วัฒนธรรมคดี-วรรณคดีศึกษา
แด่
ม.ร.ว.กีรติ เหยื่อของฝรั่งคนสุดท้ายในวรรณกรรมไทย
นิธิ
เอียวศรีวงศ์
สุชาดา จักรพิสุทธิ์
นักวิชาการอาวุโส
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ
: บทความชิ้นนี้ประกอบด้วยผลงานเขียน ๒ ชิ้น
๑. แด่ ม.ร.ว.กีรติ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ (เคยตีพิมพ์แล้ว)
๒. รักโรแมนติคคืออะไร ? โดย สุชาดา จักรพิสุทธิ์ (ยังไม่เคยตีพิมพ์)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 642
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)
๑. แด่ ม.ร.ว.กีรติ
นิธิ เอียวศรีวงศ์
ความรักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่
ชายหนุ่มคนหนึ่งสบตาสาวเสิร์ฟ ส่งกระแสชื่นชมฝากรักให้เห็น ด้วยความเขินเขาหยิบบุหรี่ขึ้นมาเสียบที่ริมฝีปาก แต่เสียบผิดข้าง สาวเสิร์ฟเดินเข้ามาหาพร้อมทั้งรอยยิ้มอ่อนหวาน ในมือของเธอถือเหยือกน้ำเหมือนจะมารินน้ำในแก้วน้ำเพิ่มให้เขา แต่เธอกลับรินน้ำรดลงไปบนบุหรี่ที่ริมฝีปากของเขาแทน แล้วก็มีเสียงเตือนให้รู้ว่า เพราะความรักความห่วงไยต่างหากที่เธอทำเช่นนั้น เป็นการตอบไมตรีที่เฉอะแฉะที่สุดฉากหนึ่ง
หนังโฆษณาต่อต้านบุหรี่ทำนองนี้ยังมีอีกหลายตอน ทุกตอนล้วนแสดงความรักความห่วงไยให้แก่คนติดบุหรี่ทั้งสิ้น และทุกตอนคนติดบุหรี่ล้วนตกเป็น "เหยื่อ" ของความรัก ที่กลายเป็นอำนาจในการล่วงละเมิดสิทธิ์ส่วนตัวของคนที่เรารัก ด้วยวิธีเด็ดขาดรุนแรงเสมอ เช่น เอาน้ำราด, เอาบุหรี่ไปทิ้ง หรือยึดไฟเสีย
ผมไม่คับข้องใจกับหนังโฆษณาเหล่านี้หรอกครับ แต่เห็นใจคนทำโฆษณาว่า เขาต้องเลือกเอาประเด็นที่ศิลปะการแสดงของไทยอ่อนแอที่สุดมาใช้ นั่นคือการแสดงความรัก
คงจำได้นะครับว่า ถ้าถึงตอนจบเมื่อพระเอกนางเอกแสดงความรักต่อกันได้โดยไม่มีฝ่ายใดแคลงใจฝ่ายใดอีกแล้วนั้น หนังไทย (และละครทีวีด้วย) จะมีสูตรตายตัวที่คนดูคุ้นเคย นั่นก็คือพระเอกนางเอกต้องวิ่งไล่กันในวิวสวยๆ ทำไมการวิ่งไล่กันจึงเป็นสัญลักษณ์ถึงความรักอันลึกซึ้งระหว่างหญิงกับชาย ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน
อาจไม่แฟร์เท่าไรที่ผมใช้คำว่าหนังไทย เพราะผมไม่ใช่แฟนหนังสักประเภทเดียว ฉะนั้น หนังไทยที่ผมได้ดูจึงเป็นหนังเก่าที่เขาเอามาฉายทางทีวี หนังไทยตามโรงอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้นะครับ เพราะผมตามไม่ทัน
ในชีวิตจริงคนไทยแสดงความรักกันอย่างไร ผมก็ไม่ได้ไปเที่ยวเสาะหาข้อมูลพอจะรู้ได้ แต่การแสดงมักรวบยอดเอาความคิดหรือแบบแผนของพฤติกรรมสังคมมาใช้เป็นสัญลักษณ์สำหรับการแสดง แล้วก็ไม่ง่ายนะครับ ที่จะให้พระเอกนางเอกโผเข้ากอดรัดฟัดเหวี่ยง ร้องซี้ดซ้าดไปพร้อมกันในตอนหนังจบ เพราะมันดูไม่มีศิลปะเลย ซ้ำยังทำให้คนดูไม่เชื่อด้วยว่าพระเอกจะรักนางเอกไปชั่วกัลปาวสาน โดยเฉพาะเมื่อน้ำหนักของเธอแตะเลข 60 ในอนาคต
จะใช้อาการอย่างไรที่จะแสดงความรักของคนสองคน ที่ดูบริสุทธิ์ (จากกามารมณ์), มั่นคง, เต็มไปด้วยความเสียสละอันยิ่งใหญ่ และงดงามสำหรับเป็นแบบอย่างแห่งนักรักทั่วโลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือความรักโรแมนติคขนานแท้และดั้งเดิม-อันหมายถึง ความรักของปัจเจก ที่ไร้เหตุผลอธิบาย ดูดดื่ม ทุ่มเท และเป็นชีวิตทั้งชีวิตของเขาหรือเธอ ดังบทสวดมนต์ว่า "ฉันเกิดมาเพื่อรักเธอคนเดียว"
การแสดงความรักอย่างนี้แหละครับที่ศิลปะการแสดงของไทยทำไม่เป็น และผมพาลคิดว่าคนไทยโดยทั่วไปก็ทำไม่เป็นด้วย จึงไม่ปรากฏในศิลปะการแสดงและวรรณคดีไทยหรือประเพณีไทย
อันที่จริงข้อนี้ก็ไม่ประหลาดอันใดนักนะครับ เพราะรากเหง้าของความรักแบบนี้มาจากสังคมยุโรป นับตั้งแต่สมัยอัศวินเสี่ยงชีวิตไปรบราฆ่าฟันกับใครต่อใครเพื่อมอบกุหลาบแสนสวยให้แก่หญิงที่รอคอยอยู่บนระเบียงประสาท มาจนถึงรักหวานจ๋อยใน "นว" นิยายรุ่นหลัง. ผมไม่ได้หมายความว่าหญิง-ชายไทยในวัฒนธรรมโบราณนั้นรักกันไม่เป็นนะครับ แต่แสดงความรักต่อกันอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ความรักแบบโรแมนติค เช่น เกือบจะแยกไม่ออกจากกามารมณ์
เณรพลายแก้วได้ปะหน้านางพิมวัยสาวเป็นครั้งแรก ตกดึกก็คร่ำครวญถึงนางพิมว่า "ทำไฉนจึงจะได้นางพิมชม" รักกับได้ชมแยกออกจากกันไม่ได้. เรื่องนี้ทำให้ผมอดคิดถึงละครทีวีและหนังไทยหลายเรื่องไม่ได้ พระเอกรักนางเอก แต่ด้วยความแค้นซังกะบ๊วยอะไรก็ตาม เขาจึงแก้ปัญหาด้วยการปล้ำ ทำจนนางเอกท้องบ้างไม่ท้องบ้าง แล้วผู้แต่งจะจบเรื่องอย่างไร น่าอัศจรรย์มากนะครับ นางเอกก็รักพระเอกแล้วก็แต่งงานอยู่กินกันจนชั่วฟ้าดินสลาย
