01

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 599 หัวเรื่อง
Legal Pluralism-นิติศาสตร์ไทย
ไพสิฐ พาณิชย์กุล
นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

R
relate topic
250648
release date
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 26000 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 - ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
The Midnight
University

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อที่ midnightuniv(at)yahoo.com - midnight2545(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์ (การจัดส่งทางไปรษณีย์ จะลงทะเบียนทุกฉบับ)

ปาฐกถา 40 ปี ภาควิชารัฐศาสตร์ มช.
Legal Pluralism : กับอนาคตนิติศาสตร์ไทย
ไพสิฐ พาณิชย์กุล
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ: ปาฐกถานี้เป็นส่วนหนึ่งของ
กิจกรรมวิชาการในโอกาสครบรอบ 40 ปี ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่ 17 มิถุนายน 2548 เวลา 9.00 - 12.30 น.
ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดยความร่วมมือของสาขารัฐศาสตร์และสาขานิติศาสตร์

เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)


 

(ต่อจากบทความเรื่องเดียวกัน ลำดับที่ 598) คลิกกลับไปอ่าน

ไพสิฐ พาณิชย์กุล : ประเด็นแรกที่ใคร่เสนอในที่สัมนานี้ก็คือ การสร้างความเข้าใจก่อนเกี่ยวกับงานวิชาการทางด้านนี้ ซึ่งเป็นการนำเสนอในการมองภาพรวมในระดับ macro ก่อน ส่วนรายละเอียดในระดับ micro คงจะเป็นเรื่องในลำดับต่อไป

สำหรับในการนำเสนอเรื่อง Legal Pluralism นั้น อาจารย์สมชายได้พูดถึงรายละเอียดในตัวเนื้อหาของพหุนิยมทางกฎหมาย แต่ผมคิดว่าคำถามที่เกิดขึ้นในการจัดสัมนาครั้งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในกฎหมายไทย ซึ่งผมจะขอเริ่มโดยการไปดูในบริบทที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและย้อนกลับมายังวงวิชาการบ้านเรา

จริงๆเรื่องที่พูดนั้น สามารถพูดได้ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นในเชิงพัฒนาการ ประเด็นเกี่ยวกับการถกเถียง หรือในแง่ของระเบียบวิธีของ Legal Pluralism. แต่ผมเลือกที่จะพูดถึงในเชิงบริบทถึงที่มาที่ไปว่ามีความเป็นมาอย่างไร และมาโยงกับวงวิชาการนิติศาสตร์ในบ้านเราอย่างไร?

เจตนาสำหรับการนำเสนอครั้งนี้คือ คนกับสถาบันในทางกฎหมาย เพื่อต้องการที่จะกระแทกให้สถาบันซึ่งเป็นผู้สร้างชุดข้อมูลความรู้ และมายาคติต่างๆ ให้เกิดการสะบัดหลุดจากวังวนของคำถามเดิมๆที่ถามกันในวงการกฎหมาย อันนี้เป็นประเด็นที่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น

ประเด็นสำคัญอีกอันหนึ่งที่จะต้องตั้งคำถามมากๆกับวงวิชาการก็คือ สถาบันทางวิชาการซึ่งควรจะเป็นคนที่มีความสามารถในการจัดการความรู้ได้ดีที่สุด แต่ปรากฏว่าเราไม่ได้หันกลับมามองเรื่องของการจัดการความรู้ตรงนี้ให้เกิดขึ้นจริงๆในวงวิชาการ ซึ่งผมขอนิยามการจัดการความรู้ว่า การจัดการความรู้มันมีอยู่ 2 ก้อนใหญ่ๆ คือ

