ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
140648
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 590 หัวเรื่อง
รวมบทความหลากหลายของนิธิ
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

รวมบทความเชิงวัฒนธรรมและความรู้
ผู้หญิง-ดนตรีลีลา-และภูมิปัญญาสถาบัน
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


หมายเหตุ : รวมผลงานที่เคยตีพิมพ์แล้วใน นสพ.มติชนรายวัน ของ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ๔ เรื่อง
๑. วัฒนธรรมสามวาสองศอก
๒. โจทย์ที่ถูกของดนตรีในสังคมไทย
๓.
ภูมิปัญญาสถาบัน ๔.ควรรู้เท่าทันใครกันแน่
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13 หน้ากระดาษ A4)




1. วัฒนธรรมสามวาสองศอก
เมื่อย้อนกลับไปนึกถึงชีวิตความเป็นครูหลายสิบปีของตัวเอง ผมเคยตระหนกจนเดี๋ยวนี้ชาชินไปแล้วว่า ผมทำอะไรผิดไว้กับลูกศิษย์เยอะแยะไปหมด นับตั้งแต่สอนผิดไปจนถึงปฏิบัติต่อเขาผิดๆ (ผิดคือไม่ช่วยหรือบั่นรอนการเรียนรู้ของเขา) ถึงกระนั้น ถ้าเลือกใหม่ได้ ผมก็ยังอยากเป็นครูอยู่นั่นเอง แต่คงให้โอกาสตัวเองทำอะไรอื่นสัก 10 ปี เพื่อรู้จักโลก รู้จักชีวิต รู้จักคนและรู้จักวัฒนธรรมไทยให้มากขึ้นสักหน่อย แล้วค่อยมาสมัครเป็นครู

หนึ่งในความผิดที่ผมทำซ้ำซากด้วยความไม่เข้าใจเป็นเวลาหลายปีคือ แทบจะไม่ให้คะแนนแก่การตอบข้อสอบที่ไม่ตรงคำถาม ผมเชื่อนะครับว่า การตอบให้ตรงคำถามเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของนักวิชาการ เพราะถ้าเราพยายามตอบให้ตรงคำถาม (ไม่ว่าเป็นคำถามของเราเองหรือของคนอื่น) เราก็จะรู้ว่าเราไม่รู้ตรงไหน รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่ขาดไม่ได้ของกระบวนการวิเคราะห์หาคำตอบใหม่

การเฉไฉจะทิ้งเราไว้ในความไม่รู้ หรือรู้เท่าเดิม

ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่ของข้อสอบที่ผมตั้งให้นักศึกษา มักเป็นข้อสอบที่ไม่มี "ธง" ให้ฟัน คือไม่มีถูกไม่มีผิดในตัวของมันเอง ขึ้นอยู่กับกระบวนการคิดและข้อมูลที่เอามาใช้เพื่อสนับสนุนคำตอบของตัวมากกว่า ฉะนั้น เมื่อไม่ตอบให้ตรงคำถาม ก็เป็นอันล้มเหลวหมด เพราะไม่รู้ว่ากระบวนการคิดของผู้ตอบคืออะไร และส่วนใหญ่ของคำตอบที่ไม่ตรงคำถามนั้น มักเป็นคำตอบที่ถูกแหงๆ เพราะเป็นข้อมูลและแนวการวิเคราะห์ที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้ว โดยยังไม่มีใครตั้งข้อสงสัย

ในตอนแรกที่เป็นครู ผมออกจะตกใจที่พบว่า กว่าครึ่งของนักศึกษามักตอบไม่ตรงคำถาม เป็นครูไปนานเข้า ก็ยังพบว่าจำนวนไม่ได้ลดลงสักเท่าไร แม้ผมพยายามค้นหาวิถีทางนานาชนิดที่จะทำให้เขาตอบให้ตรงคำถามก็ตาม

ผมโง่งมงายกับความไร้วัฒนธรรมของตัวเองอยู่นานในอาชีพครู นั่นก็คืออ่าน (หรือฟัง) ความหมายของถ้อยคำตรงไปตรงมา โดยไม่เอาวัฒนธรรมเข้ามาช่วยให้ความหมายของภาษาที่นักศึกษาใช้ ฉะนั้น นักศึกษาจึง "ตอบไม่ตรงคำถาม" อยู่เสมอ อีกนานต่อมาผมจึงเพิ่งมาสังเกตเห็นว่า ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาเท่านั้นที่ไม่ยอมตอบคำถามตรงๆ หรือตอบไม่ตรงคำถาม แต่คนไทยทั่วไปที่ผมได้พูดคุยด้วย ล้วนตอบไม่ตรงคำถามเสียเกือบทั้งนั้น แม้แต่เป็นคำถามง่ายๆ ในการสนทนาปรกติก็ตาม

ผมควรจะสังเกตเห็นมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้สังเกต เพราะผมชินกับการตั้งคำถามใหม่ หรือคาดคั้นคำตอบที่ตรงจากคนอื่นเป็นนิสัย โดยไม่ได้รู้สึกว่าตัวกำลังคุกคามคนอื่น จนมาได้ยินคำนินทาจากเพื่อนครูในมหาวิทยาลัยว่า ผมชอบไล่ต้อนคู่สนทนา ผมออกจะแปลกใจเพราะไม่ได้มีความคิดอย่างนั้นเลย จึงสำรวจตัวเองดู ก็พบว่าความต้องการคำตอบที่ตรงคำถามของตัวเองนี่แหละ ที่เพื่อนครูในมหาวิทยาลัยของผมรู้สึกว่าถูกคุกคาม ก็บอกแล้วไงครับว่า ตัวเองโง่งมงายกับการหาความหมายจากถ้อยคำ โดยไม่หาความหมายจากวัฒนธรรมมาประกอบเลย

พอจับประเด็นได้ชัดแล้ว ก็ยิ่งสังเกตเห็นว่า การไม่ตอบคำถามให้ตรงของคนไทยนั้น เป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคม ที่สอดคล้องกับแบบแผนความสัมพันธ์ในรูปอื่นๆของคนไทยด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การตอบไม่ตรงคำถามเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในวัฒนธรรมไทย เพราะอะไรหรือครับ

ก็เพราะการตอบให้ตรงคำถาม คือการประกาศจุดยืนนั่นเอง ยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ นะครับ "จะไปด้วยกันไหม ?" คำตอบที่ตรงคำถามก็คือ "ไป" หรือ "ไม่ไป" แต่ตอบอย่างใดอย่างหนึ่งคือการประกาศจุดยืนที่แน่นอน ผู้ถามหมดทางเลือกอื่นใด คือต้องรับเอาไปด้วย หรือผิดหวังที่ต้องไปโดยขาดผู้ตอบ ฉะนั้นคนไทย (ที่มีมารยาทดีกว่าผม) จะไม่ตอบคำถาม แต่กลับไปพูดถึงแผนการในอนาคตของตนเอง เช่น เอ้อ ฉันก็ว่างอยู่นะ ไม่รู้จะทำอะไรดี หรือจะต้องส่งงานมะรืนนี้ ยังไม่รู้จะทำทันไหม... ไม่มีจุดยืนที่แน่นแฟ้นมั่นคงอะไรนะครับ

