บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 611 หัวเรื่อง
เกี่ยวกับวรรณกรรมหลังอาณานิคม
สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The
Midnight 's free article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เกี่ยวกับวรรณกรรมหลังอาณานิคม
สัมภาษณ์
Ngugi Wa Thiong'o ในฐานะนักเขียนกบฎ
สมเกียรติ
ตั้งนโม : เรียบเรียง
สาขาจิตรกรรม
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ประกอบด้วยบทสัมภาษณ์
Ngugi Wa Thiong'o โดย Michael Alexander Pozo
ภาคผนวก ชีวประวัติของนักเขียน และ
ภาคผนวกการทำความเข้าใจแนวคิดหลังอาณานิคม
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 16 หน้ากระดาษ A4)
ผู้กบฎต่อภาษาอังกฤษ
ผู้กบฎต่อลัทธิอาณานิคมอังกฤษ และ
ผู้กบฎต่อความไม่เป็นธรรมทั้งปวงของเคนย่า
Ngugi เป็นนักประพันธ์นวนิยายหลายต่อหลายเรื่อง อย่างเช่น Weep Not Child (เด็กน้อยอย่าร้องไห้-1964), The River Between (ระหว่างสายน้ำ - 1965), A Grain of Wheat (เมล็ดพันธ์ข้าวสาลี - 1967) and Petals of Blood (กลีบดอกไม้สีเลือด - 1977) เป็นต้น
ในปี ค.ศ.1980 Ngugi ได้ตีพิมพ์นวนิยายสมัยใหม่ที่ได้รับการเขียนขึ้นด้วยภาษา Gikuyu ชื่อว่า Devil on the Cross (ปีศาลบนไม้กางเขน). นอกจากนี้ Ngugi ยังมีผลงานเชิงวิพากษ์อยู่อีกหลายชิ้นด้วยกัน เช่น Homecoming (การกลับบ้าน - 1972), Detained: A Writer's Prison Diary (ถูกกักขัง : บันทึกประจำวันนักโทษของนักเขียนคนหนึ่ง - 1981), Decolonizing the Mind (การปลดปล่อยจิตใจจากการเป็นอาณานิคม - 1986) และ Moving the Center (การเคลื่อนย้ายของศูนย์กลาง -1993)
ในฐานะนักประพันธ์, นักเขียนบทละคร, และนักคิดเชิงวิพากษ์ Ngugi ได้ไปเกี่ยวข้องกับความห่วงใยและการให้ความเอาใจใส่กับความเป็นชนพื้นเมืองของเคนย่า และรวมถึงประเด็นปัญหาต่างๆเกี่ยวกับลัทธิอาณานิคม, ลัทธิชาตินิยม, และลัทธิหลังอาณานิคมที่เร้าอารมณ์มากที่สุดคนหนึ่ง
ในช่วงระหว่างปลายทศวรรษที่ 70s ความผูกพันของเขาที่มีต่อศิลปะและชุมชนทำให้เขาได้ก่อตั้งกลุ่มละครชุมชนขึ้นมาในหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งได้แสดงให้เห็นความโดดเด่นของละครที่มีลักษณะฟ้องร้องส่วนใหญ่ของเขาอย่างเด่นชัด ผลงานเหล่านี้ได้ให้ภาพวิถีชีวิตหลังอาณานิคมในเคนย่าที่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น และการต่อสู้ของผู้คนทั้งหลาย เพื่อนิยามอัตลักษณ์ของตนเองในช่วงปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการเมืองที่รุนแรง
ในปี 1977 Ngugi ถูกจับกุมเนื่องมาจากความเกี่ยวพันของเขากับละครชุมชน และขณะที่เป็นนักโทษอยู่นั้น Ngugi ได้สะท้อนถึงความเร่าร้อนในการก่อตัวของวรรณกรรมแอฟริกันที่แท้จริง และในเวลาเดียวกันนั้นก็ได้เขียนเรื่อง Devil on the Cross (ปีศาลบนไม้กางเขน)ลงบนกระดาษชำระของนักโทษในคุก. ต่อมา เขาได้ละทิ้งภาษาอังกฤษเพื่อไปใช้ภาษาพื้นเมืองของชาว Gikuyu สำหรับงานนวนิยายของเขาทั้งหมดในอนาคต. หลังจากที่ได้รับการปลดปล่อยจากที่คุมขัง Ngugi ได้สูญเสียตำแหน่งในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไป และครอบครัวของเขาต้องทนทุกข์อยู่กับการตามรังควานอย่างต่อเนื่อง. ในปี ค.ศ.1982 Ngugi ได้ออกจากเคนย่าและได้ถูกเนรเทศนับแต่นั้นเป็นต้นมา
Ngugi Wa Thiong'o ได้รับรางวัลต่างๆอย่างมากมาย รวมทั้ง the Paul Robeson Award สำหรับความดีเลิศทางศิลปะ และความสำนึกทางการเมืองและความมีคุณธรรม (1992). ในปี ค.ศ.1994 เขาได้รับรางวัล Gwendolyn Brooks Center Contributors Award สำหรับการเป็นนักเขียนที่มีความสำคัญต่อศิลปวรรณกรรมของคนผิวดำ. ในปี 1996 เขาได้รับรางวัล Fonlon-Nichols Prize และในปีเดียวกันยังได้รับรางวัล the Distinguished Africanist Award จาก the New York African Studies Association (สมาคมแอฟริกันคดีของนิวยอร์ค)
An Interview with
Ngugi Wa Thiong'o
การสัมภาษณ์ Ngugi Wa Thiong'o โดย Michael Alexander Pozo
MP : เมื่อพิจารณาเนื้อหางานเขียนของคุณ จำนวนมากของงานเขียนเหล่านั้นไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงศิลปะเท่านั้น
แต่มันยังแสดงให้เห็นถึงความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรม และความก้าวหน้าโดยผ่านสื่อกลางทางวรรณกรรมด้วย
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในฐานะศิลปินและพลเมืองที่มีความห่วงใยต่อสังคม นวนิยายแต่ละเรื่องดูเหมือนว่าได้พัฒนานิยามความหมายอันเด่นชัดเกี่ยวกับธรรมชาติที่ไม่อาจแบ่งแยกได้เหล่านั้นขึ้นมา
คุณสามารถที่จะพูดอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ไหม?
