนใจกันแต่ปัจจุบันต่างหาก

ยังมีค่าเวลาทีวีที่ยังโฆษณาจนถึงทุกวันนี้ว่า เราอาจช่วยเกษตรกรไทยได้ด้วยการกินลำไย ซดน้ำลำไย หรือแทะลำไยแห้ง นอกจากนี้การกินลำไยคือการแสดงออกซึ่งความรักชาติอย่างเป็นรูปธรรมในสมัยนี้ จังหวัดอะไรในอีสานผมก็จำไม่ได้แล้ว ท่านผู้ว่าฯประกวดการกินลำไยกลางเมือง ผู้ชนะเลิศดูเหมือนจะหม่ำไปเป็นกิโล ผมก็ได้แต่หวังว่าเขายังไม่ได้เป็นเบาหวาน

ที่หนักข้อไปกว่านั้น มีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า มหาดไทยสั่งให้ อบต.ทั้งหลายและหน่วยงานของกระทรวงรับลำไยไปขายต่อ กำไรขาดทุนก็ควักเนื้อของตัวเอง หนังสือพิมพ์รายงานว่า อบต.ของตำบลหนึ่งในอ่างทองเริ่มรับไปก่อน 100 กล่อง ในราคากล่องละ 200 กว่าบาท

การขยายตลาดภายในเพื่อรองรับลำไยล้นตลาดถูกหรือไม่ ใครๆ ก็คงเห็นด้วยว่าถูกต้องแล้ว แต่กำลังของตลาดภายในที่จะกินลำไยสดมีจำกัด เพราะใครจะนั่งกินลำไยให้หมดเชียงใหม่-ลำพูนได้

ลิ้นของผมบอกว่า ลำไยนั้นเป็นผลไม้ประหลาด เพราะเป็นผลไม้ที่มีรสเดียวคือหวานจนแสบคอ ไม่เปรี้ยวไม่มันและมักไม่กรอบทั้งไม่หอมชนิดชวนกินได้นาน กินครั้งแรกก็ตื่นเต้นดี เหมือนสมัยเป็นเด็ก ไม่ได้มีให้กินมากมายเหมือนสมัยนี้ ปีหนึ่งได้กินทีหนึ่งก็ติดใจ แต่จะให้ตั้งหน้าตั้งตากินกันบ่อยๆ เหมือนผลไม้อื่นไม่ได้ ฉะนั้น ตลาดภายในจะมีกำลังกลืนลำไยได้มากขึ้น ก็ต้องทำในลักษณะแปรรูปให้พิสดารกว่าที่ได้แปรกันไปแล้ว ซึ่งไม่ง่ายเลยนะครับ

คิดสูตรแปรรูปให้พิสดารอาจไม่ยากนัก แต่ต้องตามมาพร้อมกับการทดลองตลาดและปรับปรุงซึ่งต้องใช้ทุน ยิ่งไปกว่านั้นก็คือโรงงานแปรรูปลำไยเกิดขึ้นได้ยาก เพราะวัตถุดิบคือลำไยปีหนึ่งมีไม่กี่เดือน อีกเก้าเดือนต้องปิดโรงงาน ฉะนั้นถ้าจะเกิดโรงงานแปรรูปลำไยขึ้นในประเทศได้จริง ก็ต้องออกกฎหมายมาให้อำนาจแก่เจ้าของโรงงานในการกดราคารับซื้อลำไย อย่างเดียวกับที่เราเคยทำกับโรงบ่มและใบยาสูบ มิจลาจลทางการเมืองในฐานที่มั่นของไทยรักไทยในภาคเหนือหรอกหรือครับ

การแปรรูปลำไยเพื่อขยายตลาดภายในจึงต้องยกให้แก่ "แม่" อะไรต่อมิอะไร ซึ่งเป็นประธานกลุ่มแม่บ้านคิดจัดการ และรับความเสี่ยงทางธุรกิจไปเองเต็มๆ หากรัฐบาลจะช่วยอย่างยั่งยืน ก็ควรเอาเงินค่าโปรโมชั่นการกินลำไยมาใช้เพื่อช่วยในด้านการวิจัยผลิตภัณฑ์, วิจัยตลาด และสร้างเครือข่ายการระบายสู่ตลาด

ถึงทำอย่างนี้แล้วจะเกิดผลยั่งยืนกว่า แต่ทำแล้ว "ขาย" ตัวเองทางการเมืองไม่ได้ เพราะ "ลูกค้า" ทางการเมืองของตัว ไม่ตื่นเต้น ไม่กระตุ้นการ "ซื้อ" สินค้าทางการเมือง ไม่เสริมความภักดีต่อยี่ห้อสินค้าทางการเมืองของตัว

