บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 615 หัวเรื่อง
ทำความเข้าใจการเมืองไทย
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The
Midnight 's free article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รัฐศาสตร์ไทยร่วมสมัย
การเมืองไทยที่ต้องทำความเข้าใจให้กระจ่าง
ศ.ดร.
นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ : รวมบทความทางการเมืองที่เคยตีพิมพ์แล้ว ของ
อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์
๑. แดนไร้รัฐ ๒. ประชารัฐ และ ราชอาณาจักร ๓. หนีทัพ ๔.รัฐธรรมนูญไม่ใช่ประตูสู่ปฏิรูปการเมือง
รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)
1. แดนไร้รัฐ
โดยดำริของกระทรวงศึกษาฯและโดยอนุวัตรของกระทรวงมหาดไทย
บัดนี้ครูในสามจังหวัดภาคใต้ได้รับอนุญาตให้มีใบพกพาอาวุธปืน ในขณะที่สามารถซื้อปืนได้ในราคากระบอกละ
4,500 บาท แถมยังอาจผ่อนส่งได้ในระยะยาวด้วย สำหรับครูที่มีรายได้น้อย
หากการอำนวยความปลอดภัยแก่พลเมือง คือการอนุญาตให้พกอาวุธร้ายแรงเช่นปืน ยังมีคนในสามจังหวัดภาคใต้อีกมากที่ควรได้รับสิทธิอันนี้ เช่นเจ้าของสวนผลไม้, แรงงานรับจ้างกรีดยาง, ผู้ที่โดยตำแหน่งหน้าที่อาจถูกถือว่าเป็นคนของรัฐ นับตั้งแต่กำนันผู้ใหญ่บ้าน ไปจนถึงยามโรงพยาบาล นักเรียนในโรงเรียนของพวก"ซีแย" ไปจนถึงคนขายไอติม แม้แต่โต๊ะครูและโต๊ะอิหม่ามบางราย ยังถูกจดหมายขู่ว่าจะถูกทำร้ายหากให้ความร่วมมือกับรัฐ
และว่ากันไปแล้ว ทั้งประเทศไทย มีคนที่ควรพกปืนไว้ป้องกันตัวเกือบทุกคน เช่น สาวที่อยากสวมเสื้อสายเดี่ยวหรือเกาะอก ก็ควรคาดเข็มขัดปืนให้เห็นๆ ไปพร้อมกัน เด็กสี่ขวบในดงคนงานก่อสร้าง หรือหญิงชราอายุ 70 ซึ่งต้องอยู่คนเดียวในบ้านพัก ฯลฯ
อันที่จริง สิทธิในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของตนเองนั้นเป็นสิทธิพื้นฐาน หรือพูดแบบจอห์น ล้อค เป็นสิทธิตามธรรมชาติ คือทุกคนมีมาตั้งแต่เกิด เพราะเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ที่ไม่ต้องรอให้ร่างรัฐธรรมนูญเสียก่อนจึงเกิดสิทธินี้ขึ้นได้ ระบบกฎหมายโดยทั่วไปยอมรับสิทธินี้ เช่นในกฎหมายไทย หากพิสูจน์ได้ว่าการกระทำอันสมแก่เหตุนั้นเป็นไปเพื่อป้องกันชีวิตและความปลอดภัยของตนเอง ก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นตามกฎหมาย แม้เป็นผลให้ผู้อื่นเสียชีวิตก็ตาม
ในสังคมที่ได้รับมรดกจากเคาบอยอย่างหนักเช่นอเมริกัน สิทธินี้ถูกแปรไปเป็นสิทธิการถืออาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญอเมริกัน และแม้จะทำให้สังคมอเมริกันเป็นสังคมแห่งความรุนแรงอย่างบ้าเลือดสักเพียงไร ก็ยังไม่สามารถยกเลิกสิทธินี้ได้
อย่างไรก็ตาม ในสังคมอื่นๆ โดยส่วนใหญ่ทั้งโลก สิทธิธรรมชาตินี้ถูกเพิกถอนไปทั้งหมดหรือบางส่วน เช่นในประเทศไทย การที่เราต้องขออนุญาตครอบครองอาวุธปืนจากทางการ ก็หมายความว่าสิทธินี้ไม่มีต่อไปอีกแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของบ้านเมืองว่า มีความจำเป็นและความเหมาะสมหรือไม่ที่จะได้รับอนุญาตให้ครอบครองหรือพกพาอาวุธร้ายแรง เช่น ปืน
ว่ากันโดยหลักการ เมื่อเราพร้อมใจกันออกมาจากรัฐธรรมชาติ เข้ามาอยู่ร่วมกันในรัฐการเมือง เราต่างยอมสละสิทธิธรรมชาติข้อนี้เป็นส่วนใหญ่ให้แก่รัฐ เพื่อให้รัฐทำหน้าที่นี้แทนเรา และข้อใหญ่ใจความของการที่เราเข้ามาอยู่ในรัฐการเมือง ก็เพราะเราต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั่นเอง รัฐการเมืองสามารถให้สิ่งนี้แก่เราได้ โดยไม่จำเป็นต้องเล่นกล้าม, ฝึกยิงปืน, หรือกลายเป็นพนม ยีรัม อย่างที่ทุกคนต้องเป็นในรัฐธรรมชาติ ในรัฐการเมืองเท่านั้นที่ชีวิตจะว่างพอสำหรับแต่งเพลงดีๆ และฟังเพลงดีๆ ได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คืออารยธรรมเกิดได้ในรัฐการเมืองเท่านั้น
ฉะนั้น รัฐที่ไม่สามารถทำหน้าที่พื้นฐานนี้ได้ กลับติดอาวุธร้ายแรงเช่น ปืน ให้พลเมืองเพื่อดูแลความปลอดภัยของชีวิตเอาเอง ย่อมหมายความว่ารัฐการเมืองนั้นล้มละลาย ปิดกิจการ และปล่อยทุกคนกลับคืนไปอยู่ในรัฐธรรมชาติตามเดิม
ถ้าอย่างนั้น ต้องกลับมาถามว่า พฤติกรรมโหดร้ายป่าเถื่อนที่กลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้กระทำอยู่เวลานี้ จะเป็นความผิดได้อย่างไร ในรัฐธรรมชาติ เราต่างมีเสรีภาพที่จะใช้วิธีการทุกอย่างเท่าที่อยู่ในความสามารถตามธรรมชาติของเรา เพื่อบรรลุเป้าหมายที่เราต้องการไม่ใช่หรือ?
