บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 597 หัวเรื่อง
เกี่ยวกับพหุนิยมทางกฎหมาย
ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์
คณะสังคมศาสตร์ มช.
บทความฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The
Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ปาฐกถา
40 ปี ภาควิชารัฐศาสตร์ มช.
Legal
Pluralism : ว่าด้วยเรื่องพหุนิยมทางกฎหมาย
ศ.ดร.อานันท์
กาญจนพันธุ์
ภาควิชาสังคมวิทยา
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ: ปาฐกถานี้เป็นส่วนหนึ่งของ
กิจกรรมวิชาการในโอกาสครบรอบ 40 ปี ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่ 17 มิถุนายน 2548 เวลา 9.00 - 12.30 น.
ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดยความร่วมมือของสาขารัฐศาสตร์และสาขานิติศาสตร์
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 14 หน้ากระดาษ A4)
อานันท์ กาญจนพันธุ์
: เมื่อผมได้รับเชิญให้มาพูดเรื่อง
Legal pluralism ผมได้หันมาทบทวนตัวเองว่า เรารู้เรื่องนี้จริงหรือเปล่า
ผมนึกย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ซึ่งได้เคยไปวิจัยในช่วงเวลาดังกล่าวที่มีการเร่งรัดในการออกโฉนดที่ดิน
แล้วได้ไปประเมินดูว่า โครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินในช่วงปี พ.ศ.2526-27
และผมได้ไปทำในปี พ.ศ.2530 ว่าการออกโฉนดดังกล่าวมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
การออกโฉนดที่ดินมันน่าจะดี ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร อันนี้เป็นการมองดูแบบธรรมดาๆ แต่หลังจากไปศึกษาก็พบว่า ที่ผมนึกว่าการออกโฉนดแล้วคิดว่ามันจะดี มันก็มีปัญหามากมายเกี่ยวกับความขัดแย้ง เพราะเป็นการยัดเยียดเอาความคิดเรื่อง"สมบัติส่วนตัว"ใส่เข้าไปในชุมชน ซึ่งเขาไม่รู้ว่าอันนี้แปลว่าอะไร "ส่วนตัว"-"ส่วนรวม"มันมั่วๆอยู่ในนั้น คือบางคนก็ชอบสำหรับคนที่จะได้ประโยชน์ คนไม่ชอบก็มี คือไม่ใช่อะไรที่อัตโนมัติสำหรับสิ่งที่ไปใส่ให้เขา
พอผมวิจัยเสร็จ อีกไม่กี่ปีถัดมา ทางสมาคมกฎหมายและสังคมของสหรัฐอเมริกา(Law and Society association) ซึ่ง Prof. David Engel อยู่ที่มหาวิทยาลัย Buffalo ได้มาจัดประชุมที่เชียงใหม่ แล้วได้มาเชิญให้ผมไปพูดด้วย ปากฏว่าทางนั้นก็เกิดติดใจว่า อันนี้ใช่เลยว่าเกี่ยวข้องกับ law and society. เสร็จแล้วได้นำเอาเรื่องที่ผมพูดจากงานวิจัย ไปตีพิมพ์ในวารสาร Law and Society Review
อีก 7-8 ปีต่อมา ได้มีการประชุมเรื่อง Legal Pluralism ขึ้นที่ซาราวัค ก็มีการเชิญผมไปพูดอีก ซึ่งผมคิดว่ามันไม่เกี่ยวกับผม จึงพยายามคะยั้นคะยอให้อาจารย์หลายท่านไป รู้สึกบอกให้อาจารย์ไพสิฐ อาจารย์กอบกุลไปแทน แต่ไม่มีใครไป พอดีตอนนั้นผมได้วิจัยเรื่องป่าชุมชน แล้วก็พยายามจะผลักดันเรื่องป่าชุมชน ซึ่งในช่วงนั้นรัฐพยายามนิยามว่าป่าเป็นของรัฐ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาว่า นอกจากนิยามป่าเป็นของรัฐแล้ว ก็ให้เอกชนไปใช้ประโยชน์ แต่พอเราจะทำเรื่องป่าโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม กลับไม่ได้
อันนี้ผมก็งงๆว่ายังไง เพราะว่าตอนนิยามป่าว่าเป็นของรัฐ แต่ปรากฏว่าให้เอกชนใช้ทำประโยชน์ได้ พอชุมชนจะขอใช้บ้างกลับบอกว่าไม่ได้ อันนี้ก็เกิดปัญหาขึ้นมา ผมจึงคิดว่าเรื่อง Legal Pluralism น่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะมันเป็นเรื่องที่ว่ากฎหมายที่เรามีอยู่เป็นระบบเชิงเดี่ยว ดังนั้น กฎหมายป่าชุมชนน่าจะเป็นวิธีการที่นำเอาหลักการเชิงซ้อนหลายอย่าง มาร่วมกันอยู่ในพื้นที่เดียวกันซึ่งน่าจะเป็นไปได้ ก็เลยตั้งอกตั้งใจไปสำรวจดูเอกสารต่างๆที่เขาเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้
สำรวจไปสำรวจมาพบว่าในโลกนี้เขามีทั้ง
Journal มีทั้งสมาคม ซึ่งในอเมริกาอาจจะเรียกว่า Law and Society Association
แต่ในยุโรปเขาจะเรียกว่าเป็น Commission on Folk Law and Legal Pluralism
ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1970 ประมาณ 30 กว่าปีมานี้ และในยุโรปก็ทำ Journal
ออกมาชื่อว่า Journal of Legal Pluralism ผมก็ไปพยายามหาอ่านดู เพื่อให้ทราบว่ามีการพูดถึงอะไรกันไว้บ้าง
แล้วก็พบว่ามีเรื่องที่น่าสนใจหลายอย่าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้สร้างข้อถกเถียงใหม่ในสังคมไทยในเรื่องของกฎหมาย
ทั้งๆที่ผมเองไม่ค่อยจะมี background ทางกฎหมายเท่าไหร่ แต่ก็มีบ้างเพราะตอนเรียนปริญญาตรี
ผมเรียนรัฐศาสตร์ก็ได้เรียนกฎหมายมาบ้าง แต่ไม่มากเท่าคนที่เรียนกฎหมายมาโดยตรง
ที่นี้ลองหันมาดูทางด้านมานุษยวิทยาเอง ก็มีคนศึกษาเรื่องของมานุษยวิทยาทางกฎหมาย
ซึ่งเขาก็ทำกันมานานแล้ว และต่อมาเมื่อ 3 ปีมานี้ ราว 2002 ก็มีการจัดประชุม
เรียกว่า International Congress of Legal Pluralism ขึ้นที่เชียงใหม่นี้เอง
ซึ่งมีบรรดาปรมาจารย์จำนวนมากได้มาประชุมกันที่นี่หมด อาจารย์ทางกฎหมายของเราก็ไปฟังกันพอสมควร
แสดงว่าเชียงใหม่นี้ของเราก็มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวมาพอสมควร
อันนี้ก็คือความเป็นมาที่ผมมาเกี่ยวข้องอยู่
แต่ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดี อย่างไรก็ตามก็เขียนเกี่ยวกับเรื่อง Legal Pluralism แบบแตะเล็กแตะน้อยมา 2-3 ครั้ง เขียนพอได้ให้ idea แต่ไม่ค่อยเข้าใจ แล้วเมื่อต้องมาพูดครั้งนี้ ก็เผอิญเมื่อปิดเทอมนี้ได้ไปอเมริกา แล้วได้ไปซื้อหนังสือเล่มนี้มาชื่อ Law, Anthropology and the Constitution of the Social Making Persons and Things ได้เปิดเจอบทความของ Bruno Latour เขาเขียนบทความเรื่อง Scientific Object and Legal Objectivity ซึ่งได้อ่านและพบว่าน่าสนใจมาก
คือ Latour เป็นคนเขียนงานเรื่อง The Politics of Nature ซึ่งมีชื่อเสียงมาก อันนี้เป็นการพยายามไปสำรวจดูว่า นักวิทยาศาสตร์ทำงานกันอย่างไร และสร้างความรู้อย่างไร แล้วปรากฏว่านักวิทยาศาสตร์สร้างความรู้แบบบิดเบือน พยายามตั้งตัวเป็นศาล ตัดสินเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่นตัดสินเรื่องว่า ที่จริงเรื่องระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรมมันแยกออกจากกันยาก แต่ก็ไปบอกว่าอันนี้"ธรรมชาติ" ส่วนอันนั้นเป็นเรื่อง"วัฒนธรรม"
คือนักวิทยาศาสตร์เป็นพวกชอบตัดสิน, Latour ได้ไปศึกษาแล้วก็พบว่า อันนี้คล้ายๆกับนักกฎหมาย ทำงานคล้ายคลึงกันเลยคือชอบตัดสินว่า อันนี้เป็นอย่างนี้ อันโน้นเป็นอย่างนั้น คือมีการจัดแบ่งสร้างพรมแดนแบ่งแยกอย่างชัดเจน แต่ปรากฏว่าอ้างตัวว่าเป็นกลาง มีการตัดสินที่เป็นกลางแล้วอ้างว่าพื้นฐานการตัดสินนั้นแม่นยำมาก และทิ้งระยะห่างว่าฉันไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง แล้วมีการใช้ภาษาและระบบเหตุผลที่ค่อนข้างประหลาดในการบอกว่าอะไรเป็นอะไร ด้วยท่าทีที่ภาษาของ Latour บอกว่ามีการฝึกฝนมาอย่างดี จนกระทั่งทำให้นักกฎหมายและนักวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับ
เวลานี้ในการพิจารณาเรื่องฟ้องร้องกันในศาล จะต้องมีการเรียกนักวิทยาศาสตร์มาให้ข้อมูล อย่างเช่น คนนี้เป็นโรคจิตจริงหรือเปล่า หรือหากไปเกี่ยวข้องกับ DNA จะต้องเรียกนักวิทยาศาสตร์มาให้คำปรึกษา คือดูผิวเผินแล้วก็เหมือนกับว่า การทำงานของนักวิทยาศาสตร์กับนักกฎหมาย ค่อนข้างจะเป็นที่ยอมรับ ซึ่งอันนี้เป็นข้อคิดเห็นของ Latour
อันนี้ผมก็มาดูว่า งานของนักกฎหมายและนักวิทยาศาสตร์ จริงๆแล้วก็เป็นงานที่สร้างพรมแดนขึ้นมากีดกันให้เหมือนกับเป็นหลักการ แต่จริงๆแล้วมันคือการสร้างกับดัก เป็นความคิดแบบคู่ตรงกันข้าม คือต้องสร้างคู่ตรงข้าม อันนี้เป็น"วิทยาศาสตร์" อันนั้นเป็น"วัฒนธรรม"
และอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นปัญหามากคือ อะไรเป็น public อะไรเป็น private อันนี้ก็แยกอีก ซึ่งในหนังสือเรื่อง Property and Values, Alternative to Public and Private Ownership ก็พูดอีก ซึ่งผมกำลังศึกษาอยู่
และอีกเรื่องซึ่งตอนนี้กำลังเป็นปัญหามากก็คือ หนังสือเล่มนี้ศึกษาเรื่อง Making Persons and Things เป็นการแยกระหว่างอันนี้เป็นเรื่องบุคคล อันนี้เป็นสิ่งของ คือแยกอะไรออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งการสร้างพรมแดนหรือเขตแดนในลักษณะของการตัดสิน มีการแยกกันเด็ดขาด หนังสือเล่มนี้บอกว่าเป็นการบิดเบือนความจริง บทความทั้งหลายพยายามพิสูจน์ว่า การแบ่งพรมแดนเป็นการบิดเบือนความจริง แล้วเขาก็ไปดูว่าความจริงเป็นอย่างไร
ความจริงคือว่า ในปฏิบัติการจริงของกฎหมาย ไม่ได้ทำงานแบบที่นักกฎหมายตัดสินเลย คือในความเป็นจริงของปฏิบัติการทางกฎหมาย มันไม่เคยเป็นขาวกับดำ แต่จะเป็นเรื่องที่อยู่ตรงกลางที่มีความสลับซับซ้อน และมีความขัดแย้งมากมายอยู่ แต่ในเวลาตัดสินพยายามแยกตลอด อันนี้ก็เป็นปัญหาขึ้นมาว่า เป็นไปได้อย่างไร?
ดังนั้น ปัญหาก็จึงมาจากการที่ว่า หลายครั้งที่ผ่านมาเราพยายามไปแยกกฎหมายว่าเป็นอิสระจากสังคม เหมือนกับเป็นเวทีหรือพื้นที่ที่อยู่ต่างหาก ไม่เช่นนั้นแล้วมันจะไม่เป็นกลาง คล้ายๆอย่างนั้น ทำให้เรามองกฎหมายแบบตายตัว ทั้งๆที่กฎหมายในปฏิบัติการจริงของสังคมเป็นเรื่องที่ทับซ้อน และด้วยเหตุนี้เอง ประมาณปี 1970 จึงเกิด Commission on Folk Law and Legal Pluralism ขึ้นในยุโรป และในอเมริกาก็อาจจะมีมาก่อน
การพยายามจะแยกกฎหมายออกจากสังคม ทำให้มองอะไรเหมือนกับว่าเป็นการบิดเบือน ไม่ใช่ของจริง เพราะปฏิบัติการจริง ค่อนข้างที่จะผูกพันกับเรื่องสังคม ดังนั้น การศึกษาทางด้านกฎหมายจึงไม่ควรแยกออกมาจากสังคม จึงมีความพยายามผลักดันว่า จริงๆแล้วเราควรจะต้องกลับมาดูปฏิสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับสังคมให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เรียกว่า social practice คือปฏิบัติการจริงทางสังคมของกฎหมายว่า เมื่อมันปฏิบัติการจริงกับสังคมมันทำงานอย่างไร? แทนที่จะจำกัดเฉพาะวาทกรรมทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว คือดูแต่เพียงว่ามีการใช้กฎหมายอย่างไร? หรือกฎหมายมันเขียนเอาไว้ว่าอย่างไร? มีวิธีการอะไรบ้าง? โดยไม่ได้ไปมองดูว่า กฎหมายนั้นมันไปปฏิบัติการจริงในสังคมอย่างไร?