ถ้าผู้ถามไม่อยากให้ไปด้วย ก็อาจ "ส่งสัญญาณ" ได้หลายอย่างเช่น เธอเป็นหวัดอยู่ระวังนะ บ่ายนี้อาจฝนตก หรือถ้าอยากให้ไปด้วย ก็เกลี้ยกล่อมว่ายังมีเวลาทำงานให้เสร็จได้อีกมาก เป็นต้น ทั้งสองฝ่ายต่างมีที่ว่างให้เคลื่อนไปมาได้กว้าง จึงไม่มีใครอึดอัดเลย

ในวัฒนธรรมที่พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งซึ่งหน้า พื้นที่ว่างสำหรับให้ทุกฝ่ายได้เคลื่อนไปมานั้นมีความสำคัญมาก ทั้งสองฝ่ายจะค่อยๆ ถูกผลักให้ไปอยู่ในจุดยืนของตัว ซึ่งแม้จะเป็นจุดยืนที่อยู่ตรงข้ามกัน แต่ไม่ใช่เพราะฝ่ายใดกระโดดไปยืนอยู่ตรงนั้น หากสถานการณ์ค่อยๆ แปรผันไปจนพบตัวเองยืน ณ จุดยืนนั้น เหมือนโดยไม่ตั้งใจ (แต่ที่จริงตั้งใจ) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็มาจากการตอบไม่ตรงคำถามนี่แหละครับ ที่เป็นกลไกสำคัญทางวัฒนธรรม

เตือนไว้ด้วยนะครับ คำตอบที่ไม่ตรงคำถามนี้มีความหมายและเป็นการตอบคำถามแล้ว แต่ต้องอ่านเอาเอง

สำนึกว่าการตอบไม่ตรงคำถามเป็นเรื่องของวัฒนธรรมนี้ยิ่งแหลมคมมากขึ้น เมื่อผมต้องไปใช้ชีวิตในสังคมอเมริกัน ที่นั่นมีวิธีจัดการความขัดแย้งอีกอย่างหนึ่ง และไม่หลีกเลี่ยงความขัดแย้งซึ่งหน้า โดยเฉพาะความขัดแย้งที่ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล (และพื้นที่ "ไม่มีตัวบุคคล" ของฝรั่งนั้นกว้างกว่าของไทยแยะ)

ผมพบว่าเพื่อนฝรั่งของผมเคยชินที่จะตอบอะไรให้ตรงคำถามเสมอ หลายครั้งด้วยกัน เขาเป็นผู้นิยามคำถามของเราใหม่แล้วค่อยตอบด้วยซ้ำ แสดงว่าใส่ใจกับคำตอบที่ต้องตรงคำถามอย่างมาก

แม้ในบัดนี้ผมเข้าใจความหมายทางวัฒนธรรมของคำตอบที่ไม่ตรงคำถามแล้วก็ตาม ผมก็ยังยืนยันอยู่นั่นเองว่า ในทางวิชาการ เราจำเป็นต้องตอบให้ตรงคำถามอยู่ดี เพียงแต่ว่าวิธีบังคับหรือโอ้โลมปฏิโลมให้ตอบตรงคำถามไม่ช่วยเท่าไรนัก ปัญหาอยู่ที่วัฒนธรรมวิชาการ (ปัจจุบัน) ตั้งอยู่บนวัฒนธรรมของความขัดแย้งทางความคิด ครูจะต้องทำให้นักศึกษารับและเคยชินกับวัฒนธรรมของความขัดแย้งต่างหาก แล้วเขาก็จะตอบตรงคำถามเอง

ไม่อย่างนั้น ครูก็ต้องค้นหาความหมายเชิงวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ในคำตอบที่ไม่ตรงคำถามของนักศึกษาเอาเอง ซึ่งก็ไม่ใช่ "จุดยืน" ที่แน่นแฟ้นอะไร แต่ประกอบด้วยพื้นที่ให้ผู้ตอบเคลื่อนไหวได้มาก จนเอาอะไรเป็นแก่นสารไม่ได้อยู่นั่นเอง

เมื่อผมพ้นหน้าที่ครูไปแล้ว ผมยังได้สังเกตเห็นอะไรเพิ่มขึ้นไปกว่านั้นอีกในเรื่องการตอบไม่ตรงคำถาม นั่นคือผู้หญิงไทยตอบไม่ตรงคำถามยิ่งกว่าผู้ชายไทย และเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วข้างต้นนะครับ คือแม้แต่คำถามพื้นๆ ในชีวิตประจำวันก็ตาม ความต่างระหว่างเพศในด้านนี้มองเห็นได้ชัดแจ๋วเลย ขนาดเพื่อนผู้หญิงของผมคนหนึ่งจบปริญญาเอกจากอเมริกามาแล้ว ก็ยังต้องทวนหรือตั้งคำถามใหม่ในการสนทนากับเธออยู่เสมอ

ผมสังเกตความต่างระหว่างเพศแง่นี้ไม่ได้สมัยที่ผมเป็นครู คงเป็นเพราะความเป็นนักเรียนของเขาบดบังความต่างทางเพศไปเสียมากกระมัง ผมอยากอธิบายว่าวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างเพศนี้เกิดขึ้นจากอะไร จึงเดาสุ่มตอบ อย่างที่ทำเป็นประจำในคอลัมน์นี้อยู่แล้ว ผมคิดว่ามีสาเหตุมาสองประการคือ

1. ในวัฒนธรรมไทย ผู้หญิงยิ่งต้องไม่มีจุดยืนที่แน่ชัดและแน่นแฟ้นขึ้นไปกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงไม่มีที่ยืนในสนามของความขัดแย้งโดยสิ้นเชิง ที่ผู้ชายไทยถือว่าใครทะเลาะกับผู้หญิงก็สิ้นความเป็นลูกผู้ชายนั้น ผมคิดว่าเป็นเพราะไปขัดแย้งกับคนที่อยู่นอกสนาม และด้วยเหตุดังนั้นผู้หญิงจึงเลี่ยงที่จะตอบให้ตรงคำถามโดยเฉพาะคำถามว่า "ทำไม" เพราะคำตอบของคำถาม "ทำไม" จะแสดงจุดยืนที่แน่นแฟ้นของผู้ตอบมากที่สุด คำตอบที่ตรงคำถามของผู้หญิง จะทำให้ทุกฝ่ายอึดอัดไปหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงด้วยกันหรือผู้ชาย

ผู้หญิงคนไหนมีจุดยืนที่แน่ชัดและแน่นแฟ้น พร้อมจะเผชิญความขัดแย้งทุกรูปแบบ เพราะเชื่อในความถูกต้องของจุดยืนตัวเอง ก็เป็นอันเลิกเป็นผู้หญิงต่อไป กลายเป็น วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ แทน

2. คุณสมบัติสำคัญที่ผู้หญิงไทยถูกสอนให้ครอบครองไว้ก็คือความ "น่ารัก". ความ "น่ารัก" ของผู้หญิงในวัฒนธรรมไทยนั้นมีปัญหานะครับ เพราะเน้นไปที่ความเป็นเด็ก อะไรที่ผู้หญิงเหมือนเด็ก นั่นแหละถือว่า "น่ารัก" ไม่ว่าจะเป็นหน้าตาไปจนถึงกิริยามารยาทและคำพูดคำจา ผมเห็นปัญหานี้ได้ถนัดในละครทีวีเรื่องที่เขาพยายามจะเน้นความ "น่ารัก" ของนางเอก ดูยังไงก็เป็นเด็กไร้เดียงสา (จนเข้าใกล้ปัญญาอ่อน) มากกว่าเป็นผู้หญิง

