ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
160748
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 613 หัวเรื่อง
อนาคตของอาหาร
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : แปล
นักแปล และนักวิชาการอิสระ
บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's free article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 30,779 สูงสุด 51,792 สำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

เรื่องของพืชตัดต่อพันธุกรรม
อนาคตของอาหาร (๑) : อนาคตของมนุษยชาติ
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : เขียน

นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระ

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นการแปลมาจากบทบรรยาย DVD เรื่อง
The Future of Food : There's a revolution happening
A film by Deborah Koons Garcia

เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)


 


บทภาษาไทย
อนาคตของอาหาร (The Future of Food)

ตอนที่ ๑
เราเคยเป็นชาติกสิกรรม แต่ในปัจจุบันน้อยกว่าร้อยละ 2 ของประชากรในสหรัฐฯ เป็นกสิกร พวกเราหลายคนไม่รู้จักรสชาติของการเป็นกสิกร

มากกว่า 12,000 ปีที่แล้ว มนุษย์เริ่มรู้จักปลูกพืชและเก็บสะสมเมล็ดพันธุ์ ในขณะที่เกษตรกรรมรุ่งเรืองขึ้น อารยธรรมก็ก่อกำเนิด. ในประเทศจีนเคยมีการปลูกข้าวมากมายหลายพันสายพันธุ์ มีการปลูกมันสำปะหลังมากกว่า 5,000 สายพันธุ์ทั่วโลก. เฉพาะในสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 19 มีการปลูกแอปเปิ้ลมากกว่า 7,000 สายพันธุ์

ในศตวรรษที่ 20 โฉมหน้าของเกษตรกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก. การคิดค้นระเบิดไนโตรเจนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นพื้นฐานให้มีการคิดค้นการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน. ก๊าซทำลายประสาทซึ่งพัฒนาขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกดัดแปลงและผลิตให้เป็นยาฆ่าแมลง ดีดีทีเป็นวีรบุรุษในยุคนั้น เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ความหวังว่าผลิตภาพจะดีขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ราคาถูกลงและมีปริมาณมากขึ้น

จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 เทคโนโลยีเหล่านี้ซึ่งพัฒนาขึ้นพร้อมกับการผสมพันธุ์พืช ทำให้เกิดการปฏิวัติเขียว
"ผมคิดว่าผู้ที่คิดค้นการปฏิวัติเขียวในยุคแรกเป็นผู้ที่มีจิตใจดี เพราะมีคนกำลังอดตายทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานมาแล้ว สิ่งที่พวกเขาคิดคือการจัดระบบให้กับเกษตรกรรม เหมือนกับที่ทำกับอุตสาหกรรมในช่วงศตวรรษที่ 18 และคิดค้นระบบหนึ่งเดียวที่ใช้ได้ทั่วโลกเพื่อแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมานาน"

ในช่วงหลายทศวรรษต่อมา ผลิตภาพสูงขึ้นมากมาย ปีแล้วปีเล่า มีการปลูกพืชผลเพียงชนิดเดียวในพื้นที่หลายร้อยพันไร่
เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวแบบนี้ทำให้เกิดสุญญากาศทางนิเวศที่ทำให้แมลงและโรคเกิดขึ้นได้ การปลูกพืชแบบเดียวกันเช่นนี้เคยทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงที่สุด

ในช่วงศตวรรษที่ 18 มีการปลูกมันสำปะหลังไม่กี่สายพันธุ์ในไอร์แลนด์ เมื่อมันสำปะหลังติดโรคก็ทำให้คนตายไปล้านคน เมื่อไวรัสจากมันสำปะหลังแบบเดียวกันแพร่ไปถึงเปรู ก็ทำให้เกิดหายนะมากมาย ทุกวันนี้ มีมันสำปะหลังเพียงสี่สายพันธุ์ที่ปลูกกันทั่วโลก. ร้อยละ 97 ของพันธุ์ผักที่ปลูกกันในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สูญพันธุ์ไปแล้ว

การปลูกพืชที่มีสายพันธุกรรมแบบเดียวกัน ทำให้พืชอ่อนแอต่อแมลงและโรค ชาวนาติดอยู่ในกับดักยาฆ่าแมลง ยิ่งฉีดมากเท่าไร ก็ยิ่งฉีดมากขึ้นเท่านั้น. การใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และยาฆ่าวัชพืชเพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ทำให้อากาศเสีย และเป็นอันตรายต่อคนงาน

ในช่วงทศวรรษ 1970 บริษัทมอนซานโต้วางตลาดสารเคมียี่ห้อราวน์อัพ ยาชนิดนี้สามารถฆ่าหญ้าได้มากมาย จึงเป็นที่นิยมมาก. ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 การพัฒนาที่มีพื้นฐานจากเทคโนโลยีการแทรกพันธุกรรม ทำให้การปฏิวัติเขียวเปลี่ยนเป็นการปฏิวัติพันธุกรรม. มอนซานโต้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อปรับปรุงให้เกิดเมล็ดที่ต้านทานยาราวน์อัพได้ ปรกติยาราวน์อัพจะฆ่าพืชสีเขียวทุกชนิด แต่เมื่อมีการปรับปรุงพันธุ์ จะทำให้ต้านทานยาชนิดนี้ได้ ตอนนี้บริษัทที่เคยขายแต่ยาฆ่าวัชพืช ก็เริ่มขายเมล็ดพันธุ์ด้วย

"ในยุคก่อนนั้น ชาวนาปลูกพืชผลโดยใช้ยาฆ่าวัชพืชเท่าที่จำเป็น แต่โดยทั่วไปพวกเขามักไม่ได้ใช้ยาเหล่านี้ แต่ตอนนี้เวลาปลูกพืชผลต่าง ๆ ชาวนาก็ต้องเตรียมยาฆ่าวัชพืชไว้ให้พร้อมเพื่อฉีดลงไป" มอนซานโต้ยังผลิตข้าวโพดบีที และจดทะเบียนข้าวโพดชนิดนี้เป็นยาฆ่าแมลงอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เพราะทุกเซลของข้าวโพดบีทีผ่านการปรับปรุงด้านวิศวกรรม ให้ผลิตสารบีทีมีพิษต่อจุลินทรีย์ ถ้าหนอนข้าวโพดกินส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นข้าวโพดชนิดนี้ มันจะตาย

"ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เราไม่ได้แค่ใส่สารเคมีเข้าไปในอาหาร เราสามารถจัดการระบบอุตสาหกรรมพืชได้ถึงระดับเซล"

หนึ่งในสิ่งที่ถกเถียงกันมากที่สุดของการปฏิวัติพันธุกรรมคือการจดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์. แอนดรู คิมเบรล ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหาร กล่าวว่า "ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ทางกรมสิทธิบัตรและรัฐสภาไม่เคยอนุญาตให้จดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ด้วยเหตุผลที่ดีบางอย่าง"

