บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ประจำเดือนธันวาคม 2545 ลำดับที่ 221
หัวเรื่อง"ปัญหาของการพัฒนาตามกระแสหลัก" ชื่อเรื่อง"กระบวนทัศน์การพัฒนาของรัฐ
: จากผู้ใหญ่ลีถึงหลุยส์ วิตตอง" โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ต้นร่างในการสัมมนา "การวิจัยและการพัฒนาประเทศในภาวะวิกฤต"(ความยาวประมาณ
15 หน้า)
จัดโดยโครงการบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา สถาบันราชภัฎเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ฯ
ร่วมกับนักวิชาการทางสังคมศาสตร์จากสถาบันอื่น ๆ
กระบวนทัศน์การพัฒนาของรัฐ : จากผู้ใหญ่ลีถึงหลุยส์ วิตตอง
สาระสำคัญที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในบทความนี้
คือการวิเคราะห์ว่า
ก.ในกระบวนทัศน์(1)
การพัฒนาของรัฐ ตั้งแต่ยุคพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ภาวะทันสมัย ซึ่งเริ่มต้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์มาจนกระทั่งยุคแห่งการแข่งขันในกระแสโลกาภิวัตน์ของรัฐบาลปัจจุบัน
รัฐมีกระบวนทัศน์ต่อ"การพัฒนา"อย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ( คิดใหม่ ทำใหม่จริงหรือไม่)
ข. กระบวนทัศน์และวิธีคิดในการพัฒนาของรัฐ ตั้งมั่นอยู่บนรากฐานของความเชื่อในเรื่องอะไร
อย่างไร
ค.กระบวนทัศน์การพัฒนาของรัฐเป็นปัจจัยประการหนึ่งซึ่งนำสังคมไทยมาสู่วิกฤตการณ์ในด้านต่าง
ๆ อย่างไร มีกระบวนทัศน์อื่นซึ่งเป็นทางออก-ทางรอดหรือไม่ อย่างไร
อรศรี งามวิทยาพงศ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก. กระบวนทัศน์การพัฒนาของรัฐ
: 40 ปีของความหลังที่ยังฝังใจ
"ถ้าเราพบวิถีทางที่จะเพิ่มพูนคุณภาพและปริมาณของผลผลิตเกษตรกรรมได้ โดยให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงด้วย
เราก็แก้ปัญหาได้หมด เราจะแก้ปัญหาภายใน เรื่องค่าครองชีพของประชาชน เรื่องระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรและปัญหาเศรษฐกิจอีกหลายอย่าง"
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ : 2 ธันวาคม 2502
"แม้รัฐบาลจะมาบริหารประเทศเพียงปีเดียว
แต่ได้แก้ปัญหาความยากจน ปัญหาราคาสินค้าการเกษตรประสบความสำเร็จไปหลายเรื่อง
โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆ นี้ได้แก้ปัญหาราคายางพารา
ถ้ารัฐบาลชุดนี้อยู่ได้ 2 เทอมคือประชาชนเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้มาก
เรียกว่าสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้เกือบหมด เพราะเราแก้ไขอย่างมีระบบไม่ให้มีการทุจริตและเชื่อว่าเกษตรกรจะมีรายได้ครอบครัวละไม่น้อยกว่า
1 หมื่นบาทต่อเดือน"
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร : 23 สิงหาคม
2545
ผู้นำรัฐที่อยู่ต่างยุคกันถึง 40 กว่าปี คนหนึ่งมาจากการยึดอำนาจเป็นจอมเผด็จการ อีกคนหนึ่งเป็นผู้ได้(11 ล้าน)คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่ 2 ผู้นำรัฐไทยต่างมีกระบวนทัศน์การพัฒนาที่เหมือนกันราวฝาแฝด (แม้ผู้นำยุคหลังจะบอกว่า"คิดใหม่ ทำใหม่) นั่นคือ ความเชื่ออย่างเหนียวแน่นว่า การเจริญเติบโต(Growth) ไม่ว่าของผลผลิต หรือของรายได้ คือยาขนานเอกของการขจัดความยากจน ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาอื่น ๆ ได้ทั้งหมดด้วย การเจริญเติบโตจึงยังเป็นเป้าหมายสูงสุดของรัฐไม่ว่าในยุคเริ่มการพัฒนาประเทศไปสู่ภาวะทันสมัย (Modernization) หรือยุคผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม เมื่อ 40 ปีก่อน และยุคแข่งขันกันใช้ผลิตภัณฑ์หลุยส์ วิตตองให้ทันกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization)
ในปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ผลของการพัฒนาในประเทศต่าง ๆ ได้ทำให้ช่องว่างของประเทศร่ำรวยและยากจนเพิ่มจากอัตราส่วน 5 :1 เมื่อหลายทศวรรษก่อน มาอยู่ในอัตราส่วน 390 :1 ในปัจจุบัน(2) และภายในประเทศไทยเองได้บทสรุปใหญ่กันไปแล้ว เมื่อครั้งจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ว่า "เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน" คือการพัฒนาของรัฐได้นำหายนภัยมาสู่ชีวิตของบุคคล สังคม โดยเฉพาะชุมชนชนบทและระบบนิเวศ เป็น"เศรษฐกิจดี"ของคนหยิบมือหนึ่งในของท่ามกลางคนจนเรื้อรัง (Ultra Poor) อีกไม่น้อยกว่า 7.9 ล้านคน (2541) และคนจนธรรมดาอีกหลายสิบล้านคน
แต่กระนั้น รัฐก็ยังคงมีวิธีคิดและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและการจัดการความยากจนในแบบเดิม อันสะท้อนให้เห็นว่า 40 กว่าปีที่ผ่านมานี้ กระบวนทัศน์การพัฒนาของรัฐไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) เพื่อให้สอดคล้องและทันกับหายนภัยของการพัฒนาที่เกิดขึ้นต่อสังคมและระบบนิเวศ หากกระบวนทัศน์และวิธีคิดของรัฐยังคงหลงยุคและตกอยู่ในมายาคติชุดเดิม ชุดเดียวกับเมื่อ 40 ปีที่แล้ว นั้นคือ ความเชื่อพื้นฐานที่ว่า
1. การพัฒนา (Development) คือความก้าวหน้า (Progress) เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคนิค (A Technical Matter) ซึ่งต้องดำเนินการโดย "ผู้เชี่ยวชาญ" (Experts) ด้านต่าง ๆ เช่น นักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักบริหาร ผู้ว่าCEOฯลฯ เพื่อให้นำเอาแนวคิดทางเทคนิคเข้ามาใช้ในการวางแผนพัฒนาให้เกิดความสำเร็จ โดยถือว่าความก้าวหน้า (หรือการพัฒนา) นั้น คือ ความเจริญเติบโต (Growth) ซึ่งวัดกันได้ที่ถาวรวัตถุ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ
2. ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเป็นตัวแบบของการพัฒนาที่พึงประสงค์สูงสุด คือสังคมแห่งความมั่งคั่ง รายได้พลเมืองและประเทศสูง มีวิถีชีวิตที่หรูหราสะดวกสบาย ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีทุกด้าน เป็นตัวแบบที่ประเทศอื่นจะต้องกวดตามให้ทัน (American/Ideal Standard)
3. รัฐจึงยังไม่ละทิ้งวิธีคิดต่อการพัฒนา ในแบบที่ใช้กันมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 คือตั้งแต่ช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 และต่อเนื่องมา คือวิธีคิดและวิเคราะห์ที่เรียกว่า Missing - Factor Approach เป็นการหาว่าสิ่งที่ประเทศไทยไม่มีหรือขาดไปคืออะไร จึงเป็นเหตุให้ด้อยพัฒนาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว และมาในปัจจุบันคือการพยายามหาว่า ปัจจัยอะไรที่หายไปและทำให้ประเทศไทยกวดไม่ทันกระแสการแข่งขันของโลกาภิวัตน์ ในขณะเดียวกันก็จะคิดแบบ Single Factor Approach คือเชื่อว่ามีปัจจัยเดี่ยวที่เป็นกุญแจหลักสำคัญที่สุด ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่ภาวะทันสมัยได้เหมือนประเทศพัฒนาแล้ว หรือในปัจจุบันคือปัจจัยหลักซึ่งจะทำให้เราสามารถวิ่งโลดได้บนลู่ของการกวดไล่ตามกระแสโลกาภิวัตน์