ว่ากันในทางผลของการปฏิบัติ การยกสิทธิธรรมชาติในการรักษาความปลอดภัยของชีวิตแก่รัฐ มีประสิทธิภาพกว่าการรักษาเอาไว้เอง มีประสิทธิภาพกว่า แปลว่าทำให้ชีวิตของแต่ละคนปลอดภัยกว่า
ไม่ว่าจะติดอาวุธประจำกายแค่ไหนก็ตาม หากบุคคลนั้นถูกจ้องทำร้าย ก็ยากที่จะป้องกันตัวเองไว้ได้ ไม่อย่างนั้นตำรวจทหารคงไม่ถูกลอบทำร้ายอย่างที่ผ่านมาแล้ว อย่าลืมว่าผู้จ้องทำร้ายเป็นฝ่ายเลือกโอกาสและจังหวะ ไม่ใช่ผู้ถูกลอบทำร้ายซึ่งต้องดำเนินชีวิตตามปกติของตนเป็นธรรมดา
ถึงครูจะได้รับการฝึกยิงปืนจากทหาร (ตามคำสัมภาษณ์ของ รมต.กลาโหม) แต่ผู้ลอบทำร้ายย่อมเลือกโอกาสและจังหวะที่ครูไม่สามารถใช้อาวุธนั้นป้องกันตัวได้ ยิ่งไปกว่านี้ ยิ่งรู้ว่าตัวไม่ได้เป็นฝ่ายเลือกโอกาสและจังหวะในเสี้ยววินาทีเอง คำถามก็คือยิงก่อน (pre-emptive strike-อย่างที่อเมริกันทำกับอิรัก) ได้ไหม? ท่ามกลางความหวาดระแวงอย่างหนักในพื้นที่ทุกวันนี้ คนพกปืนทุกคนย่อมเลือกขอเป็นฝ่ายยิงก่อน
ใกล้เคียงเท็กซัสในหนังฮอลลีวู้ดไปทุกที และหากครูเป็นฝ่ายยิงก่อน โดยค้นไม่พบอาวุธของผู้ถูกยิงเลย ตำรวจจะทำคดีอย่างไร?
ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายก่อความไม่สงบยังมีเหตุที่พึงทำร้ายครูเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง นอกจากทำให้เกิดความตระหนกกลัวแล้ว ยังได้อาวุธปืนพกไว้ใช้ปฏิบัติการเพิ่มอีกหนึ่งกระบอก ปืนจึงยิ่งลดระดับความปลอดภัยของครูลง ทั้งนี้มิได้หมายความว่า เราไม่มีทางเพิ่มความปลอดภัยแก่ครูในสามจังหวัดภาคใต้เลย และควรปล่อยให้ครูเผชิญชะตากรรมเอาเอง
แต่เหตุใดจึงไปคิดว่าปืนคือความปลอดภัย ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของแฟนหนังเคาบอย ตัวเลขจากในทุกสังคมพบว่า การกระจายปืน โดยเฉพาะปืนพกในหมู่พลเมืองทำให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลง แม้ในสภาพจลาจลอย่างที่สามจังหวัดภาคใต้เผชิญอยู่ ปืนก็ไม่ทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ในระยะยาวแล้วปืนกลับจะไปตกอยู่ในมือคนที่ทำร้ายสังคมมากกว่าอยู่ในมือสุจริตชน
จะโดยวิธีใดก็ตาม รัฐต้องให้ความปลอดภัยแก่ครู (และแก่คนอื่นๆ ทุกฝ่ายที่ถูกทำร้ายอยู่ในเวลานี้ ไม่ว่าจะถูกทำร้ายโดยฝ่ายใดโดยขาดความเป็นธรรม) แม้ต้องทุ่มเทงบประมาณและกำลังคนไปเท่าไรก็ตาม หากมาตรการคุ้มครองครูอย่างที่ตำรวจและทหารใช้อยู่เวลานี้ไม่ได้ผล ก็ต้องปรับแก้และปรับปรุงจนกว่าจะได้ผล เป้าหมายสำคัญในการปฏิบัติการของรัฐก็คือ นำเอาชีวิตปกติสุขกลับคืนมาให้แก่ผู้คนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่แจกอาวุธให้เฉพาะคนที่ตัวไว้วางใจ แล้วต่างคนต่างไป ตัวใครตัวมัน
ในอีกด้านหนึ่ง ครูและผู้บริหารโรงเรียน(รวมไปถึงกระทรวงศึกษาฯ)ต้องร่วมกันคิดให้ดีว่า มีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่ครูด้วยวิธีอื่นอีกหรือไม่ เช่นการสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างโรงเรียนและบ้าน การเร่งสร้างบ้านพักครูในโรงเรียนหรือในชุมชนใกล้เคียง (เพื่อลดการเดินทาง และสะดวกแก่การอำนวยความปลอดภัยของฝ่ายเจ้าหน้าที่) การทำให้ครูมีบทบาทร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ฯลฯ
ถ้าความปลอดภัยในชีวิตเกิดขึ้นได้จากปืนเพียงอย่างเดียว ยังเหลือรัฐไทยไว้ให้รักษาบุรณภาพอีกหรือ
2. ประชารัฐ และ ราชอาณาจักร
ท่านนายกรัฐมนตรีวิจารณ์เพลงชาติไทยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เนื้อเพลงที่บอกว่าไทยเป็น
"ประชารัฐ" นั้น ขัดกับความเป็น "ราชอาณาจักร" ของไทย
เลยไม่รู้ว่าจะเลือกเป็นอย่างไหนกันแน่ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยผู้นำประเทศ
เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก
"ประชารัฐ" คืออะไร? แปลอย่างตรงไปตรงมาคือ รัฐที่เป็นของประชาชน ตรงตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้น(2475) และฉบับนี้ว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย"
อันนี้เป็นหลักการสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามาตราอื่นๆ เช่น "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ" หรือ "ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอันไม่อาจแบ่งแยกได้" อะไรทำนองนี้ เพราะเป็นการกำหนดพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน ตลอดจนสถานะแห่งความเป็นรัฐของไทย
พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นและฉบับนี้(อันที่จริงเกือบทุกฉบับ) ประกาศเงื่อนไขสำคัญว่า ชาติไทยนั้นจะดำรงอยู่ได้ก็ต้องเป็นประชาธิปไตย ความเป็นชาติกับความเป็นประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกันอันไม่อาจแยกออกจากกันได้
