ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
related topic
140848
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 640 หัวเรื่อง
นอม ชอมสกี้ : รัฐและบรรษัท
ภัควดี วีรภาสพงษ์ : แปล
นักแปลและนักวิชาการอิสระ

บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's free article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 30,779 สูงสุด 51,792 สำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ปัญญาชนสนใจการเมือง
สัมภาษณ์ นอม ชอมสกี: รัฐและบรรษัท
ภัควดี วีระภาสพงษ์
แปลและเรียบเรียงจาก
"State and Corp,"
Noam Chomsky interviewed by ZNet Germany, May 18, 2005.

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เคยเผยแพร่แล้วบนกระดานข่าวขนาดยาวของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กองบรรณาธิการเห็นว่าเป็นบทความที่มีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจรัฐและบรรษัท
จึงได้นำมาเผยแพร่ต่อบนหน้าเว็ปเพจ ซึ่งมีผู้อ่านกว้างขวางกว่า


เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11 หน้ากระดาษ A4)




สัมภาษณ์ นอม ชอมสกี: รัฐและบรรษัท

ZNet Germany 18 พฤษภาคม 2005

ถาม: เราอยากคุยถึงโครงสร้างอำนาจหลักสองอย่างในยุคสมัยใหม่ กล่าวคือ "รัฐชาติ" และ "บรรษัทข้ามชาติ" คำถามแรกคือ อยากให้คุณพูดถึงจุดกำเนิดของแนวคิดเกี่ยวกับรัฐชาติ ทำไมแนวคิดนี้จึงถูกสร้างขึ้นและมีผลพวงตามมาอย่างไรบ้าง?

ชอมสกี: ถ้าจะกล่าวไปแล้ว "รัฐชาติ"ถือว่าเป็นแนวคิดที่สร้างขึ้นในยุโรป อาจจะมีแนวคิดคล้าย ๆ กันนี้ที่อื่น แต่รัฐชาติในรูปแบบสมัยใหม่ถูกสร้างขึ้นมาในยุโรปตั้งแต่หลายศตวรรษก่อน มันเป็นแนวคิดที่แปลกปลอมและไม่ธรรมชาติมาก ๆ จนต้องสถาปนามันขึ้นมาด้วยความรุนแรง อันที่จริง นี่คือเหตุผลพื้นฐานที่สุดว่า ทำไมยุโรปจึงเป็นพื้นที่ที่ป่าเถื่อนที่สุดในโลกถึงหลายศตวรรษ มันสืบเนื่องมาจากการพยายามยัดเยียดระบบรัฐชาติให้แก่วัฒนธรรมและสังคมที่หลากหลาย ซึ่งถ้าคุณพิจารณาดูให้ดี ก็จะเห็นว่ามันไม่มีความเชื่อมโยงที่เข้ากับโครงสร้างแปลกปลอมนี้ได้เลย

ผลพวงที่ตามมาก็คือเหตุผลหลักที่แนวคิดนี้แพร่ขยายไปสู่ที่อื่น ในกระบวนการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ ยุโรปพัฒนาวัฒนธรรมของความป่าเถื่อนและเทคโนโลยีของความรุนแรงที่ช่วยให้มันครองโลก และที่ใดในโลกที่มันพิชิตได้ มันก็พยายามยัดเยียดระบบรัฐชาติให้ ซึ่งมีแต่ความแปลกปลอมและเต็มไปด้วยความรุนแรงเช่นกัน

ถ้าคุณดูความขัดแย้งใหญ่ ๆ ในโลกทุกวันนี้ เกือบทั้งหมดเป็นผลที่ตกค้างมาจากความพยายามของยุโรป ที่จะสถาปนาระบบรัฐชาติในพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับแนวคิดนี้เลย ซึ่งก็คือเกือบทุกที่ในโลกนั่นแหละ ข้อยกเว้นเพียงไม่กี่แห่งในกรณีนี้ก็คือ อาณานิคมของยุโรปที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองไปเกือบหมดสิ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ในอาณานิคมสองแห่งนี้จึงมีสังคมที่ค่อนข้างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากกว่าที่อื่น

ในอีกด้านหนึ่ง เหตุผลพื้นฐานว่าทำไมความขัดแย้งอย่างป่าเถื่อนในยุโรปจึงยุติลงในปี ค.ศ. 1945 ทั้งนี้ก็เพราะยุโรปเริ่มตระหนักว่า ถ้ายังขืนเล่นเกมนี้ต่อไป พวกเขาย่อมล้างผลาญกันเองจนไม่เหลืออะไรเลย ดังนั้น นับตั้งแต่ ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา จึงมีสันติภาพภายในยุโรป เยอรมันกับฝรั่งเศสเลิกคิดแล้วว่า การสังหารอีกฝ่ายให้ตายดับดิ้นเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของตนอีกต่อไป

ในระหว่างการพัฒนาระบบรัฐชาติ มีการพัฒนาอีกด้านหนึ่งเคียงคู่กันไป นั่นคือ การจัดการทางเศรษฐกิจหลายประการตั้งแต่ศตวรรษก่อน จนกลายมาเป็นระบบทุนนิยมบรรษัทอย่างในปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วเป็นการยัดเยียดให้โดยอำนาจฝ่ายตุลาการ ไม่ใช่จากฝ่ายนิติบัญญัติ และมีความเชื่อมโยงแนบแน่นกับรัฐมหาอำนาจทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รัฐมหาอำนาจ เช่น G8 ที่เพิ่งประชุมกันไปในเมืองเอดินเบอระ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นแค่ G1 หรือ G3 โดยที่ประเทศอื่น ๆ มีส่วนร่วมน้อยมาก จึงมีความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกขาดจากประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เราไม่มีทางแยกรัฐสมัยใหม่ออกจากระบบบรรษัทธุรกิจข้ามชาติ เครือข่ายอาณาจักรธุรกิจที่อาศัยรัฐชาติ โดยมีความสัมพันธ์ทั้งในแง่การพึ่งพาและครอบงำต่อรัฐชาติ

อันที่จริง เมื่อสองศตวรรษก่อน ในยุคแรกเริ่มของทุนนิยมสมัยใหม่ เจมส์ เมดิสัน (James Madison) บรรยายความสัมพันธ์ของธุรกิจกับรัฐบาลว่าเป็น "สมุนและทรราช" เขาบอกว่า ธุรกิจเป็น "สมุนและทรราช" ของรัฐบาล ในปัจจุบัน นี่คือคำนิยามโลกที่ถูกต้องที่สุด บรรษัทข้ามชาติเป็นทั้งสมุนและทรราชของรัฐมหาอำนาจ ดังนั้น การแยกแยะความแตกต่างระหว่างรัฐชาติกับบรรษัทจึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

ถาม: ในช่วงเริ่มต้นที่"รัฐชาติ"ถือกำเนิดขึ้น คุณคิดว่าอะไรเป็นพลังทางสังคมที่อยู่เบื้องหลังและทำไมมันจึงผลักดันแนวคิดนี้?

