ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
related topic
030848
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 630 หัวเรื่อง
อธิบายการเมืองเรื่องทางใต้
เกษียร เตชะพีระ : เขียน
รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's free article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 30,779 สูงสุด 51,792 สำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการด้านรัฐศาสตร์
เกษียรเขียนอธิบาย : การเมืองเรื่องทางใต้
รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ : เขียน
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ : รวมบทความที่เคยตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน
๑. สถานการณ์ใต้ก่อนออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
๒.
อิสลามกับการเมืองปัจจุบัน

๓. แด่มูนีร์ : สมชาย นีละไพจิตร แห่งอินโดนีเซีย


เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)





๑. สถานการณ์ใต้ก่อนออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ไม่ทันครบ 4 เดือนหลังรัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) เพื่อปรับแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้จากแบบ "ยกพลแสดงพลัง-เด็ดขาดรุนแรง" เป็นแบบ "สมานฉันท์-สันติวิธี" มากขึ้น ปรากฏว่าสถานการณ์ในพื้นที่กลับร้อนแรงและหลุดลุ่ยกระจุยกระจาย ราวจะรวบรั้งไว้ไม่อยู่

การคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ใต้ ก่อนรัฐบาลตัดสินใจออกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมีที่เด่นชัด 3 ด้านหลัก คือ:

- ความไม่เป็นเอกภาพด้านแนวนโยบายและการขาดประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ราชการ
- การก่อความไม่สงบไต่ระดับสูงขึ้น และ
- การก่อตัวของกองกำลังติดอาวุธชาวบ้าน

ผมขออภิปรายไปทีละด้านดังนี้

1) ความไม่เป็นเอกภาพด้านแนวนโยบายและการขาดประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ราชการ
ภายใต้แรงกดดันของกลุ่มพลังการเมืองล้อมรอบทั้งภาครัฐและประชาสังคม, ภายในและภายนอกประเทศ รัฐบาลเลือกทางออกแบบสะดวกดาย ที่ปล่อยให้ฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ ต่างฝ่ายต่างเดินแนวทางสายเหยี่ยว กับ สายพิราบ ที่ขัดแย้งไม่ลงรอยคู่ขนานกันไปเองในเวลาเดียวกัน

การณ์จึงปรากฏว่า กอส.เดินไปทาง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เห็นต่างจาก กอส. ก็เดินดุ่ยไปอีกทาง งานการเมืองที่น่าจะเปิดฉากรุกต่อขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดน และการก่อการร้ายภาครัฐ(ที่ส่งผลโอละพ่อไล่คนเข้าป่าตามเกมของผู้ก่อการร้าย) โดยระดมพลังประชาสังคมอันแตกต่างหลากหลายในพื้นที่ให้แสดงตนออกมาครองกระแสหลักไว้ จึงกลับทำได้แค่ครึ่งๆ กลางๆ

ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ความจริงยังไม่มี ความยุติธรรมไม่ปรากฏ ทั้งคดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร, คดีการปราบใหญ่ 28 เมษายน ศกก่อนที่มัสยิดกรือเซะและอำเภอสะบ้าย้อย, คดีม็อบตากใบ ฯลฯลฯ แล้วยังมาซ้ำเติมด้วยกรณีจ่อยิงอุสตาซ 3 คนด้วยอาวุธเก็บเสียงขณะละหมาดตอนหัวค่ำคาบ้านพัก ในอำเภอเมืองปัตตานี พร้อมเก็บกวาดหัวกระสุนไปเรียบร้อยอย่างมีเงื่อนงำเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนศกนี้อีกเล่า

ยังไม่ต้องพูดถึงการแสดงทรรศนะวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ใต้, เสนอมาตรการแก้ไขรับมือและการปฏิบัติงานภาคสนามที่แตกต่างขัดแย้งกันเป็นระยะๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ อาทิ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทย, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, รัฐมนตรีกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, รัฐมนตรีศึกษาธิการ, รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ, รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์, นายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่, สมาชิก กอส.บางคน เป็นต้น

เจ้าหน้าที่ราชการโดยเฉพาะด้านความมั่นคง ปราบปราม ปกครอง ในพื้นที่ขาดประสิทธิภาพอย่างน่ามหัศจรรย์ใจ กล่าวคือทั้งที่มีอำนาจพิเศษตามกฎอัยการศึกมากกว่าพื้นที่อื่นของประเทศ แต่กลับปฏิบัติงานล้มเหลวในการสืบหาจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ถึง 85% ของคดีที่เกิดขึ้น นับแต่เริ่มความไม่สงบระลอกใหม่เมื่อศกก่อนเป็นต้นมา

ในทางกลับกัน อำนาจเพิ่มพิเศษที่ได้ไปแต่ใช้ไม่เป็นผลนั้นกลับถูกเจ้าหน้าที่บางรายบิดเบือนฉวยใช้ไปในทางมิชอบ(ABUSES OF POWER) กระทั่งเอาไปอุ้มฆ่า ทรมาน ทำทารุณกรรมต่อผู้ต้องสงสัยในลักษณะการก่อการร้ายภาครัฐ(STATE TERRORISM) โดยส่วนใหญ่ไม่มีผู้ต้องรับผิด(IMMUNITY) จนประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับความยุติธรรมยิ่งแปลกแยก หวาดระแวง ไม่ไว้ใจและไม่ใคร่ร่วมมือกับทางราชการอีกเล่า

ในสภาพเช่นนี้เองที่ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน กอส. และอดีตนายกฯ กล่าวฝากด้วยความห่วงใยถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการบรรยายที่กรมประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ศกนี้ว่า:

"นโยบายที่รัฐบาลใช้มาเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง เป็นที่ประจักษ์ว่า นโยบายไม่สัมฤทธิผล ยิ่งปราบก็ยิ่งหนัก เข้ากับสุภาษิตที่ว่า "ฆ่าโจร 1 คน ได้โจร 2 คนมาแทน"