ผมลองเปิดดูคำว่า cute ในพจนานุกรมฝรั่ง ความหมายหนึ่งของน่ารักฝรั่งคือ อะไรที่เล็กๆ อย่างที่ภาษาไทยก็ใช้กับสิ่งของหรือหมาจู อีกความหมายหนึ่งคือฉอเลาะเพื่อหาประโยชน์ ในภาษาปากอเมริกัน ผู้หญิงที่ cute คือ "น่าใคร่" ซึ่งมักไม่ได้เหมือนเด็กเลย อะไรต่อมิอะไรก็ใหญ่โตจนล้นไม้ล้นมือไปหมด

การตอบไม่ตรงคำถามเป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติเด็ก เพราะเด็กจะพูดสิ่งที่เขาอยากพูดมากกว่าพูดตามประเด็นที่ถูกคนอื่นกำหนดขึ้น ฉะนั้น เมื่อผู้หญิงถูกทวนคำถาม หรือถูกตั้งคำถามใหม่ ถ้าทำโดยไม่ตะคอกใส่ เธออาจรู้สึกว่าอู๊ย ฉันทำตัวน่ารักจังเลยก็ได้

2. โจทย์ที่ถูกของดนตรีในสังคมไทย
ในฐานะที่เพลงสุนทราภรณ์เป็นเพลง "ร่วมสมัย" ของผม จึงอดรู้สึกตื่นเต้นไปกับความคิดของท่านนายกฯ ที่จะฟื้นฟูวงดนตรีของกรมประชาสัมพันธ์ให้โด่งดังเหมือนอดีตไม่ได้ คนที่อาจตื่นเต้นไม่เท่าผม แต่เต้นกว่าผมเป็นอันมากคือท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่รีบเสนอว่าวงดนตรีกรมประชาฯน่าจะเล่นเพลง "ร่วมสมัย" ของวัยรุ่นด้วย เช่น เพลงฮิปฮอป เป็นต้น คนที่น่าจะเต้นตามมาคือแกรมมี่, อาร์.เอส. และค่ายเพลงต่างๆ ซึ่งกำลังจะต้องเผชิญคู่แข่งที่ได้รับการอุดหนุนจากเงินภาษีประชาชน แต่พวกเขาคงรู้อะไรดีเสียจนไม่อยากเป็นรัฐมนตรี จึงคงได้แต่หัวเราะหึๆ

วงดนตรีกรมประชาฯกับวงสุนทราภรณ์นั้นเป็นวงดนตรีเดียวกัน และไม่ได้เป็นวงดนตรีเดียวกันไปพร้อมกัน
ผมไม่ทราบว่าครูเอื้อ สุนทรสนาน ในฐานะหัวหน้ากองดนตรีท่านคิดอะไร แต่การที่ท่านทำให้วงดนตรีของกรมประชาฯกลายเป็นวงเอกชน รับบรรเลงดนตรีเป็นงานรับจ้างนั้น คงช่วยทำให้รายได้ของข้าราชการในกองมีเพิ่มขึ้น จนกระทั่งหน่วยราชการนั้นซึ่งให้เงินเดือนน้อยนิดเดียว สามารถผูกนักดนตรี, นักร้อง, และศิลปินเอาไว้กับหน่วยราชการได้นานๆ… และข้อนี้มีความสำคัญถ้าจะให้วงดนตรีของหน่วยราชการเป็น "มืออาชีพ" จริงๆ

วงดนตรีของหน่วยราชการอื่นอีกหลายหน่วยก็เคยทำอย่างเดียวกัน และคงด้วยจุดมุ่งหมายทำนองเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่แล้ว ความเป็นวงเอกชนรับจ้างงานหาก็เลิกกันไป ไม่มีใครอยู่นานเท่าวงสุนทราภรณ์ และวงดนตรีของหลายหน่วยราชการก็ซังกะตายสีๆ เป่าๆ ไปตามหน้าที่ในราชการจนถึงบัดนี้

วงสุนทราภรณ์นั้นเป็นปรากฏการณ์ทางศิลปะ เท่ากับที่ครูเอื้อเป็นศิลปิน ทั้งสองอย่างนี้ไม่มีราชการที่ไหนสร้างขึ้นได้หรอกครับ เพราะปัจจัยที่จะทำให้เกิดสองอย่างนี้ เป็นปัจจัยทั้งทางสังคมและบุคคล หมายความว่าทั้งกว้างและซับซ้อนมาก ผมเองก็อธิบายไม่ได้หรอกครับ เพียงแต่อยากให้เรายอมรับก่อนว่า ความเลอเลิศบางอย่างในโลกนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำซ้ำได้ ถึงจะมีความเลอเลิศเกิดขึ้นใหม่ ก็ไม่มีวันเหมือนเดิม เพราะมันย่อมเกิดจากปัจจัยอันสลับซับซ้อนของยุคสมัยอีกอันหนึ่งที่ไม่ใช่อันเก่า

ผมขอยกตัวอย่างความเป็นอัจฉริยะของครูเอื้อเท่าที่ผมทราบให้ฟังสักเรื่องสองเรื่อง หลานของท่านคนหนึ่งเคยเล่าให้ผมฟังว่า ท่านขับรถกลับบ้านในตอนเย็นที่เขาได้พบบ่อยๆ ก็คือ ท่านฮัมอะไรอยู่ในคอระหว่างรอรถติด พอถึงบ้านท่านก็ปรี่เข้าไปเล่นเปียโน แล้วจดทำนองที่ท่านคิดขึ้นในรถลงเป็นเพลงใหม่ขึ้นมาได้แล้วเพลงหนึ่ง ฉะนั้นท่านจึงแต่งเพลงได้ไม่รู้จะกี่แนวต่อกี่แนว รัฐบาลอยากได้เพลงปลุกใจ หรือเพลงโฆษณาโครงการอะไรของรัฐ ท่านก็สามารถแต่งสนองความต้องการได้ในเวลาอันรวดเร็ว แล้วยังมีเวลาเหลือพอจะไปแต่งเพลงรำวง, เพลงรัก, เพลงรำพึง ฯลฯ อะไรได้อีกนับไม่ถ้วน อย่างที่รู้กันอยู่แล้ว

นอกจากนี้ครูเอื้อนี่แหละครับที่เป็นคนแรกในการสร้าง "เพลงไทยประยุกต์" คือเอาเพลงไทยมาใช้ในเพลงที่เล่นเครื่องฝรั่ง รวมทั้งเอาเครื่องไทยไปผสมในวงฝรั่ง ปัจจุบันนี้ใครๆ ก็ทำได้นะครับ แต่ย้อนกลับไปในสมัยก่อน ไม่ใช่ของสำเร็จรูปอย่างปัจจุบัน อย่าลืมนะครับ เมื่อเอาเครื่องฝรั่งไปผสมวงเครื่องสายไทยในสมัยแรกๆ ที่เครื่องฝรั่งเข้ามาเมืองไทยนั้น ต้องเอาไปปรับเสียงให้เข้ากับเครื่องไทยก่อน ก่อนหน้าครูเอื้อจึงมีแต่เอาเครื่องฝรั่งไปเล่นไทย ครูเอื้อเป็นคนแรกที่เอาเครื่องไทยไปเล่นฝรั่ง เครื่องไทยเครื่องฝรั่งจึงไม่ได้เข้ากันได้โดยอัตโนมัติ ต้องปรับเสียง ปรับทางกันพอสมควรกว่าจะเอา "ลาวดำเนินทราย" มาเล่นเป็น "ดำเนินทราย" ได้