ทางรอดของลำไยอีกอย่างหนึ่งคือตลาดต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาล(นี้หรือรัฐบาลไหนๆ) ก็เจาะได้แค่ตลาดคนจีน(จีน-ไต้หวัน-ฮ่องกง) อย่างที่บอกแหละครับ มนุษย์เราคงกินลำไยสดได้ไม่กี่กิโลต่อปี ทั้งลำไยยังต้องแข่งขันกับผลไม้อื่นในตลาดของเขาด้วย จะเจาะตลาดอื่นเพิ่มขึ้นจากนี้ก็ไม่ง่ายนะครับ ในท่ามกลางสำนึกด้านสุขภาพอย่างแข็งขันเช่นทุกวันนี้ จะเอาน้ำตาลไปยัดปากใครจำนวนมากๆ คงไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียเลย เพราะอย่างน้อยกินลำไยครั้งแรกก็ตื่นเต้นดี และถ้ามีกินไม่มากในแต่ละปีก็ไม่เบื่อ เสียแต่ว่าจะให้กินลูกแรกได้อย่างไรต่างหาก

หากทว่านักการเมืองไม่ค่อยสนใจตลาดใหม่ จะเดินทางไปเปิดตลาดทีไรก็จีน-ไต้หวัน-ฮ่องกงทุกทีไป เพราะอย่างน้อยก็แน่ใจว่าขายได้แน่ มากหรือน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่จริงแล้ว หากวางแผนดีๆ ค่อยๆ ขายทีละน้อยในตลาดใหม่ๆ เช่น สหรัฐ, ละตินอเมริกา, ยุโรป ก็จะเป็นการสร้างตลาดต่างประเทศที่ยั่งยืนกว่ากำลังซดน้ำลำไยของอาแป๊ะเพียงอย่างเดียว

แต่ก็อย่างว่าล่ะครับ ขายลำไยให้บราซิลได้สามตัน แม้ว่าเป็นการสร้างตลาดต่างประเทศที่ยั่งยืนกว่า ก็ไม่ทำให้ใครได้คะแนนทางการเมืองเพิ่มขึ้น บริษัทการเมืองไม่ได้ "ลูกค้า" เพิ่มขึ้น เป็นแผนการตลาดที่ห่วยแตก หากทำงานบริษัทมือถือ เขาก็คงไล่ออกไปแล้ว ด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องมีมหกรรมกินลำไยกันที่ท้องสนามหลวง และทั่วประเทศ อย่างที่เห็นๆ กันอยู่

ถึงคุณลำไยจะเปลี่ยนชื่อเป็นคุณทักษิณา หรือคุณสุดารัตน์ แต่เนื้อแท้คุณลำไยก็คือคุณลำไย แรงงานตัวเล็กๆ ที่รับจ้างเก็บและไซ้(คัดแยก) ลำไยที่ไร้พลังต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น อ่อนแอเกินกว่าจะทำความเข้าใจอะไรได้มากไปกว่าเฮๆ ฮาๆ ไปปีละ 2-3 เดือนในหน้าลำไยเท่านั้น

อันที่จริงรัฐบาลทักษิณก็ทำอะไรอื่นๆ เหมือนกับที่ทำกับคุณลำไยนี่แหละตลอดมา นั่นก็คือสร้างแผนงานหวือหวา ที่ให้ผลในทางการเมืองระยะสั้น โดยไม่ได้แก้ปัญหาอะไรสักเรื่องเดียว เนื่องจากหลีกเลี่ยงที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพราะไม่ให้ "จุดขาย" ทางการเมือง ซ้ำยังอาจต้องเผชิญกับการตรวจสอบและการขัดขวางทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้เสียความได้เปรียบด้านการตลาดของบริษัทไทยรักไทยไปได้

30 บาทรักษาทุกโรค เป็นยังไงครับ โครงการนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะการประกันสุขภาพถ้วนหน้า(universal health care) เป็นอุดมคติที่ทุกประเทศใฝ่ฝัน บรรลุได้มากบ้างน้อยบ้าง แต่โครงการนี้หยิบมาง่ายๆ เพียงส่วนเดียวของวิธีการที่สลับซับซ้อน คือการรักษาพยาบาลที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่บัดนี้โครงการนี้กำลังจะล้มละลาย เพราะเงินทุนสำหรับโครงการมีอยู่อย่างเดียวคืองบประมาณ ซึ่งไม่มีทางที่จะจ่ายให้เพียงพอแก่การรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้ จนบางคนเล็งๆ ที่จะไปเอาเงินประกันสุขภาพของแรงงานเข้ามาหนุน ในขณะที่ชื่อโครงการก็เปลี่ยนไป ทางรอดของโครงการนี้เหลืออยู่เพียงอย่างเดียว คือการโหมโฆษณาผลสำเร็จของโครงการทางสื่อ อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นโครงการ 30 บาท เป็นแผนโฆษณาทางการเมืองที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก ผลจริงผลจังไม่ใช่เรื่องที่บริษัทต้องคิด

ปฏิรูประบบราชการก็เป็นเรื่องใหญ่ที่มีเสียงเรียกร้องให้ทำกันมานานแล้ว รัฐบาลทักษิณจัดให้ได้ ด้วยการแต่งตั้งผู้ว่าฯเป็นซีอีโอ และใช้ศัพท์แสงนานาชนิดในวิชาบริหารธุรกิจ เข้ามาเรียกการทำงานที่ไร้สมรรถภาพเหมือนเดิมของราชการ ถามว่าราชการสมัยนี้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้นหรือไม่ อยู่ภายใต้การกำกับของประชาชนมากขึ้นหรือไม่ แม้แต่รัฐบาลเองกำกับให้เป็นไปตามนโยบายได้มากขึ้นหรือไม่ เปล่าเลยครับ ทุกอย่างเหมือนเก่า