ดังนั้นแนวทางต่อมาที่รู้จักกันในชื่อที่ว่า Legal Pluralism ก็เป็นความพยายามที่จะศึกษากฎหมายในปฏิบัติการจริงทางสังคมนั่นเอง เมื่อช่วงตอนเริ่มต้นเป็นอย่างนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดความร่วมมือกันหลายๆฝ่าย เวลานี้การศึกษาในแนวทางดังกล่าว จะเป็นการศึกษาระหว่างนักสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นนักสังคมวิทยา นักมานุษยวิทยา และนักกฎหมายมานุษยวิทยาก็เกิดขึ้นมา
เพราะจริงๆแล้วอย่างนักมานุษยวิทยา ก็มี Anthropology of Law ศึกษากฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดอันนี้ขึ้นมาเพราะนักมานุษยวิทยาได้ไปศึกษาประเทศส่วนใหญ่ พวกประเทศอาณานิคม แล้วประเทศอาณานิคมก็มีกฎหมายซ้อนมาตั้งแต่แรกแล้ว เนื่องจากมีกฎหมายของเขาอยู่เดิม แล้วเจ้าอาณานิคมก็ไปสร้างกฎหมายทับเข้าไป ดังนั้นเมื่อนักมานุษยวิทยาไปศึกษาสังคมที่อยู่ในประเทศอาณานิคมทั้งหลาย ก็รู้สึกว่ามีเรื่องที่ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายอาณานิคมที่เข้าไป กับกฎหมายเดิมที่มีอยู่ในประเทศนั้น พวกนี้จึงให้ความสนใจเกี่ยวกับการซ้อนกันของกฎหมาย
ต่อมาคนที่อยู่ในประเทศอาณานิคม ก็รู้สึกอ่อนไหวกับปัญหาที่ว่ามีกฎหมายของคนอื่นมายัดเยียดอยู่ในสังคมตน ทำให้เขาสนใจมากว่า กฎหมายที่ซ้อนๆกันอยู่จำนวนมาก อย่างประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเคยเป็นอาณานิคม เริ่มต้นจากสเปน ต่อมาอเมริกา ต่อมาญี่ปุ่น และยังมีกฎหมายของท้องถิ่นอยู่อีก พูดง่ายๆในฟิลิปปินส์มีกฎหมายของหลายประเทศมาซ้อนกันอยู่ ซึ่งดูๆไปมันดีหรือไม่ดีก็ไม่รู้ แต่หลายครั้งที่เขาไปดูปรากฏว่า กฎหมายซ้อนอันนี้ดี เพราะประชาชนเลือกใช้กันตามสบาย เนื่องจากว่ากฎหมายมันไม่ได้ทิ้งไปไหน กฎหมายสเปนก็ยังอยู่ บางทีมันขัดกันกับกฎหมายในปัจจุบัน
มีคนเคยฟ้องศาล ปรากฏว่าเขาอ้างกฎหมายอเมริกันเพราะเขาเคยใช้อยู่ แล้วปรากฏว่าศาลสูงอเมริกัน(supreme court) เคยตัดสินอีกแบบหนึ่ง คนๆนั้นอ้างเอา supreme court ของอเมริกันมาแย้งกฎหมายฟิลิปปินส์ อันนี้ยังใช้ได้เลย
ดังนั้น พวกที่อยู่ในประเทศอาณานิคมก็รู้สึกอ่อนไหวว่า อันนี้น่าจะมีประโยชน์ในเรื่องของการนำมาใช้ เพื่อการต่อรองทางกฎหมายที่อาจจะถูกทำให้แลดูเป็นการสร้างพรมแดนที่แข็งทื่อจนเกินไป ก็เอากฎหมายหลายอันมาสร้างข้อต่อรองได้
แล้วพอเราไปดูประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมทั้งหลาย
จะมีความเข้าใจในเรื่องพวกนี้ค่อนข้างมาก แม้ไม่ใช่ประเทศอาณานิคมอย่างประเทศออสเตรเลีย
เวลานี้การตัดสินคดีในศาล ถ้าเกี่ยวข้องกับพวกอะบอริจิ้น เขาจะแต่งตั้งนักมานุษยวิทยาให้นั่งคู่กับผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี
หมายความว่า เขามีความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายเชิงเดี่ยวที่ใช้บังคับอยู่ ใช้ไม่ได้กับการตัดสินเมื่อมันมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมภายในพื้นที่เดียวกัน
จึงต้องการคนอื่นเข้ามาประกอบ พูดง่ายๆคือว่า ในประเทศที่เห็นถึงความสำคัญพวกนี้
เขาจะพยายามดูความสัมพันธ์หรือสร้างความร่วมมือทางการศึกษาระหว่าง "นักกฎหมาย"กับ"นักสังคมศาสตร์"
เพราะว่าจะทำให้ได้ประโยชน์มากขึ้น
อย่างประเทศมุสลิม ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมอยู่ เขาจะยิ่งเห็นว่ากฎหมายอาณานิคม กฎหมายของรัฐ กฎหมายประเพณีของเขาเอง ยังคงต้องมีศักยภาพในการใช้ได้อยู่ ไม่ควรไปละเมิด แต่เมืองไทยนี้พูดยาก เพราะอะไร? ก็เพราะเราอ้างเสมอว่าไม่เคยเป็นอาณานิคม แต่ระบบกฎหมายของเราใช้ colonial mentality เต็มที่เลย คือหมายความว่า ลอกกฎหมายอาณานิคมมาใช้อย่างหน้าชื่นตาบาน แล้วก็ไม่รู้จักตัวเองอีกต่างหาก อันนี้เป็นปัญหามากเพราะเราไม่รู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไร เราคิดว่าเรามีกฎหมายแต่ที่จริงเราลอกกฎหมายอาณานิคมมาใช้ เราก็เลยไม่รู้สึกอ่อนไหวกับการที่ว่า มันมีกฎหมายหลายอันซ้อนอยู่ในกฎหมายของเรา ซึ่งเป็นปัญหามาก
ผมยังได้ไปอ่านงานของพวกที่ทำเรื่อง Legal Pluralism ซึ่งที่มาจัดสัมนาในจังหวัดเชียงใหม่ ในปี ค.ศ.2002 เป็นการจัดสัมนาครั้งที่ 13 เขาจัดกัน 2 ปีครั้ง ก็แสดงว่ามีมานานแล้ว แต่เรารู้จักเขาเมื่อตอนครั้งที่ 13 และเมื่อหันไปมองย้อนดูว่า ตอนที่เขาเริ่มศึกษา Legal Pluralism ขึ้นมา เขาสร้างคำนี้ขึ้นมาทำไม
ผมไปดูว่าระยะแรก การที่เขาสร้าง concept เรื่อง Legal Pluralism ขึ้นมา เขาสร้างขึ้นมาคล้ายๆกับว่ามันเป็นความเป็นไปได้ในทางทฤษฎี โดยจะเปิดพื้นที่ในการศึกษากฎหมายใหม่ๆอย่างไร ดังนั้นคำว่า Legal Pluralism จึงเหมือนกับเป็นการเปิดพื้นที่หรือเปิดเวทีในเชิงทฤษฎีว่า จะมีมิติใหม่ๆในการศึกษากฎหมายได้อย่างไร?