การปลุกปล้ำข่มขืนเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความรัก นางเอกก็ยอมรับปรัชญาข้อนี้ จึงมีความรู้สึก "รัก" คนที่เคยข่มขืนตนได้ลงคอ ที่น่าอัศจรรย์คือผู้แต่ง (ซึ่งมักเป็นผู้หญิง) คิดได้อย่างไร แต่ที่น่าอัศจรรย์กว่านั้นคือผู้ชมละครทีวีหรือดูหนังก็ชื่นชมเรื่องอย่างนี้จนติด มันแปลว่าอะไรครับ ผมแปลว่าการ "ได้ชม" นั้น จะใช้วิธีไหนก็ได้ นับตั้งแต่มนต์มหาระรวยไปจนถึงกล้ามเนื้อ
เช่นเดียวกับอิเหนาเมื่อได้ใช้ปากพูดกับจินตะหราเป็นครั้งแรกก็ฝากรักว่า "...เพราะหวังชมสมสวาสดิทรามวัย สู้เอาชีวาลัยมาแลกรัก" ฉากรักในละครรำไปจนถึงลิเกก็คือการรุกและการป้องปัด พูดภาษาชาวบ้านคือปากว่ามือถึง
ไม่มีนะครับ อาการแห่งความรักบริสุทธิ์ เทิดทูนบูชา ฯลฯ อย่างที่ควรจะเป็นสำหรับความรักโรแมนติค เพราะความรักแบบไทยไม่ใช่ความรักโรแมนติค ครั้นเรารับเอาความรักโรแมนติคมาจากหนังและนิยายฝรั่งในภายหลัง ผมออกจะสงสัยว่าเรายังไม่รู้วิธีจะรวบยอดมันมาใช้ในการแสดง หรือแม้แต่ในวรรณกรรมได้
ผมควรย้ำไว้ด้วยว่า ความรักแบบโรแมนติคของฝรั่งก็ไม่ใช่อุดมคติดีเลิศที่เราต้องทำให้ได้นะครับ เพียงแต่ว่าเราไปลอกความรู้สึกแบบนั้นจากนิยายและหนังฝรั่งมาใช้ในหนังและนิยายของเราบ้าง แต่แล้วเราก็ใช้มันอย่างไม่แนบเนียนเท่าไร โดยเฉพาะในการแสดงความรักแบบนั้น
ผมเข้าใจว่าในวัฒนธรรมโบราณของไทยนั้น การได้เสียเป็นความรับผิดชอบ (พอสมควร-คือมากกว่าปัจจุบัน) ความคิดอันนี้สะท้อนออกมาในหนังและละครทีวีไทยอยู่เหมือนกันนะครับ ตัวละครที่เป็นฝ่ายคนดี ซึ่งรวมพระเอกด้วยมักรับผิดชอบกับเรื่องนี้เสมอ แม้แต่กับนางอิจฉาที่มอมเหล้าพระเอกแล้วไปนอนแก้ผ้าเป็นเพื่อนตลอดคืน ฉะนั้น ความรักแท้ของพระเอกในวรรณคดีไทยจึงแยกออกจากเรื่องได้เสียไม่ได้ รักแท้แล้วไม่ยอมได้เสียก็แสดงว่าไม่ได้รักจริงล่ะสิครับ
หญิงชายไทยในสมัยก่อนคงต้องใจกันบ้างถึงได้เสียกัน จะต้องใจกันได้ก็ต้องจีบกัน แต่จีบกันโดยไม่มีการได้เสีย จึงต้องทำโดยไม่มีพันธะต่อกันมากจนเกินไป