และอย่างที่ทราบกันทั่วไปอยู่แล้วว่า หลักการข้อนี้ไม่เคยมีใครยกมากล่าว ไม่มีกฎหมายออกมาคุ้มครองหลักการข้อนี้เหมือนหลักการข้ออื่น ตลอดจนผู้ที่ละเมิดหลักการข้อนี้ ล้วนไม่เคยได้รับโทษทัณฑ์ใดๆ นอกจากนี้ไม่ถูกสอนในบทเรียนว่าด้วยเรื่องชาติในโรงเรียน และทุกครั้งที่มีการปลุกเร้า "ชาตินิยม" กันทางสื่อ ก็ไม่พูดถึงมิติประชาธิปไตยของชาติ ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้
รัฐอย่างนี้แหละครับคือ "ประชารัฐ" ซึ่งถ้าจะใช้คำที่คนไทยปัจจุบันคุ้นเคยกว่าก็คือ "ประชาชาติ" นั่นเอง ทั้งสองคำล้วนเป็นศัพท์บัญญัติ เพื่อให้ตรงกับคำว่า Nation ในภาษาอังกฤษ . ขอให้สังเกตด้วยว่าผู้บัญญัติศัพท์ทั้งสองคำนี้ มีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า Nation ต้องหมายถึงประชาชนเสมอ. "ชาติ" เฉยๆ แบบที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ ร.6 ไม่ใช่ "ประชารัฐ" หรือ "ประชาชาติ"
คำถามก็คือ ก่อนหน้าที่จะมี "ประชารัฐ" เราต่างอยู่ในรัฐที่ไม่ได้เป็นของประชาชนดอกหรือ? คำตอบคือ เราไม่ได้อยู่ในรัฐที่เป็นของประชาชนหรอก ในยุโรป ผู้คนอาศัยอยู่ในรัฐศักดินา ความเป็นเจ้าของรัฐถูกแบ่งกันระหว่างชนชั้นสูงระดับต่างๆ ส่วนคนไทยนั้นมีชีวิตอยู่ในรัฐที่องค์ปิตุราชย์เป็นเจ้าของทุกอย่างในรัฐ เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า "รัฐราชสมบัติ" (Patrimonial State) นั่นคือทุกอย่างในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ หรือทรัพยากรทางวัฒนธรรม จนแม้แต่ชีวิตทุกชีวิต ก็ล้วนเป็น "ราชสมบัติ" ขององค์ปิตุราชย์ทั้งหมด จะนำไปใช้อย่างใดก็ได้ทั้งสิ้น
การปฏิวัติในวันที่ 24 มิ.ย.2475 คือการเปลี่ยนแปลงรัฐจากรัฐราชสมบัติให้กลายเป็นประชารัฐ(หรือประชาชาติ) และทำให้ไม่มีวันอื่นใดในรอบปีจะเหมาะสมเป็น "วัน(ประชา)ชาติ" ได้เท่าวันนี้
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของประชาชนไทยมีความเคารพศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้ตัดสินใจกันตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว(อันที่จริงตั้งแต่ก่อนหน้าจะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยซ้ำ) ที่จะทำให้ "ประชารัฐ" ไทยมีลักษณะเป็น "ราชอาณาจักร" นั่นก็คือเป็น "ประชารัฐ" ที่มีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์ แม้จะเกิดความผันผวนทางการเมืองหลังจากนั้นมาอีกหลายครั้ง แต่การตัดสินใจจะเป็น "ราชอาณาจักร" ก็ไม่เคยถูกตั้งคำถามหรือข้อสงสัยใดๆ ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า สถานะความเป็น "ราชอาณาจักร" ของไทยมีความมั่นคงอย่างยิ่ง และอาจจะยิ่งกว่าความเป็น "ประชารัฐ" ด้วยซ้ำ
ในโลกนี้มี "ประชารัฐ" ที่เป็น "ราชอาณาจักร" อยู่มากมาย เช่น สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น, เนเธอร์แลนด์, สวีเดน ฯลฯ ไม่มีอะไรขัดแย้งกันระหว่างสถานะทั้งสอง
ความรู้สึกว่าสถานะทั้งสองอาจขัดแย้งกันได้ เป็นผลผลิตของระบบการเมืองและการศึกษาในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะตลอดเวลาที่มีการทำลาย "ประชารัฐ" ไทยลง ทั้งทางตรงและทางอ้อม นับตั้งแต่ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา มีการตีความ "ราชอาณาจักร" ให้กลายเป็น"รัฐราชสมบัติ"ตลอดมา
ผู้ก่อการรัฐประหารและยึดอำนาจเด็ดขาดไว้ในมือของกลุ่มตนเอง ต่างอ้างเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นความชอบธรรมในการเผด็จอำนาจไว้ในมือ ฉะนั้นจึงตีความ "ราชอาณาจักร" ให้เท่ากันกับ "รัฐราชสมบัติ" ประหนึ่งว่าประเทศไทยหรือแม้แต่ชีวิตคนไทยทั้งหมดเป็นราชสมบัติที่เผด็จการได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาจัดการอย่างเด็ดขาดแต่ผู้เดียว
โรงเรียนหรือระบบการศึกษาทั้งหมด ซึ่งรับใช้อำนาจมาอย่างเคยชินเสียแล้ว ก็แปรผันบิดเบือนความเป็น "ราชอาณาจักร" ของไทยให้เกิดความสับสนกับ "รัฐราชสมบัติ" จนคนไทยโดยเฉพาะที่ผ่านการศึกษาในระบบมามากๆ แยกไม่ออกระหว่าง "ราชอาณาจักร" กับ "รัฐราชสมบัติ" และอาจพาลไปคิดว่า "ประชารัฐ" กับ "ราชอาณาจักร" จะอยู่คู่เคียงกันไม่ได้
ท่านนายกรัฐมนตรีอาจเป็นหนึ่งในผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการศึกษาไทยดังกล่าว แต่ถึงจะเป็นเหยื่อก็เป็นเหยื่อที่ไม่บริสุทธิ์ใจเท่าไรนัก เพราะท่านนายกฯชอบอ้างเสมอว่า พรรคของท่านได้รับเลือกตั้งจากประชาชนมาด้วยคะแนนเสียง 14 ล้านเสียงบ้าง 18 ล้านเสียงบ้าง เสียงของประชาชนจะเป็นความชอบธรรมของอำนาจได้อย่างไร ถ้าเราต่างอยู่ใน "รัฐราชสมบัติ" ความโปรดปรานและความไว้วางพระราชหฤทัยส่วนพระองค์ขององค์ปิตุราชย์ต่างหาก ที่เป็นความชอบธรรมอันแท้จริง
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ท่านนายกรัฐมนตรีรู้ดีว่า ความชอบธรรมทางอำนาจของตนนั้นมาจากความเป็น "ประชารัฐ" อย่างปฏิเสธไม่ได้ และด้วยเหตุดังนั้นความเป็น "ราชอาณาจักร" ของไทยจึงไม่กระทบต่อความเป็น "ประชารัฐ" แต่อย่างใด