ชอมสกี: จุดเริ่มต้นของรัฐชาติเกิดขึ้นในยุคฟิวดัลโดยพวกลอร์ด (Lord) ในสมัยนั้นมีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายลอร์ด, กษัตริย์, พระสันตะปาปาและกลุ่มอำนาจอื่น ๆ จนค่อย ๆ วิวัฒนาการมาเป็นระบบรัฐชาติ ซึ่งอำนาจทางการเมือง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาบรรจบประสานกัน เพียงพอที่จะทำให้เกิดความพยายามยัดเยียดระบบที่มีรูปแบบเดียวมาใช้ครอบสังคมที่มีความหลากหลายมาก แม้แต่ในยุโรป รัฐชาติก็เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ผมหมายความว่าแม้แต่คนสมัยนี้ก็ยังพอจำกันได้ ระบบรัฐชาติเพิ่งจะตั้งมั่นสถาปนาได้เมื่อไม่นานนี้จริง ๆ

มีคนจำนวนมากในยุโรปที่คุยกับย่ายายไม่รู้เรื่อง เพราะพูดกันคนละภาษา รัฐชาติเพิ่งจะผนึกรวมการเมือง วัฒนธรรม และอำนาจทางเศรษฐกิจได้เมื่อไม่นานมานี้เอง และตอนนี้ก็เริ่มจะแตกสลายแล้ว ในทัศนะของผม พัฒนาการด้านบวกที่สุดในยุโรปอย่างหนึ่งตอนนี้คือ กระบวนการถอยหลังกลับซึ่งเกิดขึ้นในอัตราเร่งต่าง ๆ กันไปในพื้นที่ต่าง ๆ ของยุโรป ยกตัวอย่างเช่น ในสเปน แคว้นแคตาโลเนีย แคว้นบาสก์ กำลังคลี่คลายไปสู่การแยกตัวเป็นอิสระมากขึ้นเรื่อย ๆ นี่รวมทั้งเขตแคว้นอื่น ๆ ด้วย เพียงแต่อยู่ในระดับที่น้อยกว่า

ผมเพิ่งเดินทางไปอังกฤษก่อนมาที่นี่ จริง ๆ แล้วไม่ใช่อังกฤษเสียทีเดียวหรอก ผมไปสกอตแลนด์มาต่างหาก เดี๋ยวนี้สกอตแลนด์มีอิสระในการปกครองตัวเองระดับหนึ่ง เวลส์ก็มีอิสระในระดับหนึ่ง ผมคิดว่านี่คือพัฒนาการถอยหลังกลับโดยธรรมชาติ เพื่อย้อนกลับไปหารูปแบบการจัดการทางสังคมที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ และความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์มากกว่ารูปแบบรัฐชาติในปัจจุบัน

มีเรื่องหนึ่งคือ ศาลด้านความมั่นคงของประเทศตุรกีเคยสอบสวนผม อาจยังจับตามองผมจนถึงทุกวันนี้ ในข้อหาที่พวกเขาเรียกว่า เทศนาลัทธิแบ่งแยกดินแดน เรื่องของเรื่องก็คือ ในการอภิปรายครั้งหนึ่งที่เมือง Dyarbakir ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศตุรกี ผมพูดถึงด้านดีบางอย่างของจักรวรรดิออตโตมัน ไม่มีใครอยากให้จักรวรรดิออตโตมันฟื้นคืนชีพขึ้นมาหรอก แต่จักรวรรดินี้มีแนวคิดที่ถูกต้องอยู่บ้างในหลาย ๆ เรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือ

จักรวรรดิไม่ค่อยยุ่งกับประชาชน ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาคอร์รัปชั่นและความอ่อนแอ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหตุผลทางด้านหลักการด้วย ดินแดนทั้งหมดที่อยู่ภายใต้จักรวรรดิออตโตมันไม่มีอะไรเหมือนระบบรัฐชาติเลย ดังนั้น ในเมืองต่าง ๆ ชาวกรีกก็ดูแลจัดการเรื่องของตัวเอง ชาวอาร์เมเนียนก็ดูแลจัดการเรื่องของตัวเอง และคนเชื้อชาติอื่น ๆ ก็บริหารเมืองของตัวเองไป แล้วทั้งหมดก็รวมตัวกันหลวม ๆ เป็นจักรวรรดิ

คุณสามารถเดินทางจากไคโร ไปแบกแดด หรืออิสตันบูล โดยไม่ต้องข้ามเขตแดนหรือด่านตรวจอะไรแบบนั้น นี่น่าจะเป็นรูปแบบที่ถูกต้องในการจัดระบบการปกครองสำหรับส่วนนั้น และน่าจะรวมถึงทุก ๆ ส่วนในโลก และนี่คือแนวโน้มที่เห็นได้ชัดในยุโรป ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระดับทางวัฒนธรรม แต่มันกำลังเกิดขึ้นกับการเมืองในระดับหนึ่งด้วย

ผมคิดว่านี่คือปฏิกิริยาที่มีต่อการรวมศูนย์อำนาจของสหภาพยุโรป ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างรวบอำนาจมากทีเดียว โดยเฉพาะอำนาจมหาศาลของธนาคารกลาง แต่ทั้งหมดนี้เกี่ยวพันกับการรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคม ที่ตกอยู่ในมือกลุ่มทรราชเอกชนที่ไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับอำนาจรัฐและพึ่งพากันและกัน

ถาม: อยากให้คุณบรรยายรายละเอียดถึงการที่บรรษัทธุรกิจก้าวขึ้นมามีอำนาจมหาศาลในปัจจุบัน?