สิทธิในการจดสิทธิบัตรได้รับการรับรองในมาตราที่ 1 ของรัฐธรรมนูญ แต่มีการยกเว้นการจดสิทธิบัตรพืชผลทางการเกษตร ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม

ในช่วงต้นทศวรรษ 1930 นักผสมพันธุ์พืชเริ่มได้รับสิทธิบัตรต่อผลงานของตนเอง แต่สิทธิเหล่านี้ไม่ครอบคลุมถึงพืชในรุ่นต่อมา "ชัดเจนว่าเวลาที่คุณจดสิทธิบัตรไม้เทนนิสแทนที่จะจดเห็ดหวาน คุณต้องอธิบายลักษณะของมันได้อย่างชัดเจน เวลาที่จดทะเบียนกับกรมสิทธิบัตร แต่เป็นไปได้อย่างไรที่เราจะอธิบายถึงลักษณะของพืชในรุ่นต่อมาที่อาจเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์ไปได้"

ในปี 2521 ดร. อนันท์ จักรพาติเอาสิ่งมีชีวิตชนิดแรกไปจดสิทธิบัตรกับกรมฯ
"ดร. อนันท์เคยเป็นวิศวกรให้กับบริษัทเจนเนอรัลอิเลคทริก เขาเป็นคนคิดค้นจุลินทรีย์ที่สามารถกินน้ำมันได้ และต้องการจดสิทธิบัตรกับกรมฯ แต่ทางกรมฯ บอกว่าไม่ให้ เราไม่สามารถให้สิทธิบัตรกับส่วนหนึ่งที่เป็นของธรรมชาติได้ คุณอาจจะจดสิทธิบัตรไม้ตีเทนนิส หรือเครื่องปิ้งขนมปังได้ แต่เราไม่ยอมจดสิทธิบัตรส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่บริษัทเจนเนอรัลอิเลคทริก และดร.อนันท์ต้องการสู้ และสู้ไปจนถึงศาลฎีกา และด้วยชัยชนะเพียงหนึ่งเสียง พวกเขาบอกว่าทางบริษัทสามารถจดทะเบียนสิทธิบัตรจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมได้ ที่น่าสนใจก็คือ ไม่มีการใช้จุลินทรีย์ชนิดนี้จริง แม้ว่ามันสามารถจะกินน้ำมันหรือช่วยกำจัดชั้นของน้ำมันที่ปนเปื้อนในน้ำ มันก็กินอย่างอื่นในน้ำเป็นอาหารข้างเคียงไปด้วย"
ประตูเปิดออกสำหรับพันธุวิศวกรรม

ในช่วงรัฐบาลเรแกน พวกเขาเลยบอกว่า "'งั้นก็ต้องจดสิทธิบัตรสัตว์ด้วย จากนั้นก็พันธุกรรมมนุษย์ และอวัยวะของมนุษย์ "ผมคิดว่าสิ่งที่บริษัทเหล่านี้อยากจะบอกก็คือ "เราต้องการจดสิทธิบัตรยีน ไม่ว่าเราจะเอายีนนั้นไปแทรกไว้ที่ไหน เราเป็นเจ้าของทุกอย่างที่เราเอายีนไปใส่ไว้ ถ้าเราเอาไปใส่ในต้นไม้ ต้นไม้นั้นก็จะกลายเป็นของเราไปด้วย ถ้าไปใส่กับสัตว์ เราก็เป็นเจ้าของสัตว์ เขาอาจจะบอกว่าถ้าเอาไปใส่มนุษย์ พวกเขาก็เป็นเจ้าของมนุษย์ได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหากับรัฐธรรมนูญแต่พวกเขาต้องการจดสิทธิบัตรกับยีนเหล่านั้นอย่างชัดเจน"

ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการลงมติเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตโดยประชาชนหรือรัฐสภาในสหรัฐฯ เลย. "อันที่จริงมันเหมือนกับการให้อำนาจอย่างล้นเหลือกับบรรษัท อำนาจในการครอบครอง ควบคุมสิ่งมีชีวิตในโลก"

ในขณะที่บรรษัทพยายามจดสิทธิบัตรทุกสิ่งในโลก พวกเขาก็เริ่มคืบหน้าไปอีกด้านหนึ่ง
"เริ่มจากประมาณปี 2538 ตลาดหุ้นขยายตัวขึ้น มอนซานโต้ซื้อกิจการบริษัทเมล็ดพันธุ์ ส่วนดูปองต์ซื้อบริษัทไพโอเนียร์ บริษัทยาฆ่าแมลงในสหรัฐฯ ซื้อกิจการบริษัทเมล็ดพันธุ์ด้วยจุดมุ่งหมายบางอย่าง"

มอนซานโต้ ใช้เงิน 8 ล้านเหรียญเพื่อซื้อบริษัทเมล็ดพันธุ์ และในช่วงทศวรรษ 1990 บรรษัทต่าง ๆ เริ่มจดสิทธิบัตรไม่เฉพาะเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ แต่รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้ผ่านพันธุวิศวกรรมด้วย โดยมีเงื่อนไขเดียวว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่เคยจดสิทธิบัตรมาก่อน

"ความดีอย่างหนึ่งของรัฐบาลคือการเก็บสะสมเมล็ดพันธุ์เพื่อคุ้มครองความหลากหลาย แต่สิ่งที่บริษัทเหล่านั้นทำคือการไปที่ธนาคารเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ ค้นหาว่ามีเมล็ดพันธุ์ใดยังไม่จดสิทธิบัตร แล้วพวกเขาก็จดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ถ้าพวกเขาเป็นคนแรกที่ไปจดสิทธิบัตรกับกรมฯ พวกเขาก็จะได้สิทธิบัตรนั้นไป"

ประมาณกันว่ามอนซานโต้เป็นเจ้าของสิทธิบัตร 11,000 รายการ. "ทำไมบรรษัทต้องทำแบบนี้ เพราะพวกเขาจะสามารถครอบครองเมล็ดพันธุ์และใช้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นเพื่อทดแทนเมล็ดพันธุ์ชนิดอื่นและเป็นเจ้าของตลาดไป"

ในแคนาดา คำถามต่อการจดสิทธิบัตรเกี่ยวข้องโดยตรงกับไร่นาของนายเพอร์ซี่ ชไมเซอร์
(เพอร์ซี่ ชไมเซอร์ มณฑลซัสเคชาวัน แคนาดา) "ผมทำนามา 53 ปี และที่ผ่านมาผมปลูกมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี คาโนลา โอ๊ต และถั่วลิสง ตรงส่วนนี้เป็นข้าวสาลี และที่ด้านหลังผมเป็นคาโนลาหรือเรดสีปอย่างที่พวกเขาเรียกกันในยุโรป ตอนที่รุ่นปู่ย่าเรามาที่ประเทศนี้ ยังไม่มีบริษัทเคมีหรือบริษัทเมล็ดพันธุ์ พวกเขาต้องพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของตัวเอง หยิบยืมเมล็ดพันธุ์จากเพื่อนบ้าน หรือเอาติดตัวเข้ามาตอนที่เดินทางมาจากยุโรป"

