The Midnight University
ย้อนมองประวัติศาสตร์รัชกาลปัจจุบัน
เอกอัครปัญญาชนสาธารณะแห่งความเป็นไทย
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
จำนวน ๒ ตอน
ซึ่งทางกองบรรณาธิการเว็ปไซต์ ม.เที่ยงคืน ได้นำมารวบรวมในที่เดียวกัน เพื่อสะดวกต่อการค้นคว้า
นอกจากนี้ยังได้รวมเอาข้อคิดเห็นต่างๆที่เกี่ยวเนื่องซึ่งปรากฏอยู่บนกระดานข่าว
ม.เที่ยงคืน
มารวบรวมไว้ ณ ที่นี้ด้วย
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 653
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)
"เอกอัครปัญญาชนสาธารณะแห่งความเป็นไทย"
(หมายเหตุของผู้เขียน
: เรียบเรียงจากส่วนท้ายของบทวิจารณ์ของผู้เขียนต่อบทความวิจัยเรื่อง "การสร้าง
"ความเป็นไทย" กระแสหลักและ "ความจริง" ที่ "ความเป็นไทย"
สร้าง" ของรองศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนำเสนอในเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยครั้งที่
2 หัวข้อ "ความเป็นไทย ความเป็นอื่น" จัดโดยภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ณ ห้อง 2 โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว
เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมศกนี้
อนึ่งข้อมูลและบทวิเคราะห์ในส่วนนี้ผู้เขียนสังเคราะห์ตีความจากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตของ น.ส.ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ เรื่อง "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำ(พ.ศ.2494-2546)" ซึ่งเสนอต่อคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2547 ผู้เขียนใคร่ขอขอบคุณอาจารย์สายชลและคุณชนิดาไว้ ณ ที่นี้ด้วย)
อาจารย์สายชลได้วิเคราะห์สรุปไว้ในบทความตอนหนึ่งว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นปัญญาชนผู้มีบทบาทโดดเด่นสำคัญที่สุดในการปรับเปลี่ยน "ความเป็นไทย" กระแสหลักแบบสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนกลับมาครอบงำคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางนับแต่กลางพุทธทศวรรษที่ 2490 เป็นต้นมา
และในบรรดาการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ที่สำคัญโดดเด่นยิ่งคือ การที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้นิยามความหมายของ "พระมหากษัตริย์" ภายใต้ระบอบใหม่(ที่มิใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ absolute monarchy) หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475, ตามความหมายที่ว่านี้ บทบาทของพระมหากษัตริย์ใน "การปกครองแบบไทย" -ซึ่งไม่สำคัญนักว่าจะมีสถาบันประชาธิปไตยหรือไม่, หรือแม้แต่เป็นระบอบเผด็จการก็ตามที ขอเพียงแต่ให้ "คนดี" มาปกครอง-ได้แก่:-
1) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นแบบอย่างในอุดมคติของคุณธรรมและความเป็นไทยในด้านต่างๆ และ
2) พระมหากษัตริย์ทรงควบคุม/กีดขวางการใช้อำนาจของ "ผู้นำแบบไทย" หรือรัฐบาลมิให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความผิดพลาดบกพร่องต่างๆ ขึ้น-แทนประชาชนและรัฐสภา
ผมเห็นด้วยโดยทั่วไปกับข้อวิเคราะห์สรุปดังกล่าว และนับว่าอาจารย์สายชลได้ช่วยทำให้ความเข้าใจ "ความเป็นไทย" กระแสหลักในประเด็นนี้ลุ่มลึกเป็นระบบขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ผมใคร่ขอแก้ไขต่อเติมข้อวิเคราะห์สรุปดังกล่าวใน 2 ประเด็นสำคัญคือ:-
1) บทบาทของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันและ
2) สถานภาพของพระองค์ภายใต้ระบอบใหม่ที่มิใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์
ผมอยากชวนให้เข้าสู่ประเด็นแรกโดยตั้งคำถามว่า อะไรคือธรรมเนียมประเพณีการปกครองของไทยว่าด้วยบทบาทของพระมหากษัตริย์ ภายใต้ระบอบใหม่ที่มิใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลัง พ.ศ.2475?