ทีอย่างนั้นเข้าใจ แล้วเหตุใดจึงไม่อาจเข้าใจเพลงชาติได้เล่า
อันที่จริงเพลงชาติไทยนั้นเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์มามากแล้ว นับตั้งแต่ท่วงทำนองที่ไม่สง่างาม เพราะแปลงมาจากเพลงเด็กฝรั่งคือ Twinkle Twinkle Little Stars หรือที่เอาทำนองมาสอนเด็กท่องอักษร A B C D (นักวิชาการทางดนตรีบางคนคิดว่า ผู้แต่งคือพระเจนดุริยางค์แต่งแบบ "ประชด" ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นด้วยซ้ำ เพราะโดยส่วนตัวแล้วท่านไม่อยากแต่ง) ด้านเนื้อร้องมีผู้วิจารณ์ว่า "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย" ทำให้ความหมายของ "ประชารัฐ" ผิดไปหมด เพราะ "ประชารัฐ" ที่แท้จริงย่อมไม่ให้อภิสิทธิ์แก่เชื้อชาติอันใดอันหนึ่ง ความผิดพลาดในแนวคิดอย่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของความอยุติธรรมที่กระทำแก่ชนส่วนน้อยทั่วพระราชอาณาจักร รวมทั้งคนชาติพันธุ์ไทยที่จน ซึ่งเป็นชนส่วนน้อยอีกพวกหนึ่ง
นอกจากนี้น่าสังเกตว่า ตลอดเนื้อเพลงชาติไม่พูดถึงสิทธิเสรีภาพของพลเมืองไทยเลยสักคำเดียว เหตุใดเราจึงควร "สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี" ถ้าชาติไม่ผดุงคุณค่าที่เราเห็นว่ามีความสำคัญต่อชีวิตของเราไว้อย่างมั่นคง เพราะมีชาติเราจึงมีเสรีภาพ ทั้งจากการกดขี่บีฑาของไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน และการกดขี่บีฑาของคนไทยด้วยกันเองด้วย นี่แหละคือ "ประชารัฐ" ที่แท้จริง
ไม่ว่าท่านนายกฯจะบริสุทธิ์ใจกับคำวิจารณ์เนื้อเพลงชาติหรือไม่อย่างไรก็ตาม ความสับสนระหว่าง "ราชอาณาจักร" กับ "รัฐราชสมบัติ" มีนัยะสำคัญต่ออนาคตทางการเมืองของไทยเองอย่างมาก
ใน พ.ศ.2475 คณะราษฎรพูดถึง "รัฐราชสมบัติ" ว่าล้าสมัย ไม่อาจดำรงอยู่ในโลกได้อีกต่อไป โดยยกตัวอย่างอบิสสิเนีย(เอธิโอเปีย) ซึ่งปัจจุบันนี้ "รัฐราชสมบัติ" นั้นก็ได้ล่มสลายไปนานแล้ว ระบอบ "รัฐราชสมบัติ" ที่ยังเหลือรอดอยู่ต่างถูกคุกคามอย่างหนักจากภายใน และใครๆ ก็คาดการณ์ได้ทั้งนั้นว่าจะไม่อาจดำรงอยู่พ้นพุทธศตวรรษนี้ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเนปาล, ซาอุดีอาระเบีย, จอร์แดน, หรือแม้แต่ประเทศที่ใกล้บ้านเราอย่างบรูไน ปัญหามีอยู่แต่เพียงว่าระบอบ "รัฐราชสมบัติ" เหล่านี้จะถึงกาลสิ้นสุดในลักษณาการใดเท่านั้น
ความเป็น "ราชอาณาจักร" ของไทยจะมั่นคงยืนยงอยู่ตลอดไปได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่าจะสละละทิ้งความเป็น "รัฐราชสมบัติ" ไปได้มากน้อยเพียงไร เพื่อผสานเป็นเนื้อเดียวกันกับ "ประชารัฐ" ไทยอย่างแยกออกจากกันไม่ได้
3. หนีทัพ
ก่อนหน้าที่ ร.5 ทรงสร้างกองทัพสมัยใหม่ขึ้น พระเจ้าแผ่นดินไทยไม่เคยมีกองทัพประจำการ
จะรบกับใครเมื่อไหร่จึงเกณฑ์ชาวนาเข้ามารวมกันเป็นทัพ. ในสมัยนั้น การ "หนีทัพ"
ดูเป็นเรื่องปกติอยู่พอสมควร เพราะไม่มีชาวนาในสังคมอะไร อยากจากไร่นาของตัวไปรบให้แก่นาย
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นชาวนา ไม่ได้เป็นนักรบ
หลักฐานเรื่องการหนีทัพมีปรากฏอยู่เยอะแยะ ไม่ใช่หนีกันเป็นรายปลีกๆ แต่ละบุคคลเท่านั้น แต่หัวเมืองบางเมืองยกหนีไปทั้งกองเลยก็มี และส่วนใหญ่ก็ติดตามได้ยาก เพราะอยู่หน้าศึกอย่างนั้น จะส่งกำลังไปตามย่อมไม่สะดวก
เมื่อเกิดเป็นปกติอย่างนี้ ผมออกจะรู้สึกว่าโทษทัณฑ์ก็ไม่รุนแรงเท่าไรนัก คือถ้าตามกวาดต้อนกลับมาได้ ตัวนายอาจได้รับโทษถึงตาย แต่ตัวไพร่ก็ถูกจับกลับมาประจำในกองทัพอีกเท่านั้น ทั้งนี้ ยกเว้นการหนีทัพหรือแตกทัพต่อหน้าข้าศึก เพราะส่งผลให้กองทัพทั้งหมดเสียกำลังใจ โทษทัณฑ์ก็อาจแรงขึ้น ดังเช่นที่ ฟานฟลีต วิลันดา ที่เข้ามาสมัยอยุธยาเล่าว่า สมเด็จพระนเรศวรสั่งประหารด้วยการเผาทิ้งทั้งกองก็มี
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การหนีทัพเป็นส่วนหนึ่งของเกมส์ที่ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันดี หนีได้ก็หนีไป แต่ถ้าหนีไม่ได้ก็ต้องไปรบตามที่ถูกเกณฑ์
กองทัพประจำการหรือกองทัพสมัยใหม่นี่ต่างหาก ที่ทำให้การหนีทัพเป็นเรื่องใหญ่ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ผมคิดว่าต้องเข้าใจธรรมชาติของกองทัพสมัยใหม่บางประการ
1. เรื่องแรกก็คือ กองทัพสมัยใหม่ทำงานเหมือนเครื่องจักร คือต้องประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จึงจะได้ชัยชนะ รุกตรงไหน รับตรงไหน ถอยตรงไหนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรบที่ครอบคลุมสนามรบทั้งสาม แม้ว่าสนามนั้นจะใหญ่กว่าหนึ่งทวีปก็ตาม
ในกองทัพสมัยใหม่จึงไม่มีปัจเจก เหมือนกับน็อตหรือฟันเฟืองของเครื่องจักร แม้เป็นชิ้นต่างหากจากกัน แต่ต้องไม่มีความเป็นปัจเจกเหลืออยู่ ต้องถูกกลืนหายไปเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรเท่านั้น เครื่องจักรจึงทำงานได้
