เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๗: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

2
0
0
4

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 387 หัวเรื่อง
สื่อและผลกระทบที่มีต่อสังคม
สมเกียรติ ตั้งนโม
คณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com

R
relate topic
140547
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความวิชาการ ฟรีสำหรับทุกคน
เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยไม่มีเงื่อนไขทางการศึกษา วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจใดๆมาเป็นอุปสรรค และยังมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตความรู้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
The Alternative University


ดูละครแล้วย้อนดูตัว
สื่อในมุมมองมานุษยวิทยาและจิตวิเคราะห์

สมเกียรติ ตั้งนโม

คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความชิ้นนี้แปลมาจากหนังสือเรื่อง Media and Society
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เขียนโดย Michael O' Shaughessy และ Jane Stadler
สำนักพิมพ์ Oxford University Press ปีที่พิมพ์ 2002
(ในส่วนของ Part 3, Chapter 11 เรื่อง Joseph Cambell and Carl Jung หน้า 163-170)

(บทความนี้ยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)


เลวี สเตราสส์ และ ปกรณัมโบราณ (Levi-Strauss and Myth)
วิธีการศึกษาการเล่าเรื่องอีกวิธีการหนึ่ง ถูกพบได้ในผลงานของนักโครงสร้างนิยม นามว่า Levi-Strauss เขาได้สำรวจถึงบทบาทของปกรณัมต่างๆ (รูปแบบแรกสุดของเรื่องเล่าทั้งหลาย)ในวัฒนธรรมปฐมบรรพ์(primitive culture) (Turner 1993, pp. 72-74ว Levi-Strauss 1978) Levi-Strauss ได้ให้เหตุผลว่า พวกมันทำหน้าที่รับใช้ที่สำคัญอันหนึ่งสำหรับสังคมเหล่านี้

ปกรณัมโบราณเกี่ยวข้องกับปัญหาแกนกลางต่างๆและความขัดแย้ง ซึ่งถูกรู้สึกโดยวัฒนธรรมหนึ่ง ในรูปแบบของเรื่องเล่า (บ่อยครั้ง พวกมันถูกเล่าขานเกี่ยวกับเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าหรือวีรบุรุษ) เรื่องราวเหล่านี้เล่นกับความขัดแย้งต่างๆเพื่อการแก้ปัญหา ซึ่งทำให้สังคมทั้งหลายมีกรอบหรือเค้าโครงบางอย่างที่จะดำรงอยู่ต่อไป

Graeme Turner ได้อธิบายถึงปกรณัมโบราณเอาไว้ดังต่อไปนี้:

ภายในปกรณัมโบราณต่างๆ ความขัดแย้งและการไร้ดุลยภาพทั้งหลาย ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในโลกของความเป็นจริง ได้ถูกแก้ไขในเชิงสัญลักษณ์ หน้าที่ของปกรณัมโบราณก็คือวางความขัดแย้งต่างๆเหล่านั้นลง - ระหว่างมนุษย์และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเขา เป็นตัวอย่าง หรือ ระหว่างชีวิตและความตาย - ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของธรรมชาติ

ปกรณัมโบราณต่างๆจะเจรจาไกล่กลี่ยเพื่อสันติและความสุขสงบระหว่างผู้ชายและผู้หญิง และสภาพแวดล้อมของพวกเขา เพื่อว่าพวกเขาจะสามารถดำรงอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้โดยปราศจากความทุกข์ทรมานเกี่ยวกับความไม่สมหวังและความทารุณโหดร้าย (Turner 1988, p.72)

ทฤษฎีของ Levi-Strauss เน้นบทบาทของคู่ตรงข้ามในฐานะที่เป็นโครงสร้างต่างๆ ซึ่งเป็นตัวก่อเกิดและแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ผลลัพธ์ในที่นี้ของปกรณัมหรือตำนานต่างๆไม่ต้องการให้เกิดการกระทำทางสังคม แต่ต้องการให้เกิดความสงบสันติทางสังคมและยอมรับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่

การสนทนากันของเราเกี่ยวกับการเล่าเรื่องของสื่อร่วมสมัย และการแก้ปัญหาเกี่ยวกับความตรงข้ามต่างๆของพวกมัน เกี่ยวพันกับความห่วงใยทางสังคมร่วมสมัย - ยกตัวอย่างเช่น การแต่งงานและครอบครัว กับเรื่องของมิตรภาพและหุ้นส่วนต่างที่หลากหลาย - ซึ่งเสนอว่า การเล่าเรื่องต่างๆสามารถได้รับการมอง, โดยการใช้คำศัพท์ต่างๆของ Levi-Strauss, ในฐานะที่เป็นรูปแบบต่างๆของปกรณัมร่วมสมัย (contemporary myths)

ปกรณัมโบราณทั้งหลายได้ถูกศึกษาและพิจารณามากขึ้นโดย Jung และ Campbell และความคิดเกี่ยวกับ"พิธีกรรมของการเปลี่ยนผ่าน"(rite of passage)ซึ่งมีค่าควรแก่การกล่าวถึงในที่นี้

พิธีกรรมของการเปลี่ยนผ่าน โดยจารีตแล้ว เป็นจุดหรือช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญของชีวิตคนๆหนึ่ง - เช่น การเกิด, การแต่งงาน, และการตาย, เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างชัดเจน แต่สังคมต่างๆส่วนใหญ่ยังมีพิธีกรรมที่เป็นขนบจารีตอื่นๆอีก ที่ช่วยแสดงถึงเครื่องหมายการเปลี่ยนผ่านของผู้คนทั้งหลายจากความเป็นเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่

บ่อยทีเดียว มันได้รับการอรรถาธิบายในฐานะที่เป็นพิธีกรรม การตาย/การเกิดใหม่ หรือแบบแผนพิธีกรรมของการเริ่มต้น(initiation ceremony) - มันเป็นการตายในเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งยินยอมให้ชีวิตใหม่เกิดขึ้นมาได้ และในเวลาเดียวกันก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของชีวิตที่ถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง

วัฒนธรรมสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ของตะวันตก ได้สูญเสียขนบประเพณีต่างๆเหล่านี้ไปเป็นจำนวนมาก แม้ว่าเราสามารถที่จะพบเห็นส่วนที่เหลือเพียงเศษเสี้ยวของพวกมันได้บ้าง ในกิจกรรมต่างๆของวัยรุ่นหนุ่มสาวทั้งหลายก็ตาม ซึ่งรวมถึงเรื่องเซ็กซ์และการใช้ยาเสพติดต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การเฉลิมฉลองของผู้ที่จากไปอย่างหัวหกก้นขวิด (ถูกรู้จักในฐานะ schoolies) ในเชิงขนบประเพณี มันคือสัปดาห์หนึ่งของวันหยุดที่เกินเลยเพิ่มขึ้นมา หลังจากที่พวกเขาได้ละจากโรงเรียนไป อันนี้คือชนิดหนึ่งของการเริ่มต้นเข้าสู่ภาวะความเป็นผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับความท้าทายสู่ชีวิตความเป็นหนุ่มสาว

ขณะที่มันอาจเป็นการสูญสลายไปของพิธีกรรมต่างๆอย่างเป็นทางการในชีวิตจริงอันนี้ แต่เราสามารถพบเห็นว่า การเล่าเรื่องของภาพยนตร์ โทรทัศน์ และเรื่องที่แต่งขึ้น ซึ่งได้บรรจุบางสิ่งบางอย่างของช่องว่างอันนี้ลงไป โดยการนำเสนอตัวอย่างต่างๆมากมายเกี่ยวกับ"พิธีกรรมของการเปลี่ยนผ่าน"และ"เรื่องเล่าทั้งหลายเกี่ยวกับการเริ่มต้น"อันนี้ให้กับเรา

ยกตัวอย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง Yolngu Boy เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับ"พิธีกรรมของการเปลี่ยนผ่าน"เรื่องหนึ่ง และเรื่อง The Princess Diaries" เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับ"การถึงวัยที่เจริญเติบโตเต็มที่"(coming of age)

