Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษาโดยไม่จำกัดคุณวุฒิ หากนักศึกษา สมาชิก สนใจบทความที่เผยแพร่อยู่บนเว็ปไซต์แห่งนี้
กรุณาไปดูได้จากที่นี่ หน้าสารบัญ
บทความขนาดสั้นจากสมาชิก
คอร์รัปชันหรือฉ้อราษฎร์บังหลวง
ชำนาญ จันทร์เรือง : เขียน
หมายเหตุ :
บทความชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกวันที่
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘
(บทความลำดับที่ 610 : ความยาวประมาณ 2 หน้ากระดาษ A4)
ในยุคสมัยที่เรากำลังรณรงค์กับการปราบปรามการทุจริต
ประพฤติมิชอบ ในวงราชการและการเมืองกันอย่างขะมักเขม้นอยู่ในขณะนี้ ผู้เขียนในฐานะผู้ที่หลงไหลและเสพย์ติดในภาษาไทยได้เกิดข้อกังขาว่าคำว่า
"คอร์รัปชัน" ที่เราใช้ทับศัพท์จากภาษาต่างด้าวเสียจน
ติดปากไปแล้วนั้น ทำไมเราจึงไม่ใช้คำว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" ซึ่งเป็นคำที่บรรพบุรุษของเราใช้กันมาแต่โบร่ำโบราณแทน
คำว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" มีที่มาจากคำว่า "ฉ้อ"ที่แปลว่า โกง เช่น ฉ้อทรัพย์ ฉะนั้นคำว่า "ฉ้อราษฎร์"ก็แปลง่ายๆว่าโกงราษฎร ส่วนคำว่า บังหลวง" ก็มาจากคำว่า "บัง"ซึ่งเข้าใจว่ากร่อนมาจาก"เบียดบัง"ซึ่งแปลว่า ยักเอาไว้เป็นประโยชน์ของตัว รวมกับคำว่า"หลวง" ที่แปลว่าที่เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น วังหลวง ฯลฯ ฉะนั้นคำว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" หากจะแปลตามคำศัพท์ก็จะแปลได้ว่า โกงราษฎรและยักเอาส่วนที่เป็นของพระเจ้าแผ่นดินไว้เป็นของตัว (ในที่นี้ย่อมหมายรวมของของรัฐหรือราชการนั่นเอง)
ส่วนความหมายอย่างเป็นทางการ คำว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานทั้งฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ และ พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น ให้ความหมายไว้ตรงกันว่า "การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ เก็บกินจากราษฎรแล้วไม่ส่งให้หลวง หรือเบียดบังกับหลวง" นั่นเอง
ส่วนที่มาของคำว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" นั้นแต่เดิมเราใช้คำว่า "ส่วยสาอากร"ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น"ภาษีอากร"ในปัจจุบัน ซึ่งลักษณะของการเก็บส่วยของอยุธยานั้น จะเน้นเก็บจากผลิตผลบางอย่างที่เจ้าและขุนนางจะนำมาใช้ประโยชน์ของตน ถ้าหากมีเหลือก็จะนำไปขายเป็นสินค้าต่อไป แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น การเก็บส่วยส่วนใหญ่มุ่งไปในลักษณะที่จะนำไปเป็นสินค้าส่งออกโดยเฉพาะการส่งไปขายเมืองจีน
การเก็บส่วยนี้จะมีหน่วยงานราชการทำหน้าที่เก็บอยู่หลายหน่วย เช่น กรมกลาโหม กรมมหาดไทย และกรมคลัง ดูเหมือนว่ากรมมหาดไทยซึ่งเป็นหน่วยราชการที่คุมดินแดนทางตอนเหนือของกรุงเทพฯขึ้นไป เป็นผู้ทำการเก็บส่วยมากที่สุด ทั้งนี้เพราะมีอำนาจในดินแดนส่วนที่จะมีของป่าเป็นผลิตผลสำคัญมาก ดังนั้นในอดีตจะมีสภาพของการเก็บส่วยที่เป็น พริกไทย ครั่ง ฝ้าย ตลอดจนโลหะ เงิน ทอง ฯลฯ ผ่านหน่วยงานของกลาโหม กรมมหาดไทย กรมคลัง ส่งต่อไปยังพระคลังสินค้า เพื่อส่งเป็นสินค้าออก