ผมใคร่เสนอว่า จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติประเทศไทยในปี พ.ศ.2494 ธรรมเนียมประเพณีดังกล่าวไม่ปรากฏชัดหรืออย่างน้อยก็ไม่ลงร่องลงตัว
ณ วาระนั้นเพิ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 2 รัชกาล ในสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดปัญหาแตกต่างขัดแย้งอย่างหนักระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับรัฐบาลคณะราษฎรว่า บทบาทที่ควรจะเป็นของพระมหากษัตริย์ทางการเมืองในระบอบใหม่ ซึ่งก็คือระบอบรัฐธรรมนูญควรเป็นอย่างไร?
ข้อพิพาทเรื่องนี้นำไปสู่การสละราชสมบัติของพระองค์เมื่อปี พ.ศ.2477 ในที่สุด, คณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินชุดต่างๆ ต่อมาไม่ได้ทำให้ประเด็นนี้ชัดเจนขึ้น และดูจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงครามมากกว่าอื่น,
จนเมื่อสมัยรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ก็ทรงมีเวลาประทับในประเทศหลังขึ้นครองราชย์ และสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองสั้นเกินกว่าจะเริ่มจัดวางธรรมเนียมประเพณีใดๆ เป็นเยี่ยงอย่างสำหรับบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญได้, แล้วก็เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันมิมีใครคาดคิดในปี พ.ศ.2489
ฉะนั้น ธรรมเนียมประเพณีว่าด้วยบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทย ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญเท่าที่มีจึงสร้างขึ้น ทำขึ้น ปรากฏขึ้นในรัชกาลปัจจุบันหลัง พ.ศ.2494 เป็นสำคัญ ในรัชกาลนี้เองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงกรุยทางจัดวางแบบอย่างธรรมเนียมประเพณีว่า กษัตริย์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญควรมีบทบาทการเมืองอย่างไร ด้วยพระราชกรณียกิจของพระองค์เอง โดยที่ก่อนรัชกาลนี้เอาเข้าจริงๆ ไม่มี
วิทยานิพนธ์ของชนิดา ชิตบัณฑิตย์ ได้ชี้ให้เห็นว่า ณ ปี พ.ศ.2494 เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติประเทศไทยเพื่อรับบทกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญนั้น พระองค์ทรงไม่พร้อมที่จะปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเต็มที่และสมพระเกียรติ เพราะเสด็จขึ้นครองราชย์อย่างกะทันหัน มิได้ทรงมีเครื่องไม้เครื่องมือหรือระบบรองรับ ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ให้กษัตริย์ดำเนินพระราชกรณียกิจ จึงไม่มีหน้าที่ในสภาวะดังกล่าว
พระองค์ทรงริเริ่มบทบาทต่างๆ ที่เป็น "พระราชอำนาจทั่วไป" ขึ้น ซึ่งมากไปกว่าเพียงการพระราชทานคำปรึกษา, การสนับสนุนและคำตักเตือนแก่รัฐบาล(ตามสูตรของ Walter Bagehot ในหนังสือคลาสสิคอันทรงอิทธิพลเรื่อง The English Constitution, ค.ศ.1865-7)
"พระราชอำนาจทั่วไป" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ที่ทรงพัฒนาขึ้นด้วยพระราชดำริ พระวิริยะอุตสาหะและพระปรีชาสามารถของพระองค์เองนี้ แสดงออกเป็นรูปธรรมในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 3,000 โครงการ และมีลักษณะเด่นคือทรงเสนอแนะให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องตัดสินใจ
หัวหน้าฝ่ายบริหารคือตัวนายกรัฐมนตรีเองจะเป็นผู้รับสนองพระราชดำริ โดยจะต้องรับทราบตอนต้นโครงการทุนเรื่องและอนุมัติในขั้นสุดท้าย, ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่อโครงการตกอยู่แก่หน่วยราชการเจ้าของเรื่องและฝ่ายบริหาร