เพอร์ซี่มีชื่อเสียงในแถบนี้ของแคนาดาในฐานะนักพัฒนาและสะสมเมล็ดพันธุ์
"ผมพูดได้ว่าเมล็ดพันธุ์และพันธุ์พืชดีที่สุดที่มีอยู่ ไม่ได้พัฒนาจากห้องวิจัย หรือจากนักวิทยาศาสตร์ แต่พัฒนาโดยชาวนาของเรานี่แหละ"

ในปี 2540 เพอร์ซี่ฉีดพ่นยามอนซาโต้ราวน์อัพที่เสาไฟฟ้าและรอบ ๆ เหมือนที่เคยทำมาเป็นเวลาหลายปี และพบว่าต้นคาโนลาบางต้นไม่ตาย

"ผมคงรู้ว่ามีต้นไม้บางต้นไม่ตาย เพราะผมเคยฉีดยาแถวนั้นมาหลายปีแล้ว และที่ผ่านมาบริษัทเคยเตือนว่าไม่ควรฉีดทุกปี เพราะจะทำให้ดื้อยา มอนซาโต้รู้เรื่องนี้เข้า พวกเขามาที่ไร่ของผมโดยไม่บอกให้ผมรู้ และไม่ขออนุญาต ทั้งพวกเขายังเอาต้นไม้หรือเมล็ดไปด้วย แล้วมาบอกว่าบางส่วนเป็นต้นคาโนลาที่พัฒนาขึ้นที่เรียกว่ามอนซานโต้ราวน์อัพเรดดี้ วันที่ 6 สิงหาคม 2541 พวกเขาก็ฟ้องร้องผม"

มอนซานโต้อ้างว่าเพอร์ซี่ได้รับเมล็ดพันธุ์คาโนลาที่ดัดแปลงพันธุกรรมแล้วทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต และละเมิดสิทธิบัตรของพวกเขา

(ทนายของนายเพอร์ซี่ ชไมเซอร์) "ในประวัติศาสตร์ เราจดสิทธิบัตรกับสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น คาร์บิวเรเตอร์ แต่ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ จะมีการผลิตคาร์บิวเรเตอร์ขึ้นมาแล้วก็ใช้กันทั่วไป ถ้าอย่างนั้นใครที่เอาคาร์บิวเรเตอร์ไปใช้ก็คงจะต้องถูกฟ้องว่าละเมิดสิทธิบัตรน่ะสิ อันนี้เป็นลักษณะพิเศษของเทคโนโลยีแบบนี้ เมื่อมีการเผยแพร่มันออกไป เราก็ไม่อาจควบคุมหรือจำกัดได้ มันจะแพร่ไปทั่ว"

"ก่อนการไต่สวนหลัก มอนซานโต้ถอนข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อผมที่ว่าผมได้เมล็ดมาอย่างผิดกฎหมาย พวกเขาบอกว่าไม่สนใจว่าเมล็ดเหล่านั้นมาอยู่ในที่ดินของผมได้อย่างไร ถึงอย่างไรผมก็เป็นคนละเมิดสิทธิบัตรอยู่ดี ที่ของผมอยู่ด้านตะวันออกของถนนหลัก ลมจึงพัดมาทางนี้เป็นส่วนใหญ่ เป็นธรรมดาที่เมล็ดคาโนลาอาจจะปลิวจากรถบรรทุกมาที่ที่ของผม มีเพื่อนเกษตรกรคนหนึ่งบอกผมว่าตอนที่เขาขับรถบรรทุกใส่เมล็ดคาโนลาราวน์อัพเรดดี้ผ่านที่ผม ผ้าคลุมรถฉีกออก และเขาคิดว่าคงมีเมล็ดรั่วออกมาเป็นระยะทาง 2 ไมล์ตลอดแนวที่ของผมที่มีอยู่ 5,000 ไร่"

"ผมคิดว่าประเด็นหลักในคดีนี้คือ เราจะขีดเส้นแบ่งระหว่างประชาชนและบริษัทผู้ผลิตและเสนอเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างไร เส้นแบ่งที่ถูกขีดขึ้นมามักเลยเข้าไปอยู่ในเขตที่ดินของชาวนา ทั้ง ๆ ที่เส้นแบ่งที่ขีดขึ้นควรจะช่วยให้ชาวนามีสิทธิปลูกพืชผลต่อไป และสามารถสะสมและนำเมล็ดของตนเองมาใช้ใหม่ได้ พวกเขาควรจะ ซื้อเมล็ดพันธุ์ทั่วไปจากเพื่อนบ้านได้เหมือนในอดีต โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของใคร"

"ในปี 2542 ตอนที่ผมจะหว่านเมล็ดคาโนลา ทนายห้ามไม่ให้ผมใช้เมล็ดพันธุ์เก่าอีกครั้ง เพราะผมรู้แล้วว่ามันปนเปื้อนด้วยเมล็ดคาโนลาจีเอ็มโอของมอนซานโต้ เป็นเมล็ดที่ปรับตัวเข้ากับพื้นที่แถบนี้แล้ว และสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงและทนทานต่อโรคต่าง ๆ"

เพอร์ซี่ทำลายเมล็ดเกือบ 1,000 ปอนด์ ซึ่งเป็นเมล็ดที่เขาและภรรยาพัฒนาขึ้นมาเป็นเวลาหลายสิบปี
"การฟ้องร้องและการสูญเสียเมล็ดพันธุ์เป็นปัญหาหนักหน่วงที่สุดที่พวกเราเคยเจอ"
(ภรรยาของนายเพอร์ซี่ ชไมเซอร์) "มอนซานโต้มาตามดูผลงานที่เราทำมาตั้งหลายปี และเขาต้องการขโมยผลงานเหล่านั้นไป ผมคงทำแบบนั้นไม่ได้ ผมคงไม่เข้าไปที่สำนักงานและเอาของในนั้นเพื่อไปประกอบในการฟ้องร้องคดี แต่นี่พวกเขาเข้ามาและทำอะไรก็ได้กับพวกเราชาวนา เหมือนกับพวกเขาเป็นเจ้าของอะไรทำนองนั้นแหละ มันน่าเสียใจมาก ผมรู้สึกเหมือนพวกเขาขโมยสิทธิของผมไป ขโมยความเป็นส่วนตัว เราไม่ได้เป็นรายเดียวที่ถูกทำแบบนี้ ยังมีอีกหลายราย ทำไมพวกเขามาฟ้องร้องชาวนาเล็ก ๆ มากมาย ทั้ง ๆ ที่เรามีอยู่แค่ 2-3 พันคน แต่พวกเขาเป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ทำไมล่ะ เขาทำเพราะความโลภหรือเพราะต้องการควบคุมเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด"