การเก็บส่วยเช่นที่ว่านี้ทำกันมากในสมัยรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ เมื่อถึงปลายรัชกาลที่ ๓ การเก็บส่วยลดลง ทางราชการหันไปเก็บเงินตราแทนการส่งผลิตผลแทน ในระบบนี้บุคคลบางคนก็อาจมีความสามารถหรือมีช่องทางในการหาส่วยได้มากกว่าอีกคนหนึ่ง แต่คนที่หาส่วยได้น้อยไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็จำเป็นต้องเสียภาษีเท่ากับคนที่หาได้มาก
ในบางครั้งถ้าหากเกิดภัยธรรมชาติ
เช่น ฝนแล้ง ผลิตผลบางอย่างไม่สามารถจะหามาเป็นส่วยได้ แต่รัฐยังคงเรียกเก็บในอัตราเดิมที่กำหนดไว้
ความเดือดร้อนย่อมเกิดขึ้นเป็นของธรรมดา
ในบางครั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการเก็บส่วยมีความบกพร่อง เบียดบังส่วยไปเป็นของตนแล้วก็แจ้งมายังหน่วยราชการกลางในเมืองหลวงว่า
ตนไม่สามารถเก็บส่วยได้ตามกำหนด
หน่วยราชการกลางก็อาจบังคับให้ไพร่ส่วยส่งผลิตผลของตนมาอีก ดังนั้นในบางกรณีไพร่ส่วยอาจจะต้องเสียภาษีเป็นสองเท่า
เหตุการณ์ที่เรียกว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง"นั้นเกิดมีขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ผู้คนในระบบนี้
พยายามหนีออกระบบส่วยสาอากรที่ว่านี้ วิธีที่จะหนีก็มี เช่น การติดสินบนข้าราชการในท้องถิ่น
ให้ข้าราชการนั้นทำชื่อตนตกจากทะเบียน เมื่อชื่อตกไปจาก "ทะเบียนหางว่าว"
ก็ไม่จำเป็นต้องส่งส่วยให้รัฐ บุคคลนั้นก็อาจแปรสภาพเป็นคนของข้าราชการในท้องถิ่นไป
เรียกว่ายอมเป็นการ "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" ให้กับข้าราชการในท้องถิ่นของตนไป
หรืออาจจะใช้อีกวิธีหนึ่งก็คือ ยอมขายตัวลงเป็นทาส ทั้งนี้เพราะทาสจะถูกเรียกร้องภาษีน้อยกว่าไพร่ ปกติทาสไม่ต้องเข้าเวรราชการให้รัฐบาลกลาง เพียงแต่รับใช้เจ้านายของตนก็พอ และถ้าหากต้องเสีย ภาษีให้รัฐบาลเป็นเงินตราก็เสียถูกกว่าเช่นปีละ ๑.๕๐ บาท ในขณะที่ไพร่ต้องเสียเงินตราแทนแรงงานปีละ ๖ บาท หรือในกรณีที่ทาสส่วยจะต้องส่งผลิตผลก็สามารถจะส่งผลิตผลได้น้อยกว่าไพร่ ยกตัวอย่างเช่น ไพร่ส่วยดีบุกต้องส่งปีละ ๒๖ ชั่ง แต่ถ้าเป็นทาสส่วยดีบุกก็ส่งเพียง ๑๐ ชั่ง เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ "คอร์รัปชัน"
ในปัจจุบันกับการ "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" ในอดีตแล้วแทบจะเรียกได้ว่าไม่ต่างกันเลย
ต่างกันแค่เพียงวิธีการที่ทันสมัยขึ้น และแนบเนียนกว่าเท่านั้นเอง และผลที่ตามมาไม่ว่าการ
"คอร์รัปชัน" หรือ "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" ก็คงไม่พ้นประชาชนผู้เสียภาษีอากร
เราๆท่านๆ จะดีกว่าเดิมหน่อยหนึ่งก็คือ ยังไม่ถึงกับต้องยอมขายตัวลงเป็นทาสเหมือนสมัยโบราณ
เท่านั้นเอง
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
คลิกกลับไปอ่านบทความก่อนหน้านี้ บทความลำดับที่
609
เหตุการณ์ที่เรียกว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง"นั้นเกิดมีขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ผู้คนในระบบนี้ พยายามหนีออกระบบส่วยสาอากรที่ว่า วิธีที่จะหนีก็มี เช่น การติดสินบนข้าราชการในท้องถิ่น ให้ข้าราชการนั้นทำชื่อตนตกจากทะเบียน เมื่อชื่อตกไปจาก "ทะเบียนหางว่าว" ก็ไม่จำเป็นต้องส่งส่วยให้รัฐ บุคคลนั้นก็อาจแปรสภาพเป็นคนของข้าราชการในท้องถิ่นไป เรียกว่ายอมเป็นการ "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" ให้กับข้าราชการในท้องถิ่นของตนไป (คัดมาจากบทความ)