ในประเพณีแอ่วสาวของภาคเหนือ (หรือเว้าสาวของอีสาน) คำโต้ตอบของหญิงชายมีแบบแผนค่อนข้างตายตัวอยู่แล้ว ต่างฝ่ายต่างรู้กันว่าต้องพูดอะไร และต้องตอบโต้ว่าอะไร ความหมายที่แท้จริงจากใจผู้พูดแฝงอยู่อย่างละเอียดอ่อนในคำโต้ตอบนั้น เช่น ผมได้ยินมาว่า หากสาวในภาคเหนือถูกถามว่าเย็นนี้กินอะไร แล้วเธอตอบว่ากินอะไรที่เผ็ดๆ ก็แปลว่าเธอไม่ยินดีต้อนรับหนุ่มที่ถามนัก แอ่วพอเป็นมารยาทแล้วควรเขยิบหนีไปเรือนอื่นที่ลูกสาวเขาบอกว่ากินแกงฟักหรืออะไรที่เย็นๆ กว่านั้น
นักวิชาการฝรั่งอธิบายว่า ประเพณีโต้ตอบในการแอ่วสาวเหล่านี้ ช่วยกีดกันมิให้การสนทนาของแต่ละฝ่ายกลายเป็นข้อผูกมัดจนเกินไป (จนกว่าฝ่ายชายจะเอ่ยปากขออนุญาตส่งผู้ใหญ่มาขอ-ซึ่งต้องพูดโดยไม่มีภาษาแอ่วกำกับ) ซึ่งผมก็เห็นด้วย
ผมนึกถึงการเล่นโวหารของหนุ่มสาวสมัยนี้ อย่างที่เคยเห็นในทีวีเสมอ เช่น ผู้ชายบอกผู้หญิงว่า "ขอโทษ ช่วยเขยิบมาตรงนี้หน่อยเถิดครับ" "ทำไมหรือคะ" "หัวใจเราจะได้ตรงกันไงครับ" และโวหารอื่นๆ อีกมากมาย แล้วแต่ใครจะคิดขึ้นใหม่โดยไม่มีประเพณีของภาษาแอ่วมากำกับ. แต่... แล้วมันจริงหรือเล่นล่ะครับ ? คำตอบคือไม่ชัด จริงก็ได้เล่นก็ได้ แต่ที่แน่นอนคือไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ต่างเลยนะครับกับประเพณีการแอ่วสาวหรือเว้าสาว
แสดงว่า จนถึงทุกวันนี้ หลังจากดูหนังฮอลลีวู้ดกันมาคนละนับเป็นร้อยเรื่องแล้ว ความรักแบบโรแมนติคก็ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบความสัมพันธ์ของไทย และเรายังไม่อาจแสดงความรักแบบนี้ได้เป็น ทั้งในศิลปะการแสดงและในชีวิตจริง
ผมคิดเรื่องนี้แล้วก็นึกเถียงตัวเองว่า ทำไมผู้คนจึงซาบซึ้งกับนวนิยายเรื่อง "ข้างหลังภาพ" ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ กันมากอย่างนั้นเล่า ความรักของ ม.ร.ว.กีรตินั้นแหละคือสุดยอดของความรักแบบโรแมนติคเลย ไม่มีบริบท, ไม่มีข้อเรียกร้องตอบแทน, (น่าจะ) ไม่มีความรู้สึกทางกามารมณ์ด้วย ขอแต่ให้ได้รักเท่านั้น หรือเธอเป็นเหยื่อของฝรั่งคนสุดท้ายในวรรณกรรมไทยกันหว่า
ในขณะที่คนอ่านสามารถเข้าใจเธอได้ แต่ทำตามไม่ได้ อย่างที่คนไทยปัจจุบันเข้าใจความรักแบบโรแมนติคได้ แต่ทำตามไม่ได้
๒. รักโรแมนติคคืออะไร ?