แต่อัจฉริยภาพของคนเดียวอาจไม่พอ ครูเอื้อได้นักแต่งเนื้อระดับกวีมาร่วมงาน คือครูแก้ว อัจฉริยกุล อีกทั้งนักแต่งเพลงระดับพระกาฬอีกหลายคนที่มอบเพลงของตัวให้วงสุนทราภรณ์เล่น เช่นหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์, พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล ฯลฯ เป็นต้น หลายๆ อย่างมาประจวบกับครูเอื้อ จนทำให้เกิดวงสุนทราภรณ์ที่เป็นปรากฏการณ์ทางศิลปะขึ้นมา รวมทั้งความนิยมลีลาศที่เฟื่องฟูในยุคหนึ่งด้วย

แต่วงสุนทราภรณ์ได้ผ่านยุคสมัยของตัวไปแล้ว อย่างเดียวกับที่เพลงของครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะก็ได้ผ่านไปแล้ว ก่อนหน้านั้นขึ้นไปก็มีปรากฏการณ์ทางศิลปะที่มาแล้วก็ผ่านเลยไป เป็นธรรมดาโลก อะไรๆ ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เพราะมีเงื่อนไขทั้งนั้น เมื่อปราศจากเงื่อนไขอันเหมาะสม มันก็ไม่เกิดและไม่ตั้งอยู่ได้

ในเงื่อนไขปัจจุบัน เราต้องการวงสุนทราภรณ์ไปทำอะไร ผมว่าต้องคิดให้ชัด หลายอย่างที่เป็นคุณูปการแก่วงการดนตรีไทย ซึ่งวงสุนทราภรณ์เคยทำไว้ให้ บัดนี้มีตลาดเข้ามารับทำเองโดยตรง ฉะนั้นจึงยิ่งไร้เหตุผลมากขึ้นถ้าคิดจะเอาวงสุนทราภรณ์ (หรือวงกรมประชาฯ) ไปรับใช้ตลาด หรือเข้าไปแข่งขันกับเอกชนในตลาด

โรงเรียนดนตรีก็ปล่อยให้เอกชนเขาทำเถิด อยากสนับสนุนให้มีมากก็ลดภาษีเขาลง อย่าลืมให้เงินแก่โรงเรียนหลวงในการสอนดนตรีให้มากขึ้นด้วย ถ้าอยากรักษาวงกรมประชาฯไว้สีซอให้ฝรั่งฟังในงานราตรีสโมสรของทำเนียบรัฐบาล อยากให้ฝรั่งฟังซอเพลงประเภทไหน ถ้าเป็นเพลงตลาดของไทย ก็จ้างเอกชนไม่ง่ายกว่า, ถูกกว่า, และส่งเสริมได้ถูกจุดกว่าหรอกหรือ

ถ้าอยากให้ฟังเพลงคลาสสิคของฝรั่ง ทุ่มงบประมาณไปที่จุดเดียวให้ดีพอทัดเทียมกับประเทศอื่นเลยไม่ดีกว่าหรือ ผมหมายความว่า จ้างบีเอสโอด้วยเงินก้อนใหญ่ๆ เลย สนับสนุนให้บีเอสโอแยกเป็นวงย่อยต่างๆ เช่น สร้าง "ประดิษฐ์ไพเราะควอเทต", "พาทยโกศลทรีโอ" "ประสิทธิ์เครื่องเป่า" ฯลฯ ขึ้นจากนักดนตรีวงบีเอสโอ แล้วจ้างวงเหล่านี้แหละครับไปเล่นในงานของรัฐบาลด้วยค่าจ้างก้อนโตๆ (แต่บีเอสโอต้องมีการจัดการด้านรายได้ เพื่อทำให้บีเอสโอมีกำลังพอจะจ้างนักดนตรีที่ทำงานประจำกับวงได้ในอนาคต) และถ้าในโอกาสที่จะเล่นด้วยวงซิมโฟนี ก็จ้างทั้งวง ครั้งละ 50 ล้านก็จ่าย (แต่ต้องเล่นสองที คือเล่นให้รัฐบาลทีหนึ่ง เล่นเก็บเงินให้สาธารณชนฟังอีกทีหนึ่ง)

รวมทั้งควรคิดถึงการตั้งกองทุนเป็นพันล้านให้แก่บีเอสโอด้วย (เอาสัก 20% ของภาษีสถานบันเทิงก็ได้ครับ เพราะพวกนี้เปิดเพลงดังทำให้คนหูหนวก ถึงเปิดไม่ดัง เพลงที่เปิดก็ทำให้หูคนฟังหนวกจากเสียงที่งดงามอยู่ดี)

อย่าลืมประชาชนด้วยนะครับ ในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น วันเฉลิมฯ, วันขึ้นปีใหม่, วันออกพรรษา, วันสงกรานต์ ฯลฯ รัฐบาลจ้างบีเอสโอเล่นในที่สาธารณะก็ได้ เก็บเงินโดยยกรายได้ให้วงก็ได้ เล่นให้ฟังฟรีก็ได้ แล้วแต่สถานที่และโอกาส

ผมพูดเรื่องบีเอสโอมามาก เพราะเป็นตัวอย่างที่ดีของการทวนกระแสตลาด ทำไมต้องทวนกระแสตลาด ก็เพราะการกำกับตลาดอย่างไม่ให้ทางเลือกคือเงื่อนไขของปัจจุบัน

เรื่องรื้อฟื้นอดีตโดยไม่มองเงื่อนไขปัจจุบันนั้น คนวัยขนาดผมมีเรื่องให้เพ้อเจ้อได้มากกว่าที่ท่านนายกฯ กับรัฐมนตรีรวมกันสองคนจะเพ้อเจ้อได้ แต่เงื่อนไขปัจจุบันมีความสำคัญมาก เราจะรู้จักบทบาทที่พึงเป็นของรัฐได้ก็โดยการพิจารณาเงื่อนไขปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่การรื้อฟื้นสิ่งดีของอดีตที่ได้สูญเงื่อนไขของมันไปแล้ว

ศิลปะไทยกำลังถูกตลาดที่หยาบและไร้วิจารณญาณครอบงำ เนื่องจากพ่อค้าทำศิลปะให้กลายเป็นสินค้าไปหมดแล้ว โดยเฉพาะคีตศิลป์ รัฐมีพลังมากพอจะสร้างกระแสที่ทวนตลาดได้ โดยการอุดหนุนให้ศิลปะที่ไม่ได้เป็นสินค้าได้มีโอกาสเสนอตัวต่อสังคมอย่างกว้างขวาง