เรื่องเล่าเป็นจำนวนมากได้แสดงให้เห็นว่า ตัวละครต่างๆได้เผชิญกับการทดสอบที่แสนสาหัสมากมาย ซึ่งสามารถถูกทำความเข้าใจในแนวนี้ และด้วยเหตุดังนั้นมันจึงให้ตัวอย่างกับผู้อ่านทั้งหลายว่า จะเผชิญกับพิธีกรรมและการทดสอบที่ทรหดอดทนต่างๆเหล่านี้จนประสบผลสำเร็จได้อย่างไร

Mircea Eliade (อ้างใน Bettelheim 1978) ได้แสดงถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีในงานเขียนเกี่ยวกับ ความน่าดึงดูดใจของเทพนิยายต่างๆดังนี้:

มันเป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิเสธว่า การทดสอบที่แสนทรหดและการผจญภัยของพระเอกและนางเอกของเทพนิยายต่างๆนั้น มักจะถูกแปลไปสู่กรณีต่างๆของการเริ่มต้น(initiaory terms)เกือบจะเสมอๆ … เค้าโครงหรือฉากสำคัญเกี่ยวกับการเริ่มต้น … คือการแสดงออกของละครจิตวิทยา(psychodrama)ที่ให้คำตอบต่อความต้องการระดับลึกอันหนึ่งในชีวิตมนุษย์. ผู้ชายทุกคนต้องการที่จะมีประสบการณ์กับสถานการณ์มีภัยอันตรายบางอย่าง เพื่อเผชิญหน้ากับการทดสอบที่ท้าทายและสาหัสเป็นพิเศษ และเพื่อสร้างวิถีทางของเขาไปสู่โลกอื่น - และเขาประสบกับอันนี้ทั้งหมด ในระดับของชีวิตจินตนาการ โดยการฟังหรือการอ่านเทพนิยาย (Eliade 1963, ดังที่ยกมาอ้างในงานของ Bettelheim 1978, p.35)

เราเสนอว่า นี่ถือว่าเป็นจริงด้วยกับภาพยนตร์ โทรทัศน์ และเรื่องราวที่เขียนขึ้นเป็นจำนวนมาก - และเป็นจริงด้วยสำหรับผู้หญิงทุกคน(โดยการอนุมานเอาคำอ้างที่ตัดตอนมานี้ ไปใช้กับเพศหญิง)

ความบันเทิง, การหนีห่างจากความเป็นจริง, และยูโทเปีย (Entertainment, Escapism, and Utopia)
ความพึงพอใจที่เราได้จากผลิตผลของสื่อ บ่อยครั้ง ได้รับการอธิบายว่าเป็นการหนีห่างจากความเป็นจริง(escapism) และเนื้อหาต่างๆที่เราบริโภค บ่อยทีเดียว ได้รับการดูถูกดูแคลนในฐานะที่เป็นเพียงแค่"ความบันเทิงเท่านั้น"(just entertainment)

การกล่าวถึงบางสิ่งบางอย่างว่า เป็นการหนีห่างจากความเป็นจริง หรือ เพียงแค่ความบันเทิง เป็นหนทางอันหนึ่งของการไม่ใส่ใจที่จะพิจารณามันนั่นเอง ศัพท์ต่างๆในเชิงดูหมิ่นดูแคลนเหล่านี้ถูกนำเสนอในฐานะที่เป็นหลักฐานชัดแจ้งส่วนตัว(self-evident) - มันถูกสมมุติว่าพวกมันไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ ซึ่งเรารู้ถึงสิ่งที่พวกมันหมายความถึง อันนี้ค่อนข้างจะไม่ยุติธรรมเท่าใดนักสำหรับศัพท์ต่างๆเหล่านี้

Richard Dyer ได้เขียนถึงคำศัพท์คำว่า"ความบันเทิง"ได้อย่างแจ่มแจ้งที่สุด มีการวิเคราะห์ถึงประวัติศาสตร์ของมัน, พัฒนาการ, และความหมายต่างๆ (Dyer 1992). เขายังได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวป๊อปปูล่าร์ต่างๆด้วย ซึ่งมักจะไม่ได้รับการใส่ใจพิจารณาอยู่บ่อยๆ ในฐานะที่เป็นการหนีห่างจากความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ละครเพลงและละครน้ำเน่าทั้งหลาย (Dyer 1981)

เพื่ออธิบายข้อมูลสื่ออันหนึ่งในฐานะที่เป็น"การหนีห่างจากความเป็นจริง" คือการเสนอว่า การที่ผู้คนทั้งหลายดูมันก็เพราะกำลังหลีกเลี่ยงความเป็นจริง ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขาไม่ยอมเผชิญหน้ากับโลกที่เป็นอยู่ หากมีการเสนอว่า ข้อมูลหรือเนื้อหาดังกล่าวไม่เป็นจริง นั่นเท่ากับว่ามันได้ให้การสนับสนุนการหลีกเลี่ยงไม่รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาต่างๆของสังคม

ความบันเทิงในลักษณะที่เป็นการหนีห่างจากความเป็นจริง ถูกทำให้ขัดแย้งหรือตรงข้ามกับเรื่องราวความเป็นจริงอยู่บ่อยๆ ซึ่งเรื่องราวของความเป็นจริงนั้นมันได้ทำการสำรวจถึงความจริงที่เคร่งขรึมของชีวิต และด้วยเหตุนี้มันจึงถูกเชื่อว่ามีคุณค่าและคุ้มค่ามากกว่า. ในที่นี้เราไม่เห็นด้วยกับการสร้างคุณสมบัติเช่นนั้นขึ้นมา เกี่ยวกับการหนีห่างจากความเป็นจริงและความบันเทิงยอดนิยม

Dyer ได้เสนอว่า ผลผลิตต่างๆทางวัฒนธรรมจำนวนมาก มีแก่นแกนของยูโทเปียของพวกมันอยู่: พวกมันได้ชี้ไปยังความเป็นไปได้ต่างๆเกี่ยวกับโลกที่ดีกว่า (ดังเช่นที่ได้ถูกนำเสนอโดยการวิเคราะห์แบบมาร์กซิสท์เกี่ยวกับเนื้อหาสื่อต่างๆ) มันคือขนบประเพณีที่มีมายาวนานและเป็นที่น่านับถือเกี่ยวกับงานเขียนและวิสัยทัศน์แบบยูโทเปีย

วิสัยทัศน์แบบยูโทเปียเกี่ยวกับโลกที่สมบูรณ์แบบใบหนึ่ง สามารถที่จะให้แรงดลใจเราได้เกี่ยวกับความหวังและการมองโลกในแง่ดี และสามารถให้พิมพ์เขียวอันหนึ่งกับเราว่า เราปรารถนาที่จะอยู่อย่างไร. มันเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ดำเนินไปข้างหน้า มันเสนอความเป็นไปได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (ในทางที่ตรงข้ามกับเรื่องเล่าความเป็นจริงจำนวนมาก ซึ่งยืนยันว่า ชีวิตที่น่ากลัวนั้นเป็นอย่างไรมากกว่าที่จะจัดวางทางเลือกอันหนึ่งขึ้นมา). ทัศนะต่างๆเกี่ยวกับการหนีห่างจากความเป็นจริงเหล่านี้ เกี่ยวพันถึงการหนีห่างไปสู่บางสิ่ง และการหนีห่างไปจากบางสิ่ง

Dyer เสนอว่า ละครเพลงและละครน้ำเน่า สามารถนำเสนอคุณค่าต่างๆในเชิงอุดมคติ และหนทางที่เป็นอุดมคติของการเป็นอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามหรือขัดแย้งโดยตรงกับความเป็นจริงทั้งหลายในชีวิตประจำวัน. ละครเพลงต่างๆได้ให้คุณภาพในเชิงอุดมคติต่อไปนี้ ในฐานะที่เป็นการโต้ตอบกับโลกของพวกเขา, ซึ่งเป็นความตรงข้ามต่างๆในชีวิตประจำวัน:

        - ความอุดมสมบูรณ์                                        vs               ความขาดแคลน 
       - พลังงาน                                                       vs               ความเหนื่อยอ่อน และหมดเรี่ยวหมดแรง 
       - ชุมชน                                                           vs              ความโดดเดี่ยว และความแปลกแยก 
       - ความโปร่งใสในความสัมพันธ์ของมนุษย์         vs              ความคดเคี้ยวของมนุษย์ 
       - ความเข้มข้นของประสบการณ์                        vs              ความเป็นอยู่ที่ซึมเศร้า และความเบื่อหน่าย        

ในภาพยนตร์คลาสสิคต่างๆ อย่างเช่น Singing in the Rain และภาพยนตร์ละครเพลงสมัยใหม่อย่างเช่น O Brother Where Art Thou and Moulin Rouge, ภาพยนตร์เพลงเหล่านี้ได้นำเสนอปัจจัยหรือองค์ประกอบครบทั้ง 5 อย่างข้างต้น เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างโลกของอุดมคติที่เราหนีรอดไปสู่ และโลกของชีวิตประจำวัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเพลงที่เป็นไปโดยธรรมชาติและการเต้นรำ, ภาพยนตร์เพลงต่างๆได้ให้การแสดงออกที่เปิดเผยและเรียบง่ายเกี่ยวกับความรู้สึกที่เร่าร้อนและตื่นเต้น (บ่อยครั้งเป็นเรื่องความรัก, ความสนุกสนาน, และมิตรภาพ), และมันเป็นการไหลออกมาของพลังงานและความเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่ง

แม้แต่ในเรื่อง Dancer in the Dark ของ Lars Von Trier, ภาพยนตร์ที่สะท้อนเรื่องราวเศร้าๆ ความเปล่าเปลี่ยวเดียวดายเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้ไปกัดเซาะทำลายขนบธรรมเนียมต่างๆเกี่ยวกับภาพยนตร์เพลง เหล่านี้คือความขัดแย้งระหว่างความจริงทางสังคม กับ สิ่งที่เหนือธรรมชาติ, ความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นไปของดนตรีที่ค่อนข้างเด่นชัด

โดยแบบฉบับแล้ว ภาพยนตร์เพลงต่างๆได้แสดงให้เห็นว่า ผู้คนทั้งหลายได้มาพบปะกันในการมีส่วนร่วม, ในการห่วงใยรักใคร่กันของชุมชน, และมันมีการหล่อเลี้ยงทางกายภาพและอารมณ์ความรู้สึกมากมายสำหรับทุกๆคน (ในข้อเท็จจริง มันเป็นความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งเหล่านี้อยู่บ่อยๆ)

อันนี้เป็นความขัดแย้งหรือตรงข้ามกันกับความไร้ชีวิตชีวา งานประจำที่ต้องป่นโม่กันตลอดในชีวิตประจำวัน, ที่ๆผู้คนทั้งหลายต้องทำงานหนักเพื่อความเป็นอยู่ แต่มักไม่ค่อยพอเพียงเสมอๆ ทั้งในเชิงกายภาพและเชิงอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง; ที่ซึ่งความสัมพันธ์ต่างๆของผู้คน บ่อยครั้ง ไม่ชัดเจนและได้ถูกชักนำด้วยแรงกระตุ้นอันลี้ลับ; ที่ซึ่งผู้คนทั้งหลายต่างถูกทำให้ขึงเครียดบ่อยๆ, หรือเบื่อหน่าย; และที่ซึ่งผู้คนจำนวนมากอยู่กันอย่างโดดเดี่ยว และมีความเป็นอยู่ที่แปลกแยกห่างเหิน

เราตระหนักว่า เรากำลังระบายสีภาพที่ดูเคร่งขรึมหรือร้ายกาจภาพหนึ่งเกี่ยวกับความเป็นจริงในที่นี้ สิ่งหนึ่งที่ไม่ยุติธรรมนักกับชีวิตในโลกตะวันตก ที่ซึ่งในความเป็นจริงมีความมั่งคั่งทางด้านวัตถุมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับโลกของคนส่วนใหญ่ในประเทศโลกที่สาม

บ่อยทีเดียว ออสเตรเลียได้รับการเรียกขานว่า"ประเทศที่โชคดี"(lucky country) และคำขวัญหรือคติพจน์ของประเทศนี้คือ"ไม่ต้องกังวลใดๆ"(no worries), ซึ่งในหลายๆทางมันเป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยมสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ กระนั้นก็ตาม ทั้งๆที่มันดูเหมือนจะเป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่งร่ำรวยและดินแดนแห่งความสุข มันก็เป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่ถูกกลุ้มรุมโจมตีโดยความขึงเครียดและความบีบคั้นต่างๆ เช่น การต่อสู้กันทางชาติพันธุ์ภายใน, อัตราการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นในระดับสูง, และปัญหาอื่นๆ...

มายาคติเกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคมที่เที่ยงธรรมของออสเตรเลีย และความกลมกลืนเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาจมีการแตกกิ่งก้านสาขาออกไปในเชิงนิเสธ ยกตัวอย่างเช่น มันอาจทำให้เกิดความเป็นไปได้สำหรับนักการเมืองอย่าง Pauline Hanson ผู้นำของพรรคการเมือง One Nation Party ที่ชอบทะเลาะโต้เถียง เธอได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคมซึ่งพยายามที่จะช่วยเหลือสมาชิกหรือประชากรที่เสียเปรียบของสังคมทั้งภายในและภายนอกออสเตรเลีย เธอกล่าวว่า:

…ถ้าหากว่าทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกรับรู้ว่ามันดีและพิเศษในโลกใบหนึ่ง ที่ซึ่งทุกๆคนควรได้รับความเที่ยงธรรม, หากเป็นเช่นนั้นใครบางคนก็จะรู้สึกขุ่นเคืองไม่พอใจที่คนบางกลุ่มได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ…

ภาพลักษณ์"ประเทศที่โชคดี"ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นอมตะในการนำเสนอของสื่อต่างๆของออสเตรเลีย ซึ่งอาจกระตุ้นส่งเสริมให้ผู้คนบางคนที่จะซ่อนเร้นปัญหาต่างๆของพวกเขาเอาไว้ด้วย จนกระทั่งสายเกินแก้: ถ้าเผื่อว่าสาร(message)ดังกล่าวคือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างควรจะ OK, พวกเขาอาจรู้สึกละอายใจ ถ้าหากว่าพวกเขาไม่สามารถทำมันให้มันสำเร็จได้(make a go of it)

ทั้งหมดนี้ได้แสดงให้เห็นสิ่งที่ได้รับการเรียกขานว่า "ความบันเทิงที่หนีห่างจากความเป็นจริง"(escapist entertainment) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการเป็นอยู่ในชีวิตจริงของพวกเรา และสามารถให้บางสิ่งบางอย่างที่เป็นไปในเชิงบวก

แน่นอน มันก็มีด้านที่เป็นไปในเชิงลบด้วยเกี่ยวกับความบันเทิงอันนี้ อย่างเช่น เกมส์โชว์ต่างๆบางชนิด และการพนัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดังที่นำเสนอในการโฆษณาล็อตเตอรี่) ได้ทำให้เราเกิดอาการติดงอมแงมดุจมีมนต์วิเศษ อันนี้เนื่องมาจากปัญหาความขาดแคลนทั้งหลายของเรา และอาการติดงอมเหล่านี้ได้ไปให้การส่งเสริมค่านิยมการบริโภคในอย่างเดียวกัน ซึ่งวัฒนธรรมของพวกเราเป็นจำนวนมากได้รับการสร้างขึ้นมา

เป็นที่น่าสนใจ จากงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลล็อตเตอรี่ส่วนใหญ่ จริงๆแล้ว จบลงด้วยการสูญเสียมิตรสหาย และทะเลาะเบาะแว้งกับครอบครัวของพวกเขา, จบลงด้วยความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าก่อนเพียงเล็กน้อย. สิ่งเหล่านี้มันปฏิบัติการคล้ายคลึงกับสนามกีฬารูปวงกลมต่างๆ(circuses)ที่จัดหามาโดยจักรพรรด์ของโรมันทั้งหลาย ในฐานะที่เป็นเครื่องเล่นที่จะทำให้ผู้คนมีความสุขและทำให้เขวไปจากปัญหาทางการเมืองและสังคม