Ngugi : ก็เหมือนกับศิลปินคนอื่นๆทั้งหลาย
ผมสนใจในความสัมพันธ์ของมนุษย์และคุณภาพชีวิตของพวกเขา นี่คือสิ่งที่ผมสำรวจในงานเขียนของตนเอง
ความสัมพันธ์ต่างๆของมนุษย์มิได้กำเนิดขึ้นมาจากสูญญากาศ มันพัฒนาขึ้นมาในท่ามกลางบริบททางนิเวศวิทยา,
เศรษฐกิจ, การเมือง, วัฒนธรรม, และจิตวิญญาน. แง่มุมเหล่านี้ทั้งหมดเกี่ยวกับสังคมของเรา
ซึ่งมันมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ต่างๆเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง
แง่มุมเหล่านี้ไม่อาจที่จะแบ่งแยกได้
พวกมันถูกเชื่อมโยงร้อยรัดเข้าไว้ด้วยกัน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่สุดนี้ถูกเชื่อมสัมพันธ์กับโลกส่วนใหญ่
ในฐานะศิลปินคนหนึ่งคุณสามารถที่จะตรวจสอบเรื่องราวต่างๆบางเรื่องโดยเฉพาะ
เพื่อสำรวจถึงความสัมพันธ์กันของปรากฏการณ์ทั้งหลาย เพื่อเปิดประตูสู่จิตวิญญานของมนุษย์
MP : เมื่อพูดถึงนวนิยายเรื่อง Devil on the
Cross (ปีศาจบนไม้กางเขน) มันคือช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตและงานอาชีพของคุณ เพราะคุณเริ่มเขียนด้วยภาษาพื้นเมือง
Gikuyu อย่างเดียว ความเข้าใจส่วนตัวของคุณเกี่ยวกับประสบการณ์ทางสุนทรีย์
ประสบการณ์ทางสังคม-การเมือง มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างนับจากการเลิกใช้ภาษาอังกฤษ
ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารทางศิลปะ?
Ngugi : นั่นไม่เป็นที่สงสัยเลยเกี่ยวกับความเป็นไปของเรื่อง
Devil on the Cross ในชีวิตและงานศิลปะของผม แต่มันไม่ใช่ผลงานชิ้นแรกที่ผมเขียนด้วยภาษา
Gikuyu. เกียรติยศอันนั้นต้องมอบให้กับบทละครเรื่อง Ngaahika Ndenda (I Will
Marry When I Want - ผมจะแต่งงานเมื่อผมต้องการ) ซึ่งผมได้เขียนร่วมกับ Ngugi
wa Mirii. ซึ่งอันที่จริงแล้ว มันได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยผู้คนที่มีส่วนร่วมในหมู่บ้าน
Kamiriithu และศูนย์วัฒนธรรม Limuru ที่เคนย่า
การทำงานกับชุมชนเป็นสิ่งที่บีบบังคับให้ผมต้องเริ่มต้นเขียนด้วยภาษา
Gikuyu หลังจากหลายปีแห่งความลังเลใจที่อยู่ในความคิดมาโดยตลอด. ผลงานของผมในหมู่บ้านได้ส่งให้ตัวผมเข้าไปอยู่ในคุกที่แข็งแรงที่สุดเป็นเวลาหนึ่งปี
โดยปราศจากการสอบสวน. และในขณะที่อยู่ในคุกที่มั่นคงแห่งนั้น ผมคิดมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผมกับภาษาอังกฤษ
และผมได้เลือกแล้วอย่างแน่วแน่ ที่จะไม่เขียนงานวรรณกรรมและบทละครในภาษาอังกฤษอีก.
เรื่อง Devil on the Cross, ได้ถูกเขียนขึ้นบนกระดาษชำระในส้วม นั่นเป็นผลลัพธ์ที่ออกมาชิ้นแรกของการตัดสินใจอันนี้
MP : อะไรที่คุณสามารถเล่าได้ถึงความปรารถนาของคุณ
และทำให้มันไปถึงผู้อ่านคนหนึ่งโดยเฉพาะได้ด้วยภาษาที่ถูกละเลยมานาน? และคุณให้ความเอาใจใส่เกี่ยวกับเรื่องการตลาดอย่างไร
เกี่ยวกับผลงานเหล่านั้นที่จะไปสู่ผู้อ่านในวงกว้าง?
Ngugi : สติปัญญาต่างๆ, จากที่ๆเราอยู่ ณ ศูนย์กลางการประพันธ์และการแปลที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
Irvine ซึ่งเรียกว่า ภาษาต่างๆที่ถูกทำให้เป็นชายขอบ(marginalised languages)
- เราเรียกมันว่าถูกทำให้เป็นชายขอบแต่ไม่ชายขอบ - โดยการตระหนักว่า ผู้อ่านอันดับแรกสุดของพวกเราคือ
ภาษาและชุมชนวัฒนธรรมที่ให้พวกเรามา. เพียงพวกเราซึ่งสามารถผลิตความรู้ในภาษาของตนเองเท่านั้น
เพื่อผู้อ่านที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยภาษาของพวกเรา และถัดจากนั้นโดยผ่านการแปล
จะเป็นการการแปลด้วยตนเองหรือโดยคนอื่นก็ตาม ซึ่งจะทำหน้าที่เปิดประตูผลงานสู่ผู้อ่านที่อยู่นอกชุมชนภาษาดั้งเดิมของพวกเรา
และเชื่อได้เลยว่าผลงานที่ดีทางศิลปะมักจะมีตลาดของมันเสมอ
MP : นับจากที่คุณเริ่มเขียนด้วยภาษา Gikuyu คุณได้เห็นท่าทีหรือทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
ของคนอ่านที่ไม่คุ้นเคยกับนักเขียนทั้งหลาย โดยการหลบเลี่ยงตลาดภาษาอังกฤษตามจารีตเพื่อตลาดที่เล็กกว่า
และเพื่อผู้อ่านส่วนตัวมากกว่า เป็นอันดับแรก?
Ngugi : เมื่อการดำรงตำแหน่งของผมในแผนกภาษาอังกฤษและแอฟริกันเป็นที่รู้จัก
โดยผ่านหนังสือที่ผมเขียนเรื่อง Decolonizing the Mind (การปลดปล่อยจิตใจจากความเป็นอาณานิคม
- 1986), ผมได้รับการตอบรับมาแต่แรกโดยพวกที่ชอบเยาะเย้ยถากถาง หรือบรรดาปรปักษ์โดยตรงประมาณ
1 ใน 4. แต่มาถึงตอนนี้ผมได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงท่าทีที่แตกต่างออกไป
มันอาจไม่ใช่การยอมรับของผู้คนส่วนใหญ่ เกี่ยวกับตำแหน่งที่ชัดเจนใน Decolonizing
the Mind แต่ความเอาใจใส่ต่างๆได้รับการยกระดับความสนใจมากขึ้น และเกี่ยวพันไปถึงการถกเถียงต่างๆด้วย.
หนังสือเล่มดังกล่าวในตัวของมันเอง ดำรงอยู่ท่ามกลางงานเขียนเชิงทฤษฎีทั้งหลายของผมที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมมาก
MP : ผมจำได้ในผลงานเรื่อง The River Between
(ระหว่างสายน้ำ) มันดำเนินไปจนกระทั่งถึงตอนที่ถูกบังคับให้เลือกระหว่างภรรยาของเขา(ที่เป็นชาวคริสเตียน)
กับชุมชน(ที่ไม่ใช่ชาวคริสเตียน) อันนี้คือแนวเรื่องที่ต่อเนื่องมาโดยตลอดเกี่ยวกับนวนิยายของคุณใช่ไหม
เกี่ยวกับความสำคัญของข้อผูกมัดที่มีต่อชุมชน? สำหรับคุณในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง
นั่นคือสิ่งหนึ่งของการวางเฉย หรือไม่เกี่ยวข้องกับมันใช่ไหม?
Ngugi : แน่นอน ในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง คุณต้องถอนตัวออกมาหรือวางเฉยอย่างเต็มที่เพื่อมองถึงปัญหาต่างๆได้อย่างชัดเจน.