เพอร์ซี่ไม่ใช่ชาวนารายเดียวที่ถูกมอนซานโต้กล่าวหา
(รอดนีย์ เนลสัน เกษตรกรในรัฐนอร์ธดาโกต้า) "ในฤดูร้อนปี 2543 ผมและครอบครัวคุยกันว่า มอนซานโต้ไม่สุภาพเลยที่ไม่เคยส่งจดหมายหาเรา หรือขอบคุณเราที่ร่วมมือในการสอบสวนเกี่ยวกับธุรกิจของพวกเขา และเราต้องตกใจเมื่อปลายกรกฎาคม ปี 2543 เราได้รับจดหมายจากบริษัทกฎหมายในนิวออร์ลีนส์ซึ่งเป็นทนายให้กับมอนซานโต้ พวกเขากล่าวหาว่าเราละเมิดสิทธิบัตร ชาวนาที่ถูกกล่าวหาแบบนี้ทุกรายในสหรัฐฯ ที่ผมได้คุยด้วย เจอกับชะตากรรมคล้าย ๆ กัน พวกเขาเข้ามาในที่ของเราเพื่อตรวจสอบพืชพันธุ์ ชาวนาเราก็เปิดเผยพอ และคิดว่าเขาคงพบความจริงว่าเราไม่ได้ปลูกพืชของพวกเขาอย่างที่กล่าวหา"

"แต่แล้วอีกหนึ่งปีต่อมาพวกเขาก็กล่าวหาเรา ทำให้เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปเก็บตัวอย่างพืชเพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาของพวกเขา มอนซานโต้บอกว่าได้สุ่มตัวอย่างในพื้นที่ 9,625 ไร่ที่เราปลูกถั่วเหลือง แสดงว่าคนที่สุ่มตัวอย่างต้องเก็บตัวอย่างอย่างต่อเนื่องทุก 20 วินาที หลังจากพบว่าจากปากคำที่เราให้ ข้อกล่าวหาของเขายังไม่มีน้ำหนักมากพอ พวกเขาก็เลยเปลี่ยนเรื่องและบอกว่าพวกเขาสุ่มตัวอย่างไปแค่นิดหน่อยจากแต่ละไร่ ผมคิดว่าพวกเขาคงโกหกตั้งแต่แรกเพื่อรีดไถเงินจากเรา หรือไม่ก็กำลังโกหกตอนนี้"

ประมาณกันว่ามอนซานโต้ส่งจดหมาย 9,000 ฉบับไปยังชาวนา ซึ่งส่วนใหญ่ยอมจ่ายเงินเพื่อไม่ให้มีการฟ้องร้องคดี ถึงอย่างนั้นก็ทำให้เกิดคดีขึ้นมาอย่างน้อย 100 คดีเฉพาะในสหรัฐฯ เมื่อชาวนายอมประนอมคดีกับมอนซานโต้ พวกเขาต้องตกลงไม่พูดถึงรายละเอียดของการประนอมคดี

"มอนซานโต้ทำประวัติของเราเพราะเรามีที่ดินมาก พวกเขาต้องการเชือดไก่ให้ลิงดูเพื่อไม่ให้ชาวนารายอื่นสะสมเมล็ดพันธุ์ต่อไป ทำให้พวกเขากลัว" ร้อยละ 75 ของเกษตรกร 1,400 ล้านคนทั่วโลกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะสมมาเพื่อการเพาะปลูกเป็นหลัก

(นายเพอร์ซี่ ชไมเซอร์ แคนาดา) "หลังจากนั้นคดีก็ไต่สวนในศาลเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง และมอนซานโต้ทำให้ผมต้องไปขึ้นศาลและพากองเชียร์มาเป็นจำนวนมาก เขาทำทุกอย่างเพื่อทำลายผม พวกเขาทำให้เราต้องใช้เงินจากกองทุนบำนาญที่เรามีอยู่ไปเกือบทั้งหมด เพราะถึงปัจจุบันเราต้องเสียเงินไปแล้วเกือบ 200,000 เหรียญ"

(ภรรยาของนายเพอร์ซี่ ชไมเซอร์) "ลูกชายฉันเลยบอกว่า "แม่และพ่อ ผมหวังว่าพวกเขาคงไม่ชนะเรา พวกเขาต้องการทำลายเรา แต่ผมหวังว่าเราจะเข้มแข็งและจะผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ เขาบอกว่านี้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้เพื่อต่อสู้กับบริษัทขนาดใหญ่"

(นายเพอร์ซี่ ชไมเซอร์) "มอนซานโต้เริ่มทำสงคราม จากการฟ้องร้องชไมเซอร์จนไปถึงการฟ้องร้องการละเมิดสิทธิบัตรคดีอื่น" "มีคนถามผมมากว่าทำไมไม่ยอมประนอมคดี ซึ่งผมอาจทำได้เพียงแค่ยอมเจ็บเนื้อนิดหน่อยหรือโดนปรับแค่ไม่กี่พันเหรียญ แต่ผมพูดกับภรรยาและบอกว่า "ดูสิ พวกเขาทำลายเมล็ดพันธุ์ของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำมาในช่วง 50 ปีนี้ ถ้าผมยอมเซ็นหนังสือยอมรับว่าปลูกเมล็ดคาโนลาจีเอ็มโอโดยไม่มีใบอนุญาต ทั้ง ๆ ที่เราใช้เมล็ดของเราเอง และไม่เคยยุ่งกับใคร ถ้าอย่างนั้นผมคงสู้หน้ากับตัวเองไม่ได้"

"มันเหมือนเป็นการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของผม บรรพชนของผมสร้างระบบไว้ตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนศตวรรษที่แล้ว เพื่อปลดแอกจากการควบคุมของระบบศักดินา แล้วนี่เราจะถอยหลังเข้าคลองหรือ เราจึงบอกว่า "ไม่" เราจะสู้ เราจะยืนหยัดในสิ่งที่เราเชื่อ"

"แล้วผู้พิพากษามีคำตัดสินอย่างไรหลังจากไต่สวนกันมาสองสัปดาห์ครึ่ง เขาบอกว่าเขาไม่สนใจว่าทำไมเมล็ดจีเอ็มโอของมอนซานโต้จึงมาอยู่ในไร่ของผมได้ เขาบอกต่อว่า ไม่ว่าเมล็ดนั้นเป็นผลมาจากการผสมข้ามพันธุ์หรือมันถูกลมพัดเข้ามา หรือถูกนก ผึ้ง แมลงต่าง ๆ นำเข้ามา หรือมันอาจจะกระเด็นตกจากรถบรรทุกหรือรถยนต์ของผมเองก็แล้วแต่ มันไม่สำคัญหรอก เพราะตราบใดที่มีพืชชนิดนี้อยู่ในที่ของผม เท่ากับว่าผมละเมิดสิทธิบัตรของมอนซานโต้ แม้ว่าผมไม่อยากให้มีเมล็ดชนิดนี้อยู่ในที่ของผมก็ตาม