ธงทอง จันทรางศุ ได้ตั้งข้อสังเกตประเด็นนี้ไว้ในวิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของเขาเรื่อง "พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ" (เขียนเมื่อปี พ.ศ.2529) ว่าลักษณะสำคัญของการใช้พระราชอำนาจทั่วไปในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้แก่:-
1) พระราชอำนาจทั่วไป ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญฉบับใด(หรือนัยหนึ่ง unconstitutionalized-ผู้เขียน)
2) แต่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เข้าใจตรงกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า เป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่จริง(หรือนัยหนึ่งเป็นอำนาจที่รองรับโดย tradition & universal consensus และมีลักษณะ actual-ผู้เขียน) และ
3) นับเป็นพระราชอำนาจส่วนสำคัญที่สุดในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน
น้ำหนักของคำประเมินประการที่ 3) เมื่อมองประกอบกับภาพรวมของสถานการณ์ทั้งหมดทำให้มิอาจสรุปเป็นอื่นไปได้ นอกจากว่าธรรมเนียมประเพณีการปกครองของไทยว่าด้วยบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญเป็น THE INVENTION OF TRADITION หรือการประดิษฐ์คิดสร้างธรรมเนียมประเพณีขึ้นใหม่ที่ไม่เหมือนใครในรัชกาลปัจจุบันนี้เอง
แม้นหากจะมีการสืบทอดเชื้อมูลจากธรรมเนียมประเพณีการปกครองไทยแต่เดิมแล้ว ก็ย่อมเป็นของเก่าก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ขึ้นไปนั่นแล
หากพิจารณาอย่างเยือกเย็นในทางรัฐศาสตร์ สถานะทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยกลางพุทธทศวรรษที่ 2490 นั้นคือทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชอำนาจจำกัด(limited monarchy) ด้วยรัฐมิได้อยู่ใต้การครอบครองควบคุมของสถาบันกษัตริย์เยี่ยงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป พระองค์มิได้ทรงมีอำนาจควบคุมกองทัพด้วยพระองค์เองดังบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า
พูดอีกอย่างก็คือพระองค์ทรงมีพระบารมีสูงล้ำทางวัฒนธรรมไทยแต่เดิม ทว่ามิได้ทรงมีอำนาจอธิปไตยในทางการเมืองการปกครอง
กล่าวในแง่นี้ ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่สุดทางการเมืองวัฒนธรรมในรัชกาลของพระองค์คือ การที่ทรงก้าวจากจุดนั้นมาสถาปนาพระราชอำนาจนำ(Royal Hegemony) ในระบอบพระมหากษัตริย์ไทยภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นได้ จนทรงไว้ซึ่งสถานะอันยิ่งในการน้อมนำสังคมไทย รัฐไทย และคนไทยอย่างที่แม้แต่พระมหากษัตริย์แห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอดีตหลายพระองค์ก็มิได้ทรงมีเทียบเท่า
อาทิ พระราชดำรัสเป็นที่น้อมรับและเชื่อฟังโดยดุษณีของพสกนิกรทั่วไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ทรงเป็นที่รักเคารพยิ่งของพสกนิกร โดยอยู่เหนือการวิจารณ์ ทรงไว้ซึ่งสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ประดุจเสาหลักของรัฐไทยและศูนย์รวมจิตใจของชาติไทย จนคนไทยยอมหยุดฆ่ากันเมื่อพระองค์ตรัสห้ามปราม(กรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516, พฤษภาประชาธรรม พ.ศ.2535)
และในทางกลับกันเพื่อปกป้องพระองค์ไว้ คนไทยก็พร้อมจะสละชีวิตรบฆ่าฟันอริราชศัตรูไม่เลือกหน้าไม่ว่าชาติใด เทศหรือไทย (กรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เป็นต้น)