ก้อนที่เป็น data ที่จะใช้เป็นฐานในการดูเรื่องราวต่างๆ ซึ่งตรงนี้ต้องแม่นเพราะว่า เนื่องจากจะเป็นการสร้างความจริงขึ้นมา ส่วนอีกก้อนหนึ่งคือว่าวิธีการให้เหตุผลกับมัน, ซึ่งผมคิดว่าเรื่อง Legal Pluralism เป็นส่วนก้อนที่สองนี้ ในแง่ของนิติวิธี แต่ในขณะเดียวกัน Legal Pluralism เอง โดยบริบทของมันจะทำให้เกิด data ขึ้นมา

การพูดถึง Legal Pluralism ที่ผ่านมา เราเสนอวิธีการเรียนการสอนกฎหมาย และเกิดมีการต่อต้านจากพวกกระแสหลักค่อนข้างมาก จุดตรงนี้จะทำอย่างไรให้รู้สึกเหมือนกับว่า เป็นเรื่องที่จะช่วยเสริมตัวกระแสหลักของวิชาการเดิมด้วย ในขณะเดียวกันก็เป็นการขยายมุมมองให้มองต่อไปจากตรงนี้ เพราะฉะนั้นการจัดวางของเรื่องดังกล่าว จึงต้องจัดวางในลักษณะที่ไม่รู้สึกระคายเคืองกับนิติศาสตร์กระแสหลัก โดยสามารถเป็นพวกกันได้ ซึ่งต่อไปในอนาคตจะได้เกิดเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมา

ในเอกสารที่ผมเขียนขึ้นมาประมาณ 9 หน้า ซึ่งยาวกว่า อ.สมชายหนึ่งหน้านั้น ได้พยายามที่จะลำดับเรื่องที่จะพูด 3 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรก, เป็นเรื่องข้อจำกัดของความเป็นวิชาการเกี่ยวกับนิติศาสตร์ไทย ซึ่งอันนี้จะทำให้เห็นถึงการอยู่ในวังวนคำถามมากมาย
ส่วนที่สอง, วงวิชาการนิติศาสตร์ไทยจะหลุดไปจากวังวนนี้อย่างไร?
ส่วนที่สาม, คือเรื่อง Legal Pluralism จะทำให้วงวิชาการนิติศาสตร์ไทยหลุดออกไปจากวังวนนี้ได้ไหม?

ประเด็นแรก ที่อยากจะชวนคิดคือว่า มีคำถามซึ่งตั้งให้กับวงวิชาการนิติศาสตร์ไทยมาเป็นเวลานานแล้ว เกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอนมีลักษณะเป็นศาสตร์หรือเปล่า หมายถึงมีการสร้างกระบวนการเหตุผลอย่างมีแบบแผนหรือไม่?

ประเด็นที่สอง คือว่า กฎหมายที่นำมาเรียน เราเรียนอะไรกันแน่? คำถามที่ อ.อานันท์ ตั้งขึ้นนั้นทิ่มแทงหัวใจนักกฎหมายมากคือว่า เราเรียนเรื่องของความยุติธรรมแต่ความเป็นธรรมไม่รู้จัก อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เราเรียน"พระราชบัญญัติ"หรือเราเรียนเรื่อง"หลักการ" คือการตั้งคำถามว่าเราเรียน"ตัวบท"หรือ"หลักการของกฎหมาย"

ประเด็นที่สาม คือ วิธีการที่นำมาใช้ในการเรียนการสอน เป็นวิธีการที่สามารถทำให้ผู้เรียนและผู้สอนเข้าใจถึงความเป็นธรรมซึ่งเป็นรากฐานของกฎหมาย หรือเข้าใจโลกของความเป็นจริงของสังคมที่มันเป็นธรรมมากน้อยขนาดไหน? พูดง่ายๆคือสิ่งที่เราเรียนเราสอนตรงนี้ วาทกรรมต่างๆที่ใช้มันสัมพันธ์กับโลกของความเป็นจริงหรือเปล่า?