และที่สำคัญกว่านั้นเขาเขียนว่า "เกษตรกรที่ปลูกพืชทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นพืชชนิดไหน เป็นต้นไม้ หรือเป็นเมล็ดพันธุ์ หากมีการผสมข้ามพันธุ์กับยีนของมอนซานโต้โดยที่เราไม่ตั้งใจ และยังทำลายพืชของเราเองด้วย พืชของเราก็จะตกเป็นสมบัติของบริษัทมอนซานโต้เช่นเดียวกัน"

"คิดดูสิว่ามันจะมีผลกระทบต่อเกษตรกรทั่วโลกอย่างไร เกษตรกร ชาวสวน และทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสิ่งมีชีวิต ประเด็นที่สามของผู้พิพากษาก็คือ เรื่องที่ผมไม่เคยใช้สิทธิบัตรของมอนซานโต้ ผมไม่เคยใช้สูตรยาฆ่าหญ้าราวน์อัพเรดดี้ของมอนซานโต้กับพืชของผมเลย แต่เขาเขียนว่า "นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ" เขาบอกว่าที่สำคัญคือมีพืชเหล่านั้นอยู่ในที่ของผม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการให้น้ำหนักกับกฎหมายสิทธิบัตรเหนือสิทธิเกษตรกร"

(ทนายความของนายเพอร์ซี่ ชไมเซอร์) "ถ้าคุณมาดูไร่คาโนลาซึ่งครึ่งหนึ่งปลูกแบบใช้เมล็ดจีเอ็มโอและอีกครึ่งหนึ่งเป็นเมล็ดธรรมดา คุณจะไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างพืชทั้งสองชนิดได้ มันโตขึ้นมาแบบเดียวกัน มีพฤติกรรมแบบเดียวกัน เราจะพบความแตกต่างได้เมื่อคุณลองพ่นยาราวน์อัพ เพราะมันจะทำให้คาโนลาตามธรรมชาติของคุณตาย ในขณะที่คาโนลาของมอนซานโต้จะไม่ตาย"

(ข่าวพาดหัว "ผู้พิพากษาแคนาดาบอกการปรับเงินของเกษตรกรโดยมอนซานโต้ เป็นเรื่องเลวร้าย")
(นายเพอร์ซี่ ชไมเซอร์) "ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาผมได้รับโทรศัพท์ประมาณ 100 กว่าสายเป็นอย่างน้อย เกี่ยวกับผู้ที่มีคาโนลาจีเอ็มโอในที่ของพวกเขา ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ผมพูดได้ว่าแทบไม่มีไร่แห่งไหนในเขตตะวันตกของแคนาดา ที่ไม่ปนเปื้อนด้วยเมล็ดคาโนลาจีเอ็มโอของมอนซานโต้"

(ในเดือนพฤษภาคม 2547 ศาลฎีกาแคนาดาตัดสินด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 ว่านายเพอร์ซี่ละเมิดสิทธิบัตรของมอนซานโต้)

(เฟรด เคอร์เซนแมน เกษตรกรและผู้อำนวยการศูนย์ลีโอโปลเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน) "ชุมชนเกษตรกรรมของเรามีหลักจริยธรรมบางอย่างอยู่ และผมเติบโตขึ้นมากับจริยธรรมเช่นนั้น ซึ่งบอกว่าถ้าผมจะทำการเกษตรใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบในด้านลบต่อไร่นาของเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ถ้าผมตัดสินใจเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อพืชผลของเพื่อนบ้าน ผมก็มีหน้าที่ต้องสร้างรั้วล้อมปศุสัตว์ไว้ มันไม่ใช่หน้าที่ของเพื่อนบ้านผมที่จะสร้างรั้วป้องกันพืชผลของเขาเอง"

"แต่ระบบที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ผมต้องรับผิดชอบสร้างรั้วป้องกันเทคโนโลยีที่จะทำลายพืชผลของผม และคุณก็รู้ว่าเราไม่มีทางสร้างรั้วได้สูงมากพอเพื่อป้องกันผลกระทบเหล่านั้น และเรารู้เป็นอย่างดีแล้ว"

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดพัฒนากลไกอันซับซ้อนในช่วงหลายล้านปี เพื่อปกป้องตนเองจากการรุกรานของดีเอ็นเอที่แปลกปลอม นักพันธุวิศวกรรมต้องหาทางเอาชนะกำแพงปกป้องสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ เพื่อให้สามารถสอดแทรกยีนเข้าไปในพืชหรือสัตว์ได้ เมื่อเริ่มมีพันธุวิศวกรรมเมื่อ 30 ปีก่อน พวกเขาเชื่อว่ายีนหนึ่งชนิดจะมีรูปแบบอย่างเดียว การเอาดีเอ็นเอผสมข้ามกันจะมีความปลอดภัย เมื่อสามารถเอาชนะอุปสรรคที่ขัดขวางการข้ามพันธุ์ได้

"เทคนิคใหม่ของชีวโมเลกุลช่วยให้เราเอาชนะรูปแบบทั่วไปของวิวัฒนาการได้"

(การประชุมที่เมืองอัซซีโลเมอร์ แคลิฟอร์เนีย ปี 2518) ในปี 2518 มีการจัดประชุมผู้ริเริ่มด้านวิศวพันธุกรรม เพื่อพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัย และจริยธรรมของการวิจัยการทดลองผสมข้ามยีนที่เพิ่งถูกค้นพบ นักชีววิทยาบางส่วน เรียกร้องให้มีการยุติการวิจัยชั่วคราว จนกว่าจะมีการวิจัยด้านความปลอดภัยอย่างดีพอแล้ว

"ไม่มีใครรู้ว่าการทดลองนั้นจะทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างไรบ้าง เพราะไม่เคยมีการทดลองเรื่องนี้มาก่อน" ผู้เข้าร่วมประชุมลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับคำสั่งห้ามชั่วคราว แต่สัญญาว่าจะเก็บรักษาดีเอ็นเอลูกผสมและสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรมแล้วไว้อย่างปลอดภัยในห้องทดลอง

ในปัจจุบันทั้งเทคโนโลยีชีวภาพด้านเกษตรกรรมและการแพทย์ ต้องพึ่งพากับพันธุวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพด้านการแพทย์ช่วยให้มีการผลิตอุปกรณ์เพื่อช่วยชีวิตหลายอย่าง เวชภัณฑ์เหล่านี้ผลิตขึ้นภายใต้ห้องทดลองที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ตามลักษณะพันธุกรรมแล้ว พืชที่ผ่านการดัดแปลงจะสามารถแพร่พันธุ์ และเมื่อแพร่เข้าสู่สิ่งแวดล้อมจะไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งไม่เหมือนกับยาชนิดต่าง ๆ