ชอมสกี: บรรษัทธุรกิจมีอำนาจได้อย่างไร? เราก็รู้กันดีอยู่แล้ว มันเคยมีความล้มเหลวครั้งใหญ่ของตลาด การพังทลายของตลาดในปลายศตวรรษที่ 19 ตอนนั้นมีการทดลองเป็นระยะสั้น ๆ การทดลองระยะสั้นมากกับระบบที่คล้ายคลึงทุนนิยมไม่มากก็น้อย นั่นคือตลาดเสรี มันไม่ได้เสรีจริง ๆ เสียทีเดียว แต่ก็เสรีส่วนหนึ่ง และมันกลายเป็นความหายนะครั้งยิ่งใหญ่ จนภาคธุรกิจต้องเรียกร้องให้ยกเลิกเพราะอยู่รอดไม่ได้

ในปลายศตวรรษที่ 19 จึงมีความเคลื่อนไหวเพื่อเอาชนะความล้มเหลวอย่างรุนแรงของตลาด จนนำไปสู่รูปแบบต่าง ๆ ของการรวมศูนย์ทุน นั่นคือ ทรัสต์, การร่วมมือในลักษณะผูกขาด ฯลฯ และสิ่งที่เกิดขึ้นมาก็คือ บรรษัทธุรกิจในรูปแบบปัจจุบัน

แล้วบรรษัทธุรกิจก็ได้รับสิทธิจากอำนาจศาล ผมรู้ประวัติศาสตร์แองโกล-อเมริกันค่อนข้างดี ผมจึงขอยกตัวอย่างประวัติศาสตร์อันนี้เป็นหลัก แต่ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นคล้าย ๆ กันในประเทศอื่น ๆ ด้วย ในระบบแองโกล-อเมริกัน ไม่ใช่อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นอำนาจฝ่ายตุลาการต่างหากที่มอบสิทธิพิเศษแก่องค์กรธุรกิจ ศาลให้บรรษัทมีสิทธิเทียบเท่าบุคคล หมายความว่าบรรษัทมีสิทธิเสรีภาพในการพูด บรรษัทสามารถโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้อย่างเสรี บรรษัทสามารถสนับสนุนการเลือกตั้ง ฯลฯ และบรรษัทได้รับความคุ้มครองจากการสอดส่องของอำนาจรัฐ ซึ่งหมายความว่า เช่นเดียวกับที่ตำรวจไม่มีสิทธิ์บุกเข้าไปในที่อยู่อาศัยและรื้อค้นเอกสารของคุณมาอ่าน สังคมก็ไม่สามารถขุดคุ้ยว่าเกิดอะไรขึ้นภายในองค์กรธุรกิจที่มีการบริหารงานแบบเผด็จการเช่นกัน บรรษัทแทบไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวมเลย

แน่นอน บรรษัทไม่ใช่บุคคลจริง ๆ บรรษัทเป็นอมตะ เป็นนิติบุคคลรวมหมู่ อันที่จริง บรรษัทมีความคล้ายคลึงมากกับรูปแบบองค์กรอีกชนิดหนึ่งที่เรารู้จักกันดี (ในที่นี้ ชอมสกีน่าจะหมายถึงพรรคนาซี-ผู้แปล) และเป็นองค์กรเผด็จการรูปแบบหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาในศตวรรษที่ 20. องค์กรอื่น ๆ ที่พัฒนามาพร้อมกันถูกทำลายไปแล้ว มีแต่บรรษัทที่ยังเหลืออยู่ และต่อมา กฎหมายกลับกำหนดให้บรรษัทต้องมีพฤติกรรมที่หากเป็นมนุษย์จริง ๆ แล้ว ต้องถือเป็นความผิดปรกติทางพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้

กล่าวคือ กฎหมายกำหนดให้บรรษัทขยายอำนาจและผลกำไร โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดแก่ใครหน้าไหน กฎหมายกำหนดให้บรรษัทต้องผลักภาระต้นทุนแก่สังคม ถ้ามันสามารถทำให้ส่วนรวมหรือคนรุ่นต่อไปต้องจ่ายภาระต้นทุนให้มันแทน บรรษัทก็ต้องทำเช่นนั้น ถ้าขืนไปทำอย่างอื่น ย่อมกลายเป็นว่าผู้บริหารบรรษัทกำลังทำผิดกฎหมาย

ตอนนี้ สิ่งที่เรียกกันว่า ข้อตกลงทางการค้า ซึ่งความจริงไม่ค่อยเกี่ยวกับการค้าสักเท่าไร บรรษัทกำลังได้รับสิทธิที่เหนือกว่าสิทธิของบุคคล บรรษัทได้รับสิทธิที่เรียกกันว่า "การเอื้ออำนวยระดับชาติ" (national treatment) บุคคลไม่มีสิทธิแบบนี้ เช่น ถ้าชาวเม็กซิกันสักคนเดินทางมานิวยอร์ก เขาไม่สามารถเรียกร้องขอ "การเอื้ออำนวยระดับชาติ" แต่ถ้าบริษัทเจเนรัลมอเตอร์ไปที่เม็กซิโก มันสามารถเรียกร้องขอ "การเอื้ออำนวยระดับชาติ" ได้ บรรษัทสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณและผมทำไม่ได้

ดังนั้น บรรษัทจึงได้รับสิทธิเหนือกว่าบุคคล มันเป็นอมตะ มันทรงอำนาจ มันมีพฤติกรรมวิปริตเพราะข้อกำหนดทางกฎหมาย และนี่แหละคือรูปแบบของระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จในปัจจุบัน บรรษัทธุรกิจไม่มีการแข่งขันกันจริง ๆ มันต่างเชื่อมโยงกันและกัน บริษัทซีเมนส์, ไอบีเอ็ม และโตชิบา จึงมีโครงการร่วมมือกันทางธุรกิจได้

บรรษัทพึ่งพิงอำนาจรัฐเป็นอย่างมาก แรงขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันมาจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่มาจากภาคเอกชนเลย เกือบทุกแง่มุมของสิ่งที่เรียกกันว่า "คลื่นลูกใหม่ทางเศรษฐกิจ" เป็นสิ่งที่พัฒนาและออกแบบมาด้วยต้นทุนของสังคม และสังคมเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงทั้งสิ้น ไม่ว่าคอมพิวเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์, โทรคมนาคม, อินเตอร์เน็ต, เลเซอร์, ทุก ๆ อย่าง....