ประเด็นทสี่ ี่คือว่า ได้มีการพัฒนาวิธีคิดทางนิติศาสตร์ที่จะอธิบายหรือตอบคำถามใหม่ๆได้ไหม ในท่ามกลางของกระแสความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว. อันนี้ผมคิดว่าเป็นคำถามซึ่งพัฒนาการขึ้นมาได้โดยใช้แนวทางของ Legal Pluralism มาตอบได้

ประเด็นที่ห้า ถามว่าเรามีงานวิจัยหรืองานวิชาการที่มาสนับสนุนการเรียนการสอนมากน้อยขนาดไหน? อันนี้พบกับตัวเองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งไปทำงานให้กับ สกว.เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมทางสังคม โดยพยายามชักชวนเพื่อนนักกฎหมายเข้ามาทำงาน อันนี้แทบจะต้องเข้าไปกราบเลยทีเดียว แต่ก็ไม่มีเลย

ตรงนี้เองได้ทำให้เกิดคำถามกับวงวิชาการว่า ข้อมูลต่างๆที่เราใช้ในการเรียนการสอนนั้น โตมาจากไหน หรือได้มาจากที่ใด? เช่น ได้มาจากต่างประเทศหรือเปล่า หรือเราเพียงแต่ทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ทางนิติศาสตร์หรือเปล่า ด้วยการนำเอาข้อความต่างๆมาต่อกันแล้วเรียกว่างานวิจัย อันนี้เป็นปัญหาหนักมากสำหรับวงวิชาการ

ประเด็นที่หก ถามว่าวงวิชาการนิติศาสตร์บ้านเรา มีวัฒนธรรมทางวิชาการที่นำความรู้ดังกล่าวไปเชื่อมกับสังคมวงกว้างมากน้อยขนาดไหน มีการสนทนาหรือ dialogue เกิดขึ้นกับนักวิชาการด้านต่างๆที่ทำงานทางด้านสังคมหรือเปล่า หรือว่ากฎหมายมันอยู่ลอยๆโดดๆโดยเป็นเสาหลักให้กับบ้านเมือง แต่เป็นเสาซึ่งไม่มีที่ปักหรือเปล่า

จากประเด็นคำถามหลักๆเหล่านี้ ผมได้ลองไปดูว่านักคิดในทางกฎหมายหัวก้าวหน้าในบ้านเรา ได้มองถึงประเด็นข้างต้นและมีข้อเสนออย่างไรบ้าง? ก็มี 2-3 ท่านที่ผมหยิบขึ้นมา อย่างเช่น อ.ปรีดี เกษมทรัพย์ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นเจ้าพ่อทางด้านประวัติศาสตร์กฎหมาย และมองประวัติศาสตร์กฎหมายที่ต่างๆไปจากการเรียนการสอนในเรื่องนี้ในแบบกระแสหลัก อาจารย์บอกว่า กฎหมายคือวิญญานประชาชาติ อันนี้เป็นรากที่สะท้อนให้เห็นถึงอีกหลายด้านที่ขาดหายไปในวงวิชาการกฎหมายบ้านเรา

อีกท่านหนึ่งที่ยกขึ้นมาคือ อ.กิติศักดิ์ ปรกติ ซึ่งมีการพูดถึงเรื่องของนิติวิธี โดยพยายามจะไปมองถึงนิติวิธีของ civil law ที่มีอิทธิพลต่อกฎหมายไทย, แล้ว civil law ในต่างประเทศซึ่งเป็นต้นตอความคิดที่เขาใช้ มันมีข้อต่างไปจากที่บ้านเรานำมาใช้อย่างไร?