(ข้อมูลจากสภาเพื่อผลิตข้อมูลให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ) "การใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อผลิตอาหารไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเวลาเกือบ 6,000 ปีมาแล้วมนุษย์เรารู้จักใช้ยีสต์และสิ่งมีชีวิตเพื่อทำผงฟู ในทำนองเดียวกับการผลิตเบียร์และไวน์"

(แอนดรู คิมเบรล ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหาร) "ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สิ เปล่า นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด พันธุวิศวกรรมเป็นการปฏิวัติการผลิตอาหารอย่างถอนรากถอนโคน เป็นเทคโนโลยีที่รุกรานเซลอย่างที่เขาบอกว่า สามารถเอายีนชนิดหนึ่งใส่เข้าไปในมะเขือเทศ เพื่อให้มะเขือเทศทนทานกับอากาศหนาวได้ ถ้ามีคนถามว่าแล้วเราจะเอายีนของดอกไม้ชนิดนั้นใส่เข้าไปในมะเขือเทศอย่างไร มันเข้าไปได้อย่างไร สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ก็จากการรุกรานเซลของมะเขือเทศ และฝังยีนของดอกไม้เข้าไป แล้วอะไรที่จะเป็นตัวที่ใช้รุกรานเซลได้ดีล่ะ ก็เชื้อบัคเตรีและไวรัสไงล่ะ"

หลังจากวิจัยมา 12 ปี มอนซานโต้พบว่า เชื้อบัคเตรีในดินมีความต้านทานตามธรรมชาติต่อยาฆ่าหญ้าราวน์อัพ เขาจึงใช้พันธุวิศวกรรมเพื่อเอาดีเอ็นเอของบัคเตรีเหล่านั้นใส่ลงไปในพืชชนิดต่าง ๆ เขาตัดเอาส่วนของดีเอ็นเอที่ทนทานต่อยาราวน์อัพมาใช้ แต่ถ้าเอาดีเอ็นเอนั้นใส่ลงไปเพียงอย่างเดียวในพืช อย่างเช่น ข้าวโพด มันจะไม่เกิดผลลัพธ์อะไร ดังนั้นเขาจึงต้องพัฒนาการใช้บัคเตรีอีโคลี โดยการสร้างช่องว่างในดีเอ็นเอของเชื้ออีโคลี และเมื่อมีการนำหลอดทดลอง 2 หลอดมาผสมกัน ดีเอ็นเอของเชื้ออีโคลีบางส่วนจะผสมกับยีนของบัคเตรีที่ทนทานต่อยาราวน์อัพ จากนั้นพวกเขาจะหาทางสอดแทรกดีเอ็นเอของยีนชนิดนั้นเข้าไปในข้าวโพด

โดยทั่วไปเซลของข้าวโพดจะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติต่อยีนที่แปลกปลอม เขาจึงต้องพัฒนาวิธีการใช้เชื้อบัคเตรีจากดินที่ทำให้เกิดเนื้องอกในพืช เขาใช้เชื้อบัคเตรีนี้เองเป็นพาหะนำดีเอ็นเอของยีนเข้าสู่นิวเคลียสของเซลพืช ยังมีอีกสองวิธีที่จะสามารถแทรกดีเอ็นเอผ่านกำแพงเซลได้

วิธีหนึ่งคือการใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อสร้างให้เกิดรูขนาดเล็กในเซลพืช เพื่อให้ดีเอ็นเอที่แปลกปลอมแทรกตัวเข้าไปได้ อีกวิธีหนึ่งคือการใช้ปืนยิงยีนที่สามารถส่งผ่านดีเอ็นเอที่เคลือบด้วยทองเข้าไปในเซลของพืชได้ แต่ละวิธีเหล่านี้จะต้องใช้ยีนชี้นำเพื่อให้เกิดพฤติกรรมตามที่ต้องการ โดยปกติพวกเขามักคัดแยกยีนชี้นำมาจากเชื้อไวรัสโมเสกในกะหล่ำดอก

(ดร. ชาร์ล เอ็ม เบนบรูก อดีตผู้อำนวยการ คณะกรรมการเกษตรกรรม, สภาวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ) "ความสามารถของบัคเตรีและไวรัสในการรุกรานเซลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในหลายรูปแบบ ทำให้คนคลางแคลงใจต่อเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งต้องใช้วิธีนี้เป็นหลัก การเคลื่อนย้ายยีนจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราต้องใช้พฤติกรรมของบัคเตรีและไวรัสที่สามารถรุกรานเซล และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเซลนั้นดังที่เชื้อไวรัสโจมตีร่างกายเรา"

(แอนดรู คิมเบรล ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหาร) "สิ่งที่มันทำก็คือการฝังตัวแอนตี้ไบโอติกมาร์กเกอร์เข้าไปในระบบ" ตัวแอนตี้ไบโอติกมาร์กเกอร์จะทนทานกับยาปฏิชีวนะบางชนิด ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ทดสอบแบบแผนทางพันธุกรรม

(ดร. ชาร์ล เอ็ม เบนบรูก อดีตผู้อำนวยการ คณะกรรมการเกษตรกรรม, สภาวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ) "อันตรายใหญ่หลวงที่สุดซึ่งทำลายระบบอาหารในปัจจุบัน และทำให้วงการแพทย์สั่นคลอนคือ การสูญเสียแอนตี้ไบโอติกเหล่านี้ไป ยังไม่มีใครรู้แน่นอนว่าการใช้ยีนของแอนตี้ไบโอติกมาร์กเกอร์ในเทคนิคพันธุวิศวกรรม อาจจะทำให้ปัญหานี้เลวร้ายลงอย่างไรบ้าง วงการแพทย์และชีววิทยาทั่วโลกต่างจับตามองปัญหานี้อย่างเคร่งเครียด"

(ดร. อิกนาซิโอ ชาเปลา นักนิเวศจุลินทรีย์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเบิร์กเลย์) "ถ้าเราทำตามการปฏิวัติเทคโนโลยีชีวภาพ และเริ่มผลิตสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงยีนมากขึ้น เราจะพบว่าดีเอ็นเอเหล่านี้จะมีปฏิกิริยาต่อกันในลักษณะที่ไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ได้"

ในภาพแสดงเครือข่ายอันซับซ้อนของยีนทำให้ยีนที่เรียบง่ายหนึ่งชนิด สามารถมีอิทธิพลและแสดงออกในหลายรูปแบบ (ดร. อิกนาซิโอ ชาเปลา นักนิเวศจุลินทรีย์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเบิร์กเลย์) "ผมคิดว่านี่เป็นการทดลองด้านชีววิทยาครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษย์"

