เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๗: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

2
0
0
4

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 375 หัวเรื่อง
ปัญหาสื่อและทางออก...สื่อทางเลือก
สุชาดา จักรพิสุทธิ์
สำนักข่าวประชาธรรม

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

R
relate topic
200447
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความวิชาการ ฟรีสำหรับทุกคน
เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยไม่มีเงื่อนไขทางการศึกษา วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจใดๆมาเป็นอุปสรรค และยังมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตความรู้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
The Alternative University


ปัญหาสื่อสารมวลชนในสังคมไทย
ทำไมต้อง... สื่อทางเลือก
สุชาดา จักรพิสุทธิ์
สำนักข่าวประชาธรรม
(บทความนี้ยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)


ภูมิหลังปัญหา "สื่อ"
ในทางอุดมคติ สื่อสารมวลชน ( mass media ) เป็นสถาบันสาธารณะ และเป็นเครื่องมือการสื่อสารของสมาชิกในสังคม หากแต่เมื่อสังคมพัฒนาไปในทิศทางที่ระบบทุนเป็นใหญ่ สื่อสารมวลชนซึ่งแยกไม่ออกจากสังคม และเป็นผลผลิตของระบบเศรษฐกิจ การศึกษา และการเมืองเช่นกัน สื่อสารมวลชนก็ได้เติบโตแปรเปลี่ยนไปสู่ความเป็น"ธุรกิจ" ที่ประกอบด้วยผลประโยชน์และอิทธิพล

ยิ่งกว่านั้น เมื่อสื่อสารมวลชนได้กลายเป็นธุรกิจเก็งกำไรในตลาดหุ้น ที่ถูกกว้านซื้อและถือครองโดยกลุ่มทุนผูกขาดและนักการเมือง จึงยิ่งนำมาซึ่งข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ประกอบอาชีพสื่อหรือสื่อมวลชน ( Journalist ) ไม่สามารถแสดงบทบาทการเป็นปากเสียง และเป็นพื้นที่ที่เป็นธรรมแก่คนหลากหลายกลุ่ม กระทั่งบางสถานการณ์ สื่อมวลชนยังตกอยู่ในภาวะการเซนเซอร์ตัวเองด้วย ( self sensorship ) และบางครั้งการนำเสนอข่าวสารจากความไม่เข้าใจของสื่อมวลชนก็มีผลสร้างภาพลักษณ์อันอ่อนแอ อคติและการละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่น นำมาซึ่งกระแสข่าวสารที่ไม่สมดุลและสังคมขาดความรับรู้ที่ถูกต้อง ขาดการติดตามตรวจสอบนโยบายสาธารณะ

 หากพิจารณาไปถึงการหน้าที่ ( functional ) ของสื่อสารมวลชน อันได้แก่ 
       - To Inform 
       - To Entertain 
       - To Educate 
       - To Persuade 

เราจะเข้าใจถึงระบบคิดของสื่อมวลชน กล่าวคือ สื่อมวลชนโดยทั่วไปมักอ้างแต่เพียงหน้าที่การให้ข่าวสารข้อมูล ( To Inform ) แก่สังคม ทำให้เกิดกรอบการสื่อข่าวแต่เพียงการนำเสนอ What Who Where When Why How โดยไม่สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ ไปสู่ข้อเท็จจริงเชิงโครงสร้าง อันจะทำให้สื่อสารมวลชนก้าวข้ามไปสู่การทำหน้าที่ "ให้การศึกษา" (To Educate ) ด้วยการนำเสนอข้อเท็จจริงความคิดเห็นจากตัวละครในข่าวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ด้อยโอกาส ผู้ติดเชื้อ กลุ่มชาติพันธุ์ องค์กรพัฒนาเอกชน ชาวบ้านรากหญ้า เป็นต้น

การที่คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียกร้องการใช้สิทธิทางการเมืองหรือผู้คิดเห็นขัดแย้งแตกต่างจากรัฐได้ "สื่อสาร" ปัญหาและความต้องการของตน จึงเป็นช่องทางที่สังคมจะได้ตั้งคำถามและเรียนรู้ conflict of value ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม

จากผลการวิจัยเรื่อง "โครงสร้างตลาดสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในประเทศไทย" โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และคณะ ได้รายงานสรุปไว้ความตอนหนึ่งว่า

โทรทัศน์และวิทยุเป็นสื่อที่ประชาชนไทยได้รับข่าวสารและบันเทิงมากที่สุด โดยประชาชนกว่าร้อยละ 86 และ 36 ได้ชมโทรทัศน์และฟังวิทยุในแต่ละวัน ซึ่งสูงกว่าอัตราการอ่านหนังสือพิมพ์หรือการรับสื่ออย่างอื่น ธุรกิจสื่อโทรทัศน์และวิทยุในประเทศไทย มีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เสียอีก เห็นได้จากการขยายตัวและขนาดของมูลค่าการโฆษณาที่เติบโตถึงร้อยละ 3.5 และ 4.4 เท่าของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมในระหว่างปี 2534-2545

เช่นเดียวกับสื่อวิทยุในประเทศไทย ที่เป็นตลาดแยกย่อย (fragmented ) กว่า 520 สถานี โดยเป็นระบบสัมปทานรัฐและเอกชน ซึ่งมีอายุสั้นมากและมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากภาครัฐสามารถบอกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียว คณะผู้วิจัยพบว่า สื่อวิทยุมีแนวโน้มกระจุกตัวสูงขึ้น ดังเห็นได้จากสัดส่วนรายได้ของผู้ประกอบการวิทยุรายใหญ่ในกรุงเทพฯ 3 ราย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 ของรายได้โฆษณาปี 2542 เป็นร้อยละ 18 ในปี 2544

สื่อหนังสือพิมพ์ก็เช่นกัน ผลประกอบการและรายได้ 70 % ของสื่อหนังสือพิมพ์มาจากการโฆษณาสินค้า ธุรกิจและบริการ โดยสัดส่วนข้างมากของรายได้โฆษณาในช่วงรัฐบาลชุดปัจจุบัน เป็นโฆษณาจากรัฐวิสาหกิจและธุรกิจที่มีนักการเมืองเกี่ยวข้อง รวมถึงการถือครองสื่อโดยผ่านการซื้อขายในตลาดหุ้น ทำให้ปัจจุบัน สื่อหนังสือพิมพ์กว่า 80 % มีกลุ่มธุรกิจการเมืองขนาดใหญ่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกำหนดนโยบายการเสนอข่าวสาร

ด้วยเหตุดังนั้น บทบาทด้าน To Persuade ของสื่อสารมวลชนจึงเป็นไปในทางการเป็นเครื่องมือโฆษณาส่งเสริมบริโภคนิยม และตอบสนองกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งนี่เป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย นำมาซึ่งความต้องการแก้ปัญหาและแสวงหาทางเลือกใหม่ ในอันที่จะสร้างระบบการสื่อสารของสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น ดังเห็นได้จากการเกิดขึ้นของแนวคิด "การสื่อสารเพื่อการพัฒนา" ( Communication for Development ) และ "การสื่อสาร เพื่อการเปลี่ยนแปลง" ( Communication for Social change ) โดยมุ่งหมายให้ระบบสื่อสารของสังคม มีบทบาทพึงประสงค์ในอันที่จะทำให้

การสื่อสารนั้นเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ข้ามกลุ่มข้ามปัญหา
-
ทำให้การสื่อสารนั้นมีผลในทางแก้ไขปัญหาและเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
- เป็นการสื่อสารเพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
- เป็นการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วม ที่ผู้รับสาร ( reciever ) สามารถสื่อสารสองทางและเปลี่ยนเป็นผู้ส่งสาร ( sender ) ได้เมื่อต้องการ

อย่างไรก็ดี สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมไทย ที่ภาคประชาชนมีความตื่นตัวต่อการใช้สิทธิ และการรวมกลุ่มสร้างปฏิบัติการภาคพลเมืองกันอยู่อย่างหลากหลายและมากมายทั่วทุกภาค จนก่อเกิดเป็นกระแสชุมชนเข้มแข็งหรือชุมชนนิยม ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่าสืบเนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. กระแสโลกานุวัตน์และแนวคิดประชาธิปไตยจากสากลประเทศ ทำให้เกิดการรับรู้ข่าวสารรวดเร็วกว้างขวาง และการเปิดรับแนวคิดด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2. อานิสงส์จากรัฐธรรมนูญและกระบวนการเกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.2540
3. ทรัพยากรไหลลงสู่ชุมชน จากเหตุปัจจัยคือ