ทั้งสองท่านนี้จบจากเยอรมัน ซึ่งผมคิดว่ามีนัยะบางสิ่งบางอย่างในวงวิชาการเมืองไทยด้วยเหมือนกันในแง่ของอิทธิพลทางกฎหมาย เพราะว่าตำราส่วนมากในบ้านเรา ถ้าเผื่อว่าเป็นตำราต่างประเทศก็จะเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยมีข้อมูลตำราในภาษาอื่นๆ

ผมเพิ่งไปจีนมา ก็ได้เห็นตำรากฎหมายของเขาที่มีวางขาย 2-3 ตู้ เสียดายที่อ่านไม่ออก ซึ่งในนั้นต้องมีรากเหง้า และนิติวิธีตามแบบของจีนในลักษณะของตะวันออก ซึ่งเป็นคำถามตัวโตๆว่า ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงไป จีนกำลังจะเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจของโลกประเทศหนึ่ง เราได้ต่อกับทางนี้มากน้อยขนาดไหน

อีกท่านหนึ่งซึ่งผมคิดว่ามีการตั้งคำถาม และได้พยายามที่จะผลักดัน พัฒนาการเรียนการสอนกฎหมายบ้านเราก็คือ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ งานของอาจารย์ที่ออกมาแล้วทำให้เราเห็นภาพคือ จากปัญหาที่เกิดขึ้นในวงวิชาการนิติศาสตร์ไทยา เรามีการเรียนการสอนที่เป็นนิติศาสตร์โดยแท้ คือมีการเรียนกฎหมาย มีการเรียนตัวบทต่างๆ แต่ก็เกิดคำถามขึ้นมาเหมือนกันว่า ที่ว่าเป็นนิติศาสตร์โดยแท้ มันแท้จริงไหม?

มีงาน 2-3 ชิ้นซึ่งผมไปศึกษาต่อจากนี้ เขาตั้งคำถามกับ ระบบกฎหมายที่เป็นระบบประมวลกฎหมาย ระบบที่ใช้กันดั้งเดิม อีกชิ้นเป็นงานแปลมาจากภาษาฝรั่งเศส เขาตั้งคำถามว่า ตัวกฎหมายเป็น code law ที่พัฒนามาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 12 จนมาถึงคริสตศตวรรษที่ 18 แล้วใช้กันอยู่ในกระแสหลัก มันใช้ได้จริงไหม? ทำไมมันจึงไม่สามารถใช้ได้จริง อันนี้ก็โต้เถียงกันอยู่ บ้านเราได้ลงลึกถึงเรื่องนี้ไหม เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ เหล่านี้เราได้ไปถึงจุดไหนของมัน

อีกส่วนหนึ่งซึ่งผมคิดว่าจะเป็นมุมมองใหม่ซึ่งกฎหมายบ้านเราไม่ได้พูดมากเท่าไหร่ คือการศึกษากฎหมายในแนวข้อเท็จจริง อันนี้แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก ก็คือกลุ่มที่เป็นข้อเท็จจริงในเชิงประวัติศาสตร์กฎหมาย
กลุ่มที่สอง ศึกษาข้อเท็จจริงในแนวทางของนักมานุษยวิทยา-สังคมวิทยา
กลุ่มสุดท้าย คือการศึกษาข้อเท็จจริงในเชิงพหุนิยมทางกฎหมาย ซึ่งอันนี้บ้านเราไม่ค่อยมี

อีกเทคนิควิธีก็คือการศึกษาแบบเปรียบเทียบ พวกนี้เป็นกลุ่มที่อาจจะจัดได้ว่า เป็นการศึกษากฎหมายที่ไม่ได้เป็นนิติศาสตร์โดยแท้ แต่ว่าพวกหลังนี้ผมคิดว่าสำคัญและเป็นบทสะท้อนของข้อจำกัดการศึกษานิติศาสตร์ในประเทศตะวันตก อันนี้เป็นการแหวกแนวออกมา ตีฝ่าวงล้อมซึ่งเป็นข้อจำกัดของการอธิบายกฎหมายแบบเดิมๆซึ่งอธิบายไม่ได้ ผ่านมาในการศึกษาในวิธีการแบบนี้ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นข้อจำกัดของเรา ที่ไปยึดติดอยู่กับการศึกษานิติศาสตร์กระแสหลักแบบจอมปลอมอย่างที่ว่านี้ ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ไปสู่พวกนี้ได้