สุชาดา จักร์พิสุทธิ์
สืบเนื่องจากที่อาจารย์นิธิ
เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในบทความชื่อ "แด่ ม.ร.ว.กีรติ"
ตีพิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดยกล่าวถึงความรักในบริบทสังคมไทย ที่ออกไปในรูปของรักที่ต้องเชยชมและครอบครอง
รักแบบที่ผู้ถูกรักตกเป็นเหยื่อจนบางครั้งกลายเป็นการคุกคามสิทธิ
รักแบบที่ละครไทยและ(นว)นิยายไทยแสดงออก โดยปราศจากศิลปะและสุนทรีย์เอาเสียเลย
โดยยก ตัวอย่างพล็อตเรื่องประเภทพระเอกข่มขืนนางเอก แล้วนางเอกยัง(เสือก)รักพระเอกไปได้ลงคอ แถมผู้ดูผู้ชมก็ชื่นชอบเสียด้วย จนอาจารย์นิธิออกจะสงสัยว่า สังคมไทยไม่มีรักโรแมนติค อันอาจเป็นเพราะรักโรแมนติคเป็นอุดมคติแบบฝรั่ง ที่แม้คนไทยจะเข้าใจได้หรือได้รับอิทธิพลผ่านวรรณกรรมและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่เราก็แสดงความรักโรแมนติคไม่เป็นและทำตามไม่ได้
อาจารย์พาดพิงถึงแนวคิดแบบรักโรแมนติคที่ปรากฎในนิยายเรื่อง "ข้างหลังภาพ" ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่นางเอกของเรื่องคือ ม.ร.ว.กีรติ มีใจรักต่อหนุ่มนพพรโดยรู้อยู่เต็มอกว่าไม่มีวันจักสมหวังในความรักนั้นได้ อย่างที่อาจารย์สรุปว่า ไม่มีบริบท ไม่มีข้อเรียกร้อง และ(เกือบ)ไม่มีกามารมณ์ เป็นรักของปัจเจกที่ไม่ต้องการคำอธิบาย ทุ่มเท ดูดดื่ม ปราศจากเงื่อนไข
บทความของอาจารย์จุดประกายมุมมองที่แตกต่าง
จนอยากแลกเปลี่ยนจากจุดยืนของคนที่ใช้หัวใจมากกว่าสมองเป็นสำคัญว่า หากรักโรแมนติคมีคุณสมบัติอย่างที่ว่ามา
สังคมไทยก็ไม่มีรักแบบนี้แน่นอน และสังคมไหนๆก็คงไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ของสังคมสมัยใหม่อย่างในปัจจุบัน
เพราะรักโรแมนติคในแบบที่ว่า คืออุดมคติและคุณค่าเชิงปรัชญา ที่มีอยู่แต่ในวรรณกรรมคลาสสิคของฝรั่งเท่านั้น
มันไม่มีแม้ในหนังฮอลลีวู้ดเสียด้วยซ้ำ สังคมฝรั่งที่อยู่ในบริบทและบรรยากาศแห่งความเหงาเศร้า
ครุ่นคิด บ้านเมืองทึมทึบอยู่ในความหนาวเหน็บเกือบตลอดทั้งปี ผู้คนใช้เวลาส่วนใหญ่ภายใต้หลังคาบ้านอย่างโดดเดี่ยว
มีหนังสือและบทสนทนาเป็นเพื่อน วิถีแบบนี้แหละที่เป็นที่มาของวรรณกรรมรักโรแมนติค
บทกวีล้ำเลิศ และศิลปะการละครจากจินตนาการสูงส่ง สังคมแบบนี้แหละที่ให้คุณค่าแก่การค้นหาแนวคิดเชิงอุดมคติ
นับแต่"ชีวิตคืออะไร" "จักรวาลคืออะไร" "รัฐคืออะไร
" และ"ความรักคืออะไร" รักโรแมนติกจึงคือ "อุดมคติ"
ที่เกิดจากบริบทและบรรยากาศเช่นนั้น