ด้วยเหตุดังนั้น เราจึงต้องการที่จะตั้งคำถามรูปแบบต่างๆของความบันเทิงเหล่านี้ แต่ความบันเทิงนั้น เป็นสิ่งที่ธรรมดาไม่ซับซ้อนและง่ายต่อการดู และเนื่องจากเหตุนี้มันจึงถูกเข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้คนจำนวนมาก ซึ่งสำหรับเหตุผลข้างต้นดังกล่าว ไม่ควรที่จะได้รับการใส่ร้ายป้ายสีทั้งหมด เราต้องการที่จะสำรวจตัวอย่างแต่ละอย่างเพื่อดูว่า อะไรที่ถูกนำเสนอ ในการกระทำเช่นนั้น เราจะต้องค้นหาปัจจัยสำคัญที่มีคุณค่าบ่อยๆ ดังที่ Dyer ได้หยิบยกขึ้นมา

ทัศนะต่างๆเกี่ยวกับยูโทเปียที่จัดหามาให้พวกเราโดยสื่อต่างๆนั้น มันได้นำเสนอความพึงพอใจให้กับเราและเป็นแหล่งต้นตอต่างๆของความปรารถนาและแรงบันดาลใจ ด้านที่ไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญนักของอันนี้คือ การนำเสนอของสื่อเกี่ยวกับด้านที่เลวร้ายต่างๆอันเนื่องมาจากการถูกแย่งชิงและการกดขี่ หรือทัศนะที่เป็นไปในเชิงลบแบบสุดโหดเกี่ยวกับโลก, เรื่องเล่าทั้งหลายเกี่ยวกับความล้มเหลวของสังคม, ความเสื่อมทราม, และการทำลายล้างขนาดใหญ่ (ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner, The Matrix และ Delicatessen เป็นต้น)

เนื้อหาข้อมูลที่เป็นไปในเชิงเลวร้ายเหล่านี้ ยังสัมพันธ์กับโลกปัจจุบันของเราด้วย พวกมันนำเสนอคำเตือนต่างๆแก่เราเกี่ยวกับสิ่งซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับเราได้

Roland Barthes
นักวิจารณ์ Roland Barthes ได้เพิ่มเติมอีกมิติหนึ่งเข้ามาในการคิดถึงผู้ชมและการขานรับหรือตอบโต้ของพวกเราต่อเรื่องที่แต่งขึ้น เมื่อเขาได้สนทนาถึงเรื่องความพึงพอใจเกี่ยวกับการอ่านเรื่องราวที่แต่งขึ้นมาต่างๆ. เขาได้ใช้คำในภาษาฝรั่งเศสว่า Jouissance (bliss - ความสุขที่สมบูรณ์ หรือความพึงพอใจระดับจิตวิญญาน) และจำแนกความต่างๆของคำนี้จากคำว่า Plaisir (pleasure - ความพึงพอใจ)

Jouissance เป็นคำที่ยุ่งยากที่จะแปลคำหนึ่ง แต่เขากำลังมุ่งหมายที่จะถ่ายทอดความแตกต่างระหว่างความพึงพอใจ ซึ่งเป็นความสนุกสนานเพลิดเพลินตรงไปตรงมาของเรื่องที่แต่งขึ้น อันที่จริงแล้ว ไม่มีผลกระทบในด้านลึกกับเราเท่าไดนัก, ส่วน Jouissance เป็นความพึงพอใจอีกชนิดหนึ่งที่มากระทบเราซึ่งได้สร้างการโต้ตอบหรือขานรับในระดับสูงสุด. เหล่านี้คือชนิดต่างๆของเรื่องที่แต่งขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตเราอย่างมีศักยภาพ มันทำให้เรามองโลกในหนทางใหม่และแตกต่าง

เพื่อทำให้ชัดเจนต่อเรื่องนี้ พยายามทำรายชื่ออันหนึ่งขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องที่แต่งขึ้นต่างๆ ที่คุณรู้สึกเพลิดเพลินกับมันธรรมดา และเรื่องที่แต่งขึ้นทั้งหลายที่มันพัดพาคุณไปสู่ความพึงพอใจในระดับจิตวิญญาน(jouissance) ลองเปรียบเทียบรายชื่อเหล่านี้กับเพื่อนของคุณ และพยายามอธิบายให้กันและกันฟังว่า ธรรมชาติอะไรของความพึงพอใจในระดับจิตวิญญานที่มีผลกระทบต่อคุณ

สัจนิยมต่างๆ (Realisms)
ขนบธรรมเนียมทางสุนทรียภาพซึ่งใกล้ชิดที่สุดกับชีวิตจริงคือ ขนบธรรมเนียมแบบเหมือนจริง(realist)หรือการเลียนแบบ(mimetic tradition).

ในทางที่ตรงข้ามกับความบันเทิงที่หนีห่างจากความเป็นจริง, ผลิตผลต่างๆทางวัฒนธรรมการเลียนแบบมีเป้าประสงค์ที่จะลอกเลียนความจริง, เพื่อสร้างการเล่าเรื่องและเรื่องเล่าต่างๆที่ได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นสัจจะ ขนบประเพณีการเลียนแบบนี้เริ่มต้นขึ้นโดยวัฒนธรรมกรีก และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศิลปะการเลียนแบบ คือประวัติศาสตร์อันหนึ่งของสไตล์และวิธีการที่ค่อยๆวิวัฒน์ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และใช้การผลิตซ้ำความจริง. สไตล์ต่างๆดังกล่าวที่พัฒนาขึ้นมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความจริงเป็นสิ่งซึ่ง เมื่อวิเคราะห์จนถึงที่สุดแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะจับคว้าเอามาได้

"สัจนิยมหรือลัทธิความจริง"(realism) เป็นศัพท์ที่สำคัญมากคำหนึ่งในความสัมพันธ์กับจิตรกรรมและวรรณกรรมในคริสตศตวรรษที่ 19, และภาพยนตร์และโทรทัศน์ในคริสตศตวรรษที่ 20

Raymond Williams ได้อธิบายถึงแก่นแท้ที่แตกต่าง ซึ่งทำให้เกิดข้อมูลทั้งหลายเกี่ยวกับความจริง: นั่นคือ เรื่องของผู้คนธรรมดา, โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นคนงาน ในฐานะที่เป็นเนื้อหาเรื่องราว; ปฏิบัติการที่จริงจังเกี่ยวกับความเป็นอยู่ต่างๆของพวกเขา; และการดำเนินชีวิตที่วางอยู่ในบริบทต่างๆของสังคมร่วมสมัย (Williams 1977a, pp. 61-74)

Roy Armes ได้ทำให้เห็นข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่าง ลัทธิสัจนิยมในฐานะที่เป็น จุดมุ่งหมาย / ท่าทีอันหนึ่ง (aim / attitude) (มุ่งที่จะพูดความจริง, เพื่อแสดงให้เห็นสิ่งต่างๆในลักษณะที่เหมือนจริง เพื่อว่าพวกมันจะได้ดูแล้วคล้ายคลึงกันมากกับสิ่งที่เราเห็น) กับ ลัทธิสัจนิยมในฐานะที่เป็น วิธีการ / สไตล์ (method / style) (ชุดหนึ่งของขนบธรรมเนียมในทางศิลปะ / แบบฉบับ[artistic / stylistic conventions] ที่พยายามจะบรรลุถึงเป้าหมายอันนี้)(Armes 1971). ภาพยนตร์ต่างๆซึ่งมุ่งนำเสนอความเป็นจริงในระดับสูง ได้ถูกรับรู้ว่าเป็นตัวแทนที่ถูกต้องมากกว่าเกี่ยวกับสังคม และด้วยเหตุนี้ พวกมันจึงถูกตีความบ่อยๆในฐานะที่เป็นการเสนอข้อคิดเห็น คำวิจารณ์ การให้ข้อมูล และการทำให้เกิดผลทางสังคม