เพราะการปฏิรูประบบราชการจริงนั้น ต้องใช้เวลา ความอดทน และเผชิญอุปสรรคหลายอย่างซึ่งต้องใช้สติปัญญาในการปรับปรุงแก้ไข ทำทั้งหมดนี้แล้วก็ไม่เพิ่มคะแนนเสียงได้ทันตา สู้ทำด้วยศัพท์แสงไม่ได้ ถึงไม่เกิดอะไรดีขึ้นสักอย่าง แต่เป็นยุทธศาสตร์การตลาดที่ให้ผลรวดเร็ว คือขายสินค้าทางการเมืองได้คล่อง

ในบรรดารัฐบาลที่ถนัดการ "สร้างภาพ" ด้วยกัน ผมไม่เห็นรัฐบาลใดจะเก่งไปกว่ารัฐบาลทักษิณ เพราะรัฐบาลนี้รู้ว่า "ภาพ" ที่คนไทยอยากเห็นในปัจจุบัน คือการเข้าไปจับปัญหาระดับรากเหง้า ไม่ใช่อะไรที่ผิวๆ เผินๆ อย่างรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงการ "สร้างภาพ" เท่านั้น

มีอะไรที่รัฐบาลทักษิณทำอย่างรอบคอบ เพื่อหวังผลยั่งยืนในระยะยาว โดยไม่เอาการตลาดเป็นตัวตั้งบ้าง ผมมองไม่เห็นสักเรื่องเดียว ไม่ว่าจะเป็นปฏิรูปการศึกษา, ยาเสพติด, สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย, การสร้างกำลังผลิตและกำลังซื้อภายใน, ปฏิรูปการเกษตร, การท่องเที่ยว, การจราจรในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่, ความไม่สงบในภาคใต้ ฯลฯ ประเด็นปัญหาที่เข้าไปจับนั้นของจริงทั้งนั้น แต่วิธีการแก้ปัญหาเป็นเพียงปาหี่ขายสินค้า


3. วัฒนธรรมขี้เหล้าเมายา
ผมรอจนกว่าคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ประกาศเลื่อนการพิจารณารับ "ธุรกิจน้ำเมา" เข้าตลาดโดยไม่มีกำหนดแล้ว จึงขอพูดเรื่องนี้บ้าง ด้วยความเชื่อในเจตนาดีและบริสุทธิ์ใจของมูลนิธิกองทัพธรรม อันมีพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นประธาน ในขณะเดียวกันก็เห็นภยันตรายของการดื่มน้ำเมาทุกประเภท ทั้งแก่บุคคลและสังคม แม้กระนั้นผมก็ไม่เข้าใจวิธีคิดและตรรกะของท่านประธานมูลนิธิกองทัพธรรมอยู่นั่นเอง

ท่านต่อต้านการนำธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยเหตุผลว่า จะทำให้ธุรกิจนั้นมี "ทุน" เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และบริษัทจะนำเอา "ทุน" นั้นไปใช้ในการโฆษณาให้คนไทยเสพน้ำเมาเพิ่มขึ้นอีก

ผมไม่ทราบว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะเอาไปใช้ในการโฆษณา โดยเฉพาะโฆษณาในตลาดไทย เพราะงบฯโฆษณาไม่ใช่ด้านที่ขาดแคลนสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่(ที่จะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้) และคงไม่มีธุรกิจอะไรที่เอา "ทุน" ไปทุ่มกับการโฆษณาโดยไม่สนใจปรับปรุงการผลิต, การสร้างเครือข่ายการตลาด, หรือการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ ฯลฯ อันเป็นส่วนที่ต้องใช้-"ทุนมากกว่ากันแยะ"

นักธุรกิจทุกสาขาย่อมลงทุนกับการโฆษณาในสัดส่วนที่เหมาะสมกับผลตอบแทน โดยเฉพาะในตลาดเก่าของตนเอง และทุกวันนี้ การเก็บข้อมูลตลาดทำได้รวดเร็วและสะดวกถึงขนาดที่เขาสามารถวัดผลตอบแทนของโฆษณาแต่ละชิ้น การรณรงค์โฆษณาแต่ละครั้ง ฯลฯ ได้ด้วยซ้ำ จึงไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่า ธุรกิจน้ำเมาจะเอา "ทุน" ที่ได้จากการขายหุ้นในตลาด ไปใช้ในการโฆษณาในตลาดไทยซึ่งเขาครอบครองสัดส่วนที่สูงอยู่แล้ว

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าธุรกิจน้ำเมาจะเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ คนไทยก็จะโดนโจมตีด้วยการโฆษณาน้ำเมา ทั้งตรงและแฝงเท่ากับที่เป็นอยู่ขณะนี้ อันเป็นสัดส่วนที่พอเหมาะสำหรับการทำกำไรของธุรกิจน้ำเมา และเพียงเท่านี้ ก็ทำให้คนไทยดื่มมากเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย หรืออันดับหกของโลก, ดื่มเพิ่มขึ้นเป็นอันดับสามของโลก ฯลฯ อย่างโฆษณาของมูลนิธิกองทัพธรรมได้ชี้ให้เห็น