เพราะว่า หลักการสำคัญของ Legal Pluralism คือว่า มันมี "more than one legal order in one space" หมายความว่า เกิดมีระเบียบกฎหมายหลายระเบียบที่ซ้อนอยู่บนพื้นที่เดียวกัน ก็เลยเกิดเป็นประเด็นในเชิงการศึกษาว่า เมื่อมันมีระเบียบหลายอันซ้อนกันอยู่อย่างนี้ แล้วจะทำให้เราเข้าใจอะไรได้บ้าง? อันนี้เป็นพัฒนาการหรือสถานภาพของการศึกษาแนว Legal Pluralism ที่เกิดขึ้นในระยะต้นๆ ประเด็นแรกสุดเขาต้องการที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องการเปิดพื้นที่ทางแนวคิด ในการสร้างความเป็นไปได้ในการดูว่า กฎหมายเมื่อมันมาซ้อนกันอยู่หลายๆระบบในที่เดียวกัน มันเป็นอย่างไร อันนี้เป็นประการแรกที่เขาศึกษา
ประการที่สอง ก็คือว่า Legal Pluralism เป็นเพียงแต่ conceptual tool หมายความว่าเป็นเครื่องมือทางความคิด ในการที่จะช่วยให้เราไปสำรวจความหลากหลายของระบบกฎหมาย ซึ่งอะไรที่เป็นกฎหมาย ไม่ใช่ว่ากฎหมายเป็นเรื่องที่รัฐเป็นผู้ออกอย่างเดียว ที่จริงแล้ว มีกฎหมายซึ่งออกโดยศาสนามากมายเลยทีเดียว เพราะในแต่ละประเทศจะมีทั้งรัฐ มีศาสนา และมีจารีต ทุกประเทศจะต้องมีอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าแต่ละประเทศจะมีเพียงแต่กฎหมายของรัฐเสียเมื่อไหร่ ศาสนามีการออกกฎต่างๆออกมามหาศาลเลย แล้วมันเกี่ยวอะไรกับรัฐ อันนี้เขาก็งงๆอยู่ และก็มีจารีตของท้องถิ่นอีกต่างหาก
ในแง่ที่เป็น conceptual tool คือเขาอยากประเมินว่า ที่มันมีกฎหลายๆอย่างนี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีความขัดแย้งกันหรือไม่ ถ้าเกิดมีความขัดแย้งขึ้น ความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างไร? คือถ้าเกิดในความเป็นจริงมันมีความซับซ้อนดำรงอยู่ แล้วเราไม่สนใจที่จะเข้าไปดู อันนี้ก็คงจะคล้ายๆกับว่าทำให้เราไม่ได้รู้ปัญหา เพราะว่ากฎหมายนั้นเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าเผื่อว่าเรายังไม่รู้เลยว่ามันมีปัญหาอย่างไร ก็จะไปแก้ได้อย่างไร?
ดังนั้น บรรดานักกฎหมายแนว Legal Pluralism ซึ่งเปิดพื้นที่ขึ้นมา ก็เลยตั้งคำถามว่า เมื่อเราคิด concept นี้ขึ้นมาแล้วเราจะใช้ concept นี้ไปเพื่อสำรวจให้รู้ว่า มันมีปัญหาความขัดแย้งกันอย่างไรหรือไม่ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ระยะต้นๆเขาศึกษากันในเชิงนี้มาก
ประการต่อมาก็สนใจต่อไปว่า กฎหมายไม่ใช่ว่ามันมีการซ้อนกันหลายอันเท่านั้น แต่กฎหมายยังมีลักษณะที่เรียกว่า การแย้งกันเองหรือการปีนเกลียวกันระหว่าง "กฎเกณฑ์ที่เราสร้างขึ้น"กับ"พฤติกรรม" คือ rule and behavior มันมีปัญหากันอยู่. ไม่ใช่ว่าเราออกกฎนี้แล้ว จะแปลว่ามันใช้อย่างนั้นตามกฎที่สร้างขึ้นมาได้เลย เขาอยากจะรู้ว่ามันมีการเหลื่อมกันอย่างไรบ้าง หรือการปีนเกลียวกันอย่างไรบ้าง ระหว่าง"กฎเกณฑ์"กับ"ทางปฏิบัติของกฎเกณฑ์"นั้น อันนี้ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งซึ่งอยู่ในสายของ Legal Pluralism
ดังนั้น Legal Pluralism จึงไม่ได้หมายความว่า มันมีกฎหมายหลายๆอันอยู่ในที่เดียวกันเท่านั้น มันยังมีการพยายามที่จะดูความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายของรัฐ แล้วก็ศาสนา และจารีตอย่างที่พูดไปแล้ว อันนี้ค่อนข้างจะเป็นแนวทางกระแสหลัก อีกพวกก็ศึกษาว่า การทับซ้อนกันหรือการปีนเกลียวกันระหว่าง"กฎเกณฑ์"กับ"พฤติกรรม"เป็นอย่างไร ก็เป็นอีกแนวหนึ่งซึ่งมีการศึกษากันพอสมควรในระยะต้นๆ
ต่อมาในประการที่สี่ คือศึกษาดูว่า พยายามไปทำความเข้าใจความหลากหลายของบทบาทเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม และ normative practice ก็คือปฏิบัติการในการสร้างกฎเกณฑ์ของสังคม บรรทัดฐานของสังคมในชุมชนว่า มีการเกิดขึ้นของกฎหมายหลายระบบอยู่ร่วมกัน แล้วการอยู่ร่วมกันของกฎหมายหลายๆอย่างนี้ไปเกี่ยข้องกับกิจกรรมต่างๆอย่างไร อันนี้ก็มีอีกแนวหนึ่ง คือเขาสนใจว่า บทบาทของสังคม วัฒนธรรม และการสร้างกฎเกณฑ์ในสังคม บทบาทเหล่านี้ไปมีผลอย่างไรในการจัดการกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ก็เป็นอีกแนวหนึ่งซึ่งเป็นแนวที่สี่