ไม่ใช่เฉพาะเพลงคลาสสิคฝรั่งเท่านั้น เพลงไทยก็อยู่ในฐานะเดียวกัน วงปี่พาทย์ของกรมประชาฯเคยเป็นวงที่มีมาตรฐานของตนเอง ที่แตกต่างจากวงกรมศิลปากร ถือเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการปี่พาทย์วงหนึ่ง เช่นเดียวกับวง กทม. (และคงเป็นที่ชื่นชอบในหมู่คนที่อยากเห็นดนตรีมีความหลากหลายของมาตรฐาน) วงนี้ต่างหากที่น่าจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ แล้วให้โอกาสที่จะได้แสดงแก่สาธารณชนไทยให้มาก

กรมประชาฯควรมีตาวิเศษ (โดยดึงเอาคนนอกเข้ามาร่วมด้วย) สำหรับค้นหาวงดนตรีอินดี้ที่มือดี และมีศิลปะ แล้วนำมาให้โอกาสแสดงแก่สาธารณะให้มาก ถ่วงดุลกับวงดนตรีและนักร้องของค่ายเพลงที่มองแต่วงและนักร้องที่ทำเงินได้อย่างเดียว

คนไทยควรมีทางเลือกทางคีตศิลป์อย่างกว้างขวาง เพลงของแกรมมี่, อาร์.เอส. และค่ายเพลงต่างๆ ก็เป็นเพียงอีกทางเลือกหนึ่ง ไม่ใช่ถ้าไม่เลือกก็ไม่มีอะไรให้เลือกอย่างที่เป็นอยู่ และผู้บริโภคจะเป็นผู้กำกับตลาดด้วยวิจารณญาณและรสนิยมอันดี ไม่ใช่ค่ายเพลงเป็นผู้กำหนดด้วยกำไรนิยมลูกเดียว

รัฐทำอะไรได้มาก ถ้าตั้งโจทย์ถูก

3. ภูมิปัญญาสถาบัน
คุณสุรีวัลย์ บุตรชานนท์ ซึ่งคงเป็นนักข่าวของมติชนเล่าถึงความสำเร็จของหน่วยเฉพาะกิจ นาวิกโยธินภาคใต้ ที่หมู่บ้านกูยิ จ.นราธิวาส ว่า ได้ซ่อมมัสยิดประจำหมู่บ้าน และจัดงานเฉลิมฉลอง รวมทั้งส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปรักษาประชาชน เกิดความอบอุ่นใจแก่ชาวบ้าน ขนาดคนแก่อายุ 74 ปียังกล่าวว่า "…ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีทหารมาช่วย จึงรู้สึกดีใจและชื่นใจเป็นพิเศษ ชาวบ้านรู้สึกเป็นมิตรกับทหารมากขึ้น ไม่รู้สึกกลัวเหมือนแรกๆ"

นับเป็นปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกับที่ผมได้ยินมา ผมเพิ่งกลับจากภาคใต้ ได้มีโอกาสสนทนากับชาวบ้านมลายูมุสลิมจำนวนหนึ่ง ไม่มีใครสักคนในกลุ่มที่ผมสนทนาด้วย อยากจะให้ทหารเข้าไปตั้งหน่วยเฉพาะกิจในหมู่บ้านของตัว เขากลับรู้สึกว่ามีหน่วยทหารแล้วยิ่งไม่ปลอดภัย เพราะโรงเรียนก็ยังถูกเผาเหมือนเดิม และผู้คนยังถูกทำร้ายเหมือนเดิม ร้ายไปกว่านั้นบางคนสงสัยด้วยว่า ความไม่ปลอดภัยนี้มาจากหน่วยทหารนั้นเอง แม้แต่หน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยที่ฝ่ายทหารหรือราชการไปตั้งขึ้นเอง ก็ไม่อยากมีหน่วยทหารเข้ามาช่วยงานของตัวถึงในหมู่บ้าน

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า ผมกำลังกล่าวหาคุณสุรีวัลย์ บุตรชานนท์ ว่ารายงานข่าวที่เป็นเท็จนะครับ เพราะผมเชื่อว่าในจำนวนหมู่บ้านนับร้อยที่มีหน่วยทหารเฉพาะกิจเข้าไปตั้งอยู่นั้น (หรือช่วยตรวจตราในยามวิกาลเป็นประจำ) ต้องมีบางหมู่บ้านบ้างล่ะครับที่ชาวบ้านพอใจ หนึ่งในนั้นอาจเป็นบ้านกูยิ ที่นราธิวาส และคงมีที่อื่นๆ อีกซึ่งผมไม่ทราบ

ผมไม่ทราบนั้นไม่เป็นไร แต่ปัญหาก็คือกองทัพต้องทราบ ไม่ใช่ทราบเฉยๆ ด้วย หากยังต้องสรุปบทเรียนออกมาให้ได้ว่า หน่วยทหารเหล่านั้นทำอะไร และไม่ทำอะไร จึงชนะใจชาวบ้านได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังควรทราบต่อไปด้วยว่า หน่วยทหารที่ไม่ได้รับการต้อนรับจากชาวบ้าน ทำอะไร และไม่ทำอะไร จึงทำให้ชาวบ้านรังเกียจ

ความรู้อย่างกระจ่างแจ้ง (ที่สุดเท่าที่กองทัพจะทำได้) ในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่สกัดออกมาจากประสบการณ์จริงของหน่วยทหารต่างๆ เท่านั้น แต่กองทัพยังควรสังเคราะห์ความรู้เหล่านี้ขึ้นเป็นคำสั่งยุทธการที่แน่ชัดได้ด้วย ไม่ใช่จุดมุ่งหมายกว้างๆ แต่เพียงว่าให้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน ผมหมายความว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้หมดว่า ตัวต้องทำอะไร นับตั้งแต่พลทหารที่เพิ่งถูกส่งมาจากอีสานก็รู้ว่าต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อไร ที่ไหน นายร้อยเพิ่งจบใหม่ก็รู้ว่าจะตรวจตรากำชับกำชาให้ลูกน้องปฏิบัติตามได้อย่างไร นายพันก็รู้ว่าจะตรวจสอบ และประเมินการปฏิบัติงานของหน่วย ตลอดจนสั่งปรับแก้ได้ที่ตรงไหนอย่างไร ตลอดไปจนถึงแม่ทัพและ ผบ.ทุกเหล่าทัพ รู้วิธีตรวจสอบให้หน่วยปฏิบัติเล็กๆ เหล่านี้ทำงานให้สอดคล้องกับแผนยุทธการใหญ่ได้

นั่นก็คือกองทัพต้องสามารถสกัดเอาประสบการณ์จริงของหน่วยทหารออกมาเป็นความรู้ สามารถนำเอาความรู้นั้นมาสังเคราะห์เป็นวิถีทางปฏิบัติที่แน่ชัดแก่ทหารทุกระดับชั้น รวมทั้งสามารถตรวจสอบการปฏิบัติและประเมินแผนการของตัวได้ตลอดเวลา เพราะยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งจะมีประสบการณ์ใหม่ที่ต้องสกัดเอามาเป็นความรู้เพิ่มขึ้นเสมอไป นี่แหละครับคือภูมิปัญญา แต่ไม่ใช่ภูมิปัญญาของบุคคล หากเป็นภูมิปัญญาของสถาบัน