แต่ในโลกตะวันออกที่แดดจ้าฟ้าใส และผู้คนมีชีวิตโลดแล่นด้วยกิจกรรมอันหลากหลายในที่แจ้งตลอดทั้งปี พบปะผู้คนท่ามกลางชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่ผันเปลี่ยน ความรักจึงเป็น"การแสดงออก" หรือการกระทำเท่านั้นแหละ หาใช่สิ่งที่อยู่ภายใน "ความคิด"หรือดำรงอยู่ด้วยการครุ่นคิดเทิดทูนหรอก เพราะหากรักโรแมนติคเป็นดังที่ว่ามา มันต่างอะไรกับ Platonic love ที่มีรากฐานจากอภิปรัชญาเล่า
รักโรแมนติคในสังคมวัฒนธรรมฝรั่ง อย่างที่ปรากฏในวรรณกรรมคลาสิค ที่อัศวินออกรบไปทั่วทิศ เพื่อบูชาความรักที่มีต่อเจ้าหญิงในดวงใจนั้น มันก็เป็นความรักแบบ"ผู้ชาย" ที่สัมพันธ์อยู่กับการต่อสู้เพื่อโลกภายนอก การพิชิตศัตรูและการขจัดความอยุติธรรม อันเป็นอุดมคติแบบผู้ชายนั่นเอง หาใช่อุดมคติเดียวกันกับผู้หญิงไม่
อัศวินสติเฟื่องอย่าง ดอนฆีโฮเต้ แห่งลามานช่า ที่เทิดบูชาแม่หญิงดัลซีเนีย และปลุกปลอบตัวเองให้ห้าวหาญในการสู้รบทุกครั้ง โดยจินตนาการว่าแม่หญิงดัลซีเนียส่งมอบผ้าเช็ดหน้าพร้อมจุมพิตให้กำลังใจมาตามสายลมนั้น ก็เป็นแต่เพียงจินตนาการแบบผู้ชาย ที่คิดเอาว่าผู้หญิงมักยกย่องบูชาผู้ชายที่กล้าหาญและมีใจภักดิ์ต่อเธอสุดหัวใจ ความรักแบบผู้ชายจึงเป็นความรักของชายที่สามารถเก็บรักไว้ในอกหรือ"สละรักเพื่อพิชิตโลก" ในขณะที่ความรักแบบผู้หญิง กลับต้องการที่จะครองรักและ"สละโลกเพื่อพิชิตรัก"
ตกลงรักโรแมนติคคืออะไร คือความรักที่สูงส่งปราศจากกามารมณ์เช่นนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้นเรื่องราวความรักอย่างโรมิโอ-จูเลียต ก็มิใช่รักโรแมนติค เพราะแม้ทั้งคู่จะปักใจรักกันจนยอมสละชีวิต แต่ก็เป็นรักที่เต็มไปด้วยความปรารถนาจะเป็นเจ้าของครองรักกัน
แล้วรักของ The Phantom
of the Opera เล่า เมื่อชายคนหนึ่งพ่ายแพ้ต่อชะตา
ชีวิตอันอัปลักษณ์ และจำนนต่อความเจ็บปวดจากการรักข้างเดียว ความรักของเขาก็พลันเปลี่ยนสู่คุณภาพใหม่
นั่นคือเป็นรักที่มีเหตุผลและความจริงรองรับ เขาไม่มีทางเลือก นอกจากยอมที่จะเป็นฝ่ายรักและเทิดบูชาความรักนั้นไว้โดยไม่อาจครอบครอง
พนันกันได้ว่า ผู้หญิงที่ดูหนังเรื่องนี้ร้อยทั้งร้อย หลั่งน้ำตาให้แก่ชะตากรรมของรักอาภัพชนิดนี้ เพราะมันให้ความรู้สึกกินใจ จนอยากจะปวารณาตัวเป็นนางหงส์ผู้สงสารหัวใจกาเสียนี่กระไร ด้วยมันเป็นรักแบบที่ผู้หญิงใฝ่ฝัน อยากให้ผู้ชายสักคน (แม้ไม่ใช่คนรักของเธอ) มาเสน่หาหลงใหลใฝ่เพ้อและยอมเจ็บปวดทุ่มเท เพราะความรักที่มีต่อเธอโดยการแสดงให้ประจักษ์เยี่ยงนี้แหละ และนี่อาจเป็นเหตุผลเดียวกับที่ผู้หญิงชอบพล็อตเรื่องของหนังรักอย่าง Bridge of Medison county , The Great Gasby , Horse Whisperer