การสถาปนาพระราชอำนาจนำจนทรงไว้ซึ่งสถานะอันยิ่งทางการเมืองวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ มิใช่เป็นเพียงกิจกรรมทางภูมิปัญญาความคิด และมิใช่สิ่งที่ใครจะได้มาแต่โดยลำพังหรืออาศัยงานประพันธ์อันวิจิตรพิสดารล้ำลึกเลอเลิศใดๆ หากแต่เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานหนักต่อเนื่องหลายสิบปี ทั้งในบทครูผู้ให้การศึกษา, ผู้นำเป็นแบบอย่าง, ผู้จัดตั้งประสานเครือข่ายผู้จงรักภักดีต่อชาติและราชบัลลังก์ในหน่วยราชการ ภาคเอกชน และชุมชนหมู่บ้านในที่ต่างๆ ทั่วประเทศ, และผู้ปลุกเร้าให้กำลังใจประชาชนในชาติให้ลุกขึ้นมาปกป้อง "ความเป็นไทย" จากอริราชศัตรูในยามคับขัน
จนพระองค์ทรงเป็นที่ยอมรับเปรียบประดุจที่สถิตของจิตวิญญาณ ศีลธรรม สาธารณะ และวิสัยทัศน์ของชาติอย่างไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน ทรงได้รับการยกย่องประหนึ่งสมองและหัวใจของรัฐและชาติไทยก็มิปาน
ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ย่อมเป็นปัญญาชนที่มีบทบาทโดดเด่นสำคัญแน่นอนในการปรับเปลี่ยนความหมาย และดึง "ความเป็นไทย" กระแสหลักให้กลับมาครอบงำคนไทยในรัชกาลปัจจุบัน แต่บทบาททางปัญญาความคิดและศิลปวรรณกรรมดังกล่าวนี้ เทียบมิได้เลย และยังห่างไกลไม่เพียงพอกันนักกับทั้งหลายทั้งปวงที่จำเป็นแก่การสถาปนาพระราชอำนาจนำ(Royal Hegemony) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เหนือสังคมไทยและรัฐไทย ผ่านพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญต่อเนื่องนานหลายสิบปี
ในความหมายนี้พระองค์ต่างหากที่ทรงเป็นเอกอัครปัญญาชนสาธารณะแห่ง "ความเป็นไทย" กระแสหลักอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม วิทยานิพนธ์ของชนิดาก็ได้ชี้ให้เห็นพร้อมกันไปด้วยว่า แม้พระราชอำนาจนำจะช่วยให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริดำเนินไปค่อนข้างสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร.) ในสมัยรัฐบาลนายกฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และปัจจุบันมีสถานะเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง หากมีฐานะเป็นกรมอยู่ในสายการบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีโดยตรง...
ในแง่นี้ แม้การแยกเชิงโครงสร้างระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐ เป็นองคภาวะต่างหากจากกันอันเป็นมรดกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ยังคงอยู่, มิได้ย้อนกลับไปสู่หลัก L"Etat, c"est moi. ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ก็ต้องนับว่ายุทธการช่วงชิงที่มั่นในรัฐ ได้คืบหน้าไปอย่างสำคัญแล้วในภาษาของ Antonio Gramsci, ส่วนในภาษาของคุณสุเมธ ตันติเวชกุล นายกสมาคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบันคือ "หน่วยงาน กปร....มันใหญ่โดยตัวของมันเอง เกินที่เป็นกาฝากอยู่ที่สภาพัฒน์" (อ้างในชนิดา)
แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าพระราชอำนาจนำจะดลบันดาลได้ทุกอย่างดังพระราชประสงค์ สภาพที่พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญมิได้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของพระองค์เอง ดังในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่เดิม ก็หมายความด้วยว่ามีบางอย่างที่พระองค์มิอาจทรงควบคุมบังคับได้ โดยโครงสร้างของระบอบการเมืองการปกครองที่แตกต่างออกไป