2. และด้วยเหตุดังนั้นจึงมาถึงธรรมชาติอย่างที่สองของกองทัพสมัยใหม่ ได้แก่ความเป็นศัตรูกับปัจเจก สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างทหารให้แก่กองทัพ คือทำให้เขาหมดความเป็นปัจเจกลงไป ไม่แต่เพียงทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดเท่านั้น แต่รวมถึงต้องคิดและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของอะไรที่ใหญ่กว่าตัวเขา นับตั้งแต่หมู่, หมวด, กอง, ไปจนถึงกองทัพที่เขาสังกัดอยู่
3. ธรรมชาติอย่างที่สามของกองทัพสมัยใหม่ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญที่สุดก็คือ กองทัพสมัยใหม่เป็นกองทัพของ "ชาติ" ไม่ใช่กองทัพของนาย ฝ่ายตรงข้ามที่ตัวไปรบด้วย จึงเป็นศัตรูของตัวโดยตรง ไม่ใช่ศัตรูของนายฝ่ายเดียว ตัวไม่เกี่ยว เหมือนกองทัพชาวนาสมัยโบราณ (พระราชพงศาวดารเรียกสงครามในสมัยก่อนว่า "ราชกรีฑา")
และด้วยเหตุดังนี้แหละครับ ที่ทำให้การหนีทัพกลายเป็นความผิดร้ายแรง เพราะการหนีทัพย่อมเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของปัจเจก ต้องคิดและรู้สึกแบบปัจเจกเสียก่อนจึงตัดสินใจอย่างนั้นได้ อีกทั้งยังใช้ความคิดแบบปัจเจกในการวินิจฉัยว่าอะไรคือศัตรูของตัว อะไรไม่ใช่. พูดได้ว่าเป็นการบ่อนทำลายรากฐานของกองทัพสมัยใหม่ลงโดยสิ้นเชิง
ทุกอย่างฟังดูก็ลงตัวได้ในที่สุด อย่างน้อยกองทัพประจำการสมัยใหม่ก็มีอายุมานานนับศตวรรษแล้ว แต่ไม่ง่ายอย่างนั้นหรอกครับ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมในโลกทำให้หลักการของกองทัพสมัยใหม่อย่างที่กล่าวแล้ว ต้องเผชิญปัญหาและการท้าทายหลายด้านมากขึ้นตลอดมา
หนึ่งในปัญหาที่รู้กันอยู่แล้วก็คือ หลักการของกองทัพสมัยใหม่ ดังที่กล่าวนี้ทำให้การรบแบบกองโจรไม่ได้ หรือได้ไม่ดี เพราะนักรบกองโจรต้องตัดสินใจเองมากกว่าการรบในแบบมาก จึงต้องรักษาความเป็นปัจเจกของเขาไว้ แล้วพัฒนาให้กลายเป็นปัจเจกที่ "เก่ง" ไม่ใช่ทำลายปัจเจกภาพไปเลย
ผมจะไม่พูดถึงปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้านนี้ละครับ แต่อยากพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของระบอบปกครองที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน ซึ่งทำให้พลเมืองกลายเป็นคนที่มีข่าวสารข้อมูลมากขึ้น และต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการสาธารณะแทบจะทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องสงครามด้วย
กองทัพสมัยใหม่ของสังคมแบบนี้ จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างไร? หนึ่งในการท้าทายหลักของกองทัพสมัยใหม่ที่สุดคือการหนีทัพ ซึ่งในสมัยหนึ่งเราต่างยอมรับว่าเป็น "บาป" มหันต์ของพลเมืองของชาติ เกือบจะพอๆ กับการกบฏทีเดียว แต่ค่านิยมอันนี้กำลังถูกท้าทาย
มีข่าวเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ฝรั่งของกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่งว่า ในวาระการฉลองครบรอบ 50 ปีของการปลดปล่อยยุโรปจากนาซีนั้น ในเมืองเล็กๆ ชื่อ Ulm ในเยอรมนีตอนใต้ เกิดข้อพิพาทกันระหว่างนักเรียนมัธยมกับเทศบาล เพราะนักเรียนมัธยมเคลื่อนไหวผลักดันให้เทศบาลยอมรับเอาประติมากรรมชิ้นหนึ่งออกมาตั้งในที่สาธารณะ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์แก่ทหารหนีทัพ ประติมากรรมชิ้นนี้ ศิลปินหญิงคนหนึ่งชื่อ Stuetz-Mentzel สร้างขึ้นเมื่อ 18 ปีมาแล้ว ทำด้วยโลหะเป็นรูปแผ่นโลหะซ้อนกันจากแผ่นเล็กไปหาแผ่นใหญ่ โดยมีแผ่นเล็กเป็นฐานให้แผ่นใหญ่ได้อิง
ความหมายเห็นได้ชัดนะครับ คือถ้าเอาแผ่นเล็กๆ ที่เป็นฐานออก ทั้งหมดก็พังครืนลงมา การหนีทัพจึงไม่ใช่เรื่องขี้ปะติ๋ว กองทัพซึ่งทำสงครามอันไม่เป็นธรรมเช่นกองทัพนาซี อาจพังครืนลงก่อนที่ผู้คนจะต้องเสียชีวิตลงเป็นล้านได้ ถ้าทหารพากันหนีทัพไปเสียจนกองทัพต้องพังครืนลง ทหารหนีทัพกลายเป็น "นักรบ" ผู้กล้าหาญ และการกระทำของเขาเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมของมนุษย์
ประติมากรรมนี้ศิลปินเคยเอาไปตั้งในที่สาธารณะเมื่อ 18 ปีมาแล้ว แต่เทศบาลสั่งเก็บ นักเรียนมัธยมรู้เรื่องนี้เข้าเลยรณรงค์ให้นำกลับมาตั้งในที่สาธารณะใหม่ โดยมีเหตุผลว่าการหนีทัพเป็นการตัดสินใจทางศีลธรรม และเราควรยกย่องคนที่กล้าตัดสินใจเช่นนั้น ไม่มีใครตัดสินได้หรอกว่าการตัดสินใจของเขาผิดหรือถูก มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้. เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้นสำหรับเทศบาล จึงยังไม่ยอมให้นำเอาประติมากรรมที่ถูกซ่อนเร้นออกมาตั้งในที่สาธารณะอยู่นั่นเอง
การท้าทายที่เมือง Ulm ในครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นการตั้งคำถามกองทัพสมัยใหม่อย่างถึงรากถึงโคน นั่นก็คือปัจเจกในกองทัพยังมีสิทธิและอำนาจที่จะตัดสินใจประเด็นทางศีลธรรมอย่างเป็นอิสระอยู่หรือไม่ (แม้ได้ยอมมอบการตัดสินใจด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธีให้กองทัพไปแล้ว)