ผมอยากจะยกตัวอย่างการศึกษาที่เรียกว่าไม่ใช่นิติศาสตร์โดยแท้ เช่นตัวอย่างเรื่องกฎหมายเปรียบเทียบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับการที่จะลองตั้งคำถามกับพัฒนาการทางกฎหมายที่ผ่านมา รวมถึงเทียบเคียงกับสังคมอื่นที่มีปัญหาแบบนี้ว่า เขาแก้ไขมันอย่างไร?

ในเมืองไทยซึ่งมีการนินทากันในวงการยกร่างกฎหมายคือว่า เมื่อจะตรากฎหมายในเรื่องใดๆก็ไตาม มักจะไปดูกฎหมายในต่างประเทศว่า มาตรานั้นมาตรานี้เขาว่าไว้อย่างไรแล้วก็ไปลอกเขามา ซึ่งมันต่างจากกฎหมายเปรียบเทียบที่พยายามจะทำ

การเปรียบเทียบแบบนี้เป็นการไปดูบริบททางสังคมกับการเมืองว่า เขามีกลไกพื้นฐานอย่างไรจึงบังคับใช้ได้ ตรงนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ในการนำมาเขียนกฎหมายบ้านเรา เพื่อให้เกิดการบังคับใช้ได้จริง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการไปลอกตัวบทมา ซึ่งตรงนี้ ย้อนกลับไปดูการเกิดขึ้นของประมวลกฎหมายของไทย ก็เกิดขึ้นมาโดยวิธีการอย่างที่ว่า ก็เลยทำให้ตอบคำถามข้อหนึ่งว่า ทำไมรากของการศึกษากฎหมายกระแสหลักบ้านเรา จึงไม่ลงลึกจริงๆในเชิงที่เป็นที่ไปที่มาของแนวคิด เพราะมันไปลอกตัวบท แล้วต่อท่อความคิดมา และอธิบายบนบริบทของต่างประเทศ ในขณะที่การบังคับใช้จริงๆเกิดขึ้นในสังคมไทย

ล่าสุดไปลงพื้นที่ศึกษาเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบ เรื่องของการที่คนจะเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองแรงงานนอกระบบได้นั้น แรงงานดังกล่าวจะต้องไปทำสัญญากับนายจ้างก่อนจึงจะได้รับการคุ้มครอง ประเด็นอันหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นในทางวัฒนธรรมในทางกฎหมายบ้านเราคือว่า เราเป็นสังคมแบบมุขปาฐะ พอเอาวัฒนธรรมอีกแบบใส่เข้ามาในกฎหมาย คือวัฒนธรรมที่เป็นรายลักษณ์อักษร มันจึงไม่ค่อยได้ผล

ผมอยากจะย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องกฎหมายเปรียบเทียบอีกสักนิด นั่นคือในช่วงปี ค.ศ.1900 ตอนนั้นตะวันตกกำลังสนใจเรื่องการศึกษาเปรียบเทียบอย่างมาก อย่างเช่น มีการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ มีวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบ กฎหมายก็ได้เข้าไปสู่กระแสนี้ด้วยเหมือนกัน มีการจัดประชุมวิชาการกฎหมายเปรียบเทียบขึ้นมาครั้งแรกของโลก ในปี ค.ศ.1900 ที่ปารีส

การจัดประชุมกฎหมายเปรียบเทียบครั้งนี้มีความคิดว่า กฎหมายน่าจะไปทำให้ความแตกต่างของคนมันสลายลงไปได้ โดยการจัดทำกฎหมายเดี่ยวที่ใช้กันได้ทั่วโลก อันนี้เป็นความคิดซึ่งเกิดขึ้นภายใต้กระประชุมนี้ ซึ่งเป็นการสะท้อนความคิดแบบรวมศูนย์ หรือ centralism ซึ่งตรงข้ามกับ pluralism ที่เรากำลังพูดกัน มันอยู่ในกระแสหลักของนักกฎหมาย