เหล่านี้ที่สำคัญคือ
1) กองทัพ ดังที่ได้เกิดความพยายามแก่อรัฐประหารของนายทหารยังเติร์ก เมื่อปี พ.ศ.2524 และ 2528, การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2534 เป็นต้น
2) การเลือกตั้ง โดยที่ผลของมันขึ้นกับปัจจัยต่างๆ อันหลากหลาย อาทิ ระบบหัวคะแนน, เจ้าพ่ออิทธิพล, อำนาจเงินของพรรคการเมือง-นายทุนหนุนหลัง, มติมหาชนในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เป็นต้น
3) งบประมาณ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐสภา และบริหารจัดการของรัฐบาลและหน่วยราชการ มีขีดจำกัดและระเบียบราชการในการใช้ จนต้องทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และตั้งเอ็นจีโอหลวงระดมทุนทรัพย์จากราษฎร มาดำเนินกิจกรรมพัฒนาในหลายกรณี เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นต้น
ความสำคัญของเรื่องนี้สะท้อนออกในสมญานามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกคุณสุเมธ ตันติเวชกุล ว่า "ถุงเงิน" เป็นต้น
++++++++++++++++++++++++++++++
ข้อคิดเห็นที่เกี่ยวเนื่อง
รวบรวมจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
: บทความของเกษียรในมติชนรายวัน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
(1) เห็นด้วยกับประเด็นที่เกษียรกล่าวในการวิจารณ์งานของสายชล
ที่เชียงใหม่ ตามที่ตีพิมพ์ในมติชนว่า
"ในความหมายนี้ พระองค์ต่างหากที่ทรงเป็นเอกอัครปัญญาชนสาธารณะแห่ง 'ความเป็นไทย' กระแสหลักอย่างแท้จริง"
นี่เป็นประเด็นเดียวกัน exactly กับที่ผมวิจารณ์การนำเสนอบทความของอาจารย์สายชลคนเดียวกัน ในการสัมมนาเรื่อง "ประวัติศาสตร์ความคิดไทยกับแนวคิดชุมนชน" เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ตึกโดมชั้น 2 ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ผมขอคัดบันทึกการวิจารณ์ของผมในวันนั้น มาให้ดูกันสั้นๆดังนี้
"เป็นเรื่อง irony ที่ พี่นิด (สายชล) ทำเรื่องปัญญาชน 'กระแสหลัก' แต่กลับละเลย ปัญญาชน 'กระแสหลัก' ที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (The most powerful intellectual in modern Thai history) คือในหลวงไป เป็นความจริงที่ว่า โดยทั่วไป เราไม่อ่าน speech ของในหลวง ในลักษณะอ่าน หลวงวิจิตร หรือ คึกฤทธิ์ แต่ในทางกลับกันอาจจะ argue ได้ว่า งานของหลวงวิจิตร หรือ คึกฤทธิ์ ก็ไม่ได้มีอิทธิพลต่อสังคม ในแง่ที่เป็นงานเขียน หรือ text เหมือนกัน"
หลังจากนี้ ผมได้ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า จุดที่ผมสนใจอย่างยิ่งในงานของในหลวง - ในแง่งานเขียน, พระราชดำรัส ฯลฯ คือ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่ไม่พูดถึงพระมหากษัตริย์ในการ "สร้างภูมิปัญญากระแสหลัก" คือ ถ้าเราดูจากปัญญาชนตั้งแต่สมัย ร.5 และ ร.6 ซึ่งพี่นิดทำมา มาถึงหลวงวิจิตร ฯลฯ เราจะเห็นว่า มีลักษณะ according to type คือ ร.6 พูดเรื่องชาติ แต่ในทางเป็นจริง เน้นเรื่องกษัตริย์ หลวงวิจิตร (ในฐานะสามัญชน เชื้อสายจีน) เน้นเรื่องชาติ/เชื้อชาติ ... แต่ในหลวงปัจจุบัน พูดถึง "ชาติบ้านเมือง" โดยไม่พูดถึงกษัตริย์ อะไรคือนัยยะของการที่พระมหากษัตริย์โปรโมท 'ภูมิปัญญากระแสหลัก' โดยไม่พูดถึงพระมหากษัตริย์ เช่นนี้? (ผมไม่ได้เสนอคำตอบ เพราะยัง "คิดไม่ออก" บางท่านอาจจะนึกว่า เป็นเรื่อง "ธรรมดา" ที่ในหลวง ย่อมไม่ทรงพูดถึงตัวเอง ผมไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่อง "ธรรมดา" ... ที่ผมสนใจมากคือเปรียบเทียบสิ่งที่ในหลวงเสนอ กับสิ่งที่คนอย่างหลวงวิจิตรเสนอ)