"ที่สะบ้าย้อย เด็กที่เป็นนักฟุตบอล เท่าที่ทราบมาว่าเป็นเด็กดี ตายไปสิบกว่าคน พยานและหลักฐานก็ระบุว่าถูกจับให้นอนคว่ำแล้วเอาปืนยิง เอกสารรายงานกรือเซะและตากใบที่รัฐบาลเปิดเผย อ่านดูก็เกิดความเป็นห่วงว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตัวอย่างไร เห็นคนเป็นสัตว์หรืออย่างไร ไม่ให้ความเคารพนับถืออย่างมนุษย์ทั่วไปหรืออย่างไร ไม่ใช่วัวใช่ควายนะ ที่จะโยนขึ้นบนกระบะรถ แล้วใครรับผิดชอบบ้างก็ไม่มี

"คนที่ถูกอุ้มหายไป คนในพื้นที่เริ่มสงสัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณสั่งหรือไม่ ซึ่งก็บอกนายกรัฐมนตรีว่า ถ้าไม่ให้ความกระจ่างเรื่องดังกล่าว เรื่องนี้จะถึงตัวนายกรัฐมนตรีแน่ เพราะเท่าที่คุยกับครอบครัวที่เป็นเหยื่อ เขาต้องการรู้ความจริง

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะ 2 ปี มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 2,000 กว่าราย แต่ไม่แน่ชัดว่าเกี่ยวพันกับอะไรกันแน่ ทางราชการบอกว่าเกี่ยวกับการขัดแย้งทางผลประโยชน์ การขัดแย้งส่วนตัว และเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทั่วไป สองปีที่ผ่านมาจับคนร้ายไม่ได้ จับได้แต่ผู้บริสุทธิ์มา จับมาแล้วก็ต้องปล่อยแล้วอ้างว่าคนร้ายหนีข้ามประเทศไปแล้ว ส่วนเหตุการณ์อื่นที่เกิดขึ้นอีก 73 จังหวัด จับคนร้ายได้ นอกจากคดีนักการเมือง และอาชญากรรมทั่วไป แต่ 3 จังหวัดภาคใต้กลับจับคนร้ายไม่ได้ คำถามที่เกิดขึ้นคือ หรือเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐและมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

"ขณะนี้ เขาไม่เชื่อรัฐบาล ไม่เชื่อคุณทักษิณ เขาไม่ไว้ใจ เขาระแวง เขาบอกว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไม่จริงใจกับเขา เจ้าหน้าที่ของรัฐมีเอี่ยวในเรื่องธุรกิจการค้า ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด ลักของเถื่อน

"อยากเห็นนายกรัฐมนตรีลงไปดูพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง ปัญหารุนแรงมากขึ้น แต่ไม่ต้องถึงกับหวาดกลัวมาก และขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังมีอยู่เสมอ ตราบใดที่ใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง ทำผิดกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ทางด้านนโยบาย ไม่คำถึงถึงสิทธิมนุษยชน สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องออกมาแสดงความจริงใจในการใช้สันติวิธี แก้ปัญหา ไม่ใช่เอาแต่พูด ต้องแน่ใจว่าทั้งขบวนการเดินไปในทิศทางเดียวกัน"

"ที่น่าเป็นห่วงอยู่ในปัจจุบันคือเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดต้องแน่ใจว่าทุกหน่วยงานของรัฐบาลใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา"
(เรียบเรียงจาก "อานันท์" ชี้ใต้หนักจี้นายกฯลง พท.", มติชนรายวัน, 7 ก.ค. 2548, น.1; "ความจริงไฟใต้ จากปาก "อานันท์ ปันยารชุน", เว็บไซต์ประชาไท, 12 ก.ค. 2548)

2) การก่อความไม่สงบไต่ระดับสูงขึ้น
เห็นชัดว่าระยะที่ผ่านมา ผู้ก่อการตอบโต้มาตรการรุกทางการเมืองโดยตั้ง กอส. ของฝ่ายรัฐบาล ด้วยการขยายขอบเขต เพิ่มความถี่และไต่ระดับความรุนแรงของการก่อความไม่สงบยิ่งขึ้น มีการใช้อาวุธสงครามและจัดตั้งดำเนินการโจมตีอย่างมีแบบแผนมากขึ้นกว่าเดิม อาทิ วางระเบิดสนามบินและศูนย์การค้าหาดใหญ่, ฆ่าปาดคอ-ตัดศีรษะชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่เฉลี่ยเดือนละ 2 รายหรือ 13 รายนับแต่ต้นปีนี้, สังหารผู้อำนวยการโรงเรียนหญิงคนแรก, และล่าสุดประสานการโจมตีและก่อวินาศกรรมทั่วเมืองยะลา 20 จุดคือวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา

สัญลักษณ์ของการฆ่า 13 รายที่จงใจฉวยใช้ประโยชน์ทางจิตวิทยา(สร้างความกลัว) และการเมือง(ท้าทายอำนาจลงทัณฑ์ผูกขาดของรัฐ) จากศพผู้ตายสูงสุด, ลักษณะการโจมตีที่ต้องการท้าทายให้เป็นข่าวเด่นที่สุดเหล่านี้ ส่อแสดงเป้าหมายที่จะยั่วยุรัฐบาลให้โกรธจนขาดสติแล้วตอบโต้รุนแรง(Chaiwat Satha-anand, "The Trap of Violence", Bangkok Post, 5 July 2005)

และสะท้อนความพยายามพัฒนาการก่อความไม่สงบและการก่อการร้ายที่ผ่านมา ให้กลายเป็นการก่อการกำเริบเต็มรูปแบบ(full-scale insurgency)