ภาพยนตร์ต่างๆของ Mike Leigh ถือเป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับข้อมูลสื่อ ซึ่งใช้วิธีการแบบสัจนิยมในการนำเสนอ. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับคนหนึ่ง เขากระตุ้นและให้การสนับสนุนการแสดงในลักษณะที่ไม่มีการตระเตรียมมาก่อน(improvisation) และการเป็นไปเองโดยธรรมชาติ(spontaneity)ในหมู่นักแสดงทั้งหลาย และมีแนวโน้มที่จะถ่ายทำการแสดงโดยการยิงภาพยาว(long take)ไปตลอด เพื่อที่จะประคองและรักษาความเข้มข้นและพลังของการแสดงต่างๆนั้นเอาไว้

ทั้งนี้เพราะมันมีหนทางที่เปลี่ยนแปลงไปจำนวนมากเกี่ยวกับการมองโลก และมันยังมีผลงานในสไตล์เหมือนจริงหรือชุดต่างๆของขนบจารีตลัทธิเหมือนจริงต่างๆ(realisms - สัจนิยม)อีกมากมายด้วย ยกตัวอย่างเช่น

- สัจนิยมใหม่(Neo-realism)
- สัจนิยมโซเวียต(Soviet realism)
- ธรรมชาตินิยม(naturalism)
- สัจนิยมสังคม(social realism)
- สัจนิยมสกปรก(dirty realism)
- สัจนิยมแบบอ่างล้างจาน(kitchen-sink realism - หมายถึงผลงานจิตรกรรมเหมือนจริงที่ชอบเขียนภาพที่ดูโกโรโกโส สกปรก และออกโทนสีน้ำตาล - realistic in the depiction of drab or sordid subjects)
-
สัจนิยมแบบฟุ้งฝัน(magic realism - แนวทางผลงานศิลปะ ซึ่งพรรณาถึงความจริงและเทคนิคที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งถูกนำมารวมกับองค์ประกอบที่เหนือจริงของความฝันและจินตนาการที่เฟื่องฝัน - artistic genre in which realistic narrative and naturalistic technique are combined with surreal elements of dream or fantasy)

คำศัพท์ต่างๆเหล่านี้ทั้งหมดใช้เพื่ออธิบายสไตล์ผลงานศิลปะต่างๆหรือแนวโน้มในงานวรรณกรรม, และผลผลิตทางด้านภาพยนตร์ และโทรทัศน์

ความเชื่อมโยงเกี่ยวกับสไตล์เหล่านี้ได้หลอมรวมกับประเด็นปัญหาต่างๆของชีวิตจริง และความเอาจริงเอาจังข้างต้นได้ส่งผลไปสู่ผลผลิตสื่อโดยเฉพาะ หมายความว่า ผลผลิตสื่อต่างๆได้ใช้สไตล์เหล่านี้โดยมีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักเรื่องวัฒนธรรม เหนือกว่าความบันเทิงแบบหนีห่างจากความเป็นจริง(escapist entertainment)

เพราะพวกมันปรากฏออกมาแบบเหมือนจริง บางครั้งมันจึงง่ายต่อการหลงลืมการสร้างที่เกี่ยวพันในการเป็นตัวแทนแสดงออกของสิ่งเหล่านี้. ความพึงพอใจที่เราได้รับจากพวกมันได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับ วิธีที่เราจดจำสำนึกถึงความเป็นอยู่และสังคมที่ถูกนำเสนอของเราเองได้

ความเพ้อฝันและจิตวิเคราะห์ (Fantasy and Psychoanalysis)
ความเพ้อฝัน (Fantasy)
ในความตรงข้ามกับความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่แต่งขึ้นซึ่งมองดูพวกมันในฐานะที่เป็นการเลียนแบบเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตจริงต่างๆ การใช้ศัพท์คำว่า "ความเพ้อฝัน"(fantasy) เพื่ออธิบายและวิเคราะห์เรื่องที่แต่งขึ้นมาทั้งหลาย ได้ดึงความสนใจของเราไปสู่ความฝัน, จินตนาการ, จิตใต้สำนึก และโลกของเรื่องเล่าที่ต่างไปจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันอย่างมีนัยสำคัญ

โดยจารีตแล้ว ความเชื่อมโยงต่างๆได้ถูกทำขึ้นมาระหว่างภาพยนตร์และความฝัน การอธิบายฮอล์ลีวูดว่าเป็น"โรงงานผลิตความฝัน"(dream factory) ได้ชี้ถึงแง่มุมอันน่าปรารถนาต่างๆของภาพยนตร์ฮอล์ลีวูด (พวกมันจัดหาความสมปรารถนามาให้ ในฐานะที่เป็นการสร้างฝัน) และธรรมชาติที่ไม่เป็นจริงของพวกมัน (การไม่อาจที่จะบรรลุได้ของความฝันเหล่านี้)

scopophilia
วิธีการทางด้านจิตวิเคราะห์ซึ่งนำไปใช้กับภาพยนตร์และโทรทัศน์ ได้สำรวจถึงสิ่งซึ่งถูกนำไปเกี่ยวข้องการดูภาพเคลื่อนไหวต่างๆบนจอ ฟรอยด์ให้เหตุผลว่า หนึ่งในกุญแจสำคัญเกี่ยวกับแรงขับของมนุษย์หรือความปรารถนาต่างๆของมนุษย์ คือความปรารถนาที่จะมอง(Mulvey 1989)

ความปรารถนาอันนี้ถูกเรียกว่า scopophilia (เป็นคำศัพท์ที่สืบทอดมาจากภาษากรีก หมายถึง การแสดงออกสำหรับความรักเกี่ยวกับการมอง - expression of looking) มันคือแหล่งต้นตออันหนึ่งของความพึงพอใจที่ยิ่งใหญ่และความอิ่มเอม

แง่มุมอันหนึ่งของ scopopphilia ก็คือ voyeurism, นั่นคือ ความปรารถนาที่จะเฝ้าดูเหตุการณ์ต่างๆอย่างลับๆ(the desire to look secretly at events) การสืบสอดเรื่องราวของผู้คนต่างๆ อันนี้สามารถได้รับการมองว่าเป็นความพึงพอใจชนิดหนึ่งที่ถูกให้โดยเนื้อหาข้อมูลทางภาพยนตร์และโทรทัศน์ต่างๆ

ผู้ชมทั้งหลายหมกมุ่นกับความเพ้อฝัน ซึ่งบรรดานักแสดงบนจอต่างเป็นผู้คนจริงๆ ซึ่งได้แสดงออกถึงความเป็นอยู่ของพวกเขาต่อหน้ากล้องบันทึกภาพ ดูเหมือนว่าจะไม่ตระหนักว่ามีกล้งบันทึกภาพต่างๆอยู่ที่นั่น บรรดาผู้ชมทั้งหลายจ้องมองเหตุการณ์เหล่านี้ที่คลี่คลายออกมา บ่อยครั้งจากห้องที่มืดสนิท เราเลือกที่จะเชื่อว่าเรากำลังได้รับอนุญาตให้มองดูแง่มุมของความเป็นอยู่ต่างๆเหล่านี้อย่างใกล้ชิดที่สุด เหนือไปจากสิ่งที่เราประสบในความสัมพันธ์กับผู้คนส่วนใหญ่ซึ่งเรารู้จักจริงๆ

ภาพยนตร์อย่างเช่น Blue Velvet ได้สำรวจถึงความพึงพอใจเหล่านี้อย่างจริงจัง การมองแบบ voyeuristic ได้ถูกอธิบายถึงคุณลักษณะของมันว่า เป็นการมองมาจากระยะไกล (ผู้สังเกตการณ์ได้ถูกแยกห่าง หรือถูกปิดบังจากผู้ถูกสังเกตในบางระดับ) และเป็นไปอย่างลับๆ (ผู้ถูกสังเกตไม่รู้ตัวว่าพวกเขากำลังถูกจ้องมองอยู่ และไม่ได้ยินยอมให้กับการกระทำเช่นนี้) การรวมตัวกันของระยะห่างและการซ่อนเร้น ได้น้อมนำไปสู่ความรู้สึกหนึ่งเกี่ยวกับการควบคุมและการทำให้เป็นวัตถุ(objectification)