ดูอย่างวิทยุ วิทยุเป็นสิ่งที่คิดค้นขึ้นมาโดยกองทัพเรือสหรัฐฯ การผลิตสิ่งของจำนวนมากด้วยเครื่องจักรหรือ mass production เป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาในโรงงานคลังแสงของกองทัพ ถ้าคุณย้อนกลับไปเมื่อร้อยปีก่อน ปัญหาสำคัญที่สุดของวิศวกรรมไฟฟ้าและเครื่องกลคือ การหาวิธีติดตั้งปืนใหญ่บนฐานที่กำลังเคลื่อนที่ นั่นก็คือเรือรบ ทำอย่างไรจึงจะออกแบบให้มันสามารถยิงวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่หรือเรือรบอีกลำ จนพัฒนามาเป็นศาสตร์การยิงของกองทัพเรือ นี่คือปัญหาที่ทำให้เกิดความรู้ก้าวหน้าที่สุดในด้านโลหะวิทยา วิศวกรรมไฟฟ้าและเครื่องกล ฯลฯ

อังกฤษและเยอรมันทุ่มเทให้กับเรื่องนี้มาก สหรัฐอเมริการองลงมา ผลพลอยได้จากการคิดค้นของกองทัพกลายเป็นผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ ยังมีอะไรแบบนี้อีกมากมาย อันที่จริง มันเป็นเรื่องยากมากด้วยซ้ำที่จะหาอุตสาหกรรมการค้าอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่ผลพลอยได้สืบเนื่องมาจากภาครัฐ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กรณีแบบนี้ยิ่งก้าวกระโดดขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ขณะที่นายอลัน กรีนสแปน และคนอื่น ๆ พร่ำพูดเรื่อง "การริเริ่มของผู้ประกอบการ" และ "ทางเลือกของผู้บริโภค" และอะไรต่ออะไรที่คุณเรียนมาสมัยอยู่มหาวิทยาลัย แต่มันแทบไม่มีอะไรที่ต้องตรงกับระบบเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่จริง ๆ เลย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดของกรณีแบบนี้ ดูได้จากสถาบัน MIT ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ้าเราพิจารณานโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปในการให้เงินทุนสนับสนุนงานวิจัย เราจะเห็นภาพชัดมาก เมื่อผมเข้าไปสอนใน MIT เมื่อ 50 ปีก่อน เงินทุนสนับสนุนมาจากเพนตากอนเกือบ 100% เป็นอย่างนี้มาจนกระทั่งราวปี ค.ศ. 1970 หลังจากนั้นเป็นต้นมา เงินสนับสนุนจากเพนตากอนเริ่มลดน้อยถอยลง ส่วนเงินทุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ และสถาบันที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นมาเป็นลำดับ

เหตุผลก็เป็นเรื่องที่เห็นกันชัด ๆ อยู่แล้วสำหรับใคร ๆ อาจจะยกเว้นก็แต่พวกนักเศรษฐศาสตร์เจ้าทฤษฎีทั้งหลาย เหตุผลก็คือ ในทศวรรษที่ 50 และ 60 หัวหอกของการขยายตัวทางเศรษฐกิจตั้งอยู่บนการพัฒนาด้านอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สังคมต้องรับภาระการค้นคว้าวิจัยทางด้านนี้ ภายใต้ข้ออ้างความมั่นคงของประเทศ

ในปัจจุบัน หัวหอกของการขยายตัวทางเศรษฐกิจกลายเป็นธุรกิจด้านชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ, วิศวพันธุกรรม, ยา ฯลฯ สังคมจึงต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อความรู้ในด้านนี้ รวมทั้งรับภาระความเสี่ยงภายใต้ข้ออ้างอย่างเช่น การค้นคว้าหาวิธีรักษาโรคมะเร็งหรืออะไรทำนองนั้น แต่ความจริงที่อยู่เบื้องหลังก็คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความรู้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพของภาคเอกชนในอนาคต พวกเขายินดีให้สาธารณชนเป็นคนจ่ายต้นทุนและแบกรับความเสี่ยงอยู่แล้ว หลังจากนั้นก็ผ่องถ่ายผลการค้นคว้าไปให้บรรษัทเอกชนทำกำไร ในมุมมองของกระฎุมพีชั้นสูง นี่คือระบบที่ดีเยี่ยมไร้ที่ติ เป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างอำนาจรัฐและอำนาจทุนเอกชน

ยังมีการพึ่งพาในด้านอื่น ๆ อีกมากมายด้วย อาทิเช่น เพนตากอนไม่ได้มีไว้แค่พัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น เพนตากอนยังมีไว้เป็นหลักประกันว่า โลกทั้งโลกจะต้องค้อมหัวให้กฎเกณฑ์ที่เป็นมิตรต่อบรรษัท ดังนั้น ความเชื่อมโยงที่มีต่อกันจึงซับซ้อนทีเดียว

ถาม: อยากให้เรากลับมาพูดถึงธรรมชาติของบรรษัทธุรกิจอีกครั้ง คำถามก็คือ มันมีความแตกต่างหรือไม่ระหว่างบรรษัทข้ามชาติสัญชาติเยอรมัน กับบรรษัทข้ามชาติสัญชาติแองโกล-อเมริกัน เหตุผลที่ถามประเด็นนี้ก็คือ ธนาคารดอยท์เชอร์ บังค์ (Deutsche Bank) ประกาศว่าจะไล่พนักงานออก 6,000 คนในปีหน้า ทั้งที่เพิ่งประกาศผลกำไรประจำปีกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ ผู้บริหารธนาคารจึงถูกประณามจากทุกฟากฝ่ายการเมืองในเยอรมนี ถึงกับมีคำพูดว่า ธนาคารนี้ไม่ควรเรียกตัวเองเป็น "เยอรมัน" อีกแล้ว (Deutsch เป็นคำเรียกตัวเองของชาวเยอรมัน-ผู้แปล) ธนาคารยังถูกตั้งข้อหาว่าขาดความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย คำถามก็คือ ถ้ามองในแง่ทฤษฎีแล้ว บรรษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่?