ภูมิปัญญาของสถาบันนั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสังคมไทย ทั้งๆ ที่อาจมีความสำคัญกว่าภูมิปัญญาของบุคคลด้วยซ้ำ เพราะสถาบันย่อมประกอบขึ้นจากหลายส่วน จึงย่อมมีประสบการณ์ที่หลากหลาย และมีปริมาณมากเกินกว่าที่บุคคลใดจะเทียบได้ ปัญหาก็คือบุคคลสามารถนำเอาประสบการณ์ (หรือข้อมูล) ที่ตัวได้รับมาสกัดเป็นความรู้ได้เกือบจะโดยอัตโนมัติ แต่สถาบันไม่อาจทำได้ง่ายๆ อย่างบุคคล จำเป็นต้องสร้างกลไกในทางบริหาร และในทางวัฒนธรรมขององค์กร ที่จะทำให้การสกัดประสบการณ์ออกมาเป็นความรู้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเหมือนบุคคล ยิ่งกว่านี้ยังต้องสังเคราะห์ความรู้นั้นออกมาเป็นวิถีทางปฏิบัติได้อีกด้วย

นอกจากนี้สถาบันจะมีภูมิปัญญาได้จริง ภูมิปัญญานั้นต้องสามารถปรับได้และเปลี่ยนได้ด้วย
ปรับได้ก็คือ แก้ไขให้เหมาะกับสถานการณ์เฉพาะ แม้ในระดับล่างสุดเท่าที่กองทัพจะต้องออกไปปฏิบัติการได้ ปรับแล้วก็กลายเป็นประสบการณ์ใหม่ที่กองทัพต้องเก็บซับเอาไปสกัดเพิ่มในองค์ความรู้ของสถาบัน เปลี่ยนได้คือเพิกถอนบางส่วนขององค์ความรู้ที่มีอยู่ เพื่อรองรับเงื่อนไขที่แปรเปลี่ยนไป แต่ต้องเปลี่ยนโดยรู้ว่ามุ่งหมายจะสำเร็จประโยชน์อะไร ไม่ใช่เปลี่ยนเหมือนลองของไปเรื่อยๆ

กองทัพเป็นสถาบัน แต่สร้างและใช้ภูมิปัญญาของสถาบันน้อย ลองดูง่ายๆ อย่างนี้ก็ได้ เช่น ประสบการณ์ของหน่วยทหารเล็กๆ ที่ออกปฏิบัติการถูกส่งต่อขึ้นไปข้างบนสุดน้อย เพราะมีช่องทางอยู่ทางเดียวที่จะส่งขึ้นไปได้ คือการ "ตรวจราชการ" ของนายใหญ่ และนายใหญ่ซึ่งเป็นบุคคลจะ "ตรวจราชการ" อย่างไรให้ทั่วถึงจนซึมซับเอาประสบการณ์ทั้งหมดไปได้ ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงส่วนที่ซึมซับไปได้ไม่ถูกวิเคราะห์สังเคราะห์ออกมาเป็นองค์ความรู้ ซึ่งก็คือมีความเป็น "สากล" ที่คนอื่นๆ ในสถาบันจะสามารถเรียนรู้ได้ร่วมกัน

ถ้ากองทัพสร้างและใช้ภูมิปัญญาของสถาบันให้มาก ประสบการณ์ส่วนตัวของทหารจะมีความสำคัญน้อยลง เช่นคนที่ไม่มีประสบการณ์ในภาคใต้เลย ก็อาจได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพภาค 4 ได้ เพราะประสบการณ์ของบุคคลที่ไหนจะสู้ประสบการณ์หรือภูมิปัญญาของสถาบันได้ ยกเว้นแต่สถาบันไม่สร้างและใช้ภูมิปัญญาของตัวเท่านั้น ที่ทำให้ต้องพึ่งพิงแต่ภูมิปัญญาของบุคคลอยู่อย่างเดียว

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระหว่างการมีนายทหารเป็นขงเบ้ง แต่มีกองทัพเป็นโลซก กับการมีกองทัพเป็นขงเบ้ง แต่มีนายทหารเป็นโลซก กองทัพอย่างหลังนี้จะรบชนะได้มากกว่า

เมื่อไหร่ที่พูดถึงความรู้ เมืองไทยชอบนึกถึงคอมพิวเตอร์และผลผลิตจากความก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆ นับตั้งแต่นาโนเทคโนโลยีไปจนถึงพืชและสัตว์ตัดต่อพันธุกรรม ทั้งหมดนี้ไม่นำไปสู่ภูมิปัญญา เพราะเป็นเพียง "ประสบการณ์" หรือข้อมูลเท่านั้น แต่ครั้นพูดถึงภูมิปัญญา สังคมไทยก็ให้ความสำคัญแก่ภูมิปัญญาของบุคคลเท่านั้น ไม่ค่อยนึกถึงภูมิปัญญาของสถาบัน ทั้งๆ ที่สถาบันต่างๆ ในเมืองไทยนั้นมีอยู่มากมาย เพียงแค่สร้างและใช้ภูมิปัญญาของสถาบันก็ทำให้เกิดประสิทธิภาพขึ้นได้มาก โดยยังไม่ทันได้ลงทุนซื้อเทคโนโลยีอะไรใหม่สักชิ้นเดียว

ผมควรกล่าวเน้นด้วยว่า ไม่ใช่เฉพาะกองทัพเท่านั้นที่ไม่ได้สร้างและใช้ภูมิปัญญาของสถาบัน แต่สถาบันอื่นๆ อีกมากในสังคมไทยก็ไม่ได้สร้างและใช้ภูมิปัญญาของสถาบันเหมือนกัน ระบบราชการทั้งระบบ มีประสบการณ์ที่หลากหลายจำนวนมาก ที่ไม่เคยถูกสกัดออกมาเป็นองค์ความรู้ ยังไม่พูดถึงการสังเคราะห์ออกมาเป็นวิถีทางปฏิบัติที่ละเอียด รัฐสภา, คณะสงฆ์, หนังสือพิมพ์, ห้องสมุด, สภาวิจัย ฯลฯ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย (ซึ่งกำลังจะมีอายุครบศตวรรษแล้ว) ก็ไม่ต่างจากกัน

ฉะนั้นทุกครั้งที่มีการพูดถึงการปรับปรุงหรือปฏิรูปสถาบันเหล่านี้ จึงเน้นกันแต่การสั่งซื้อเทคโนโลยี และการปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ด้วยอักษรย่อภาษาฝรั่ง ทั้งๆ ที่มีประสบการณ์มากมายกองสุมอย่างอีเหละเขละขละอยู่ในสถาบันเหล่านี้ โดยไม่มีความพยายามจะสกัดเอาความรู้ออกมา สำหรับใช้ในการปฏิบัติงาน และเป็นฐานสำหรับการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดา

4. ควรรู้เท่าทันใครกันแน่
ความรู้เป็นผลผลิตของสังคม หรือสังคมเป็นผลผลิตของความรู้ ?

ผมหมายความว่าเงื่อนไขทางสังคม (เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรม) บีบบังคับให้คนต้องหาความรู้มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในที่สุดอาจพัฒนา (ซึ่งแปลว่าเสื่อมลงก็ได้) กลายเป็น "ศาสตร์" ชนิดหนึ่ง.
หรือในทางตรงกันข้าม ถ้าสังคมใดขาดความรู้บางอย่าง ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นไปในทางที่ปรารถนาได้ จำเป็นต้องมี (ซึ่งแปลว่านำเข้าก็ได้ เรียนรู้เองก็ได้) ความรู้นั้นๆ เสียก่อน จึงจะทำให้สังคมเปลี่ยนไปได้.