และนั่นคือการถอนตัวจากการยึดติด. นักเขียนหรือศิลปินคนหนึ่งจะต้องว่ายลงในกระแสธาร
และในเวลาเดียวกันก็ต้องนั่งอยู่บนชายฝั่งเพื่อมองดูการไหลเลื่อนของกระแสธารไปด้วย
ผมเป็นผลผลิตของชุมชนและปรารถนาที่จะช่วยเหลือบางสิ่งบางอย่างต่อชุมชนนั้น
MP : นั่นเป็นความคิดเกี่ยวกับการวางเฉย หรือการทำตัวเป็นคนนอกของคนที่มีท่าทีแบบตะวันตกหรือคนยุโรป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่เราก็รู้กันในฐานะ"ศิลปิน"บ่อยๆ โดยผ่านภาพวาดต่างๆอย่างเดียว
และแนวคิดการมองโลกในแง่ร้ายเกี่ยวกับบทบาทของเขาในสังคมใช่หรือไม่?
Ngugi : การวางเฉยหรือการไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อที่จะมองสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น
ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการมองโลกในแง่ร้ายแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ในความหมายอันนั้น
การวางเฉยจึงไม่จำเป็นต้องเป็นของตะวันตก ทุกๆสังคมล้วนพูดถึงเกี่ยวกับผู้รู้กาลล่วงหน้าหรือศาสดาพยากรณ์ต่างๆ
ผู้ซึ่งถอนตัวและเข้าสู่ป่าชัฏหรือขุนเขาเพื่อบำเพ็ญตบะ. สิ่งเหล่านั้นคือบรรดาผู้พยากรณ์ทั้งหลายของชุมชน.
นักเขียนก็คือผู้พยากรณ์ที่พิเศษคนหนึ่ง แนวความคิดเกี่ยวกับชีวิตผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการอยู่โดดเดี่ยว.
สำหรับความนึกคิดแบบบรรดาสานุศิษย์ของ Thomas Hobbes (1588-1679) ค่อนข้างเป็นชนชั้นกลางมากกว่าเป็นเรื่องของเชื้อชาติ
MP : คุณคิดว่าสุนทรียาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องความงามในศิลปะ
สามารถหมายรวมถึงสิ่งที่สอดคล้องหรือตรงประเด็นกับโลกของผู้อ่านด้วยไหม?
ความงามเชื่อมโยงกับความสามารถในการที่จะร้อยรัดคนๆหนึ่งกับชุมชนได้มากกว่าเนรเทศพวกเขาไปจากชุมชนใช่ไหม?
Ngugi : สุนทรียศาสตร์ไม่ได้พัฒนาขึ้นมาในสูญญากาศทางสังคม
แนวคิดเกี่ยวกับสุนทรียภาพของชีวิตคือผลผลิตของชีวิตในตัวของมันเองซึ่งมันสะท้อนถ่ายออกมาในเวลานั้น.
ดอกไม้ดอกหนึ่งที่งดงาม คือผลผลิตของต้นไม้ทั้งต้น และดอกไม้เป็นเครื่องหมายที่สำคัญอันหนึ่งของอัตลักษณ์ของกลุ่มของพืชพันธ์จำเพาะนั้นๆ
หรือของพืชต้นนั้นโดยเฉพาะ. ดอกไม้ที่งดงามอ่อนช้อย ยังบรรจุเมล็ดพันธุ์เพื่อสืบสายพันธุ์ต่อไปด้วย
ผลผลิตแห่งอดีตของพืชพันธุ์ มันกลายเป็นอนาคตของพืชพันธุ์เดียวกันด้วย
MP : ครั้งหนึ่งผมได้อ่านเรื่องราวความประทับใจของ
Marx เกี่ยวกับแบบฉบับความเป็นอยู่ของลัทธิคอมมิวนิสต์ของชนชาวอินเดียน Iroquois
ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอเมริกาที่ถือปฏิบัติกัน. Marx มองมันในฐานะที่เป็นแบบแผนซึ่งไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวยุโรป
เพราะชนเผ่า Iroquois ล้วนแบ่งปันผืนดินและทรัพยากรกันอย่างเท่าเทียม; เขาเรียกมันว่ารูปแบบดั้งเดิมของคอมมิวนิสต์
กระนั้นก็ตามสำหรับผมแล้ว
ดูเหมือนว่ามันเป็นตัวอย่างการดำรงชีวิตอันหนึ่งของแง่มุมบางอย่างเกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆของคุณ
อีกครั้งที่ผมไม่เข้าใจและได้แต่สงสัยว่า จำนวนมากของความขัดแย้งระหว่าง"คนยุโรป-อเมริกา"
กับ "คนในประเทศโลกที่สาม" เป็นพื้นฐานความเข้าใจผิดกันอันหนึ่งเกี่ยวกับนิยามความหมายของ"ชุมชน"
อันนี้คุณสามารถที่จะแบ่งปันความคิดนี้บ้างได้ไหม?
Ngugi : ไม่, ผมไม่คิดว่านั่นเป็นสภาพความกลมกลืนของโลกที่สาม
กับ สภาพความกลมกลืนของยูโรอเมริกัน. เมื่อไรก็ตามที่มีเรื่องชนชั้นในสังคม
มันก็จะมีความขัดแย้งในด้านทัศนคติและความคิดเห็นต่างๆในโลกที่มีกลุ่มต่างๆทางสังคมที่หลากหลาย.
ในโลกของเรานี้ได้แบ่งแยกโดยการที่คนส่วนน้อยของประชาชาติปกครองคนส่วนใหญ่ของประเทศ.
มันต้องมีความแตกต่างในเชิงท่าทีและทัศนคติของผู้คน แต่ในท่ามกลางประชาชนทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นตะวันตกหรือโลกที่สามมันมีความต่างในภาพของโลก เกี่ยวกับสังคมที่มั่งมีและสังคมที่ไม่มี
MP : คุณได้เน้นถึงว่า กลุ่มต่างๆที่ถูกทำให้เป็นชายขอบได้ค้นพบวัฒนธรรมของพวกเขาเองขึ้นมาอีกครั้ง
โดยผ่านภาษาพื้นเมืองของตนเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งเหล่านั้นที่ได้รับมาโดยการยัดเยียดจากลัทธิอาณานิคม.
ในการทำเช่นนั้น ใครสักคนดูเหมือนจะเคลื่อนย้ายศูนย์กลางไปจากภาษาอังกฤษหรือภาษาตะวันตก
และยอมให้ศูนย์กลางมาอยู่ที่ชายขอบต่างๆ. วิธีการอันนั้นปฏิเสธความคิดเกี่ยวกับการผสมผสานในวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ใช่ไหม?
Ngugi : Aim Csai ได้พูดถึงการแลกเปลี่ยนไว้อย่างคมคายว่า
การแลกเปลี่ยนเป็นอ๊อกซิเจนของอารยธรรม. แต่ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นธรรมกับคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ของอีกอารยธรรมหนึ่ง.