(ในส่วนโครงการวิจัยของอ.สายชล โดยรวมนั้น ผมมักรู้สึกว่า แม้จะไม่มีปัญหาว่า มีความตั้งใจดี - คืออ.สายชลมองว่าโครงการของตนเป็น contribution ให้กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย - แต่ผมรู้สึกว่า she misunderstood/misconceived her own project ผมมักรู้สึกว่า ด้วยเงินสนับสนุนการวิจัยขนาดนี้ (ปัญญาชน 10 คน!) จะเป็นสิ่งที่ดีกว่า ถ้าจะทำงานแบบ "ประวัติศาสตร์" เกี่ยวกับคนเหล่านี้ อาจจะได้เพียงคนหรือ 2 คน งานอย่าง Scot Barme (ซึ่งในความเห็นของผม ยังเป็นงานเกี่ยวกับหลวงวิจิตรที่ดีที่สุด by far).. น่าเสียดายว่า เรามีงานเกี่ยวกับคึกฤทธิ์ที่คล้ายกัน 2 ชิ้นใหญ่ (ธำรงศักดิ์และสายชล) ในระยะใกล้ๆนี้ แต่ในความรู้สึกของผม ไม่ทำให้มองเห็นบทบาทหรือความคิดของคึกฤทธิ์ในประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ช่วงที่คึกฤทธิ์มีบทบาททางความคิด-การเมืองเท่าไรนัก)
(2) ในทัศนะของผม การพยายามอธิบายความเข้มแข็งของพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน มีอันตรายอย่างหนึ่ง คือ การยกสาเหตุให้กับบางอย่าง THAT WAS NOT THERE ซึ่งผมคิดว่า ผม detect ในงานเขียนอย่างของนิธิ, เกษียร หรือแม้แต่ธงชัย (ดูบทความใน "การเมืองพื้นที่" โดยเฉพาะหน้า 49 ย่อหน้า 2) และตัวอย่างแบบแย่สุดขั้ว คือหนังสือเมื่อเร็วๆนี้ของกอบเกื้อ (Kings, Country, Constitutions)
เพื่อให้เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ผมพยายาม getting at ในที่นี้ ผมขออนุญาตออกนอกเรื่อง ไปพูดคนละเรื่อง คือกรณีปัญหาภาคใต้ปัจจุบัน ถ้าถามว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ปัญหาภาคใต้อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า in a mess ในปัจจุบัน เราจะ attribute ให้กับอะไร (ก) ความสามารถในการ "ก่อกวน" ของ "ผู้ก่อการ" หรือ (ข) ความไร้น้ำยา ไม่มีความสามารถสุดๆ (utterly incompetent) ของรัฐบาล? ผมเชื่อว่า ส่วนใหญ่คงบอกว่า (ข) มากกว่า (ก) สิ่งที่ผมคิดว่าผม detect ในการพยายามอธิบายเกี่ยวกับความเข้มแข็งของ "สถาบัน" ของหลายคน คือการกลับกันในเรื่องนี้ ทำไม?
ผู้สนใจคงทราบว่า ในทางปรัชญา การ attribution of cause นั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหาเหตุผลมา support ได้โดยแท้จริง almost anything can be said to be a cause of something (ในทางปรัชญาวิทยาศาสตร์ นี่คือสิ่งที่ Quine เรียกว่า underdetermination) ในที่สุดแล้ว choice ในการ attribute เรื่อง cause ของเรื่องหนึ่งๆ ขึ้นอยู่กับ ทรรศนะทั่วไป (general outlook) ของผู้ศึกษา ต่อเรื่องอื่นๆที่ล้อมรอบเรื่องนั้นเอง (พูดแบบกำปั้นทุบดินหรือ "ฟันธง" คือ เป็นเรื่องของ politics และ ideology) ในความเห็นของผม เนื่องจากหลายปีหลังนี้ ปัญญาชนส่วนใหญ่ ได้หันไปให้ความสำคัญและความสำเร็จกับกรณี 2475 และละทิ้งด้านที่เป็นการวิพากษ์เหตุการณ์นั้น (และวิพากษ์ปัญญาชน "เสรีนิยม" ตั้งแต่ปรีดีถึงป๋วย) ซึ่งไม่ใช่เป็นของฝ่ายนิยมเจ้าอย่างเดียว แต่ที่สำคัญคือของ พคท. ด้วย เมื่อถึงเวลาอธิบายความเข้มแข็งของสถาบัน จึงเหลืออยู่เพียงการไปพูดถึงนโยบายของสฤษดิ์ และ "พระปรีชาสามารถ" ของพระมหากษัตริย์เอง