3) การก่อตัวของกองกำลังติดอาวุธชาวบ้าน
เนื่องจากการขาดเอกภาพและประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยแก่ชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อของการก่อการร้ายอย่างทั่วถึง ท่ามกลางกระแสปฏิบัติการฆ่ารายวันโดยผู้ก่อการ บางหน่วยงานบางสถาบันจึงเริ่มจัดตั้ง ฝึกฝนและติดอาวุธประจำกายให้แก่ชาวบ้านชายแดนภาคใต้ เพื่อป้องกันตนเองจากผู้ก่อการ โดยเฉพาะในหมู่บ้านและศาสนสถานของชนส่วนน้อยในพื้นที่ ซึ่งมักตกเป็นเป้าหมาย

พัฒนาการนี้สะท้อนความลักลั่นไม่สม่ำเสมอด้านแนวทางนโยบายที่เกิดขึ้น ภายใต้ร่มทุนทางการเมืองวัฒนธรรมตามประเพณี ที่กางครอบเป็นเกราะกำบังไว้จากแนวการบริหารจัดการที่ขึ้นชื่อว่า รวมศูนย์ของรัฐบาลส่วนกลาง. ใต้ร่มเงาดังกล่าวนี้เองที่บางหน่วยงานสามารถปฏิบัติแนวทางรักษาความมั่นคงแห่งชาติเฉพาะตัว ซึ่งไม่แน่ว่าจะสอดคล้องต้องตรงกับส่วนกลางหรือหน่วยงานอื่นๆ เช่น กอส.เสมอไป

นอกจากนี้ อัตราเสี่ยงก็มีอยู่สูงว่า อาวุธที่หลุดจากมือรัฐไปอยู่ในมือชาวบ้านจะหลงพลัดหลุดไปอยู่ในมือใครคนอื่นต่อหรือไม่ เช่นผู้ก่อการ?

ปลายกระบอกปืนจะหันไปถูกทิศทางที่กำหนดแน่นอนเสมอไปไหม?
จะมีมาตรการกำกับควบคุม รักษา เรียกคืนและปลดอาวุธอย่างไร?

ภารกิจจะจำกัดแต่ป้องกันตนเองหรือขยายไปสู่เชิงรุกในทำนอง pre-emptive strike แบบของประธานาธิบดีบุชหรือเปล่า หากแม้นหน่วยงานรับผิดชอบจัดหา "บัญชีดำ" ผู้ต้องสงสัยที่ทำเอาไว้มาให้? ทั้งหมดนั้นจะทำให้ชายแดนภาคใต้กลายเป็น "แดนไร้รัฐ" ดังที่นิธิ เอียวศรีวงศ์วิตกวิจารณ์หรือฉันใด?
(มติชนรายวัน, 11 ก.ค. 2548, น.6; และ Rungrawee C. Pinyorat, "Beheadings, arming of Buddhists raising tensions in Thailand"s Muslim-dominated south", Associated Press, 3 July 2005)

ในสภาพสถานการณ์ชายแดนใต้เช่นนี้ คำถามที่น่าตั้ง ต่อพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนพิจารณาเนื้อหาในรายละเอียดอย่างอื่นก็คือ:-

การรวมศูนย์อำนาจเด็ดขาดชนิดที่ไม่เคยมีนายกฯ จากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญคนใดของไทยเคยได้มาก่อน ตามบทกำหนดของพระราชกำหนดนี้...

-จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นเอกภาพด้านแนวนโยบาย และขาดประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้หรือไม่? อย่างไร?

-จะยับยั้งการไต่ระดับสูงขึ้นของการก่อความไม่สงบ ไปสู่การก่อการกำเริบเต็มรูปแบบได้หรือไม่? อย่างไร?

-จะกำกับควบคุมกองกำลังติดอาวุธชาวบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้ลุกลามปามจนเกิดสภาพไร้รัฐ-อนาธิปไตย-ภาวะธรรมชาติที่ทุกคนสามารถลุกขึ้นทำสงครามกับทุกคนได้หรือไม่? อย่างไร?

-จะมีมาตรการและหลักประกันใดว่าพระราชกำหนดฉบับนี้ จะไม่เป็นการฟอกล้างการฉวยใช้อำนาจในทางมิชอบ และการก่อการร้ายภาครัฐในเขตประกาศภาวะฉุกเฉินให้กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายในทางปฏิบัติไป(LEGALIZATION OF ABUSES OF POWER & STATE TERRORISM)?

ด้วยอำนาจรวมศูนย์เด็ดขาดที่รวบรัดเอาไปจากประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบเบ็ดเสร็จต่อการตอบคำถามเหล่านี้!


๒. "อิสลามกับการเมืองปัจจุบัน"
ในนามของพระเป็นเจ้าผู้ทรงเมตตาการุณ ขอสันติสุขจงมีแด่นักรบผู้คึกคักเข้มแข็งไม่ระย่อ พระนบีมุฮัมมัด ขอสันติสุขของพระผู้เป็นเจ้าจงมีแด่ท่าน"

"ดูก่อนชาติอิสลามและชาติอาหรับ จงปีติยินดีเถิดด้วยบัดนี้ถึงเวลาแก้แค้นรัฐบาลของพวกนักรบครูเสดไซออนิสต์ชาวอังกฤษ เพื่อตอบโต้การสังหารหมู่ที่อังกฤษกำลังกระทำในอิรักและอัฟกานิสถานแล้ว นักรบมูจาฮีดีนผู้วีระอาจหาญ ได้ดำเนินการจู่โจมอันได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้าในกรุงลอนดอน อังกฤษกำลังลุกไหม้ด้วยความหวาดหวั่น สยดสยองและตื่นกลัวทั้งในภาคเหนือ ใต้ ตะวันออกและตะวันตกของมัน"

"เราได้เคยเตือนรัฐบาลและประชาชนชาวอังกฤษครั้งแล้วครั้งเล่า บัดนี้เราได้ทำตามคำสัญญาของเราและดำเนินการจู่โจมทางทหารอันได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้าในอังกฤษ หลังจากนักรบมูจาฮีดีนของเราได้พากเพียรพยายามอย่างยิ่งยวดอยู่ยาวนาน เพื่อประกันความสำเร็จของการจู่โจมนี้"