อย่าลืมด้วยนะครับประเด็นทางศีลธรรมเป็นรากฐานของการตัดสินใจทุกอย่างในโลก ชาติทุกชาติย่อมอ้างเสมอว่าสงครามที่ตัวทำนั้น "เป็นธรรม" นี่เป็นประเด็นทางศีลธรรมโดยตรง ใครเป็นคนตัดสินว่า "เป็นธรรม" จริงหรือไม่ ปัจเจกหรือกลไกของรัฐ
ฝ่ายนักเรียนมัธยมยืนยันว่า ปัจเจกต่างหากที่ต้องตัดสินขั้นพื้นฐานระดับนี้ ตอนนี้ใครจะแพ้ชนะก็ตามเถิด แต่ในระยะยาวแล้ว นักเรียนมัธยมเหล่านี้แหละครับที่จะเข้าไปนั่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล, เทศมนตรี และนายกเทศมนตรีในที่สุด. พูดสั้นๆ ก็คือ สังคมที่เปลี่ยนแปลงสร้างคำถามใหม่ ซึ่งถึงจะยืนยันคำตอบเดิมอยู่ได้ ก็ไม่นาน แล้วคำถามนั้นก็จะกลับมาอีก และจะถูกตอบโดยคนที่ไม่ใช่หน้าเดิมอีกแล้ว
ปัญหาเรื่องปัจเจกภาพในเครื่องจักรใหญ่เช่นกองทัพ รวมทั้งความเป็นประชาธิปไตยแบบใหม่ของชาติหรือสังคมปัจจุบัน จึงเป็นปัญหาที่จะอยู่กับเราตลอดไป และเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ ด้วย
อันที่จริง กองทัพสมัยใหม่และชาติเคยเผชิญกับปัญหาปัจเจกภาพในกองทัพมาแล้วทั้งนั้น ถ้าฝ่ายตรงข้ามหนีเข้ามาสวามิภักดิ์ (นับตั้งแต่พระยาเกียรติ์ พระยาราม มาจนถึงท้าวอุ่นตีนเย็น และผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย) เรากลับยกย่องการ "หนีทัพ" ของเขา. ในสหรัฐยอมยกเว้นให้แก่ผู้นับถือนิกายศาสนาบางนิกายไม่ต้องเป็น "นักรบ" ถึงถูกเกณฑ์เข้ากองทัพก็ให้ทำหน้าที่อื่นที่ไม่ต้องฆ่า เป็นต้น. ทั้งนี้ เพราะไม่มีประโยชน์ที่ชาติจะทะเลาะกันเอง จึงผลักให้การตัดสินทางศีลธรรมของปัจเจกบางคนเป็นข้อยกเว้น ที่กองทัพสมัยใหม่สามารถรับได้
แต่ผมเชื่อว่า ในปัจจุบันและอนาคต ช่องทางที่จะกลืนความเป็นปัจเจกจะไม่ง่ายเหมือนเดิมอีกแล้ว การจัดช่องเล็กๆ แบบอเมริกันให้เป็นข้อยกเว้น ก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้ (เวลานี้ยังมีข้อถกเถียงกัน เรื่องเกี่ยวกับคนหนีเกณฑ์สมัยสงครามเวียดนาม) กองทัพสมัยใหม่จะเปลี่ยนไปอย่างไร
หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงก็คือ เปลี่ยนจากทหารเกณฑ์เป็นทหารอาสาให้หมด แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือกำลังของกองทัพจะประกอบด้วยคนด้อยโอกาสและคนจนเป็นส่วนใหญ่ เกือบจะเหมือนกองทัพของจักรวรรดิโรมัน ไม่ใช่กองทัพของชาติ วิธีที่จะไม่ให้อาวุธตกอยู่ในมือของคนจนคนด้อยโอกาสอย่างหนึ่งก็คือ เก็บตำแหน่งสัญญาบัตรไว้เป็นของ "ผู้ดี" ให้หมด อย่างที่กองทัพรัสเซียของพระเจ้าซาร์เคยทำ
แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ประวัติศาสตร์พิสูจน์ว่าล้วนเป็นกองทัพที่ไม่ค่อยมีสมรรถภาพทั้งสิ้น ครั้นจะใช้วิธีเดิมต่อไป คือเกณฑ์พลเมืองเป็นทหารของกองทัพชาติ ก็จะเผชิญปัญหาปัจเจกภาพซึ่งไม่อาจลบทำลายเสียได้ง่ายๆ ในสังคมปัจจุบัน
นักการทหารจะแก้ปัญหานี้อย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมผ่าไปคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า ในสังคมประชาธิปไตย (ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต-คือประชาชนทุกกลุ่มมีอำนาจที่จะเข้าร่วมในการบริหารบ้านเมืองจริง) สงครามคงเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว อย่างน้อยก็เพราะไม่มีสังคมใดมีสมรรถภาพที่จะกระทำการรบได้อีก
4. รัฐธรรมนูญไม่ใช่ประตูสู่ปฏิรูปการเมือง
การแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหา ป.ป.ช. (จำเป็นต้องแก้หรือไม่ขึ้นอยู่กับวิธีอ่านกฎหมาย
- เรียงคำหรือเรียงความ) ทำให้เกิดการผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญจากกลุ่มต่างๆ
เป็นแรงกระเพื่อมตามมา. หลายกลุ่มด้วยกัน แค่เผยอปากพูดก็เห็นผลประโยชน์ส่วนตัวล้นปากไหลออกมาเลอะเทอะใบหน้าด้านๆ
ของตัว
แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ การผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญจากกลุ่มนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะบุคคลเหล่านี้ถือเป็นโอกาสที่จะก่อกระแส "ปฏิรูปการเมืองระลอกสอง" ในสังคมไทยและคนไทยโดยทั่วไป คงเห็นพ้องต้องกันอยู่แล้วว่า การปฏิรูปการเมืองระลอกแรกส่อเค้าความล้มเหลวหลายเรื่องด้วยกัน
ข้อเสนอของบุคคลเหล่านี้ ดูเหมือนจะใช้ประสบการณ์จากการปฏิรูปการเมืองระลอกแรกเป็นแนวทางอยู่มาก เช่น เสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจากคนภายนอก ไม่เอา "คนใน" ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกรัฐสภาหรือองค์กรอิสระต่างๆ เข้ามาเป็น สสร.เป็นต้น. สิ่งที่เหมือนกันอย่างน่าตกใจกับการปฏิรูปการเมืองระลอกแรกก็คือ ความคิดที่จะใช้รัฐธรรมนูญเป็นหัวขบวนขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง
แต่ความล้มเหลวอย่างสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ เป็นหัวรถจักรที่ไม่สามารถชักลากสังคมไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่แท้จริงได้ ผลสุดท้ายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเองก็ถูกทำให้เป็นหมันไปจนแทบจะไร้ความหมาย การมีส่วนร่วมของประชาชนถูกล้อมกรอบให้เหลือเพียงการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเหมือนเดิม โดยอาศัยวิธีที่ละเมิดกฎหมาย และใช้กฎหมายอย่างบิดเบือน อำนาจการตรวจสอบรัฐถูกทำให้เหลือเพียงองค์กรอิสระที่ไร้น้ำยา เสรีภาพของสื่อกลับหมายถึงเสรีภาพของเอเยนซี่โฆษณา สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญเหลือเพียงตัวอักษรในรัฐธรรมนูญฯลฯ
จะสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันหรือไม่อย่างไรก็ตาม ขอให้สังเกตด้วยว่าภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ สังคมไทยเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ไม่น้อยไปกว่าหรืออาจจะมากกว่ายุคสมัยอื่น ถึงไม่โทษตัวรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่อย่างน้อยก็อาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีผลในการยุติหรือบรรเทาโครงสร้างความรุนแรงที่ครอบงำสังคมไทยมานานได้เลย
ถึงไม่มีการเผาในถังแดงก็มีกรือเซะ, สะบ้าย้อย, ตากใบ การอุ้มและการล่าสังหารกระจายไปทั่วประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้รัฐได้นำประเทศเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยประชาชนไม่สามารถต่อรองหรือกำกับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้เลย ไม่ว่าจะเป็นจดหมายแสดงเจตจำนงที่ส่งให้ไอเอ็มเอฟ มาจนถึงเอฟทีเอในปัจจุบัน ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่การปฏิรูปการเมือง แต่คือ "การพัฒนาระลอกสอง" ต่างหาก
เหตุสำคัญของความล้มเหลวในการปฏิรูปการเมืองจึงไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ แต่มาจากสังคมไทยเอง สังคมไทยอ่อนแอเกินกว่าจะกำกับควบคุมและผลักดันให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้บรรลุผล พูดกันตรงๆ ก็คือ การละเมิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยรัฐและองค์กรอิสระทั้งหลาย รวมทั้งการละเมิดกฎหมาย
การแทรกแซงองค์กรอิสระ รวมทั้งการสูญสิ้นเสรีภาพของสื่อ เกิดขึ้นท่ามกลางความรู้เห็นเป็นใจของสังคมไทย นั่นก็คือ ไม่ยอมลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ร้ายไปกว่านั้นยังส่งเสียงสนับสนุนในบางกรณีด้วยซ้ำ เช่น การฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด หรือการไม่ยอมกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการตัดทอนงบประมาณที่จะต้องส่งให้แก่องค์กรท้องถิ่น หรือการหวงอำนาจจัดการศึกษาไว้ที่ส่วนกลาง
คนกรุงเทพฯกลัวรถติดเสียยิ่งกว่า การที่ชาวบ้านซึ่งประท้วงรัฐถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
พื้นที่ทางการเมืองของประชาชนจะมีแคบหรือกว้างไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญเท่ากับเจตนารมณ์ของสังคมเองว่า จะต้องการพื้นที่ทางการเมืองแคบหรือกว้าง ตราบเท่าที่สังคมยังขาดสำนึกถึงอำนาจของตัวในการกำหนดวิถีชีวิตและการพัฒนาด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญให้ก้าวหน้าอย่างไร ก็ไม่ทำให้สังคมนั้นก้าวเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองที่แท้จริงได้
ความคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดียวจะแก้ปัญหาการเมืองทุกอย่างได้ เป็นความเชื่อของคนชั้นกลางไทย ซึ่งเคยชินกับการได้รับการพิทักษ์ปกป้องจากรัฐ และสามารถเรียกร้องสิ่งที่ตนต้องการผ่านสื่อได้สะดวกอยู่แล้ว และด้วยเหตุดังนั้น ถึงจะร่วมผลักดันให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้มา ก็ด้วยความหวังว่าเมื่อได้มาแล้วตัวก็ไม่ต้องทำอะไรอีก ได้แต่นั่งรอให้รัฐธรรมนูญผลิดอกออกผลสิ่งดีๆ ให้ตัวได้บริโภคเท่านั้น
ทั้งนี้ผิดแผกจากการเคลื่อนไหวผลักดันรัฐธรรมนูญของประชาชนระดับรากหญ้า พวกเขาต้องการช่องทางและเครื่องมือสำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปภายหน้า ไม่ได้ให้ความหวังแก่รัฐธรรมนูญเหมือนของสำเร็จรูปที่บันดาลสิ่งที่ต้องการได้หมด ฉะนั้น ในทรรศนะของชาวบ้านที่ร่วมเคลื่อนไหวผลักดันรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการเมืองยังไม่เริ่มขึ้นด้วยซ้ำ
แต่พลังของสังคม คือทั้งของชาวบ้านระดับรากหญ้าและของคนชั้นกลางเอง ก็อ่อนแอมาก เพราะแทบจะไม่มีการจัดองค์กรทางสังคมเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อนเลย ฉะนั้น จึงง่ายที่จะถูกฝ่ายซึ่งถืออำนาจรัฐปราบปราม และล่อหลอกจนไม่ค่อยมีประสิทธิผลในการดำเนินงานมากนัก