ฉะนั้นโฆษณาที่ทำไปแล้วและทำอยู่ก็น่าจะเพียงพอ เพราะตลาดก็ขยายขึ้นเรื่อยๆ นี่ครับ ในอัตราสูงเสียด้วย

ตรงกันข้าม ผมคิดว่าเขาน่าจะเอา "ทุน" ที่ได้ในตลาดหลักทรัพย์ไปใช้เพื่อขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศมากกว่า(ซึ่งแน่นอนต้องรวมการขยายกำลังการผลิตด้วย) ถ้าเขาทำจริง คราวนี้ปัญหาทางศีลธรรมจะยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้น

การค้าที่ชาวพุทธไม่ควรสนับสนุนนั้นมีสี่อย่าง คือขายน้ำเมา, ขายเนื้อสัตว์, ขายคน, และขายอาวุธ เราขายเนื้อสัตว์เป็นอันดับต้นๆ ของโลกเหมือนกันนะครับ ไม่ว่าจะเป็นไก่หรือปลา ถึงแม้เราไม่ได้ขายคน แต่ในระดับโครงสร้างการผลิตทางเศรษฐกิจของเรา แรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน และการกดราคาแรงงานในประเทศ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและราคารับซื้อพืชผลการเกษตร การจะพูดว่าเราไม่ได้ขายคนเลยก็คงละอายปาก และน่าจะละอายยิ่งขึ้นก็ตรงท ี่เราไม่เคยแก้ไขอะไรในเชิงที่จะทำให้การขายคนลักษณะนี้บรรเทาลงเลย

ส่วนขายอาวุธนั้นเราไม่มีกึ๋นที่จะทำได้

เราจึงไม่ควรส่งเสริมธุรกิจน้ำเมา แม้ว่าจะขายให้แก่ตลาดต่างประเทศก็ตาม

แต่ธุรกิจที่เหลืออีกสามอย่างล่ะครับ เราควรมีท่าทีอย่างไรต่อบริษัทซีพีและธุรกิจประมงของเราดีล่ะครับ ยังไม่รวมนโยบายพัฒนาซึ่งไม่เคยคิดจะพัฒนาคนเลยด้วย ท่าทีดังกล่าวนี้เราควรคิดเองด้วยปัญญาในทางพุทธศาสนา(ซึ่งแปลว่าคิดถูกและคิดดี) หรือแล้วแต่ท่านประธานจะสั่ง

คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ล่ะครับ จะอาศัยหลักการอะไรในการพิจารณา ระเบียบกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ หรือแล้วแต่ว่าจะมีแรงเสียดทานมากหรือน้อย ถ้าแรงเสียดทานนั้นไม่ได้มาจากท่านมหา และประเด็นเชิงศีลธรรมและสังคม กลับมาจากการเมือง คณะกรรมการจะคล้อยตามหรือกล้าเผชิญกับแรงเสียดทาน
(ผมยังจำได้ว่า กรณีสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล คณะกรรมการท่านหนึ่งยังออกมาเชียร์เหย็งๆ หน้าทีวี ทั้งๆ ที่นั่นคือธุรกิจการพนันเราดีๆ นี่เอง)

ผมเชื่ออย่างโฆษณาของมูลนิธิกองทัพธรรมกล่าวแหละว่า น้ำเมานั้นก่อให้เกิดผลร้ายต่อสังคมและบุคคลอเนกอนันต์ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายผู้หญิงและเด็ก, อุบัติเหตุบนท้องถนน, การทำลายทรัพย์สิน, ความผิดต่อร่างกาย, ความเครียดรุนแรง, ซึมเศร้า, อยากฆ่าตัวตาย ฯลฯ (แต่ไม่เชื่อตัวเลขเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ได้ตามไปอ่านงานวิจัยที่อ้างถึง จึงไม่รู้วิธีเก็บข้อมูลเชิงสถิติว่าน่าเชื่อถือได้เพียงไร) และด้วยเหตุดังนั้น เราทั้งหลายจึงควรต่อต้านการเสพน้ำเมา

ต่อต้านการเสพน้ำเมา กับต่อต้านการนำธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น คนละเรื่องกันนะครับ เพราะไม่ว่าธุรกิจนี้จะเข้าตลาดหรือไม่ เขาก็ผลิตน้ำเมาออกมาขายคนไทยมากมายเสียจนเกิดปัญหาอย่างที่โฆษณาของมูลนิธิได้ชี้ไว้แล้ว ฉะนั้นเขาจะเข้าหรือไม่เข้าตลาด เราก็ควรต่อต้านไม่ใช่หรือ