"เราขอเตือนรัฐบาลเดนมาร์กและอิตาลี รวมทั้งรัฐบาลนักรบครูเสดทั้งปวงต่อไปว่า พวกมันจะถูกลงโทษแบบเดียวกันหากไม่ถอนกองทหารออกมาจากอิรักและอัฟกานิสถานเสีย ก็แลผู้เอ่ยปากเตือนแล้วย่อมมิมีโทษผิด"

พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า "เจ้าผู้เชื่อทั้งหลาย หากเจ้าช่วยอัลลอฮ์ พระองค์ก็จะช่วยเจ้า และให้เท้าของเจ้ายืนหยั่งมั่นคง"
คำแถลงอ้างความรับผิดชอบต่อระเบิดก่อการร้ายกรุงลอนดอน
กลุ่มองค์การลับอัลเคด้าแห่งองค์การญิฮาดในยุโรป
7 กรกฎาคม ค.ศ.2005

"...ผมยินดีต้อนรับคำแถลงที่เผยแพร่โดยสภามุสลิม(ของอังกฤษ) ผู้ทราบว่าคนพวกนั้นกระทำการในนามของอิสลาม ทว่าก็ทราบดีด้วยว่าชาวมุสลิมส่วนข้างมากอันมหาศาลท่วมท้น ทั้งที่นี่และต่างแดนล้วนเป็นสาธุชน ผู้เคารพกฎหมาย และทุเรศรังเกียจปฏิบัติการก่อการร้ายนี้มากเท่าเราทุกประการ"
คำแถลงของนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ของอังกฤษ
ณ ทำเนียบถนนดาวนิ่ง หลังเกิดเหตุระเบิดก่อการร้ายกรุงลอนดอน
7 กรกฎาคม ค.ศ.2005

ศาสตราจารย์เอ็กเมเล็ดดิน อิห์ซาโนกลู ชาวตุรกี เลขาธิการองค์การการประชุมอิสลามหรือ OIC - Organization of Islamic Conference ได้รายงานต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศจาก 57 ประเทศของโอไอซี ครั้งที่ 32 ณ ประเทศเยเมน เมื่อปลายเดือนมิถุนายนศกนี้ เกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้ของไทยว่า "ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางศาสนา" ระหว่างอิสลามกับพุทธ ทั้งนี้เป็นไปตามรายงานยาว 10 หน้า ของคณะผู้แทน 6 คน นำโดยเอกอัครราชทูตกาเซ็ม เอลมาสรี ที่ถูกเลขาธิการโอไอซี ส่งมาหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ในเมืองไทยเป็นเวลา 11 วัน เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งยืนยันว่า "ศาสนาไม่ใช่เหตุแห่งความขัดแย้งในภาคใต้"
(มติชนรายวัน, 1 ก.ค. 2548; Achara Ashayagachat, "An internal issue of keen interest to outsiders",
Bangkok Post, 5 July 2005)

ข้อสรุปนี้ตรงกับความเห็นของนักวิเคราะห์วิจารณ์และเพื่อนชาวมลายูมุสลิม ที่ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนและสื่อมวลชนหลายคนในพื้นที่ ซึ่งยืนกรานเป็นเสียงเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ปัญหาภาคใต้ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางศาสนา ไม่ควรนำเข้ามาเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ เพราะจะทำให้ไขว้เขว ควรจะเคลียร์เรื่องนี้ออกไปให้พ้นการพยายามเข้าใจความขัดแย้งในภาคใต้เลยทีเดียว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมไม่แน่ใจ.... คือผมเห็นด้วยนะครับว่า สถานการณ์ที่เราเผชิญในภาคใต้ทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของการที่ประชาชนลุกขึ้นมาแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และขัดแย้งต่อสู้ฆ่าฟันกันเพราะความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกัน แบบที่เราพบเห็นเนืองๆ ในบางประเทศ อาทิ ระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมในอินเดีย เป็นต้น

มันไม่ใช่เรื่องว่าชาวมุสลิมต่อต้านพุทธศาสนาก็เลยพาลเกลียดชาวพุทธ หรือชาวพุทธคัดค้านศาสนาอิสลามก็เลยพาลไม่ชอบชาวมุสลิมอะไรทำนองนั้น เพราะเอาเข้าจริงความสัมพันธ์แนวระนาบในระดับชาวบ้านระหว่างชุมชนไทยพุทธกับชุมชนมลายูมุสลิม ก็ดำเนินมาอย่างสงบสันติด้วยดีเป็นเวลานานในพื้นที่ภาคใต้ของเรา

มูลเหตุของปัญหาขัดแย้งและความรุนแรงที่แท้จริงเป็นเรื่องความสัมพันธ์แนวดิ่งระหว่าง

- อำนาจรัฐรวมศูนย์จากส่วนกลางที่พูดภาษาไทย และเน้นให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธ VS ชาวบ้านมลายูมุสลิมผู้ไร้อำนาจในระบบ

- ลัทธิชาตินิยมและความเป็นไทยอันคับแคบ ตามอุดมคติของทางราชการ VS ความเป็นจริงทางศาสนา-ภาษา-ชาติพันธุ์-วัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลายในพื้นที่

- และการแย่งชิงกันใช้ทรัพยากรธรรมชาติระหว่างกลุ่มทุน-ธุรกิจ อิทธิพลและหน่วยงานรัฐบาล VS ชุมชนท้องถิ่นต่างหาก

ที่กล่าวมานั้น - หากยืมภาษาทฤษฎีความไม่รุนแรงของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มาพูด - นับเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง(structural violence) อันส่งผลให้เกิด -> ความรุนแรงทางตรง(direct violence) ที่คนลุกขึ้นมาลงมือก่อการร้ายฆ่าฟันคนด้วยกัน


อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์รุนแรงชายแดนภาคใต้รอบปัจจุบัน ยังมีอีกมิติหนึ่งแง่มุมหนึ่งของความรุนแรงที่ปรากฏเด่นชัดกว่าในอดีต นั่นคือ ความรุนแรงทางวัฒนธรรม(cultural violence) หรือนัยหนึ่ง "เงื่อนไขทางความคิด-ความเชื่อที่ให้ความชอบธรรมกับความรุนแรง" โดยใช้หลักความเชื่อทางศาสนาตามการตีความแบบหนึ่ง มาเป็นเครื่องมือในทางการเมือง เพื่อปลุกระดมให้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐอย่างเข้มข้นชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน

ผู้ก่อการภาคใต้ ได้ฆ่าคนและสู้ตายให้เราเห็นประจักษ์ในการลุกขึ้นสู้อำนาจรัฐ ด้วยการโจมตีที่ตั้งเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ 11 จุด เมื่อวันที่ 28 เมษายนศกก่อนและครั้งต่อๆ มา ทั้งนี้พวกเขาบางส่วนกระทำไปด้วยความเชื่อมั่น(certitude) บนพื้นฐานศาสนาอิสลามที่พวกเขาตีความแบบหนึ่ง

จากประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะที่เคยจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลเผด็จการในอดีตมา ผมเข้าใจว่าคนที่ทำเช่นนั้น คือ กล้าเอาชีวิตคนอื่นและยอมพลีชีพตัวเองนั้น จะสงสัยหรือไม่เชื่อไม่ได้และต้องเชื่อมั่นอย่างไม่มีข้อติดใจลังเลพะวงสงสัยแม้แต่น้อยด้วย - เพราะถ้าสงสัยเมื่อไร มือไม้จะอ่อนทันที จะไม่กล้าเสี่ยงตาย จะฆ่าคนอื่นไม่ลง และเป็นไปได้ที่จะวางมีดวางปืนถ้ามีทางออกให้

ในความหมายนี้ ที่การต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ล่มสลายลงเมื่อ 20 ปีก่อน จึงมิใช่เพียงเพราะนโยบายการเมืองนำการทหาร ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 และ 65/25 สมัยนายกฯพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เท่านั้น แต่ยังเพราะนิตยสารข่าวไทยนิกรของฝ่ายซ้ายในเมืองที่ถูกฝ่าย พคท. ตราหน้าว่าเป็น "ลัทธิแก้-สายโซเวียต-สายปฏิรูปหรือปฏิวัติประชาธิปไตย" ซึ่งผลิตส่งเข้าไปในป่า ให้สหายนักศึกษาปัญญาชนส่งต่อกันอ่านแพร่หลายออกไป จนค่อยๆ เกิดคำถามกับแนวทางปฏิวัติ พคท. ที่ตนเคยเชื่อมั่น เริ่มสงสัย ปั่นป่วน วางปืนและเลิกรบกับรัฐบาลในที่สุด

คำถามต่อสถานการณ์รุนแรงภาคใต้ปัจจุบัน โดยอิงประสบการณ์จากอดีตก็คือ:-

นอกเหนือจากจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย เพื่อปฏิรูปการเมืองภาคใต้ให้มีอิสระในการปกครองตนเองในระบอบเสรีประชาธิปไตยตามมาตรา 282 จนถึง 290 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 อย่างแท้จริง และอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว,

จะทำให้ผู้ก่อการสงสัยอย่างไร? เรารู้ไหมว่าพวกเขาอ่านอะไร? ในภาษาอะไร - ไทยหรือมลายู? จะผลิตและส่ง "นิตยสารไทยนิกร" ฉบับภาษามลายูไปให้พวกเขาอ่านได้อย่างไร? หรือจะสื่อสารถึงพวกเขาด้วยสื่อประเภทใด? อย่างไร?

ความจำเป็นที่จะต้องหยิบยกมิติแง่มุมเรื่องศาสนา ของความขัดแย้งรุนแรงในสถานการณ์ภาคใต้ขึ้นมาพูดคุยถกเถียงกัน จึงเกิดขึ้นจากความเป็นจริงที่อยู่นอกเหนือเจตจำนงประสงค์ของคนหนึ่งคนใด กล่าวคือ ในโลกปัจจุบันอิสลามได้กลายเป็นภาษาร่วมของผู้ถูกกดขี่ข่มเหง ที่ใช้มาทำความเข้าใจ อรรถาธิบายให้ความชอบธรรมแก่การลุกขึ้นต่อสู้เผด็จการ และจักรวรรดินิยมในชุมชนมุสลิมมากมายหลายแห่งทั่วโลก แทนลัทธิคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็นไปแล้ว,

ทว่าในขณะเดียวกัน อิสลามก็กลายเป็นภาษาที่ถูกใช้ให้ความชอบธรรมแก่การก่อการร้าย และรัฐศาสนาเทวาธิปไตยด้วย

ดังคำแถลงข่าวของเชคยุซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ ประธานสหภาพนักปราชญ์มุสลิมนานาชาติชาวอียิปต์ ที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งด้านหนึ่งท่านกล่าววิพากษ์วิจารณ์การก่อการร้ายต่อผู้บริสุทธิ์ในนามของอิสลาม แต่ขณะเดียวกันก็ยืนกรานความชอบธรรมทางศาสนาในการต่อสู้รุกรานว่า:

"...อิสลามห้ามในการฆ่าประชาชนที่บริสุทธิ์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม..."
"ศาสนาได้กำหนดให้ต่อต้านในการฉุดคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ เพราะเพียงแค่ระแวงสงสัยเท่านั้น"
"มุสลิมห้ามในการลักพาตัวบุคคลที่บริสุทธิ์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม"

"ฉันกล่าวว่า อิสลามไม่มีวันที่จะทำลายชนชาติใดๆ หรือขับไล่ผู้คนออกจากดินแดนของพวกเขา หรือบังคับให้พวกเขาเปลี่ยนศาสนาหรือวัฒนธรรมของพวกเขา" เพราะท่านศาสดามุฮัมมัดศ็อลลัลอฮุอะ ลัยฮิวะ สัลลัม ให้เกียรติชนชาติอื่นเสมอ และทำการรักษาเลือดชีวิตและเนื้อของพวกเขา"