การแลกเปลี่ยนมีพื้นฐานอยู่บนความเท่าเทียม(ในกรณีนี้คือ อ๊อกซิเจนแลกกับอ๊อกซิเจน)
ผมชอบไอเดียของการร่ายรำอันหนึ่ง ที่มีระยะห่างเท่าๆกันจากศูนย์กลาง พวกเขาต่างอยู่ในวงกลมอันหนึ่ง
พวกเขาทั้งหมดต่างช่วยสนับสนุนศูนย์กลางและในเวลาเดียวกันก็ดึงออกจากศูนย์กลางด้วย.
คล้ายกับซี่ล้อจักรยาน แต่นั้นมีความแตกต่างกันกล่าวคือ ซี่ล้อมนุษย์จะต้องอิงอาศัยจากอีกคนหนึ่งด้วย
MP : คุณมีทัศนะต่อปัญหาต่างๆเกี่ยวกับการอธิบาย
หรือการให้คำจำกัดความอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งในสหรัฐอเมริกาอย่างไร?
สำหรับวัฒนธรรมจำนวนมาก ดูเหมือนว่า พวกมันจะดำรงอยู่ในลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ที่แบ่งแยกระหว่าง"วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย"
กับ"วัฒนธรรมของอเมริกัน". คุณคิดว่านี่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญและความสลับซับซ้อน
เหนือกว่าระดับภาษาและการสื่อสารหรือไม่?
Ngugi : ผมพบว่า สหรัฐอเมริกาเป็นฉากที่มีเสน่ห์ชวนหลงใหลมากที่สุดแห่งหนึ่ง
ศาสนาทุกศาสนา วัฒนธรรมธรรมทุกๆวัฒนธรรม ภาษาทั้งหมดในโลก ความเป็นชนกลุ่มน้อยหรือชาติพันธ์ทั้งปวงบนดาวเคราะห์ดวงนี้
ต่างมาแสดงออก ณ นี้. แต่มันมีแนวโน้มอันหนึ่งที่จะปิดบังเรื่องดังกล่าวในความคิดความเชื่อเกี่ยวกับเบ้าหลอม.
การดำรงอยู่ร่วมกันของอัตลักษณ์ต่างๆอย่างมากมายภายในอัตลักษณ์อเมริกันโดยรวม
ซึ่งควรได้รับการมองในฐานะที่เป็นแหล่งต้นตออันหนึ่งของความเข้มแข็ง ไม่ใช่ความอ่อนแอ.
อันนี้คือสิ่งที่อเมริกันควรส่งออกไปทั่วโลก ไม่ใช่การบอมทิ้งไป
MP : ในนวนิยายเรื่อง Homecoming(การกลับบ้าน)
คุณได้หยิบยกเอาความห่วงใยเกี่ยวกับแผนกภาษาอังกฤษอย่างมากขึ้นมากล่าว ทั้งเมื่อตอนที่คุณยังเป็นนักศึกษาและศาสตราจารย์ในแอฟริกา.
หนึ่งในวิธีการเข้าถึงซึ่งปลอดภัยที่สุดสู่การทำให้เกิดความหลากหลายหลักสูตรหนึ่งก็คือ
ต้องรวมหมู่นักเขียนที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกเข้าสู่การผสมผสาน. มันเกิดขึ้นในทุกวันนี้เช่นดั่งที่มันเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงวันเวลาของคุณ
คุณได้อธิบายสถานการณ์ดังกล่าวในเรื่อง Homecoming ว่าเป็น"ความพยายามที่จะขออภัยอันหนึ่งต่อการแอบเขียนด้วยภาษาแอฟริกันเข้าไปในหลักสูตรภาษาอังกฤษ".
แผนกภาษาอังกฤษสามารถที่จะไปพ้นกระบวนวิชาที่ไม่ปกติในบางครั้งบางคราว หรือมันจะถูกแบ่งแยกเป็นแผนกหรือกระบวนวิชา(ที่เท่าเทียม)ตลอดไปได้หรือไม่?
Ngugi : เนื่องจากว่าทั่วโลกได้ล่วงมาถึงการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
และผลผลิตทางปัญญาในภาษาอังกฤษมาจากทุกมุมโลก แผนกภาษาอังกฤษทั้งหลายควรที่จะสะท้อนถึงความหลากหลายอันนั้น
แน่นอน คุณยังต้องการแผนกภาษาอื่นๆ และสิ่งเหล่านี้เช่นกันที่ควรจะสะท้อนถ่ายมิติความสำคัญของโลกอันนั้น
MP : คุณมีความคิดใดหรือไม่ต่อแบบจำลองหรือแม่แบบที่ใช้การได้
สำหรับการปฏิรูปแผนกภาษาอังกฤษในสหรัฐอเมริกา?
Ngugi : ไม่หรอก ผมไม่มีแบบจำลองอะไรเลย แต่หนึ่งในความเรียงต่างๆของผมในหนังสือเรื่อง
Moving the Center (การเคลื่อนย้ายของศูนย์กลาง) ผมได้ให้เหตุผลและอ้างถึงระดับที่สูงขึ้นของ"การเปรียบเทียบ"ในการสร้างแผนกหรือภาควิชาวรรณคดีภาษานานาชาติที่หลากหลายขึ้น.
การแปลต่างๆ ตอนนี้มีมากกว่าเมื่อก่อน ซึ่งสามารถช่วยรองรับและก่อให้เกิดความมั่นใจเกี่ยวกับการเปรียบเทียบอันนั้นได้
ความเป็นเกาะหรือความโดดเดี่ยวเป็นสิ่งอันตรายสำหรับแผนกใดๆก็ตาม
และรวมถึงแผนกภาษาอังกฤษด้วยที่คิดว่า ตัวของพวกมันเองเป็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆของวรรณคดีอังกฤษนานาชาติ
มันเมินเฉยแม้กระทั่งผลผลิตทางปัญญาเหล่านั้นโดยคนที่อพยพเข้ามาใหม่ต่างๆ
ความเมินเฉยหรือความไม่ให้ความเอาใจใส่สามารถน้อมนำไปสู่ความแห้งแล้งและเป็นหมันได้
MP : เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้อ่านพบจากอินเตอร์เน็ตว่า
คุณมีนวนิยายเรื่องใหม่ที่กำลังจะพิมพ์ออกมา? คุณจะเปิดเผยถึงรายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับนวนิยายเรื่องนี้ได้ไหม?
Ngugi : นวนิยายที่พูดถึงนั้นคือ Murogi wa
Kagogo, ในภาษา Gikuyu. มันยังไม่ออกมา แต่ควรจะได้รับการตีพิมพ์ในปีนี้.
การแปลเป็นภาษาอังกฤษจะถูกพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Pantheon และควรออกมาในช่วงปลายปี
2004 หรืออย่างช้าราวต้นปีหน้า. มันเป็นนวนิยายเรื่องใหญ่ จัดเป็นประเภทหนึ่งของโลกามหากาพย์ที่พูดถึงโลกของเราในทุกวันนี้.
ผมกำลังทำมันอยู่ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่พฤษภาคม ปี 1997. ดังที่คุณเห็น งานเขียนชิ้นนี้ทอดข้ามเวลาถึงสองศตวรรษ
MP : คุณคิดว่าเรื่องราวที่แต่งขึ้นในปัจจุบันของเคนย่าเป็นอย่างไร?