จะต่อต้านอย่างไร ต้องคิดให้ดีๆ เพื่อทำให้การต่อต้านมีประสิทธิผลจริง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ อย่ามั่วประเด็น ในสภาพของโลกปัจจุบัน เราไม่สามารถหยุดการผลิตน้ำเมาเฉพาะที่โรงงานไทยได้ เพราะน้ำเมาไหลเข้าปากคนไทยได้ทั้งจากโรงงานไทยและโรงงานจีน, ญี่ปุ่น, ฝรั่ง, และฝรั่งปนไทย ฯลฯ ฉะนั้นจึงต้องหยุดที่ปากของผู้บริโภค ไม่ใช่ไปหยุดที่ปากท่อของโรงกลั่นโรงหมัก

ตรงกันข้ามกับที่โฆษณาของมูลนิธิกองทัพธรรมพูดถึง แม้ว่าการเก็บภาษีก็ไม่คุ้มกับความเสียหายทางสังคมที่เกิดขึ้นจากน้ำเมา แต่ภาษีเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของรัฐสมัยปัจจุบันที่สุด ไม่อย่างนั้นก็ต้องอาศัยคนอย่างท่านประธาน คอยเคลื่อนไหวประเด็นโน้นประเด็นนี้อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ภาษีย่อมมีผลต่อราคาสินค้า และราคาสินค้าย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

แต่ข้อจำกัดของไทยในเรื่องภาษีก็คือ ถ้าเพิ่มภาษีสรรพสามิตแก่น้ำเมา ก็จะมีน้ำเมาเถื่อนทะลักเข้ามาเต็มประเทศ แม้แต่สุราพื้นบ้านก็จะสู้ราคาไม่ได้ อะไรที่ขึ้นชื่อว่า "เถื่อน" ก็ย่อมไม่ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพด้วย อันตรายยิ่งมากขึ้นไปใหญ่

ฉะนั้นแทนที่จะคิดถึงภาษีสรรพสามิต น่าจะคิดถึงภาษีทางตรงอื่นๆ แทน เช่น บังคับให้ผู้ผลิตน้ำเมาต้องซื้อรายการทีวีในเวลาไพรม์ไทม์วันละ 5 นาที แล้วยกให้แก่องค์กรภาคประชาชนที่ต่อต้านการเสพน้ำเมา แต่ขอให้ทำรายการอย่างมีกึ๋นหน่อยนะครับ

ในขณะเดียวกัน น่าจะกันภาษีสรรพสามิตที่เก็บได้จากสุรานี้ไว้ส่วนหนึ่ง จะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แล้วตั้งองค์กรมหาชนที่เป็นอิสระขึ้น สำหรับรณรงค์ต่อต้านการเสพน้ำเมาอย่างต่อเนื่อง(เช่น อุดหนุนการผลิตรายการทีวีสั้นๆ อย่างที่กล่าวข้างต้น) รวมทั้งแทรกตัวเข้าไปในระบบโรงเรียน หรือซื้อพื้นที่สื่อและอื่นๆ ตามแต่คณะกรรมการจะช่วยกันคิดและ(ให้คนอื่น)ทำ

คนไทยจะขี้เมาแค่ไหนก็ตาม แต่เขาเรียนรู้ได้นะครับ เราน่าจะตีประเด็นที่การเรียนรู้ของคนไทยให้แตก มีอะไรในกระบวนการเรียนรู้ทั้งทางตรงและอ้อมของเราบ้าง ที่ทำให้คนไทยเปลี่ยนจากเคยรังเกียจการกินเหล้าเมายา มาเป็นคนขี้เมาอย่างปัจจุบันได้ และเราจะเข้าไปแก้ตรงไหนอย่างไร จึงจะกลับการเรียนรู้ของไทยให้กลายเป็นความเข้าใจและการใช้น้ำเมาอย่างมีสติได้

ในเมืองไทย คนดีมักพยายามแก้ปัญหาที่ต้นตอของอำนาจ ไม่ใช่ที่ต้นตอของปัญหา เช่น ถ้าเป็นเพื่อนผู้บริหารระดับสูง ก็บีบให้เขาหยุดคิดหยุดทำสิ่งที่เห็นว่าเป็นภัยแก่สังคม ดังเช่นท่านมหาจำลองเคยหยุดทั้งลิเวอร์พูล และบ่อนเสรีไปแล้ว แต่ภยันตรายและความเสี่ยงต่างๆ ที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้มาจากผู้มีอำนาจเสมอไป หากมาจากคนไทยเองนั่นแหละ เช่น การเป็นคนขี้เหล้าเมายาของคนไทยนี่เป็นต้น จะไปหยุดที่ตลาดหลักทรัพย์หรือที่ผู้มีอำนาจจึงไม่ได้แก้อะไร

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การรณรงค์ต่อสู้ที่ตัวต้นตอของปัญหา จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ของสังคมไทยเองไปพร้อมกัน คนที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการต่อต้านการใช้น้ำเมา ก็คงออกมาคัดค้านถกเถียงกับท่านมหาจำลองและพรรคพวก ซึ่งก็จะเป็นโอกาสดีให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในที่สาธารณะ บางคนอาจเปลี่ยนใจมาอยู่ฝ่ายต่อต้านด้วย และความเปลี่ยนใจตรงนี้เป็นเรื่องถาวรยั่งยืนกว่าการแก้ปัญหาที่ผู้มีอำนาจ

สรุปก็คือ วัฒนธรรมขี้เหล้าเมายากับการเป็นธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์นั้นมันเกี่ยวกันอย่างไร ผมคิดตามไม่ทัน จึงคิดว่าจะรณรงค์กันผิดเรื่องหรือไม่?