วิธีคิดและวิเคราะห์แบบดังกล่าวของรัฐ ได้ทำให้การพัฒนาที่ผ่านมา เกิดมายาภาพที่ดูเสมือนหนึ่งว่า รัฐมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องและขจัดข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดจากการพัฒนาที่ล้มเหลว เพื่อให้เห็นถึงตัวอย่างของกระบวนทัศน์และวิธีคิดนี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจากกระบวนทัศน์และวิธีคิดในช่วงเริ่มต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรก(พ.ศ.2504) ซึ่งรัฐมีกระบวนทัศน์เมื่อเริ่มต้นการพัฒนาว่า
(1) สภาพความด้อยพัฒนาหรือความยากจน เป็นสภาพพื้นฐานโดยดั้งเดิมของประเทศไทย ซึ่งมีมากและหนาแน่นในชนบท และเป็นความยากจนสัมบูรณ์
(2) สาเหตุซึ่งทำให้ชนบทยากจนด้อยพัฒนา เพราะประเทศไทยยังไม่ได้พัฒนาไปสู่ภาวะทันสมัย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยสำคัญคือ เงินทุน , การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักร , ความรู้ทางเทคนิควิทยาการสมัยใหม่ , การบริหารจัดการที่มีระบบและกลไกของรัฐ , ทัศนคติ-ค่านิยมทันสมัยคือมีวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ (Scientific Thinking ) ซึ่งอาจเขียนเป็นสมการความคิดได้ว่า
Y (การพัฒนาไปสู่ภาวะทันสมัย) = a (เงินทุน) + b (ความรู้) + c (ภาคอุตสาหกรรม) + d (การบริหารจัดการ) + e (ทัศนคติ-ค่านิยมทันสมัย)
ดังนั้นในกระบวนทัศน์ของการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ภาวะทันสมัย ความยากจน/ด้อยพัฒนาของประเทศโดยเฉพาะชนบทจึงมีสาเหตุมาจาก
Z ( ความด้อยพัฒนา) = a _ (ไม่มีเงินทุน) + b_ (ไม่มีความรู้) + c _ (ไม่มีอุตสาหกรรม)+ d _ ( ไม่มีการบริหารจัดการ) + e _ (ไม่มีทัศนะ-ค่านิยมทันสมัย )
ด้วยความเชื่อนี้ หมายความว่าประเทศไทยขาดปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการไปสู่ภาวะทันสมัยเป็นอย่างมาก แม้ว่าในบางปัจจัย คือ เงินทุนและการบริหารจัดการ มิได้เป็น 0 แต่ก็อยู่ในระดับต่ำไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ รายได้ประชาชาติ เงินออม หรือในด้านการบริหาร รัฐจะมีหน่วยงาน กลไกข้าราชการ โครงการพัฒนาอยู่ในระดับหนึ่งเพื่อการพัฒนาชนบทแล้ว แต่ก็เป็นจำนวนน้อยและเป็นไปอย่างขาดความต่อเนื่องและทิศทาง
ปัจจัยที่ขาดหายไปเลยในชนบทคือ
การผลิตภาคอุตสาหกรรม , ความรู้สมัยใหม่ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เทคนิควิทยาการต่าง
ๆ และปัจจัยค่านิยมความเชื่อ วิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในปัจจัยสุดท้ายนี้
รัฐเชื่อว่านอกจากชนบทจะไม่มีปัจจัยดังกล่าวแล้ว ในสภาพของชนบทเองยังมีระบบค่านิยม
ความเชื่อ และจารีตประเพณี วิธีคิดอันตรงกันข้ามและเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ภาวะทันสมัย
ซึ่งรัฐจะต้องจัดการกับปัจจัยลบ (-) ประการนี้ของชนบทด้วย ในขณะเดียวกันรัฐก็เห็นว่าชนบทมีปัจจัยบวก
(+) ที่เอื้อต่อการพัฒนาเงินทุน นั่นคือทรัพยากรธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์และสามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นเงินทุนเพื่อการพัฒนาได้
รวมทั้งเป็นฐานของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเมือง
(จอมพลสฤษดิ์กล่าวว่า
การพัฒนาชนบทคือการส่งเสริมให้นำเอาทรัพยากรที่ซ่อนเร้นอยู่ออกมาใช้ ในขณะที่นายกฯ
ปัจจุบัน บอกว่า บางครั้งชุมชนต้องเสียสละระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาของส่วนรวม)
ในขณะเดียวกัน รัฐก็เห็นว่า ปัจจัยเดี่ยวที่สำคัญ (Single Factor) เพื่อกำจัดความด้อยพัฒนาและยากจน คือการสร้างและเพิ่มความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) ซึ่งจะเพิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยการเพิ่มการผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการ และเปลี่ยนเกษตรกรรมให้เป็นอุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมเป็นภาคการผลิตซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สิ่งที่ผลิตได้มากกว่าเกษตรกรรม จึงมีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งหากรัฐสามารถทำให้สูงมากพอจนเกิดการรินไหลลงล่าง (trickle down) แล้ว ความยากจนและความด้อยพัฒนาจะหายไปเป็นลำดับ อีกทั้งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ( ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ,รายได้ประชาชาติ) จะช่วยให้รัฐมีเงินทุน/งบประมาณมากขึ้นเพื่อไปพัฒนาความทันสมัยในด้านอื่น ๆ ให้แก่ประเทศและพลเมือง ในขณะที่ปัจเจกบุคคลเองจะมีรายได้ เงินออมเพิ่มขึ้นเพื่อไปพัฒนาการผลิต การศึกษา คุณภาพชีวิตให้ทันสมัยได้มากขึ้นเช่นกันด้วย รายได้หรือเงินจึงเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาในกระบวนทัศน์นี้
หลังจากการพัฒนาผ่านไปได้ 2-3 แผน เกิดผลกระทบมากมายที่เกินความคาดหมายของนักวิชาการที่เป็นแกนนำความคิดของรัฐ จึงมีการปรับปรุงสมการความคิดด้วยการทยอยเพิ่มปัจจัยใหม่ที่รัฐคิดว่าจะช่วยให้การพัฒนาดำเนินการต่อไปได้เช่นที่มุ่งหวัง ตัวอย่างเช่น
- การเพิ่มนโยบายประชากร เมื่อพบว่า อัตราการเพิ่มของประชากรทำให้อัตราการเพิ่มของรายได้ประชาชาติและผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติลดต่ำลง พร้อมกับการเพิ่มปัจจัย"ความจำเป็นพื้นฐาน" (จปฐ.) ให้แก่ภาคชนบท
- การเพิ่มปัจจัยสิ่งแวดล้อมการอนุรักษ์ธรรมชาติ เมื่อพบว่า ระบบนิเวศในชนบทเริ่มเสื่อมโทรม จากการพัฒนา
- ปรับปรุงปัจจัย"อุตสาหกรรม"จากการทดแทนการนำเข้า มาเป็นอุตสาหกรรมการส่งออก
- ปรับปรุงปัจจัยความรู้ ด้วยการพัฒนาการศึกษาระดับสูงเพื่อตอบสนองตลาดงานจ้างในสาขาที่ขาดแคลนและจำเป็นต่อการพัฒนาไปสู่ภาวะทันสมัย
- เมื่อประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น และโลกเริ่มเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ รัฐเพิ่มปัจจัยการมีส่วนร่วม ภูมิปัญญาชาวบ้าน เศรษฐกิจชุมชน การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ประชาสังคม ธรรมรัฐ บรรษัทภิบาล เศรษฐกิจฐานราก (กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารคนจน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์) ฯลฯ เข้าไปในกระบวนทัศน์การพัฒนาของรัฐ และล่าสุด ประเทศไทยจะต้องพัฒนาปัจจัยความรู้เรื่องพันธุวิศวกรรม เพื่อใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรที่เรามีอยู่ และปัจจัยระบบสารสนเทศ(3) เพื่อให้กวดทันโลกาภิวัตน์ ซึ่งกำลังจะตัดสินอนาคตกันด้วยวิทยาศาสตร์พันธุวิศวกรรม