อะไรคือบางอย่างเกี่ยวกับหนังสือต่างๆเมื่อเร็วๆนี้ในภาษา Gikuyu ที่มีผลกระทบกับคุณ?
Ngugi : มีนักเขียนอยู่หลายคนด้วยกันซึ่งตอนนี้เขียนด้วยภาษา
Gikuyu. ผลงานของ Ms. Waithira Mbuthia นั้นค่อนข้างแพร่หลายมาก. นอกจากนี้ยังมี
Gitahi Gititi, ศาสตราจารย์ทางด้านภาษาอังกฤษ แต่เขียนในภาษา Gikuyu. Mwangi
Mutahi ก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งได้ตีพิมพ์นวนิยาย 3 เรื่องในภาษา Gikuyu. มีกวีอย่าง
Gatua wa Mbugua ซึ่งนอกจากจะเป็นนักกวีแล้วเขายังเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย
เขาเพิ่งจะจบและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์ที่เขียนด้วยภาษา Gikuyu
ทั้งหมดเสร็จ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตรที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์. ยังมีอีกมาก.
ส่วนใหญ่ของบรรดานักเขียนเหล่านี้คือนักเขียนในหน้านิตยสารภาษา Gikuyu, Mutiiri,
เดิมทีมีฐานอยู่ที่ New York University แต่ปัจจุบันมาอยู่ที่ the University
of California Irvine.
MP : ท้ายที่สุด ผมยังได้อ่านใน L.A. Times
เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมานี้ ซึ่งทำให้ทราบว่าคุณกำลังวางแผนที่จะหวนคืนกลับไปสู่เคนย่าใช่ไหม?
Ngugi : ยังไม่หรอก. แต่กำลังจะกลับไปเคนย่าในราวเดือนสิงหาคม
2004 เพื่อไปเยี่ยมเยือน ซึ่งเป็นครั้งแรกนับจากที่ผมถูกบีบบังคับให้เนรเทศออกมาในปี
ค.ศ.1982. 22 ปีของการเนรเทศให้ต้องมาอยู่ต่างถิ่นที่ใกล้จะจบลงแล้ว แต่ในความรู้สึกทางจิตวิญญาน
ผมไม่เคยละทิ้งไปจากบ้านเกิดที่เคนย่าเลย เคนย่าและแอฟริกามักจะอยู่ในใจของผมเสมอ
แต่ผมหวังว่าจะได้รวมกันใหม่อีกครั้งในทางกายภาพกับเคนย่า ประเทศอันเป็นที่รักของผม
An Interview with Ngugi Wa Thiong'o, May 2004
By Michael Alexander Pozo, St. Johns University
Aug 16, 2004, 09:04
(เรียบเรียงจาก : http://www.postcolonialweb.org/poldiscourse/pozo3.html)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ภาคผนวก ๑.
ชีวประวัติของ Ngugi wa Thiong'o
ความนำ
Ngugi wa Thiong'o (1938-) - ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกรู้จักกันในนาม James Ngugi
เขาเป็นครูชาวเคนย่า, นักเขียนนวนิยาย, ความเรียง, และบทละคร, ผลงานต่างๆของเขาทำหน้าที่ในฐานะความเชื่อมโยงที่สำคัญอันหนึ่งระหว่างผู้บุกเบิกงานเขียนแอฟริกัน
กับ คนรุ่นใหม่ที่เป็นนักเขียนหลังอาณานิคมต่างๆ
หลังจากการถูกจำคุกในปี ค.ศ.1978, Ngugi ก็ได้ละทิ้งการใช้ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาแรกสุดเกี่ยวกับงานเขียนของเขาไปสู่การใช้ภาษา Gikuyu อันเป็นภาษาโดยกำเนิดของตนเอง. การเปลี่ยนผ่านจากลัทธิอาณานิคมสู่หลังอาณานิคม และวิกฤตของความเป็นสมัยใหม่กลายเป็นประเด็นแกนกลางในงานเขียนต่างๆของ Ngugi ส่วนใหญ่
อีกครั้งที่นกเค้าแมวร้องสองครั้ง! "มันเป็นเสียงเตือนถึงเธอ", Njorege คิด.
และอีกครั้งที่จิตวิญญานของเขาทั้งหมดเดือดผุดขึ้นมาในความโกรธ - โกรธต่อสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดด้วยความเป็นผิวขาว ทั้งหมดเหล่านั้นที่เป็นธาตุของต่างชาติที่เข้ามาแทนที่บุตรที่แท้ของแผ่นดินจากสถานที่ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้. พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงสัญญากับ Gekoyo ใช่ไหมว่า พระองค์จะให้ผืนแผ่นดินทั้งหมดต่อบิดาแห่งเผ่าพันธุ์ - และทายาทของเขา? มาถึงตอนนี้ ผืนแผ่นดินทั้งหมดได้ถูกริบเอาไปหมดแล้ว (from 'The Martyr' in African Literature, ed. by Lennart S?rensen, 1971)
พ่อของเขา, Thiong'o wa Nducu, เป็นชาวนาคนหนึ่งซึ่งได้ถูกบีบบังคับให้กลายเป็นผู้บุกเบิกที่ต้องหักร้างถางพงในที่ดินของรัฐ ภายหลังพระราชบัญญัติจักรวรรดิ์อังกฤษในปี ค.ศ.1915. Ngugi ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนซึ่งดำเนินการโดยมิชชันนารี ที่ Kamaandura ใน Limuru, โรงเรียน Karinga ใน in Maanguu, และโรงเรียนมัธยม Alliance High School ใน Kikuyu ตามลำดับ
ในระหว่างช่วงปีเหล่านี้ Ngugi ได้กลายเป็นคริสเตียนที่ศรัทธาคนหนึ่ง ภายหลังจากที่เขาปฏิเสธความเป็นคริสเตียน และเปลี่ยนชื่อกลับไปใช้ชื่อเดิมในปี ค.ศ.1976 จาก Jame Ngugi ซึ่งเขามองว่ามันเป็นเครื่องหมายอันหนึ่งของลัทธิอาณานิคม มาเป็น Ngugi wa Thiong'o
หลังจากได้รับปริญญาตรีในภาษาอังกฤษ ณ มหาวิทยาลัย Makerere University College ในกรุงคัมพาลา ประเทศอูกันดาในปี 1963, Ngugi ได้ทำงานช่วงเวลาสั้นๆในฐานะนักหนังสือพิมพ์ในไนโรบี. เขาแต่งงานในปี ค.ศ.1961. ได้ให้กำเนิดทารกด้วยกัน 6 คน ในช่วง 17 ปีกับภรรยาของเขา, Nyambura
ในปี 1962 ละครเรื่อง The Black Hermit (ผู้ตัดขาดจากโลกภายนอกชาวผิวดำ) ได้รับการสร้างขึ้นในกรุงคัมพาลา. ในปี 1964 เขาได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษเพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย Leeds University. ในฐานะนักเขียนนวนิยายคนหนึ่ง เขาได้ออกโรงเป็นครั้งแรกด้วยนวนิยายเรื่อง WEEP NOT, CHILD (เด็กน้อยอย่าร้องไห้ - 1964), ซึ่งเขาเริ่มต้นเขียนขณะที่อยู่ในโรงเรียนอังกฤษ มันคือนวนิยายเรื่องแรกในภาษาอังกฤษที่ได้รับการตีพิมพ์โดยนักประพันธ์แอฟริกันตะวันออก
นวนิยายของ Ngugi
wa Thiong'o
Ngugi ได้ใช้รูปแบบนวนิยาย Bildungsroman (หมายถึงนวนิยายที่เกี่ยวข้องกับปีแห่งการสร้างตัวของคนๆหนึ่ง)
เพื่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับคนหนุ่มนามว่า Njoroge. เขาสูญเสียโอกาสของตนสำหรับการศึกษาต่อ
เมื่อเขาถูกจับกุมในระหว่างความฝันในเชิงอุดมคติ กับความเป็นจริงที่รุนแรงของการตักตวงประโยชน์จากเจ้าอาณานิคม.