ชอมสกี: มันก็เหมือนทฤษฎีเกี่ยวกับจอมเผด็จการใจบุญ ผมว่ามันเป็นไปได้และการมีจอมเผด็จการใจบุญก็ยังดีกว่ามีจอมเผด็จการใจอำมหิต ถ้าคุณจำเป็นต้องมีผู้ปกครองที่เป็นเผด็จการ การมีเผด็จการนิสัยดีสักคนคอยแจกลูกกวาดให้เด็กยากจน ถึงอย่างไรก็ดีกว่าแน่ ๆ แต่มันก็ยังเป็นระบอบเผด็จการอยู่ดี สรุปก็คือ ใช่ เราสามารถมีบรรษัทที่รับผิดชอบต่อสังคมได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นย่อมเกิดมาจากการที่สังคมบีบให้บรรษัทเหล่านี้ต้องดำเนินกิจกรรมด้านการกุศลนั่นเอง

อันที่จริง นี่เป็นประเด็นที่ฝังอยู่ในกฎหมายแองโกล-อเมริกัน เราเห็นแล้วว่า คำวินิจฉัยของศาลหรือกฎหมายกำหนดเงื่อนไขให้บรรษัทต้องขยายอำนาจและแสวงหากำไรสูงสุด แต่อย่างน้อยบรรษัทต้องดำเนินกิจกรรมการกุศลด้วย โดยเฉพาะเวลาที่มีกล้องโทรทัศน์อยู่ใกล้ ๆ และโดยเฉพาะเวลาที่เป็นการจัดฉากล้วน ๆ ดังนั้น ถ้าบริษัทยาเกิดอยากบริจาคยาในย่านคนจน บริษัทย่อมทำได้ตราบเท่าที่ทำไปด้วยวัตถุประสงค์ของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่อ้างได้ว่า จะช่วยเพิ่มผลกำไร กล่าวคือ ในการแสวงหากำไรสูงสุด บรรษัทสามารถทำความดีได้เล็กน้อยเช่นกัน

ยิ่งกว่านั้น ศาลยังถึงขนาดกระตุ้นให้บรรษัทดำเนินกิจกรรมการกุศล เพราะมิฉะนั้น (ตรงนี้ผมกำลังอ้างตามตัวอักษรเลยนะ) "สาธารณชนที่ตื่นตัว" อาจค้นพบว่า ธรรมชาติที่แท้จริงของบรรษัทเป็นอย่างไร และอาจเคลื่อนไหวเพื่อทำลายสิทธิและอภิสิทธิ์ของบรรษัท ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มี "สาธารณชนที่ตื่นตัว" เกิดขึ้นมา จึงเป็นความคิดที่ดีที่บรรษัทพึงสร้างภาพพจน์ที่น่าคบและใจบุญสุนทาน ผมคิดว่ามันก็เหมือนกับระบอบเผด็จการ, ระบอบกษัตริย์ ฯลฯ นั่นแหละ

ดังนั้น เป็นไปได้ที่คุณจะมีบรรษัทที่รับผิดชอบต่อสังคม ถึงอย่างไรมันก็ยังดีกว่าบรรษัทที่โหดเหี้ยมป่าเถื่อน เช่นเดียวกับในกรณีของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จรูปแบบอื่น ๆ สังคมส่วนรวมสามารถสร้างแรงกดดันได้ แต่ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องนั้น มันเป็นเรื่องของการรวมศูนย์อำนาจที่ขาดความโปร่งใสในภาคธุรกิจเอกชนต่างหาก ใช่ แต่ภายใต้แรงกดดันของสังคม บรรษัทอาจทำความดีบ้างไม่มากก็น้อย

ถาม: บางครั้ง บรรษัทข้ามชาติถูกเรียกว่า "รัฐบาลโดยพฤตินัย" หรือ "วุฒิสภาเสมือน" (virtual senate) ทุกวันนี้ บรรษัทควบคุมรัฐได้ในระดับที่สำคัญไม่น้อย ทั้ง ๆ ที่รัฐน่าจะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของ "กระฎุมพีชั้นสูง" คุณคิดว่ารัฐตายแล้วหรือยัง?

ชอมสกี: เรื่องนั้นขึ้นอยู่กับสาธารณชน ผมหมายความว่า ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที รัฐก็เป็นผู้ปกป้องอำนาจของธุรกิจเอกชนเสมอมา ถ้าภาคธุรกิจไม่ครองอำนาจรัฐเสียเอง รัฐก็คอยปกป้องให้ภาคธุรกิจ มีการต่อสู้ในเรื่องนี้ต่อเนื่องมาตลอด ด้วยเหตุนี้เอง เดี๋ยวนี้เราจึงมีเสรีภาพมากกว่าสมัยก่อน ทั้งนี้ก็เพราะประชาชนต่อสู้มาเรื่อย ๆ
เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นเกือบทั่วทั้งโลกอบอวลไปด้วยบรรยากาศของประชาธิปไตยอย่างถึงรากถึงโคน ถึงขนาดเป็นบรรยากาศของการปฏิวัติด้วยซ้ำ

สงครามโลกมีผลกระทบใหญ่หลวงมาก และนโยบายหลังสงครามอันดับต้น ๆ ของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นฝ่ายชนะ ก็คือ พยายามทำลายแนวร่วมต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ นั่นคือประวัติศาสตร์หลังสงครามบทแรกในยุโรปและในญี่ปุ่น ทำลายแนวร่วมต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์และฟื้นฟูระบบสังคมแบบเก่าขึ้นมา เพียงแต่ต้องสยบยอมต่อฝ่ายชนะสงครามเท่านั้นเอง มันใช้วิธีการป่าเถื่อนในหลาย ๆ แห่ง เช่น ในกรีซ ซึ่งอังกฤษและสหรัฐฯ ฆ่าประชาชนไปถึงราว 150,000 คน แล้วเหลือไว้แต่ซากเดนที่เป็นฟาสซิสต์ รวมไปจนถึงการรัฐประหารโดยฝ่ายฟาสซิสต์ที่ครองอำนาจมาจนถึงกลางทศวรรษ 70