คำถามนี้คงเถียงกันนานโดยไม่ได้คำตอบใดคำตอบหนึ่งเด็ดขาดตายตัว เพราะทั้งสองคำถามนี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในทางปฏิบัติเป็นอย่างน้อย แต่ในเมืองไทย ผมเข้าใจว่า เพราะ "ความสำเร็จ" ในสมัย ร.5 ที่เราสามารถทำประเทศให้ทันสมัย ด้วยการนำเอาความรู้จากภายนอกเข้ามาใช้ จึงทำให้เราค่อนข้างจะเชื่อแนวทางที่สองอย่างโดดๆ คือการแสวงหาความรู้ที่เราคิดว่าเกี่ยวข้องและสำคัญเข้ามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคม เราให้ความสนใจน้อยต่อการสร้างเงื่อนไขทางสังคม เพื่อให้เกิดความรู้นั้นๆ หรือเพื่อให้ความรู้ที่เราไปเที่ยวแสวงหามาถูกนำมาใช้จริง

ในชีวิต ผมได้ยินและได้อ่านการผลักดันให้เปิดสอนวิชานั้นวิชานี้ ให้ลงทุนไปในการวิจัยเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือให้ทำหนังสือเผยแพร่วิชานั้นวิชานี้ ฯลฯ ด้วยเหตุผลว่า จะทำให้อุตสาหกรรมไทยได้พัฒนารุ่งเรืองบ้าง ทำให้เขตเมืองของไทยกลายเป็นถิ่นน่าอยู่บ้าง ทำให้ผู้หญิงไทยมีอำนาจและศักดิ์ศรีเทียบเท่าผู้ชายบ้าง ทำให้เกิดอะไรดีๆ อีกร้อยสีพันอย่าง เพียงแต่ว่าขอให้เรามีความรู้ด้านโน้นด้านนี้เถิดเท่านั้นเอง

ครั้งไหนที่มีโอกาสพูด ผมก็พยายามพูดทุกทีว่า ความรู้ในสังคมมันไม่ได้ทำงานของมันเองโดยอัตโนมัติอย่างนั้นหรอก (แม้แต่ในบุคคลยังไม่ได้ทำงานเองโดยอัตโนมัติอย่างนั้นเลย ไม่อย่างนั้นเราจะได้อ่านข่าวท่านมหาปล้ำสีกาหรอกหรือ แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จสักครั้งเลย)

ที่พบเสมอก็คือ ทุกคนในที่ประชุมเห็นด้วยกับผมหมด แล้วก็ลงมติไปในทางที่จะลงทุนกับการแสวงหาความรู้อย่างเดิมนั่นแหละ โดยไม่สนใจเงื่อนไขทางสังคมเลย เท่ากับช่วยยืนยันความคิดของผมอีกที นั่นก็คือความรู้เฉยๆ ไม่พอที่จะเปลี่ยนอะไรได้ เงื่อนไขทางสังคมที่ผูกมัดผู้เข้าร่วมประชุมต่างหากที่เป็นตัวตัดสิน

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ผมเห็นว่าช่วยย้ำความคิดดังกล่าวของผม จึงขอนำมาเล่าใหม่อีกที… นักออกแบบอุตสาหกรรมญี่ปุ่นคนหนึ่งเข้ามาเมืองไทย แล้วพูดในปาฐกถาของเขาถึงความเติบโตของหัตถอุตสาหกรรมจีนว่า แม้ในตอนนี้จีนยังได้แต่รับจ้างทำของ หรือก๊อปผลิตภัณฑ์ของคนอื่นเขาเท่านั้นก็ตาม ถึงกระนั้น ภาคหัตถอุตสาหกรรมของจีนก็ถือว่าใหญ่โตมโหฬารทีเดียว จีนจะก้าวต่อไปในภาคหัตถอุตสาหกรรมก็ต้องสามารถออกแบบอุตสาหกรรมด้วยตนเอง บางคนคิดว่านี่เป็นอุปสรรคสำคัญของจีน เพราะอังกฤษเท่านั้นที่คิดสร้างสรรค์เป็น จีนไม่สามารถทำอย่างนั้นได้

เขาคิดว่าความคิดอย่างนี้เหลวไหลสิ้นดี ทำไมหรือครับ ตรงนี้แหละครับที่สำคัญ เขาบอกว่าความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบอุตสาหกรรมมากับหัตถอุตสาหกรรม ถ้าจีนเข้มแข็งด้านหัตถอุตสาหกรรม ในที่สุดจีนก็จะเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของการออกแบบอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อันที่จริงเขาอาจจะพูดฟังง่ายไปหน่อย จนทำให้มองไม่เห็นกระบวนการสร้างความรู้ที่อยู่เบื้องหลัง ความเข้มแข็งด้านหัตถอุตสาหกรรมทำให้ต้องหาตลาดใหม่ๆ และตลาดใหม่ๆ เกิดขึ้นได้จากการตอบสนองความต้องการที่คนอื่นยังไม่ได้ตอบ ทำให้ต้องสร้างความรู้ทางด้านการออกแบบหัตถอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความรู้เกิดขึ้นจากความจำเป็น (อย่างที่เขาพูดกันว่าความจำเป็นเป็นแม่ของการประดิษฐ์) ถ้าไม่มีความจำเป็นก็ไม่มีใครสร้างความรู้ขึ้น ถึงไปนำเข้ามาจากที่อื่น ก็ไม่มีใครเอาไปใช้

เพราะความรู้ไม่ได้เกิดขึ้นจากคำตอบ แต่เกิดขึ้นจากคำถาม และคำถามไม่เคยลอยมาเฉยๆ แต่มีเงื่อนไขทางสังคมที่ทำให้เราตั้งคำถามอย่างนี้ แทนที่จะตั้งคำถามอย่างโน้น เช่น คนไทยคงไม่มีวันถามว่าทำอย่างไรบ้านจึงจะอุ่น หรือคนไทยคงไม่ถามไปอีกนานว่าจะเพิ่มผลิตภาพของแรงงานอย่างไร เพราะค่าแรงของเราถูก ซ้ำการผลิตยังไม่ต้องการฝีมือแรงงานสูงเสียอีก

ผมเชื่อว่าก้าวต่อไปของจักรยาน ไม่มีทางจะออกแบบในประเทศไทยอย่างแน่นอน สัก 30 ปีมาแล้ว เราเคยเชื่อกันว่า จักรยานเป็นเครื่องกลที่สมบูรณ์ที่สุด หมายความว่าไม่มีทางพัฒนาไปให้ดีกว่านี้ได้ แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมามีการพัฒนาจักรยานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตลอดมา วัสดุศาสตร์ทำให้มนุษย์สามารถผสมโลหะให้เบาแต่เหนียวได้หลายประเภทขึ้น จักรยานชั้นดีจึงมีน้ำหนักลดลง จักรยานที่มีน้ำหนักตัวถังน้อยนั้น ไม่ใช่เหมาะกับการแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้จักรยานกลายเป็นพาหนะที่พาคนขี่ไปได้ไกลขึ้น (แม้ไม่ใช่นักกีฬา) ทำให้การเดินทางด้วยจักรยานเป็นไปได้สำหรับชีวิตคนสมัยปัจจุบัน