3.1 นโยบายประชานิยมของรัฐบาลปัจจุบัน ได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค, หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ตลอดจนนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว
3.2 การเกิดขึ้นขององค์กรใหม่ตามรัฐธรรมนูญ อาทิ สสส. สปรส. พอช. ที่มีนโยบายและงบ ประมาณส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน
3.3 กระแสการปฏิรูป ทั้งการปฏิรูปสุขภาพ, การปฏิรูปการศึกษา, การปฏิรูปสื่อ เป็นต้น มีส่วนเสริมสร้างกิจกรรมในระดับชุมชนขึ้นมากมาย และกลายเป็นเวทีเรียนรู้ทางสังคม อย่างสำคัญ
3.4 กระแสทุนและธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งข้ามชาติและในประเทศ ที่ขยายการลงทุนไปในท้องถิ่น

ดังนั้น กระแสความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในระดับชุมชน จึงเริ่มก่อรูปเป็น ขบวนการชุมชนที่มิได้นำโดยองค์กรพัฒนาเอกชน ( NGO) อีกต่อไป หากแต่ชุมชนรากหญ้าเอง เริ่มมีการจัดตั้งตนเองในระดับใดระดับหนึ่งขึ้น ซึ่งจากงานวิจัย "โครงการวิจัยการศึกษาทางเลือก : ฐานข้อมูลและการวิเคราะห์" โดยสุชาดา จักรพิสุทธิ์ และคณะ ได้พบว่า กลุ่มหรือชุมชนที่รวมตัวกัน โดยเจตนา ( Intentional Community ) ด้วยความมุ่งหมายที่จะทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน นั้น มีถึงกว่า 60,000 กลุ่ม/ชุมชน

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระที่ได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างสูง ได้ เคยบรรยายถึง คุณลักษณะของการก่อเกิดสังคมเข้มแข็งหรือชุมชนเข้มแข็งว่า

- คนในชุมชน/สังคม มีความสามารถในการรวมตัวกันหรือการสร้างเครือข่าย
- มีอำนาจในการตัดสินใจ/แก้ไขปัญหาของชุมชนเอง
- มีข่าวสารข้อมูลที่มาจากหลากหลายทิศทาง
- มีการสื่อสารที่ทำให้เกิดสำนึกความเป็น"เรา"ร่วมกัน

จากแนวคิดการสื่อสารที่พึงประสงค์ และจากข้อจำกัดของระบบสื่อสารมวลชนทั้ง หมดดังกล่าวมา กอรปกับความเติบโตของขบวนการชุมชน ได้นำมาซึ่งความต้องการที่จะ"สื่อสาร" ข้อเท็จจริงและศักยภาพของชุมชนไปสู่ความรับรู้และขยายความเข้าใจ ทั้งการสื่อสารในระดับพื้นที่และการสื่อสารไปสู่สังคมวงกว้าง ดังเห็นได้จากกระแสการเกิดขึ้นของวิทยุชุมชน 148 และความพยายามที่จะสร้างสื่อของตนเอง ทั้งในรูปแบบจดหมายข่าว โปสเตอร์ เว็บไซต์ เวทีกิจกรรม จนถึงการจัดตั้งสำนักข่าวของภาคประชาชน การเขียนบทความ จัดพิมพ์หนังสือเล่ม และการจัดเวทีสาธารณะ การสร้างสรรค์กิจกรรมเชิงศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อที่จะ Vioce the Vioceless จนอาจกล่าวได้ว่า นี่คือกระบวนการ "สื่อภาคประชาชน" หรือ "สื่อทางเลือก" ซึ่งพูดให้ถึงที่สุดก็คือการสร้างความเข้าใจใหม่และการเปลี่ยนความรับรู้ของสังคม ว่า การพัฒนาที่แท้ต้องมาจากประชาชน และก็คือกระบวนการรื้อสร้างใหม่( reconstruct )อัตลักษณ์ชุมชน แทนที่การถูกลดทอนบิดเบือน(reduct )โดยการสื่อสารกระแสหลักเหมือนที่ผ่านมา