แนวที่ 5 ก็คือการศึกษาว่า ในสถานการณ์ของชีวิตจริง -in life situation- คือ ต่างคนได้ใช้กฎหมายหลายอันมาสร้างความชอบธรรม หรือ rationalize ให้กับการกระทำของตนเองอย่างไร อันนี้เป็นการศึกษาอีกแบบหนึ่ง คือในชีวิตจริงคนไม่ได้หมายความว่าใช้หลักการเดียวมาสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองเวลาที่ทำอะไร เช่นว่า คนจนต้องการจะไปยึดที่ดินคนอื่น ก็ต้องอ้างหลักการต่างๆหลายๆหลัก คืออันนี้ก็เป็นประเด็นที่สนใจกันมาก
คือผู้คนต่างๆในสังคม ล้วนแล้วแต่หาหลักเหตุผล ก็คือมาจากหลักการในสังคมเพื่อมาใช้สร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการของตนเอง อันนี้ก็พบว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งมีการศึกษาวิจัยกันเป็นจำนวนมาก เวลาที่เราไปดูบทความซึ่งเป็นงานวิจัยที่เขาเอามาเสนอใน International Congress on Legal Pluralism จะพบบทความพวกนี้อยู่มาก บทความส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับปัญหาการจัดการทรัพยากร
ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องที่ผ่านมา ระยะหลังๆจนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่ามีการตั้งคำถามมากขึ้นว่า กฎหมายถ้ามันมีหลายหลักการอยู่ร่วมกัน หมายความว่าอย่างไร? คนที่เป็นปรมาจารย์คนหนึ่งในแนว Legal Pluralism ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่เยอรมัน ได้เขียนบทความว่า Who afraid of legal pluralism? ใครกันที่กลัวเรื่องนี้, ทำไมคนถึงกลัวนัก ไม่ยอมพูดเรื่องนี้เลย. แกก็พบว่าพวกที่กลัวก็คือ พวกที่อยู่กับหลักการอย่างเดียว เพราะจริงๆแล้วพวก Legal Pluralism เขาไม่มีหลักการ เขาไม่สนใจหลักการ เขาสนใจว่าจริงๆมันเกิดขึ้นอย่างไร?
ดังนั้นจะพบว่าคนที่ศึกษา Legal Pluralism เขาไม่พูดหลักการอะไรมากมาย เพราะหลักการมันก็พูดกันไปเรื่อยๆ คือหมายความว่าพูดหลักการ พยายามจะแยกพรมแดนให้เด็ดขาด แต่ปัญหาก็คือในความเป็นจริง มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราอยากจะไปดูเรื่องนั้น. พวก Legal Pluralism พยายามจะไปศึกษากรณีจริงๆเพื่อเข้าใจเงื่อนไขในลักษณะที่เฉพาะเจาะจง ว่าทำไมอันนี้ถึงเป็นไปได้อย่างนั้น ทั้งนี้เพราะในความเป็นจริงมันมีความซับซ้อนไง แล้วถ้าเราไม่ไปศึกษากรณีจริงๆ เราจะไม่เข้าใจ
ด้วยเหตุนี้ พวก Legal Pluralism จึงไม่อยากจะไปเน้นหลักการ เพราะหลักการพวกนักกฎหมายชอบอยู่แล้ว หรือเป็นการทำงานของนักกฎหมายโดยเฉพาะ เป็น Legal discourse ซึ่งทำพวกนี้อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเราไปทำพวกนี้ขึ้นอีกมันคงจะไม่ได้ประโยชน์อะไร อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เขาศึกษากันมาเท่าที่ผมพอจะไปค้นคว้ามาได้ในระยะเวลาสั้นๆ
ในช่วงหลังนี้ผมก็กำลังศึกษาเรื่องทฤษฎีการเมืองของชุมชน ผมก็ได้มีโอกาสทบทวนงานเขียนเป็นจำนวนมาก ก็ไปเจองานเขียนชิ้นหนึ่งซึ่งผมคิดว่าอาจจะไม่ได้อยู่ในพวก Legal Pluralism แต่ว่ามันน่าจะเอามาใช้เป็นแนวทาง หรือเอามาจุดประกายให้เราคิดถึงเรื่อง Legal Pluralism ได้ชัดเจนขึ้น เพราะว่าเท่าที่ผม review มา ก็ยังงงๆอยู่ว่าจะได้อะไรหรือเปล่า ก็ศึกษากันไป จะศึกษาข้อเท็จจริงอะไรมันก็ได้ เพราะมีข้อเท็จจริงอยู่เต็มไปหมดเลย แล้วเวลานี้การรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับ Legal Pluralism ซึ่งจัดสัมนามา 13 ครั้งแล้ว เต็มเป็นกระบุง และก็ยังมีอยู่ใน journal เยอะแยะ ที่นี้ต้องตั้งคำถามว่า พวกนี้มันเอาไปทำอะไร?