ร่องรอยทางความคิดนี้ เรายังเห็นได้จากการพยายามสร้างกฎหมายแพ่งที่จะใช้ร่วมกันใน EU ซึ่งเขาเรียกว่า Uni-Droit (united law) ล่าสุดที่เราเห็นก็คือพยายามสร้างรัฐธรรมนูญที่ยังคับใช้ใน EU อันนี้เป็นความคิดแบบ centralism เหมือนกัน และพยายามทำให้มันเป็นรายลักษณ์อักษร ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้เป็นเรื่องของกระแสหลักที่เป็นอยู่ ที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรากำลังนั่งพูดคุยกัน

ผมคิดว่า ถ้าหากเราหยิบเอาวิธีการเปรียบเทียบมาใช้กับการศึกษา Legal Pluralism ก็น่าจะเป็นประโยชน์ เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้ทำนั่นเอง เช่น เปรียบเทียบกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรซึ่งใช้กันอยู่ในภูมิภาคแถบนี้ ว่าชนเผ่าต่างๆ หรือประเทศต่างๆก็ดี เขามีการใช้กฎหมายเกี่ยวกับวิธีการจัดการทรัพยากรอย่างไร เราเปรียบเทียบแล้วก็นำมาใช้กับบ้านเรา

ผมขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น นั่นคือในประเทศญี่ปุ่นเขาเขียนเอาไว้ทำนองว่า ในการจัดการน้ำตามกฎหมายรัฐ ถ้าหากว่าชุมชนไหนพิสูจน์ได้ว่าจัดการได้ดีกว่ารัฐ ก็ให้ชุมชนนั้นจัดการได้ โดยรัฐไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว อันนี้คือกฎหมายน้ำของญี่ปุ่น

อีกส่วนซึ่งอยากลงมาในรายละเอียดเป็นเรื่องของ Legal Pluralism คือว่า ในบริบทที่มันเกิดขึ้นในต่างประเทศ มันมาจากความคิดของการตั้งคำถามโดยนักวิชาการด้านอื่น ไม่ใช่นักนิติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสังคมวิทยา นักมานุษยวิทยา หรือนักประวัติศาสตร์กฎหมาย ซึ่งตั้งคำถามกับกฎหมายที่ใช้อยู่

สำหรับนักตั้งคำถามตัวดีก็คือนักมานุษยวิทยา เพราะนักวิชาการกลุ่มนี้ในช่วงแรกๆ วิธีการของคนเหล่านี้ก็คือการเข้าไปเก็บข้อมูลในเชิงมานุษยวิทยาทั้งหลายในระดับชุมชน แล้วเห็นความจริงว่า แท้จริงแล้วมันเกิดอะไรขึ้น. มีสาขาหนึ่งซึ่งแตกมาจากสาขามานุษยวิทยาคือ มานุษยวิทยาทางกฎหมาย ซึ่งคำถามหลักของสาขานี้ก็คือว่า คนที่อยู่ร่วมกันใช้กฎเกณฑ์อะไรในการอยู่ร่วมกัน คนเหล่านี้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่หลากหลาย แล้วมีการประคับประคองให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปได้อย่างไร? ซึ่งตรงนี้ในช่วงแรกๆไม่สามารถอธิบายโดยใช้ความคิดหรือสิ่งที่เป็นทฤษฎีแบบเดิมได้ เพราะฉะนั้น Legal Pluralism จึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการอธิบายความสัมพันธ์แบบนี้