ความเข้าใจใหม่ว่าด้วย "สื่อทางเลือก"
ประวัติศาสตร์ความต้องการใช้สื่อและสร้างสื่อของภาคประชาชน เกิดขึ้นชัดเจนในยุคของขบวนคนหนุ่มสาวเดือนตุลาคม 2516 ที่มีการใช้สื่อ - สร้างสื่อเพื่อสื่อสารแนวคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตยในรูปแบบต่างๆ อาทิ ใบปลิว โปสเตอร์ เพลงเพื่อชีวิต คัตเอาท์ ละคร ศิลปะ ซึ่งถูกเรียกว่า"สื่อนอกกระแส"

จากนั้นมาเมื่อชุมชนและหมู่บ้านกลายเป็นเป้าหมายของการพัฒนาแบบบนลงล่าง เราก็เริ่มได้ยินคำว่า"สื่อชุมชน" ซึ่งหมายถึงสื่อที่เข้าถึงชุมชนชาวบ้าน อันได้แก่ หอกระจายข่าว แผ่นพับ ปฏิทิน ฯ โดยมีเป้าหมายการสร้าง - การใช้ด้านส่งเสริมการเกษตร การเผยแพร่ความรู้เรื่องปุ๋ยและสารเคมีการเกษตร การสาธารณสุข นโยบายรัฐ เป็นต้น อนึ่ง สื่อชุมชนในความหมายทางวิชาการวารสารศาสตร์/นิเทศศาสตร์ หมายรวมไปถึงสื่อบุคคลและสื่อพื้นบ้าน หรือสื่อประเพณีด้วย

อย่างไรก็ตาม จากเส้นทางของสื่อนอกกระแส สื่อชุมชน จนถึงยุคการเติบโตของ องค์กรพัฒนาเอกชน ( NGO ) พร้อมๆกับอคติของสังคมที่คิดว่าองค์กรพัฒนาเอกชนหรือกลุ่มคนที่คัดค้านรัฐนั้นไม่หวังดีต่อประเทศชาติ ได้นำมาซึ่งความจำเป็นในการสื่อสารของคนที่เข้าไม่ถึงสื่อมากยิ่งขึ้น ดังนั้น วาทกรรมเรื่อง"สื่อภาคประชาชน" จึงเกิดขึ้น โดยมีความหมายเน้นไปในเรื่องเนื้อหาที่ยืนอยู่ข้างภาคประชาชน และมีลักษณะเล็กๆ ทุนจำกัด เผยแพร่กันเอง

จนมาถึงยุคการเคลื่อนไหวใหญ่ของภาคประชาชนจนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ก็เริ่มปรากฏวาทกรรมคำว่า "สื่อทางเลือก" ขึ้น ซึ่งดูเหมือนจะมีความหมายที่กว้างขวางขึ้น มีความหลากหลาย มากขึ้น ทั้งการใช้สื่ออิเล็คโทรนิคและเทคโนโลยีสมัยใหม่ การบรรสานเอาสื่อเฉพาะกิจ สื่อบุคคล และสื่อพื้นบ้านเข้ามาใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อชุมชนหรือภาคประชาชน โดยมีจุดเน้นด้านเนื้อหาที่ถ่วงดุลข่าวสารกระแสหลัก และการเข้าถึงผู้รับสารที่กว้างขวางขึ้น ทั้งในระดับชุมชนเองและระดับสังคม

ความน่าสนใจของ"สื่อทางเลือก"ยังอยู่ที่ว่า นี่เป็นเครื่องสะท้อนนิยามความหมายที่เมื่อใดระบบเดิมที่มีอยู่มีความตีบตันคับข้องหรือล้มเหลว จะบังเกิดมีกระแสคู่ขนานที่เป็นการแสวงหาทางออกหรือทางเลือกเกิดขึ้น อันเป็นกระบวนการเดียวกับการเกิดขึ้นของเกษตรทางเลือก การศึกษาทางเลือก การแพทย์ทางเลือก เป็นต้น

จนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนว่าสื่อทางเลือกนั้นมีความหมายอย่างกว้างที่ครอบคลุมไปถึงปฏิบัติการ กิจกรรม ที่สามารถสื่อสารกับผู้คนจำนวนมากอีกด้วย และในที่สุด สื่อทางเลือกก็กำลังมีพัฒนาการที่ก้าวข้ามศาสตร์ของการสร้างการใช้ "สื่อ" ( media ) ไปสู่การขยาย "พื้นที่ทางสังคม" ( social sphere ) อันหมายถึงการสื่อสารใดๆจากล่างขึ้นบน ที่ข้ามพ้นข้อจำกัดของสื่อไปสู่การเมืองภาคประชาชนและความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม

 อนึ่ง ฐานความคิดทางวิชาการได้จำแนกสื่อไว้  ดังนี้ 
       - สื่อบุคคล ได้แก่ พระสงฆ์ ผู้นำทางศาสนา ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน คนเฒ่าคนแก่ ฯ 
       - สื่อพื้นบ้านหรือสื่อประเพณี ได้แก่ ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น หมอลำ หนังตะลุง  จ๊อยซอพิธีกรรม ประเพณีต่างๆ ฯ 
       - สื่อเฉพาะกิจ ได้แก่ เว็บไซต์ หนังสือ โปสเตอร์ จดหมายข่าว ศิลปะ ละคร ฯ        
       - สื่อสารมวลชน จำแนกเป็น -- สื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
                                                -- สื่ออิเล็คโทรนิค  ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ 
--
สื่อท้องถิ่น ได้แก่ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น วิทยุท้องถิ่น

สำหรับการเกิดขึ้นของวิทยุชุมชน บางแนวคิดอาจจัดวิทยุชุมชนเป็น "สื่อท้องถิ่น" แต่ในที่นี้ ขอจำแนกวิทยุชุมชนเป็น"สื่อทางเลือก" เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่วิทยุชุมชนยังไม่มีกฎหมายรองรับ อีกทั้งกลุ่มปฏิบัติการวิทยุชุมชนทั้งหมดมีแนวคิดชี้นำในเรื่องสิทธิการสื่อสารของชุมชนและการเรียนรู้เป็นสำคัญ

ในส่วนการก่อเกิดของกระแสสื่อทางเลือก (Alternative media ) จึงอาจจัดไว้ในลำดับต่อมาคือ
- สื่อทางเลือก ซึ่งครอบคลุมสื่อที่หลากหลาย ได้แก่ วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ประชาสังคม หอกระจายข่าว จดหมายข่าว เว็บไซต์ สื่อบุคคล สื่อพื้นบ้านหรือสื่อประเพณี สื่อเฉพาะกิจ ศิลป วัฒนธรรม รวมถึงเวทีอภิปราย ภูมิปัญญาชาวบ้าน กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ผลผลิตเพื่อการรณรงค์ เช่น เสื้อยืด โปสเตอร์ ป้ายผ้า ฯ

กล่าวโดยสรุป คือ สื่อทางเลือกใช้เกณฑ์สำคัญด้านเนื้อหาสาระที่เป็นประเด็นปัญหา ข่าวสาร ทางเลือกจากภาคประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงความรับรู้ของสังคมไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อประเด็นปัญหานั้นๆ การรณรงค์การมีส่วนร่วมต่อวาระหนึ่ง ๆ ( agenda setting ) เพื่อผลกระทบด้านความเป็นธรรมและการเปิดพื้นที่ทางสังคมแก่ภาคประชาชน ซึ่งคือการหน้าที่ด้าน To Inform, To Educate, To Persuade, ตามแนวคิดพื้นฐานของการสื่อสารมวลชนนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ "สื่อทางเลือก"จึงถือเป็นการสื่อสารอีกระบบหนึ่ง และเป็นทาง เลือกใหม่ที่ภาคประชาชนกำลังเร่งก่อร่างสร้างขบวนด้วยวาระการขับเคลื่อนต่างๆกันไป