แนวเรื่องที่โดดเด่นมากที่สุดในงานช่วงแรกของ Ngugi คือความขัดแย้งระหว่างลักษณะปัจเจกกับชุมชน
ในเรื่อง THE RIVER BETWEEN (ระหว่างสายน้ำ - 1965) มีเบื้องหลังของมันอยู่กับการก่อกบฎ Mau Mau (1952-1956) เรื่องราวดังกล่าวได้รับการสร้างขึ้นบนฉากช่วงเวลาปลายทศวรรษที่ 1920s และ 1930s และได้พรรณาถึงเรื่องราวรักๆใคร่ๆที่ปราศจากความสุขในชุมชนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ที่ถูกแบ่งแยกระหว่างผู้ที่เปลี่ยนแปลงศาสนาไปเป็นคริสเตียน กับคนที่ไม่ใช่คริสเตียนทั้งหลาย
นวนิยายเรื่อง A GRAIN OF WHEAT (เมล็ดพันธุ์แห่งข้าวสารี - 1967) เป็นเครื่องหมายของการสิ้นสุดความสัมพันธ์กับลัทธิชาตินิยมทางวัฒนธรรมและการยึดถือลัทธิมาร์กซ์ Fanonist. Ngugi อ้างถึงชื่อในพระคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการเสียสละตนเอง ส่วนหนึ่งของการเกิดใหม่: "เว้นแต่เมล็ดพันธุ์หนึ่งของข้าวสาลีที่ตาย". เรื่องราวในเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับวีรบุรุษที่ผิดพลาดคนหนึ่ง และการค้นหาความเป็นผู้ทรยศของผู้นำ Mau Mau ซึ่งได้สร้างขึ้นในฉากของหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่ได้ถูกทำลายลงในสงคราม
ครอบครัวของผู้เขียนได้ถูกนำไปเกี่ยวพันกับการจลาจล Mau Mau - พี่ชายของ Ngugi ได้เข้าร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวอันนี้ ส่วนพี่น้องต่างมารดาของเขาถูกฆ่า และแม่ของเขาได้รับการทรมาน. หมู่บ้านของ Ngugi ประสบกับความทุกข์ยากในการต่อสู้ดังกล่าว
ชีวิตการทำงานและความคิดกบฎ
ในช่วงทศวรรษที่ 1960s Ngugi เป็นผู้สื่อข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ Daily Nation
ของไนโรบี และเป็นบรรณาธิการของ Zuka นับจากปี ค.ศ.1965-1970. เขาทำงานในฐานะผู้บรรยายให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง
- ได้แก่ the University College in Nairobi (1967-69), ที่ the Makerere
University in Kampala (1969-70), และที่ the Northwestern University in
Evanston ในสหรัฐอเมริกา (1970-71)
Ngugi ได้ลาออกจากตำแหน่งงานของเขาที่มหาวิทยาลัยไนโรบี ในฐานะผู้ประท้วงคนหนึ่งต่อการเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาลในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น ซึ่งเขาได้เข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวในปี 1973 ในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาวรรณคดี
สำหรับการวิจารณ์เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ ได้รับการก่อตัวขึ้นมาเพื่อขานรับต่อตัวเขาและเพื่อนร่วมงานในเรื่องนี้ - ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้สร้างกระบวนวิชาภาษาอังกฤษขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1950s เพื่อทำการสอนในดินแดนอาณัติการปกครองของอังกฤษ
Ngugi ได้ตั้งคำถามขึ้นมาในบทความชิ้นหนึ่ง ซึ่งได้เขียนร่วมกับ Taban lo Liyong และ Henry Owuor-Anyumba ว่า, "ถ้ามันเป็นความต้องการเพื่อจะศึกษาความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งโดดๆ, ทำไมจึงไม่เป็นวัฒนธรรมแอฟริกัน? ทำไมไม่วางวรรณกรรมแอฟริกันเป็นศูนย์กลาง เพื่อว่าเราจะได้สามารถมองวัฒนธรรมอื่นๆในความสัมพันธ์กับวรรณกรรมแอฟริกันได้?" (จากบทความเรื่อง 'On the Abolition of the English Department', - การเลิกล้มเกี่ยวกับภาควิชาภาษาอังกฤษ,1968) การยอมรับอิทธิพลของวรรณคดีต่างๆของชาวยุโรปต่องานเขียนแอฟริกัน, Ngugi และนักประพันธ์ร่วมได้เน้นถึงความสำคัญของจารีตมุขปาฐะ, วรรณคดี Swahili, และนวนิยายและบทกวี Caribbean
"เรามีลูกตา แต่มองไม่เห็น, เรามีหู แต่ไม่ได้ยิน. เราสามารถอ่านได้ แต่เราไม่เข้าใจในสิ่งที่เราอ่าน"
Ngugi ได้ถูกจำคุกภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัยของสาธารณชนเป็นเวลาหนึ่งปี โดยไม่มีการสอบสวนใดๆสำหรับการเกี่ยวพันของเขากับโรงละครชุมชนในหมู่บ้านของเขา. เบื้องหลังการจับกุมเขาคือ เนื้อหาทางการเมืองที่ไม่มีการเซ็นเซอร์เกี่ยวกับละครยอดฮิตเรื่อง NGAAHIKA NDEENDA (1977, ผมจะแต่งงานเมื่อผมต้องการ) ซึ่งได้เขียนร่วมกับ Ngugi wa Mirii
นวนิยายของ Ngugi เรื่อง PETALS OF BLOOD (กลับดอกไม้สีเลือด - 1978)ด้วยเช่นกัน, ที่ได้ดึงดูดความสนใจของผู้คนโดยความรู้สึกที่แหลมคมเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยต่างๆ. มันสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในงานของ Ngugi จากการพรรณาถึงยุคสมัยของอาณานิคมไปสู่การสะท้อนถึงการตักตวงผลประโยชน์และการคอรัปชั่นในช่วงเวลานั้นของเคนย่า. เรื่องราวนี้ได้โฟกัสลงไปที่การสืบสวนเกี่ยวกับการฆาตกรรมผู้แทนราษฎรสามคนของสังคมใหม่ ผู้ซึ่งได้กำไรและประโยชน์จากลัทธิอาณานิคมใหม่
เรื่องสั้น 'Minutes of Glory' (นาทีแห่งความรุ่งโรจน์) ได้สำรวจถึงเบื้องหลังของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ - ชีวิตของบรรดาผู้หญิงทั้งหลายซึ่งถูกลากออกมาจากหมู่บ้าน และต่างต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมด้วยการถูกส่งไปให้ทำงานเป็นโสเภณีในเมืองต่างๆ. ตัวเอกในเรื่อง Beatrice เป็นผู้หญิงตามบาร์ที่ถูกตักตวงเอาประโยชน์ ซึ่งแอบหลบหนีมาจากเพื่อนชายที่เป็นคนขับรถบรรทุก และมีเวลาไม่กี่นาทีกับอิสรภาพของเธอและความชื่นชม ก่อนที่เธอจะถูกจับกุมอีกครั้ง
"ชีวิตของเธออยู่ที่นี่ ในบาร์ที่เต็มไปด้วยฝูงชนของคนแปลกหน้าและสิ้นหวัง. สูญสิ้นซึ่งความงาม สูญสิ้นซึ่งความนุ่มนวล เธอเป็นส่วนเสี้ยวของคนรุ่นหนึ่งซึ่งไม่เคยเป็นหนึ่งเดียวกับผืนดินได้อีกเลย
พืชผลต่างๆ สายลมและแสงจันทร์ ไม่ใช่สำหรับพวกเธอที่กำลังส่งเสียงกระซิบมาจากแนวพุ่มไม้ในความมืด ไม่ใช่สำหรับเธอที่การเต้นรำและการร่วมรักภายใต้การจ้องมองของดวงจันทร์ ท่ามกลางเนินเขาต่างๆของ Tumu Tumu ที่ผุดขึ้นไปสัมผัสกับท้องฟ้าในยามค่ำคืน" (from 'Minutes of Glory' in Secret Lives, 1976)