ในอิตาลี สหรัฐอเมริกาเข้าไปแทรกแซงทันทีเพื่อหาทางกีดกันไม่ให้เกิดระบอบประชาธิปไตยประชาชนขึ้น โดยบ่อนทำลายการเลือกตั้ง อิตาลีกลายเป็นเป้าหมายใหญ่ในกิจกรรมบ่อนทำลายของซีไอเอมาจนถึงทศวรรษที่ 1970 เป็นอย่างน้อย นี่รวมถึงการสนับสนุนการรัฐประหารของกองทัพ การก่อการร้าย ฯลฯ เรื่องแบบนี้ยังเกิดขึ้นเหมือน ๆ กันทั้งในเยอรมนี, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น ฯลฯ

ดังนั้น เป้าหมายอันดับแรกคือ รื้อฟื้นโครงสร้างพื้นฐานของสังคมเก่า บ่อนทำลายแนวร่วมต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ บดขยี้ขบวนการแรงงานประชาชน ฯลฯ แต่มันทำไม่ได้ทั้งหมดหรอก ถึงอย่างไรก็ต้องยอมให้พลังประชาธิปไตยก้าวหน้าได้มีพื้นที่บ้าง แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน ดังนั้น ในช่วงหนึ่งคุณจึงมีระบบ "รัฐสวัสดิการ" ระบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งรัฐถูกบีบให้โอนอ่อนตามข้อเรียกร้องของสังคมส่วนรวม ทำให้เกิดตลาดสังคมนิยมในยุโรป รัฐสวัสดิการในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ.....

ถาม: ...แต่ทั้งนี้เป็นเพราะประชาชน...

ชอมสกี: ใช่ ประชาชนผลักดันให้มันเกิดขึ้น และสะท้อนออกมาให้เห็นในระบบจัดการด้านการเงิน ระบบเบรตตันวู้ดส์ (Bretton Woods)ที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกานำมาใช้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีพื้นฐานอยู่บนการควบคุมเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนตายตัวในระดับหนึ่ง หลักการเหล่านี้ตั้งอยู่บนสำนึกและความเข้าใจที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า หากรัฐไม่มีสิทธิ์ควบคุมการเคลื่อนไหวของทุน เราก็ไม่สามารถมีระบอบประชาธิปไตย เพราะ "วุฒิสภาเสมือน" ของเหล่านักลงทุนและนายทุนเงินกู้ย่อมเข้าไปควบคุมนโยบายของรัฐได้ง่าย ๆ โดย...

ถาม: นั่นแหละคือประเด็นที่เราต้องการถามถึง มีการวิวาทะกันขนานใหญ่ว่า ในบางช่วงขณะ เราควรสนับสนุนให้รัฐเข้มแข็งขึ้น เพราะสิ่งที่เราได้ยินอยู่ตลอดเวลาจากบรรดานักการเมืองทุกฟากฝ่ายก็คือ: โอเค เราอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อประชาชน แต่ทำไม่ได้เพราะบรรษัทธุรกิจไม่ยอม

ชอมสกี: นั่นขึ้นอยู่กับการออกแบบ ระบบหลังสงครามโลกถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อให้รัฐสามารถควบคุมเงินทุน เพื่อป้องกันไม่ให้นักลงทุนและนายทุนเงินกู้, ธนาคารและบรรษัทธุรกิจ เข้ามาชี้นำระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างตายตัวเพื่อป้องกันการเก็งกำไร เพราะการเก็งกำไรเป็นอีกวิธีหนึ่งในการคุกคามอำนาจตัดสินใจของรัฐบาล มันเป็นเรื่องที่เข้าใจกันอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ใช่ความลับอะไรเลย ทั้งหมดนี้ออกแบบมาเพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายที่ค่อนข้างเป็นอิสระ จากการควบคุมของภาคธุรกิจ และรูปแบบนี้นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

25 ปีแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มักเรียกกันว่า "ยุคทองของทุนนิยม" มีการเติบโตที่รวดเร็วเป็นประวัติการณ์ ไม่เคยมีมาทั้งก่อนหน้าและหลังจากนั้น และเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างเท่าเทียมในระดับหนึ่งด้วย. ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมน้อยที่สุดในบรรดาประเทศมหาอำนาจ ประชากรระดับล่างสุด 20% มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าประชากรระดับสูงสุด 20% เป็นอย่างนี้เรื่อยมาจนถึงต้นทศวรรษ 70 จากนั้น พลังฝ่ายปฏิกิริยาจึงเริ่มทำลายระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบนี้ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อชนชั้นสูง

พลังปฏิกิริยาบ่อนทำลายระบบที่เอื้อให้รัฐบาลตอบสนองต่อส่วนรวมในการสร้างรัฐสวัสดิการ ขั้นแรกที่สุดคือ ยกเลิกการควบคุมเงินทุน เพราะเป็นที่เข้าใจกันดีว่า นี่คือหัวใจที่ทำให้รัฐบาลมีพื้นที่ว่างในการตัดสินนโยบายอย่างเป็นอิสระ ยกเลิกการควบคุม เปิดให้เงินตราไหลเข้าออกได้อย่างเสรี ก่อให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงินขนานใหญ่ และเรื่องอื่น ๆ อีกหลายอย่าง

อันที่จริง ถ้าคุณพิจารณาดูการออกแบบของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ทุกองค์ประกอบในนั้นล้วนแล้วแต่คิดค้นขึ้นมาเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น นั่นรวมถึงการยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนตายตัวและเปิดเสรีการไหลเข้าออกของเงินทุน โดยนิยามแล้ว การแปรรูปก็คือการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยกันตรง ๆ นั่นแหละ เพราะมันเอาการตัดสินใจทุกอย่างออกไปจากเวทีสาธารณะ

การแปรรูปสาธารณูปโภคให้ตกอยู่ในมือเอกชนคือการเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่รัฐบาลอยากทำให้ประชาชนไป เพราะฉะนั้น เมื่อคนเยอรมันพูดอย่างที่คุณบอก ใช่ ถูกต้องแล้ว เพราะมันถูกออกแบบมาเช่นนั้น ระบบถูกออกแบบมาเพื่อให้รัฐสูญเสียความสามารถในการตอบสนองต่อพลเมืองของตนเอง และถูกบีบให้ตอบสนองต่อศูนย์อำนาจของธุรกิจเอกชน