"การต่อสู้กับอเมริกาผู้รุกรานอิรักเป็นสิ่งจำเป็น ฉันต่อต้านชาติที่รุกรานประเทศอื่น โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม ฉันขอกล่าวว่า การต่อสู้กับอเมริกาผู้รุกรานเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งได้การรับรองโดยศาสนาแห่งฟากฟ้า และการยอมรับจากนานาชาติ"
อ้างใน อ.อับดุชชะกุร์ บินชาฟีอีย์ดินอะ(อับดุลสุโก ดินอะ)
"ทรรศนะอิสลามต่อการฆ่าปาดคอผู้บริสุทธิ์ในภาคใต้และอิรัก"
มติชนรายวัน, 30 มิ.ย. 2548, น.6


แต่เราควรจะพูดคุยถกเถียงประเด็นอันละเอียดอ่อนแต่สำคัญยิ่งนี้กันอย่างไร?

พูดแบบทึกทักสันนิษฐานว่า มีสัจธรรมที่ถูกต้องถ่องแท้เพียงฉบับเดียว ไม่ว่าของฝ่ายผู้ก่อการ(ญิฮาดเดอปาตานี) หรือฝ่ายทางการ(คำชี้แจงสำนักจุฬาราชมนตรี)? หรือแบบเปิดปลายให้มีการตีความเชิงวิพากษ์วิจารณ์(ijtihad) ได้หลายๆ แบบ ให้หลากหลาย ให้เลือก ให้สงสัยกว้างขวางออกไป?

๓. "แด่มูนีร์ : สมชาย นีละไพจิตร แห่งอินโดนีเซีย"
"สิทธิมนุษยชนในความหมายความสมานฉันท์ในหมู่มวลมนุษย์ ได้สร้างภาษาใหม่ที่เป็นสากลและเสมอภาคอันข้ามพ้นพรมแดนทางเชื้อชาติ, เพศสภาพ, ชาติพันธุ์หรือศาสนาขึ้นมา นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเราถือมันเป็นทางเข้าประตูสู่การสนทนา สำหรับผู้คนจากทุกกลุ่มเศรษฐกิจ สังคม และอุดมการณ์"
มูนีร์ ซาอิด ธาลิบ

ปี 2547 ที่แล้วมา นับเป็นปีแห่งโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของวงการผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนในเอเชียอาคเนย์ เพราะไม่เพียงแต่ประเทศไทยจะสูญเสีย ทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอุ้มสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยตราบเท่าทุกวันนี้เท่านั้น หากอินโดนีเซียอันเป็นเพื่อนบ้านของเรา ก็ได้สูญเสีย ทนายมูนีร์ ซาอิด ธาลิบ นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชั้นนำของประเทศ ไปในทำนองคล้ายกันด้วย

คำนิยามเปรียบเทียบมูนีร์ ซาอิด ธาลิบ ที่กระชับชัดถึงแก่นที่สุดสำหรับการรับรู้ของสังคมไทยน่าจะเป็นว่า เขาคือสมชาย นีละไพจิตร(ในแง่บทบาทผลงานในประเทศ)+สุลักษณ์ ศิวรักษ์(ในแง่ฐานะชื่อเสียงต่างประเทศ) ของอินโดนีเซียนั่นเอง!

มูนีร์ (ชื่อของเขาแปลว่า "แสงสว่าง" ในภาษาพื้นเมือง) เกิดเมื่อปี ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) ปีเดียวกับที่นายพลซูฮาร์โต เริ่มกระบวนการยึดอำนาจและสถาปนาระบอบเผด็จการกดขี่ภายใต้ภาษาใต้ฉายา "ระเบียบใหม่" โดยตัวเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดของการกวาดล้างฆ่าหมู่ "คอมมิวนิสต์" ทั่วอินโดนีเซีย ราว 5 แสนคน

เขาเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยบราวิจายา หลังเรียนจบ เขาเข้าร่วมงาน มูลนิธิให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายของอินโดนีเซีย (YLBHI) ในปี ค.ศ.1989 โดยเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายแก่เหยื่อความรุนแรงและกดขี่ของรัฐ ในเมืองสุราบายา ทางตะวันออกของเกาะชวา

มูนีร์ขยับขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายประจำเมืองเซามารัง ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าปฏิบัติการภาคสนามของมูลนิธิ ที่จาการ์ตา นับแต่ปี ค.ศ.1996 เรื่อยมา

มูนีร์เริ่มโดดเด่นเป็นที่รู้จักของสาธารณชนอินโดนีเซีย ช่วงปลายสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต ในฐานะแกนนำรณรงค์ประท้วงกรณีนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยร่วม 20 กว่าคน ถูกลักพาตัวหายสาบสูญไปอย่างน่าสงสัยตอนปลายปี ค.ศ.1997 ต่อต้นปี ค.ศ.1998

เมื่อการรณรงค์ดังกล่าวขึ้นสู่กระแสสูง เขาก็ก่อตั้งองค์การสิทธิมนุษยชน คอนตราส(Kontras) ขึ้น หรือในชื่อเต็มว่า คณะการมาธิการเพื่อกรณีผู้สูญหายและเหยื่อความรุนแรง โดยมีเอ็นจีโอประชาธิปไตย 12 องค์กร รวมทั้งมูลนิธิ YLBHI สนับสนุน. เขารับเป็นผู้ประสานงานคณะทำงานของคอนตราสในระยะแรก และประธานคณะกรรมการจัดการองค์การนี้ในเวลาต่อมา