3. การเมืองเรื่องภาษา
ทำไมคนอีสาน คนเหนือ และคนใต้ ซึ่งฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษาไทย (กรุงเทพฯ) ไม่เป็น จึงสามารถเรียนรู้ภาษาไทยได้รวดเร็วอย่างน่าใจหาย (เพราะทำให้ภาษาถิ่นกำลังตายลงไป)

เรามักจะตอบคำถามนี้ด้วยนโยบายการศึกษา นับตั้งแต่ปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้นมา รวมทั้งการพัฒนาสื่อสมัยใหม่ในภาษาไทย (กรุงเทพฯ) ข้อนี้ก็มีส่วนจริงอย่างแน่นอน แต่ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดจึงไม่มีการต่อต้านภาษาไทยในท้องถิ่นเหล่านั้นอย่างจริงจัง เพราะถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นบางประเทศ การขยายตัวของภาษาที่เรียกว่าภาษา "กลาง" ของชาติ ไม่ได้ง่ายอย่างนั้นเสมอไป

ผมจึงอยากตอบปัญหาข้างต้นอย่างกว้างกว่านั้นว่า เป็นเพราะการฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษาไทยได้ ทำให้ได้เปรียบหรือได้กำไร

กำไรไม่ได้หมายถึงการได้มาซึ่งโภคทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงกำไรทางอำนาจ, ทางจิตใจ, ทางสังคม และทางอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นถ้าคนอีสานอ่านออกแต่ตัวอักษรที่เรียกว่าตัวธรรม ก็จะได้อ่านแต่ "นางอุษากับท้าวบารส" ที่ไหนจะได้อ่าน "ข้างหลังภาพ" กันเล่า. ชาวมลายูซึ่งเป็นพลเมืองไทยในภาคใต้ไม่สามารถฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษาไทยได้ก็เพราะ ภาษาไทยให้กำไรแก่ชีวิตของเขาน้อย ในขณะที่ภาษามลายูปัตตานีให้กำไรได้มากกว่ากันอย่างเทียบไม่ได้

ภาษามลายูปัตตานีให้แก่นสารที่สำคัญของอัตลักษณ์แก่เขา มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้ประชาชนที่นั่นต้องการรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่นกว่าชาวอีสาน, เหนือ และใต้ เช่นความแตกต่างทางศาสนา, ชาติพันธุ์, และวิถีชีวิตจากประชาชนไทยในภาคกลางอย่างมาก และอย่าลืมว่าคนเรามีอัตลักษณ์มากกว่าหนึ่งเสมอ การที่เขาอยากรักษาความเป็นมลายู จึงไม่ได้หมายความว่าเขาปฏิเสธความเป็นพลเมืองของประเทศไทย

นอกจากนี้บริการของรัฐที่เขาสามารถเข้าถึงได้ (หรืออยากเข้าถึง) มีไม่สู้จะมากนัก ไม่ว่าจะดูด้านการศึกษา, สาธารณสุข, หรือข่าวสารข้อมูล
(ในประเด็นนี้ มักมองกันว่าภาษาเป็นเหตุให้เข้าไม่ถึง แต่ผมใคร่เสนอตรงกันข้าม คือเพราะไม่ค่อยมีให้เข้าถึง หรือถึงมีก็ต้องแลกกับการสูญเสียอัตลักษณ์ จึงทำให้ไม่มีแรงจูงใจฟันฝ่าทางภาษาเข้าให้ถึง เช่นถ้าไม่ฟังวิทยุหรือชมโทรทัศน์ไทยเสียเลย เขาจะสูญเสียอะไรในวิถีชีวิตของเขา... วิถีชีวิตจริงของเขานะครับ ไม่ใช่วิถีชีวิตที่เราคิดขึ้นเองในอุดมคติ)

นโยบายขยายภาษาไทยในพื้นที่มีมานานแล้ว แต่มักทำด้วยจุดประสงค์จะสร้าง "ความเหมือนกัน" (uniformity) มากกว่าจะสร้าง "ความสามัคคี" (unity) ในชาติ และด้วยเหตุดังนั้นจึงใช้วิธีการแบบอำนาจนิยมเสมอ เช่นบังคับให้ใช้ภาษาไทย เพื่อแลกกับบริการของรัฐ (เช่นอำเภอไม่รับแจ้งเกิด) จึงไม่ได้ผลสืบมาจนถึงทุกวันนี้

หากจะวางนโยบายด้านภาษาในสามจังหวัดภาคใต้กันใหม่ ผมคิดว่าควรเริ่มต้นที่ความเคารพทั้งคนที่ใช้ภาษามลายูปัตตานี และเคารพภาษามลายูปัตตานี มีความเมตตากรุณาซึ่งสรุปความหมายสำคัญคือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา

ความคิดที่จะยอมรับภาษามลายูปัตตานีเป็นภาษาของทางราชการอีกภาษาหนึ่ง ควรนำกลับมาพิจารณาใหม่อย่างใจกว้าง (ขอย้ำว่ามลายูปัตตานี ไม่ใช่ภาษามาเลเซียหรือภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนใหญ่ของประชาชนที่นั่นฟังไม่คล่องเหมือนกัน) แน่นอนว่าคงมีปัญหาที่ราชการต้องปรับตัวอยู่พอสมควรทีเดียว แต่ควรคิดว่าปรับได้หรือไม่ และคุ้มหรือไม่มากกว่าเริ่มต้นด้วยการปฏิเสธเด็ดขาด

ภาษามลายูก็เหมือนกับภาษาโบราณทั้งหลาย (รวมภาษาไทยกลางและไทยถิ่นด้วย) กล่าวคือเป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาของคนมาเนิ่นนาน หากสักวันหนึ่งไม่มีใครอ่านภาษามลายูอีกเลย ก็หมายความว่าภูมิปัญญาที่ถูกสั่งสมไว้ในตำรับตำราเก่ามากมายนั้น ถูกทอดทิ้งไปพร้อมกัน ปรากฏการณ์เช่นนี้เคยเกิดกับภาษาไทยถิ่นเหนือ, อีสาน และใต้มาแล้ว จนมาในระยะหลังจึงได้มีนักวิชาการเข้าไปนำเอาเอกสารโบราณเหล่านั้นกลับมาศึกษาใหม่ กลายเป็นภูมิปัญญาที่ถูกเก็บไว้ในคลังความรู้ แต่ไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนอีกต่อไป แม้กระนั้นก็ยังถือว่าดีกว่าจะปล่อยให้สูญสลายไปเฉยๆ

ฉะนั้นไม่ว่าจะตัดสินใจในเรื่องนโยบายภาษาอย่างไร อย่าลืมเรื่องนี้เป็นอันขาด ถึงจะตัดสินใจขยายภาษาไทยอย่างไรก็ตาม ก็ยังจำเป็นต้องสร้างความรู้และรักษาผู้รู้ทางภาษามลายูปัตตานีไว้สืบไป ถือเป็นมรดกที่มีคุณค่าของชาติอย่างหนึ่ง

ผมใช้คำว่ามรดกอาจจะผิด เพราะผมไม่อยากเห็นภาษามลายูปัตตานี "ตาย" สนิทไปถึงเพียงนั้น อันที่จริงถ้าประชาชนที่นั่นเป็นผู้มีวัฒนธรรมสองภาษา ก็น่าจะถือว่าเป็นข้อได้เปรียบของพลเมืองไทยด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ภาษามลายูปัตตานีก็เหมือนภาษาโบราณอีกหลายภาษา นั่นคือขาดโอกาสที่จะพัฒนาเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทัน ยิ่งมาเลเซียและอินโดนีเซียหันไปใช้อักษรรูมี (อักษรละติน) ในการเขียนแทนอักษรยาวี (อักษรอาหรับ) ทำให้ตำรับตำราและงานวรรณกรรมทั้งหมดในภาษามลายูหลวง กลายเป็นสิ่งที่เข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงได้ยากแก่ประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ (ควรอธิบายไว้ด้วยว่า อักษรยาวีนั้นโดยพื้นฐานแล้วไม่มีสระ จึงเป็นข้อได้เปรียบ เพราะจะอ่านออกเสียงเป็นภาษามลายูปัตตานีหรือมลายูหลวงก็ได้ ไม่เป็นปัญหาแก่ชาวมลายูที่พูดภาษามลายูหลวงไม่ได้)

ด้วยเหตุดังนั้น ในสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน ถึงอย่างไรชาวมลายูในสามจังหวัดก็ต้องรู้ภาษาที่สอง โดยเฉพาะในการศึกษาระดับสูง ส่วนภาษาที่สองนั้นจะเป็นภาษามลายูหลวง, ภาษาอาหรับ, ภาษาอังกฤษ, หรือภาษาไทย ก็แล้วแต่เงื่อนไขปัจจัยในชีวิตของแต่ละคน. ในความเป็นจริงภาษาไทยจึงไม่ได้แข่งกับภาษามลายูปัตตานี แต่แข่งกับภาษาอื่นๆ ดังที่กล่าวแล้วต่างหาก

เราจึงควรมองไปที่ภาษาซึ่งสามารถรับใช้ชีวิตของประชาชนในภาคใต้ได้ดีที่สุด แล้วถามตัวเองว่าภาษาไทยรับใช้ชีวิตของเขาได้ดีเพียงใด ถ้ายังไม่ดี จะทำอะไรให้ดีขึ้นได้ สถานการณ์ที่เป็นจริงของภาษาไทยในขณะนี้ก็คือ