ตลอด 40 ปีที่ล่วงมา ไม่ว่ารัฐจะเพิ่มปัจจัยอะไรเข้าไปตามวิธีคิดของ Missing - Factor Approach ก็ตาม แต่ความเชื่อที่รัฐไม่เคยเปลี่ยนเลย คือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ( Economic Growth) เป็น Single Factor ที่เป็นกุญแจสำคัญของการก่อให้เกิดการพัฒนาปัจจัยอื่น ๆ ทั้งหมดไม่ว่าในยุคไปสู่ภาวะทันสมัยหรือโลกาภิวัตน์ จึงทำให้"เงิน"เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาทั้งในระดับประเทศและบุคคล และ Growth ได้กลายมาเป็น"จุดหมาย"ของการพัฒนาไปโดยอัตโนมัติ มิใช่เป็นเพียง"เครื่องมือ"ของการพัฒนาแต่อย่างไร
กระบวนทัศน์ที่กล่าวมาของรัฐ จะเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นกระบวนทัศน์ วิธีคิดและการจัดการแบบแยกส่วน กลไก และลดทอนปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ให้เป็นเรื่องของการขาดรายได้ ไม่มีเงินทุน ขาดความรู้ ขาดศีลธรรม มีลูกมาก สุขอนามัยไม่ดี ขาด"การมีส่วนร่วม" ขาดเม็ดเงินในชุมชน ฯลฯ แล้วทยอยเพิ่มปัจจัยที่หายไปเหล่านี้เข้าไป พร้อม(โปรย)ความหวังใหม่ว่า สภาพความยากจนจะหายไปและความเจริญก้าวหน้าจะเข้ามาแทนที่ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จมาตลอดช่วง 40 ปีของการพัฒนา
ประจักษ์พยานคือ การล่มสลายของชุมชนชนบท เนื่องจากกระบวนทัศน์-วิธีคิดแบบแยกส่วน กลไก และลดทอนนี้ ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับสภาพความเป็นจริงของชนบท ซึ่งสรรพสิ่งดำรงอยู่อย่างสัมพันธ์กัน ไม่ว่าระหว่างมนุษย์ในชุมชน และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ อีกทั้งองค์ประกอบด้านต่าง ๆ ของชุมชน (เศรษฐกิจ ค่านิยม โครงสร้างสังคม กระบวนการเรียนรู้ ฯลฯ) มิได้ดำรงอยู่แบบแยกกันเป็นส่วน ๆ ดังเช่นวัตถุ หรือเครื่องยนต์กลไก ที่นึกจะถอดเข้าถอดออกเมื่อไรก็ได้หากแต่ปัจจัยทั้งหลายร้อยรัดเคลื่อนไหวอย่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
ดังนั้น การที่รัฐสร้าง"ปัจจัยใหม่"ของการพัฒนาความทันสมัยให้แก่ชุมชน เช่น การสร้างทุน,การผลิตแบบใหม่ , ค่านิยมและความรู้ใหม่ พร้อมกับสกัดกั้นหรือทำลายปัจจัยเดิมบางอย่างของชุมชนซึ่งรัฐเห็นว่าเป็นอุปสรรคของ"การพัฒนา" เช่น ระบบค่านิยม ความรู้ ความเชื่อเดิม(ที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์) มิให้สามารถพัฒนาได้ตามกระบวนการเดิม ได้ทำลายระบบโดยรวมของชุมชนทั้งหมดให้แตกสลาย เพราะสิ่งที่ป้อนเข้ามาใหม่ไม่ได้มีคุณสมบัติเดียวกันกับสิ่งที่ถูกกำจัดออกไป ที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดคือ ระบบการศึกษาแบบใหม่ของรัฐ (โรงเรียน) ที่เข้าไปทำลายกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ภายในชุมชน (ภูมิปัญญาท้องถิ่น) ซึ่งมิได้มีหน้าที่เพียงการสร้างความรู้ หากเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความสัมพันธ์เชิงสังคม , ค่านิยมด้านศาสนธรรม , ระดับปฏิสัมพันธ์, โครงสร้างสังคมแบบแนวราบ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง
การจัดการศึกษาแบบใหม่ของรัฐจึงเป็นการทำลายทั้งกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนและปัจจัยอื่นๆ ดังกล่าวไปด้วยพร้อมกัน ในขณะที่"ความรู้ใหม่"ของรัฐก็ถูกนำเข้าอย่างแปลกแยกกับบริบทของชุมชน จึงดำรงอยู่อย่างขัดแย้งกับสภาพความจริงของชุมชน(4)
หรือการถางป่าเอาพื้นที่ไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ ได้ทำลายความสัมพันธ์ของระบบนิเวศที่ละเอียดซับซ้อน ทั้งดิน น้ำ อากาศ-อุณหภูมิ ระบบชีวิตของพืช-สัตว์ ฯลฯ ไปพร้อมกันด้วย จนยากแก่การฟื้นฟู เนื่องจากองค์ประกอบของระบบ(ป่า)ถูกป้อนออกโดยไม่มีกลไกป้อนกลับ หรือสิ่งที่ป้อนกลับ(สวนยางพารา ไร่มันสำปะหลัง ไร่ยูคาลิปตัส นากุ้ง ฯลฯ) ไม่อาจชดเชย ซ่อม สร้าง เพื่อให้ระบบเดิมดำรงอยู่ในระดับที่ระบบยังสามารถจัดการตนเอง (Self Organizing ) ให้หมุนเวียนต่อเนื่องอย่างยั่งยืนได้
สาเหตุสำคัญที่สุด ซึ่งทำให้ความพยายามของรัฐที่จะเพิ่มปัจจัยหรือปรับปรุงปัจจัยที่ขาดหายไป(Missing -Factor) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่สามารถนำไปสู่การฟื้นฟูชนบท มาจากวิธีคิดของรัฐที่มุ่งแต่การเปลี่ยนแปลงทางรูปธรรม(matter) หรือเนื้อหา (Content) และสร้าง"องค์รวม"จากการเอารูปธรรม/เนื้อหาเหล่านั้นมารวมกัน เชื่อมโยงต่อ ๆ กัน แล้วสรุปว่าเป็นองค์รวม(Holistic)หรือเป็นบูรณาการ (Integrated) แล้ว ทั้ง ๆ ที่สภาวะขององค์รวมอันแท้จริงนั้น "องค์รวมเป็นมากกว่าผลรวมขององค์ประกอบ ( The Whole is more than the sum of its part) นั่นคือองค์รวมมิได้เกิดจากการเอาสิ่งต่าง ๆ ย่อยๆมาอยู่รวมกัน หากองค์รวมเกิดจากการที่องค์ประกอบเหล่านั้นมี"สัมพันธภาพ"(Relationship)เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน จนกระทั่งเมื่อไรที่แยกองค์ประกอบของมันออกมา สิ่งที่แยกออกจะไม่มีคุณสมบัติเหมือนเมื่ออยู่ในระบบ หมายความว่า"คุณสมบัติ"ขององค์ประกอบดำรงอยู่เมื่อมันมีสัมพันธภาพกับส่วนอื่นทั้งหมด โดยนัยนี้ โครงสร้าง(Structure ) / แบบแผน(Pattern) / กระบวนการ(Process)" จึงเป็นสิ่งเดียวกัน (โปรดดูคำอธิบายเพิ่มเติมในเชิงอรรถ)(5)
ความยากจนในชนบทและวิกฤตการณ์ของการพัฒนาจึงเกิดและเพิ่มจากการที่ระบบสัมพันธภาพระดับต่าง ๆ ถูกทำลาย จากการที่รัฐคิดและพยายามแยก matter / content ซึ่งในกรณีนี้ คือ ปัจจัยเศรษฐกิจ(การผลิต บริโภค ฯลฯ) ออกจากระบบเดิมของชุมชน และใส่บางอย่างเข้าไปแทนที่ โดยเชื่อว่ามันจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่เมื่อผลไม่เป็นเช่นนั้น ทางแก้ของรัฐคือ การปรับปรุงให้มีการเชื่อมโยงปัจจัยอื่นเพิ่มเข้ามา เช่น เพิ่มเรื่องสังคม เรื่องสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วม จิตวิญญาณ ฯลฯ และพยายามปรับปรุงประสิทธิภาพของกลไกให้นำองค์ประกอบต่าง ๆ มารวมกันเป็น"องค์รวม" ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามิใช่"องค์รวม"ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ไปพ้นวิกฤตได้ เพราะเป็นองค์รวมของรูปแบบ/matter ที่มิใช่สัมพันธภาพ/ Relationship และวิธีคิด (6)