พร้อมกับการล่มสลายของระบอบซูฮาร์โต ความตื่นตัวด้านเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยนในอินโดนีเซีย ทำให้เห็นชัดว่า จำต้องขุดรากถอนโคนมรดกวัฒนธรรมการเมืองแห่งความรุนแรง การฉวยใช้อำนาจในทางมิชอบ และคอร์รัปชั่นที่เผด็จการแพร่ทิ้งไว้ และหยั่งรากลุกลามเรื้อรังในรัฐและสังคม โดยการผลักดันของมูนีร์ คอนตราสจึงรวมศูนย์เคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องความรุนแรงทางการเมือง ส่งเสริมให้เคารพกระบวนการที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย หาหลักประกันให้เหยื่อความรุนแรงได้ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ และสนับสนุนความสมานฉันท์และสันติภาพ

คอนตราส ตีพิมพ์นิตยสารออกเผยแพร่รายงานเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น และจัดตั้งสำนักงานโครงการกระจายไปในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ. คอนตราสยังร่วมกับมูลนิธิ YLBHI พัฒนาสื่อสาธารณะเพื่อให้การศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านรายการวิทยุด้วย ผลงานเหล่านี้ทำให้คอนตราสได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชน Yap Thiam Hien อันทรงเกียรติคุณในปี ค.ศ.1998

นอกจากคอนตราสแล้ว ต่อมามูนีร์ก็ได้ร่วมกับเพื่อนมิตร 16 คน ก่อตั้งกลุ่มเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนอีกองค์กรหนึ่งชื่อ อิมพาร์เซียล(Imparsial) ในปี ค.ศ.2002

กระบวนการลงประชามติเรื่องเอกราชของติมอร์ตะวันออก และถอดถอนอำนาจยึดครองของทหารอินโดนีเซียเหนือเกาะนั้นนำไปสู่เหตุนองเลือดรุนแรงครั้งใหญ่ต่อหน้าสายตาสื่อมวลชนและชาวโลกอีก สืบเนื่องจากเหตุดังกล่าว คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในติมอร์ตะวันออก(KPPHAM)ขึ้น โดยมูนีร์ร่วมเป็นสมาชิกคนหนึ่ง

เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.1999 คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ค้นพบหลักฐานจำนวนมากที่แสดงชัดว่ากองทัพอินโดนีเซียเข้าไปพัวพันกับการรับสมัคร ให้เงินทุนหนุนหลังฝึกอบรมและสั่งการบรรดากองกำลังอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ก่อจลาจลรุนแรงในติมอร์ตะวันออก ช่วงลงประชามติเรื่องเอกราช ภายใต้การอำนวยการของสหประชาชาติ

รายงานของคณะกรรมาธิการเมื่อต้นปี ค.ศ.2000 นำไปสู่การสอบสวนพฤติกรรมนายทหารบกชั้นผู้ใหญ่ 6 นาย รวมทั้งอดีตเสนาธิการทหารบก พลเอกวิรันโต. อย่างไรก็ตาม อัยการของรัฐไม่ยอมเอาผิดนายทหารหรือตำรวจคนใดในข้อหาก่ออาชญากรรมด้านสิทธิมนุษยชน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ ซึ่งระบุชื่อเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไว้ในรายงาน

มูนีร์ยังได้รับแต่งตั้งให้ร่วมคณะกรรมการยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนที่เสนอต่อรัฐสภาอินโดนีเซียในปี ค.ศ.2000 ด้วย. มูนีร์ได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมายรับเป็นทนายว่าความแก้ต่างให้นักเคลื่อนไหวรณรงค์สิทธิมนุษยชนหลายคน ในคดีที่ขึ้นสู่ศาล อีกทั้งเป็นตัวแทนรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิประโยชน์ของชนชาติส่วนน้อยหลายกลุ่ม ทั่วหมู่เกาะต่างๆ ของอินโดนีเซีย

เขายังรับสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนในการฝึกอบรม สัมมนา และประชุมเชิงปฏิบัติการของทหารตำรวจอินโดนีเซียมากมายหลายครั้ง เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื้อรังที่เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยประวัติผลงานอันโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ดังกล่าวมา ชื่อเสียงของมูนีร์จึงขจรขจายออกไป และได้รับยกย่องเกียรติคุณอย่างสูงทั้งในและระหว่างประเทศทั้งที่อายุยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ ดังปรากฏว่าในวาระย่างสหัสวรรษใหม่ ค.ศ.2000 ปีเดียว UMMAT อันเป็นวารสารมุสลิมชั้นนำในอินโดนีเซีย ได้ยกย่องเขาเป็น "บุคคลแห่งปี"

นิตยสาร Asia Week เลือกเขาเป็นหนึ่งในบรรดา "ผู้นำวัยเยาว์สำหรับสหัสวรรษในเอเชีย"

และท้ายที่สุดมูนีร์ก็ได้รับรางวัล Right Livelihood Award ของปีนั้น พร้อมคำนิยมว่า เพื่อเป็นเกียรติแก่ "ความกล้าหาญและเสียสละของเขา ในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และการให้พลเรือนมีอำนาจควบคุมทหารในอินโดนีเซีย"

(อนึ่ง รางวัล Right Livelihood Award มักถือว่าเป็นรางวัลโนเบลทางเลือกสำหรับผู้อุทิศตนแก่ภารกิจก้าวหน้าภาคประชาชน ดังที่นางวันทนา ศิวะ แห่งอินเดีย ได้รับในปี ค.ศ.1993 เคนซาโร-วิวา แห่งไนจีเรีย ได้รับในปี ค.ศ.1994 ก่อนจะถูกประหารชีวิตอย่างอยุติธรรมในปีถัดมา และอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้รับในปี ค.ศ.1995 เพื่อเป็นเกียรติแก่ "วิสัยทัศน์และความยึดมั่นของเขาต่ออนาคตที่หยั่งรากอยู่ในประชาธิปไตย, ความยุติธรรมและบูรณาการทางวัฒนธรรม")