ดังนั้น ข่าวสาร ข้อมูล ความเคลื่อนไหวที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จึงสามารถนำมาสื่อ สารสู่สังคม ทั้งโดยการแทรกตัวเข้าสู่สื่อกระแสหลักและการหยิบใช้เป็น"สาร"ในการสร้าง-การใช้สื่อทางเลือกได้ กล่าวคือ

1. เหตุการณ์หรืออุบัติการณ์ รวมถึงความผิดปกติ เช่น ชาวแม่เมาะต้องพกถังอ็อกซิเจน ติดตัวเพราะเหลือปอดเพียงครึ่งเดียว หรือความน่าสงสัยสนเท่ห์ เช่น ปลาตายเต็มแม่น้ำ
2. ความเปลี่ยนแปลงในชุมชน เช่น กองทุนหมูบ้าน 1 ล้านบาท สร้างความแตกแยกแก่ชุมชน
3. สถิติ ข้อมูล โพลล์ เช่น ตัวเลขหนี้สินในครัวเรือนยากจนพุ่งสูงขึ้น 75 % โพลล์สำรวจพบ วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อน/คนใกล้ตัว สูงถึง 57 % เป็นต้น
4. ทัศนคติ ความคิดเห็นของบุคคล หรือชุมชนต่อประเด็นปัญหาหรือนโยบาย เช่น ความเห็นต่อ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค
5. การรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาและพึ่งตัวเองของชุมชนหรือผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้ติดเชื้อจัดตั้งศูนย์การ เรียนรู้ให้ลูกหลาน กลุ่มผู้สูงอายุรวมกลุ่มทำของเล่นโบราณโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน

6. ตัวอย่าง รูปธรรม กิจกรรม ทางเลือกใหม่ๆในการแก้ปัญหา เช่น ชุมชนมุสลิมใช้หลักศาสนา แก้ปัญหายาเสพติดอย่างได้ผล
7. ผลกระทบโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่เกิดแก่ชาวบ้านและชุมชน เช่น พบผู้หญิงแท้งลูกมากขึ้นในพื้นที่มาบตาพุด
8. เรื่องที่มีความซับซ้อนของปัญหามากกว่าปรากฏการณ์ เช่น บริษัทยาข้ามชาติจดสิทธิบัตร ซ้ำซ้อน โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีใช้พื้นที่ต้นน้ำชั้นหนึ่งโดยไม่มีการศึกษา EIA
9. ประเด็นที่เป็นกระแสสาธารณะ โดยเสนอข้อมูลหรือมุมมองอีกด้านหนึ่ง เช่น กระแสการ รณรงค์ลดอุบัติเหตุโดยใช้มาตรการทางกฎหมาย อาจเสนอมุมมองที่เป็นการมีส่วนร่วมจาก ภาคสังคมและการให้การศึกษาแทน
10. การโต้แย้งโต้ตอบข่าวหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เช่น จำนวนผู้ถูกฆ่าตัดตอนในสงครามปราบ ปรามยาเสพติด สูงกว่าตัวเลขที่รัฐออกมาแถลง

ยุทธศาสตร์การสื่อสารทางเลือก มีเป้าหมายของการสื่อสาร 3 ระดับ อันได้แก่

- Internal Communication หรือการสื่อสารภายในภาคประชาชน มีความสำคัญในระดับฐานราก เนื่องจากเป็นการสื่อสารที่ทำให้เกิดการ"เรียนรู้"และปลูกสร้าง"สำนึก"ได้มากที่สุด เป็นการสื่อสารที่ให้ข้อมูลเชิงลึก และทำให้เกิดการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด ด้วยเป็นการสื่อสารที่ "เห็นหน้าเห็นตา"

- Public Campaign หรือการรณรงค์สาธารณะนั้น ผลกระทบส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ การจำได้หมายรู้ หรือเข้าใจ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดนโยบายได้ แต่เนื่องจากพฤติกรรมผู้รับสารในสังคมไทยส่วนใหญ่ยังเป็น "เสียงเงียบ" หรือ silence majority อีกทั้งการรณรงค์เชิงสังคมก็มิได้มีความหมายแต่เพียงการรณรงค์ขนาดใหญ่ ใช้ทุนมากใช้สื่อมากเท่านั้น