ดังนั้น หากพิจารณาตามกรอบความคิดนี้ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 และ 9 ในปัจจุบัน ซึ่งรัฐระบุว่ามีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากแยกส่วน(เศรษฐกิจ / สังคม / สิ่งแวดล้อม / ฯลฯ )มาเป็นองค์รวม และเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพิ่มเรื่องจิตวิญญาณ โอกาสทางสังคม ฯลฯ จึงไม่เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากแยกส่วนมาเป็นองค์รวมตามนัยที่กล่าวมา เพราะเป็นการเอาองค์ประกอบ (Matter) ที่เพิ่มเข้ามา เช่น ปัจจัยสังคม สิ่งแวดล้อม จิตวิญญาณ ฯลฯ มารวมกันแล้วเรียกว่า"องค์รวม" โดยสัมพันธภาพขององค์ประกอบเกิดขึ้นภายหลัง (หรือไม่เกิดขึ้นเลย ) การพัฒนาของรัฐที่พยายามให้เป็นองค์รวม จึงยากที่จะเกิดขึ้นอย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน หากแยกส่วนตลอดมา และอาจจะตลอดไป (แม้จะปฏิรูประบบราชการก็ตาม)
เนื่องจากกระบวนทัศน์และวิธีคิดที่เริ่มต้นแบบแยกส่วน ไม่อาจก่อให้เกิดการจัดการแบบองค์รวมได้ เพราะสภาวะองค์รวมอันแท้จริง ต้องเกิดจากการจัดสัมพันธภาพระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ของการพัฒนาก่อน ซึ่งในกรณีของการพัฒนา คือ การจัดสัมพันธภาพของอำนาจ (เช่น การตัดสินใจ ,สิทธิ) สัมพันธภาพของความรู้ ทรัพยากร ฯลฯ ระหว่างมนุษย์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) นั้นเอง ในขณะเดียวกันการจัดสัมพันธภาพในระบบของมนุษย์ จะต้องสอดคล้องกับสัมพันธภาพของระบบที่ใหญ่กว่า คือระบบนิเวศด้วย การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงจะเกิดได้จริงทั้งหมด
โดยนัยนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืนมิอาจเกิดขึ้นได้เลย หากการพัฒนาไม่ก่อให้เกิดการจัดระบบสัมพันธภาพของอำนาจ ความรู้ ทรัพยากร ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสังคมไทยเสียใหม่ (รัฐ ประชาชน ธุรกิจ) อย่างใส่ใจในสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศด้วย
ข.ความเชื่อและทัศนะพื้นฐานในกระบวนทัศน์การพัฒนาของรัฐ
ความเชื่ออย่างเหนียวแน่นกว่า 40 ปีในเรื่องความเจริญเติบโต ได้สะท้อนจุดมุ่งหมายสูงสุดในการพัฒนาของรัฐ
ไม่ว่าเพื่อความทันสมัยหรือโลกาภิวัตน์ว่าล้วนมาจากพิมพ์ของกระบวนทัศน์เดียวกันโดยไม่เปลี่ยนแปลง
คือ กระบวนทัศน์-วิธิคิดแบบแยกส่วนที่มุ่งให้เกิดความมั่งคั่ง (Prosperity /
Wealth) อันเป็นความใฝ่ฝันของโลกตะวันตกที่หล่อหลอมมาจากปรัชญาและประวัติศาสตร์ในยุคฟื้นฟูศิลปะ
, ยุคปฏิรูปศาสนา ,ยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) , ยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ -ปฏิวัติอุตสาหกรรม
,การปฏิวัติในในอเมริกาและฝรั่งเศส ในช่วงศตวรรษที่ 14-18 ซึ่งทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ไปจากเดิมหลายประการ
ต้องการชีวิตที่ไปพ้นจากการบีบคั้นของธรรมชาติ (โรคระบาดที่มีคนล้มตายนับล้าน
ภัยธรรมชาติ ฤดูกาลอันหนาวเหน็บ ฯลฯ) และสังคมที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยาก กดขี่
ฆ่าฟัน จากความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกันและปลดแอกจากอำนาจการปกครองของศาสนจักรและทรราชย์
อันเป็นประวัติศาสตร์แห่งความทุกข์ยากอันยาวนานของสังคมตะวันตกในช่วงยุคกลาง
(Middle Age / Dark Age ) และยุคปฏิรูปศาสนา (Reformation)
จินตนาการใหม่ของมนุษย์หลังยุคดังกล่าว คือ การมีชีวิตที่มั่งคั่งสมบูรณ์ สุขสบายทางวัตถุ มีความปลอดภัย(จากภัยธรรมชาติ ภัยการเมือง) มีเสรีภาพในการคิด การแสวงหาความรู้ และความมั่งคั่งตามความสามารถของแต่ละปัจเจกบุคคล โดยมีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ และวิชาการทางสังคมศาสตร์ เช่น รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐหรือศาสตร์ ฯลฯ เป็นศาสตร์สำคัญในการจัดระเบียบสังคม และผลักดันให้จินตนาการของวิถีชีวิตบุคคลและสังคมอันสุขสบายดังกล่าวเป็นจริงขึ้นมา(7) ดังนั้น ไม่ว่าการพัฒนาเพื่อไปสู่เป้าหมาย Growth , Modernization, Globalization ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ ความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมั่งคั่งสุขสมบูรณ์ หลุดพ้นจากข้อบีบคั้นต่าง ๆ ในอดีต หรืออยู่ตาม"อำเภอใจ"นั้นเอง
เป้าหมายของการพัฒนานี้ กำหนดขึ้นมาจากกระบวนทัศน์ของมนุษย์ที่มีต่อชีวิตของตนเองและต่อธรรมชาติหรือระบบนิเวศด้วย กล่าวคือเมื่อมนุษย์มีความเชื่อหรือกระบวนทัศน์ต่อชีวิตของตนเองอย่างไร เช่น คิดว่าชีวิตคืออะไร ,เกิดมาจากไหน เพื่ออะไร ตายแล้วไปไหน ความสุขของชีวิตคืออะไร ,คุณค่าของชีวิตอยู่ที่ไหน ? ฯลฯ มนุษย์ย่อมจัดการชีวิตตนเองและสังคมที่ตนเองอยู่ให้เป็นไปตามความเชื่อนั้น โดยเรียกการจัดการนั้นว่าเป็นความก้าวหน้า (Progress) ,การพัฒนา (Development) อันมีนัยว่าดีขึ้น เจริญขึ้น และกระบวนทัศน์ของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติก็ไปกำหนดท่าทีของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาตอบสนองตามเป้าหมายของชีวิตตนเองอย่างสอดคล้องไปด้วยกัน
ความหมายว่า"ก้าวหน้าขึ้น" หรือ"เจริญขึ้น"นี้ มุ่งหมายไปในทางเพิ่มมากขึ้นหรือความมั่งคั่งในทางวัตถุ อันพัฒนาจากมาประวัติศาสตร์ของการถูกครอบงำและกดขี่ให้อยู่ใต้อำนาจของศาสนจักรกว่าพันปี และทำสงครามศาสนาอันโหดร้ายทารุณในยุคปฏิรูปศาสนา ประกอบกับการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ที่สร้างคำอธิบายชุดใหม่ต่อความรู้ในเรื่องของจักรวาลวิทยา ภววิทยา วิธีวิทยา ได้ทำให้อำนาจของศาสนาลดทอนลง เกิดการแยกศาสนจักร-อาณาจักร และเกิดรัฐแบบใหม่ วิถีชีวิตแบบใหม่ซึ่งมีกระบวนทัศน์-วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางวัตถุเป็นแกนกลางของความคิด การปฏิเสธศาสนามีผลให้เรื่องของจิตวิญญาณถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงไปด้วย(8)
ภายใต้กระบวนทัศน์นี้ ชีวิตคือการแสวงหา"ความสุข"อันได้แก่การได้กินได้ใช้ และอยู่อย่างสะดวกสบายทางกายภาพ มีความบันเทิงหรูหรา ฟุ่มเฟือย มั่งคั่งปราศจากข้อจำกัด ตราบเท่าที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนมีความสามารถในการเปลี่ยนความสามารถของตนเองหรือทุนอื่น ๆ ที่ตนเองมี ให้เป็น"เงิน"เพื่อซื้อหาสิ่งที่ต้องการจากตลาดยุคใหม่ และผู้ประกอบการแบบใหม่ ซึ่งมีทุกสิ่งที่ต้องการให้เสพและพร้อมจะจัดหาสิ่งใหม่ ๆ ที่มนุษย์ต้องการบริโภคมาตอบสนองด้วย ไม่ว่าโดยถูกกฎหมายและศีลธรรมหรือไม่ก็ตาม อาทิ สินค้าทางเพศ(มนุษย์) ยาเสพติด อบายมุข สินค้า และบริการที่สร้างความตื่นเต้นใหม่ ๆ ฯลฯ