Legal Pluralism ในประเด็นสุดท้ายที่ใครนำเสนอคือว่า มันเป็นการตั้งคำถามในระบบกฎหมายเดิม เราพบว่ามีนักกฎหมายหัวก้าวหน้าอยู่พวกหนึ่ง ที่พยายามจะพัฒนากระบวนการในเรื่องการเรียนการสอนให้ไปสู่อีกระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น พวกที่มาสายกฎหมายมหาชน พยายามเสนอแนวคิดต่างๆ พยายามจะบูรณาการ ดึงเอา รปส. รัฐศาสตร์ ดึงเอามานุษยวิทยา สังคมวิทยา มาสังเคราะห์ แต่ก็ยังตกอยู่ภายใต้ความเชื่อในการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นของรัฐอยู่ ตรงนี้เป็นเรื่องซึ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาเหมือนกัน

ข้อเสนอของนักกฎหมายมหาชนกลุ่มนี้เสนอในเรื่องนิติรัฐ ถ้าเผื่อมาโยงกับโครงสร้างสังคมไทย มาโยงกับระบบการบังคับใช้กฎหมาย คำว่า"นิติรัฐ"ในที่นี้จะยิ่งทำให้เกิดการรวมศูนย์ไปใหญ่ ยิ่งเป็นปัญหาเข้าไปอีกในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ว่า ต้องรัฐเท่านั้นเป็นคนใช้อำนาจ รัฐเป็นผู้ถูกเสมอ ไม่สามารถถูกท้าทายได้ ซึ่งหลายๆครั้งหากฟังคำอธิบายตรงนี้ของนักกฎหมายมหาชน ไม่ว่าจะเป็นสำนักธรรมศาสตร์ก็ดี หรือในสายที่มาจากยุโรป มักจะไม่ตั้งคำถามกับว่า นิติรัฐที่ว่าต้องเป็นรัฐอย่างไร?

เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปขายความคิดเรื่องนิติรัฐ ซึ่งรัฐต้องไปให้ถึง ทำไมเราไม่ขยับต่อไปอีกด้านหนึ่งคือว่า จะต้องเป็นพหุนิติสังคมรัฐ หรือ Legal Pluralism Socio-State นั่นเอง ซึ่งก็คือเปลี่ยนจากนิติรัฐ เปลี่ยนเรื่องกฎหมายเป็นของรัฐไปเป็นกฎหมายของสังคม เพราะฉะนั้นถ้าหากต้องการไปยังจุดนี้ แนวคิดเรื่อง Legal Pluralism จะทำงานอย่างไร ถึงจะทำให้กระบวนทัศน์เรื่องนิติรัฐเปลี่ยนแปลงไปสู่พหุนิตสังคมรัฐ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นตัวต่อยอดจากรัฐธรรมนูญที่เราพูดถึงกันอยู่ มาตรา 46 มาตราต่างๆที่พูดถึงเรื่องสิทธิชุมชน จะลงรากไปสู่รายละเอียดอย่างไร? Macro เราทำมาแล้ว ในระดับ Micro ต้องทำงานต่อ

อีกข้อหนึ่งซึ่งเป็นข้อเสนอคือ การจะทำในสิ่งที่ผมพูดนี้ให้ได้ จะต้องไปเริ่มต้นจุดแรกก่อนก็คือว่า ทำอย่างไรให้เราสามารถมี paper data ที่เป็นเรื่องของสังคมเราเองขึ้นมา เพราะฉะนั้นตรงนี้ ข้อมูลในเชิงมานุษยวิทยาทางกฎหมายก็ดี(1) ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆที่ใช้อยู่ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆก็ดี(2) และข้อมูลที่เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทในรูปแบบต่างๆที่ใช้อยู่นอกระบบทางการก็ดี(3) ข้อมูล 3 ชุดนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาขึ้นมา มิฉะนั้นก็จะพูด Legal Pluralism ในลักษณะที่ดูจากตะวันตกซึ่งมีบริบทอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นในขั้นต้นของการจะพัฒนา Legal Pluralism ขึ้นมา ทำอย่างไรให้เราสามารถมี empirical data ที่เป็นเรื่องของฐานความรู้บ้านเรา