Fetishistic scopohilia และ scopophilia pleasure
ความพึงพอใจเกี่ยวกับการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับตัวละครเอก และการทำให้ตัวละครเป็นวัตถุของการมอง สามารถกล่าวได้ว่าถูกสร้างขึ้นมาใน scopophilia ด้วย

- Fetishistic scopohilia เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกดูดซับเข้าไปในความพอใจเกี่ยวกับการมอง(absorbed in the pleasures of looking), มากกว่าการควบคุมการมอง หรือการทำให้เป็นวัตถุในสิ่งที่ผูดูกำลังจับจ้องอยู่. บ่อยครั้งวัตถุนั้นกำลังถูกทำให้ชวนหลงใหลทางเพศ (อันนี้มักจะเป็นส่วนหนึ่งของเรือนร่างหรือเสื้อผ้าบ่อยๆ) ซึ่งจะมีการถ่ายทำให้ได้ภาพซึ่งมีสัดส่วนขนาดใหญ่ และถ่ายเฉพาะเพียงบางส่วน ดังนั้นมันจึงปรากฏออกมาบนจอในลักษณะภาพใกล้(close-up) และครอบงำผู้ชมด้วยความงามของมัน

- อันนี้เป็นประสบการณ์ที่แตกต่างอันหนึ่งจาก scopophilia pleasure (ความพึงพอใจเกี่ยวกับการมอง)ซึ่งได้รับมาจาก voyeurism (ความปรารถนาที่จะเฝ้าดูเหตุการณ์ต่างๆอย่างลับๆ)

ฟรอยด์ได้เตือนเราว่านั่นเป็น วัตถุที่ชวนหลงใหลทางเพศ(fetish object) ซึ่งเป็นตัวแทนอันหนึ่ง มันเติมบางสิ่งลงในช่องว่างในหนทางที่รู้สึกมั่นใจหรืออุ่นใจ และมีการถ่ายทำให้เห็นความสำคัญบางอย่างที่ไม่สมสัดส่วน เพราะมันกำลังถ่ายให้เห็นบางสิ่งซึ่งเป็นที่ปรารถนาอย่างลึกซึ้ง ยกตัวอย่างเช่น ความหลงใหลในผ้าไหม หรือขนสัตว์ อาจเป็นตัวแทนความอุ่นใจต่อความรู้สึกเกี่ยวกับผิวหนังหรือเส้นผม

ภาพยนตร์เรื่อง There's something about Mary ได้วาดภาพวายร้ายคนหนึ่ง ซึ่งมีรองเท้าคู่หนึ่งที่ชวนหลงใหล ซึ่งตัวละคร Cameron Diaz ได้สอดเท้าของเธอลงไปในมัน. รองเท้าที่ชวนหลงใหล บ่อยครั้งได้รับการอธิบายในฐานะที่เป็นการอุปมาอุปมัยอันหนึ่ง ระหว่างท่าทีของเท้าที่สอดลงไปในรองเท้า กับ การมีเพศสัมพันธ์(sexual intercourse)

การใช้ศัพท์คำว่า"ความเพ้อฝัน"(fantasy)เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลหรือเนื้อหาของสื่อ มีอีกมิติหนึ่งที่เกี่ยวกับมัน นั่นคือ ความเพ้อฝันต่างๆ โดยสาระแล้วเป็นสิ่งที่ไม่จริง มันคือผลผลิตของความฝันและจินตนาการของเรา หนึ่งในความน่าตื่นเต้นมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องเล่าในภาพยนตร์และโทรทัศน์ก็คือ พวกมันทำให้ผู้สร้างและผู้ชมทั้งหลายมีโอกาสที่จะไปอยู่ ณ ที่อื่นซึ่งป่าเถื่อนสุดๆ ไร้การควบคุม และเพ้อฝันอย่างสุดขีด

อันนี้คือแหล่งต้นตอของการถกเถียงกันบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัมพันธ์กับการนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์และความรุนแรง บางคนได้ให้เหตุผลว่า การนำเสนอต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องที่อันตราย และมีศักยภาพที่จะชักนำเราไปในทางที่ผิด หรือน้อมนำเราให้กระทำการอันรุนแรงต่างๆ ส่วนบางคนกลับปฏิเสธความเชื่อนี้ โดยกล่าวว่า:

1. นั่นเราสามารถตระหนักรู้ว่า เราไม่ได้กำลังดูเหตุการณ์จริงๆอยู่
2. เรื่องเล่าต่างๆเหล่านั้น ยอมให้เราคิดหรือประยุกต์ใช้กับแง่มุมที่ยุ่งยากต่างๆเกี่ยวกับตัวของเราเอง และสังคมของเราได้อย่างปลอดภัย

ประเด็นที่สองเป็นข้อถกเถียงอันหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ยินยอมให้มีการแสดงออกเกี่ยวกับความรุนแรง เพราะว่าพวกมันได้ให้โอกาสกับผู้คนทั้งหลายที่จะสำรวจและทำความเข้าใจแนวโน้มต่างๆเกี่ยวกับความรุนแรงของพวกเขา

มีคนจำนวนน้อยมากที่เป็นฆาตกร แต่ในท่ามกลางหมู่พวกเราจำนวนมาก ณ บางจุดในความเป็นอยู่ เราฝันเกี่ยวกับการฆ่าหรือการทำร้ายใครบางคน. การมองดูและทำความเข้าใจด้านมืดและด้านที่ถูกสะกดข่มเหล่านี้ของพวกเรา มันยินยอมให้เราจัดการกับสิ่งเหล่านั้นได้

การปฏิเสธของเราเกี่ยวกับโอกาสที่จะสำรวจตรวจตราพวกมัน จะเป็นการกดข่มพวกมันมากยิ่งขึ้น และนั่นอาจจะเป็นเรื่องราวต่างๆที่เป็นอันตราย และยินยอมให้เราแสดงออกมาในจินตนาการต่างๆ ซึ่งอันนี้มันคือชุดหนึ่งของการกระทำที่เป็นไปได้ เพื่อทดสอบพวกมัน เพื่อดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้า…

Rosemary Jackson ได้อธิบายเรื่องความเพ้อฝัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมเกี่ยวกับการบ่อนทำลาย. ตามความคิดของ Jackson วรรณกรรมเกี่ยวกับการบ่อนทำลายนี้พยายามที่จะชดเชยความขาดแคลนอันหนึ่ง ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากการบีบคั้นทางวัฒนธรรม; มันเป็นวรรณกรรมของความปรารถนา ซึ่งแสวงหาสิ่งที่เป็นประสบการณ์ที่ขาดหายไปหรือไม่มีอยู่ (Jackson 1981, p.3)

อันนี้ในทำนองเดียวกัน บางหนทางนั้น ต่อทัศนะของ Dyer เกี่ยวกับภาพยนตร์แนวดนตรีในลักษณะยูโทเปีย, Jackson มองเนื้อหาต่างๆของสื่อ ซึ่งได้พรรณาถึงพฤติกรรมอันสุดขั้วของมนุษย์ในฐานะที่เป็นการสำรวจเกี่ยวกับพื้นที่ต่างๆและความปรารถนา ซึ่งสังคมปกติแล้วได้กดทับมันไว้

การให้ความกระจ่างๆเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อความคิดเพ้อฝันต่างๆของเราได้รับการแสดงออกมาบนจอภาพยนตร์, Victor Perkins ได้อธิบายถึงผู้ชมทั้งหลายในฐานะที่เป็นผู้สังเกตการณ์ที่มีส่วนร่วม (Perkins 1990, ch.7) เขาบันทึกว่า