ในท่ามกลางความอ่อนแอของสังคมดังกล่าว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุด ก่อนที่สังคมจะปรับตัวขยายอำนาจและความแข็งแกร่งของตัวไปตามเงื่อนไขใหม่ๆ ที่รัฐธรรมนูญสร้างไว้ให้ผล ก็คือทำให้ประชาชนเรียกหาอัศวินม้าขาวแทนสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญมอบให้ ประชาชนสุ่มเสี่ยงกับนักการเมืองไปทีละคน ถ้าไม่ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้น ก็แสดงว่าไม่ใช่อัศวินจริงจึงไล่ลงจากหลังม้า จนในที่สุดก็มาเผชิญกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
รัฐบาลทักษิณซึ่งมีประวัติด่างพร้อยในแง่การละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงสุด ในบรรดารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดที่เคยมีในประเทศนี้ แต่กลับได้รับเลือกตั้งอย่างท่วมท้นจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งท้ายสุด(แม้จะมีข่าวลืออย่างหนาหูถึงการทุจริตในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเช่นเดียวกัน ซึ่งสื่อไม่สนใจจะตาม แม้กระนั้นก็ปฏิเสธชัยชนะของพรรค ทรท.ในการเลือกตั้งไม่ได้)
สังคมเช่นนี้หรือที่จะเป็นสังคมแห่งการปฏิรูปการเมือง สังคมเช่นนี้ใส่ใจต่อความแตกต่างระหว่างรัฐเผด็จการและรัฐประชาธิปไตยจริงหรือ ถ้ารัฐทั้งสองอย่างสามารถอำนวยความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจให้แก่กระเป๋าได้เท่าๆ กัน
ฉะนั้น ถ้าต้องการปฏิรูปการเมืองจึงไม่ควรเริ่มกับการแก้รัฐธรรมนูญอีก บทเรียนจาก "ระลอก" ที่แล้วชี้ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวไม่นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้ ตรงกันข้ามการปฏิรูปการเมืองต้องเริ่มจากการเคลื่อนไหวทางสังคม ขยายการเคลื่อนไหวทางสังคมจากกลุ่มเล็กๆ ที่กระจัดกระจายไปให้กว้างที่สุด เชื่อมเครือข่ายระหว่างกันจนกลายเป็นพลังที่มีความสำคัญในสังคม
และในการเคลื่อนไหวนั้นเอง ก็จะได้เก็บซับบทเรียน มีการเรียนรู้อย่างเป็นระบบจากการเคลื่อนไหว และได้พบอุปสรรคในการดำเนินงาน และหนึ่งในอุปสรรคนั้นก็อาจมาจากความบกพร่องของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้รู้ว่าสังคมควรจะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญไปในทิศทางใด
เลิกเชื่อถือ "ผู้เชี่ยวชาญ" ทั้งหลายเสียที รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของประสบการณ์จริงในบริบทจริง และประสบการณ์จริงในบริบทจริงของสังคมไทยนั้นมีแต่เฉพาะของภาครัฐ ซึ่งไม่เคยเชื่อในระบบการเมืองอื่นใดนอกจากอำนาจนิยม ฉะนั้น ปฏิรูปการเมืองจึงเริ่มต้นจากรัฐไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นความเห็นขององค์กรอิสระต่างๆ หรือแม้แต่รัฐสภา สังคมก็เพียงแต่รับฟังเท่านั้นอย่าไปด่วนเชื่อ
ตรงกันข้าม ปฏิรูปการเมืองต้องเริ่มที่สังคมเอง
แต่สังคมจะมีประสบการณ์จริงในบริบทจริงได้ก็ต้องมาจากการเคลื่อนไหวของตนเอง
และจากบทเรียนเหล่านี้แหละที่สังคมจะเป็นผู้ริเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ. ตราบเท่าที่ไม่มีฐานทางสังคมรองรับ
แม้จะมาจากจิตใจที่ปรารถนาดีเพียงใด ก็เป็นเพียงลมปากและตัวอักษรบนแผ่นกระดาษเท่านั้น
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ผู้ก่อการรัฐประหารและยึดอำนาจเด็ดขาดไว้ในมือของกลุ่มตนเอง ต่างอ้างเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นความชอบธรรมในการเผด็จอำนาจไว้ในมือ ฉะนั้นจึงตีความ "ราชอาณาจักร" ให้เท่ากันกับ "รัฐราชสมบัติ" ประหนึ่งว่าประเทศไทย หรือแม้แต่ชีวิตคนไทยทั้งหมดเป็นราชสมบัติ ที่เผด็จการได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย มาจัดการอย่างเด็ดขาดแต่ผู้เดียว (คัดมาจากบทความ นิธิ เอียวศรีวงศ์)
ว่ากันโดยหลักการ เมื่อเราพร้อมใจกันออกมาจากรัฐธรรมชาติ เข้ามาอยู่ร่วมกันในรัฐการเมือง เราต่างยอมสละสิทธิธรรมชาติข้อนี้เป็นส่วนใหญ่ให้แก่รัฐ เพื่อให้รัฐทำหน้าที่นี้แทนเรา และข้อใหญ่ใจความของการที่เราเข้ามาอยู่ในรัฐการเมือง ก็เพราะเราต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั่นเอง รัฐการเมืองสามารถให้สิ่งนี้แก่เราได้ โดยไม่จำเป็นต้องเล่นกล้าม, ฝึกยิงปืน, หรือกลายเป็นพนม ยีรัม อย่างที่ทุกคนต้องเป็นในรัฐธรรมชาติ ในรัฐการเมืองเท่านั้นที่ชีวิตจะว่างพอสำหรับแต่งเพลงดีๆ และฟังเพลงดีๆ ได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คืออารยธรรมเกิดได้ในรัฐการเมืองเท่านั้น รัฐที่ไม่สามารถทำหน้าที่พื้นฐานนี้ได้ กลับติดอาวุธร้ายแรงให้ประชาชน ย่อมหมายความว่ารัฐการเมืองนั้นล้มละลาย
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ
ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์