มะเขือเทศที่เก็บได้นานเป็นพืชจีเอ็มโอชนิดแรกที่มีการวางจำหน่ายต่อสาธารณะ คาลยีน เป็นบริษัทที่ผลิตมะเขือเทศ พวกเขาทดลองเอามะเขือเทศชนิดนี้ให้หนูกิน และพบว่ามีแผลเกิดขึ้นในท้องของหนูบางตัว แม้จะมีการคัดค้านจากนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลหลายคน แต่กลับมีการอนุญาตให้จำหน่ายมะเขือเทศชนิดนี้ในปี 2537 แต่มะเขือเทศชนิดนี้กลับเน่าเสียในระหว่างการขนส่ง และไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค เป็นเหตุให้มีการนำมันออกจากตลาด ชาวอเมริกันเริ่มตระหนักว่ามีอาหารจีเอ็มโอแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันของพวกเขาก็เมื่อปี 2544 นี่เอง

(รายการโทรทัศน์ "Eye on America Investigation")
"เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่แล้วในระหว่างกินอาหารกลางวันกับเพื่อนร่วมงาน เกรซ บูธ กินไก่ 3 ชิ้น เธอบอกว่าไก่อร่อยมากแต่มีอะไรบางอย่างไม่ปกติ" (17 พฤษภาคม 2544) "ดิฉันรู้สึกแน่นหน้าอกและหายใจไม่ออก" เธอไม่รู้หรอกว่ากำลังจะตกอยู่ในภาวะถึงขั้นหมดสติ
"ตอนนั้นคุณคิดว่าเกิดอะไรขึ้น"
"ดิฉันคิดว่า โอ! พระเจ้า มันเกิดอะไรขึ้นกับฉัน เกิดอะไรขึ้นนี่ บางอย่างที่ผิดปกติกำลังเกิดขึ้น ดิฉันรู้สึกเหมือนกำลังจะตาย"

"จากการตรวจสอบในห้องฉุกเฉินใกล้กับเมืองโอ๊คแลนด์ พวกเขาพบอาการแพ้หลายอย่างอย่างรุนแรง และมีการแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเกรซให้กับเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลกลางทราบ ในช่วงนั้นมีความปั่นป่วนในตลาดข้าวโพดของประเทศ เพราะมีการพบว่าข้าวโพดสตาร์ลิงค์ ซึ่งเป็นข้าวโพดจีเอ็มโอที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ผลิตอาหารของมนุษย์ กลับปรากฏอยู่ในอาหารสำเร็จรูป และมีคำสั่งให้นำอาหารชนิดนั้นออกจากร้านค้าให้หมด เนื่องจากความกลัวว่าจะทำให้เกิดอาการแพ้"

(เกรซ บูธ) "ถ้าฉันอยากกินคอร์นเฟล็กถ้วยหนึ่ง ฉันก็อยากรู้ว่ามันปลอดภัยพอหรือไม่"
"แล้วคุณคิดว่ามันปลอดภัยพอหรือไม่ในตอนนี้"
"ไม่เลยค่ะ"

(ดร. ชาร์ล เอ็ม เบนบรูก อดีตผู้อำนวยการ คณะกรรมการเกษตรกรรม, สภาวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ) "เป็นไปได้ว่ามีคนหลายพันคนที่เกิดอาการแพ้ ตั้งแต่ระดับธรรมดาไปจนถึงรุนแรงต่อข้าวโพดสตาร์ลิงค์ คุณรู้หรือเปล่า"

(แอนดรู คิมเบรล ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหาร) "ถ้าไม่ใช่พวกองค์กรเอกชนที่ลงทุนเข้าไปตรวจสอบข้าวโพด และทำหน้าที่แทนรัฐบาลแล้ว ก็คงไม่มีการเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวนี้ขึ้นมา และไม่มีการค้นพบถึงผลกระทบต่อสุขภาพเนื่องจากข้าวโพดชนิดนี้"

หน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยของพืชจีเอ็มโอมี 3 แห่ง

- กระทรวงเกษตรรับผิดชอบในการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของพืชจีเอ็มโอ และควบคุมการทดลองพืชจีเอ็มโอในไร่นา แต่การศึกษาพืชจีเอ็มโอทดลองในไร่นา 8,000 แห่งพบว่า กระทรวงเกษตรไม่เคยบังคับให้มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

- ส่วนกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ควบคุมยาฆ่าแมลง แต่ในปัจจุบันมีการใช้บีทีซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงตามธรรมชาติ โดยการสอดแทรกยีนบีทีเข้าไปในเซลของพืช

- ส่วนองค์การอาหารและยา มีหน้าที่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยของอาหาร โดยต้องมีการทดสอบอาหารชนิดใหม่ทุกชนิด

(เฟรด เคอร์เซนแมน เกษตรกรและผู้อำนวยการศูนย์ลีโอโปลเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน) "ตอนที่บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพไปขอใบอนุญาต พวกเขาอ้างว่าการทดลองของพวกเขามีความทัดเทียมโดยสาระกับการผสมพันธุ์พืชแบบเดิม และอ้างว่าไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมเป็นพิเศษ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขากลับยืนยันที่จะต้องจดสิทธิบัตรของสินค้าตนเอง และในการได้รับสิทธิบัตร พวกเขาต้องพิสูจน์ว่าสินค้าของพวกเขาต่างจากสิ่งที่มีอยู่แต่เดิม ในแง่หนึ่งพวกเขาบอกว่าพืชของเขามีความแตกต่างอย่างมากและต้องการจดสิทธิบัตร แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขากลับบอกว่าพืชของเขามีความคล้ายคลึงอย่างทัดเทียมกับของเดิม และอย่ามาควบคุมพวกเขา"

(แอนดรู คิมเบรล ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหาร) "ที่อ้างว่าเป็น "ความทัดเทียมโดยสาระ" เป็นเรื่องไร้เหตุผล เพราะในระดับเซล อาหารเหล่านี้ประกอบด้วยเชื้อบัคเตรี ไวรัสและโครงสร้างยีนใหม่ ๆ ที่ไม่เหมือนกับอาหารแบบเดิม เราจึงไม่อาจบอกได้ว่ามันมีความทัดเทียมกับของเดิม"

แต่เมื่อมีการพิจารณาว่าอาหารจีเอ็มโอมีความทัดเทียมโดยสาระกับอาหารปกติ รัฐบาลจึงจัดให้อาหารชนิดนี้อยู่ในประเภทเดียวกับอาหารทั่วไปที่มีความปลอดภัย หรือ GRAS และไม่มีการบังคับให้ต้องมีการทดสอบหรือการติดฉลากจำแนก

(แอนดรู คิมเบรล ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหาร) "ผมเห็นว่านโยบายของสหรัฐฯ ที่ไม่บังคับการติดฉลากจำแนกอาหารจีเอ็มโอเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลมากที่สุดอย่างหนึ่ง" อาหารจีเอ็มโอเหล่านี้มีอยู่ทั้งในรูปของน้ำเชื่อมข้าวโพดและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ในปี 2545 คุณแม่ผู้ห่วงใยคนหนึ่งในรัฐโอเรกอนใช้เงิน 2-3 พันเหรียญเพื่อทำโฆษณารณรงค์ให้มีการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอ

"เราจะเชื่อถือบรรษัทข้ามชาติที่บอกว่าสารพีซีบี ดีดีทีและไดอ๊อกซีนปลอดภัยได้อย่างไร? พวกเขาไม่ต้องการให้เรารู้แม้แต่ว่าสิ่งที่เราบริโภคคืออะไร. ส่วน อย. เองก็ไม่สนในคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ของตัวเองเกี่ยวกับอันตรายของอาหารจีเอ็มโอ เรากำลังพูดถึงอนาคตลูกหลานของเรา เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของอีก 25 ประเทศที่บังคับให้มีการติดฉลาก มันไม่ทำให้เกิดต้นทุนกับชาวนาหรือผู้บริโภคมากกว่านี้หรอก กากบาท "ใช่" หมายเลข 27 มาส่งเสริมให้มีการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอกันเถอะ"

แต่การรณรงค์ของเธอต้องพ่ายแพ้ต่อการรณรงค์ของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เงิน 4.6 ล้านเหรียญออกโฆษณาโดยเอาเกษตรกรมาพูดเลียนแบบคุณแม่คนนี้ "พวกเราไม่ต้องการการทำงานอย่างอืดอาด การใช้กลไกราชการและมาตรการควบคุมจะทำให้เกิดต้นทุนสูงขึ้น ถ้าเกษตรกร ผู้บริโภคและผู้เสียภาษีในโอเรกอนเห็นด้วยกับมาตรการข้อ 27 คุณจะต้องเจอกับสิ่งนั้นแน่"

การสำรวจความเห็นหลายครั้งแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 80-90 ของชาวอเมริกันต้องการให้ติดฉลากอาหารจีเอ็มโอ ในขณะเดียวกันยังไม่มีการลงคะแนนเสียงต่อร่างกฎหมายว่าด้วยสิทธิในการรับรู้เกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอ ซึ่งเสนอโดย สส.คูชินิช, สว.บ็อกเซอร์, และคนอื่น ๆ ที่เสนอเข้าสภาทุกปีนับแต่ปี 2542 เป็นต้นมา

(หลุยส์ เกล กรีนพีซสากล) "ประชาชนในยุโรปต่างแสดงความโกรธ และความกังวลต่อแผนการที่จะวางจำหน่ายอาหารจีเอ็มโอในร้านค้า ผลสำรวจความเห็นล่าสุดแสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยร้อยละ 75 ของประชาชนชาวยุโรปไม่ต้องการอาหารจีเอ็มโอ" แรงผลักดันของประชาชนเป็นเหตุให้ทั้ง 15 ประเทศในสหภาพยุโรปออกกฎกำหนดให้มีการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอ

(แอนดรู คิมเบรล ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหาร) "ผมคิดว่าบรรษัทต่าง ๆ ฉลาดพอที่รณรงค์ต่อต้านเราอย่างหนักหน่วงในช่วงนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิในการเลือกของผู้บริโภคอย่างเดียว ถ้าไม่มีการติดฉลาก เราจะไม่สามารถตรวจสอบผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจากอาหารจีเอ็มโอได้ ถ้าคุณเป็นแม่แล้วคุณให้นมผงกับลูก แต่ไม่มีการติดฉลากว่าเป็นนมที่ผลิตจากถั่วเหลืองจีเอ็มโอ แล้วถ้าลูกของคุณเกิดอาการแพ้หรือเป็นพิษขึ้นมา คุณก็ไม่มีทางรู้ได้ว่ามันเป็นเพราะอาหารจีเอ็มโอนั้น เพราะมันไม่ได้ติดฉลาก แต่ถ้ามันติดฉลากคุณก็อาจบอกได้ว่าอาหารนั้นแหละที่ทำให้ลูกฉันป่วยและคุณจะไปหาหมอ หมอก็จะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ไว้ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ถึงสาเหตุ และทำให้เรามีฐานข้อมูลถึงผลกระทบด้านสุขภาพ"

"ซึ่งถ้ามีฐานข้อมูลเหล่านั้น เราก็มีหลักฐานที่จะฟ้องร้องบริษัทต่าง ๆ ทำให้พวกเขาต่อต้านการติดฉลาก เพราะในแง่หนึ่ง มันทำให้ผู้บริโภคอาจเลือกไม่ซื้อสินค้าของพวกเขา และในอีกด้านหนึ่งการติดฉลากยังเป็นหนทางสำคัญ ที่ช่วยให้เราสืบย้อนผลกระทบด้านสุขภาพของอาหารจีเอ็มโอได้ และเป็นช่องทางที่ทำให้บริษัทต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสุขภาพเหล่านั้น"

 

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

(จบตอนที่ ๑) สนใจอ่านต่อสามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่ อนาคตของอาหาร : อนาคตของมนุษยชาติ ๒


 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

มะเขือเทศที่เก็บได้นานเป็นพืชจีเอ็มโอชนิดแรกที่มีการวางจำหน่ายต่อสาธารณะ คาลยีน เป็นบริษัทที่ผลิตมะเขือเทศ พวกเขาทดลองเอามะเขือเทศชนิดนี้ให้หนูกิน และพบว่ามีแผลเกิดขึ้นในท้องของหนูบางตัว แม้จะมีการคัดค้านจากนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลหลายคน แต่กลับมีการอนุญาตให้จำหน่ายมะเขือเทศชนิดนี้ในปี 2537 แต่มะเขือเทศชนิดนี้กลับเน่าเสียในระหว่างการขนส่ง และไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค

เฟรด เคอร์เซนแมน เกษตรกรและผู้อำนวยการศูนย์ลีโอโปลเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวว่า... "ชุมชนเกษตรกรรมของเรามีหลักจริยธรรมบางอย่างอยู่ และผมเติบโตขึ้นมากับจริยธรรมเช่นนั้น ซึ่งบอกว่าถ้าผมจะทำการเกษตรใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบในด้านลบต่อไร่นาของเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ถ้าผมตัดสินใจเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อพืชผลของเพื่อนบ้าน ผมก็มีหน้าที่ต้องสร้างรั้วล้อมปศุสัตว์ไว้ มันไม่ใช่หน้าที่ของเพื่อนบ้านผมที่จะสร้างรั้วป้องกันพืชผลของเขาเอง" แต่ระบบที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ผมต้องรับผิดชอบสร้างรั้วป้องกันเทคโนโลยีที่จะทำลายพืชผลของผม และคุณก็รู้ว่าเราไม่มีทางสร้างรั้วได้สูงมากพอเพื่อป้องกันผลกระทบเหล่านั้น และเรารู้เป็นอย่างดีแล้ว"

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ้างอิง