ครั้งหนึ่งภาษา Gikiyu กล่าวว่า : เสือดาวไม่รู้ว่ามันจะตะครุบเหยื่อได้อย่างไร; มันถูกสอน. อันที่จริง มันมีอุ้งเล็บและพลังที่จะตะครุบเสมอ. มันตะครุบเพื่อฆ่าลูกๆของมันใช่ไหม? หรือมันตะครุบเพื่อฆ่าเหยื่อและทำร้ายศัตรูทั้งหลายของมัน?
สิ่งหนึ่งซึ่งแน่นอนคือ สิ่งที่ทำ ไม่สามารถที่จะไม่ทำได้ การกระทำทั้งหลายของพวกเราคือก้อนดินและก้อนอิฐต่างๆ ที่พวกเราใช้เพื่อสร้างหัวใจของพระผู้เป็นเจ้าหรือหัวใจของปีศาจ อย่างใดอย่างหนึ่ง" (from Devil on the Cross, 1980)
บันทึกประจำวันของคนคุกของ Ngugi เรื่อง DETAINED (กักขัง) ซึ่งถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาอังกฤษ ปรากฏตัวขึ้นมาในปี ค.ศ.1981. เขาได้ละทิ้งจากเคนย่าในปี ค.ศ.1982 ไปอยู่อย่างคนที่เนรเทศตัวเองในลอนดอน. ในหนังสือของเขาเรื่อง DECOLONISING THE MIND: THE POLITICS OF LANGUAGE IN AFRICAN LITERATURE (การปลดปล่อยจิตวิญญานจากอาณานิคม: การเมืองเกี่ยวกับเรื่องภาษาในวรรณกรรมแอฟริกัน - 1986) Ngugi เขียนว่า บรรดานักเขียนชาวแอฟริกันควรจะแสดงออกถึงตัวของพวกเขาเองด้วยภาษาท้องถิ่น เพื่อที่จะได้ถึงมือมวลชนแอฟริกันด้วยกัน
ท่ามกลางผลงานที่สำคัญส่วนใหญ่ของ Ngugi คือเรื่อง MATIGARI (1987), ซึ่งผู้เขียนได้สร้างเรื่องเล่าของเขาขึ้นมาจากนิทานพื้นบ้านอันมีชื่อเสียงของ Gikuyu. ในเรื่อง Martigari เป็นนิทานที่แฝงนัยะทางศีลธรรมในเชิงเสียดสี เป็นเรื่องของนักสู้ที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ปรากฏตัวขึ้นมาจากป่าดงพงไพรในช่วงอรุณรุ่งทางการเมืองของเคนย่าหลังได้รับเอกราช. การแสวงหาครอบครัวของเขาและอนาคตใหม่ เขาพบความเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และปฏิญานนี่จะใช้กำลังอาวุธต่างๆเพื่อบรรลุถึงเสรีภาพที่แท้จริงของเขา. ตามที่มีการโจษจันกัน, Matigari ได้ถูกพิจารณาอย่างจริงจังโดยผู้มีอำนาจชาวเคนย่า ในฐานะที่เป็นพล็อตเรื่องซึ่งยุแหย่ให้เกิดการปฏิวัติเพื่อล้มล้างรัฐบาล และเป็นหลักฐานยืนยันอันหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อจับกุมเขา
ในปี ค.ศ.1992 Ngugi ได้เป็นศาสตราจารย์ทางด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ และการศึกษาการละคร ณ New York University, ที่ซึ่งเขาได้เข้ายึดครองเก้าอี้ Erich Maria Remarque. นอกจากนี้เขายังสอนที่ the University of Bayreuth และ the University of Auckland, New Zealand; และ Yale, Smith, และที่ Amherst.
สำหรับผู้สนใจ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน
- Ngugi wa Thiong'o by Clifford B. Robson (1979);
- An Introduction to the Writings of Ngugi wa Thiong'o by G.D. Killam (1980);
- Ngugi wa Thiong'o: An Exploration of His Writings by David Cook and Michael Okenimkpe (1983);
- Ngugi wa Thiong'o's A Grain of Wheat by Muchigu Kiiru (1985);
- Ngugi wa Thiong'o: The Making of a Rebel by Carol Sicherman (1990);
- Ngugi wa Thiong'o: L'homme et l'ouvre by Jacqueline Bardolph (1990)
- Ngugi Wa Thiong O: A Bibliography of Primary and Secondary Sources, 1957-1987 by Carol Sicherman (1991);
- The Words of Ngugi by C. Nwandwo (1992);
- The World of Ngugi wa Thiong'o, ed. by Charles Cantalupo (1993);
- The Novels of Achebe and Ngugi by K. Indrasena Reddy (1994);
- Ngugi was Thiong'o: Text and Context, ed. by Charles Cantalupo (1995);
- Ngugi wa Thiong'o: The Ideology of Form by Simon Gikandi (1998);
- Critical Essays: Achebe, Baldwin, Cullen, Ngugi, and Tutuola by Sydney Onyeberechi (1999);
- Ngugi wa Thiong'o by Patrick Williams (1999);
- Ngugi wa Thiong'o by Oliver Lovesey (2000)
- For further information : Ngugi wa Thiong'o: An Overview, The Global Education Project: Ngugi wa Thiong'o
ผลงานที่ได้รับการเลือกสรร
- The Black Hermit, 1963 (play)
- Weep Not, Child, 1964
- The River Between, 1965
- A Grain of Wheat, 1967
- This Time Tomorrow (three plays, including the title play, "The Reels," and "The Wound in the Heart"), c. 1970
- Homecoming: Essays on African and Caribbean Literature, Culture, and Politics, 1972
- Secret Lives, and Other Stories, 1976
- The Trial of Dedan Kimathi, 1976 (with Micere Githae Mugo)
- Ngaahika ndeenda (I Will Marry When I Want), 1977 (play; with Ngugi wa Mirii)
- Petals of Blood, 1977
- Caitaani mutharaba-Ini (Devil on the Cross), 1980
- Writers in Politics: Essays, 1981
- Education for a National Culture, 1981
- Detained: A Writer's Prison Diary, 1981
- Barrel of a Pen: Resistance to Repression in Neo-Colonial Kenya, 1983
- Decolonising the Mind: The Politics of Language in African Literature, 1986
- Mother, Sing For Me, 1986
- Writing against Neo-Colonialism, 1986
- Njamba Nene and the Flying Bus (Njamba Nene na Mbaathi i Malhagu),1986 (children's book)
- Matigari ma Njiruungi, 1986
- Njamba Nene and the Cruel Chif (Njamba Nene na Chibu King'ang'i), 1988 (children's book)
- Matigari, 1989 (translated into English by Wangui wa Goro)
- Njamba Nene's Pistol (Bathitoora ya Njamba Nene), 1990 (children's book)
- Moving the Centre: The Struggle for Cultural Freedom, 1993
- Penpoints, Gunpoints and Dreams: The Performance on Literature and Power in Post-Colonial Africa, 1998
(เรียบเรียงจาก : http://www.kirjasto.sci.fi/ngugiw.htm)
ภาคผนวก ๒.