ถาม: ประเด็นก็คือ เรายังสามารถเปลี่ยนแปลงระบบได้

ชอมสกี: คุณเปลี่ยนแปลงมันได้แน่! มันเคยถูกเปลี่ยนแปลงมาแล้วในปี ค.ศ. 1945 มันไม่ใช่จุดยืนที่ถอนรากถอนโคนสักเท่าไรเลยที่จะบอกว่า เอาระบบเบรตตันวู้ดส์กลับมาใช้กันเถอะ อันที่จริง ไม่มีใครอยากเอามันกลับมาใช้หรอก นั่นเป็นเรื่องที่เข้าใจกันดี แต่ประเด็นก็คือ ใช่ มันเปลี่ยนแปลงได้แน่นอน แม้กระทั่งบรรดาบรรษัททั้งหลาย มันไม่จำเป็นต้องมีอยู่ในโลกนี้เลยก็ได้ เช่นเดียวกับระบอบทรราชย์รูปแบบใด ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมีอยู่ในโลกนี้เลย

ถาม: นี่อาจเป็นเหตุผลด้วยใช่ไหมว่า ทำไมขบวนการของ "คนงานไร้เจ้านาย" ในอาร์เจนตินา จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันที่นี่? ผมหมายความว่า ประชาชนที่นี่ไม่รู้เรื่องแบบนี้เลย ไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในสื่อกระแสหลัก

ชอมสกี: การมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยทุกรูปแบบต้องถูกปิดกั้นเอาไว้ ดังนั้น เมื่อคุณอ่านข่าวที่เอ่ยถึงสิ่งที่เรียกว่า ขบวนการ "ต่อต้านโลกาภิวัตน์" ขบวนการนี้จึงถูกบรรยายว่าเป็นเพียงผู้คนที่ชอบเอาหินขว้างใส่หน้าต่างหรืออะไรแบบนั้น เป็นพวกอันธพาลที่ชอบก่อความวุ่นวาย ถ้าคุณได้อ่านข่าวเกี่ยวกับเวทีสังคมโลก คุณจะพบว่ามันน่าสนใจทีเดียว

เวทีสังคมโลกและเวทีเศรษฐกิจโลกจัดพร้อมกัน เวทีเศรษฐกิจโลกคือพวกมหาเศรษฐีไปภัตตาคารหรูหราอะไรต่าง ๆ ส่วนเวทีสังคมโลกคือการถกเถียงถึงประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในโลกอย่างละเอียดลออกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างแอฟริกัน-บราซิล, นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ฯลฯ ถ้าคุณลองอ่านคำบรรยายในรายงานข่าว ผมอ่านมาแล้วจริง ๆ ผมเคยลองเปรียบเทียบดู …

รายงานข่าวบอกว่าเวทีเศรษฐกิจโลกเป็นการประชุมที่ลึกซึ้งของมันสมองที่สำคัญในโลก เพื่อจัดการกับปัญหาใหญ่ ๆ ส่วนเวทีสังคมโลกคือฝูงชนที่มาจัดงานคาร์นิวัลและการละเล่นรื่นเริง อันที่จริง มันถึงขนาดถูกตราหน้าว่าเป็นศูนย์กลางของลัทธิต่อต้านยิวด้วยซ้ำ ผมไม่รู้ว่าคุณได้ไปร่วมงานเวทีสังคมโลกในปี ค.ศ. 2003 หรือไม่ แต่วารสารเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศในสหรัฐฯ ฉบับหนึ่งเขียนถึงเวทีสังคมโลกว่า เต็มไปด้วยกลุ่มนิยมลัทธินาซีใหม่โบกธงสวัสดิกะ ฯลฯ

หรือลองดูตัวอย่างล่าสุด เช่น การเลือกตั้งในอิรัก ความจริง การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของฝ่ายต่อต้านที่ไม่ใช้ความรุนแรง ฝ่ายต่อต้านของประชาชนไล่ต้อนจนอังกฤษและสหรัฐอเมริกาต้องจำใจยอมรับผลการเลือกตั้ง ลองหาดูสิว่ามีนักข่าวคนไหนเขียนแบบนี้บ้างไหม ลงท้ายก็มีแต่หนังสือพิมพ์ธุรกิจที่ชี้ให้เห็นประเด็นนี้ แต่ส่วนใหญ่แล้วแทบไม่มีเลย (ชอมสกีมักพูดบ่อย ๆ ว่า หนังสือพิมพ์ธุรกิจเท่านั้นที่มักสะท้อนความเป็นจริง เพราะมันมีไว้ให้พวกชนชั้นสูงอ่าน ซึ่งคนเหล่านี้ต้องการความจริงเพื่อประโยชน์ในการลงทุน ในขณะที่สื่อกระแสหลักอื่น ๆ ซึ่งประชาชนทั่วไปเสพรับข่าวสาร มักเซ็นเซอร์หรือบิดเบือนข่าวเพื่อปั้นแต่งมติมหาชน-ผู้แปล)

ถาม: ...นั่นคือสิ่งที่หนังสือพิมพ์ Christian Science Monitor เรียกว่า "ตัวแปรซิสตานี" ในบทความชื่อ "The Sistani Factor"

ชอมสกี: ตัวแปรซิสตานี ถูกแล้ว บางครั้งนักข่าว-นักข่าวคนไหนที่มีหัวสมองติดตัวอยู่บ้างย่อมรู้เรื่องนี้ดี (หมายถึง อยาตุลเลาะห์ อาลี อัล-ซิสตานี ผู้นำทางศาสนานิกายชีอะห์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในอิรัก และเป็นผู้นำการดื้อแพ่งของประชาชนต่อกองทัพยึดครองของอเมริกัน-อังกฤษ ส่วน Christian Science Monitor จัดว่าเป็นสื่อกระแสหลักที่เขียนข่าวได้อย่างเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือมากฉบับหนึ่ง จนเป็นที่นิยมอ่านตั้งแต่ซีไอเอไปจนถึงโครงการ Project Censored หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีเว็บไซท์อยู่ที่ www.csmonitor.com/ -ผู้แปล)