จนกระทั่งผมมาอ่านหนังสือเล่มนี้ ของ Jurgen Habermas ซึ่งเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเรื่อง Between fact and norm. Fact ก็คือ "ข้อเท็จจริง" Norm ก็คือ "บรรทัดฐาน" แต่ที่จริงผมแปลว่า"หลักการ" คือ "ข้อเท็จจริง"กับ"หลักการ" contribution to a discourse theory of law and democracy เป็นหนังสือเล่มที่หนามาก สำหรับ Habermas มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างดีในทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับ public sphere ว่าในพื้นที่สาธารณะ มันต้องมีการ communicative action คือมีการปฏิบัติการสื่อสารความคิดกันในพื้นที่สาธารณะ หรืออาจจะแปลว่าปริมณฑลสาธารณะ ก็คือเป็นพื้นที่ที่มีการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของประชาสังคม
ในหนังสือเล่มนี้ ผมอ่านเพียงงาน secondary คือคนอื่นเขาพูดถึงอีกทีหนึ่ง ก็พบว่า Habermas พยายามจะสร้างข้อถกเถียง หลังจากที่ได้ศึกษาเรื่องนี้มานานจากปี 1960 กว่าๆ จนถึงเดี๋ยวนี้ และได้เขียนเรื่องดังกล่าวมาเรื่อยเกี่ยวกับปริมณฑลสาธารณะ ซึ่งเขาพยายามจะบอกว่า การสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ต้องเปิดพื้นที่ให้มีการโต้เถียงในปริมณฑลสาธารณะ
คือการสร้างหลักการในสังคมควรจะวางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในการต่อสู้ทางความคิด ดังนั้นความจำเป็นในการบัญญัติกฎหมาย ต้องเปิดพื้นที่ให้มีการท้าทาย หรือให้มีการดื้อแพ่ง จะได้เกิดการสร้างหลักการใหม่ๆในสังคม ดังนั้นหลักการจึงไม่ใช่การปล่อยให้นักกฎหมายเป็นคนนิยามหรือขีดเส้นพรมแดน แต่ควรจะมาจากข้อถกเถียงในสังคม ซึ่งก็เหมือนกับการที่เราถกเถียงกันเรื่องกฎหมายป่าชุมชน ถ้าสังคมยอมรับก็ออกมาเป็นกฎหมาย ไม่ใช่ปล่อยให้สภามานั่งพูดกันเอง แต่อันที่จริงก็ไม่ค่อยได้พูด
ผมไปที่รัฐสภามาหลายครั้ง คนที่อยู่ในสภานิติบัญญัติเข้าไปประชุมกันนาทีสองนาที ไม่ค่อยได้รู้เรื่องว่าเขาพูดอะไรกัน เข้าประชุมเพียงประเดี๋ยวเดียว ซึ่งความจริงเราคุยกันกว่าจะรู้เรื่องนั้นได้ เราคุยกันเป็นสิบๆชั่วโมง เขานาทีสองนาทีก็ออก เข้าๆออกๆเก็บเบี้ยเลี้ยงไปเรื่อยๆ ถึงเวลาตัดสินก็แล้วแต่ว่าใครจะให้ยกมือ อันนี้มันก็ลำบาก มีปัญหามากในระบบนิติบัญญัติบ้านเรา ทำให้กฎหมายซึ่งเกิดขึ้นมาจากข้อถกเถียงในสังคมไม่ได้ออก ต้องเป็นนักกฎหมายเป็นผู้บัญญัติหรือนิยาม
ดังนั้นข้อคิดของ Habermas ทำให้เราคิดว่า การที่มีข้อถกเถียงกันซึ่งเกิดขึ้นมาจากข้อแตกต่างในหลักการ เป็นคุณูปการอย่างสำคัญในการสร้างสังคมประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้การศึกษา Legal Pluralism ประการแรกเลยก็คือ เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วม เปิดให้สังคมมีส่วนในการสร้างหลักการ และสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยของตนเอง ความสำคัญของ Legal Pluralism อย่างน้อยที่สุดอันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ควรถูกหยิบยกขึ้นมาพูด
ประเด็นที่สองในเรื่องของความสำคัญเกี่ยวกับ Legal Pluralism หลังจากทบทวนสถานภาพมาแล้วพบว่า ยิ่งมีกฎหมายระบบเชิงซ้อนเท่าไหร่ มันจะยิ่งมีคุณูปการอย่างสำคัญต่อเนื่องมาจากสังคมประชาธิปไตยคือว่า จะมาช่วยในการหาแนวทางในการจัดการกับปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการจัดการทรัพยากรที่ผมมีประสบการณ์ในการศึกษาวิจัยค่อนข้างมาก เพราะอะไร?
เพราะเรื่องการจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ดิน น้ำ ป่า ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม เรื่องมลภาวะอะไรต่างๆ เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมากและมีความไม่แน่นอน นั่นคือในแต่ละที่ก็มีลักษณะต่างกัน ดังนั้นการที่เราจะไปสร้างหลักการที่ตายตัวแล้วมานิยามว่า อันนั้นเป็น public อันนี้เป็น private พวกนี้อย่างตายตัว มันจะใช้การไม่ได้ ยิ่งนิยามตายตัวมากขึ้นเท่าไหร่ กฎหมายจะล้มเหลวมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้น ภายใต้ความไม่แน่นอนและความซับซ้อนของระบบนิเวศหรือทรัพยากรเหล่านี้ ซึ่งมีความขัดแย้งมากมาย เพราะถูกทับซ้อนด้วยระบบตลาด ระบบทุนนิยม แล้วเดี๋ยวนี้เป็นเรื่องโลกกาภิวัตน์ด้วย มันจะมาสร้างความซับซ้อนในการจัดการทรัพยากรมากมายมหาศาล และปรากฏว่าหลักการของเรานี้แข็งทื่อ แล้วก็แบ่งแยกอย่างชัดเจนเช่นนี้ มันจึงไม่มีทางเป็นไปได้กับความเป็นจริงกันนี้เลย
โดยเหตุนี้ที่ Habermas พูดถึงเรื่อง Fact and Norm จึงไม่สามารถเข้ากันได้เลยถ้าไม่มีเวทีให้กับการถกเถียงเรื่องนี้ แล้วก็หาข้อสรุปออกมาจากข้อถกเถียงนั้น เพื่อสร้างแนวคิดใหม่หรือหลักการใหม่ขึ้นมาจากหลักการอันนั้น เพราะว่ากฎเกณฑ์มันมีการซ้อนกันเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ ที่เราบอกว่าผลประโยชน์ทับซ้อน อันนี้มีมากมาย ดังนั้นจึงไปปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินคนเดียว จะก่อให้เกิดมีปัญหาหนักมาก
อันนี้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเชิงซ้อนของผมด้วย เพราะเรื่องสิทธิเชิงซ้อนจะต้องเป็นสิทธิที่หลุดออกจากหน่วยที่ตายตัว เนื่องจากเวลานี้เวลาคิดถึงเรื่องสิทธิหรือการจัดการทรัพยากร เราไปฝากความหวังกับหน่วยที่ตายตัว อย่างเช่นว่าระบบราชการ หรือระบบตลาด อันนี้เป็นหน่วยที่ตายตัวในการจัดการ
เกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรจะต้องพยายามค้นหาว่า มันมีหน่วยต่างๆที่ซ้อนกันอยู่อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสิทธิ์ สิทธิ์นั้นมีหลายอย่าง เราไปนึกถึงแต่เรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของอย่างเดียว เป็นสิทธิเชิงเดี่ยว แต่ความจริงแล้วสิทธิมันมีทั้งสิทธิการเป็นเจ้าของ สิทธิการใช้ สิทธิการตรวจสอบ มันมีหลายสิทธิ์ ประเด็นคือว่าเราจะเอาสิทธิที่แตกต่างกันนี้ไปฝากไว้กับหน่วยที่ต่างกันอย่างไร ซึ่งจะก่อให้เกิดการถ่วงดุลกันและกัน
เพราะในสังคมประชาธิปไตย เป็นไปไม่ได้ที่จะฝากให้ใครเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการจัดการ มันจะต้องสร้างกลไกที่ถ่วงดุลกันให้ได้ การถ่วงดุลนี้จะมาจากไหน ก็จะต้องมาจากความเข้าใจเรื่องสิทธิที่มีความแตกต่างกันในนั้น ซึ่งมักก็จะมาจากหลักการที่แตกต่างกัน ดังนั้นคุณูปการที่สำคัญของ Legal Pluralism ที่จะมาช่วยพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรจึงมีมากมายมหาศาล และกฎหมายป่าชุมชนก็เป็นตัวอย่างที่สำคัญ
เพราะในกฎหมายป่าชุมชน เขาได้แยกสิทธิ์ออกเป็น 3 ส่วน สิทธิการเป็นเจ้าของ เรายังถือว่าป่าเป็นของรัฐ, สิทธิในการใช้และการจัดการจัดการถือว่าเป็นของชุมชน มอบให้กับชุมชน, ส่วนสิทธิในการตรวจสอบและถ่วงดุล เราให้กับภาคประชาสังคม. ก็หมายความว่าเราให้สิทธิในหลายระดับและฝังอยู่กับหน่วยที่แตกต่างกัน อันนี้เพื่ออะไร ก็เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เพราะแต่ก่อนรัฐผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว แล้วเป็นอย่างไร? ผูกขาดแล้ว แล้วมันดีก็แล้วไป เผอิญยิ่งผูกขาดมันยิ่งหมด ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่อนาคตเราจะฝากเอาไว้กับหน่วยใดหน่วยหนึ่งให้จัดการ
เพราะฉะนั้น กฎหมายป่าชุมชนถือว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำเอาเรื่องหลักการ Legal Pluralism เอามาทำให้เป็นจริง หรือเอามาทำให้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เป็นเพียงแค่หลักการโก้ๆอยู่ในตู้ อยู่ในบทความทางวิชาการเท่านั้น ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นหลักการที่สำคัญ
นอกจากข้อแรกที่ผมบอกว่านัยะสำคัญคือเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการจัดการทรัพยากร อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญในการใช้หลักการ Legal Pluralism ก็คือว่า มันจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นในสังคม เพราะว่าหลักการที่เราใช้อยู่ในเวลานี้ มันเป็นการใช้หลักการที่ค่อนข้างจะตายตัวและแบ่งแยกชัดเจน เช่น public - private, หรืออันนี้เป็นเรื่องของบุคคล หรืออันนี้เป็นเรื่องของสิ่งของ คือมีการแบ่งกันอย่างชัดเจน อันนี้ทำให้เกิดปัญหามากในแง่ที่ว่า สังคมเราเป็นสังคมที่มีความซับซ้อนและมีความหลากหลาย ทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรม สถานภาพทางสังคม เช่น มีคนจน, คนรวย, มีความต่างกันทางวัฒนธรรม
ปัญหาความขัดแย้งกันทางวัฒนธรรมซึ่งเกิดขึ้นทุกวันนี้เพราะอะไร ก็เพราะเราพยายามจะใช้หลักการเดียวไปแก้ปัญหา แต่ที่จริงแล้วก็ไม่เชิงหลักการเดียว อย่างเช่นที่ภาคใต้มีปัญหาความขัดแย้ง เราก็เคยใช้ระบบกฎหมายซ้อนอยู่แล้ว หมายความว่าเรายอมให้มีการยืดหยุ่น คือถ้าเป็นเรื่องครอบครัวก็ยอมให้ใช้กฎหมายอิสลาม ถ้าเป็นเรื่องปกติก็ใช้กฎหมายของรัฐ ดังนั้นพูดง่ายๆพื้นที่ดังกล่าวก็มีการใช้กฎหมาย 2 ระบบซ้อนๆกันอยู่ ไม่ใช่ว่ากฎหมายไทยไม่มี ที่จริงมีอยู่เยอะ
เรื่องของ public - private ในเวลาปฏิบัติจริงเราพบว่า มันสร้างความเป็นธรรมมาก นักกฎหมายก็เขียนเรื่องนี้ แต่สำหรับในเมืองไทยเรา public - private ต้องแยกออกจากกันต่างหาก แต่ไปดูกฎหมายอเมริกัน ซึ่งในบทความของ Joseph William Singer ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Harvard Law School ที่เขียนเรื่อง Property and Social Relations: From Title to Entitlement เขาได้ยกตัวอย่างกฎหมายในอเมริกาขึ้นมา คือในเมืองไทยเราเถียงกันว่า public - private ต้องแยกกันชัดเจน แต่ในอเมริกาปรากฏว่าเขาไม่แยก เพราะอาจารย์ Singer ได้พูดถึงกฎหมายชื่อว่า Public and commondation Law ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 1800 กว่าๆ
กฎหมายเขาไม่แยกระหว่าง public กับ private คือกฎหมาย Public and commondation Law ได้ออกมาบังคับเจ้าของโรงแรม คือโรงแรมเป็นของส่วนตัว(private) แต่กฎหมายออกมาว่า โรงแรมเป็นของคุณก็จริง แต่คุณห้ามปฏิเสธแขก คือแขกที่มาพักบังเอิญเป็นคนดำ ปกติในอเมริกาเกลียดคนดำ คนดำบางทีเข้าไปในโรงแรมบางแห่ง เจ้าของบอกว่า No หรือว่าโรงแรมเต็ม ทีนี้อเมริกาประเทศมันหนาว ขืนเต็มทุกโรงแรมคงต้องหนาวตายนอกโรงแรมแน่ ดังนั้นเขาจึงออกกฎหมายนี้มาตั้งแต่ปี 1800 กว่าๆแล้ว เขาออกมาเป็นกฎหมายเลยว่า โรงแรมเป็นส่วนตัวก็จริงแต่ห้ามคุณปฏิเสธ public ดังนั้นจึงแยกไม่ได้ว่ามันเป็น private หรือ public
แล้วซ้อนกันนี้มันสร้างความเป็นธรรมอย่างไร? มันสร้างความเป็นธรรมตรงที่เราไม่สามารถจะเลือกปฏิบัติต่อคนที่แตกต่างวัฒนธรรมได้ อันนี้สร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างมาก ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะในเมืองไทยเรื่องความเป็นธรรมในสังคมรู้สึกว่า จะไม่ได้อยู่ในพจนานุกรมของรัฐหรือผู้ปกครองอย่างไรไม่รู้ ดังนั้นการพูดถึงความยุติธรรม ๆ แต่ความเป็นธรรมไม่รู้จัก มีการเลือกปฏิบัติกันอย่างมาก อันนี้ก็เป็นปัญหา
คนในเมืองไทย คนเราก็ต่างกัน พอคนจนตำรวจก็ปฏิบัติอีกอย่าง อย่างแท็กซี่ไล่จับเอา ๆ อันนี้ชัดเจนว่ามีความเหลื่อมล้ำกันมาก ระหว่างคนต่างๆในวัฒนธรรม ดังนั้นถ้าหากเราไม่นำเอาหลักการเชิงซ้อนมา แล้วไปแบ่งแยก จัดเส้นพรมแดนกันชัดเจนระหว่าง public - private ก็จะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิ์ของคนที่แตกต่างกันได้