รูปทรงของจักรยานซึ่งแต่ก่อนเชื่อว่าสมบูรณ์แล้ว ถูกพัฒนาไปสู่รูปทรงใหม่ เพื่อเพิ่มความเร็ว โดยลดความสูงลงมากลายเป็นนอนถีบ ซึ่งนอกจากลดแรงต้านจากลมแล้วยังช่วยให้ผู้ถีบอยู่ในท่าที่ออกแรงขาได้ถนัดขึ้น (เพราะเฉลี่ยการออกแรงไปยังกล้ามเนื้อหลายมัดของขา) จักรยานแบบใหม่สามารถทำความเร็วได้ถึง 60 ก.ม.ต่อชั่วโมง

เห็นได้ชัดว่า จักรยานเป็นพาหนะสำหรับปัจจุบันและอนาคต ถ้าผู้คนเดินทางด้วยจักรยานเพียงครึ่งเดียวของการเดินทางในโลกปัจจุบัน จะลดปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่กำลังจะจบอารยธรรมของมนุษย์ลงข้างหน้าอย่างมโหฬาร ไม่ใช่เฉพาะปริมาณการเผาไหม้น้ำมันเวลารถวิ่งเท่านั้นนะครับ แต่ต้องคิดเลยไปถึงการผลิตรถยนต์นับตั้งแต่เหมืองแร่เหล็ก และการสังเคราะห์วัสดุอีกนานาชนิดเพื่อใช้ประกอบรถยนต์ รวมทั้งพลังงานที่ต้องใช้สำหรับทำลายหรือเปลี่ยนสภาพขยะรถยนต์เก่าด้วย

แต่จักรยานย่อมถูกพัฒนาขึ้นในสังคมที่เตรียมปัจจุบันสำหรับอนาคตของจักรยาน เช่น ไม่ได้กลัวเพียงแค่น้ำมันปิโตรเลียมจะลดการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กลัวไปถึงความมั่นคงปลอดภัยของมนุษยชาติทั้งหมดว่าจะถูกน้ำมันปิโตรเลียมทำลายลง ฉะนั้น จึงรักษาและส่งเสริมการใช้จักรยานกันมากขึ้น อย่างน้อยก็ในเขตเมือง และผู้คนก็มีวัฒนธรรมการใช้จักรยานกัน โดยได้รับความเคารพจากรถประเภทอื่นและผู้คนอื่นๆ ทั้งหมดนี้ไม่มีในสังคมไทยเลย จึงเป็นไปไม่ได้ที่การพัฒนาจักรยานจะเกิดขึ้นในประเทศไทย

คนไทยไม่ได้ใช้จักรยานตอบสนองการดำเนินชีวิตปกติ อย่างมากก็ขี่จักรยานเพื่อออกกำลังกายเท่านั้น... ฉาบฉวยเกินกว่าจะเป็นฐานทางสังคมให้แก่การสร้างความรู้เพื่อการพัฒนาจักรยานได้ บางคนอาจคิดว่า เพราะวิชาวัสดุศาสตร์ของเรายังไม่เจริญ, ไหนจะฟิสิกส์ด้านการกีฬาและอากาศพลศาสตร์อีกล่ะ, ไหนจะกลศาสตร์ระดับสูง, และเทคนิควิทยาในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ นับตั้งแต่ลูกปืนที่มีแรงเสียดทานน้อยที่สุด ขึ้นไปถึงการออกแบบ ฯลฯ

แต่ผมคิดว่าความรู้ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องเล็กทั้งนั้น ถ้าเรามีคำถามของเราเอง มีความจำเป็นของเราเอง หรือมีพื้นฐานทางสังคมรองรับ ในไม่ช้าเราก็จะไปเสาะแสวงหาความรู้เหล่านี้เข้ามา ซ้ำยังเข้ามาอย่างไม่สะเปะสะปะเสียด้วย เพราะมีคำถามที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า เราอยากได้ความรู้ไปทำอะไร เพียงแค่ถ้ามีคนไทยใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอยู่มากๆ อย่างเดียว ก็สามารถประมวลความรู้เกี่ยวกับจักรยานในสังคมของเราเองขึ้นมาได้มหึมาแล้วล่ะครับ

การพัฒนาความรู้ในสังคมไทยจึงเป็นความรู้ที่ลอยๆ เพราะเราไปเอาคำตอบของสังคมอื่นมาเป็นความรู้ โดยไม่สร้างคำถามของสังคมเราเองขึ้นก่อน เพื่อจะได้สร้างความรู้ของเราขึ้นมาตอบคำถามนั้น และมักไม่มีผลกระทบต่อสังคม นาโนเทคโนโลยีก็ตาม พันธุวิศวกรรมก็ตาม ไม่ได้มาจากคำถามของสังคมไทย แต่เป็นคำตอบคำถามของสังคมอื่น

อย่าลืมนะครับว่า ความหิวในสังคมไทยไม่ได้มาจากการที่เราผลิตอาหารไม่พอ แต่มาจากการจัดการด้านเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ จีเอ็มโอจึงไม่ได้ตอบคำถามของสังคมไทย ถึงเราจะเก่งด้านนี้อย่างไร ก็ไม่ช่วยทำให้คนที่หิวอยู่หายหิวไปได้


 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

ผมโง่งมงายกับความไร้วัฒนธรรมของตัวเองอยู่นานในอาชีพครู นั่นก็คืออ่าน (หรือฟัง) ความหมายของถ้อยคำตรงไปตรงมา โดยไม่เอาวัฒนธรรมเข้ามาช่วยให้ความหมายของภาษาที่นักศึกษาใช้ ฉะนั้น นักศึกษาจึง "ตอบไม่ตรงคำถาม" อยู่เสมอ อีกนานต่อมาผมจึงเพิ่งมาสังเกตเห็นว่า ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาเท่านั้นที่ไม่ยอมตอบคำถามตรงๆ หรือตอบไม่ตรงคำถาม แต่คนไทยที่ผมได้พูดคุยด้วย ล้วนตอบไม่ตรงคำถาม

ภูมิปัญญาของสถาบันนั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสังคมไทย ทั้งๆ ที่อาจมีความสำคัญกว่าภูมิปัญญาของบุคคลด้วยซ้ำ เพราะสถาบันย่อมประกอบขึ้นจากหลายส่วน จึงย่อมมีประสบการณ์ที่หลากหลาย และมีปริมาณมากเกินกว่าที่บุคคลใดจะเทียบได้ ปัญหาก็คือบุคคลสามารถนำเอาประสบการณ์ (หรือข้อมูล) ที่ตัวได้รับมาสกัดเป็นความรู้ได้เกือบจะโดยอัตโนมัติ แต่สถาบันไม่อาจทำได้ง่ายๆ อย่างบุคคล จำเป็นต้องสร้างกลไกในทางบริหาร และในทางวัฒนธรรมขององค์กร ที่จะทำให้การสกัดประสบการณ์ออกมาเป็นความรู้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเหมือนบุคคล ยิ่งกว่านี้ยังต้องสังเคราะห์ความรู้นั้นออกมาเป็นวิถีทางปฏิบัติได้อีกด้วย (นิธิ เอียวศรีวงศ์ - คัดลอกมาจากบทความ)

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความที่ผ่านมา เกี่ยวกับการศึกษาของสงฆ์ สนใจให้คลิกไปอ่านได้จากที่นี่...