นอกจากนี้ การตัดขาดจากศาสนาและเรื่องทางจิตวิญญาณอย่างสุดโต่ง ได้ทำให้มนุษย์ยุคใหม่ดำรงชีวิตอยู่โดยไม่มีจุดมุ่งหมายอื่น นอกจากการหาความสุขจากการบริโภคให้มากที่สุดและนานที่สุด เพราะความเชื่อว่าชีวิตมีเพียงหนึ่งเดียว ความเชื่อดังกล่าว ยิ่งไปส่งเสริมการเสาะหา"ความสุข"ทางวัตถุมาบริโภค รวมทั้งเสาะหาอารมณ์ความรู้สึกแปลกใหม่จากการบริโภควัตถุ (ความตื่นเต้น ความรุนแรง ความวิปริตอื่น ๆ จากเรื่องเพศ ยาเสพย์ติด ฯลฯ) ในขณะเดียวกันก็ทุ่มเททรัพยากรมหาศาลเพื่อค้นคว้าวิจัยเจาะลึกเข้าไปในพันธุกรรมของมนุษย์ เพื่อหาหนทางแห่งการต่อสู้กับความชราและความตาย รวมทั้งมีทัศนะและความเชื่อต่อธรรมชาติว่า ทรัพยากรทั้งหลายเป็นของมนุษย์ จึงสามารถเอามาใช้ได้ จัดการได้ตามต้องการ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพิชิตธรรมชาติ
ตลอดการพัฒนากว่า 40 ปี จะพบว่ารัฐไม่เคยละทิ้งกระบวนทัศน์ความมั่งคั่งตามแบบตะวันตก และมุ่งหน้าจะไปสู่ความมั่งคั่งมาโดยตลอด แม้ว่าความมั่งคั่งนี้เองที่นำสังคมมาสู่วิกฤตการณ์ทางระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์และระบบนิเวศ เพราะไปแยกส่วนมนุษย์ สนใจแต่ความสุขทางกาย และแยกระบบนิเวศ เลือกเอาเฉพาะสิ่งที่มนุษย์ต้องการ แต่ยุทธศาสตร์ของการกู้วิกฤตจากการพัฒนาของรัฐก็ยังคงมีเป้าหมายที่จะหวนกลับไปสู่ความมั่งคั่ง และการตามให้ทันกระแสโลกาภิวัตน์แห่งความมั่งคั่งเช่นเดิม ดังคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีที่ยกมา อันสะท้อนให้เห็นว่า
รัฐยังคงยึดมั่นในกระบวนทัศน์ดังกล่าว หากแต่จะพยายามเกลี่ยหรือเฉลี่ยความมั่งคั่ง(เม็ดเงิน)ไปให้ประชาชนที่ยากจน หรือด้อยโอกาสให้มากขึ้น โดยเฉพาะในชนบท เพื่อลดกระแสความขัดแย้งทางการเมือง อันเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของรัฐและระบบธุรกิจ(รวมทั้งธนาคารโลก ทุนนิยมโลก) ในการรักษาไว้ซึ่งกระบวนทัศน์การพัฒนาไปสู่ความมั่งคั่งให้ดำเนินการได้ต่อไปท่ามกลางหายนภัยจากการพัฒนา กลยุทธ์ดังกล่าวมุ่งการสร้างกระบวนทัศน์ของประชาชนให้มีเป้าหมายสอดคล้องกับเป้าหมายความมั่งคั่งของรัฐ และกลุ่มทุนไทย-ทุนนิยมโลก ให้สามารถขยายตัวอย่างเข้มแข็งและมีอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง โดย
1. ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนาไปสู่ภาวะทันสมัย รัฐได้ปรับปรุงกลไกการพัฒนาชนบทของรัฐขึ้น ใหม่ ให้รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจและการจัดการทุกอย่างอยู่ที่ส่วนกลาง พร้อมกับมีข้าราชการลงสู่ระดับย่อยของท้องถิ่น เพื่อควบคุมการพัฒนาให้เป็นไปตามแบบที่รัฐต้องการ โดยรัฐให้ภาพตนเองในฐานะของผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วยอุดมการณ์ใหม่ที่จะช่วยขจัดความลำบากยากจนของชนบท และนำความผาสุกมั่งคั่งมาสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง
ในช่วงต้น การขยายบทบาทของรัฐนี้กระทำได้อย่างเต็มที่ เพราะได้รับความสนับสนุนจากต่างประเทศในยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะการขยายเส้นทางคมนาคม เพื่อให้รัฐสามารถเข้าสู่พื้นที่ชนบทได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อีกทั้งวัฒนธรรมทางการเมืองทั้งแบบพ่อขุน ,อำนาจนิยม ยังมีอิทธิพลสูงมาก ทำให้การต่อต้านขัดขืนน้อย โดยเฉพาะเมื่อรัฐโฆษณาชวนเชื่อว่า การพัฒนาให้หายจนด้วยความทันสมัยจะป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งมุ่งจะโค่นล้มระบอบกษัตริย์และพุทธศาสนา อันเป็นสถาบันที่ชนบทผูกพันความศรัทธาอยู่
2. รัฐสร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนทัศน์ความมั่งคั่ง ด้วยการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ของ ชีวิตที่มีนิยามและเป้าหมายใหม่อันสอดคล้องกับเป้าหมายความมั่งคั่งของรัฐ คือ กระบวนทัศน์ใหม่ของ"ความสุข" สร้างระบบคุณค่าใหม่ทางวัฒนธรรมโดยใช้การโฆษณาชวนเชื่อ / วาทกรรม ระบบการศึกษา ฯลฯ เข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของชาวชนบทให้สอดคล้องกับการพัฒนาของรัฐ เช่น "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" , "ศึกษาดี มีเงินใช้ ไร้โรคา พาให้สุขสมบูรณ์" (ไม่โง่-จน-เจ็บ) , "ลูกมากจะยากนาน" , "ทุกคนต้องทำงานหาเงิน ชาติที่จะเจริญต้องประหยัด" "โชติช่วงชัชวาล" ฯลฯ อันมุ่งไปสู่การสร้างวิธีคิดที่ให้ความสำคัญกับวัตถุ (matter) และเห็นว่าการจัดการกับวัตถุคือการแก้ปัญหาทั้งหมด
3. ส่วนในบริบทการพัฒนาโลกาภิวัตน์ รัฐคงกระบวนทัศน์การพัฒนาในบริบทของความ มั่งคั่ง โดยมีการตลาด สื่อมวลชน การโฆษณา การศึกษา ฯลฯ เป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างและส่งเสริมกระบวนทัศน์ความมั่งคั่ง ความยากจนคือความยากจนจากการขาดรายได้และ"ขาดความสามารถ"(การศึกษา ทักษะ ฯลฯ)ในการหารายได้มาบริโภค(ภายใต้กระบวนทัศน์ชีวิตแบบวัตถุนิยม) กระบวนทัศน์ความมั่งคั่งก่อตัวเป็นวัฒนธรรมใหม่ คือลัทธิบริโภคนิยม ที่มีอิทธิพลสูงต่อทัศนะ ความเชื่อ ค่านิยมในการใช้ชีวิตของปัจเจกชนไม่ว่าในสังคมเมืองหรือชนบท และเมื่อ"ความเจริญเติบโต"ถูกวิพากษ์มากขึ้นในยุคฟองสบู่แตก "การศึกษา"ได้รับการพูดถึงมากขึ้น ว่าจะเป็นปัจจัยเดี่ยวที่สำคัญ (Single Factor) ของการพัฒนายุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นสังคมที่มี"ความรู้"เป็นฐาน (Knowledge Based Society) ซึ่งหากศึกษาเอกสารให้ดีแล้วจะพบว่า สังคมที่มี"ความรู้"เป็นฐานนั้น คือฐานเพื่อไปสู่ความมั่งคั่งในกระบวนทัศน์เดิมนั่นเอง(9)
กระบวนทัศน์การพัฒนาของรัฐจึงคงไม่อาจเปลี่ยนจากนี้ได้โดยง่าย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความยากจน รัฐจะต้องผูกโยงความยากจนกับรายได้และแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มรายได้ เพื่อสนับสนุนการสะสมทุนของระบบทุนนิยมทั้งในและนอกประเทศให้ขายสินค้าและบริการได้ต่อไปนั่นเอง
ค. กระบวนทัศน์ทางรอด
: จากความมั่งคั่งสู่ความมั่นคงเชิงระบบ
กระบวนทัศน์การพัฒนาไปสู่ภาวะทันสมัยและโลกาภิวัตน์ อันตั้งอยู่บนกระบวนทัศน์ของการ
พัฒนาเพื่อความมั่งคั่งนี้ เป็นผลผลิตจากประวัติศาสตร์ของอารยธรรมตะวันตก ซึ่งประเทศไทยนำเข้ามาจากต่างประเทศ
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพบ้านเมืองให้"ทันสมัย" ทั้งนี้เพื่อต่อต้านการรุกรานของลัทธิล่าอาณานิคมในขณะนั้น
การพัฒนาไปสู่ภาวะทันสมัยในช่วงรัฐชาตินี้ รัฐจำกัดขอบเขตให้อยู่ที่ด้านกายภาพหรือการเปลี่ยนแปลงเชิงรูปแบบ เพื่อรับใช้นโยบายการเมืองของรัฐ โดยที่รัฐยังพยายามที่จะรักษาไว้ซึ่งฐานทางวัฒนธรรมหรือระบบคุณค่าหลักที่มีพุทธศาสนาเป็นแกน โดยเฉพาะในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังเช่น การปฏิรูปคณะสงฆ์ การศึกษา เป็นต้น