ปัญหาที่ตามมา มีมากมาย แต่ขอยกบางตัวอย่างรูปธรรม เช่น ถ้าอธิบายแบบนี้ จะอธิบาย choice of prime minister in 1976 อย่างไร? ยังมีประเด็นอื่นๆอีกมาก ในส่วนสฤษดิ์นั้น ถ้าประเด็นอยู่ที่สฤษดิ์เท่านั้น คำถามที่ตามมา คือ เหตุใดสฤษดิ์ จึงใช้นโยบายเช่นนั้นได้? การย้อนไปที่ 2490 ก็ต้องเกิดคำถามแบบเดียวกันว่า ทำไม 2490 จึงเกิดขึ้นได้ เป็นต้น ในที่สุดแล้ว ผมเห็นว่า การละทิ้งด้านที่วิพากษ์ 2475 (และวิพากษ์ "เสรีนิยม" ไทย) ทำให้ไม่สามารถอธิบายเรื่องที่พูดถึงกันนี้ได้
ชาญกิจ คันฉ่อง
เกี่ยวกับประเด็นในข้อความที่ ๒ ที่มักมีคำพูดว่า "ประวัติศาสตร์อธิบายอดีตได้
แต่ไม่สามารถอธิบายอนาคตได้" ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่เราไม่มีความสามารถ
attribution of cause หรืออีกนัยหนึ่งวิเคราะห์ เหตุการณ์ทั้งหมดในปัจจุบัน ->
อนาคต ได้เหมือนกับที่ ทราบเหตุการณ์ในปัจจุบัน -> หาสาเหตุในอดีตที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้
เพราะเราไม่มีความสามารถไปรับรู้เหตุการณ์ทั้งหมดในปัจจุบันที่สามารถเป็นตัวกำหนดเหตุการณ์ในอนาคตได้ เนื่องจากการรับรู้ของเรามีจำกัด เช่น เราสามารถพบประพูดคุยได้เฉพาะคนที่เราพบปะพูดคุย ไม่สามารถสืบเสาะไปถึงภาคีที่เกี่ยวข้อง ทุกกลุ่มทุกคนว่ากำลังดำเนินกิจกรรมอะไรอยู่บ้าง
เราจึงไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับทุกๆ เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อที่จะเปรียบเทียบว่าเหตุการณ์ใดในปัจจุบันจึงจะเป็นปัจจัยที่ชนะ หรือกลายเป็นปัจจัยหลักกำหนดเหตุการณ์ที่จะเป็นไปในอนาคต
แต่พอเหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าเรายังเชื่อในกลไกและเหตุผลอยู่ [ความเชื่อนี้ มาจากการได้พบเห็นสังเกตการณ์ เหตุการณ์ง่ายๆ หลายๆ เหตุการณ์ที่มีปัจจัยเกี่ยวข้องน้อย ตลอดจนสามารถสาธิตมันขึ้นมาได้เสมอ เช่น เมื่อออกแรงตีลูกบอล ลูกบอลก็ต้องลอยไป เพราะเราตี] เราจึงระบุได้ว่า หรือสืบหาได้ว่า หรือใบ้ให้เราทราบว่า ในท่ามกลางเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เหตุการณ์ใดจึงเป็นปัจจัยหลัก ชนะ หรือโดดเด่นเหนือปัจจัยอื่นๆ จนเป็นตัวกำหนดให้เหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น
ถึงแม้ถ้าเราระบุได้ สืบหาได้ หรือใบ้ให้เราทราบได้ ว่าอะไรเหตุการณ์อะไร ชุดใด เป็นสาเหตุ แต่ความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่างๆ ยังคงซับซ้อนเกินไป จึงต้องอาศัยทฤษฎีของผู้ศึกษา ที่สร้างขึ้นจากกรณีเฉพาะที่เคยวิเคราะห์มาแล้วได้ผลดีอีกต่อหนึ่ง ตรงนี้จึงเปิดโอกาสให้ประสบการณ์, ความรู้, politics, และ ideology ที่เรามี เป็นข้อมูลในเราให้แก่การกำหนดทางเลือก
บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 640 เรื่อง หนากว่า 8400 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน
กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ฉะนั้น ธรรมเนียมประเพณีว่าด้วยบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทย ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญเท่าที่มีจึงสร้างขึ้น ทำขึ้น ปรากฏขึ้นในรัชกาลปัจจุบันหลัง พ.ศ.2494 เป็นสำคัญ ในรัชกาลนี้เองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงกรุยทางจัดวางแบบอย่างธรรมเนียมประเพณีว่า กษัตริย์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญควรมีบทบาทการเมืองอย่างไร ด้วยพระราชกรณียกิจของพระองค์เอง โดยที่ก่อนรัชกาลนี้เอาเข้าจริงๆ ไม่มี... (คัดมาจากบทความ)