ประการที่สองคือว่า การมีข้อมูลชุดนี้จะทำให้การเรียนการสอนในกฎหมายกระแสหลักถูกตั้งคำถาม โดยการตั้งคำถามจากข้อเท็จจริงอย่างจริงจัง อันนี้จะเป็นข้อมูลลักษณะที่มี base practice. เพราะฉะนั้น ตัวอย่างงานวิจัยที่เป็นเรื่องชุมชนจัดการทรัพยากรก็ดี, ชุมชนสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ก็ดี, เหล่านี้น่าจะถือว่าเป็น base practice ได้ แล้วเข้าไปดูกฎระเบียบต่างๆที่ชุมชนใช้กันในหน่วยเล็กๆแล้วจะต่อยอดไปยังการมีกฎหมายอย่างไร

ผมได้มีโอกาสเสนอในทีมวิจัยของ สกว.ว่า เราน่าจะปิดคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆสักปีหนึ่ง แล้วให้คนเรียนนิติศาสตร์ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทลงพื้นที่ เก็บข้อมูลและถือว่าเป็นงานการศึกษาที่มีหน่วยกิตด้วย อันนี้หมายความว่าให้นักศึกษาและอาจารย์ออกจากห้องเรียนและไปสู่ภาคสนาม ไปสัมผัสกับความเป็นจริงให้มากกว่านี้ แล้วเอาข้อมูลมาทำเป็น data base ในการที่จะมองต่อในแง่ของการออกจากวังวนของการเรียนการสอนแบบเก่า เพราะถ้าสอนแบบเดิมก็จะยิ่งเป็นการผลิตนักกฎหมายที่ชอบแอบซุ่มอยู่มุมตึก เรียกจับรถมอเตอร์ไซค์ เรียกจับโน่นจับนี่ โดยไม่เห็นภาพของปัญหาว่าขึ้นมาจากไหน

อีกประการหนึ่ง จะทำอย่างไรที่ทำให้ Legal Pluralism ไปทำลายมายาคติเดิม มายาคติเดิมบ้านเราที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยตัวกฎหมายเดียว เป็นพวก centralism คือว่า one law for all เป็นกฎหมายเดียวใช้กับทุกคน จะต้องผ่านด่านตรงนี้ไปได้ก่อน เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะทำให้เกิดความคิดว่า กฎหมายที่ออกมาจะต้องบังคับใช้ได้อย่างทั่วถึง เป็นการทั่วไป ซึ่งทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่เสริมอำนาจรัฐ แต่ในขณะที่ Legal Pluralism ไม่ได้ไปเสริมอำนาจรัฐ แต่ไปเสริมอำนาจสังคม ซึ่งสังคมนั้นมีความหลากหลาย แต่รัฐไม่หลากหลาย

ขอบคุณครับ

(สนใจอ่านเรื่องเดียวกันในทัศนะของนักวิชาการท่านอื่น) คลิกไปอ่าน

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

ตรงนี้เองได้ทำให้เกิดคำถามกับวงวิชาการว่า ข้อมูลต่างๆที่เราใช้ในการเรียนการสอนนั้น โตมาจากไหน หรือได้มาจากที่ใด? เช่น ได้มาจากต่างประเทศหรือเปล่า หรือเราเพียงแต่ทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ทางนิติศาสตร์หรือเปล่า ด้วยการนำเอาข้อความต่างๆมาต่อกันแล้วเรียกว่างานวิจัย อันนี้เป็นปัญหาหนักมากสำหรับวงวิชาการนิติศาสตร์ในบ้านเมืองของเราทุกวันนี้ (ไพสิฐ พาณิชย์กุล, นิติศาสตร์ มช.)

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เว็ปไซต์นี้ สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้... โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle@yah
oo.com พร้อมเขียนประวัติส่วนตัวเล็กน้อย