- Policy Advocacy อันเป็นผลกระทบหรือเป้าหมายที่ต้องการในการรณรงค์สร้างกระแสนั้น นอกเหนือจากกระบวนการทางสังคมแล้ว จำเป็นต้องใช้กระบวนการฉันทามติ กระบวนการทางการเมือง และปัจจัยซับซ้อนอื่นๆ

ดังนั้น กระแสความต้องการของชุมชนที่จะสื่อสารสาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงการที่องค์กรสนับสนุนโครงการชุมชนส่วนใหญ่ ต้องการให้มีการสื่อสารเรื่องราวของชุมชน เช่น ประเด็นสุขภาพขึ้นสู่กระแสของสังคม โดยคิดและเข้าใจว่าคือการ "ซื้อสื่อ" หรือคือการรณรงค์สร้างกระแสนั้น อาจไม่เป็นจริงเสมอไป คำถามสำคัญมีอยู่ว่า การสร้างกระแสการสื่อสารสาธารณะเพื่อชุมชน ให้เป็นกระแสใหญ่เพื่อ"แข่งขัน"กับกระแสหลักและบริโภคนิยมนั้น เป็นไปได้จริงหรือไม่ ? หรือนี่เป็นธรรมชาติของกระแสทางเลือกที่ต้องดำเนินไปเป็นกระแสรอง อันเนื่องจากยุทธศาสตร์ที่แท้จริงนั้นคือ การเสนอทางเลือก แก่สังคมที่อับจนทางเลือก เพื่อการปรับเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจของสังคมซึ่งเป็น"งานความคิด" หาใช่การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อแข่งสู้ให้เป็นกระแสหลักไม่

กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์ของงานสื่อสารทางเลือก ก็คือการขับเคลื่อนด้วยระบบสื่อทางเลือก ที่มีลักษณะพลิกแพลง ยืดหยุ่น และหลากหลายทั้งทาง "เนื้อหา" และ "กลยุทธ์" ให้มากที่สุด

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
โทรทัศน์และวิทยุเป็นสื่อที่ประชาชนไทยได้รับข่าวสารและบันเทิงมากที่สุด โดยประชาชนกว่าร้อยละ 86 และ 36 ได้ชมโทรทัศน์และฟังวิทยุในแต่ละวัน ซึ่งสูงกว่าอัตราการอ่านหนังสือพิมพ์หรือการรับสื่ออย่างอื่น ธุรกิจสื่อโทรทัศน์และวิทยุในประเทศไทย มีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เสียอีก เห็นได้จากการขยายตัวและขนาดของมูลค่าการโฆษณาที่เติบโต
การวิเคราะห์ภาพยนตร์โดยใช้หลักการทางด้านโครงสร้างนิยม เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาและโครงสร้างความหมาย
H
ประวัติศาสตร์ความต้องการ ใช้สื่อและสร้างสื่อของภาคประชาชน เกิดขึ้นชัดเจนในยุคของขบวนคนหนุ่มสาวเดือนตุลาคม 2516 ที่มีการใช้สื่อ - สร้างสื่อเพื่อสื่อสารแนวคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตยในรูปแบบต่างๆ อาทิ ใบปลิว โปสเตอร์ เพลงเพื่อชีวิต คัตเอาท์ ละคร ศิลปะ ซึ่งถูกเรียกว่า"สื่อนอกกระแส"
จนมาถึงยุคการเคลื่อนไหวใหญ่ของภาคประชาชนจนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ก็เริ่มปรากฏวาทกรรมคำว่า "สื่อทางเลือก" ขึ้น ซึ่งดูเหมือนจะมีความหมายที่กว้างขวาง มีความหลากหลายมาก ทั้งการใช้สื่ออิเล็คโทรนิคและเทคโนโลยีสมัยใหม่ การบรรสานเอาสื่อเฉพาะกิจ สื่อบุคคล และสื่อพื้นบ้านเข้ามาใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อชุมชนหรือภาคประชาชน โดยมีจุดเน้นด้านเนื้อหาที่ถ่วงดุลข่าวสารกระแสหลัก และการเข้าถึงผู้รับสารที่กว้างขวางขึ้น
ทั้งในระดับชุมชนเองและระดับสังคม