แม้ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475-2500 รัฐมิได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของวัฒนธรรม หรือสร้างระบบค่านิยมชุดใหม่ในชนบท อีกทั้งมีขอบเขตของพื้นที่การเปลี่ยนแปลงอันจำกัด มิได้ลงลึกถึงระดับชุมชนชนบทส่วนมาก
ในขณะที่กระบวนทัศน์การพัฒนาไปสู่ภาวะทันสมัยในยุคที่ 2 ของจอมพลสฤษดิ์นั้น รัฐมีอุดมการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงปริมาณและคุณลักษณะอย่างกว้างขวางและลงลึก โดยเฉพาะการมุ่งเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การพัฒนาอันนำไปสู่ค่านิยม ความเชื่อชุดใหม่ทางวัฒนธรรมของรัฐและประชาชนด้วย เมื่อประกอบกับโครงสร้าง ระบบ และกลไกของการบริหารการพัฒนาแบบรวมศูนย์ได้ทำให้กระบวนทัศน์แห่งความมั่งคั่งหยั่งรากลงในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง และมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาแห่งการพัฒนากว่า 40 ปีของรัฐ ก็ยังมีกระบวนทัศน์การพัฒนาแบบอื่นดำรงอยู่อย่างคู่ขนานมาด้วย หากมิได้อยู่ภายใต้คำเรียกว่า"การพัฒนา"(10) ตามการเรียกของรัฐ และหากจะกล่าวให้ถูกต้องกับข้อเท็จจริงแล้ว กระบวนทัศน์นอกกระแสรัฐนี้ ดำรงอยู่มาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ของชุมชนเชื้อสายเผ่าพันธุ์ต่างๆ ก่อนการเกิดรัฐไทยด้วยซ้ำไป และกระบวนทัศน์การพัฒนาในอดีตนี้เอง คือปัจจัยสำคัญที่ดำรงความยั่งยืนของระบบชุมชนและระบบนิเวศมาก่อนจะถูกการพัฒนาไปสู่ภาวะทันสมัยในสมัยสฤษดิ์เข้าไปเปลี่ยนแปลง(กวาดล้าง)
อย่างไรก็ตามกระบวนทัศน์นี้มิได้หมดสิ้นไป หากดำรงอยู่ตามเงื่อนไขในลักษณะต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเริ่มปรากฏเป็นขบวนการที่มีความเข้มแข็งมากขึ้นเป็นลำดับ เริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 แล้วขยายตัวจากความล้มเหลวในการพัฒนาของรัฐและจากปัญหาความมั่นคงของภัยคอมมิวนิสต์ลดความสำคัญลง ทำให้มีองค์กรอื่นเข้าไปทำงานในชนบทได้มากขึ้น กระบวนทัศน์ใหม่นี้หักล้างความเชื่อของรัฐว่าชาวบ้านไม่มีความรู้ ด้วยการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น หักล้างความเชื่อของรัฐว่าชาวบ้านไม่มี"ทุน" ด้วยการขยาย"ทุนทางสังคม ทุนวัฒนธรรม" ซึ่งมีผลต่อการลดบทบาทผู้นำการพัฒนาของรัฐลง ทำให้รัฐต้องเปิดทางแก่การมีส่วนร่วมมากขึ้น
ปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงในระดับสากลมีผลต่อการเกิดและขยายตัวของกระบวนทัศน์นี้ด้วย เราอาจเรียกกระบวนทัศน์การพัฒนานี้ว่า กระบวนทัศน์การพัฒนาเพื่อไปสู่ความมั่นคงในระบบความสัมพันธ์ (หรือความมั่นคงเชิงระบบ) ผู้เขียนใช้คำว่า ความมั่นคงเชิงระบบ โดยมีเจตนาให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของกระบวนทัศน์การพัฒนาแบบนี้ ว่ามุ่งให้เกิดการพัฒนา(ความก้าวหน้า)ของสัมพันธภาพระหว่างระบบต่าง ๆ แตกต่างจากการใช้คำว่า"ความมั่นคง"ซึ่งอาจมีผู้ใช้กันอยู่แล้ว ไม่ว่าโดยรัฐหรือเอกชน ซึ่งมุ่งไปที่วัตถุเช่น ความมั่นคงด้านอาหาร , ปัจจัย 4 , รายได้ , องค์กร-สถาบัน ฯลฯ เป็นต้น
ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า หัวใจสำคัญของกระบวนทัศน์ความมั่นคงในชุมชนอดีตอยู่ที่การจัดระบบสัมพันธภาพของปัจจัยต่าง ๆ ภายในระบบนั้น และการจัดสัมพันธภาพกับระบบอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกัน เช่น ความมั่นคงของชุมชนเกิดจาก สัมพันธภาพของระบบต่าง ๆ ภายในชุมชน เช่น ระบบเศรษฐกิจ(การผลิต การบริโภค การกระจายผลผลิต) สัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของระบบค่านิยมและกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน และสัมพันธ์ในทางกลับกันด้วย แล้วระบบของชุมชนนี้ก็ไปสัมพันธ์กับระบบย่อยอื่น ๆ เช่น ชุมชนอื่น (การผูกสัมพันธ์เป็นเกลอ เป็นเสี่ยว ฯลฯ) และสัมพันธ์กับระบบป่า ระบบชีวิตของสัตว์น้ำ สัตว์บก ระบบดิน -น้ำ(11) ฯลฯ โดยมีเป้าหมายให้สัมพันธภาพนั้นดำรงอยู่อย่างสมดุลและกลมกลืนทั้งระบบใหญ่ (นิเวศ) และระบบย่อย (มนุษย์ สัตว์ พืช จุลินทรีย์ ฯลฯ)
ดังนั้น สัมพันธภาพที่มีสมดุลจึงเป็นหลักประกันของความมั่นคงและยั่งยืน มากยิ่งกว่าผลผลิต(Matter)ที่ได้ นอกจากนี้ กระบวนทัศน์ความมั่นคงเชิงระบบนี้ จะต้องมีค่านิยม ความเชื่อและจินตนาการในทางอุดมคติ ศาสนธรรม จิตวิญญาณหรือ"สิ่งสูงสุด" เป็นหลักคิดด้วย จึงเป็นกระบวนทัศน์ที่ขัดเกลาพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์ไปด้วยในตัว แตกต่างจากการสร้างความมั่นคงทางวัตถุ (ไม่ว่า จปฐ. , ปัจจัย 4 ,การประกันราคาพืชผล , สวัสดิการสังคม ฯลฯ) ซึ่งไม่ได้ช่วยการพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์และระบบอื่น เนื่องจากมีวัตถุ(ผลประโยชน์)เป็นเป้าหมายหลัก(ตัวตั้ง) และการจัดการขาดความสนใจในการสร้างสัมพันธภาพให้เกิดขึ้น
ชุมชนในอดีตจัดสัมพันธภาพบนฐานของค่านิยมความเชื่อทางพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องผี อันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมมาเป็นเวลายาวนานในสังคมไทย ทำให้มีกระบวนทัศน์ต่อชีวิต การจัดสัมพันธภาพกับมนุษย์ - สรรพชีวิตอื่น และธรรมชาติในลักษณะ"พอเพียง" ,"สันโดษ" หรือ ทางสายกลาง ฯลฯ คือ ดำรงชีวิตโดยมุ่งเพียงความมั่นคงในปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต (ปัจจัย 4) มากกว่าการสะสมหรือต้องการความมั่งคั่งทางวัตถุ เนื่องจากมีเป้าหมายของชีวิตหรือระดับความสุขไปเกินกว่าเพียงการยังชีพทางร่างกาย คือ ให้คุณค่ากับอุดมคติทางศาสนาอันเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณหรือนามธรรม ความเชื่อที่ว่าความมั่นคง (Security) เกิดขึ้นจากการจัดความสัมพันธ์ในระดับต่าง ๆ กับมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในชุมชน และกับธรรมชาติให้เกิดความสมดุลอย่างต่อเนื่องยั่งยืน
ฐานของ"ความมั่นคง"จึงมีเกณฑ์การพิจารณาที่กว้างขวาง มิได้จำกัดอยู่เพียงโภคทรัพย์ที่ครอบครองเท่านั้น หากความมั่งคั่ง หรือยากจน ในกระบวนทัศน์นี้ ขึ้นกับระดับ"ความมั่นคง"ของความสัมพันธ์ในระดับต่าง ๆ กับสิ่งต่าง ๆ ของมนุษย์ด้วย
ก่อนการพัฒนาฯในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ คนชนบทในชุมชนอิสระ-ห่างไกลรัฐ ที่มีฐานทรัพยากร, ระบบความสัมพันธ์เชิงสังคมและระบบคุณธรรม ฯลฯ ที่มั่นคง จึงมิได้รู้สึกว่าตนเองยากจน ไร้ที่พึ่ง ประกอบกับค่านิยมทางศาสนามีผลให้ภายในชุมชนไม่มีความแตกต่างทางฐานะมากนัก และยอมรับความแตกต่างด้วยความเชื่อในเรื่องของกรรม บุญวาสนา หรือเพราะให้คุณค่าแก่อุดมคติมากกว่าวัตถุธรรมฯลฯ ความยากจนในกระบวนทัศน์ของชุมชนชนบท จึงมิได้อยู่ในบริบทของกระบวนทัศน์ของความมั่งคั่งตามแบบตะวันตก หากเป็นเรื่องของความมั่นคง การมีทางเลือก และการมีที่พึ่งทางธรรมชาติและสังคมด้วย