ข้อสุดท้ายที่ผมอยากจะพูด ซึ่งมาจากหนังสือเล่มนี้ที่ว่า เรื่องของ Legal Pluralism สำคัญมากเพราะ เวลานี้การเคลื่อนไหวทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวดเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลานี้มี biotechnology, biomedicine, คือมีการนำยีนมาตัดต่อ ซึ่งต่อไปไม่รู้ว่าอันนี้เป็นคนหรือเป็นสิ่งของที่เวลานี้เราแยกไม่ได้แล้ว เพราะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วมาก ดังนั้นจึงไม่รู้ว่า เวลามีการตัดต่อยีน ยีนมันเป็นสิ่งของหรือว่าเป็นมนุษย์ซึ่งแยกกันลำบาก
คือพรมแดนระหว่าง person and thing มันเริ่มเบลอมากขึ้นภายใต้การพัฒนาอย่างรวดเร็วของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้นถ้าหากว่าเราปล่อยให้นักกฎหมายเป็นผู้ขีดเส้นว่า อันนี้เป็น person อันนี้เป็น thing ผมว่าจะเกิดความยุ่งเหยิงและจะตีกันตายสักวันหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงจะต้องเปิดให้สังคมมีส่วนน่วมมากขึ้น ในการถกเถียงถึงว่า เราควรจะสร้างหลักการอย่างไรที่มันไม่ได้สร้างเส้นแบ่งเด็ดขาด เพราะมิฉะนั้นแล้วกฎหมายจะสร้างมายาคติให้กับหลักการ แล้วก็ไปบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมจริง จนกระทั่งทำให้สิ่งที่เราสร้างความหมายว่าอันนี้เป็นคน อันนี้เป็นสิ่งของ มันจะแยกออกจจากกันจนทำให้ไม่สามารถตามทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเหล่านี้ได้
ซึ่งอันนี้ในท้ายที่สุดจะก่อให้เกิดผลกระทบมาสู่คน เพราะอาจจะการนำเอาคน หรือนำเอาส่วนหนึ่งของร่างกายไปทดลอง แล้วก่อให้เกิดการบิดเบือนในการนิยามว่าร่างกายเป็นแค่สิ่งของ ดังนั้นเขาจึงนำเอาไปใช้เกี่ยวกับการทำวิจัยได้เลย อย่างเช่น ตอนนี้กำลังเริ่มมีการถกเถียงกันถึงเรื่อง stem cell อันนี้ก็มาจากคน แล้วอันนี้มันเป็นสิ่งของหรือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์
ด้านหนึ่งบางคนอาจเห็นว่าน่าจะเป็นการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นการช่วยมนุษย์ในอนาคต แต่บางคนไม่รู้ว่ามันจะมาช่วยหรือทำให้เราตกเป็นทาส หรือติดกับดักของการสร้างพรมแดนเหล่านี้ คือเส้นแบ่งมันไม่ชัดเจน แต่ถ้าเผื่อว่าเราไปปล่อยให้มีใครทำหน้าที่เหมือนกับเป็นผู้พิพากษา แบ่งมันจนชัดเจนจนเกินไป แล้วมันชัดสำหรับเพื่อประโยชน์ของคนบางคน แต่สำหรับบางคน ยิ่งไม่ชัดเท่าไหร่ยิ่งเป็นประโยชน์มากเท่านั้น อันนี้ก็จะก่อให้เกิดปัญหาแตกต่างกันในสิ่งเหล่านี้
ด้วยเหตุนี้ ถ้าเปิดโอกาสให้มีการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการถกเถียงในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น และหลักการเกิดขึ้นมาจากการมีส่วนร่วมเหล่านั้น ซึ่งก็เป็นมิติหนึ่งของ Legal Pluralism อันนี้น่าจะเป็นประโยชน์ในการก่อให้เกิดกระบวนการสร้างหลักการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก เป็นการสร้างประชาธิปไตย และเป็นการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็ให้ความเป็นธรรม รวมทั้งสามารถตามทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปได้ด้วย
ผมคิดว่าที่พูดมาแล้วนี้ ในเรื่องความสำคัญของ Legal Pluralism ก็คงจะเริ่มทำให้เราเห็นแล้วว่า ถ้าเราไม่นำเอามิติหรือแนวความคิดนี้ เข้ามาเปิดพื้นที่ใหม่ๆให้กับการศึกษากฎหมาย กฎหมายของเราก็คงจะล้าหลัง แล้วก็ยังไปเปิดโอกาสให้กับคนบางคนที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนกับผู้พิพากษา ตัดสินแทนคนอื่นเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งมากขึ้นในสังคม
ดังนั้นการที่เราหันกลับมาสนใจในเรื่องพรมแดนของความรู้เหล่านี้ มันจะเป็นอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าในเวลาสั้นๆเช่นนี้ ก็คงจะพอทำหน้าที่ในการไปสำรวจพรมแดนสถานภาพมา เพื่อให้เราตระหนักถึงว่ามันทำอย่างไร และมีความสำคัญขนาดไหน? ได้เพียงเท่านี้
(สนใจอ่านเรื่องเดียวกันในทัศนะของนักวิชาการท่านอื่น) คลิกไปอ่าน
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
Latour เป็นคนเขียนงานเรื่อง The Politics of Nature ซึ่งอันนี้เป็นการพยายามไปสำรวจดูว่า นักวิทยาศาสตร์ทำงานกันอย่างไร และสร้างความรู้อย่างไร แล้วปรากฏว่านักวิทยาศาสตร์สร้างความรู้แบบบิดเบือน พยายามตั้งตัวเป็นศาล ตัดสินเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่นตัดสินเรื่องว่า ที่จริงเรื่องระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรมมันแยกออกจากกันยาก แต่ก็ไปบอกว่าอันนี้"ธรรมชาติ" ส่วนอันนั้นเป็นเรื่อง"วัฒนธรรม"
อย่างประเทศมุสลิม ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมอยู่ เขาจะยิ่งเห็นว่ากฎหมายอาณานิคม กฎหมายของรัฐ กฎหมายประเพณีของเขาเอง ยังคงต้องมีศักยภาพในการใช้ได้อยู่ ไม่ควรไปละเมิด แต่เมืองไทยนี้พูดยาก เพราะอะไร? ก็เพราะเราอ้างเสมอว่าไม่เคยเป็นอาณานิคม แต่ระบบกฎหมายของเราใช้ colonial mentality เต็มที่เลย คือหมายความว่า ลอกกฎหมายอาณานิคมมาใช้อย่างหน้าชื่นตาบาน แล้วก็ไม่รู้จักตัวเองอีกต่างหาก อันนี้เป็นปัญหามากเพราะเราไม่รู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไร เราคิดว่าเรามีกฎหมายแต่ที่จริงเราลอกกฎหมายอาณานิคมมาใช้ เราก็เลยไม่รู้สึกอ่อนไหวกับการที่ว่า มันมีกฎหมายหลายอันซ้อนอยู่ในกฎหมายของเรา ซึ่งเป็นปัญหามาก (อานันท์ กาญจนพันธุ์, ตัดมาบางส่วนจากปาฐกถา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ
ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์