ถาม: ผมเอ่ยถึงมันเพราะคุณอ้างถึงมันไว้ในบล็อกที่คุณเขียนไว้ใน ZNet

ชอมสกี: ใช่ ผมอ้างเท่าที่อ่านเจอ มีสื่ออยู่บ้างเหมือนกันที่ชี้ให้เห็นเรื่องนี้และทุกคนก็รู้กันดี แต่ข่าวกระแสหลักที่ปล่อยออกมาก็คือ อังกฤษและสหรัฐฯ อันเกรียงไกรช่วยดลบันดาลให้เกิดการเลือกตั้งสุดแสนดีงามที่นำระบอบประชาธิปไตยมาสู่อิรัก นั่นเป็นเรื่องเหลวไหลเลอะเทอะโดยสิ้นเชิง แค่มองดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็รู้แล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลบางอย่าง ผมไม่คิดว่าเป็นการเหมาะสมที่จะเรียกการเลือกตั้งในอิรักเป็น "การเลือกตั้งจัดฉาก" เหมือนอย่างที่เพื่อนผมหลายคนเรียกกัน

ถาม: ...คุณหมายความว่า อังกฤษและสหรัฐฯ ถูกบีบให้จำใจยอมรับการเลือกตั้ง

ชอมสกี: มันถูกบีบให้ยอมรับผลการเลือกตั้งที่แท้จริงไม่มากก็น้อย...

ถาม: ...แล้วคนที่บอกว่ามันเป็น "การเลือกตั้งจัดฉาก"?

ชอมสกี: มีแต่ฝ่ายซ้ายที่เรียกมันแบบนั้น สื่อกระแสหลักบอกว่ามันเป็นการเลือกตั้งสุดวิเศษ ที่ดลบันดาลให้เกิดขึ้นด้วยนิมิตเยี่ยงพระผู้ไถ่บาปของบุช ซึ่งนำพาระบอบประชาธิปไตยมาให้อิรัก มันไม่ใช่อย่างนั้น และก็ไม่ใช่ "การเลือกตั้งจัดฉาก" ด้วย มันเป็นการต่อต้านขัดขืนของประชาชนที่บีบให้ฝ่ายยึดครองต้องยอมรับผลการเลือกตั้งในระดับหนึ่ง ซึ่งตอนนี้พวกเขาก็พยายามหาทางล้มคว่ำมัน

มันค่อนข้างแตกต่างจากในเอลซัลวาดอร์หรือเวียดนาม ซึ่งมี "การเลือกตั้งจัดฉาก" เกิดขึ้นจริง ๆ โดยอำนาจรัฐ ฝ่ายยึดครองพยายามสร้างภาพความชอบธรรมของการยึดครอง นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในอิรัก นั่นเป็นประเด็นที่เห็นได้ชัดเจนเช่นกัน ถ้าคุณอ่านรายงานข่าวโดยตรงของผู้สื่อข่าวที่มีความรู้และมีประสบการณ์ที่สุด อาทิเช่น โรเบิร์ต ฟิสก์ (Robert Fisk-นักข่าวที่เชี่ยวชาญปัญหาในตะวันออกกลาง) ในอิรัก แนวร่วมของมวลชนฝ่ายต่อต้านที่ไม่ใช้ความรุนแรง คือผู้ที่ไล่ต้อนจนอำนาจฝ่ายยึดครองต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่ไม่พอใจและกำลังพยายามบ่อนทำลายมันอยู่ในขณะนี้ นี่ไม่ได้หมายความว่า มันเป็นการเลือกตั้งที่สุดวิเศษ มันไม่ใช่หรอก แต่คนละเหตุผลกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเอลซัลวาดอร์และเวียดนาม

ผมกำลังจะพูดว่า มันเป็นส่วนหนึ่งในความล้มเหลวอย่างเหลือเชื่อของการยึดครองครั้งนี้ ถ้าลองนึกถึงพรรคนาซีที่บุกยึดครองยุโรป พวกเขาเจอปัญหาขลุกขลักน้อยกว่านี้เยอะ น้อยกว่าที่กองทัพอเมริกันกำลังเผชิญอยู่ในอิรักมากนัก

ภัควดี วีระภาสพงษ์
แปลและเรียบเรียงจาก "State and Corp," Noam Chomsky interviewed by ZNet Germany, May 18, 2005.


 

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 630 เรื่อง หนากว่า 8300 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(จะมีการปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

รายงานข่าวบอกว่าเวทีเศรษฐกิจโลกเป็นการประชุมที่ลึกซึ้งของมันสมองที่สำคัญในโลก เพื่อจัดการกับปัญหาใหญ่ ๆ ส่วนเวทีสังคมโลกคือฝูงชนที่มาจัดงานคาร์นิวัลและการละเล่นรื่นเริง อันที่จริง มันถึงขนาดถูกตราหน้าว่าเป็นศูนย์กลางของลัทธิต่อต้านยิวด้วยซ้ำ... วารสารเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศในสหรัฐฯ ฉบับหนึ่งเขียนถึงเวทีสังคมโลกว่า เต็มไปด้วยกลุ่มนิยมลัทธินาซีใหม่โบกธงสวัสดิกะ ฯลฯ

ในปัจจุบัน หัวหอกของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กลายเป็นธุรกิจด้านชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ, วิศวพันธุกรรม, ยา ฯลฯ สังคมจึงต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อความรู้ในด้านนี้ รวมทั้งรับภาระความเสี่ยงภายใต้ข้ออ้างอย่างเช่น การค้นคว้าหาวิธีรักษาโรคมะเร็งหรืออะไรทำนองนั้น แต่ความจริงที่อยู่เบื้องหลังก็คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความรู้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพของภาคเอกชนในอนาคต พวกเขายินดีให้สาธารณชนเป็นคนจ่ายต้นทุนและแบกรับความเสี่ยงอยู่แล้ว หลังจากนั้นก็ผ่องถ่ายผลการค้นคว้าไปให้บรรษัทเอกชนทำกำไร ในมุมมองของ
กระฎุมพีชั้นสูง นี่คือระบบที่ดีเยี่ยมไร้ที่ติ เป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างอำนาจรัฐและอำนาจทุนเอกชน

 

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 630 เรื่อง หนากว่า 8300 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 150 บาท
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ้างอิง