กระบวนทัศน์ดังที่กล่าวมา มีผลให้ชุมชนชนบทส่วนมากก่อนการพัฒนาของรัฐจะไปถึง มีระบบสวัสดิการอย่างไม่เป็นทางการอยู่ในชุมชน ช่วยรองรับและบรรเทาปัญหาที่บุคคลประสบ เช่น เด็กกำพร้า คนยากจนด้วยเหตุต่าง ๆ จะไม่ถูกทอดทิ้ง หรือเมื่อชุมชนทั้งหมดเผชิญภาวะวิกฤตทางธรรมชาติ เกิดความอดอยากแห้งแล้ง โรคระบาด ฯลฯ ก็ยังมีเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ,ลำน้ำ,ฐานทรัพยากรอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนกันมาช้านาน ฯลฯ เป็นฐานทางสังคมรองรับวิกฤตการณ์นั้น ทำให้ชุมชนชนบทไม่ต้องพึ่งพารัฐ สามารถจัดการกับความไม่มั่นคง หรือความยากจนนั้นได้เองเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่จะถูกทำลายล้างด้วยกระบวนทัศน์การพัฒนาของรัฐ ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ส่งท้าย : กระบวนทัศน์เปลี่ยนเมื่อไร
อย่างไร ใครทำให้เปลี่ยน
การต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบันของกลุ่มการเมือง
และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ทำให้บางครั้งคนจำนวนไม่น้อยคิดไปว่า"กระบวนทัศน์"
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ หากเป็นเรื่องของผลประโยชน์หรือความโลภในอำนาจ
โภคทรัพย์ (สัญชาติญาณดิบ)ของบุคคล กลุ่มบุคคล ไม่ใช่เรื่องของกระบวนทัศน์
แน่นอนว่า ปรากฏการณ์ใด ๆ ทางสังคม ไม่อาจอธิบายได้ด้วยปัจจัยประการใดประการเดียว "กระบวนทัศน์การพัฒนา"ก็มิใช่คำอธิบายที่เพียงพอจะวิเคราะห์ที่ไปที่มาแห่งวิกฤตการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบันได้หมด ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นสาเหตุของวิกฤตการณ์ที่เราทั้งหลายเผชิญอยู่ แต่หากสังคมของเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของกระบวนทัศน์ผิด ก็อาจทำให้เราไม่อาจหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ไปได้
สาเหตุซึ่งทำให้กระบวนทัศน์ถูกลดทอนความสำคัญให้น้อยลงกว่าความสำคัญจริงที่มันเป็น น่าจะมาจากการที่กระบวนทัศน์มิได้มีตัวตนเป็นรูปธรรมอยู่ในรูปของสถาบัน องค์กร กลุ่ม เหมือนปัจจัยการเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ หากกระบวนทัศน์อยู่ในตัวบุคคลแต่ละคนแต่ละกลุ่ม เป็นระบบค่านิยม ความเชื่อ ทัศนะ วิธีคิดที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ที่บุคคลเกี่ยวข้อง และมนุษย์ทั้งหลายโดยส่วนใหญ่แล้ว ล้วนแต่กระทำการใด ๆ ตามค่านิยม ความเชื่อของตนเองเป็นหลัก แม้แต่กลุ่มการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ต่างก็ปฏิบัติการภายใต้ระบบค่านิยม ความเชื่อของตนเองทั้งสิ้น ดังนั้นปรากฏการณ์ทั้งหลายของมนุษย์จึงสัมพันธ์กับ"กระบวนทัศน์"ทั้งสิ้น
แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า"ผลประโยชน์"ก็ถูกช่วงชิงแก่งแย่งตามแรงขับของความเชื่อ และค่านิยม ตามกระบวนทัศน์ของบุคคล เช่น ผู้ที่เชื่อว่าความสุขมาจากการได้บริโภค การได้ครอบครองทรัพย์มากๆ เพื่อบริโภคได้ไม่จำกัด(มีเงินมาก มีสุขมาก) ย่อมให้คำนิยามต่อ"ผลประโยชน์"แตกต่างจากบุคคลผู้เชื่อว่า ความสุขของมนุษย์มาจากการพออยู่พอกิน มีจิตใจสงบ มีธรรมชาติร่มรื่น มีมิตรไมตรี ฯลฯ ดังนั้นบุคคลกลุ่มแรกย่อมต่อสู้กันเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ได้มาซึ่ง"ผลประโยชน์"ตามคำนิยาม-ค่านิยมของตน (หรือปัจเจกบุคคลทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง เพื่อหาทรัพย์ซึ่งตนเชื่อว่าคือความสุข)
วิกฤตการณ์ของมนุษย์ สังคม ระบบนิเวศในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งถือครองอำนาจรัฐ ใช้อำนาจตัดสินใจตามกระบวนทัศน์ของตนว่า การพัฒนาคืออะไร มีเป้าหมายเพื่ออะไร "ความสุข"ของมนุษย์คืออะไร มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร ฯลฯ แล้วใช้กลไก เครื่องมือ (ระบบราชการ กฎหมาย การศึกษา ฯลฯ) เข้าไปทั้งบังคับและโฆษณาชวนเชื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นไปตามกระบวนทัศน์ของรัฐและกลุ่มทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดำเนินการติดต่อมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ และยังพยายามที่จะก้าวเดินในทางเดิมต่อไป หากมีความแยบยลและกลอุบายที่ซับซ้อนมากขึ้น
ดังนั้น การจะหยุดยั้งหายนภัยมิให้ดำเนินต่อไป จึงมิอาจเกิดขึ้นได้โดยง่าย แต่ก็มิใช่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะอย่างน้อยที่สุด ประวัติศาสตร์ก็ให้การเรียนรู้และยืนยันว่า กระบวนทัศน์มีการเปลี่ยนแปลง แม้ในยุคสมัยที่กระบวนทัศน์หลักมีอำนาจมากมายมหาศาลล้นฟ้าก็ตาม
ปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ( Paradigm Shift )
ปัจจัยแรก คือ การเกิดความรู้ วิธีคิดแบบใหม่ที่หักล้างและท้าทายกระบวนทัศน์เก่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งกระบวนทัศน์เดิมไม่มีพลังในการอธิบายหรือแก้ปัญหาได้หรือได้อย่างจำกัดลงทุกที
ปัจจัยที่สอง คือ การเกิดและขยายตัวของชุมชนของผู้มีกระบวนทัศน์ใหม่(12) จะเห็นได้ว่า สังคมของเรามีปัจจัยประการที่ 2 อยู่แล้วไม่น้อย ไม่ว่าต้นทุนเดิมคือชุมชนที่คิดต่างจากรัฐมาก่อน และชุมชน-กลุ่มใหม่ ๆ ที่ละทิ้งกระบวนทัศน์ของรัฐ เพราะประสบการณ์จากหายนภัยของการพัฒนา ขบวนการทางสังคมเหล่านี้ คือพลังการเคลื่อนไหวที่จะเข้าไปกำหนดความหมาย คำนิยามใหม่ ต่อ"การพัฒนา , ผลประโยชน์ ความสุข" ฯลฯ ในกระบวนทัศน์ใหม่
ส่วนปัจจัยที่ยังขาดและมีน้อยอยู่ คือ องค์ความรู้ที่จะหักล้างและท้าทายกระบวนทัศน์การพัฒนาเพื่อความมั่งคั่ง และองค์ความรู้ใหม่ที่จะส่งเสริมให้กระบวนทัศน์การพัฒนาเพื่อความมั่นคงเชิงระบบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงให้เข้มแข็งได้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
องค์ความรู้ใหม่ที่กล่าวถึงนี้ จะต้องมาจากวิธีวิทยา(Methodology)อย่างใหม่ซึ่งเปลี่ยนจากโลกทัศน์ของวิทยาศาสตร์เชิงปริมาณ(ซึ่งขาดชีวิตและจิตใจ) เป็นวิธีวิทยาของโลกทัศน์แบบอื่น และมี"ผู้รู้-ผู้เชี่ยวชาญ" ตลอดจนกระบวนการสร้างและหาความรู้ด้วยวิธีการอันหลากหลายอื่น ๆ มิใช่ผูกขาดแบบเดียวอย่างเช่นที่ผ่านมา
อันที่จริงแล้วความรู้ดังที่ว่า มีอยู่ไม่น้อยแล้วในขบวนการภาคประชาชนของเราเองและทั่วโลกหากองค์กรที่ยังขาดความรู้ดังกล่าวและควรมีบทบาทให้มากขึ้น คือ"มหาวิทยาลัยเที่ยงวัน"ทั้งหลายนั่นเอง เพราะมหาวิทยาลัยพึงรับใช้ชาวบ้านของผู้ใหญ่ลี มากกว่าหลุยส์ วิตตองมิใช่หรือ ?