แหล่งข้อมูลและตำรับตำราสำหรับการเรียนศาสนาอิสลามในภาษาไทยมีน้อยมาก ไม่มีตำรามาตรฐานที่ปอเนาะต่างๆ ใช้ในการสอนสักเล่มเดียวที่ถูกแปลจากอาหรับเป็นภาษาไทย เช่นเดียวกับตำรับตำราประวัติศาสตร์, เภสัชศาสตร์, และสรรพวิชาความรู้อีกมากในภาษามลายูปัตตานี ก็ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย ที่มีแปลอยู่บ้างก็ดูเหมือนจะแปลจากภาษาอังกฤษอีกต่อหนึ่ง - คำถามที่น่าจะถามในเรื่องนี้ก็คือ ทั้งรัฐและสังคมไทยทำอะไรกับเรื่องนี้บ้าง นอกจากแสดงความอยากให้เขาพูดไทย

นักวิชาการที่รู้ภาษาไทยและมลายูปัตตานีดีมีจำนวนน้อยมาก อีกทั้งก็ไม่มีความพยายามจะสร้างให้มากขึ้นในระบบอุดมศึกษาเสียด้วย

เรามีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น, รายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ ที่เป็นภาษาไทย แต่มุ่งตอบสนองโลกทรรศน์และวิถีชีวิตของประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้หรือยัง ผมคิดว่ายัง (ท้องถิ่นอื่นๆ ที่ไม่มีปัญหาเรื่องภาษาก็ไม่มีเหมือนกัน)

เราสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้เข้ากับองค์กรภาคประชาชนนอกเขตบ้างหรือไม่ คำตอบก็คือมีเหมือนกัน แต่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ เฉพาะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบนี้หรอก ที่รัฐนำเอากลุ่มองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดออกมา "ดูงาน" นอกพื้นที่มากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นงานของรัฐหรือที่รัฐสนับสนุน แต่ไม่เกิดความสัมพันธ์สืบเนื่องต่อไป

ในระบบการศึกษาของเราให้ความยืดหยุ่นแก่คนที่ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาน้ำนมมากน้อยแค่ไหน คำตอบคือไม่มีเลย เพราะใช้มาตรฐานเดียวกันหมด ถ้ารับไม่ได้ก็ต้องไปเรียนโรงเรียนนานาชาติโน่นเลย

ของง่ายๆ แค่สาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นห้องสมุดที่เล็กแต่ดีกระจายไปตามท้องถิ่นต่างๆ มีหรือไม่ คำตอบคือไม่มี เหมือนกับท้องถิ่นทั่วไปในเมืองไทยไม่มี (ลองคิดดูว่า แทนที่จะดูยูบีซี แต่มีห้องสมุดที่เด็กสามารถเดินเข้าไปกดปุ่มดูวีดิทัศน์บรรยายไทยพิธีกรรมหัจญ์ที่เมืองเมกกะได้ หรือดูเรื่องการรักษาพื้นที่ป่าชายเลนของคนในจังหวัดตรังได้ อย่างไหนจะน่าลงทุนกว่ากัน)

คิดต่อไปเถิด จะเห็นได้เองว่ามีสิ่งที่น่าจะทำเพื่อแข่งขันให้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองของประชาชนในพื้นที่ได้อีกมากมาย และถ้าจะวางนโยบายภาษาก็ต้องวางนโยบายด้วยท่าที, ความเข้าใจ, และการลงมือทำให้ถูกทิศทาง

ภาษาไทยก็เหมือนภาษาอื่นๆ ในโลกนะครับ ใช้เป็นตัวกลางสื่อสารสิ่งที่เหลวไหลและตื้นเขิน ได้เท่ากับสิ่งที่มีสาระสำคัญ

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 650 เรื่อง หนากว่า 8500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(จะมีการปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

การค้าที่ชาวพุทธไม่ควรสนับสนุนนั้นมีสี่อย่าง คือขายน้ำเมา, ขายเนื้อสัตว์, ขายคน, และขายอาวุธ เราขายเนื้อสัตว์เป็นอันดับต้นๆ ของโลกเหมือนกันนะครับ ไม่ว่าจะเป็นไก่หรือปลา ถึงแม้เราไม่ได้ขายคน แต่ในระดับโครงสร้างการผลิตทางเศรษฐกิจของเรา แรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน และการกดราคาแรงงานในประเทศ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและราคารับซื้อพืชผลการเกษตร

30 บาทรักษาทุกโรค โครงการนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะการประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นอุดมคติที่ทุกประเทศใฝ่ฝัน บรรลุได้มากบ้างน้อยบ้าง แต่โครงการนี้หยิบมาง่ายๆ เพียงส่วนเดียวของวิธีการที่สลับซับซ้อน คือการรักษาพยาบาลที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่บัดนี้โครงการนี้กำลังจะล้มละลาย เพราะเงินทุนสำหรับโครงการมีอยู่อย่างเดียวคืองบประมาณ ซึ่งไม่มีทางที่จะจ่ายให้เพียงพอแก่การรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้ จนบางคนเล็งๆ ที่จะไปเอาเงินประกันสุขภาพของแรงงานเข้ามาหนุน ทางรอดของโครงการนี้เหลืออยู่เพียงอย่างเดียว คือการโหมโฆษณาผลสำเร็จของโครงการทางสื่อ อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นโครงการ 30 บาท เป็นแผนโฆษณาทางการเมืองที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 650 เรื่อง หนากว่า 8500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 150 บาท
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ้างอิง