ในทางกลับกัน การยืนหยัดต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อเลิกรา เพื่อเปิดโปงการใช้อำนาจโดยมิชอบและคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและทหารอินโดนีเซีย ก็ทำให้มูนีร์มีศัตรูไม่น้อย และตัวเขาเองกับครอบครัว มักตกเป็นเป้าของการรังควานคุกคามอยู่เสมอ และถึงขั้นขู่เอาชีวิตก็หลายครั้ง

แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุร้ายจะเกิดขึ้นกับเขาในวาระโอกาสและลักษณะอย่างนั้นเลย

เย็นวันที่ 6 กันยายน ค.ศ.2004 มูนีร์ขึ้นเครื่องของสายการบิน Garuda เที่ยวบินที่ 974 ออกเดินทางจากจาการ์ตาไปอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อศึกษาต่อด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยยูเทร็คท์ ตามที่ได้ทุนการศึกษามา

หลังเครื่องออกไม่นาน จู่ๆ เขาก็เกิดป่วยหนักกะทันหัน มีอาการท้องเสียรุนแรง และอาเจียนเป็นพักๆ นายแพทย์คนหนึ่งที่เดินทางไปในเที่ยวบินเดียวกันพยายามรักษาเขา แต่ก็ช่วยไว้ไม่ได้

วันที่ 7 กันยายน ก่อนเครื่องบินจะถึงสนามบินในกรุงอัมสเตอร์ดัมเพียงเล็กน้อย มูนีร์ก็ถึงแก่ความตาย ในช่วงป่วยหนักอยู่บนเครื่องบินนั้นเอง มูนีร์ได้ฝืนส่งข้อความ SMS ผ่านโทรศัพท์มือถือไปถึงนางสุจิวาตี ผู้เป็นภรรยาครั้งสุดท้ายก่อนตายว่า เขาถูกวางยาพิษในอาหาร!

สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เนเธอร์แลนด์ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ได้ผ่าตัดชันสูตรศพมูนีร์และตรวจพบว่าเขาตายเพราะพิษของสาร arsenic ปกติแล้วคนธรรมดาหากรับสาร arsenic เข้าไปในร่างกายเกิน 200 มิลลิกรัม ก็ถือว่าอันตรายถึงชีวิตแล้ว. ทว่าในกรณีมูนีร์ เขามีสาร arsenic ที่ไม่ถูกย่อยตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารถึงกว่า 460 มิลลิกรัม! สำหรับคนรูปร่างเล็กบางอย่างเขา เมื่อโดนพิษมากขนาดนั้นย่อมไม่มีทางรอดเลย

ข้อสรุปทั้งในและนอกอินโดนีเซียจากพยานหลักฐานที่ประจักษ์ชัดมิอาจเป็นอื่นไปได้ นอกจากมูนีร์ถูกฆาตกรรมทางการเมืองบนเครื่องบินของทางการอินโดนีเซียด้วยการวางยาพิษ! แต่ใครคือฆาตกร? ใครคือผู้บงการ? ด้วยมูลเหตุจูงใจและวิธีการอย่างไร? ใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ? จะทวงถามความยุติธรรมและความจริงให้แก่การตายของมูนีร์ได้อย่างไร?

จากวันนั้นจวบวันนี้ ยังไม่มีคำตอบจากรัฐบาลหรือตำรวจอินโดนีเซียแต่อย่างใด การสืบสวนสอบสวนถูกถ่วงล่าช้าออกไปด้วยข้ออ้างต่างๆ ที่ฟังไม่ขึ้น

ขณะเดียวกัน นางสุจิวาตี ภรรยาม่ายของมูนีร์ กลับได้รับห่อพัสดุทางไปรษณีย์บรรจุซากไก่ที่ถูกตัดหัวทิ้งพร้อมข้อความว่า "อย่าเอากองทัพอินโดนีเซียไปโยงกับการตายของมูนีร์ อยากจะลงเอยแบบนี้รึไง?"

อีกนั่นแหละ โดยแก่นแท้แล้วมันก็อีหรอบเดียวกับคดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร มิใช่หรือ?


 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 620 เรื่อง หนากว่า 8200 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

ดูก่อนชาติอิสลามและชาติอาหรับ จงปีติยินดีเถิดด้วยบัดนี้ถึงเวลาแก้แค้นรัฐบาลของพวกนักรบครูเสดไซออนิสต์ชาวอังกฤษ เพื่อตอบโต้การสังหารหมู่ที่อังกฤษกำลังกระทำในอิรักและอัฟกานิสถานแล้ว นักรบมูจาฮีดีนผู้วีระอาจหาญ ได้ดำเนินการจู่โจมอันได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้าในกรุงลอนดอน อังกฤษกำลังลุกไหม้ด้วยความหวาดหวั่น สยดสยองและตื่นกลัวทั้งในภาคเหนือ ใต้ ตะวันออกและตะวันตกของมัน"

"...อิสลามห้ามในการฆ่าประชาชนที่บริสุทธิ์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม..." "ศาสนาได้กำหนดให้ต่อต้านในการฉุดคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ เพราะเพียงแค่ระแวงสงสัยเท่านั้น" "มุสลิมห้ามในการลักพาตัวบุคคลที่บริสุทธิ์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม" "ฉันกล่าวว่า อิสลามไม่มีวันที่จะทำลายชนชาติใดๆ หรือขับไล่ผู้คนออกจากดินแดนของพวกเขา หรือบังคับให้พวกเขาเปลี่ยนศาสนาหรือวัฒนธรรมของพวกเขา" เพราะท่านศาสดามุฮัมมัดศ็อลลัลอฮุอะ ลัยฮิวะ สัลลัม ให้เกียรติชนชาติอื่นเสมอ และทำการรักษาเลือดชีวิตและเนื้อของพวกเขา" "การต่อสู้กับอเมริกาผู้รุกรานอิรักเป็นสิ่งจำเป็น ฉันต่อต้านชาติที่รุกรานประเทศอื่น โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม..." อับดุชชะกุร์ บินชาฟีอีย์ดินอะ

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ้างอิง