เป็นไปได้ว่ารักโรแมนติค
มีมุมมองและทัศนคติที่เกี่ยวกับเพศสภาพ (gender)
อยู่ด้วย หรือสุดแต่ว่าใครยืนอยู่ตรงจุดไหน เป็น"ฝ่ายรัก" หรือ"ฝ่ายถูกรัก"
เป็นฝ่ายสมหวังหรือผิดหวัง ยิ่งกว่านั้น มันอาจจะมีจุดเปราะบางแตกต่างกันไปในส่วนของ
subjective หรือตัวผู้กระทำในความรักนั้น ที่หากมีวุฒิภาวะเพียงพอ ได้รับการศึกษา(ในความหมายถึงจิตใจที่ขัดเกลาแล้ว)
ประกอบด้วยศีลธรรมและวิธีคิดเชิงเหตุผล ก็เป็นไปได้ว่าจะสามารถยกระดับความรักนั้นไปในทิศทางของคุณค่าสูงส่งได้
แต่
น่าจะน้อยคนยิ่งนัก
หรือจริงๆแล้ว รักโรแมนติคคือรักที่ไม่สมปรารถนา ต่างหาก คือรักที่ทรมานหัวใจด้วยไม่อาจครอบครองโดยเหตุอันใดก็ตามที
แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสน่ห์เย้ายวน เพราะความไม่สมหวังอันร้าวรานใจนั้นเอง ที่ดึงดูดเราไว้ในห้วงแห่งความวาบหวิวซาบซึ้ง
ความคิดถึงและจินตนาการต่อคนที่เรารัก
รักอันไม่สมหวังนี้เอง ที่ทำให้คนเราต้องสร้างคำอธิบายมาห่อหุ้มความรักนั้นให้สูงส่งขึ้นมา บูชาว่าเป็นรักบริสุทธิ์ที่ควรค่า และยกมันขึ้นเป็นรักโรแมนติค ที่ขอเพียงได้รักและเห็นคนที่เรารักมีความสุข อย่างที่นางเอกโง่ๆในนิยายเรื่อง"ข้างหลังภาพ" พร่ำเพ้อไว้ว่า
"ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็ภูมิใจที่ฉันมีคนที่ฉันรัก"
อย่างนั้นไงเล่า
บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 640 เรื่อง หนากว่า 8400 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน
กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
อัศวินสติเฟื่องอย่าง ดอนฆีโฮเต้ แห่งลามานช่า ที่เทิดบูชาแม่หญิงดัลซีเนีย และปลุกปลอบตัวเองให้ห้าวหาญในการสู้รบทุกครั้ง โดยจินตนาการว่าแม่หญิงดัลซีเนียส่งมอบผ้าเช็ดหน้าพร้อมจุมพิตให้กำลังใจมาตามสายลมนั้น ก็เป็นแต่เพียงจินตนาการแบบผู้ชาย ที่คิดเอาว่าผู้หญิงมักยกย่องบูชาผู้ชายที่กล้าหาญและมีใจภักดิ์ต่อเธอสุดหัวใจ ความรักแบบผู้ชายจึงเป็นความรักของชายที่สามารถเก็บรักไว้ในอกหรือ"สละรักเพื่อพิชิตโลก" ในขณะที่ความรักแบบผู้หญิง กลับต้องการที่จะครองรักและ"สละโลกเพื่อพิชิตรัก"
ตกลงรักโรแมนติคคืออะไร คือความรักที่สูงส่งปราศจากกามารมณ์เช่นนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้นเรื่องราวความรักอย่างโรมิโอ-จูเลียต ก็มิใช่รักโรแมนติค เพราะแม้ทั้งคู่จะปักใจรักกันจนยอมสละชีวิต แต่ก็เป็นรักที่เต็มไปด้วยความปรารถนาจะเป็นเจ้าของครองรักกัน