ภาษาของภาพยนตร์ วิธีการที่เรื่องราวต่างๆได้ถูกเล่า มันยินยอมให้ผู้ชมทั้งหลายรู้สึกราวกับว่า พวกเขากำลังมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆบนจอภาพยนตร์นั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าไปพัวพันกับการกระทำอันรุนแรงต่างๆ และเกี่ยวพันกับอารมณ์ความรู้สึกที่เข้มข้นอันนั้น - เช่นการฆ่า, การถูกฆ่า, การร่วมรัก, การแข่งขันของรถม้าศึก, และอื่นๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกัน เรายังคงรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาในการชมภาพยนตร์; ส่วนหนึ่งของเรายังคงถอนตัวออกมาจากมัน และเราสามารถสังเกตถึงสิ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้น ทั้งบนจอภาพยนตร์และในตัวของเราเองได้ ในฐานะที่เรากำลังประสบกับสถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ อันนี้เรากลายเป็นผู้มีส่วนร่วมและผู้สังเกตุการณ์ในเวลาเดียวกัน

ภาพยนตร์กลายเป็นสนามประลองที่ซึ่งเราได้ประสบกับอารมณ์ความรู้สึกและการกระทำทุกๆชนิด และในขณะเดียวกันก็สะท้อนถ่ายในเชิงวิพากษ์และอย่างมีเหตุผลเกี่ยวกับความรู้สึกต่างๆ และสิ่งซึ่งเป็นผลลัพธ์ตามมาสำหรับพวกเราและคนอื่นๆ สนามทดสอบอันนี้ได้จัดหาพื้นที่ซึ่งมีนัยสำคัญอันหนึ่งเกี่ยวกับความพึงพอใจและการเรียนรู้ให้กับเรา

เราได้อ้างถึง Buno Bettelheim ไปแล้วถึงข้ออ้างที่ว่า เทพนิยายต่างๆซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของความรุนแรง อันที่จริง เป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเด็กๆ ในฐานะที่พวกมันเป็นช่องทางอันหนึ่งของการยอมให้พวกเขาได้เผชิญหน้า และสำรวจตรวจตราความสมรรถภาพเกี่ยวกับความรุนแรงต่างๆของตัวพวกเขาเอง

ในรายการ Media Report ของสถานีวิทยุแห่งชาติ ABC Radio National, Robert Kee นักเขียนบทภาพยนตร์ฮอล์ลีวูดที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ได้สนทนาถึงบทบาททางสังคมของสื่อต่างๆซึ่งนำเสนอเรื่องราวเพ้อฝันที่เป็นไปในด้านมืด ด้วยการให้สัมภาษณ์กับ Donna McLachlan ดังนี้:

McLachlan: อะไรคือความรู้สึกของคุณ เกี่ยวกับความลึกและความแกร่งของสัตว์ประหลาดหรืออสุรกายเหล่านี้ที่กำลังปรากฏอยู่บนจอภาพยนตร์ อย่างเช่น American Psycho, และ Hannibal Lecter และอื่นๆ? มันเป็นการรบกวนคุณบ้างไหม นั่นคือเวลาคิดว่าจะพรรณาหรือวาดภาพเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดหรืออสุรกายพวกนี้ มันสมบูรณ์ไหม?

Kee: โอ้, มันสมบูรณ์มาก มนุษย์เป็นทั้งเทพแห่งสรวงสวรรค์และซาตาน และเป็นดุลยภาพที่สมบูรณ์แบบของสองสิ่งนี้ และสิ่งซึ่งมีเสน่ห์ชวนหลงใหลเกี่ยวกับมนุษย์ก็คือ คุณไม่เคยรู้เลยว่าจากวันนี้ถึงวันพรุ่งนี้ คุณจะได้รับหรือสัมผัสกับสิ่งไหนบ้าง

ผมหมายความว่า วันจันทร์พวกเขาสร้างโบส์ถ Notre Dame Cathedral และวันอังคารต่อมา พวกเขากลับสร้าง Auschwitz และวันต่อไปพวกเขาจะสร้างอะไรขึ้นมาอีก? และคุณเพียงต้องการที่จะหยิบหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งขึ้นมา จากวันนี้ถึงวันต่อไป และคุณได้เห็นการแสดงออกที่มั่นคงสม่ำเสมอเกี่ยวกับความชั่วอันลึกล้ำในชีวิตมนุษย์

และสิ่งทั้งหมดเกี่ยวกับเราที่พยายามจะทำ แน่นอน คือการปฏิเสธมันว่ามีอยู่ในตัวเรา มันคือฆาตกรต่อเนื่องที่มีเป้สะพายหลัง ซึ่งอยู่ที่นั่นไง แต่มันไม่ใช่ฉัน

ลองสังเกตดูว่า ทุกๆครั้งคุณได้ขับรถตัดหน้าใครบางคน, ทุกๆครั้งที่คุณปิดประตูดังปังใส่หน้าใครคนหนึ่ง, และทุกครั้งที่คุณหยาบคายและไม่สุภาพกับพนักงานในร้านขายของ, ทุกๆครั้งที่คุณเอาเปรียบคนอื่นๆ นั่นเป็นการไหลซึมเกี่ยวกับความชั่วร้ายของคุณออกมาเพียงเล็กๆน้อยๆเท่านั้น และคุณรู้สึกสนุกที่ได้ขับรถตัดหน้าไอ้หมอนั่นเมื่อคุณอยู่บนท้องถนน และก็มิได้ปฏิเสธมัน

และต่อมาถ้าหากว่าเราหันหลังกลับไปยังด้านมืดที่เป็นธรรมชาติของเรา ถ้าเผื่อเราพยายามหลีกเลี่ยงมันและยืนยันว่ามันไม่ได้มีอยู่ มันก็จะหลบๆซ่อนๆอยู่ข้างหลังเรา และกลืนกินเราไปทั้งหมด

ศิลปะ มันมีพลังอำนาจที่จะฉายฉานมุมมืดต่างๆเหล่านี้ออกมาซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ศิลปะสามารถทำให้เราเข้าใจว่านั่นมันคือเรา และนั่นมันอยู่ในธรรมชาติของเรา อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเรามีความชั่วร้ายของตัวเราเอง, เรากำลังถูกเอาชนะหรือถูกพิชิตโดยธรรมชาติที่ชั่วร้ายของเราเอง และมันอยู่ที่นั่นเสมอๆ พลังอำนาจดังกล่าวอยู่ที่นั่น และตราบเท่าที่เราเข้าใจสิ่งนั้นและตระหนักเกี่ยวกับมัน ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็จะสามารถปกปักรักษาตัวของเราเองเอาไว้ได้ในความสมดุล และเที่ยวไปในทุกหัวระแหงในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สมบูรณ์เพียงพอ
(ABC Radio National, The Media Report, 28 June 2001)

เรื่องราวต่างๆที่ไปพ้นจากความจริงในชีวิตประจำวัน - เช่น ภาพยนตร์สยองขวัญ, การสำรวจตรวจค้นต่างๆในลักษณะเหนือจริงของผู้กำกับภาพยนตร์ อย่างเช่น David Lynch และ David Cronenberg และคนอื่นๆ - ยินยอมให้เราได้มีการทดสอบอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความรู้สึกและประสบการณ์ต่างๆของมนุษย์

สำหรับพวกเราแล้ว แง่มุมเกี่ยวกับการบอกเล่าเรื่องราวลักษณะนี้ เป็นส่วนหนึ่งของศักยภาพอันน่าตื่นเต้นของการเล่าเรื่องที่ได้รับการแต่งขึ้นมา(fictional narrative)ในภาพยนตร์และโทรทัศน์ ท้ายที่สุด เราอาจบันทึกถึงบทบาทของภาพยนตร์ต่างๆซึ่งแสดงให้เห็นประหนึ่งว่ามีความเป็นไปได้ของความไม่จริงต่างๆ

ภาพยนตร์อย่างเช่น Fight Club, The Matrix, Crouching Tiger Hidden Dragon, และ Groundhog Day สามารถถูกเข้าใจ(คล้ายดังปกรณัมที่เคยกล่าวถึงมาแล้ว) ที่ยินยอมให้บรรดาผู้ชมทั้งหลายได้สำรวจถึงโลกภายในของพวกเขา กระบวนการทางจิตใจของคนดู หรือเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆทางสังคมของโลกภายนอก

จินตนาการเพ้อฝันต่างๆที่พวกมันพรรณาถึง - ยกตัวอย่างเช่น การดำรงอยู่ในความจริงที่ก่อกำเนิดขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ (The Matrix), การมีชีวิตจริงที่มีลักษณะสองชั้น (Fight Club), ความสามารถที่จะเหินตัวได้ (Crouching tiger), การมีชีวิตอยู่วันแล้ววันเล่าที่เหมือนๆกัน (groundhog Day) - ยินยอมให้ตัวละครหลักต่างๆสำรวจถึงภาวะทางจิตวิทยาภายใน และอนุญาตให้ผู้ชมทั้งหลายมีพื้นที่ว่างอันหนึ่งที่จะพิจารณาถึงสิ่งที่มันมีความเป็นมนุษย์

จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)
การพูดถึงเกี่ยวกับฟรอยด์ และ scopophilia (ความรักในการมอง) น้อมนำเราไปสู่เรื่องราวของจิตวิเคราะห์ในฐานะที่เป็นวิธีการศึกษาทั่วไปอันหนึ่ง สำหรับทำความเข้าใจในเรื่องศิลปะ, วรรณกรรม, ภาพยนตร์, และโทรทัศน์

ทฤษฎีต่างๆทางด้านจิตวิเคราะห์เสนอว่า มันมีแรงขับภายในบางอย่างในตัวมนุษย์ แรงขับสองประการซึ่งได้รับการวางหลักการโดยฟรอยด์ก็คือ "หลักของความพึงพอใจ"(pleasure principle) และ"หลักของความเป็นจริง"(reality principle) ซึ่งน้อมนำเราให้แสวงหาความอิ่มเอิบที่น่าพึงพอใจ หรือความปลอดภัยที่ได้รับการปกป้องตามลำดับ

สิ่งเหล่านี้บางครั้งอยู่ในภาวะของความขัดแย้ง เมื่อการไล่ตามความพึงพอใจอาจเป็นเรื่องที่นำมาซึ่งอันตราย เราต้องตัดสินใจว่า หลักการไหนเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าที่จะติดตาม และเราจะต้องเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน กับการที่เราควรจะไล่ตามความปรารถนาพวกนั้นของเรา

วิธีการจิตวิเคราะห์ยังเสนอว่า มนุษย์ทั้งหลายจะต้องดำเนินชีวิตโดยผ่านแบบแผนและขั้นตอนต่างๆเกี่ยวกับพัฒนาการในขณะที่พวกเขาเติบโต, พัฒนาขึ้น, และเจริญเติบโตเต็มที่. การต่อรองประนีประนอมกับขั้นตอนต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อสุขภาพและความงอกงามของตัวเรา

ขั้นตอนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือเรื่องของ"ปมออดิปุส"(Oedipus complex) มันถูกถือว่า ณ ขั้นตอนนี้ เด็กผู้ชายจะต่อรองกับปรปักษ์ของพวกเขา เกี่ยวกับพ่อของพวกเขา และความปรารถนาของพวกเขาในผู้เป็นแม่. เรื่องเล่าต่างๆได้รับการมองในฐานะที่เป็นสถานที่ที่แรงขับต่างๆเหล่านี้และขั้นตอนทั้งหลายเกี่ยวกับพัฒนาการ ได้ถูกแสดงออกมาในหลายๆช่องทาง บางครั้งก็ประสบความสำเร็จ, และบางครั้งต้องประสบกับผลลัพธ์ที่น่าเศร้า

Oedipus และ Hamlet คือสองตัวอย่างในทางวรรณกรรมซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุด และการเล่าเรื่องของสื่อต่างๆร่วมสมัยจำนวนมาก อย่างเช่น Blue Velvet สามารถได้รับการมองในหนทางนี้ได้ด้วยเช่นกัน

การใช้ประโยชน์เกี่ยวกับทฤษฎีทางด้านจิตวิเคราะห์ โดยหลักการแล้วสืบทอดมาจากฟรอยด์ และผลงานที่ตามมาภายหลังของ Jacques Lacan, เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องสื่อ(media studies)นั้นค่อนข้างสลับซับซ้อนมากเกินไปที่จะนำมาเสนอในที่นี้ แต่มันคือเนื้อแท้หรือข้อสรุปหนึ่งของการอ่านและการวิจัยที่คุณสามารถจะติดตามได้(Kaplan 1990; Lapsley และ Westlake 1989, ch.3; Leader และ Groves 1995)

เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อความ กรุณาอ่านต่อบทความลำดับที่ 388 คลิกไปอ่านได้จากที่นี่

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

Richard Dyer ได้เขียนถึงคำศัพท์คำว่า"ความบันเทิง"ได้อย่างแจ่มแจ้งที่สุด มีการวิเคราะห์ถึงประวัติศาสตร์ของมัน, พัฒนาการ, และความหมายต่างๆ (Dyer 1992). เขายังได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวป๊อปปูล่าร์ต่างๆด้วย ซึ่งมักจะไม่ได้รับการใส่ใจพิจารณาอยู่บ่อยๆ ในฐานะที่เป็นการหนีห่างจากความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ละครเพลงและละครน้ำเน่าทั้งหลาย (Dyer 1981)

หัวข้อสำคัญของบทความเกี่ยวกับสื่อชิ้นนี้ประกอบด้วย Levi-Strauss and Myth และ Psychoanalysis
H

การใช้ศัพท์คำว่า "ความเพ้อฝัน"(fantasy) เพื่ออธิบายและวิเคราะห์เรื่องที่แต่งขึ้นมาทั้งหลาย ได้ดึงความสนใจของเราไปสู่ความฝัน, จินตนาการ, จิตใต้สำนึก และโลกของเรื่องเล่าที่ต่างไปจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันอย่างมีนัยสำคัญ โดยจารีตแล้ว ความเชื่อมโยงต่างๆได้ถูกทำขึ้นมาระหว่างภาพยนตร์และความฝัน การอธิบายฮอล์ลีวูดว่าเป็น"โรงงานผลิตความฝัน"(dream factory) ได้ชี้ถึงแง่มุมอันน่าปรารถนาต่างๆของภาพยนตร์ฮอล์ลีวูด (พวกมันจัดหาความสมปรารถนามาให้ ในฐานะที่เป็นการสร้างฝัน) และธรรมชาติที่ไม่เป็นจริงของพวกมัน
(การไม่อาจที่จะบรรลุได้ของความฝันเหล่านี้)

วิธีการทางด้านจิตวิเคราะห์ซึ่งนำไปใช้กับภาพยนตร์และโทรทัศน์ ได้สำรวจถึงสิ่งซึ่งถูกนำไปเกี่ยวข้องการดูภาพเคลื่อนไหวต่างๆบนจอ ฟรอยด์ให้เหตุผลว่า หนึ่งในกุญแจสำคัญเกี่ยวกับแรงขับของมนุษย์หรือความปรารถนาต่างๆของมนุษย์ คือความปรารถนาที่จะมอง(Mulvey 1989) ความปรารถนาอันนี้ถูกเรียกว่า scopophilia (เป็นคำศัพท์ที่สืบทอดมาจากภาษากรีก หมายถึง การแสดงออกสำหรับความรักเกี่ยวกับการมอง - expression of looking)

นักวิจารณ์ Roland Barthes ได้เพิ่มเติมอีกมิติหนึ่งเข้ามาในการคิดถึงผู้ชมและการขานรับหรือตอบโต้ของพวกเราต่อเรื่องที่แต่งขึ้น เมื่อเขาได้สนทนาถึงเรื่องความพึงพอใจเกี่ยวกับการอ่านเรื่องราวที่แต่งขึ้นมาต่างๆ. เขาได้ใช้คำในภาษาฝรั่งเศสว่า Jouissance (bliss - ความสุขที่สมบูรณ์ หรือความพึงพอใจระดับจิตวิญญาน) และจำแนกความต่างๆของคำนี้จากคำว่า Plaisir (pleasure - ความพึงพอใจ)