อ้างอิง (footnote)
(1)คณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน ด้านสังคม (กรอ.สังคม) ให้นิยาม"กระบวนทัศน์"ว่า : ทัศนะพื้นฐานอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง อันกำหนดแบบแผนการคิดและการปฏิบัติในประชาคมหนึ่ง ๆ เมื่อทัศนะพื้นฐานดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้แบบแผนการคิดและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยทั้งกระบวน ซึ่งเรียกว่าเป็นการ "ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์" (Paradigm Shift)
(2)Juan Enriquez. As The Future Catches You : How Genomics and Other Forces Are Changing Your Life, Work, Health, and Wealth. อ้างถึงใน "เมื่ออนาคตวิ่งไล่ล่า : คัมภีร์แก้ศก.'ทักษิณ' มติชนรายวัน 9 กันยายน 2545 , น.1
(3)เพิ่งอ้าง
(4)โปรดอ่าน อุทัย ดุลยเกษมและอรศรี งามวิทยาพงศ์ . ระบบการศึกษากับชุมชน : กรอบความคิดและข้อเสนอเพื่อการวิจัย. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ,2540
(5)ยกตัวอย่างเช่น สมองของมนุษย์นั้นจะมีศักยภาพและความสามารถต่อเมื่อมันทำงานอย่างมีสัมพันธภาพร่วมกับระบบอื่น ๆ ของร่างกายทั้งหมดรวมทั้งจิตใจด้วย เมื่อไรก็ตามที่แยกสมองออกมา สมองนั้นจะมิได้มีความสามารถเหมือนเดิม ดังนั้น การแยกสมองของไอน์สไตน์ออกจากร่างกาย-จิตใจของเขา สิ่งที่แยกออกมาย่อมมิใช่สมองของไอน์สไตน์อีกต่อไป ( ในกระบวนทัศน์องค์รวม ความพยายามที่จะโคลนนิ่งพันธุกรรมเด่น ๆ ให้มีคุณสมบัติเดิมจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะคุณสมบัติของบุคคลเกิดจากการทำงานของระบบทั้งหมด มิใช่เฉพาะยีนส์ )
(6)แนวการวิเคราะห์นี้ ผู้เขียนใช้แนวคิดของ"ทฤษฎีข่ายใยชีวิต" (The Web of Life) โดย Fritjof Capra (1997) ซึ่งรับอิทธิพลทางความคิดมาจากปรัชญาตะวันออก โดยเฉพาะพุทธศาสนา
(7)อ่านบทวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมยุคใหม่ได้ ใน พระธรรมปิฎก . มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์ . กรุงเทพฯ : ธรรมสาร ,2542
(8)อ่านรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ใน ส.ศิวรักษ์ . ลอกคราบวัฒนธรรมฝรั่ง. กรุงเทพมหานคร : อักษรสาส์น ,2530 .
(9)อ่าน World Bank . World Development Report 1998-1999 : Knowledge for Development . < http://www.worldbank.org / wdr / contents.htm >
(10)คำว่า"การพัฒนา" เพิ่งเริ่มใช้ก่อนยุคกึ่งพุทธกาล(2500)เล็กน้อย คือ"โครงการพัฒนาท้องถิ่น"ในปี 2499 ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก่อนหน้านี้ คำที่มีความหมายในนัยเดียวกันคือ การบูรณะ เช่น แผนบูรณะชนบท 2494
(11)สัมพันธภาพในกรณีนี้ หมายถึงการที่มนุษย์เข้าไปใช้ทรัพยากร การล่าสัตว์ การประมง การใช้ดิน ใช้น้ำ ฯลฯ อย่างเหมาะสมให้เกิดการหมุนเวียนของระบบนั้น ๆ เช่น การงดจับปลาในฤดูวางไข่ การไม่ล่าสัตว์แม่ลูกอ่อน การใช้ที่ดินเพาะปลูกอย่างหมุนเวียน เป็นต้น
(12)โทมัส คูห์น กล่าวถึงการเปลี่ยนกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ว่ามาจาก Cognitive Component และ Communal Component คือองค์ประกอบของความรู้ใหม่ และ ชุมชนคนคิดใหม่
บรรณานุกรม (Bibliography)
คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,สนง. แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4-9
คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,สนง. , 5 ทศวรรษ สภาพัฒน์ . กรุงเทพมหานคร : กองศึกษาและเผยแพร่การพัฒนา , 2543 )
เดช สนิทวงศ์ , ม.ร.ว. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ กับงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ . กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ,2518
ธรรมปิฎก.พระ . มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์ . กรุงเทพฯ : ธรรมสาร ,2542
ประชา ปสสนนธัมโม,พระ และคณะ. จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ แปลจาก Capra,Fritjof. The Turning Point.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง,2539 . ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ . กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทย . กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์ , 2518
รอสโทว์ , ดับเบิ้ลยู. ดับเบิ้ลยู. ความจำเริญทางเศรษฐกิจตามลำดับขั้น .แปลโดย ม.ร.ว.จันทร์แรม ศิริโชค จันทรทัต กรุงเทพมหานคร : สภาวิจัยแห่งชาติ , 2508
ส.ศิวรักษ์ . ลอกคราบวัฒนธรรมฝรั่ง. กรุงเทพมหานคร : อักษรสาส์น ,2530 .
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ,สนง . แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ระหว่างระยะเวลา 2504-2506- 2509
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ,สนง.แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 2-3
สฤษดิ์ ธนะรัชต์, ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, 2 เล่ม, จัดพิมพ์โดย คณะรัฐมนตรี .พระนคร : โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี, 2507),
เสนาะ อูนากูล . ยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ อดีต ปัจจุบัน อนาคต . กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , กองศึกษาและเผยแพร่การพัฒนา , 2531 )
อภิชัย พันธเสน.พุทธเศรษฐศาสตร์. กรุงเทพมหานคร , สำนักพิมพ์อัมรินทร์ , 2544
อรศรี งามวิทยาพงศ์.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการพัฒนาเศรษฐกิจ :การพึ่งพาอาศัยหรือการพึ่งพิง.ศึกษากรณีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉ.1 วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต.คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2530.
อุทัย ดุลยเกษมและอรศรี งามวิทยาพงศ์ . ระบบการศึกษากับชุมชน : กรอบความคิดและข้อเสนอเพื่อการวิจัยกรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ,2540
Capra , Fritjof . Ecology and Community. <http://www.ecoliteracy.org>
Capra , Fritjof . The Web of Life. London : Flamingo , 1997
Guba, Egon C. (editor). The Paradigm Dialog. California : Sage Publication Inc.;1990.
Fritjof Capra 's Perspective : A Crisis of Perception .< http://freespace.virgin.net/steve.charter/big-picture/capra.html>
Juan Enriquez. As The Future Catches You :How Genomics and Other Forces Are Changing Your Life, Work, Health, and Wealth. อ้างใน "เมื่ออนาคตวิ่งไล่ล่า : คัมภีร์แก้ศก.'ทักษิณ' .มติชนรายวัน 9 กันยายน 2545
Preston,P.W. Theories of Development (London : Routledge & Keagan Paul Ltd., 1982)
World Bank . World Development Report 1998-1999 : Knowledge for Development .
< http://www.worldbank.org / wdr / contents.htm >
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม word)