Post-colonialism : ลัทธิหลังอาณานิคม
Post-colonialism (อันที่จริงยังรู้จักกันในชื่อ post-colonial theory, หรือ
post-oriental theory ด้วย) คำนี้เป็นการอ้างอิงถึงทฤษฎีต่างๆชุดหนึ่งในปรัชญาภาคพื้นทวีป(continental
philosophy)และวรรณคดี ที่เกี่ยวก้อยกันกับมรดกตกทอดในการปกครองอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสในช่วงคริสตศตวรรษที่
19
ในฐานะที่เป็นทฤษฎีทางอักษรศาสตร์หรือวิธีการเข้าถึงในเชิงวิพากษ์ จึงได้ไปเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมที่ผลิตขึ้นมาในประเทศต่างๆที่ครั้งหนึ่งเคยตกเป็นอาณานิคม หรือยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบันของประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ยังไปเกี่ยวข้องกับวรรณคดีที่ได้รับการเขียนขึ้นโดยผู้คนทั้งหลายของประเทศที่เป็นอาณานิคม ซึ่งได้หยิบเอาเรื่องของอาณานิคมต่างๆหรือประชาชนในประเทศเหล่านั้นมาเป็นเนื้อหาเรื่องราวของมัน
ทฤษฎีหลังอาณานิคมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกล่องเครื่องมือในเชิงวิพากษ์ในช่วงทศวรรษที่ 1970s และบรรดานักปฏิบัติการที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น Edward Said หนังสือของเขาเรื่อง Orientalism ผลงานก่อตั้งรากฐานในเชิงทฤษฎี
ลัทธิหลังอาณานิคมเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาต่างๆมากมายสำหรับสังคมที่มีประสบการณ์ผ่านลัทธิอาณานิคม อย่างเช่น
- สภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกหรือสถานการณ์ที่ยากลำบากต่างๆของการพัฒนาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของประชาชาติ ในความสำนึกและความตื่นตัวเกี่ยวกับการปกครองของอาณานิคม
- วิธีการที่บรรดานักเขียนทั้งหลายจากประเทศอาณานิคมต่างๆพยายามที่จะพูดออกมาอย่างชัดถ้อยชัดคำ และกระทั่งสรรเสริญเยินยออัตลักษณ์ต่างๆทางวัฒนธรรมของพวกเขา และดึงมันกลับมาจากผู้ปกครองอาณานิคม
- หนทางที่ความรู้ของผู้คนในอาณานิคมได้ไปช่วยเหลือผลประโยชน์ของเจ้าอาณานิคมต่างๆ และวิธีการที่ความรู้ของพลเมืองชั้นสองได้รับการผลิตขึ้นและถูกนำไปใช้อย่างไร และ
- วิธีการที่วรรณคดีของเจ้าอาณานิคมที่ทรงอำนาจ ได้ถูกใช้เพื่อให้เหตุผลสนับสนุนลัทธิอาณานิคม โดยผ่านความต่อเนื่องของภาพลักษณ์ต่างๆของผู้ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมในฐานะผู้ที่ด้อยกว่า
สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับหลังอาณานิคมนั้น ได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีมานี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเกี่ยวกับ สตรีนิยมหลังอาณานิคม (postcolonial
feminism)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เรียบเรียงจาก :
1. http://www.axisoflogic.com/cgi-bin/exec/view.pl?archive=66&num=10996
2. http://www.kirjasto.sci.fi/ngugiw.htm
3. Wikipedia, the free encyclopedia)
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
สุนทรียศาสตร์ไม่ได้พัฒนาขึ้นมาในสูญญากาศทางสังคม แนวคิดเกี่ยวกับสุนทรียภาพของชีวิตคือผลผลิตของชีวิตในตัวของมันเองซึ่งมันสะท้อนถ่ายออกมาในเวลานั้น. ดอกไม้ดอกหนึ่งที่งดงาม คือผลผลิตของต้นไม้ทั้งต้น และดอกไม้เป็นเครื่องหมายที่สำคัญอันหนึ่งของอัตลักษณ์ของกลุ่มของพืชพันธ์จำเพาะนั้นๆ หรือของพืชต้นนั้นโดยเฉพาะ. ดอกไม้ที่งดงามอ่อนช้อย ยังบรรจุเมล็ดพันธุ์เพื่อสืบสายพันธุ์ต่อไปด้วย
การทำงานกับชุมชนเป็นสิ่งที่บีบบังคับให้ผมต้องเริ่มต้นเขียนด้วยภาษา Gikuyu หลังจากหลายปีแห่งความลังเลใจที่อยู่ในความคิดมาโดยตลอด. ผลงานของผมในหมู่บ้านได้ส่งให้ตัวผมเข้าไปอยู่ในคุกที่แข็งแรงที่สุดเป็นเวลาหนึ่งปี โดยปราศจากการสอบสวน. และในขณะที่อยู่ในคุกที่มั่นคงแห่งนั้น ผมคิดมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผมกับภาษาอังกฤษ และผมได้เลือกแล้วอย่างแน่วแน่ ที่จะไม่เขียนงานวรรณกรรมและบทละครในภาษาอังกฤษอีก. เรื่อง Devil on the Cross, ได้ถูกเขียนขึ้นบนกระดาษชำระในส้วม นั่นเป็นผลลัพธ์ที่ออกมาชิ้นแรกของการตัดสินใจอันนี้ (Ngugi, ผู้กบฎต่อภาษาอังกฤษ ผู้กบฎต่อลัทธิอาณานิคมอังกฤษ และผู้กบฎต่อความไม่เป็นธรรมทั้งปวงของเคนย่า)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ
ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์